ฉบับที่ 274 ผักผลไม้ควรกินแต่พอดี

        หลายคนอาจเข้าใจว่า การกินผักมากๆ ดีต่อสุขภาพเพราะอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่มากมาย กินมากเท่าไรก็ควรจะดีเท่านั้น         อย่างไรก็ดีในเดือนตุลาคม 2566 มีข่าวหนึ่งซึ่งน่าสนใจบนหลายเว็บไซต์ให้ข้อมูลว่า ดาราสาวได้แชร์ประสบการณ์ผ่านอินสตาแกรมถึงกรณีป่วยเพราะกินผักเยอะ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจนเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร เนื้อข่าวนั้นได้มีการแสดงภาพขณะทำการตรวจรักษาพร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “มีเรื่องมาเตือนทุกคนเพราะเพิ่งไปตรวจสุขภาพส่องกล้องลำไส้ใหญ่มา เนื่องจากช่วงหลังรู้สึกว่าท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยมากแล้วพบว่า เกิดจากการกินอาหารจำพวกสลัดมากเกินไป เพราะผักบางชนิดอาจจะไปกระตุ้นทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ใหญ่ เลยทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ”         มีคำแนะนำจากเว็บไซต์ของ Mayo Clinic (Wikipedia ให้ข้อมูลว่า เป็นศูนย์การแพทย์เชิงวิชาการของสหรัฐอเมริกาที่ไม่แสวงหากำไร มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษาและการวิจัยแบบบูรณาการในการบำบัดโรคที่ยากลำบากที่ต้องการดูแลระดับตติยภูมิและการแพทย์ทางไกล ศูนย์นี้มีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 7,300 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอีก 66,000 คน ประจำในวิทยาเขตหลักสามแห่ง ได้แก่ โรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา; แจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา, และฟีนิกซ์/สกอตส์เดล รัฐแอริโซนา) กล่าวในบทความเกี่ยวกับใยอาหารว่า ผู้หญิงควรพยายามกินใยอาหารอย่างน้อย 21-25 กรัมต่อวัน ในขณะที่ผู้ชายควรตั้งเป้าไว้ที่ 30-38 กรัมต่อวัน โดยผักหนึ่งถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) ให้ใยอาหารราว 8 กรัม นั่นหมายความว่า ถ้ากินผัก 4-5 ถ้วยแล้วจะได้ใยอาหารเกินมาตรฐานสำหรับผู้หญิง         ในกรณีที่กินผักผลไม้มากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้นนั้น Mayo Clinic กล่าวว่า ปริมาณที่แนะนำนั้นไม่ใช่ปริมาณสูงสุด คนที่ชอบผักและผลไม้ส่วนใหญ่กินใยอาหารมากกว่าที่แนะนำโดยไม่ได้รับผลเสียใดๆ ถ้าทยอยกิน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อกินมากกว่าที่กระเพาะรับไหวหรือเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มักแสดงออกในลักษณะของผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์คือ มีแก๊สในท้อง ท้องอืด และอาจท้องผูกอย่างรุนแรง         การกินใยอาหารมากเกินไปอาจทำให้ได้สารอาหารบางชนิดไม่พอได้ เนื่องจากใยอาหารมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารอื่นๆ บทความเรื่อง Does Dietary Fiber Affect the Levels of Nutritional Components after Feed Formulation ในวารสาร Fibers ของปี 2018 ได้ให้ข้อมูลว่า การบริโภคใยอาหารอาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งคุณสมบัติของใยอาหาร เช่น ความสามารถในการอุ้มน้ำจนรวมตัวเป็นก้อนส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการจับสารอาหารอื่น เกิดความหนืดและมีความเป็นวุ้นหรือเจลซึ่งเป็นการกักเก็บน้ำซึ่งส่งผลให้สารอาหารที่ละลายน้ำได้ติดอยู่กับใยอาหารซึ่งเคลื่อนตัวลงสู่ลำไส้ใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารต่างๆ ลดลง         มีประเด็นที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ใดที่ควรใส่ใจควบคุมปริมาณผักและผลไม้ให้พอเหมาะ โดยทั่วไปแล้วการกินอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้หรือ plant based diet ในภาพรวมนั้นช่วยให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ดี แต่อาหารที่มีพืชเป็นหลักนั้นบางประเภทอาจทำให้ผอมเกินไป ซึ่งหากเป้าหมายในการกินผักผลไม้คือ การลดน้ำหนัก สิ่งจำเป็นต้องควบคุมคือ สัดส่วนของผลไม้และผักที่มีแป้งและ/หรือน้ำมันที่ให้พลังงานสูง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง และถั่ว ดังนั้นแม้แต่อาหารเพื่อสุขภาพก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไปขึ้นได้         มีการแนะนำกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศว่า ประชาชนควรบริโภคอาหารให้ครบห้าหมู่ซึ่งรวมถึงการกินอาหารกลุ่มผักผลไม้ที่ให้ใยอาหาร อย่างไรก็ดีคำแนะนำนั้นยังขาดการให้ข้อมูลเชิงลึกว่า การกินผักหรือผลไม้นั้น ถ้ากินอะไรก็ได้ ทำให้ได้ผลเหมือนกันหรือไม่อย่างไร ข้อมูลพื้นฐานที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับใยอาหาร         ใยอาหาร หมายถึง ทุกส่วนของอาหารจากพืชที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยเป็นโมเลกุลเล็กได้ จึงไม่มีการดูดซึมอะไรเข้าสู่ระบบของร่างกาย ต่างจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จาก ข้าวสุก ขนมปัง เผือก มัน และน้ำตาลต่างๆ ส่วนความรู้สึกจากการเคี้ยวอาหารที่มีใยอาหารปริมาณสูงคือ ความกระด้างของอาหารที่เกิดขึ้น เปรียบได้ถึงความแตกต่างระหว่างการเคี้ยวข้าวสวยที่หุงจากข้าวขัดขาวและข้าวกล้อง (หรือข้าวซ้อมมือ)         ใยอาหารนั้นมีสองประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดี (soluble fiber) ซึ่งอุ้มน้ำและของเหลวในทางเดินอาหารจนมีลักษณะคล้ายวุ้น (ให้นึกภาพเม็ดแมงลักที่แช่น้ำแล้วพองตัว) ที่ถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้แก๊ซ ซึ่งมีความเป็นกรดไขมันระเหยง่ายที่ให้พลังงานแก่เซลล์ของลำไส้ใหญ่และอาจเหลือส่งไปสมอง ส่วนอีกประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดี (insoluble fiber) ซึ่งคงสภาพเกือบเหมือนเดิมแม้มีโมเลกุลของน้ำเกาะอยู่บ้างขณะเคลื่อนผ่านระบบทางเดินอาหาร และไม่ถูกย่อยเลยทั้งจากน้ำย่อยของมนุษย์และแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จึงถือว่า ไม่เป็นแหล่งพลังงาน         ผู้เขียนไม่ใช้คำว่า ละลาย แม้ว่าฝรั่งใช้คำว่า soluble กับ fiber เนื่องจากคำว่า ละลายนั้นทางเคมีแล้วมีความหมายประมาณว่า การที่สารกระจายตัวในตัวทำละลายอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้เกิดของเหลวที่ทุกตำแหน่งในภาชนะมีความเข้มข้นเท่ากัน เช่น เกลือแกงละลายน้ำ ส่วนใยอาหารนั้นเป็นแค่จับตัวกับโมเลกุลของน้ำได้ดีทางกายภาพจึงทำให้มองเห็นว่า พองขึ้นในน้ำ เช่นกรณีที่เมล็ดแมงลักพองตัวในน้ำ         สำหรับภาพรวมถึงประโยชน์ของใยอาหารคือ ทำให้รู้สึกอิ่มนานหลังมื้ออาหาร เนื่องจากใยอาหารที่อุ้มน้ำดีทำให้การย่อยอาหารช้าลง ในขณะที่ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีจะเข้าไปเติมเต็มพื้นที่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว ลดความเสี่ยงต่อหลายโรค เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมอื่นๆ         ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีมักลดการดูดซึมไขมันและช่วยควบคุมน้ำหนักซึ่งเข้าใจกันว่า ลักษณะวุ้นที่เกิดขึ้นนั้นมีความหนาและกระจายตัวออกไปรอบไขมันจึงชะลอหรือลดการย่อยและดูดซึม ประเด็นนี้รวมถึงลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้ในระดับหนึ่ง จึงเป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีช่วยรักษาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้คงที่ โดยชะลออัตราการย่อยคาร์โบไฮเดรตให้ช้าลงเช่นกัน         ประเด็นที่สำคัญมากคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีแทบทั้งหมดเป็นอาหาร (prebiotics) ของแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพ (probiotics) ในลำไส้ใหญ่ โดยผลที่ได้ออกมาคือ กรดไขมันระเหยได้ (volatile free fatty acids เช่น กรดน้ำส้ม กรดโปรปิโอนิค และกรดบิวทิริค) ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่         สำหรับใยที่อุ้มน้ำไม่ดี (ซึ่งหมายความว่า อุ้มน้ำบ้าง) นั้นมีบทบาทในการป้องกันอาการท้องผูกเพราะไม่ถูกแบคทีเรียย่อย จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อตัวเป็นอุจจาระที่มีความหนืดพอเหมาะไม่แข็งหรือเหลวเกินไป รวมถึงช่วยเพิ่มน้ำหนักของอุจจาระส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการขยับตัวของลำไส้ซึ่งเป็นการช่วยเร่งการกำจัดของเสีย (รวมถึงสารพิษที่ถูกขับออกมาจากตับทางน้ำดี) ในอุจจาระให้ออกจากร่างกาย เป็นการป้องกันการอุดตันของกากอาหารในทางเดินอาหารและลดอาการท้องผูก ซึ่งต่อเนื่องไปถึงการลดความเสี่ยงของโรคถุงบนผนังลำไส้ (diverticular disease คือ การเกิดกระเปาะหรือถุงโป่งยื่นออกมาทางด้านนอกของผนังลำไส้) ซึ่งอาจมีขนาดต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ และอาจมีกระเปาะเดียวหรือหลายกระเปาะได้  ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด         มักมีคำถามว่า ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด ประเด็นนี้คงตอบยากและคงไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ เพราะแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างเฉพาะตัว เช่น กรณีของโปรไบโอติกในลำไส้ใหญ่นั้นก็ตัวใครตัวมัน ดังนั้นถ้ากินใยอาหารได้เหมาะสมสิ่งที่สังเกตได้คือ การขับถ่ายอุจจาระเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ถ่ายแข็งหรือเหลวเกินไป ไม่ท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่ผายลมบ่อยนัก         อาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารที่อุ้มน้ำดีที่หากินได้ในบ้านเราเพื่อทำหน้าที่เป็นโปรไบโอติกนั้น เช่น แตงกวาทั้งสุกและดิบ ฟักทองสุก ถั่วดำปรุงสุก ถั่วแดงปรุงสุก แครอทปรุงสุก กระหล่ำดาวปรุงสุก ข้าวโอ๊ต มันหวานปรุงสุก (เช่น มันม่วง มันสีส้ม) ฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม เมล็ดทานตะวัน และอีกหลายชนิดที่ดูมีเนื้อนิ่ม         สำหรับคำแนะนำในการเพิ่มปริมาณใยอาหารในแต่ละมื้อสำหรับท่านผู้อ่านที่ถ่ายอุจจาระแล้วดูแข็งเกินไปคือ กินธัญพืชไม่ขัดสีซึ่งมีใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีสูง (ตามเหตุผลที่อธิบายข้างต้น) พร้อมทั้งพิจารณาอาหารที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ราวครึ่งจานในแต่ละมื้อ และถ้าเป็นไปได้ให้พยายามบริโภคผักและผลไม้ทั้งเปลือกถ้าพิจารณาแล้วไม่เสี่ยงต่อสารกำจัดศัตรูพืชและไม่ก่อความลำบากให้เหงือกและฟัน พร้อมทั้งค้นหาวิธีที่ดีในการปรุงอาหารที่สามารถเพิ่มผักเช่น ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด และผลไม้บางชนิดลงไปตามความเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ผลไม้ดอง อร่อยปาก ลำบากกาย

        ทุกท่านเคยสังเกตกันหรือไม่ว่า เวลาที่เกิดอาการง่วงนอนแต่ยังไม่สามารถล้มตัวลงนอนได้ อาจจะเนื่องด้วยกำลังทำงาน กำลังอ่านหนังสือเตรียมสอบลังขับรถลังประชุมหรือยังไม่ถึงเวลานอน เป็นต้น  ท่านใช้อะไรเป็นตัวช่วยเพื่อบรรเทาอาการเหล่านั้น           เชื่อไหมว่า หนึ่งในตัวช่วยที่เป็นที่นิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสุภาพสตรีก็คือ    “ผลไม้ดอง”   ด้วยรสชาติที่จัดจ้าน เปรี้ยวจัด  หวานจัด ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกตื่นตัวและสามารถปฏิบัติภารกิจได้ต่อไปแต่ทราบหรือไม่ว่าในความเปรี้ยวจัด หวานจัด อร่อยจัดของผลไม้เหล่านั้น อาจจะมีอันตรายแอบแฝงอยู่         จากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยของอาหาร พ.ศ. 2563 ของสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  พบการปนเปื้อนของกรดซาลิไซลิกในอาหารในเขต 13 (กรุงเทพมหานคร) มากที่สุด แล้วกรดซาลิไซลิกคืออะไร มีอันตรายกับร่างกายหรือไม่ อย่างไร เรามาหาคำตอบกัน  กรดซาลิซิลิค (salicylic acid)  หรือ สารกันรา   มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว  ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องสำอางและยาบางชนิด   เนื่องจากสารมารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดี  สารกันราในอาหาร มักพบใน ผักดอง ผลไม้ดอง เพื่อให้ผักหรือผลไม้ดองมีสีสรรสดใสน่ารับประทานไม่เกิดเชื้อราสามารถเก็บไว้รับประทานได้นานกว่าปกติ   ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 พ.ศ.2536 กำหนดให้กรดซาลิซิลิค เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหารซึ่งสารป้องกันเชื้อราหรือสารกันบูดเหล่านี้เมื่อรับประทานและเข้าไปสะสมในร่างกายมาก ๆ จะไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ บางรายอาจเกิดอาการแพ้เป็นผื่นขึ้นตามตัว อาเจียน หูอื้อ หรือมีไข้ ร่วมด้วย  ถ้าร่างกายได้รับจนมีความเข้มข้นของกรดซาลิไซลิกในเลือดประมาณ 25-35 มิลลิลิตรต่อเลือด 100 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดการอาเจียน ปวดท้อง เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ความดันโลหิตต่ำจนเกิดอาการช็อคและอาจเสียชีวิตได้          ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ผู้บริโภคควรหันมารับประทานผลไม้สดที่ปลูกด้วยวิธีการธรรมชาติโดยไม่มีสารเคมีเจือปน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรล้างทำความสะอาดผลไม้สดอย่างดีก่อนบริโภค เพื่อลดการปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลง  หากอยากรับประทานผลไม้ดองจริงๆ อาจดองรับประทานเอง  เพราะนอกจากจะอิ่มท้อง ปลอดภัยต่อสุขภาพแล้วยังสามารถต่อยอดสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้อีกด้วย แต่ถ้าไม่สะดวกควรเลือกซื้อผลไม้ดองที่บรรจุในภาชนะที่มีรายละเอียดบนฉลากครบถ้วน ทั้ง ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต ส่วนประกอบและที่สำคัญ อย่าลืมตรวจสอบด้วยว่ามีเลขที่อนุญาตแสดงในเครื่องหมาย อย.ด้วยหรือไม่ หากพบเห็นฉลากไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ขอให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้ตัวท่านเพื่อติดตามตรวจสอบต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2566

