ฉบับที่ 262 แกงส้มแป๊ะซะเปรี้ยวแซ่บ เมนูปาร์ตี้ปีใหม่ปลอดภัย?

        “เมนูเปรี้ยวแซ่บขนาดนี้ อยู่ในภาชนะอะลูมิเนียม เหล็กหรือสังกะสี  เมื่อถูกกระตุ้นด้วยความร้อนสูงต่อเนื่องเป็นเวลานานจะมีสารตะกั่วออกมาให้เรากินไปด้วยไหม ?”         แกงส้ม เป็นอาหารไทยที่มีรสชาติครบทั้งเปรี้ยว เค็ม เผ็ดและหวาน ร้านอาหารดังหรือแม้แต่ในครัวบ้านๆ ต้องมี ความอร่อยของเมนูนี้อยู่ที่ “ต้องรับประทานขณะร้อน” ดังนั้นภาชนะที่ใช้เวลาเสิร์ฟจึงต้องสามารถส่งผ่านความร้อนได้เป็นอย่างดี เช่น อะลูมิเนียม  เหล็ก  สังกะสี ทองเหลืองและสแตนเลส แต่ปัจจุบันภาชนะทองเหลืองและสแตนเลส มักไม่ค่อยเป็นที่นิยมเพราะราคาค่อนข้างสูง ที่นิยมและพบได้ทั่วๆ ไปในร้านอาหาร คือ ภาชนะชนิดอะลูมิเนียม  เหล็ก  สังกะสี แต่เราเคยสงสัยบ้างไหมว่า อาหารที่มีรสเปรี้ยวแซ่บขนาดนี้ เมื่ออยู่ในภาชนะดังกล่าวและยังถูกความร้อนสูงๆ อย่างต่อเนื่องจากเชื้อเพลิงเป็นเวลานานจะมีสารตะกั่วหรือโลหะหนักอื่นๆ ปนออกมาให้เรารับประทานโดยไม่รู้ตัวไปด้วยไหม?         ปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยพบภาชนะที่ทำจากตะกั่วล้วนๆ แล้วแต่ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไป เพราะถ้าภาชนะมีการบัดกรี ตามรอยต่อต่างๆ ก็อาจจะมีการปนเปื้อนจากตะกั่วลงมาในอาหารได้ซึ่งเราก็ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้นทางเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดหนองบัวลำภู จึงได้เก็บตัวอย่างอาหารจากร้านอาหาร จำนวน 2 ครั้ง (ครั้งที่1 และครั้งที่ 2 ห่างกันประมาณ 3 - 7 วัน) และเก็บตัวอย่างน้ำแกง 3 ลักษณะ (ทั้งน้ำแกงที่เย็น น้ำแกงที่เดือด และน้ำแกงหลังจากเดือดไปแล้ว 5 นาที) จากนั้นส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการทดสอบโลหะหนัก ด้วยวิธีมาตรฐาน พบผลตรวจน่าสนใจ คือ          พบว่ามีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่ในอาหาร แต่...ยังมีความปลอดภัยเพราะมีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ก. สาธารณสุข กำหนดให้สารตะกั่วต้องไม่เกิน 1 มก.ต่อ อาหาร 1 กก. และอาหารที่จำหน่ายในร้านอาหารนั้นจะต้องมีความปลอดภัยจากโลหะหนัก สารเคมี และเชื้อโรคด้วย)         อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจ เครือข่ายฯ ได้วัดค่าความเป็นกรดของน้ำแกงส้ม พบว่ามีค่าอยู่ระหว่าง 3.67–5.95  (โดยร้อยละ 80 ของตัวอย่างมีค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง 4.00–5.00) ซึ่งถือได้ว่าน้ำแกงส้มมีค่าเป็นกรด จึงมีความเสี่ยงมากถ้าใช้ภาชนะที่ไม่ได้มาตรฐานหรือมีการบัดกรีภาชนะที่เป็นโลหะผสมหรือภาชนะที่มีรอยต่อและการที่ยังพบสารตะกั่ว เพราะตะกั่วสามารถสะสมในร่างกายได้เป็นเวลานาน รวมทั้งอาจได้รับสารตะกั่วจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น สิ่งแวดล้อม การใช้เครื่องสำอางที่มีสารตะกั่ว ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อร่างกายได้         การปนเปื้อนของโลหะหนักในอาหารทำให้เกิดอันตรายต่อ สมอง กระดูก  ไตและต่อมไทรอยด์  ถ้าเป็นเด็กเล็ก อาจส่งผลต่อ IQ ทำให้ต่ำกว่าเด็กทั่วไป อาการเป็นได้ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงจากการรับประทานอาหารได้ง่ายที่สุดคือ ในการรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว ต้องใช้ภาชนะที่มีความปลอดภัย ไร้สารตะกั่ว เพราะจะทำให้ลดปัจจัยเสี่ยง และทำให้เรามีความสุขในการรับประทานอาหารกับครอบครัว มิตรสหายในช่วงเวลาดีๆ นี้ได้อย่างสบายใจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ไอศกรีมแสนอร่อยมีสารพิษ

        ไอศกรีมเป็นของหวานที่มีราคาหลากหลาย กล่าวคือ บางยี่ห้อราคาถูกพอที่คนซึ่งเลี้ยงชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำพอซื้อกินได้ ไปจนถึงบางยี่ห้อที่ราคา 1 scoop ละร้อยกว่าบาท ความแตกต่างของราคานั้นขึ้นกับกรรมวิธีการผลิตซึ่งมักมีวัตถุดิบ ที่อาจเหมือนกันแต่คุณภาพต่างระดับกัน         ไอศกรีมราคาแพงมักมีกลิ่นรสอร่อยกว่าไอศกรีมราคาถูก เช่นในกรณีของไอศกรีมรสวานิลลา ไอศกรีมราคาแพงมักใช้สารสกัดจากฝักวานิลลาจริงซึ่งมีราคาแพงพอควร ในขณะที่ไอศกรีมราคาถูกมักใช้กลิ่นรสวานิลลาสังเคราะห์ซึ่งเป็นสารเคมีที่อาจเหมือนหรือคล้ายของจริง แต่องค์ประกอบโดยรวมของกลิ่นและรสสังเคราะห์นั้นย่อมต่างจากวานิลลาจริงแน่นอน อย่างไรก็ตามการกินไอศกรีมที่ใช้ของดีและอร่อยนั้นก็อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับโอกาสเจอสารเคมีไม่พึงประสงค์ได้ ถ้าผู้ผลิตพลั้งพลาดปราศจากความรอบคอบในการคัดเลือกองค์ประกอบบางชนิดมาใช้ในการผลิต เพราะอร่อยและแพงจึงเจอสารพิษ         10 สิงหาคมของปีนี้เว็บของสำนักข่าวหนึ่งของไทยมีหัวข้อข่าวเรื่อง ผู้บริโภคผวา! เบลเยียมสั่งเรียกไอศครีมเจ้าดังเพิ่ม หลังอียูเตือนพบสารก่อมะเร็ง โดยมีเนื้อข่าวที่น่าสนใจว่า เบลเยียมสั่งเรียกเก็บไอศกรีมยี่ห้อดังออกจากชั้นวางขายเพิ่มเติมจากที่เคยสั่งไปแล้วครั้งหนึ่งในเดือนกรกฎาคม 2022 ข่าวโดยสรุปกล่าวว่า พบเจอสาร 2-chloroethanol ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวชนิดกระปุกใหญ่และถ้วยมินิซึ่งจะหมดอายุเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 จากนั้น European Food Safety Authority: EFSA ได้แจ้งเตือนแก่ประเทศสมาชิกอีกครั้ง (ข่าวปรากฏในวันที่10 สิงหาคม 2565) ว่าได้สุ่มตรวจสอบหาสารปนเปื้อนในไอศกรีมยี่ห้อต่างๆ แล้วพบว่า ไอศกรีมยี่ห้อ XXX ที่ผลิตในฝรั่งเศสแต่มีบริษัทแม่เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีสารไม่พึงประสงค์ปนเปื้อน หน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศฝรั่งเศสจึงขอให้ร้านค้านำสินค้าล็อตที่ตรวจพบสารพิษออกจากชั้นวางสินค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือ แหล่งข่าวทั้งไทยและเทศร่วมใจกันให้ข้อมูลว่า สารพิษที่พบนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์และสามารถก่อโรคร้าย เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวผู้บริโภคควรฟังหูไว้หูก่อนตื่นตระหนก         จากการค้นหาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับ 2-chloroethanol แล้วปรากฏว่า สารเคมีนี้ถูกจัดว่าเป็นสารพิษร้ายแรงชนิด extremely hazardous substance ซึ่งตามข้อกำหนดของสหรัฐอเมริกาในรัฐบัญญัติ Emergency Planning and Community Right-to-Know Act (42 U.S.C. 11002) กำหนดว่า ต้องมีการรายงานปริมาณการผลิต การครอบครองและการใช้ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ         2-chloroethanol เป็นอนุพันธ์ของ ethylene oxide ซึ่ง ethylene oxide นั้นเป็นสารก่อมะเร็งที่มีลักษณะเป็นกาซชนิดที่มีความนิยมในการใช้ฆ่าแมลงและจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนสินค้าทางการเกษตรต่างๆ ตามคุณสมบัติที่สามารถทำลายดีเอ็นเอของเซลล์อย่างชะงัดนัก ในกรณีของไอศกรีม XXX นั้นบริษัทแม่ของผู้ผลิตไอศกรีมสัญชาติฝรั่งเศสซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกากล่าวในเว็บของบริษัทว่า "ปริมาณ ethylene oxide ระดับหนึ่งถูกตรวจพบได้จากส่วนผสมเดียวคือ สารสกัดวานิลลา ที่จัดหาโดยซัพพลายเออร์รายหนึ่งของบริษัท สำหรับประเทศอื่นนอกสหภาพยุโรปนั้น หน่วยงานตรวจสอบด้านสุขภาพ ANVISA ของบราซิลในเดือนสิงหาคมของปีนี้ ได้ออกการแจ้งเตือนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไอศกรีมรสวานิลลา XXX ที่นำเข้าจากฝรั่งเศสเช่นกัน         ปริมาณของ ethylene oxide ที่ถูกรายงานเป็นผลวิเคราะห์ต่างๆ นั้น โดยปรกติแล้วเป็นผลรวมของ ethylene oxide และ 2-chloroethylene เสมอ ด้วยเหตุผลว่า 2-chloroethanol นั้นมีจุดเดือดที่ 129°C และสลายตัวที่อุณหภูมิสูงกว่า 400°C จึงมีความคงตัวภายใต้สภาวะการอบหรือการปรุงอาหารทั่วไป ในขณะที่ ethylene oxide ระเหยได้ที่อุณหภูมิห้องเพราะมีจุดเดือดที่ 10.7°C ดังนั้นการตกค้างจึงมักเป็นการพบ 2-chloroethanol ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ว่า เคยมี ethylene oxide ปนเปื้อนอยู่        ethylene oxide ที่ถูกพบในสารสกัดวานิลลานั้นจัดเป็นสารก่อมะเร็งตามรายงานการศึกษาหลายฉบับของ US. National Toxicology Program เช่น ใน NTP Report on Carcinogens Background Document for Ethylene Oxide, Final March 1999 ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีส่วนหนึ่งในรายงานที่กล่าวว่า 2-chloroethanol ซึ่งเป็นอนุพันธ์เกิดจาก ethylene oxide นั้นเป็นสารก่อกลายพันธุ์ในการทดสอบหลายวิธีการ แต่ไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็ง  เอกสารชื่อ 35-Ethyleneoxide ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยนำเข้า ethylene oxide จากต่างประเทศ โดยปริมาณนำเข้ารวมแล้วจากประเทศต่างๆ ระหว่างปี พ.ศ.2544-2549 อยู่ในระดับ 3 ถึง 4 แสนกิโลกรัม สารพิษนี้มีประโยชน์ในการใช้อบฆ่าเชื้อโรคเครื่องมือแพทย์ประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (ชนิดทำจากพลาสติก) ซึ่งไม่สามารถใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อ, ใช้เป็นสารรมควันสำหรับผ้า ขนสัตว์ อาหาร, ใช้บ่มผลไม้ให้สุก และใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีหลายชนิด เช่น acrylonitrile, nonionic surfactant เป็นต้น         ประเด็นที่สำนักข่าวส่วนใหญ่ไม่ได้ความสำคัญคือ ทำไมอยู่ดีๆ EU จึงมีการตรวจสอบสารพิษที่เป็นข่าวในไอศกรีม จากการค้นหาข้อมูลได้พบว่า เว็บ https://affidiajournal.com มีบทความเรื่อง Ethylene oxide in ice cream: over 100 brands involved in France ได้ให้ข้อมูลว่า เริ่มมีการแจ้งเตือนเรื่อง ethylene oxide ปนเปื้อนในวัตถุดิบทางการเกษตรตั้งแต่ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2020 เพราะพบว่า เมล็ดงาที่ถูกนำเข้าจากอินเดียปนเปื้อนสารพิษนี้ นับแต่นั้นมาวัตถุดิบทางเกษตรหลายอย่าง เช่น ขิงและเครื่องเทศอื่นๆ รวมทั้งอาหารเสริมบางชนิดได้ถูกถอนออกจากตลาดเพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายหลังการตรวจพบสารปนเปื้อนดังกล่าว         ในฝรั่งเศสมีรายงานไอศกรีมหลายยี่ห้อที่มีการปนเปื้อนของสารพิษนี้ในระดับสูงกว่าที่ชาวฝรั่งเศสควรได้รับ ทั้งที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่มี งา ขิง หรือเครื่องเทศ (ที่มักมีการปนเปื้อนของ ethylene oxide หรือ ในรูปของอนุพันธ์คือ 2-chloroethanol) โดยพบว่า เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีสารทำให้คงตัว (food stabilizer) สองชนิดคือ locus bean gum (ชื่อรหัสบนฉลากอาหารคือ E410 เป็นสารธรรมชาติซึ่งสกัดได้จากเนื้อในเมล็ดของต้น carob หรือ Ceratonia silliqua) และ guar gum (ชื่อรหัสบนฉลากอาหารคือ E412 เป็นสารธรรมชาติซึ่งสกัดได้จากเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ ต้นอ่อนในเมล็ดของถั่ว Guar ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้) ถูกวิเคราะห์พบว่า มี ethylene oxide เกินขีดจำกัดสูงสุดตามกฎข้อบังคับ ประเด็นที่น่าสนใจคือ จริงแล้วสารทำให้คงตัวทั้งสองไม่ได้ถูกใช้เฉพาะในไอศกรีมเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มี locus bean gum (E410) หรือ guar gum (E412) ได้ถูกถอนออกจากชั้นวางขายสินค้าของร้านขายของในฝรั่งเศส         บทความเรื่อง Analysis of ethylene oxide in ice creams manufactured with contaminated carob bean gum (E410) ในวารสาร Food Additives & Contaminants: Part A ของปี 2021 ให้ข้อมูลว่า ตัวอย่างไอศกรีมมากกว่า 100 รายการ ที่ผลิตในปี 2021 จากฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และโปแลนด์ มีสาร E410 (locus bean gum) ซึ่งทำให้คาดว่า อาจมีการปนเปื้อนสารพิษคือ ethylene oxide ปฏิบัติการนี้ทำขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับใช้ในการพัฒนาและตรวจสอบวิธีการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงคือ GC-MS Triple Quad นี่คือคำตอบว่าทำไมอยู่ดีๆ European Food Safety Authority จึงลุกขึ้นมาทดสอบว่าไอศกรีมมี ethylene oxide หรือไม่ และการวิเคราะห์ (ซึ่งคงทำในอาหารหลายกลุ่มชนิด) ทำให้พบว่าตัวอย่างไอศกรีม 7 ใน 23 ตัวอย่างมี ethylene oxide น้อยกว่า 0.010 มก./กก. ส่วนตัวอย่างไอศกรีมที่เหลือมีการปนเปื้อนมากกว่า 0.010 มก./กก. โดยห้องปฏิบัติการทั้งสองแห่งพบ ethylene oxide ในตัวอย่างที่เหลือนั้นอยู่ในช่วง 0.021–0.052 มก./กก. (ห้องปฏิบัติการ 1) หรืออยู่ในช่วงที่มากกว่า 0.018–0.056 มก./กก. (ห้องปฏิบัติการ 2)         โดยสรุปแล้วข่าวการปนเปื้อนของสารพิษในไอศกรีมนั้น เป็นความประมาทซึ่งยากในการป้องกัน เพราะเกิดจากการใช้วัตถุดิบที่ได้จากประเทศซึ่งมีความหลากหลายในระดับของเทคโนโลยีการดูแลวัตถุดิบทางการเกษตร เหตุการนี้เป็นตัวอย่างที่หน่วยงานซึ่งดูแลความปลอดภัยของอาหารของนานาประเทศ สามารถใช้เป็นอุทาหรณ์กระตุ้นเตือนให้บริษัทซึ่งมีสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรซึ่งจำเป็นต้องปราศจากเชื้อราและแมลง มีความพิถีพิถันในการเลือกแหล่งที่มาของวัตถุดิบซึ่งมีกระบวนการ GAP (good agricultural practice) ที่ดี นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความรู้สึกกังวลว่า แล้วเครื่องเทศที่มีวางขายในบ้านเราโดยไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อรานั้นมีโอกาสปนเปื้อน ethylene oxide ซึ่งคงเหลือในรูปของ 2-chloroethanol หรือไม่ และในกรณีที่ผู้บริโภคบางคนเกิดกังวลว่า มีการปนเปื้อนจริง คำแนะนำที่น่าจะปฏิบัติไม่ยากคือ อย่ากินอะไรซ้ำซากและอย่ากินอะไรมากในแต่ละมื้อ เพราะ 2-chloroethanol นั้นถ้ามีปริมาณไม่มากเราสามารถขับทิ้งได้ทางปัสสาวะภายใน 24-48 ชั่วโมง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 อาหารสัตว์ปนเปื้อน

การเลือกซื้ออาหารแปรรูปสำหรับสัตว์เลี้ยง เหมือนไม่ใช่เรื่องยากเท่าไรนัก เพราะแค่เลือกสูตรให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงกับเราก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ความจริงก็คือเรายังต้องเสี่ยงกับอาหารสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งๆ ที่พิจารณาจากยี่ห้อดังตามท้องตลาด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คุณพลอยได้เลือกซื้ออาหารสัตว์สำเร็จรูปเกรดพรีเมียมยี่ห้อดัง ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะสำหรับสุนัขแพ้ง่าย ที่มีปัญหาเรื่องผิวหนัง เพราะไม่มีส่วนผสมของโปรตีนจากไก่ ข้าวโพดและข้าวสาลี จากร้านค้าเจ้าประจำแถวบ้าน อย่างไรก็ตามหลังเปิดถุงออกมา กลับพบสิ่งแปลกปลอมเป็นแมลงตัวสีดำ มีลักษณะคล้ายมอดจำนวนมาก ทั้งกลิ่นอาหารยังผิดปกติไปจากเดิม และเมื่อตรวจสอบวันหมดอายุก็พบว่ายังไม่ถึงกำหนด คุณพลอยจึงกลับไปที่ร้านดังกล่าว เพื่อขอคืนเปลี่ยนสินค้าและแจ้งว่านี่เป็นครั้งที่สองแล้ว ที่เธอพบความผิดปกติเช่นนี้ จึงต้องการทราบว่าปัญหาเกิดจากอะไรกันแน่ และแม้แม่ค้ายินดีให้เธอเปลี่ยนคืนสินค้า แต่ก็แสดงท่าทีไม่พอใจที่คุณพลอยถามถึงสาเหตุของปัญหา ส่งผลให้คุณพลอยตัดสินใจส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาเนื่องจากอาหารสัตว์เป็นอาหารที่ถูกควบคุมคุณภาพ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาหารสัตว์ 2558 ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 56 ว่าห้ามผู้ใดผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือขายอาหารสัตว์ดังต่อไปนี้ 1.อาหารสัตว์ปลอมปน 2.อาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพ 3.อาหารสัตว์ผิดมาตรฐาน 4.อาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ 5.อาหารสัตว์ที่อธิบดีสั่งเพิกถอนทะเบียน โดยหากผู้ใดผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขายอาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับดังนั้นในกรณีนี้ผู้ร้องสามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ให้ดำเนินการตรวจสอบอาหารสัตว์ที่มีการปลอมปน เสื่อมคุณภาพ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานได้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงช่วยผู้ร้องส่งหนังสือและสินค้าดังกล่าวไปยังกรมฯ เพื่อขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยได้รับการตอบกลับมาว่า หลังกรมฯ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสถานที่จำหน่าย เพราะคาดว่าปัญหาดังกล่าว อาจเกิดจากการจัดเก็บที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตามพบว่า สถานที่จำหน่ายมีใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ มีการเก็บแยกอาหารสัตว์เป็นสัดส่วนและมีความสะอาด ซึ่งไม่มีแมลงหรือสัตว์พาหะที่อาจทำให้อาหารสัตว์เสื่อมคุณภาพได้ ส่งผลให้ไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่า อาหารสัตว์ดังกล่าวเสื่อมคุณภาพ หรือปลอมปนด้วยสาเหตุใด ทางกรมฯ จึงขอเก็บตัวอย่างเพื่อส่งให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการตรวจสอบต่อไป และหากพบว่าอาหารไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดจริง จะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว และผู้ผลิตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งผู้จำหน่ายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 สถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ เชื้อดื้อยา และยีนดื้อยา ในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม และการจัดการ

1. เกริ่นนำ ความห่วงใยเรื่องปัญหาเชื้อดื้อยาเดิมเริ่มจากผลกระทบและปัญหาที่พบในโรงพยาบาล  และไทยก็มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในมนุษย์ ส่งมาจากโรงพยาบาลเป็นหลัก ต่อมาเริ่มเห็นปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในชุมชน  และมีความเข้าใจมากขึ้นถึงปัญหาในระบบห่วงโซ่อาหาร  รวมถึงมีคำอธิบายความเชื่อมโยงของการดื้อยาทั้งในคน สัตว์ พืช และ สิ่งแวดล้อม ที่ไม่อาจแยกจากกันได้ ปัจจุบันทั้งนักวิชาการ และฝ่ายนโยบายจึงให้ความสำคัญมากขึ้น กับสิ่งที่เรียกว่า one health โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรายงานการใช้ยาปฏิชีวนะและการปนเปื้อนเชื้อโรค เชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหารและสิ่งแวดล้อม บทความนี้ทบทวนสถานการณ์ถึงความก้าวหน้าใหม่ๆ ในด้านนี้ ต่อเนื่องจากบทความในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 164 เรื่องยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร พบว่า มีความก้าวหน้าเชิงนโยบายและวิชาการทั้งจากทั่วโลกและในประเทศไทย  แต่ขณะเดียวกันก็มีความน่ากลัวของสถานการณ์การดื้อยาที่รุนแรงขึ้น จากห่วงโซ่อาหารมาสู่คนและสิ่งแวดล้อม ที่ทุกภาคส่วนล้วนยอมรับว่ากระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ และต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมที่กระทบทั้งสุขภาพและกระทบต่อการผลิตอาหารในระยะยาวในวงจรอาหารมีองค์ประกอบที่มีความหลากหลายและเชื่อมโยงกันเป็น one health  ดังนั้นการทำงานเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาควรมองการป้องกันและจัดการอย่างบูรณาการ ระบาดวิทยาของเชื้อดื้อยา (Epidemiology of Antimicrobial Resistance)  สะท้อนแหล่งผลิตเชื้อดื้อยาหรือยีนดื้อยา ที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะหรือเกิดการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยา  มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด ทั้งทางตรงและทางอ้อม   อาจมีปฏิสัมพันธ์ทางเดียวหรือสองทิศทางก็ได้ ที่สำคัญๆ มีได้ 7 จุด ได้แก่ มนุษย์(โรงพยาบาล สถานีอนามัย ชุมชน และการท่องเที่ยว) ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหาร(วัว หมู แกะ เป็ดไก่ ฯลฯ) สัตว์เลี้ยง สัตว์สวยงาม สัตว์โชว์(เช่นสุนัข แมว ไก่ชน ฯลฯ) การปลูกพืช ผัก ผลไม้ ผลิตเม็ลดพันธ์(ส้ม ส้มโอ มะนาว มันเทศ ฯลฯ) การประมง(ปลา กุ้ง ฯลฯ) โรงงานผลิตยา สารเคมี และสารเคมีใช้ในบ้าน(อาจปล่อยยาปฏิชีวนะ หรือสารเคมีลงสิ่งแวดล้อม) การผลิตแอลกอฮอล์จากพืช(มีการใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะด้วย) ในการเชื่อมโยง แพร่ปัจจัยการเกิดเชื้อดื้อยา มีทั้งสัมผัสตรงหรือได้ทางอ้อม จุดเชื่อม เช่น มูลสัตว์และน้ำจากฟาร์ม การขายทำปุ๋ย หรือปล่อยลงดิน การลงแม่น้ำ นำไปสู่ ทะเลหรือทะเลสาบ มีการนำไปบริโภค แหล่งบำบัดน้ำเสียจากจุดปล่อย ต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น     2. MCR-1 gene เรื่องใหญ่ของโลกและของไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2558  มีรายงานจากประเทศจีนที่ลงตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Lancet Infectious     เป็นการค้นพบยีน (gene) ที่ดื้อต่อยาโคลิสติน ที่ชื่อว่า mcr-1 gene เป็นครั้งแรกในโลก โดยที่เป็นการพบว่า ยีนการดื้อยานี้ มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากยีนดื้อยาเดิม คือชนิดใหม่เกิดบน plasmid มีการถ่ายทอดพันธุกรรมในลักษณะเป็น Horizontal Gene Transfer สามารถถ่ายทอดสายพันธุกรรมข้ามสายพันธุ์ได้  การค้นพบนี้ก่อให้เกิดความตื่นเต้นและตระหนกไปทั่วโลก แม้ว่าก่อนหน้านี้มีการศึกษา การดื้อยาโคลิสติน มาแล้วหลายรายงาน แต่รายงานดั้งเดิมพบยีนดื้อยาที่มีลักษณะแบบ Vertical Gene Transfer  ทั้งนี้ยาโคลิสตินเป็นหนึ่งในยากลุ่ม polymyxin   เนื่องจากความเป็นพิษต่อมนุษย์ จึงมีการแนะนำให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์(หมูและไก่) แต่ในขณะเดียวกัน ยาโคลิสตินก็เป็นยากลุ่มสำคัญที่มักจะใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ดื้อต่อยาอื่นๆ  การค้นพบครั้งนี้ จึงสะท้อนปัญหาการดื้อยาที่เกิดในห่วงโซ่อาหารและกระทบต่อสุขภาพของคนและนำไปสู่สิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว หลังรายงานฉบับแรก ได้เพียง 3 เดือน พบรายงานถึงการพบ mcr-1 gene ในอย่างน้อยใน 19 ประเทศ และเพียงกลางปี พ.ศ. 2559 พบรายงานแล้วกว่า 32 ประเทศ  จากการที่ผู้เขียนได้รวบรวมเอกสารงานวิจัยและข่าวต่างๆ จากทั่วโลกในช่วงเวลาสองปีย้อนหลัง(พฤศจิกายน พ.ศ. 2558-ตุลาคม พ.ศ. 2560) พบว่ามีการรายงานการพบ mcr-1 gene แล้วถึงมากกว่า 42 ประเทศ กระจายทุกภูมิภาค(ตารางที่ 1) คาดว่าน่าจะมีมากกว่านี้ตารางที่ 1 รายชื่อประเทศ ที่มีรายงานตรวจพบ mcr-1 gene และยีนในกลุ่มเดียวกัน (mcr-1 gene ถึง mcr-5 gene)จากรายงานวิจัยที่รวบรวม พบว่าแหล่งของยีนเชื้อดื้อยามาจากหลากหลายแหล่ง เช่น จากฟาร์ม (อุจจาระ เลือด สารคัดหลั่ง หรือการ swab ทวารหนัก ของหมู วัว ไก่ในฟาร์ม) จากเนื้อสัตว์แหล่งต่างๆ  (หมู ไก่ วัว)  จากพืชผัก (ตรวจที่ปลายทางที่ประเทศนำเข้า ส่วนไทยยังไม่ได้ตรวจ)   จากสิ่งแวดล้อม(แม่น้ำ น้ำบ่อ น้ำระหว่างการบำบัด) รวมถึงตัวอย่างเชื้อที่แยก จากผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยที่เพาะและแช่แข็งเก็บไว้ และต่อมาพบในผู้ป่วย ( เลือด อุจจาระ สารคัดหลั่ง)  หรือในอาสาสมัครปกติ( เลือด อุจจาระ สารคัดหลั่ง)   ความห่วงใยต่อการปนเปื้อนของ mcr-1 gene หรือ แบคทีเรียที่มี mcr-1 gene  ในสิ่งแวดล้อมหรือในระบบนิเวศน์ เพราะหลังจากตรวจพบ mcr-1 gene ในสัตว์ ในคน ก็เริ่มพบว่ามีการแพร่ไปสู่สิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ ลักษณะ นอกจากนี้  มีข่าวบางข่าวจากต่างประเทศสะท้อนความห่วงใยการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะยาหรือยีนเชื้อดื้อจากโรงงานผลิตยา และจากโรงพยาบาล  ยังพบต่อมาว่าเกิดยีนส์อีกหลายชนิดที่เป็นกลุ่มใกล้เคียงกัน รวมแล้วปัจจุบันพบยีนดื้อยาโคลิสตินชนิดร้ายแรงนี้ ได้แก่ mcr-1, mcr-2, mcr-3, mr-4, mcr-5  และในบางครั้งพบยีนดื้อยาที่รวมกันหลายชนิดในสายพันธุกรรมเดียวกันด้วยที่มาจากผู้ป่วย  ส่วนสถานการณ์ของไทย พบว่ามีรายงานต่างประเทศระบุว่าพบ mcr-1 gene ในตัวอย่าง ที่เก็บ ตั้งแต่ พ.ศ. 2555   โดยพบในคนไทย  2 ราย จากตัวอย่างคนไทยที่ตรวจทั้งหมด 3 ราย ที่ยังไม่ได้แสดงอาการ และเห็นความเชื่อมโยงว่าอาจแพร่จากหมูมาสู่คนได้ต่อมามีรายงานในผู้ป่วย ตามที่ปรากฎในบทความ ในหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก   ที่ระบุว่า  มีเอกสารรายงาน “สถานการณ์การเกิดโรคประจำสัปดาห์ที่ 24 ระหว่างวันที่ 12-18 มิถุนายน 2559” ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่ามีการตรวจพบยีนดื้อยาดังกล่าวในตัวอย่างปัสสาวะผู้ป่วยชาย ข้อความดังนี้  "4.พบผู้ป่วยติดเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จ.นนทบุรี โดยศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติได้ตรวจพบเชื้อ Escherichia coli มียีนดื้อยา mcr-1 จากตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยไทย เพศชาย อายุ 63 ปี ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งแรกระหว่างวันที่ 23 มกราคม-25 กุมภาพันธ์ 2559 ด้วยอาการ Intracerebral hemorrhage แพทย์ได้ผ่าตัด และผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-11 เมษายน 2559 ด้วยโรคหลอดลมอักเสบ คาดว่าผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาจากโรงพยาบาล”ทั้งนี้ต่อมามีรายงานวิชาการระบุการพบเชื้อดื้อยาที่ชื่อ Escherichai coli (E coli) จากปัสสาวะของผู้ป่วยชายไทยอายุ 63 ปี ที่มีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ  การตรวจเบื้องต้นพบการดื้อต่อยาปฏิชีวนะถึงกว่า 30 ชนิด เมื่อทำการตรวจยีนพบทั้ง mcr-1 gene ที่ดื้อต่อโคลิสตินและยีนดื้อยารุนแรงอื่น   หมายเหตุ ผู้เขียน เข้าใจว่าตัวอย่างนี้น่าจะเป็นชายคนเดียวกับที่รายงานในคมชัดลึก มีรายงานจากต่างประเทศระบุว่าพบ mcr-1 gene ในตัวอย่าง ผัก จากไทย(ชะอม) และเวียดนาม (โหระพา) ที่ส่งไปขายในสวิตเซอร์แลนด์ โดยตัวอย่างเก็บเมื่อพ.