ฉบับที่ 255 คนกทมร้อยละ 60.8 ตัดสินใจซื้อรถยนต์จากราคาของรถยนต์ ร้อยละ 75 ต้องการให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,119 กลุ่มตัวอย่าง                  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ได้กล่าวถึงเหตุผลของการสำรวจครั้งนี้ว่า เนื่องจากสถิติข้อมูลในปี 2564 ของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนนระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจำนวนมากถึง 8,218 ราย ทำให้เห็นว่าความปลอดภัยบนท้องถนนนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาการเสียชีวิตจำนวนมากก็คือ รถยนต์ โดยเฉพาะในส่วนของ มาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ ทั้งระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน (ACTIVE SAFETY) คือ ระบบที่ช่วยป้องกัน หรือหลีกเลี่ยง ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และส่วนระบบความปลอดภัยเชิงแก้ไข (PASSIVE SAFETY) คือ ระบบที่ช่วยลด หรือหลีกเลี่ยงอันตรายให้แก่ทั้งผู้ขับและผู้โดยสารเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งรถยนต์ทุกคันควรต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์โดยการกำกับจากหน่วยงานของทางภาครัฐ ซึ่งควรเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ต่างๆ ในรถยนต์ รวมไปถึงเรื่องของการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องของการรับประกันอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ด้วย         ในกรณีของการรับประกับอุปกรณ์ต่างๆ ของรถยนต์ โดยส่วนใหญ่ผู้จำหน่ายรถยนต์จะมีเงื่อนไขการรับประกันเอาไว้ให้ ซึ่งจะมีกำหนดเอาไว้ทั้งระยะทางและระยะเวลา อย่างเช่น รับประกัน 3 ปี 100,000 กิโลเมตร โดยเงื่อนไขนี้หมายความว่า รถยนต์ใหม่จะมีการรับประกันคุณภาพเอาไว้ในระยะทาง 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร โดยนับวันหมดประกันเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิน ถ้าเราใช้รถ 100,001 กิโลเมตรภายใน 1 ปี ก็ถือว่าสิ้นสุดระยะรับประกัน หรือใช้รถเพียง 300 กิโลเมตร แต่เกิน 3 ปี แล้ว การรับประกันก็สิ้นสุดลงเช่นกัน โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่รับรถยนต์และการรับประคุณภาพรถใหม่ โดยมีเงื่อนไขคือ การเสื่อมคุณภาพหรือทำงานบกพร่องต้องเกิดจากการใช้ทั่วไปของลูกค้าเท่านั้น การดัดแปลงปรับแต่งชิ้นส่วน หรือ กระทำการซ่อมแซมใดๆ โดยทีมช่างที่ไม่ใช่ศูนย์บริการรถยนต์ ลูกค้าจะต้องใช้ศูนย์บริการเป็นประจำเท่านั้น ซึ่งกรณีที่กล่าวมานี้ทำให้เกิดข้อสงสัยเช่นกันว่า ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อรถยนต์ได้รับการชี้แจงเงื่อนไขจากผู้ขายหรือไม่        การสำรวจในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับคำถามในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอุปกรณ์ในรถยนต์ และสอบถามถึงเรื่องของเงื่อนไขการรับประกันด้วยว่าผู้บริโภคในกลุ่มตัวอย่าง กทม. นั้นมีความคิดเห็นเช่นไร ซึ่งพอที่จะสรุปภาพรวมที่น่าสนใจดังต่อไปนี้         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีรถยนต์ประเภท รถยนต์นั่งขนาดกลาง (Mid-Size Car) ร้อยละ 33.1 มากที่สุด อันดับที่สอง คือ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) ร้อยละ 18.1 อันดับที่สาม คือ รถกระบะ (Pick-Up) ร้อยละ 13.6 อันดับที่สี่ คือ รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ (Full-Size Car) ร้อยละ 10.5 และอันดับที่ห้า คือ รถอีโคคาร์ (ECO-Car) ร้อยละ 5.4        ในส่วนของการตัดสินใจซื้อรถยนต์จะพิจารณาจาก ราคาของรถยนต์ ร้อยละ 60.8 มากที่สุด อันดับที่สอง คือ รูปแบบการใช้งานของผู้ซื้อ ร้อยละ 60.1 อันดับที่สาม คือ ยี่ห้อรถยนต์ ร้อยละ 47.3 อันดับที่สี่ คือ รุ่นรถยนต์ ร้อยละ 47.1 และอันดับที่ห้า คือ อุปกรณ์ความปลอดภัยของรถยนต์ ร้อยละ 33.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่า รถยนต์ใหม่ที่ซื้อจะมีเงื่อนไขการรับประกัน โดยจะมีกำหนดเอาไว้ทั้งระยะทางและระยะเวลา  โดยนับวันหมดประกันเมื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเกิน ร้อยละ 83.2 ทราบว่า รถยนต์ใหม่จะมีเงื่อนไขการรับประกัน จะเป็นการรับประกันเฉพาะ “ชิ้นส่วนหลัก” ที่ไม่ใช่วัสดุสิ้นเปลือง ร้อยละ 76.3         และทราบว่า การรับประคุณภาพรถใหม่ มีเงื่อนไขคือ การเสื่อมคุณภาพหรือทำงานบกพร่องต้องเกิดจากการใช้ทั่วไปของลูกค้าเท่านั้น การดัดแปลงปรับแต่งชิ้นส่วน หรือ กระทำการซ่อมแซมใดๆ โดยทีมช่างที่ไม่ใช่ศูนย์บริการรถยนต์ ลูกค้าจะต้องใช้ศูนย์บริการเป็นประจำเท่านั้น ร้อยละ 73.5 โดยเคยอ่านรายละเอียดและศึกษาข้อมูลความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ร้อยละ 72.0             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถยนต์ที่มีความจำเป็นมากที่สุดคือ             เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 60.9            อันดับที่สอง คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 52.3            อันดับที่สาม คือ ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 50.0            อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 37.3             และอันดับที่ห้า ระบบควบคุมความเร็ว ร้อยละ 37.1           โดยคิดว่ารถยนต์ควรมีอุปกรณ์ความปลอดภัย เพื่อช่วยให้ปลอดภัยในการขับขี่ มากที่สุดคือ เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 57.3 อันดับที่สอง คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 56.4 อันดับที่สาม คือ ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 52.7 อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 47.7 และอันดับที่ห้า ระบบตัดวาวล์น้ำมันเชื้อเพลิงอัตโนมัติ ในกรณีรถพลิกคว่ำ ร้อยละ 44.0         เมื่อสอบถามความคิดเห็น ในส่วนของมาตรฐานความปลอดภัยรถยนต์ว่าขึ้นอยู่กับราคารถยนต์ (รถยิ่งแพงมาตรฐานยิ่งสูง) ว่าเห็นด้วยหรือไม่ พบว่า เห็นด้วย ร้อยละ 61.2 และ ต้องการให้ภาครัฐกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่จำเป็นของรถยนต์ทุกคัน ร้อยละ 75.0 โดยคิดว่าอุปกรณ์มาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีในรถยนต์ทุกคันไม่ว่าราคา รุ่น หรือยี่ห้อใด คือ เข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 59.7 อันดับที่สอง คือ ระบบตัดวาวล์น้ำมันเชื้อเพลิงอัตโนมัติ ในกรณีรถพลิกคว่ำ ร้อยละ 53.4 อันดับที่สาม คือ ระบบเบรกฉุกเฉิน ร้อยละ 52.9 อันดับที่สี่ คือ ระบบเตือนการชนด้านหน้า พร้อมระบบช่วยเบรกอัตโนมัติ ร้อยละ 52.7 และอันดับที่ห้า ถุงลมนิรภัย ร้อยละ 51.0 เก็บข้อมูลในวันที่ 17 - 23 กรกฏาคม 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม >

8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภค

รถสองชั้นสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่เป็นเส้นทางขึ้นเขาลงเขามีทางลาดชั้น และรถสองชั้นมักเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มี คู่กรณี ซึ่งก็คือ “ไม่ชนกับใคร” แต่จะเป็นการเสียหลักแล้วชนกับวัตถุข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นการเสียหลักชนคันทาง ชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้า ชนแบริเออร์ หรือการ์ดเรล และจบลงด้วยการพลิกคว่ำในที่สุด8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภคจากเหตุการณ์ รถทัวร์สองชั้นไม่ประจำทาง ที่เสียหลักข้ามเกาะกลางถนนชนเพิงพักของชาวบ้านข้างทาง บริเวณทางหลวงหมายเลข 304 อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 19 ราย และบาดเจ็บ 31 ราย นั้น  ถือเป็นเรื่องสะเทือนขวัญที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะจำนวนมาก และหลังเกิดเหตุหลายหน่วยงานจากหลายภาคส่วน ต่างพูดกันถึงอนาคตรถสองชั้นว่าจะไปยังไงต่อ อย่างกระทรวงคมนาคมที่สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก เร่งศึกษาแนวทางกำหนดการให้บริการของรถโดยสารหมวด 30 (สามศูนย์) หรือ รถโดยสารไม่ประจำทาง โดยเฉพาะรถสองชั้นที่ปัจจุบันมีอยู่มากกว่า 5,000 คัน โดยให้มีการกำหนดเส้นทาง รวมทั้งพื้นที่ให้บริการใหม่ทั้งหมด เช่น การจำกัดว่าเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยจะไม่อนุญาตให้ทำการวิ่งโดยเด็ดขาด หรือ จำกัดให้วิ่งเฉพาะในจังหวัดนั้นๆ โดยจะต้องให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2561 รวมถึงยังมีประเด็นผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อสาธารณะทั่วไปอีกว่า ในปี 2563 รถสองชั้นจะหมดไปจากท้องถนนในประเทศไทย แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีข่าวสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางแก้ไขปัญหารถสองชั้นของกระทรวงคมนาคมที่สั่งกรมการขนส่งทางบกให้คิดแผนจัดการออกมา รวมถึงไม่มีการแก้ไขข่าวสารที่สื่อมวลชนระดมว่าปี 2563 รถสองชั้นจะหมดไปจากประเทศไทยด้วยจากสถานการณ์ที่ค่อนข้างเงียบเหงานี้ ผู้บริโภคจะต้องรู้อะไรบ้าง เพราะผู้บริโภคยังต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงกันเอง และคาราคาซังกันต่อไปว่า รถสองชั้นปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้จัดงานเวทีเสวนาปัญหารถโดยสารสองชั้นกับนโยบายรัฐที่ต้องทบทวนขึ้น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายนักวิชาการและเครือข่ายผู้บริโภคเข้าร่วม เพื่อระดมความคิดและแลกเปลี่ยน ข้อเสนอแนะ ในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการรถสองชั้น รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยนำเสนอข้อมูลว่า รถสองชั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถชั้นเดียว ถึง 8 เท่า และรถสองชั้นมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่ารถชั้นเดียวถึง 10 เท่า โดยเป็นการเทียบจำนวนอุบัติเหตุกับจำนวนรถจดทะเบียน หรือที่เรียกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุและอัตราการเสียชีวิตต่อจำนวนรถจดทะเบียน 10,000 คันนอกจากนี้จากข้อมูลการศึกษาเชิงลึกจากสถิติอุบัติเหตุรถสองชั้นพบว่า รถสองชั้นสามารถเกิดอุบัติเหตุได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่เป็นเส้นทางขึ้นเขาลงเขามีทางลาดชั้น และรถสองชั้นมักเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มี คู่กรณี ซึ่งก็คือ “ไม่ชนกับใคร” แต่จะเป็นการเสียหลักแล้วชนกับวัตถุข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นการเสียหลักชนคันทาง ชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้า ชนแบริเออร์ หรือการ์ดเรล และจบลงด้วยการพลิกคว่ำในที่สุด และยังพบอีกว่าในรถสองชั้นเมื่อเกิดการพลิกคว่ำจะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูงกว่ารถชั้นเดียว ถึง 3 เท่า ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอ 8 มาตรการความปลอดภัยรถสองชั้นและการคุ้มครองผู้บริโภค คือ 1.เสนอให้รัฐซื้อรถคืนหรือสนับสนุนให้เปลี่ยนรถจากรถสองชั้นเป็นรถชั้นเดียว  2.กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น 3.รถที่ผ่านการทดสอบพื้นเอียง 30 องศาต้องมีสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจนบริเวณด้านหน้าตัวรถและบริเวณข้างรถ 4. เปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน สถิติอุบัติเหตุ การกระทำความผิดของผู้ประกอบการ ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลตัดสินใจเลือกใช้บริการ  5. การกำหนดความเร็วของ GPS ให้สอดคล้องกับสภาพถนนและเส้นทางเสี่ยง 6. การกำหนดหลักเกณฑ์ใบอนุญาตขับขี่เฉพาะรถขนาดใหญ่ที่มีความสูงเกิน 3.80 เมตร เนื่องจากเป็นรถขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมบังคับยากกว่ารถขนาดเล็ก  7. ปรับเพิ่มวงประกันภาคบังคับในกรณีเสียชีวิตจาก 300,000 เป็น 1 ล้านบาท และกรณีบาดเจ็บจาก 80,000 เป็น 150,000 บาท  8.ปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองอุบัติเหตุประกันภัยภาคสมัครในจาก 10 ล้านบาทต่อครั้ง เป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง แต่อย่างไรก็ดี การจะผลักดันและขับเคลื่อนให้ข้อเสนอต่อมาตรการความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคทั้ง 8 ข้อในประเด็นรถสองชั้นให้มีผลในทางปฏิบัตินั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลและกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย อีกทั้งผู้แทนกรมการขนส่งทางบกและกรมทางหลวงที่มาร่วมเวทีก็ยังไม่สามารถตอบคำถามให้ชัดเจนได้ว่า จากข้อเสนอ 8 ข้อ มาตรการอะไรบ้างที่กรมการขนส่งทางบกจะทำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการแก้ไขปัญหารถสองชั้น แต่กลับกันสิ่งที่คิดว่าได้รับคำตอบชัดเจนและคลายข้อสงสัยได้ คือ ในปี 2563 จะยังมีรถสองชั้นวิ่งอยู่ ไม่ได้หมดไปตามที่ข่าวลงไว้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 4 สงสัย 2 ส่งต่อ : วิธีจัดการผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัยให้อยู่หมัด

การจัดการผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยไม่ให้ไปทำร้ายผู้บริโภค จำเป็นต้องมีเครื่องมือง่ายๆ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ป้องกันตัวเอง เครื่องมือง่ายๆ เริ่มจากการ “สงสัย” และ ”ส่งต่อ” ข้อมูลเพื่อร่วมมือกันในการจัดการปัญหา1. สงสัย : ไม่มีหลักฐานการอนุญาต?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า ผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการนั้นๆ มีหลักฐานว่าได้รับอนุญาตหรือยัง เช่น ยาต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาเช่น Reg.No…. , อาหารต้องมีเลขสารบบอาหาร... (หรือที่เรารู้จักกันดีคือเลข อย...) , เครื่องสำอาง ต้องมีเลขจดแจ้ง… , สถานพยาบาลต้องมีหลักฐานใบอนุญาตประกอบกิจการและดำเนินการ , หน่วยตรวจสุขภาพต้องมีหลักฐานการได้รับอนุญาต “หากไม่มีแสดงว่ายังไม่ได้รับอนุญาต”2. สงสัย : ขาดข้อมูลแหล่งที่มา?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแหล่งผลิตจริงหรือไม่ เพราะตามกฎหมายฉลากและเอกสารโฆษณาต้องระบุชื่อที่อยู่ผู้ผลิตชัดเจน “หากไม่มีชื่อที่อยู่ผู้ผลิต จะรู้ได้อย่างไรว่าใครผลิต? เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจะตามผู้ผลิตได้ที่ไหน?”3. สงสัย : โฆษณาเวอร์เกินไป?เมื่อพบเห็นผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการนั้นๆ ให้เริ่มสงสัยทันทีว่า สรรพคุณที่โฆษณาเป็นไปได้จริงหรือไม่ หากอวดอ้างว่าได้ผลดีแบบมหัศจรรย์ จะพิสูจน์ได้อย่างไร? อย่าเพิ่งเชื่อบุคคลที่เขาอ้างอิงในโฆษณา ถ้าไม่รู้จักเขาดีพอ เพราะอาจเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งสิ้น หากได้ผลจริง ผลิตภัณฑ์หรือบริการเหล่านี้ จะต้องได้การรับรองจากหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่ได้มาตรฐาน หรือมีการนำไปใช้ในสถานพยาบาลอย่างชัดเจน “จำให้ขึ้นใจว่าผลิตภัณฑ์เทวดาไม่มีในโลก”4.  สงสัย : ใช้แล้วผิดปกติ?ให้เริ่มสงสัยทันที หากพบว่าหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ แล้ว เห็นผลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปรกติ เช่น หายปวดเมื่อยทันที ผอมลงอย่างรวดเร็ว อาการต่างๆ ของโรคเรื้อรังหายหมด ผิวขาวขึ้นทันใด ฯลฯ “หากได้ผลรวดเร็วขนาดนี้ อาจมีอะไรที่ไม่ปลอดภัยผสมลงไปในผลิตภัณฑ์”2 ส่งต่อ1. ส่งต่อข้อมูลเตือนภัยเมื่อเราเจอผลิตภัณฑ์หรือบริการสุขภาพที่ต้องสงสัยหรือมีพิรุธ อันดับแรกต้องรีบแจ้งเตือนข้อมูลเบื้องต้นให้คนรอบข้างทราบโดยเร็ว แม้ว่าเรายังไม่อาจสรุปได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นๆ ไม่ปลอดภัยจริงหรือไม่ แต่การแจ้งข้อมูลให้ผู้บริโภคหรือคนในชุมชนทราบเบื้องต้น เป็นการช่วยเตือนไม่ให้ผู้บริโภคผลีผลามไปใช้ และยังเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนช่วยกันเฝ้าระวัง ในระหว่างรอผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ “ยิ่งแจ้งได้เร็ว ก็เท่ากับช่วยให้คนข้าง เราให้เสี่ยงลดลง”2. ส่งต่อเจ้าหน้าที่รีบส่งต่อข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือบริการสุขภาพที่ต้องสงสัยหรือมีพิรุธให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบโดยเร็ว ข้อมูลที่แจ้งเจ้าหน้าที่ควรรวบรวมรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เช่น ผลิตภัณฑ์อะไร สรรพคุณที่อ้างอิงในการโฆษณา วิธีการขาย แหล่งที่มา ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้ ฯลฯ “ยิ่งแจ้งข้อมูลอย่างละเอียด จะทำให้เจ้าหน้าที่ตามรอยต้นตอแหล่งผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 สัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง

เข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ หลายเทศกาลแห่งความสุขรอเราอยู่ ทั้งวาเลนไทน์ ตรุษจีน ต่อด้วยเด็กๆ ได้หยุดปิดเทอม แต่คนทำงานบางหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำลังดีใจที่ได้จะเดินทางไปศึกษาดูงานตามต่างจังหวัดไกลๆ เหตุผลหนึ่งที่อ้างกันบ่อย คือ เพื่อพัฒนาศักยภาพและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์คนทำงาน  ทั้งนี้ในแต่ละปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศต้องมีกิจกรรมดูงานทางไกลแบบนี้ทั้งนั้น นี่ยังไม่นับรวมถึงโรงเรียนที่มีอีกมากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ที่ต้องจัดแผนพาเด็กนักเรียนไปเข้าค่ายหรือทัศนศึกษาตามที่ต่างๆ เช่นเดียวกัน ซึ่งแน่นอนทั้งหมดที่ว่ามานี้ต้องเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางในการเดินทาง แล้วรถโดยสารไม่ประจำทางที่นิยมใช้กันมากที่สุดนั่น คือ รถโดยสารสองชั้น ที่ปัจจุบันมีให้บริการมากกว่า 5,000  คันทั่วประเทศ และเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้รถโดยสารสองชั้น ก็เพราะสะดวก สบาย เบาะเอนนอนได้ มีอุปกรณ์บันเทิงครบครัน เครื่องเสียง คาราโอเกะ ขณะที่เสียงสะท้อนจากหน่วยงานที่เลือกรถเดินทางบอกว่า บางทีก็ไม่อยากเลือกรถโดยสารสองชั้น แต่มีความจำเป็นเพราะในพื้นที่หารถโดยสารชั้นเดียวไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องนโยบายหน่วยงานที่ต้องการบริการที่มีต้นทุนราคาถูก มุ่งเน้นการประหยัดด้านงบประมาณและความสะดวกสบายของการเดินทาง จนละเลยถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการเดินทางไป ทำให้รถโดยสารสองชั้นเป็นเป้าหมายที่ต้องการ เพราะตอบโจทย์เรื่องราคาและการบรรทุกคนได้ครั้งละมากๆ ไปคันเดียวได้เกือบ 50 คน มิเช่นนั้นหากเลือกรถโดยสารชั้นเดียวจะต้องว่าจ้างหลายคันส่วนการว่าจ้างรถโดยสารไม่ประจำทางนั้น หลายพื้นที่ใช้ความใกล้ชิดรู้จักกับผู้ประกอบการท้องถิ่นในการว่าจ้างหรือวิธีการเสนอราคาค่าบริการรถโดยสารไม่ประจำทาง รวมถึงวิธีการว่าจ้างที่เป็นไปตามรูปแบบการจัดจ้างตามแบบหนังสือราชการทั่วไป ที่ยังขาดสาระสำคัญและข้อปฏิบัติในเรื่องความรับผิดของผู้ประกอบการ และความคุ้มครองสิทธิผู้ของเช่าและผู้โดยสารจากการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายเกิดขึ้น ผู้รับจ้างหรือผู้ประกอบการอาจใช้เป็นช่องทางประวิงการชดใช้ค่าเสียหายหรือปฏิเสธความรับผิดชอบได้  ดังความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับองค์การบริหารส่วนตำบลอย่างน้อยสองแห่ง คือ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตากูก จังหวัดสุรินทร์ เมื่อ 3 มีนาคม 2558 และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ต๋ำ จังหวัดเชียงราย เมื่อ 8 มีนาคม 2559  ที่เราต้องสูญเสียบุคลากรระดับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและผู้บริหารระดับสูงไปทั้งสองครั้งเลยทีเดียว หากย้อนดูสถิติอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารไม่ประทาง ทั้งประเภทชั้นเดียวและสองชั้นในปี 2560 แล้วพบว่า ในที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารไม่ประจำทางมากถึง 65 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 20 คน  บาดเจ็บถึง 536 คน มากกว่าครึ่งเป็นการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี  และในแต่ละปีจะมีอุบัติเหตุความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับการว่าจ้างรถโดยไม่ประจำทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่เสมอ จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้สัญญามาตรฐานในการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการยกร่างและพัฒนาข้อความสำคัญในสัญญาโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และเครือข่ายนักวิชาการร่วมกันจัดทำขึ้น โดยมุ่งเน้นที่การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ตั้งแต่การจัดทำสัญญาเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางที่มีมาตรฐานการป้องกันและความคุ้มครองความปลอดภัย พร้อมหลักการปฏิบัติของผู้โดยสารและความรับผิดของผู้รับจ้างหากไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขที่ตกลงกันได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ เครือข่ายนักวิชาการ โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนจะขับเคลื่อนงานสัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางนี้ ส่งผ่านถึงกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้เกิดนโยบายสั่งการ แต่ในทางปฎิบัติก็ยังไม่เห็นผลของการใช้สัญญามาตรฐานที่เป็นแบบของสัญญาในการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางนัก เหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาอ้าง เมื่อได้มีโอกาสไปคุยกับเทศบาลตำบลบางแห่ง คือ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ใช้สัญญาอื่นนอกเหนือไปจากระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่ราชการกำหนดไว้ แต่เราไม่เชื่อในเหตุผลนั้น และได้ทดลองนำร่องการขับเคลื่อนการใช้สัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยไม่ประจำทางกับเทศบาลตำบลของอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ซึ่งได้ผลตอบรับที่น่าพอใจ จนนำไปสู่การขยับเป็นนโยบายของจังหวัดที่เห็นชอบร่วมกันในการนำสัญญามาตรฐานการเช่ารถโดยสารไม่ประจำทางไปใช้ได้ และในฉบับหน้าเราจะมาวิเคราะห์ถึงความสำเร็จและวิธีการขับเคลื่อน ที่ทำยังไงถึงเป็นนโยบายของจังหวัดพะเยาได้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพื้นที่อื่นกันครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ซื้อง่าย แต่ห้ามจ่ายเร็ว

