ฉบับที่ 189 การบริจาคอวัยวะ

“ทุกส่วนของร่างกายมนุษย์ล้วนสามารถนำมาทดแทนให้กับกับคนอื่นๆ ต่อไปได้ อยู่ที่ความพร้อมของหลายๆ อย่าง อาทิ ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ความพร้อมของบุคคล และความเข้ากันได้ของอวัยวะ ฯลฯ ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีการใช้อวัยวะทดแทนกันได้เกือบทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นมือ แขนขา มดลูก อวัยวะเพศชายก็เปลี่ยนได้ ยกเว้น “สมอง” เพียงอวัยวะเดียวที่ยังไม่มีใครสามารถดำเนินการเปลี่ยนจากคนหนึ่งไปให้อีกคน หนึ่งได้” นายแพทย์วิศิษฎ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ได้ให้คำอธิบายกับฉลาดซื้อสำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีการปลูกถ่ายอวัยวะ 6 อวัยวะ คือ 1. หัวใจ 2. ปอด 3. ตับ 4. ไต 5. ตับอ่อน และ 6. ลำ ไส้เล็ก แม้ในความเป็นจริงแล้วความสามารถบุคลากรทางการแพทย์ของประเทศไทยจะมีความสามารถในการปลูกถ่ายอวัยวะได้เกือบทุกตำแหน่งเช่นเดียวกันก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่างจึงต้องทำการปลูกถ่ายอวัยวะโดยคำนึงถึง “การมีชีวิตรอด” เป็นหลัก อย่างอวัยวะเพศนั้นไม่ได้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตเท่านั้นผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ กล่าวว่า อวัยวะที่จะทำการปลูกถ่ายนั้นจะนำมาจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตาย แต่ยังหายใจอยู่นั่นหมายความว่า ผู้บริจาคเหล่านั้นต้องเสียชีวิตภายในห้องผู้ป่วยวิกฤติ หรือ ห้องไอซียู ของโรงพยาบาล ซึ่งการจะบอกว่าผู้บริจาครายใดมีเสียชีวิตจากภาวะสมองตายไปแล้วนั้นต้องให้ แพทย์อย่างน้อย 3 คน เป็นผู้พิจารณาลงความเห็นโดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา (เอกสารเกณฑ์การวินิจฉัยของแพทยสภา)เมื่อแพทย์ลงความเห็นเป็นเอกฉันท์แล้วว่า ผู้บริจาคเสียชีวิตด้วยภาวะสมองตายแล้ว แน่ๆ จึงทำการเก็บอวัยวะทันทีแล้วล้างด้วยน้ำยาถนอมอวัยวะ จากนั้นก็นำไปแช่ในอุณหภูมิที่กำหนด ประการสำคัญคืออวัยวะที่ได้มาต้องทำการปลูกถ่ายให้เร็ว เพราะหัวใจอยู่ได้ 4 ชั่วโมง ตับอยู่ได้ 6 ชั่วโมง ปอดอยู่ได้ 8 ชั่วโมง ไต อยู่ได้ 24 ชั่วโมง หากไม่ได้เปลี่ยนให้คนอื่นอวัยวะพวกนี้จะเสียทั้งหมด จริงๆ นอกจากอวัยวะแล้วยังสามารถเก็บเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ มาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้อีก เช่น ดวงตา ลิ้นหัวใจ ผิวหนัง กระดูก เป็นต้น โดยเก็บไว้ในคลังเนื้อเยื่อได้นาน เพราะพวกนี้ไม่ต้องต่อเส้นเลือด อย่างลิ้นหัวใจเก็บได้นาน 5 ปี ผิวหนัง 3 ปี เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวกรุนแรงจนทำให้น้ำเหลืองที่เสียไปสูญเสียโปรตีนไปเยอะมาก แล้วโอกาสติดเชื้อ โลหิตเป็นพิษ และเสียชีวิต ก็จะเอาเนื้อเยื่อเหล่านี้ไปรักษาหรืออย่างเนื้อเยื่อกระดูกก็สามารถทำให้เป็นชิ้นขนาดต่างๆ รูปร่างต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกทุกๆ ประเภท กระทั่งผู้ป่วยต้องเปิดกะโหลกแล้วกะโหลกศีรษะบุ๋มก็เอาตรงส่วนนี้เข้าไปทด แทน หรือจะบดกระดูกใส่ในซอกฟันก็ยังได้สถานการณ์การบริจาคอวัยวะในประเทศไทยสถานการณ์การรบริจาคอวัยวะในเมืองไทยปัจจุบันเพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 กว่าคน เกือบ 50,000 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เฉลี่ยวันละประมาณ 100 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 8,069 คนซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีถึง 60 กว่าล้านคน ขณะที่มีผู้รอรับบริจาคค่อนข้างมาก ล่าสุดขึ้นทะเบียนรอรับบริจาคมากกว่า 5,000 คน กว่าร้อยละ 90 คือ รอการเปลี่ยนไต เหตุผลที่คนรับบริจาคไตเยอะก็เนื่องจากทุกกองทุนสุขภาพภาครัฐดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ค่อนข้างดี ทั้งบริการล้างไต ฟอกไต ทำให้มีอายุยืนยาวสามารถรอคอยการปลูกถ่ายเปลี่ยนไตได้ในวันหนึ่ง ในขณะผู้ป่วยที่รอการเปลี่ยนอวัยวะอื่นๆ ที่เหลือนั้นไม่สามารถรอนานได้ขนาดนั้น หากไม่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายจะทำให้เสียชีวิต“เมื่อปี 2558 ได้รับการบริจาคได้รับอวัยวะจากผู้บริจาคจำนวน 206 คน สามารถนำอวัยวะและเนื้อเยื่อไปช่วยเหลือคนอื่นได้ถึง 856 คน แยกเป็นผู้ที่ได้รับอวัยวะ 463 คน โดยได้รับการปลูกถ่ายไต 354 คน รองลงมาเป็นการปลูกถ่ายตับ 71 คน หัวใจ 24 คน หัวใจ-ปอด 1 คน ตับอ่อน 1 คน หัวใจ-ไต 1 คน ตับ-ไต 1 คน ส่วนผู้ที่ได้รับบริจาคเนื้อเยื่อ 393 ชิ้น เช่น ได้ลิ้นหัวใจ 121 ลิ้น ดวงตา 262 ดวงตา และกระดูก 5 คนหลอดเลือด 3 คน และ ผิวหนัง 2 คน” นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ กล่าวต่ออีกว่า อวัยวะที่บริจาคอยู่ในสภาพดีพอสมควร เช่น หัวใจ คุณภาพของหัวใจที่ดีควรได้รับจากผู้บริจาคที่มีอายุประมาณ 40 กว่าปี หากมากกว่านี้ หัวใจที่ได้รับมาอาจจะไม่แข็งแรง เพราะร่างกาย อวัยวะของมนุษย์ย่อมเสื่อมการทำงานไปตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งบางครั้งอวัยวะที่ได้มาก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมด เพราะบางคนมีภาวะตับแข็งบ้าง ไขมันเกาะตับบ้าง หรือหัวใจมีอายุมากเกินไป เฉลี่ยแล้ว 1 ร่างของผู้เสียชีวิตจะมีอวัยวะที่ใช้ได้ไม่เกิน 3 อวัยวะ นอกจากนี้ อุปสรรค์ของการได้มาซึ่งอวัยวะของผู้บริจาคยังมีอีกมาก เช่นอุปสรรคที่ 1 แม้ผู้บริจาคได้รับการยินยอมจากญาติตั้งแต่ครั้งแรกที่แสดงความประสงค์ในการบริจาคอวัยวะแล้ว แต่เมื่อเสียชีวิตจริงๆ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะทำการเก็บอวัยวะต้องได้รับการยินยอมจากญาติอีกครั้งหนึ่งก่อน ซึ่งมีไม่น้อยเช่นเดียวกันที่ญาติไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่เก็บอวัยวะ อุปสรรคที่ 2 เมื่อญาติอนุญาตให้สามารถเก็บอวัยวะไปใช้ประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยรายอื่นๆ แล้วทีมแพทย์ต้องมาตั้งต้นดูว่า 1. อวัยวะที่จะใช้นั้นได้หรือไม่ บางคนหัวใจหยุดเต้นหลายนาที ปั๊มหัวใจหลายครั้ง หัวใจก็อาจจะใช้ไม่ได้ 2.