ฉบับที่ 273 ผู้ประกอบการ “ยอดแย่” แห่งปี

        ประมาณช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี องค์กรผู้บริโภคออสเตรเลียหรือเรียกสั้นๆ ว่า CHOICE จะ “มอบ” รางวัลให้กับผู้ประกอบการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคจนสมควรแก่การพูดถึง ปีนี้เป็นการแจกครั้งที่ 18 แล้ว เจ้าของรางวัล Shonky 2023 มีตั้งแต่ร้านค้าปลีก แพลตฟอร์มหาบ้านเช่า อุปกรณ์ไอที เว็บไซต์ ไปจนถึง “ตู้เย็น”ห้างค้าปลีก Woolworths and Coles ได้รางวัลแชมป์ขูดรีด         ปีนี้คนออสซีเผชิญค่าเช่าแพง ดอกเบี้ยเงินกู้แพง แถมข้าวของยังพากันขึ้นราคาอีกการสำรวจล่าสุดพบว่าร้อยละ 88 ของคนออสเตรเลียกังวลเรื่องราคาอาหารและสินค้าในชีวิตประจำวันเพราะพวกเขาเริ่มรู้สึกว่าได้ของกลับบ้านน้อยทั้งๆ ที่จ่ายเงินมากขึ้น ในขณะที่สองห้างใหญ่โกยกำไรอู้ฟู่         เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาห้างวูลเวิร์ธประกาศว่าปีนี้มีกำไร 1,620 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากปีก่อนหน้า ผู้บริหารให้เหตุผลว่าที่กำไรเพิ่มก็เพราะมีค่าใช้จ่ายส่วนที่เกี่ยวกับโควิดน้อยลง หลังทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ ทางห้างโคลส์ก็มีกำไรถึง 1,100 ล้านเหรียญ เช่นกัน         การสำรวจโดย CHOICE ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่าร้อยละ 60 ของนักช้อปเชื่อว่าสองห้างนี้กำลังกอบโกยกำไรมหาศาลจากการขึ้นราคาสินค้า มีไม่ถึงร้อยละ 20 ที่คิดว่าซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งสองแห่ง (ครองตลาดรวมกันถึงร้อยละ 65) ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะไม่ขึ้นราคาสินค้า RentTech แพลตฟอร์มหาบ้านเช่า ที่ข้อมูลเกินจำเป็น         นอกจากค่าเช่าบ้านที่แพงขึ้นแล้ว คนออสซีจำนวนไม่น้อยยังหาบ้านอยู่ไม่ได้อีกด้วย แพลตฟอร์มหาบ้านเช่า อย่าง Ignite, 2Apply และ Snug จึงกลายเป็นที่พึ่งสุดท้าย พวกเขาต้องยอมให้ข้อมูลมากมาย เพราะอยากมีที่อยู่ ตั้งแต่สเตทเมนท์ธนาคาร ที่อยู่ปัจจุบัน ที่อยู่ก่อนหน้า บุคคลรับรองจากงานที่ทำล่าสุด 5 งาน หรือแม้แต่รูปถ่ายของลูกๆ และสัตว์เลี้ยง         การสำรวจโดย CHOICE พบว่าร้อยละ 60 ของผู้ใช้แอปฯ เหล่า รู้สึกไม่พอใจกับปริมาณหรือชนิดของข้อมูลที่ต้องให้กับแอปฯ         ในขณะที่ร้อยละ 41 เคยถูกเจ้าของบ้านกดดันให้ทำเรื่องขอเช่าผ่านแอปฯ มีจำนวนไม่น้อย (ร้อยละ 29)ที่ตัดสินใจไม่เช่าเพราะไม่ไว้ใจแพลตฟอร์มเหล่านี้         CHOICE เสนอว่าถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องออกกฎหมายควบคุม เพื่อป้องกันการเรียกขอข้อมูลตามใจชอบโดยไม่มีการแจ้งผู้ใช้ว่าจะส่งให้ใคร นำไปใช้อย่างไร และจะเก็บไว้นานแค่ไหน  Personal alarms อุปกรณ์ฉุกเฉินที่ชิลเกินไป         สินค้ายอดนิยมอย่างหนึ่งที่ลูกหลานนิยมซื้อให้ผู้สูงอายุใส่ติดตัวคืออุปกรณ์แจ้งเตือนฉุกเฉิน เจ้าเครื่องนี้ควรจะช่วยให้ผู้ที่สวมใส่ (ห้อยไว้ที่คอ สวมรอบข้อมือ หรือติดเป็นเข็มขัด) สามารถส่งสัญญาณไปขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลได้อย่างรวดเร็ว         แต่การทดสอบของ CHOICE ที่ทำกับอุปกรณ์นี้จำนวน  40 รุ่น พบว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น แม้จะทำหลายปีก็ยังไม่เจออุปกรณ์ที่ดีสักรุ่นเดียว ทั้งตั้งค่ายาก