ฉบับที่ 276 เจอสิ่งแปลกปลอมในกระปุก “ผิวส้ม” อบแห้ง

        “ผิวส้ม” อบแห้ง ขนมย้อนวัยยุค 90 ยอดฮิต ที่คุณกล้าชื่นชอบเป็นอย่างมากแต่มันกับทำให้คุณกล้าต้องเซ็ง! เพราะดันเจออะไรก็ไม่รู้แปลกๆ ปนมาด้วยนะสิ         คุณกล้าได้มาร้องเรียนและเล่าเรื่องราวให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขาได้ไปซื้อ “ผิวส้ม แมนดาริน” มาจากร้านขายยาแถวบ้าน 1 กระปุก ราคา 25 บาท หลังจากได้มาเขาและครอบครัวก็แบ่งกันรับประทานจนผิวส้มที่อยู่ในกระปุกเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลืออยู่ 2 ชิ้นสุดท้าย คุณกล้าบอกว่าใน 2 ชิ้น สุดท้ายนี้ละที่ทำให้เขาถึงกับต้องร้องยี้! เพราะได้เจอกับ “ก้นบุหรี่” ในกระปุกแถมเหมือนก้นบุหรี่จะได้ผ่านการใช้งานมาแล้วซะด้วย จึงทำให้เขาและครอบครัวเริ่มเกิดความกังวล เนื่องจากได้รับประทานไปแล้ว อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนและโรคติดต่ออยู่ด้วยหรือไม่ แค่นึกก็ขนลุกขนพอง แล้วถ้ามีอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตได้ จึงอยากได้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้คำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรดี?              แนวทางการแก้ไขปัญหา                    ก่อนหน้าจะเข้าปรึกษากับมูลนิธิฯ คุณกล้าก็ได้ติดต่อไปที่ทางบริษัทผู้จำหน่ายสินค้า “ผิวส้ม อบแห้ง” แล้วแต่ยังเจรจากันไม่ได้ข้อตกลงอันเป็นที่หน้าพอใจ ซึ่งทางคุณกล้าเองนั้นต้องการขอเรียกค่าเสียหายครั้งนี้เป็นมูลค่า 25,000 บาท         ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปทางบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าดังกล่าวเพื่อช่วยเจรจากับทางบริษัท ซึ่งทางบริษัทก็ได้แจ้งว่า “ขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น และให้เหตุผลว่า สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ทางบริษัทสั่งตัวผิวส้มเข้ามาแล้วดำเนินการบรรจุหีบห่อ ซึ่งไม่สามารถควบคุมการบรรจุหีบห่อได้” และจะชดเชยผู้เสียหายเป็นขนมชุดใหญ่ รวมถึงคืนเงินค่าสินค้าและยกเลิกการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวอีกด้วย ถือว่าผู้จำหน่ายมีความรับผิดชอบอยู่พอสมควร         อย่างไรก็ตามทางผู้ร้องคือคุณกล้าได้ปฏิเสธการชดเชยดังกล่าวพร้อมกับได้ทำหนังสือร้องเรียนไปทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบผู้จำหน่ายขนมดังกล่าวอีกด้วย สำหรับคุณกล้าหากประสงค์ในเรื่องการชดเชยค่าเสียหายก็สามารถใช้สิทธิทางศาลได้เช่นกัน         ฝากถึงผู้บริโภคหากพบเจอปัญหาลักษณะเดียวกับคุณกล้า ควรเตรียมเอกสารดังนี้         1. ถ่ายรูปฉลากและตัวสินค้า รวมถึงสิ่งแปลกปลอมที่พบ พร้อมเก็บหลักฐานตัวบรรจุภัณฑ์และใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน         2. นำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อเป็นหลักฐาน         3.ติดต่อบริษัทเพื่อเจรจาเรื่องการชดเชยค่าเสียหาย         4.ติดต่อทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานกำกับดูแล ด้านอาหารได้แก่ อย. หรือในต่างจังหวัด ร้องเรียนได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เกิดเหตุ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พัก

        เรื่องราวของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของเพจเฟซบุ๊กปลอมหลอกให้โอนเงินจนเสียทรัพย์สินเกิดขึ้นบ่อย แต่ก็ยังมีหลายคนพลาดเพราะความเนียนของมิจฉาชีพ ซึ่งไม่นานนี้คุณพลอยก็ได้ร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเช่นกัน         เรื่องนี้เริ่มจาก คุณพลอย ได้พบ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์โฆษณาที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งสวยงาม ถูกใจมาก คุณพลอยสนใจจึงติดต่อไปจองเข้าพักในวันที่ 23-24 ธ.ค. 66 แอดมินเพจ BEACH VIEW pool Villa ก็ตอบกลับอย่างรวดเร็วแจ้งให้คุณพลอยโอนเงินค่าที่พักทันทีแล้วจะได้ส่วนลด 3,300 บาท จากราคาเต็ม 13,000 บาท คุณพลอยจึงโอนเงินค่าที่พักไปทันที จำนวน 9, 700 บาท  แต่เมื่อโอนเงินแล้วแอดมินเพจยังบอกอีกว่า ต้องโอนค่าประกันที่พักอีกจำนวน  5,000 บาท การจองจึงจะสมบูรณ์ คุณพลอยหลงเชื่อเพราะคิดว่าได้โอนเงินไปแล้ว 9, 700 บาท การติดต่อก็ไม่ได้ขาดหาย แล้วเรื่องเงินประกันก็มีเหตุผล ซึ่งเงินประกันย่อมได้คืนหากไม่มีอะไรเสียหายกับที่พัก เธอจึงโอนเงินไปให้อีก 5,000 รวมเป็นเงิน 14,700 บาทถ้วน         แต่เรื่องราวกลับถูกเปิดเผยว่า นี่คือมิจฉาชีพ เมื่อคุณพลอยเดินทางไปยังสถานที่จริงตามที่เพจระบุกลับไม่พบที่พักสวยหรูอย่างที่โพสต์ไว้เลย เวียนหายังไงก็ไม่เจอ เมื่อถามกับโรงแรมใกล้เคียงก็พบว่าไม่มีที่พักชื่อ Beach View Pool Villa และไม่สามารถติดต่อผู้ขายและแอดมินเพจได้อีกแล้ว จึงรู้ว่าถูกหลอก คุณพลอยจึงแจ้งความเพื่อดำเนินคดีที่ สน.สำเหร่ ทันที ต่อมาเมื่อนำไปไปสืบหาความจริงเรื่อยๆ จึงได้พบว่า แท้จริงแล้วภาพสวยๆ ที่อยู่บนโพสต์นั้นเป็นมิจฉาชีพนำภาพของที่พักชื่อ Canary Good Pool Villa มาเนียนหลอกลวงคน ซึ่งเจ้าของที่พัก (เจ้าของภาพ) ดังกล่าวก็ได้แจ้งความเอาผิดกับมิจฉาชีพแล้วด้วยเช่นกัน  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อผู้บริโภครู้ว่าซื้อสินค้าบริการแล้วถูกหลอก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1.เก็บหลักฐานข้อมูลให้มากที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ขาย , ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้า,บัญชี, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า         2. โทรแจ้งธนาคารอาญัตบัญชีของมิจฉาชีพทันที  เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกง ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคารต่างๆ ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี         3. ไปแจ้งความทันที โดยแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” อย่าทำเพียงลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด! หรือแจ้งความออนไลน์ที่  www.thaipoliceonline.com         4. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เพื่อนำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร และเพื่อให้ เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัว รวมทั้งเพื่อให้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการยกระดับความปลอดภัยของผู้ขายสินค้าด้วย             5.ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เป็นระยะเพื่อตามตัวมิจฉาชีพให้ได้         อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน คุณพลอยแม้จะได้แจ้งความกับตำรวจและติดต่อให้ธนาคารอายัดบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคขอย้ำว่า การมีความรู้เท่าทันไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหรือการป้องกัน เป็นวิธีการที่ดีกว่าการแก้ปัญหาภายหลังแน่นอน  ซึ่งกรณีนี้ที่คุณพลอยถูกมิจฉาชีพหลอกให้จองที่พักในเพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีข้อสังเกตที่ผู้บริโภคสามารถนำไปป้องกันตนเองได้คือ           1. มิจฉาชีพให้คุณพลอยชำระค่าที่พักและค่าจองไปยังบัญชีที่เป็นชื่อบุคคล  ซึ่งหากเป็นโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้อง ชื่อบัญชีจะเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง        2. เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa  มีรูปที่พัก ผู้ติดตามจำนวนมาก และยังมีโชว์ภาพผู้เข้าพัก เหมือนจริงทุกอย่างแต่เท่านั้นยังเชื่อไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบชั้นที่ 2 โดยผู้บริโภค ควรโทรศัพท์ไปติดต่อสอบถาม พูดคุยโดยตรงด้วยให้บ่อยครั้ง เพราะมิจฉาชีพส่วนใหญ่มักจะตั้งระบบไม่ให้สามารถโทรกลับได้ง่าย หากเบอร์ไม่สามารถติดต่อได้ หรือติดต่อได้ยาก จุดนี้จะทำให้เห็นพิรุธได้ว่า ไม่น่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ติดต่อของที่พัก โรงแรมที่จะติดต่อได้ง่ายตลอดเวลา         3. หากเห็นว่ามีผู้เข้ามาพูดคุย หรือแสดงความคิดเห็นในเพจ เราควรเข้าไปดูเฟซบุ๊กของผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ มีลักษณะของผู้ที่เป็นบุคคลจริงหรือไม่  มีข้อสังเกตว่าหากเป็นมิจฉาชีพมักใช้วิธีการจูงใจหลายรูปแบบ เช่น อ้างว่าจะให้เหล้าหรือไวน์ฟรีจำนวนมากเพื่อเร่งรัดให้ตัดสินใจโอนเงิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 5 เรื่องเตือนภัยผู้บริโภค ปี 2567

        ปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับร้องเรียนจากประชาชนทั้งหมด 1,600 เรื่อง ครอบคลุมทั้งเรื่อง บริการสุขภาพ, อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ, สื่อและโทรคมนาคม ,สินค้าและบริการทั่วไป , อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย , การเงิน การธนาคาร , บริการขนส่งและยานพาหนะและเรื่องพลังงานกับสิ่งแวดล้อม ในจำนวนเหล่านี้เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยตลอดปี 2567 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอย้ำเรื่องสำคัญ 5 เรื่องที่ประชาชนควรระวังตัวก่อนตกเป็นเหยื่อสูญเงินทรัพย์สิน    1.มิจฉาชีพหลอกจากการซื้อของออนไลน์         กลุ่มที่ถูกหลอกจากการซื้อของออนไลน์มีหลายลักษณะ ไม่ว่าซื้อของแล้วไม่ได้ของเลยหรือซื้อของแล้วได้ไม่ตรงตามสินค้าที่สั่ง สั่งสินค้าแล้วได้รับแต่ไม่มีคุณภาพเพียงพอให้ใช้งานได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในสินค้าและบริการทุกประเภท ไม่ว่าจะของใช้ โทรศัพท์มือ เสื้อผ้า อาหาร และบริการหลายประเภท เช่น ที่พักโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ         ตัวอย่างล่าสุดของเรื่องร้องเรียนจากความเดือดร้อนของ เพจปลอม ที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือ ผู้เสียหายนั้นถูกมิจฉาชีพจาก เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์ภาพข้อความและที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี หลอกให้จองที่พัก โดยเมื่อผู้เสียหายเห็นรูปที่พักในเพจสวยถูกใจ จึงติดต่อไปสอบถามรายละเอียดเพื่อจองที่พักในช่วงเดือน ธันวาคม ปี 2566 ที่ผ่านมาซึ่งแอดมินเพจก็ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วและเสนอส่วนลด 3,300 บาท หากเธอโอนเงินค่าที่พักเข้ามาทันที เมื่อผู้เสียหายโอนเงินแล้วต่อมาทางเพจยังแจ้งให้โอนค่าประกันความเสียหายของที่พักอีก 5,000 บาท ผู้เสียหายไม่ได้คิดมากอะไรนัก คิดว่าเงินประกันย่อมได้คืนในตอนสุดท้าย จึงโอนเงินให้อีกเป็นครั้งที่ 2 รวมโอนเงินไปทั้งสิ้น 14,700 บาท  ต่อมาผู้เสียหายจึงพบว่า ความจริงเมื่อเดินทางไปตามแผนที่ไม่พบที่พักดังกล่าว (BEACH VIEW pool Villa) แต่กลับเป็นที่พักของโรงแรมชื่อ Canary Good Pool Villa ซึ่งเจ้าของได้ดำเนินการแจ้งความแล้วเช่นกันที่ถูกมิจฉาชีพนำรูปไปใช้           “ถามว่าทำไมเราถึงเชื่อและหลงโอนเงินไปให้ คือในเพจเขาเหมือนจริงทุกอย่าง มีรูปห้อง มีรูปคนมาเข้าพัก มีรีวิว มีการกดไลค์ มีผู้ติดตามทุกอย่าง เราเลยเชื่อ ตอนนี้เราได้ดำเนินการแจ้งความไปแล้วแต่ถึงตอนนี้ยังไม่ได้เงินคืนเพราะตำรวจออกหมายเรียกไปแล้วแต่เขายังไม่มาเราก็กำลังติดตามเรื่องอยู่” ผู้เสียหายเล่าให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น         มิจฉาชีพหลอกให้ซื้อของและบริการส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของการสร้างเพจปลอมหรือบัญชีโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น ในแพลตฟอร์ม TikTok  ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อขายบนแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบผู้ขายสินค้าหรือบริการได้ มีที่อยู่แน่ชัด ผู้ขายมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญและมีระบบการระงับการเงิน การประกันเงินที่เพียงพอเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น  2.สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้า         กลุ่มเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุดทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและที่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้าครอบคลุมหลายเรื่อง เช่น การเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงาม การซื้อบัตรคอนเสิร์ต การสมัครใช้บริการฟิตเนส บริการท่องเที่ยว รวมถึงการทำสัญญาประกันภัยประเภทต่างๆ ด้วย         สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับ ‘ข้อสัญญา’ แต่ไม่มีกฎ ระเบียบที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สินหลายลักษณะอย่างมาก บางกรณีแม้ความเสียหายอาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่เมื่อประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อก็ทำให้มิจฉาชีพได้เงินไปจำนวนมาก         กรณีการเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงามเกิดได้ทั้งตั้งแต่ถูกล่อลวงให้ใช้บัตรเครดิตแม้ต่อมาผู้บริโภคจะขอยกเลิกก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก อาจต้องเสียเงินไปบางส่วนแล้ว บางกรณีประชาชนถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สเสริมความงามแต่ต่อมาถูกยกเลิกสัญญา หรือสถานเสริมความงามปิดตัวลงไม่สามารถใช้บริการได้ และหลายกรณีเข้าใช้บริการแล้วต่อมากลับพบว่า คลินิกใช้ยาไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หลายกรณีประชาชนเกิดความเสียหายขึ้นกับร่างกายจากการรับบริการแต่ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องเพื่อให้เกิดการชดใช้ค่าเสียหายซึ่งกินเวลาเนิ่นนาน         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังได้รับเรื่องร้องเรียนสินค้าและบริการประเภทประกันภัยมากขึ้นเช่นกัน ทั้งการจ่ายเบี้ยประกันภัยไปแล้วหลายปีแต่เมื่อเจ็บป่วยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองตามสัญญาประกัน  และบางกรณีได้ครบกำหนดสัญญาประกันแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนครบตามที่สัญญาประกันได้โฆษณาไว้  3.ความปลอดภัยของ แอปพลิเคชัน การเงิน การลงทุนต่างๆ         แม้เรื่องนี้ยังมีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิไม่มากนัก  แต่เราเห็นว่าปัจจุบันและในอนาคตคนรุ่นใหม่ๆ จะสนใจการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ในสกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้น ประชาชนจึงต้องศึกษาปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่สม่ำเสมอติดตามปัญหาว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้เสียหายได้รับการเยียวยาชดเชยหรือไม่และจะต้องดำเนินการอย่างไร          กรณีที่มีผู้ร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือผู้เสียหายได้ซื้อขายคริปโต (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มสีเขียว มาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีแล้วก็ไม่มีปัญหาใดๆ แต่ต่อมาในเดือน ธันวาคม 2565 กลับได้รับข้อความแจ้งเตือนว่า   "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว" โดยพบว่าเหรียญถูกสั่งถอนจนไม่มีเหรียญเหลืออยู่ในบัญชีเลย แม้ผู้เสียหายจะแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดี  และทางแพลตฟอร์มสีเขียวได้ดำเนินการส่งข้อมูลรายละเอียดให้ตำรวจเพื่อประกอบสำนวนคดีแล้ว แต่ผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รับเงินคืนยังต้องต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อป้องสิทธิของตัวเอง 4.  สื่อและโทรคมนาคม         หลังบริษัท ทรู และดีแทคได้ควบรวมจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 และ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไข / มาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนากิจการโทรคมนาคม แต่จากการสำรวจโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภคที่สำรวจประชาชนกว่า 2,924 รายพบว่า80% ของผู้ใช้บริการพบปัญหาการใช้งาน โดยเครือข่ายที่พบปัญหามากที่สุด คือ ทรู 47% ดีแทค 34% เอไอเอส 18% และ อื่น ๆ 1% โดย 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า (29%) สัญญาณหลุดบ่อย (19%) ต้องใช้โปรโมชันใหม่ที่แพงขึ้น เมื่อโปร ฯ เดิมหมด (14%) ค่าแพ็คเกจเท่ากันหมด ไม่มีตัวเลือก (12%)  คอลเซ็นเตอร์โทรติดยาก (10%)         ปัจจุบันนอกจากปัญหาสำคัญ 5 เรื่องดังกล่าวแล้ว ประชาชนยังคงร้องเรียนปัญหาอื่นๆ เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทผู้ให้บริการค่ายสัญญาณมือถือ เช่น การถูกหลอกให้เปิดเบอร์โทรศัพท์  กรณีไม่เคยเปิดใช้งานเบอร์ดังกล่าว แต่ถูกเรียบเก็บค่าบริการซึ่งมีอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงประชาชนได้น้อยในหลายพื้นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจาก การย้ายเสาสัญญาณจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเสาสัญญาณภายหลังการควบรวมธุรกิจดังกล่าวด้วย   5.การซื้อ - เช่าอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัย         ปัญหากลุ่มนี้มีหลายลักษณะ เริ่มตั้งแต่การจองคอนโด ที่อยู่อาศัย ที่สุดท้ายคอนโดก็สร้างไม่เสร็จตามกำหนดสัญญา หรือแม้แต่เมื่อเข้าอยู่อาศัย เป็นเวลาไม่นานก็อาจเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความรับผิดชอบจากบริษัทเจ้าของโครงการได้ มีกรณีถูกเรียกเก็บค่าส่วนกลางมากขึ้น หรือไม่ได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางตามสัญญาเพราะมีไม่เพียงพอ  หรือกรณีที่อยู่ไปยาวนานแล้วก็อาจเป็นคอนโดที่ผิดกฎหมายได้ ดังที่เราได้เห็นจากกรณีแอชตัน อโศก มาแล้ว  ......................................................... ผู้บริโภคจะป้องกันตัวเอง ได้อย่างไร           คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่า จากปัญหาที่ประชาชนจำนวนมากถูกมิจฉาชีพหลอกให้ซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ ขอเรียกร้องให้แพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางการขาย รวมถึงบริษัทขนส่ง ควรร่วมเข้ามากำหนดมาตรการกำกับดูแลด้วย โดยควรมีระบบที่สามารถบันทึก บัญชีของมิจฉาชีพหรือผู้ขายที่ใช้ส่งของ ควรมีระบบที่ช่วยกันตรวจสอบว่าหากถูกตีกลับบ่อยครั้ง อาจมีระงับบัญชีชั่วคราว ระงับการโอนเงินให้ร้านค้าเพื่อนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายได้ทันท่วงที         “แพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง Facebook และ TikTok เราจะเห็นว่าเป็นพื้นที่ของการซื้อขายไปแล้ว แต่การจัดทำระบบเพื่อความปลอดภัย การตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวตนของร้านค้ายังพัฒนาไม่มากเท่าแพลตฟอร์มที่พัฒนามาเพื่อการซื้อขายจริงๆ เราจึงเรียกร้องว่าหากประชาชนใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อทำการซื้อขายแล้วเจ้าของแพลตฟอร์มก็ควรจะต้องยกระดับ มาตรการความปลอดภัยมากขึ้นด้วย ให้มีความปลอดภัยที่เพียงพอ”         ในด้านอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัยนฤมลสะท้อนว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อที่จะคุ้มครองผู้บริโภคเลย ผู้บริโภคเป็นผู้เช่าซื้อ ผ่อนไปนาน 3 เดือนหรือ 20 ปี สถานะไม่ได้ต่างกันหากยังผ่อนไม่หมดหรือแต่เมื่อผ่อนหมดไปแล้วผู้บริโภคก็จะใช้อำนาจขัดทรัพย์ไม่ได้ กฎหมายยังมีช่องว่างที่ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบอยู่มาก         กรณีที่มีเรื่องฟ้องคดีแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังพบว่าปัจจุบันมีปัญหาที่บริษัทเจ้าของโครงการยังสามารถโอนถ่ายทรัพย์สินไปเสียก่อน หรือ ทำให้บริษัทล้มละลาย ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายไม่ได้รับการชดเชย เยียวยา ซึ่งเรื่องนี้นฤมลสะท้อนว่าเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง จะต้องร่วมมือกันในอีกหลายฝ่ายเพราะต้องเป็นนโยบาย มีการแก้ไขกฎหมายที่ชัดเจน ประชาชนถึงจะได้รับการคุ้มครองได้         คุณธนทรัพย์  ชิตโสภณดิลก  เจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และแจ้งเบาะแส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กล่าวถึงปัญหาประชาชนถูกดูดเงินออกจากแอพพลิเคชั่น การเงิน การลงทุนต่างๆว่า ปัญหาดังกล่าวเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2564 และเป็นปัญหาอย่างมากในปี 2565 ปัจจุบันแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ประชาชนยังต้องระมัดระวัง          “คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มีฝ่ายงานที่กำกับดูแลความปลอดภัยของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัลอยู่แล้ว ระบบในแอพลิเคชั่นมีการให้ยืนยันตัวตนทุกครั้งที่มีการฝาก - ถอน แต่ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเราต้องให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทัน โดยภาพรวมที่ผ่านมา ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัล มักจะถูกโจรกรรมโดยการเข้าไป พิชชิ่ง คือการกดเข้าเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพสร้างมาเพื่อหลอกหากไม่ได้ดูให้ดีเพราะชื่อโมเดนของเว็บไซต์จะคล้ายกันมากเช่นเว็บไซต์  zintmes เขาจะปลอมเป็น zintmess  เมื่อเข้าไปแล้วก็จะมีช่องให้กรอกข้อมูล Username และ Password เหมือนกัน หากเผลอกรอกข้อมูลนี้ไปแล้วมีโอกาสสูงอย่างมากที่มิจฉาชีพจะมีข้อมูลของผู้เสียหายและเข้ามาในบัญชีจริง โอนถ่ายเงินไปซื้อเหรียญอื่น และโอนต่อไปเรื่อยๆ จนไปต่างประเทศ การสืบว่า บัญชีปลายทางเป็นบริษัท หรือเป็นใคร เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ที่ตำรวจแล้ว หากไปต่างประเทศจึงปรากฏตามข่าวว่าตำรวจยังสามารถดำเนินการได้ล่าช้า”         ด้านปัญหาที่ประชาชนเข้ารับบริการจากคลินิกเสริมความรับ และได้รับความไม่เป็นธรรม ถูกปัดความรับผิดชอบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า สคบ. มีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนในเรื่องนี้ คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 หากประชาชนมีหลักฐานการจ่ายเงินและยังไม่ได้เข้าใช้บริการก็ย่อมสามารถขอรับเงินคืนได้  ซึ่งตามมาตรา 11 พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ระบุให้การโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากประชาชนพบเห็นการโฆษณาจากที่ใดให้เก็บหลักฐานไว้ และเมื่อมีหลักฐานการจ่ายเงินเป็นหลักฐานประกอบอีก กฎหมายจะถือว่าสัญญาเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้ทำสัญญาที่เฉพาะเจาะจงก็ตาม หากภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกประชาชนไม่ได้รับสินค้าหรือใช้บริการ ก็ถือว่าผิดสัญญา สามารถนำหลักฐานการโฆษณา การจ่ายเงิน ในการฟ้องเรียกเงินคืนได้ นอกจากนี้ ยังมี พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 หากประชาชนศึกษาไว้จะเป็นประโยชน์ช่วยคุ้มครองสิทธิของตนเองได้  ทำยังไงไม่ให้ถูกหลอก          ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร รอง สว. (สอบสวน) กก.2 กองบังคับการปราบปราม  การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า 5 อันดับสูงสุดของเรื่องที่มีการแจ้งความออนไลน์เข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือการหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการ หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หลอกให้รักโรแมนส์สแกม และการโดนหลอกผ่านคอลเซนเตอร์           " สำนักงานตำรวจเรามีโครงการ CIB เตือนรักระวังภัย 4 ห้องหัวใจระวังโจรเพราะมี 4 มิจฉาชีพเข้ามาในรูปแบบของความรักคือ 1.1.Romance Scam หลอกให้รัก หลอกให้โอน ด้วยการปลอมเป็นชาวต่างชาติ หน้าตาดี หลอกว่าจะบินมาแต่งงาน ส่งของมีค่ามาให้ ให้เราโอนเงินค่าดำเนินการ 2.Hybrid Scam หลอกให้ลงทุน ด้วยการปลอมโปรไฟล์ให้ดูดี เข้ามาตีสนิทพูดคุยเชิงชู้สาว ก่อนจะใช้คารมคำหวานหลอกให้ลงทุน 3.Sextortion ข่มขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยการหลอกให้ถ่ายรูปโป๊ ชวนแลกภาพโป๊เปลือยก่อนจะนำไปแบล็กเมล์ ข่มขู่จะปล่อยภาพหลุดแลกเงิน 4.Dating fraud ลวงให้ออกเดท ด้วยการ หลอกให้เหยื่อไว้ใจ ขอนัดเจอ ก่อนล่อลวงไปข่มขืน กักขัง คิดถึงสัมพันธ์ออกแบบจำลอง และทำร้ายร่างกาย”         ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร ให้คำแนะนำ/ ข้อสังเกตเพื่อให้ประชาชน ป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไว้ดังนี้        ·     เพจปลอมที่หลอกขายสินค้า หรือให้จองที่พักมักจะลดราคาสินค้ามากเป็นพิเศษ ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาดมากจนผิดสังเกต         ·     บัญชีที่ให้โอนเงินหากเป็นโรงแรมหรือที่พัก ควรเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง ไม่ใช่ชื่อบุคคล         ·     เมื่อติดต่อพูดคุยเพื่อสอบถามรายละเอียดในการซื้อสินค้าหรือบริการแนะนำให้ประชาชนขอเบอร์โทรศัพท์และหมั่นโทรไปสอบถามข้อมูลให้บ่อยครั้งที่สุด เพราะโดยปกติเบอร์โทรศัพท์ของมิจฉาชีพจะตั้งระบบให้ไม่สามารถโทรกลับ หรือติดต่อได้โดยง่าย          ·     หากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกว่าเป็นตำรวจหรือหลอกว่าเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติดใดๆ อย่าตื่นตระหนกแต่ให้ขอข้อมูลจากมิจฉาชีพว่ามาจากสถานีตำรวจใดและให้ประชาชนตรวจสอบกลับไปที่สถานีตำรวจดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มิจฉาชีพอ้างถึงได้ติดต่อมาจริงหรือไม่         ·     มิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกไม่ว่าจะทั้งในเพจปลอม หรือ คอล เซ็นเตอร์มักมีลักษณะเร่งรัดให้ตัดสินใจโดยเร็วโดยการยื่นข้อเสนอ จูงใจต่างๆ หรืออาจทำให้ตระหนก ตกใจไม่มีเวลาคิดตรวจสอบข้อมูลจนรีบโอนเงินไป        ·     ประชาชนควรหมั่นติดตาม ข่าวสารแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเหมือนกันการฉีดวัคซีนการเตือนภัยให้ตัวเอง หากทำไม่สม่ำเสมออาจไม่เท่าทันรูปแบบของมิจฉาชีพที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปทุกวัน         ·     ให้ประชาชนมีสติในการซื้อ ไม่โลภ หากสินค้าราคาถูกกว่าตลาดมากๆ ควรมองว่าเป็นเรื่องผิดสังเกตเพราะปัจจุบัน มีการปลอมสินค้าทุกรูปแบบ เช่น ผงชูรส ผงซักฟอก เป็นต้น  และควรซื้อสินค้าจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ การซื้อในแพลตฟอร์มออนไลน์ควรซื้อในแพลตฟอร์มที่มีการตรวจสอบตัวตนของผู้ขาย   มีมาตรการความปลอดภัย           ·     ปัจจุบัน ประชาชนควรเพิ่มเติมความรู้เท่าทันเทคโนโลยีต่างๆ เช่น รู้ว่า ใช้ AI สร้างบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาได้จริง หรือการการพูดคุยกับ มิจฉาชีพทางคอล เซ็นเตอร์นานๆ แม้หลายคนมองเป็นเรื่องสนุกแต่เทคโนโลยีจะสามารถปลอมเสียงของเราไปหาประโยชน์กับรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือของเราได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2567