ศ. 2557 รายงานการตรวจพบ mcr-1 gene ในไทยจากตัวอย่างเชื้อที่เก็บจากหมู  ในช่วงพ.ศ. 2547, 2554-2557 จาก 4 จังหวัด พบ mcr-1 gene ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 (1 จังหวัด) และพบต่อเนื่อง ในปีพ.ศ. 2555-2556 (2 จังหวัด) และพ.ศ.2557 (1 จังหวัด)  รายงานข่าวในคมชัดลึก ถึงการสำรวจฟาร์มหมู และการดำเนินการของกรมปศุสัตว์ที่เข้มงวด รวดเร็ว ที่ลงต่อเนื่อง  3. นานาชาติเขาทำอะไรกันบ้าง เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาในห่วงโซ่อาหาร  Antibiotic Awareness Week/Day 2017วันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปี จัดเป็นวัน antibiotic awareness day  ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2551 โดยเริ่ม European Antibiotic Awareness Day ด้วยการประสานงานของ European Center for Diseases Prevention and Control  ร่วมกับภาคีหลายภาคส่วน เป็นการรณรงค์ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ/ยาต้านแบคทีเรียอย่างสมเหตุผลและอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ยายังคงมีประสิทธิผลในการรักษาและเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งเดิมเป้าหมายมุ่งที่การใช้ยาในคน แต่ต่อมาขยายสู่การใช้ในสัตว์และในพืชด้วย  ซึ่งงานนี้ก็แพร่หลายไปสู่ประเทศต่าง ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ส่วนไทยนับได้ว่าเป็นประเทศต้นๆ ในเอเชีย ที่จัดงานนี้ ตั้งแต่ปี 2556 สำหรับปี พ.ศ. 2560 องค์การอนามัยโลก ประกาศ ให้ World Antibiotic Awareness Week 2017  คือ ช่วง 13-19 พฤศจิกายน 2560  ซึ่งประเทศไทย กำหนดจัดกิจกรรม ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 จัดเป็นงานใหญ่ เพราะกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงานนี้ เป็นครั้งแรก ด้วยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก ทั้งวิชาการและงบประมาณ  นอกจากนี้ กพย. สสส. ให้การสนับสนุน ทั้งงานส่วนกลาง และงานพื้นที่ เพราะ กพย. ได้เคยจัดงานนี้ มาแล้วอย่างต่อเนื่อง ถึง 4 ปี (พ.ศ.2556-2559) ในชื่อวัน(สัปดาห์) รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย  มีประเด็นหลักแตกต่างกันไป  ที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร ชุมชน และสิ่งแวดล้อม คือปี พ.ศ.2558  และมีแผนงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการการดื้อยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 และต่อเนื่องมาจนผลักเข้าเป็นวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ใน พ.ศ. 2558 และต่อมาจึงมียุทธศาสตร์ชาติด้านนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย องค์กรระหว่างประเทศองค์การอนามัยโลก เน้นเฉพาะสุขภาพของมนุษย์ มีมติสมัชชาอนามัยโลกมาอย่างต่อเนื่อง ออกรายงานการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาทั่วโลก และมีการรับรอง Global Action Plan อย่างไรก็ดี สุขภาพมนุษย์มีความเชื่อมโยงกับอาหารที่มาจากสัตว์และสัตว์เลี้ยง จึงมีการประกาศร่วมในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ (General Assembly) เมื่อ ตุลาคม พ.ศ 2559  Resolution adopted by the General Assembly   และให้ทำงานร่วม ระหว่าง 3 หน่วยงาน WHO, FAO และ OIEองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกแผนปฏิบัติการต่อสู้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ   เมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2559 มีหัวใจสำคัญ ๔ ข้อ  ได้แก่ (ก) สร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหารรับทราบ   และ ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือชำนาญในเรื่องนี้ (ข) เพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการติดตามและเฝ้าระวังการใช้ยาต้านจุลชีพ และปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในการผลิต อาหารและสินค้าเกษตร (ค) เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพและปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร (ง) สนับสนุนแนวทางปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร และ การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างระมัดระวังล่าสุดองค์การอนามัยโลก ออกคู่มือการใช้ยาต้านจุลชีพที่มีความสำคัญด้านการแพทย์ในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร  4. สถานการณ์ของไทย ข้อมูลจากพื้นที่ งานวิชาการ และมาตรการนโยบายที่เกี่ยวข้อง ในวงจร ห่วงโซ่อาหาร ยังพบการใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืช มีงานสำรวจการพบเชื้อในหลายพื้นที่ โดยตัวอย่างการสำรวจการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ในเชียงใหม่  พบว่าเกษตรกรที่สำรวจเกือบทั้งหมดมีการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งรายการยาปฏิชีวนะ 5 อันดับแรกของการเลี้ยงสัตว์แต่ละกลุ่ม เป็นดังนี้ ในโคนม ได้แก่ oxytetracycline, penicillin, sulphamethoxydiazine, cloxacillin + ampicillin (ยาดราย), kanamycinในหมู  ได้แก่ amoxicillin, enrofloxacin, oxytetracycline, gentamycin, neomycin ในไก่ไข่ ได้แก่ enrofloxacin, Sulfadimethoxine , cocidiocidal triazinetrione โดยที่ในรายงานมิได้กล่าวถึงการใช้อาหารสัตว์ผสมยาปฏิชีวนะที่ชัดเจน แต่ได้ระบุว่ามีการใช้โคลิสตินผสมน้ำให้ดื่มตั้งแต่เป็นลูกสุกรทุกวัน เรียกว่าวิตามิน ทั้งนี้ข่าวจากคมชัดลึก สะท้อนว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงหมูจริง ใช้ตั้งแต่แรกเกิดมีการสำรวจแหล่งขายยาหรือขายอาหารผสมยาชัดเจนนอกจากนี้จากการรวบรวมรายงานวิชาการ การสำรวจหรือสอบถามคนพื้นที่ และติดตามข่าว พบมีการใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าลำต้นผลไม้ในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ปทุมธานี ชัยนาท  โดยต้นส้ม  ต้มส้มโอ มะนาว หรือแม้แต่พ่นยากับต้นมันเทศ ยาที่ใช้ในไทย เช่น แอมพิซิลลิน เอม๊อกซี่ซิลลิน เตตร้าไซคลิน สเตรปโตมัยซิน หรือการใช้ เพนนิซิลลิน จี สำหรับจุ่มตา หรือการใช้สารเคมีฉีดเข้าลำต้นทุเรียน  ส่วนในต่างประเทศบางประเทศก็มีการใช้ด้วยเช่นกัน เช่นจีน   ที่น่าเป็นห่วงคือการตกค้างในผลไม้และการไหลค้างลงสู่สิ่งแวดล้อม ที่ต้องการการศึกษาอย่างจริงจัง  ถึงระบาดวิทยาการดื้อยา ผลกระทบต่อมนุษย์พร้อมทั้งศึกษาหาสาเหตุและวิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ  ในมิติมุมมองผู้บริโภค พบมีการเคลื่อนไหว สำรวจและรณรงค์ให้เลิกใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหาร เมื่อ 2 มีนาคม 2559 มพบ. แถลงข่าวรณรงค์ในวันสิทธิผู้บริโภคสากล เรียกร้องให้บริษัทขายอาหารฟาสต์ฟู้ด เลิกใช้เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงโดยใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นการรณรงค์พร้อมกันทั่วโลกของเครือข่ายสมาชิกองค์กรผู้บริโภคทั่วโลก เมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา  ได้ ร่วมแถลงข่าวพบยาปฏิชีวนะใน แซนด์วิชไก่อบ ซับเวย์ แต่ไม่เกินมาตรฐาน องค์กรผู้บริโภค-นักวิชาการสุขภาพ เรียกร้องให้ลดและยกเลิกการใช้เนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะ14 มี.ค.60 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รายงานผลการเก็บตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดสด และห้างค้าปลีก รวม 15 แห่งในกรุงเทพมหานคร พบเนื้อหมูมียาปฏิชีวนะตกค้างถึงร้อยละ 13 พบจาก 2 ตลาดสด   เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัยมีความพยายามของเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้ยาปฏิชีวนะผสมเลี้ยงสัตว์ หันมาเลี้ยงหมูเสรี หมูปลอดภัย หมูหลุม เลี้ยงไก่ ปลูกผักอินทรีย์ ไม่ใช้ยา เลี้ยงปลาปลอดสาร หรือสารเคมีต่าง ๆ มีตัวอย่างที่นครปฐม ปทุมธานี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ มหาสารคาม เป็นต้น   รัฐบาลควรได้มีการส่งเสริมความรู้ แก่ทั้งเกษตรกร สนับสนุนการจัดตลาดอาหารปลอดภัย และให้ความรู้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงสาธารณสุข มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ฉบับ พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 และฉบับแก้ไข และ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2559ล่าสุดมีการประกาศยกเลิกยาโคลิสติน ชนิดรับประทานสำหรับคน และมีความพยายามทบทวนทะเบียนตำรับยาปฏิชีวนะ(กพย. ได้จัดแถลงข่าวและทำหนังสือถึง รมว.สธ. เรียกร้องให้ทำการทบทวนทะเบียนตำรับยาสูตรที่ไม่เหมาะสม ด่วน) แต่ผลยังไม่มีความคืบหน้านักกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะหรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558  ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์5. ยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย เป็นยุทธศาสตร์ร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ผ่านมติ ครม. เมื่อ 17 สิงหาคม 2559 ต่อมาขยายไปอีกหลายกระทรวงวิสัยทัศน์  แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 มีการกําหนดวิสัยทัศน์คือ การป่วย การตาย และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากเชื้อดื้อยาลดลง และกําหนดเป้าประสงค์ที่ต้องการบรรลุภายในปี 2564 ไว้ 5 ประการ คือ การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 (ซึ่งสามารถนําไปใช้คํานวณผลกระทบต่อสุขภาพและเชิง เศรษฐกิจ) การใช้ยาต้านจุลชีพสําหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20 และ 30 ตามลําดับ ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยา และตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากลประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียวยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกํากับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมยุทธศาสตร์ที่ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกํากับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยงยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชนยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืนแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ มีรองนายกเป็นประธาน และคณะกรรมการมีมติรับรองแผนปฏิบัติการเบื้องต้น และให้มีการปรับปรุงต่อเนื่องได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อาหาร ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร ได้ร่วมประกาศกลยุทธ์ 5 ด้าน  ได้แก่ ก. การลดใช้ยาต้านจุลชีพในการทำปศุสัตว์และประมง ข. ลดเชื้อ ดื้อยาในห่วงโซ่การผลิต อาหาร ค. การพัฒนาระบบเฝ้าระวังการใช้ยาต้านจุลชีพในพืช ง.  พัฒนาต้นแบบสถานพยาบาลสำหรับสัตว์เลี้ยง จ. พัฒนาให้ความรู้เรื่องการใช้ยาต้านจุลชีพแก่ผู้เกี่ยวข้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ช็อกโกแลตปนเปื้อนสารแคดเมียม ตะกั่ว ภัยแฝงที่ต้องระวัง

จากข่าวดัง องค์กร As You Sow ทดสอบพบช็อกโกแลต18 ยี่ห้อดัง มีตะกั่ว-แคดเมียมประกอบในระดับอันตรายนั้น สร้างความวิตกกังวลให้กับเหล่าช็อกโกแลตเลิฟเวอร์ทั้งหลายโดยเฉพาะสายดาร์ก เพราะยิ่งมีปริมาณโกโก้แมสมากก็ยิ่งเสี่ยงพบโลหะหนักทั้งสองชนิดมากขึ้น อ้างอิง http://www.asyousow.org/our-work/environmental-health/toxic-enforcement/lead-and-cadmium-in-food/  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังปัญหาการปนเปื้อนของสารแคดเมียมและตะกั่วในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตที่วางจำหน่ายในประเทศไทย ทางโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ โดยนิตยสารฉลาดซื้อ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างช็อกโกแลตจำนวน 19 ตัวอย่าง โดยแบ่งเป็น ดาร์กช็อกโกแลต 10 ตัวอย่าง และช็อกโกแลตอื่นๆ อีก 9 ตัวอย่าง ในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2560 มาทดสอบหาการปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสองชนิด (ดูผลจากตาราง) ซึ่งเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานในประเทศและต่างประเทศแล้ว พบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง  อย่างไรก็ตาม สารแคดเมียมนั้น ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต และในระดับสากลก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ ณ ปัจจุบัน ผู้บริโภคจึงควรตระหนักว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตหรืออาหารที่มีการผสมช็อกโกแลต จะยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็กๆ จะอ่อนไหวเป็นพิเศษ ผู้ปกครองจึงควรให้ความสนใจและฝึกให้รับประทานแต่พอดี แคดเมียม คืออะไร         เป็นโลหะมีสีเงิน มีอยู่น้อยตามธรรมชาติ โดยทั่วไปแคดเมียมที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมจะพบในแหล่งทำเหมืองสังกะสีและตะกั่ว ในอุตสาหกรรม ยาสูบและบุหรี่ พลาสติกและยาง นอกจากนี้ยังนิยมใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ อุปกรณ์ไฟฟ้า โลหะผสม อะไหล่รถยนต์ โลหะผสมในอุตสาหกรรมเพชรพลอยอีกด้วย แคดเมียมที่ปนเปื้อนในน้ำ อาหาร และในยาสูบเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหาร แล้วแพร่กระจายไปที่ตับ ม้ามและลำไส้ และสะสมเพิ่มขึ้นในปริมาณสูงจะทำให้เกิดมะเร็ง ไตทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ปวดกระดูกสันหลัง แขนขา ซึ่งจะทำให้ไตพิการได้ โรคที่เกิดจากพิษของแคดเมียมเรียกว่า โรคอิไต-อิไต (Itai Itai disease) (ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ ม.มหิดล https://goo.gl/DVeWuS ) ตะกั่ว (Pb) คืออะไร       ตะกั่ว  (Pb)  เป็นโลหะหนักมีสีเทาเงิน หรือแกมน้ำเงินเกิดขึ้นตามธรรมชาติ  ปัจจุบันอุตสาหกรรมหลายประเภทมีการใช้ตะกั่วเป็นวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก  เช่น ใช้สังเคราะห์สารเตตะเอทิลเลด(tetraethyllead, TEL Pb(C2H5)4) ในเบนซินเพื่อเพิ่มค่าออกเทน    (octane number)     เมื่อมีการออกซิไดซ์จะได้ PbO ซึ่งจะถูกรีดิวซ์ได้โลหะตะกั่ว  ออกสู่สภาวะแวดล้อม  ตะกั่วยังใช้ทำอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคและคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เกิดการปลดปล่อยตะกั่วและสารประกอบของตะกั่วในรูปของสารมลพิษออกสู่สภาวะแวดล้อม ทำให้มีการปนเปื้อนของตะกั่วทั้งในดิน น้ำ และอากาศ ตะกั่วสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ทางอาหาร ทางการหายใจ และทางผิวหนัง เมื่อสาร ตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย  ส่วนใหญ่จะจับยึดอยู่กับเม็ดเลือดแดงจะไปลดการสร้าง heme ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเม็ดเลือดแดงโดยไปยับยั้งเอ็นไซม์ที่เกี่ยวกับการสร้าง heme นอกจากนี้ ตะกั่วยังมีผลต่อตับ หัวใจและเส้นเลือด ภาวะเจริญพันธุ์ โครโมโซม และเป็นก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และความพิการแต่กำเนิดอีกด้วย (ขอบคุณข้อมูลจากสถาบันนวัตกรรมการเรียนรูมหิดล https://goo.gl/DVeWuS ) แคดเมียมและตะกั่วในช็อกโกแลตมาจากไหน EFSA หรือ กลุ่มงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป รายงานว่า พบปริมาณแคดเมียมในช็อกโกแลตชนิดต่างๆ มีค่าสูงมาก และยังมีความแตกต่างไปตามปริมาณของโกโก้ที่ผสมในผลิตภัณฑ์ โดยเมล็ดโกโก้(cocoa bean) นั้นเป็นแหล่งสะสมของแคดเมียม ทำให้ช็อกโกแลตที่มีปริมาณโกโก้แมสระหว่าง 35-70% พบแคดเมียมสูงกว่าช็อกโกแลตนมหรือช็อกโกแลตอื่นแคดเมียมและตะกั่วในช็อกโกแลตนั้น ส่วนใหญ่มาจากแหล่งปลูกโกโก้ ซึ่งเป็นการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โลหะหนักทั้งสองเมื่อเข้าไปปนอยู่ในน้ำและในดินหากมีปริมาณสูง การปลูกพืชบริเวณนั้นจะมีปริมาณโลหะทั้งสองในพืชสูงตามไปด้วย แน่นอนว่าการปนเปื้อนโลหะไม่อาจทำลายได้ด้วยความร้อนอย่างจุลินทรีย์ ดังนั้นผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องคัดเลือกวัตถุดิบจากแหล่งที่ปลอดภัย เพื่อลดการปนเปื้อนของแคดเมียมและตะกั่วร้อยละ 70 ของโกโก้ในตลาดโลกมาจากแถบอัฟริกาตะวันตก ประเทศที่มีผลผลิตโกโก้เป็นอันดับหนึ่งได้แก่ ไอโวรีโคสต์ ตามด้วยกาน่าเกณฑ์มาตรฐานปริมาณตะกั่วและแคดเมียมช็อกโกแลต มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ.2527) กำกับโดยเฉพาะ ซึ่งปริมาณสารตะกั่ว ต้องตรวจพบไม่เกิน  1 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม เว้นแต่ช็อกโกแลตชนิดไม่หวาน ตรวจพบได้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม สารแคดเมียมไม่มีเกณฑ์กำหนดในช็อกโกแลตสำหรับประเทศไทย ส่วนในสหภาพยุโรป (EC) No 1881/2006 (อัปเดต 2014) กำหนดค่ามาตรฐานเฉพาะในผลิตภัณฑ์เนื้อ ผักและอาหารทะเล อย่างไรก็ตามคณะกรรมการผู้จัดทำเกณฑ์มาตรฐาน(The EU regulator) ได้เตรียมประกาศสำหรับ ค่ามาตรฐานแคดเมียมในช็อกโกแลตไว้สำหรับปี 2019 ดังนี้  ช็อกโกแลตนม ที่มีโกโก้แมสต่ำกว่า 30% มีแคดเมียมได้ไม่เกิน 0.10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ช็อกโกแลต ที่มีโกโก้แมส 30-50% มีแคดเมียมได้ไม่เกิน 0.30 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ช็อกโกแลต ที่มีโกโก้แมส 50% ขึ้นไป มีแคดเมียมได้ไม่เกิน 0.80 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ช็อกโกแลตผงสำหรับชงดื่ม มีแคดเมียมได้ไม่เกิน 0.60 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ค่าแคดเมียมที่กำหนดไว้นี้จะลดลงอีกเมื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่เด็กบริโภคอ้างอิง http://www.confectionerynews.com/Regulation-Safety/How-to-avoid-cadmium-and-lead-in-chocolate-Safety-recall-preventionแค่ไหนถึงเป็นดาร์กช็อกโกแลต เกณฑ์ส่วนใหญ่ทั้งในอเมริกาและยุโรปคือ มีส่วนผสมที่เป็นโกโก้แมสไม่ต่ำกว่า 35 % ของอเมริกา มีผลิตภัณฑ์นมผสมได้ไม่เกิน 12% ในขณะที่ของ EU ไม่ให้มีเลย เรื่องขมๆ ที่อาจยังไม่เคยรู้ทุกวันนี้ ร้อยละ 70 ของโกโก้ในตลาดโลกมาจากแถบอัฟฟริกาตะวันตก ในพื้นที่ของเซียร่าเลโอนไปจนถึงคาเมรูน ประเทศที่มีผลผลิตโกโก้เป็นอันดับหนึ่งได้แก่ไอโวรีโคสต์ ตามด้วยกาน่าเป็นที่รู้กันว่าการปลูกโกโก้กับการบุกรุกป่าสงวนนั้นมีความเกี่ยวข้องกันมานาน ไอโวรี่โคสต์ ซึ่งผลิตร้อยละ 40 ของโกโก้สูญเสียพื้นที่ป่าฝนไปอย่างน่าตกใจ จากที่เคยมีพื้นที่ป่าถึงหนึ่งในสี่ของประเทศ ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ชาวบ้านนิยมโค่นต้นไม้ใหญ่ทีละต้นสองต้น เพื่อปลูกต้นโกโก้เพราะเชื่อว่าดินที่เพิ่งผ่านการแผ้วถางนั้นจะทำให้ได้ผลผลิตเมล็ดโกโก้ที่ใหญ่ขึ้น แม้ปัจจุบันจะมีการส่งเสริมการปลูกโกโก้แบบยั่งยืนที่ไม่เอาเปรียบทั้งสิ่งแวดล้อมและเกษตรกร การผลิตแบบ “ผิดกฎหมาย” ก็ยังมีอยู่มาก เราแทบจะไม่สามารถแยกแยะได้เพราะผลผลิตจากการปลูกทั้งสองลักษณะถูกนำมาผสมรวมกันก่อนจำหน่ายจากการสำรวจของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยน บริษัทผู้ผลิตช้อคโกแลตรายใหญ่รับรู้เรื่องการบุกรุกป่าสงวนมาโดยตลอด บางเจ้า (เช่น เนสเล่ และมอนโดเลซ) ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวอย่างชัดเจน บางรายอย่างเฮอร์ชีย์ ก็ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. 2020 จะจัดซื้อแต่โกโก้ที่ผลิตมาจากแหล่งที่ถูกต้องเท่านั้น ส่วนแบรนด์หรูอย่างเฟอเรโร่ โรเชอร์ ยังไม่มีความเห็นรูปนี้มีสีหากท่านต้องการเห็นสีที่ชัดเจนให้กด Save ภาพโดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2556 ภาชนะอะลูมิเนียม อันตรายแฝงเพียบ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำการสุ่มทดสอบภาชนะประเภทอะลูมิเนียม เพื่อตรวจสอบดูคุณภาพความเหมาะสม และความปลอดภัยในการใช้บรรจุอาหาร โดยได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างภาชนะอะลูมิเนียม จำนวน 21 ตัวอย่าง ประกอบด้วย หม้อ กระทะ ถาดใส่อาหาร ฯลฯ ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงราย นครพนม การทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การหาองค์ประกอบทางเคมี และการทดสอบการละลายของโลหะหนักจากภาชนะตัวอย่าง ซึ่งจากการทดสอบองค์ประกอบทางเคมีพบว่าตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์กำหนดเกือบทั้งหมดเป็นภาชนะประเภทอะลูมิเนียมโลหะผสม ซึ่งพบปริมาณตะกั่ว สังกะสี และทองแดง สูงเกินเกณฑ์กำหนด สำหรับการทดสอบการละลายของโลหะหนักจากภาชนะตัวอย่าง ซึ่งเลียนแบบการใช้งานเวลาหุงต้มหรือปรุงอาหารประเภทกรด พบว่ามีปริมาณอะลูมิเนียม ตะกั่ว เหล็ก และสังกะสี ละลายออกมาในสารละลายตัวแทนอาหาร โดยเฉพาะภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสม มีโลหะเหล่านี้ละลายออกมาสูงกว่าภาชนะอะลูมิเนียม ดังนั้นคำแนะนำในการปรุงอาหารประเภทกรด การใช้ภาชนะอะลูมิเนียมน่าจะปลอดภัยจากโลหะปนเปื้อนมากกว่าการใช้ภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสม   สำหรับข้อสังเกตในการเลือกซื้อระหว่างภาชนะประเภทอะลูมิเนียม และอะลูมิเนียมโลหะผสมคือภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสมผิวไม่ค่อยเรียบอาจมีรูพรุน มีความมันวาวน้อยกว่า และมีสีเข้มกว่า อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนของโลหะจากภาชนะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น ประเภทอาหารที่ปรุง ระยะเวลา อุณหภูมิ------------------------------------------------------------------------------   “น้ำหมัก” ขายดี แถมมีงบ กสทช. ช่วย!? ปัญหาเรื่องการหลอกลวงขายสินค้าพวกผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริม ยังคงเป็นมหาวายร้ายทำลายสุขภาพและหลอกปล้นเงินผู้บริโภค ที่ยิ่งนับวันก็มีแต่จะสร้างปัญหารุนแรงมากขึ้นทุกที ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาหลงลืมหน้าที่ตัวเองหรืออ่อนด้อยฝีมือ ปัญหาเหล่านี้ถึงยังไม่ถูกกวาดล้างจัดการสักที แถมล่าสุดมีการออกมาแฉโดยเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด ว่างบประมาณที่ทาง กสทช. จัดสรรลงพื้นที่เพื่อจัดให้มีการอบรบผู้ประกาศระดับภูมิภาคเป้าหมายเพื่อให้ความรู้ที่ทุกต้องเรื่องการรับฟังสื่อโฆษณาต่างๆ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของสินค้าโอ้อวดหลอกลวงสรรพคุณ แต่ลับหลังกลับมีการแอบขายน้ำหมักกันเป็นล่ำเป็นสัน ถึงขนาดที่มีการสร้างเครือข่ายให้ผู้อบรมเอาไปขายต่อยังสถานีวิทยุของตัวเอง นายประวิทย์ หันวิสัย เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ในพื้นที่มีปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามคลื่นวิทยุชุมชน มีการเปิดสปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 30 รอบ ใน 1 วัน ทั้งยังใช้เทคนิคนำผู้มีชื่อเสียงอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ประกอบวิชาชีพมาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ มีการใช้ของรางวัลล่อใจ เช่น ซื้อผลิตภัณฑ์แล้วส่งมาชิงโชคมอเตอร์ไซค์ และทองคำ รวมถึงมีการสัมภาษณ์ผู้ใช้ที่เป็นหน้าม้าว่าผลิตภัณฑ์ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการเปิดเสียงของเก่า ทั้งที่คนที่สัมภาษณ์ว่าใช้ดี ตายเพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ไปแล้วก็มี ซึ่งพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดเท่าที่ทราบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยรายแรกเกิดจากการใช้ยาแผนโบราณ แต่พบว่ามีส่วนประกอบของยาแผนปัจจุบัน และมีจุลินทรีย์ในอัตราที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีก 2 รายเสียชีวิตจากการดื่มน้ำหมัก เพราะมีโรคประจำตัวอยู่คือ มะเร็วกระดูกและพาร์กินสัน ปัญหาหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐจับไม่ได้ไล่ไม่ทันสถานีวิทยุเหล่านี้ เพราะสินค้าที่เป็นปัญหามักจะคอยเปลี่ยนชื่อสินค้าไปเรื่อยๆ เวลาที่เกิดปัญหามีเรื่องร้องเรียน เมื่อสินค้าถูกนำไปตรวจสอบก็จะรีบเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ทันทีทั้งที่เป็นตัวเดิม ทำให้ อย. ต้องนำผลิตภัณฑ์เดิมในชื่อใหม่ไปตรวจสอบอีกครั้ง กว่าจะส่งต่อให้ กสทช.ดำเนินการสั่งปิดสถานี ซึ่งกว่าจะทราบผลก็ใช้เวลานาน 2-3 เดือน เจ้าของผลิตภัณฑ์ก็เปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว สินค้าก็ถูกโฆษณาขายใหม่ไปแล้วเรียบร้อย     สธ.ตัวการ ทำเมืองไทยเป็นเมือง “แร่ใยหิน” รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีมติตามการนำเสนอของ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ.เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้คงการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งมติดังกล่าวเป็นการสวนทางกับการยกเลิกการใช้แร่ใยหินทั่วโลก เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) เปิดเผยว่ามีความพยายามที่จะให้ข้อมูลลดทอนความเป็นอันตรายของแร่ใยหินไครโซไทล์ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การว่าจ้างทำวิจัย จัดประชุมนำเสนอข้อมูล เพื่อทำให้สังคมสับสน ซึ่งมติของทาง สธ.ที่ยังคงให้ใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ได้ในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเหตุผลทางการเมือง เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการค้ากับทางรัสเซียที่เป็นประเทศส่งออกแร่ใยหินให้กับไทย ซึ่งทั้งๆ ที่ผ่านมา สธ.เองเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเสนอข้อมูลในเรื่องนี้ว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายและต้องยกเลิก ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ แต่ในยุค นพ.ประดิษฐ พบว่า มีขบวนการสนับสนุนให้มีการขายสินค้าอันตราย เครือข่าย T-BAN จึงมีมติเดินหน้าตรวจสอบการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในการออกมติรับให้สินค้าแร่ใยหินไม่เป็นอันตราย พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผยผลการประชุมของคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหินต่อสังคมด้วย   คาราบาวแดงทำแสบ หลอกชิงทอง 100 บาท พอถูกรางวัลจ่ายเงินแค่ 100 เดียว เหตุการณ์เกิดขึ้นกับแม่ค้าชาว จ.สุโขทัย ท่านหนึ่ง ที่ได้ร่วมชิงโชคกับเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” โดยได้ขูดสติกเกอร์ "ขูดปั๊บรับโชคร้อยถึงล้านกับแพคบาวแดง" แล้วพบข้อความระบุว่า "คุณคือผู้โชคดี ได้รับทองคำมูลค่า 100 บาท" แม่ค้าท่านนี้ดีใจสุดขีดเพราะโชคดีจะได้เป็นเศรษฐี แต่ฝันก็มีอันต้องสลายเมื่อโทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทเครื่องดื่มคาราบาวแดงเพื่อขอรับรางวัล กลับได้รับคำตอบว่า ข้อความที่ระบุในสติกเกอร์นั้น หมายถึงได้รับเงินสด 100 บาท ไม่ใช่ทองคำหนัก 100 บาท ทางคาราบาวแดงได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า การทำโปรโมชั่นขูดปั๊บรับโชคจะแจกเป็นทองคำตามมูลค่าที่แจ้งไว้นั้น หมายถึงมูลค่าราคา ไม่ได้หมายถึงน้ำหนัก เป็นเรื่องน่าเจ็บใจที่ผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาที่จงใจเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจนแบบนี้ แม้ผู้บริโภคที่หลงเชื่อคำโฆษณาท่านนี้จะไม่ได้ฟ้องเอาผิดกับทางบริษัท แต่ในทางกฎหมายสามารถนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลได้ โดยให้ศาลตีความ ว่าการใช้ถ้อยคำที่หวังสร้างให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ฝากเตือนเรื่องการชิงโชคชิงรางวัลจากการซื้อสินค้าต่างๆ ซึ่งพบว่ามีมากในปัจจุบัน ซึ่งนั้นเป็นเพียงกลยุทธ์หวังกระตุ้นยอดขายของผู้ผลิตสินค้าเท่านั้น มีผู้โชคดีเพียงไม่กี่รายที่ได้รับรางวัล และแทบไม่มีการตรวจสอบว่ารางวัลที่แจกนั้นมีการแจกจริงอย่างที่โฆษณาหรือไม่     ปัญหาอาหารปี 56 ปนเปื้อนเรื่องน่าห่วง ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ได้ทำการสรุปเรื่องร้องเรียนปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยระหว่างช่วง ก.ย. 55 - ธ.ค. 56 มีรวมกันทั้งสิ้น 152 กรณี แบ่งปัญหาได้เป็นประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหาอาหารปนเปื้อน ปัญหาคุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน การแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง การโฆษณาอาหาร/ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ปัญหาอาหารเสียก่อนวันหมดอายุ การผลิต/แหล่งผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ ฯลฯ สำหรับปัญหาอาหารปนเปื้อนนั้น ที่พบจากกรณีร้องเรียนเช่น พบการปนเปื้อนของ เส้นผม ขน เล็บ แมลงสาบ หรือเกิดความผิดปกติขออาหาร เช่น มีตะกอน ขึ้นรา และเน่าเสีย รวมถึงการใช้สารเคมีที่ไม่ควรใช้ในอาหาร เช่น ฟอร์มาลิน บอแรกซ์ โดยมีตัวอย่างปัญหาที่พบบ่อยและต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ เชื้อราในขนมปัง ก้อนขาวในนมกล่อง และสิ่งแปลกปลอมในนมผงสำหรับเด็ก สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านอาหาร เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้นำเรื่องเข้าหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยประเด็นที่จะทำการหารือร่วมกันประกอบด้วย 1.การพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารที่เป็นรูปธรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม 2.ปรับปรุงนโยบายฉลากโภชนาการให้เป็นแบบสีสัญญาณไฟจราจรเขียว เหลือง แดง แทนที่การใช้ฉลากโภชนาการแบบสีเดียว (GDA) 3.ให้บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 อย่างเคร่งครัด และ 4.ในการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร ฉบับใหม่ ให้เพิ่มบทลงโทษให้มีความรุนแรงมากขึ้น   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 ผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตแบรนด์ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง จาก foodwatch

จากกรณีข่าว องค์กรเอกชนในเยอรมัน (foodwatch.org) ชี้ผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตแบรนด์ดังปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง  ที่สำนักข่าวต่างๆได้ลงไปนั้นทางนิตยสารฉลาดซื้อขอนำผลทดสอบทั้งหมด มาลงไว้ให้เป็นข้อมูล ทั้งนี้ท่านสามารถกดโหลดข้อมูล ฉบับเต็มของแหล่งข้อมูลได้ที่นี่ครับ >>>> 2016-07-04_Mineraloele_in_Schokolade_und_Chips.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 การปนเปื้อนในน้ำหมักชีวภาพ

กระแสความนิยมบริโภคน้ำหมักชีวภาพน่าจะมาพร้อมกับการเติบโตของเคเบิ้ลทีวียุคไร้การควบคุม ย้อนไปเมื่อราว 5-6 ปีก่อน เคเบิ้ลท้องถิ่นและวิทยุชุมชนผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด คอนเทนต์ที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยการขายสินค้าที่อวดอ้างสรรพคุณเกี่ยวกับการรักษาโรค บำรุงสุขภาพ ปรากฏอยู่ในสื่อประเภทนี้เกือบตลอดทั้งวัน น้ำหมักชีวภาพ หรือน้ำเอนไซม์ ก็เป็นตัวหนึ่งที่โด่งดัง หากจำกันได้ ผู้ที่สร้างกระแสฮือฮามากที่สุดเกี่ยวกับน้ำหมักชีวภาพก็คือ ป้าเช้ง หรือ นางสาวศิริวรรณ ศิริสุนทรินท์ ป้าเช็งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาเป็นผู้ผลิตน้ำหมักชีวภาพ  "น้ำมหาบำบัด" ราคาขวดละ 1,000 บาท อ้างรักษาได้สารพัดโรค และ "น้ำเจียระไนเพชร "ราคาขวดละ 100 บาท ซึ่งอวดสรรพคุณว่าใช้เป็นยาหยอดตา(ทำให้มีคนตาบอด) ในข้อหาจำหน่ายและโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาเกินจริง (วันที่ 25 มกราคม 2553) ปัจจุบันป้าเช้ง ก็ยังขายฝันอยู่ด้วยการประกาศแจกสูตรน้ำหมักฟรี ด้วยสโลแกน ทำเอง กินเอง เพราะสูตรน้ำหมักไม่ได้ทำยากเย็นอะไรเลย และการกินน้ำหมักหรือของหมักที่เกิดจากจุลินทรีย์ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มนุษย์เรากินกันมาแต่โบราณแล้ว ข้าวหมาก ไวน์ น้ำส้มสายชูหมัก ก็อยู่ในตระกูลเดียวกับน้ำหมักชีวภาพ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า น้ำหมักกินได้หรือไม่ได้ แต่ปัญหาคือ การอวดอ้างว่า กินน้ำหมักแล้วรักษาโรคได้ อย่างที่ป้าและคนอื่นๆ ที่แห่ทำขายตามๆ กันมาประกาศต่อชาวโลกต่างหากที่สร้างความสับสนให้กับคนทั่วไป เช่นเดียวกันกับสินค้าด้านสุขภาพอีกหลายประเภท ลำพังตัวมันเองอาจไม่ได้มีปัญหา แต่ปัญหามาจากความมักง่ายของผู้ผลิตที่ผสมสารเคมีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ลงไปในผลิตภัณฑ์ด้วย ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดผลบางอย่างที่สอดคล้องกับคำโฆษณา เช่น การผสมสเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ หรือการผสมยาลดน้ำหนักลงในกาแฟ เพื่อให้เห็นผลเร็วในการบรรเทาอาการ สำหรับน้ำหมักชีวภาพปัญหาที่พบในส่วนของการผสมสารเคมีอันตรายลงไปคือ การผสม ไดคลอโรมีเทน หรือ เมทิลีนคลอไรด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ผลทดสอบ ล่าสุดทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี รายงานพบ เครื่องดื่ม น้ำหมักพืชแท้(หอม หวาน เย็นซ่า เต็มพลัง) ตราผู้ใหญ่สุพรรณ ปนเปื้อน ไดคลอโรมีเทน 4,695 มิลลิกรัม/ลิตร  ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สหรัฐอเมริกา  กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยามีปริมาณไดคลอโรมีเทนเจือปนได้ไม่เกิน 600 ส่วนในล้านส่วน หรือคิดเป็น 600 มิลลิกรัม/ลิตร นอกจากนี้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา กำหนดให้มีปริมาณไดคลอโรมีเทนปนเปื้อนในน้ำดื่มได้ไม่เกิน 0.005 มิลลิกรัม/ลิตร เครื่องดื่ม "น้ำหมักพืชแท้ หอม หวาน เย็นซ่า" เต็มพลังตราผู้ใหญ่สุพรรณ แพร่หลายทุกจังหวัดในแถบภาคอีสาน อาทิ นครราชสีมา สกลนคร ขอนแก่น และนครพนม มักอวดอ้างสรรพคุณทางยาที่สามารถรักษาโรค ให้หายขาดได้ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำหมักเต็มพลัง ตราผู้ใหญ่สุพรรณ ต้องจัดเป็นยาเพราะมีการแสดงสรรพคุณที่ฉลากว่า บำรุงร่างกาย แต่กลับไม่ได้ขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาจึงจัดเป็นยาเถื่อน ขอให้ผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อซื้อยามาบริโภคโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้วยังไม่ปลอดภัยอีกด้วย ---------------------------------------------------------------------------------------------- ไดคลอโรมีเทน หรือ เมทิลีนคลอไรด์ เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 มีลักษณะเป็นของเหลวไม่มีสี ระเหยได้ง่าย มีกลิ่นหอม มักใช้เป็นตัวทำละลายการได้รับสารในระดับต่ำ อาจทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท เช่น เคลิ้มฝัน เวียนศีรษะ กระวนกระวาย นอกจากนี้ยังระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการระคายคอ ไอ หายใจไม่อิ่ม การรับสัมผัสโดยการกินจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ การได้รับสัมผัสในระดับสูง อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย และกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้การหายใจล้มเหลวได้อาการทางระบบประสาทหลังสัมผัสที่ระดับสูง ได้แก่ ปวดศีรษะ มีอาการผิดปกติด้านจิตใจและการเคลื่อนไหวจะกดระบบประสาทส่วนกลางจนหมดสติ เมื่อได้รับปริมาณสูง คือ การทำลายระบบประสาททำให้เสียชีวิต ระยะยาวอาจจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ---------------------------------------------------------------------------------------------- การปนเปื้อนเชื้อโรคอันตราย น้ำหมักชีวภาพอีกหนึ่งปัญหาที่พบเสมอคือ การพบ เชื้อโคลิฟอร์ม และ อี. โคไล ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการท้องร่วงได้ตั้งแต่เล็กน้อย  จนกระทั่งรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีอาการปวดมวนท้อง ถ่ายเหลว อาจจะมีเลือดปน และมีไข้ได้   จุลินทรีย์กับน้ำหมัก จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าต้องอาศัยการส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จุลินทรีย์แพร่กระจายโดยทั่วไปในธรรมชาติอย่างกว้างขวางในที่ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต  อาหารและเครื่องดื่มแต่ละชนิดมีจำนวนจุลินทรีย์แตกต่างกันไป ซึ่งอาจมีอยู่โดยธรรมชาติ หรือเติมลงไปเพื่อทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามที่ต้องการ เช่น นมเปรี้ยว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  น้ำส้มสายชู กรดอินทรีย์ ยาปฏิชีวนะ  เป็นต้น  น้ำหมักชีวภาพเกิดจากการกระทำของแบคทีเรียที่สร้าง กรดแลกติก เป็นส่วนใหญ่ พบว่าแบคทีเรียเหล่านี้อาจมีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งอาจปนเปื้อนมากับส่วนผสมของน้ำหมักชีวภาพ คือ ผัก ผลไม้ น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำ รวมทั้งมาจากกระบวนการและกรรมวิธีในการผลิต หรืออาจเติมลงไปเพื่อใช้เป็นหัวเชื้อในการผลิต ซึ่งนิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหมักหลายชนิด การเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ในการผลิตนี้ เป็นการควบคุมการเจริญของจุลินทรีย์ปนเปื้อนอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียได้  เช่น แบคทีเรียโคไลฟอร์ม (Coliform) และ อี โคไล (E. coli) เป็นดัชนีชี้บ่งถึงสุขลักษณะของน้ำสมุนไพรสกัดชีวภาพ แบคทีเรียสตาฟีโลค็อคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) บาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) อาจสร้างสารพิษในน้ำหมัก ทำให้อาหารเป็นพิษ คลอสทริเดียม เปอร์ฟริงเจน (Clostridium perfringens) เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ แบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella spp.) อาจเป็นสาเหตุทำให้น้ำสมุนไพรสกัดชีวภาพเน่าเสีย นอกจากนี้ยังอาจพบราบางชนิดที่ปนเปื้อน จะสามารถสร้างสารพิษได้  และยีสต์อาจทำให้น้ำหมักเสียรสชาติ มีกลิ่นและลักษณะไม่เป็นที่ต้องการ  ความปลอดภัยและคุณภาพต่อการบริโภคนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของจุลินทรีย์ที่พบในกระบวนการผลิต และต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของจุลินทรีย์ที่ต้องการในกระบวนการผลิต ในการควบคุมปัญหาการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ต่างๆ อาจใช้ความร้อน โดยการลวก หรือต้มวัตถุดิบ ส่วนผสมของการผลิตน้ำหมัก  หรืออาจเติมสารเคมีชนิดที่ใช้ในการผลิตอาหารลงในน้ำหมัก รวมทั้งการเลือกใช้วัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย ในการผลิตน้ำหมักพืช เพื่อเป็นการควบคุมและกำจัดจุลินทรีย์ปนเปื้อน  ทั้งนี้จะต้องอาศัยกรรมวิธีที่เหมาะสมที่จะช่วยในการควบคุมและกำจัดจุลินทรีย์ปนเปื้อน แต่ไม่ทำให้คุณค่าสารสำคัญในน้ำหมักสลายหรือเสียสภาพไป http://www.be-v.net/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=20 //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 150 ตรวจคุณภาพข้าวสารบรรจุถุง ตอนที่ 2

เรื่องของข้าวสารบรรจุถุงยังไม่จบ หลังจากที่ฉลาดซื้อรายงานผลการทดสอบหาการปนเปื้อนของสารเคมีไปเมื่อฉบับที่แล้ว ฉบับนี้เรายังมีเรื่องของผลวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพของข้าวสารบรรจุถุงมาให้ติดตามกันต่อ การตรวจวิเคราะห์ด้านกายภาพ เป็นการตรวจวิเคราะห์เพื่อดูเรื่องของคุณภาพข้าวสารบรรจุถุง โดยจะดูเรื่องของสิ่งปนเปื้อนที่ปลอมปนมาในข้าวและปริมาณของเมล็ดข้าวที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน เช่น ปริมาณข้าวหัก ข้าวเมล็ดสีอื่น อย่างสีแดง สีเหลือง ข้าวเปลือก หรือ เมล็ดพืชชนิดอื่นๆ โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. 2549 และ มาตรฐานสินค้าข้าวขาว พ.ศ. 2555 ที่รับรองโดยกระทรวงพาณิชย์   มาตรฐานข้าวขาวหอมมะลิ 100% และ ข้าวขาว 100% (ชั้น 3) -ข้าวเต็มเมล็ด ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 -ข้าวหักที่มีความยาวตั้งแต่ 5.0 ส่วนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 8.0 ส่วน  ไม่เกินร้อยละ 5.0 ในจำนวนนี้อาจมีข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึง 5.0 ส่วน และไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 ไม่เกินร้อยละ 0.5 และปลายข้าวขาวซีวัน ไม่เกินร้อยละ 0.1 นอกนั้นเป็นข้าวที่มีความยาวตั้งแต่ 8.0 ส่วนขึ้นไป -ข้าวและสิ่งที่อาจมีปนได้ ข้าวเมล็ดแดง     ห้ามพบ ข้าวเมล็ดเหลือง ไม่เกินร้อยละ 0.2 ข้าวเมล็ดท้องไข่  ไม่เกินร้อยละ 6.0 ข้าวเมล็ดเสีย      ไม่เกินร้อยละ 0.25 ข้าวเหนียวขาว    ไม่เกินร้อยละ 1.5 ข้าวเปลือก         ไม่เกิน 7 เมล็ดต่อข้าว 1 กิโลกรัม ข้าวเมล็ดลีบ ข้าวเมล็ดอ่อน เมล็ดพืชอื่น และวัตถุอื่น อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกันไม่เกินร้อยละ 0.2   -ระดับการสี สีดีพิเศษ ที่มา : ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง  กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย   สรุปภาพรวมผลการทดสอบคุณภาพทางกายภาพของข้าวสารบรรจุถุง กลุ่มข้าวหอมมะลิ 100% จำนวนตัวอย่างข้าวสารขาวหอมมะลิ 100% ที่ฉลาดซื้อสุ่มสำรวจมีทั้ง 15 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อดังต่อไป 1. ลายกนก 2.สุรินทร์ทิพย์ 3.ข้าวโรงเรียน 4. ปทุมทอง 5. cooking for fun 6.ฉัตรทอง 7.ข้าวเบญจรงค์ 8.ข้าวหอมมะลิแปดริ้ว 9.ตราเกษตร 10.ติ๊ก ชีโร่ 11.ดอกบัว 12.ท๊อปส์ 13.หงษ์ทอง 14.โฮมเฟรชมาร์ช จัสมิน และ 15.ชามทอง ซึ่งจากผลการวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพ ข้าวสารขาวหอมมะลิ 100% บรรจุถุงทั้ง 15 อย่าง พบเรื่องที่น่ายินดี คือ ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์ในเรื่อง % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด ที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่า 60% อีกเรื่องที่ตัวอย่างส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์คือ ปริมาณของข้าวหัก ที่กำหนดว่าห้ามเกิน 8% จากการวิเคราะห์มีเพียง 1 ตัวอย่างเท่านั้นที่สูงเกินมาตรฐาน คือตัวอย่างยี่ห้อปทุมทอง ขณะที่ผลการวิเคราะห์เรื่องสิ่งปลอมปนในข้าว พบว่ามีหลายตัวอย่างพบการปนของข้าวเมล็ดแดง (ข้าวที่สีต่ำกว่ามาตรฐาน) และข้าวเมล็ดเหลือง ที่กำหนดไว้ว่าห้ามพบสำหรับข้าวเมล็ดแดง และ ไม่เกิน 0.2% สำหรับข้าวเมล็ดเหลือง ตัวที่พบได้แก่ ลายกนก, สุรินทร์ทิพย์, ข้าวโรงเรียน, ปทุมทอง, ข้าวเบญจรงค์, ตราเกษตร, ติ๊ก ชีโร่, ดอกบัว, โฮมเฟรชมาร์ช จัสมิน และ ชามทอง ซึ่งปริมาณที่เกินเกณฑ์มานั้นก็ไม่ได้มากมายอะไร ไม่ถึง 1% ส่วนการปลอมปนของสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ อย่าง ข้าวเมล็ดท้องไข่ ข้าวเมล็ดเสีย ข้าวเปลือก จากผลการวิเคราะห์ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ในเรื่องการคุณภาพการสีทีกำหนดไว้ว่าต้องเป็นระดับการสีดีพิเศษ ข้าวสารขาวหอมมะลิ 100% บรรจุถุงทั้ง 15 ตัวอย่าง มีระดับการสีอยู่ที่สีดีเท่านั้น   กลุ่มข้าวหอมผสม เพราะมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยของกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ข้าวสารบรรจุถุงหากจะใช้คำว่า “ข้าวหอมมะลิ” ในทางการค้า ข้าวที่นำมาบรรจุถุงขายต้องมีปริมาณข้าวหอมมะลิไม่น้อยกว่า 92% หากน้อยกว่านี้ใช้ได้เพียงแค่คำว่า ข้าวหอม เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะลักษณะเป็นข้าวผสม คือ มีข้าวหอมมะลิอยู่ประมาณ 70% จำนวนข้าวทั้งหมด อีก 30% ที่เหลือเป็นข้าวขาวธรรมดา ซึ่งข้าวหอมมะลิที่ใช้มักเป็นข้าวหอมมะลิที่เกรดคุณภาพ 10% หรือ 5% ซึ่งคุณภาพจะแตกต่างจากข้าวหอมมะลิเกรดคุณภาพ 100% ที่ยอมให้มี % ปริมาณของข้าวหักและสิ่งปลอมปน เช่น ข้าวเมล็ดแดง ข้าวเมล็ดเหลือง ข้าวเมล็ดเสีย ข้าวเปลือก ข้าวเมล็ดลีบ ได้มากกว่า สำหรับผลการวิเคราะห์ พบว่าข้าวที่อยู่ในกลุ่มข้าวหอมผสม ซึ่งมีตัวอย่างจำนวน 6 ยี่ห้อ ได้แก่ 1.บัวทิพย์ 2.ธรรมคัลเจอร์ ข้าวหอมคุณภาพคัดพิเศษ 3.ปิ่นเงิน ข้าวหอมคัดพิเศษ 4.ข้าวแสนดี ข้าวหอมยโสธร 5.ข้าวหอมผสมเอโร่ และ 6.สุพรรณหงส์ ข้าวหอมสุรินทร์ นอกจากนี้ยังมีอีก 1 ตัวอย่าง ที่ไม่ได้แจ้งทั้งเกรดคุณภาพของข้าวและปริมาณของข้าว คือยี่ห้อ ไก่แจ้เขียว บอกแต่เพียงว่าเป็นข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ซึ่งเราจะนำตัวอย่างในกลุ่มนี้เทียบโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานข้าวหอมมะลิ 100% ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด ส่วนเรื่องการปลอมปนนั้น มีหลายยี่ห้อที่พบการปลอมปนของเมล็ดข้าวเหลืองเกินมาตรฐาน ได้แก่ยี่ห้อ ธรรมคัลเจอร์, ข้าวแสนดี และ ปิ่นเงิน ซึ่งตัวอย่างข้าวสารถุงยี่ห้อ ปิ่นเงิน ข้าวหอมคัดพิเศษ พบว่าตกเกณฑ์มาตรฐานหลายข้อ ทั้ง % ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน การปนของเมล็ดข้าวแดงและเมล็ดข้าวเหลือง เรื่องคุณภาพการสีทุกตัวอย่างอยู่ในระดับ สีดี   กลุ่มข้าวหอมปทุม มาตรฐานข้าวหอมปทุมตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เป็นมาตรฐานแบบเดียวกับมาตรฐานข้าวหอมมะลิ 100% ซึ่งในตัวอย่างข้าวสารถุงที่ฉลาดซื้อสุ่มมาวิเคราะห์นั้น มี 2 ตัวอย่าง ที่ระบุว่าเป็นข้าวหอมปทุม 100% คือ 1.ท๊อปส์ ข้าวหอมปทุมธานี และ 2.ยี่ห้อบิ๊กซี ข้าวหอมปทุม ทั้ง 2 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์เรื่อง % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด แต่ทั้ง 2 ตัวอย่าง ตกเกณฑ์เรื่อง % ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน ส่วนเรื่องสิ่งปลอมปน ท๊อปส์ ข้าวหอมปทุมธานี พบปริมาณข้าวเมล็ดแดงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนบิ๊กซี ข้าวหอมปทุม พบปริมาณข้าวเมล็ดเหลืองเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนสิ่งปลอมปนอื่นๆ ผ่านเกณฑ์ทั้ง 2 ตัวอย่าง เรื่องระดับคุณภาพการสี ทั้ง 2 ตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์ สีดี ซึ่งตามมาตรฐานต้องเป็น สีดีพิเศษ   กลุ่มข้าวขาว มาตรฐานทางกายภาพของข้าวขาวจะถูกแบ่งตามเกรดคุณภาพของข้าว ไล่ตั้งแต่ ข้าวขาว 100% ข้าวขาว 5% ข้าวขาว 10% ข้าวขาว 15% ข้าวขาว 25% และ ข้าวขาว 35% ซึ่งเกณฑ์แต่ละประเภทก็จะเคร่งครัดลดหลั่นกันไป โดยตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงที่ฉลาดซื้อสุ่มเก็บมาวิเคราะห์นั้น มีตัวอย่างครบทุกเกรดข้าว รวมทั้งหมด 21 ตัวอย่าง ข้าวขาว 100% มีด้วยกัน 7 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ข้าวพันดี 2.ดอกบัว ตงฮั้ว 3.ข้าวแสนดี 4.มาบุญครอง 5.ช้างเผือก 6.เอโร่ ข้าวขาว 100% และ 7.ดอกบัว ข้าวขาวตาแห้ง ซึ่งผลการวิเคราะห์เรื่อง % ของปริมาณข้าวเต็มเมล็ด พบว่ามีเพียง 1 ยี่ห้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือ ดอกบัว ตงฮั้ว ที่ระบุว่าเป็นข้าวขาวเสาไห้ ส่วนเกณฑ์ที่มีหลายตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ คือเรื่องส่วนของข้าวหัก และ% ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน รวมถึงเรื่องการปนของข้าวเมล็ดแดงและข้าวเมล็ดเสีย ตัวอย่างข้าวในกลุ่มนี้ที่ผลวิเคราะห์ออกมาค่อนข้างน่าพอใจ มียี่ห้อ ดอกบัว ข้าวขาวตาแห้ง ที่ไม่ผ่านเกณฑ์เรื่องการปนของข้าวเมล็ดแดงเรื่องเดียวเท่านั้น เรื่องคุณภาพการสี ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์สีดี ซึ่งตามมาตรฐานต้องเป็นสีดีพิเศษ ข้าวขาว 5% มีจำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ตราฉัตร 2.โค-โค่ ข้าวขาวพิมพา 3.ข้าวมหานคร 4.ข้าวแสนดี ข้าวหอมทิพย์ และ 5. ตราคุ้มค่า ข้าวหอม ในกลุ่มนี้ตัวอย่างส่วนใหญ่จะตกเกณฑ์ในเรื่องของส่วนของข้าวหัก และ % ข้าวหักและปลายข้าวซีวัน  ทั้ง ตราฉัตร, โค-โค่ ข้าวขาวพิมพา และ ข้าวมหานคร ตัวอย่างในกลุ่มข้าวขาว 5% ไม่ค่อยพบการตกเกณฑ์เรื่องการปลอมปนของข้าวเมล็ดแดงหรือเมล็ดเหลือง แต่พบตกเกณฑ์การปนของข้าวเมล็ดท้องไข่ใน 2 ตัวอย่าง คือ ตราฉัตร และ ข้าวมหานคร ระดับคุณภาพการสี ทุกตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์สีดี ซึ่งถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ข้าวขาว 10% มี 2 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ชาวนาไทย ข้าวเสาไห้ และ 2.ข้าวหอมฉัตรอรุณ สำหรับตัวอย่าง ชาวนาไทย ข้าวเสาไห้ ตกเกณฑ์ในเรื่อง ข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึงส่วนขั้นต่ำที่กำหนดและไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 และ ปลายข้าวซีวัน ส่วน ข้าวหอมฉัตรอรุณ ตกเกณฑ์เรื่อง ส่วนของข้าวหัก % ข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึงส่วนขั้นต่ำที่กำหนดและไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 และ % การปลอมปนของข้าวเมล็ดเหลือง ข้าวขาว 15% มี 2 ตัวอย่าง ได้แก่ 1.ตราฉัตร และ 2.พนมรุ้ง ซึ่งทั้ง 2 ตัวอย่างตกเกณฑ์เรื่องเดียวกัน คือ ส่วนของข้าวหัก % ข้าวหักที่มีความยาวไม่ถึงส่วนขั้นต่ำที่กำหนดและไม่ผ่านตะแกรงเบอร์ 7 และ % ปลายข้าวซีวัน โดยเฉพาะ พนมรุ้ง ที่ผลวิเคราะห์ที่ได้ตกจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ค่อนข้างเยอะ ข้าวขาว 25% มี 1 ตัวอย่าง คือยี่ห้อ ข้าวอิ่มทิพย์ ซึ่งผลวิเคราะห์ตกเกณฑ์เรื่อง % ปลายข้าวซีวัน และการปนของเมล็ดข้าวเหลือง ข้าวขาว 35% มีจำนวน 4 ตัวอย่าง 1.รุ้งทิพย์ 2.คุ้มค่า 3.ถูกใจ และ 4.แฮปปี้บาท ตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงในกลุ่มนี้ ตกเกณฑ์ในเรื่องของส่วนของข้าวหัก และ % ปลายข้าวซีวัน   ฉลาดซื้อแนะนำ การเลือกซื้อข้าวสารถุงหากต้องการชนิดของข้าวสารตรงตามกับที่ต้องการ ต้องไม่ลืมที่จะอ่านรายละเอียดส่วนประกอบที่อยู่บนฉลากข้างถุงเด็ดขาด เพราะข้าวสารถุงหลายยี่ห้อที่เป็นข้าวแบบผสม ถ้าเราไม่อ่านส่วนประกอบเราจะไม่รู้เลยว่า ข้าวที่ผสมกันนั้น เป็นข้าวหอมกี่ % ข้าวขาวกี่ % และเป็นข้าวเกรดไหน ซึ่งเมื่อรู้ว่าข้าวยี่ห้อนี้เป็นข้าวเกรดอะไร เราก็สามารถนำไปเปรียบเทียบกับข้าวเกรดเดียวกันยี่ห้ออื่นๆ เพื่อเลือกดูที่ยี่ห้อที่คุ้มค่าคุ้มราคามากที่สุด ส่วนของเมล็ดข้าว คือ ส่วนของข้าวเต็มเมล็ดแต่ละส่วนที่แบ่งตามความยาวของเมล็ดออกเป็น 10 ส่วนเท่า ๆ กัน ข้าวเต็มเมล็ด คือ เมล็ดข้าวที่อยู่ในสภาพ เต็มเมล็ด ไม่มีส่วนใดหักและให้รวมถึงเมล็ดข้าวที่มีความยาวตั้งแต่ 9ส่วนขึ้นไป ข้าวหัก คือ เมล็ดข้าวแตกเป็นซีกที่มีเนื้อที่เหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 80 ของเมล็ด ปลายข้าวซีวัน คือ เมล็ดข้าวหักขนาดเล็กที่ร่อนผ่านตะแกรงเบอร์ 7 ตะแกรงเบอร์ 7 คือ ตะแกรงโลหะรูกลม หนา 0.79 มิลลิเมตร และเส้นผ่านศูนย์กลางรู 1.75 มิลลิเมตร ข้าวเมล็ดแดง คือ เมล็ดข้าวที่มีรำสีแดงหุ้มอยู่ทั้งเมล็ดหรือติดอยู่เป็นบางส่วนของเมล็ด ข้าวเมล็ดเหลือง คือ เมล็ดข้าวที่มีบางส่วนของเมล็ดกลายเป็นสีเหลืองอย่างชัดแจ้ง ข้าวเมล็ดท้องไข่ คือ เมล็ดข้าวเจ้าที่เป็นสีขาวขุ่นเหมือนช็อล์คมีเนื้อที่ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปของเนื้อที่เมล็ดข้าว ข้าวเมล็ดเสีย คือ เมล็ดข้าวที่เสียอย่างเห็นได้ชัดแจ้งด้วยตาเปล่าซึ่งเกิดจากความชื้น ความร้อน เชื้อรา แมลง หรืออื่น ๆ ข้าวเมล็ดลีบ คือ เมล็ดข้าวที่ไม่เจริญเติบโตตามธรรมดาที่ควรจะเป็น มีลักษณะแฟบ แบน ระดับการสี แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ 1.สีดีพิเศษ คือการขัดสีเอารำออกทั้งหมดจนเมล็ดข้าวมีลักษณะสวยงามเป็นพิเศษ 2.สีดี คือ การขัดสีเอารำออกทั้งหมดจนเมล็ดข้าวมีลักษณะสวยงามดี 3.สีดีปานกลาง คือการขัดสีเอารำออกเป็นส่วนมากจนเมล็ดข้าวมีลักษณะสวยงามพอสมควร และ 4.สีธรรมดา คือการขัดสีเอารำออกแต่เพียงบางส่วน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 137 ผักสดในตลาด กับการปนเปื้อนยาฆ่าแมลง

เนื่องด้วยเกิดความผิดพลาดขึ้นใน นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 136 มิถุนายน 2555 ในคอลัมน์ทดสอบ “ผักขึ้นห้าง วางใจได้แค่ไหนเรื่องสารเคมี” ซึ่งเนื้อหาในส่วนของผลวิเคราะห์ ที่มีการรายงานปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในตัวอย่างผักที่ทดสอบเป็นหน่วย มล./กก. หรือ มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม นั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ ต้องใช้หน่วยเป็น มก./กก. หรือ มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามที่แสดงไว้ในตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ กองบรรณาธิการต้องขออภัยกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะเพิ่มความรอบคอบในการตรวจทานแก้ไขให้มากยิ่งขึ้น จึงเรียนขออภัยมา ณ ที่นี้   หลังจากเราพาไปสำรวจการปนเปื้อนของสารเคมีในผักสดที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตกันเมื่อฉบับที่แล้ว คราวนี้ก็มาถึงภาคต่อที่ฉลาดซื้อขอเปลี่ยนบรรยากาศพาไปตะลุยตลาดสด ลองไปดูกันสิว่าผักสดจากตลาดจะปลอดภัยจากสารเคมีหรือไม่?   ฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างผักที่ขายในตลาดสด 2 แห่ง คือ ตลาดห้วยขวาง และตลาดประชานิเวศน์ เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ยาฆ่าแมลง โดยผักที่เราเลือกมาทดสอบประกอบด้วย กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา (เช่นเดียวกับที่เราทดสอบผักจากห้างค้าปลีก) ลองไปดูกันสิว่าผักที่เรารับประทานกันอยู่เป็นประจำทั้ง 7 ชนิดนี้ จะปลอดภัยจากยาฆ่าแมลงมากน้อยแค่ไหน “ผักบุ้ง” ปลอดภัยไร้สารตกค้าง อย่างน้อยก็มีเรื่องน่าดีใจ เมื่อผลการวิเคราะห์ที่ได้บอกกับเราว่า ตัวอย่าง ผักบุ้งจีน จากทั้ง 2 ตลาด ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งถ้าใครยังจำผลการวิเคราะห์ผักสดที่วางขายในห้างเมื่อฉบับที่แล้วได้ ตัวผักบุ้งจีนที่เก็บจากซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งตัวอย่างที่เป็นตราห้างและตัวอย่างที่ได้เครื่องหมาย Q ก็ไม่พบการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผักสดอีกหนึ่งตัวอย่างที่ไม่พบยาฆ่าแมลง นั่นคือ กะหล่ำปลี จากตลาดประชานิเวศน์ ส่วนตัวอย่างกะหล่ำปลีจากตลาดห้วยขวาง พบการปนเปื้อนของสาร คาร์โบฟูราน (Carbofuran) แต่ไม่เกินระดับมาตรฐาน   สารตกค้างที่พบส่วนใหญ่ไม่มีเกณฑ์ในไทย ถ้าลองดูจากผลวิเคราะห์จะเห็นว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบในตัวอย่างผักสดที่เรานำมาวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่มีในเกณฑ์ “มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ” (มกอช.) ซึ่งเท่ากับว่าไม่ควรพบการตกค้าง แต่ที่ยังพบการปนเปื้อนอยู่ก็เป็นการบอกให้รู้ถึงปัญหาของการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในบ้านเรา ที่ยังคงมีการใช้กันเป็นจำนวนมาก แถมชนิดของสารเคมีที่ใช้กันก็มีหลากหลาย พูดได้เลยสุขภาพของคนไทยกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง   “ผักชี” และ “พริกจินดา” ความเสี่ยงสูง ตัวอย่าง ผักชี และ พริกจินดา จากทั้ง 2 ตลาด ถือเป็นตัวอย่างผักสดที่พบการปนเปื้อนของสารเคมีมากจนน่าตกใจ โดยในหนึ่งตัวอย่างพบการปนเปื้อนสารเคมี 3 – 4 ชนิด แถมสารเคมีที่พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับเกินมาตรฐาน ซึ่งผักซีเป็นผักที่ มกอช. ไม่ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานกำกับไว้ ดังนั้นจึงไม่ควรพบการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง แม้หลายคนอาจจะมองว่าผักทั้งสองชนิดถ้าคิดเป็นต่อหนึ่งมื้อเราจะรับประทานในปริมาณที่น้อยมาก แต่ผลร้ายของการใช้ยาฆ่าแมลงมันมีมากกว่าที่เราคิด ทั้งผลของการสะสมในระยะยาวที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้สารโดยตรง คุณภาพของดินและระบบนิเวศวิทยาที่จะถูกทำลายจากการใช้สารเคมี นี่ยังไม่นับรวมถึงผลเสียของเศรษฐกิจที่เราต้องขาดดุลจากการนำเข้าสารเคมี และการที่ผักของประเทศไทยถูกห้ามนำเข้าไปขายยังต่างประเทศเพราะเขาตรวจพบว่าผักของเรามีการปนเปื้อนสารเคมีเกินมาตรฐาน เป็นสารเฝ้าระวังแท้ๆ แต่ว่าเจอเพียบ สารเคมีกำจัดศัตรูที่เราตรวจพบในตัวอย่างผักสดทั้ง 14 ตัวอย่าง จากตลาดสดทั้ง 2 ตลาด ไม่ว่าจะเป็น อัลดิคาร์บ (aldicarb), คาร์โบฟูราน (carbofuran), ไดโครโตฟอส (dicrotophos), อ๊อกซามิล (oxamyl), อีพีเอ็น (EPN), เมโทมิล (methomyl) และ เมทิดาไธออน (methidathion) จัดเป็นสารเคมีที่อยู่ใน “รายชื่อวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเฝ้าระวัง” ซึ่งหมายถึงสารเคมีที่ต้องมีการแจ้งการนำเข้า การผลิต ส่งออก และต้องมีใบอนุญาตในการครอบครอง เพราะจัดเป็นสารเคมีที่มีพิษร้ายแรง ออกฤทธิ์แบบเฉียบพลัน เป็นอันตรายกับผู้ที่ได้รับสารแม้เพียงปริมาณไม่มาก ซึ่งทั้งๆ ที่เป็นสารเคมีอันตราย แม้จะไม่ได้มีการห้ามใช้แบบเด็ดขาด แต่ก็น่าจะมีการควบคุมการใช้ที่ค่อนข้างเข้มงวด แต่จากผลวิเคราะห์เห็นได้ชัดเลยว่าบรรดาสารเคมีที่อยู่ในการเฝ้าระวังของกรมวิชาการเกษตร เกษตรกรยังคงหาซื้อมาใช้กันเป็นจำนวนมาก เรียกว่ายังคงใช้กันเป็นเรื่องปกติ ถึงเวลาต้อง “แบน” เครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีเกษตร (Thai – PAN : Thailand Pesticide Alert Network) ที่มาจากการรวมตัวกันของ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิชาการด้านการเกษตร เกษตรกร กำลังช่วยกันผลักดันให้ภาครัฐยกเลิกการนำเข้าและผลิตสารเคมีในประเทศไทย 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน (carbofuran), เมโทมิล (methomyl), ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และ อีพีเอ็น (EPN) ซึ่งจากการวิเคราะห์เราพบสารทั้ง 4 ชนิดนี้ กระจายอยู่ในตัวอย่างผักสดที่เราสุ่มเก็บมาทดสอบเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่สารเหล่านี้เป็นกลุ่มเฝ้าระวังเพราะมีอันตรายมาก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้สารเหล่านี้ไปแล้ว แต่ประเทศไทยเรากลับยังมียอดการนำเข้าเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หากยังไม่มีการยกเลิกการนำเข้าและการประกาศห้ามใช้ เรียกว่าสุขภาพของคนไทยก็ยังคงต้องเสี่ยงกับอันตรายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชต่อไป ตัวอย่างประเทศที่ประกาศห้ามการใช้สารเคมีทั้ง 4 ชนิด รายชื่อสารเคมี ประเทศที่ประกาศห้าม คาร์โบฟูราน (carbofuran) สหภาพยุโรป อเมริกา เมโทมิล (methomyl) สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฟินแลนด์ ตุรกี สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย (ยกเลิกบางสูตร) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) อินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย มาเลเซีย อีพีเอ็น (EPN) อเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า นิวซีแลนด์ เวียดนาม อินเดีย   ทีมา: ข้อมูลพื้นฐานของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฝ้าระวัง 4 ชนิด โดย มูลนิธิชีววิถี   ผักแพง เพราะอะไร ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวคราวที่ชวนให้หลายๆ คนปวดใจ โดยเฉพาะคนที่รักสุขภาพและชื่นชอบการรับประทานผัก เมื่อข้าวของต่างๆ เดินหน้าขึ้นราคา พืชผักต่างๆ ก็ไม่ยอมตกเทรนด์ขอเกาะขบวนกลายเป็นสินค้าราคาแพงกับเขาด้วย หลายๆ คนสงสัยว่าบ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรมแท้ๆ แต่ไหงผักถึงราคาแพง เหตุผลที่เราได้ยินได้ฟังมาเขาบอกว่าเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งภัยธรรมชาติ น้ำมันแพง ค่าแรงขึ้น ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเมื่อรวมกันก็กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ต้นทุน” แล้วรู้กันหรือว่าเปล่าอีกหนึ่งต้นทุนสำคัญที่ส่งผลต่อราคาผักที่หลายคนบ่นว่าแพงทุกวันนี้ก็คือ “สารเคมีกำจัดศัตรูพืช”   ผักแพง ยาฆ่าแมลงก็มีส่วน เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าสารเคมีทางการเกษตรเป็นสารพิษที่ส่งผลเสียกับร่างกาย แม้มันจะเป็นตัวช่วยให้กับเกษตรกรในการป้องกันรักษาพืชผักที่ปลูกไม่ให้ถูกรบกวนจากแมลงหรือวัชพืช แต่ก็เสี่ยงกับการที่สารเคมีจะตกค้างในผัก ข้อมูลสถิติการนำเข้าวัตถุอันตราย ของสำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานเอาไว้เมื่อปี 2553 ประเทศไทยเรามีการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากถึงเกือบ 120 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นเงินที่เราต้องเสียไปกว่า 18,000 ล้านบาท (รู้แล้วใช่มั้ยว่าทำไมเราถึงกินผักราคาแพง) ซึ่งถ้าลองนำตัวเลขการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาเทียบกันในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มการนำเข้ามีแต่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แถมยังเพิ่มมากขึ้น 2 – 3 เท่าตัวเลยทีเดียว (ปี 2543 สถิติการนำเข้าจะอยู่ที่แค่ประมาณ 50 ล้านกิโลกรัมเท่านั้น)   ปัญหายาฆ่าแมลงในผัก ทุกคนต้องช่วยกันรับผิดชอบ แม้เราจะเริ่มรู้สึกตรงกันแล้วว่าการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในบ้านเรานั้นอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง เพราะมันอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไทยเราป่วยเป็นมะเร็งกันมากขึ้น แต่แนวทางการแก้ไขเพื่อลดปริมาณการใช้ก็ยังไม่เห็นความชัดเจน เกษตรกรเองก็ยังต้องพึ่งพาสารเคมีเพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดในปริมาณมากพอที่จะทำให้เกษตรกรมีกำไร (ว่ากันว่าทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายในส่วนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรต้องจ่ายคิดได้เท่ากับ 10 – 30% ของต้นทุนทั้งหมด) ภาครัฐเองก็อาจยังมีการส่งเสริมเรื่องความเข้าใจในการใช้สารเคมีและรวมถึงแนวคิดการทำเกษตรปลอดสารแก่เกษตรกรน้อยเกินไป แถมยังไม่มีมาตรการที่ใช้คุมเข้มการขาย การโฆษณา สารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งสร้างความเข้าใจผิดให้กับเกษตรกร แม้แต่ผู้บริโภคอย่างเราเองก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการใช้สารเคมีของเกษตรกร เพราะทุกวันนี้เราแทบไม่ได้สนใจกันแล้วว่าผักชนิดไหนออกช่วงฤดูกาลอะไร เราเลือกกินแต่ผักชนิดเดิมๆ ตลอดทั้งปี (เช่น คะน้า ผักกาด ถั่วฝักยาว ฯลฯ) เกษตรกรเองจึงเลือกปลูกแต่ผักตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งเป็นผักแค่ไม่กี่ชนิด ลองคิดดูแล้วกันว่าผักชนิดเดิมๆ ที่มีให้เรากินตลอดเวลา จะต้องพึ่งสารเคมีมากแค่ไหนถึงปลูกให้เรากินได้ทั้งปี   ตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มตลาดสด (ตลาดห้วยขวาง) ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ (มก./กก.) เกณฑ์มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป กะหล่ำปลี ไม่พบ Carbofuran น้อยกว่า 0.01 Carbofuran 0.2 Carbofuran 0.02   คะน้า   Dicrotophos 2.02 Oxamyl น้อยกว่า 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Oxamyl 0.01 Dicrotophos ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ถั่วฝักยาว Acephate น้อยกว่า 0.05 EPN 0.34 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Acephate 0.02 EPN  ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ผักกาดขาว ไม่พบ Carbofuran 0.01 Methomyl น้อยกว่า 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Carbofuran  0.02 Methomyl 0.02 ผักบุ้งจีน ไม่พบ ไม่พบ - - ผักชี Chlorpyrifos 0.10 EPN 1.02 Methidathion 0.06 Methomyl 0.04 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.05 Methidathion 0.02 Methomyl 0.3 EPN  ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) พริกจินดา Chlorpyrifos 0.05 Methidathion 0.11 Carbaryl 0.01 Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.5 Methidathion ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.05 Methidathion 0.02 ตารางรายงานการตรวจวิเคราะห์ ผัก กลุ่มตลาดสด (ตลาดประชานิเวศน์) ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์ (มก./กก.) เกณฑ์มาตรฐาน (ไม่เกิน มก./กก.) สารกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส สารกลุ่มคาร์บาเมต ไทย (มกอช.) ยุโรป กะหล่ำปลี ไม่พบ ไม่พบ - - คะน้า ไม่พบ Aldicarb น้อยกว่า 0.01 Methiocarb 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Aldicarb 0.02 Methiocarb 0.1 ถั่วฝักยาว Omethoate 0.07 ไม่พบ ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) แต่หากลองเทียบกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง มีการกำหนดเกณฑ์การตกค้างของ Omethoate ไว้ในผักหลายชนิด (แต่ไม่มีถั่วฝักยาว) ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดที่กำหนดไว้คือ 0.05 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) ผักกาดขาว ไม่พบ Carbofuran 0.01 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Carbofuran  0.02 ผักบุ้งจีน ไม่พบ ไม่พบ - - ผักชี   Chlorpyrifos น้อยกว่า 0.05 Aldicarb 0.02 Carbofuran 1.13 ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.05 Aldicarb 0.02 Carbofuran 0.02 พริกจินดา   Chlorpyrifos 0.07 Methidathion 0.10 Triazophos 0.05 Carbaryl 0.02 Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.5 Methidathion และ Triazopho ไม่ปรากฏในการกำหนดมาตรฐานสินค้า (ไม่ควรมีการตกค้าง) Chlorpyrifos 0.5 Carbaryl 0.05 Methidathion 0.02 Triazopho 0.01   : เก็บตัวอย่างเมื่อ เดือนมีนาคม 2555 : ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้น : วิเคราะห์ผลโดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 92 เมลามีน ที่ไม่ได้อยู่แค่ในจาน

นอกจาก อย.ที่เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจหา “เมลามีน” ปนเปื้อนกันวันต่อวันแล้ว ฉลาดซื้อก็นำตัวอย่างสินค้าบางรายการที่แอบสงสัยว่า มีเมลามีนปะปนอยู่หรือไม่ เข้าทดสอบที่ ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเช่นกัน ซึ่งผลที่ออกมา…เป็นข่าวดี ถึงตอนนี้ “เมลามีน” คงเป็นคำที่คุ้นเคยกันแล้ว  แต่ขอกล่าวถึงสักหน่อยล่ะกันเผื่อใครยังค้างใจอยู่ เมลามีนเป็นสารที่ใช้ทำพลาสติกและปุ๋ย มีสารฟอร์มาลดีไฮด์เป็นองค์ประกอบสำคัญ เมลามีนบริสุทธิ์ยังมีองค์ประกอบของไนโตรเจนสูงมาก 66.67% คิดเป็นปริมาณโปรตีนได้ 416.66% ดังนั้นเมื่อนำเมลามีนมาผสมในน้ำนมหรือนมผงก็ทำให้ผลการตรวจพบเปอร์เซ็นต์ไนโตรเจนสูงขึ้นด้วย ทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจนั้นมีโปรตีนสูง คุณภาพดีได้มาตรฐานด้วย (ทั้งนี้ก็เพราะการตรวจหาปริมาณโปรตีนในนมผงปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้โดยตรง แต่จะทำทางอ้อมด้วยการตรวจหาปริมาณไนโตรเจนแทน เนื่องจากโปรตีนมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกัน) กรณีนมผงปนเปื้อนเมลามีนนี้เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของอาหารปลอมปน ที่แม้แต่คนในแวดวงอุตสาหกรรมนมยังงงๆ กันอยู่ เนื่องจากไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีคนนำมาใส่ในอาหารได้ โดยเฉพาะนม เลยไม่จัดเป็นสารต้องห้ามที่ต้องตรวจสอบในขั้นตอนควบคุมคุณภาพตามปกติ กระทรวงสาธารณสุขไทยก็เพิ่งออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฉบับที่ 311 พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2551เรื่องควบคุมอาหารปนเปื้อนสารเมลามีน โดยห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 ต.ค.2551 จริงๆ เมื่อสองปีที่แล้ว ก็มีข่าวพบเมลามีนในอาหาร แต่เป็นอาหารของน้องแมว น้องหมา ที่ทางการสหรัฐตรวจพบในอาหารสัตว์ที่มาจากประเทศจีน เนื่องจากมีหมาแมวจำนวนมากในสหรัฐฯ ที่เจ็บป่วย ตายจากภาวะไตวาย ทำนองเดียวกัน สารเมลามีน ที่ปนอยู่ในอาหารหากเรารับประทานเข้าไป ร่างกายจะไม่ย่อยสลาย แต่จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ หากกรณีสารเมลามีนเข้าไปในร่างกายปริมาณมากจึงจะก่อให้เกิดพิษ โดยเฉพาะที่ไต กรณีทารกเสียชีวิต 4 คนที่ประเทศจีน ก็เกิดจากสาเหตุไตวายเฉียบพลัน ทั้งนี้เพราะอาหารหลักของเด็กทารกคือ นม ขณะที่ผู้ใหญ่จะรับประทานอาหารหลากหลายกว่า โอกาสได้รับสารเมลามีนเข้าไปจึงมีปริมาณไม่มาก ในสหรัฐอเมริกากำหนดค่าการได้รับสัมผัสหรือการกิน เท่ากับ 0.63 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน และสหภาพยุโรปกำหนดไว้ที่ 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน ต่อไปก็ไม่รู้ว่าจะมีการนำสารตัวอื่นที่เป็นอันตรายมาปลอมปนกับอาหารในทำนองเดียวกับเมลามีนอีกหรือไม่ ดังนั้นคงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาคุยกันเรื่องระบบเฝ้าระวังอาหารที่ปลอดภัยและรัดกุม เพื่ออย่างน้อยก็ให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ฉลาดซื้อทดสอบ ในวันประชุมกองบรรณาธิการเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2551 ฉลาดซื้อสนใจข่าวเรื่องเมลามีนอย่างมาก โดยเราไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า บรรดานมผงสำหรับเด็กแม้ว่าจะมาจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่เมืองจีน จะปลอดจากสารเมลามีน หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมเป็นส่วนผสมภายในประเทศหลายตัว เราก็กังวลว่าอาจมีการนำนมจากเมืองจีนมาใช้  ประกอบกับมีหลายคนโทรศัพท์มาถามที่ฉลาดซื้อกันมาก ว่ายี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้เป็นอย่างไรบ้าง ปลอดภัยไหม (ส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อดังๆ ที่นำเข้านมผงจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่จีน) เผอิญว่าเรามีผลิตภัณฑ์นมผงที่นำมาวิเคราะห์ฉลาก (เรื่องเด่นฉบับนี้) ซึ่งเป็นลอตการผลิตที่เข้าข่ายต้องสงสัย จึงทยอยส่งห้องทดสอบพร้อมๆ กับสินค้าอาหารหลายรายการที่เก็บจากห้างสรรพสินค้า (เก็บตัวอย่างวันที่ 23 กันยายน)  เพื่อส่งตรวจหาเมลามีนพร้อมๆ กัน ผลทดสอบปรากฏว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดที่ปนเปื้อนสารเมลามีนหรือสารในกลุ่มเดียวกัน เป็นอันว่าปลอดภัยและเชื่อมั่นได้ อย่างที่ผู้ผลิต โดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย ระบุว่า ผลิตภัณฑ์นมของพวกเขาปลอดภัยจากสารเมลามีน รวมทั้ง อย.เองก็ขยันขันแข็ง ยิ่งช่วงอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกันยายน อย.ตรวจสินค้าอาหารกันวันต่อวันมากกว่า 90 รายการ ซึ่งไม่พบการปนเปื้อนแต่อย่างใด เว้นนมผงนำเข้าจากจีนของบริษัทดัชมิลล์บางรายการที่พบ แต่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่ง อย.บอกว่าสกัดไว้ได้ทันก่อนนำมาผลิตเป็นอาหารวางจำหน่าย ผลทดสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่ทดสอบการปนเปื้อนเมลามีน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 ขาว ใช่ว่าจะดีเสมอไป

เรื่องทดสอบ 3 คงไม่มีใครที่อยากเสี่ยงกับการปนเปื้อนของสารพิษในอาหาร โดยเฉพาะกรณีจงใจใส่ลงไปทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นอันตรายกับผู้บริโภค แต่ผู้ค้าหลายรายก็ยังคง เล่นไม่ซื่อ กับลูกค้าตาดำๆ ดังนั้นจึงต้องมีการเฝ้าระวังอันตรายจากการปนเปื้อนของสารพิษในอาหารอยู่เสมอ ฉลาดซื้อฉบับนี้ ไปเดินสำรวจตลาดแล้วแวะซื้อถั่วงอกกับขิงซอย มาตรวจหาสารฟอกขาว หรือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยสุ่มตัวอย่างจากตลาดสด 4 แห่ง และซูเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดบางแค ตลาดคลองเตย ตลาดยิ่งเจริญและตลาดเทวราช ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่ง คือ คาร์ฟู บางแค โลตัส อ่อนนุช และเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ถั่วงอกสด คนนิยมบริโภคกันมาก เพราะเป็นผักที่นิยมกินกันดิบๆ โดยจะกินเป็นเครื่องเคียงของอาหารคาวชนิดต่างๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ขนมจีนน้ำพริก-น้ำยา ผัดไท ก๋วยเตี๋ยวหลอด หรือนิยมนำมาผัดกับเต้าหู้ ที่เป็นเมนูโปรดของหลายคน ส่วนขิงซอย แม้จะบริโภคในปริมาณไม่มากเท่าถั่วงอกเพราะมีรสเผ็ดร้อน แต่ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เดิมอาจไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเราซื้อกันเป็นแง่งมาปอกเปลือกและหั่นฝอยเอง แต่เดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่แม่ค้าที่ต้องใช้ขิงซอยประกอบอาหาร สามารถซื้อแบบซอยสำเร็จรูปแล้ว มาปรุงอาหารได้เลย แน่นอนว่า ขิงนั้นปล่อยไว้สักระยะก็จะมีสีคล้ำดำ จนไม่น่ารับประทาน จึงนิยมนำสารฟอกขาวมาผสมเพื่อให้ขาวเรียกความสนใจได้นานๆ ผลทดสอบจากการทดสอบ สินค้าที่เป็นแบรนด์ของห้าง ไม่พบการปนเปื้อนของสารฟอกขาว ทั้งในถั่วงอกและขิงซอย แต่แบรนด์ที่ไม่ใช่ของห้างแต่นำมาวางขายในห้าง คือ ถั่วงอกยี่ห้อ วีพีเอฟ ซึ่งเก็บจากเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน พบการปนเปื้อนของสารฟอกขาวหรือ ซัลเฟอร์ไฮดรอกไซด์ 11.47 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในขณะที่ยี่ห้อ วีพีเอฟที่เก็บตัวอย่างจาก คาร์ฟู บางแค ไม่พบการปนเปื้อน ในส่วนของขิงซอย ที่พบมากน่าเป็นห่วงคือ ขิงซอยจากตลาดยิ่งเจริญ พบสารฟอกขาว 204.58 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รองลงมาได้แก่ ขิงจากตลาดเทวราช พบ 48.45 มิลลิกรัม/กิโลกรัม กินถั่วงอก ขิงหั่นฝอยให้หายห่วง 1.ซื้อถั่วงอก ขิงซอย ที่ไม่ดูขาวจนเกินไป ผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะขิงซอย เมื่อไม่มีเปลือกมันจะมีสีคล้ำตามธรรมชาติเนื่องจากการสัมผัสกับอากาศ ถ้าขาวก็ถือว่าผิดปกติ ส่วนถั่วงอก ตามธรรมชาติ เมื่อเด็ดหางออกบริเวณที่มีรอยฉีกขาดจะมีสีคล้ำขึ้น 2.ถั่วงอก ถ้าให้ล้างพิษจากสารฟอกขาวได้เด็ดขาด ต้องลวกในน้ำเดือด เพื่อที่จะทำลายสารตกค้าง 3.หาโอกาสเพิ่มทางเลือก ด้วยการปลูกหรือเพาะถั่วงอกเอง เพื่อรับประทานภายในครัวเรือน ผลทดสอบ ถั่วงอก สถานที่เก็บตัวอย่าง สารฟอกขาว (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์)มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตลาดบางแค ไม่พบ ตลาดคลองเตย ไม่พบ โฮม เฟรช มาร์ท (เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน) ไม่พบ ถั่วงอก วีพีเอฟ (ห้างคาร์ฟู บางแค) ไม่พบ ตลาดเทวราช 3.79 ตลาดยิ่งเจริญ 5.79 ถั่วงอก วีพีเอฟ (จากเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน) 11.47 ผลทดสอบ ขิงหั่นฝอย สถานที่เก็บตัวอย่าง สารฟอกขาว (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) มิลลิกรัม/กิโลกรัม ตลาดบางแค ไม่พบ ตลาดคลองเตย ไม่พบ ซีโอเอฟ (เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน) ไม่พบ ซีโอเอฟ (คาร์ฟู บางแค) ไม่พบ เทสโก ไฮจีนิก (โลตัส อ่อนนุช) ไม่พบ เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ไม่พบ ตลาดเทวราช 48.45 ตลาดยิ่งเจริญ 204.58 สารฟอกขาว เป็นสารเคมีที่มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตอาหารหลายประเภท ทั้งในอาหารที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้ใส่สารฟอกขาว โดยพบการตกค้างในปริมาณสูงในอาหารหลายชนิด จึงถูกจัดเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่ต้องมีการเฝ้าระวังในการใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารอย่างใกล้ชิด สารฟอกขาวที่นิยมใช้ในอาหารบ้านเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของสารประกอบซัลไฟต์ ซึ่งเป็นชื่อรวมของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และเกลืออนินทรีย์ของกรดซัลฟูรัสซึ่งแตกตัวให้ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าความปลอดภัยต่อการบริโภคในชีวิตประจำวันของสารกลุ่มนี้ไม่ควรบริโภคเกิน 0.7 มิลลิกรัมซัลเฟอรไดออกไซด์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน และประเทศไทยได้อนุญาตให้สารซัลไฟต์เป็นสารฟอกขาวใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภท เช่น การผลิตน้ำตาล วุ้นเส้น เส้นหมี่ ก๋วยเตี๋ยว ลูกเกด และอาหารทะเลเยือกแข็ง เป็นต้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point