ข้อได้เปรียบของการซื้อสินค้าออนไลน์  1. อยากได้สินค้าสักชิ้น  ไม่รู้ว่าจะหาซื้อได้จากที่ไหน ลองค้นกูเกิลดู รู้เลยว่าที่ไหนมีขายบ้าง ทั้งที่ขายในประเทศและต่างประเทศ 2. มีสินค้าที่ต้องการอยู่ในใจ ลองค้นหาทางออนไลน์ สามารถเปรียบเทียบราคาได้ในเวลาไม่นาน ได้สินค้าที่ราคาคุ้มที่สุด 3. เมื่อเจอสินค้าที่ถูกใจในราคาที่พึงพอใจ ในเวลาดึกดื่นที่ร้านค้าปิดหมดแล้ว จะเดินทางไปซื้อก็ไกล รถติด พรุ่งนี้ก็ทำงานทั้งวัน กังวลว่าไปถึงร้านแล้วสินค้าจะหมด 4. ในการซื้อของทางออนไลน์ ผู้ซื้อมีเวลาพิจารณาไตร่ตรอง ไม่มีความกดดันต่าง ๆ สามารถหาข้อมูลและพิจารณาจากรีวิวหรือความคิดเห็นของผู้ซื้อคนอื่นสรุปคือ ซื้อง่าย จะเห็นว่าการซื้อสินค้าทางออนไลน์นั้นแสนจะสะดวกสบาย สามารถตอบสนองความต้องการค้นหาสินค้าได้ง่าย ประหยัดเวลาที่ต้องเดินทางหาสินค้า ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ได้สินค้าในราคาที่พึงพอใจ ซื้อสินค้าได้ตลอดเวลา ประหยัดเวลา มีความแน่นอนว่าสินค้าไม่หมดสต๊อก ไม่มีความกดดันในการตัดสินใจซื้อ เพราะดิจิทัลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทำให้การซื้อขายสินค้าไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ อีกต่อไป แค่เรามีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถซื้อของได้จากทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้ตลาดการซื้อขายของออนไลน์เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และนอกจากความสะดวกสบายแล้ว ปัจจัยด้านราคาก็เป็นตัวดึงดูดที่สำคัญ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่เห็นว่าการซื้อของออนไลน์มักทำให้ได้สินค้าที่มีราคาคุ้มค่ามากขึ้น ดังนั้นการตกลงซื้อจึงมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในกระบวนการชำระค่าสินค้าหรือบริการออนไลน์ก็ยังง่ายดายไม่ซับซ้อน เช่น โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารออนไลน์ หรือเพียงกรอกรหัสของบัตรเครดิต/บัตรเดบิตก็ทำให้เราสามารถทำธุรกรรมซื้อขายผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้แล้ว รวมทั้งเรายังสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วยเหรียญมีสองด้าน ถึงจะง่ายอย่างไร ก็ยังต้องใช้หลักพึงระวังในการซื้อสินค้าทางออนไลน์ เพราะทำให้เสียเงิน เสียประโยชน์กันมานักต่อนักแล้วเช่นกัน  แล้วมีอะไรบ้างที่ต้องระวัง มาดูกัน1. การหลอกลวง โดยผู้ขายตั้งใจมาหลอก ไม่มีสินค้า แต่ล่อลวงให้ผู้ซื้อสินค้าจ่ายเงินค่าสินค้า แล้วไม่จัดส่งสินค้าตามสัญญา2. ได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามข้อสัญญา เช่น สินค้าที่ได้ไม่ตรงตามคำโฆษณาหรือตามที่ตกลงกัน สินค้าปลอม สินค้าชำรุด เกิดอันตรายจากสินค้า การจัดส่งล่าช้า ได้รับสินค้าไม่ทันเวลาที่จะใช้งาน3. การคืนสินค้ามีความยุ่งยาก เช่น ขั้นตอนยุ่งยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ได้รับเงินคืนล่าช้า ได้รับเงินคืนไม่เต็มจำนวนหรือไม่ได้รับเงินคืนเพราะทำไม่ถูกขั้นตอนที่ผู้ขายกำหนดไว้ล่วงหน้า หรือไม่ได้รับเงินคืนเพราะผู้ขายปฏิเสธด้วยเหตุผล ข้ออ้างต่าง ๆ4. ความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว 5. อาจถูกผู้ขายฟ้องร้องเพราะไม่พึงพอใจสินค้าและโพสต์ข้อความตำหนิผู้ขายการซื้อของออนไลน์ หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ในปัจจุบัน มีอยู่ 2 แบบ คือ1. ผู้ประกอบการ กับ ผู้บริโภค (Business-to-Consumer : B2C) เป็นรูปแบบที่มีการทำธุรกรรมมากที่สุดและเป็นที่รู้จักมากที่สุด โดยที่ผู้ประกอบการจะจัดช่องทางการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทเอง เป็นช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติม  เช่น สินค้าของร้านภัทรพัฒน์ที่วางจำหน่ายในร้านค้า 5 สาขาและตัวแทนจำหน่าย ก็มีช่องทางเว็บไซต์  http://www.patpat9.com เพื่อให้ผู้ซื้อสั่งซื้อทางออนไลน์  เป็นการขายโดยตรงระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภค2. ผู้บริโภค กับ ผู้บริโภค (Consumer-to-Consumer : C2C) เป็นช่องทางขายผ่านทาง marketplace  เป็นรูปแบบที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับผู้บริโภคได้โดยอิสระ ซึ่งผู้ให้บริการจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเก็บค่าใช้บริการบางส่วน ตัวอย่างเว็บไซต์ในต่างประเทศ เช่น eBay.com และในประเทศไทย เช่น kaidee.com / tarad.com นอกจากนี้ยังรวมถึงการขายสินค้าและบริการผ่านทางช่องทางเว็บบอร์ดอื่น ๆ เช่น pantip.com โดยผู้บริโภคและผู้บริโภคติดต่อกันเองเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า มักเป็นสินค้าราคาถูกหรือเป็นสินค้าที่หาไม่ได้แล้วในท้องตลาดทั่วไปถ้าให้เปรียบเหมือนการซื้อขายในรูปแบบทั่วไป B2C ก็คือการซื้อขายปลีกระหว่างลูกค้ากับร้านค้าของผู้ประกอบการที่น่าเชื่อถือ มักไม่มีปัญหาเรื่องการหลอกลวงเพราะผู้ประกอบการมีตัวตนจริง มีสินค้าจริง มีข้อกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดการสั่งซื้อสินค้าที่ชัดเจน แต่ผู้บริโภคที่จะทำการซื้อขายออนไลน์ในรูปแบบนี้จะต้องระมัดระวังในการอ่านรายละเอียดการสั่งซื้อสินค้าเพราะจะเป็นข้อมูลที่ทางผู้ขายกำหนดเอาไว้ตายตัว เจรจาหรือต่อรองเปลี่ยนแปลงไม่ได้ นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขในการเปลี่ยนคืนสินค้ากรณีไม่พึงพอใจสินค้า สินค้าไม่เป็นไปตามรูปภาพ-คำบรรยาย สินค้าชำรุดบกพร่อง ส่วน C2C ก็คือการซื้อขายของตามตลาดนัด หาบเร่แผงลอย หรือตลาดเปิดท้ายขายของ หรือการประกาศขายของตาม classified ในหนังสือพิมพ์ นิตยสารที่ผู้ซื้อผู้ขายได้ติดต่อกันโดยตรง ต่อรองราคากันได้ แต่การเปลี่ยนคืนสินค้า บริการหลังการขายนั้นมีน้อยมาก ทำใจไว้ก่อนได้เลย  คู่มือเพื่อการช้อปปิ้งออนไลน์อย่างปลอดภัยท่องเอาไว้ทุกครั้ง “ซื้อของออนไลน์ ซื้อง่าย อย่าจ่ายเร็ว”!!!1. “อย่าจ่ายเร็ว”!!! จากเหตุเพราะผู้ขายตั้งใจมาหลอก ล่อลวงให้ผู้ซื้อสินค้าจ่ายเงินค่าสินค้าแล้วไม่จัดส่งสินค้าตามสัญญาส่วนมากผู้ขายที่ตั้งใจมาหลอก มักจะประกาศขายสินค้าที่ราคาถูกเกินกว่าราคาตลาดมากเกินไป หรือมักเป็นสินค้าประเภทพรีออเดอร์เพราะผู้ขายไม่มีสินค้าอยู่กับตัวเอง จะประกาศขายก่อนและรอให้มีลูกค้ามาสั่งซื้อสินค้า มักเป็นสินค้าราคาแพง ผู้ขายส่วนใหญ่มักให้ผู้ซื้อโอนเงินส่วนหนึ่งเพื่อเป็นค่ามัดจำไว้ก่อน เพื่อป้องกันการสั่งจองแล้วยกเลิก และผู้ขายบางรายอาจทำหน้าที่เป็นนายหน้าที่คอยประสานงานระหว่างร้านค้ากับผู้ซื้อ ผู้ขายอาจจะไม่ตั้งใจมาหลอก แต่หากมีปัญหาแล้วผู้ขายไม่สามารถหาซื้อสินค้าให้ได้ เมื่อเงินอยู่กับตัวเขาแล้ว คงยากที่จะได้เงินคืนการซื้อสินค้าจากผู้ขายแบบ C2C โดยเฉพาะช่องทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม(ไอจี) หรือโพสต์ขายของตามเว็บบอร์ด e-Classified เช่น ห้องต่างๆ ในเว็บไซต์พันทิป ต้องระวังให้มากๆ เพราะเราไม่รู้จักตัวตนของเขา หากมีปัญหาเขาก็ปิดเพจ บล็อกเมสเซนเจอร์ ไอจี ไลน์ เราก็ไม่สามารถติดตามตัวเขาได้เลย แม้บางครั้งผู้ขายจะให้ดูรูปบัตรประชาชน ก็อาจจะเป็นบัตรของใครก็ได้ หากโอนเงินไปแล้วมีปัญหา แม้เราจะมีเลขบัญชีที่สามารถสอบถามธนาคารได้ว่าเจ้าของบัญชีคือใคร แต่จะเอาเงินออกจากบัญชีนั้นทำได้ยากเย็นแสนเข็ญ ธนาคารไม่ยินยอมทำให้ จะไปแจ้งความกับตำรวจก็ลำบาก ดังนั้นตั้งสติก่อนที่เราจะตกลงใจสั่งซื้อและโอนเงิน วิธีที่รอบคอบคือ เราต้องตรวจสอบตัวตนร้านค้าก่อน โดยพิจารณาจากความน่าเชื่อถือ ชื่อ ที่อยู่ หรือช่องทางการติดต่อ ต้องชัดเจน ตรวจสอบประวัติร้านค้า สามารถดูได้จากรีวิวการขายของในเพจหรือเฟซบุ๊ก พิจารณารายละเอียดการซื้อขาย ข้อความที่ผู้ขายคุยกับผู้ซื้อ ร้านค้ามีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา หรือนำชื่อร้านค้า ชื่อผู้ขาย ชื่อบัญชีการโอนเงินชำระสินค้า มาค้นหาใน google.com หรือ pantip.com เพื่อตรวจสอบประวัติและข้อมูลของร้านค้า และที่สำคัญควรสืบค้นข้อมูลการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขายตรงกับทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) พยายามซื้อจากร้านค้าเปิดเผยตัวตน จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุกิจการค้า ที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified (เครื่องหมาย DBD Registered  คือ เครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกให้แก่พาณิชยกิจประเภทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จดทะเบียนพาณิชย์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อยืนยันการมีตัวตนอยู่จริงของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และนิติบุคคล สำหรับเครื่องหมาย DBD Verified คือ เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติ ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และแสดงว่าเว็บไซต์นั้นมีคุณภาพผ่านเกณฑ์ประเมินตามมาตรฐานคุณภาพธุรกิจ e-Commerce ของกรมพัฒนาธุกิจการค้า)สรุป ตรวจสอบตัวตนของร้านค้า /  ผู้ขายจดทะเบียนกับสคบ. กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified / ราคาไม่ต่ำกว่าราคาทั่วไปอย่างผิดสังเกต2. “อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะอาจได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามข้อสัญญา สินค้าที่ได้ไม่ตรงตามคำโฆษณาหรือตามที่ตกลงกัน สินค้าปลอม สินค้าชำรุด เกิดอันตรายจากสินค้า การจัดส่งล่าช้า ได้รับสินค้าไม่ทันเวลาที่จะใช้งานก่อนตกลงใจสั่งซื้อ อ่านข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ให้เข้าใจทุกครั้ง ได้แก่ ข้อมูลรายละเอียดของสินค้า ข้อมูลการจัดส่งสินค้า ระยะเวลาในการจัดส่งสินค้า ผู้จัดส่งสินค้า ซึ่งหากผู้ขายให้ข้อมูลที่ไม่ครบ ควรติดต่อสอบถามเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น อีเมล ไลน์ และควรเก็บหลักฐานการสนทนาทุกครั้ง และสำหรับสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ จะต้องมีเครื่องหมาย อย. จำไว้ว่า ผู้ซื้อมีสิทธิในการยกเลิกการซื้อสินค้าที่เรียกว่า “สิทธิในการเลิกสัญญา” ทั้งในกรณีทั่วไปและในกรณีพิเศษ(withdrawal right หรือ right of withdrawal หรือสิทธิในการยกเลิกสัญญาได้ตามอำเภอใจ) ซึ่งการใช้สิทธินี้บางทีในต่างประเทศจะเรียกว่า “cooling-off period” เพราะการสั่งซื้อของออนไลน์เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการซื้อขายแบบดั้งเดิมที่มีหลักกฎหมายว่า “ผู้ซื้อต้องระวัง!!” โดยผู้ซื้อต้องระวังในการเลือกดูสินค้า พินิจพิเคราะห์ พิจารณาผู้ซื้อมีหน้าที่ที่ต้องระวังก่อนที่จะทำการตกลงซื้อสินค้า แต่การซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ซื้อไม่สามารถพินิจพิเคราะห์ ตรวจสอบสินค้าได้ในขณะซื้อ ผู้ซื้อจึงมีสิทธิดังกล่าว สำหรับระยะเวลาในการใช้สิทธิเลิกสัญญาอาจแตกต่างกันไป(ในสหภาพยุโรปกำหนดไว้ 14 วัน) ดังนั้นก่อนที่ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อ ต้องศึกษาข้อมูลระยะเวลาของการใช้สิทธิในการเลิกสัญญานี้ให้ละเอียด ดังนั้นก่อนซื้อสินค้า ตรวจสอบกันเสียก่อนว่าผู้ขายมีระบบการติดตามตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้าแบบไหน อย่างไรและผู้ส่งจะให้ข้อมูลรายละเอียดของเลขที่พัสดุแก่เราได้หรือไม่และจะได้เมื่อใด ผู้บริโภคต้องสอบถามผู้ขายเพื่อให้ได้ข้อมูลรายละเอียด ระยะเวลาจัดส่งสินค้า ระยะเวลาในการขนส่ง และข้อกำหนดที่ชัดเจนว่าผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบหากสินค้าชำรุดหรือสูญหายในระหว่างการจัดส่งสินค้ามาถึงมือผู้บริโภค และเพื่อให้ทราบข้อมูลรายละเอียด สถานะการจัดส่งสินค้า ผู้ขายจะต้องมีข้อมูลรายละเอียดของการจัดส่งพัสดุให้ผู้บริโภคอย่างเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง  นอกจากนี้ควรเลือกการชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้าเพราะมั่นใจได้แน่ว่าได้รับสินค้าแน่ๆ อีกทั้งยังสามารถตรวจดูสินค้าว่าเป็นไปตามที่สั่งซื้อหรือไม่ด้วย เพราะหากไม่ใช่สินค้าตามลักษณะที่เราสั่งซื้อไป เราปฏิเสธไม่รับสินค้าและไม่จ่ายเงินได้สำหรับกรณีจัดส่งสินค้าล่าช้านั้น หากผู้ซื้อติดต่อไปผู้ขายส่วนมากมักจะขอโทษ จากประสบการณ์จริงของผู้เขียนที่ได้สั่งสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าที่มีมาตรฐานและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified ผู้เขียนต้องติดต่อยืนยันและเรียกร้องให้ดำเนินการชดเชยเยียวยาความเสียหาย จึงจะได้รับการชดเชยเยียวยาเป็นคูปองส่วนลดในการสั่งซื้อสินค้าในคราวต่อไป แต่ถ้าผู้เขียนไม่ได้เรียกร้อง ทางผู้ขายก็มักจะเพิกเฉย แต่การซื้อสินค้าจากผู้ขายแบบ C2C ผู้ขายที่ไม่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified ผู้ขายอาจจะไม่สนใจที่จะให้เราใช้สิทธิยกเลิกการสั่งซื้อหรือชดเชยเยียวยาในการจัดส่งล่าช้า เราจึงควรเจรจาต่อรอง แจ้งความประสงค์กำหนดวันรับสินค้ากับผู้ขายไว้ก่อนและเก็บหลักฐานข้อตกลงไว้  หากผู้ขายไม่ยินยอม ทางที่ดีเราไม่ควรซื้อ แต่หากเราซื้อไปแล้วโดยไม่มีข้อตกลงนี้ เราควรยืนยันสิทธิของเราโดยเก็บหลักฐานการสั่งซื้อและรายละเอียดต่างๆ ร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สคบ. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่การดำเนินการในขั้นตอนนี้อาจเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจจะมากกว่าค่าสินค้าก็ได้ ทางที่ดี “กันไว้ดีกว่าแก้” เลือกซื้อจากผู้ขายที่น่าเชื่อถือและมีข้อกำหนดในการใช้สิทธิยกเลิกการซื้อของเราอย่างชัดเจน และรับผิดชอบในการจัดส่งล่าช้าสรุป อ่านรายละเอียดต่าง ๆ ให้เข้าใจ / มีข้อสงสัยสอบถามเป็นลายลักษณ์อักษรและเก็บหลักฐานไว้ / ซื้อสินค้าที่ยอมให้ยกเลิกหรือคืนสินค้าได้ / มีการจัดส่งเลขพัสดุภัณฑ์หรือเครื่องมือที่สามารถติดตามสถานการณ์จัดส่งสินค้า / เก็บหลักฐานการสั่งซื้อ การสนทนาต่าง ๆ / เลือกซื้อสินค้าที่ให้ชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้า3.  “อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะการคืนสินค้ามีความยุ่งยากจนผู้ซื้ออาจจะถอดใจแล้วปลอบตัวเองว่า “ถือว่าฟาดเคราะห์ไป” การคืนสินค้าอาจมีขั้นตอนยุ่งยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่าย ได้รับเงินคืนล่าช้าหรือได้รับไม่เต็มจำนวน ไม่ได้รับเงินคืนเพราะทำไม่ถูกขั้นตอนที่ผู้ขายกำหนดไว้ล่วงหน้าหรือผู้ขายปฏิเสธด้วยเหตุผล ข้ออ้างต่าง ๆการสั่งซื้อสินค้าแบบชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้าเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัย แต่ถ้าผู้ขายไม่มีบริการดังกล่าว ผู้ซื้อต้องได้ข้อมูลจากผู้ขายก่อนสั่งซื้อสินค้าว่าสามารถคืนสินค้าได้และผู้ขายจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าจัดส่งสินค้าคืน พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ในการคืนสินค้า เช่น กล่องบรรจุจะต้องอยู่ในสภาพดี (เวลาแกะกล่องจะได้เปิดหีบห่ออย่างระมัดระวัง ไม่ให้ฉีกขาด) ผู้เขียนมีประสบการณ์สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified และพบปัญหาจากการคืนสินค้าเนื่องจากข้อกำหนดที่ยุ่งยากซับซ้อนจน ส่งสินค้าคืนไปใช้เวลาเกือบ 1 เดือนจึงได้รับคำตอบว่าไม่สามารถรับคืนสินค้าได้เพราะบรรจุภัณฑ์อยู่ในสภาพที่ไม่เรียบร้อย ไม่ตรงตามข้อกำหนดสำหรับผู้ขายที่เป็นแบบ C2C ที่ไม่ได้จดทะเบียนกับสคบ.หรือกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและได้รับเครื่องหมาย DBD Registered/ DBD Verified (คล้าย ๆ กับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ขายที่ผู้ซื้อต้องระมัดระวังมากๆ มีความเสี่ยงสูง มาตรฐานและวิธีการในการรับเปลี่ยน/คืนสินค้าก็จะแตกต่างกันไป ไม่มีผู้ใดควบคุม การคืนสินค้ากับกลุ่มผู้ขายประเภทนี้มีความยากลำบาก ไม่แน่นอน หากเราส่งสินค้าคืนเขาไปแล้วและไม่ได้รับเงินคืน สินค้าก็ไม่ได้-เงินก็ไม่ได้คืน ต้องติดต่อร้องเรียนตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยยื่นเอกสารหลักฐานต่างๆ ซึ่งทำให้ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก อาจจะไม่คุ้มกับราคาค่าสินค้าก็ได้ ดังนั้นสอบถามให้แน่ชัด ใช้ความระวัดระวังไว้ให้มาก ๆอีกวิธีการที่อยากแนะนำคือ การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ระหว่างที่ยังไม่ได้ชำระเงินค่าใช้จ่ายตามยอดบัตรเครดิต ผู้ซื้อยังพอมีเวลาที่จะดำเนินการปฏิเสธการจ่ายเงินกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตได้ โดยต้องทำตามขั้นตอนที่เจ้าของบัตรเครดิตกำหนด เช่น ทำหนังสือบอกกล่าวยกเลิกสัญญาซื้อขายไปยังผู้ขายและส่งเอกสารหลักฐานที่ติดต่อกับผู้ขายให้กับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อพิจารณาปฏิเสธการจ่ายเงิน ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการจะใช้ระยะเวลาประมาณ 15-30 วัน แม้จะไม่ได้เป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้เขียนขอแนะนำสำหรับการคืนสินค้าและรับเงินคืนทางบัตรเครดิต หากเป็นการซื้อสินค้าสกุลเงินต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินขณะถูกเรียกเก็บเงินและคืนเงินอาจจะไม่เท่ากัน หากเราได้รับเงินคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตในจำนวนเงินไทยบาทที่ไม่กัน เราสามารถดำเนินการขอคืนส่วนต่างโดยติดต่อกับธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตสรุป เลือกบริการชำระเงินปลายทางเมื่อได้รับสินค้า / อ่านและตกลงรายละเอียด ขั้นตอนการคืนหรือเปลี่ยนสินค้าให้เข้าใจ / หากชำระราคาก่อนได้รับสินค้าควรเลือกชำระเงินด้วยบัตรเครดิต4.“อย่าจ่ายเร็ว”!!! เพราะอาจโดนล้วงข้อมูลสำคัญส่วนตัว หรือด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว ก่อนส่งคำสั่งซื้อให้ตรวจดู URL เพราะปัจจุบันการซื้อขายออนไลน์ ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัญชีธนาคารออนไลน์ จึงมีเว็บไซต์ที่หลอกลวงหรือทำเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อเลียนแบบจนเราแทบจะไม่ทันสังเกตเห็นความต่างกันเลยก็ว่าได้  หากพลาดไป เว็บไซต์ดังกล่าวอาจนำข้อมูลส่วนตัว รายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีธนาคาร บัตรเครดิตไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นขณะจะทำการสั่งซื้อต้องสังเกต URL หรือชื่อเว็บไซต์โดยละเอียด เพราะจะมีแตกต่างกันบางจุดชื่อ URL ของร้านค้าหรือหน้าเว็บไซต์ที่ใช้ตัดเงินผ่านบัตรเครดิต และให้ตรวจสอบว่าเว็บไซต์ที่เรากำลังใช้ทำธุรกรรมการสั่งซื้อของออนไลน์อยู่นั้น โดยเฉพาะหน้าที่แสดงวิธีการจ่ายเงินให้ตรวจสอบว่าเป็น HTTPS หรือไม่5.“อย่าจ่ายเร็ว”!!! ต้องเก็บหลักฐานการซื้อขาย เงื่อนไขที่ตกลงกัน และหลักฐานการชำระเงิน เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเองซึ่งหากมีปัญหาเกิดขึ้น หากพบปัญหาควรติดต่อไปยังผู้ขายก่อน เพื่อแจ้งให้ทราบและให้ผู้ขายแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นการซื้อผ่านเว็บไซต์(Website) ก็จะมีขั้นตอนและเงื่อนไขในการรับผิดชอบของเว็บไซต์(Website) กำหนดไว้แล้ว สามารถติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์(Call Center) หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฏบนหน้าเว็บไซต์(Website) แต่ถ้าเป็นการซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย(Social Media) เฟซบุ๊ก(Facebook) อินสตาแกรม(Instagram)  ไลน์ (Line) ต้องติดต่อไปยังผู้ขายซึ่งเป็นการช่วยเหลือตนเองในเบื้องต้นก่อน ถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขจนพอใจก็ควรร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่รับเรื่องร้องเรียนโดยนำหลักฐานต่างๆ เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ข้อมูลร้านค้า หลักฐานการชำระเงิน รูปถ่ายสินค้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มาประกอบคำขอร้องเรียน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วมาก ยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ การแก้ปัญหาในขั้นตอนนี้จะมีระยะเวลาดำเนินการพอสมควร ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ผู้ซื้อเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ปัญหา ท่องให้จำขึ้นใจทุกครั้งที่ซื้อของออนไลน์ “ซื้อของออนไลน์ ซื้อง่าย อย่าจ่ายเร็ว”!!!----------------------------------หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน  1. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) รับเรื่องร้องเรียน ให้คำแนะนำปรึกษาด้านปัญหาสินค้าและบริการทั่วไปที่เกิดจากการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ การแก้ปัญหากับคู่กรณี และขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ มาแก้ปัญหา รวมทั้งให้การช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่อยู่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400, เว็บไซต์ (Website) :  www.consumerthai.orgอีเมล (E-mail):  complaint@consumerthai.org, โทรศัพท์ 02-2483734-7, โทรสาร 02-24837332. ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ 1212 (Online Complaint Center: OCC)  ให้คำแนะนำปรึกษาด้านปัญหาที่เกิดจากการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือในการรับ-ส่งการแจ้งเบาะแสหรือเรื่องร้องเรียนระหว่างหน่วยงานความร่วมมือ ตลอดจนให้คำแนะนำ คำปรึกษา และประสานไปยังผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาโดยครอบคลุม 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมถึงการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญหาที่เกิดจากการซื้อขายทางออนไลน์ ภัยคุกคามไซเบอร์ ตลอดจนปัญหาทางออนไลน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสายด่วน 1212, เว็บไซต์ (Website)  :  http://www.1212occ.com,  โมบาย แอป (Mobile App) :  1212 OCCอีเมล (E-mail): 1212@mict.go.th, โทรสาร : 02-12757893. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มมครองผู้บริโภค (สคบ.) รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ โดยเน้นการคุ้มครองมิให้ผู้ประกอบการโฆษณาเกินจริง ต้องติดฉลากสินค้าอันตรายและสัญญาที่ทำกับลูกค้า หากไม่เป็นธรรม สคบ. มีอำนาจเข้าไปดูแลที่อยู่ อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10120สายด่วน 1166, เว็บไซต์ (Website) :  http://complain.ocpb.go.th/OCPB_Complainsอีเมล (E-mail):  consumer@ocpb.go.th4. กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลและสอดส่องพฤติกรรมการใช้เครื่องชั่ง ตวง วัด ในการซื้อหรือขายสินค้าอุปโภคให้เกิดความเป็นธรรม การกำหนดราคาสินค้า และรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับราคา ปริมาณสินค้า และความไม่เป็นธรรมทางการค้าที่อยู่ 44/100 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรีสายด่วน 1569, เว็บไซต์ (Website) :  http://app-transport.dit.go.th/frontend/index.phpอีเมล (E-mail):  1569@dit.go.th, โทรศัพท์ 02-5076111, โทรสาร 02-54753615. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับเรื่องราวร้องทุกข์ปัญหาด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และเครื่องสำอาง ไม่ได้มาตรฐาน ผิดมาตรฐาน ไม่ได้รับใบอนุญาต ตลอดจนการโฆษณาส่งเสริมการขายไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ที่อยู่ ตู้ ปณ. 52 ปณจ. นนทบุรี 11000สายด่วน 1556, เว็บไซต์ (Website) :  www.fda.moph.go.th, โมบาย แอป (Mobile App) :  ORYORอีเมล (E-mail):  complain@fda.moph.go.th, โทรศัพท์ 02-5907354-5, โทรสาร 02-5918472

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 ความร่วมมือกับความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียน

วันที่ 6 – 7 ธันวาคมที่ผ่านมา มีงานใหญ่ที่รัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจัดขึ้นทุกสองปี นั่นคือ งานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ที่ครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวความคิด “ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน” ภายในงานมีหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่ที่อยากจะมาบอกกล่าวกันในวันนี้ คือ ห้องย่อยที่ 3 ยานพาหนะปลอดภัย ในหัวข้อหลัก “ทิศทางและบทเรียนการจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนในระดับพื้นที่” การเสวนาในวันนั้นเป็นการนำเสนอรูปแบบและวิธีการจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนจากหลายภาคส่วน เพื่อหาข้อสรุปที่นำไปสู่การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องการจัดการความปลอดภัยและมาตรฐานรถที่จะนำมารับส่งนักเรียน เพราะที่ผ่านมาทุกคนต่างรับรู้และเห็นถึงปัญหารถรับส่งนักเรียนกันอย่างดีแล้วว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว เหตุเพราะปัญหารถรับส่งนักเรียนนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าแค่เรื่องสภาพรถ ที่ส่วนใหญ่เป็นรถที่ไม่ปลอดภัย และไม่เหมาะในการนำมาวิ่งให้บริการรถรับส่งนักเรียน ซึ่งพอจะสรุปได้เป็นสี่ประเด็นหลัก ดังนี้ ประการที่หนึ่ง ระบบขนส่งสาธารณะที่ล้มเหลว ซึ่งรองรับได้แค่กรุงเทพมหานครและตัวเมืองชั้นในของจังหวัดใหญ่เท่านั้น ทำให้การเดินทางไปโรงเรียนของเด็กมีความยากลำบากเพิ่มขึ้น ประการที่สอง นโยบายการศึกษาที่ยุบโรงเรียนเล็กไปรวมกันหรือการให้โรงเรียนระดับท้องถิ่นเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนดังส่งผลเกิดค่านิยมในการเรียนโรงเรียนใหญ่ที่จะทำให้เด็กมีการศึกษาที่ดีขึ้น ทำให้เด็กต้องเดินทางไกลขึ้นจากเดิมเพื่อไปเรียนให้ได้ ประการที่สาม ทัศนคติของครูอาจารย์ที่ยังไม่เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีระบบจัดการรถรับส่งนักเรียนและคิดว่าเป็นภาระที่เพิ่มเติมนอกเหนือจากงานที่มีอยู่ และประการที่สี่ ความไม่ใส่ใจในความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยของเด็กนักเรียน การไม่มีทางเลือกที่เพียงพอในการนำพาเด็กไปสู่โรงเรียนด้วยความปลอดภัย และความไม่พร้อมทางฐานะการเงินที่จะจัดหารถที่ปลอดภัยสำหรับบุตรหลานเพื่อไปโรงเรียนได้ ขณะที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกำลังพยายามช่วยเหลือและจัดการรถรับส่งนักเรียนให้ปลอดภัย ด้วยการทำข้อมูลในระดับพื้นที่และสร้างระบบการจัดการ โดยการขับเคลื่อนให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาเป็นจุดจัดการ ด้วยการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน ผู้ปกครอง คนขับรถรับส่งนักเรียน องค์กรผู้บริโภค และหน่วยงานท้องถิ่นในการร่วมกันสนับสนุนและจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการในระยะแรกไปแล้วในพื้นที่ 32 จังหวัด จังหวัดละ 1 โรงเรียน แต่หน่วยงานหลักด้านนโยบายอย่างกรมการขนส่งทางบกและกระทรวงศึกษาธิการ กลับยังไม่มีบทบาทที่ชัดเจนในการแสดงออกว่าจะร่วมมือกันจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนที่มีอยู่อย่างไร ที่ผ่านมามีเพียงกรมการขนส่งทางบกที่ได้ออกมาตรการกำกับดูแลรถรับส่งนักเรียน โดยกำหนดให้ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง(รย.2) หรือรถที่มีป้ายทะเบียนพื้นสีขาวตัวหนังสือสีฟ้า นำมาจดทะเบียนเป็นรถรับส่งนักเรียนได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า ยังมีรถรับส่งนักเรียนที่วิ่งรับส่งทั่วประเทศอีกจำนวนมากที่ไม่ใช่รถตามที่กฎหมายอนุญาตให้นำมาจดทะเบียนเป็นรถรับส่งนักเรียน ยังไม่รวมถึงมาตรการบังคับข้ออื่นๆ ที่ผู้ประกอบการรถรับส่งนักเรียนไม่สนใจทำตาม ส่งผลให้กฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้ ซ้ำยังเป็นการสร้างความยากลำบากให้กับเจ้าหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะหากเจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขันบังคับตามกฎหมาย รถรับส่งนักเรียนที่ผิดกฎหมายหลายคันจะต้องหยุดวิ่ง ผลคือเด็กจำนวนมากจะไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียนได้ มันก็จะคล้ายๆ จับเด็กเป็นตัวประกัน เจ้าหน้าที่ก็ไม่กล้าทำอะไร… ส่วนกระทรวงศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีหน้าที่ดูแลโรงเรียนและเด็กนักเรียนทั่วประเทศ ยังคงนิ่งสงบและไม่มีบทบาทที่ชัดเจนในการออกมาตรการดูแลในส่วนนี้ ทั้งที่บางโรงเรียนในสังกัดต้องการคำสั่งในการจัดการรถรับส่งนักเรียน เพราะเห็นว่าการจะทำภารกิจใดๆ ที่นอกเหนือจากงานที่มีอยู่ต้องมีคำสั่ง หากไม่มีคำสั่งก็จะไม่ทำ เพราะไม่มีการบังคับจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แต่จากบทสรุปของ ห้องย่อยยานพาหนะประเด็นรถรับส่งนักเรียน ในเวทีงานสัมมนาระดับชาตินั้น แม้จะยังไม่ได้คำตอบที่ชัดว่า การจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมจะต้องทำกันแบบไหน แต่อย่างน้อยประเด็นการให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการที่ทุกฝ่ายร่วมสนับสนุนเพื่อให้เกิดระบบรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยก็เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เห็นชอบร่วมกัน รวมถึงประเด็นสำคัญที่ถือว่าเป็นก้าวแรกของการมีส่วนร่วมที่ดีและเป็นสัญญาประชาคมจาก คุณโรจนะ กฤตเจริญ ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการรับข้อเสนอแนวทางการมีส่วนร่วมไปเสนอผู้บริหาร เพื่อเป็นเจ้าภาพตั้งคณะทำงานจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ นักวิชาการและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรฐานการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะเหมือนเห็นแสงสว่างเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์ แต่เราต้องมีความหวัง และพร้อมที่จะติดตามผลการจัดตั้งคณะทำงานนี้ และร่วมกันผลักดันมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้รถรับส่งนักเรียนมีมาตรฐานความปลอดภัย ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อลูกหลานของเราทุกคน… 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 ซื้อยาสมุนไพรออนไลน์ ปลอดภัยแค่ไหน

สินค้าออนไลน์มีมากมายหลายประเภท แต่หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจำนวนมากก็หนีไม่พ้นอาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าเหล่านี้ผ่านโลกออนไลน์ จะมีความปลอดภัยจริงหรือคุณดวงใจโทรศัพท์มาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า น้องสาวของเธอมีอาการเท้าบวมและไม่ยอมไปโรงพยาบาล แต่ซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรยี่ห้อ นราห์ (NARAH) ผ่านอินเทอร์เน็ตมาเพื่อรักษาอาการแทน ซึ่งเมื่อได้รับสินค้า เธอได้นำเลขที่สารบบอาหาร 13 หลักที่ระบุไว้บนฉลากคือ 50-1-02254-1-0009 ไปตรวจสอบผ่านการสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์ของ อย. ก็ไม่มีพบรายละเอียดใดๆ เธอจึงไม่มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีความปลอดภัย นอกจากนี้สินค้ายังมีการโฆษณาแสดงสรรพคุณที่ดูเกินจริงอีกด้วย เช่น เป็นสมุนไพรเพื่อลด ควบคุมและป้องกันโรคเบาหวาน ไขมันสูง ความดันและโรคหัวใจได้ คุณดวงใจจึงส่งผลิตภัณฑ์และรายละเอียดต่างๆ มาให้ศูนย์ฯ ช่วยตรวจสอบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยแถลงข่าวเตือนประชาชนในการซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านอินเทอร์เน็ตว่า อาจเสี่ยงได้รับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน หรือมีส่วนผสมของสารอันตราย เพราะมักมีการโฆษณาอวดอ้างเกินจริงและแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคแล้ว ผู้ที่ขายยาผ่านอินเทอร์เน็ตหรืออาหารเสริมที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย จึงขอความร่วมมือผู้บริโภคไม่สนับสนุนผู้กระทำผิดกฎหมาย และช่วยแจ้งเบาะแสหากพบเห็นการจำหน่ายสินค้าในลักษณะนี้ที่สายด่วน อย. 1556และสำหรับในกรณีนี้ ศูนย์ฯ ได้ช่วยผู้ร้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าว ด้วยการทำหนังสือถึง อย. เพื่อขอให้มีการตรวจสอบ ซึ่งภายหลังทาง อย. ก็ได้แจ้งผลการดำเนินการมาว่า ผู้ขอจดทะเบียนเลขระบบอาหารของสมุนไพรนราห์ ได้ขอยกเลิกเลขทะเบียนสารระบบอาหารไปแล้ว เนื่องจากมีผู้เสียหายร้องเรียนเข้ามาหลายราย ซึ่งขณะนี้ อย. กำลังสืบเรื่องและเตรียมส่งต่อให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ดำเนินคดีและแจ้งระงับการโฆษณาการขายสินค้าดังกล่าว โดยหากดำเนินการเสร็จเรียบร้อย จะทำหนังสือตอบกลับมายังมูลนิธิฯ อีกครั้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 รถตู้โดยสารไม่ประจำทางกับความปลอดภัยของผู้โดยสาร