ใช้งานยาก ตัวหนังสือเล็กมาก คู่มือก็ไม่มีให้ ผู้ใช้ต้องดาวน์โหลดเองจากอินเทอร์เน็ต ได้มาแล้วก็ยังอ่านยาก เจ้าหน้าที่ทดสอบ (ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี) อ่านเท่าไรก็ยังไม่เข้าใจ ต้องโทรไปถามฝ่ายบริการลูกค้าของบริษัท แถมต้องชาร์จบ่อย ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องความจำจะทำอย่างไร แต่ถึงจะจำได้ก็ชาร์จยากอยู่ดี ซ้ำร้ายบางรุ่นสัญญาณจะขาดหายเวลาที่ผู้ใช้งานอยู่บนยานพาหนะ เช่น รถเมล์ รถไฟ บ้างก็ไม่ส่งเสียงเตือนเมื่อผู้สวมใส่อยู่นอกเขตที่โปรแกรมไว้ สรุปว่าผู้ผลิตต้องปรับปรุงด่วน อุปกรณ์เหล่านี้จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายได้ก็ต่อเมื่อมันทำงานได้จริง Kogan First ทำเนียนเก็บค่าสมาชิก         การซื้อของออนไลน์ เหมือนการเดินฝ่าดงกับระเบิด หูตาต้องไว บางครั้งอาจไม่ใช่การกด “เลือก” แต่เราต้องมีสติและกด “ไม่เลือก” ไม่เช่นนั้นอาจถูกหักเงินในบัญชีบัตรเครดิตโดยไม่รู้ตัว         ผู้ที่ซื้อของกับร้านออนไลน์ของ Kogan หรือ Dick Smith จะเห็นตัวเลือก “ฟรีช้อปปิ้ง” ที่หน้าเช็คเอาท์ มีเครื่องหมายเหมือนถูกกดเลือกไว้แล้ว พวกเขาก็เข้าใจไปว่ามันฟรีตามนั้น แต่มองไม่เห็นตัวหนังสือเล็กๆ ที่แจ้งข้อความทำนองว่า “คุณได้สมัครเป็นสมาชิกเพื่อทดลองใช้บริการของเรา และสามารถใช้ได้ฟรีเป็นเวลาสองสัปดาห์ หากพ้นกำหนดแล้วคุณจะถูกหักเงิน 99 เหรียญ”         CHOICE ทอลองให้ผู้ใช้ 19 คน ลองเข้าไปใช้งานเว็บไซต์ดังกล่าว และพบว่ามีถึง 9 คนที่ “พลาด” สมัครใช้บริการโดยไม่รู้ตัวว่าอีกสองอาทิตย์จะถูกหักเงิน         ปัจจุบันออสเตรเลียยังไม่มีกฎหมายที่จะสกัดพฤติกรรมแบบนี้ของผู้ประกอบการ ในขณะที่ยุโรป อเมริกาและสิงคโปร์มีแล้ว   Xbox Mini Fridge ตู้เย็นอะไร แช่แล้วไม่เย็น         เครื่องใช้ไฟฟ้านี้เป็นผลงานที่ Microsoft กับ Ukonic ร่วมกันพัฒนาเพื่อตอบโต้เรื่องล้อเลียนบนอินเทอร์เน็ตที่บอกว่าเกมคอนโซล Xbox Series X หน้าตาเหมือนตู้เย็นไม่มีผิด         ไหนๆ ถูกล้อแล้วก็ทำตู้เย็นไปเลย แต่ปัญหาคือมันแช่แล้วไม่เย็นนี่สิ         การทดสอบของ CHOICE ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิ 32 องศา พบว่าตู้นี้ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมงกว่าจะทำให้เครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง 8 กระป๋อง มีอุณหภูมิ 21 องศา (น้ำเปิดจากก๊อกยังเย็นกว่า) แถมยังกินไฟมากด้วย ถ้าเสียบปลั๊กไว้ทั้งวันทั้งคืนจะกินไฟประมาณ 376 kWh ต่อปี ไม่ต่างกับตู้เย็นขนาด 500 ลิตร ที่ทำความเย็นได้จริงๆ เลย เสียชื่อไมโครซอฟท์ที่เป็นผู้นำด้านการลดการใช้พลังงานของวิดีโอเกม         CHOICE สรุปว่ามันไม่ใช่ตู้เย็น มันเป็นแค่ตู้เก็บความเย็นที่มีความจุ 10 ลิตร เราต้องนำของไปแช่ในตู้เย็นจริงๆ ก่อนแล้วค่อยเอามาใส่ แถมยังแช่เครื่องดื่มได้น้อยกว่าที่ออกแบบและโฆษณาไว้ เพราะกระป๋องเครื่องดื่มในออสเตรเลียมีขนาดใหญ่กว่าในอเมริกา เลยใส่ได้แค่ 8 กระป๋อง แทนที่จะเป็น 12

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 “315 กาล่า” เมื่อไชน่าแฉผู้ประกอบการ

        ประเทศจีนถือฤกษ์วันที่ 15 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันสิทธิผู้บริโภคสากล เป็นวันเปิดโปงพฤติกรรมที่ “ไม่น่ารัก” ของผู้ประกอบการ ผ่านรายการถ่ายทอดสดของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ China Central Television (CCTV) ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ         สองชั่วโมงเต็มของรายการ “315 กาล่า” เป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการลุ้นกันตัวโก่ง หวั่นตัวเองจะโดนแฉออกสื่อ เพราะ CCTV เขาใช้วิธีส่งนักข่าวเข้าไปแฝงตัวเพื่อเก็บหลักฐานการละเมิดสิทธิผู้บริโภค บางรายถึงขั้นเตรียมออกแถลงข่าวขอโทษเอาไว้เลย         ในภาพรวมของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียน 980,000 เรื่องในปี 2563 และได้ดำเนินการเรียกร้องเงินคืนให้กับผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 7,400 ล้านบาท         สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนระบุว่ามีเรื่องร้องเรียนจำนวนพอๆ กันระหว่างสินค้าและบริการ สิ่งที่น่าสังเกตคือมีจำนวนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการหลังการขายเพิ่มขึ้น ในขณะที่การร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าด้อยคุณภาพลดจำนวนลง ที่ยังมีร้องเรียนเข้ามามากคือ อุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ทำยอดขายถล่มทลายตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด         รายงานของ CCTV ระบุว่านมผงสำหรับทารกที่ผลิตในประเทศจีนกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง หลังจากผู้บริโภคขาดความมั่นใจและหันไปพึ่งพานมผงนำเข้าอยู่หลายปี         ในรายการ 315 กาล่า ครั้งที่ 39 นี้ อุตสาหกรรมที่โดนเล่นงานหนักที่สุดเห็นจะไม่พ้นบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับ “บิ๊กเทค” ทั้งหลาย         ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายออนไลน์ยังมาแรง เช่น โฆษณาหลอกลวง การใช้ข้อมูลตั้งราคาต่างกันสำหรับลูกค้าต่างกลุ่ม รวมถึงการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และสินค้าปลอม เป็นต้น         เว็บ UC Browser ของค่ายอาลีบาบา และเว็บ 360 ถูกประณามเพราะไม่รับผิดชอบต่อสุขภาพความปลอดภัยของผู้บริโภค ด้วยการรับโฆษณาจากสถาบันการแพทย์ที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีกรณีไลฟ์สดขายรังนกที่ทำยอดสั่งซื้อได้ถึง 15 ล้านหยวน แต่สิ่งที่ผู้ซื้อได้รับกลับกลายเป็นแค่น้ำเชื่อม!         ทางการจีนยังใช้พื้นที่ในรายการดังกล่าวเปิดตัว “แนวปฏิบัติใหม่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมออนไลน์” ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มตลาดกลางออนไลน์ต้องมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เช่น ต้องขออนุญาตจากผู้บริโภคก่อนเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ให้ผู้ขายมีสิทธิเปิดร้านได้หลายแพลตฟอร์ม และเก็บคลิปไลฟ์สดขายของเอาไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อย 3 ปี         ที่ฮือฮาที่สุดคือ การละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกค้าในโชว์รูมของค่ายสุขภัณฑ์ Kohler ค่ายรถยนต์ BMW รวมถึงร้านเสื้อผ้า MaxMara ด้วยการเก็บข้อมูลสแกนใบหน้าลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เรื่องนี้โป๊ะแตกเพราะผู้ให้บริการระบบกล้องวงจรปิด Suzhou Ovopark Network Technology ยอมรับว่าได้ดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนมหาศาลในร้านเหล่านี้ และยอมรับอีกว่าบริษัทในฐานะผู้ดูแลระบบ มีข้อมูลของลูกค้าจำนวน “หลายร้อยล้าน” ใบหน้าเลยทีเดียว         ข้อมูลที่ว่านี้สามารถนำไปสร้างโปรไฟล์ลูกค้า เพิ่มข้อมูลส่วนตัว ระบุเพศ อายุ อารมณ์ แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องมือการตลาดแบบเจาะจงได้         หลังถูกเปิดโปง Suzhou Ovopark Network Technology บอกว่าได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบการทำงานของตนเองและจะแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนได้ทราบ ส่วน Kohler ก็ออกแถลงการณ์ว่าเขาใช้กล้องวงจรปิดเพื่อนับจำนวนลูกค้าเท่านั้น บริษัทไม่ได้เก็บ วิเคราะห์ หรือส่งต่อข้อมูลนั้นให้ใคร แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ เราได้รื้อถอนกล้องดังกล่าวออกจากโชว์รูมทั้งหมดตั้งแต่คืนวันที่ 15 มีนาคมแล้ว บริษัทกล่าว         อีกธุรกิจที่ถูกแฉคือ ผู้ให้บริการแอปฯ จัดหางาน Zhaopin.com, Liepin.com, และ 51job.com ที่นำข้อมูลประวัติการศึกษาและประสบการณ์การทำงานของผู้สมัครงานไปขาย และยังปล่อยให้รั่วไหลไปยัง “ตลาดมืด” ที่สำคัญคือแต่ละแอปฯ อ้างว่าตัวเองมีบัญชีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน         หลังจบรายการ ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถืออย่าง Huawei, Xiaomi, OPPO และ VIVO ได้ถอนแอปฯ ของสามบริษัทนี้ออกจากร้านขายแอปฯ ของตัวเองทันที         ด้านเจ้าของแอปฯ ก็รับปากจะไปตรวจสอบจัดการระบบให้รัดกุมและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ไม่ปล่อยให้ใครต่อใครเข้ามาดาวน์โหลดเรซูเม่ของผู้ใช้ได้ตามใจชอบ บางเจ้าตั้งทีมขึ้นมาควบคุมดูแลการปรับปรุงโดยเฉพาะด้วย         ค่ายรถยนต์ก็โดนเช่นกัน ผู้ใช้รถหรู Infiniti ของค่ายนิสสัน และผู้ใช้รถหลายรุ่นของ Ford เช่น focus หลายรายพบปัญหาเกี่ยวกับระบบเกียร์ นิสสันถูกแฉในรายการว่าพยายาม “ปิดกั้น” ลูกค้าไม่ให้ร้องเรียน ในขณะที่ฟอร์ดไม่แจ้งเตือนผู้ใช้รถและไม่จัดการซ่อมแซมให้โดยสมัครใจ         แน่นอนว่าบริษัทต้องรีบเสนอทางออกทันทีหลังรายการจบ นิสสันบอกว่าจะปรับปรุงการสื่อสารกับลูกค้า ในขณะที่ฟอร์ดเสนอให้ผู้ใช้นำรถที่มีปัญหาเกียร์เข้ามาซ่อมฟรีได้เลย         อีกเรื่องที่น่าสนใจของ 315 Gala ปีนี้ คือกรณีผู้สื่อข่าวที่แฝงตัวเข้าไปเป็นพนักงานขายเพื่อเก็บข้อมูลของบริษัทขายรถมือสองแห่งหนึ่งที่มีคนร้องเรียนว่าขายรถในราคาแพงเกินจริง กว่าบริษัทจะรู้ตัวว่ามี “สปาย” ผู้สื่อข่าวคนนี้ก็ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นถึงรองผู้อำนวยการที่เข้าประชุมร่วมกับผู้บริหารคนอื่นๆ เป็นประจำ และมีลูกน้องในสังกัดไม่ต่ำกว่า 10 คน         เจ้าตัวบอกว่าตอนแรกที่เป็นพนักงานขาย เขาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล “อินไซด์” ที่เป็นประโยชน์ต่อการเปิดโปงได้ เขาจึงพยายามทำยอดขายให้ได้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งได้เลื่อนตำแหน่ง ที่สำคัญคือเงินเดือนในตำแหน่งใหม่นี้สูงกว่าที่สถานีโทรทัศน์ CCTV จ่ายให้เขาเกือบสามเท่า หัวหน้างานที่สถานีฯ จึงหมั่นโทรหาเขาทุกวัน เพราะกลัวลูกน้องจะแปรพักต์ไปอยู่กับบริษัทขายรถมือสอง            สามารถดูคลิปวิดีโอรายการได้ที่ www.315.cctv.com

อ่านเพิ่มเติม >