ร้องเรียน 9,218 เรื่อง ปัญหามลพิษ ปี 2566        อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยมีประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหามลพิษในปี 2566 เข้ามากว่า 9,218 เรื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงสายด่วน 1650 โดยพบว่าจำนวน 8,043 เรื่อง เป็นกรณีเหตุรำคาญต่างๆ โดยทางกรมควบคุมมลพิษได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้ร้องเรียนและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหา อีก 1,175 เรื่อง ทางกรมควบคุมมลพิษดำเนินการเอง ส่วนใหญ่แหล่งกำเนิดมลพิษ คือ โรงงานอุตสาหกรรม อาคารประเภทต่างๆ การเลี้ยงสุกร โดยได้รับการแก้ไขแล้วกว่า 836 เรื่อง         ทั้งนี้ ประเด็นที่พบมากที่สุด ได้แก่ 1. ปัญหากลิ่นเหม็น  2. ปัญหาฝุ่นละออง-เขม่าควัน และ 3. เสียงดัง-เสียงรบกวน   ผลิต-เผยแพร่สื่อลามกด้วย AI ระวังโทษคุก 5 ปี                    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาใช้สร้างเนื้อหาปลอมเพื่อใช้ในการฉ้อโกงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงผลิตสื่อลามกอนาจาร โดยมักนำภาพของบุคคลมีชื่อเสียง เช่น ดารา นักแสดง นักร้อง มาใช้เป็นใบหน้าตัวอย่างและสร้างคลิปลามกแล้วนำไปเผยแพร่หรือจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทางออนไลน์ ประชาชนต้องระวังต่อภัยดังกล่าว ทั้งนี้ฝากเตือนถึงผู้ที่ผลิตและเผยแพร่สื่อลามกปลอมด้วย AI  ดังกล่าวนั้น จะถือว่าเข้าข่ายความผิดทางอาญาถึง 6 ฐานความผิด ระวางโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี ปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท ระวัง! ไลน์ปลอม ก.ล.ต. อ้างเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน         จากกรณีพบบัญชีไลน์แอบอ้างเป็น “ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ภายใต้สำนักงาน ก.ล.ต.” นั้น   ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทำการตรวจสอบถึงกรณีดังกล่าวแล้ว และได้ทำการชี้แจ้งว่า บัญชีไลน์ที่ว่ามีการปลอมแปลงและแอบอ้างการใช้โลโก้ของหน่วยงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับข้อมูลอาจเข้าใจผิดและหลงเชื่อเข้าลงทุนจนเกิดความเสียหาย  ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่างหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว พร้อมทั้ง ไม่แชร์หรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าวด้วย ลูกชิ้นเถื่อน         กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจค้นพื้นที่ ม.4 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังพบว่ามีการใช้สถานที่ดังกล่าวในการผลิตและจัดส่งจำหน่ายลูกชิ้นไม่ถูกสุขอนามัย ไปในพื้นที่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดลูกชิ้นกว่า 2,400 ถุง พร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆ กว่า 31 รายการ พร้อมนำตัวอย่างส่งตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ลูกชิ้นที่พบมีทั้งมียี่ห้อและไม่มียี่ห้อรวม 9 รายการ ดังนี้ 1.ลูกชิ้นหมูตราตี๋ใหญ่  2.ลูกชิ้นหมูเมืองทอง ตราโกดี KODEE  3. ลูกชิ้นหมูเมืองทองตราที.เค  4.ลูกชิ้นหมูตราตี๋เล็ก  5.ลูกชิ้นเนื้อตราตี๋ใหญ่  6.ลูกชิ้นเนื้อ ตรา เฮง 7.ลูกชิ้นเนื้อตราเมืองเอก 8.ลูกชิ้นหมู AR  9. ชาย 2 ลูกชิ้นหมู         ทั้งนี้  การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มพบ. จี้ ขสมก. ตอบคำถาม “ทำไมรถต่างสี ราคาต่างกัน” ย้ำ นโยบายปฎิรูปรถเมล์ ให้คำนึงถึงผู้ใช้บริการ         16 มกราคม 67 จากกรณีรถยูโรทู "สายปฏิรูป" เปลี่ยนเลขสายใหม่ พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้เดินรถที่ได้สัมปทานโครงการปฏิรูปเอาเลขสายใหม่ไปใช้และเก็บค่าโดยสารเพิ่มอีก 1 บาท (แพงกว่าเดิม) โดยเก็บจากราคา "อัตราขั้นสูง" ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดไว้ในตารางค่าโดยสาร (ทำให้การลดอัตราค่าโดยสารทำได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของอัตราขั้นสูง) เปิดช่องให้ผู้เดินรถเลือกที่จะเก็บค่าโดยสารตามอัตราขั้นสูงหรือหากจะลดราคาก็ให้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับทาง ขสมก. ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารรับรู้ล่วงหน้าสำหรับการขึ้นราคาครั้งนี้ จึงทำให้เกิดกระแสสังคมจากผู้บริโภคในเชิงตำหนิต่างๆ นั้น         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ขอเป็นตัวแทนผู้บริโภคตั้งคำถามไปถึง ขสมก. ที่ต้องตอบให้ชัดว่า รถต่างสี ทำไมต้องเก็บราคาค่าโดยสารต่างกัน และ การเปลี่ยนเลขหมายรถนั้นมีเหตุผลอย่างไร อะไรที่เป็นเหตุต้องปรับงขึ้นราคาค่ารถ โดยไม่แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า” มูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบก ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ตรวจสอบและแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร เพราะนโยบายการ “ปฎิรูปรถเมล์” ของกรมการขนส่ง ควรคำนึงถึงผู้ใช้บริการให้มีรถเมล์บริการอย่างทั่วถึงและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องให้บริการรถที่มีคุณภาพและคิดค่าบริการที่ราคาเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 273 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2566

สถิติร้องเรียนสายด่วน 1569 ไม่ติดป้ายราคามาอันดับหนึ่ง         ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เผยถึง กรณีสถิติการร้องเรียนของสายด่วน 1569 (ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์) ในช่วงมกราคม – กันยายน 2566 ว่า มีเรื่องร้องเรียนรวมทั้งหมด 2,767 เรื่อง และเป็นหมวดเกี่ยวกับอาหารมากที่สุด           สำหรับอันดับเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุด มีดังนี้ 1.ไม่ติดป้ายแสดงราคา 1,390 เรื่อง 2.จำหน่ายราคาแพง 549 เรื่อง โดยมีการเปรียบเทียบกับปีก่อนร้องเรียนเพิ่มถึง 251 เรื่อง 3. ไม่ได้รับความเป็นธรรม อาทิ เช่น ปริมาณสินค้าไม่เหมาะสมกับราคา ป้ายราคาไม่ชัดเจน 359 เรื่อง 4. ใช้เครื่องชั่ง/มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ LPG ไม่ได้มาตรฐาน  240 เรื่อง 5. แสดงราคาขายปลีกไม่ตรงกับราคาที่ขาย 169 เรื่อง         พบ “ถุงยางแจกฟรี” ของ สปสช. แอบขายออนไลน์         ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กล่าวถึง กรณีพบถุงยาที่แจกฟรีโดย สปสช. ไปขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นการนำสิ่งของที่รัฐแจกฟรีให้แก่คนทั่วไปมาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งนี้ขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว ไม่เช่นนั้นทาง สปสช. จะมีการดำเนินการตามกฎหมาย         การแจกถุงยางฟรี คือ สิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยทาง สปสช. จัดให้แก่ชายไทยทุกคน พร้อมกับแจกยาคุมกำเนิดให้แก่สตรี โดยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมอีกด้วย ดังนั้นอย่าหลงเชื่อผู้ที่หาประโยชน์โดยมิชอบเตือนภัย! ระวังไลน์ปลอม “กรมบัญชีกลาง”         กรมบัญชีกลางโดนมิจฉาชีพปลอมไลน์ โดยใช้ชื่อ “สพบ.กรมบัญชีกลาง” และ “กรมบัญชีกลาง” เพื่อหลอกลวงโดยมีการส่งต่อในกลุ่มไลน์ต่างๆ  นางสาวทิวาพร ผาสุก รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า มีมิจฉาชีพแอบอ้างโดยใช้ข้อมูลของกรมบัญชีกลางทำเป็นลิงก์ปลอม แอปพลิเคชันปลอม เว็บไซต์ปลอม หนังสือราชการปลอม เพื่อให้ข้าราชการ ผู้รับบำนาญและบุคคลในครอบครัว ประชาชนหลงเชื่อจนเกิดความเสียหาย จึงขอย้ำว่า “กรมบัญชีกลางไม่มีนโยบายส่งไลน์ SMS หรือโทรศัพท์หาข้าราชการหรือประชาชน ดังนั้นเตือนอย่าหลงเชื่อ อย่ากด อย่าดาวน์โหลด อย่าแชร์เด็ดขาด” เร่งทำมาตรฐาน “บันไดเลื่อน” ป้องกันเหตุไม่คาดฝัน         จากเหตุการณ์ที่พบว่า มีผู้บริโภคหลายคนเจออุบัติเหตุเกี่ยวกับบันไดเลื่อนจนเกิดความไม่ปลอดภัยบาดเจ็บและพิการนั้น วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566  สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) มีมติเห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานดังกล่าวเพิ่มเติมเป็นการด่วน         โดยนางสาว พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า จากเหตุพบว่ามีอุบัติเหตุบันไดเลื่อนและทางลาดเลื่อนในห้างสรรพสินค้าต่างๆ บ่อยครั้ง จึงได้สั่งให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดมาตรฐานบันไดเลื่อน ทางเดินอัตโนมัติ ลิฟท์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ด้านนายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เตรียมออกประกาศมาตรฐาน “บันไดเลื่อน ทางเลื่อน และลิฟท์” เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยและระบบไฟฟ้า โดยอ้างอิงตามมาตรฐานระหว่างประเทศ (มาตรฐาน ISO) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและทั่วโลกได้นำไปใช้ โดยจะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ ส่วนประกอบ การติดตั้ง ความสูง ความเร็ว น้ำหนักบรรทุก รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและการลดความเสี่ยงจากการใช้งาน  ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ใช้งาน ทั้งนี้ คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวได้ภายในเดือนมีนาคม 2567    พิพากษายกฟ้องคดี “กระทะโคเรียคิง” โฆษณาเกินจริง         จากกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มผู้บริโภคที่เสียหาย ได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค และขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากเป็นการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 นั้น         เมื่อ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ศาลแพ่งได้นัดฟังคำพิพากษา ซึ่งนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายและทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลเห็นว่า ตามการโฆษณาของบริษัทว่ากระทะมี 8 ชั้น ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่ากระทะไม่มีคุณสมบัติหรือส่วนประกอบตามที่จำเลยโฆษณา เนื่องจากจำเลยพิสูจน์ว่ากระทะมีการเคลือบกว่า 8 ชั้นจริง แต่ไม่สามารถมองเห็นการแยกชั้นเป็น 8 ชั้นด้วยตาเปล่าได้ ศาลจึงวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ทำการละเมิดสิทธิผู้บริโภค หรือกระทำการอันเป็นการผิดสัญญาที่ไม่ส่งมอบสินค้าให้ตรงตามโฆษณา ดังนั้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจึงเตรียมยื่นอุทธรณ์เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคต่อจนถึงที่สุด         ย้อนกลับไปยังต้นเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคฟ้องร้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น คือ โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่า ”กระทะโคเรีย คิง ใช้นวัตกรรม 8 ชั้น ประกอบด้วย หินอ่อนเงิน , หินอ่อนทอง , พร้อมด้วย เทคโนโลยีนาโนซิลเวอร์ โค้ตติ้ง ป้องกันแบคทีเรีย เมื่อนำไปปรุงอาหารทำให้อาหารไม่ติดกระทะ โดยราคา กระทะใบละ 15,000 บาท แต่หากซื้อผ่านรายส่งเสริมการขายจะเหลือเพียง 3,900 บาท และซื้อ 1 ใบ แถมอีก 1 ใบ”  ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่าไม่เป็นตามโฆษณา อีกทั้งพบประเด็นการตั้งราคาขายสูงจริง คืออ้างว่า ราคาจริงของกระทะอยู่ที่ใบละ 15,000 และ 18,000 บาท ซึ่งถือเป็น “การปลอมราคาจริง (Fake Original Price)”  สคบ. จึงมีมติสั่งระงับโฆษณาทั้งหมด ต่อมามีผู้เสียหายจากการซื้อกระทะดังกล่าวได้เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงประกาศเป็นตัวกลางฟ้องคดีแบบกลุ่มแทนผู้บริโภคที่เสียหายจากกระทะ โคเรีย คิง โดยเชื่อว่าจะเป็นคดีผู้บริโภคตัวอย่างเพื่อทำให้ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการโฆษณาสินค้าและคุณภาพสินค้าเป็นไปตามที่โฆษณาให้ดีมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 เจอแมลงสาบในอาหารของห้างดัง

        ในโลกออนไลน์มีข่าวการพบเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เนื่องจากสิ่งแปลกปลอมนั้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเราได้ ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ เองก็ได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง แต่ละกรณีชวนให้คิดว่าทำไมกระบวนการผลิตจึงมีปัญหา เพราะขาดการควบคุมเรื่องสุขอนามัยหรือขาดความรอบคอบใช่หรือไม่         เหมือนกับผู้ร้องรายนี้ คุณน้ำตาล เธอเล่าว่าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เธอได้เข้าไปรับประทานอาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยเธอก็เลือกที่จะกินอาหารตามสั่งในโซนศูนย์อาหารของห้าง ขณะกำลังกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อยจนใกล้จะหมดจานแล้ว ก็พบว่า... มันมีอะไรแปลกๆ นะที่อยู่ในจานนั้น เมื่อลองเขี่ยดูก็พบว่า มันคือน้องปีเตอร์ (แมลงสาบนั้นเอง) เธอตกใจมาก พะอืดพะอมขึ้นมาทันที ทำไมอาหารที่กินถึงมีแมลงสาบได้และก็กินอาหารไปแล้วเกือบจะหมดจาน เลิกกินสิคะ แล้วนำจานไปบอกที่ร้านทันที พร้อมกับแจ้งพนักงานของทางห้างด้วย ทางร้านค้าก็ได้มีการขอโทษขอโพยกับเธอและพร้อมจะจ่ายค่าอาหารคืนให้        แต่...เธอนั้นอยากให้ทางร้านมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ จึงได้มีการปฏิเสธทางร้าน โดยจะไม่รับเงิน และแจ้งกับทางพนักงานของห้างว่า “เธอจะไปตรวจสุขภาพและทางร้านต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วย”  ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องเธอไว้และแจ้งว่าจะติดต่อกลับในภายหลัง แต่ปรากฎว่าหลังจากนั้นเธอก็ไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย จึงได้มาร้องเรียนเพื่อให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องจึงติดต่อไปหาผู้ร้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ทันทีเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและขอเอกสารเพิ่มเติม พร้อมกับแนะนำให้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน และวันถัดไปทางมูลนิธิฯ ทำหนังสือถึงบริษัทฯพร้อมสำเนาหนังสือไปยังสาขาที่เกิดเหตุเพื่อขอให้ดำเนินแก้ไขปัญหาต่อมาจึงได้ประสานติดต่อพนักงานของห้าง ทราบว่า ทางบริษัทฯ  ได้ดำเนินการเยียวยาค่าเสียหายกับผู้ร้องไปแล้ว โดยมีค่าชดเชยเยียวยา ได้แก่ ค่าตรวจสุขภาพ  ค่าอาหาร ค่าเสียเวลา  ค่ายาที่ผู้ร้องซื้อจากร้านยารวมทั้งสิ้น 7,020 บาท ซึ่งทางผู้ร้องก็ได้ตกลงรับเงินเยียวยาต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เป็นอันว่าจบไปได้ด้วยดี

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 261 ปลอมยา (จีน) โผล่ชายแดน ก่อนวกมา (ไทย)

        ด้วยความจำเป็นในชีวิตทำให้หญิงคนหนึ่งต้องทนตรากตรำทำงาน หาเงินส่งลูกชายคนเดียวของเธอเรียนหนังสือ จากคำแนะนำของเพื่อนทำให้เธอต้องหลุดเข้ามาสู่วังวนการใช้สเตียรอยด์ นานติดต่อกันถึง 6 ปี         เรื่องมีอยู่ว่า เธอซื้อสเตียรอยด์แบบเม็ดบรรจุในกระปุกสีขาวมีฉลากภาษาจีนมาจากพ่อค้าขายเครื่องเทศชาวเขาในตลาดนัดใกล้บ้าน เพียงกินวันละ 2 เม็ด มันก็ทำให้เธอมีเรี่ยวแรงรู้สึกกระชุ่มกระชวย จนสามารถทำงานได้ทุกวันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า นานวันเข้าคนรอบข้างเริ่มสังเกตเห็นว่า ร่างกายเธอเริ่มบวมขึ้น ผิวหนังบางจนเห็นเส้นเลือด จึงพยายามเตือนให้หยุดกิน แต่เธอก็ไม่เชื่อเพราะมันทำให้เธอมีแรงทำงานได้ทุกวัน เธอคิดว่ามันคุ้มกว่าการไปหาหมอหรือกินยาอย่างอื่นๆ ที่ได้ผลเพียงชั่วคราว แต่มีอีกเหตุผลที่เธอแอบเล่าให้ฟังคือ “เธอยอมรับว่าติดมันแล้ว หากหยุดก็กลัวว่าร่างกายจะทรุดลงและกลัวจะถูกชาวบ้านสมน้ำหน้าที่เตือนแล้วไม่ฟังอีกด้วย”         ผลจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้เธอไม่สามารถเข้าถึงสเตียรอยด์จากพ่อค้าได้เหมือนเดิม เพราะตลาดนัดถูกสั่งปิด ทำให้เธอเริ่มมีการอาการผิดปกติจากอาการถอนสเตียรอยด์  เริ่มเมื่อยล้า ปวดข้อ มีไข้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพาน และถูกส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายฯ รวมเวลาที่เธอต้องนอนในโรงพยาบาลทั้งหมด 24 วัน โดยต้องเข้าไปอยู่ในห้อง ICU ถึง 7 วัน โชคดีที่เธอรอดชีวิตมาได้ แต่สเตียรอยด์ก็ทำลายชีวิตเธอไปไม่น้อยเช่นกัน เสียทั้งเวลาและเงินที่เก็บไว้ไปในการรักษาตัว และเพราะเหตุที่เธอใช้สเตียรอยด์นานติดต่อกันจนเกินไป ทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตสเตียรอยด์ธรรมชาติในร่างกายได้เอง แพทย์ผู้ทำการรักษาจึงจำเป็นต้องให้เธอต้องกินสเตียรอยด์ขนาดต่ำไปตลอดชีวิตเพื่อชดเชย  สุดท้ายเธอบอกว่าสเตียรอยด์ส่งผลต่อชีวิตเธออย่างมาก “เป็นตายเท่ากัน แทบจะต้องเอาชีวิตเข้าแลก จะไม่ขอกลับไปใช้มันอีกแล้ว”         จากข้อมูลย้อนหลังผู้ป่วยโรคไตที่มารับบริการที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ในปี 2563 พบว่า มีผู้ป่วยจำนวน 24 ราย ที่มีภาวะบกพร่องของต่อมหมวกไตที่เกิดจากการใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน โดยพบในพื้นที่อำเภอพานมากที่สุด สอดคล้องกับข้อมูลจากรายงานยาปลอมโดยเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือในหลายจังหวัด พบยาปลอมมี่มีลักษณะคล้ายกัน คือเป็นยาเม็ดในกระปุกสีขาวฉลากภาษาจีน ขายคู่กัน 2 กระปุก กระปุกหนึ่งเป็นยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) อีกกระปุกคือสเตียรอยด์ชนิดเด็กซาเม็ททาโซน โดยซื้อขายกันผ่านตลาดนัด มีเครือข่ายพ่อค้าบางกลุ่มนำเข้ามา         น่าแปลกใจว่าสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตยาที่มีการปลอมปนสเตียรอยด์นั้นมาจากไหน เพราะตามกฎหมายแล้วสารเหล่านี้จะต้องถูกควบคุมและจำกัดให้อยู่เฉพาะในบริษัทยาที่ได้รับอนุญาตผลิตตามกฎหมายเท่านั้น! การวนเวียนของสารตั้งต้นจากในประเทศออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและวกกลับเข้ามาในไทยเพื่อผลิตยาปลอมนั้นกลับเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ภาคเหนือ ปัญหายาอันตรายตามชายแดนที่ค่อยๆ กัดกินชีวิตคนไปทีละน้อยแบบเงียบๆ นี้ควรจะต้องถูกยกเป็นปัญหาระดับชาติเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องหันมาให้ความสนใจ ก่อนที่จะมีคนพื้นที่สูญเสียด้านสุขภาพไปมากกว่านี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 พบพลาสติกในถุงบ๊วยสามรส