เป็นเวลาเกือบครบปี  หลังจากที่เราผ่านความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ กับอุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทาง สายจันทบุรี – กรุงเทพ  พุ่งข้ามเลนประสานงากับรถกระบะที่สวนทางมา จนเกิดเพลิงลุกไหม้รถทั้งสองคัน มีผู้เสียชีวิตเป็นคนไทยด้วยกันเองมากถึง 25 คน  จากเหตุการณ์ครั้งนั้น นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่เข้มข้นหลายอย่าง ที่ออกมาเพื่อควบคุมความเร็วและพฤติกรรมคนขับรถโดยสาร ทั้งการติด GPS ห้ามวิ่งเกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง การบังคับทำประกันภาคสมัครใจ การปรับลดเบาะที่นั่ง การมีช่องทางออกฉุกเฉิน และการรณรงค์ให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่อเดินทาง โดยมุ่งหวังเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากแบบนั้นอีกแต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ก็ยังมีเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดกับรถตู้โดยสารอยู่เป็นระยะๆ เป็นเหมือนฝันร้ายที่คอยวนเวียนหลอกหลอนผู้โดยสารที่ต้องใช้บริการอยู่ทุกวันว่า วันไหนจะเกิดขึ้นกับใคร ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง คนรู้จัก เพื่อน ญาติสนิทหรือไม่ หลายฝ่ายต่างพุ่งเป้าไปที่กลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางที่มีอยู่มากกว่า 15,000 คันทั่วประเทศ โดยเฉพาะรถที่วิ่งระหว่างจังหวัดว่าเป็นกลุ่มรถความเสี่ยงสูง ที่หลายคนจำเป็นต้องใช้เพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน แม้จะกลัวการเกิดอุบัติเหตุเวลานั่งรถตู้โดยสาร แต่กลับพบว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังไม่เห็นถึงความสำคัญที่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย นั่นเท่ากับว่า ผู้ใช้บริการส่วนหนึ่งยังไม่ตระหนักในเรื่องความปลอดภัยให้กับตัวเองมากนักขณะที่คนจำนวนมากกำลังจับตามองไปที่กลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางว่าเป็นกลุ่มรถเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย แต่เราอาจลืมไปว่า ยังมีรถตู้โดยสารอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงไม่น้อยกว่ากัน นั่นก็คือ กลุ่มรถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางที่มีปริมาณรถอยู่ในระบบมากกว่า 27,000 คันทั่วประเทศ โดยรถในกลุ่มนี้มีทั้งในรูปแบบผู้ประกอบการใหญ่ที่เป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มรายย่อย ที่เจ้าของรถขับเอง และมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือเครือข่ายเพื่อการติดต่อรับจ้างทางธุรกิจ แน่นอนว่า ความแตกต่างที่สำคัญ นอกจากเรื่องระบบการออกใบอนุญาตและการกำกับดูแลตามมาตรการของรัฐแล้ว โดยปกติรถตู้โดยสารประจำทางจะวิ่งได้ในเฉพาะในเส้นทางที่ขออนุญาตเส้นทางไว้เท่านั้น ห้ามวิ่งออกนอกเส้นทาง ในเส้นทางระยะไกลห้ามวิ่งเกินวันละ 2 รอบ หรือวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมงตามกฎหมายแรงงาน แต่รถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางนั้น  วิ่งได้ในทุกเส้นทางทั่วไทยตามที่ว่าจ้าง ไม่มีใครคอยตรวจสอบว่าคนขับพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ก่อนมาให้บริการ   ถือได้ว่าเป็นกลุ่มรถมีความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยมากกว่า สอดคล้องกับผลการเก็บข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารของเครือข่ายเฝ้าระวังรถโดยสารปลอดภัย พบว่า กลุ่มรถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทาง มีอัตราการเกิดเหตุและอัตราการบาดเจ็บของผู้โดยสารมากกว่ากลุ่มรถตู้โดยสารประจำทาง โดยมีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุ ที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเช่น โศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดของวันที่  8  พฤศจิกายน  ที่ผ่านมา กรณีรถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางของบริษัท อาร์แอลเซอร์วิส ประสบอุบัติเหตุชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อ ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  จากการสอบปากคำคนขับรถตู้โดยสารที่รอดชีวิต ได้ยอมรับกับทางเจ้าหน้าที่ว่า ในวันที่เกิดเหตุตนเองเข้านอนเวลา 24.00 น.และตื่นในเวลา 04.00 น.ของวันที่เกิดเหตุ และในเวลา 05.00 น.ได้เดินทางไปรับคณะนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นพร้อมไกด์คนไทย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อนำทั้งหมดเดินทางมาท่องเที่ยวตามโปรแกรมที่วางไว้ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนจะประสบอุบัติเหตุหลับในชนท้ายรถบรรทุก ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย  แม้หลังเกิดเหตุกรมการขนส่งทางบกจะมีมาตรการเด็ดขาดสั่งถอนทะเบียนรถตู้คันเกิดเหตุออกจากบัญชีประกอบการขนส่ง และให้บริษัทฯ นำรถในบัญชีทั้งหมด จำนวน 84 คัน เข้ารับการตรวจสภาพโดยละเอียดอีกครั้ง และให้พนักงานขับรถทุกคนของบริษัทฯ เข้ารับการอบรมด้านความปลอดภัย พร้อมเปรียบเทียบปรับฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยในอัตราโทษสูงสุดเป็นจำนวนเงิน 50,000  บาท รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตขับรถของคนขับรถคันเกิดเหตุทันที แต่มาตรการดังกล่าวก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของทุกฝ่ายกลับคืนมา  โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ยังมีประเด็นปัญหาสำคัญที่รอให้จัดการ คือ การกำหนดแนวทางการประกอบธุรกิจรถรับจ้างไม่ประจำทาง ที่ทุกวันนี้ยังไม่มีมาตรการกำกับหรือควบคุมที่ชัดเจนแต่อย่างใด ทำให้มีผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายที่นำรถทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายออกมาวิ่งรับจ้างไม่ประจำทางอีกเป็นจำนวนมาก โดยที่ผู้บริโภคต้องกลายเป็นคนแบกรับชะตากรรมนั้นเสียเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 ดัดขนตาถาวร ปลอดภัยแค่ไหน

ขนตาโค้งงอน เป็นสิ่งที่สาวๆ หลายคนปรารถนา จึงสรรหาสารพัดวิธีมาทำให้สวยสมใจ ซึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็หนีไม่พ้นการใช้ที่ดัดขนตา แต่ก็มักจะได้ยินเสียงบ่นตามมาเสมอว่าดัดแล้ว ขนตาไม่โค้งงอนอย่างที่ต้องการ ทำให้ปัจจุบันได้มีอีกหนึ่งวิธีการเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวนั่นก็คือ การดัดขนตาถาวร ซึ่งจะมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน เราลองไปดูกันมาดูความโค้งงอนตามธรรมชาติของขนตากันก่อนหลายคนอาจคิดว่า ขนตามีไว้เพื่อเป็นความสวยงามให้กับดวงตา แต่จริงๆ แล้ว ขนตาทำหน้าที่คอยป้องกันดวงตาของเราจากสิ่งแปลกปลอม ซึ่งตามธรรมชาติขนตาจะมีลักษณะชี้ตรง แต่บางคนขนตาอาจจะงอนขึ้นด้านบนในหนังตาบน และงอนลงล่างในหนังตาล่าง รวมทั้งมีความยาวแตกต่างกันไปตามลักษณะพันธุกรรม ขนตางอนด้วยการดัดถาวร ปลอดภัยแค่ไหนการดัดขนตาถาวร เป็นการใช้น้ำยาดัดหรือกาว เพื่อยกโคนขนตาขึ้นให้มีความโค้งงอนตลอดเวลา ซึ่งสามารถอยู่ได้ประมาณ 1-2 เดือน เหมาะสำหรับผู้ที่มีขนตายาวชี้ตรง ดูไม่สวยงามและต้องการประหยัดเวลาในการแต่งหน้า ทั้งนี้ปัจจุบันบางร้านอาจเรียกวิธีการดังกล่าวว่า Lash lifting (ลิฟติ้ง ขนตา) ซึ่งโฆษณาว่าใช้เซรั่มหรือน้ำยา ที่มีความอ่อนโยนกว่าการดัดขนตาถาวรอย่างไรก็ตามเราต้องไม่ลืมว่า บริเวณดวงตาเป็นอวัยวะที่บอบบาง สามารถเกิดการระคายเคืองได้ง่าย ดังนั้นการใช้สารเคมีใดๆ ในบริเวณดังกล่าว อาจทำให้เกิดการแพ้ ระคายเคืองได้ทั้งนั้น เช่น เปลือกตาบวมแดง อักเสบหรือเกิดโรคที่เปลือกตา ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของขนตา เช่น ขนตาร่วงผิดปกติ ขนตาเก หักหงิกงอหรือหยุดการเจริญเติบโตได้ ดัดขนตาถาวรอย่างไรให้ปลอดภัยหลายคนอาจเลือกรับบริการดัดขนตาถาวรหรือลิฟติ้ง ขนตาที่สถานบริการความงาม และบางคนก็ที่จะซื้อน้ำยาดัดขนตามาทำเองที่บ้าน ผ่านการซื้อสินค้าจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งมักโฆษณาว่าเป็นน้ำยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีความอ่อนโยน ได้รับมาตรฐานจากหลายองค์กร แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสินค้าที่นำมาใช้กับดวงตาของเรานั้นมีมาตรฐานจริง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย เราจึงควรตรวจสอบรายละเอียดเบื้องต้นก่อนว่า เป็นสินค้าที่ได้รับมาตรฐาน อย. หรือไม่ ดังนี้1. มีเลขที่จดแจ้งเราต้องไม่ลืมว่า น้ำยา เซรั่ม กาวหรือทรีตเมนท์ ใดๆ ที่ใช้สำหรับดัดหรือยกขนตาให้โค้งงอนในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้นั้น จัดเป็นเครื่องสำอางประเภทหนึ่งเช่นกัน ซึ่งต้องได้รับเลขที่จดแจ้งจาก อย. เพื่อแสดงว่าไม่มีส่วนประกอบที่เป็นสารต้องห้าม แต่ไม่ได้หมายความว่าหากผู้บริโภคใช้แล้วจะไม่เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตหลายรายที่แอบลักลอบเติมสารอันตราย ภายหลังการขอเลขที่จดแจ้งแล้วอีกด้วย อย่างไรก็ตามหากมีเลขที่จดแจ้ง เราก็จะสามารถตามตัวผู้ผลิตมารับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ปัจจุบันเลขที่จดแจ้งจะมีจำนวน 10 หลักและ 13 หลัก โดยไม่อยู่ภายใต้กรอบอย. เช่น XX-X-XXXXXXX ซึ่งวิธีตรวจสอบว่าเป็นสินค้าที่มาจากประเทศใด สามารถดูได้จากตัวเลขหลักที่ 2 โดยหากเป็นเลข 1 แสดงว่าเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ และหากเป็นเลข 2 แสดงว่าเป็นสินค้านำเข้า รวมทั้งเราควรเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องของเลขที่จดแจ้ง ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. ที่ www.fda.moph.go.th และสามารถโทรศัพท์ร้องเรียนสินค้าที่คาดว่าจะไม่ปลอดภัยได้อีกด้วย ผ่านทางสายด่วน อย. 1556 (วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.)2. มีฉลากภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือสินค้านำเข้าก็ต้องมีฉลากภาษาไทย ซึ่งต้องระบุข้อความให้ครบถ้วน ดังนี้ ชื่อและชนิดของเครื่องสำอาง, เลขที่ใบรับแจ้ง, สารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม, วิธีการใช้, ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือนำเข้า, ปริมาณสุทธิ, เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต, เดือนปีที่ผลิตและคำเตือน (ถ้ามี)หากเราพบว่าเครื่องสำอางที่เราซื้อมานั้น ไม่มีฉลากภาษาไทย ควรตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นไว้ก่อนว่า อาจเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยและไม่ควรเสี่ยงใช้เครื่องสำอางนั้น โดยเฉพาะน้ำยาดัดขนตาที่กฎหมายกำหนดกำหนดไว้ว่า ห้ามนำสารเคมีบางชนิดที่มีความเสี่ยงสูง หรือสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคมาผสม เช่น Thioglycolic acid esters ซึ่งเป็นสารที่อนุญาตให้ใช้เฉพาะในผลิตภัณฑ์สำหรับดัดผมหรือยืดผมเท่านั้น โดยหากนำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สำหรับดัดขนตา จะถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่มีวัตถุที่ห้ามใช้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ตกแต่งตาสองชั้นอย่างปลอดภัย

สาวเอเชียจำนวนมาก มักมีความกังวลเกี่ยวกับลักษณะดวงตาของตัวเอง เพราะส่วนใหญ่จะมีตาชั้นเดียวหรือตาสองชั้นหลบใน ทำให้เวลาแต่งตาจะเห็นไม่ชัดเจนเท่าไร ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและความสวยงามอย่างมาก หลายคนจึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการศัลยกรรมตาสองชั้น แต่สำหรับใครที่กลัวการศัลยกรรมก็หันไปพึ่งวิธีง่ายๆ อย่าง การใช้เครื่องสำอางหรือกาวติดตาสองชั้นแทน ซึ่งเป็นวิธีที่แพร่หลายและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราลองไปดูกันว่ามีอะไรบ้างที่ควรให้ความสำคัญรู้จักกาวติดตาสองชั้นกันก่อนกาวติดตาสองชั้น (Double eyelid glue) เป็นเครื่องสำอางประเภทหนึ่ง ซึ่งมีไว้ใช้กับเปลือกตาเพื่อตกแต่งให้เป็นตาสองชั้น มีลักษณะเป็นกาวสีใสและขาวขุ่น โดยส่วนใหญ่จะใช้ทาลงบนสติ๊กเกอร์ตาสองชั้น แล้วจึงนำไปติดลงบริเวณรอยพับของเปลือกตาก่อนหรือหลังตกแต่งดวงตาก็ได้ อย่างไรก็ตามสาวๆ หลายคนอาจเลือกใช้กาวติดขนตาปลอมแทนกาวติดตาสองชั้น เพราะหาซื้อได้ง่ายกว่าและมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะใกล้เคียงกันกาวติดตาสองชั้นผลิตจากอะไรกาวติดตาสองชั้นมีส่วนประกอบสำคัญคล้ายกับกาวติดขนตาปลอม คือ Rubber, Latex, AMP-acrylates/ diacetoneacrylamide copolymer, Ethyl cyanoacrylate และ Acrylate copolymer กาวติดตาสองชั้นปลอดภัยจริงหรือแม้กาวติดตาสองชั้นจะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นวิธีแก้ไขรูปตาที่สะดวกรวดเร็ว แต่ผู้ใช้งานหลายคนอาจพบกับอาการแพ้บริเวณเปลือกตาได้ เช่น มีอาการระคายเคือง คัน บวมแดงหรืออักเสบบริเวณผิวหนังรอบดวงตา ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการแพ้น้ำหอม สารกันบูดหรือสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่าง Latex (ยางธรรมชาติ) นั่นเอง เพราะสารดังกล่าวสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังหรืออาการแพ้ได้มาก เลือกใช้กาวติดตาสองชั้นให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันอาการแพ้ที่ไม่พึงประสงค์ เราสามารถตรวจสอบกาวติดตาสองชั้นก่อนใช้งานด้วยวิธีเบื้องต้น ดังนี้1. ตรวจสอบฉลาก เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน ไม่มีส่วนประกอบต้องห้าม รวมทั้งมีสถานที่ผลิตหรือจัดจำหน่ายชัดเจน เราจึงควรตอบสอบฉลากก่อนซื้อ ซึ่งการแสดงฉลากที่ถูกต้อง ต้องเป็นภาษาไทยที่มีข้อมูลครบถ้วน ทั้งชื่อที่ตั้ง สถานที่ผลิต วันเดือนปี การผลิต ฯลฯ 2. ตรวจสอบเลขที่จดแจ้งหากเป็นเครื่องสำอางที่ได้รับมาตรฐาน จะต้องมีเลขที่จดแจ้งจำนวน 10 หลัก เพื่อเป็นการป้องกันสินค้าปลอมหรือลอกเลียนแบบ ซึ่งเราสามารถนำเลขที่จดแจ้งดังกล่าวตรวจสอบผ่านอินเทอร์เน็ต ที่เว็บไซต์ของ อย. ในส่วนของระบบงานบริการตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ (http://164.115.28.102/FDA_SEARCH_CENTER/PRODUCT/FRM_SEARCH_CMT.aspx)  3. ใช้งานอย่างถูกวิธีบางครั้งอาการแพ้สามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้งานผิดวิธี เช่น ใช้กาวมากเกินไป หรือล้างเครื่องสำอางไม่สะอาด ทำให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรก ซึ่งเราควรล้างกาวติดตาสองชั้นด้วยผลิตภัณฑ์ล้างเครื่องสำอางโดยเฉพาะ (Makeup remover) และไม่ควรดึงสติ๊กเกอร์ออกแรงเกินไป เพราะอาจทำให้เปลือกตาเป็นแผลและเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อขึ้นได้ อย่างไรก็ตามหากพบว่าเราใช้งานถูกวิธี หรือใช้สินค้าที่มีคุณภาพแล้ว แต่ยังเกิดอาการแพ้อยู่ อาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากอาการแพ้เฉพาะบุคคล ซึ่งควรทดลองเปลี่ยนยี่ห้อ โดยอาจเลือกจากส่วนผสมที่ไม่มี Latex เพราะทำให้เกิดการแพ้ง่ายนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย

เข้าเดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นสัญญาณให้รู้กันว่าโรงเรียนทั่วประเทศกำลังจะเปิดเทอมกันแล้ว ความคึกคักยามเช้าและเย็นของเด็กนักเรียนจะกลับมาให้เห็นกันอีกครั้ง ทุกๆ วันจะมีเด็กหลายคนที่เลือกเดินทางไปโรงเรียนด้วยตัวเอง บางคนเลือกใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ขณะที่มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารรถรับส่งนักเรียนไปโรงเรียนแทน มีทั้งวิ่งรับส่งในเขตอำเภอ บ้างก็วิ่งรับส่งจากนอกอำเภอเข้าจังหวัด ซึ่งการให้ลูกเดินทางไปกับรถรับส่งนักเรียนจะช่วยทำให้เด็กเดินทางสะดวกสบายขึ้น และทำให้พ่อแม่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการไปส่งเด็กที่โรงเรียนอีกด้วย แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนรู้หรือไม่ว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเราไปโรงเรียนนั้นมีความปลอดภัยแค่ไหน และเราจะเชื่อใจได้อย่างไร จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกผ่านสื่อออนไลน์ระบุว่าในปี 2558 มีรถรับส่งนักเรียนประเภทรถตู้ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกประมาณ 1,204 คัน และมีรถโรงเรียนสีเหลืองคาดดำที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 807 คัน รวมเป็นรถรับส่งนักเรียนและรถโรงเรียนจดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศประมาณ 2,000 คันเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมากกับปริมาณนักเรียนที่มีอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ไม่มีข้อมูลเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบว่าแล้วรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้ขออนุญาตที่วิ่งให้บริการอยู่ทุกวันนี้มีจำนวนกี่คัน   อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียนอาจเกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน และไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ลักษณะนี้เป็นรถไม่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน รวมถึงเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  ส่งผลให้เกิดปัญหา อาทิ พนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็ว ไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง  เฉพาะปี 2559 พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนที่ใช้บริการทั่วประเทศมากถึง 27 ครั้ง มีเด็กได้รับบาดเจ็บ 231 คน และเสียชีวิตถึง 4 คน  เมื่อเราหันมามองดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะพบว่ามีกฎหมายหรือระเบียบที่สำคัญในการกำกับดูแลรถรับส่งนักเรียนอยู่สองฉบับ คือ กฎกระทรวงกำหนดความปลอดภัยในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร พ.ศ. 2555 ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ 2522 และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2526) ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก 2522 โดยกฎหมายทั้งสองฉบับมีเนื้อหาสาระไปในทางเดียวกัน โดยเป็นแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพวิถีชีวิตการใช้รถรับส่งนักเรียนของชุมชน ด้วยการอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน หรือ รย.2  (รถกระบะที่มีที่นั่งสองแถว หรือ รถตู้) มาจดทะเบียนใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้  แต่ต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด  ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นมั่นคงแข็งแรง ไม่มีพื้นที่ให้นักเรียนยืนในห้องโดยสารเด็ดขาด กรณีเป็นรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น และต้องนำรถเข้าตรวจสอบ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งจะได้รับอนุญาตเป็นครั้งคราว คือ ครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้รถรับส่งนักเรียนทุกคันที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถรับส่งนักเรียน” และไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถให้เห็นชัดเจน  พร้อมมีอุปกรณ์ส่วนควบเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก วัสดุภายในรถส่วนของผู้โดยสารต้องไม่มีส่วนแหลมคม ทางประตูทางขึ้นลงหรือเป็นช่องเปิดต้องมีความปลอดภัย โครงสร้างหลังคามั่นคงแข็งแรง และที่สำคัญผู้ขับรถโรงเรียนต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถมาก่อน รวมถึงต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนตลอดการรับส่ง หากพบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีกจนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว แต่ด้วยกฎหมายของประเทศไทยที่กำหนดระเบียบและมาตรฐานการให้บริการของรถรับส่งนักเรียนไว้ในระดับสูง เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน จนทุกฝ่ายเฉยชากับปัญหาและคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนยอมรับกันไปแล้ว แล้วความปลอดภัยของลูกหลานเราจะเป็นยังไง หากทุกคนเป็นแบบนี้….

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 การเลือกซื้อที่นั่งนิรภัย (car seats) สำหรับเด็ก

ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นสำหรับเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 ปี เพื่อใช้สำหรับการเดินทางร่วมไปกับพ่อแม่ในรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งในหลายๆ ประเทศ การติดตั้ง car seat ได้ออกเป็นกฎหมายบังคับ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กและทารก ดังนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลและแนวทางเบื้องต้นในการประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ สำหรับประเทศไทยแม้จะไม่มีกฎหมายบังคับในเรื่องนี้ แต่ก็พบว่าคุณพ่อคุณแม่ต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย และซื้อมาติดตั้งเป็นจำนวนหลายรายทีเดียว บทความนี้ต้องการให้ข้อมูลซึ่งเป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ car seat เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปประกอบในการเลือกซื้อ และใช้งาน car seat ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมมาตรฐานของที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมาตรฐานของที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมี 2 แบบ แบบแรก เรียกว่า เป็นมาตรฐานที่กำหนดตามขนาดของร่างกายเด็ก i-Size (เป็นไปตามมาตรฐาน ECE R 129) แบ่งขนาดของทารกเป็น 2 ช่วงอายุ คือ ตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ขวบ (ขนาดตัวเด็กไม่เกิน 75 เซนติเมตร) และ ตั้งแต่ 1 ขวบ- 4 ขวบ (ขนาดตัวไม่เกิน 105 เซนติเมตร) แบบที่สอง แบ่งตามน้ำหนักของทารก (ตามมาตรฐาน ECE R44)การติดตั้งที่นั่งนิรภัย การติดตั้งที่นั่งนิรภัยควรติดตั้งไว้ทางด้านหลัง เพราะให้ความปลอดภัยสูงกว่าการติดตั้งด้านหน้า ในกรณีที่ ติดตั้งที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กไว้ด้านหน้าข้างคนขับ จำเป็นต้องล็อคถุงลมนิรภัยไม่ให้ทำงาน กรณีเกิดการชน เพราะแรงดันของถุงลมนิรภัยทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ตัวเด็กทารกอย่างรุนแรงที่นั่งนิรภัยแบบไหนที่ป้องกันเด็กและทารกได้เป็นอย่างดี สำหรับทารกแรกเกิดที่นั่งนิรภัย แบบ carry seat ที่สามารถถอดประกอบกับที่นั่งนิรภัยได้ เหมาะสมที่สุด และการติดตั้งที่นั่งนิรภัย ควรติดตั้งในทิศหันหลังให้กับด้านหน้ารถ เนื่องจากลำคอของเด็กทารกยังไม่แข็งแรง ดังนั้นการติดตั้งแบบนี้จะช่วยประคองลำคอของทารกได้ดี การติดตั้งแบบหันหลังนี้ ควรใช้ไปจนถึงทารกหรือเด็กสามารถเดินได้ จึงค่อยเปลี่ยนมาเป็นหันหน้าออกสู่ด้านหน้ารถ เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นจนกระทั่งศีรษะพ้นจากที่นั่งนิรภัย เป็นสิ่งที่บอกคุณพ่อคุณแม่ว่าได้เวลาเปลี่ยนที่นั่งนิรภัยอันใหม่ที่มีขนาดพอเหมาะกับร่างกายของเด็กแล้วที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่มีน้ำหนัก 9- 18 กิโลกรัม (หรืออายุไม่เกิน 4 ขวบ)ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กขนาดนี้มีระบบนิรภัย 2 แบบ แบบแรกเรียกว่า Impact shield และ แบบ Full belt safety harness ข้อดีของที่นั่งนิรภัยแบบ Impact shield นี้ คือ ในกรณีที่เกิดการชนกัน ที่นั่งนิรภัยแบบนี้จะรับแรงกระแทกได้ดีกว่าแบบ Full belt safety harness แต่แบบนี้เด็กจะนั่งได้สบายกว่า แต่การติดตั้งก็จะยุ่งยากกว่า และที่สำคัญ ต้องปรับเข็มขัดให้ติดแน่นกับตัวเด็ก เพราะเมื่อเกิดการชนกัน เข็มขัดจะเป็นส่วนที่ช่วยพยุงและป้องกันไม่ให้เกิดการกระแทกของตัวเด็กที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่มีน้ำหนัก 15- 25 กิโลกรัม (หรืออายุ3 ขวบครึ่ง ถึง 7 ขวบ)ที่นั่งสำหรับเด็กกลุ่มนี้สามารถปรับระดับความสูงของพนักพิงหลังได้ ซึ่งลำตัวของเด็กจะล็อคติดไว้กับ three point safety belt ซึ่งระบบนิรภัยแบบนี้จะเหมาะกับเด็กที่มีอายุมากกว่า 4 ขวบสำหรับการติดตั้งที่นั่งนิรภัยและวิธีการใช้ ควรศึกษาจากคู่มือการใช้งานและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้สมาคมยานยนต์แห่งเยอรมนี ยังได้ทดสอบความปลอดภัยของที่นั่งนิรภัยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเราสามารถดูผลทดสอบเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อที่นั่งนิรภัยได้อีกเช่นกัน บางครั้งก็จะมีการแจ้งเตือนที่นั่งนิรภัยบางยี่ห้อ บางรุ่นที่อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย (www.adac.de) ซึ่งผู้ประกอบการก็จะตอบรับการแจ้งเตือนโดยการเรียกคืนสินค้า หรือนำสินค้ามาปรับปรุงเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับความมั่นใจในการใช้งานสูงสุด(แหล่งข้อมูล: วารสาร Test ฉบับที่ 11/2016)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 เล็บสีเจล สวยให้ปลอดภัย

ผู้หญิงส่วนใหญ่มักต้องการให้เล็บมือและเล็บเท้าสวยงามอยู่เสมอ ซึ่งหนึ่งในวิธีการยอดฮิตเพื่อตกแต่งเล็บให้สวยงามก็หนีไม่พ้นการทาเล็บสีเจล เพราะนอกจากจะทำให้เล็บมีสีสันสวยงามแวววาวกว่าการทาเล็บแบบธรรมดาแล้ว ยังทำให้เล็บสวยนานอยู่ทนทานเป็นเดือนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามการทำเล็บด้วยวิธีดังกล่าวจะมีข้อดีมากหรือน้อยกว่าข้อเสียอย่างไร เราลองไปดูกันมารู้จักเล็บสีเจลกันสักนิดการทาเล็บสีเจล เริ่มเป็นที่นิยมในบ้านเราเมื่อประมาณ 3 - 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการใช้ยาทาเล็บชนิดเจล (Gel nail polish) มาทาลงบนเล็บจริง หรือเล็บที่ต่ออะคริลิคแล้ว โดยยาทาเล็บชนิดนี้มีจุดเด่นตรงที่ติดทนนาน หรืออยู่ได้ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาของแต่ละคน และมีสีสันสดใสสวยงามกว่ายาทาเล็บทั่วไป อย่างไรก็ตามหากต้องการล้างออก ต้องใช้ยาล้างเล็บสำหรับเล็บเจลโดยเฉพาะ และไม่สามารถปล่อยให้แห้งเองได้ ต้องใช้เครื่องอบเล็บเท่านั้น นอกจากนี้วิธีการทาเล็บเจลยังต่างจากการทาเล็บธรรมดา เพราะต้องตะไบหน้าเล็บก่อนลงสี เพื่อช่วยให้สีเกาะหน้าเล็บผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อทาเล็บเจลแม้ยาทาเล็บเจลจะสามารถทำให้สีติดทนนานและสวยงามกว่าปกติ จนเป็นที่นิยมในหมู่สาวๆ อย่างรวดเร็ว แต่ยังมีข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้- หน้าเล็บเสียโฉม เพราะทุกครั้งที่ทาและล้างเล็บเจล ต้องมีการตะไบหน้าเล็บออกเสมอ ซึ่งหากเราทำประจำสามารถส่งผลให้หน้าเล็บพัง หรือมีลักษณะเป็นรอยขูดได้ โดยต้องใช้เวลาดูแลประมาณ 2 – 3 เดือนเพื่อทำให้หน้าเล็บกลับมาปกติเหมือนเดิม นอกจากนี้บางคนอาจเกิดอาการเล็บอ่อนแอ เปราะหักง่าย หรืออักเสบ เพราะถูกตะไบหน้าเล็บออกมากเกินไป- เกิดความผิดปกติที่เล็บ หากอุปกรณ์ที่ใช้สะอาดไม่เพียงพอ สามารถส่งผลให้เชื้อโรคเข้าสู่เล็บหรือเกิดเชื้อราที่เล็บได้ ซึ่งจะทำให้เล็บผิดปกติ เช่น เล็บเป็นขุย เปลี่ยนสี โค้งงอบิดเบี้ยว หรือแตกเปราะ- เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจและดวงตา ตามข้อมูลจากสำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ระบุว่าสารเคมีฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในยาทาเล็บ สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ในกลุ่มผู้ที่ไวต่อสารเคมีได้ โดยหากสัมผัสกับผิวหนังจะปรากฏเป็นผดผื่นและมีอาการคัน หรือหากสูดดมเข้าไปเป็นประจำ สามารถสร้างความระคายเคืองในลำคอ หรือก่อให้เกิดโรคมะเร็งในระบบทางเดินหายใจได้- มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง เพราะเล็บสีเจลต้องถูกทำให้แห้งด้วยเครื่องอบเล็บเจล เนื่องจากไม่สามารถแห้งได้ด้วยแรงลมธรรมดา ซึ่งต้องอบหลายครั้งเพื่อช่วยให้สีแห้งสนิท ดังนั้นผู้ที่ใช้บริการเป็นประจำอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้ เพราะเครื่องอบเล็บเจลใช้ความร้อนจากจากหลอดยูวี (UV) และหลอดแอลอีดี (LED) แต่สามารถป้องกันได้เบื้องต้นด้วยการทาครีมกันแดดที่มือ- ราคาค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันพบว่าอัตราค่าบริการ เริ่มตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันบาท ขึ้นอยู่กับลายที่เลือก ร้านหรือยี่ห้อของน้ำยาเราสามารถเลือกวิธีทำเล็บให้สวยสมใจและปลอดภัยได้ดังนี้- ล้างเล็บอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยป้องกันหน้าเล็บเสียโฉม ซึ่งเราควรเลือกทำเล็บกับช่างผู้ชำนาญ- เว้นช่วงการทำเล็บบ้าง เพื่อให้เล็บเกิดการซ่อมแซมตัวเอง ‪ซึ่งหากพบว่าหน้าเล็บบาง ถลอก หรืออักเสบ ควรดูแลจนกว่าจะหายแล้วค่อยทำใหม่ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน แต่หากพบว่าเล็บไม่มีปัญหาอะไรก็สามารถเว้นระยะ 1-3 เดือนแล้วค่อยทำอีกครั้งก็ได้ ‬‬‬- บำรุงเล็บและมือเสมอ ด้วยการทาครีมกันแดดก่อนเข้าเครื่องอบเล็บเจล และทาครีมบำรุงมือและเล็บเป็นประจำ นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อเล็บ เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารประเภทโปรตีนอย่าง ถั่ว ปลา เต้าหู้ หรืออาหารที่มีวิตามิน A C และ E สูง เช่น กล้วย แคนตาลูป ผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว มะม่วง มะละกอ พริกไทย ฟักทอง มะเขือเทศและเมล็ดธัญพืช หรืออาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสี เช่น อาหารทะเล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เนื้อสัตว์ในร้านฟาสต์ฟูด ปลอดภัยจาก “ยาปฏิชีวนะ” มากน้อยแค่ไหน?

