ฉบับที่ 215 พาราควอตใน ‘ปูนาดองเค็ม’ วัตถุดิบอาหารในจานส้มตำ

พาราควอตใน ‘ปูนาดองเค็ม’ วัตถุดิบอาหารในจานส้มตำส้มตำ หรือ ตำส้ม ตำรับอาหารอีสานยอดฮิต ที่ทำเอาฝรั่งติดใจ คนไทยขาดไม่ได้ เพราะความแซ่บนัวจัดจ้าน จึงทำให้ส้มตำเป็นอาหารยอดนิยมตลอดกาล ไม่ว่าจะไปที่ใด ก็สามารถหาร้านส้มตำรับประทานได้แทบทุกที่ หนึ่งในเมนูยอดนิยมคือ ส้มตำปูปลาร้า นอกจากมะละกอที่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำส้มตำ และปลาร้าที่ต้องเลือกอย่างพิถีพิถันแล้ว ที่ต้องใส่ใจไม่แพ้กันคือ ปูดองเค็ม ซึ่งปูที่นิยมนำมาดองเค็มใส่ส้มตำคือ ปูแสม และปูนา        ปูดองเค็มที่วางขายตามตลาดในพื้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่จะเป็นปูแสม เพราะกรุงเทพฯ อยู่ติดกับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเลอย่าง สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ตราด ถึงอย่างนั้นด้วยความนิยมปูดองเค็มที่มีมาก ก็ยังต้องมีการนำเข้าปูแสมจากเพื่อนบ้านเพิ่ม ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนปูนาที่นำมาทำปูดองนั้น ปูที่จับจากธรรมชาติจะไม่ค่อยมีแล้ว เนื่องจากสภาพแวดล้อมในนาไม่เอื้อให้ปูอยู่ได้และความต้องการที่สูงในตลาด ปูนาส่วนใหญ่ที่นำมาทำปูดองจึงเป็นปูเลี้ยง ในสภาพเลียนแบบธรรมชาติ        อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปูนาดองเค็ม จำนวน 16 ตัวอย่าง จากตลาดสดทั้งหมด 14 แห่ง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในวันที่ 19-20 ธันวาคม 2561 และนำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐาน เพื่อตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงหากปูนาดองเค็มนั้นเป็นปูที่มาจากนาธรรมชาติโดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตาราง ต่อไปนี้หมายเหตุ: - ใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์แบบ HPLC-MS-MS ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้นจากผลการตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอตในปูนาดองเค็ม ทั้งหมด 16 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของพาราควอตทุกตัวอย่าง        อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างปูนาดองจะไม่พบการตกค้างของพาราควอต แต่ปูนา เป็นปูน้ำจืด ซึ่งกินอาหารทั้งในดินและในน้ำ จึงอาจพบปลิงหรือพยาธิ เช่น พยาธิตัวจี๊ด หรือพยาธิใบไม้ในปอด ติดอาศัยมากับปู การบริโภคปูดิบๆ จึงมีโอกาสที่เราจะกินไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิเหล่านี้เข้าไป ซึ่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารของมนุษย์นั้นไม่สามารถฆ่าพยาธิให้ตายได้ แม้จะนำปูนาไปดองเค็ม ก็ไม่อาจทราบระยะเวลาการดองที่แน่นอน ดังนั้นควรทำปูนาให้สุกก่อนรับประทานจะดีกว่า        นอกจากนี้ หากสามารถสอบถามถึงแหล่งที่มาของปูนาได้ก็จะดี เพราะปูนาที่มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยง นั้นสามารถควรคุมมาตรฐานความสะอาดได้ ซึ่งอาจปลอดภัยกว่าปูนาตามธรรมชาติในนาข้าว ที่อาจเสี่ยงพบปลิง พยาธิ หรือการตกค้างของสารเคมีมารู้จัก.. ปูแสม แล ปูนา         ปูแสม เป็นปูน้ำเค็มที่ขุดรูอาศัยอยู่ตามดินโคลนป่าชายเลน เช่น ป่าแสม ป่าโกงกาง หรือบริเวณปากแม่น้ำ พบได้ในจังหวัดที่ติดชายทะเล เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง ตรัง กระดองของปูแสมมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ไม่โค้งมาก ส่วนกว้างของกระดอง ยาวกว่า ส่วนยาวเล็กน้อย โดยทั่วไปจะมีขนาดประมาณ 3-7 เซนติเมตร ก้ามมีลักษณะกว้างกลม สีแดงปนม่วง มีกลุ่มขนสั้นๆ กระจัดกระจายอยู่บนกระดองและก้าม        ส่วน ปูนา เป็นปูน้ำจืด มักอาศัยอยู่ในนาข้าว