พบจุลินทรีย์เกินมาตรฐาน ใน “ก๋วยเตี๋ยวเรือสำเร็จรูป”        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดผลทดสอบก๋วยเตี๋ยวเรือสำเร็จรูปร่วมกับทางสาธารณสุข จ.นนทบุรี พบตัวอย่างอาหารบรรจุถุงพลาสติกสีแดงฉลากระบุว่า “เลอรส” เครื่องหมายการค้าจดทะเบียน ก๋วยเตี๋ยวเรือเส้นเล็ก โดยเลขสารบบอาหาร 12-2-01765-6-0002 วันผลิต 01/02/23 และวันหมดอายุ 01/05/23 พบจุลินทรีย์เกิดโรค Bacillus cereus  6,600 CFU/กรัม ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 416) พ.ศ. 2563 พ.ร.บ. พ.ศ.2522 ได้กำหนดให้ Bacillus cereus ในเครื่องปรุง ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ได้ไม่เกิน 1,000 CFU/กรัม ถือว่าเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ต่อมาทางบริษัทก๋วยเตี๋ยวเรือเลอรสได้ออกมาชี้แจงผ่านทางเฟซบุ๊กว่า “ก๋วยเตี๋ยวเรือกึ่งสำเร็จรูป เส้นเล็ก”ดังกล่าวได้มีการให้ทาง อย. อายัดล็อตดังกล่าวแล้วและไม่นำออกมาจำหน่ายอีก หิ้วผลไม้เข้าไทย มีโทษปรับ 2 หมื่น-คุก 1 ปี        กรมวิชาการเกษตร แจ้งถึงการนำเข้าผลไม้สดเข้ามายังประเทศไทย ระบุหากไม่สำแดงใบรับรองสุขอนามัยพืชผ่านเข้ามายังประเทศไทยในทุกช่องทางจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 (และแก้ไขเพิ่มเติมมีโทษทั้งจำและปรับ)         อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า ขอแจ้งเตือนถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับเข้าประเทศให้ระวังการกระทำดังกล่าว ซึ่งอาจจะไม่ได้มีเจตนากระทำผิดเพราะหากมีการตรวจพบจะถูกดำเนินการตามกฎหมายมีโทษทั้งจำและปรับและสินค้าจะทำการยึดเพื่อไปทำลายตามกฎหมายกักพืช ที่ผ่านมาพบว่า นักท่องเที่ยวมักจะซื้อตามคำแนะนำของไกด์นำเที่ยว จึงฝากให้ประชาชนระมัดระวังเพื่อไม่ต้องเสียเงินกับสินค้ากลุ่มนี้และฝ่าฝืนจะมีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 21 จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เตือนซื้อตั๋วรถไฟนอกระบบ เสี่ยงถูกโกง         นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้แจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบต่างๆ โดยมีการนำตั๋วรถไฟปลอมมาจำหน่ายหรือมีการเปิดรับจองตั๋ว การให้โค้ดจองหรือการซื้อขายตั๋วโดยสารนอกระบบ ซึ่งจะทำให้เสียทั้งทรัพย์และเวลา โดยไม่สามารถเดินทางได้จริง ที่ผ่านม พบว่ามีประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นผู้โดยสารได้ซื้อตั๋วมาทางเฟซบุ๊ก  ดังนั้นการรถไฟฯ จึงขอเตือนให้ทุกคนระวังการซื้อตั๋วจากคนภายนอกหรือสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ใช่ของการรถไฟฯ โดยตรง เพราะอาจเป็นตั๋วที่ปลอมแปลงขึ้นมา และระวังอย่าหลงเชื่อบุคคลที่แอบอ้างเป็นพนักงานการรถไฟฯ และนำตั๋วไปขายต่อเพราะถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย เปิดสถิติอุบัติเหตุบนถนนคร่าชีวิต "ผู้สูงวัย"         เปิดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนไตรมาสแรกไทย พบ กทม.เกิดเหตุสูงที่สุด ช่วงเวลาก่อน 6 โมงเช้า เหตุคนต้องรีบออกจากบ้านเดินทางไปทำงาน ขณะที่ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากท้องถนนเกือบหมื่น บาดเจ็บร่วม 2 แสน         ไทยพีบีเอสออนไลน์เปิดสถิติจาก ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนระบุว่า ในรอบ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564 ) ที่ผ่านมา มีผู้ประสบภัยในช่วงอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 9.43 จากจำนวนประชากรทั้งหมดที่เสียชีวิต 44,810 คนและบาดเจ็บ 1,945,345 คน เมื่อพิจารณาเฉพาะสัดส่วนผู้ประสบภัยที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป พบว่าในช่วง 5 ปี เสียชีวิต 7,526 คน บาดเจ็บ 179,978 คน ส่วนใหญ่เป็นคนขับยานพาหนะนั้นๆ สูงถึงร้อยละ 7.71 รองลงมาคือผู้โดยสารร้อยละ 1.22 และบุคคลอื่นๆ ร้อยละ 0.5         ข้อมูลจากกลุ่มพัฒนานโยบายและสารสนเทศการบาดเจ็บจราจร กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค เรื่อง "คนเดินเท้าเสียชีวิตในประเทศไทย" ช่วง 1 ม.ค. - 2 เม.ย. 2566 พบผู้เสียชีวิตสูงถึง 60 คน พาหนะที่ชนมากที่สุดคือรถยนต์และรถกระบะ โดยช่วงเวลาเกิดเหตุมากที่สุดคือ 03.00-05.59 น. เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนพลุกพล่านทั้งเพื่อให้ทันเวลาเข้างานในช่วงเช้า รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่คนเดินเท้าเดินทางไปขึ้นรถเมล์หรือรถสาธารณะหรือออกไปซื้อของที่ตลาดหรือไปออกกำลังกายในตอนเช้า ทำให้ผู้เดินเท้าอาจขาดการประเมินความเสี่ยงและคาดการณ์อุบัติเหตุ ไม่ระมัดระวังในการเดินข้ามถนนหรือเดินในบริเวณที่ไม่ได้จัดให้คนเดินเท้าใช้ในการสัญจร ไม่ว่าจะเป็นทางแยก ทางข้าม หรือทางม้าลาย จึงทำให้ถูกพาหนะที่วิ่งบนถนนชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกระตุ้นรัฐให้ความสำคัญการโดยสารรถสาธารณะปลอดภัย         11 เมษายน พ.ศ.2566  นางนฤมล เมฆบริสุทธ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ กล่าวว่า จากประเด็นข่าวเผยแพร่ถึงเหตุการณ์ที่เจ้าของบริษัททัวร์บังคับให้คนขับรถ ขับรถไป-กลับ ระหว่าง ชัยภูมิ-กรุงเทพฯ เป็นจำนวน 3 รอบติดกันโดยไม่ได้พักนั้น น่ากังวลว่า ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่จะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเดินทางกลับต่างจังหวัดจำนวนมากอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนจนเกิดอันตรายทั้งผู้โดยสารและรถที่อยู่บนท้องถนน ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้ายแรงเพราะสร้างผลกระทบไม่ใช่แค่ผู้ประสบเหตุแต่กระทบไปถึงครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุคคลสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีมาตรการการลงโทษกับผู้ประกอบการเพื่อมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ เนื่องจากในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาวทั้งในช่วงสงกรานต์ และรวมไปถึงช่วงเดือนพฤษภาคม อาจจะมีการฉวยโอกาสกระทำแบบเดิมเพราะเป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีความต้องการใช้บริการรถโดยสารในการเดินทาง รวมถึงกรณี รถผี รถเถื่อน หรือรถที่ไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขนส่งแต่ผู้ประกอบการนำมาใช้ในการให้บริการกับผู้บริโภค         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง ในการตรวจจับรถที่ผิดกฎหมายเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาและเสนอให้ผู้ประกอบการรถโดยสาร เพิ่มจำนวนรถและกำลังคนขับเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ผลสำรวจฉลากเยลลี่พร้อมดื่ม

        เยลลี่เหลวที่บรรจุในถุงพร้อมดื่ม มีทั้งที่ระบุว่าเป็น “ขนมเยลลี่คาราจีแนน” “ขนมเยลลี่คาราจีแนนและบุก” “วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนน” หรือ“วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนนแบบผสมบุกผง” ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้อิ่มท้อง จนหลายคนเลือกดื่มเยลลี่เหลวแบบนี้เพื่อควบคุมน้ำหนัก เพราะอร่อย หาซื้อง่ายและราคาถูก         ข้อมูลจากเอซี นีลเส็น (AC Nielsen) เผยว่า “ตลาดเยลลี่พร้อมดื่ม” มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยอยู่ที่ 9% ซึ่งสอดคล้องกับภาพที่เรามักเห็นเยลลี่พร้อมดื่มหลายสูตรและหลายรสชาติ วางเรียงอยู่ในตู้แช่ของร้านสะดวกซื้ออย่างละลานตา ชนิดที่ว่าเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว ในปัจจุบันผู้ผลิตยังแข่งกันชูจุดขายด้านสุขภาพและความงาม โดยเน้นเป็นสูตรน้ำตาลน้อย แคลอรีต่ำและยังพ่วงผสมวิตามินต่าง ๆ คอลลาเจน ไฟเบอร์และสารอาหารอื่นๆ เพิ่มเข้าไปด้วย        นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มจำนวน 22 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 มาสำรวจฉลากแสดงส่วนประกอบและฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกชื้อได้ถูกปาก ปลอดภัยและคุ้มค่า         ผลการสำรวจฉลากในส่วนประกอบ พบว่า        1.สัดส่วนของปริมาณน้ำผลไม้ มากที่สุดคือ 30 % มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ คอลลาเจน , วิตามิน A ,C, E และแบล็คเคอร์แร้นท์ น้อยที่สุดคือ 8% มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A, วิตามินรวมและวิตามิน C+B        2.วัตถุกันเสีย 18 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้  ( คิดเป็น 81.82 % ของตัวอย่างทั้งหมด )  และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิม, กลิ่นแอปเปิ้ล ฮันนี่ และบลู วิตามิน เยลลี่    ส่วนเจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ระบุไว้ชัดเจนว่า”ไม่ใช้วัตถุกันเสีย”         3.วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  19 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้ (คิดเป็น 86.36% ของตัวอย่างทั้งหมด) และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E และนูริช เมท แอลคาร์นิทีนและคอลลาเจน         ในส่วนฉลากโภชนาการ (ปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภค) พบว่า        1.พลังงาน มากที่สุดคือ 60 กิโลแคลอรี มี 5 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ,เซ็ปเป้บิวติเจลลี่  คอลลาเจน , กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ , นูริช เมท ฝรั่งชมพูและแอลคาร์นิทีน ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือ 20 กิโลแคลอรี        2.น้ำตาล มากที่สุด 14 กรัม คือ กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ มีน้อยที่สุด 3 กรัม คือ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E        3.โซเดียม มากที่สุดคือ 75 มิลลิกรัม ได้แก่ ซี-วิต เยลลี่ รสส้มและรสเลมอน น้อยที่สุดคือ 10 มิลลิกรัม ได้แก่ เจเล่ ไลท์ เฟรช์ชี่ กลิ่นสตรอเบอรี่และกลิ่นบลูเบอร์รี่ ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A และเซ็ปเป้บิวติเจลลี่ ไฟเบอร์ ระบุว่าไม่มี           เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า แพงที่สุดคือ 0.12 บาท (8 ตัวอย่าง) ถูกที่สุดคือ 0.06 บาท (2 ตัวอย่าง)   ข้อสังเกต        - น้ำองุ่นขาว (จากองุ่นขาวเข้มข้น) เป็นน้ำผลไม้ที่นิยมใช้ในส่วนประกอบมากที่สุด (17 ตัวอย่าง)          - เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิมและกลิ่นแอปเปิ้ลฮันนี่ ระบุคำเตือนถึงผู้ที่มีสภาวะฟินิลคีโตนูเรียไว้ว่า  ผลิตภัณฑ์มี “ฟินิลอลานีน”         - เจเล่ เยลลี่ บิวตี้  วิตามินซี ระบุว่าไม่ใช่อาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก        - 9 ตัวอย่าง มีปริมาณน้ำตาลต่อ 1 หน่วยบริโภค ตั้งแต่ 10 -14 กรัม ใน 1 วัน เราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 24 กรัม ดังนั้นถ้าเราดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาล 14 กรัมต่อถุง ไป 2 ถุง เราก็จะได้รับน้ำตาลมากเกินไป ยังไม่นับว่ารวมถึงอาหารอื่นๆ ที่รับประทานในหนึ่งวันด้วย  ฉลาดซื้อแนะ        - หากต้องการลดน้ำหนัก ควรพิจารณาฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง เพราะเยลลี่แต่ละยี่ห้อดื่มแล้วอิ่มท้องพอกัน แต่หากเผลอเลือกดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาลสูง อาจยิ่งเพิ่มความอ้วนได้        - ไม่ควรดื่มเยลลี่แทนมื้ออาหารหลักเพื่อลดน้ำหนัก เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้        - จากตัวอย่างเยลลี่พร้อมดื่มส่วนใหญ่ใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล จึงไม่ควรดื่มปริมาณมากๆ บ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดการสะสมของสารสังเคราะห์เหล่านี้ จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้        -ในแต่ละวัน ถ้าเราได้รับวัตถุกันเสียในปริมาณน้อย ร่างกายจะสามารถกำจัดออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ แต่หากได้รับในปริมาณมากทุกวัน ตับและไตจะต้องทำงานหนักขึ้น และหากกำจัดออกไปไม่หมด ก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของตับและไตในการกำจัดสารเคมีเหล่านี้ลดลง และอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่อตับและไตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการใส่วัตถุกันเสียหรือบริโภคแต่น้อย น่าจะดีต่อสุขภาพที่สุด        -ผู้บริโภคที่แพ้ปลา ควรหลีกเลี่ยงเยลลี่พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนจากปลา        -หากเคยดื่มเยลลี่แล้วมีอาการปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน ให้สันนิษฐานว่ากระเพาะอาหารของคุณอาจไวต่อคาราจีแนน ทั้งนี้จากผลศึกษาเปรียบเทียบ 45 รายการโดยศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐ (National Center for Biotechnology Information: NCBI) เมื่อปี 2001 สรุปว่าการกินคาราจีแนนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อมะเร็งระบบทางเดินอาหารและลำไส้อักเสบ ข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อฉบับที่ 158 เยลลี่ กับสารกันบูดhttps://consumerthai.org (เรื่อง ปลอดภัยไหม..เมื่อต้องกินอาหารที่แถมสารกันบูด)https://www.thansettakij.com/business/marketing/539834https://brandinside.asia/jelly-for-beauty-and-healthy/https://waymagazine.org (เรื่อง คาร์ราจีแนน ภัยเงียบในกระเพาะอาหาร)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 กระแสต่างแดน

รู้ว่าเสี่ยง        เป็นที่รู้กันว่าใครที่ไว้ผมหรือสวมใส่เสื้อผ้าในสไตล์ที่ “ผิดระเบียบ” ไปจากที่ทางการของเกาหลีเหนือกำหนด อาจถูกตำรวจควบคุมตัว สอบปากคำ ทุบตี หรือแม้แต่จับเข้าคุก         แต่ปัจจุบันเกาหลีเหนือยังไม่ประสบความสำเร็จในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าเทปรายการทีวีหรือภาพยนตร์จากต่างประเทศ จึงมีคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบในสิ่งที่พวกเขาได้เห็น และเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเองผ่านทรงผมและเสื้อผ้าการแต่งกายแบบ “ชาวต่างชาติ”         ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถ้าดูจากจำนวนเรือนจำและค่ายกักกันแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนคนที่กล้าเสี่ยงกระทำ “อาชญากรรมแฟชั่น” เช่น แต่งหน้า ทำสีผม สวมกางเกงยีนส์ หรือเลกกิ้งแนบเนื้อ นั้นมีมากขึ้นนั่นเอง          ผู้กล้าเหล่านี้รู้ดีว่าตนเองเสี่ยงต่อการถูกตำรวจถ่ายคลิปไปประจานในสถาบันการศึกษา ถูกจับกุมและบังคับให้เขียนคำสารภาพ หรืออาจได้ของแถมเป็นการถูกส่งตัวไปทำงานสร้างถนนในพื้นที่ห่างไกลด้วย ปรับปรุงด่วน        รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เล็งจัดการกับผู้ให้บริการ “จัดส่งด่วน” ภายในในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ หลังการสืบสวนพบว่าบริษัทเหล่านี้ทำผิดกฎหมายแรงงานซ้ำซาก และพนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์ไม่มีความรู้เรื่องพื้นฐาน เช่น ชั่วโมงทำงาน ชั่วโมงพัก หรือแม้แต่การตรวจเช็คใบอนุญาตทำงานของคนต่างชาติ         รายงานระบุว่าสถานที่ที่ใช้เป็น “ศูนย์กระจายสินค้า” ที่บรรดาไรเดอร์มารวมตัวรอรับสินค้าออกไปส่ง มักเป็นอาคารเก่าที่มีสภาพทรุดโทรมเกินว่าที่จะใช้เป็นโกงดังเก็บสินค้าด้วยซ้ำ สภาพแวดล้อมนี้เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของคนทำงาน         ความคาดหวังในเรื่องความเร็ว ยังทำให้ไรเดอร์เสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือการทะเลาะวิวาทระหว่างทาง ยังไม่นับน้ำหนักของเป้ขนาดใหญ่ที่ต้องแบก         เขายังพบว่าไรเดอร์บางส่วนรับงานโดยไม่มีสัญญาจ้าง พวกเขาจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเมื่อเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ และคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษาดัทช์ ก็รับงานโดยไม่มีความเข้าใจกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ด้วย  เปิดปุ๊ปหลอกปั๊บ        โควิด-19 ในอังกฤษอยู่ในช่วงขาลง แต่ที่กำลังไต่ระดับขึ้นมาอย่างรวดเร็วในขณะนี้คือ “โรคระบาด” ชนิดใหม่ที่สื่ออังกฤษเรียกรวมๆ ว่า “ฮอลลิเดย์ สแกม”         เมื่อผู้คนเริ่มค้นหา “ข้อเสนอดีๆ” จากโรงแรม สายการบิน หรือบริษัททัวร์  มิจฉาชีพที่จับจ้องความเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่ก็ปล่อย “โฆษณาปลอม” ที่ดูเหมือนมาจากผู้ประกอบการตัวจริง เข้ามาทางโซเชียลมีเดียหรือเว็บค้นหา พร้อมให้ลิงก์เพื่อคลิกเข้าไปจองและจ่ายเงิน           จากสถิติที่เปิดเผยโดยธนาคาร Lloyds Bank การถูกหลอกให้จองตั๋วเครื่องบินจาก “เว็บปลอม” ทำให้ผู้บริโภคสูญเงินเฉลี่ยคนละ 3,000 ปอนด์  ตามด้วย “แพ็คเก็จทัวร์ปลอม” ที่หลอกเอาเงินจากผู้เสียหายไปได้เฉลี่ยรายละ 2,300 ปอนด์  “ที่พักปลอม” ก็ไม่น้อยหน้า หลอกต้มเอาเงินคนอังกฤษไปได้รายละ 1,200 ปอนด์ ในขณะที่การเช่า “รถบ้านปลอม” นั้น เกิดขึ้นบ่อยที่สุด แม้จะสูญเงินต่อรายเพียง 374 ปอนด์ก็ตาม         ธนาคารแนะนำให้จ่ายเงินผ่านบัตรเดบิตหรือเครดิต หากปลายทางยืนยันให้โอน ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ ไม่ต้องห่อ        กรีนพีซไต้หวันเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎจำกัดการใช้วัสดุพลาสติกในการห่อหุ้มผัก ผลไม้สด ซึ่งมีการจำหน่ายถึงปีละ 100 ล้านชิ้น         จากการสำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง กรีนพีซพบว่าร้อยละ 90 ของสินค้าสดที่จำหน่ายในไต้หวัน ล้วนถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง         ในปี 2021 มีสินค้าจาก 10 หมวด (เช่น ไข่ ผัก ผลไม้ น้ำดื่มบรรจุขวด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) ถูกจำหน่ายออกไปถึง 1,800 ล้านชิ้น ทำให้มีพลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะถึง 15,000 ตัน            ตัวเลขจากการคำนวณระบุว่า ถ้าลดการห่อหุ้ม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้) หรือใช้วัสดุที่ใช้ซ้ำได้ หรือแม้แต่ขอให้ลูกค้านำถุงมาเอง ไต้หวันจะลดขยะชนิดนี้ลงได้มากกว่าครึ่ง  รัฐบาลจึงควรเร่งหาแนวทางที่อ้างอิงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มาช่วยให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายผัก ผลไม้สด ได้โดยไม่ช้ำและไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่บ้านทำไม่ได้        เมื่อชายแดนกลับมาเปิดตามปกติ ผู้คนที่ยะโฮร์บาห์รู ในมาเลเซีย ก็ปลื้มที่ได้เปิดร้านค้า ร้านอาหาร รองรับลูกค้ากระเป๋าหนักจากสิงคโปร์อีกครั้ง         แต่จะไม่ถูกใจก็ตรงที่คนสิงคโปร์มา “ฉวยโอกาส” เติมน้ำมัน RON-95 ในราคาลิตรละ 2.05 ริงกิต กลับไปด้วย (น้ำมันชนิดเดียวกันที่สิงคโปร์ ราคาลิตรละ 9.30 ริงกิต)         การกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะน้ำมันชนิดดังกล่าวได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และสงวนไว้จำหน่ายให้กับคนในประเทศเท่านั้น ปั๊มที่จำหน่าย RON-95 ให้กับคนต่างชาติมีโทษปรับสูงสุดถึงสองล้านริงกิต และรัฐบาลสิงคโปร์ก็ห้ามไม่ให้รถที่มีน้ำมันไม่ถึงร้อยละ 75 ในถัง ข้ามแดนมายังมาเลเซีย         นอกจากนี้คนมาเลเซียยังหงุดหงิดกับแก๊ง “รถซิ่ง” จากสิงคโปร์ ที่ยกพวกกันมายืดถนนขับแข่งกันในบ้านของเขา ที่สำคัญคือคนสิงคโปร์เข้ามาทำผิดกฎจราจรมากมายบนท้องถนนมาเลเซีย แล้วก็เหนียวหนี้ไม่จ่ายค่าปรับ ปัจจุบันมีใบสั่งที่ค้างจ่ายจากคนสิงคโปร์อยู่ถึง 108,750 ใบ   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ส่งผลไม้กับบริษัทขนส่ง คนสั่งไม่ได้กินเพราะเหลือแต่เปลือกอยู่ในกล่อง

        การสั่งผลไม้จากสวนเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง และยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกร รายได้ก็เข้าเกษตรกรโดยตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าแม่ค้าคนกลาง เพียงแต่การส่งสินค้าจำต้องใช้บริการของบริษัทขนส่งต่างๆ เพื่อให้สินค้าถึงมือผู้บริโภค        ภูผา เป็นเจ้าของสวนมังคุดชื่อดังย่านประจวบคีรีขันธ์ เขาส่งมังคุดให้ลูกค้า จำนวน 4 กล่อง โดยใช้บริการขนส่งของ บริษํทขนส่งเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาลูกค้าของเขาแจ้งมาว่า ได้รับสินค้าแล้ว แต่ว่ากล่องมังคุดที่ส่งมาชำรุด และพบว่าเหลือแต่เปลือกมังคุดอยู่ในกล่อง เขาจึงให้ลูกค้าถ่ายรูปกล่องที่ชำรุดและเปลือกมังคุดมาให้เขา เมื่อได้รับหลักฐานจากลูกค้าแล้ว ภูผาจึงสอบถามไปยังบริษัทฯ  ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต้องการความรับผิดชอบ แต่ทางบริษัทฯ ตอบเขามาว่าจะชดเชยให้เฉพาะค่าสินค้าที่ได้รับความเสียหายตามจริงเท่านั้น ไม่รับผิดชอบค่าขนส่ง เขาจึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้าง  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ แนะนำว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายตามมูลค่าของสินค้า ตลอดจนค่าขนส่ง ค่าเสียโอกาส และสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเยียวยา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยทางฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทคู่กรณีคุณภูผา เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคตามสิทธิอันพึงมี           ต่อมาทางบริษัทขนส่งคู่กรณีทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมายังมูลนิธิฯ และเสนอชดเชยค่าสินค้าและค่าบริการขนส่งให้ผู้ร้องตามที่เสียหายจริง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,482 บาท ซึ่งคุณภูผายอมรับตามข้อเสนอของทางบริษัทฯ แต่ก็รู้สึกว่าทำไมต้องให้เสียเวลาใช้สิทธิในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วผู้บริโภคก็ควรได้รับการคุ้มครองทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ตลาดถนอมมิตร กับแนวคิดอาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน

        เทรนด์กินรักษ์โลกยังมาแรง แต่ผู้บริโภคบางคนอาจหมดแรงซะก่อน เพราะหากเดินตามตลาดสดทั่วๆ ไป การหาซื้อผักและผลไม้สดปลอดสารเคมี เนื้อหมูไม่ใส่สารเร่งเนื้อแดง หรืออาหารทะเลสดๆ ไม่มีสารโลหะหนักปนเปื้อน ที่มีมาตรฐานการผลิตปลอดภัยจริงๆ ในราคาสมเหตุสมผลนั้น คงจะเหนื่อยหน่อย             ฉลาดซื้อรู้จักรู้ใจผู้บริโภคดี ฉบับนี้จึงพามาที่ ตลาดถนอมมิตร ตลาดสดยุคใหม่ย่านวัชรพล ในกรุงเทพฯ ซึ่งที่นี่มีพ่อค้าแม่ค้าเปิดร้านขายวัตถุดิบอาหารออร์แกนิกคุณภาพดี มีให้เลือกหลากหลาย ในราคาที่ชาวบ้านอย่างเราๆ จ่ายได้ โดยเป็นผลงานการบริหารของคุณศุภกร กิจคณากร กรรมการผู้จัดการตลาดถนอมมิตร เจ้าของตลาดที่ตั้งใจบริการให้ลูกค้าเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้สะดวก พร้อมทั้งสนับสนุนให้พ่อค้าแม่ค้าและผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิกให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างเข้มแข็งด้วยการทำร้านค้าออร์แกนิกในตลาดถนอมมิตรมีจุดเริ่มต้นอย่างไร         จริงๆ ทางเราก็ตั้งใจมานานมากแล้วที่จะหาสินค้าที่มีคุณภาพเข้ามาให้บริการกับลูกค้า แต่อย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ เราเป็นเจ้าของสถานที่ เราไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้าที่นำมาขาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราพยายามที่จะส่งเสริมผู้ค้าที่ขายสินค้าอยู่ในตลาด โดยชี้ช่องให้เขาเห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแล้วนะ ทัศนคติ มุมมองของลูกค้าที่มองหาสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยมีมากขึ้นเรื่อยๆ นะ ลูกค้าอาจจะยอมจ่ายแพงกว่าสินค้าเดิมทั่วไปนิดหน่อยได้นะ เราก็ค่อยๆ รวมกลุ่มผู้ค้า แล้วก็พยายามเสาะหาผู้ค้าใหม่ที่มีสินค้าตรงตามแนวทางที่เราตั้งใจไว้ให้เข้ามาด้วย มีวิธีคัดเลือกและควบคุมคุณภาพร้านค้าในตลาดอย่างไร         ทางตลาดของเราค่อนข้างให้ความสำคัญในการคัดเลือกผู้ค้าที่จะเข้ามาขายสินค้าในตลาด เรามีการพูดคุยสัมภาษณ์กันก่อนว่าขายสินค้าอะไร ขายราคาเท่าไหร่ มาขายเองไหม หรือจ้างลูกจ้างมา เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่มาขายนั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีราคาสมเหตุสมผล แล้วที่สำคัญก็คือเรื่องของการให้บริการที่เราค่อนข้างที่จะกำชับกับผู้ค้าว่า ไม่ใช่เอาลูกจ้างต่างด้าวมาปล่อยแล้วก็มาเก็บเงินอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้ทางเราก็จะไม่ให้เข้ามาตั้งแต่แรก         เรายังเน้นเรื่องความสะอาดมากๆ ด้วย เรามีเจ้าหน้าที่หลายคนเดินตรวจตลาดอยู่ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด-19 ทางตลาดก็เข้มงวดเรื่องของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นสวมหมวก ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ทำความสะอาดแผงค้า และสินค้าปรุงสำเร็จต้องมีภาชนะคลุม นี่ก็เป็นสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด ทำไมถึงมีแนวคิดว่าควรมีร้านออร์แกนิคในตลาดสด         เราเองก็มองเห็นปัญหาเรื่องของอาหารที่ไม่ปลอดภัยมาตลอด เราโตมากับการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐเรื่องของยาฆ่าแมลง เรื่องการจับปลาฤดูวางไข่ อะไรพวกนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนก็รู้แหละ แต่ว่าเราไม่มีทางเลือกไง แล้วจะให้ทำยังไง โดยเฉพาะตลาดขายปลีกนี่ยิ่งไม่มีทางเลือกเข้าไปใหญ่เลย เพราะว่าผู้ค้าเราก็จะไปรับมาจากตลาดขายส่ง ซึ่งก็จะว่ากันด้วยเรื่องของราคากับคุณภาพสินค้า แม้ภาครัฐจะพยายามรณรงค์เรื่องยาฆ่าแมลง อะไรต่อมิอะไร แล้วก็มาจับที่ตลาดค้าปลีก เพราะง่ายดี ก็มาตรวจที่ตลาดค้าปลีก เราก็บอกว่าทำไมไม่ไปจับที่ต้นทาง ก็เป็นปัญหาวังวนอยู่อย่างนี้         แล้วก็มีเทรนด์เรื่องการตื่นตัวของกลุ่มเกษตรกรด้วย ที่ต้องการปลูกสินค้าคุณภาพไว้บริโภคเองส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็มาขาย โดยจะรวมกลุ่มกันมาขายเป็นหมู่คณะ แต่ที่ชัดเจนคือ คนปลูกกับคนขายไม่เจอกัน จะมีช่องว่างตรงนี้ คือคนปลูกก็ไม่รู้จะไปขายใคร คนซื้อก็ไม่รู้จะซื้อที่ไหน เราก็เห็นว่าตรงนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของเจ้าของตลาดสดที่จะเข้ามาเติมช่องว่างตรงนี้ให้ได้ ก็คือเป็นที่ที่ผู้ปลูกมาขายให้กับแม่ค้าภายในตลาด แล้วแม่ค้าก็ขายให้กับลูกค้าที่เขาต้องการสินค้าลักษณะนี้         แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะว่ากว่าจะปรับ กว่าจะแนะนำให้รู้จักกัน กว่าจะเข้าถึงสินค้าประเภทนี้ กว่าเกษตรกรจะมาเจอกับผู้ขายในตลาดได้ เราทำมาจนถึงทุกวันนี้ก็น่าจะเกือบ 10 ปีแล้ว ลูกค้าให้การตอบรับดีไหม         ดีครับ เรามีลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากพอสมควร เพราะลูกค้าที่เขาเลือกที่จะบริโภคสินค้าลักษณะนี้ เขามีความต้องการที่ชัดเจน เขาต้องศึกษามาแล้วว่าสินค้าที่มีคุณภาพจริงๆ เป็นอย่างไร น่าเชื่อถือแค่ไหน แล้วราคาควรจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งปัญหาที่ทางตลาดเจอคือ คนมักจะเข้าใจผิดว่า สินค้าออร์แกนิกต้องแพง แต่จริงๆ แล้วถ้าเราบริโภคตามฤดูกาล แล้วก็มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ ไม่ได้ผ่านมาหลายต่อ ผักออร์แกนิกไม่ได้แพงกว่าผักเคลือบสารเคมีเท่าไหร่เลย หากซื้อมาเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน ส่วนต่างตรงนี้ไม่กี่เปอร์เซนต์หรอก ในฐานะเจ้าของตลาดมองเรื่องอาหารปลอดภัยในบ้านเราอย่างไร         เรื่องอาหารปลอดภัยนี้ก็เป็นโจทย์ที่ยังต้องช่วยกันอย่างมาก เพราะว่าซัพพลายที่เข้ามาอยู่ในตลาดนั้นเป็นสัดส่วนที่แทบจะเทียบกันไม่ได้เลย ระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตผักที่เรารู้กันอยู่ กับผักคุณภาพที่มีเสนอให้ผู้บริโภค ซึ่งปัญหาตรงนี้ก็ต้องเข้าใจว่าเกษตรกรที่เขาปลูกผักหรือเลี้ยงสัตว์ที่ปลอดภัย เขาก็ต้องเจอปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคา การเข้าไม่ถึงแหล่งผู้ซื้อได้โดยตรง ยิ่งเป็นของสดนี่จะรอให้ค่อยๆ หาคนมาซื้อก็ไม่ได้ แล้วบางครั้งยังออกมาพร้อมๆ กันอีก เพราะฉะนั้นผมมองว่าเรื่องการบริหารจัดการที่ดี ตรงนี้ยังเป็นปัญหาอยู่         ในฐานะเจ้าของตลาด เราก็อยากให้มีสินค้าดีๆ มาขาย แต่ปัญหาก็คือ เราเองก็ยังเข้าไม่ถึงเกษตรกรกลุ่มนั้น แล้วการที่เขาจะนำสินค้ามา หรือผู้ค้าในตลาดเราจะเข้าไปซื้อของเขา การเชื่อมต่อจุดต่างๆ นี่ก็ยังขาดๆ หายๆ อยู่ ในขณะเดียวกันก็มีของที่ราคาถูก รูปลักษณ์สวย มีให้กินทุกฤดูกาล ในราคาที่ไม่แพง ก็ซ้ำเข้ามาอีก ฉะนั้นการที่จะทำให้อาหารทางเลือกที่ปลอดภัยสามารถยืนได้อย่างแข็งแรง เราต้องช่วยกัน ผู้บริโภคเองก็ต้องเข้าใจจุดนี้ด้วย วางแผนจัดการร้านค้าออร์แกนิกในตลาดต่อไปอย่างไร         ตอนนี้ร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกในตลาดเราก็อยู่ได้มั่นคง ซึ่งเป้าหมายต่อไปคือ เราจะขยายกลุ่มผู้ค้าที่ขายสินค้าออร์แกนิกภายในตลาดให้มากขึ้น เราวางแผนไว้แล้ว อย่างเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เราได้ประชุมร่วมกับทางมูลนิธิชีววิถี พี่เขาก็พากลุ่มเกษตรกรที่ปลูกออร์แกนิกมาสองกลุ่มใหญ่ เราก็เชิญผู้ค้าที่ขายผักโครงการหลวง ขายผักออร์แกนิกมา เพื่อให้พวกเขาได้คุยกัน ก็ยังอยู่ในช่วงของการติดต่อสื่อสารกันอยู่ ขนาดว่าแม่ค้าอยากซื้อ คนปลูกอยากขาย ก็ยังต้องคุยกันว่ามีอะไร ราคาเท่าไหร่ เล็งกันไปเล็งกันมา ช่วงนี้ยิ่งเจอปัญหาโควิด-19 ทางตลาดก็วุ่นเรื่องฉีดวัคซีน ตรวจ ATK กันอยู่ งานนี้เลยดีเลย์ไป 2 ปีที่ผ่านมา แต่เราก็มีแพลนอยู่แล้วว่าเราจะผลักดันยังไงต่อไป           ที่ผ่านมา ตลาดของเราก็ทำปุ๋ยเองจากพวกเศษอาหาร เศษซากสัตว์ พุงปลา หัวกุ้ง หรือเปลือกผลไม้ เราดึงพวกนี้ออกมาจากระบบที่จะต้องขนไปทิ้งเป็นขยะ วันหนึ่งก็ได้ประมาณตันกว่า เราเอามาทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ของเรา แล้วก็แจกลูกค้า ซึ่งจริงๆ แล้วเราตั้งใจว่าจะเอาปุ๋ยนี้ให้กับเกษตรกรที่เขาทำสินค้ามาให้กับผู้ค้าเรา แต่ผู้ค้าเราก็ยังไปรับมาจากแหล่งขายส่งอยู่ ซึ่งพอวันที่เราได้เจอกับกลุ่มเกษตรกรตัวจริง เราก็บอกว่า “พี่ เรามีปุ๋ยนะ วันที่พี่เอาผักมาส่งที่นี่ พี่ขนปุ๋ยเราไปได้เลย” นี่คือไอเดียที่เราคุยกันมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้เริ่มใช้จริงจัง ซึ่งถ้าเป็นไปได้อย่างนี้ ก็จะช่วยให้ต้นทุนของเกษตรกรถูกลงด้วย อยากให้ฝากถึงตลาดอื่นๆ ที่สนใจเปิดร้านออร์แกนิกในตลาดสด         จริงๆ แล้วในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ เราเห็นชัดเจนเลยว่าความต้องการของผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าที่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นเจ้าของตลาด การเปิดร้านขายสินค้าออร์แกนิกนี้ เราก็มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำให้มีสินค้าทางเลือก มาให้บริการกับลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายในตลาด ยิ่งมีสินค้าประเภทนี้มากก็จะทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องอาหารปลอดภัยเข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน แต่สิ่งที่เจ้าของตลาดต้องตีโจทย์ให้แตกคือ สินค้าที่นำมาขายนั้นจะต้องเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานจริงๆ ถึงจะดึงลูกค้ากลุ่มนี้เอาไว้ได้ เพราะฉะนั้นผู้ค้าเองต้องมีความน่าเชื่อถือ ตลาดเองก็ต้องคอยตรวจสอบการซื้อขาย และต้องเข้าไปดูอยู่เรื่อยๆ ว่าผู้ค้าเอาสินค้ามาจากไหนด้วย        ถ้าหากเกิดเป็นลักษณะของการย้อมแมวขายแล้ว ลูกค้าเขาไม่ได้ด่าแม่ค้านะ เขาด่าตลาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม

พาณิชย์คุมเข้มค่าบริการดีลิเวอรี่ ห้ามขึ้นค่าคอมมิชชั่นร้านค้า        7 พ.ค. นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามดูแลราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างใกล้ชิด กรมการค้าภายในจึงได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove  ซึ่งจากการหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ หลายแพลตฟอร์มยังมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว สำหรับสถานการณ์ยอดการสั่งซื้อส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 5-10% เท่านั้น หรือบางรายไม่เพิ่มขึ้น         กรณีที่มีข่าวว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีการปรับขึ้นค่า GP (Gross Profit) หรือ ค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับเป็นค่าดำเนินการที่ทางแพลตฟอร์มเรียกเก็บนั้น แพลตฟอร์มต่างๆ ยืนยันว่าไม่มีนโยบายปรับค่า GP หรือค่าบริการขนส่ง เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์และต้องการช่วยเหลือร้านค้าต่างๆ อยู่แล้ว โดยในส่วนการเก็บค่า GP บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่า GP หรือไม่ บางรายไม่มีการเก็บค่า GP หรือเก็บค่า GP เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วยผักสด 10 ชนิดที่พบพยาธิมากที่สุด         เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยผลสำรวจผักสดที่วางขายตามตลาด พบการปนเปื้อนพยาธิสูงถึง 35.1%  และมีพยาธิที่สามารถไชผ่านผิวหนังเราได้ จำเป็นต้องล้างด้วยน้ำยาล้างผัก และสวมใส่ถุงมือขณะล้าง         ข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจของ Punsawad C และคณะ (2019) จากสำนักวิชาแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเก็บผักจากตลาดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 265 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนพยาธิในผักจำนวน 93 ตัวอย่าง (35.1%)   โดยพบว่ามีพยาธิปากขอสูงสุด 42.9% รองลงมาคือ พยาธิเส้นด้าย 10.6% พยาธิแส้ม้า 2.6% พยาธิไส้เดือน 2.6% และพยาธิไส้เดือนสุนัข 2.6%         โดยผัก 10 ชนิดที่พบพยาธิเรียงจากมากไปน้อย คือ 1. ผักขึ้นฉ่ายฝรั่ง 2. สะระแหน่ 3. ใบบัวบก 4. ผักชีไทย 5. หอม 6. ผักชีฝรั่ง 7. ผักกาดขาวจีน 8. ผักสลัด  9. โหระพา 10. ผักบุ้งจีน  แนะรับประทานโดยการทำให้สุก หากจะรับประทานสดควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างผัก น้ำส้มสายชู ด้วยการแช่อย่างน้อย 30 นาที และควรสวมถุงมือขณะล้างป้องกันพยาธิชนิดที่ไชผ่านผิวหนังได้ สภาของผู้บริโภคเสนอหน่วยงานกำกับเร่งตรวจสอบ รพ.เอกชนเรื่องค่ารักษาพยาบาล         สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ กรมการค้าภายในและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งตรวจสอบและกำกับควบคุมราคาค่าบริการ ค่ารักษา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด - 19 ของโรงพยาบาลเอกชน หลังพบกรณีที่อาจเข้าข่ายการตั้งราคาที่สูงเกินสมควร เช่น ผ้าก๊อซ ที่ราคาต้นทุน 10 บาท ถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บในราคา 800 บาท ชุดป้องกันเชื้อ (PPE) ราคาที่ยอมรับร่วมกัน 144 บาท แต่กลับถูกเรียกเก็บถึง 401.61 บาท หรือหน้ากาก 3M รุ่น 1870 ราคาขายในท้องตลาดชิ้นละ 65 - 70 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดราคาถึงชิ้นละ 185 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 226 – 282         การตั้งราคาในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นที่มาของการเรียกร้องให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนกลายเป็นภาระของรัฐบาลและประชาชน เป็นการสร้างวิกฤติในวิกฤติอีกชั้นครม.เห็นชอบจัดสรรงบให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นทุนประเดิมขับเคลื่อนงาน         11 พ.ค. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน จำนวน 350 ล้านบาท ให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น ตามที่ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนด สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีอำนาจหน้าที่ อาทิ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ติดตามและตรวจสอบปัญหาที่กระทบสิทธิผู้บริโภค ส่งเสริมองค์กรของผู้บริโภคในระดับพื้นที่และจังหวัด ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดี สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิ และเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ภาครัฐ         น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับแผนปฏิบัติการสภาองค์กรของผู้บริโภค ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 - 2565 ประกอบด้วย 6 แผนสำคัญ ดังนี้        1.แผนงานสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค        2.แผนงานพัฒนานโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค        3.แผนงานสนับสนุนหน่วยประจำจังหวัดและองค์กรของผู้บริโภค        4.แผนงานสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค        5.แผนงานจัดตั้งสำนักงานและพัฒนากำลังคนของสภาองค์กรของผู้บริโภค        6.แผนเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพันธมิตร ส่งคําชี้แจงขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ควบรวมธุรกิจ ซีพี – เทสโก้โลตัส         14 พฤษภาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในฐานะผู้ฟ้องศาลปกครองร่วมกับ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์ จํากัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จํากัด อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ส่งคําชี้แจงถึงเหตุผลที่ขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยระบุว่า หากศาลไม่คุ้มครองชั่วคราวจะทำให้เกิดการผูกขาดจนยากต่อการแก้ไข เยียวยาภายหลัง การอนุมัติให้ควบรวมครั้งนี้จะเพิ่มอำนาจครอบงำธุรกิจ ปิดทางเลือกผู้บริโภค ทำลายกิจการรายย่อย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 238 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2563

หน้ากากอนามัยขายเกินราคา จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท        ความต้องการหน้ากากอนามัยพุ่งสูงอีกครั้งเมื่อสถานการณ์โควิดกลับมาร้อนอีกหน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 22 ธันวาคม ว่า         หน้ากากอนามัย มี 3 ประเภท คือ 1.หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (เป็นสินค้าควบคุม) 2.หน้ากากผ้า 3.หน้ากากทั่วไป        หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มี 2 ประเภท 1.ผลิตในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 30 โรงงานผลิต ได้ประมาณวันละ 4-5 ล้านชิ้น ส่วนที่สองหน้ากากอนามัยที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ การควบคุมราคานั้นจะมีความแตกต่างกันสำหรับที่ผลิตในประเทศไทย คุมราคาชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท ส่วนหน้ากากนำเข้า คุมราคาอยู่ที่ต้นทุนนำเข้าบวกอีกไม่เกินร้อยละ 60 ของต้นทุนนำเข้า ก็จะเป็นราคาจำหน่ายที่ควบคุม         “สำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทยที่คุมราคา 2.50 บาท ได้มีการติดตามตรวจสอบมาโดยตลอดก่อนที่จะเกิดปัญหาที่สมุทรสาครราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1-2 บาทไม่เกิน 2.50 บาท แต่ถ้าขายเกินราคาควบคุมจะมีการดำเนินคดีและถือว่ามีความผิด โทษของการขายเกินราคาจะจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”         ผู้บริโภคหากพบว่ามีการขายเกินราคาหรือกักตุนให้แจ้งพาณิชย์จังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแจ้งสายด่วน 1569          กรมการค้าภายในคาดปี 64 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ปรับขึ้น          นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปี 64 ว่า สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะยังคงทรงตัวจากปีนี้ และไม่น่ามีแรงกดดันทำให้ผู้ประกอบการต้องขอปรับขึ้นราคาขาย เพราะจากการประเมินปัจจัยที่เป็นต้นทุนการผลิตโดยรวม พบว่ายังไม่น่าปรับขึ้นโดยคาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับที่ไม่น่ากังวล เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ส่วนค่าเงินบาทที่มีผลต่อการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนนั้น คาดว่าจะไม่ต่างจากปีนี้คือ มีอัตราไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่าเกินไปสามารถดูแลได้       สำหรับมาตรการดูแลราคาสินค้าของกรมการค้าภายในประกอบด้วย การกำหนดรายการสินค้าและบริการควบคุม ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งจะมีการประชุมทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุมทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น และการกำหนดรายการสินค้าสำคัญที่ติดตามดูแล 207 สินค้า และ 23 บริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตัวแทนผู้บริโภคทั้งประเทศเกิดแล้ว         ราชกิจจานุเบกษา “ประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค”         มาตรา 3 ให้จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภค และมีสิทธิ หน้าที่ และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง         ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2563 รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายทะเบียนกลาง ธ.ไทยพาณิชย์เตือนภัยลิงก์เว็บไซต์ปลอมที่มาทางไลน์ อีเมลและ sms         หลังพบการร้องเรียนจากลูกค้ากว่า 200 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท โดยมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นธนาคารต่างๆ รวมทั้งธนาคาไทยพาณิชย์ส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอม แนบมากับอีเมล sms หรือ LINE เพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญของผู้บริโภค ทั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยืนยันไม่มีนโยบายในการส่งข้อความผ่านทาง SMS, อีเมล, LINE หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือรหัสต่างๆ สำหรับท่านใดที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ สามารถติดต่อธนาคารฯ ได้ที่ 02-777-7777 ตลอด 24 ชั่วโมง ผลตรวจผักไทยแพน ผักไฮโดรไม่ได้ปลอดภัยกว่าผักผลไม้ทั่วไป         ผลการสุ่มตรวจผักประจำปี 2563 ของไทยแพน ตอกย้ำว่าผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่า โดยผลการสุ่มตรวจผักไฮโดรโปนิกส์ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 9 ตุลาคม 2563 จำนวน 52 ตัวอย่าง พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 29 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 55.8% ใกล้เคียงกับการตกค้างของผักผลไม้ทั่วไปที่สุ่มตรวจทั่วประเทศในคราวเดียวกันเกือบ 500 ตัวอย่าง         โดยตัวอย่างที่มีสารพิษตกค้างทั้งหมด 39 ตัวอย่าง (รวมที่พบการตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน 10 ตัวอย่าง) พบว่าเป็นสารกำจัดแมลง 18 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 17 ชนิด และสารกำจัดแแมลงและไร 3 ชนิด         ผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นระบบการปลูกผักที่ให้ปุ๋ยเคมีผ่านสารละลายในน้ำหรือตัวกลาง โดยอาจปลูกในระบบปิด เช่น ในโรงเรือน หรือในพื้นที่โล่งก็ได้ สภาวะพืชที่อวบน้ำและมีธาตุอาหารในรูปสารละลาย ดึงดูดให้โรคแมลงโจมตี ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งจึงใช้สารเคมีกำจัดแมลง (insecticide) สารเคมีกำจัดโรค (fungicide) เป็นต้น เพื่อควบคุมกำจัด โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการบางรายนำสารเคมีประเภทดูดซึมผสมอยู่ในสารละลายเพื่อใช้กำจัดโรคแมลงด้วย ทำให้ความเสี่ยงในการตรวจพบสารเคมีตกค้างของผักไฮโดรโปนิกส์แทบจะไม่แตกต่างใดๆกับผักทั่วไป ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายละเอียดว่า ผักยี่ห้อใด และแหล่งจำหน่ายใดพบการค้างได้จากลิงค์ https://www.thaipan.org/highlights/2283         ผลการวิเคราะห์นี้ยังเป็นสัญญาณเตือนไปยังห้าง ซัพพลายเออร์ และผู้ผลิตที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมทั้งหน่วยงานต่างๆทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯที่จะต้องทำหน้าที่กำกับดูแล ให้ความรู้ และปกป้องสุขภาพของประชาชน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ปริมาณเนื้อผลไม้ในแยมสตรอว์เบอร์รี

        แยม เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ นิยมนำมาทาบนขนมปังเพื่อเพิ่มรสชาติ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทสเปรด (spreads) หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ป้ายหรือทาบนขนมปังที่ได้รับความนิยมมาก แต่หลายครั้งก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในแยมที่วางจำหน่ายทั่วไปนั้นมีปริมาณของเนื้อผลไม้อยู่สักแค่ไหน ดังนั้นนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงค้นหาข้อมูลตรงนี้มาฝากผู้บริโภค โดยเราเลือกผลิตภัณฑ์แยมสตรอว์เบอร์รี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในบรรดาแยมรสต่างๆ         เราซื้อผลิตภัณฑ์แยมสตรอว์เบอร์รีจำนวน 34  ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซื้อจากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไป นำมาพิจารณาสัดส่วนของเนื้อผลไม้หรือเนื้อสตรอว์เบอร์รี ซึ่งได้แจ้งไว้บนฉลากว่ามีปริมาณเท่าไร พร้อมเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม (บางผลิตภัณฑ์แสดงเป็น มิลลิลิตร)            มาดูกันว่า แยมสตรอว์เบอร์รียี่ห้อไหน ให้เนื้อสตรอว์เบอร์รีเยอะสุด   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 เปลี่ยนวิธีคิด เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณ ใครก็ต้องการผักผลไม้ที่ปลอดภัย

        กรณีสารเคมี 3 ตัว พาราควอต คลอไพรีฟอส และไกลโฟเสต ได้สร้างความเข้าใจผิดต่อคน จำนวนมากว่า หากเรายกเลิกสารเคมีสามตัวนี้ มีคนได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ต้องตอบว่า องค์กรผู้บริโภคไม่ได้มีผลประโยชน์ ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมี หรือไม่ใช้วิธีหนีเสือปะจระเข้ แต่สนับสนุนวิธีการอื่นๆที่เป็นทางเลือกที่มีอยู่จริงและหลากหลายทาง แต่จะก้าวพ้นความคิดที่มีมาตลอดในเวลา 50 ปี หากจะปลูกอะไรต้องรองสารเคมีก้นหลุม การใช้ เครื่องจักรกำจัดหญ้า สารกำจัดแมลงด้วยวิธีอินทรีย์ทั้งหลายที่มีมากขึ้น การเกษตรแบบอินทรีย์มีอยู่จริงและสามารถทำได้ในระดับอุตสาหกรรมเกษตร         อีกความเข้าใจผิดที่อ้างว่า หากยกเลิก 3 สารเคมีนี้ จะไม่มีพืชผักผลไม้รับประทานและราคาแพง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นและไม่น่าจะเป็นความจริง หรือขณะที่เรามีสารเหล่านี้ใช้ ราคาผลไม้ที่ราคาถูกก็แพงจับใจในปัจจุบัน ปัญหาราคาคงมีเหตุผลอีกหลายปัจจัย ตราบเท่าที่เรายังมีพืชผักผลไม้ส่งออกหรือนำเข้าได้ ย่อมต้องมีจำหน่ายในประเทศไทยแน่นอน แถมหากยังใช้สารเคมีจะเป็นเหตุผลให้ส่งออกไม่ได้ คนไทยต้องได้รับอันตรายจากสารเคมีอันตรายที่ตกค้างเหล่านี้มานาน เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง พาร์กินสัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และโรคอื่นๆอีกมากมาย          อันตรายชัดเจนต่อผู้บริโภคจากสารเคมีสามตัวที่ตกค้างในพืชผักผลไม้จากการตรวจสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ไม่น้อยกว่าห้าปีที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 3 ของผัก ผลไม้ มีสารเคมีตกค้างและบางส่วนตกค้างเกินมาตรฐานหรือแม้กระทั่งการสำรวจล่าสุดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็พบว่าตกค้างสูงถึง 26.6 %         อันตรายถึงชีวิตต่อผู้ที่ฉีดพ่น ซึ่งมีอาชีพรับจ้างพ่นสารเคมี คนกลุ่มนี้ไม่มีทางเลือกมาก เพราะเจ้าของสวนหรือไร่นา หรือแปลงขนาดใหญ่ไม่ได้มีการดำเนินการฉีดพ่นเอง ดังที่ในสหรัฐอเมริกา โดยศาลสั่งให้บริษัทมอนซานโต ผู้ผลิตสารเคมีสำหรับการเกษตร จ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,619 ล้านบาท) ให้ ดีเวย์น จอห์นสัน ซึ่งฟ้องร้องเมื่อปี 2016 ว่ายาฆ่าหญ้าราวด์อัพ และยากำจัดศัตรูพืช แรนเจอร์ โปร มีส่วนก่อมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีที่เหลือกว่า 5,000 คดี ที่โจทก์ยื่นฟ้องว่าผลิตภัณฑ์ของมอนซานโตมีส่วนก่อมะเร็ง https://www.posttoday.com/world/560676 การใช้ที่ถูกวิธีทำได้ลำบากและไม่เป็นความจริง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศร้อน อันตรายตกกับเกษตรกรรับจ้างพ่นสารเคมีอันตราย ซึ่งคำแนะนำในการจัดการปัญหาสารเคมีทั่วโลก เสนอให้แก้ปัญหาที่ต้นทางคือการลดสารเคมีที่เป็นอันตรายให้ได้มากที่สุด         ส่วนปัญหาราคาแพง หากเราคิดและยอมรับว่า เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณต่อผู้บริโภคที่ทำงานหนัก รายได้ต่ำ สินค้าเกษตรราคาถูกเกินไปจนเกษตรกรไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จึงต้องมีราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ เกษตรกรได้ขายสินค้าในราคาถูก ปัญหาดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่ การส่งเสริมการตลาดสำหรับเกษตรกร หรือ การจำหน่ายตรงสำหรับเกษตรกร การกำกับพ่อค้าคนกลาง ขณะที่ผู้บริโภคต้องจ่ายราคาแพงในปัจจุบัน         ส่งผลกระทบที่เสียหายชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อม การตกค้างในดิน สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และกลับมาในห่วงโซ่อาหารในท้ายที่สุดส่วนปัญหาราคาแพง เช่นกรณีน้ำปู๋ที่พบการตกค้างสารเคมีกลุ่มนี้มากกว่าปูนา         ทุกรัฐบาลต้องมีนโยบายประกันราคา จำนำสินค้าเกษตร หรือประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งในทางปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ใช้มาตรการนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่เกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด รวมทั้งมีเป้าหมายในการขยายเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรยั่งยืนที่ชัดเจน         สุขภาพต้องมาก่อนการค้า หลักการป้องกันไว้ก่อน คงเป็นเหตุผลเพียงพอ ว่า ทำไมต้องเพิกถอนทะเบียน ห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและจำหน่ายสารเคมีอันตราย 3 ตัวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 สารเคมีตกค้าง

การใช้สารเคมีในภาคเกษตรนับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรและผู้บริโภคภายในประเทศจำนวนมาก จนนำมาสู่การเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐยกเลิกสารเคมีหลายตัวที่หลายประเทศ แม้แต่ประเทศผู้ผลิตก็ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าผู้เกี่ยวข้องจะดูใจเย็นกับเรื่องนี้เหลือเกินทั้งๆ มีรายงานตัวเลขผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในภาคเกษตรนับเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อยู่ที่หลักหลายพันคนต่อปี หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เฝ้าระวังผลผลิตที่วางจำหน่ายในท้องตลาด จะออกมาป่าวประกาศถึงสถานการณ์สารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ ในระดับที่น่าเป็นห่วงก็ตาม  ล่าสุด นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ให้ข้อมูลกับ ฉลาดซื้อ ว่าแต่ละปีมีการสำรวจสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ แตกต่างกัน ซึ่งช่วงแรกๆ ที่ทำร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน มีการตรวจยาฆ่าแมลงแค่ 2 กลุ่ม ก่อนจะพัฒนามาเป็น 4 กลุ่มสารเคมี (organophosphates, carbamates, organochlorine  และ pyrethroids) ปัจจุบันมีการส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องแลปที่อังกฤษ ซึ่งสามารถวิเคราะห์สารเคมีได้มากกว่า 4 กลุ่ม ทำให้ช่วงหลังพบสารเคมีตกค้างมากขึ้น          สำหรับปี 2562 มีการเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้จากห้างสรรพสินค้าและตลาดสด พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานประมาณ 41% ขณะที่สองปีก่อนส่งไปตรวจที่อังกฤษเหมือนกันพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 46% แต่ถ้าดูเฉพาะสารสี่กลุ่มที่ประเทศไทยสามารถวิเคราะห์ได้ จะพบปัญหาการตกค้างเกินค่ามาตรฐานลดลงเรื่อยๆ เหลือ 30% จนกระทั่งล่าสุดเหลืออยู่ที่ 20% และไม่ลงไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม แม้ของไทยจะลดลงแต่ยังถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป ที่สามารถตรวจได้ในระดับเดียวกันกับอังกฤษ การพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ ประมาณ 1-3% สำหรับสารที่ปีนี้ที่พบมากสุดคือ คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นสารป้องกันการเกิดเชื้อรา เป็นสารดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ ยกตัวอย่าง หากตกค้างใน “ส้ม” ถึงจะปอกเปลือกออก สารนี้ก็ยังอยู่ในเนื้อ  ปัจจุบันหลายประเทศยกเลิกการใช้แล้วเพราะทำให้คนที่ได้รับสารนี้มีโอกาสเป็นหมัน  นางสาวปรกชล ยังบอกอีกว่า จากการตรวจวิเคราะห์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในกลุ่ม “ผัก” ปัญหาจะหมุนเวียนชนิดกัน ขึ้นๆ ลงๆ เช่น ผักกวางตุ้ง คะน้า พริก กระเพรา ผักชี ถั่วฝักยาว จะอยู่ในอันดับต้นๆ ทุกปี ส่วน “ผลไม้” ที่เป็นอันดับหนึ่งที่พบสารเคมีตกค้างมาตลอด คือส้ม ตามมาด้วย องุ่น สลับกับ ฝรั่ง หรือ มะละกอ ชมพู่ และมีความเป็นไปได้ ที่ผัก ผลไม้หนึ่งตัวอย่างจะเจอสารเคมีตกค้างมากกว่าหนึ่งชนิด         “อย่างสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 41% อีกเกินครึ่งก็เจอสารเคมีในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน ซึ่ง 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้มีสารเคมีตกค้างมากกว่าสองชนิดในหนึ่งตัวอย่าง มากสุดคือสารเคมีตกค้าง 20 ชนิดในหนึ่งตัวอย่าง ถือว่าเป็นปัญหามาก เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่มีการประเมินความเสี่ยงสารตกค้างร่วมกับผู้บริโภคจึงไม่มีทางรู้เลยว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน”         ที่น่าสังเกตคือเราพบว่าตัวอย่างผัก ผลไม้ที่ขายในห้างฯ มีสารเคมีตกค้างมากกว่าที่วางขายในตลาดสดเล็กน้อย  แม้ว่าผลผลิตที่ขายในห้างฯ จะมีตรารับรองมาตรฐาน อย่างเช่น Q หรือ Organic Thailand ยังพบว่าไม่มีความปลอดภัย สารตกค้างยังคงเกินค่ามาตรฐาน ส่วนตัวมองว่าระบบการตรวจสอบรับรองยังคงมีช่องว่าง รวมถึงกระบวนการในการกำกับดูแลหลังให้ใบรับรองไปแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ที่บางครั้งอาจจะไปถูกสวมสิทธิ์ที่ห้างหรือซับพลายเออร์ เท่ากับว่ากระบวนการให้ใบรับรองยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้เรายังมั่นใจไม่ได้ 100% กับสินค้าที่มีตรารับรอง             “การล้างทำความสะอาดสามารถล้างสารพิษออกได้นิดหน่อย แต่ถ้าเป็นสารประเภทดูดซึมจะล้างไม่ออก ปีนี้เราพบสารพิษตกค้าง 90 ชนิด ในจำนวนนี้ 50 ชนิดเป็นสารตกค้างประเภทดูดซึม ล้างไม่ออกแน่ๆ ปอกเปลือกออกก็อยู่ในเนื้อ ส่วนที่ล้างออกประมาณ 40 ชนิด บางอย่างก็ล้างออกง่าย แค่เปิดน้ำไหลผ่าน การแช่ด่างทับทิม น้ำส้มสายชู เบคกิ้งโซดา ซึ่งสามารถขจัดสารเคมีได้แตกต่างกัน การล้างผัก ผลไม้จึงแค่เป็นการทำให้ตัวเองสบายใจ”         นางสาวปรกชล ระบุว่า เรื่องการใช้สารเคมีที่มีมากในประเทศไทยที่จริงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมสารเคมี เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น 1.ไม่มีระบบการเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐที่มีการตรวจก็เก็บข้อมูลไว้ไม่ได้เปิดเผยให้ผู้บริโภคทราบ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีข้อมูล จึงไม่สามารถแสดงความต้องการอาหารที่ปลอดภัย หรือความต้องการที่จะสนับสนุนสินค้าที่มีคุณภาพที่ไหนได้2. สารเคมีหลายตัวที่พบ เป็นสารที่หลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว โดยเฉพาะประเทศต้นทางที่ผลิตสารเคมีเอง เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค แต่ประเทศไทยกลับยังนำเข้ามาใช้     แสดงว่าระบบการคัดกรองสารเคมีเหล่านี้ของประเทศไทยยังไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากสารเคมี 3 ตัวที่ขอให้แบนคือพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แล้ว ยังมีสารเคมีอีกกว่า 100 ชนิด ที่ต้องมีการจัดการเช่นเดียวกัน         “วันนี้จึงทำให้เราประสบภาวะที่ว่านอกจากสารเคมีเกินค่ามาตรฐานแล้วยังมีสารเคมีหลายตัวที่ร้ายแรงมาก” 3.เกษตรกรมองว่าการใช้สารเคมีในภาคเกษตรคือคำตอบที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบ เนื่องจากบริษัทนำเข้าไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะฉะนั้นราคามันเลยไม่ได้รวมผลกระทบภายนอกทั้งทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เลยทำให้ดูเป็นทางเลือกที่ราคาถูกที่สุดในการทำเกษตรกรรม เกษตรกรจึงนิยมใช้ แถมยังไม่ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย จึงทำให้มีการใช้มากเกินความจำเป็น        เพราะฉะนั้น วันนี้ ทางเลือกของผู้บริโภคอาจจะต้อง “เหนื่อย” และต้องการข้อมูลของผัก ผลไม้ว่ามีที่มาที่ไปอย่าง ไร ผักประเภทไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย เพราะไม่สามารถดูได้จากหน้าตาผัก ผลไม้ ต่อให้มีรอยแมลงกัดก็ไม่สามารถการันตีอะไร ตรารับรองก็ไม่สามารถเชื่อมั่นได้ 100% ที่จริงแล้วผู้บริโภคมีอำนาจเต็ม เพราะเงินอยู่ในกระเป๋าเรา ทุกครั้งที่ใช้จ่ายจะเป็นการแสดงเจตจำนงว่ากำลังสนับสนุนเกษตรกรที่ใช้สารเคมี หรือจะสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งราคาไม่ได้สูงเสมอไปหากไม่ซื้อในห้างฯ หรือให้เกษตรกรจัดส่งให้ที่บ้านก็ยังได้ ราคาถูกด้วย อีกทางหนึ่งควรปลูกผักกินเองบาง เช่น พริก กระเพรา เป็นต้น         นางสาวปรกชล ย้ำว่า สิ่งที่ไทยแพนอยากเห็นคือเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องพื้นฐาน ถ้ามีสารเคมีตกค้างก็ต้องไม่เกินมาตรฐานกำหนด ซึ่งประชาชนต้องช่วยกันกดดันภาครัฐให้มีการตรวจสอบและลงโทษกลุ่มเกษตรกรที่มีการใช้สารเคมี ปล่อยให้เกินค่ามาตรฐาน แถมยังเคลมว่าปลอดภัย แล้วขายในราคาแพงๆ หรือกดดันให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีบางตัวที่หลายประเทศยกเลิกไปแล้ว ทำไมไทยถึงยังยอมให้เข้ามาในระบบอาหารของไทย และช่วยกันส่งเสียงกระตุ้นให้เกิดระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย ซึ่งสำคัญมาก เพราะการมีข้อมูลที่ชี้ปัญหาจะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้         อันที่จริงสถานการณ์ก็เหมือนจะดีขึ้น มีจำนวนเกษตรที่ลุกขึ้นมาปลูกผักที่ลดการใช้สารเคมี การเพิ่มตลาดสีเขียว ผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้น  แต่ว่าในภาพใหญ่ระดับโครงสร้างนโยบายที่ยังคงมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะยังต้องสู้กันอีกยาว ตรงนี้ต้องใช้พลังผู้บริโภคลุกขึ้นมาส่งเสียงว่าต้องการอาหารปลอดภัยและต้องร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการปรับพฤติกรรมอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกผัก ผลไม้โดยไม่ใช้สารเคมี และอุดหนุนให้หลากหลายเพื่อเปิดตลาดให้กว้าง         รวมถึงการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงฉลาก เช่น ใช้ก็บอก ไม่ใช่ก็บอก มีการเรียกร้องให้โรงงานน้ำตาลแจ้งบนถุงน้ำตาลเลยว่า อ้อยมาจากการปลูกโดยใช้พาราควอตหรือไม่ และผู้บริโภคจะตัดสินใจเอง นี่คือการส่งเสียงเพื่อให้รัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย         ด้าน นพ.พูนลาภ ฉันทวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการปลูกผัก ผลไม้ในเมืองไทยยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีอยู่ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้มีการใช้มากเกินไปจนเกิดการตกค้างในผลผลิตเกินค่ามาตรฐาน จึงเป็นที่มาว่าเมื่อมีการสุ่มตรวจสารตกค้างในผลผลิตเหล่านี้แล้วยังเจอบ้าง ไม่เจอบ้าง แต่ถ้าไม่ได้มีปริมาณเกินค่ามาตรฐานก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่มีความปลอดภัย เกิดการตรวจการเฝ้าระวัง         “หากจะให้ไม่มีสารเคมีเลยนั้นยอมรับว่ายังยาก ดังนั้นคำแนะนำสำหรับประชาชนคือไม่ว่าจะซื้อผักผลไม้จากแหล่งใดก็ตามจะต้องมีการนำมาล้างด้วยวิธีการปล่อยให้น้ำไหลผ่านหรือการแช่น้ำเกลือ หรือเบกกิ้งโซดา สักช่วงเวลาหนึ่งก็จะช่วยลดปริมาณสารเคมีลงได้”         อย่างไรก็ตามในเรื่องของสารเคมีนั้นทางอย.ไม่ได้มีการดูโดยตรง และไม่เคยมีการออกตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองมาตรฐาน หรือรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษแต่อย่างใด เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ แต่สิ่งที่อย.ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือกรณีที่มีการแบ่งบรรจุจำหน่ายผัก ผลไม้นั้น ให้ ทางห้างฯ ติดฉลากแหล่งที่มาของผลผลิตนั้นๆ ให้ชัดเจน เพราะหากตรวจเจอสารเคมีเกินค่ามาตรฐานก็จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาและดำเนินการเอาผิดได้ ฐานเป็นอาหารไม่ปลอดภัย ตามพ.ร.บ.อาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท        ทั้งนี้ ที่ผ่านมาต้องเรียนว่ายังไม่มีการลงโทษถึงขั้นนั้นเนื่องจากเราต้องการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือป้องปรามและการเฝ้าระวัง พยายามสร้างความตระหนักและทำให้เกษตรกร ไม่ใช้สารพิษในปริมาณที่มากเกินไปมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลผัก ผลไม้ที่มีการแบ่งบรรจุขายในห้างสรรพสินค้า ในตลาดสดคิดเป็น 30% อีก 70% เป็นการขายส่ง ซึ่งผลจากแนวปฏิบัติดังกล่าว รวมถึงการขอความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่นให้ช่วยกันสุ่มตรวจผัก ผลไม้ โดยอาศัย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 แก้ไข พ.ศ.2560 เข้ามาดำเนินการ ก็พบว่าปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ดีขึ้น อย่างที่ไทยแพนได้มีการสุ่มตรวจก็พบว่าน้อยลงเช่นกัน  ด้านกรมอนามัยได้มีการออกเอกสารเผยแพร่คำแนะนำแก่ประชาชน โดยใจความระบุว่าการรับประทานผักผลไม้เป็นประจำย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพื่อความปลอดภัยประชาชนจึงควรใส่ใจการล้างผักให้สะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค โดยให้แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด หรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้ สามารถลดสารเคมีตกค้างจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายได้ ขณะที่ นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกซ์แฟมในประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อดูจากสถานการณ์ปัจจุบันโดยยังไม่ได้ดูในแง่ของสถิติจะพบว่ามีห้างสรรพสินค้ากว่า 3 พันสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ยังไม่นับรวมร้านสะดวกซื้ออีกจำนวนมาก ทำให้เห็นแนวโน้มว่าผู้บริโภคเลือกที่จะไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เพราะสะดวกสบายไปครั้งเดียวก็ได้ของครบทุกอย่าง         ทั้งนี้ถ้ามองในแง่ของสถิติ นอกจากการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแล้วยังพบว่ามีการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แอปพลิเคชั่นต่างๆ ยิ่งเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้ามากขึ้น แม้ตัวจะยังอยู่ที่บ้านก็ตาม เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าผู้บริโภคกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกมีความใกล้ชิดกัน อย่างน้อยในหนึ่งสัปดาห์ น่าจะเข้าห้างสรรพสินค้าราวๆ 1-2 ครั้ง         สำหรับการจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารสด ผัก ผลไม้ นั้นทางอ็อกซ์แฟมยังไม่ได้มีการสำรวจและประเมิน จึงยังไม่สามารถบอกถึงความนิยมได้ เพราะที่มีประเมินอยู่คือ มิติทางด้านสังคม เช่น ความโปร่งใส เรื่องแรงงาน เรื่องเกษตรกรรายย่อย เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมบทบาทสตรี เป็นต้น          “ถ้าจับจากพฤติกรรมคนทั่วไปก็เห็นได้ว่า ทุกวันนี้คนนิยมซื้อสินค้าอาหารสด ผัก ผลไม้ในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น แทนการเดินตลาดสด ซึ่งปัจจุบันตลาดสดเองก็เริ่มมีน้อยลง แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพ สินค้าและความปลอดภัยแล้ว ตนมองว่าปัจจุบันก็ค่อนข้างปฏิบัติตามมาตรฐานกฎหมายและค่อนข้างมีการพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภค”          อย่างไรก็ตาม ประมาณปลายปี 2562 หรือ ต้นปี 2563 จะมีการสำรวจ ประเมินมิติด้านความปลอดภัยทางอาหารร่วมด้วย ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สารเคมีต่างๆ รวมถึงการจัดซื้อที่เป็นมิตร แต่สิ่งที่อ็อกซ์แฟมและภาคีเครือข่ายดำเนินการอยู่ขณะนี้ คือการสนับสนุนให้ห้างฯ ซึ่งเป็นตลาดปลายทางที่รับสินค้ามาจากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค มีนโยบายเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับเกษตรกร ผู้แปรรูปอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกสินค้าที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ถ้ามีการออกเป็นนโยบายแล้วจะทำให้เกิดการปฏิบัติเหมือนกันของห้างฯ ทุกสาขา และมีการปฏิบัติอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยยังคงเป็นแบบโครงการ กิจกรรมซีเอสอาร์ ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าโครงการเหล่านี้ไม่ดี เพียงแต่กรณีแบบนี้เมื่อจบโครงการก็คือจบ ถ้ามีการกำหนดเป็นนโยบายจะมีความยั่งยืนมากกว่า “นโยบายหมายความว่าจะต้องใช้กับทุกพื้นที่ ทุกผลิตภัณฑ์ และอยู่ถาวร มีการดึงมาสู่แผนงานแผนปฏิบัติ มี KPI หากปฏิบัติตามไม่ได้ก็ต้องปรับปรุง มีความยั่งยืน ถ้าไม่ดีก็ปรับปรุง ดังนั้นอยากให้ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ยั่งยืนถาวรมากขึ้น เชื่อว่าห้างค้าปลีกไทยมีศักยภาพที่จะทำ เพราะดูจากนวัตกรรมทางการตลาดและการขยายธุรกิจไม่ได้น้อยหน้าต่างประเทศ หากเกิดนโยบายเชิงบวกเพื่อให้ผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีขึ้น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 ผลไม้อบแห้ง ปริมาณพลังงานและน้ำตาล

             ผลไม้แห้ง เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ จัดอยู่ในกลุ่มอาหารแห้ง(dried food) หรืออาหารกึ่งแห้ง การอบแห้งผลไม้เป็นหนึ่งในวิธีการดั้งเดิมที่ใช้ในการถนอมรักษาอาหารให้สามารถเก็บรักษาได้ยาวนาน โดยใช้หลักการในการลดความชื้นของอาหารให้อยู่ในระดับที่เชื้อจุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญได้ การอบแห้งโดยทั่วไปจะอาศัยพลังงานความร้อนในการระเหยน้ำออก ผลไม้อบแห้งที่ฉลาดซื้อเลือกมาดูปริมาณพลังงานและน้ำตาลในคราวนี้ เป็นผลไม้กึ่งแห้งที่มีวางจำหน่ายบนชั้นวางทั่วไปในห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ ลูกเกด ลูกพรุน และมะม่วง             ผลไม้อบแห้งสามารถใช้เป็นของว่างที่มีประโยชน์ทดแทนขนมหวานหรือขนมขบเคี้ยวได้ อย่างไรก็ตามบางผลิตภัณฑ์มีการปรุงแต่งให้มีรสหวานเพิ่มขึ้นจากความหวานดั้งเดิมที่อยู่ในเนื้อผลไม้ จึงควรตรวจสอบฉลากเพื่อรับประทานให้เหมาะสม นอกจากนี้กลุ่มผลไม้อบแห้งนี้ในกระบวนการผลิตจะมีการใช้สารประเภทซัลไฟต์เพื่อคงสภาพสีของผลไม้ให้น่ากิน หรือใช้เป็นวัตถุกันเสีย ซึ่งอาจมีผลต่อคนที่มีความไวต่อสารชนิดนี้เป็นพิเศษ ควรพิจารณาฉลากก่อนรับประทานมีอะไรในผลไม้อบแห้งนอกจากผลไม้ กรด การใช้กรดในผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ เพื่อช่วยปรับปรุงกลิ่น รส และยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ การเลือกใช้กรดจะขึ้นอยู่กับชนิดของกรดที่มีอยู่มากในผลไม้ ส่วนมากจะมีกรดซิตริก (กรดมะนาว) องุ่นมีกรดทาร์ทาริก (หรือเรียกว่ากรดมะขาม) เป็นต้น  สารที่ให้คงรูปสารคงรูป เพื่อปรับปรุงคุณภาพทางด้านเนื้อสัมผัสของผลไม้ให้ดีขึ้น สารคงรูปที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยโบราณ คือ ปูนขาว ปูนแดง และสารส้ม แต่เนื่องจากสารเหล่านี้มักมี องค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันในอุตสาหกรรมการแปรรูปผักและผลไม้จึงใช้แคลเซียมคลอไรด์ สารที่ใช้เพื่อป้องกันการเกิดสีน้ำตาลส่วนมากใช้วัตถุเจือปนอาหารเพื่อป้องกันปฏิกิริยาดังกล่าว ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารประกอบซัลไฟต์ วัตถุกันเสียเป็นสารประกอบเคมีที่ช่วยในการถนอมหรือยืดอายุการเก็บอาหาร หรือช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุในการเสียของผลิตภัณฑ์ประเภทผักและผลไม้การใช้สารประเภทซัลไฟต์ในผลไม้แห้ง             ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นสารเคมีที่สำคัญที่ใช้ในการรักษาสีของผลไม้อบแห้ง มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยทำหน้าที่ยับยั้งปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาลในผลไม้ สารประกอบที่ใช้ได้แก่ เกลือซัลไฟต์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งได้รับการยอมรับจาก GRAS ให้สามารถใช้ได้ในผลิตภัณฑ์อาหาร (Generally recognized as safe คือ สารเคมีที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยา ว่าสามารถใช้เติมลงไปในอาหารได้อย่างปลอดภัย สารที่ได้รับรองว่า เป็น GRAS ส่วนใหญ่ จะไม่จำกัดปริมาณการใช้ แต่จะให้ใช้เท่าที่จำเป็น)  การรมก๊าซกำมะถัน เป็นการนำผลไม้เก็บไว้ในห้องปิดสนิท ที่ได้ทำการเผาผงกำมะถันไว้ ห้องที่ใช้สามารถทำด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ไม้ PVC หรือซีเมนต์ มักใช้กับผลไม้ที่ทำแห้ง โดยการตากแดด เช่น แอพริคอต พีช แพร์ ลูกเกด ปริมาณการดูดซึมและปริมาณซัลเฟอร์ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์จะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ระยะเวลาในการรม ความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ขนาด สภาพของผลไม้ ระดับความสุก พันธุ์ของผลไม้ ฯลฯ ผลไม้ที่มีความแก่จะดูดซึมได้มากกว่าแต่มีซัลเฟอร์ที่อยู่ในเนื้อผลไม้น้อยกว่าผลไม้ที่อ่อนกว่า อุณหภูมิที่สูงมีแนวโน้มที่จะลดการดูดซึมแต่จะทำให้มีระยะเวลาที่ซัลเฟอร์อยู่ในผลไม้ได้นานกว่า            ผลไม้ที่ผ่านการรมหรือแช่สารประกอบซัลเฟอร์ ไม่บรรจุในภาชนะประเภทโลหะ เนื่องจากซัลเฟอร์จะทำปฏิกิริยากับโลหะทำให้ผลไม้เกิดการเปลี่ยนสี หากต้องบรรจุในภาชนะโลหะให้บรรจุในถุงพลาสติกก่อน อายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้งจะประมาณ 1 ปี ที่ 15 oซ ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ฝ่ายเทคโนโลยีอาหาร  http://www.tistr-foodprocess.net/fruit_dry.htmlภูมิแพ้ซัลไฟต์ หรือภูมิแพ้สารกันบูดซัลไฟต์ ถูกใช้ในเครื่องดื่มและอาหารหลากหลายชนิด เพื่อเป็นสารกันเสีย (Preservatives) อาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ ตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงอาการที่ถึงแก่ชีวิตไม่ว่าจะเป็นคัน ไอ มีเสมหะ หายใจไม่สะดวก ลมพิษปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียนเวียนศีรษะหน้ามืดเป็นลมหลอดลมหดเกร็งจากการบวมของหลอดลมทำให้หายใจลำบากความดันโลหิตลดลงอาจจะต่ำจนช็อกชีพจรเต้นเร็วภาวะหอบหืด หน้ามืดเป็นลม และหมดสติ เราเรียกอาการนี้ว่า Anaphylaxis ที่อาจถึงแก่ชีวิตซัลไฟต์จะอยู่บนฉลากอาหารดังปรากฏด้านล่างนี้ INS ชื่อ 227 Calcium hydrogen sulfite 228 Potassium bisulfite 224 Potassium metabisulfite 225 Potassium sulfite 222 Sodium hydrogen sulfite 223 Sodium metabisulfite 221 Sodium sulfite 220 Sulfur dioxide  ตารางแสดงรายละเอียดผลไม้อบแห้ง ลูกเกด ลูกพรุน มะม่วง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 กระแสต่างแดน

ขายให้ชัดหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าและตลาดและของอังกฤษ  เริ่มลงมือจัดการกับดาราและบุคคลมีชื่อเสียงที่โพสต์ภาพของตนเองร่วมกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยไม่ระบุให้ชัดว่าได้เงินค่าโฆษณาจากแบรนด์หรือไม่ตามกฎหมายอังกฤษ โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟสบุ้ค อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ที่ผู้โพสต์ได้รับเงินจากการแชร์เรื่องราวนั้น จะต้องทำให้ผู้บริโภคสามารถดูออกทันทีว่าเป็นการโฆษณา ขณะนี้มีคนดังถูกดำเนินการแล้วสี่ราย ตั้งแต่ดาราที่โพสต์รูปวิตามินพร้อมโค้ดส่วนลด บล้อกเกอร์ด้านการแต่งหน้าที่ลงรูป “ชาลดพุง” ในอินสตาแกรม  พิธีกรรายการโทรทัศน์ที่ทวิตบอกผู้ติดตามของเธอว่าโปรดปรานขนมยี่ห้อหนึ่งเป็นพิเศษ ไปจนถึงดาราที่ลงรูปเครื่องดื่มพร้อมแฮชแท็ก #sp (ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าหมายถึง sponsored post หรือโพสต์ที่มีสปอนเซอร์) การสืบสวนจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และอาจนำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งไม่มีเพดานค่าปรับสูงสุดด้วยจ่ายแพงกว่าเพื่อ?อเมซอน ร้านค้าออนไลน์ถูกสั่งงดโฆษณาบริการสมาชิกแบบ “อเมซอน ไพรม์” ที่รับประกันการ จัดส่งสินค้า “ภายในหนึ่งวัน”   หน่วยงานดูแลมาตรฐานการโฆษณาของอังกฤษ ได้รับเรื่องร้องเรียน 280 กรณี จากสมาชิกบริการไพร์มที่มีค่าธรรมเนียมเดือนละ 7.99 ปอนด์ (ประมาณ 350 บาท) ที่ไม่ได้รับสินค้าที่สั่งภายในหนึ่งวัน อเมซอน อธิบายว่าได้แจ้งไว้ (ตรงไหนสักแห่ง) ในเว็บไซต์ว่าผู้สั่งซื้อจะได้รับสินค้า “หนึ่งวันทำการหลังจากเริ่มจัดส่ง” และ “เวลาในการจัดส่งขึ้นอยู่กับเวลาที่สั่งซื้อ” ด้วย  แต่หน่วยงานดังกล่าวฟันธงว่าผู้ใช้เว็บไซต์ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นข้อความเหล่านี้ก่อนตัดสินใจสมัครสมาชิกแบบ “ไพร์ม” องค์กรผู้บริโภค Citizens Advice บอกว่า ไม่เพียงลูกค้าของอเมซอนเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ ร้อยละ 40 ของลูกค้าระดับ “พรีเมียม” ของร้านออนไลน์ ได้รับสินค้าช้ากว่าที่คาดหวังทั้งๆ ที่จ่ายแพงขึ้น  ที่สำคัญขณะนี้ยังไม่มีช่องทางการชดเชยเยียวยาที่สะดวกในกรณีที่เกิดความเสียหายจากความล่าช้าด้วยภาษีลดสูบญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องประชากรที่สุขภาพดีและอายุยืน กำลังเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่าในปีงบประมาณ 2015 รัฐบาลใช้เงินไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ล้านเยนเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่  ด้านหนึ่งคือค่ารักษาพยาบาล 1,200,000 ล้านเยน (โรคมะเร็ง หัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ และภาวะสมองเสื่อม) ทั้งในผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ ส่วนที่เหลือเป็นความเสียหายจากเหตุไฟไหม้ที่มีสาเหตุจากก้นบุหรี่ ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 18.2 ของประชากร ซึ่งถือว่าลดลงมากแล้วเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน แต่มาตรการลดการสูบบุหรี่ของรัฐบาลญี่ปุ่นยังดำเนินต่อไป ล่าสุดได้ประกาศเพิ่มภาษีบุหรี่ ทำให้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี  2019 ราคาบุหรี่จะขึ้นเป็นซองละ 500 เยน (ประมาณ 150 บาท) เช่นเดียวกับในสหภาพยุโรปที่ราคาบุหรี่ต่อซองจะเพิ่มขึ้นเป็น 385 บาทในปี 2020ไม่สวยก็กินได้ประมาณร้อยละ 35 ของผักผลไม้จากสวนของเกษตรกรในยุโรป ไม่เคยมีโอกาสได้พบปะผู้บริโภคซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะพวกมันมีหน้าตาประหลาดหรือขนาดไม่ตรงสเปคงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเอดินบะระพบว่า ผักผลไม้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านตันถูกทิ้งไปเพราะ “ผู้บริโภคไม่ชอบแบบนี้” ในขณะที่เกษตรกรต้องลงทุนผลิตในปริมาณที่มากกว่าที่ทำสัญญาไว้กับห้างค้าปลีก เพื่อให้มีส่งครบตามที่สั่งหลังจากบางส่วนถูกคัดออกความสูญเสียที่ว่านี้มาจากมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐ รวมกับมาตรฐานสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งไว้สูงเกินไป และความคาดหวังของตัวผู้บริโภคเองที่ต้องการแต่ผักผลไม้ที่ดูดีไร้ตำหนิ ผู้วิจัยเรียกร้องให้ผู้บริโภคใส่ใจกับการเลือกซื้อสินค้าอย่างยั่งยืนมากขึ้น พร้อมๆ ขอให้ห้างค้าปลีกให้ที่ยืนกับผักผลไม้ที่หน้าตาไม่สมบูรณ์แบบบ้าง ที่ผ่านมา ห้าง Sainsbury และ ห้าง Morrisons ได้เริ่มลงโครงการกับกล้วยและอโวคาโดแล้วเจ็บมาเยอะสาวๆ เกาหลีนัดกันหยุดใช้จ่ายทุกๆ วันอาทิตย์แรกของเดือน เพื่อประท้วงการดูถูกผู้หญิงและการเอาเปรียบโดยผู้ประกอบการต่างๆ ที่มักจะตั้งราคาสินค้าสำหรับผู้หญิงแพงกว่าสินค้าสำหรับผู้ชายพวกเธอบอกว่า ไม่เป็นธรรมเลยที่สังคมเกาหลีคาดหวังให้ผู้หญิงต้องดูดีดูสวยตลอดเวลา แต่สินค้าที่พวกเธอต้องซื้อกลับมีราคาแพงเกินไป แจ็กเก็ตสำหรับผู้หญิงซึ่งมีแต่กระเป๋าหลอก ใส่ของอะไรไม่ได้ ราคาแพงกว่าแจ็กเก็ตชาย กางเกงแบบไร้รอยยับสำหรับผู้ชายก็ถูกกว่าและสวมใส่สบายกว่าด้วย  กลุ่มนี้ซึ่งมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน บอกว่าอยากให้ธุรกิจรู้ว่ายอดขายจะร่วงลงแค่ไหนหากผู้หญิง “ไม่ช้อป” และหันมาทำอาหารกลางวันไปรับประทานเอง ถีบจักรยานไปไหนต่อไหนเอง รวมถึงยกเลิกการจองโต๊ะสำหรับอาหารเย็น เป็นต้น  เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงของผู้หญิงในไอซ์แลนด์ เมื่อหลายสิบปีก่อนที่รวมตัวกันไม่ไปทำงานและหยุดทำงานบ้าน เพื่อให้เห็นว่าโลกจะไปต่อไม่ได้หากผู้หญิงไม่ไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 เครื่องดื่มจากต้นไม้