ปัญหาเรื่อง “เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ” เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ที่หลายประเทศต่างก็พยายามเร่งหาทางแก้ไข ในปีนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้นำประเด็นปัญหาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมจนนำไปสู่การเกิดปัญหาเชื้อดื้อยา มาเป็นประเด็นหลักในการรณรงค์ทั่วโลก โดยใช้ชื่อแคมเปญว่า “เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา” (Antibiotics Off the Menu) เป้าหมายสำคัญในการรณรงค์ครั้งนี้ก็คือ เพื่อให้เกิดการลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร ซึ่งในปัจจุบันภาคปศุศัตว์มีการใช้ปฏิชีวนะเพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์ไม่น้อยไปกว่าการใช้ปฏิชีวนะรักษาอาการเจ็บป่วยในคน โดยเป้าหมายหลักในการรณรงค์ครั้งนี้ก็คือบรรดาร้านอาหารฟาสต์ฟูดแฟรนไชส์ชื่อดังที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ที่มีการใช้เนื้อสัตว์มาปรุงอาหารเป็นจำนวนมากฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้เลือกสุ่มสำรวจหาการตกค้างของ “ยาปฏิชีวนะ” ในเนื้อสัตว์ปรุงสุกที่อยู่ในเมนูต่างๆ ของร้านฟาสต์ฟูดชื่อดังที่ขายในประเทศไทย ลองไปดูกันสิว่าคนไทยเรามีความเสี่ยงต่อการได้รับยาปฏิชีวะโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นต้นเหตุขอการเกิดเชื้อดื้อยามากน้อยแค่ไหนทำไมเชื้อดื้อยาถึงอยู่ในเนื้อสัตว์ที่เรากินเพราะ ยาปฏิชีวะ ไม่ได้ถูกนำมาใช้กับคนเท่านั้น แต่ในสัตว์โดยเฉพาะในภาคการทำปศุสัตว์ ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์นั้นมีวัตถุประสงค์ หลัก 3 ประการ คือ 1.เพื่อการรักษา 2.เพื่อการป้องกันโรค และ 3.เพื่อเร่งการเจริญเติบโตสำหรับสาเหตุที่ทำให้ยาปฏิชีวนะมีการตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น น้ำนม ไข่ หลักๆ ก็มาจากการใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี บวกกับความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในการใช้ยา เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน ทำให้เกิดปัญหาโรคติดเชื้อสูง ส่งผลให้เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์มีความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อไม่ให้สัตว์ตายหรือล้มป่วย ส่งผลให้มีการใช้ยาในปริมาณสูง ยิ่งในฟาร์มรายย่อยสถานที่เลี้ยงไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ ยิ่งส่งผลให้สุขภาวะของสัตว์ที่เลี้ยงไว้มีความอ่อนแอและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อการใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี คือ ใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดช่วงเวลา วิธีการใช้ไม่ถูกต้อง ซึ่งการใช้ยาในสัตว์ต้องคำนึงถึงช่วงเวลา อุณหภูมิ และความเป็นกรด-ด่างของน้ำ การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผล ทำให้เกษตรกรหลงคิดไปว่าปริมาณยาที่ใช้ยังไม่เพียงพอนำไปสู่การเพิ่มปริมาณยา ใช้ยาบ่อยและนานขึ้น หรือไปจนถึงการเปลี่ยนไปใช้ตัวยาอื่น รวมทั้งการหยุดใช้ยาที่ไม่ถูกต้องก็ส่งผลให้เกิดการตกค้างในเนื้อสัตว์เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนที่จะนำสัตว์มาบริโภค ซึ่งต้องมีการหยุดยาก่อนตามระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนจะถึงขั้นตอนการแปรูปสู่การบริโภคการใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดชนิด หรือผิดช่วงเวลา รวมทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เชื้อแบคทีเรียในสัตว์เกิดการพัฒนายีนส์ต้านทานยามากขึ้นนอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องการใช้ยาอย่างผิดกฎหมาย คือ การนำยาปฏิชีวนะในรูปเภสัชเคมีภัณฑ์ ซึ่งไม่ใช่ยาสำเร็จรูปที่ได้รับขึ้นทะเบียนมีฉลากและเอกสารกำกับยาอย่างถูกต้องตามกฎหมายไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ หรือการนำยาปฏิชีวนะสำหรับคนไปใช้กับสัตว์ ซึ่งส่งผลให้การใช้ยาไม่ได้ผลการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเชื้อดื้อยาที่ตกค้างในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยา เกิดการแพ้ยา และ เกิดเชื้อดื้อยาการใช้ยาในสัตว์อย่างไม่ถูกต้อง มีโอกาสที่จะเกิดเชื้อดื้อยาในสัตว์ซึ่งสามารถพัฒนาเชื่อดื้อยาแบบข้ามกลุ่ม ทำให้ทำเชื้อดื้อยาชนิดนั้นส่งผลต่อการรักษาโรคในคน โดยเชื้อดื้อยาในสัตว์นั้นสามารถถูกส่งผ่านมายังคนได้ 3 วิธีหลักๆ คือ 1.การบริโภคเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ 2.การสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะผู้เลี้ยง และ 3.การรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น ในแหล่งน้ำและดินใกล้ฟาร์มเลี้ยงกลุ่มยาปฏิชีวนะที่วิเคราะห์1.Tetracycline group ประกอบด้วย Chlortetracycline และ Doxycyclineยาปฏิชีวนะกลุ่มเททระไซคลีน มีสรรพคุณ ใช้รักษาโรคติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อในปาก โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ 2.Colistin ประกอบด้วย Colistin A และ Colistin B โคลิสติน ใช้ในการรักษาอาการติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียหลายชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการติดเชื้อในปอดและทางเดินอาหาร3.Beta-lactam groups ประกอบด้วย Amoxicillinเบต้า-แลคแทม ใช้รักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โพรงจมูกอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนกลาง4.Macrolide groups ประกอบด้วย Tylosin tartrateยาปฏิชีวนะในกลุ่ม แมคโครไลด์ ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง รวมทั้งยังช่วยใช้ในการเร่งการเจริญเติบโตผลการทดสอบผลการสุ่มเก็บตัวอย่าง เนื้อสัตว์ปรุงสุกในเมนูอาหารของร้านฟาสต์ฟูด 18 ตัวอย่าง จาก 7 แหล่งซื้อ พบว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 1 ตัวอย่าง คือ เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน ที่พบ Doxycycline ในกลุ่มยา Tetracycline ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม(ug/kg)ทั้งนี้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง ที่เป็นประกาศควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ โดยสารดังกล่าวถูกใช้เพื่อมุ่งหวังในการรักษา ป้องกัน วินิจฉัยโรค หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงทางสรีระหรือพฤติกรรมของสัตว์โดยข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้พบการตกค้างของยาในกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ในเนื้อไก่สูงสุดได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อเนื้อไก่ 1 กิโลกรัมเท่ากับว่า ปริมาณยาปฏิชีวนะที่พบตกค้างในตัวอย่าง เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน ที่ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา หรือ “โรคติดเชื้อในกระแสเลือด” ประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000 – 38,000 คน ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาทนั่นเป็นเพราะยาที่คุณใช้อยู่มีส่วนผสมของ “ยาต้านแบคทีเรีย” โดยไม่จำเป็นทำให้เกิด “เชื้อดื้อยา” ที่มา : ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)ฟาสต์ฟู้ดกับยาปฏิชีวนะปีที่แล้วองค์กรผู้บริโภคของสหรัฐฯ Consumers Union ร่วมกับองค์กรพันธมิตรด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทำการสำรวจแนวปฏิบัติเรื่องการใช้เนื้อสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะในเมนูอาหารของร้านฟาสต์ฟู้ด 25 แบรนด์ดังในอเมริกา และพบว่ามีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่มีแผนหรือนโยบายดังกล่าวแต่ผลการสำรวจในปีนี้ (ซึ่ง Consumers Union ประกาศเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา) อยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีถึง 9 แบรนด์จาก 25 แบรนด์ที่หันมาใช้นโยบายที่ทำให้เกิดการลดหรือเลิกใช้ยาปฏิชีวนะอย่างผิดวิธีในการเลี้ยงไก่ หมู หรือวัวในภาพรวมแล้วแบรนด์ร้านอาหารเหล่านี้แสดงให้เห็นความพยายามในการจัดซื้อจัดหาเนื้อสัตว์จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ และข่าวดีสำหรับผู้บริโภคคือภายในปี 2560 เนื้อไก่ที่ขายในร้าน Chipotle / แมคโดนัลด์ / Panera Bread / และซับเวย์ จะปลอดจากยาปฏิชีวนะผลการให้คะแนนปีนี้ปรากฏว่า Chipotle และ Panera Bread ยังรักษาเกรด A จากปีที่แล้วไว้ได้ซับเวย์ถีบตัวขึ้นจากเกรด F มาเป็น B พร้อมคำมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้เนื้อไก่ในเมนูของร้านจะไม่มียาปฏิชีวนะ และในอีก 9 ปีข้างหน้าบริษัทมีแผนจะใช้เนื้อสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะทั้งหมดด้วยChick-fil-A ได้เกรด B ไปครองเพราะสามารถทำตามแผนการหยุดใช้เนื้อไก่ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะภายในปี 2561 ไปได้ถึงร้อยละ 25 แล้วตามมาติดๆ คือแมคโดนัลด์ที่ปีนี้ได้เกรด C+ ไปครอง เพราะมีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้และจัดซื้อเนื้อไก่จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเท่านั้นส่วนดังกิ้นโดนัท ที่ปีก่อนเคยได้ถึงเกรด C ปีนี้กลับสอบตกเป็นเพื่อน เบอร์เกอร์คิง เคเอฟซี และสตาร์บัคส์ เพราะปรับเปลี่ยนนโยบายของบริษัทให้ยอมรับการใช้เนื้อสัตว์ที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 170 Security suite 2015

อัพเดทกันอีกครั้งกับโปรแกรมรักษาความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของคุณ เมื่อเราเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ต้องพึ่งพาการเชื่อมต่อกับเครือข่ายออนไลน์มากขึ้น ความเสี่ยงต่อการติดไวรัสหรือถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวจึงมีมากขึ้น นอกจากนั้นเรายังมีอุปกรณ์หลากหลายทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ้ค แทบเล็ต และสมาร์ทโฟน หลายคนจึงต้องการความมั่นใจว่าการทำงานหรือการใช้ชีวิตจะไม่สะดุด ด้วยการใช้โปรแกรมรักษาความปลอดภัย คราวนี้องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT (International Consumer Research & Testing) ได้ทดสอบโปรแกรมดังกล่าว 18 โปรแกรม* (แบบเสียเงินซื้อ 15 โปรแกรม และแบบดาวน์โหลดฟรี 3 โปรแกรม) ซึ่งการทดสอบครั้งนี้เป็นการวัดประสิทธิภาพในการป้องกันมัลแวร์ ประสิทธิภาพของไฟร์วอลล์ ความสะดวกในการใช้งาน และการใช้หน่วยความจำในตัวเครื่อง โดยให้น้ำหนักในแต่ละหัวข้อร้อยละ 60 15 15 และ 10 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังดูเรื่องความสามารถในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลด้วย (แต่ไม่นำคะแนนจากหัวข้อนี้มาเฉลี่ยในคะแนนรวม) ติดตามคะแนนด้านต่างๆ ได้ในหน้าถัดไป ผลการทดสอบยืนยันอีกครั้งว่ายังไม่มีโปรแกรมที่สามารถให้ความคุ้มกันได้เต็มร้อย รปภ.คนสำคัญที่สุดยังต้องเป็นตัวเราเองที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งยวดเวลาที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และอ่านเงื่อนไขต่างๆเสมอก่อนที่จะใส่ข้อมูลสำคัญส่วนตัว หรือคลิ๊ก “ตกลง” ปลงใจไปกับหน้าจอใดๆ   *คอมพิวเตอร์ที่ทดสอบโปรแกรมเหล่านี้ ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows 8.1                

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 98 โปรแกรมไหนให้ความมั่นใจคุณได้มากกว่า

กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบโปรแกรมรักษาความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว ให้กับผู้ใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ท จากองค์กรทดสอบสากล (ICRT) เจ้าเก่าที่เราเป็นสมาชิกอยู่ การทดสอบครั้งนี้มีโปรแกรม (เวอร์ชั่นปี 2009) ทั้งหมด 15 โปรแกรมด้วยกัน ที่มีราคาตั้งแต่ 1,300 ถึง 3,400 บาท ประเด็นทดสอบ1. ประสิทธิภาพในการป้องกันการถูกเจาะข้อมูล (Firewall)2. ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสและสปายแวร์ 3. ความสะดวกในการลงโปรแกรม 4. ความสะดวกในการใช้งาน   ข้อสรุปจากการทดสอบ- เรายังไม่พบว่ามีโปรแกรมใดได้ 5 ดาว ในทุกๆหัวข้อที่ทดสอบ- ยกเว้นในเรื่องของ การป้องกันการถูกเจาะข้อมูลที่ที่ได้ 5 ดาว ไป 2 โปรแกรมคือ Gdata และ Bitdefender- 5 อันดับแรกของโปรแกรมที่ได้คะแนนสูงสุดได้แก่ Gdata Bitdefender Kaspersky Avira และ F-secure สำหรับคะแนนโดยละเอียดในแต่ละด้าน สามารถดูได้จากตารางต่อไปนี้ โปรแกรม เวอร์ชั่น คะแนนรวม ป้องกันการถูกเจาะข้อมูล (Firewall) การป้องกันไวรัสและสปายแวร์ ความสะดวกในการลงโปรแกรม ความสะดวกในการใช้งาน ราคา*   Gdata Internet Security 2009 4 5 4 4 4 1,600 Bitdefender Internet Security 2009 4 5 3 4 4 1,300 Kaspersky Internet Security 2009 4 4 3 4 4 2,200 Avira Premium Security Suite 4 4 3 3 4 1,800 F-secure Internet Security 2009 4 3 3 4 4 3,200 McAfee Internet Security Suite with Site Advisor 2009 3 4 3 4 4 2,900 Panda Internet Security 2009 3 4 3 4 4 3,200 Bullguard Internet Security 8.5 3 4 3 3 4 2,500 Symantec Norton Internet Security 2009 3 3 3 3 4 3,400 Checkpoint ZoneAlarm Internet Security Suite 2009 3 3 3 4 4 1,700 Trend micro Internet Security 2009 3 4 2 4 4 2,900 Agnitum Outpost Security Suite Pro 2009 3 5 2 4 4 2,700 Avg Technologies Security Suite 3 4 2 4 4 2,300 Steganos Internet Security 2009 3 4 2 4 4 1,700 CA Internet Security Suite Plus 2009 2 3 2 4 3 2,800 หมายเหตุ ราคาที่แจ้งนั้นเป็นราคาที่สำรวจจากเว็บไซต์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ก่อนตัดสินใจซื้อ สมาชิกควรตรวจสอบราคาอีกครั้งหนึ่ง และอย่าลืมสอบถามผู้ขายด้วยว่าเราสามารถนำไปลงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้กี่เครื่อง (บางเจ้าอาจให้ลงได้ถึง 5 เครื่อง)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point