        อาหาร ขนม หรือผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพต่างๆ ที่มีขายในร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าทั่วไป คนส่วนมากจะมั่นใจว่าขั้นตอนในการผลิตนั้นจะต้องปลอดภัยแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะว่ามีมาตรฐานการผลิตหรือ อย. รับรองอยู่ แต่บางครั้งก็อาจจะมีผิดพลาดกันได้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร มาดูกัน         คุณน้ำตาลได้เข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์สินค้า “บ๊วยสามรส” ชื่อให้อารมณ์ประมาณกินแล้วตื่นแน่นอน โดยเรื่องมีอยู่ว่า วันนั้นเธอไปซื้อบ๊วยยี่ห้อโปรดที่เธอกินเป็นประจำจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เมื่อได้บ๊วยของโปรดมาก็นำกลับบ้าน ตอนที่เธอแกะบ๊วยและส่งเข้าปาก ในขณะที่กำลังเคี้ยวๆ บ๊วยสุดโปรดนั้น ก็พบว่า ทำไมมีสัมผัสแปลกๆ แข็งๆ อยู่ในปาก ตอนนั้น “ตกใจมาก”         เมื่อคายสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมาดูก็ต้องเจอกับพลาสติกขนาด 1 เซนติเมตร (ซึ่งไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่มาจากห่อบ๊วย) คุณน้ำตาลคิดในใจ “ดีนะ ที่ไม่กลืนไปเสียก่อน” เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบคุณน้ำตาลจึงได้โทรศัพท์ไปร้องเรียนกับทางผู้ผลิตสินค้า เพื่อตามหาความรับผิดชอบ        ทางบริษัทไม่ได้ปฏิเสธแต่แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้ว่า บริษัทฯ จะติดต่อกลับพร้อมมอบกระเช้าและทำหนังสือขอโทษให้คุณน้ำตาลเพื่อเป็นการเยียวยา ซึ่งคุณน้ำตาลคิดว่าน่าจะไม่ใช่แบบนี้ แค่นี้ก็พอหรือ คุณน้ำตาลต้องการให้ทางบริษัทแสดงความรับผิดชอบโดยจ่ายเป็นเงินเยียวยาพร้อมทั้งคำขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษรของบริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อคุณน้ำตาลเจรจากับทางบริษัทก็ยังหาขอสรุปไม่ได้สักที เนื่องจากทางบริษัทยืนยันที่จะชดเชยโดยการมอบกระเช้าและทำหนังสือขอโทษเพียงเท่านั้น จึงได้เข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา                ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ติดต่อไปทางบริษัทเพื่อสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งทางบริษัทได้ตอบกลับมาว่า ได้มีผู้คนมาร้องเรียนกรณีดังกล่าวและได้เรียกเงินชดเชย 5,000 บาทจริง อย่างไรก็ตามทางบริษัทมองว่ามากเกินไป ยืนยันจะให้กระเช้าพร้อมกับคำขอโทษเหมือนเดิมหรือถ้าหากไม่เอากระเช้าก็จะขอชดเชยเยียวยาเงินคืนให้เท่ากับราคาสินค้ามากกว่าเดิมประมาณ 5 เท่า ถุงละ 120x5 = 600 บาท         เมื่อทางมูลนิธิฯ ได้รับข้อมูลดังนั้น จึงโทรไปสอบถามทางผู้ร้องอีกรอบ ซึ่งผู้ร้องก็ยังคงยืนยันที่ต้องการให้บริษัทชดเชยเงินเยียวยาจำนวน 2,000 - 5,000 บาท พร้อมทำหนังสือขอโทษส่งมาทางอีเมลหรือเฟซบุ๊ก หลังจากแจ้งเจตนาของผู้ร้องและประสานงานเพื่อไกล่เกลี่ยกันแล้ว ทางบริษัทผู้ผลิตยอมรับข้อเสนอโดยตกลงว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ทางผู้เสียเป็นเงิน 2,000 บาท พร้อมทั้งผู้ผลิตฝากขอโทษไปถึงผู้ร้องอีกรอบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น อันเป็นว่าจบไปได้โดยดี         อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคเจอเรื่องดังกล่าวถึงขั้นได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์หรือสินค้า เมื่อต้องเข้ารับการรักษาควรที่จะต้องขอใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลและเก็บไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน นอกจากนี้ ถ้าผู้บริโภคเจอเรื่องดังกล่าวก็ควรที่จะเรียกร้องสิทธิและค่าชดเชยเยียวยา เพราะหากผู้ผลิตรับทราบก็จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ปลดกัญชาจากยาเสพติดแล้ว        9 กุมภาพันธ์ 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรค แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดออกประกาศไว้ ดังนี้       ข้อ 1 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาให้โทษประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 1.พืชฝิ่น ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ Papaver somniferum L. และ Papaverbracteatum Lindl. ที่มีชื่อในสกุลเดียวกันและให้ฝุ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น 2.เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ที่มีชื่อว่า Psilocybe cubensis (Earle)Singer หรือชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin 3. สารสกัดทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น (ก) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญซาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ        ข้อ 2.กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ 1 ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์ ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป AIS ถูกแฮกข้อมูลลูกค้ารั่ว 1 แสนรายการ         บริษัท เอไอเอส ได้เปิดเผยว่า ตรวจพบว่ามีผู้ละเมิดข้อมูลผู้ใช้บริการ ประมาณ 100,000 รายการ ซึ่งมีรายละเอียดประกอบไปด้วย ชื่อ-สกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน วัน-เดือน-ปีเกิด และหมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมการเงินอื่นใด โดยข้อมูลนั้นได้ถูกนำไปเผยแพร่อยู่บน Dark Web ซึ่งทางบริษัทร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เร่งตรวจสอบหาสาเหตุดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สกมช. และกสทช. รวมทั้งยังแจ้งไปยังลูกค้าผ่านทาง SMS เพื่อให้รับทราบและระมัดระวัง ขณะนี้ทางบริษัทได้เร่งตรวจสอบผู้ที่กระทำความผิดเพื่อดำเนินตามกฎหมายต่อไป 10 อันดับข่าวปลอมเดือนกุมภา วอนอย่าหลงเชื่อ         กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง แจ้ง 10 ข่าวปลอมช่วง 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้ 1) ออมสิน ส่ง SMS ให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอสินเชื่อ GSB จำนวน 60,000 บาท 2) วันที่ 10-20 กุมภาพันธ์ 2565 ฝนตกหนักทุกภาค ทั่วประเทศไทย 3) รักษาโควิด-19 ด้วยสมุนไพรขมิ้นชัน กระชาย พริกไทย ทับทิม 4) คนไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก 5) ดื่มน้ำต้มต้นไมยราบ แทนน้ำเปล่า ช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านม 6) โครงการเราชนะ เฟส 4 แจกเงินคนละ 7,000 บาท เริ่มโอน 10 กุมภาพันธ์ 2565 7) คลิปข้าวสารถูกผลิตจากถุงพลาสติก 8) ธ.กรุงไทย เปิดสินเชื่อกรุงไทยเพื่อนักสู้ ดอกเบี้ย 0.5% ผ่อนนาน 48 เดือน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ 9) ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหารทำให้ก่อมะเร็ง และ 10) ติดเชื้อไวรัส Parabola จากสุนัขและแมวทำให้ไขกระดูกไม่สร้างเลือด  วอนอย่าหลงเชื่อ แชร์หรือกดลิงก์โดยเด็ดขาดตรวจพบโรงงานไส้กรอกเถื่อนไม่มี อย. 13 รายการ        ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาการและยา เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบกรณีมีผู้ป่วยเนื่องจากรับประทานไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อน จ.ชลบุรี นั้น ผลวิเคราะห์พบว่า ไส้กรอกมีปริมาณไนเตรท์มากเกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 35-48 เท่า ทางคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อร่วมเฝ้าระวังในพื้นที่        ในส่วนจังหวัดที่ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายในท้องตลาดเสร็จสิ้นแล้วมีทั้งสิ้น 66 จังหวัด และสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่เสี่ยงส่งตรวจวิเคราะห์ 102 ตัวอย่าง (อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์) ทั้งนี้ได้ดำเนินคดีในกรณีที่จำหน่ายไส้กรอกไม่มีฉลากแสดงแล้ว คือที่สระบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนของจังหวัดสระบุรีนั้น เป็นสินค้ามาจากสถานที่ผลิตเดียวกันกับชลบุรี  ส่วนอุทัยธานี พบสินค้ามีฉลากเหมือนกับที่เจอปัญหาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเร่งให้มีการขยายผลดำเนินการจับกุมโรงงานที่ผลิตไส้กรอกโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ จ.อยุธยา ได้อีก 2 แห่ง และอายัดสถานที่ของกลางมูลค่ารวมกว่า 4.3 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มี อย. จำนวน 13 รายการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนซื้อซิมกับตัวแทนในร้านค้าออนไลน์ เสี่ยงโดนหลอกขาย         จากกรณีที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้อนเรียนจากผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าเป็นซิมเติมเงินของ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากทางร้านค้าออนไลน์ที่ขายในแพลตฟอร์ม Lazada เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ราคา 1,369 บาท มีรายละเอียดว่า เป็นซิมทรู 10 Mpbs เน็ตไม่อั้น ไม่จำกัด ไม่ลดสปีด รองรับระบบ 4G/5G ต่อมาเมื่อเปิดใช้งานซิมในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 พบปัญหาไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ตามที่ร้านค้าให้ข้อมูล ผู้ร้องจึงทำตามขั้นตอนตามตัวซิมพบว่าซิมมีชื่อรุ่นว่า กัมพูชา 5G ใช้เน็ตได้เพียง 7 วัน ปริมาณ 2 GB และใช้งานได้เพียงครึ่งวันก็ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้ว และเมื่อผู้ร้องทราบจากทางบริษัทพบว่า ซิมมีราคาเพียงแค่ 49 บาทไม่ตรงตามที่โฆษณา        นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขณะนี้ในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์มีปัญหาหลอกลวงขายซิมโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ไม่อั้นตามที่ร้านค้าโฆษณา เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ซิมที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามที่โฆษณาไว้ มูลนิธิฯ พบผู้เสียหายจากกรณีนี้หลายราย จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อซิมโทรศัพท์มือถือกับผู้ขายที่ไม่ใช่ศูนย์บริการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยตรงเพราะเสี่ยงโดนมิจฉาชีพหลอก ลักษณะของมิจฉาชีพ คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายซิมที่ขายในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ Lazada, Shopee และเฟซบุ๊กแฟนเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 แฟชั่นต่อขนตาปลอมถาวร

        การเสริมความงามให้ใบหน้าโดดเด่นด้วยขนตาที่หนางอนสวย ยังคงเป็นที่นิยมมากสำหรับสาวๆหลายท่าน ทว่าการต่อขนตาสมัยนี้ไม่ได้ใช้วิธีการในรูปแบบเดิมที่ใช้ขนตาแบบแผงสำเร็จ และแค่เราล้างหน้าก็หลุดออกมาโดยง่าย  ปัจจุบันเป็นเทรนด์ต่อขนตาแบบถาวร ที่ใช้เวลาแค่ 30-60 นาที ขนตาที่ต่อก็สามารถอยู่ได้ถาวรถึง 4-8 สัปดาห์ โดนน้ำก็ไม่หลุด          “ต่อขนตาปลอมแบบถาวร” คือ การนำขนตาปลอม หรือตามร้านจะมีรูปแบบที่เรียกว่า ขนมิงค์ เส้นใยสังเคราะห์หรือขนตารูปแบบอื่นๆ ให้ทางลูกค้าเลือก ซึ่งจะนำมาทากาวและติดไปที่ขนตาเส้นที่ยาวและหนาทีละเส้น  เพื่อให้เกิดการยึดติดกับขนตาจริง โดยการติดขนตานั้นจะเป็นการใช้กาวเฉพาะสำหรับการต่อขนตาแบบนี้เท่านั้น หากใช้กาวอื่น เช่น กาวตราช้าง ไม่สามารถทำได้ อันตรายมากๆ อย่างที่เคยมีข่าวเมื่อหลายปีก่อน ที่มีช่างหัวใสนำกาวตราช้างมาติดแทนกาวที่ใช้โดยเฉพาะ ซึ่งก่อให้เกิดอาการบวมแดง ขนตาติดกันเป็นก้อน ระคายเคืองและลืมตาไม่ขึ้น จนทำให้ขนตาธรรมชาติหลุดออกเกือบทั้งหมด          ความเสี่ยงการต่อขนตาถาวร        ขนตา มีหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมรอบดวงตามิให้สร้างความระคายเคืองให้แก่ลูกตา เช่น ป้องกันละอองฝุ่น หรือแม้แต่เหงื่อ  แต่เมื่อมีการนำขนหรือวัสดุต่างๆ ที่คล้ายกับขนตาจริงมาตกแต่งเสริมความงามรอบดวงตา อาจจะก่อความเสี่ยงต่อดวงตาได้ ดังนี้        -        เกิดความเสี่ยงจากวัสดุที่ใช้ทำขนตาปลอม ซึ่งอาจสะสมสิ่งสกปรก เชื้อโรค เมื่อนำมาใช้บริเวณแผงขนตา ทำให้เสี่ยงระคายเคืองและเปลือกตาอักเสบ        -        กาวติดขนตามีส่วนผสมสารที่เรียกว่า “ฟอร์มาลดีไฮด์(formaldehyde)” ซึ่งก่อปัญหาแพ้ได้ง่าย เช่น  คันตา เคืองตา ตาอักเสบ ติดเชื้อ ขนตาร่วงหรือถึงขั้นหลุดร่วงถาวร        -        ความเสี่ยงจากการเก็บรักษา ”ขนตาปลอม” ที่ไม่สะอาด ไม่ถูกวิธี  อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เกิดอาการแพ้อย่างหนัก อักเสบ อาจเสี่ยงถึงขั้นทำให้ดวงตาเสียหาย        -        เมื่อต่อขนตาแล้วดึงออกบ่อยๆ อาจทำให้ขนตาจริงหลุดติดออกมา แล้วกระทบถึงการทำลายระบบต่างๆ รอบดวงตา เพราะบริเวณโคนขนตาแต่ละเส้นนั้น จะมีต่อมไขมันและต่อมเหงื่อช่วยผลิตไขมันและน้ำเพื่อไปหล่อเลี้ยงในดวงตา         วิธีดูแลหลังต่อขนตาปลอมถาวร        1.ห้ามขยี้ตา บางคนอาจจะรำคาญหรือไม่ชิน เพราะต่อขนตาเป็นครั้งแรก ยังไงก็ห้ามขยี้เพราะอาจทำให้ขนตาปลอมหลุดออกมาพร้อมขนตาจริง        2.ห้ามโดนน้ำหลังต่อ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นค่อยล้างหน้าด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ ห้ามล้างน้ำอุ่นเพราะจะทำให้กาวติดขนตาเสื่อมสภาพ        3.ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่เช็ดเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมเป็นน้ำมัน เพราะจะทำให้ขนตาที่ต่อหลุดร่วงเร็วเนื่องจากประสิทธิภาพกาวลดลง        4.งดการดัดขนตาและหรือใช้มาสคาร่ากันน้ำไปก่อน เพราะขนตานั้นเปราะบางมาก การต่อขนยาช่วยให้มีความยาวงอนเด้งอยู่แล้ว หากไปดัดหรือทามาสคาร่าซ้ำก็อาจจะเป็นการทำให้หลุดร่วงเร็วขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 เจ้าตูบหวิดกระเพาะทะลุหลังพบเศษกระดูกในอาหารสุนัข

        ปัจจุบันตลาดอาหารสุนัขยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขรูปแบบต่างๆ ที่วางจำหน่ายกันหลายยี่ห้อ โดยมีกลยุทธ์ต่างๆ มาดึงดูดให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงได้เลือกซื้อ แต่ในหัวอกคนรักสุนัขแล้วย่อมคาดหวังถึงความปลอดภัยของอาหารเป็นสำคัญ  ดังนั้นข้อความ“คุณภาพระดับเดียวกับอาหารที่คนรับประทาน” บนผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขยี่ห้อ Dr.DOG จึงน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณสุชาดาตัดสินใจซื้อมาให้เจ้าตูบที่บ้านกิน โดยไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น         วันหนึ่ง เมื่อได้เวลาให้อาหารสุนัข คุณสุชาดาหยิบถุงโครงไก่บดแช่แข็ง กลิ่นไก่ย่าง ตรา Dr.DOG มาตัดแล้วเทใส่ชามเตรียมไว้ แต่ยังไม่ทันได้เรียกสุนัขมากิน พลันสายตาไปสะดุดเข้ากับเศษกระดูกขนาด 1-1.5 เซนติเมตรจำนวนมากปะปนอยู่ในโครงไก่บดนั้น เมื่อหยิบขึ้นมาก็พบว่ามีลักษณะแข็งและคม คุณสุชาดาเกรงว่าถ้าให้เจ้าตูบกินเข้าไปน่าจะเป็นอันตราย มื้อนั้นจึงเตรียมอาหารอย่างอื่นให้แทน และเมื่อนำเศษกระดูกไปให้สัตวแพทย์ดู หมอบอกว่า “เศษกระดูกที่ปนมานี้ ถ้าสุนัขกินเข้าไปอาจแทงกระเพาะทะลุได้” คุณสุชาดาฟังแล้วก็โล่งใจที่ไม่ได้ให้สุนัขของตัวเองกิน แต่ก็เป็นห่วงว่าถ้าคนอื่นซื้ออาหารสุนัขยี่ห้อนี้ไปแล้วไม่ได้สังเกตดีๆ เผลอให้สุนัขกินเศษกระดูกที่ปนมานี้เข้าไป คงไม่ดีแน่ คุณสุชาดาจึงนำเรื่องนี้มาร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงซื้ออาหารสุนัขยี่ห้อนี้มาพิสูจน์ก็พบว่า ในถุงอาหารสัตว์มีเศษกระดูกปนอยู่จำนวนมากจริง จึงติดต่อไปยังผู้ประกอบการคือบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมกันนั้นก็ส่งหนังสืออีกฉบับถึงกรมปศุสัตว์ให้ดำเนินการตามกฎหมาย จากนั้นไม่นานทางผู้ประกอบการแจ้งกลับมาว่า ได้ระงับการจ่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากศูนย์กระจายสินค้าและนำมาตรวจสอบแล้ว         ประมาณหนึ่งเดือน ทางกรมปศุสัตว์แจ้งว่า ได้ส่งทีมงานลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตและหารือกับตัวแทนบริษัทแล้ว ได้ข้อสรุปว่า บริษัทต้องเรียกคืนผลิตภัณฑ์โครงไก่บดแช่แข็ง กลิ่นไก่ย่าง ตรา Dr.DOG ที่ผลิตในล็อตเดียวกันกับที่ถูกร้องเรียน ( LOT N0. 63206 ผลิตวันที่ 24 กรกฎาคม 2563) กลับมาตรวจสอบ และให้กักผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกันนี้ที่ยังไม่ได้จำหน่ายออกไปจากโรงงานอีกจำนวน 44,000 กิโลกรัมไว้ก่อน พร้อมทั้งแจ้งร้านค้าให้ชะลอการขายผลิตภัณฑ์นี้จนกว่าบริษัทจะตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัย ซึ่งหากภายหลังตรวจพบว่าเป็นอันตรายต่อสัตว์ก็จะต้องเรียกคืน         ทั้งนี้ทางกรมปศุสัตว์ได้กำชับให้บริษัทฯ ตรวจสอบกระบวนการผลิตในโรงงานผลิตอาหารสัตว์อย่างละเอียด หากพบความเสี่ยงที่ทำให้มีอันตรายทางกายภาพหลุดรอดไปกับผลิตภัณฑ์ ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้อาหารสัตว์มีความปลอดภัยเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 กระแสต่างแดน

วิกผมขาดแคลน        ร้อยละ 70 ของสินค้าประเภทวิกผม/ผมปลอม ที่จำหน่ายในโลกนั้นมาจากจีน โดยแรงงานหลักๆ ที่ใช้คือแรงงานในเกาหลีเหนือที่ฝีมือดีเลิศแถมค่าจ้างยังถูกกว่าในจีนกว่าครึ่งกระบวนการนี้เริ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบหลักซึ่งได้แก่ผมมนุษย์ จากอินเดียและเมียนมาร์ไปยังเมืองจีน จากนั้นส่งออกผมและตาข่ายสำหรับถักไปยังเกาหลีเหนือ แล้วผมปลอมที่ถักด้วยมือเสร็จแล้วจะถูกส่งกลับมาที่เมืองจีนอีกครั้งเพื่อทำความสะอาด บรรจุ และส่งไปขายในอเมริกาและกลุ่มประเทศอัฟริกันแต่การมาถึงของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชะงักลง ก่อนหน้านั้นจีนส่ง “ผมดิบ” ไปเกาหลีเหนือเดือนละหลายตัน โดยมูลค่าของผมดิบที่จีนส่งไปในเดือนมกราคม ปี 2020 เท่ากับ 14,000,000 หยวน เดือนต่อมา มูลค่าดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 452,000 หยวนหลังจากนั้นจีนปิดชายแดน จึงไม่มีการส่งเข้าไปอีกเลย วิกผมที่ผลิตหลังจากนั้นคือวิกที่ผลิตในจีน ซึ่งช่างผมรับรองว่าคุณภาพสู้แบบที่ทำในเกาหลีเหนือไม่ได้ แถมราคายังแพงขึ้นจนน่าตกใจด้วย อย่าเพิ่งรีบชม        อุตสาหกรรมเพชรออกมาตอบโต้แถลงการณ์ของ Pandora บริษัทเครื่องประดับรายใหญ่ของโลกสัญชาติเดนมาร์กที่ประกาศนโยบายใช้ “เพชรจากแล็บ” แทนเพชรที่ขุดจากเหมือง และจะผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับเพชรบอกว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดให้คนคิดว่าอุตสาหกรรมนี้คือผู้ร้าย และขอร้องให้ Pandora ถอนคำโฆษณาที่ชักชวนให้ผู้บริโภคสนับสนุน “ทางเลือกที่มีจริยธรรม”ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้จ้างานคนหลายสิบล้านคนทั่วโลก และหลายชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาก็อยู่ได้เพราะรายได้จากการทำงานในเหมืองเพชร ที่สำคัญคือผู้ซื้อสามารถสืบกลับที่มาของเพชรได้ผู้บริหารบริษัท 77 DIAMONDS ร้านค้าเพชรออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในยุโรป บอกว่าการทำเหมืองเพชรแบบเอาเปรียบชาวบ้านเหมือนในหนัง Blood Diamond มันหมดไปนานแล้ว ทุกวันนี้แร่โลหะหายากที่ใช้กันอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ยังมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าเพชรอีก เป้าหมายรีไซเคิล        สมาคมเครื่องดื่มในญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายว่าจะรีไซเคิลขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันที่ทำได้ร้อยละ 12.5   เขาวางแผนจะปรับปรุงปากถังขยะรีไซเคิลให้รับได้เฉพาะขวดพลาสติกเท่านั้น ปัญหาขณะนี้คือมีคนทิ้งขยะอื่นลงในถังที่มักตั้งอยู่ใกล้ๆ กับตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ทำให้ขวดข้างในสกปรกเกินกว่าจะนำไปรีไซเคิล เครื่องล้างก็ยังไม่สามารถล้างขวดทีละใบได้ จากข้อมูลของเทศบาลไซตามะ ร้อยละ 16 ของขยะใน “ถังสำหรับขวดพลาสติก” ไม่ใช่ขวดพลาสติกปัจจุบันร้อยละ 76 ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปในญี่ปุ่น เป็นเครื่องดื่มที่บรรจุในภาชนะพลาสติก  เรื่องนี้จึงเรื่องใหญ่และเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด “ความยั่งยืน”  อย่างไรก็ตามผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีการตื่นตัวมากในเรื่องนี้ สถิติในปี 2019 ระบุว่าร้อยละ 93 ของขวดพลาสติกที่ขายออกไป ถูกนำกลับมาใช้ใหม่กล่องอาหารต้องปลอดภัย        Arnika องค์กรพัฒนาเอกชนจากสาธารณรัฐเชค ร่วมกับอีก 6 องค์กรในยุโรป ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อมาวิเคราะห์ทดสอบหาสาร PFAS ซึ่งมักถูกใช้เป็นสารเคลือบในภาชนะดังกล่าวเขาพบว่า 38 ตัวอย่างจาก 99 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่เก็บจากภาชนะบรรจุอาหารที่ซื้อกลับบ้าน อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านออนไลน์ มีการเคลือบด้วย PFAS เพื่อป้องกันการซึมเปื้อนของน้ำมันสารเคมีที่ว่านี้เป็นที่รู้กันว่าสลายตัวยาก สามารถปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ และสะสมในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยยืนยันว่ามันสามารถก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ และฮอร์โมนด้วยกลุ่มองค์กรดังกล่าวจึงเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎหมายห้ามใช้สารดังกล่าวในภาชนะใส่อาหารโดยเร็ว ขณะนี้มีเพียงเดนมาร์กเท่านั้นที่ห้ามใช้สารนี้ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 แหล่งน้ำของใคร        หุบเขาในภาคกลางของฝรั่งเศส เป็นแหล่งน้ำแร่ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ชาวบ้านแถบนั้น รวมถึงนักปฐพีวิทยาหวั่นว่าจะการสูบน้ำแร่ขึ้นมามากเกินไปจะทำให้ทั้งภูมิภาคต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ชาวบ้านวัย 69 คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริษัทน้ำแร่ Volvic ที่มีบริษัท Danone เป็นเจ้าของ บอกว่าลำธารแถวบ้านเคยมีระดับน้ำสูงถึงเข่า แต่ทุกวันนี้ใกล้แห้งเหือดเต็มทน ในขณะที่เจ้าของบ่อเลี้ยงปลาแห่งหนึ่งในบริเวณดังกล่าวที่ต้องปิดกิจการเพราะน้ำไม่พอ ก็ยื่นฟ้องบริษัทแล้วด้วยตั้งแต่ปี 2014 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาตให้ Danone ใช้น้ำได้ถึง 2.8 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าคิดเป็นขวดขนาดหนึ่งลิตร ก็เท่ากับ 2,800 ล้านขวด และขณะนี้บริษัทสามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ถึง 89 ลิตรต่อวินาที แถมยังสูบได้ทั้งปี ไม่เว้นช่วงหน้าร้อนที่ความต้องการใช้น้ำของชาวบ้านก็เพิ่มขึ้นเช่นกันการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณดังกล่าวไม่มีต้นไม้ขึ้นมานานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความชื้นที่ลดลงนี้กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดทะเลทราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 สั่งบราวนี่แต่ได้ของแปลกมาเป็นท๊อปปิ้งแถม

        อาหาร คือ สิ่งที่นำเข้าสู่ร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงบำรุง ดังนั้นอาหารจึงควรเป็นสิ่งที่สะอาดและปลอดภัย แต่บางครั้งอาหารที่เราไม่ได้เป็นคนทำเอง จัดซื้อจัดหาจากแหล่งอื่นๆ ก็อาจมีสิ่งแปลกปลอมที่ดูไม่ค่อยโสภานักหลุดรอดมาได้ ด้วยมาตรฐานการผลิตที่ต่ำ ซึ่งบางสิ่งที่ปนเปื้อนมาในอาหารนั้นก็แปลกใจมากๆ ว่า เอ...มันมาอยู่ในอาหารได้อย่างไร         เช้าวันหยุดจากการงานอันเหนื่อยล้า คุณภูผา ใช้บริการ Grab สั่งกาแฟเอสเปรสโซ 95 บาทและขนมบราวนี่ 85 บาท จากร้านกาแฟแบรนด์นกเอี้ยง(นามสมมติ)  มารับประทานที่บ้าน เมื่อได้มาก็เอาบราวนี่ใส่จานพร้อมหยิบเอสเปรสโซออกไปจัดวางเตรียมถ่ายภาพประกอบเฟซบุ๊กก่อนรับประทานที่สวนข้างบ้าน บรรยากาศช่างเหมาะอะไรเช่นนี้ แดดอ่อนๆ ยามเช้าส่องต้นไม้กับเสียงนกร้อง คิดแล้วก็ฟินสุดๆ ไปเลย         แต่ความฟินก็หายไปทันทีเมื่อเขาได้ชิมบราวนี่ไปเพียง 2 คำ เพราะเขากัดบราวนี่แล้วรู้สึกว่ามันแข็งแปลกๆ เขี่ยดูก็พบว่า มีฟัน (ฟันคนนี่แหละ) อยู่ในบราวนี่ เขางงมาก ฟันอยู่ในบราวนี่ได้อย่างไร ไม่ใช่ฟันของเขาแน่ๆ เขาจึงเล่าเรื่องเจอฟันในบราวนี่บนเฟซบุ๊กของตัวเอง หลังจากนั้นไม่นานนักร้านการแฟนกเอี้ยงก็ติดต่อกลับมาว่าชดเชยเงิน 85 บาท ซึ่งเป็นค่าบราวนี่ และกาแฟฟรีหนึ่งแก้วให้         ภูผามีคำถามเกิดขึ้นว่า ร้านค้ารับผิดชอบแค่นี้ได้เหรอ   แนวทางการแก้ไขปัญหา        ผู้บริโภคมีสิทธิสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ กล่าวคือ เมื่อรับประทานบราวนี่แล้วต้องปลอดภัย แต่เมื่อพบฟันซึ่งเป็นสิ่งปนเปื้อนในอาหารนั่นแสดงว่า มาตรฐานการผิดต่ำและชวนให้เชื่อได้ว่าไม่น่าจะปลอดภัยต่อการบริโภค ดังนั้นผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย กล่าวคือ ผู้บริโภคต้องได้รับค่าสินค้าหรือบราวนี่คืน และค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาล ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล หนังสือขอโทษจากบริษัท ซึ่งการชดเชยเยียวยาจะขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้บริโภคและผู้ขาย         กรณีพบสิ่งปนเปื้อนในอาหาร ผู้ขายส่วนมากจะคืนเฉพาะค่าสินค้าเท่านั้น หรือถ้าต้องมีการรักษาพยาบาลก็จะชดเชยแค่ค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ผู้บริโภคไม่ได้เสียหายเพียงแค่นั้น ยังมีค่าเดินทาง การหยุดงาน ค่าเสียโอกาสอื่นๆ ดังนั้นผู้ขายควรชดเชยเยียวยามากกว่าราคาสินค้า และสิ่งสำคัญคือผู้ขายต้องกลับไปหาสาเหตุของปัญหาและมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ในอนาคตกับผู้บริโภครายอื่น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2564

         10 อันดับข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำมากที่สุดในรอบปี 63        กระทรวงดิจิทัลฯ เผย 10 อันดับข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำมากที่สุดในรอบปี 63 หมวดสุขภาพครองแชมป์ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ดื่มสไปรท์ใส่เกลือ แก้ท่องร่วง ท้องเสียได้ อันดับ 2 คลอรีนในน้ำประปาเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งเมื่อถูกความร้อน อันดับ 3 ใส่ผ้าอนามัยนาน ทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก        อันดับ 4 งดใช้ตู้ ATM ที่ไม่มีไฟกระพริบตรงที่เสียบบัตร อันดับ 5 น้ำมันเบนซินมีสารระเหยดูดพิษจากแมลงกัดต่อยหายใน 3-5 นาที อันดับ 6 จัดตั้งจังหวัดในประเทศไทยเพิ่ม รวมเป็น 83 จังหวัด อันดับ 7 ผู้ประกอบการที่ใช้ตราฮาลาลบนสินค้าไม่ต้องเสียภาษี อันดับ 8 มหัศจรรย์น้ำปัสสาวะ รักษาโรคแก้ปวดเมื่อย ช่วยให้ตาใสมองเห็นชัด อันดับ 9 บริษัทชื่อดังฉลองวันพิเศษ แจกบัตรกำนัล สินค้า และรางวัลต่างๆ และอันดับ 10 กรอกแบบสอบถามจากหน่วยงานของรัฐลุ้นรับของรางวัลฟรี ขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อและแชร์ข่าวดังกล่าว         กสทช. เอาจริงปรับสูงสุดโฆษณาเกินจริงสินค้าสุขภาพ           กสทช. เผยสื่อมีโทษจับ-ปรับเงินสูงสุด 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 ม.ค. กสทช. มีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  ให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งเตือนทางปกครองให้บริษัท ทีวีดี เซอร์วิสเซส จำกัด ช่องรายการ TVD1 ระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค กรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ถังเช่า ผสมมัลติวิตามิน บี (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) เลขสารบบอาหาร 11-1-07356-1-0101 หรือการโฆษณาอื่นใดที่มีข้อความหรือเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวงหรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง         โดยทันทีที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553  ประกอบข้อ 5(2) ข้อ 6(1)(2) และ (3) ของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 และมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2553 ทั้งนี้ หากบริษัท ทีวีดีฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว กสทช. จะใช้อำนาจกำหนดค่าปรับทางปกครองเป็นเงิน 500,000 บาท.สมอ.เร่งออก มอก. บังคับสินค้าเกี่ยวกับโควิด         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  สั่งบอร์ด สมอ. คุมเข้มรับโควิด เร่งออกมาตรฐานป้องกันให้สินค้าเกี่ยวกับโควิด ได้แก่ หน้ากากอนามัย ถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ เป็นมาตรฐานบังคับและเตรียมออก มอก.บังคับกับสินค้า ตู้น้ำเย็นและเครื่องเล่นสนาม ทั้งชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก รวม 7 รายการ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันหน้ากากอนามัยยังเป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการจะมายื่นขอ มอก. หรือจะไม่ขอก็ได้ ล่าสุดมี 1 ราย ที่ได้ มอก. เรียบร้อยแล้ว โดยต่อจากนี้ สมอ. จะดำเนินการทางกฏหมายเพื่อประกาศใช้เป็นมาตรฐานบังคับ ดังนั้นทุกบริษัทจะต้องได้ มอก. เพราะเป็นสินค้าที่มีผลต่อประชาชน         แนะวิธีเช็กเว็บไซต์ผู้ค้าออนไลน์ ก่อนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ         กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก.พาณิชย์เตือนภัยผู้ใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ ระวังตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ ดึงเข้าไปเว็บพนันออนไลน์         นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ตรวจพบการกระทำผิดของกลุ่มคนที่ไม่หวังดีที่มีจำนวนมากขึ้นและมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน คือ การปลอมชื่อเว็บไซต์ให้ใกล้เคียงกับชื่อเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) เพื่ออาศัยความน่าเชื่อถือ จากหน่วยงานราชการและดึงดูดผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากให้เข้าสู่เว็บไซต์ปลอมที่เป็นการพนันออนไลน์หรือเว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลปลอม จึงขอเตือนประชาชนให้มีความระมัดระวังในการเข้าใช้งานมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการถูกหลอกลวงจากผู้ไม่หวังดี         ทั้งนี้ วิธีการเช็กว่าเป็นเว็บไซต์ปลอมหรือไม่ ต้องการเข้าระบบการให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทุกครั้ง ต้องเข้าผ่านทางหน้าเว็บไซต์หลักเท่านั้น คือ www.dbd.go.th โดยไม่ควรเข้าระบบผ่านทางลิงก์ที่มีการแชร์ต่อๆ กันมา หรือค้นหาผ่านระบบ Search engine ต่างๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมได้ง่ายขึ้น         ‘ผิดนัดชำระหนี้’ พุ่งสูง จากพิษโควิด มพบ. เสนอ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือ        นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวในช่วงเสวนา ‘วิกฤติหนี้ครัวเรือนหลัง Covid-19 ความท้าทายของธนาคารในการคุ้มครองผู้บริโภค’ ว่า สำหรับ ปัญหาผู้บริโภคที่มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาในด้านการเงินการธนาคาร โดยเฉพาะช่วงโควิด - 19 พบปัญหาเรื่องหนี้สินในประเด็นที่หลากหลาย อาทิ เรื่องการผิดนัดชำระหนี้ เรื่องการถูกฟ้องคดี เรื่องการถูกทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย ในส่วนของเรื่องการผิดนัดชำระหนี้นั้นผู้บริโภคมักจะเข้ามาขอคำปรึกษาหรือขอความรู้เรื่องการจัดการกับปัญหาหนี้ของตัวเองจากปัญหาเศรษฐกิจจนไม่สามารถจัดการชำระหนี้ได้ และตามมาด้วยการถูกฟ้องคดีจากการผิดชำระหนี้ ซึ่งจากสถิติเรื่องร้องเรียน ธุรกิจที่มีการฟ้องคดีที่สุด คือ ธุรกิจเช่าซื้อรถ บางรายถูกยึดรถไปแล้วและมาเจอการฟ้องเรื่องส่วนต่าง บางรายนำรถไปคืนก็ยังเจอปัญหาเรื่องส่วนต่างอยู่ ไม่เพียงแต่เรื่องผู้เช่าซื้อถูกฟ้องคดี แต่ผู้ค้ำประกันบางรายก็ถูกฟ้องคดีด้วยเช่นกัน          “นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัญหาการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งมีการคิดดอกเบี้ยสูงเกินจริงและผิดกฎหมาย และสิ่งที่ตามมาก็คือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคที่สมัครผ่านแอปฯ กู้เงินจะถูกเข้าถึงได้อย่างง่ายดายอีกด้วย”          จากปัญหาที่กล่าว จึงขอฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทยให้เร่งช่วยเหลือประชาชน คือ หนึ่ง ขอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย สอง ขอให้ออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์โควิด - 19 และเศรษฐกิจจะยังชะลอตัวไปอีกในช่วงดังกล่าว สาม ขอให้มีมาตรการจัดการกับธุรกิจการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย และสุดท้าย ขอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นลูกหนี้ NPL

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 สัญญารัก สัญญาณลวง : แชร์ผิด...ชีวิตเปลี่ยน

            นับแต่ต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ประเด็นเรื่องข่าวลวง หรือบ้างก็เรียกว่าข่าวปลอม หรือไม่ก็เรียกว่าเฟคนิวส์ ได้กลายเป็นหัวข้อถกเถียงใหญ่ที่ผู้คนทุกวันนี้สนเท่ห์และสนใจอยู่อย่างต่อเนื่อง         ข่าวลวงหรือข่าวปลอมก็คือ ข่าวที่ผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริง ถูกกุขึ้นอย่างมีอคติ ขาดความเป็นกลาง อาจเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หรือแม้แต่ตีความและใช้ข้อมูลลอยๆ เพื่อให้ผู้เสพข่าวเข้าใจคลาดเคลื่อน อันเป็นไปเพื่อธำรงรักษาอำนาจและผลประโยชน์บางชุดของคนปล่อยข่าวลวง โดยหวังให้คนอื่นมาติดกับดัก         แม้เรื่องข่าวลวงจะเป็นประเด็นที่ผู้คนยุคนี้มักขาดซึ่งอำนาจแยกแยะกันว่า ข่าวสารอันใดจริงอันใดปลอม แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ข่าวลวงก็หาใช่จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ ทว่าการปลอมแปลงข่าวกลับเป็นสิ่งที่มีต่อเนื่องมานมนานกาเลแล้ว ไม่ต่างจากข้อถกเถียงเรื่องข่าวลวงๆ ที่ซ่อนซุกอยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “สัญญารัก สัญญาณลวง” ที่ผูกเรื่องเล่าแฟนตาซีข้ามภพชาติกันไปเป็นพันปีโน่นเลย         เรื่องราวของละครเริ่มขึ้น ณ กาลปัจจุบัน เมื่อ “อณิกษ์” ร้อยตำรวจเอกฝีมือดีแห่งกรมสอบสวนพิเศษ มักมีความฝันแปลกๆ มาตั้งแต่เด็กว่า ตนได้สวมชุดโบราณ และถูกกริชแทงที่หน้าอก โดยไม่เคยเห็นใบหน้าของคนแทง         จนมาวันหนึ่ง “อนุช” น้องสาวของเขา ซึ่งเป็นอาจารย์ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ได้ชวนอณิกษ์ให้ร่วมเดินทางไปชมดาวหางคริสเตียนเซ่นโอวัน ที่กว่าพันปีจะโคจรเข้ามาใกล้โลกมนุษย์มากที่สุด และระหว่างทางที่จะไปดูดาวหางนั้น อณิกษ์ได้แวะสักการะพระธาตุนาดูน อันเป็นที่ที่ทำให้เขาได้มาเจอกับ “วิวรรณ” หญิงสาวนางหนึ่งผู้ที่เสมือนรอคอยชายหนุ่มมานานแสนนาน แม้ว่าลึกๆ อณิกษ์จะรู้สึกผูกพันกับวิวรรณ แต่เขาก็เกลียดชังหญิงสาวผู้นี้โดยไม่ทราบสาเหตุ         เหตุการณ์ดาวหางที่อุบัติขึ้นนั้น ได้นำมาซึ่งการปรากฏตนครั้งแรกของสตรีอีกนางหนึ่งคือ โสดาญา ผู้หญิงลึกลับในชุดราตรีสีดำที่เดินเยื้องย่างอย่างงามสง่าเข้ามาในงานประมูลเพชรเทียร์ร่า ซึ่งทั้งอณิกษ์และวิวรรณก็ได้เข้ามาร่วมงานประมูลเพชรเม็ดงามนั้นด้วย         พ่วงมากับการปรากฏตัวอย่างลึกลับของโสดาญา ก็เกิดคดีฆาตกรรมประหลาดขึ้นมากมาย ที่ศพผู้ตายส่วนใหญ่จะมีเลือดและอวัยวะภายในหายไป รวมถึงกรณีของ “กรรชิต” และ “ธาดา” พ่อค้าเพชรอีกสองคนที่ถูกฆ่าตายและชิงเพชรมาร์คีส์หายไป         คู่ขนานไปกับการสืบสวนคดีความอันแปลกประหลาดนั้น อณิกษ์ก็เริ่มสนิทสนมกับโสดาญามากขึ้น ก่อนที่จะได้มาพบกับ “สินจันทร์” มารดาของโสดาญา ผู้มีมนตราสร้างมายาลวงให้อณิกษ์เห็นภาพในอดีตชาติว่า ตนกับโสดาญาเคยมี “สัญญารัก” กันมาก่อน โดยมีวิวรรณเป็นศัตรูหัวใจที่มาพรากความรักของทั้งคู่ไป และในมายาภาพนั้น ก็เป็นวิวรรณอีกเช่นกันที่เอากริชแทงพระเอกหนุ่มตายมาตั้งแต่ชาติปางก่อน         ด้วย “สัญญาณลวง” จากภาพอดีตชาติ แม้อณิกษ์จะมีจิตผูกปฏิพัทธ์กับโสดาญา และเกลียดวิวรรณตามเรื่องเล่าที่สินจันทร์ปั้นแต่งไว้ในความคิดคำนึงของเขาก็ตาม แต่สิ่งที่ทำให้ชายหนุ่มอดฉงนสนเท่ห์ไม่ได้ก็คือ ไม่ว่าเขาจะรังเกียจวิวรรณเพียงใด แต่ลึกๆ ก็อดรู้สึกห่วงหาอาวรณ์หญิงสาวไปไม่ได้ และในทางกลับกัน แม้จะรู้สึกลุ่มหลงในตัวโสดาญาเพียงใด แต่เขาก็มิอาจให้สัญญาว่าจะรักเธอคนเดียวไปได้เช่นกัน         จนกระทั่งวันหนึ่งที่อณิกษ์ได้มาพบกับ “หลวงพ่อเทียน” ที่สอนให้เขาฝึกกำหนดจิต อณิกษ์ก็ได้ล่วงรู้อดีตชาติว่า ตนคือ “พระเจ้ายศราช” แห่งนครจำปาศรีที่ยิ่งใหญ่ ยศราชพบรักกับ “แพงทอง” เจ้าหญิงแห่งเวียงสรภู ซึ่งปัจจุบันกาลคือวิวรรณผู้สมาทานตนเป็นโอปปาติกะเพื่อรอคอย “สัญญารัก” ของยศราชในทุกภพชาติ         และข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ โสดาญาในอดีตเป็นเจ้าหญิงแห่งเวียงศิลาที่แอบหลงรักยศราช จึงไหว้วานให้สินจันทร์ผู้มารดาทำพิธีนิลกาลาคีรี เพื่อให้เธอกลายเป็นอมตะและมีอำนาจเหนือสรรพชีวิตทั้งมวล กับทั้งยังทำเล่ห์เสน่หาให้ยศราชลุ่มหลง และสร้าง “สัญญาณลวง” ให้เขาเกลียดชังแพงทองไปในเวลาเดียวกัน         จนภายหลัง “วินธัยปุโรหิต” ได้เข้ามาช่วยแก้มนต์เสน่ห์ และกักขังโสดาญากับสินจันทร์ไว้จนกว่าดาวหางจะโคจรมาบรรจบโลกอีกครั้ง ทั้งคู่จึงจะเป็นอิสระ และก่อนที่ร่างของโสดาญาจะถูกจองจำ วินธัยก็ได้ตัดนิ้วทั้งห้าของนาง และนิ้วเหล่านั้นก็ได้กลายเป็นเพชรมาร์คีส์ที่หายสาบสูญไปในอากาศธาตุ         เมื่อความทรงจำอันประหนึ่งกฤษดาภินิหารเหนือจริงได้ฟื้นคืนอีกครั้ง อณิกษ์จึงได้รู้ความจริงด้วยว่า โสดาญาหาใช่มนุษย์จริงๆ ไม่ และ “ผีอู่แก้ว” ปีศาจแมงมุมทาสรับใช้ของนางแต่ปางภพก่อน ก็คือฆาตกรที่ฆ่าผู้คนอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้โสดาญาสามารถรวบรวมอำนาจแห่งเพชรมาร์คีส์ทั้งห้าเม็ดกลับคืนมา         แม้เราผู้ชมจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า ถึงที่สุดแล้วอณิกษ์ก็สามารถทำลายมนต์ดำอวิชชาและกำจัดโสดาญาไปได้ พร้อมๆ กับได้ลงเอยครองคู่กับวิวรรณที่สละซึ่งสภาวะแห่งโอปปาติกะ เพื่อกลับมาเป็นมนุษย์อีกครา แต่อีกด้านหนึ่ง พล็อตเรื่องอันอัศจรรย์กับช่างซับซ้อนด้วยรักแค้นและความลุ่มหลงแบบนี้ ก็เผยให้เห็นความหมายและอานุภาพแห่งข่าวลวงข่าวปลอมไปด้วยในเวลาเดียวกัน         แม้จะย้อนกลับไปเป็นสหัสวรรษ แต่ทว่าข่าวลวงก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่คนมีอำนาจใช้ครอบครองจิตใจของผู้คน เฉกเช่นเดียวกับมนต์ลวงไสยดำที่โสดาญาพยายามฝังใส่เข้าไปในห้วงความคิดของยศราช         และที่สำคัญ เมื่อข่าวลวงนั้นผ่านการตอกย้ำสำทับกันข้ามชาติข้ามกาลเวลา ในที่สุดข่าวลวงๆ ก็จะหยั่งรากแก้วฝังลึกจนกลายเป็น “จิตสำนึกจอมปลอม” ที่ผู้มีอำนาจจะใช้เชิดชักให้เราเชื่อและยอมรับ แบบที่อณิกษ์เองก็ถูกติดตั้งโปรแกรมให้เกลียดชังนางเอกทุกภพทุกชาตินั่นเอง         จนกว่าจะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือข้อเท็จจริงใหม่มาหักล้างสามัญสำนึกปลอมๆ เหมือนที่อณิกษ์ได้ฝึกกำหนดจิตจนสัมผัสถึงความจริงที่ต่างออกไปเมื่อพันปีก่อนเท่านั้น “สัญญาณลวง” อันหล่อเลี้ยงจิตสำนึกจอมปลอม ก็จะค่อยๆ ถูกคัดง้างและลดทอนพลานุภาพของมันลงไป         โดยนัยหนึ่ง ละคร “สัญญารัก สัญญาณลวง” น่าจะยืนยันให้เห็นแก่นหลักของเรื่องที่ว่า ชะตาชีวิตของมนุษย์เราเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ดังเช่นที่วินธัยได้กล่าวกับอณิกษ์ว่า “เรื่องบางเรื่องเราไม่อาจฝืนชะตาลิขิตได้ และเรื่องบางเรื่องเราก็ต้องรอให้ถึงเวลาด้วยความอดทน และไม่อาจฝืนได้”         แต่ท้ายที่สุดแล้ว หากชะตาชีวิตที่ถูกลิขิตเอาไว้นั้น เป็นเรื่องเล่าข่าวลวงที่ถูกสร้างจนเป็นสามัญสำนึกปลอมๆ แถมเป็นเรื่องลวงเรื่องปลอมที่เซาะกร่อนซึ่ง “สัญญารัก” ของเรา ก็คงถึงเวลาที่เราต้องลุกขึ้นหันมาตอบโต้ท้าทาย “สัญญาณลวง” กันบ้าง หาไม่เช่นนั้นแล้ว แค่ถูกแชร์ข่าวผิดๆ ชีวิตก็จะเปลี่ยนจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ระวังผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรสกัด สวม อย. ปลอม

        คุณอภิรักษ์เป็นคนที่รักสุขภาพ และมีความชอบพืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเป็นอย่างมาก มาวันหนึ่งคนรู้จักแถวบ้านคุณอภิรักษ์ได้เข้ามาแนะนำผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรยี่ห้อหนึ่ง โดยโฆษณาสรรพคุณ แก้ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกตามร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรง คุณอภิรักษ์ได้อ่านส่วนผสมและสรรพคุณต่าง ๆ บนฉลากสินค้า ก็เห็นว่ามีสมุนไพรหลายตัวที่น่าสนใจ ทั้งคนที่นำผลิตภัณฑ์มาเสนอขายยังเป็นคนที่รู้จักมักคุ้น และเคยได้ยินคนในละแวกบ้านกล่าวถึงกัน บนฉลากก็ยังมีเลข อย.รับรองอีกด้วย คุณอภิรักษ์จึงได้ซื้อน้ำสมุนไพรสกัดเอาไว้จำนวนหนึ่งเพื่อทดลองรับประทาน         ไม่กี่วันต่อมามีข่าวว่า เพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งที่ดื่มผลิตภัณฑ์น้ำสมุนไพรสกัดดังกล่าว เกิดอาการคันและบวมตามร่างกายจนต้องทยอยกันเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล อีกทั้งเมื่อหน่วยงานนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบยังพบว่า ผลิตภัณฑ์มีการสวมเครื่องหมายเลข อย.ปลอมและมีสารสเตียรอยด์ปนเปื้อน นับเป็นโชคดีของคุณอภิรักษ์ที่ยังไม่ได้หยิบน้ำสมุนไพรสกัดยี่ห้อดังกล่าวมารับประทาน แต่อยากได้ความรับผิดชอบจากผู้ผลิตจึงโทรมาปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารสเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) คือ อาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษตาม มาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ         นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถใช้คำโฆษณาในลักษณะเพื่อบรรเทา รักษา หรือแก้โรคต่าง ๆ ได้ เพราะไม่ใช่เวชภัณฑ์ยาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาโรค ในกรณีนี้ยังเข้าข่ายใช้คำโฆษณาหลอกลวงเกินจริง ซึ่งตาม มาตรา 40 ของ พ.ร.บ.อาหารฯ ยัง ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ซึ่งมีบทกำหนดโทษตาม มาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         แนะนำให้คุณอภิรักษ์นำสินค้าไปมอบให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการตามกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2563

หน้ากากอนามัยขายเกินราคา จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท        ความต้องการหน้ากากอนามัยพุ่งสูงอีกครั้งเมื่อสถานการณ์โควิดกลับมาร้อนอีกหน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 22 ธันวาคม ว่า         หน้ากากอนามัย มี 3 ประเภท คือ 1.หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (เป็นสินค้าควบคุม) 2.หน้ากากผ้า 3.หน้ากากทั่วไป        หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มี 2 ประเภท 1.ผลิตในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 30 โรงงานผลิต ได้ประมาณวันละ 4-5 ล้านชิ้น ส่วนที่สองหน้ากากอนามัยที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ การควบคุมราคานั้นจะมีความแตกต่างกันสำหรับที่ผลิตในประเทศไทย คุมราคาชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท ส่วนหน้ากากนำเข้า คุมราคาอยู่ที่ต้นทุนนำเข้าบวกอีกไม่เกินร้อยละ 60 ของต้นทุนนำเข้า ก็จะเป็นราคาจำหน่ายที่ควบคุม         “สำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทยที่คุมราคา 2.50 บาท ได้มีการติดตามตรวจสอบมาโดยตลอดก่อนที่จะเกิดปัญหาที่สมุทรสาครราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1-2 บาทไม่เกิน 2.50 บาท แต่ถ้าขายเกินราคาควบคุมจะมีการดำเนินคดีและถือว่ามีความผิด โทษของการขายเกินราคาจะจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”         ผู้บริโภคหากพบว่ามีการขายเกินราคาหรือกักตุนให้แจ้งพาณิชย์จังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแจ้งสายด่วน 1569          กรมการค้าภายในคาดปี 64 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ปรับขึ้น          นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปี 64 ว่า สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะยังคงทรงตัวจากปีนี้ และไม่น่ามีแรงกดดันทำให้ผู้ประกอบการต้องขอปรับขึ้นราคาขาย เพราะจากการประเมินปัจจัยที่เป็นต้นทุนการผลิตโดยรวม พบว่ายังไม่น่าปรับขึ้นโดยคาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับที่ไม่น่ากังวล เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ส่วนค่าเงินบาทที่มีผลต่อการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนนั้น คาดว่าจะไม่ต่างจากปีนี้คือ มีอัตราไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่าเกินไปสามารถดูแลได้       สำหรับมาตรการดูแลราคาสินค้าของกรมการค้าภายในประกอบด้วย การกำหนดรายการสินค้าและบริการควบคุม ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งจะมีการประชุมทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุมทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น และการกำหนดรายการสินค้าสำคัญที่ติดตามดูแล 207 สินค้า และ 23 บริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตัวแทนผู้บริโภคทั้งประเทศเกิดแล้ว         ราชกิจจานุเบกษา “ประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค”         มาตรา 3 ให้จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภค และมีสิทธิ หน้าที่ และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง         ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2563 รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายทะเบียนกลาง ธ.ไทยพาณิชย์เตือนภัยลิงก์เว็บไซต์ปลอมที่มาทางไลน์ อีเมลและ sms         หลังพบการร้องเรียนจากลูกค้ากว่า 200 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท โดยมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นธนาคารต่างๆ รวมทั้งธนาคาไทยพาณิชย์ส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอม แนบมากับอีเมล sms หรือ LINE เพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญของผู้บริโภค ทั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยืนยันไม่มีนโยบายในการส่งข้อความผ่านทาง SMS, อีเมล, LINE หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือรหัสต่างๆ สำหรับท่านใดที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ สามารถติดต่อธนาคารฯ ได้ที่ 02-777-7777 ตลอด 24 ชั่วโมง ผลตรวจผักไทยแพน ผักไฮโดรไม่ได้ปลอดภัยกว่าผักผลไม้ทั่วไป         ผลการสุ่มตรวจผักประจำปี 2563 ของไทยแพน ตอกย้ำว่าผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่า โดยผลการสุ่มตรวจผักไฮโดรโปนิกส์ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 9 ตุลาคม 2563 จำนวน 52 ตัวอย่าง พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 29 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 55.8% ใกล้เคียงกับการตกค้างของผักผลไม้ทั่วไปที่สุ่มตรวจทั่วประเทศในคราวเดียวกันเกือบ 500 ตัวอย่าง         โดยตัวอย่างที่มีสารพิษตกค้างทั้งหมด 39 ตัวอย่าง (รวมที่พบการตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน 10 ตัวอย่าง) พบว่าเป็นสารกำจัดแมลง 18 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 17 ชนิด และสารกำจัดแแมลงและไร 3 ชนิด         ผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นระบบการปลูกผักที่ให้ปุ๋ยเคมีผ่านสารละลายในน้ำหรือตัวกลาง โดยอาจปลูกในระบบปิด เช่น ในโรงเรือน หรือในพื้นที่โล่งก็ได้ สภาวะพืชที่อวบน้ำและมีธาตุอาหารในรูปสารละลาย ดึงดูดให้โรคแมลงโจมตี ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งจึงใช้สารเคมีกำจัดแมลง (insecticide) สารเคมีกำจัดโรค (fungicide) เป็นต้น เพื่อควบคุมกำจัด โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการบางรายนำสารเคมีประเภทดูดซึมผสมอยู่ในสารละลายเพื่อใช้กำจัดโรคแมลงด้วย ทำให้ความเสี่ยงในการตรวจพบสารเคมีตกค้างของผักไฮโดรโปนิกส์แทบจะไม่แตกต่างใดๆกับผักทั่วไป ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายละเอียดว่า ผักยี่ห้อใด และแหล่งจำหน่ายใดพบการค้างได้จากลิงค์ https://www.thaipan.org/highlights/2283         ผลการวิเคราะห์นี้ยังเป็นสัญญาณเตือนไปยังห้าง ซัพพลายเออร์ และผู้ผลิตที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมทั้งหน่วยงานต่างๆทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯที่จะต้องทำหน้าที่กำกับดูแล ให้ความรู้ และปกป้องสุขภาพของประชาชน 

อ่านเพิ่มเติม >