พบได้ในบริเวณที่ลุ่มน้ำขัง กระดองมีลักษณะโค้งนูน ผิวเรียบมัน ขอบกระดองด้านหน้ามีรอยหยักเป็นฟันเลื่อย ส่วนใหญ่กระดองมีสีม่วงดำและเหลือง ชอบขุดรูอยู่ตามแปลงนา คันนา รูปูจะมีลักษณะกลมรีตามขนาดลำตัว ชาวนาถือว่าปูนาเป็นศัตรูพืชของข้าว เพราะปูนาจะกัดกินต้นข้าวที่ปักดำใหม่ๆ ทำให้ชาวนาต้องปักดำซ้ำหลายครั้ง ปูนาเป็นอาหารราคาถูกโดยเฉพาะเหมาะกับวิถีชีวิตผู้คนในชนบท และยังพบได้เกือบทุกภาคของประเทศไทย ส่วนใหญ่นิยมนำมาทำ หลนปูเค็ม แกงอ่อมปูนา น้ำปู๋ ปูนาดองน้ำปลา แกงส้ม อ่องปูนา และส้มตำ‘พาราควอต’ ยาฆ่าหญ้าที่เกษตรกรไทยนิยมใช้        พาราควอต (paraquat) เป็นยากำจัดวัชพืชที่เกษตรกรไทยนิยมใช้เป็นยาฆ่าหญ้า มีคุณสมบัติเผาไหม้ออกฤทธิ์เร็ว ทำให้วัชพืชแห้งเหี่ยวและตายภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยไม่ทำลายพืชผลผลิต นิยมใช้ในไร่อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา และนาข้าว พาราควอตยังเป็นที่นิยมของเกษตรกรทั่วโลก เพราะราคาถูก เห็นผลเร็ว และยังละลายน้ำได้ดี จึงปนเปื้อนในแหล่งน้ำได้ง่าย อีกทั้งสามารถสะสมอยู่ในดินตะกอน        เมื่อปี ค.ศ. 2009 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้พาราควอต เป็นสารเคมีอันตรายปานกลาง และยังพบข้อสังเกตในรายงานว่า มีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวหากถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย และเป็นอันตรายต่อชีวิต        พาราควอตมีพิษเฉียบพลันสูงต่อมนุษย์ ปัจจุบันยังไม่มียาถอนพิษ และยังส่งผลกระทบเรื้อรังต่อสุขภาพ เช่น การก่อโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อม พาราควอตสามารถซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายได้โดยการสัมผัสทางผิวหนังหรือบาดแผล นอกจากนั้นยังพบการตกค้างของพาราควอตในอาหาร สิ่งแวดล้อมและมนุษย์จากการวิจัยของหลายสถาบัน ทั้งนี้ยังสามารถถ่ายทอดผ่านมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้ด้วย โดยจากการศึกษาของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20 % และหากมีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะตรวจพบพาราควอตเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน        แหล่งข้อมูล:- ปูนา และการเลี้ยงปูนา (https://pasusat.com/ปูนา/)- วิธีอนุรักษ์ “ปูนา” จากสุรินทร์ จับมาแปรรูปเป็นอาหาร (https://mgronline.com/science/detail/9610000083393)- หนุ่มสิงห์บุรี ลาออกงานมาดูแลพ่อป่วย จับอาชีพเลี้ยงปูนา สร้างรายได้เดือนละล้าน (https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_530047)- พบสารพาราควอตตกค้างใน "น้ำปู๋ " 200 เท่า  (https://news.thaipbs.or.th/content/272293)- พาราควอต สารอันตรายที่ประเทศผู้ผลิตและทั่วโลกยังต้องแบน แต่ไทยยังปล่อยให้ใช้ต่อ (http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61559/)- งานวิจัยมหิดล พบพาราควอตตกค้างในขี้เทาทารกสูงเกินครึ่ง ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก (https://www.isranews.org/isranews-news/64489-paraquat-64489.html)- นักวิชาการแจงข้อเท็จจริงสารเคมีอันตรายกำจัดศัตรูพืช หนุนยกเลิก พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส(https://thaipublica.org/2018/05/seminar-paraquat-glyphosate-chlorpyrifos/)- เบื้องหลัง “พาราควอต” ไม่โดนแบน (https://www.the101.world/banning-paraquat-in-thailand/)- ส้มตำปูดิบ เสี่ยงพยาธิในปอด (http://www.thaihealth.or.th/Content/26769-ส้มตำปูดิบ%20เสี่ยงพยาธิในปอด.html)- เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (https://thaipan.org/)- https://th.wikipedia.org/

อ่านเพิ่มเติม >