หากอายุของผู้บริจาคอยู่ในเกณฑ์ดี อวัยวะอยู่ในเกณฑ์ดี ศูนย์รับบริจาคอวัยวะก็จะเป็นผู้จัดสรรว่าจะให้กับใคร ตามเกณฑ์และระยะเวลาในการเข้าไปรับอวัยวะ “แต่บางครั้งสถานที่อยู่ไกล ไม่มีเครื่องบิน หรือกลับไม่ได้ หรือพอตกลงว่า ผู้บริจาคสมองตายสามารถจะบริจาคอวัยวะได้แล้ว แต่ทีมแพทย์ผู้เก็บอวัยวะยังไปไม่ถึงแล้วผู้บริจาคเกิดเสียชีวิตก่อน อวัยวะเหล่านั้นก็จะใช้ไม่ได้ หรือไปแล้วห้องผ่าตัดไม่ว่างก็ไม่ได้ เอามาแล้วแพทย์ผ่าตัดไม่เรียบร้อย ล้างอวัยวะไม่ได้ก็ไม่ได้ หรือบางครั้งเอามาแล้วผู้ที่รอรับบริจาคอยู่เกิดป่วยก็รับไม่ได้อีก อวัยวะจะสูญเสียไปเรื่อยๆ กว่าจะได้เปลี่ยนถ่าย เรียกว่าอุปสรรคมีอยู่ตลอดทางแต่ทีมแพทย์ก็พยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้ได้ เปลี่ยนอวัยวะให้ผู้ป่วยให้ได้”ดังนั้น จึงได้มีการแบ่งความรับผิดชอบเป็นไปตามพื้นที่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้ก็ให้รับผิดชอบเรื่องการเก็บและเปลี่ยนถ่ายอวัยวะให้กับผู้ที่ต้องการในพื้นที่ คนพื้นที่ได้ประโยชน์ ไม่ต้องเสี่ยงเดินทางไปเก็บ เสี่ยงอุบัติเหตุ และย่นระยะเวลา แต่ทั้งนี้ต้องมีการจัดสรรอย่างเป็นธรรม ดังนี้ 1. ภาคเหนือ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่รับผิดชอบผู้บริจาคอวัยวะในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ และตาก 2.ภาคตะวันอออกเฉียงเหนือ โรงพยาบาลศรีนครินทร์รับผิดชอบในเขตจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี เลย กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม หนองคาย นครราชสีมา หนองบัวลำภู และชัยภูมิ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์รับผิดชอบในเขตจังหวัดอุบลราชธานี มุกดาหาร ยโสธร ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ โรงพยาบาลส่วนกลาง รับผิดชอบในเขตจังหวัดสกลนคร นครพนม3.ภาคตะวันออก โรงพยาบาลชลบุรีโรงพยาบาลระยอง โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จะร่วมกันรับผิดชอบโดยหมุนเวียนกันออกไปทำผ่าตัดในเขตจังหวัดชลบุรีระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรีและตราด 4.ภาคใต้ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์รับผิดชอบในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 5.กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคใต้ตอนบน โรงพยาบาลส่วนกลางรับผิดชอบ 6.ในกรณีที่โรงพยาบาลสมาชิกในภาคต่างๆ ไม่สามารถเดินทางไปทำผ่าตัดในจังหวัดที่รับผิดชอบได้ ให้โรงพยาบาลสมาชิกส่วนกลางรับผิดชอบในจังหวัดนั้นๆ แทน ทั้งนี้ ในกรณีที่ได้รับการบริจาคไตมาทั้ง 2 ข้าง จะต้องนำไต 1 ข้างต้องนำส่งศูนย์บริจาคอวัยวะที่ส่วนกลางเพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ อีกต่อไปหลักเกณฑ์ข้อกำหนดสำหรับผู้มีความประสงค์ที่จะบริจาคอวัยวะ นายแพทย์วิศิษฎ์ ระบุว่า “สามารถทำได้ในทุกช่วงอายุอายุตั้งแต่เกิด จนถึงไม่เกิน 65 ปี โดยต้องได้รับการยินยอมบริจาคอวัยวะจากผู้ปกครองหรือญาติ” นอกจากนี้ผู้บริจาคต้องไม่เป็นโรคติดต่อ หรือโรคติดเชื้อทั่วไป เช่น ไวรัสตับอักเสบ หรือโรคที่สามารถติดต่อผ่านอวัยวะ เช่น มะเร็ง มาลาเรีย เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ เอ ไวรัสตับอักเสบ บี ซิฟิลิส วัณโรค และโลหิตเป็นพิษ ผู้ป่วยต้องสงสัยว่าป่วยพิษสุนัขบ้า สมองอักเสบเฉียบพลัน หรือไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน ปลายประสาทอักเสบเฉียบพลัน ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุแน่นอน เป็นโรคสมองเสื่อมไม่ทราบสาเหตุแน่นอน เป็นต้น “กรณีโรคติดเชื้อนั้นมีบางกรณีที่ได้รับการยกเว้น แต่มีรายละเอียดเยอะ ยกตัวอย่างกรณี ไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งบางครั้งคนที่รับบริจาคอาจจะเป็นไวรัสตับอักเสบอยู่ก่อนแล้วหรือได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเอาไว้แล้ว ตรงนี้อาจจะมีข้อยกเว้นสามารถรับอวัยวะจากคนที่เป็นไวรัสตับอักเสบด้วยกันได้อยู่ และกรณีที่ไม่มีทางเลือก เช่นหากไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับใหม่ภายใน 2 วันนี้ ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตได้ ดังนั้นกรณีอย่างนี้อาจจะเป็นข้อยกเว้นที่สามารถทำได้ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์และการยินยอมของผู้ป่วย และญาติ แต่โดยทั่วไปจะยึดหลักการของความบริสุทธิ์ของอวัยวะเป็นหลัก เรื่องเหล่านี้ต้องคุยกันให้เข้าใจระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย แพทย์ยินดีที่จะช่วยเหลือคนผู้ป่วยอยู่แล้ว”ทั้งนี้ การบริจาคนั้นสามารถไปแสดงความประสงค์ได้ด้วยตัวเองที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ซึ่งสามารถเลือกบริจาคเฉพาะอวัยวะก็ได้แล้วแต่ความสมัครใจ แต่ส่วนมากก็บริจาคทั้งร่างกาย เพราะวันนี้แม้จะบอกว่าเมืองไทยยังใช้อวัยวะแค่นี้ แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ อนาคตอาจจะทำได้มากกว่านี้ อวัยวะที่คนตายไม่ได้ใช้แล้ว แต่ยังมีประโยชน์กับคนเป็นอีกจำนวนมากสิ่งที่อยากฝากคือ การบริจาคอวัยวะไม่ได้น่ากลัว บางคนกลัวว่าเกิดมาชาติหน้าอวัยวะอาจจะไม่ครบ บางคนกลัวว่าถ้าทำแล้วชีวิตจะสั้น แต่จริงๆ การบริจาคอวัยวะให้เป็นทาน เป็นบารมีที่สูงสุด ทุกศาสนาไม่ได้เป็นอุปสรรค การช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ การบริจาคอวัยวะถือเป็นงานบุญทั้งสิ้นที่ผ่านมาพบว่าคนที่ตั้งใจบริจาคอวัยวะจริงๆ นั้น จะเตรียมความพร้อมของร่างกายอย่างดีตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นคนที่ประสงค์อย่างบริจาคปอดก็จะเลิกพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อปอด โดยเฉพาะการเลิกสูบบุหรี่ คนที่ตั้งใจบริจาคตับก็จะเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะกลัวว่าจะเกิด ไขมันพอกตับ ตับแข็ง ไม่เที่ยวกลางคืนเพราะกลัวติดเชื้อเอชไอวี หรือไวรัสตับอักเสบ พอเริ่มดูแลสุขภาพตัวเองดีก็ยิ่งมีอายุที่ยืนยาว -----------------------ข้อมูลต่างๆ สำหรับการบริจาคอวัยวะสามารถหาได้จากเว็ปไซส์ของสภากาชาดไทย http://www.redcross.or.th/homeขั้นตอนการบริจาคอวัยวะ1. กรอกรายละเอียดในใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะให้ชัดเจน ที่อยู่ควรจะตรงกับทะเบียนบ้าน (หากต้องการให้ส่งบัตรประจำตัวไปยังสถานที่อื่น กรุณาระบุให้ชัดเจน)2. พิมพ์ใบแสดงความจำนงบริจาค ส่งเอกสารมายังศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย และเมื่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ได้รับใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะของท่านแล้ว ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ จะส่งบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะให้ตามที่อยู่ที่ได้ระบุไว้3. หลังจากที่ท่านได้รับบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะจากศูนย์รับ บริจาคอวัยวะฯ แล้ว อย่าลืมกรอกชื่อ และรายละเอียดการบริจาคลงในบัตร4. กรุณาเก็บบัตรประจำตัวผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้กับตัวท่าน หากสูญหายกรุณาติดต่อกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย5. ควรแจ้งให้ญาติทราบไว้ ว่าได้บริจาคอวัยวะกับสภากาชาดไทย เพราะญาติจะได้ติดต่อกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยได้ทันท่วงที(ข้อมูลเพิ่มเติม )ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2558 ของศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบคนรอรับบริจาคกับที่ได้รับการบริจาคจริง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 ถึง 31 ธันวาคม 2558 พบว่า มีผู้รอรับไตได้รับการปลูกถ่ายเพียง 364 ราย หรือร้อยละ 7.7 ของผู้รอรับทั้งหมด ส่วนผู้รอหัวใจได้รับการปลูกถ่าย 24 ราย ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายหัวใจ-ปอด 1 ราย หรือร้อยละ 5 ของผู้ที่รออยู่ทั้งหมด ผู้ได้รับการปลูกถ่ายตับและไต 1 คนจากจำนวนคนรอทั้งหมด 3 คน ผู้ที่รอรับการปลูกถ่ายตับอ่อนอยู่ 1 คน ตอนนี้ได้รับการปลูกถ่ายเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับผู้รอหัวใจและไต 1 คน ก็ได้รับการปลูกถ่ายเรียบร้อยแล้ว ส่วนผู้ที่รอรับการปลูกถ่ายปอดซึ่งมีอยู่ 6 คน นั้นก็ยังไม่มีใครได้รับการปลูกถ่ายแต่อย่างใด และผู้ได้รับการปลูกถ่ายตับ 71 ราย หรือร้อยละ 35 ของผู้รอทั้งหมดผู้ที่รอรับการปลูกถ่ายตับอ่อนและไตมีอยู่ 13 คน แต่ยังไม่มีใครได้รับการปลูกถ่ายตับอ่อนและไตเลย ผู้รออวัยวะทั้งหมดกับผู้รอรายใหม่และผู้เสียชีวิตระหว่างรออวัยวะ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2549 – 31 ธันวาคม 2558 ใน พ.ศ.2558 มีผู้รอรับบริจาคอวัยวะรายใหม่จำนวน 1,405 ราย หรือร้อยละ 28 ของผู้รออวัยวะทั้งหมดและมีผู้รอที่เสียชีวิตระหว่างรออวัยวะจำนวน 111 คน คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของผู้รออวัยวะทั้งหมดโดยเป็นผู้รอไตเสียชีวิต 60 คน ผู้รอรับตับเสียชีวิต 39 คน ผู้รอรับตับ-ไตเสียชีวิต 5 คน ผู้รอหัวใจเสียชีวิต 4 คน ผู้รอหัวใจ-ปอดเสียชีวิต 2 คน ผู้รอปอดเสียชีวิต 1 คน.

อ่านเพิ่มเติม >