ฉบับที่ 269 รวบแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง

        เดี๋ยวนี้หลายคนที่ช้อปออนไลน์มักจะเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีบริการเก็บเงินปลายทาง เพราะไม่อยากเสี่ยงโอนเงินไปก่อนแล้วต้องมาลุ้นว่าจะได้ของชัวร์หรือตรงปกไหม แต่รู้หรือไม่ว่านี่กลับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้สวมรอยหลอกให้เหยื่อจ่ายเงินรับพัสดุแบบเนียนๆ ทั้งที่ไม่ได้สั่งซื้อเลย ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้วจำนวนมาก         เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์แกะรอยสืบสวนจากบริษัทรับส่งพัสดุแห่งหนึ่ง จนจับแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางได้ 3 คน ที่โกดังสินค้าและบ้านพักแถวคลองหลวง ปทุมธานี ผู้ต้องหารับสารภาพว่าซื้อกล่องพัสดุที่ติดชื่อผู้รับปลายทางมาชื่อละบาท จำนวน 3,000 รายชื่อ และซื้อกล่องสินค้าแบบแพ็คสำเร็จมากล่องละ 7 บาท แต่จะติดราคาแพงๆ เก็บเงินปลายทาง จากนั้นว่าจ้างให้บริษัทขนส่งเอกชนมารับพัสดุไปส่งให้เหยื่อ โดยจะทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่เจ้าของโรงงานผลิตกล่องพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ใช้หลอกลวงเหยื่อ ไปจนถึงผู้ลักลอบนำรายชื่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายมาขายให้         มิจฉาชีพพวกนี้ได้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ เว็บไซต์เปิดรับสมัครงานปลอม ในคอมเมนต์เพจสั่งของ ในหน้าเพจร้านค้าออนไลน์ที่แจ้งการส่งสินค้า หน้ากล่องพัสดุที่ถูกทิ้งโดยไม่แกะหรือขีดฆ่าชื่อ-ที่อยู่ออกก่อน หรือซื้อมาจากบริษัทขนส่งพัสดุและบริษัทสมัครงาน          แก๊งนี้ได้ใจว่าหาเงินได้ง่าย หว่านส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางออกไปวันละ 1,000 กล่อง แต่มีผู้รับตีกลับไม่ถึง 100 กล่อง ผู้เสียหายไม่เอาผิดเพราะคิดว่ามูลค่าเงินไม่เยอะ หรือหากเอาผิดก็เป็นเรื่องยากเพราะใช้ชื่อผู้ส่ง ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ปลอมทั้งหมด ดังนั้นใครที่ตกเป็นเหยื่อควรเข้าแจ้งความเอาผิดมิจฉาชีพพวกนี้ อย่าปล่อยให้พวกหลอกลวงลอยนวลได้อีกต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำวิธีป้องกันและรับมือในกรณีนี้ว่า         1.หากไม่ได้สั่งสินค้า ให้ปฏิเสธการรับพัสดุทันที แต่หากเผลอรับเพราะลืม หรือไม่ได้แจ้งคนที่บ้านเอาไว้ ให้โทรศัพท์ติดต่อไปตามเบอร์ที่อยู่บนกล่องพัสดุนั้น หากติดต่อไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นข้อมูลปลอม          2.ถ่ายรูปกล่องพัสดุ ที่อยู่ที่จัดส่งไว้เป็นหลักฐาน และไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งความออนไลน์ผ่าน www.thaipoliceonline.com หากจับกุมตัวได้ก็จะส่งฟ้องศาล ซึ่งผู้เสียหายควรไปให้การในชั้นศาล เพื่อเรียกเงินชดใช้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริงในการรับพัสดุปลายทางที่ไม่ได้สั่งนั้น           3.ผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแปะกล่องส่งพัสดุปลายทาง สามารถฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ "PDPA"  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 กระแสต่างแดน

ปลูกข้าวกันเถอะ        รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยด่วน ...ตามความเห็นของนายโตชิยูกิ อิโตะ อดีตนายพลประจำกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีคานาซาว่า  หลายสิบปีที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นบริโภคข้าวและปลาน้อยลงมาก ในขณะที่ขนมปังและเนื้อสัตว์อื่นๆ  ได้รับความนิยมมากขึ้น แม้แต่ปลาที่นิยมก็เป็นปลาแมคเคอเรลและแซลมอนที่นำเข้าจากนอร์เวย์หรือชิลี“ครัว” ของคนญี่ปุ่นปัจจุบันจึงพึ่งพาสินค้านำเข้าเป็นหลัก แม้แต่ธัญพืชอาหารสัตว์ก็นำเข้าแทบทั้งหมด  เรื่องเงินไม่ใช้ปัญหาใหญ่ เพราะผู้คนมีรายได้มากขึ้น แต่หากเส้นทางขนส่งทางเรือมีเหตุให้ถูกปิดลง  เพราะสงครามที่อาจปะทุขึ้นระหว่างจีนกับไต้หวัน คนญี่ปุ่นลำบากแน่วันนี้ญี่ปุ่นมีพื้นที่ผลิตข้าวน้อยลงมากเพราะดีมานต์ที่ลดลง ประกอบกับชาวนาอายุมากขึ้นและไม่มีลูกหลานสนใจสืบทอด คนรุ่นใหม่ที่เข้าวงการก็เลือกที่จะปลูกข้าวเพียงปีละครั้ง แม้สภาพดินฟ้าอากาศจะเอื้ออำนวยให้ปลูกได้ถึงปีละสองครั้งก็ตาม ประหยัดไฟ        ปริมาณการบริโภคไฟฟ้าของเดนมาร์กในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปีนี้ ลดลงเกือบร้อยละสิบ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 Energinet หรือ “การไฟฟ้าเดนมาร์ก” ให้ข้อมูลว่าการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด สอดคล้องกับพฤติกรรม “นิวนอร์มอล” ของคนเดนมาร์กที่ประหยัดไฟด้วยการงดทำอาหารประเภทที่ต้องอบนาน ไม่ใช้เครื่องอบผ้า รวมถึงเปลี่ยนไปซักผ้า/ล้างจาน ในตอนกลางคืน และเลือกซัก/ล้างด้วยโปรแกรม “ประหยัด”  ค่าไฟในเดนมาร์กพุ่งขึ้นเป็น 7.72 โครนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จาก 2.87 โครน ในช่วงต้นปี ผู้ใช้ไฟฟ้าจึงพากันดาวน์โหลด “แอปฯ มอนิเตอร์ค่าไฟ” เพื่อเป็นตัวช่วยให้รู้ช่วงเวลาที่ค่าไฟถูกก่อนหน้านี้รัฐบาลช่วยจ่ายค่าไฟให้กับผู้มีรายได้น้อย 400,000 ครอบครัว ในอัตราครัวเรือนละ 6,000 โครน (ประมาณ 30,000 บาท) ทั้งนี้เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีสมาชิกครอบครัวที่อายุมากที่สุดโดยอัตโนมัติ  สองล้อกลับมาแล้ว        นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนสร้างความปวดหัวให้ผู้คนไม่น้อย แต่ผลพลอยได้คือการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้น หลังซบเซาไปนานเพราะผู้คนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์หรือรถสาธารณะเช่น สถิติการใช้จักรยานพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังหยุดยาวช่วงวันแรงงานที่รัฐบาลสั่งปิดระบบขนส่งมวลชนบางส่วนและขอให้ผู้คนงดออกจากบ้านเพื่อลดการกระจายเชื้อ หรือกรณี “เซี่ยงไฮ้ล็อคดาวน์” ที่ผู้คนต้องสัญจรไปมาด้วยจักรยาน เพราะรัฐอนุญาตให้คนที่ออกจากบ้านได้เดินทางด้วยจักรยานเท่านั้นจนถึงวันนี้ ย่านใจกลางกรุงปักกิ่งก็มีการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47.8 นอกจากนโยบายโควิดแล้วยังมีปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการขับขี่จักรยานด้วยรายงานระบุว่าเรื่องนี้ส่งผลดีทั้งต่ออุตสาหกรรมผลิตจักรยานในประเทศจีน ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านเหรียญ ด้วยกำลังผลิตปีละ 76.4 ล้านคัน และผู้ผลิตจักรยานในอเมริกาและยุโรปซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นชนชั้นกลาง ที่ยินดีจ่ายค่าจักรยานได้ถึงคันละ 14,800 เหรียญ (ประมาณ 550,000 บาท) ขอคนช่วยเลี้ยง        สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตรของเยอรมนีอาจดูน่าอิจฉาในสายตาของประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่กำหนดให้รัฐบาลจัดหาเดย์แคร์ หรือศูนย์รับเลี้ยง ให้กับเด็กวัย 3 ปีขึ้นไปที่พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน   แต่ปัจจุบันศูนย์ฯ เหล่านี้มีไม่เพียงพอ และไม่มีใครสนใจอยากสมัครมาทำงาน เพราะเป็นตำแหน่งพาร์ทไทม์ที่ค่าตอบแทนน้อย และไม่มีโอกาสก้าวหน้า รายงานระบุว่าเยอรมนียังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อีกอย่างน้อย 160,000 คนเมื่อพ่อแม่ไม่อยากใช้เวลา 90 นาที ขับรถไปส่งลูกที่ “ศูนย์ใกล้บ้าน” จึงหาทางออกด้วยการฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย ใช้บริการสถานรับเลี้ยงเด็กของเอกชน หรือจ้างพี่เลี้ยงไว้ที่บ้านหากเงินถึง และมี “คุณแม่” จำนวนไม่น้อยตัดสินใจอยู่บ้านเลี้ยงลูกเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้หญิง เพราะเมื่อไม่ได้ทำงาน พวกเธอก็มีเงินสะสมน้อยและมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะ “จน” ในยามแก่ กินน้อยก็ปัง        คอนเทนต์ประเภท “โชว์กินดะ” จากเกาหลีใต้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก จนคำว่า “ม็อกบัง” ได้ถูกนำไปบัญญัติไว้ในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดในปี 2021 แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชาวเกาหลีเองก็มีไม่น้อยนอกจากการกินมากไปจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือกินทิ้งกินขว้างที่ทำให้เกิดขยะโดยไม่จำเป็นแล้ว พฤติกรรมบางอย่างในคลิปเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องตามธรรมเนียมเกาหลี เช่น การกัดเส้นบะหมี่ให้ขาดทั้งที่ยังไม่หมดคำ หรือการเขี่ยอาหาร ที่เชื่อกันว่าจะนำมาซึ่งโชคร้ายคนส่วนหนึ่งจึงหันไปสนใจ “โซซิกจวา” ซึ่งเป็นรายการที่พูดถึงพฤติกรรมการกินอาหารเพียงเล็กน้อย (เพราะเจ้าตัวรู้สึกว่าเพียงพอต่อความต้องการ ไม่ใช่เพื่อการลดน้ำหนัก) และการเคี้ยวอาหารแต่ละคำให้นานขึ้น ของเหล่าเซเล็บเกาหลีช่อง Unnies without Appetite ที่มีซานดารา พัค อดีตสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป 2NE1  มาแชร์ประสบการณ์ว่าเธออยู่ได้ทั้งวันด้วยการกินกล้วยเพียงหนึ่งผล ก็มีผู้ยอดเข้าชมมากกว่าหนึ่งล้านวิว    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 256 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2565

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)        1 มิถุนายน 2565 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2565 (PDPA) มีผลบังคับใช้ เป็นกฎหมายสำคัญด้านดิจิทัล 12 ฉบับ ที่รัฐและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผลักดันให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล มาตรฐานการใช้ เก็บ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของไทยให้อยู่ในระดับสากล ในส่วนของกฎหมายฉบับนี้ หากผู้ใดหรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามนั้น มีโทษทั้งทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง         ตัวอย่างกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้แก่ 1.การนำประวัติทำความผิดคนอื่นโพสต์ในเฟซบุ๊กโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม 2. นำเรื่องราวเจ็บป่วยของคนอื่นมาเผยแพร่ให้คนอื่นรู้ 3.นำรูปคนอื่นในกูเกิ้ลมาตกแต่งรูปภาพ ใส่ข้อความไม่ว่าจะชื่นชม หรือด่าทอ หากคนอื่นโพสต์รูปภาพ-ข้อความในเฟซบุ๊ก แล้วหมั่นไส้เลยเข้าไปคอมเม้นต์ทำให้เขาเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง 4.หัวหน้างานลงโทษออกใบเตือนลูกน้องแล้วนำใบเตือนมาติดบอร์ด ส่งในไลน์กลุ่ม หรือไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก 5.การไปแจ้งความว่าโดนคนอื่นฉ้อโกง พอได้ใบแจ้งความจากตำรวจแล้วนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อเตือนคนอื่นไม่ให้หลงกลถูกหลอกอีก เป็นต้น โดยการกระทำดังกล่าว โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สธ.ประกาศให้ “กลิ่น-ควัน” กัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ         หลังจากวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประเทศไทยได้ “ปลดล็อกกัญชา-กัญชง” อย่างเป็นทางการ อนุญาตให้ประชาชนปลูกได้ไม่ผิดกฎหมาย ต่อมา วันที่ 14 มิถุนายน 2565 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น ควันกัญชา กัญชงหรือพืชอื่นใดเป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 โดยมีผลบังคับใช้ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยเนื้อหาในประกาศได้ระบุว่า         “เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุข และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าวมีอนุภาคขนาดเล็กที่เข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบภัยกับเหตุนั้น สมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข”             นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ทารก สตรีมีครรภ์ บุคคลที่มีประวัติโรคซึมเศร้า ป่วยโรคจิตเภทควรหลีกเลี่ยงในการใช้และสัมผัสควันกัญชา และสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์ ควรหลีกเลี่ยงการจัดรวมกลุ่มเพื่อใช้กัญชาในทางไม่เหมาะสม หรือเพื่อสันทนาการอีกด้วย แท็กซี่วิ่งนอกเขต 6 จังหวัด ไม่ต้องกดมิเตอร์ได้         ประกาศกรมการขนส่งทางบก 10 มิถุนายน 65 เป็นต้นไป รถยนต์รับจ้างบรรทุกโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถใช้วิธีตกลงราคานอกจากการใช้มาตรค่าโดยสาร พ.ศ. 2565 ได้ โดยหากทำการรับจ้างนอกเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 6 จังหวัด โดยรอบ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และนครปฐม หรือรับจ้างจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่งได้ โดยสามารถตกลงราคาในรูปแบบเหมาจ่ายได้ นอกเหนือจากการกดมิเตอร์        โดยสาเหตุที่มีการปรับใช้ราคาค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายรูปแบบนี้ เป็นการปรับตามสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ซึ่งผู้โดยสารส่วนมาก มักนิยมวิธีการตกลงราคาโดยเหมาจ่ายแทนการกดมิเตอร์ เมื่อได้ทำการจ้างไปยังจังหวัดต่างๆ แต่ไม่สอดคล้องกับระเบียบในปัจจุบัน จึงสมควรที่จะมีการปรับให้ยืดหยุ่นและหมาะสมมากขึ้น ให้เกิดความคล่องตัวในการรับจ้างที่มีระยะทางไกล และเป็นไปตามความตกลงของผู้ใช้บริการและผู้ขับรถยนต์รับจ้าง น้ำปลาร้ากินมากเสี่ยงโรคหัวใจ-ไตวาย                    จากกรณีดราม่าที่มีเน็ตไอดอลที่ขายสินค้าน้ำปลาร้า ได้ทำการพรีเซนต์โดยเทน้ำปลาร้าใส่แก้วน้ำแข็งและยกดื่ม นั้น หลายคนยังห่วงว่าหากเป็นน้ำปลาร้าจริง กลัวจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หากรับประทานปริมาณที่มากอาจอันตรายต่อไตได้ นอกจากนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวว่า กรณีที่มียูทูบเบอร์นำน้ำปลาร้ามายกซดเหมือนเครื่องดื่มนั้น ห่วงจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะความเข้าใจผิดคิดว่านำมาเป็นเครื่องดื่มได้ เนื่องจากน้ำปลาร้าคือเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง ไม่ควรนำมาดื่มเป็นเครื่องดื่ม  อาจจะก่อให้เกิดโรคชนิดต่างๆ ยกตัวอย่าง โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง ข้อมูลโซเดียมของเกลือและผงชูรสในปลาร้าแต่ละชนิด รวมทั้งจากโรงงาน วิสาหกิจ ตลาด พบว่ามีโซเดียมในระดับที่สูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินคำแนะนำขององค์กรอนามัยโรค 10 ปี ยังไม่จบ คดี “แคลิฟอร์เนีย ว้าว”          จากกรณี “คดีแคลิฟอร์เนีย ว้าว” ที่ปิดกิจการหนี ทำให้มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษา “ยืนตามศาลชั้นต้น” ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดจำนวน 5 รายการ ราคาประเมิน 293 ล้านบาท ให้นำไปชดใช้ให้กับผู้เสียหาย ที่ได้ “ยื่นคุ้มครองสิทธิ์” กับทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จำนวน 849 ราย เป็นเงิน 46 ล้านบาท และให้ดอกผลแก่ผู้เสียหาย ในวันที่ได้รับเงินเยียวเมื่อคดีถึงที่สุด ซึ่งให้คิดดอกเบี้ยจากร้อยละ 7.5 นับจาก “วันที่ดำเนินคดี” และนับต่อเนื่องให้ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ตามกฎหมายใหม่ที่กำหนด จนกว่าคดีจะสิ้นสุด         อย่างไรก็ตาม นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แม้มีคำสั่งจากศาลอุทธรณ์ แต่ยังมีกระบวนการที่ฝ่ายผู้ร้องค้านนั่นคือ “บริษัท ฟิทเนส เอสเตท” และ “บริษัท มัสมั่น วิลล่า“ อาจต้องสู้ไปถึงชั้นศาลฎีกา โดยกระบวนการนี้ศาลให้เวลา 30 วัน ยื่น “คำร้องค้าน” นับจาก 21 มิถุนายน 2565 ซึ่งกระบวนการระหว่างทางจนถึงวันศาลรับคำร้องไว้พิจารณา จนถึงวันพิพากษาอาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 1 ปี        ย้อนไปในปี 2543-2556  “คดีแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส” ที่มีนายแอริค มาร์ค เลอวีน เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งไม่นานก็ทยอยปิดสาขา ทำให้สมาชิกรายปี-ตลอดชีพ กลายเป็นผู้เสียหายจำนวนมากได้เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทางมูลนิธิฯ จึงได้ทำการดำเนินการเป็นตัวแทนเพื่อฟ้อง “คดีฉ้อโกงประชาชน” นอกจากนี้ ผู้ต้องหานายแอริค มาร์ค เลอวีน ยังคงล่องหน  จนวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย ซึ่งจำเลยไม่มาศาล จึง “เลื่อนคดีไม่มีกำหนด” พร้อมออกหมายจับอายุความ 10 ปี  เมื่อนับจากเหตุเกิดปี 2555 จนถึง 2565 หมายจับถือว่าหมดอายุความแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 กรแสะต่างแดน

