ฉบับที่ 216 มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว

        เราคงได้ยินคำว่าเชื้อดื้อยามานานแล้ว นานจนหลายๆ คนเริ่มจะชิน แต่บางคนอาจไม่หวาดกลัวเพราะไม่เคยเจอกับตัวเอง ระยะหลังกระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันเชื้อดื้อยา โดยรณรงค์ไม่ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ(ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) อย่างพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะการใช้อย่างไม่จำเป็นในสามโรค ได้แก่ หวัดชนิดที่ไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย แผลสะอาด ท้องเสีย  อีกทั้งยังมีการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ทั้งของประเทศและระดับโลกมากขึ้น กระแสตื่นตัวเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาจึงมากขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลนำไปเป็นนโยบายของประเทศ     แม้ว่าการณรงค์การใช้ยาในคนจะเริ่มประสบผลสำเร็จมากขึ้น แต่กลับมีข้อมูลการใช้ยาในภาคเกษตรทั้งพืชและสัตว์ปรากฏขึ้นมาอีก จากการสำรวจข้อมูลในหลายๆ พื้นที่ พบว่ามีการนำยาปฏิชีวนะที่ใช้ในมนุษย์ เช่น แอมพิซิลิน(Ampicillin) อะม็อกซี่ซิลิน(Amoxycillin) มาใช้ในการเกษตร โดยพบการใช้มากในสวนส้ม ข้อมูลจาก Facebook เภสัชกรชายแดน รายงานว่าเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยจะไปซื้อยาปฏิชีวนะมาแกะเม็ดแคปซูลออก แล้วเอาแต่ผงยาออกมาละลายน้ำ ทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นจึงนำมากรองเอาแต่น้ำ นำไปใส่ขวดแล้วฉีดที่ต้นส้ม  โดย 1 ปี จะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นส้มจะเหลืองและตาย  Facebook เภสัชกรชายแดน ยังได้รายงานว่า จากการลงพื้นที่สำรวจ พบผงยาอะม็อกซี่ซิลินเกลื่อนตามพื้นดิน ซึ่งผงยานี้จะซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดินต่อไปได้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากเกษตรกรจะสัมผัสผงยาโดยตรง ซึ่งยาอาจเข้าสู่ร่างกายได้ ผู้บริโภคเองก็มีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นที่ตกค้างในผลส้ม และมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่สภาวะที่เร่งเร้าให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งเคยมีข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่หนังสือพิพม์คมชัดลึก  ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2560 นำเสนอว่า มีการตรวจพบเชื้อที่มียีนดื้อยาในมนุษย์แล้วเช่นกัน หรือผู้บริโภคบางคนอาจแพ้ยาที่ตกค้างในส้ม ซึ่งน่าห่วงตรงที่การแพ้ยาของบางคนอาจเป็นการแพ้แบบรุนแรงได้        ล่าสุดมีข้อมูลที่ได้จากการทำงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ซึ่งได้ตรวจผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ประเภท แหนม กุนเชียง ไส้กรอกอีสาน พบยีนเชื้อดื้อยาปะปนมาในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย ซึ่งหมายความว่า        1. เนื้อสัตว์ที่นำมาผลิตนั้น บางชนิดมียีนเชื้อดื้อยาปะปนมาด้วย        2. หากผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีเชื้อโรคที่ดื้อยาและผู้บริโภคนำมารับประทาน โดยไม่ผ่านความร้อนให้เชื้อโรคตาย (เช่น แหนม ที่สามารถรับประทานดิบๆ ได้) เชื้อโรคที่ดื้อยานั้นก็จะเข้าสู่ร่างกายคนที่รับประทาน        3. เมื่อเชื้อโรคที่เข้าไปในร่างกายคนที่รับประทานมียีนเชื้อดื้อยาแล้ว หากคนนั้นเจ็บป่วยจากเชื้อโรคดังกล่าว การรักษาด้วยยาทั่วๆ ไปที่เชื้อโรคชนิดนี้เคยตาย  มันก็จะไม่ตาย และต้องไปใช้ยาที่แพงและสูงกว่าเดิมที่เคยใช้        ข้อมูลเหล่านี้จึงเสมือนการย้ำเตือนให้พวกเราอย่าลืมว่า เชื้อดื้อยาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะ มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว ทางออกที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะทำได้ คือช่วยกันยับยั้งปัญหาเหล่านี้ เช่น สอบถามหรือปรึกษาบุคลากรทางสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้ยาที่เหมาะสม ไม่นำยาปฏิชีวนะไปใช้ในทางที่ผิดๆ ดังที่เล่ามาข้างต้น ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม >