ฉบับที่ 226 ปัญหาของการทำประมงในอียู และบทบาทของผู้บริโภค

สำหรับประชาชนที่อยู่ในประเทศไทย มักได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการทำประมงในบ้านเรา ที่เคยถูกอียูแบนสินค้าประมงที่เรียกว่า IUU (Illegal, Unreported und Unregulated ) ซึ่งเป็นมาตรการและนโยบายของทางอียู ในการที่จะรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล ให้มีความยั่งยืนไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีมีชีวิตในทะเล ซึ่งนโยบายของอียูที่เคยให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย ในอดีตเมื่อไม่นานมานี้จนกระทั่งรัฐบาลไทย ได้แสดงความเจตจำนงและตั้งใจในการแก้ปัญหาดังกล่าวจนกระทั่งสามารถแก้ปัญหาได้ลุล่วงได้ในที่สุด         ถึงแม้ว่าอียูจะมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดการขูดรีดทรัพยากรจากท้องทะเลมากเกินไปก็ตาม แต่สถานการณ์เรื่องนี้ในกลุ่มประเทศอียูก็ไม่ได้ดีขึ้น องค์กรผู้บริโภค ต่างก็ยังคงมีข้อกังวลในเรื่องนี้ ในกรณีของประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแฮริง ที่เป็นที่นิยมของบริโภคชาวเยอรมัน สถิติการบริโภคปลาและอาหารทะเลของคนเยอรมัน คือ 13.7 กิโลกรัมต่อประชากร 1 คน และมีแนวโน้มว่าจะมีสัดส่วนการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทุกปี ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมานี้ ปลาทุกชนิดได้ถูกจับขึ้นมาในอัตราความเร็วที่สูงกว่าจนการเกิดและการเติบโตของปลาไม่ทันกับการบริโภค         เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ทางคณะกรรมาธิการยุโรป อียู จึงได้กำหนดมาตรการ และจำกัดปริมาณการจับปลาในทะเลแอตแลนติก เหนือ และแอตแลนติกตะวันออก (North- East Atlantic Sea)  ทะเลเหนือ (North Sea) และทะเลตะวันออก (East Sea) ปริมาณที่กำหนดในการจับมาจากคำแนะนำขององค์กรทางวิชาการระดับนานาชาติอย่าง International Council for the Exploration of the Sea: ICES) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้ปริมาณสัตว์น้ำ ฟื้นตัวได้ทันก่อนปี 2020 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คาดว่าไม่สามารถบรรลุได้ทันตามคำคาดการณ์ของที่ปรึกษานโยบายการประมงของสหภาพยุโรป องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)1         (1https://www.test.de/Ratgeber-Fischkauf-Arten-schuetzen-Qualitaet-erkennen-1746195-0/) มีปลาหลายชนิดที่องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่าง กรีนพีซและWWF แนะนำให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ และบางชนิดควรหลีกเลี่ยง เพราะจะไปสนับสนุนการจับปลาแบบทำลายล้าง ซึ่งได้ทำเป็นคู่มือ2 และ application ให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่อง การบริโภคที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2https://issuu.com/greenpeacede/docs/greenpeace_fischratgeber_2016)         ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างผลกระทบกับปริมาณปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติในทะเล ก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และเกิดสภาพความเป็นกรดมากขึ้นส่งผลให้ปะการังตาย ซึ่งปะการังเป็นแหล่งอาศัยของปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเลที่สำคัญ การตายของปะการังเป็นสัญญาณเตือนภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์ในทะเล และแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อปริมาณอาหารของมนุษย์ที่มีแหล่งกำเนิดจากท้องทะเลที่ลดลง         การทำประมงแบบ Aqua Culture (การเลี้ยงปลาในทะเล) จะมีบทบาทที่สำคัญในการทำประมงยุคใหม่ จากรายงานล่าสุดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ระบุว่า ปลาที่ขายอยู่ในท้องตลาด ปัจจุบันนี้ครึ่งหนึ่งเป็นปลาที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง แบบ Aqua Culture และมีอัตราการขยายตัวของการเลี้ยงปลาแบบนี้ ปีละ 6 % การเลี้ยงปลาในทะเลแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่าชายเลนหรือการทำลายสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่จำเป็นในการดำรงชีพของสัตว์น้ำบางชนิด ทำให้เกิดความเสียหายในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ และ มีปัญหาในด้านสารเคมีตกค้างหรือการตกค้างของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม         จากกรณีปัญหาเรื่องการประมงนี้ในฐานะผู้บริโภค คงต้องกลับมามีสติและบริโภคทรัพยากรอย่างมีเหตุมีผลและต้องช่วยกันรณรงค์บริโภคทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่ออนุรักษ์โลกที่เราอาศัยอยู่นี้  เพื่อส่งมอบให้กับลูกหลานของเราต่อไป (แหล่งข้อมูล วารสาร Test 12/2019)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 ขอประกันสำหรับชาวประมงด้วยได้ไหม

เราๆ ท่านๆ คงจำกันได้กับเหตุการณ์วิปโยค น้ำท่วมหนักที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ(ขณะที่นั่งเขียนเรื่องนี้น้ำก็ยังท่วมภาคใต้อยู่) ทำให้มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียชีวิตจำนวนมาก   ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกสลดใจและเห็นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต่างอะไรกับท่านผู้อ่านและคนไทยทุกคน  และเราท่านก็คงเห็นเหมือนกันว่าหลังวิกฤติที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คือมาตรการฟื้นฟูเยียวยา  ทั้งจากรัฐและเอกชน แต่ที่เป็นหลักจริงๆ หนี้ไม่พ้นรัฐ   ซึ่งมาตรการที่เห็นน้ำเห็นเนื้อที่สุดก็เห็นจะเป็น โครงการประกันรายได้เกษตรกร นั่นเองถึงแม้จะไม่ได้เท่าที่เสียหายแต่เกษตรกร ก็ยังพอเห็นทางรอดอยู่บ้าง ปัญหาคือเกษตรกรไม่ได้มีแค่ชาวไร่ชาวนาที่ปลูกต้นไม้เลี้ยงสัตว์เท่านั้น  แต่ยังมีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเกษตรกรอีกกลุ่ม   แต่ไม่เคยมีชื่อในสารระบบเกษตรกรนั่นคือชาวประมง วันนี้ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นชาวประมงคนหนึ่ง จึงอยากสะท้อน สิ่งที่ไม่มีใครมองเห็นนั่นคือความเดือดร้อนของ ชาวประมงพื้นบ้านและชายฝั่งขนาดเล็กในอ่าวไทย หลังเหตุการณ์น้ำท่วม(ทุกปี)เปล่า..เขาไม่ได้ถูกน้ำท่วม แต่เขาได้รับผลกระทบจากน้ำจืดจำนวนมหาศาลที่ถูกผลักดันลงทะเล  จนทะเลชายฝั่งในอ่าวไทย กลายเป็นทะเลน้ำกร่อย    เมื่อน้ำทะเลกร่อย(จืด)  กุ้ง,หอย,ปู,ปลา ก็อยู่ไม่ได้   ที่ไหนหนีได้ก็หนี หนีไม่ทันก็ตาย   ทำให้ชายฝั่งทั้งอ่าวไทยกลายเป็นทะเลร้าง...ชาวประมงชายฝั่งโดยเฉพาะบริเวณ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ไม่สามารถทำมาหากินได้มากกว่า 3  เดือนที่สำคัญไม่มีอาชีพอื่นรองรับจ้า   หาปลาไม่ได้ก็ไม่มีกิน ต้องกู้หนี้ยืมสินเขาไปเพื่อเอาชีวิตให้รอด  โดยไม่มีหน่วยงานไหนพูดถึง แม้กระทั่งกรมประมงที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรง   ขณะที่รัฐประกาศว่าใครเดือดร้อนให้ไปแจ้งขอความช่วยเหลือ   ชาวประมงเหล่านี้จะเอาอะไรไปแจ้ง  ในเมื่อหลักเกณฑ์ของการช่วยเหลือ ต้องบอกว่าความเสียหายนั้นกี่ไร่ เลี้ยงอะไร  เรือเสียหายมั้ย  เรือมีทะเบียนหรือเปล่า. มีใบอนุญาตทำประมงมั้ย ยิ่งเรือเล็กๆ ไม่มีที่จะเรียกร้องเลยสักข้อ ข้อแม้เหล่านี้ทำให้ชาวประมงกว่า 10,000  ลำ ต้องทนทุกข์โดยไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือใดๆ ได้  ผู้เขียนอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนมุมมองที่ว่าชาวประมงไม่ต้องลงทุนอะไร  เพียงไปกอบโกยจากทะอย่างเดียวเสียที   เพราะอาชีพประมงเป็นอาชีพที่เสี่ยงมาก   ออกทะเลไปแต่ละวัน ไม่รู้ว่าจะได้ปลาหรือไม่ได้  ขาดทุนได้กำไรไม่เคยรู้  แม้แต่จะได้มีชีวิตกลับเข้าฝั่งหรือเปล่าก็ยังไม่สามารถตอบได้ หากรัฐบาลและกระทรวงเกษตร ยังเห็นว่าชาวประมงก็เป็นกลุ่มคนที่ควรได้รับการดูแลฟื้นฟูเยียวยาก็น่าจะดี เราคงไม่อยากเห็นคนกลุ่มนี้ ต้องเลิกทำอาชีพประมงกันใช่มั้ย ถ้าเขาเลิกไปจริง เราจะเอาปลาที่ไหนมากินกันล่ะท่าน

อ่านเพิ่มเติม >