โหวตได้หรือไม่        สวิตเซอร์แลนด์ใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนสามารถโหวตได้ทุกเรื่อง แต่มีอย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่แต่ละรัฐในประเทศยังเห็นไม่ตรงกัน มีจึงมีเพียงบางรัฐ (จากทั้งหมด 26 รัฐ) เท่านั้นที่จัดโหวตในเรื่องดังกล่าว         ประเด็นที่ว่าคือ “การขอให้บริการขนส่งมวลชนเป็นสิ่งที่รัฐจัดให้ฟรี”           เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสวิตเซอร์แลนด์กำหนดว่า ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะจะต้องจ่ายค่าเดินทางในราคาที่สมเหตุสมผล ในขณะที่บางคนมองว่าการจ่ายภาษีก็ถือเป็นการร่วมจ่ายอย่างเหมาะสมแล้ว ผู้บริหารบางรัฐยังตีความว่าการจัดโหวตเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้         แต่บางรัฐอย่างรัฐโว (Vaud) ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม “บริการขนส่งสาธารณะฟรี” และให้ความเห็นว่า รัฐมีสิทธิตัดสินใจได้ว่าจะช่วยจ่ายค่าโดยสารให้เต็มราคาหรือไม่ เขาเลือกใช้หลักการ...หากเกิดข้อสงสัย ให้เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนไว้ก่อน อยากเปลี่ยนน้ำ         เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในยุโรป เดนมาร์กยังล้าหลังในเรื่องการลดปริมาณแคลเซียมในน้ำประปา ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีจัดการกับน้ำกระด้างกันเอง บ้างก็พยายามขูดหินปูนในท่อ บ้างก็ลงทุนซื้อเครื่องกรองมาติดฝักบัว  นอกจากจะเปลืองสบู่ แชมพู และผงซักฟอก เพราะ “ตีฟองไม่ขึ้น” แล้ว การอาบน้ำกระด้างยังทำให้ผิวแห้ง หนังศีรษะเป็นรังแค แถมยังผมชี้ฟูอีกด้วย         แต่ข่าวดีคือโคเปนเฮเกนกำลังจะมีระบบกรองน้ำประปาส่วนกลางแล้ว บริษัท Hofor ผู้ให้บริการน้ำประปาในเมืองนี้และพื้นที่โดยรอบประกาศว่าเขาจะลดความกระด้างของน้ำลงให้ได้ภายในปี 2028         ด้านทันตแพทย์ออกมาเตือนว่า “น้ำอ่อน” จะทำให้คนฟันผุมากขึ้น โดยอ้างอิงงานวิจัยที่ยืนยันว่าเด็กในโคเปนเฮเกนมีฟันผุน้อยกว่าเด็กในเขตอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ (งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากเด็กอายุ 15 ปี จำนวน 52,000 คน)           มารอดูกันว่าเขาจะแก้ปัญหานี้อย่างไร   ป้องกันหลงผิด         ตั้งแต่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป รัฐบาลเมืองหางโจวจะเริ่มใช้กฎหมายอนุรักษ์ชาหลงจิ่ง สินค้าที่ได้รับการคุ้มครองเพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองหางโจว         ด้วยชื่อเสียงด้านคุณภาพและราคาระดับพรีเมียม ทำให้มี “ชาแอบอ้าง” เข้ามาบุกตลาด ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรตัวจริงจากไร่ชาในเขตรอบทะเลสาบซีหู และหุบเขาในเมืองหางโจว          เพื่อพิทักษ์ “แบรนด์หลงจิ่ง” เขาจึงมีกฎหมายกำหนดรหัสเฉพาะ ที่ประกอบด้วยชื่อบริษัทผู้ผลิต ปีที่ผลิต ซีเรียลนัมเบอร์ และรหัสที่ต้องแจ้งบนกระป๋องนี้ จะไม่สามารถนำไปโอน แจกจ่าย หรือให้ใครยืมได้ ผู้ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 10,000 หยวน สำหรับบุคคลธรรมดา และ 50,000 หยวน สำหรับนิติบุคคล          นอกจากนี้ยังต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล จัดการ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วย          ไร่ชาที่นี่จะมีการสำรวจทุก 10 ปี เพื่อดูแลจัดการเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และทำฐานข้อมูลพื้นที่แต่ละแปลง รวมถึงการใช้ปุ๋ยธรรมชาติตามที่รัฐส่งเสริม โปรฯ โรแมนติก         ข่าวดีสำหรับคู่รักที่พร้อมจะแต่งงานกันภายในปีนี้ แคว้นลาซิโอ อิตาลี เขาจัดโปรโมชันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจงานแต่ง และโปรฯ นี้สามารถเข้าร่วมได้ทั้งคนอิตาเลียนและคนต่างชาติ            ตามโครงการ “In Lazio with Love” คู่สมรสที่จัดพิธีแต่งงานในเขตลาซิโอ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงโรม ชายหาด หรือปราสาทยุคกลาง หรือโลเคชันยอดนิยมอื่นๆ จะสามารถนำใบเสร็จมาขอเบิกเงินคืนได้สูงสุด 2,000 ยูโร (ประมาณ 73,000 บาท)         ใบเสร็จที่ว่านี้อาจมาจากบริษัทรับวางแผนงานแต่ง ร้านเช่าชุดแต่งงาน ผู้ให้เช่าสถานที่ ร้านดอกไม้ บริษัทรับจัดเลี้ยง รวมไปถึงค่าจ้างช่างภาพ หรือค่าเช่ารถด้วย ทั้งนี้เขาสงวนสิทธิ์ให้ส่งใบเสร็จได้ไม่เกิน 5 ใบ         ข่าวบอกว่าเขาตั้งงบไว้ 10,000,000 ยูโร เพื่อช่วยเหลือธุรกิจงานแต่งที่ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2019 มีคู่รักมาจัดงานแต่งที่นี่ถึง 15,000 คู่ แต่สองปีกว่าหลังการระบาดของโควิด-19 เขามีโอกาสจัดงานแต่งไปเพียง 9,000 งานเท่านั้น       สควิดฟาร์ม        โลกกำลังจะมีฟาร์มปลาหมึกแห่งแรกในปี 2023 ภายใต้การดำเนินการของบริษัท Nueva Pescanova ของสเปน ที่ปาดหน้าคู่แข่งจากญี่ปุ่นและเม็กซิโกไปได้         บริษัทอ้างว่าเขาลงทุนไปกว่า 65 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท และได้ศึกษาวิจัยจนพบ “สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” กับการเลี้ยงปลาหมึกในถัง เขาจะผลิตปลาหมึกได้ถึงปีละ 3,000 ตัน ภายในปี 2026 ทั้งนี้เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพราะถือเป็น “ความลับทางการค้า”         แต่นักวิชาการที่รีวิวผลงานวิจัยกว่า 300 ชิ้น ฟันธงว่า “ฟาร์มปลาหมึก” มันเป็นไปไม่ได้ การถูกจำกัดบริเวณอาจทำให้ปลาหมึกเครียดและทำร้ายกันเอง นักสิ่งแวดล้อมก็มองว่านี่เป็นการสวนกระแสเรื่องความยั่งยืน ปัจจุบันเราใช้ 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลที่จับได้มาเป็นอาหารสัตว์  แล้วเรายังจะต้องนำไปใช้ในฟาร์มปลาหมึกอีกหรือ ชาวประมงรายย่อยก็อาจได้รับผลกระทบ ในขณะที่เชฟบอกว่า “มันไม่อร่อย”            ขณะนี้ฟาร์มดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ปลาเส้นปรุงรส โปรตีนสูง ไขมันต่ำ แต่โซเดียมสูงปรี๊ด

        ฉลาดซื้อเคยทำสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ขนม (ของกินเล่น) ปลาเส้นปรุงรส ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้ขนมอบกรอบหรือขนมขบเคี้ยวอื่นๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งพบว่า การโฆษณาว่าโปรตีนสูง ไขมันต่ำนั้นไม่ผิด แต่เรื่องโซเดียมนั้นมีเพียบจริงๆ และยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อประกอบกับข้อมูลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สแนกซ์หรือกลุ่มขนมขบเคี้ยวของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่เราจะนำมาเสนอในครั้งนี้         ในการทำสำรวจฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประจำปี 2564 ของ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยนั้น ได้เก็บตัวอย่างสินค้ากว่า 400 ตัวอย่าง แบ่งเป็นขนมอบกรอบ ซึ่งทำจากแป้ง และแยกย่อยเป็นประเภทตามวัตถุดิบได้แก่ มันฝรั่ง ข้าวโพด สาหร่าย ถั่ว แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์ คุกกี้ และปลาเส้น (รวมปลาหมึกอบกรอบ ปลาแผ่น) เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทั้งในกลุ่มเสี่ยงต่ออาหารที่มีโซเดียมสูงอย่างผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และผู้บริโภคทั่วไป โดยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าประเภทนี้ ได้ใช้ในการตัดสินใจเลือกบริโภคหรือเลี่ยงการบริโภคสินค้าที่มีโซเดียมสูง         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลชุดนี้ โดยจะแบ่งเป็นตอนๆ ตามประเภทของผลิตภัณฑ์ โดยขอประเดิมด้วย ปลาเส้นปรุงรส          สรุปผล การสำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรส (รวมปลาแผ่น ปลาหมึกอบกรอบและหมูอบกรอบ) มีข้อสรุปดังนี้        1.ผลิตภัณฑ์ที่นำมาอ่านฉลากมีทั้งสิ้น 36 ตัวอย่าง        2.ขนาดบริโภคหรือหนึ่งหน่วยบริโภคอยู่ที่ประมาณ 12-43 กรัม        3.มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 180 – 810 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค        4.หน่วยบริโภคแม้จะน้อยแค่ 12-13 กรัม แต่ก็ให้ปริมาณโซเดียมสูงถึง 180 กรัม        5.ยิ่งมีการปรุงรสมาก รสแซ่บ รสเข้มข้น (การใช้วัตถุเจือปนอาหารหลายชนิด เช่น โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ยิ่งมีปริมาณโซเดียมสูง         ติดตามผลการสำรวจได้จากภาพในหน้าถัดไป          คำแนะนำ        1.ผู้ปกครองควรใส่ใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรสของเด็ก และให้รับประทานแต่น้อย เพราะเป็นขนมที่มีปริมาณโซเดียมสูง        2.อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อหรือรับประทาน        3.เลี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูง หรือแบ่งบริโภคในวันถัดไป ไม่บริโภคหมดซองในครั้งเดียว หรือเลือกซองเล็กแทนซองใหญ่ (เพราะในแต่ละวันร่างกายต้องรับโซเดียมจากอาหารอื่นๆ ด้วย)         4.ควรส่งเสียงถึงผู้ประกอบการให้พิจารณาจัดทำสินค้าที่ลดปริมาณโซเดียมลงเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน        5.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหารหรือ อย. หรือจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 มัดรวมผลทดสอบอาหาร 2 ปีรวด คน "ฉลาดซื้อ" ต้องอ่าน

        “อาหาร” ก็เหมือน “ยา” การได้กินอาหารที่ดีมีคุณประโยชน์ร่างกายก็แข็งแรง ซึ่งแน่นอนว่าหาก “กายดี จิตก็ดี” ในทางกลับกันหากกินอาหารคุณภาพไม่ดี คุณประโยชน์ขาดๆ เกินๆ นอกจากจะไม่แฮปปี้ในการกินแล้วยังส่งผลให้สุขภาพแย่ลงด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีการผสมสารเคมีหรือวัตถุเจือปนอาหารต้องห้ามหรือมากเกินมาตรฐานอย่างสารกันบูด การปนเปื้อนโลหะหนักอย่างสารตะกั่ว หรือการปนเปื้อนสารพิษอันตราย อาทิ สารเคมีทางการเกษตร ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงต่างๆ แทนที่จะกินอาหารเป็นยา กลับกลายเป็น “ยาพิษ” ไปได้         ดังนั้นนอกจากการออกเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่พยายามปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง ซึ่งจะมีข้อห้ามและบทลงโทษเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ก็อาจต้องยอมรับว่า อย.ยังด้อยเรื่องการทำงานเชิงรุก เรียกว่ายังไม่มากเพียงพอที่จะตามทันเล่ห์เหลี่ยมคนที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากการผลิต “ผลิตภัณฑ์อาหาร” ที่ไม่ได้คุณภาพออกมา         “นิตยสารฉลาดซื้อ” โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามผลิตภัณฑ์อาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดเมืองไทย เพื่อคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมให้คนไทยได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์จริงๆ ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ติดตาม เกาะติดมานานหลายปี ช่วยจัดทำชุดข้อมูลข้อเท็จจริงส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับติดตามให้เกิดการแก้ไข และเพื่อการมีอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย         ในโอกาสสิ้นปี 2563 นี้ นิตยสารได้ทำการสรุปผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2563 อะไรเด่น “ฉลาดซื้อ” มัดรวมเอาไว้ผ่านบทความชิ้นนี้ โดยแยกเป็นกลุ่ม 1. สารกันบูด 2. สารเคมีทางการเกษตร 3. เชื้อดื้อยา และ 4. ไขมันทรานส์         เริ่มกันที่ กลุ่มวัตถุกันเสีย หรือ สารกันบูด ทั้ง กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) มีผลต่อการทำงานของตับ และไต ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างมาทดสอบจำนวนมาก ดังนี้...         “โรตีสายไหม” สุดยอดของฝากจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการตรวจสอบต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.แผ่นแป้ง ซึ่งบูดง่าย อาจมีการใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุการใช้งาน 2.น้ำตาลสายไหม ทำจากน้ำตาล น้ำมันมะพร้าว แป้งสาลี และสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่มากเกินไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพ หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมี.ค. 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง พบ 4 ตัวอย่างผสมสารกันบูด ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เข้ามาจัดการแล้ว แต่จากการเก็บตัวอย่างมาตรวจอีกครั้งในเดือนเม.ย.2562 จากตลาด 13 แห่งในพื้นที่ โดยเป็นโรตีสายไหมจากเจ้าเดิม 10 ตัวอย่าง และเจ้าใหม่อีก 3 ตัวอย่าง ผลทดสอบในแป้งโรตี มีการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ตาร์ตราซีน (Tartrazine) เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด (สูงสุดไม่เกิน 50 มก./กก.) 2 ตัวอย่าง คือ 1.ร้านวรรณพร ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 59.76 มก./กก. และ 2.ร้านประวีร์วัณณ์  ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 57.41 มก./กก.         ขณะที่การทดสอบวัตถุกันเสียนั้น ในทุกตัวอย่างไม่พบกรดซอร์บิก แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน (ไม่เกิน 1,000 มก./กก.) 7 ตัวอย่าง แต่มีอีก 6 ตัวอย่างที่พบกรดเบนโซอิกเกินค่ามาตรฐาน คือ 1. โรตีสายไหม ร้านเรือนไทย 2. ร้านไคโร น้องชายบังอิมรอน 3. ร้านบังหมัด 4.ร้านวริศรา โรตีสายไหม 5.ร้านบังเปีย อามีนะห์ แสงอรุณ และ 6.ร้านแม่ชูศรี (รายละเอียดในฉบับที่ 218) โดยมีอยู่ 2 ร้านที่ผลการทดสอบครั้งแรกเดือนมี.ค. 2561 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205) และครั้งนี้พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง ร้านเอกชัย (B.AEK) และ ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอรุณ เจ้าเก่า อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 218)            “เส้นขนมจีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยม เป็นอาหารจำพวกแป้งสด จึงบูดเสียง่าย จึงพบการลักลอบในสารกันบูดเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการทดสอบมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน ก.พ. 2559 (ฉบับที่ 180) และในเดือนมิ.ย. 2560 (ฉบับที่ 196) พบว่ามีการการผสมสารกันบูดเกินมาตรฐานเกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มเก็บมา         ล่าสุดเดือนพ.ค.2562 สุ่มเก็บมาอีก 31 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบกรดซอร์บิกเลย แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่างที่พบเกินค่ามาตรฐาน 1.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ หมื่นบูรพา จากตลาดคลองเตย พบในปริมาณ 1066.79 มก./กก.และ  2.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ M&A บ้านขนมจีนปทุม จากตลาดสี่มุมเมือง พบในปริมาณ 1361.12 มก./กก.         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตรวจพบว่าเส้นขนมจีนทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนกรดเบนโซอิก จึงสังเกตที่ฉลากบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมพบว่ามีเพียง 4 ตัวอย่างที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย ที่เหลือบางตัวอย่างมีเลขสารระบบของอย. บางตัวอย่างระบุไว้บนฉลากว่าปราศจากวัตถุกันเสีย ปราศจากสิ่งเจือปน  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 219)         “น้ำพริกหนุ่ม” สำหรับการตรวจหาสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มนั้น โดยสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่จำหน่ายในภาคเหนือ 17 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ผลการตรวจพบว่า 2 ตัวอย่างไม่มีสารกันบูดเลย ส่วนที่พบสารกันบูดแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 8 ตัวอย่าง         และพบกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คือ 1.น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 890.32 มก./กก. 2.น้ำพริกหนุ่ม ล้านนา จาก ตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่ พบ 1026.91 มก./กก. 3.น้ำพริกหนุ่ม นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 1634.20 มก./กก. 4.น้ำพริกหนุ่ม เจ๊หงษ์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 1968.85 มก./กก. 5.น้ำพริกหนุ่ม แม่ชไมพร จาก ตลาดสดอัศวิน ร้านสิริกรของฝาก จ.ลำปาง พบ 2231.82 มก./กก. 6.น้ำพริกหนุ่ม ยาใจ (รสเผ็ด) จาก ร้านขายของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบ 3549.75 มก./กก. และ 7. น้ำพริกหนุ่ม อุมา จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบ 5649.43 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 221)         “กุนเชียง” ว่าด้วยเรื่องของกุนเชียงนั้น เมื่อเดือน ธ.ค.2562 “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียง 19 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกุนเชียงหมู 9 ตัวอย่าง  กุนเชียงไก่ 5 ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง มาตรวจสอบ ก็พบว่าทุกตัวอย่างมีความปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน หรือถ้าพบก็พบในปริมาณน้อยไม่เกินค่า ...(อ่านต่อได้ที่ฉลาดซื้อฉบับ 227)         มาต่อกันที่ “สลัดครีม” เมนูอาหารมื้อเบาๆ ที่มักพบสารกันบูดละไขมันนั้น จากการ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มาตรวจวิเคราะห์ พบ 1 ตัวอย่างมีสารกันบูด ทั้งกรดซอร์บิก และ กรดเบนโซอิก รวมกันเกินค่ามาตรฐาน คือ “American Classic Ranch” โดยพบกรดเบนโซอิก664.14 มก./กก. และพบกรดซอร์บิก 569.47 มก./กก. รวมแล้วทั้ง 2 ชนิดพบ 1,233.61 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 232)         กลุ่มสารเคมีทางการเกษตร และโลหะหนัก ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มีโลหะหนัก หรือการใช้สารเคมีในภาคเกษตรที่มีอยู่หลายร้อยชนิด เป็นความเสี่ยงอย่างสูงที่จะทำให้วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารนั้นมีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ไปด้วย ดังนั้น ตลอดปี 2562-2563  “ฉลาดซื้อ” มีการเก็บตัวอย่างอาหารมาทดสอบหาการปนเปื้อน           โฟกัสไปที่ “น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ” เมื่อเดือน ก.พ.-มี.ค.2561 ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 12 ตัวอย่าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตรวจหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ผลการตรวจตะกั่ว พบว่าในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มก./ อาหาร 1 กก. ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มก./กก.ก็พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.ทุกตัวอย่าง           ต่อมาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 15 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ตรวจแล้วทุกอย่างอย่างผ่านเกณฑ์การทดสอบตะกั่ว และแคดเมียมทั้งหมด  แต่กลับตรวจพบสารกันบูดแต่ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งกรณีที่พบในปริมาณน้อย อาจจะเป็นไปได้ว่า กรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 220)         ขณะที่ “ปลาสลิดตากแห้ง” ซึ่งเป็นอาหารที่แมลงวันชอบมาตอมและไข่ทิ้งไว้ ทำให้ดูไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งบางร้านใช้การขับไล่ตามปกติ แต่บางร้าน  อาจจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่น ดังที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี 2560 ที่พบการใช้ ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro-diphenyl-trichloroethane หรือ ดีทีที) ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเดือน ก.ค. 2562 “ฉลาดซื้อ” จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง 19 ตัวอย่าง จากร้านค้าในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ผลตรวจไม่พบว่ามีตัวอย่างใดปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และในกลุ่มไพรีทรอยด์ แต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         มาต่อกันที่ “น้ำปู” หรือ “น้ำปู๋” เป็นเครื่องปรุงรสของทางภาคเหนือ กลุ่มเดียวกับกะปิ ซึ่งจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 ก.ย. 2563 มาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต พบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ค่าเฉลี่ยของการตกค้าง 0.04275 มก./กก.         โดยตัวอย่างที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบ 0.090 มก./กก. 2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบ 0.074 มก./กก. 3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม จาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบ 0.046 มก./กก.  4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบ 0.042 มก./กก. 5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบ 0.040 มก./กก. 6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบ 0.031 มก./กก. 7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จากบ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบ 0.011 มก./กก. และ 8. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบ 0.006 มก./กก. (อ่านรายละเอียดได้ที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         ส่วน “หมึกแห้ง” นั้น เมื่อเดือน ม.ค.2563 ฉลาดซื้อได้เก็บหมึกแห้ง 8 ตัวอย่าง  (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวม 13 ตัวอย่าง  ตรวจพบว่าทั้ง 13 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนปรอทแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยตัวอย่างที่พบสูงสุดอยู่ที่ 0.042 มก./กก. เช่นเดียวกับผลการตรวจหาตะกั่วที่พบทั้ง 13 ตัวอย่างแต่ไม่เกินเกณฑ์ สูงสุด คือ 0.059 มก./กก. สำหรับการตรวจหาสารพิษจากเชื้อรา ( Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin) ไม่พบในทุกตัวอย่าง  เช่นเดียวกับการตรวจหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ ก็ไม่พบในทุกตัวอย่างเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจหาแคดเมียม ก็พบทุกตัวอย่าง แต่มีอยู่ 7 ตัวอย่างที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ 1.หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์ พบ 2.003  มก./กก. 2. หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า พบ 2.393 มก./กก. 3. หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE พบ 2.537  มก./กก. 4. หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช พบ  3.006  มก./กก. 5. หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์ พบ  3.303  มก./กก. 6. หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด) พบ 3.432  มก./กก. และ 7. หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก) พบ 3.872  มก./กก. ...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 230)         อีกหนึ่งตัวอย่างที่ฉลาดซื้อให้ความสำคัญคือ “ถั่วเหลือง” เป็นพืชที่พบการใช้สารเคมีอันตราย อย่างพาราควอต และไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แต่ถูกผลักดันให้ยกเลิกการนำเข้า และใช้สารเคมีเหล่านี้ในประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อฉลาดซื้อ เก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก  3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  รวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มาทำการตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร         ทั้งนี้ผลตรวจสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซต 5 ตัวอย่างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน  ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ พบ 0.53 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ พบ 0.07 มก./กก., ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน พบ 0.50 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท พบ 0.20 มก./กก., และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต พบ 0.24 มก./กก. ส่วนอีก 3 ตัวอย่างไม่พบการตกค้างได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์        “แม้จะพบไกลโฟเซตไม่เกินค่ามาตรฐานอาหารสากล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้”...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 231)         สำหรับกลุ่ม “ไขมันทรานส์” ที่มักพบในขนม นมแนย นั้น และส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งล่าสุดทายอย.ประกาศห้ามมีในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ แล้วนั้น อย่างไรก็ตาม “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตรวจสอบ และเผยแพร่ต่อประชาชนคือ         “เค้กเนย และชิฟฟ่อน” โดยมีการเก็บตัวอย่าง 16 ตัวอย่าง พบไขมันทรานส์ในปริมาณน้อยไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) ถือว่าสูงกว่ายี่ห้ออื่นๆ แต่เมื่อตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์ พบว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพ ส่วนผลตรวจหาสารกันเสีย ก็พบเค้กเนยนั้นไม่พบกรดเบนโซอิก แต่กรดเบนโซอิกเล็กน้อยไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ..(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 216)           การตรวจหาการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยา        “ปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ” ...เมื่อเดือนต.ค. 2563 “ฉลาดซื้อ” ลุยเก็บตัว “ปลาทับทิม” จากตลาดในเขตกรุงเทพฯ 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง 4 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง ส่งตรวจพบว่ามี 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกินมาตรฐาน)         ส่วน “เนื้อไก่ชำแหละ” ซึ่งได้เก็บมา 10 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่ามี 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ  มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม  พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ทั้งนี้ ยาดังกล่าวไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้ อย. อนุญาตให้ใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522           มัดรวมไว้ตรงนี้ เผื่อว่าใครยังไม่ทราบว่าฉลาดซื้อได้เคยทำทดสอบด้านอาหารอะไรไว้บ้าง ก็น่าจะได้เป็นแนวทางในการค้นหารายละเอียดต่อไป และเราสัญญาว่า เราจะตามติดและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ในปี 2564 อย่างเข้มข้น แน่นอน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ผลทดสอบยาปฏิชีวนะในปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ

        “ในเรื่องอาหารและการตกค้างของยาปฏิชีวนะ เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างน้อยสามประเด็น คือ เรื่องข้อมูลในการเลือก เรื่องความปลอดภัย และเรื่องบริโภคศึกษา”          ทุกปีเพื่อเป็นการเฝ้าระวังอาหารที่คนไทยบริโภค ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ซึ่งถูกนำมาใช้ในภาคการผลิต นิตยสารฉลาดซื้อได้นำเสนอผลทดสอบย้อนหลังไปอย่างน้อยในสามครั้ง ได้แก่ การทดสอบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหารฟาสต์ฟู้ด (ฉบับ 188  เดือนตุลาคม 2559 ) การตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อหมู (ฉบับ 193 เดือนมีนาคม 2560) การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอกไก่และตับไก่สด (ฉบับ 209  เดือนกรกฎาคม 2561)         ในเดือนตุลาคม 2563 นี้ ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่าง ปลาทับทิม ซึ่งเป็นปลายอดนิยมของไทยและมีการเพาะเลี้ยงอย่างแพร่หลาย ซึ่งพบว่าส่วนหนึ่งของการดูแลปลาทับทิมจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เราจึงสุ่มเก็บปลาทับทิมจากตลาดในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง จำนวน 4 แห่ง รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 15 ตัวอย่าง ส่งห้องปฏิบัติการเพื่อหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ตามตารางที่ 1         และเนื่องจากข้อเสนอของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค โซนภาคกลาง ที่มีข้อสงสัยต่อเนื้อไก่ซอยหรือไก่ที่ชำแหละขายเป็นส่วนๆ (ปีก น่อง สะโพก ฯลฯ) ว่าอาจมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อไก่เหล่านี้ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังฯ จึงสนับสนุนให้เกิดข้อพิสูจน์ดังกล่าว โดยร่วมมือกับอาสาสมัครของเครือข่ายผู้บริโภค โซนภาคกลางเก็บตัวอย่างไก่ซอย จำนวน  10 ตัวอย่างในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อตรวจหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ตามตารางที่ 2ผลทดสอบ        การตกค้างของยาปฏิชีวนะในปลาทับทิม         จากจำนวนตัวอย่าง 15 ตัวอย่าง 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากปลาทับทิมที่ซื้อจากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างเพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่มต่างๆ Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในปลาส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม         หมายเหตุ เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนตุลาคม 2563 / ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น        การตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อไก่ชำแหละ        จากจำนวนตัวอย่าง 10 ตัวอย่าง 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ  มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม (รับจากโรงงานตลาดเจ้าพรหม) พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างเพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่มต่างๆ เช่น Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น         อย่างไรก็ตามจากผลการตรวจวิเคราะห์พบยาเอนโรฟลอคซาซิน จำนวน 1 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522         หมายเหตุ เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนตุลาคม 2563 / ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ผลทดสอบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร ในปลาสลิดตากแห้ง

ปลาสลิด หรือ ปลาใบไม้ เป็นปลาน้ำจืดที่เป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งของไทย ปลาชนิดนี้นิยมนำมาแปรรูปเป็นปลาสลิดตากแห้ง (ปลาสลิดแดดเดียว) โดยแหล่งผลิตและแปรรูปปลาสลิดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีคือ ปลาสลิดบางบ่อ (อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ) ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องความหอมมันของเนื้อปลา          ปลาสลิดแดดเดียวนับเป็นอาหารแปรรูปแบบแห้งที่ผู้บริโภคนิยมรับประทานไม่แพ้อาหารทะเลตากแห้งจำพวกปลาหมึกแห้ง กุ้งแห้ง เพราะปลาสลิดมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อปลามีความมัน สามารถนำไปทอด แกงส้ม ผัดกะเพรา ทำข้าวผัดปลาสลิด ยำปลาสลิด ผัดพริกขิงปลาสลิดกรอบ ผัดคะน้าปลาสลิด แล้วแต่จะรังสรรค์เมนูต่างๆ นานา ก็ล้วนอร่อยแทบทั้งนั้น แต่ผู้บริโภคเคยสังเกตหรือไม่ว่า ร้านอาหารทะเลหรือเนื้อสัตว์ตากแห้งในตลาดสด ปกติแล้วจะเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าแมลงวัน ซึ่งแน่นอนว่าหากร้านไหนมีแมลงวันมาตอมอาหาร ก็จะดูไม่สะอาดและไม่ถูกหลักอนามัย หากเป็นช่วงก่อนนี้ แม่ค้าก็จะใช้ถุงน้ำแขวนไว้ หรือ ใช้ไม้พันปลายด้วยพู่เชือกฟางปัดๆ เอา บางร้านอาจใช้มอร์เตอร์ติดก้านไม้ปัดแมลงที่หมุนได้อัตโนมัติเพื่อไล่แมลงเหล่านี้ไม่ให้มายุ่งกับอาหารหากไปเจอร้านที่ไม่มีอุปกรณ์ไล่แมลงเลย แต่กลับไม่มีแมลงตอมสักตัว อันนี้ผู้บริโภคก็อย่าได้วางใจ อาจตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าแม่ค้าใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นหรือไม่ ดังที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี 2560 ที่มีการตรวจพบจากหน่วยงานว่า แม่ค้าบางร้านใช้ยาฆ่าแมลง “ดีดีที” (DDT) หรือ ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro-diphenyl-trichloroethane) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ฉีดพ่นปลาสลิดแห้งที่วางจำหน่าย เพื่อไม่ให้มีแมลงวันมาตอม          ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังการตกค้างของสารเคมีในอาหารอย่างสม่ำเสมอ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง (ปลาสลิดแดดเดียว) จำนวน 19 ตัวอย่าง ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากร้านค้าในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยส่งตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต (Pesticides Organophosphorus) และในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pesticides Pyrethroid) โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ สรุปผลการทดสอบ          จากผลการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ทั้งหมด 19 ตัวอย่าง พบว่า ผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ทุกตัวอย่าง ตรวจไม่พบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และ ในกลุ่มไพรีทรอยด์ ข้อสังเกตอื่นๆ          จากตารางข้างต้น หากเปรียบเทียบราคาต่อกิโลกรัมของผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้ง ทั้ง 19 ตัวอย่างนั้น พบว่า          - ตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ที่มีราคาต่อกิโลกรัม ต่ำที่สุด คือ 180 บาท/กก.              ได้แก่ ร้านตี๋ใหญ่ ตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่ และ ล้านมัจฉาอาบแดด ร้านป้าแจ๋ว วัดป่าเลไลย์ /จ.สุพรรณบุรี    และ   ตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ที่มีราคาต่อกิโลกรัม สูงที่สุด คือ 442.86 บาท/กก.            ได้แก่ โลตัส Express สาขาเซ็นเตอร์วัน            ทั้งนี้ หากลองเฉลี่ยราคาต่อกิโลกรัมของตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาสลิดตากแห้ง (แดดเดียว) ทั้งหมด 19 ตัวอย่าง จะได้ราคาเฉลี่ยเท่ากับ 277.76 บาท/กก. ข้อแนะนำผู้บริโภค          การเลือกซื้อปลาสลิดแดดเดียว ควรเลือกซื้อปลาที่มีกลิ่นหอม (แต่ไม่ใช่กลิ่นสาบดินโคลน) เนื้อปลาไม่แห้งจนเกินไป สังเกตที่บริเวณท้องควรมีความมันเลื่อมอยู่บ้าง ใช้นิ้วกดดูที่เนื้อบริเวณด้านหลังจะดีดตัวกลับ และสังเกตว่าปลาสลิดตากแห้งนั้นมีแมลงมาตอมบ้างหรือไม่ หากไม่มีเลยอาจดูผิดแปลกธรรมชาติ ก็อย่าได้วางใจเมื่อซื้อมาแล้วก่อนนำมาปรุงอาหารรับประทาน ควรล้างให้สะอาด ซับน้ำให้แห้ง ใช้มีดบั้งปลาก่อนนำลงทอดให้กรอบ หรือหากต้องการเก็บปลาสลิดเอาไว้ในตู้เย็น ควรล้างปลาสลิดให้สะอาดแล้วซับน้ำให้แห้งเสียก่อน จึงมัดใส่ถุงพลาสติกให้สนิท หรือ อาจเก็บไว้ในถุงสุญญากาศ นำเข้าแช่เย็น หรือช่องแช่แข็ง ก็จะเก็บได้นานขึ้น ข้อมูลอ้างอิง        - การเลี้ยงปลาสลิด, กรมประมง (https://www.fisheries.go.th/sf-naratiwas/salid.html)         - https://th.wikipedia.org/wiki/ปลาสลิด         - Pesticides / วัตถุอันตรายทางการเกษตร               (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/1230/pesticides-วัตถุอันตรายทางการเกษตร)         - วัตถุอันตรายทางการเกษตร : ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต          (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/2187/)         - สารกำจัดแมลงและศัตรูพืชกลุ่มไพรีทรัม และสารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์          (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/pyrethrum_and_pyrethroides_2.pdf)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อเปิดเผยผลทดสอบโลหะหนักจากปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ ปลอดภัยไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดยโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ ที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าทั่วไป โดยเก็บตัวอย่างเดือนกรกฎาคม 2563 จำนวน 14 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของโลหะหนัก 3 ชนิด ได้แก่ ปรอท, ตะกั่ว และแคดเมียม และสังเกตปริมาณโซเดียมบนฉลากนางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวสรุปผลการทดสอบว่า พบผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศจำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดยการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท*          ส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน          *ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา            โดยประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องทั้ง 14 ตัวอย่าง ก็ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของประกาศฯ ฉบับใหม่นี้เช่นกัน          ส่วนข้อสังเกตปริมาณโซเดียมนั้น จากการสำรวจปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ พบว่า ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำน้อยที่สุด คือ ยี่ห้อ สามแม่ครัว ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียม เท่ากับ 230 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ½ กระป๋อง (77 กรัม) และ ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุด คือ ยี่ห้อ ซูมาโก ซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 660 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ 1 กระป๋อง (125 กรัม)          ทั้งนี้ในแต่ละยี่ห้อมีปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำแตกต่างกันไป ตั้งแต่ ½ กระป๋อง (ประมาณ 77 กรัม) ถึง 1 กระป๋อง (ประมาณ 125 กรัม) ดังนั้นการพิจารณาปริมาณโซเดียมที่ได้รับจากการบริโภค จึงต้องเปรียบเทียบหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำประกอบกันไปด้วย และ โดยทั่วไปปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของอาหารในกลุ่มอาหารบรรจุกระป๋อง ขวดแก้วที่ปิดสนิท หรือในซองอะลูมิเนียมฟอยล์ จำพวกเนื้อสัตว์ ปลา หอย ในซอส เช่น ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศอยู่ที่ 85 กรัม แม้ว่าปลากระป๋องจะมีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะให้โปรตีนสูง แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก อยู่บ้างจากการสะสมในธรรมชาติ ซึ่งแม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ สลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น          ข้อควรระวังอีกอย่างก็คือความเสี่ยงจากสารอันตรายที่เรียกว่า "ฮีสตามีน" ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียที่ย่อยกรดอะมิโนในตัวปลา ในระหว่างการขนส่งและจัดเก็บปลาทะเลที่ควบคุมความเย็นได้ไม่มากพอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีอาการแพ้ฮีสตามีนได้ นอกจากนี้ ปลากระป๋องยังมีโซเดียมในปริมาณสูงเช่นกัน หากบริโภคมากจนเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตหรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้อ่านข้อมูลและผลทดสอบได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ https://chaladsue.com/article/3499

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ผลทดสอบโลหะหนัก ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ

        ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 231 (เดือนพฤษภาคม 2563) ได้สำรวจและทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋องไปแล้ว และเพื่อเฝ้าระวัง “ปลากระป๋อง” อาหารคู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ในฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบโลหะหนักในผลิตภัณฑ์ปลากระป๋อง ชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศบ้าง         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ ที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินทั่วไปจำนวน 14 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของโลหะหนัก 3 ชนิด ได้แก่ ปรอท, ตะกั่ว และแคดเมียม และสังเกตปริมาณโซเดียมบนฉลาก ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์แสดงในหน้าถัดไป         สรุปผลการทดสอบ         พบว่า ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องชนิดปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศจำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข         โดยการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท*         ส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน         *ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา           โดยประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องทั้ง 14 ตัวอย่าง ก็ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของประกาศฯ ฉบับใหม่นี้เช่นกัน  ข้อสังเกตปริมาณโซเดียม         จากการสำรวจปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลากโภชนาการ ของตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องทั้ง 14 ตัวอย่าง         พบว่า ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำน้อยที่สุด คือ ยี่ห้อ สามแม่ครัว ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียม เท่ากับ 230 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ½ กระป๋อง (77 กรัม)         และ ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำมากที่สุด คือ ยี่ห้อ ซูมาโก ซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 660 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ 1 กระป๋อง (125 กรัม)         ทั้งนี้ในแต่ละยี่ห้อมีปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำแตกต่างกันไป ตั้งแต่ ½ กระป๋อง (ประมาณ 77 กรัม) ถึง 1 กระป๋อง (ประมาณ 125 กรัม) ดังนั้นการพิจารณาปริมาณโซเดียมที่ได้รับจากการบริโภค จึงต้องเปรียบเทียบหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำประกอบกันไปด้วย และ โดยทั่วไปปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของอาหารในกลุ่มอาหารบรรจุกระป๋อง ขวดแก้วที่ปิดสนิท หรือในซองอะลูมิเนียมฟอยล์ จำพวกเนื้อสัตว์ ปลา หอย ในซอส เช่น ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศอยู่ที่ 85 กรัม  คำแนะนำในการบริโภค         แม้ว่าปลากระป๋องจะมีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะให้โปรตีนสูง แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก อยู่บ้างจากการสะสมในธรรมชาติ ซึ่งแม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ สลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น        สำหรับการเลือกซื้อปลากระป๋องนอกจากการอ่านข้อมูลบนฉลากบรรจุภัณฑ์ เช่น สถานที่ผลิตที่น่าเชื่อถือ เลขสารบบอาหาร (เลข อย.) สังเกตวันหมดอายุแล้ว ยังควรตรวจดูสภาพของกระป๋องว่าไม่บุบ โป่ง บวม มีรอยรั่ว หรือเป็นสนิม        ข้อควรระวังอีกอย่างก็คือความเสี่ยงจากสารอันตรายที่เรียกว่า "ฮีสตามีน" ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียที่ย่อยกรดอะมิโนในตัวปลา ในระหว่างการขนส่งและจัดเก็บปลาทะเลที่ควบคุมความเย็นได้ไม่มากพอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีอาการแพ้ฮีสตามีนได้        นอกจากนี้ ปลากระป๋องยังมีโซเดียมในปริมาณสูงเช่นกัน หากบริโภคมากจนเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตหรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้ข้อมูลอ้างอิง- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่อง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน - กิน "ปลากระป๋อง" อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ   (https://news.thaipbs.or.th/content/254561) - บทความ Histamine, กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง กรมประมง  (https://www.fisheries.go.th/quality/บทความ-Histamine-300658-Final.pdf) - ปลาซาร์ดีน (Sardine), ฐานข้อมูลงานวิจัยปลาทูน่าและปลาซาร์ดีน สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)     (http://agknowledge.arda.or.th/tuna&sardine/?page_id=264)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ตรวจปลาทูน่ากระป๋อง พบปรอท ตะกั่ว แคดเมียม แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน เตือนคนรักสุขภาพหากทานบ่อยอาจสะสมโลหะหนักในร่างกาย

        จากข่าวองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงสุ่มตรวจปลากระป๋อง 46 ตัวอย่าง (ซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง/ ทูน่า 20 ตัวอย่าง/ ปลาตะเพียน 7 ตัวอย่าง) พบว่าในปลาซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง มีถึง 17 ตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนจากแคดเมียม และสองตัวอย่างในนั้นเป็นปลาซาร์ดีนจากเมืองไทยที่มีระดับการปนเปื้อนของแคดเมียม 0.11 mg/kg และ 0.13 mg/kg ซึ่งเกินระดับปลอดภัย (0.1 mg/kg) ตามกฎหมายใหม่ของฮ่องกงที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 28 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในบ้านเรา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา และนำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพื่อหาการปนเปื้อนของโลหะหนักสามชนิด ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน  ผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสามชนิดในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องทั้ง 28 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนโลหะหนักแต่ละประเภทจะพบว่า ตัวอย่างที่พบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทน้อยที่สุด (0.023 มก./กก.) มีสองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ  2) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำมันถั่วเหลืองตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทมากที่สุด (0.189 มก./กก.) ได้แก่ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือสำหรับการปนเปื้อนของตะกั่วนั้น ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบ หรือพบแต่น้อยกว่า 0.008 มก./กก.การปนเปื้อนแคดเมียม ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมน้อยที่สุด (0.004 มก./กก.) สองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ ROZA โรซ่า ทูน่าก้อน ในน้ำมันพืช และ  2) ยี่ห้อ TCB ทีซีบี ทูน่าชนิดก้อนในน้ำแร่ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมมากที่สุด (0.029 มก./กก.) หนึ่งตัวอย่างได้แก่ ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ          ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร  ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม ที่ปนเปื้อนในอาหารทะเล เกิดจากอุตสาหกรรม เช่น การทําเหมืองแร่ การผลิตกระดาษ  อุตสาหกรรมหนักต่างๆ หรือ การใช้อุปกรณ์ที่มีโลหะหนักเป็นองค์ประกอบ เช่น ท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ แบตเตอรี สายเคเบิล เม็ดสี พลาสติก พีวีซี ยาฆ่าแมลง  โลหะหนักเหล่านี้ปนเปื้อนแหล่งน้ำหรือกระจายในชั้นบรรยากาศและตกลงสู่ทะเล  สะสมในแต่ละลําดับชั้นของห่วงโซ่อาหารการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนโลหะหนักในอาหาร โดยหลักการจะกำหนดให้ต่ำกว่าระดับการบริโภคที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ โดยมีมาตรฐานกลางระหว่างประเทศ  แต่ประเทศหรือรัฐใด จะกำหนดมาตรฐานให้เข้มงวดกว่าเกณฑ์กลางก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนผู้บริโภคของตนได้ดียิ่งขึ้นผู้บริโภคที่เลือกรับประทานปลาทูน่ากระป๋องเพราะมีโปรตีนสูงและให้แคลอรีต่ำนั้น ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะสลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยเกินไปก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ด้านปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ จากข้อมูลโภชนาการบนฉลากบรรจุภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (45 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ Tops ท็อปส์ ทูน่าสเต็กในน้ำแร่  และตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (350 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ BROOK บรุค ปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง จึงควรอ่านฉลากและบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่  20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจานุเบกษา  ประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในปลาทูน่ากระป๋องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 28 ตัวอย่าง          อ่าน “ผลทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋อง”  ฉบับเต็มได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3448ติดตามทุกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้บริโภคได้ที่เพจ Facebook/นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค            

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ผลทดสอบสารกันบูดในแกงไตปลาแห้ง

        แกงไตปลาแห้ง หรือที่เรียกว่า แกงพุงปลาแห้ง หมายถึง ผลิตภัณฑ์พร้อมบริโภคที่ทำจากไตปลาหมัก เนื้อปลาแห้ง เครื่องเทศและสมุนไพร เช่น ใบมะกรูด มาผสมรวมกัน ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรส เช่น กะปิแล้วเคี่ยวให้แห้ง เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่แปรรูปจากแกงไตปลาทำให้แห้งเพื่อเก็บรักษาได้นานขึ้น         อย่างไรก็ตามแกงไตปลาแห้งในแหล่งผลิตหลายแห่งมีการใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ซึ่งนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้ทำทดสอบผลิตภัณฑ์นี้ไปเมื่อปีที่ผ่านมา(2561) พบว่าจากตัวอย่างแกงไตปลาแห้งที่นำมาทดสอบทั้งหมดจำนวน 10 ยี่ห้อ มี 5 ยี่ห้อ ที่พบสารกันบูด(กรดเบนโซอิก/ ซอร์บิก) ตกค้างเกินกว่าที่มาตรฐานโคเด็กซ์กำหนด คือพบได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มก./ อาหาร 1 กก.         ในครั้งนี้เราจึงทำทดสอบซ้ำเพื่อติดตามและเฝ้าระวังสารกันบูดในแกงไตปลาแห้ง โดยเก็บจากฐานตัวอย่างเดิมและเพิ่มยี่ห้อใหม่ ซึ่งต้องขอบคุณเครือข่ายผู้บริโภคในภาคใต้ที่ช่วยเก็บตัวอย่างสินค้าให้ เป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง ซึ่งขอแจ้งไว้ตรงนี้เลยว่า ผลการทำทดสอบเพื่อการเฝ้าระวังสินค้าชนิดนี้ มีแนวโน้มดีขึ้น ผลการทดสอบ        ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 (เรื่องวัตถุเจือปนอาหารฉบับที่ 5) ไม่ได้ห้ามการใส่สารกันบูดในผลิตภัณฑ์แกงไตปลาแห้ง* แต่กำหนดให้ใส่อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะการใช้วัตถุกันเสียที่มากเกินไป สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคที่รับประทานเป็นประจำได้ เช่น ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือเกิดการสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดเป็นพิษเรื้อรังในอนาคต        จากการทดสอบผลิตภัณฑ์ 14 ตัวอย่าง พบว่า มี 3 ตัวอย่างที่เกินค่ากำหนดตามกฎหมาย ได้แก่            1.ยี่ห้อ แม่กุ่ย (จังหวัดภูเก็ต) พบปริมาณกรดซอร์บิก 1107.64 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม            2.ยี่ห้อ เจ้นา (จังหวัดพังงา) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 971.76 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม            3.ยี่ห้อ ป้าสุ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) พบปริมาณกรดซอร์บิก 697.23 และ กรดเบนโซอิก 332.01 ซึ่งมีปริมาณรวมกันเกิน 1 ตามกฎหมายกำหนด        หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง         *แกงไตปลาแห้ง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 389 จัดอยู่ในอาหารหมวด 12.2.2 (เครื่องปรุงรส) ซึ่งกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุกันเสีย ประเภทกรดเบนโซอิก(INS 210) 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ วัตถุกันเสียประเภทกรดซอร์บิก(INS 200)  1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สรุปผลการเปรียบเทียบการทดสอบสารกันบูด พ.ศ. 2561 และ 2562

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ฉลาดซื้อเผยปริมาณโลหะหนัก - สารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย แนะผู้บริโภคเลือกยี่ห้อที่ผ่าน อย.

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเผยปริมาณแคดเมียม, ตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลอดภัย สารกันบูดไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด แนะให้ผู้บริโภคอ่านฉลากให้รอบคอบและเลือกรับผลิตภัณฑ์ที่มี อย.ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือดำเนินการทดสอบซ้ำ ในปีนี้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารและสร้างความมั่นใจในการบริโภค โดยในครั้งนี้(  2562 ) เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 15 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์หาสารโลหะหนักตะกั่วและแคดเมียม และเพิ่มการทดสอบปริมาณสารกันบูดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกด้วย ผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม            ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน           ผลทดสอบหาปริมาณสารกันบูด พบว่า น้ำปลาร้าปรุงรสตราไทยอีสาน (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 831.83 มก./กก. และ น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑  (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 404.84 มก./กก.   ซึ่งปริมาณการใช้สารกันบูดใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ น้ำปลาร้าต้มสุกเข้มข้น ตราน้องพร คือ พบปริมาณ 641.81 มก./กก. แต่แสดงข้อมูลบนฉลากชัดเจนว่า มีการใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งทั้งหมดไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่เกิน 1,000 มก./กก.              อย่างไรก็ตามหลายผลิตภัณฑ์พบว่ามีปริมาณกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่มาก(ไม่ถึง 100 มก./กก.) คือ ไม่มากพอที่จะเป็นการตั้งใจใส่เพื่อให้มีฤทธิ์ในการต่อต้านจุลินทรีย์(ปริมาณที่เหมาะต่อการเก็บหรือยืดอายุอาหารคือ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ดังนั้นเป็นไปได้ว่ามาจากวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งกรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ               โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม พ.ศ.2561  โครงการฯ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งพบว่า ผลทดสอบตะกั่ว ในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. อ่านบทความ  - ฉบับที่ 220 ปริมาณแคดเมียมและตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ    ได้ที่ลิงก์ https://www.chaladsue.com/article/3166 - ฉบับที่ 205 ผลิตภัณฑ์ของฝาก-ของดี จาก 4 ภาค "น้ำพริกหนุ่ม น้ำปลาร้า แกงไตปลาแห้ง และโรตีสายไหม "    ได้ที่ลิงก์ https://chaladsue.com/article/2806/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ปริมาณแคดเมียมและตะกั่วและสารกันบูดในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ

        ฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2561 เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งพบว่า ผลทดสอบตะกั่ว ในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารและสร้างความมั่นใจในการบริโภค ทางฉลาดซื้อจึงดำเนินการทดสอบซ้ำในปีนี้ เช่นเคยทางเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 15 ตัวอย่าง เป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์หาสารโลหะหนักตะกั่วและแคดเมียม และเพิ่มการทดสอบปริมาณสารกันบูดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกด้วยผลทดสอบ·        ผลทดสอบการหาปริมาณโลหะหนัก  พบว่า        ผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม        ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. เช่นกัน        ·        ผลทดสอบหาปริมาณสารกันบูด พบว่า        น้ำปลาร้าปรุงรสตราไทยอีสาน (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 831.83 มก./กก. และ น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑  (ฉลากระบุ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย) พบปริมาณกรดเบนโซอิก 404.84 มก./กก.   ซึ่งปริมาณการใช้สารกันบูดใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ น้ำปลาร้าต้มสุกเข้มข้น ตราน้องพร คือ พบปริมาณ 641.81 มก./กก. แต่แสดงข้อมูลบนฉลากชัดเจนว่า มีการใช้วัตถุกันเสีย ซึ่งทั้งหมดไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดคือ ไม่เกิน 1,000 มก./กก.           อย่างไรก็ตามหลายผลิตภัณฑ์พบว่ามีปริมาณกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่มาก(ไม่ถึง 100 มก./กก.) คือ ไม่มากพอที่จะเป็นการตั้งใจใส่เพื่อให้มีฤทธิ์ในการต่อต้านจุลินทรีย์(ปริมาณที่เหมาะต่อการเก็บหรือยืดอายุอาหารคือ 500-2,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ดังนั้นเป็นไปได้ว่ามาจากวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งกรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 โซเดียมในผลิตภัณฑ์ประเภทปลาแผ่น – ปลาเส้นปรุงรส

โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  ผลิตภัณฑ์ประเภท ปลาแผ่น – ปลาเส้นปรุงรส ที่วางจำหน่ายทั่วไป เป็นของว่าง ที่อร่อยถูกปากผู้บริโภคทุกวัย ปลาเส้นปรุงรสส่วนใหญ่มีส่วนผสมของเนื้อปลาบด (ซูริมิ) แป้งสาลี แป้งมันสำปะหลัง ผสมคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงรสแตกต่างกันไปตามรสชาติที่หลากหลาย เช่น รสชาติแบบออริจินัล เผ็ดน้อย เผ็ดมาก ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อตามรสนิยม และทราบหรือไม่ว่า ปลาเส้นปรุงรสของไทย ยังเป็นสินค้าที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อไปเป็นของฝากกันอีกด้วย  ปลาเส้นปรุงรส ให้สารโปรตีนจากเนื้อปลาบด และคาร์โบไฮเดรตจากแป้ง อาจนับเป็นของว่างมีประโยชน์ได้ หากแต่ว่าปริมาณโซเดียมที่แฝงอยู่ในปลาเส้นแต่ละรสชาตินั้น บางรสมีปริมาณโซเดียมสูงมาก ควรระวังในการรับประทาน ซึ่งเราสามารถดูปริมาณโซเดียมได้จากฉลากโภชนาการที่แสดงไว้บนซองบรรจุภัณฑ์   แต่บางทีซื้อของไปยืนเพ่งสายตาดูฉลากตัวหนังสือเล็กๆ นานๆ ก็ลำบากเหมือนกัน ฉลาดซื้อฉบับนี้ จึงขอเอาใจผู้บริโภคที่ชอบกินปลาเส้น โดยอ่านฉลากโภชนาการดูปริมาณโซเดียม ในผลิตภัณฑ์ประเภทปลาแผ่น-ปลาเส้นปรุงรส จำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อนำเป็นข้อมูลมาเปรียบเทียบให้ผู้บริโภคได้ทราบกันตารางเปรียบเทียบปริมาณโซเดียม ในผลิตภัณฑ์ปลาแผ่น-ปลาเส้นปรุงรส เรียงลำดับปริมาณโซเดียมจากมากไปน้อยข้อสังเกตต่อปริมาณโซเดียมจากฉลากผลิตภัณฑ์ จากการพิจารณาฉลากของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 30 ตัวอย่าง พบว่า   ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด คือ ปลากรอบเชิญชิม (Crispy Fish) ยี่ห้อ เรือ มีปริมาณโซเดียม 210 มิลลิกรัม ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด พบว่ามี 2 ตัวอย่าง คือ ปลาสวรรค์ (รสดั้งเดิม) ยี่ห้อ ทาโร (TARO) และ ปลาสวรรค์ (รสซูเปอร์แซ่บ) ยี่ห้อ ทาโร (TARO) มีปริมาณโซเดียม 800 มิลลิกรัม  โดยส่วนใหญ่หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำอยู่ที่ประมาณ 25 - 30 กรัม และพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 2 ตัวอย่าง ที่ไม่มีฉลากโภชนาการ ซึ่งไม่สามารถทราบปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคได้ ได้แก่ ปลาหวานแผ่น ยี่ห้อ มายช้อยส์ไทย (My Choice Thai) และ ฮอกไกโดชีสฟิชแซนด์วิช (เนยแข็งชนิดโพรเซสชีสผสมปลาเส้น) ยี่ห้อ โอกิยะ OHGIYAข้อควรรู้เกี่ยวกับปริมาณโซเดียม    เนื่องจากปริมาณการบริโภคโซเดียมที่สูงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตที่สูงขึ้น ซึ่ง Institute of Medicine ได้กำหนดค่าปริมาณโซเดียมสูงสุดของการบริโภคที่ไม่เกิดอันตรายในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ไว้ที่ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน (เปรียบเทียบเป็นเกลือป่นประมาณ  6  กรัม หรือ 1 ช้อนชา)  และ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน  แม้ว่าโซเดียมจะมีความสำคัญต่อร่างกาย แต่การบริโภคโซเดียมมากเกินไปทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งหากมีปริมาณโซเดียมในร่างกายมากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ หลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน และยังส่งผลต่อการเป็นโรคไตด้วย   ทราบอย่างนี้แล้ว การหมั่นอ่านฉลากข้อมูลโภชนาการเป็นประจำก่อนเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร จะช่วยให้เราสามารถควบคุมปริมาณโซเดียมในแต่ละมื้อได้อย่างเหมาะสม ทราบว่าผลิตภัณฑ์ใดมีปริมาณโซเดียมมากหรือน้อย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มักกินขนมจนเกือบหมดห่อ หากสามารถสอนเด็กๆ ให้เข้าใจความสำคัญของการอ่านฉลากโภชนาการได้ ก็จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักการบริโภคอาหารได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในแต่ละมื้อปลาเส้น  ปลาเส้นหรือปลาเส้นปรุงรส ผลิตจากเนื้อปลาบดแช่แข็งที่เรียกว่า "ซูริมิ"  เป็นอาหารว่างที่นิยมรับประทานกันมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ และสาวกลัวอ้วนทั้งหลาย เพราะนักโฆษณาเขานำจุดขายไขมันต่ำ โปรตีนสูงมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภค เพื่อให้แทนที่ขนมขบเคี้ยวที่มีทั้งแป้ง น้ำตาลและไขมัน ซึ่งล้วนส่งเสริมความอ้วนและโดนโจมตีหนักว่าทำให้เด็กไทยกลายเป็นเด็กอ้วน แต่…ข้อด้อยสำคัญของปลาเส้นปรุงรส ที่ถูกละเลยไปจากโฆษณาคือ ปริมาณโซเดียมที่สูงจนน่าเป็นห่วง ยิ่งประเภทรสจัดจ้าน รสเข้มข้นยิ่งมีปัญหา   วารสารฉลาดซื้อเคยทดสอบปลาเส้นปรุงรสพบว่า มีปริมาณโซเดียมสูงมาก หากรับประทานในขนาดหรือปริมาณ 30 กรัม จะได้โซเดียมสูงถึงประมาณ 500 มิลลิกรัม(ค่าเฉลี่ย) ซี่งเด็กไม่ควรได้รับโซเดียมจากขนมหรืออาหารว่างเกิน 200 มิลลิกรัม เพราะเขายังต้องรับประทานอาหารหลักอื่นๆ อีก การรับประทานปลาเส้นหรือขนมรสเค็มมันต่อเนื่องจะทำให้ไตทำงานหนัก เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงพ่อแม่อย่าปล่อยให้เด็กรับประทานมากเกินไป ทั้งนี้รวมถึงผู้ใหญ่ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูงด้วยซูริมิ   คำว่า “ซูริมิ” (Surimi) ฟังดูก็รู้ว่ามาจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงเนื้อปลาที่นำมาผ่านกระบวนการ จนได้เนื้อปลาที่มีความเหนียวและยืดหยุ่น  เนื้อขาวเนียนละเอียด ปลาซูริมิจะนำมาทำผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดที่เรารู้จักกันดีได้แก่ ปูอัด นอกจากนี้ยังมี ไส้กรอก  ลูกชิ้น ปลาเส้น เนื้อปลาเทียม เนื้อกุ้งเทียม ตลอดจนผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์ต่างๆ    ปลาซูริมิ เป็นอาหารทะเลที่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารทะเลชนิดอื่นๆ และมีปริมาณไขมันต่ำ จึงจัดเป็นอาหารสุขภาพ    ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่บริโภคซูริมิ และผลิตภัณฑ์จากซูริมิรายใหญ่ที่สุดในโลก ส่วนประเทศไทยซูริมิก็ได้กลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจ เพราะมีความสามารถในการผลิตและส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งการบริโภคก็มีคนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลจากอาหารญี่ปุ่น    ซูริมิคุณภาพพรีเมียมจะผลิตจากปลา Alaska pollock ซึ่งเป็นปลาที่มีไขมันต่ำ เนื้อสีขาว และมีความยืดหยุ่นสูง ส่วนซูริมิที่ผลิตได้จากประเทศในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทยใช้ปลาทรายแดงเป็นวัตถุดิบ หรือปลาทะเลอื่นๆ ที่มีเนื้อขาว ส่วนปลาน้ำจืดนั้นใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตซูริมิไม่ได้เนื่องจากปัญหากลิ่นโคลน เนื้อปลาไม่มีความเหนียวและเนื้อไม่ขาว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 เป็นไปได้ไหม หนอนในปลากระป๋อง

     ปลากระป๋องเป็นอาหารสำเร็จรูป ดังนั้นเมื่อเปิดฝาจึงนำมาทานได้ทันที และยังใช้เป็นวัตถุดิบทำได้อีกหลายเมนู เช่น ยำปลากระป๋อง ต้มยำปลากระป๋อง คะน้าผัดปลากระป๋อง เป็นต้น  พูดแล้วหลายคนอาจน้ำลายสออยากรับประทานขึ้นมาทันที แต่ช้าก่อนลองอ่านเรื่องราวของผู้ร้องรายนี้ดูก่อน     เย็นวันหนึ่งในหน้าร้อนของเดือนเมษายน คุณภูผาอยากทานยำปลากระป๋อง และนึกขึ้นได้ว่าซื้อปลากระป๋องไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งยังเหลืออยู่หลายกระป๋อง จึงไปหยิบมาเพื่อเตรียมทำอาหาร โดยคุณภูผาได้เปิดฝากระป๋องแล้ววางพักไว้ก่อน แล้วจึงหันไปซอยพริก ซอยหอมแดง เด็ดใบโหระพาเตรียมไว้ จากนั้นจึงหันกลับมาจะเอาปลากระป๋องเทใส่จาน เตรียมคลุกเคล้ากับวัตถุดิบที่เตรียม   แล้วพลันสายตาอันว่องไว ก็สังเกตเห็นว่ามีสิ่งผิดปกติอยู่ในปลากระป๋อง มีลักษณะตัวเรียวยาวสีขาว คล้ายหนอนผุดขึ้นมาจากเนื้อปลากระป๋อง เมื่อเขย่ากระป๋องก็ผุดออกมาเป็นตัว จึงโทรศัพท์ไปตามหมายเลขที่อยู่ข้างกระป๋องทันที เพื่อแจ้งเรื่องที่พบ และหวังให้บริษัทผู้ผลิตตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วยังได้รีบไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจใกล้บ้านไว้อีกด้วย  ซึ่งคุณตำรวจแนะนำให้คุณภูผาแจ้งร้องเรียนไปที่ สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ด้วยอีกทางหนึ่ง ประจวบเหมาะพอดี ในขณะลงบันทึกประจำวันมีนักข่าวอยู่ในสถานีตำรวจด้วย จึงทำข่าวเรื่องพบสิ่งปนเปื้อนในปลากระป๋องยี่ห้อดัง ทำให้คุณภูผากลายเป็นคนในข่าวไปทันที  ตอนสายๆ ของวันรุ่งขึ้น คุณภูผาเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตามคำแนะนำของคุณตำรวจ โดยนำปลากระป๋องที่พบสิ่งปนเปื้อนไปด้วย เจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องร้องเรียนไว้ และแนะว่า ต้องไปให้ทาง อย. ตรวจสอบ ดังนั้นตอนบ่ายของวันเดียวกันจึงเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้ตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนและตรวจสอบกระบวนการผลิต แต่เจ้าหน้าที่ของ อย. ได้แจ้งว่าไม่ต้องร้องเรียนแล้ว เพราะทาง อย.ไปตรวจโรงงานผู้ผลิตแล้วเมื่อเช้า ตามข่าวและทาง อย.ไม่พบสิ่งผิดปกติอันใด  ส่วนตัวขาวๆ ที่พบนั้น น่าจะเป็นหนอนแมลงวัน และได้อธิบายวงจรชีวิตหนอนแมลงวันให้คุณภูผาฟัง ซึ่งรับฟังแล้วผู้ร้องยังไม่เข้าใจดีนักและค้างคาใจอยู่  จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาจากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำแนะนำ เบื้องต้นทางศูนย์ฯ จึงได้ขอให้เจ้าหน้าที่ อย. รับเป็นเรื่องร้องเรียนไว้ก่อน และให้ผู้ร้องตักแบ่งตัวอย่างปลากระป๋องครึ่งหนึ่งไว้ให้กับ อย. เพื่อให้ตรวจสอบว่าสิ่งผิดปกติที่พบคืออะไรตอนนั้นคุณภูผาได้แอบสงสัยและตั้งคำถามในใจว่า ทำไม อย.สรุปผลการตรวจโรงงานได้รวดเร็ว เนื่องจากเพิ่งเป็นข่าวเมื่อวานช่วงค่ำเอง หลังจากร้องเรียนกับหน่วยงานทั้งสองผ่านไป ผู้ร้องได้นำตัวอย่างปลากระป๋องที่เหลือมามอบให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ เพื่อหาทางตรวจสอบว่าหนอนที่พบหรือสิ่งปนเปื้อนนั้นคืออะไรกันแน่แนวทางแก้ไขปัญหา   เบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้แนะนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า ร้านค้าผู้จำหน่ายปลากระป๋องอาจเข้าข่ายจำหน่ายอาหารปนเปื้อน ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์นั้น มีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ    ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ปรึกษานักวิชาการเพื่อหาวิธีการตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนในปลากระป๋อง นักวิชาการแนะนำว่าให้ผู้ร้องสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า ตรวจสอบอะไร และใช้วิธีไหนตรวจสอบ เพื่อการตรวจสอบจะได้ไปในทิศทางเดียวกันและไขข้อข้องใจของทุกฝ่าย ผู้ร้องได้ติดต่อ อย. เพื่อสอบถาม และแจ้งกลับมายังศูนย์พิทักษ์ฯ ว่า อย.แจ้งว่าไม่ทราบจะตรวจอะไรเหมือนกัน ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงปรึกษานักวิชาการอีกครั้ง และส่งตรวจห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจพบว่าสิ่งปนเปื้อนที่พบเป็นหนอนแมลงวันหัวเขียว การฟักตัวของไข่ต้องอาศัยอากาศในการเจริญเติบโต หนอนจึงไม่สามารถอยู่ในปลากระป๋องที่ปิดสนิทโดยไม่มีอากาศได้ หนอนแมลงวันที่ผู้ร้องพบจึงไม่สามารถพบในกระบวนการผลิตได้ ซึ่งกระป๋องอาจมีรอยรั่วหลังจากที่ซื้อสินค้ามา   เมื่อทราบผลการตรวจสอบศูนย์พิทักษ์ฯ ได้แจ้งให้คุณภูผาทราบ  และแจ้งว่า สคบ. ได้นัดผู้ร้องให้เจรจากับบริษัทผู้ผลิตปลากระป๋อง ซึ่งอาจฟ้องร้องคุณภูผาที่ทำให้เกิดข่าวสร้างความเสียหาย อย่างไรก็ตามผลการเจรจาคือ คุณภูผากับบริษัทต่างฝ่ายต่างไม่ฟ้องคดีกันและทำบันทึกกันไว้ที่ สคบ.     เพื่อให้ครอบคลุม เนื่องจากสถานที่เก็บปลากระป๋องก่อนจำหน่ายอาจไม่มีการดูแลที่ดี ทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ทำหนังสือขอทราบผลการดำเนินการกรณีร้องเรียนที่คุณภูผา ร้องไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย อย. ได้แจ้งผลการดำเนินการว่า ได้สุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างค้าปลีกที่ผู้ร้องได้ซื้อสินค้ามาตรวจสอบแล้ว ไม่พบสิ่งผิดปกติ อีกทั้งได้ตรวจสถานที่ผลิต  ซึ่งผลปรากฏว่า ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อฉบับที่ 205 ผลิตภัณฑ์ของฝาก-ของดี จาก 4 ภาค "น้ำพริกหนุ่ม น้ำปลาร้า แกงไตปลาแห้ง และโรตีสายไหม"

สารกันบูด ในน้ำพริกหนุ่ม และ แกงไตปลาแห้งฉลาดซื้อฉบับนี้ เราจะพาไปขึ้นเหนือล่องใต้ ออกอีสานและแวะเที่ยวภาคกลาง ด้วยเรื่องราวของ ของฝากสี่ภาค โดยฉลาดซื้อ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และเครือข่ายผู้บริโภคทั้งสี่ภาค  เก็บตัวอย่างสินค้า 4 ชนิด ซึ่งจัดเป็นของฝากยอดนิยม มาทดสอบเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค ขอประเดิมด้วย ผลทดสอบของฝากยอดนิยมจากภาคเหนือ อย่าง “น้ำพริกหนุ่ม” ซึ่งนิยมรับประทานคู่กับแคบหมู เพราะมีรสชาติที่ไม่เผ็ดมากนัก(ลำแต้ๆ เจ้า) และ “แกงไตปลาแห้ง” จากภาคใต้ที่ออกรสชาติเค็มและเผ็ดร้อน เหมาะรับประทานเคียงกับผัก(หรอยจังฮู้) โดยปัจจุบันน้ำพริกทั้งสองชนิดนี้ มักถูกวางจำหน่ายไปยังศูนย์โอทอปหรือศูนย์ของฝากทั่วประเทศ ทำให้ผู้ผลิตหลายรายนิยมใช้วัตถุกันเสีย หรือสารกันบูดมาช่วยถนอมอาหาร เพื่อทำให้สามารถเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้น ซึ่งแม้กฎหมายไม่ได้ห้ามการใส่สารดังกล่าว แต่ก็กำหนดให้ใส่อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามเกณฑ์มาตรฐานของโคเด็กซ์ (CODEX) ที่กำหนดไว้ในหมวดอาหารประเภทน้ำพริกแบบแห้งและน้ำพริกแบบเปียก เพราะการใช้วัตถุกันเสียที่มากเกินไป สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคที่รับประทานเป็นประจำได้ เช่น ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือเกิดการสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดเป็นพิษเรื้อรังในอนาคต เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มพร้อมบริโภค จากจังหวัดต่างๆ แถบภาคเหนือ และเครือข่ายผู้บริโภคภาคใต้ สุ่มเก็บตัวอย่างแกงไตปลาแห้งพร้อมบริโภค จากจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ เป็นจำนวนภาคละ 10 ยี่ห้อ (เก็บตัวอย่างระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 61) ซึ่งมีการวางจำหน่ายตามท้องตลาดหรือร้านของฝากทั่วไป เพื่อทดสอบหาปริมาณสารกันบูด (กรดเบนโซอิกและซอร์บิก) โดยผลการทดสอบจะเป็นอย่างไรนั้น ไปดูกันเลยสรุปผลการทดสอบ - น้ำพริกหนุ่ม จากตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่นำมาทดสอบทั้งหมด จำนวน 10 ยี่ห้อ พบว่า ทุกตัวอย่างมีสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกตกค้าง โดยมีน้ำพริกหนุ่ม 4 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณกรดเบนโซอิกสูงเกินกว่าที่มาตรฐานโคเด็กซ์กำหนด คือ ไม่เกิน 1,000 มก./อาหาร 1 กก. ได้แก่1. แม่ถนอม มีปริมาณกรดเบนโซอิกมากที่สุด คือ 3476.46 มก./กก. 2. ป้านวย มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1195.06 มก./กก.3. ศุภลักษณ์(รสเผ็ดมาก) มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1122.06 มก./กก. และ4. น้ำพริก มารศรี(สูตรดั้งเดิม) มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1043.80 มก./กก. อีก 6 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน  ปลอดภัยในการบริโภค  โดยน้ำพริกหนุ่มยี่ห้อ เรือนไทยขนมไทย พบปริมาณกรดเบนโซอิกน้อยที่สุด คือ 217.73 มก./กก.สารกันบูด แกงไตปลาแห้งจากตัวอย่างแกงไตปลาแห้งที่นำมาทดสอบทั้งหมดจำนวน 10 ยี่ห้อ พบว่า- มี 3 ยี่ห้อ ที่ไม่พบสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกตกค้างเลย ได้แก่ 1. คุณแม่จู้ 2. วังรายา และ 3. วิน (Win) - มี 2 ยี่ห้อ พบกรดเบนโซอิก แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ แม่รุ่ง และ เจ๊น้อง - มี 5 ยี่ห้อ ที่พบสารกันบูด (กรดเบนโซอิก/ ซอร์บิก) ตกค้างเกินกว่าที่มาตรฐานโคเด็กซ์กำหนด คือพบได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มก./ อาหาร 1 กก. ได้แก่1. ป้าสุ มีปริมาณกรดเบนโซอิกและซอร์บิก คือ 1318.32 มก./กก. และ 978.88 มก./กก. ตามลำดับ 2. ชนิดา(CHANIDA) มีปริมาณกรดเบนโซอิก 2540.22 มก./กก.3. RICHMe by lalita มีปริมาณกรดเบนโซอิก 2429.64 มก./กก. 4. จันทร์เสวย มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1572.86 มก./กก.5. แม่จิตร มีปริมาณกรดเบนโซอิก 1508.32 มก./กก.ยี่ห้อ ป้าสุ ซึ่งตรวจพบ ปริมาณกรดเบนโซอิก 1318.32 มก./กก. และกรดซอร์บิก 978.88 มก./กก. นั้น พบว่า มีผลรวมของสารกันบูด หรือกรดเบนโซอิกและซอร์บิกรวมกัน เท่ากับ 2.297.2 มก./กก. ซึ่งสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้  หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) “ข้อ 6 การใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องใช้ตามชื่อวัตถุเจือปนอาหาร หมวดอาหาร หรือชนิดอาหาร หน้าที่ทางด้านเทคโนโลยีการผลิต และปริมาณสูงสุดที่อนุญาตที่กำหนดไว้ตามบัญชีหมายเลข 1 โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมตามบัญชีหมายเลข 2 แนบท้ายประกาศนี้ การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง”ข้อสังเกตเรื่อง ฉลากอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 237) พ.ศ.2544 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารพร้อมปรุง และอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคบริโภคทันที กำหนดให้อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคบริโภคทันที หมายถึง อาหารที่ผลิตเรียบร้อยพร้อมบริโภค ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายได้ทันที ซึ่งต้องมีการแสดงฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก ที่กำหนดให้ ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทย และมีข้อความแสดงรายละเอียดต่อไปนี้ (ยกเว้นอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที ซึ่งผู้ปรุงเป็นผู้จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง)1. ชื่ออาหาร 2. เลขสารบบอาหาร 3. ชื่อและที่ตั้งของสถานที่ผลิต หรือแบ่งบรรจุ หรือจัดจำหน่าย แล้วแต่กรณี 4. น้ำหนักสุทธิ 5. ส่วนประกอบที่สำคัญ 6. ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” ถ้ามีการใช้ 7. ข้อความว่า “เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” ถ้ามีการใช้แล้วแต่กรณี 8. ข้อความว่า “ใช้...เป็นวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร” 9. ข้อความว่า “ใช้...เป็นวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล” 10. ข้อความว่า “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นสังเคราะห์” “แต่งรสธรรมชาติ” หรือ “แต่งรสเลียนธรรมชาติ” ถ้ามีการใช้แล้วแต่กรณี 11.วันเดือนและปีที่หมดอายุ/ ผลิต 12. คำแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี)และจากตัวอย่างน้ำพริกหนุ่ม และแกงไตปลาแห้งที่นำมาทดสอบทั้งหมด พบว่า มีหลายตัวอย่างที่แสดงรายละเอียดบนฉลากไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจขัดต่อกฎหมายดังกล่าวน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จโลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม ในน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จปลาร้า เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่แทบขาดไม่ได้ในครัวคนอีสานหรือร้านอาหารอีสาน โดยเฉพาะส้มตำปลาร้า เมนูสุดแซ่บขวัญใจคนทุกภาค แต่ปลาร้านั้นหากไม่ทำให้สุกก่อนบริโภค ก็อาจก่อปัญหาด้านสุขภาพได้มาก โดยเฉพาะเรื่องพยาธิใบไม้ที่แฝงในตัวปลาหรือจุลินทรีย์ก่อโรคที่อาจส่งผลให้เสาะท้องได้ จึงมีการรณรงค์ในวงกว้างให้ใช้ปลาร้าสุกหรือทำปลาร้าให้สุกก่อนบริโภค ซึ่งก็ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือ น้ำปลาร้าปรุงสุกสำเร็จรูป ออกวางขายทั่วไป เรียกว่า ช่วยสร้างความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคได้อร่อยนัวกันอย่างวางใจ ซึ่งแหล่งผลิตใหญ่ก็ไม่พ้นภาคอีสาน และถือเป็นหนึ่งในของฝากที่มีชื่อเสียง ฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2561 เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปและมีโอกาสเข้าสู่ตัวปลาที่ใช้ในการทำน้ำปลาร้า ถือเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารเพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภค และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จเป็นของฝากยามเยือนถิ่นอีสานน้ำปลาร้า หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักปลากับเกลือ เติมข้าวคั่วที่บดละเอียด รำข้าว หรือรำข้าวคั่วในอัตราส่วนที่เหมาะสม ก่อนหรือหลังการหมักปลากับเกลือ เพื่อให้ได้กลิ่นรสตามธรรมชาติของปลาร้านำมากรอง ให้ความร้อนก่อนบรรจุ หรือได้จากการนำปลาร้าดิบมาต้มกับนํ้า อาจเติมเกลือ สมุนไพร แล้วกรอง อาจเติมเครื่องปรุงรส เช่น น้ำตาล น้ำมะขาม น้ำกระเทียมดอง และให้ความร้อนก่อนบรรจุที่มา มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช.1346/2557ผลทดสอบผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัมส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.มาตรฐานตะกั่วและแคดเมียมในอาหารประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน  กำหนดให้ตรวจพบตะกั่วไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนแคดเมียมไม่มีการกำหนดมาตรฐานไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 แต่อาจพิจารณาเทียบเคียงจาก มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า (มผช. 1346/2557) ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดไว้ว่า สารปนเปื้อนแคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  ขณะที่ Codex (Codex Standard 193-1995) กำหนดไว้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมในสัตว์น้ำ (Marine bivalve molluscs) และสหภาพยุโรป (EC) No 1881/2006 กำหนดค่ามาตรฐานแคดเมียมในเนื้อปลาไว้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(0.05 ppm.)  แต่ทั้งนี้ก็มีการแยกย่อยไปตามชนิดของปลาด้วย ตะกั่ว แคดเมียม อยู่ในน้ำปลาร้าได้อย่างไร โลหะหนักถูกใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมหลายชนิด แต่ที่หลุดรอดออกสู่แหล่งดิน น้ำธรรมชาติ และถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานอาหารส่วนใหญ่ คือ ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม เนื่องจากมีพิษรุนแรง การปนเปื้อนเข้าสู่แหล่งน้ำ ก็มีความเสี่ยงที่โลหะหนักจะสะสมในตัวสัตว์น้ำอย่างปลา ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำปลาร้า และโลหะหนักไม่อาจทำลายได้ด้วยความร้อน จึงสามารถพบได้ในอาหารที่ผลิตออกจำหน่าย  โรตีสายไหม โรตีสายไหม ของฝากออเจ้า จากกรุงเก่าอยุธยาหากได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากการแวะไปไหว้พระทำบุญในวัดสำคัญ และเยี่ยมชมโบราณสถานที่งดงามในจังหวัดแล้ว คงไม่พลาดต้องซื้อของฝากชื่อดังอยุธยาอย่าง “โรตีสายไหม” หนึ่งในของดีภาคกลางติดไม้ติดมือกลับบ้านไปฝากคนรู้จักรู้ใจอย่างแน่นอน เพราะรสสัมผัสของแผ่นแป้งโรตีที่ละมุนนุ่มลิ้น กับกลิ่นหอมหวานของสายไหมสีสดใส เมื่อได้ชิมชิ้นแรก ก็คงห้ามใจ ไม่ให้หยิบชิ้นต่อไปคงไม่ได้“ขนมโรตีสายไหม” มีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ส่วนของแป้ง และส่วนของเส้นสายไหม แป้งโรตีประกอบไปด้วย แป้งสาลี น้ำ และเกลือ ส่วนของสายไหม มีส่วนผสมของน้ำตาล น้ำมันมะพร้าว และแป้งสาลี ซึ่งขนมที่มีส่วนประกอบของแป้ง อาจต้องใช้สารกันบูด กันรา เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ไม่ให้บูดเสียเร็วหรือขึ้นราได้ง่าย และอาจมีการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ในแผ่นแป้ง และสายไหม เพื่อสร้างสีสันให้กับแผ่นแป้ง และเส้นสายไหม ให้สดใสดึงดูดใจคนกิน ฉลาดซื้อ ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง จึงอยากเชิญชวนผู้บริโภค มาลองดูกันว่า เมื่อสุ่มเก็บตัวอย่าง โรตีสายไหม ในแบบฉบับที่ผู้บริโภคซื้อกันแล้ว เราพบอะไรบ้างที่น่าสนใจว่ากันว่าโรตีสายไหม ที่โด่งดังของอยุธยานั้น เป็นขนมของชาวไทยมุสลิม มีต้นกำเนิดมาจากการรังสรรค์ของนายบังเปีย แสงอรุณ และครอบครัว ที่ได้คิดค้นขึ้น เมื่อครั้งไปทำงานอยู่ที่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ก่อนจะเดินทางกลับมาประกอบอาชีพที่บ้านเกิดอยุธยาหากเอ่ยถึงตลาดขายโรตีเจ้าดัง คงต้องตรงดิ่งไปที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ไม่ได้พาไปหาหมอหายา แต่ว่าร้านโรตีเจ้าอร่อย เขามารวมตัวกันอยู่ที่นี่ แถวเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา แต่ถ้าใครไม่ได้ผ่านไปแถวนั้น ก็ไม่ต้องเสียใจ ยังมีเส้นทางโรตีสายไหม ที่จอดรถซื้อข้างทางได้ เช่น ถนนบางไทร - บางปะหัน, ถนนอยุธยา - บางปะอิน, ถนนเลี่ยงเมืองสุพรรณ รวมไปถึงถนนสายเอเชียผลทดสอบโรตีสายไหม โรตีสายไหมที่นำมาทดสอบ จำนวน 10 ตัวอย่าง ได้จากการสุ่มซื้อโดยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง จากร้านโรตีสายไหม 10 แห่ง ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ในส่วนของแผ่นแป้งโรตี ฉลาดซื้อเลือกทดสอบวัตถุกันเสีย จำนวน 3 ชนิด ที่อาจถูกใช้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ได้แก่ กรดซอร์บิก กรดเบนโซอิก และกรดโพรพิโอนิก รวมทั้งทดสอบหาสีสังเคราะห์ในแผ่นแป้งด้วย สำหรับสายไหม เลือกทดสอบเฉพาะสีสังเคราะห์ ผลการทดสอบพบว่า• แผ่นแป้งโรตี  ตรวจพบกรดเบนโซอิก(Benzoic Acid) เกินมาตรฐาน (1,000 มก./กก.)   จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่  1) โรตีสายไหม ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอารุณ เจ้าเก่า ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1910.45  มก./กก.2) ร้านแม่ชูศรี ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1894.05  มก./กก. 3) ร้านเรือนไทย ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1502.32  มก./กก.4) ร้านเอกชัย (B.AEK) ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  1147.95  มก./กก.ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 381 พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) สำหรับอาหารประเภทธัญชาติและผลิตภัณฑ์ธัญชาติ กำหนดปริมาณกรดเบนโซอิก ไม่เกิน 1,000 มก./อาหาร 1 กก. อีก 6 ตัวอย่างตรวจพบ กรดเบนโซอิก แต่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยไม่เกินมาตรฐาน(เรียงลำดับจากน้อยที่สุดไปมากที่สุด ได้แก่1) ร้านอาบีดีน+ประนอม แสงอรุณ  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  23.96 มก./กก. 2) ร้านวริศรา โรตีสายไหม  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  671.45 มก./กก. 3) ร้านโรตีสายไหมบังแป๊ะ  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  686.56 มก./กก. 4) ร้านโรตีสายไหม ไคโร น้องชายบังอิมรอน  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  708.64 มก./กก. 5) ร้านจ๊ะโอ๋  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  887.62 มก./กก. 6) ร้านประวีร์วัณณ์  ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก  985.84 มก./กก.ด้านสีสังเคราะห์ พบในแผ่นแป้งโรตีทุกตัวอย่างแต่ไม่เกินมาตรฐาน  อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ร้านเอกชัย (B.AEK) ซึ่งตรวจพบสีสังเคราะห์ กลุ่มสีเหลือง คือ ตาร์ตราซีน ปริมาณ  49.82 มก./กก. และกลุ่มสีน้ำเงิน คือ บริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ ปริมาณ  5.94 มก./กก. เมื่อคำนวณแล้วพบว่า ผลรวมสัดส่วนของสีสังเคราะห์ทั้งสองชนิดที่ตรวจพบ เท่ากับ 1.036 ถือว่าเกินเกณฑ์มาตรฐานไปเล็กน้อย เพราะตามกฎหมายระบุว่า เมื่อนำมาคำนวณร่วมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 1 (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381 ข้อ 6 ) สำหรับกรดซอร์บิกและกรดโพรพิโอนิกตรวจไม่พบในทุกตัวอย่าง  •สายไหม  ตรวจพบสีสังเคราะห์ทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินมาตรฐาน โดยสีสังเคราะห์ที่ตรวจพบในแผ่นแป้งและสายไหม อยู่ในกลุ่มสีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน ได้แก่ คาร์โมอีซีน หรือ เอโซรูบิน INS122, ตาร์ตราซีน INS102 และบริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ INS133มาตรฐานการใช้ปริมาณวัตถุกันเสียและสีสังเคราะห์ สารกันบูด สารกันรา และสีสังเคราะห์ จัดเป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข  (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4)  ที่มีข้อกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ได้ ตามหมวดอาหารแต่ละประเภทเอาไว้ ซึ่งแผ่นแป้งโรตีเทียบได้กับอาหารประเภทธัญชาติและผลิตภัณฑ์ธัญชาติ ส่วนสายไหมนั้นเทียบได้กับอาหารในหมวดลูกกวาด ลูกอม ช็อกโกแลตปริมาณกรดเบนโซอิกที่อนุญาตให้พบได้ในส่วนของ แผ่นแป้งโรตี แผ่นแป้งโรตี เทียบได้ในหมวดอาหารกลุ่มขนมหวานที่มีธัญชาติและสตาร์ชเป็นส่วนประกอบหลัก ตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) อนุญาตให้ใช้ปริมาณกรดเบนโซอิกสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนสีสังเคราะห์ในกลุ่มสีแดง ได้แก่ คาร์โมอีซีน หรือ เอโซรูบิน (Carmoisine or Azorubine) INS 122 อนุญาตให้ใช้ได้สูงสุดในปริมาณไม่เกิน 50 มก./กก., ในกลุ่มสีเหลือง ได้แก่ ตาร์ตราซีน (Tartrazine) INS 102 อนุญาตให้ใช้ได้สูงสุดในปริมาณไม่เกิน 50 มก./กก. และในกลุ่มสีน้ำเงิน ได้แก่ บริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ (Brilliant Blue FCF) INS 133 อนุญาตให้ใช้ได้สูงสุดในปริมาณไม่เกิน 150 มก./กก.ปริมาณสีสังเคราะห์อาหารที่อนุญาตให้พบได้ในส่วนของ สายไหม สายไหม อาจเทียบได้ในหมวดอาหารกลุ่มลูกกวาด นูกัตและมาร์ซิแพน ตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) อนุญาตให้ใช้สีสังเคราะห์ ในกลุ่มสีเหลือง ตาร์ตราซีน (Tartrazine) INS 102 และในกลุ่มสีน้ำเงิน บริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ (Brilliant Blue FCF) INS 133 ได้ในปริมาณไม่เกิน 300 มก./กก. ทั้งนี้ หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) “ข้อ 6 การใช้วัตถุเจือปนอาหาร ต้องใช้ตามชื่อวัตถุเจือปนอาหาร หมวดอาหาร หรือชนิดอาหาร หน้าที่ทางด้านเทคโนโลยีการผลิต และปริมาณสูงสุดที่อนุญาตที่กำหนดไว้ตามบัญชีหมายเลข 1 โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมตามบัญชีหมายเลข 2 แนบท้ายประกาศนี้ การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง”รู้จักสารกันบูด และ สารกันรา สารกันบูด และสารกันราที่ฉลาดซื้อเลือกสุ่มตรวจ ได้แก่ กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) INS 200, กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) INS 210 และ กรดโพรพิโอนิก (Propionic Acid) INS 280 ซึ่งสารกันเสียแต่ละตัวเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีลักษณะและวัตถุประสงค์การใช้ในอาหาร ดังนี้ กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) INS 200* เป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) ที่อยู่ในกลุ่มซอร์เบต (sorbate) ที่ใช้เป็นสารกันเสีย (preservative) มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว ใช้ป้องกันการเจริญเติบโตของยีสต์ รา และเเบคทีเรีย โดยไม่มีผลต่อกลิ่นและรสชาติของอาหาร กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) INS 210* เป็นกรดอ่อนในอาหาร เป็นวัตถุเจือปนอาหารเพื่อใช้เป็นสารกันเสีย มีลักษณะเป็นผงผลึกหรือเกล็ดสีขาว มีคุณสมบัติสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ กรดโพรพิโอนิก (Propionic Acid) INS 280* เป็นกรดอินทรีย์ที่พบในอาหารที่เกิดจากการหมัก เป็นวัตถุเจือปนอาหาร มีหน้าที่เป็นสารกันเสีย และใช้เป็นสารกันราในอาหาร(ขอขอบคุณข้อมูลจาก: www.foodnetworksolution.com)หมายเหตุ: *INS (International Numbering System) คือ ระบบเลขหมายสากลสำหรับวัตถุเจือปนอาหารสีสังเคราะห์ที่ใช้ในอาหารสีผสมอาหารสังเคราะห์ หมายถึง สีที่เป็นสารอินทรีย์ที่ได้จากการสังเคราะห์ ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหาร จัดอยู่ในกลุ่มสีผสมอาหาร สีสังเคราะห์มีราคาถูกกว่าสีธรรมชาติ อีกทั้งยังสะดวกต่อการเลือกใช้ ผู้ประกอบการจึงมักนิยมใช้สีสังเคราะห์ในอาหารมากกว่าสีธรรมชาติ ทั้งที่สีธรรมชาติมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากกว่า ซึ่งสีสังเคราะห์ สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มสีต่างๆ ได้แก่ กลุ่มสีแดง, กลุ่มสีเหลือง, กลุ่มสีเขียว และกลุ่มสีน้ำเงินกลุ่มสีแดง มี 3 สี ได้แก่ ปองโซ 4 อาร์ (Ponceau 4 R), คาร์โมอีซีน หรือ เอโซรูบิน (Carmoisine or Azorubine) และ เออริโทรซีน (Erythrosine)กลุ่มสีเหลือง มี 3 สี ได้แก่ ตาร์ตราซีน (Tartrazine), ซันเซ็ต เย็ลโลว์ เอฟซีเอฟ (Sunset Yellow FCF) และ ไรโบฟลาวิน (Riboflavin)กลุ่มสีเขียว มีสีเดียว ได้แก่ ฟาสต์ กรีน เอฟซีเอฟ (Fast Green FCF)และกลุ่มสีน้ำเงิน มี 2 สี ได้แก่ อินดิโกคาร์มีน หรือ อินดิโกติน (Indigocamine or Indigotine) และบริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ (Brilliant Blue FCF)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 โลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียม ในน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ

ปลาร้า เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่แทบขาดไม่ได้ในครัวคนอีสานหรือร้านอาหารอีสาน โดยเฉพาะส้มตำปลาร้า เมนูสุดแซ่บขวัญใจคนทุกภาค แต่ปลาร้านั้นหากไม่ทำให้สุกก่อนบริโภค ก็อาจก่อปัญหาด้านสุขภาพได้มาก โดยเฉพาะเรื่องพยาธิใบไม้ที่แฝงในตัวปลาหรือจุลินทรีย์ก่อโรคที่อาจส่งผลให้เสาะท้องได้ จึงมีการรณรงค์ในวงกว้างให้ใช้ปลาร้าสุกหรือทำปลาร้าให้สุกก่อนบริโภค ซึ่งก็ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือ น้ำปลาร้าปรุงสุกสำเร็จรูป ออกวางขายทั่วไป เรียกว่า ช่วยสร้างความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคได้อร่อยนัวกันอย่างวางใจ ซึ่งแหล่งผลิตใหญ่ก็ไม่พ้นภาคอีสาน และถือเป็นหนึ่งในของฝากที่มีชื่อเสียง  ฉลาดซื้อ โดยโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2561 เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปและมีโอกาสเข้าสู่ตัวปลาที่ใช้ในการทำน้ำปลาร้า ถือเป็นการเฝ้าระวังด้านอาหารเพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภค และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จเป็นของฝากยามเยือนถิ่นอีสาน---------------------------------------------------------น้ำปลาร้า หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักปลากับเกลือ เติมข้าวคั่วที่บดละเอียด รำข้าว หรือรำข้าวคั่วในอัตราส่วนที่เหมาะสม ก่อนหรือหลังการหมักปลากับเกลือ เพื่อให้ได้กลิ่นรสตามธรรมชาติของปลาร้านำมากรอง ให้ความร้อนก่อนบรรจุ หรือได้จากการนำปลาร้าดิบมาต้มกับนํ้า อาจเติมเกลือ สมุนไพร แล้วกรอง อาจเติมเครื่องปรุงรส เช่น น้ำตาล น้ำมะขาม น้ำกระเทียมดอง และให้ความร้อนก่อนบรรจุที่มา มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช.1346/2557---------------------------------------------------------ผลทดสอบ ผลทดสอบตะกั่ว น้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.มาตรฐานตะกั่วและแคดเมียมในอาหารประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน  กำหนดให้ตรวจพบตะกั่วไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนแคดเมียมไม่มีการกำหนดมาตรฐานไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 แต่อาจพิจารณาเทียบเคียงจาก มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า (มผช. 1346/2557) ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดไว้ว่า สารปนเปื้อนแคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  ขณะที่ Codex (Codex Standard 193-1995) กำหนดไว้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัมในสัตว์น้ำ (Marine bivalve molluscs) และสหภาพยุโรป (EC) No 1881/2006 กำหนดค่ามาตรฐานแคดเมียมในเนื้อปลาไว้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม(0.05 ppm.)  แต่ทั้งนี้ก็มีการแยกย่อยไปตามชนิดของปลาด้วยตะกั่ว แคดเมียม อยู่ในน้ำปลาร้าได้อย่างไร  โลหะหนักถูกใช้ในแวดวงอุตสาหกรรมหลายชนิด แต่ที่หลุดรอดออกสู่แหล่งดิน น้ำธรรมชาติ และถูกกำหนดไว้ในมาตรฐานอาหารส่วนใหญ่ คือ ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม เนื่องจากมีพิษรุนแรง การปนเปื้อนเข้าสู่แหล่งน้ำ ก็มีความเสี่ยงที่โลหะหนักจะสะสมในตัวสัตว์น้ำอย่างปลา ที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำปลาร้า และโลหะหนักไม่อาจทำลายได้ด้วยความร้อน จึงสามารถพบได้ในอาหารที่ผลิตออกจำหน่าย  ตารางผลทดสอบปริมาณแคดเมียมและตะกั่วในผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 198 กระแสต่างแดน

