ฉบับที่ 157 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 2557 อย.วอนพ่อค้าแม่ค้า อย่าใส่ฟอร์มาลินในอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ต้องออกโรงเตือนกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าว่า สารฟอร์มาลิน หรือ ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ใครนำไปใช้มีความผิด มีโทษทั้งจำทั้งปรับ พร้อมกันนี้ อย. ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังร้านขายยาทั่วประเทศให้ระมัดระวังในการขายฟอร์มาลิน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หลังมีการตรวจพบฟอร์มาลินปนเปื้อนในปริมาณค่อนข้างสูงในอาหารสด เช่น อาหารทะเล ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ โดยที่จังหวัดขอนแก่น พบว่าตัวอย่าง ปลาหมึกกรอบ และสไบนาง (ส่วนหนึ่งของเครื่องในวัว) มีฟอร์มาลินปนเปื้อนถึงร้อยละ 90 จากตัวอย่างที่เก็บได้ตามตลาดสด ฟอร์มาลินเป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ตามพระราชบัญญัติอาหาร ซึ่งหากฝ่าฝืน จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ     สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “ระเบิดเวลา” ฆ่าชีวิตเกษตรกรไทย โครงการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและพัฒนากลไก เพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thailand Pesticide Alert Network : Thai-PAN) ได้จัดประชุมวิชาการเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช "สร้างสังคมไทยให้ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช" โดยในเวทีได้มีการนำเสนอข้อมูล จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) พบว่าผลการตรวจเลือดเกษตรไทย ระหว่างปี 2554-2556 มีจำนวนผู้ที่เสี่ยงอันตรายจากสารเคมีทางการเกษตรถึง 32%  นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่า การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในร่างกายของคนเรานั้น ส่งผลให้เกิดโรครุนแรงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สมองเสื่อม หอบหืด ทารกในครรภ์ไม่เติบโต แท้งลูก และเบาหวาน ด้านกรมวิชาการเกษตร ได้นำเสนอข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร พบว่าปี 2556 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืช 8.7 หมื่นตัน มากกว่าปี 2550 ประมาณ 28% ซึ่งหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาสารเคมีทางการเกษตรในบ้านเรา ก็คือการยกเลิกการนำเข้า จำหน่าย และใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษร้ายแรง ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลพบว่าในประเทศไทยเรามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ควรยกเลิกการใช้กว่า 155 ชนิด โดยในจำนวนนั้นมีสารที่ควรยกเลิกโดยเร็ว เช่น คาร์โบฟูราน เมททิลโบรโมด์  เมธิลดาไธออน เมโทมิล พาราควอท  ฯลฯ ซึ่งเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้การยกเลิกเกิดขึ้นจริงในบ้านเราโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของประเทศ     เทรนด์ใหม่ผู้บริโภค “แฉออนไลน์” ช่วง 2- 3 เดือนที่ผ่านมา ใครที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับผู้บริโภคทางสังคมออนไลน์ คงจะได้เห็นปรากฏการณ์ "แฉ" จากเหล่าผู้บริโภคที่เจอปัญหาเรื่องอาหารไม่ปลอดภัยและการปนเปื้อนในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ป๊อปคอร์นยี่ห้อดังเจอตั๋วรถเมล์ปนมากับเมล็ดป๊อปคอร์น นมพร้อมดื่มบรรจุกล่องที่พบว่าในกล่องมีการเติมโตของเชื้อราที่ดูแล้วน่าตกใจและไม่น่าปลอดภัยกับผู้บริโภค และที่น่าจะได้รับการพูดถึงในสังคมมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณีที่มีผู้บริโภคท่านหนึ่งพบแมลงสาบอยู่ในไอศกรีมที่ซื้อจากร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง ซึ่งการที่ผู้บริโภคนำปัญหาที่ตัวเองพบเจอมาเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านสังคมออนไลน์ ถือเป็นอีกวิธีหนึ่งในการพยายามเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นว่าได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะทั้งได้รับความสนใจจากบริษัทผู้ผลิตที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ปัญหาของผู้บริโภคได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว สื่อมวลชนได้เห็นปัญหาแล้วนำเรื่องไปขยายต่อในวงกว้าง ผู้บริโภคคนอื่นๆ เองก็ได้รับรู้ปัญหา และนำไปเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันและแก้ไขได้เวลาที่ตัวเองเจอปัญหาแบบเดียวกัน แม้ว่าในท้ายที่สุดทุกปัญหาอาจจะไม่ได้รับการแก้ไขในทันที เช่น กรณีที่ผู้บริโภคเจอแมลงสาปในไอศกรีม ผู้ประกอบการปฏิเสธที่จะยอมรับผิด โดยอ้างว่าผู้บริโภคซื้อไอศกรีมถ้วยดังกล่าวออกไปจากร้าน แล้วทิ้งเวลานานกว่าจะกลับมาแจ้งว่าเจอปัญหา แต่รูปแบบการแก้ปัญหาในลักษณะนี้ของผู้บริโภคก็น่าจะจุดประกายเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคของบริษัทต่างๆ ในบ้านเราให้มีเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต     ผู้บริโภคลงนามความร่วมมือกับทรูแก้ปัญหาโรมมิ่ง คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้จัดงาน “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” (World Consumer Rights Day) โดยปีนี้ได้ชูประเด็นปัญหาเรื่องการใช้งานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างประเทศ (International Roaming)หลังจากที่มีผู้บริโภคร้องเรียนผ่านมาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าถูกเรียกเก็บค่าบริการโรมมิ่งเป็นเงินสูงถึง 1.3 ล้านบาท หลังจากผู้เสียหายได้เปิดใช้บริการที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในระยะเวลาแค่ 14 วัน หรืออีกหนึ่งกรณีที่ผู้บริโภคได้เปิดแพ็กเกจโรมมิ่งในประเทศฝรั่งเศส แล้วเจอเรียกเก็บค่าบริการถึง 1.6 แสนบาท ทั้งที่มีการกำหนดวงเงินค่าบริการ (credit limit) แต่การจำกัดวงเงินดังกล่าวไม่รวมถึงบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งตัวอย่างปัญหาเหล่านี้ เกิดจากการที่บริษัทผู้ให้บริการไม่แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนกับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการคิดค่าบริการ อัตราค่าบริการ และวิธีการปิดระบบการใช้งานโรมมิ่ง ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลสำคัญและจำเป็นต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น นอกจากนี้ภายในงาน คณะกรรมการองค์การฯ ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ร่วมกับ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือบริษัททรู เพื่อเป็นข้อตกลงว่าทางบริษัทจะให้การดูแลผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้มีวงเงิน (credit limit)  เพื่อใช้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้บริโภคสามารถร้องขอไปยังผู้ประกอบการเพื่อปรับลด หรือเพิ่มวงเงินได้ และให้มีช่องทางการแจ้งเตือนเมื่อค่าใช้จ่ายใกล้ครบวงเงินที่กำหนด ซึ่งบริษัทต้องมีระบบระงับการให้บริการ และให้มีหมายเลขโทรศัพท์ฟรีให้ผู้บริโภคได้โทรเข้ามาแจ้งได้ว่า จะขอระงับการใช้ทันทีหรือต่ออายุการใช้งาน และให้แยกงานใช้งานบริการเสียงและข้อมูล (Voice and Data) ออกจากกัน ซึ่งทางคณะกรรมการฯได้แจ้งว่าได้มีการเชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยทั้ง 3 ค่ายคือ ทรู ดีแทค และ เอไอเอส แต่มีเพียง ทรู เจ้าเดียวเท่านั้นที่ตอบตกลงร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้     ถึงเวลาเดินหน้าปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคไทย คณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภคภาคประชาชน ร่วมกับเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป จัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง "การปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค" เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐ ให้เกิดการพัฒนาเรื่องการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคในประเทศไทย ไปพร้อมกับการผลักดันให้เกิดกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยเสียที หลักจากที่องค์กรผู้บริโภคลงมือลงแรงเพื่อให้เกิดกฎหมายสำหรับผู้บริโภคฉบับนี้มาแล้วกว่า 16 ปี โดยในงานได้มีการพูดคุยและแสดงข้อคิดเห็นของสถานการณ์ผู้บริโภคในบ้านเรา จากทั้งนักวิชาการ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงตัวแทนจากภาคประชาชน ซึ่งในเวทีเสวนาก็ได้มีข้อสรุปเบื้องต้นเป็นข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 5 มาตรการสำคัญในการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค 1.