ฉบับที่ 141 ไม่รู้ ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัย

เช้าวันนี้ (อังคารที่ 9 ตุลาคม 2555) เป็นวันที่พายุ แกมี ซึ่งมีสัญชาติเกาหลีได้เคลื่อนผ่านประเทศไทยเตรียมเข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อนพม่า ดังนั้นปริมาณฝนตกในประเทศไทยจึงลดลงอย่างน่าดีใจ โดยเฉพาะผู้เคยเป็นโรคประสาทจากน้ำท่วมปี 54 พายุลูกนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าที่คาดกันเนื่องจากไปพักผ่อนกับเพื่อนในเวียดนามเสียนาน แถมเมื่อเข้ากัมพูชาก็ไปติดใจในโบราณวัตถุสมัยขอมเสียจนดูเหมือนไม่อยากเข้าไทย ผู้เขียนเป็นคนนอนตื่นเช้าจึงได้มีโอกาสดูข่าวทางโทรทัศน์ช่อง 3 ช่อง 7 และ ช่อง 9 ก่อนไปทำงานเป็นประจำ เช้านี้ได้ฟังข่าว (ซึ่งภายหลังไปตามรายละเอียดจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ 2 ฉบับในอินเตอร์เน็ต) กล่าวว่า สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล เกาหลีใต้ ประกาศเขตภัยพิบัติพิเศษ บริเวณพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศคือ เมืองกูมิ หลังเกิดอุบัติเหตุสารเคมีคือ กรดไฮโดรฟลูออริก 8 ตัน รั่วไหลเนื่องจากการระเบิดขณะทำการขนย้ายในโรงงานแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิต 5 ศพ และมีประชาชนเจ็บป่วยกว่า 3,000 คน ด้วยอาการคลื่นไส้ มีผื่นคันตามร่างกาย รวมถึงเจ็บคอและเจ็บหน้าอก อุบัติเหตุนี้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมกว่า 500 เอเคอร์ คร่าชีวิตสัตว์ 3,200 ตัว และทำให้บริษัท 80 แห่ง จำเป็นต้องปิดตัวลง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 17.7 พันล้านวอน (ราว 492 ล้านบาท ) ข่าวกล่าวอีกว่า ประชาชนกว่า 300 คน จากหมู่บ้านบองซานรี และอิมเชินรี ต้องย้ายไปยังสถานที่ปลอดภัยชั่วคราว ท่ามกลางความกังวลต่อปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน ในแถลงการณ์ดังกล่าวของรัฐบาลเกาหลีใต้ยังกล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่เมืองกูมิ (ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ห่างจากรุงโซลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 200 กม) ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุครั้งนี้จะได้รับความช่วยเหลือด้านการเงิน ที่ครอบคลุมถึงการได้ลดภาษีเป็นการชั่วคราว และค่าชดเชยจากส่วนราชการในจำนวนที่เหมาะสม จากข่าวดังกล่าวซึ่งดูเหมือนจะธรรมดามาก เพราะนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ของบ้านเราก็มีการรั่วไหลของสารเคมี (ซึ่งเป็นสารที่มีการพิสูจน์แล้วว่าก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง) เป็นประจำ (โดยเฉพาะตอนน้ำท่วมปลายปี 54 นั้น ตอนเข้าไปล้างบ้านผู้เขียนยังพบคราบน้ำมันสีดำลอยอยู่รอบบ้าน ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าคงเป็นสารเคมีจากนิคมอุตสาหกรรมที่ เอาอยู่ ทั้งหลาย) แต่เราก็ยังรู้สึกเฉยๆ ประเด็นสำคัญคือ มีผู้อ่านหรือฟังข่าวสักกี่คนที่รู้ว่า กรดกัดแก้วที่มีชื่อเคมีว่า ไฮโดรฟลูออริก (hydrofluoric acid) นั้นอันตรายเพียงใด ที่สำคัญใกล้บ้านท่านมีใครขายกรดชนิดนี้บ้างหรือไม่ ผู้เขียนเข้าไปในอินเตอร์เน็ตแล้วค้นหาใน Google โดยใช้คำว่า กรดกัดแก้ว ปรากฏว่ามีเว็บเพจขึ้นมา 939,000 รายการ ซึ่งบางรายการก็เป็นความเข้าใจผิดของ Google ที่สับสนระหว่างกรดกัดแก้วและกรดอื่นๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการขายกรดอันตรายต่างๆ ในเว็บ โดยดูไม่ออกว่าหน่วยราชการใดดูแล ในเว็บหนึ่งประกาศว่า  มีสินค้าต่อไปนี้จำหน่ายคือ ปรอท เคมีอุตสาหกรรมสิ่งทอ, กระดาษ ชุบโลหะ, อาหาร, อีเลคโทรนิค, ดอกไม้ไฟ กำจัดน้ำเสีย, น้ำมันพืช, อาหารสัตว์ มีเครื่องหมายรับรองฮาลาล รายการสารเคมีจำนวนกว่าร้อยชนิด ที่สำคัญคือ กรดกัดแก้ว (Hydrofluoric Acid), กรดเกลือ 35% (Hydrochloric Acid), กรดกำมะถัน 98% (Sulfuric Acid), คลอรีน 65-70 % (Calcium Hyprochlorite), โซดาไฟน้ำ 50%, ไนตริก แอซิด 68%, โปตัสเซียม ไฮดร๊อกไซด์ 48%, โปตัสเซียม ไฮดร๊อกไซด์ 95%, โปตัสเซียมเปอร์มังกาเนต, ฟอสฟอริคแอซิด 85%, ฟอร์มิคแอซิด, ฟอร์มาลีน 40% และ แอมโมเนียน้ำ 27% เป็นต้น สารเคมีที่ยกตัวอย่างให้ดูนี้บางชนิดสามารถใช้ทำลายซากสัตว์ (รวมทั้งคน) ให้หายไปจากโลกนี้โดยไม่มีหลักฐานได้ มีตัวอย่างในภาพยนต์จากฝรั่งเศสชื่อ Nikita (La Femme Nikita) ซึ่งฮอลลิวูดนำมาสร้างในภาคอเมริกันชื่อ Point of No Return (เข้าใจว่ามาฉายในเมืองไทยในชื่อว่า The Assassin) ในภาพยนต์เรื่อง Nikita นั้นมีตอนหนึ่งที่ Nikita ซึ่งเป็นนักฆ่าได้ทำลายศพของฝ่ายตรงข้ามในอ่างอาบน้ำที่ทำด้วยกระเบื้องโดยการเอาน้ำกรดเข้มข้นราดลงไปบนศพจนเกิดควัน จากการที่กรดเผาไหม้ศพคนจนกลายเป็นของเหลว จากนั้น Nikita ก็เปิดน้ำก๊อกราดศพละลายลงท่อระบายน้ำไป วิธีการทำลายศพด้วยกรดเข้มข้นนั้นไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการเคมี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่มีหน้าที่วิเคราะห์แร่ธาตุหรือสารเคมีบางชนิดในอาหาร จำเป็นต้องทำลายเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อให้หมดไป เพื่อให้ทำการวิเคราะห์ได้ตามต้องการ กรดที่นักวิทยาศาสตร์ใช้นั้นเข้มข้น รุนแรง และภาชนะที่ใช้นั้นก็ต้องเป็นแก้วชั้นดีเท่านั้น การวิเคราะห์ถึงจะสำเร็จได้ตามประสงค์ แต่สิ่งเหล่านี้ใช้ไม่ได้กับกรดกัดแก้ว สมัยที่ผู้เขียนจบวิทยาศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใหม่ๆ ได้ไปทำงานเป็นนักวิเคราะห์ที่ศูนย์วิจัย โรงพยาบาลรามาธิบดี มีหน้าที่ในการวิเคราะห์องค์ประกอบของอาหารต่างๆ จนวันหนึ่งก็มีตัวอย่าง ก้อนหิน ระบุให้วิเคราะห์แร่ธาตุหลายชนิด ซึ่งปัญหาที่สำคัญคือ การย่อยสลายองค์ประกอบหลักที่เป็นหินนั้นใช้กรดธรรมดาไม่ได้ ผู้เขียนจึงไปเปิดคู่มือการวิเคราะห์หินก็พบว่า กรดที่ใช้ย่อยสลายหินได้คือ กรดกัดแก้ว ซึ่งเป็นกรดที่สามารถกัดให้ภาชนะที่เป็นแก้วกร่อนได้ ในการวิเคราะห์แร่ธาตุในอาหารนั้น ภาชนะที่ใช้โดยปรกติจะทำจากแก้วเนื้อดี แต่กรณีการวิเคราะห์จากก้อนหินโดยอาศัยกรดกัดแก้วเป็นตัวช่วยนั้น ภาชนะที่ใช้ต้องทำจากโลหะที่ชื่อ เซอร์โคเนียม (Zirconium) เท่านั้น การย่อยสลายถึงจะสามารถทำได้โดยปลอดภัย ดังนั้นถ้าเป็นไปตามข่าวที่เกิดในเกาหลี สิ่งที่จะเป็นหายนะตามมาสำหรับคนเกาหลีในบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุก็คือ คงมีหลายคนติดเชื้อโรคจนตายในภายหลัง เพราะผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ได้สูดดมกรดกัดแก้วเข้าปอดไปในปริมาณที่คงไม่ตายทันที เพราะสามารถถูกอพยพไปอยู่เมืองอื่นได้ แต่สุขภาพของร่างกายโดยเฉพาะปอดคงไม่ปลอดภัย เนื่องจากกรดกัดแก้วคงกัดเนื้อเยื่อปอดทำให้เกิดแผลจนสามารถติดเชื้อโรคในอากาศซึ่งปรกติไม่สามารถทำอันตรายคนที่มีปอดแข็งแรงได้ ความช่วยเหลือด้านการเงิน ที่ครอบคลุมถึงการได้ลดภาษีเป็นการชั่วคราว และค่าชดเชยจากส่วนราชการในจำนวนที่เหมาะสมนั้น จริงแล้วไม่คุ้มกับสิ่งที่เกิดขึ้นต่อประชาชนเลย ทั้งนี้เพราะอุบัติเหตุของโรงงานอุตสาหกรรมนั้นเป็นสิ่งที่คาดคะเนได้ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ประชาชนได้ทราบหรือไม่ว่า โรงงานที่อยู่ในละแวกบ้านของตนนั้นมีสารเคมีที่ก่ออันตรายร้ายแรง สมัยที่ผู้เขียนจบการศึกษากลับมาทำงานใหม่ๆ นั้น เป็นจังหวะเริ่มแรกของการสร้างนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งมีการออกแบบและข้อกำหนดต่างๆ เพื่อความปลอดภัยค่อนข้างน่าเชื่อถือ มีอาจารย์ผู้ใหญ่ที่เคารพมาเล่าให้ฟังว่าได้ไปซื้อที่แถวนิคมไว้บ้างเพื่อเก็งกำไร ซึ่งก็คงได้กำไรอย่างที่ตั้งใจเพราะคนไทยมักมองว่า สถานที่ใดถ้าจะต้องมีคนเข้าไปทำงานเยอะมักมีราคาดี เนื่องจากเป็นทำเลค้าขาย โดยไม่ได้ดูว่า นิคมอุตสาหกรรมนั้นต้องใช้สารเคมีมากๆ ยิ่งถ้าเป็นอุตสาหกรรมด้านปิโตรเคมีนั้น สารเคมีที่เอามาใช้มักก่อมะเร็งได้แทบทั้งนั้น ในหลักการด้านพิษวิทยาที่ผู้เขียนเรียนมาสอนให้รู้ว่า โรงงานอะไรก็ตามที่ผลิตสารพวกโพลีเมอร์มักใช้สารที่เป็นโมโนเมอร์มาผลิต สำหรับตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นโพลีเมอร์แล้วนั้นความเป็นอันตรายมักหมดไปเนื่องจากกลายเป็นสารเฉื่อย ไม่ค่อยทำปฏิกิริยากับใครแล้ว แต่สารตั้งต้นคือ โมโนเมอร์ นั้นโดยธรรมชาติต้องไวมากๆ จึงจะถูกผลิตเป็นโพลีเมอร์ได้ ความไวนั้นรวมไปถึงการที่สามารถทำปฏิกิริยากับ ดีเอ็นเอ หรือหน่วยพันธุกรรมในเซลล์ของร่างกายมนุษย์ด้วย ดังนั้นประเด็นสำคัญที่อยากให้ผู้อ่านเก็บไว้คิดคือ ถ้าบริเวณโดยรอบบ้านท่านนั้นมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ก็ควรรู้ว่าเขาใช้สารเคมีอันตรายหรือไม่ ถ้ามีการใช้แล้วเกิดปัญหาเช่น ไฟไหม้หรือระเบิด ท่านจะทำอย่างไร บางครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นโรงงานอุตสาหกรรม แค่บ้านจัดสรรบางแห่งที่ราคาไม่แพง ก็มีคนซื้อบ้านไว้เก็บสารเคมีอันตรายเช่นกัน ดังนั้นถ้าท่านเห็นว่าเพื่อนบ้านไม่ค่อยอยู่บ้านแต่มีถังอะไรไม่รู้กองอยู่เต็ม ก็ไม่ควรเมินเฉย หาเวลาคุยกัยหน่วยงานของรัฐที่ดูแลความสงบของบ้านเมือง ไม่ว่าเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ และถ้าพบว่าไม่ไหวจริงหรือไม่รู้จะทำอย่าง ก็ลองติดต่อที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดู อาจมีทางป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างได้หวังรอค่าชดเชยเลย เพราะไม่คุ้มเหมือนตัวอย่างที่เกิดไฟไหม้คลังสินค้าของท่าเรือคลองเตยเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน คนที่เหลือรอดชีวิตนั้น ตอนนี้ดูไม่จืดเลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 186 ดูแลผู้สูงวัย ใช้ยาปลอดภัย และเป็นสุข

ผมมีโอกาสไปร่วมฟังการนำเสนอผลงานวิชาการของ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในจังหวัด น้องพยาบาลได้เล่าประสบการณ์ที่พบปัญหาของผู้สูงวัยเกี่ยวกับการใช้ยามากมาย เช่น เมื่อแพทย์จ่ายยาขับปัสสาวะเพื่อใช้ในการรักษาโรคความดันให้กับคุณยายท่านหนึ่ง คุณยายกลับไม่ยอมรับประทาน อ้างว่าตนเองก็ปัสสาวะได้เป็นปกติ ทำไมจะต้องทานยาขับปัสสาวะอีก  หรือแพทย์สั่งจ่ายยาให้คุณป้ารายหนึ่งรับประทานครั้งละครึ่งเม็ด เจ้าหน้าที่ก็เข้าใจว่าแกรับประทานยาตามที่ให้จนครบ เพราะยาหมดตามเวลา แต่มารู้ภายหลังว่าแกหักเม็ดยาไม่เป็น เลยใช้มีดสับ หลังๆ ขี้เกียจสับ เลยกินทีละเม็ดวันเว้นวัน เมื่อครบกำหนดยาก็หมดพอดีนี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น เพราะจากประสบการณ์ของน้องๆ เภสัชกรที่ได้ลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วยร่วมกับทีมสุขภาพ ก็มักจะมาเล่าให้ฟังเสมอๆ ว่า ผู้ป่วยสูงวัยหลายราย ไม่ได้รับประทานแต่ยา แต่ยังรับประทานผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกด้วย จนได้รับผลข้างเคียงอันตรายหลายรายเช่นกัน  ดังนั้นในขณะที่สังคมเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย การเตรียมเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงจากการใช้ยาและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของผู้สูงวัย จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่พวกเราต้องหันมาใส่ใจอย่างละเอียดมากขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้สูงวัย และญาติพี่น้องหรือผู้ดูแลทีมเจ้าหน้าที่ ต้องใส่ใจในการพิจารณาสั่งจ่ายยาให้เหมาะสม ควรเลือกยาที่สะดวกในการใช้ของผู้สูงวัย เมื่อจะส่งมอบยาก็ต้องแนะนำข้อมูลต่างๆ ให้ละเอียด สื่อสารให้ผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้สูงวัยเข้าใจอย่างดี ข้อความบนฉลากควรเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย เขียนด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่เท่าที่ผู้ป่วยหรือผู้ดูแล จะสามารถอ่านได้สะดวก ตัวผู้ป่วยเอง หากสงสัยหรือไม่มั่นใจ ก็ต้องถามให้หมดสิ้นความสงสัย หากเกรงว่าจะลืมหรือจำไม่ได้ ก็ควรจดบันทึกเพิ่มเติม หรือเขียนกำกับไว้ที่ซองยาหรือฉลากยา  ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย ต้องพยายามสังเกตให้ดีว่าผู้ป่วย รับประทานยาตรงตามที่ได้รับคำแนะนำมาหรือไม่ และหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วยด้วยว่ามีอาการผิดปกติหรือเปล่า หากมีอาการผิดปกติ ควรสอบถามผู้ป่วยให้ละเอียด เช่น เกิดอาการเมื่อไร  ผู้ป่วยได้รับประทานผลิตภัณฑ์อื่นๆ ร่วมด้วยหรือเปล่าและที่สำคัญทั้งผู้ป่วยและญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย ไม่ควรซื้อผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตามคำโฆษณา เพราะผู้ป่วยสูงวัยที่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังต่างๆ  มักเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะถูกชักชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากผู้ขาย หรือถูกชวนไปตรวจสุขภาพฟรีๆ แล้วโน้มน้าวให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่างๆ มาใช้  สุดท้ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ บางทีกลับทำให้อาการป่วยเพิ่มมากขึ้นหรืออาจทำให้ได้รับอันตรายเพราะมีข้อมูลมากมายที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่โอ้อวดสรรพคุณเหล่านี้ มักมีสารปนเปื้อนอันตราย เช่น เครื่องดื่มสมุนไพรแก้ปวดเมื่อยที่ผสมสารสเตียรอยด์ ผลิตภัณฑ์บำรุงตับไตไส้พุง บำรุงตา บำรุงหัวใจ ดังนั้นหากไม่แน่ใจ ขอให้สอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านก่อนตัดสินใจนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >