ฉบับที่ 182 ปดิวรัดา : ความหมายของภรรยาก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ

มนุษย์ไม่เคยกำหนดความหมายของสิ่งใดๆ ไว้เพียงชุดเดียว แต่เรามักให้นิยามความหมายของสิ่งต่างๆ ไว้มากมายกว่าหนึ่งชุดนิยามเสมอ เพียงแต่ว่าเรามักจะมีข้อตกลงร่วมกันว่า ความหมายชุดใดจะกลายเป็นนิยามหลักที่คนทั่วไปในสังคมยอมรับ และข้อตกลงของนิยามดังกล่าว ก็จะมีผลมากำหนดความคิดและการกระทำของคนในสังคมนั้นในที่สุด เช่นเดียวกับนิยามของคำว่า “ภรรยา” หรือ “ความเป็นเมีย” นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้กำหนด และกำหนดความหมายของคำนี้ว่าอย่างไร ในท่ามกลางความเป็นจริงของภรรยาที่มากมายหลายประเภทนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพเมีย(หลวง)อย่าง “นพนภา” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “แรงเงา” ที่ทั้งขี้หึงและระรานผู้หญิงคนอื่นของสามี จนถึงภาพของผู้หญิงขี้เมาอย่าง “ลำยอง” เมียที่ทอดทิ้งทั้งสามีและไม่สนใจดูแลลูกๆ เลย ในละครเรื่อง “ทองเนื้อเก้า” แต่ทว่า เมื่อไม่นานมานี้ เราก็ยังได้เห็นภาพที่ผิดแผกแตกต่าง แต่ถือเป็นอุดมคติของหญิงสาวแบบ “ริน ระพี” ภรรยาที่ดีแสนดีของ “ปลัดศรัณย์” แห่งละครเรื่อง “ปดิวรัดา” ละครเรื่องนี้เริ่มต้นจากเสียงพูดของนางเอกริน ระพี ที่ให้นิยามว่า “ปดิวรัดา หมายถึงภรรยาผู้ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี” โดยเปิดฉากย้อนยุคพีเรียดไปเมื่อปี พ.ศ. 2502 หรือสองปีก่อนที่สังคมไทยจะรู้จักกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2504 ที่ผู้ใหญ่ลีได้ตีกลองประชุมจนลือลั่น ในห้วงก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯนั้น ริน ระพี ซึ่งมีฐานะเป็นลูกเลี้ยงของ “ท่านเจ้าคุณบำรุงประชากิจ” และ “เพ็ญแข” ตัดสินใจทดแทนบุญคุณของพ่อแม่บุญธรรม ด้วยการแต่งงานกับศรัณย์ชายหนุ่มที่เธอไม่เคยพบหน้าค่าตามาก่อน แถมเขายังเคยบอบช้ำกับความรักครั้งเก่ากับ “ดวงสวาท” ผู้หญิงที่ปฏิเสธเขา เพื่อไปแต่งงานกับ “คุณชายนริศ” เพียงเพราะชื่อเสียงเกียรติยศและความมุ่งหวังในทรัพย์สินเงินทองมากกว่า   แม้ลึกๆ รินจะหวั่นใจกับสภาพที่ต้องแต่งงานคลุมถุงชนกับศรัณย์ แต่เธอก็กล่าวกับบิดามารดาบุญธรรมว่า “ชีวิตที่นำด้วยอารมณ์ อารมณ์จะพาไปขึ้นสวรรค์ พาไปลงนรก เป็นได้ทั้งสองทาง แต่ชีวิตที่นำด้วยหน้าที่ หน้าที่ความรับผิดชอบจะพาไปทิศทางเดียว คือพาไปสู่สิ่งที่ดีงาม...หน้าที่ของเด็กที่แม่เอามาทิ้งอย่างรินมีเพียงอย่างเดียวคือ ตอบแทนพระคุณท่านทั้งสอง” ด้วยยึดมั่นที่จะทำ “หน้าที่” และมี “ความรับผิดชอบ” ในฐานะภรรยาที่ดี รินจึงเก็บกระเป๋าไปเป็นคุณนายปลัดในจังหวัดทางภาคใต้ และยอมที่จะเผชิญบททดสอบมากมายที่เธอไม่เคยพานพบมาก่อนในชีวิต สำหรับบททดสอบแรกสุดนั้น ก็คือสามีอย่างศรัณย์ที่คอยกลั่นแกล้งริน เพราะรู้ความจริงว่าเธอแอบสวมรอยมาเป็นบุตรีแท้ๆ ของท่านเจ้าคุณบำรุงประชากิจ เพื่อคลุมถุงชนแต่งงานกับเขา ศรัณย์จึงหมางเมิน และกระทำต่อเธอประหนึ่งเป็นอากาศธาตุที่ไม่มีตัวตนอยู่ในบ้านแต่อย่างใด แต่เพราะยึดหลักที่ว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” ประหนึ่งนางสีดาที่เดินลุยไฟพิสูจน์คุณงามความดีของตน รินจึงยืนหยัดที่จะลุยไฟพิสูจน์คุณงามความดีแห่งความเป็นศรีภรรยาไม่แตกต่างกัน เพราะ “หน้าที่” เป็นหัวใจหลักของความเป็นภรรยา รินจึงทำหน้าที่ดูแลบ้านเรือนให้เรียบร้อยไร้ที่ติ สำรับอาหารคาวหวานและฝีมือทำน้ำพริกลงเรือก็ปรุงได้รสเลิศถูกปาก และเสื้อผ้าของสามีก็ถูกซักรีดอบร่ำน้ำปรุงจนหอมกรุ่นชื่นใจ ความเป็นเบญจกัลยาณีและเสน่ห์ปลายจวักของเธอค่อยๆ มัดใจศรัณย์จนเริ่มคลายความเย็นชา กลับกลายมาเป็นความรู้สึกพึงใจกับผู้หญิงที่เขาเคยตั้งแง่เอาไว้ตั้งแต่แรก นอกจากบททดสอบจากปลัดหนุ่มผู้เป็นสามีแล้ว รินยังต้องปรับตัวให้เข้ากับดินแดนชนบท ที่ในยุคก่อนแผนพัฒนาฯนั้นช่างเต็มไปด้วยภยันตราย เพราะมีกลุ่มโจร “เสือขาว” ออกอาละวาดปล้นสะดมทรัพย์สินชาวบ้าน แต่ที่เหนือไปกว่ากลุ่มโจรนั้น รินก็ยังต้องถูกทดสอบความอดทนจากดวงสวาท หญิงคนรักเก่าที่ย้อนกลับมาขอคืนดีกับปลัดศรัณย์อีกครั้งหนึ่งด้วย แต่กระนั้น ด้วยธีมหลักของละครที่ยืนยันอยู่ตลอดว่า “ภรรยาที่ดีย่อมตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้” การทำหน้าที่เป็น “ภรรยาที่ซื่อสัตย์และภักดี” และยืนเคียงข้างสามีอย่างไม่กลัวอันตรายใดๆ ก็ได้รับการพิสูจน์และกลายเป็น “รางวัลแด่คนช่างฝัน” ที่เป็นสุขของรินในตอนจบเรื่อง และในขณะเดียวกัน เป็นเพราะนิยามของ “ภรรยา” อาจไม่ได้มีแค่คำนิยามว่าเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามีเท่านั้น ละครจึงได้สร้างภาพภรรยาในแบบอื่นๆ อีกสามคนขึ้นมาเทียบเคียงกับตัวละครอย่างริน ดวงสวาทเป็นภาพเมียแบบแรก ที่แม้จะแต่งงานออกเรือนไปกับคุณชายนริศ แต่เพราะไม่ซื่อสัตย์ต่อสามี บทลงโทษของเธอก็คือชีวิตที่ตกต่ำลง และการตัดสินใจฆ่าตัวตายของสามีที่ยอมรับสภาพความล้มเหลวในชีวิตคู่ของเขาไม่ได้ ส่วนภรรยาแบบที่สองก็คือ “บราลี” ที่ไม่ใช่ความภักดี แต่เป็นความลุ่มหลงสามีอย่าง “พณิช” ที่แม้จะคอร์รัปชั่นโกงกิน เธอเองกลับมิได้ห้ามปรามขัดขวางเขา จนถูกสามีทอดทิ้งไปในตอนท้ายที่สุดของเรื่อง หรือภรรยาแบบที่สามก็คือ “นิ่ม” ที่เลือกเป็นเมียโจรอย่าง “เสือบาง” ก็ภักดีต่อผัวจนยอมทรยศพ่อแม่และทุกๆ คน และท้ายสุดก็ต้องตายตกไปตามกันกับผัวโจรของตน บทลงโทษเชิงสัญลักษณ์ที่มีต่อดวงสวาท บราลี และนิ่ม ก็ไม่ต่างจากการขับเน้นให้เห็นว่า ในท่ามกลางภาพของเมียหลายๆ แบบในสังคมไทยยุคก่อนก้าวสู่ความทันสมัย แต่ความหมายของเมียที่เปรียบเป็น “เพชรงามน้ำหนึ่ง” ซึ่งสังคมยอมรับ ก็ยังต้องเป็นเฉพาะภรรยาที่ซื่อสัตย์ ภักดี และส่งเสริมให้ชีวิตสามีดำเนินไปในทางที่ดีงามเท่านั้น จากโลกสัญลักษณ์ของละคร เมื่อย้อนกลับมามองดูรอบตัวในปัจจุบัน ภายใต้กระแสที่ผู้หญิงไทยจำนวนมากได้ออกไปก้าวหน้าโลดแล่นในโลกกว้างเกินกว่าแค่ในปริมณฑลของบ้านและชีวิตครอบครัว แต่ความหมายของ “ปดิวรัดา” แบบริน ระพี ก็ยังถูกผูกเอาไว้กับ “หน้าที่” ของอิตถีเพศที่ต้อง “ซื่อสัตย์และภักดีต่อสามี” ซึ่งเผลอๆ อาจจะไม่ใช่นิยามชุดแรกๆ ที่ภรรยายุคนี้จะบอกกับตนเองเท่าใดนัก คำถามที่น่าสงสัยยิ่งก็คือ แล้วเหตุไฉนโลกสัญลักษณ์จึงยังเลือกเก็บภาพอุดมคติของภรรยาก่อนแผนฯ มาเป็นกระจกสะท้อนให้ผู้หญิงหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯได้เสพและชื่นชมกันเยี่ยงนี้หนอ?

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point