หยิบชิ้นปลามันชาวแคนาดาคือ คนกลุ่มแรกที่ได้ลิ้มรสปลาแซลมอนดัดแปรพันธุกรรม เพราะแคนาดาเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่ปัญหาคือ ไม่มีใครรู้ตัวว่ารับประทานเข้าไปตอนไหน! ความแตกเมื่อรายงานประจำไตรมาสของบริษัทอควาบาวน์ตี้ ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่บนเกาะพรินซ์เอ็ดเวิร์ด ระบุว่าได้ขายเนื้อปลาที่ว่านี้ไป 4,500 กิโลกรัมในระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน  แต่จนถึงขณะนี้บริษัทสัญชาติอเมริกันก็ไม่ยอมเปิดเผยว่าส่งไปขายที่เมืองใดบ้างแม้บริษัทจะได้รับอนุญาตให้ขายได้โดยไม่จำเป็นต้องติดฉลาก และได้รับการรับรองมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการแล้ว เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาคาใจคนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และในช่วง 20 ปีผ่านมารัฐบาลก็มีความโปร่งใสในเรื่องนี้น้อยมากล่าสุดกระทรวงสิ่งแวดล้อมออกมากำชับให้ “โรงงาน” บนเกาะดังกล่าว ซึ่งมีกำลังผลิตถึง 250 ตันต่อปีปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นจะถูกสั่งปิด   สถานีต่อไป..โลกรู้แล้วว่าตลาดปลาซึกิจิอันเลื่องชื่อย้ายไปอยู่ที่ใหม่ในเขตโกโตะ ซึ่งอยู่ห่างออกไปจุดเดิมสองกิโลเมตร แต่บรรดาลูกค้าตัวจิ๋วที่เคยเดินทางมาด้วยระบบท่อระบายน้ำใต้ดินเพื่อกินเศษปลาและเศษผักในช่วงบ่ายๆ  จะย้ายไปที่ไหนใครรู้บ้างตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เทศบาลนครโตเกียวได้เริ่มปฏิบัติการกำจัดหนูเพื่อป้องกันไม่ให้มันยกครัวไปลงมือที่อื่น เขาบอกว่างานนี้ไม่ง่ายเลยเพราะยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน และหนูส่วนใหญ่เป็นหนูสีน้ำตาลที่อาศัยอยู่ใกล้น้ำ ว่ายน้ำเก่ง และเท้าที่เปียกตลอดเวลาของมันก็ทำให้มันไม่ติดกับดักง่ายๆ อีกด้วยเฉลยนิด ว่าเป้าหมายใหม่ของมันคือ ย่านกินซ่าที่มีห้างสรรพสินค้ามากมายพร้อมศูนย์อาหาร ไหนจะร้านอาหารจำนวนมากที่เป็นที่นิยมทั้งในหมู่คนญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยว กินซ่าห่างจากตลาดซึกิจิเดิมแค่หนึ่งกิโลเมตรเท่านั้น ทวงออกสื่อเมืองมังกาลอร์ทางตอนใต้ของอินเดียมีทะเบียนผู้ซื้อน้ำดื่มจากเทศบาลประมาณ 85,000 ราย จากจำนวนนี้มีถึง 50,000 รายที่ยังค้างจ่าย คิดเป็นยอดหนี้รวมไม่ต่ำกว่า 200 ล้านรูปีบางคนค้างค่าน้ำมาตั้งแต่ปี 2000 และมีอยู่ 166 รายที่มีหนี้รวมกันประมาณ 750,000 รูปี ข่าวบอกว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่มีฐานะดีมังกาลอร์ ซิตี้ คอร์ป ประกาศให้เวลาสองสัปดาห์ในการชำระหนี้ หากเกินกว่านั้นลูกหนี้จะได้เห็นชื่อตัวเองบนหน้าหนังสือพิมพ์ เมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลอาหรับแห่งนี้มีวิกฤติน้ำดื่มมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา บางครั้งมีการปนเปื้อนของสารปรอท บางครั้งท่อน้ำชำรุด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ ภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งได้รับการแก้ไขชั่วคราว(ยังไม่มีวี่แววของมาตรการถาวร) ด้วยการจำกัดเวลาปล่อยน้ำในแต่ละพื้นที่ หลายรายคงไม่ยอมจ่ายเงินเพราะทนบริการแย่ๆ นี้ไม่ได้ บุญไร้ควันไต้หวันเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีมลภาวะทางอากาศค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณรอบๆ วัดซึ่งมีอยู่ประมาณ 30,000 แห่งทั่วทั้งเกาะ ปีนี้มีผู้อยู่อาศัยที่เดือดร้อนเข้ามาร้องเรียนแล้วกว่า 3,000 รายรัฐบาลไต้หวันซึ่งครองแชมป์ประเทศที่มีวัดหนาแน่นที่สุดในโลก(ประชากรร้อยละ 70 นับถือพุทธหรือเต๋า) จึงเริ่มนโยบายจำกัดการใช้ธูปหรือเผากระดาษเงินกระดาษทองในการทำบุญเซ่นไหว้ ขณะนี้มีวัดที่ให้ความร่วมมือแล้ว 1,100 แห่ง บางแห่งยกเลิกการใช้ธูป หลายวัดขอให้ญาติโยมจุดธูปเพียง 1 ดอก(จากฉบับเต็ม 7 ดอก) ในขณะที่บางแห่งอนุญาตเฉพาะธูปชนิดควันน้อยที่ลูกศิษย์วัดเป็นผู้จุดให้เท่านั้นแต่มีคนนับหมื่นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ไปรวมตัวกันประท้วงที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดี พวกเขามองว่า นี่คือการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา   จ่ายแล้วเป็น “สูญ”เรื่องปวดหัวอันดับหนึ่งของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์นาทีนี้คือ การสูญเงินดาวน์หรือไม่ได้รับบริการที่จ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้ากรณีร้องเรียนแบบนี้เพิ่มขึ้นสามเท่าจากปี 2014 สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ธุรกิจหลายแห่งปิดตัวลงและทำให้ผู้บริโภคต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากข้อมูลขององค์กรผู้บริโภคสิงคโปร์ มูลค่าการสูญเสียอันดับแรกคือ เงินดาวน์รถยนต์ (2.74 ล้านเหรียญ) ตามด้วยค่าสมาชิกบริการฟิตเนส (1.39 ล้านเหรียญ) และค่าบริการต่อเติมซ่อมแซมบ้าน (1.02 ล้านเหรียญ) และที่ต้องระวังเป็นพิเศษนอกจากนั้นคือ บริการท่องเที่ยว เสริมสวย และเฟอร์นิเจอร์ ทางออกคือ การขอความร่วมมือจากสมาคมผู้ประกอบการให้มีการ “คุ้มครองการจ่ายเงินล่วงหน้า” ซึ่งความจริงผู้ประกอบการหลายเจ้ามีทางเลือกนี้อยู่แล้วแต่ลูกค้าไม่นิยมเลือกเพราะต้องการของ “ถูก”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ควรแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อได้ลูกที่มีสติปัญญาตามที่ควรเป็นหรือไม่

สาเหตุหนึ่งที่หลายคนเลี่ยงการกินปลาคือ ปลานั้นต้องอยู่ในน้ำตลอดเวลาและน้ำเป็นแหล่งธรรมชาติที่มักมีสารพิษปนเปื้อน มากบ้างน้อยบ้างขึ้นกับความมักง่ายของคนในพื้นที่ที่ปลาถูกจับ จึงมีคำถามว่า แล้วอย่างนี้ควรแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อได้ลูกที่มีสติปัญญาตามที่ควรเป็นหรือไม่การศึกษาทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับผลของการกินปลาต่อการพัฒนาของระบบประสาทเด็กในท้องแม่นั้นมีมานาน เช่น การศึกษาในชุมชนบนเกาะซีเซลล์ (Seychelles) ซึ่งอยู่นอกฝั่งอัฟริกาด้านตะวันออกในมหาสมุทรอินเดีย(เมื่อปี 1998 และ 2003) และการศึกษาในชุมชนบนหมู่เกาะฟาโร (Faroe Islands) ในมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งอยู่ในอาณัติของเดนมาร์ค (เมื่อปี 1997) แสดงให้เห็นว่า DHA (Docosahexaenoic acid) ซึ่งเป็นหนึ่งในกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา 3 ที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทในสมองส่วนสีเทา (grey matter) และผนังของลูกตาในช่วงสามเดือนสุดท้ายของการท้องต่อเนื่องถึง 2 ปีแรกหลังคลอดของเด็ก และที่น่าสนใจเมื่อพบว่า แม่ที่กินปลาเป็นประจำระหว่างท้องได้ลูกมีพฤติกรรมที่ดี ผลการเรียนดี สายตาดี ความจำดี สามารถเรียนรู้และเข้าใจในการเรียนภาษาได้ดีตั้งแต่เด็ก ในทางระบาดวิทยาได้พบหลักฐานว่า การกินกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 จากปลาหรือน้ำมันปลานั้นลดความเสี่ยงต่อการตาย เนื่องจากโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (Coronary heart diseases) โดยมีข้อสรุปจากการศึกษาว่า การกินน้ำมันปลา 250-500 มิลลิกรัมของกรดไขมันชนิด EPA (Eicosapentaenoic) รวมกับ DHA ต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจร้อยละ 36 อย่างไรก็ดีการกินมากขึ้นกว่านี้กลับไม่ช่วยให้ความเสี่ยงต่ำลงไปอีก ซึ่งแสดงว่า ประโยชน์จากการกินน้ำมันปลาต่อการป้องกันโรคหัวใจนั้นไม่ได้แปรผันโดยตรง ดังนั้นผู้สนใจกินน้ำมันปลาจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนด้วยเหตุที่การกินปลาเป็นเรื่องสำคัญของชาวโลกโดยเฉพาะในสตรีมีครรภ์ องค์การอาหารและเกษตรร่วมกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งต่างก็สังกัดองค์การสหประชาชาติจึงได้ร่วมทำงาน(Joint Expert Consultation) อีกครั้งในเรื่องเกี่ยวกับ ความเสี่ยงและประโยชน์(Risks and Benefits) ของการกินปลา เมื่อวันที่ 25-29 มกราคม 2010 ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การอาหารและเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ประเด็นหลักของการประชุมคือ แม้ว่าปลาหลายชนิดอุดมด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา 3 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ แต่ปลาก็เป็นแหล่งของสารพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมที่ปลาอาศัยอยู่เช่น เม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน ดังนั้นการชั่งน้ำหนักถึงความเสี่ยงในการได้รับสารพิษต่อประโยชน์จากการกินปลาจึงเป็นเรื่องสำคัญในการถกความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ 17 คน ถึงความเสี่ยงภัยและประโยชน์ที่ได้จากการกินปลานั้น เป็นการพูดคุยกันในกรอบความรู้ด้านโภชนาการ พิษวิทยา ระบาดวิทยา และการประเมินความเสี่ยง/ประโยชน์ในการกินปลา ซึ่งสุดท้ายได้มีรายงานการประชุมชื่อ Report of the Joint Fao/Who Expert Consultation On The Risks And Benefits Of Fish Consumption ออกมาให้เราได้อ่านงานหลักของผู้เชี่ยวชาญครั้งนี้คือ การทบทวนข้อมูลของระดับสารอาหารและสารปนเปื้อนบางชนิดคือ เม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน ซึ่งปนเปื้อนในปลาหลากหลายสายพันธุ์ ตลอดจนข้อมูลอื่นๆ ที่สำคัญ เพื่อใช้ในการพิจารณาประเมินถึงความเสี่ยงอันตรายจากสารพิษต่อประโยชน์ที่ได้จากน้ำมันปลามีการตั้งความหวังว่า ผลที่ได้จากการประชุมนั้น ควรถูกประเทศสมาชิกของสหประชาชาตินำไปใช้เป็นข้อแนะนำในการปฏิบัติงานเพื่อประเมินความเสี่ยงและประโยชน์ในการกินปลาของประชาชน โดยในรายงานฉบับนี้กำหนดให้ “ปลา” หมายถึง ปลาที่มีครีบและสัตว์น้ำที่มีเปลือก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลหรือน้ำจืด ทั้งที่เลี้ยงในฟาร์มและอยู่ในธรรมชาติหลังการประชุมเสร็จผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า ควรมีขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงต่อประโยชน์ที่ได้จากการกินปลาของแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการทำความเข้าใจกับประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค ดังนั้นสิ่งที่ได้ออกมาจากการประชุมคือ ขอบข่ายงาน (Framework) ของการประเมินผลสุดท้ายที่ได้จากการกินอาหารปลา ทั้งด้านประโยชน์และโทษเพื่อเป็นเกณฑ์ให้หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหารระดับชาติของแต่ละประเทศและองค์กรที่กำหนดมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ เช่น Codex Alimentarius Commission ใช้ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงในการบริโภคปลาสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญสรุปได้คือ การกินปลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินของแต่ละชุมชนนั้นเป็นประโยชน์ เพราะปลาเป็นแหล่งของ โปรตีน พลังงาน และสารอาหารต่างๆ ซึ่งรวมถึง กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 และที่สำคัญคือ การกินปลานั้นช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจ ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้สตรีมีครรภ์กินปลาเพื่อให้การพัฒนาระบบประสาทของเด็กในครรภ์เป็นไปตามศักยภาพที่มีในแง่ของอันตรายจากสารปนเปื้อนนั้นพบว่า ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหากับเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจเนื่องจากเม็ททิวเมอร์คิวรีนั้น ข้อมูลที่มีอยู่ไม่ชัดเจน ส่วนความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเนื่องจากไดออกซิน(dioxin) นั้น แม้พบว่ามีอยู่แต่ก็ยังมีผลต่ำกว่าการรับได้ประโยชน์ต่อสุขภาพจากการกินปลา นอกจากนี้ในการประชุมนั้น ได้มีการพิจารณาเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับจากกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกา-3 ต่อความเสี่ยงอันตรายเนื่องจากเม็ททิลเมอร์คิวรีของลูกในกลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งพบว่า การกินปลาระหว่างการตั้งครรภ์ช่วยลดความเสี่ยงของการไม่พัฒนาของระบบประสาทของลูกแบบแอบแฝง (suboptimal neurodevelopment) ให้ต่ำลงเมื่อเทียบกับลูกของสตรีที่ไม่กินปลาสำหรับระดับของการสัมผัสสารพิษไดออกซิน จากการกินปลาและอาหารอื่นของแม่โดยทั่วไปนั้น ยังไม่เกินระดับที่ยอมรับให้สัมผัสได้ในแต่ละเดือน (Provisional Tolerable Monthly Intake หรือ PTMI) ที่กำหนดโดย JECFA (เมื่อพิจารณาถึงสาร PCDDs, PCDFs และ PCBs) คือ 70 พิโคกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ดังนั้นการกินปลาจึงยังไม่น่าก่อให้เกิดความเสี่ยงในการพัฒนาด้านระบบประสาทของเด็กในครรภ์ อย่างไรก็ดีในกรณีที่มีการสัมผัสสารพิษไดออกซินของสตรีในบางประเทศเกินระดับที่กำหนดนั้น ความเสี่ยงดังกล่าวไม่สามารถถูกตัดทิ้ง เมื่อมีการพิจารณาถึงกลุ่มทารก เด็กเล็กและวัยรุ่นเกี่ยวกับการกินปลานั้น พบว่าข้อมูลในการประชุมดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะสร้างขอบข่ายการประเมินเกี่ยวกับปริมาณ(quantitative framework) สารพิษที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและประโยชน์ที่ได้รับจากการกินปลา อย่างไรก็ดีรูปแบบการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพซึ่งรวมถึงการกินปลานั้น ได้ถูกวางไว้ในวัยดังกล่าวแล้วเพื่อให้มีผลต่อเนื่องถึงชีวิตการเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี อีกทั้งในปี 2007 นั้น The World Cancer Research Fund และ American Institute for Cancer Research ได้รายงานถึงผลของอาหาร โภชนาการ การเคลื่อนไหวร่างกายต่อการเกิดมะเร็ง โดยไม่มีข้อมูลที่ระบุว่าการกินปลานั้นก่อความเสี่ยงอันตรายแต่อย่างไรสำหรับข้อเสนอแนะที่สำคัญจากการประชุมครั้งนี้คือ ประเทศสมาชิกต้องหาทางลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อกลุ่มเป้าหมายตามกระบวนการที่แนะนำ ทั้งในเรื่องการประเมินและการจัดการความเสี่ยง/ประโยชน์ที่ได้รับจากการกินปลาตลอดจนถึงการสื่อสารส่งต่อข้อมูลสู่ประชากร มีการเน้นย้ำว่า เพื่อให้ประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบประสาทของเด็กที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์และแม่ให้นมลูกที่กินปลาเกิดขึ้นนั้น ประเทศสมาชิกต้องดำรงและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับสารอาหารจำเพาะในปลาบางชนิดและโอกาสปนเปื้อนของสารพิษ(โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ททิลเมอร์คิวรีและไดออกซิน) ในปลาที่ประชาชนในแต่ละประเทศสมาชิกกินและที่สำคัญคือ ต้องมีการพัฒนาและประเมินหลักการจัดการความเสี่ยงรวมถึงการสื่อสารข้อมูลในการลดความเสี่ยงอันตรายจากการกินปลาให้ต่ำสุดโดยได้รับประโยชน์จากการกินปลาสูงสุดสิ่งที่น่ากังวลจากการประชุมคือ มีบางประเทศที่เกิดความเสี่ยงในการยับยั้งการพัฒนาสมองของเด็กระหว่างที่อยู่ในท้อง เนื่องจากแม่กินปลาที่มีการปนเปื้อนเม็ททิลเมอร์คิวรี นอกจากนี้โอกาสเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ผลกระทบด้านภูมิต้านทานและการสืบพันธุ์ก็ยังเป็นไปได้ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ความสมบูรณ์ในข้อมูลด้านอันตรายของไดออกซินที่ปนเปื้อนในปลาต่อสุขภาพเช่น ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ ภูมิต้านทาน การพัฒนาระบบประสาทตลอดจนถึงมะเร็งนั้นยังไม่สมบูรณ์พอสุดท้ายนี้จึงมีคำถามซึ่งอยู่ในใจของผู้เขียนว่า สตรีมีครรภ์ในบ้านเราได้กินปลาที่ปลอดภัยจากสารพิษที่ปนเปื้อนในทะเลแล้วหรือไม่ เพราะปลาที่จับจากอ่าวไทยมันนั้นน่าจะมีสารพิษเพิ่มขึ้นทุกวัน ทั้งสารพิษจากชุมชม โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนการล่มของเรือบรรทุกน้ำมันและการรั่วไหลจากบ่อน้ำมันในทะเล อีกทั้งบนชายฝั่งทะเลอันดามันนั้นก็กำลังมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแถบทวารและมะริดของเพื่อนบ้านไล่ลงมาถึงความพยายามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ซึ่งยังไงๆ ก็ไม่มีทางสะอาด) แล้วสุขภาพทางสมองของเด็กไทยที่แม่ต้องกินปลาที่ปนเปื้อนจะเป็นอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >