ฉบับที่ 248 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม

10 อันดับรูปแบบการหลอกลวงทางออนไลน์ ปี 2564 เฟซบุ๊กถูกร้องสูงสุด        10 ตุลาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการสืบสวนเอาผิดมิจฉาชีพออนไลน์ ในคดีฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน พบว่า ในรอบ 10 เดือนมีร้องเรียนผ่านสายด่วนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เดือน มกราคม – ตุลาคม 2564 โดยส่วนมากเจอกลลวงหลอก ดังนี้ 1.หลอกโอนเงิน ไม่มีสินค้าส่งจริง 2. สินค้าไม่ตรงตามโฆษณา  3.จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม 4.รับหิ้วของ 5.หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย 6.ได้รับของชำรุดเสียหาย 7.หลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ 8.หลอกเช่าพระบูชา 9.ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระ 10.หลอกขายไม่ตรงรูป โดยสัดส่วนจากการถูกหลอกขายออนไลน์จากทางเฟซบุ๊ก มีสูงสุดคิดเป็น 82.4% ตามด้วยเว็บไซต์ 4.6% อินสตาแกรม 4.3% และพบว่าข้อมูลการถูกหลอกขายออนไลน์เพิ่มจากปีที่แล้วเป็นเฉลี่ย 2,221 ครั้ง ต่อเดือน         การกระทำดังกล่าวข้างต้นเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงต่อประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทั้งเป็นความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 อีกด้วย กรมปศุสัตว์แจ้งนมโรงเรียนห้ามซื้อขาย        จากกรณีที่มีกระแสดราม่าในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการโพสต์ขายนมโรงเรียน น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้เปิดเผยว่า ห้ามจำหน่ายนมโรงเรียนนอกโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทุกกรณี ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 หมวด 2 ข้อ 9 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ โดยระบุว่า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ ต้องผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และต้องจำหน่ายเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น หากนำมาจำหน่ายนอกเหนือถือว่าเป็นการกระผิด มีโทษถูกตัดสิทธิการจำหน่ายในส่วนที่เหลือในปีการศึกษานั้น หากพบเป็นการทุจริตของหน่วยงานราชการเอง จะต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยจะมีโทษทั้งทางวินัยและอาญาขั้นร้ายแรงเด็ดขาด สั่งปิด “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950”        15  ตุลาคม 2564  คปภ.ได้มีคำสั่งนายทะเบียนเพิกถอนประกอบกิจการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า มีคำสั่งนายทะเบียนปิดบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) จากการตรวจสอบของทาง คปภ.ได้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทและได้มีคำสั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราว เนื่องจากพบว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน โดยระบุ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีหนี้สินติดลบ 1,543 ล้านบาท จากปัญหามีผู้ติดเชื้อสูงโควิด-19 ขึ้นต่อเนื่อง จนกระทบต่อสภาพคล่องและมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมาก ทำให้บริษัทไม่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจวินาศภัยและยังฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ จึงเพิกถอนใบอนุญาต ให้มีผลวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยผู้เอาประกันจะได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครอง จากกองทุนประกันวินาศภัยทันที โดยมีสมาชิก 13 บริษัทประกัน จะรับโอนกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดอายุทุกกรมธรรม์ และหากผู้เอาประกันภัยต้องการยกเลิกกรมธรรม์ ทางกองทุนประกันวินาศภัย จะเข้ามาช่วยเหลือและคุ้มครองในการรับค่าสินไหมและค่าเบี้ยคืน แพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยค้านดีอีเอสดึงบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย        จากกรณีภาคเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทยและกลุ่ม ECST ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มนุษย์ควัน”  เข้าพบนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือแนวทางผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้จำหน่ายได้ตามกฎหมายนั้น ทางนายชัยวุฒิ บอกว่า ได้กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีประเด็นติดขัดเรื่องอะไรบ้าง ต่อมาทางแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง ขอชี้แจงข้อมูลดังกล่าวพร้อมขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องที่ รมว.ดีอีเอส เสนอ และกรณีที่อ้างว่ามี 67 ประเทศ อนุญาตนั้น ขอให้กลับไปทบทวนคำอนุญาตของแต่ละประเทศ ว่ามีข้อแม้และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ขายได้อย่างอิสระ ด้วยคำนึงเหตุผลที่ว่าประเทศเหล่านั้นต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนของเขาด้วยกระบวนการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้” มพบ. เร่งกระทรวงดิจิทัลออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศ         จากกรณีที่มีผู้บริโภคกว่า 10,700 ราย ได้รับความเสียหายจากการที่เงินหายจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเร่งรัดให้กระทรวงดิจิทัล ออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ ซึ่งมีสาเหตุจากที่แบงก์ชาติได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลข้อมูลของระบบธนาคาร แต่เกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตร และนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) และออกมาตรการแก้ไข 4 ข้อในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 นั้น         ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า เครื่องรูดบัตร EDC หรือเครื่องแสกนจ่ายโดยแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร จะมีการยืนยันตัวตนด้วยการเซ็นสลิป หรือใส่รหัสผ่าน แต่การทำระบบธุรกรรมออนไลน์ที่ใช้การผูกบัญชี ใช้แค่เลขบัตรและเลขหลังบัตรเท่านั้น ซึ่งธนาคารอาจจะต้องไปตรวจสอบว่าข้อมูลรั่วไหลได้อย่างไร  เนื่องจากผู้เสียหายบางรายไม่ได้ผูกบัญชีกับร้านค้าออนไลน์ และรัฐต้องตอบคำถามว่าจะออกมาตรการจัดการปัญหาเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร หากปัญหาเกิดจากแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศตามที่หน่วยงานรัฐชี้แจง แสดงว่ารัฐยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและควบคุมแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ทำธุรกิจออนไลน์ในพื้นที่ประเทศไทย อาจทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมในอนาคต หากไม่มีกฎหมายมาควบคุมธุรกิจและคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องระบบข้อมูลของผู้บริโภคที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศและสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 เบาะกันกระแทก (จบ)

        ไม่ใช่แค่อายุกับอาชีพเท่านั้นที่เป็นเรื่องสำคัญในการเลือกประกันภัยอุบัติเหตุ เมื่อมันคือการจ่ายเงินเพื่อประกันความไม่แน่นอนในอนาคต เงินที่จ่ายออกไปก็ควรคุ้มค่าที่สุด คุณจึงต้องใส่ใจกับเบี้ยประกันเพราะมันสัมพันธ์กับทุนประกันหรือการคุ้มครองที่จะได้กลับมาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ         แน่นอนว่าไม่มีใครอยากจ่ายเบี้ยประกันสูงๆ และแน่นอนด้วยว่าใครๆ ก็อยากการคุ้มครองมากๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน บริษัทประกันมีการประเมินความเสี่ยงให้ผู้ซื้ออยู่แล้ว แต่ตัวเราเองก็ต้องประเมินความเสี่ยงด้วย เช่น นิสัยการขับขี่รถ กีฬาที่ชอบเล่น ผาดโผนมากก็เสี่ยงกว่านั่นแหละ หรือคุณมีภาระรออยู่ข้างหลังหรือเปล่าถ้าคุณประสบอุบัติเหตุจนทำงานไม่ได้ไปช่วงเวลาหนึ่ง เป็นต้น         สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ประเมินได้ว่าเบี้ยประกันและทุนประกันที่เหมาะสมกับตัวเราควรเป็นเท่าไหร่         ต้องไม่ลืมด้วยว่าการประกันภัยอุบัติเหตุเน้นคุ้มครองความเสี่ยงพื้นฐานทั่วไป มันจึงมีเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นข้อยกเว้นหรือไม่คุ้มครองซึ่งจะกำหนดอยู่ในกรมธรรม์ เช่น การเข้าร่วมการทะเลาะวิวาท การจลาจล หรือการโดยสารพาหนะที่คนทั่วไปไม่ใช่กันอย่างเฮลิคอปเตอร์ รายละเอียดพวกนี้ต้องอ่านให้ดี         แต่อีกด้านหนึ่งเราก็สามารถขยายความคุ้มครองได้ (ถ้ามีปัญญาจ่ายเบี้ยประกัน) ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้เพียง 5 กรณี ได้แก่        1.การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์        2.การจลาจล การนัดหยุดงาน        3.การสงคราม        4.การโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการโดยสายการบินพาณิชย์ (เช่นเฮลิคอปเตอร์นั่นแหละ)        5.การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย         แล้วอย่าลืมดูด้วยว่าบริษัทประกันที่คุณซื้อมีโรงพยาบาลอยู่ในเครือข่ายประกันอุบัติเหตุครอบคลุมแค่ไหน         สุดท้ายที่ลืมไม่ได้ บริษัทประกันคือธุรกิจ คุณในฐานะผู้ซื้อประกันคือผู้บริโภค บริการหลังการขาย ความน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาประกอบด้วย จะได้ไม่กลายเป็นเหยื่อแบบที่มักเห็นตามข่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ค่าขาดประโยชน์จากการซ่อมรถ

        เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจากประกันภัยรถยนต์ บางทีต้องรอให้ปัญหาปะทุและผู้บริโภคได้รับการเอาเปรียบอยู่นาน กว่าที่จะได้รับการคุ้มครองในสิทธิที่พึงจะได้ ซึ่งผู้บริโภคเองต้องอย่าเพิกเฉย แม้บางครั้งการร้องเรียนอาจจะยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่การร้องทุกข์หนึ่งครั้ง เชื่อเถอะว่า สามารถได้ผลกว่าการบ่นพันครั้งแน่นอน        ขณะคุณปิยบุตรกำลังชะลอรถยนต์ของตนเพื่อหยุดตรงไฟแดงเมื่อเห็นสัญญาณไฟจราจรเป็นสีเหลือง แต่รถกระบะซึ่งตามมากลับชนรถยนต์ของคุณปิยบุตรเพราะไม่อยากจะหยุดรถที่สี่แยก โชคดีที่ความเสียหายเกิดขึ้นเฉพาะที่รถยนต์ คุณปิยบุตรปลอดภัย แต่ก็ต้องปวดหัวเพราะต้องวุ่นวายกับการซ่อมแซมรถยนต์ที่เสียหายหนัก        แม้ทางคู่กรณีคือรถกระบะ ยอมรับผิดและมีประกันภาคสมัครใจ ซึ่งตัวแทนประกันภัยของคู่กรณีได้แจ้งรายละเอียดของอู่ต่างๆ เพื่อให้คุณปิยบุตรนำรถยนต์ไปซ่อมแซม (กรณีนี้คุณปิยบุตรต้องพึ่งอู่ที่ทางตัวแทนประกันภัยเสนอ เนื่องจากรถยนต์ของตนเองไม่มีประกันภัยภาคสมัครใจมีเพียง ประกันตาม พ.ร.บ.เท่านั้น) แต่พอไปตามอู่ต่างๆ ที่ตัวแทนประกันภัยระบุ กลับถูกปฎิเสธจากหลายแห่งเป็นเวลาเกือบ 1 เดือนหลังจากเกิดอุบัติเหตุ จึงมีอู่หนึ่งรับซ่อมแซมให้ซึ่งใช้เวลาในการซ่อมแซม 8 วัน คุณปิยบุตรจึงนำรถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ        ทางตัวแทนประกันภัยของคู่กรณีได้จ่ายค่าชดเชยจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ให้กับคุณปิยบุตรเป็นจำนวนเงิน 2,400 บาท ซึ่งจ่ายตามระยะเวลาที่รถยนต์อยู่ในการซ่อมแซมของอู่บริการ ทำให้คุณปิยบุตรสงสัยว่า แล้วระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ตนไม่ได้ใช้รถยนต์เพราะไม่มีอู่ไหนรับซ่อมแซมให้ ทำไมตนถึงไม่ได้รับค่าชดเชยในช่วงเวลานั้น แนวทางแก้ไขปัญหา         กรณีของคุณปิยบุตรถูกนำไปเป็นกรณีศึกษาของคณะอนุกรรมการ คอบช. และได้นำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อ คปภ.หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งต่อมา ทางคปภ.ได้ปรับปรุงเรื่อง ความคุ้มครองของค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ให้แก่เจ้าของรถยนต์ที่ทำประกันภัยและอยู่ระหว่างนำรถยนต์เข้าซ่อมแซม ดังนี้        รถยนต์ส่วนบุคคลขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท        รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท         รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท         “หากฝ่าฝืน มีความผิดฐานขัดคำสั่งนายทะเบียน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย อาจถือได้ว่า บริษัทจงใจฝ่าฝืนข้อตกลงแห่งสัญญาประกันภัย หรือข้อกำหนดหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่มีความชัดเจนให้บริษัทมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยหรือบุคคลผู้มีสิทธิ์เรียกร้องหรือได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามสัญญาประกันภัย อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษในอัตราที่สูง ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และถ้าเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 2 หมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่”         ที่มา คปภ.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 อ่านกรมธรรม์ประกันให้ละเอียดป้องกันการเสียประโยชน์

        การทำประกันภัย ประกันชีวิต คุณจะละเลยการอ่านรายละเอียดต่างๆ ในกรมธรรม์ไม่ได้ โดยเฉพาะเงื่อนไขต่างๆ หากพบว่าไม่เป็นไปตามที่ต้องการหรือมีความผิดพลาด ต้องรีบแก้ไขเพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ที่พึงได้         คุณลลิตา กังวลใจมากเมื่อพบว่า ชื่อผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ จากการที่เธอทำประกันภัยสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่งได้รับมานั้น มีการสะกดนามสกุลผิด เธอจึงรีบทำหนังสือถึงบริษัทประกันภัยทันที เพื่อให้บริษัทฯ แก้ไขให้ถูกต้อง พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนของผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย จะได้ไม่เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก         แต่เรื่องกลับเงียบหาย เธอส่งจดหมายไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 และรอการติดต่อกลับจนล่วงเข้าเดือนสิงหาคม 2561 ก็ไม่ได้รับข่าวสารใดๆ จากบริษัทประกันภัย “ดิฉันพยายามแจ้งกับตัวแทนของบริษัทรถยนต์ที่ดิฉันเช่าซื้อ เพื่อให้ช่วยประสานเรื่องให้ เขาก็รับปาก” ผ่านไปอีกสองอาทิตย์ ก็ไม่มีความคืบหน้า คุณลลิตาจึงขอความช่วยเหลือจากศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะหากปล่อยเรื่องนี้ไว้ เกรงว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น อาจจะเสียผลประโยชน์ที่พึงได้ แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือติดตามเรื่องที่คุณลลิตาเคยทำไปถึงบริษัทประกันภัยและขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคโดยเร็ว พร้อมกับทำสำเนาแจ้งไปที่ คปภ.หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย  ซึ่งต่อมาก็ได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทฯ ว่าได้ดำเนินการแก้ไขกรมธรรม์ให้ผู้ร้องเรียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อติดต่อไปที่คุณลลิตาผู้ร้อง ได้รับการยืนยันว่าทางบริษัทประกันภัยได้ส่งกรมธรรม์ใหม่ที่ได้แก้ไขชื่อผู้รับผลประโยชน์ให้แล้วจริงหากผู้บริโภคท่านใดมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการประกันภัย เบื้องต้นควรทำหนังสือขอให้บริษัทแก้ไขปัญหา พร้อมแนบสำเนาดังกล่าวส่งไปให้หน่วยงาน คปภ. ช่วยเหลือด้วยอีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

รถถูกน้ำท่วมรถเคลมยังไง?

ตรวจดูความคุ้มครองของกรมธรรม์ขั้นตอนแรก ที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด คือ การตรวจดูความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจที่เราต่ออายุไว้ทุกปี  ว่าครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติด้วยหรือไม่  ซึ่งความคุ้มครองตัวรถที่เอาประกันภัยคือประกันชั้น 1ประกันชั้น 2+ บางแพคเกจประกันชั้น 3+ บางแพคเกจความคุ้มครองประกันแบ่งความเสียหายจากน้ำท่วมเป็นสองแบบคือ 1.การสูญเสียโดยสิ้นเชิงคือกรณี น้ำท่วมมิดคัน หรือ ท่วมเกินช่วยคอนโซลหน้า ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งห้องโดยสาร บริษัทประกันประเมิณว่า ไม่คุ้มที่จะซ่อมให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม บริษัทประกันยินดีที่จะจ่ายเงิน 70-80% ของทุนประกันเพื่อเป็นการขอซื้อซากรถ2.ความเสียหายบางส่วนถ้ารถคันนั้นไม่เสียหายมากนัก สามารถซ่อมกลับมาใช้ได้ ประกันภัยก็จะตีเป็นลักษณะความเสียหายบางส่วน บริษัทประกันจะรับผิดชอบซ่อมแซมรถให้กลับมาใช้งานได้ปกติ โดยที่ประกันภัยนั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดขั้นตอนการเคลมประกันจากน้ำท่วมเมื่อรถเราเจอน้ำท่วมขั้อนตอนการเคลม  โทรแจ้งประกันที่เราได้ทำประกันไว้  จากนั้นจะมีจ้าหน้าที่ประกันมาประเมิณความเสียหาย เมื่อประเมิณเสร็จแล้ว หากรถเราเสียหายบางส่วนก็รอใบเคลม แล้วนำไปเข้าอู่ซ่อม แต่ถ้ารถเสียหายทั้งคัน(เกินจะซ่อมแซม) ไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ ผู้เอาประกันก็รอรับค่าเสียหายจากประกันที่จะซื้อซากรถที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว  แต่มีบางกรณี ที่บริษัทประกันจะไม่รับผิดชอบเลยก็คือเราตั้งใจปล่อยให้น้ำท่วมรถหรือตั้งใจขับไป (ต้องพิสูจน์)ขับรถลุยน้ำ ทำอย่างไรให้ปลอดภัย1. สังเกตระดับน้ำว่าลึกขนาดไหน อาจมองจากขอบทางเดินถนน หรือ ถ้ามีรถคันอื่นขับผ่านถนนเส้นนั้นอยู่ ให้ลองกะดูจากสายตา หากคุณขับรถเก๋งคุณสามารถลุยน้ำได้หากระดับน้ำไม่เกิน 30 ซ.ม. ไม่อย่างนั้นอาจเครื่องดับ2. ปิดแอร์! เพราะเมื่อเปิดแอร์ พัดลมจะทำงานและพัดน้ำให้กระจายไปทั่วห้องเครื่อง น้ำนี้แหละทำให้เครื่องดับได้3. ขับช้าๆ ด้วยระดับความเร็วที่มั่นคง ใช้เกียร์ต่ำ คือเกียร์ 1-2 และรักษาอัตราเร่งไว้ให้ได้ประมาณ 1500-2000 รอบ ต่ำกว่านี้เครื่องอาจดับ สูงกว่านี้อาจจะดูดอากาศและน้ำเข้าเครื่องได้อีก สำหรับเกียร์ออโต้ ใช้เกียร์ L จำไว้ว่า ขับช้าๆ อย่าหยุด อย่าเร่งเร็ว4. การขับเร่งเครื่องอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่คนเดินถนนและผู้ใช้รถคนอื่นๆ ได้ โดยรถอาจลอยขึ้นจากถนนและทำให้คุณควบคุมรถไม่ได้ น้ำสกปรกอาจกระเด็นไปโดนคนเดินถนน และการเร่งเครื่องจะทำให้เครื่องเกิดความร้อน พอเครื่องเกิดความร้อน พัดลมใบพัดเพื่อระบายความร้อนทำงาน พอพัดลมทำงาน ก็จะพัดน้ำให้กระจายเต็มห้องเครื่องนั่นเอง5. เลี่ยงไม่ขับผ่านตรงที่มีสายไฟฟ้าจมลงไป เดี๋ยวไฟดูดนะครับ6. ดูว่ามีวัตถุอะไรลอยตามน้ำมาไหม เพราะมันอาจขวางหรือชนรถทำให้คุณขับต่อไปไม่ได้7. พยายามรักษาระยะห่างจากรถคันหน้า เพราะระบบเบรกแช่น้ำอยู่ ประสิทธิภาพจะต่ำลง8. หากเจอพื้นที่ที่มีน้ำไหล ลึกประมาณ 4 นิ้ว อย่าขับรถผ่านตรงนั้นเด็ดขาด เพราะคุณกับรถอาจโดนกวาดไปพร้อมกับสายน้ำได้9. หากเครื่องดับระหว่างอยู่กลางน้ำ อย่าสตาร์ทเครื่องเพราะเครื่องยนต์อาจได้รับความเสียหาย ให้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือหรือเรียกคนที่อยู่ภายนอกรถให้ช่วย และสุดท้าย10. เมื่อขับรถสวนกับรถอีกคันให้ลดความเร็วลง ไม่งั้นจะเป็นการทำคลื่นชนคลื่น ทำให้น้ำกระเด็นไปทำอันตรายต่ออุปกรณ์ภายในรถทั้งสองคันได้หลังพ้นพื้นที่ที่มีน้ำท่วม1. ให้ทดสอบเบรกโดยการขับช้าๆ และเบรกเป็นช่วงๆ เพื่อให้ผ้าเบรกแห้ง และดิสเบรกจะแห้งเร็วกว่าดรัมเบรก2. อย่าพึ่งดับเครื่องยนต์ทันที จอดทิ้งไว้โดยที่ยังสตาร์ทเครื่องไว้ซักครู่ เพื่อให้น้ำในท่อไอเสียระเหยออกไปให้หมด ซึ่งอาจจะมีไอออกมาจากท่อ นี่คือสิ่งปกติ หากคุณดับเครื่องทันที ท่อไอเสียอาจจะผุได้การดูแลรถหลังจากมีการลุยน้ำท่วม1. ล้างรถให้สะอาด ฉีดน้ำเข้าท้องรถ ล้อรถ กำจัดเศษหินดินทราย เศษหญ้า ใบไม้ เพราะอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้2. เปลี่ยนน้ำมันเกียร์ เพราะจะมีน้ำซึมเข้าไปในระบบเกียร์ทำให้พังได้3. เช็คลูกปืนล้อ เมื่อแช่น้ำนานอาจทำให้เกิดเสียงดัง4. ตรวจสอบพื้นพรมในรถ เปิดผ้ายาง รื้อพรม เพื่อป้องกันการติดเชื้อราในพรมและการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ5. ตรวจสอบระบบต่างๆ ให้อยู่ในความเรียบร้อย หากพบอะไรที่ผิดปกติให้นำรถเข้าศูนย์เช็คสภาพรถด่วนร้องเรียนเรื่องประกันภัยได้ที่ สายด่วน  1186  สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)     http://www.oic.or.thหรือ 022483737 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ข้อมูลเพิ่มเติม  และขอบคุณข้อมูลhttp://www.consumerthai.orghttp://www.oic.or.th/th/consumer/news/releases/86321http://www.moneyguru.co.thhttp://www.moneyandbanking.co.thhttps://goo.gl/wjSgtihttps://goo.gl/GS76Mf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 ผลการทดสอบ smart phone สำหรับ การทำงานของ Navigator App

วารสาร  Test ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพ app  ที่ทำใช้เป็น navigator เสมือนเป็นผู้ช่วยขับรถ บอกเส้นทางและสภาพการจราจร ในอนาคต Navi app เหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คนขับรถได้มาก ลดเวลาการเดินทางที่เกิดจากการจราจรที่ติดขัด และช่วยให้ไม่ต้องเจอกับปัญหาการหลงทาง การทดสอบประสิทธิภาพดังกล่าวได้เปรียบเทียบ Navi app จำนวน 3 ยี่ห้อ คือ androidauto  Apple CarPlay และ MirrorLink โดยทดสอบกับรถยนต์ Seat Leon ปี 2016 ซึ่งเป็นรถยนต์ของค่าย Volkswagen ผลทดสอบเปรียบเทียบตามตาราง การป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลพฤติกรรมการขับรถเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ที่ไม่สามารถปกปิดเป็นความลับได้ และบริษัทรับประกันภัยสามารถทราบถึงข้อมูลการขับรถได้เช่นกัน ในปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ติดตั้ง อุปกรณ์ที่เรียกว่า telematics box ที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลการขับรถของเราไว้ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นการติดตั้งโดยความสมัครใจแต่ในปี 2018 รถใหม่ทุกคันต้องติดตั้งระบบส่งข้อมูลในกรณีฉุกเฉินเรียกว่าระบบ eCall อย่างไรก็ตามกฎหมายใหม่คงเป็นประเด็นทางการเมือง และเป็นข้อถกเถียงระหว่าง สิทธิส่วนบุคคลและความปลอดภัยในการจราจรยุคใหม่ ที่เรียกว่า ยุค mobility 4.0(ที่มา วารสาร Test ฉบับที่ 8/2016)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 ทันเล่ห์ประกันภัย

ต้องยอมรับว่าธุรกิจประกันภัย มีการแข่งขัน และแย่งชิงลูกค้ากันสูงมาก   หากการแข่งขันนั้น เป็นการแข่งขันกันด้านคุณภาพ  สื่อตรง มีธรรมาภิบาล คงเป็นความโชคดีของผู้บริโภค   และคงสร้างความตื่นตัวให้ผู้บริโภค มีความต้องการที่จะทำประกันมากขึ้น  แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น จากข้อมูลเรื่องร้องเรียนปรากฏชัดว่า มีปัญหาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก  เช่น ประกันภัยผู้สูงอายุ ที่ระบุว่า ไม่ต้องถามโรค  แต่พอพบว่า เมื่อป่วยเข้าจริง หลายรายกลับถูกบอกเลิกสัญญา โดยใช้ข้อกฎหมายว่าหากบริษัทเห็นว่ามีความเสี่ยง  บริษัทมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ รวมถึงเทคนิคต่างๆ ในการจ่ายคืนสินไหมล่าช้า ฯลฯ จนทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่เข็ดขยาดกับบริษัทประกันภัยล่าสุดได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า  ถูกเชิญชวนให้จ่ายเงินซื้อประกันชีวิตเพิ่ม โดยไม่รู้ว่าถูกหลอกจ่ายเงินไปแล้ว ต่อมาภายหลังจึงเพิ่งนึกได้ว่าน่าจะถูกหลอก  เรื่องมีอยู่ว่า “คุณมา”(นามสมมุติ)ได้ซื้อประกันชีวิตกรณีอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต เบี้ยประกันปีละ 2,100 บาท(วงเงินประกัน 4 แสนบาท) จะได้เบี้ยประกันต่อเมื่อเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเท่านั้น  ต่อมาได้รับโทรศัพท์จากตัวแทนบริษัทประกันภัย  แจ้งว่ามีทางเลือกที่ดีกว่ามาให้  เพราะการซื้อประกันอุบัติเหตุนั้นหากไม่เกิดอุบัติเหตุ เงินก็จะสูญเปล่า พร้อมเชิญชวนให้ซื้อประกันแบบสะสมเป็นรายปี  เสียชีวิตจากเหตุใดก็จะได้สินไหมทันที โดยเพิ่มวงเงินประกันเป็น 6 แสนบาท แต่ต้องจ่ายเบี้ยประกันปีละ 14,000  บาท  ตอนถูกชวนไม่ทันคิดเลยตอบตกลงและจ่ายเงินไป   เมื่อได้กรมธรรม์จึงได้อ่านรายละเอียด ทำให้ทราบว่า กรณีจะได้เงินประกันจากเหตุใดก็ได้ตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างแต่จะต้องเลย 2 ปีขึ้นไป หรือ  หากตายก่อนเวลา 2 ปี ก็ต้องตายจากอุบัติเหตุถึงจะได้สินไหมจากบริษัท  แต่ถ้าตายจากโรคทั่วไปบริษัทจะไม่จ่ายสินไหม  แต่จะคืนวงเงินที่ซื้อประกันไว้พร้อมดอกเบี้ย 10%  เมื่อคิดดูแล้ว จึงรู้ว่าเสียท่าบริษัทประกันภัย เพราะต้องจ่ายเงินซื้อประกันมากกว่าเก่าถึง 5 เท่า แต่การคุ้มครองเพิ่มเพียงเล็กน้อย   กระบวนการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนก็ดำเนินต่อไป  ที่เขียนมาเพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่า ก่อนตัดสินใจซื้อประกันฯ โปรดอ่านรายละเอียดในสัญญาให้รอบคอบ          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤศจิกายน 2558 “สีย้อมผ้า” ห้ามใช้สารก่อมะเร็งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หรือ สมอ. ออกมายืนยันแล้วว่า ในปีหน้าจะมีการประกาศมาตฐารบังคับ (มอก.) กับผลิตภัณฑ์ สีย้อมผ้า เนื่องจากที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมากว่าสีย้อมผ้าที่วางขายในประเทศไทยมีการใช้สาร “อโรมาติกส์” ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งหลายๆ ประเทศในแถบยุโรปได้มีการประกาศยกเลิกใช้สารดังกล่าวแล้ว เพราะหากผู้บริโภคสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสารดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ ที่ยังมีผิวบอบบาง นอกจากนี้ยังเตรียมกำหนดมาตรฐานบังคับกับผลิตภัณฑ์สีประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สีน้ำมัน และ สีเคลือบแอลคีด ในด้านความปลอดภัยที่จะกำหนดคุณลักษณะเรื่องปริมาณโลหะหนัก อย่าง ตะกั่ว แคดเมียม ไม่ให้เกิน 100 พีพีเอ็ม เพราะสารโลหะหนักถือเป็นสารอันตรายที่มีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของสมอง ซึ่งที่ผ่านมานิตยสารฉลาดซื้อเองก็เคยลงผลสำรวจว่า ยังพบการใช้สีน้ำมันที่มีส่วนประกอบของโลหะหนัก ทาอยู่ตามอาคารต่างๆ เครื่องเล่นสนาม และของเล่นเด็ก ซึ่งโลหะหนักจะพบได้ในสีที่มีเฉดสีสดๆ เช่น สีแดง สีเหลือง สีส้ม ซึ่งสีที่ทาไปนานๆ อาจจะมีการหลุดร่อนออกมา หากเด็กๆ มีการสัมผัสหรือนำเข้าปากก็จะเป็นอันตราย   เพิ่มโทษคนขายเครื่องสำอางอันตรายในช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยจากการใช้เครื่องสำอางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย ส่งผลเสียต่อผู้ใช้ทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง ทำให้ผู้ใช้เสียโฉม อย.พยายามจัดการปัญหาดังกล่าวมาตลอด โดยล่าสุดได้มีการปรับปรุง พระราชบัญญัติเครื่องสําอาง ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ทำผิด พระราชบัญญัติเครื่องสําอาง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา โดยในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภค มีการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นจากการใช่เครื่องสำอาง และต้องมีมาตรการเรียกคืนเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยจากท้องตลาด และกำหนดให้มีด่านตรวจสอบเครื่องสำอางที่นำเข้ามาขายในประเทศ ที่สำคัญคือการเพิ่มบทลงโทษกับผู้กระทำผิด จากเดิมที่ผู้ขายผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ผสมสารต้องห้ามจะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิ่มเป็นจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังให้อำนาจ อย. ในการกำกับดูแลเรื่องการโฆษณาเอาไว้ด้วย จากเดิมที่ต้องอ้างอิงกับ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ทำให้การตรวจสอบและจัดการปัญหาน่าจะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น “คปภ.” จับมือ “ศาลยุติธรรม” พัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จับมือร่วมทำงานกับ สำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัยด้วยวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ยและวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งจะทำให้ปัญหาถูกแก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องนำไปเรื่องไปสู่ศาล ซึ่งใช้เวลานาน ถือเป็นผลดีกับทั้งผู้ซื้อประกันและบริษัทประกัน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัยมีบริการอยู่มากมาย ซึ่ง คปภ. เองก็คาดการณ์ไว้ว่าในอนาคตข้างหน้าน่าจะมีปัญหาร้องเรียนจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น การนำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ในการระงับข้อพิพาทระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยจะทำให้สามารถยุติข้อพิพาทได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณของคดีที่จะเข้าสู่ศาล โดยในแต่ละปีมีเรื่องฟ้องร้องด้านประกันภัยมาที่ คปภ. ประมาณ 12,000 เรื่อง โดยสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเสร็จสิ้นประมาณ 95% ในปี 2559 คปภ. จะทำงานในเชิงรุกในเรื่องของการระงับข้อพิพาทให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีกฎกติกาที่ชัดเจนและจะผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ กินหลากหลายลดเสี่ยงมะเร็งลำไส้ หลังจากที่องค์การอนามัยโลกออกมาให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูปและเนื้อแดงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเมื่อถูกนำมาเผยแพร่ในประเทศไทยก็ได้สร้างความตกใจให้กับผู้บริโภคจำนวนไม่น้อย รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ผู้บริโภคไม่ควรตื่นตระหนกกับข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากเนื้อสัตว์ถือเป็นอาหารที่เราทานกันเป็นปกติ เนื้อสัตว์มีโปรตีนซึ่งให้ประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกายของเรา ซึ่งผลวิจัยที่นำมาออกมาเผยแพร่นั้นเป็นผลวิจัยที่ได้จากห้องทดลอง แต่ในความเป็นจริงมนุษย์เราไม่ได้บริโภคเพียงแค่เนื้อสัตว์อย่างเดียว ข้อมูลที่ออกมาจึงเป็นเหมือนคำเตือนเพื่อสร้างความตระหนักในการบริโภคมากกว่าที่เป็นไปในลักษณะของการห้ามการบริโภคแบบเด็ดขาด รศ.ดร.วิสิฐ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งมีหลายประการ ไม่ใช่แค่การกินอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วจะเกิดโรคขึ้น โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ เท่าที่มีหลักฐานคือ การบริโภคอาหารที่มีไฟเบอร์ หรือกากใยน้อย ซึ่งตามปกติต้องบริโภคให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม นอกจากนี้เราควรกินอาหารแต่พอดี ไม่เยอะหรือน้อยเกินไป  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีกิจกรรมเคลื่อนไหวไม่ให้ลำไส้อยู่นิ่งๆ และต้องขับถ่ายให้เป็นปกติ ไม่ให้ลำไส้สะสมสารพิษ ทั้งหมดที่กล่าวมาคือสิ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้ ประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนแล้ว ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับใหม่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมีครอบคลุมหลายด้าน เช่น  กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย มีการเพิ่มค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ จากเดิมที่มีสิทธิได้รับเฉพาะค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ากินอยู่ และรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ค่ายา และค่าเวชภัณฑ์ ค่ารถพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย กรณีคลอดบุตร และ สงเคราะห์บุตร เพิ่มสิทธิให้ได้รับค่าคลอดบุตรไม่จำกัดจำนวนครั้ง  พร้อมได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง สำหรับผู้ประกันตนหญิง จากเดิมที่มีสิทธิได้รับไม่เกิน 2 ครั้ง เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 90 วัน กรณีสงเคราะห์บุตร ได้เพิ่มเป็นคราวละไม่เกิน 3 คน จากเดิมที่ได้รับคราวละไม่เกิน 2 คน สำหรับกรณีว่างงาน ก็มีการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโดยยังไม่มีการเลิกจ้าง เช่น กรณีสถานประกอบการถูกน้ำท่วม จากเดิมที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกเท่านั้น ยังมีสิทธิประโยชน์อีกหลายด้านที่เพิ่มขึ้นในพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ผู้ประกันตนสามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤศจิกายน 2555 ใบจองต้องเป๊ะ ซื้อรถคันแรก หลังจากที่รัฐบาลออกนโยบายรถคันแรกซึ่งเอื้อให้ประชาชนสามารถมีรถยนต์เป็นของตัวเองได้ง่ายขึ้น จากเงื่อนไขที่ภาครัฐที่จ่ายภาษีคืนให้กับผู้ซื้อ ทำให้ยอดการจองรถยนต์มีอัตราสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยการทำสัญญาจองรถยนต์นั้นผู้บริโภคต้องให้ความสำคัญกับ “ใบจอง” เพราะเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก โดยทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เคยทำหนังสือถึงผู้ประกอบการจำหน่ายรถยนต์ทุกค่ายพิจารณาการออกใบจองรถยนต์ให้ลูกค้าให้มีมาตรฐาน เป็นประโยชน์กับผู้ซื้อ โดยต้องแสดงรายละเอียดสำคัญให้ครบถ้วน ตั้งแต่รายละเอียดของรถยนต์ สี รุ่น ราคา ระยะเวลาการผลิตรถ ขนาดของเครื่องยนต์ และกำหนดเวลาส่งมอบรถ พร้อมสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ หากค่ายรถยนต์ใดไม่แสดงรายละเอียดข้อมูลดังกล่าวให้ครบถ้วน ถือว่าอาจเข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภค จากข้อมูลของ สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2555 ทั้งสิ้น 889 เรื่อง เป็นกรณีขอเงินจองคืนเนื่องจากไม่ได้รถยนต์ 100 รายการ ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา 69 รายการ ยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน 53 รายการ ชำรุด 231 รายการ คืนรถ ค้างค่างวด 91 รายการ ยึดรถคืน 40 รายการ ขอชดใช้ค่าเสียหาย 38 รายการ ค่าปรับสูง 31 รายการ ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ 31 รายการ ขอคำปรึกษา 30 รายการ     ที่พักแพงแจ้ง สคบ. ปีใหม่นี้หลายๆ คนคงเตรียมตัวไปเที่ยวตามที่ต่างๆ ซึ่งสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องคิดและวางแผนเลือกกันอย่างดีก่อนที่จะออกไปเที่ยวก็คือ “ที่พัก” แม้จะมีให้เลือกมาก แต่รูปแบบและราคาก็แตกต่างกันมากด้วยเช่นกัน ที่สำคัญยิ่งถ้าเป็นช่วงหน้าท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น บรรดาที่พักต่างๆ ก็มักจะฉวยโอกาสขึ้นราคา ถือว่าไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภค หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงจับมือกันเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้บริโภค โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับกรมการค้าภายใน กรมการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย ฯลฯ โดยหนึ่งในมาตรการที่อยากขอร้องกับให้ผู้ประกอบการ รวมถึงบริษัททัวร์ ก็คือ ให้จัดทำโบรชัวร์แสดงราคาของที่พักที่ต้องมีความชัดเจน แจ้งทั้งราคาช่วงไฮซีซั่นและโลว์ซีซั่น เพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นและตัดสินใจได้ ซึ่งความจริงแล้วบริษัททัวร์ ที่พัก หรือสถานที่ท่องเที่ยว จัดอยู่ในกลุ่ม 26 สินค้าที่ สคบ. มีโครงการจะมอบตราสัญลักษณ์ให้ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้หากผู้นักท่องเที่ยวคนใดไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องราคาทั้งที่พัก สามารถร้องเรียนไปได้ที่ สายด่วน สคบ. 1166 บะหมี่สำเร็จรูปเกาหลีไม่มีสารก่อมะเร็ง หลังจากมีที่มีข่าวออกมาว่า มีการตรวจพบสารก่อมะเร็งในบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อดังจากประเทศเกาหลี “นองชิม” (nongshim)  ที่วางจำหน่ายในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งส่งผลมาถึงประเทศไทยเราเพราะบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อดังกล่าวก็มีวางขายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยงานนี้ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง จึงออกมาตรการด่วนด้วยการสุ่มเก็บตัวอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนองชิมที่นำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้และฮ่องกง จำนวน 20 ตัวอย่าง พร้อมกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย จำนวน 3 ตัวอย่าง รวม 23 ตัวอย่าง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนอันตราย ซึ่งผลวิเคราะห์ที่ได้พบว่าทุกตัวอย่างปลอดภัยจากสารก่อมะเร็ง ผู้บริโภคสามารถหาซื้อมารับประทานได้อย่างสบายใจ โดยการตรวจวิเคราะห์ในครั้งนี้เป็นการตรวจหาสารก่อมะเร็ง (สารเบนโซ (เอ) ไพรีน) ที่อยู่ในเครื่องปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเต้าเจี้ยว, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสปลาหมึก, บะหมี่  กึ่งสำเร็จรูปรสอาหารทะเล และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเผ็ด ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบสารก่อมะเร็งในเครื่องปรุงรสแต่อย่างใด คปภ. แนะซื้อประกันภัยสุขภาพอย่างถูกต้อง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แนะนำผู้ที่จะซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนเลือกซื้อ อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่าระหว่างการประกันชีวิตและการประกันภัยสุขภาพนั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร สำหรับการประกันชีวิตนั้น เป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองทางด้านชีวิตโดยตรง บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินสินไหมทดแทนเนื่องจากการเสียชีวิต (จากทุกกรณี) หรือเนื่องจากการมีชีวิตอยู่รอดตามระยะเวลาที่กำหนดขึ้นอยู่กับสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองการเสียชีวิตและการอยู่รอดเต็มจำนวนผลประโยชน์ที่ซื้อจากทุกๆ กรมธรรม์ประกันชีวิต ส่วนการประกันภัยสุขภาพ ซึ่งเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ซื้อเพิ่มจากกรมธรรม์ประกันชีวิตจะให้ความคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยรายได้เนื่องจากนอนพักรักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่ว่าการรักษาพยาบาลนั้น จะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ซึ่งการพิจารณารับประกันภัยของบริษัทประกันภัย จะขึ้นอยู่กับสุขภาพและอายุของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จะไม่คุ้มครอง “โรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันภัย” เช่น โรคมะเร็งระยะสุดท้าย และโรคเอดส์ และหากผู้ขอเอาประกันภัย มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวหลายอย่าง บริษัทประกันภัยอาจจะพิจารณารับประกันภัยด้วยเบี้ยประกันภัยที่สูงกว่าคนปกติ หรืออาจจะไม่รับประกันภัยเลยก็ได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาและควรรู้สำหรับผู้ที่จะทำประกันสุขภาพก็คือ การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากการทำประกันภัยสุขภาพ ผู้เอาประกันภัยจะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริงเท่านั้น ดังนั้น การซื้อประกันภัยสุขภาพ ผู้เอาประกันภัยไม่จำเป็นต้องซื้อหลายๆ กรมธรรม์ แต่ควรพิจารณาว่าค่ารักษาพยาบาลที่ได้ทำอยู่แล้วครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลที่ผู้เอาประกันภัยต้องการหรือไม่ และควรศึกษาทำความเข้าใจในรายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยทุกครั้ง ว่าตรงกับที่บริษัทประกันภัยเสนอขาย     รถทัวร์เตรียมใช้ “จีพีเอส” ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป รถโดยสารสาธารณะเตรียมนำระบบจีพีเอสมาใช้ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร โดยจะเริ่มต้นที่รถของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กว่า 800 คัน ก่อนจะขยายผลไปยังรถร่วมบริการของ บขส. และรถตู้โดยสาร ซึ่งระบบจีพีเอสน่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุของรถโดยสารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน ระบบจีพีเอสมีเป็นระบบสื่อสารกับดาวเทียม สามารถรู้จุดตำแหน่งของรถที่ติดตั้ง การใช้ความเร็ว สามารถควบคุมให้พนักงานขับรถปฏิบัติตามกฎหมาย และเกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของผู้บริโภค หลังจากที่องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยบนท้องถนนหลากหลายภาคส่วน ได้เข้ายื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้จัดตั้ง “ศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสารสาธารณะประจำทางตลอด 24 ชั่วโมง” และให้มีการติดตั้งระบบจีพีเอสและกล่องเก็บข้อมูลในรถโดยสารสาธารณะประจำทาง เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา เห็นหรือยังว่าพลังของผู้บริโภคมีความสำคัญอย่างมากในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคในสังคม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 ประกันฯ ที่ไม่มั่นคง

คปภ.และบริษัทประกันภัย โหมรณรงค์ให้คนไทยทำประกันภัยกันอย่างครึกโครม  โดยที่จริงๆ แล้วเรื่องประกันภัย ประกันสุขภาพ  ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอให้ “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) แก้ไขอย่างจริงจัง   วันก่อนพี่จิ๋ม(นามสมมุติ) มาร้องเรียนว่า  ถูกบริษัทประกันภัยชื่อดัง  ส่งหนังสือมาบอกเลิกสัญญา  ทั้งๆ ที่ได้ซื้อประกัน ในราคา 2 หมื่นกว่าบาทต่อปี มาตั้งแต่ ปี 2552 และซื้อต่อเนื่องมาจนถึง  ตุลาคม 2558   ก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญา(พร้อมแนบเงินที่เหลือปีสุดท้ายส่งมาด้วย)   เมื่อถามต่อก็ได้ทราบว่าเหตุผลที่ถูกบอกเลิกสัญญาคือ  กล่าวหาว่าผู้ซื้อประกันปกปิดข้อมูลการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆมากมาย   ทั้งเบาหวาน ความดัน ฯลฯ ทั้งที่ตอนทำประกันผู้ซื้อยังไม่ได้เป็นโรคเรื้อรังอะไร   ผู้ร้องทุกข์เล่าให้ฟังอีกว่า ในหนังสือที่ส่งมาแจ้งอีกว่า รู้ข้อมูลการเป็นโรคของผู้ซื้อแล้วตั้งแต่เดือน มีนาคม 2558  แต่ไม่มีการแจ้งให้ผู้ซื้อประกันทราบ   นอกจากไม่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบแล้ว  ยังเรียกเก็บเงิน   ไปอีกเมื่อ 30 กันยายน 2558   แล้วก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญาในเดือนตุลาคม  ในปีเดียวกัน  ที่เจ็บใจมากคือ  ลงเงินซื้อประกันฯไปตั้งแต่ปี  2552  จนถึงปัจจุบัน รวมๆ แล้วประมาณ 150,000  บาท แต่บริษัทคืนให้เฉพาะเงินที่ลงไปปีล่าสุดเท่านั้น  อย่างนี้เท่ากับหรอกให้เราซื้อประกัน  พอเราเป็นโรคก็ไม่ ก็ปฏิเสธการดูแล  ด้วยการบอกเลิกสัญญาดื้อๆ แบบนี้ เรื่องลักษณะนี้ไม่ได้เกิดกับคุณจิ๋มคนเดียว แต่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ คน  คำถามคือเรื่องแบบนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือฉ้อโกงกันแน่(เรื่องนี้คงต้องรอคำตอบจากคำสั่งศาล) หากอ้างกฎหมายผู้ซื้อประกันหากสู้ยาก เพราะกฎหมายประกันวินาศภัย ข้อหนึ่ง เขียนไว้กว้างๆ ว่า “หากบริษัทเห็นว่ามีความเสี่ยงสามารถบอกเลิกสัญญาได้”  ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องร่วมกันผลักดันคือ  ต้องให้ คปภ. กำหนดระเบียบกติกาที่ชัดเจน  ในการบอกเลิกสัญญาประกันภัยฯ  ว่าลักษณะไหนบ้างที่บริษัทจะบอกเลิกสัญญาได้  และลักษณะไหนที่ห้ามบอกเลิกสัญญา   ถ้าบริษัทฯ ใดละเมิดต้องจัดการให้เป็นตัวอย่าง  ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อ  และเบื่อการซื้อประกันฯ เพราะไม่เป็นผลดีทั้งผู้ซื้อประกันฯ และบริษัทประกันภัย  ก็ขอเรียกร้องให้ คปภ.ขยับเรื่องนี้ให้จริงจังเสียที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ถูกฟ้องศาลเพราะลิเบอร์ตี้ประกันภัยไม่ยอมจ่ายเงินให้คู่กรณี

คุณภูษิต หนุ่มวัย 39 ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 กับบริษัท ลิเบอร์ตี้ ประกันภัย จำกัด ซึ่งเขาไม่ทราบเลยว่าในขณะนั้นบริษัทประกันภัยรายนี้เริ่มมีภาวะการเงินที่ง่อนแง่น เหตุการณ์เริ่มขึ้นในวันที่ 4 มกราคม 2553 คุณภูษิตขับรถยนต์โตโยต้าคู่ใจไปทำธุระที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จนเวลาเกือบ 2 ทุ่มจึงขับรถเพื่อจะออกจากห้าง ขณะที่ขับรถมาตามถนนภายในห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่ 2 ช่องทางการจราจรเพื่อออกถนนใหญ่ มุ่งหน้าไปแยกประตูน้ำ ด้วยความใจร้อน คุณภูษิตนั้นขับอยู่ช่องทางด้านขวาขนาบคู่มากับรถเก๋งอีกคันหนึ่ง ซึ่งมีคุณสุมาลีขับอยู่โดยวิ่งไปในทิศทางที่จะออกจากห้างเหมือนกัน เมื่อรถทั้งสองคันแล่นมาถึงบริเวณทางออกถนนหน้าห้าง แทนที่คุณภูษิตจะยอมให้รถคันซ้ายเลี้ยวออกไปก่อน กลับขับรถตัดหน้ารถของคุณสุมาลีทันที ผลของการขับรถ “ปาด” กัน ทำให้รถยนต์ของคุณสุมาลีทั้งไฟหน้า กันชนและบังโคลนมีรอยครูด ได้รับความเสียหาย คุณสุมาลีนั้นทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้กับบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) จึงเรียกพนักงานของบริษัทประกันภัยมาจัดการปัญหา ซึ่งคุณภูษิตหลังจากตั้งสติได้ก็ยอมทำบันทึกยอมรับผิดที่ตนเองไปขับรถปาดหน้าคู่กรณีให้กับบริษัท ประกันคุ้มภัยฯ โดยเข้าใจว่า เดี๋ยวบริษัทลิเบอร์ตี้ จะรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแทนตามสัญญาประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 3 ที่ได้ทำไว้ ปรากฏว่าหนึ่งปีให้หลัง วันที่ 4 มกราคม 2554 คุณภูษิตถูกบริษัทประกันคุ้มภัยฯ ซึ่งรับช่วงสิทธิมาจากคุณสุมาลี ในฐานะผู้เสียหายตัวจริงฟ้องเรียกค่าซ่อมรถที่ประกันคุ้มภัยฯ จ่ายซ่อมในฐานะผู้รับประกันเป็นเงินประมาณ 11,000 บาทเศษ พอโดนฟ้องอย่างนี้คุณภูษิตต้องรีบมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องถามเสียงหลงว่า “ทำไมถึงทำกับผมได้” แนวทางแก้ไขปัญหา คุณภูษิตก็เหมือนลูกค้าลิเบอร์ตี้ประกันภัยอีกหลายราย ที่ไม่เคยทราบเลยว่าบริษัทประกันแห่งนี้มีปัญหาด้านการเงินไม่ต่างจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย ซึ่งถูกสั่งปิดกิจการไปแล้ว เมื่อมีปัญหาด้านการเงินก็ไม่มีการบอกกับลูกค้า เอาแต่เงินเข้ากระเป๋ารับทำประกันอย่างเดียว แต่พอถึงเวลาเคลมไม่ยอมมาเคลมและปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมหลายรายที่ไม่รู้ช่องทางการร้องเรียน มูลนิธิฯ จึงได้แนะนำให้คุณภูษิตไปแจ้งเรื่องร้องเรียนกับสำนักงานส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโดยตรง หลังจากนั้นไม่นานบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย เมื่อได้รับเรื่องแล้วจึงได้ประสานกับทางฝ่ายกฎหมายของบริษัท ประกันคุ้มภัย เพื่อดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมให้ เมื่อสองบริษัทประกันคุยกัน ท้ายที่สุดยอมยุติตกลงรับค่าสินไหมกันที่ 9,670 บาท จากที่ฟ้องมา 11,000 บาทเศษ และได้ทำการถอนฟ้องคุณภูษิตในท้ายที่สุด นับเป็นความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัยชื่อดังที่ล่าช้าไปเป็นปี แต่ก็ยังดีที่มีความรับผิดชอบหลงเหลืออยู่บ้างทำให้คุณภูษิตรอดจากคำพิพากษาไปแบบหวุดหวิด สำหรับบริษัทลิเบอร์ตี้ประกันภัยนั้น กระทรวงการคลังได้ มีคำสั่ง ที่ 709 /2554 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2554 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ไปเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียน คปภ.แล้ว เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานะการเงินดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 จำนวน 65.78 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 โกงกันเห็นๆ

มีผู้ซื้อประกันภัยมากกว่า 3 ราย ได้ทำหนังสือร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีมุมที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่าที่เขาตัดสินใจยอมเสียเงินทำประกันภัยไว้ก็เพื่อประกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยที่เขาไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด(จ่ายเพื่อความสบายใจ) โดยเฉพาะการที่ยอมเสียเงินเพิ่มทำประกันภัยรถยนต์ ประเภทประกันชั้น 1   ที่ต้องเสียเงินมากกว่า 10,000 บาทเพราะเห็นว่าสิทธิประโยชน์ตามสัญญาในกรมธรรม์ มีวงเงินจ่ายความเสียหายแต่ละครั้ง 10 ล้านบาท หากมีผู้เสียชีวิตจ่ายในวงเงิน 500,000 หรือ 250,000 บาทต่อราย(แล้วแต่ตกลงกันในสัญญา) และยังมีวงเงินสำหรับประกันตัวในกรณีที่มีคดีความอีกด้วยนับว่าการจ่ายเงินของเขาเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นบริษัทประกันจะได้มารับภาระแทนเขาตามสัญญาที่ทำไว้ คือ 1. เมื่อเกิดเหตุก็มีคนจ่ายเงินให้ 2.เมื่อมีคดีความก็มีคนดูแลแต่เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น คนที่มาร้องเรียนเขาบอกกับเราว่าเขาตัดสินใจทำประกันไว้กับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด     เพราะชอบที่โฆษณาที่ว่าเมื่อเกิดเหตุ   จะไปเร็ว เคลมเร็ว  แต่เมื่อเขาพลาดประสบเหตุเฉี่ยวชนคนตาย เขาต้องใช้เวลาโทรหาตัวแทนประกันนานมาก....  ต่างจากโฆษณาลิบลับ โทรไปที่บริษัทใหญ่ บริษัทฯ ก็ให้เบอร์สาขาโทรไปสาขา สาขาก็ให้เบอร์ตัวแทน  เรียกว่าเอาเข้าจริงที่โฆษณาไว้ก็ไม่จริง เพราะกว่าตัวแทนจะมาถึงก็เป็นชั่วโมงๆ(กว่าจะมาตำรวจลากรถไปไว้โรงพักแล้ว)เมื่อเขาต่อว่า ว่าไม่เห็นมาเร็วเหมือนโฆษณาเลย ก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่า อ๋อนั่นเฉพาะในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดไม่เร็วหรอกเพราะคดีเยอะ มีเจ้าหน้าที่น้อย(แล้วทำไมตอนโฆษณาไม่บอกว่าเฉพาะกรุงเทพฯ อย่างนี้มันหลอกลวงกันชัดๆ) เมื่อตัวแทนมาถึงก็จดๆ ถ่ายรูป แล้วตำรวจก็นัดเจรจากันอีกครั้งโดยมีการกำหนดวันเวลาไว้ชัดเจนเมื่อถึงวันนัดคู่กรณีมาพร้อมขาดเพียงตัวแทนบริษัทประกัน ตำรวจบอกให้มาคุยกันต่อหน้าตำรวจเลยจะเอาอย่างไรก็ว่ามา เขาบอกว่าเขางงมาก เพราะไม่รู้จะเจรจาอย่างไร เขาไม่รู้อะไรเลย จริงๆ หน้าที่เจรจาต้องเป็นหน้าที่ของประกัน เขาบอกว่าเขาพยายามโทรหาตัวแทนอยู่หลายครั้ง เริ่มจากคนที่เคยคุยไว้ครั้งแรกก็ได้คำตอบว่าไม่ได้อยู่จังหวัดนี้ย้ายไปจังหวัดอื่นแล้ว และให้เบอร์ตัวแทนคนใหม่มา เขาก็โทรหาอีก คนที่รับสายบอกว่าไม่รู้เรื่อง เขาก็พยายามโทรหาบริษัท บริษัทก็บอกเดี๋ยวจะติดต่อสาขาให้แล้วให้เบอร์สาขามา โทรหาสาขา สาขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะส่งตัวแทนไป(เหตุการณ์คุ้นไหม) ซึ่งขณะนั้นเขาอยู่ในสภาพที่ถูกกดดันมาก คู่กรณีก็นั่งจ้องหน้า ตำรวจก็เร่งให้เจรจาเพราะมีคดีอื่นรออยู่ ตัวแทนประกันที่เขาหวังพึ่งก็ยังไม่มา เขาถามตัวเองว่าเขาเสียเงินทำประกันไปทำไม? เมื่อมีปัญหาแล้วพึ่งไม่ได้เมื่อมีการเจรจาจริงคู่กรณีได้เรียกร้อง 700,000 บาท   เขาบอกว่าเขาอุ่นใจ เพราะเขาทำ พรบ.ไว้ 2 ส่วน คือ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ วงเงินที่จ่ายกรณีเสียชีวิต 200,000 บาท และหน้ากรมธรรม์ชั้น1 อีก 500,000 บาท รวมแล้วก็พอดีเลย   ตัวแทนก็รับไปคุยกับบริษัทโดยนัดให้ตอบในนัดต่อไปเมื่อถึงวันนัดตัวแทนประกันบอกว่าบริษัทยอมจ่ายเพียง 300,000  บาท  “จะบ้าเหรอแค่ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ(พรบ.ภาคบังคับที่เขาจ่ายเงินไป 600 บาท)บริษัทก็ต้องจ่ายเต็ม 200,000 บาทแล้ว” เพราะฝ่ายเราเป็นฝ่ายผิด แต่ประกันชั้น 1 ที่เขาเสียเงินเกือบ 20,000 บาท  บริษัทจ่าย 100,000 เดียวเหรอแล้วก็ได้คำตอบจากตัวแทนว่าประกันของเขากำหนดวงเงินไว้เพียง 250,000 บาท “ทางบริษัทพิจารณาอนุมัติวงเงินเพียงเท่านี้ผมไม่มีอำนาจตัดสินใจ” เขาบอกอีกว่าเขาได้คุยกับคู่กรณีเรื่องวงเงิน คู่กรณีบอกว่าหากจ่าย 450,000  บาท เขาก็ยินดีจะจบเรื่องเขาก็ได้แจ้งตัวแทนบริษัทไป จากนั้นมีการนัดเจรจากันอีกหลายครั้ง ครั้งนึงบริษัทก็เพิ่มวงเงินทีละประมาณ 5,000 บาท บ้างไม่เพิ่มบ้าง (โอ้โห....เล่นใช้เล่ห์เหลี่ยมเพื่อหวังผลประโยชน์ของบริษัท บนความเดือดร้อนของทั้งผู้ซื้อประกันและผู้เสียหายอย่างนี้ก็แย่ซิ. โกงกันชัดๆ.)จนทำให้คู่กรณีไม่พอใจ และมายืนจ้องเขาแล้วบอกกับเขาว่า  “เอาลูกชั้นคืนมาชั้นไม่ได้อยากได้เงิน” ทั้งๆ ที่เรื่องควรจบได้หากบริษัทยอมจ่ายเงินตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ น้องที่ศูนย์ฯ บอกกับผู้เขียนว่าอย่างนี้แหละพี่ไปเจรจาต่อหน้าเจ้าหน้าที่คปภ. ก็ไม่ได้เรื่อง บริษัทก็ไม่ยอมจ่ายคปภ.ก็ไม่มีน้ำยาผู้เสียหายต้องฟ้องร้องเอง ท่านผู้อ่านรู้สึกเหมือนผู้เขียนไหมว่า ผู้บริโภคอย่างเราๆ ขาดที่พึ่งจริงๆ  ทั้งๆ ที่เรามีสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย(คปภ.)ยังทำอะไรไม่ได้ น่าเหนื่อยใจจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 98 วาระสุดท้ายของสัมพันธ์ประกันภัย

ในช่วงปี สองปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนกรณีบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและประชาชนเข้ามาที่มูลนิธิฯ เป็นจำนวนมากหลายร้อยราย และที่ร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) อีกร่วม 9 พันกว่าราย คุณจินตนา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทนี้ได้เป็นอย่างดี คุณจินตนาเล่าว่า ตนทำประกันภัยไว้กับบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และได้เกิดกรณีรถหายตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2549 ซึ่งจะต้องได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำไว้กับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้ ตอนที่รถหายคุณจินตนายังต้องมีภาระส่งค่างวดกับบริษัทไฟแนนซ์ทิสโก้อยู่ ในขณะที่สัมพันธ์ประกันภัยได้ทำการเลื่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทนมาเรื่อยๆ คุณจินตนาส่งค่างวดรถไปได้ประมาณ 6 เดือนจึงหยุดส่ง เพราะเห็นว่าสัมพันธ์ประกันภัยถูกกรมการประกันภัยสั่งให้ระงับการขายประกันชั่วคราวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 ทำให้คุณจินตนากลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อกับไฟแนนซ์ทันทีหลังจากที่ไม่ได้ส่งค่างวดติดกัน 3 งวดและถูกบอกกล่าวเลิกสัญญาในเวลาต่อมา คุณจินตนาได้พยายามติดต่อไปทางทิสโก้ให้ตามเรื่องของทางสัมพันธ์ให้ “เพระคิดว่าให้ทางบริษัทใหญ่ตามเรื่องน่าจะดีกว่าเราตัวเล็กๆ ตามเรื่องเอง แต่ก็ไม่ได้ผลอะไรเกิดขึ้น” คุณจินตนาได้ไปแจ้งกับทางกรมการประกันภัยไว้อีกทางหนึ่งแต่ก็ไม่เกิดผลอะไร จนระยะหลังโทรไปที่กรมการประกันภัย กรมฯ ก็เลี่ยงมาตลอดอีกเช่นกัน ให้โทรมาตอนนั้นตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้เรื่องอะไรเลย “ในที่สุดก็มีหมายศาลจากทางทิสโก้ ส่งมาให้เรา ซึ่งเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้เรื่องกฎหมายเลยค่ะ ได้แต่รอว่าเมื่อไหร่จะได้เงินจากสัมพันธ์ ทางเราไม่คิดที่จะได้ค่าสินไหมทั้งหมดอยู่แล้วค่ะ ขอแค่บางส่วนมาส่งให้ทิสโก้ก็พอแล้ว หมายศาลนัดให้ไปที่ศาลในเดือนมีนาคมนี้แล้วค่ะ ยังไม่รู้จะทำอย่างไรเลยค่ะ”  แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีนี้แยกได้ 2 ประเด็น 1.คดีที่คุณจินตนาถูกไฟแนนซ์ฟ้อง เนื่องจากผิดสัญญาไม่ส่งค่างวดรถให้ครบตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้เคยเขียนไว้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 93 สรุปสั้น ๆ ว่า ไฟแนนซ์น่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยอ้างข้อสัญญาว่า ถ้ารถที่เช่าซื้อสูญหายไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ หรือสุดวิสัย ผู้เช่าซื้อยินยอมรับผิดและยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบ ขอให้ศาลบังคับให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชอบชดใช้ค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ ข้อตกลงเช่นนี้ศาลฎีกาตัดสินว่าใช้บังคับได้ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แต่ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยดูจากมูลค่าทรัพย์สิน เงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป และระยะเวลาที่ได้ใช้ประโยชน์จากรถที่หายไป ดังนั้นคุณจินตนาควรไปให้การต่อศาลถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและขอให้ศาลพิจารณาลดหย่อนค่าเสียหายที่ไฟแนนซ์เรียกร้อง แต่หากสัญญาเช่าซื้อที่ทำไม่มีข้อสัญญาที่ว่ามาข้างต้น ทางกฎหมายก็ถือว่าเมื่อรถที่เป็นทรัพย์สินที่เช่าซื้อ สูญหายไป สัญญาเช่าซื้อถือเป็นอันระงับไปด้วย ผู้เช่าซื้อไม่ต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อหรือค่าเสียหายตั้งแต่งวดรถที่หายเป็นต้นไป ถ้าเป็นอย่างนี้คุณจินตนาก็คงจะเบาใจไปเปลาะหนึ่ง2. กรณีสัมพันธ์ประกันภัยไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2552 บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ได้ถูกกระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการโดยเด็ดขาดแล้ว โดยมีมาตรการคุ้มครองประชาชนในฐานะเจ้าหน้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ไปยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ของบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย และกองทุนประกันวินาศภัย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2552 โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนาเอกสาร จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นด้วย คือ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำหระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ สำหรับส่วนกลางยื่นได้ 3 แห่ง คือ 1.ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) หรือกรมการประกันภัยเดิม กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี 2. สำนักงาน คปภ. เขต 1 ซอยวิภาวดี 44 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร 3.สำนักงาน คปภ. เขต 2 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี ส่วนต่างจังหวัดนั้นให้ยื่นได้ที่ สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นจังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดลำพูน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดนนทบุรี) หากคุณจินตนาได้ไปฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภคและมีคำพิพากษาออกมาแล้ว คำพิพากษาถือเป็นเอกสารที่รับรองถึงมูลหนี้ที่ชัดเจนที่สุดแล้ว นำไปยื่นขอรับชำระหนี้กับ คปภ. ได้เลย ไม่ต้องพิสูจน์อีก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ประกันภัยสินค้าใหม่ผ่านสายโทรศัพท์

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ผู้เขียนกำลังจะตักข้าวใส่ปาก(มื้อเช้า) เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น(เล่นเอาสะดุ้ง) จึงวางช้อนลงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมารับสายเพราะคิดว่าอาจมีเรื่องสำคัญ เมื่อรับสายจึงรู้ว่าเป็นการโทรมาเพื่อขายประกัน (โอ้ย..รำคาญจริงๆ) แต่ก็ทนฟังเพราะอยากรู้ว่าเขาจะให้ข้อมูลอะไรบ้าง โอ้ย..จะบอกให้นะ หากใครตัดสินใจฟังคำบรรยายสรรพคุณความดีงามของการประกันภัย ถ้าจิตไม่แข็งพอ ต้องตกหลุมทำประกันกับเขาแน่ๆ เสียงก็เพราะแล้วยังพูดหวานหว่านล้อมสารพัด แต่ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิ สิทธิส่วนบุคคลของเราชัดๆ เพราะเราไม่เคยแสดงความจำนงว่าต้องการซื้อประกัน แล้วมาเสนอขายเราทำไม นอกจากนั้นระหว่างสนทนายังบันทึกเสียงเราอีก นึกๆ แล้วก็ควันออกหู คนจะกินข้าว ดันดั้นๆๆๆๆ โทรมาขายของน่าเกลียดจริงไอ้ธุรกิจพรรค์นี้ ก็เลยตอบกลับไปว่า “ไม่สนใจแล้วอย่าโทรมาอีกเป็นอันขาดเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน” (โทรมาจะด่าให้) หันกลับมาที่จานข้าวใหม่เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีก (ไงเนี่ย..ตกลงจะได้กินข้าวไหม) แต่เห็นเบอร์โทรแล้วแสนจะดีใจ เพราะเป็นเบอร์ของเพื่อน และเพื่อนคนนี้เราไม่ค่อยมีเวลาเจอกันซักเท่าไร เพราะต่างคนต่างมีงาน เมื่อเพื่อนโทรหาเราก็พร้อมจะคุย เพื่อนบอกว่าพอดีได้อ่านหนังสือฉลาดซื้อเมื่อเดือนที่แล้ว ในกรณีเสาไฟฟ้าบ้านลุงชุบ พอดีมีเรื่องจะขอปรึกษาเรื่อง การขายประกันทางโทรศัพท์หน่อยได้ไหม(ทำไมจะไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นร้อยพันยังช่วยได้นี่เพื่อนเรานะทำไมจะช่วยไม่ได้) จากการพูดคุยก็ได้รายละเอียดว่า เมื่อต้นเดือนมกราคม ตัวเพื่อนและภรรยา(โทรคนละครั้งเพราะใช้โทรศัพท์คนละเบอร์) ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่บริษัทประกันกรุงเทพประกันภัย จำกัด มาชักชวนให้ลงประกัน เพื่อนและภรรยาปฏิเสธไป แล้วก็คิดว่าคงไม่มีอะไรอีกแล้ว แต่เรื่องไม่เป็นเช่นนั้น ปรากฏว่าไปรษณีย์ได้นำจดหมายมาส่งวันที่ 26 มาราคม 2552 หัวจดหมายเป็นชื่อของบริษัทที่เคยโทรมาชวนให้เขาและภรรยาลงประกัน จึงรีบเปิดซองออกดูปรากฎว่า เป็นกรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อผู้เอาประกัน คือลูกสาวของเขาเอง และระบุวันคุ้มครอง วันที่ 23 มกราคม 2552 ด้วยความตกใจ จึงเรียกลูกสาวมาสอบถาม จึงได้ทราบว่าบริษัทประกันนอกจากจะโทรหาเขาและภรรยาแล้ว ยังโทรหาลูกสาวเขาอีก (อุแม่เจ้า นี่มันอะไรกันนี่มันเล่นโทรขายทั้งบ้านเลยหรือเนี่ย....) จึงถามลูกสาวว่าทำอย่างไรเขาถึงส่งกรมธรรม์มาให้ถึงบ้านได้ ลูกสาวก็บอกว่าก็ “เขาบอกว่าทำแล้วดีตั้งหลายอย่างก็เลยตอบตกลงเขาไป ก็ไม่รู้ว่าตกลงปากเปล่าทางโทรศัพท์นี่ จะเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้” เพื่อนยังบอกต่ออีกว่าเมื่อเห็นว่าลูกสาวไม่ได้ลงนามในสัญญา สัญญากรมธรรม์ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะการทำสัญญาต้องมีการลงนามทั้งสองฝ่ายหากขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสัญญานั้นก็ไม่น่าจะสมบูรณ์ เมื่อคิดอย่างนั้นก็เลยปล่อยเรื่องไว้เฉยๆโดยไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรตามมา แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเจ้าหน้าที่บริษัทประกันได้โทรติดต่อกลับมาหาลูกสาวเขาอีกพร้อมบอกให้ลูกสาวโอนเงินงวดแรกจำนวน 1,000 บาท (3 งวด)ไปยังบริษัท ลูกสาวได้ตอบไปว่า พ่อไม่ยอมให้ทำจึงขอยกเลิกการทำประกัน บริษัทตอบกลับมาว่ายกเลิกไม่ได้เพราะบริษัทได้ส่งกรมธรรม์มาให้แล้ว ตามคำยืนยันของลูกค้าที่ทางบริษัทได้บันทึกเสียงไว้ที่ตกลงไว้แล้วทางโทรศัพท์ และจากนั้นก็ได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ว่าหากไม่จ่ายเงินบริษัทจะฟ้องเพราะถือว่าลูกค้าทำผิดสัญญา จึงได้โทรมาเพื่อขอคำปรึกษาว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถยกเลิกการทำประกันได้ เมื่อได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงได้ส่งเรื่องไปยังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้ค้นหาข้อมูลเพื่อช่วยเหลือและตอบข้อหารือ ในเบื้องต้นศูนย์ฯ ได้แนะนำผู้ร้องไปว่า ถ้าผู้ซื้อไม่พอใจ ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธได้หรือบอกเลิกสัญญาได้ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้ง ดังนั้นเรามีสิทธิยกเลิกการเอาประกันได้ และไม่ต้องกลัวคำขู่ของบริษัทที่ขู่จะฟ้องร้อง แน่จริงก็ให้เขาฟ้องมาเลยศูนย์ฯ จะดำเนินการให้ไม่ต้องกลัวจากนั้นศูนย์ฯได้ดำเนินการสืบค้น พบว่าการที่บริษัทประกันโทรมาขายประกันผ่านโทรศัพท์ได้ เป็นเพราะคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ) กรมการประกันภัยเดิม ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ. 2551 จึงได้ข้อสรุปว่า คปภ. คือต้นเหตุของความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ คปภ ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ออกประกาศมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถใช้สิทธิตาม พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภคฟ้องบริษัทและ คปภ. ต่อศาลประจำจังหวัด ฐานที่ส่งเสริมให้บริษัทสร้างความเสียหายต่อจิตใจ และสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ รบกวนสิทธิส่วนบุคคล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 กระแสต่างแดน

CHOICE’s Shonky Awards 2011กระแสต่างแดนฉบับนี้ พาคุณไปพบกับงานประกาศรางวัลสินค้า/บริการที่ขัดใจผู้บริโภคชาวออสซี่สุดๆ ในปี 2554 ที่ผ่านมา งานนี้ผู้ได้รับการเสนอชื่อ เขาไม่ได้ปรากฏตัวในเสื้อผ้าหน้าผมที่จัดมาเป๊ะ เพื่อเดินเข้างานบนพรมแดง ... จริงๆ แล้ว เขาไม่ได้มาเลยด้วยซ้ำและไม่ได้ส่งตัวแทนมาด้วย แต่องค์กรผู้บริโภค CHOICE เขาก็ยืนยันที่จะมอบให้อยู่ดี มาดูกันว่ามีใครคว้ารางวัลอันไม่ค่อยจะทรงเกียรตินี้ไปบ้าง รางวัลซ้ำเติมผู้บริโภคยอดเยี่ยมได้แก่ ... ธุรกิจประกันภัยปี 2554 รัฐควีนสแลนด์ นิวเซาท์เวลส์ และวิคตอเรีย ของออสเตรเลีย ก็พบกับปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกับบ้านเรา ในเดือนเมษายนมีบริษัทประกันกว่า 20 บริษัทออกมาปฏิเสธการจ่ายชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วมในทันที  อีก 7 เดือนต่อมาชาวบ้านกว่า 8,660 ครัวเรือน ได้รับจดหมายแจ้งว่าตนเองไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ คนเหล่านี้เชื่อตามที่นายหน้าบอกไว้ตอนมาขายประกันนั้นแล แต่จริงๆแล้วไม่มีการระบุไว้ในกรมธรรม์แต่อย่างใด ส่วนที่มีสิทธิจะได้ก็รอกันเหนื่อยหน่อย เพราะกระบวนการประเมินความเสียหายนั้นช่างยุ่งยากซับซ้อนและเนิ่นนานเหลือเกิน มีผู้เอาประกันจำนวนไม่น้อยที่ต้องรอนานกว่า 6 เดือน ที่สำคัญกรมธรรม์ของเขาก็สร้างความมึนงงได้ยอดเยี่ยม ขนาดทนายความที่ทำงานด้านเคลมประกันน้ำท่วมโดยเฉพาะก็ยังอ่านไม่เข้าใจ รางวัลหลอกกินเงินเด็กยอดเยี่ยม ได้แก่ ... เกมส์หมู่บ้านเสมิร์ฟ ผู้บริโภคโปรดระวัง “เกมฟรี” ที่ลูกๆ หลานๆ ท่านขออนุญาตดาวน์โหลด ดังตัวอย่างเกมส์หมู่บ้านเสมิร์ฟ ที่ได้รางวัลไปหมาดๆ เพราะมันเป็นเกมที่แม้จะโหลดได้ฟรี แต่ถ้าจะเล่นให้สนุก คุณก็ต้องมีเงินเอาไว้ใช้จ่ายในเกมด้วย ในเกมที่ว่านี้ผู้เล่นจะต้องสร้างบ้าน ร้านค้า อาคารต่างๆ สะพาน รวมไปถึงจัดสวน ทำขนม เรียกว่าทุกอย่างต้องใช้เงิน ซึ่งในเกมจะใช้ “เสมิร์ฟเบอรี่” เป็นเงินสมมุติ  แต่เมื่อเงินสมมุติที่ให้มาตอนแรกหมด ผู้เล่นก็จะต้องใช้เงินจริงไปซื้อเจ้าเงินสมมุตินี้ แม้เกมออนไลน์ตัวนี้จะมีคำเตือนขึ้นโดยตลอดเวลาก่อนจะขาย ว่าจะมีการเรียกเก็บเงินจริง แต่เด็กๆ มักจะไม่อ่านหรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็นะ... กำลังเล่นเพลินๆ เงินเสมิร์ฟเบอรี่ ดันมาหมดพอดี อะไรขึ้นมาก็กดโอเคไว้ก่อน เพื่อให้สามารถเล่นต่อได้  ถามว่าไม่ซื้อได้หรือไม่ เด็กๆ และผู้ใหญ่ที่นิยมเกมนี้บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามันก็ไม่สนุก ว่ากันว่ามีคนจ่ายเงินในเกมนี้ (ไม่แน่ใจว่ารู้ตัวหรือไม่) ไปถึง 30,000 บาทเลยทีเดียว รางวัลผลิตภัณฑ์หลอกลวงซ้ำซาก ได้แก่ ... สเปรย์ลดน้ำหนัก SensaSlim ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่อ้างว่าได้ผลแบบมหัศจรรย์จนทั้งจอร์จและซาร่าพากันทึ่ง นั้นมีให้เห็นกันเป็นประจำทางทีวี แต่สเปรย์ SensaSlim เจ้านี้เขาได้รางวัลไปด้วยความหน้ามึนนั่นเอง เพราะถึงแม้จะโดนแพทย์คนหนึ่งร้องเรียนว่าผลิตภัณฑ์นี้กระทำผิดกฎหมายควบคุมโฆษณา และถูกปรับไปแล้วก็ตาม แต่เขาช่างไม่ย่อท้อ ยังเดินหน้าโฆษณาและขายต่อไป แถมฟ้องแพทย์คนดังกล่าวด้วยข้อหาหมิ่นประมาทอีกด้วย แค่นั้นยังไม่พอยังลงข้อความแสดงแสนยานุภาพในเว็บไซต์ว่า นี่แหละเป็นบทเรียน ให้ใครไม่กล้าบังอาจมาแหยมกับเขาอีก แต่โชคไม่เข้าข้าง เรื่องไปเข้าตานักข่าวเลยตามไปขุดคุ้ยต่อ เลยได้รู้ว่าผลการทดสอบที่อ้างว่าทำโดยสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในเจนีวานั้นเป็นเรื่องโม้ทั้งเพ เช่นเดียวกับที่เคยออกข่าวว่ามีชายคนหนึ่งฟ้องบริษัทโทษฐานที่ทำให้เขาน้ำหนักลดมากเกินไป (นายคนนั้นแกน้ำหนักลดไป เกือบหนึ่งกิโลกรัมภายในเวลา 30 นาที จริง แต่ไม่ใช่เพราะผลิตภัณฑ์ที่ว่า) ขนาดแพทย์ของบริษัทเองยังประกาศไม่ขอมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับผลิตภัณฑ์ที่ว่า (คงไม่ต้องบอกว่าขณะนี้บริษัทกำลังฟ้องเขาอยู่เช่นกัน) รางวัลกางเกงหลุดโลก  ได้แก่ กางเกงกระชับสัดส่วน Peachy Pinkเรายังวนเวียนอยู่ในโลกของการลดน้ำหนักกระชับสัดส่วน  ที่ออสเตรเลียเขาก็มีกางเกงกระชับสัดส่วน Peachy Pink ออกมาจำหน่าย เขาว่ากางเกงเขามีทั้งชาเขียว คาเฟอีน และลูกพีช ... ว่าแต่ลูกพีชมาทำอะไรในผลิตภัณฑ์นี้ เขาอ้างว่าถ้าสวมกางเกงที่ว่านี้เป็นเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน ต่อเนื่องกัน 21 วัน  เซลลูไลท์ที่น่องจะลดน้อยลง พร้อมๆ กับไขมัน เขาว่าเขาเป็นเจ้าเดียวเท่านั้นที่ผ่านการรับรองทางการแพทย์  ว่าแต่ใครกันนะที่ทำหน้าที่รับรองให้ เพราะไม่มีการลงผลวิจัยในวารสารทางการแพทย์เล่มใดๆ เลย นอกจากนักวิจัยจะยังไม่สามารถฟันธงเรื่องประสิทธิภาพของคาเฟอีนและชาเขียวในการลดน้ำหนัก งานวิจัยเรื่องการใช้ลูกพีชลดน้ำหนักนี่ยิ่งไม่มีเข้าไปใหญ่  แต่ลองคิดตามที่เขาโม้ดู ... สมมุติว่าขาของเราสามารถดูดซึมคาเฟอีนได้ดีเยี่ยม เราก็จะได้รับคาเฟอีนจากกางเกงที่ว่านี้วันละ 70 มิลลิกรัม (ซึ่งเท่ากับการดื่มชาเขียว 2 ถ้วย)  ชงชามากินจะไม่ดีกว่าหรือ ไม่เสี่ยงเป็นลมเพราะกางเกงรัดด้วย รางวัลติดหรูไม่ดูตาม้าตาเรือ ได้แก่ จุกนมหลอกประดับคริสตัล สำหรับเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยจนไม่รู้จะเอาเงินไปใช้ทำอะไรแล้ว ก็ยังมี “จุกนมหลอก ประดับคริสตัลซวารอฟสกี้ แท้ๆ” มาให้พ่อแม่ได้เลือกซื้อทางอินเตอร์เน็ท จุกนมหลอกนั้นประโยชน์ของมันยังเป็นที่ถกเถียงว่ามีจริงหรือเปล่า นี่ยังจะมีคนเอาไปติดเพชรนิลจินดาประดับประดาให้หรูเริด ทำนอง “เพิ่มมูลค่า” เข้าไปอีก แต่คุณขา ... นี่มันเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กทารก จะติดเมล็ด “คริสตัล” เพื่อเพิ่มอันตรายจากการติดคอ หรือกลืนกินเจ้าสิ่งแปลกปลอมที่ว่านั้นไปทำไมกัน ขณะนี้เขาประกาศห้ามขายในร้านทั่วไปแล้ว แต่ยังมีให้สั่งซื้อกันได้ทางอินเตอร์เน็ท ที่ทำเนียนขายต่อไปพร้อมคำเตือนว่า “สินค้านี้ไม่เหมาะในการนำไปให้เด็กใช้จริง” รางวัลมึนทะลุหลังคา ได้แก่  รถยนต์ Chery J1 พูดกันตรงๆ คนออสซี่เขาก็ไม่ได้คาดหวังมากมายนักจากรถราคา 400,000 บาท อย่างเจ้าคอมแพค 5 ประตู เฌอรี่ เจวัน  จากจีนที่เพิ่งจะเข้ามาทำตลาดในออสเตรเลียได้ประมาณ 1 ปี รถน้อยที่ว่านี้ได้คะแนนความปลอดภัยแค่ 3 ดาว และถูกแบนในรัฐวิคตอเรียเนื่องจากขาดอุปกรณ์จำเป็นที่เขากำหนดไว้ไปหนึ่งตัว แต่นั่นยังไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้มันคว้ารางวัลนี้ไป ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะพี่น้อง ว่าเขาช่างกล้าติดสติ๊กเกอร์ไว้ที่ด้านในของราวหลังคา ที่มีข้อความว่า “ราวหลังคานี้มีไว้เพื่อการตกแต่งเท่านั้น ห้ามใช้งาน”   แล้วในกรณีที่เจ้าของอยากขายต่อ (สมมุติว่ารถยังขับได้อยู่แม้สติ๊กเกอร์จะลบเลือนไปแล้ว) แล้วคนที่มาซื้อต่อจะรับทราบข้อมูลสำคัญนี้หรือไม่ ตอนท้ายของโฆษณารถเฌอรี่ จบด้วยคำถามว่า “ทำไมคุณถึงจะยังเลือกรถยี่ห้ออื่น?” ก็ได้เหตุผลมากมายเป็นหางว่าว เริ่มจากข้อนี้แหละ รางวัลเขียวจอมปลอม ได้แก่ อุปกรณ์ประหยัดไฟ Go4Green ในยุคที่ใครๆ ก็อยากจ่ายค่าไฟน้อยลง อุปกรณ์ประหยัดไฟมากหน้าหลายตาจึงออกมาตีตลาด Go4Green อ้างว่าสามารถช่วยประหยัดค่าไฟได้ถึงร้อยละ 10  ด้วยการลงทุนครั้งแรกประมาณ 10,000 บาท เขาบอกว่าแค่ 6 เดือนก็คุ้มแล้ว ทางทีมของ CHOICE ก็เลยลองไปซื้อมาใช้ดู (ด้วยวิธีใช้ตามที่บอกในคำแนะนำการใช้ ของผู้ผลิต) หลังจากทดลองใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องปั่นแห้ง เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าเล็กๆ อื่นๆ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์อย่างเครื่องดูดฝุ่น สว่าน ด้วย  ผลปรากฏว่านอกจากจะไม่ช่วยลดแล้ว ในการทดสอบบางรอบ ค่าไฟยังเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก รางวัลไข่ครอบจักรวาล ได้แก่ ไข่นกกระทายี่ห้อ Quail Kingdom จะว่ายังไงดีล่ะ เขาอ้างว่าไข่เขาดีจริงๆ รักษาได้ทุกอย่างตั้งแต่ ความดันเลือดสูง วัณโรค เบาหวานชนิดที่1  โรคนิ่ว แถมยังช่วยแก้ปัญหาในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผมร่วง มีริ้วรอย หรือแม้แต่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ นี่ยังไม่นับว่า ถ้าคุณบังเอิญไปได้รับกัมมันตรังสี แบบเดียวกับที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้าที่เชอโนบิล กินไข่นี้แล้วก็จะอยู่รอดปลอดภัยอีกต่างหาก มีคำถามเดียวว่า ถ้ามันดีและมีผลทางการรักษาเลิศขนาดนั้นทำไมมันถึงไม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นยาไปเสียเลย และที่สำคัญมันหลุดรอดสายตาของนักวิจัยทางด้านเภสัชศาสตร์และการแพทย์ไปได้อย่างไรหนอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 เซ็นยอมความไป ก็ใช่ว่าต้องยอมให้ถูกเอาเปรียบไปด้วย

มาตรา 887 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า “ อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบบุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้ หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย" คดีตัวอย่าง รถยนต์แท็กซี่ของโจทก์(ผู้ต้องเสียหาย) ถูกรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับไปในทางการที่จ้างชนท้ายได้รับความเสียหาย รถยนต์ของจำเลยที่ 2 เอาประกันภัยไว้กับบริษัท ท. ต่อมาโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าเสียหาย 18,000 บาท โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับบริษัท ท. ว่าจะไม่ติดใจเอาความทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อบริษัทและผู้เกี่ยวข้องอื่น ต่อมาโจทก์(ผู้ต้องเสียหาย) เอารถยนต์เข้าซ่อม อู่ใช้เวลาซ่อม 32 วัน โจทก์ขาดรายได้จากการเอารถยนต์ออกขับรับจ้าง จึงมาฟ้องศาลเรียกค่าขาดรายได้ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีก จำเลยทั้งสอง(ผู้เอาประกันภัย) ก็ยกเรื่องโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมกับบริษัท ท.ไปแล้วขึ้นต่อสู้  ปัญหาจึงมีว่าสัญญาประนีประนอมดังกล่าวทำให้หนี้ในมูลละเมิดระงับไปแค่ไหน คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิด จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้อย่างน่ารับฟังไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3074/2551 ว่า  “ เมื่อจำเลยทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัท ท. ความรับผิดของบริษัท ท. ต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายและเป็นบุคคลภายนอก เป็นความรับผิดตามสัญญาที่บริษัท ท. ทำไว้กับจำเลย อันมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ซึ่งโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท ท.ได้โดยตรง แต่จะเรียกร้องเกินไปกว่าจำนวนที่บริษัท ท. จะพึงต้องใช้ตามสัญญาไม่ได้ การที่โจทก์กับบริษัท ท.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ย่อมมีผลทำให้หนี้ของบริษัท ท. ที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวระงับสิ้นไปและเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่หนี้ซึ่งระงับไปเพราะเหตุดังกล่าวนี้คงมีผลทำให้หนี้ในมูลละเมิดที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ระงับไปด้วยเพียงเท่าที่บริษัท ท. ชำระให้แก่โจทก์เท่านั้น เพราะถือว่าเป็นการชำระในนามของจำเลยผู้เอาประกันภัย ดังนั้นหากมีความเสียหายในส่วนอื่นอันเกิดจากการทำละเมิด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้ หาใช่ว่าสิทธิของโจทก์จะถูกจำกัดให้มีเพียงเท่าที่ปรากฏในสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ได้ทำไว้กับบริษัท ท. เท่านั้นไม่ “ พิพากษายืน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 400 บาท แทนโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 บัญญัติว่า “ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน “

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 ข้อควรรู้ก่อนทำประกันภัยทางโทรศัพท์

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการผู้บริโภคหลายๆ ท่านคงได้รับประสบการณ์ ถูกเชิญชวนให้ทำประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นการโฆษณาเชิญชวนที่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคอย่างมาก และหากผู้บริโภคท่านใดรู้สึกเดือดร้อนรำคาญก็สามารถร้องเรียนไปยัง กสทช. เบอร์ 1200 ได้ทันที แต่กรณีที่ผู้บริโภค เกรงใจ หลงเสน่ห์เสียงนางของพนักงานที่โทรมาเชิญชวนให้ทำประกันภัยประเภทต่างๆ จนกระทั่งตกปากรับคำ ยอมทำสัญญาประกันนั้นแล้ว มารู้ตัวอีกทีว่า ไม่ได้ต้องการและไม่มีความจำเป็นใดๆ กับบริการนี้แล้ว เราสามารถจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ผมมีคำตอบให้ครับ จาการเติบโตของธุรกิจประกันภัย ที่มีมากขึ้นโดยเปิดโอกาสให้มีการขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ หรือการขายประกันผ่านทางโทรศัพท์ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ใช้บริการบัตรเครดิต มักจะได้รับการติดต่อจากตัวแทนขายประกันทางโทรศัพท์อยู่เรื่อยๆ  มีการเสนอขายประกันด้วยวิธีต่างๆ จนผู้บริโภคบางรายตอบรับการทำประกันโดยมิได้ตั้งใจ เมื่อรู้ตัวและเรียกร้องให้บริษัทประกันยกเลิกสัญญา จะได้รับคำตอบเพียงว่า ทำแล้ว “ไม่สามารถยกเลิกได้” ทำให้หลายคนตกเป็นทาสของสัญญาประกันชีวิต โดยไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร มีข้อแนะนำวิธีการป้องกันการตกเป็นเหยื่อ ดังนี้   1.ปฏิเสธตรงๆ ก่อนฟังการเสนอบริการขาย เมื่อผู้บริโภคได้รับโทรศัพท์จากตัวแทนหรือนายหน้าประกันชีวิต ชักจูงให้ทำประกัน หากผู้บริโภคไม่ต้องการฟังข้อเสนอ ก็สามารถปฏิเสธการนำเสนอขายประกัน และยุติการสนทนาทันที แต่ถ้าผู้บริโภคต้องการรู้ว่าตัวแทนหรือนายหน้าได้ข้อมูลของผู้บริโภคมาจากไหน ตัวแทนหรือนายหน้าต้องแจ้งให้ทราบ จากนั้นสามารถยุติการสนทนาได้ทันทีเช่นกัน   2.ยกเลิกเมื่อพบว่าไม่ได้ต้องการทำประกันจริงๆ เมื่อผู้บริโภคได้ทำสัญญาโดยไม่สมัครใจ เผลอไปตอบตกลง ทำประกันแบบไม่รู้ตัว กว่าจะรู้ก็ถูกหักค่าเบี้ยประกันไปแล้ว หรือมีกรรมธรรม์ส่งมาถึงบ้านแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ บอกเลิกสัญญาและขอเงินทั้งหมดคืนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยได้รับกรมธรรม์จากบริษัท  โดยแจ้งทางโทรศัพท์ทันทีเมื่อทราบ และทำหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงบริษัทประกันภัย ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเบี้ยประกันภัย คืนเต็มจํานวน  โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น   และบริษัทประกันภัยต้องดําเนินการคืนเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่บริษัทได้รับแจ้งการขอใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย แจ้งบริษัทบัตรเครดิตให้ยุติการชำระค่าเบี้ยประกัน หรือหากบริษัทประกันเรียกเก็บไปแล้วให้บริษัทบัตรเครดิตเรียกเงินดังกล่าวคืนเข้าระบบ โดยแจ้งทั้งทางโทรศัพท์และหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงบริษัทบัตรเครดิต หากดำเนินการตามข้อ 1. แล้ว บริษัทประกันภัยไม่ดำเนินการใดๆ ให้ผู้บริโภคร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งเป็นนายทะเบียน บทกำหนดโทษ คือการเพิกถอนใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต 2535 มาตรา 81   จะเห็นได้ว่าการบอกเลิกสัญญานั้นยุ่งยากมากกว่า และเสียเวลา กว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคควรปฏิบัติหากไม่ประสงค์จะทำประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์คือ “การปฏิเสธ” การรับฟังข้อเสนอหรือการทำประกันตั้งแต่เริ่มต้น เพราะการเลือกทำประกัน ซึ่งเป็นการทำสัญญามีข้อผูกพันเป็นระยะเวลานานๆ นั้น ผู้บริโภคควรที่จะอ่านรายละเอียดในกรมธรรม์ ให้เข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจ เพราะข้อเสียของการทำประกันผ่านทางโทรศัพท์คือ ผู้บริโภคไม่สามารถเห็นรายละเอียดที่ปรากฎอยู่ในเอกสารกรมธรรม์ สิ่งที่คุยกันผ่านทางโทรศัพท์ อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย   // Computer Support Hotline We have noticed your Internet browser loaded www.chaladsue.com 29.80 seconds longer than the average. Have you been experiencing slow internet and broken websites? You may have unwanted adware. Call our toll-free number to get friendly support and make your computer fast again. Get Trusted Technical Support Experts For:   Malacious Program Removal Virus Removal Adware Removal   Call 1-855-970-210about this ad

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point