เร่งรัดการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 2.พัฒนากลไกยกเลิกสินค้าอันตรายอัตโนมัติ เช่น ยาอันตราย สารเคมีอันตราย หรือสินค้าอันตรายที่พบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยยึดหลัก one ban all ban 3. การเยียวยาเชิงลงโทษ ที่ทันท่วงทีและอัตโนมัติ 4. มีหน่วยงานเดียวรับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ข้อมูล รับเรื่องร้องเรียน และคุ้มครองผู้บริโภค แบบ one stop service 5. สนับสนุนองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้มีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค การเผยแพร่ข้อมูล การเข้าถึงห้องทดลอง การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งตรวจสอบหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคได้มากขึ้น //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 เหมือนถูกลืม (ปฏิรูป)

เดือนที่เขียนบทความนี้คือ มิถุนายน 2558 ซึ่งเมื่อพลเมืองไทย (ตามความหมายที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใกล้คลอด) เปิดโทรทัศน์ดูข่าวไม่ว่าช่องไหน จะได้รับการรายงานข่าวซ้ำซากอยู่สามสี่ข่าวคือ การแก้ร่าง(ก่อนได้ใช้)รัฐธรรมนูญ การค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา บ่อนการพนันเสรี และคดียู(ถูก)ฟันสำหรับข่าวประเด็นหลังนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะมันสื่อให้เห็นว่า คนไทยไม่เคยนำเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันเลย เพราะพื้นฐานของการโกงเงินประชาชนส่วนใหญ่มักเป็นการหลอกลวงในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเหล่าอาชญากรทำการชักจูง หว่านล้อม หรือกระตุ้นพลเมืองผู้ที่อยากลงทุนให้เกิดความต้องการด้านรายได้ หรือสร้างจิตวิทยาให้เกิดความคาดหวังหรือมีแรงจูงใจที่ผิดเช่น อยากรวยเร็ว มีรายได้สูงและสวัสดิการดี อยากมีบ้านหลังใหญ่และมีรถหรูขับถ้า (หลงผิดพอที่จะ) ร่วมลงทุนกับเหล่าอาชญากรเหล่านั้นในอดีตเรามีแชร์ค่าโง่อยู่หลายคดีเช่น แชร์แม่ชม้อย แชร์แม่นกแก้ว แชร์ชาร์เตอร์ เป็นต้น ซึ่งแชร์เหล่านี้ไม่เน้นการขายสินค้าหรือบริการ แต่จะมุ่งเน้นการหาสมาชิกใหม่เพื่อสร้างเครือข่ายหรือระดมทุนเพียงอย่างเดียว มีการจ่ายผลตอบแทนมากขึ้นเป็นเงาตามตัวตามจำนวนสมาชิกที่หามาได้ในทุกระดับชั้น ส่วนสินค้าที่อ้างถึงมักไม่มีการซื้อขายจริงหรือซื้อขายกันเพียงกระดาษ คดียูถูกฟันนั้นมีการออกหมายจับมากมายและกว้างขวางนัก ขนาดว่าแค่ไปรับงานเป็นพิธีกร หรือเป็นเซเลบเรียกความสนใจผู้คนในการประชาสัมพันธ์งานหรืออื่น ๆ ที่ปรกติมีการทำกันเป็นประจำ ต้องกลายเป็นข่าวว่า อาจพัวพันกับคดีนี้ ตัวอย่างเช่น www.thairath.co.th/content/500839 รายงานข่าวว่า ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรรายการโทรทัศน์คนหนึ่งต้องเข้าให้ปากคำตำรวจในฐานะพยาน หลังพบหลักฐานร่วมเป็นพิธีกรภายในงานของเครือข่ายยูถูกฟัน ซึ่งพิธีกรดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่า มีดารานักแสดงตบเท้าเข้าร่วมงานคับคั่ง โดยตำรวจจะตรวจสอบสคริปต์ของพิธีกรที่ใช้ภายในงานเพื่อขยายผล หากพบหลักฐานว่ากระทำผิดจะขออนุมัติศาลออกหมายจับเพิ่มเติมนอกจากนี้ก็ยังมีนักร้อง นักแสดง และอื่นๆ ที่ต้องถูกเรียกตัวไปให้ปากคำและอาจถูกตั้งข้อหาสนับสนุนการทำธุรกิจของยูถูกฟัน พูดง่าย ๆ คือ ไปช่วยโฆษณาทำให้คนถูกหลอกมากขึ้น ความจริงประเด็นการช่วยเหลือให้ประชาชนถูกหลอกโดยผู้มีชื่อเสียงหรือเซเลบนั้น เกิดมานานแล้ว ตั้งแต่เรามีโทรทัศน์ซึ่งแพร่สัญญาณครอบคลุมทั่วประเทศไทย ทั้งนี้เพราะการใช้โทรทัศน์ในกิจการชักชวนให้คนหันมาใช้สินค้าของผู้ประกอบการนั้น เป็นวิธีการที่ได้ผลมากที่สุดกับคนไทย (ซึ่งไม่รวมผู้เขียนเพราะไม่เคยดูโฆษณาเลย เนื่องจากโทรทัศน์ที่ซื้อมามีรีโมทรวมมาด้วย จึงสามารถหนีการหลอกลวงที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ได้ดี) ดังนั้นกรณีของเซเลบที่เข้าไปพัวพันคดียูถูกฟันนั้น ถ้าเกิดมีความผิด มันน่าจะเป็นกระตุ้นให้มีการเปิดใต้พรมปูพื้นประเทศนี้ออกมาให้เห็นว่า มีการกวาดฝุ่นไปซ่อนมานานแค่ไหนแล้ว เพราะการแนะนำสินค้าต่างๆ ของเซลเลบส่วนใหญ่นั้นมักโอ้อวดคุณภาพของสินค้า ซึ่งสินค้าบางกลุ่มเช่น อาหารและเครื่องสำอางนั้น พิสูจน์ให้เห็นจริงว่าได้ผลนั้น.....ยากมาก สำหรับท่านที่อ่านวารสารฉลาดซื้อเป็นประจำ อาจพอระลึกได้ว่า ในฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน 2557 นั้น ผู้เขียนได้เขียนบทความเรื่อง โฆษณากับศีลข้อสี่ ซึ่งมีข้อมูลที่อ้างถึงรายงานของหนังสือพิมพ์ Yangtse Evening News ที่นานจิงว่า ผู้บริหารของจีนแผ่นดินใหญ่ได้มองประเด็นการที่เซเลบต่างๆ ออกมาบอกผู้บริโภคว่า สินค้าของบริษัทที่ตนรับสตางค์ (ผ่านบริษัทครีเอตีฟทั้งหลาย) ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ โดยไม่เคยใช้สินค้านั้นเลยนั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี จึงสมควรทำร่างกฎหมายเพื่อแก้รัฐบัญญัติเกี่ยวกับการโฆษณาเสนอแก่ Standing Committee of the National People's Congress ครั้งที่ 10 เพื่อให้มีการลงโทษเซเลบที่ผิดศีลข้อสี่เมื่อสินค้านั้นก่อปัญหาประเด็นการผิดศีลข้อสี่ของเซเลบนั้น ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในลักษณะเดียวกันในประเทศอินเดีย โดยประเด็นนั้นเป็นข่าวเกี่ยวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเริ่มจากปัญหาเกี่ยวกับสารปนเปื้อน จากนั้นจึงลามไปถึงเซเลบที่เป็นผู้รับโฆษณาบะหมี่รายนี้ www.scmp.com ได้รายงานหัวข้อข่าว India bans popular XXX instant noodles after finding excessive lead เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2012 และเว็บ news.sky.com ได้รายงานต่อมาในหัวข้อข่าว XXX Noodles Off Shelves Over Lead Scare โดยมีข้อมูลสรุปว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือน อย. ของไทยคือ The Food Safety and Standards Authority of India (FSSAI) ได้ตรวจพบว่า บะหมี่ดังกล่าวซึ่งขายดีมากในอินเดียมีตะกั่ว 17.2 พีพีเอ็ม (ในห่อเครื่องปรุง) เกินกำหนดมาตรฐาน (0.1-2.5 พีพีเอ็ม) ที่จำยอมให้มีได้ นอกจากนี้ยังพบว่าในห่อบะหมี่นั้นมีผงชูรสคือ โมโนโซเดียมกลูตาเมทผสมอยู่ ทั้งที่ไม่ได้แจ้งไว้ในฉลากด้วย(ทางผู้ผลิตออกข่าวต่อมาว่า ไม่ได้มีการเติมผงชูรสลงไปในระหว่างการผลิต เหตุที่ตรวจพบคงเป็นผงชูรสตามธรรมชาติ ซึ่งพบได้ในองค์ประกอบของอาหาร) ทางหน่วยงานราชการจึงได้สั่งห้ามจำหน่ายและให้หยุดการผลิตทันที (แต่ผู้ผลิตก็ได้ออกข่าวอีกว่า เราจะกลับมาในไม่ช้าหลังจากได้จัดการปัญหาเสร็จ) ผลร้าย(ที่มีต่อบริษัทผู้ผลิต) นั้นค่อนข้างสำคัญ เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดังกล่าวนั้นขายดีมานานกว่า 30 ปีแล้ว มีส่วนแบ่งของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถึงร้อยละ 80 และเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นที่พึ่งของคนไกลบ้านต่างๆ ทั้งนักเรียน นักศึกษา กรรมกร เป็นต้น เนื่องจากปรุงกินง่ายเสมือนแกะห่อโรตีเข้าปาก ที่สำคัญกว่าคือ หุ้นของบริษัทในตลาดหุ้นเมืองบอมเบย์รูดลงไปถึงร้อยละ 10 ของมูลค่าเดิม ประเด็นหลังนี้น่าจะเจ็บแสบกว่าประเด็นแรกสำหรับผู้บริหารบริษัทและแล้วสิ่งที่ตามมาเนื่องจากผลที่บะหมี่นั้นขายดีเนื่องจากการโฆษณาดีเยี่ยมคือ ในเว็บ www.ft.com/cms ได้มีบทความเรื่อง Bollywood star in hot water over XXX noodle row ซึ่งมีเนื้อข่าวโดยสรุปว่า Ms. Madhuri Dixit ผู้มีอายุ 48 ปี และเป็น Bollywood stars (ในช่วงปี 1990) ที่รับจ๊อบโฆษณาสินค้าดังกล่าว กำลังถูกจับจ้องจากทางการว่า ควรรับผิดชอบกับเรื่องดังกล่าวนี้หรือไม่ เพราะคนอินเดียนั้นก็คงเหมือนคนในหลาย ๆ ประเทศที่ซื้อสินค้าตามคำแนะนำของดาราที่ตนชื่นชอบ (ซึ่งอาจไม่เคยกินหรือใช้สินค้านั้น) โดยแอบหวังว่าเมื่อใช้สินค้านั้นแล้วอาจมีสภาพเหมือนดารา (ทั้งร่างกาย จิตใจซึ่งน่าจะรวมถึงสติปัญญา) ข่าวในเน็ทกล่าวว่า ดาราสาวดังกล่าวคงมีความรู้สึกร้อนรุ่ม เหมือนตกลงไปในน้ำซุบบะหมี่ที่ เธอโฆษณาว่าดีเลิศประเสริฐศรีทางโภชนาการสำหรับเด็กเป็นแน่แท้จากข้อมูลดังกล่าวซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยที่มีในอินเตอร์เน็ทนั้น ผู้เขียนหวังเพียงแต่ว่า ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูป ซึ่งการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่ง ที่ถูกหยิบขึ้นมาจากใต้พรมเพื่อปัดฝุ่นให้มันถูกต้องเสียทีนั้น เรื่องเกี่ยวกับการโฆษณาสินค้าโดยใช้ผู้ที่ขาดความรู้และประสบการณ์ในสินค้าที่ตนทำการโฆษณาควรได้รับการเหลียวมองเสียที เพราะประเด็นดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวผู้บริโภคมากที่สุด(นะสารี) เนื่องจากมันถูกเห็นอยู่ในจอโทรทัศน์ซึ่งมีทั้งเสียงและภาพกล่าวกรอกหูซ้ายทะลุหูขวาอยู่ทุกวัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 114 อย่าลืมปฏิรูป

เมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเครือข่ายเพื่อนทีวีไทย (ผู้เขียนเป็นสมาชิกสภาผู้ชมผู้ฟังรายการทีวีไทย) ในหัวข้อรับฟังความคิดเห็นมีหัวข้อหนึ่งคือคนสุพรรณคิดว่ามีปัญหาอะไรบ้างในพื้นที่ที่ต้องพึ่งสื่อ และก็มีหลากหลายปัญหาที่ลั่งไหลออกมาจากเวทีนั้น แต่มีอยู่ปัญหาหนึ่งที่ฟังแล้วสะดุดหูมากเป็นเรื่องของคุณจันทร์(นามสมมุติ) เธอเล่าว่าเธอกำลังปลูกบ้านใหม่ เลยเข้าไปติดต่อที่ร้านโฮมโปรบางใหญ่และได้คุยกับเซลล์โดยตรง และมีการตกลงซื้อไม้รามิเนสซึ่งเซลล์บอกว่าเป็นไม้เยอรมัน และได้บอกขนาดของบ้านให้เซลล์ช่วยคำนวณไม้ให้ ว่าต้องซื้อจำนวนเท่าไร รวมถึงซื้อสินค้าอื่นๆ ในร้านด้วย รวมๆ แล้ววันนั้นคุณจันทร์จ่ายเงินล่วงหน้า ไปประมาณ 200,000 บาท โดยมีสัญญาว่าจะส่งมอบของให้ทั้งหมดภายใน 1 เดือน พอครบเดือนของยังไม่มาส่งคุณจันทร์ได้โทรทวงถาม คำตอบที่ได้คือ พี่ปรับพื้นหรือยัง(อ้าวทำไมไม่บอกว่าต้องปรับพื้นก่อนส่งของ)คุณจันทร์จึงตอบไปว่าอีก 15 วันมาส่งของได้เลย ผ่านไป 15 วันของก็ยังไม่มาส่ง จากนั้นก็โทรตามตลอด กว่าจะมาส่งของก็เล่นไป เกือบๆ 4 เดือน จึงมีความชัดเจนว่าจะนำของมาส่งและส่งช่างมาปูพื้นให้ตามสัญญา คุณจันทร์ก็บอกว่าไหนๆ จะมาส่งไม้ 80 ตารางเมตร จึงแล้วขอให้เอาไม้มาเพิ่มอีก 5 ตารางเมตร เผื่อไม่พอจะได้ไม่ต้องเทียวไปเทียวมา ปรากฎว่าของที่เอามาส่งไม่ตรงตามที่สั่งทั้งสีและลาย แต่ไหนๆ ก็มาส่งแล้วหยวนๆ แล้วกัน(นิสัยผู้บริโภคทั่วไป) และก็ไม่มีไม้มาเพิ่มตามที่ตกลงและสิ่งที่คุณจันทร์กังวลก็เกิดขึ้นจริงคือไม้ไม่พอ ขาด 5 ตารางเมตร ตรงนี้คุณจันทร์ร้องทุกข์ว่าอาจเป็นเทคนิคการขายสินค้าของร้านนี้ เพราะเมื่อไม่พอก็ต้องกลับไปเอาใหม่ และคิดค่าขนส่งเพิ่มอีกเที่ยวละ 1,500 บาท ฟังดูรู้สึกได้เลยว่าผู้บริโภคอย่างเราๆ เสียเปรียบไปทุกทาง เอาเงินเขาไปหมุนก่อนตั้ง 4 เดือน กว่าจะส่งของ(ผู้บริโภคเสียเปรียบตลอด) และยังมีการเอารัดเอาเปรียบเล็กๆ น้อยๆ ตอดนิดตอดหน่อยกันอีก แล้วเรื่องอย่างนี้เชื่อว่าไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณจันทร์รายเดียว ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะพึ่งใครได้ นอกจากต้องใฝ่คว้าหาความรู้เรื่องสิทธิผู้บริโภคด้วยตนเองเพิ่มขึ้นไม่อย่างนั้นก็ต้องตกเป็นเบี้ยล่างผู้ประกอบการอยู่อย่างนี้ร่ำไป คงต้องขอบอกดังๆ อีกครั้ง ว่าเราต้องการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จ่อรอเข้าสภาผู้แทนมาตั้งแต่สมัยประชุมที่แล้ว(เป็นแม่สายบัวแต่งตัวเก้อไปแล้ว1สมัย)หวังว่า สมัยประชุมนี้จะไม่เบี้ยวกันอีกนะท่านนักการเมือง..... ไหนๆ ก็กำลังเข้าสู่กระแสการปฏิรูปฟีเวอร์กันแล้ว ก็ขอให้ ช่วยปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมในทุกด้าน ด้วยนะ ท่าน นน....อะ-พิ-สิดดดดๆๆๆๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ปฏิรูประบบการศึกษาไทยวันนี้ “เด็กยังถูกจับเป็นตัวประกัน”

 เมื่อวันก่อนประมาณกลางเดือน พฤษภาคม 2553 ช่วงเกือบ 1 ทุ่ม ผู้เขียนได้เห็นแม่กับลูกคู่หนึ่งมาหาคนข้างบ้าน(สมุทรสงคราม) หน้าตาเขาทุกข์โศกมาก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่เป็นลูก ผู้เขียนไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร แต่ด้วยหน้าตาที่อมทุกข์ของทั้ง 2  คนทำให้ผู้เขียนแวะเข้าไปทัก เพื่อถามว่าไปไหนกัน มืดค่ำแล้ว แม่เด็กก็บอกทั้งน้ำตาว่า มาหากู้เงิน มีเงินให้กู้บ้างไหม? ดอกเบี้ยเท่าไรก็ยอม(นั่น..งงไปเลยเรา) ก็เลยได้สอบถามถึงต้นสายปลายเหตุที่ต้องกู้เงินในครั้งนี้  ได้ความว่าที่ต้องมาหากู้เงินให้ได้ในวันนี้ เพราะหากกู้ไม่ได้ในวันนี้ลูกสาวที่มาด้วยจะต้องถูกตัดสิทธิในการเรียนต่อ   ซึ่งเด็กอยากเรียนต่อ แม่เด็กก็อยากให้ลูกเรียนเพราะไม่มีสมบัติอะไรจะให้ลูกนอกจากการศึกษาที่พอกัดฟันเพื่อลูกได้ผู้เขียนจึงถามต่อว่าทำไมเด็กถึงจะไม่ได้เรียน  ก็ได้คำตอบว่า เพราะลูกเรียนโรงเรียนเอกชนในจังหวัด ตอนที่เอาลูกเข้าโรงเรียนนี้ทั้งที่รู้ว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะตอนนั้นที่บ้านมีเรือประมงเป็นของตนเองจึงพอมีรายได้ในการส่งลูกเรียน แต่มาระยะหลังๆ เมื่อตอนน้ำมันแพง อาชีพนี้ก็เริ่มจะไปไม่ไหวมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก จนสุดท้ายเรือก็ถูกยึดไปในที่สุด เมื่อเรือถูกยึดแม่ก็ออกไปรับจ้างในโรงงาน พ่อเด็กก็ไปสมัครเป็นยาม รายได้จึงไม่มากนัก  ทำให้หมุนค่าเทอมลูกไม่ทัน จึงติดหนี้ค่าเทอมอยู่กับโรงเรียนบางส่วน  ซึ่งปีนี้ลูกจบ ม. 3 แล้ว ลูกไปสมัครเรียนต่อที่ โรงเรียนเทคนิคสมุทรสงคราม และได้เข้าเรียนตามที่ต้องการแต่เมื่อ 2 วันก่อน โรงเรียนเทคนิคได้บอกให้เด็กมาเอาใบยืนยันจบ ม. 3 ที่โรงเรียนเดิม หากไม่ได้เด็กก็จะหมดสิทธิเรียนทันที  แม่เด็กจึงได้ไปประสานงานที่โรงเรียนเดิมเพื่อขอถ่ายเอกสารใบจบไปให้โรงเรียนใหม่  ปรากฏว่าโรงเรียนเดิมยื่นคำขาดมาว่า หากแม่เด็กหาเงินมาจ่ายค่าเทอมไม่ได้ โรงเรียนจะไม่ยอมถ่ายใบจบให้  ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงต้องออกหากู้เงินอย่างที่เห็น หากกู้ไม่ได้วันนี้ลูกคงหมดโอกาสเรียนต่อ ผู้เขียนได้ฟังแล้วรู้สึกสะท้อนใจนี่นะหรือการปฏิรูประบบการศึกษาไทย  ขนาดปฏิรูปแล้วเด็กก็ยังถูกจับเป็นตัวประกันอยู่เช่นเดิม ผู้เขียนไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด  ไม่มีเงินแล้วให้ลูกเรียนโรงเรียนเอกชนทำไม?  จนแล้วไม่เจียมตัว  เว่อร์   ก็ว่ากันไป แต่ไม่ควรจับเด็กเป็นตัวประกันอย่างนี้ เห็นเงินสำคัญกว่าอนาคตเด็กปัญหาเหล่านั้นเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องแก้กันเอง  แต่เด็กต้องมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เขาอยากเรียนเขาต้องได้เรียน เรื่องอื่นๆ ก็ไปตกลงกันเอง   ผู้เขียนจึงแนะนำให้แม่เด็กไปที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  เพื่อขอให้เขาหาวิธีช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน ส่วนเรื่องหากู้เงินไปใช้หนี้โรงเรียนค่อยมาว่ากันทีหลัง เมื่อแม่เด็กไปที่ศูนย์ฯ เจ้าหน้าที่ได้ประสานงานไปทั้ง 2 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนเดิมและโรงเรียนใหม่ จากนั้นศูนย์ฯ ได้ประสานไปยังผอ.เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ช่วยประสานในการแก้ปัญหาให้เด็กได้เรียนอีกทางหนึ่ง  ผลการเจรจาโรงเรียนเดิมยอมให้ถ่ายเอกสารใบยืนยันการจบไปให้โรงเรียนใหม่  จนทำให้เด็กคนนี้ได้เรียนต่อ ส่วนเรื่องหนี้สินค่อยว่ากันไป วันก่อนได้เห็นข่าวว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่าน พรบ.การปฏิรูปการศึกษาไปแล้ว จึงขอให้คำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ด้วยนะท่านผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่อย่างนั้นนโยบายการศึกษาอาจเป็นได้แค่เรื่องที่ได้แต่ ลูบๆ คลำๆ ไม่ไปถึงการปฏิรูปจริงๆ ซะที พับผ่าซิ.... 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 10 คำถามกับนโยบายปฏิรูปพลังงานในเยอรมนี

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการแหล่งพลังงานจากฟอสซิลอย่างน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติมีข้อด้อยอยู่สองประการหลักๆ คือ เป็นพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด และการเผาไหม้ยังปล่อยก๊าซที่เป็นพิษต่อสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดผลเสียและค่าเสียหายอย่างมหาศาลอีกด้วย ยูเรเนียมเองก็มีอยู่อย่างจำกัดเช่นกัน ดังนั้นการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจึงไม่เพียงแต่สมเหตุสมผลแต่เป็นประโยชน์อย่างมากในแง่เศรษฐกิจโดยรวม ลม น้ำ แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ และชีวมวล เป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่อย่างไม่สิ้นสุด นอกจากนี้การใช้พลังงานจากแหล่งเหล่านี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มีความแน่นอนและมั่นคงทางพลังงาน ต่างจากแหล่งพลังงานอย่าง น้ำมันดิบ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และยูเรเนียม การใช้พลังงานหมุนเวียนช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากนอกประเทศ เพิ่มความมั่นคงในการจ่ายกระแสไฟฟ้า และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการให้บริการไฟฟ้าอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดนวัตกรรมที่เข้มแข็ง และยังช่วยสร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ อีกด้วย 10 คำถาม คำตอบ ต่อนโยบายปฏิรูปพลังงานในเยอรมนีจะช่วยทำให้เราเห็นภาพและทิศทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานของเยอรมนี ที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนสำหรับนโยบายพลังงานของประเทศ  1. เยอรมนีเชื่อมั่นต่อนโยบายปฏิรูปพลังงาน (Energiewende) คำถามคือ อะไรคือการปฏิรูปพลังงาน ? การปฏิรูปพลังงาน หมายถึงการปฏิรูประบบสำรองพลังงานที่ ก้าวข้ามการใช้พลังงานจากน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานนิวเคลียร์ แต่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มสำรองพลังงานหมุนเวียนแทน ภายในปี 2050 เยอรมนีจะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 80 % และใช้พลังงานจากพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 60 % ของพลังงานทั้งระบบ เป้าหมายสำคัญคือ จะเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 20222. เทคโนโลยีประเภทใดที่เป็นหัวใจสำคัญสำหรับ นโยบายการปฏิรูปพลังงาน ? พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญสำหรับเยอรมนี ภายใต้การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลา 20 ปี ส่งผลให้ราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ มีราคา 6- 9 ยูโรเซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (2.6 – 3.8 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง) ซึ่งจะมีราคาเทียบเคียงกับการผลิตไฟฟ้าจากก้าซและถ่านหิน และถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากนิวเคลียร์3. ในฐานะประเทศอุตสาหกรรม เยอรมนีสามารถให้ความเชื่อมั่นกับพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ได้หรือไม่ และจะเกิดปัญการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าได้หรือไม่ ? “เยอรมนีเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดไฟฟ้าดับ น้อยที่สุดในยุโรป และคาดว่าจะคงรักษาอันดับนี้ต่อไป” การใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน จะมีเทคโนโลยีระบบสำรองพลังงาน(Backup Technology) ซึ่งสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในสถานการณ์ที่พลังงานจากลมและพลังงานแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอ โดยในระยะแรกจะยังคงใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ในระยะยาวพลังานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น พลังงานจากน้ำ ไบโอแมส และพลังงานความร้อนใต้พื้นพิภพ จะเป็นพลังงานสำรองเพิ่มขึ้น4. พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้นำมาใช้ ในพื้นที่ที่ผลิต มีเทคโนโลยีใดที่จะมาแก้ปัญหานี้ได้ ? โครงข่ายที่จ่ายกระแสไฟฟ้าที่มีอยู่ในตอนนี้มีความทนทานและสามารถส่งกระแสไฟฟ้าเพิ่มได้อีก            มาก ในระยะต่อไป จะมีการสร้างโครงข่ายสำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานลมบริเวณ            ชายฝั่งทะเลทางตอนเหนือของประเทศ ไปยังบริเวณที่มีกระแสลมไม่แรง หรือจะมีการสร้าง  โครงข่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่มีการใช้พลังงานอย่างเข้มข้น5. เยอรมนีจะเป็นตัวอย่าง ที่แสดงถึงความสำคัญของนโยบายปฏิรูปพลังงาน ต่อประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างไร ? การใช้พลังงานหมุนเวียนจะเป็นคำตอบของความท้าทายการขาดแคลนพลังงานในอนาคต เนื่องจากพลังงานฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจะลดน้อยลง และเป็นสาเหตุของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง การใช้พลังงานหมุนเวียนจะเป็นคำตอบของการแก้ปัญหาทั้งสองเรื่อง ในประเด็นนี้เยอรมนีจะเป็นมิตรต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ให้คำปรึกษาในเรื่องการสร้างระบบโครงข่ายกระแสไฟฟ้าที่เหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์6. มีแรงจูงใจอะไรสำหรับนโยบายปฏิรูปพลังงาน เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดพลังงานภายใต้การกำกับดูแลของเรกูเลเตอร์ ? พระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียน(Das Erneubare- Energie Gesetz: EEG) ในปี 2000 ได้ทำให้เกิดการแข่งขันของเทคโนโนโลยีการผลิตพลังงาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นฝ่ายได้รับประโยชน์จากกฏหมายฉบับนี้ โดยได้รับการสนับสนุนทั้งในเชิงเงินทุนสนับสนุนและ ในเชิงกฎหมาย7. ประเทศเยอรมนีจัดอยู่ในประเทศที่มีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และภายใต้การปฏิรูปพลังงานจะนำพาประเทศไปสู่ การสร้างนวัตกรรมได้หรือไม่? “นโยบายการปฏิรูปพลังงาน เป็น โครงการสำหรับอนาคตของประเทศเยอรมนี ในฐานะที่เป็นประเทศอุตสาหกรรม.พลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นสินค้าสำหรับตลาดทั่วโลก ถ้าราคาพลังงานหมุนเวียนใกล้เคียงกับราคาพลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ก็จะส่งผลให้ประเทศอื่นๆ สนใจพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะประเทศที่อุดมไปด้วยลมและแสงอาทิตย์ และประเทศเยอรมนีก็จะเป็นประเทศผู้นำการผลิตนวัตกรรมไม่เพียงเฉพาะทางด้านพลังงาน(Energy Technology) แต่จะขยายผลไปยังด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and communication technology) และเทคโนโลยีวัสดุ (Material Technology)8. นโยบายปฏิรูปพลังงานเป็นนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณสูง(ระดับพันล้านยูโร) จะทำอย่างไรให้การปฏิรูปพลังงานมีต้นทุนไม่สูงสำหรับผู้บริโภคจนเกินไป และมีความคุ้มค่าในการลงทุน ? ประเทศเยอรมนี ต้องจ่ายเงินสำหรับการนำเข้าถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ปีละกว่า 80,000 ล้านยูโร เงินที่ต้องจ่ายออกไปนอกประเทศแต่ละปีๆ นั้น ถ้าสะสมกันก็จะเป็นเงินจำนวนมหาศาล หากสามารถลดการนำเข้าพลังงานด้วยการผลิตพลังงานหมุนเวียน ก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหลักประกันในเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน ถึงแม้นว่าในระยะแรกเริ่มซึ่งเป็นระยะการลงทุน ผู้บริโภคจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ค่าพลังงานที่จ่ายสำหรับครัวเรือนคิดเป็นมูลค่าเพียง 3% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในครัวเรือน9. การลดการใช้ไฟฟ้าเป็นเป็นความยั่งยืนสูงสุด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจะมีความหมายอย่างไรต่อ การปฏิรูปพลังงาน ? การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเสาหลักแท่งที่สองของการปฏิรูปพลังงาน รองจากการใช้พลังงานหมุนเวียน การประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธภาพ ทำให้ลดการสร้างโรงไฟฟ้าและโครงข่ายการจ่ายกระแสไฟฟ้าลง การใช้กระแสไฟฟ้าในเยอรมนีลดลงเล็กน้อยตั้งแต่ปี 2007 และเป้าหมายในการลดการใช้ไฟฟ้าลง 10 % ในปี 2020 ยังคงเป็นเป้าหมายที่ยังห่างไกลอยู่ อย่างไรก็ตาม ภาคการเมืองก็ต้องมีมาตรการออกมาสำหรับผลักดันให้เป้าหมายเป็นจริง10. การเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์มีผลต่อการปฏิรูปพลังงานอย่างไร ? หลายๆ คนเข้าใจว่า การประกาศเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ของเยอรมนี เกิดจากปฏิกริยาของ เหตุการณ์ ฟูกูชิมา ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2011 แต่แผนการเลิกการใช้นิวเคลียร์ได้เริ่มมาก่อนนั้นแล้ว การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 1990 และออกมาเป็น พระราชบัญญัติพลังงานหมุนเวียน(EEG) ในปี 2000 โดยในปีนี้ รัฐบาลเยอรมนีได้ทำความตกลงกับผู้ประกอบการผลิตพลังงาน ว่าจะเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในปี 2020 มติของรัฐบาลนายกแองเจลา แมร์เคิล ในปี 2011 คือ ลดการใช้ ถ่านหิน น้ำมัน และ เลิกการใช้นิวเคลียร์ เพิ่มการใช้พลังงานจากลม แสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ ไบโอแมส และความร้อนจากใต้พื้นพิภพ หวังว่าการปฏิรูปพลังงานในไทย จะทำให้คนไทยสามารถมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน ในราคาที่เป็นธรรม และค่าใช้จ่ายสำหรับพลังงานในครัวเรือนจะลดลงสามารถอยู่ที่ระดับ 3 %  ของค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แหล่งข้อมูล DE Magazin Deutschland ฉบับที่ 1/2014 //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point