ผู้เขียนเป็นคนตื่นเช้า อาจเพราะอยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต (30 ปีเรียนหนังสือ 30 ปีทำงาน และ 30 ปีลิ้มรสความสงบสุข) จึงต้องการเห็นแสงแดดและหายใจในแต่ละวันให้มากเท่าที่ทำได้ อีกทั้งปัจจุบันผู้เขียนได้เปลี่ยนระบบอินเทอร์เน็ตจาก ADSL ซึ่งเป็นเน็ตที่มาตามสายโทรศัพท์บ้านไปเป็นเน็ตที่มากับสายนำสัญญาณใยแก้วหรือไฟเบอร์ออปติคซึ่งมีความเร็วสูงกว่าเดิมเป็น 4-5 เท่าตัว ด้วยค่าบริการที่ผู้ให้บริการแจ้งว่าเท่าเดิม แถมได้ดูโทรทัศน์ผ่านกล่อง (ให้ยืม) ของผู้ให้บริการซึ่งมีรายการน่าสนใจที่ไม่เคยดูจากโทรทัศน์ระบบปรกติ เช้าวันหนึ่งผู้เขียนได้ดูช่องข่าวของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นภาษาเกาหลีล้วน ปรากฏว่าข่าวหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผลิตเครื่องดื่มจากต้นเมเปิลของเกาหลีด้วยวิธีไม่ยากนัก กล่าวคือเป็นการเจาะรูที่ลำต้นแล้วเอาชุดสายยางเสียบเข้าไปในรูที่เจาะ จากนั้นน้ำซึ่งเรียกว่า sap ก็ไหลออกมาค่อนข้างเยอะ จนสามารถรวมน้ำจากหลายต้นแล้วบรรจุขวดขายเป็นเครื่องดื่มสุขภาพในลักษณะ SMEคนไทยรู้จักดีถึงน้ำหรือของเหลวที่ได้จากต้นไม้ เช่น น้ำจากผลมะพร้าว น้ำตาลสดจากจั่นของต้นตาลและต้นมะพร้าว น้ำจืดจากเถาวัลย์ในป่า น้ำจืดจากกระบอกไม้ไผ่ แต่ไม่ค่อยมีใครให้ความรู้เรื่องน้ำที่เจาะได้จากต้นไม้แล้วมีรสชาติดีสามารถนำมาทำเป็นเครื่องดื่มได้ คงเป็นเพราะบ้านเราไม่มีไม้ที่เหมาะแก่การเจาะเอาน้ำออกมาจากต้นได้นั่นเองบทความหนึ่งเรื่อง In South Korea, Drinks Are on the Maple Tree เขียนโดย Choe Sang-Hun ในวารสารออนไลน์ชื่อ Hadong Journal เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2009 ให้ข้อมูลสรุปว่า ในช่วงเวลาที่อุณหภูมิของเกาหลีต่ำกว่าจุดเยือกแข็งในตอนกลางคืนแล้วอุ่นขึ้นในตอนกลางวัน ซึ่งมีแสงแดดจ้าและปราศจากลมแรง นั้นเป็นช่วงเวลาที่กบเลิกจำศีลและนกหัวขวานเริ่มเจาะต้นไม้ทำรังใหม่ ชาวบ้านในชนบทของเกาหลีใต้จะเริ่มเทศกาลเจาะต้นเมเปิลเพื่อให้ได้ของเหลวซึ่งเรียก โกโระเซะ (Gorosoe) มาดื่มกัน ภาพข่าวซึ่งเห็นได้ทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์นั้นดูเรียบง่าย เพราะเป็นการเจาะรูกลางต้นไม้แล้วเสียบหัวก๊อก (tap) เข้ากับต้นไม้โดยตรงจากนั้นน้ำหวานก็ไหลผ่านสายยางเข้าสู่ภาชนะที่ปลายสายยางตามธรรมเนียมของชาวชนบทในเกาหลีแถบฮาดอง ซึ่งอยู่ทางใต้ของกรุงโซลราว 180 ไมล์นั้น ผู้นิยมดื่มโกโระเซะนี้อาจดื่มได้ถึง 20 ลิตรต่อวัน โดยปักหลักปูเสื่อแล้วดื่มของเหลวจากท่อที่ต่อออกมาจากต้นเมเปิลพร้อมกินขนมขบเคี้ยวเช่น ปลาแห้งรสเค็ม (ซึ่งทำให้หิวน้ำมากขึ้น) ควบไปกับการเล่นไพ่ สำหรับชาวแคนาดา อเมริกันและชาติอื่นๆ ในพื้นที่ภูมิศาสตร์ที่มีต้นเมเปิลขึ้นได้นั้น มีการรวบรวมเอาน้ำที่เจาะได้จากต้นเมเปิลมาเคี่ยวจนเป็นน้ำเชื่อมเมเปิล (น้ำที่เจาะได้ 10 ลิตรทำน้ำเชื่อมได้ 1 ลิตร) ซึ่งขึ้นชื่อว่า เป็นน้ำเชื่อมที่หอมหวานเหมาะกับการราดหน้าแพนเค็กแบบสุดๆ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า น้ำเชื่อมเมเปิลนั้นมีไวตามินบี 2 สูงเนื่องจากน้ำที่เจาะได้จากต้นไม้นั้นถูกนำมาใส่ขวดขายได้ จึงเป็นที่แน่นอนว่ามีการอ้างถึงประโยชน์ของน้ำจากต้นไม้นี้ต่อร่างกายในลักษณะที่ปราศจากการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากไม่มีใครสามารถจดลิขสิทธิ์สินค้าลักษณะนี้ได้ จึงไม่มีเอกชนลงทุนทำการวิจัยถึงคุณประโยชน์ที่มีข้อมูลสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ เพราะผลการศึกษาที่ได้นั้นใคร ๆ ก็นำไปใช้ในการโฆษณาสินค้าได้ การศึกษาความจริงลักษณะนี้ทางวิทยาศาสตร์จึงทำได้เฉพาะในหน่วยราชการหรือเป็นงานวิจัยของนักศึกษาเท่านั้นการทำน้ำเชื่อมเมเปิลในทวีปอเมริกาเหนือนั้น ที่จริงแล้วเป็นภูมิปัญญาของคนพื้นเมือง ซึ่งผู้อพยพจากยุโรปได้ตอบรับนำมาสู่วิถีชีวิตแบบไม่รีรอ พร้อมกับทำการพัฒนากระบวนการให้ประณีตขึ้นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ดีขึ้น ประเทศแคนาดาเป็นแหล่งผลิตน้ำเชื่อมเมเปิลที่ใหญ่ที่สุด เพราะผลิตได้ราว 3 ใน 4 ของปริมาณที่พลโลกต้องการ โดยมีการส่งออกด้วยมูลค่าเกือบ 150 ล้านเหรียญดอลลาร์แคนาดา อีกทั้งประเทศนี้ยังเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ชนิดที่เรียกว่า DIY (do it yourself) รายใหญ่สำหรับมือสมัครเล่นที่ประสงค์จะเจาะน้ำจากต้นเมเปิลที่ปลูกไว้ข้างบ้าน (วิธีการและสินค้านั้นหาดูได้จาก YouTube)จากคลิปเรื่อง Maple syrup ใน YouTube ให้ข้อมูลว่า น้ำเชื่อมเมเปิลเป็นน้ำเชื่อมที่ทำจากน้ำที่ได้จากท่อส่งน้ำ (xylem) ของต้นเมเปิลเช่น เมเปิลน้ำตาล (sugar maple) เมเปิลแดง (red maple) หรือเมเปิลดำ (black maple) โดยในช่วงก่อนเข้าหน้าหนาวต้นเมเปิลจะสะสมแป้งในลำต้น จนพอเริ่มเข้าฤดูใบไม้ผลิ แป้งจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลซึ่งถูกลำเลียงเข้าสู่ท่อส่งน้ำซึ่งมนุษย์สามารถเจาะดูดเอาน้ำซึ่งมีรสหวานเฉพาะตัวมาบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กระบวนการต้มจนได้เป็นน้ำเชื่อมในประเทศอื่นเช่น จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย ก็มีการดื่มน้ำจากต้นเมเปิลเช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนกับการดื่มของชาวเกาหลี นอกจากเมเปิลแล้วยังมีไม้ในสกุลอื่นอีกชนิดซึ่งมีผู้กล่าวว่า เป็นไม้ประจำชาติรัสเซีย ที่มนุษย์เจาะเอาน้ำจากท่อนำน้ำออกมาดื่มได้คือ เบิร์ช (Birch) ผู้เขียนพบบทความเรื่อง น้ำหวานจากต้นเบิร์ช ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 3 พฤษภาคม 2552 ในเว็บ oknation โดยผู้เขียนบทความนี้ได้เล่าประมาณว่า ร้านค้าของชำและอาหารในประเทศรัสเซียนั้นมีเครื่องดื่มใส ๆ ออกสีเขียวจาง ๆ ขายคล้ายน้ำผลไม้ น้ำนี้มีรสชาติหอมนิด ๆ หวานหน่อย ๆ พร้อมกลิ่นไม้ซึ่งได้มาจากต้นเบิร์ช สินค้าชนิดนี้มีขายทั้งที่เป็นของจริงและทำเทียมเลียนแบบ เนื่องจากน้ำต้นเบิร์ชของจริงนั้นเก็บรักษาในสภาพอุณหภูมิห้องได้เพียงไม่นานก็สูญเสียรสชาติ จึงจำต้องแช่แข็งแล้วละลายออกมาขาย การเจาะต้นเบิร์ซให้ได้น้ำมากที่สุดนั้นต้องเป็นช่วงก่อนฤดูใบไม้ผลิ (เช่นเดียวกับต้นเมเปิลที่กล่าวแล้วข้างต้น) ต้นเบิร์ชใหญ่ ๆ 1 ต้นสามารถให้น้ำได้มากถึง 15 ลิตรใน 1 วัน อย่างไรก็ดีช่วงเวลาการเก็บน้ำหวานนี้มีเวลาไม่เกิน 1 เดือนในแต่ละปี และในช่วงเวลาตอนปลายของการเก็บน้ำจะเริ่มขม ชนชาติอื่นที่นิยมดื่มน้ำต้นเบิร์ชเช่นกันนั้นอยู่ในยูเครน เบลารุส ฟินแลนด์ จีนตอนเหนือ คนแถบทะเลบอลติก สวีเดนและเดนมาร์ก จากการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่า น้ำต้นเบิร์ชนั้นมีน้ำตาลไซลีทอล แคลเซียม โปแตสเซียม แมงกานีส แมกนีเซียม ฟอสฟอรัสและเหล็ก โปรตีน กรดอะมิโน และพฤกษเคมี ย้อนกลับมาที่น้ำซึ่งเจาะได้จากต้นเมเปิลนั้น คนเกาหลี รัสเซียและอีกหลายชาติเชื่อกันว่า น้ำที่เจาะได้จากต้นไม้นี้มีคุณค่าทางการแพทย์ อีกทั้งความหมายของคำว่า โกโระเซะ (Gorosoe) ในภาษาเกาหลีคือ ดีต่อกระดูก ซึ่งอาจเป็นจริงก็ได้ เพราะเมื่อมีการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พบว่า น้ำที่ได้จากต้นไม้เหล่านี้เมื่อทำเป็นน้ำเชื่อมแล้วมีแมงกานีสสูง ซึ่งเชื่อกันว่าธาตุนี้ช่วยทำให้มวลกระดูกคงสภาพอยู่ได้นาน (ดูข้อมูลได้ที่ http://umm.edu/health/medical/altmed/supplement/manganese) ในสหรัฐอเมริกามีบริษัทหนึ่งชื่อ Happy Tree (www.drinkhappytree.com) มีสินค้าชื่อ Maple Water สินค้านี้เป็นน้ำจากต้นเมเปิลบรรจุขวดพลาสติกด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้ความร้อนจึงคุยว่า สามารถรักษาความเป็นธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ได้ดี มีรสชาติเป็นที่โปรดปรานของลูกค้า บริษัทนี้ระบุว่า น้ำจากต้นเมเปิลของบริษัทเต็มไปด้วยจุลโภชนาสาร (micronutrients) และเอ็นซัม (ขอให้ฟังหูไว้หูเพราะเอ็นซัมส่วนใหญ่แล้วมักเสื่อมสภาพเมื่อถูกบรรจุใส่ขวด) นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาต่ออีกว่า ในปัจจุบันมีร้านอาหารชื่อดังนำสินค้าดังกล่าวไปใช้ในการปรุงอาหารและผสมทำเครื่องดื่มมึนเมา (นัยว่าเพื่อสุขภาพ ???) อีกหลายสูตรถึงจุดนี้ท่านผู้อ่านคงพอเห็นแล้วว่า สักวันหนึ่งเครื่องดื่มที่ได้จากการเจาะต้นไม้ (นอกเหนือไปจากน้ำเชื่อมเมเปิล) ไม่ว่าจะผลิตจากเกาหลี รัสเซีย หรือสหรัฐอเมริกานั้น คงมาเติมเต็มความอยากดื่มกินของแปลกของผู้บริโภคชาวไทย ผู้เขียนขอทำนายว่า คงมีการโฆษณาขายผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นหลักโดยมีโทรทัศน์ดิจิตอลเป็นส่วนเสริม ในช่วงเวลาที่ผู้ดูปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารและโภชนาการละสายตาจากจอมอนิเตอร์เพื่อทำธุระส่วนตัวหรือนอนหลับพักผ่อน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์ กันยายน 2553 5 กันยายน 2553 “คอนแท็กเลนส์” ขึ้นทะเบียนสินค้าควบคุม ต้องมีฉลาก+คำเตือนกระทรวงสาธารณสุข ประกาศควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยผู้ใช้คอนแทคเลนส์ โดยกำหนดให้คอนแทคเลนส์เป็นเครื่องมือแพทย์ ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องมีฉลากภาษาไทย แสดงชื่อคอนแทคเลนส์ วัสดุที่ใช้ทำ คุณสมบัติของเลนส์ เช่น กำลังหักเห รัศมีความโค้ง บอกชื่อของสารละลายที่ใช้แช่เลนส์ ระยะเวลาการใช้งาน ส่วนคอนแทคเลนส์ที่ไม่กำหนดระยะเวลาการใช้งาน ให้ระบุวันหมดอายุ เลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ในกรณีที่นำเข้าให้แสดงชื่อผู้ผลิต เมืองและประเทศผู้ผลิตด้วย   พร้อมทั้งต้องแสดงข้อห้ามการใช้ เช่น ห้ามใส่คอนแทคเลนส์นานเกินระยะเวลาที่กำหนด ห้ามใช้ร่วมกับบุคคลอื่น ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ทุกชนิดเวลานอน ถึงแม้ว่าจะเป็นชนิดใส่นอนได้ก็ตาม รวมถึงข้อความควรระวัง ผู้ที่ไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์ ผู้ที่มีสภาวะของดวงตาผิดปกติ และระบุข้อปฏิบัติหากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหรือปวดตาอย่างมากร่วมกับอาการแพ้แสง ตามัว น้ำตาไหลมาก หรือตาแดง ให้หยุดใช้คอนแทคเลนส์ทันทีและรีบพบจักษุแพทย์โดยเร็ว -------------------------------------------------- 13 กันยายน 2553 ตรวจ “ผลไม้รถเข็น” พบสารพิษเพียบ!!!คนที่ชอบซื้อผลไม้จากรถเข็นมาทานต้องระวัง!!! เมื่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยข้อมูลผลทดสอบความไม่ปลอดภัยในผลไม้รถเข็นของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งพบว่า ผลไม้153 ตัวอย่างปนเปื้อนแบคทีเรียโคลิฟอร์มหรือเชื้อจุลินทรีย์เกินกว่าที่มาตรฐานกำหนดถึง 67.3% นอกจากนี้ยังพบการปนเปื้อนของสีสังเคราะห์ ในตัวอย่างผลไม้ 161 ตัวอย่าง และพบการปนเปื้อนของสารกันรา (ซาลิซิลิค) ส่วนผลไม้แปรรูปจำพวกของดอง พบการปนเปื้อนหรือเจือปนของสารเคมี และสารปนเปื้อนของสารกันรา ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะ ฝรั่งดองบ๊วยที่มีสีเขียวเข้ม และสีแดงเข้มจนม่วง   นอกจากนี้ในการลงพื้นที่แหล่งผลิตและกระจายผลไม้ 5 แห่งได้แก่ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ริมคลองผดุงกรุงเกษม ซอยลูกหลวง 7 (ข้างวัดญาณ) ชุมชนริมทางรถไฟยมราช พบพฤติกรรมผู้ผลิตและจำหน่าย ใช้วัสดุ วัตถุดิบ และกระบวนการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะและมีการเติมสารเคมีจำพวกสารกันรา และสีสังเคราะห์ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้บริโภคทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง คลื่นไส้อาเจียน และอาจก่อให้เกิดมะเร็ง รวมทั้งทำให้ร่างกายอ่อนแอขาดความต้านทานโรคจนถึงแก่ชีวิตได้----------------------------------------------------------------------- 24 กันยายน 2553“ดื่มแล้วไม่ฉลาด” อย.เตือน!!! อย่าเชื่ออาหารโม้สรรพคุณคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ออกโรงเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาสรรพคุณของสารอาหารที่อ้างว่าทำให้ฉลาดขึ้น ซึ่งการโฆษณาที่ไม่ระบุสรรพคุณ คุณประโยชน์ คุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก อย.จากนั้นผู้ประกอบการจะออกโฆษณาชุดใหม่เพื่อบอกว่าผลิตภัณฑ์ของตนมีสารอาหารดังกล่าว เช่น มีวิตามินบี 12 โดยมุ่งหมายให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าถ้ากินผลิตภัณฑ์ของตนก็จะได้วิตามินบี 12 ก็จะทำให้ฉลาดเกิดความคิดดีๆ ซึ่งวิธีโฆษณาแบบนี้เป็นวิธีที่ขาดจริยธรรม-------------------------------------------------- 28 กันยายน 2553กทม. ใส่ใจผู้บริโภค เตรียมส่งเสริมความรู้สิทธิ 5 ประการกรุงเทพมหานคร เตรียมออกแผนการดำเนินงาน ในการดูแลและคุ้มครองประชาชนในฐานะผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจในสิทธิของผู้บริโภค 5 ประการ ประกอบด้วย 1.สิทธิในการรับข่าวสาร/คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ 2.สิทธิในการเลือกสินค้าหรือบริการ 3.สิทธิที่ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4.สิทธิที่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และ 5.สิทธิที่ได้รับพิจารณาและชดเชยความเสียหายจากการบริโภคสินค้า ซึ่งทางกรุงเทพมหานครมีสำนักงานเขต และสำนักอนามัย เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน โดยมีชมรมคุ้มครองผู้บริโภคของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต คอยสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ ให้เกิดความคล่องตัว รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ ป้องกันผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองตามสิทธิสูงสุด-------------------------------------------------- บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรีทั่วประเทศกระทรวงสาธารณสุขประเกศดีเดย์ 1 ต.ค.นี้ ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรีได้ทั่วประเทศ หลังจากเตรียมความพร้อมมากว่า 6 เดือน โดยประชาชน 48 ล้านคนที่มีสิทธิการรักษาพยาบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ผ่านระบบการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ออนไลน์ระหว่างหน่วยบริการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่วนสถานีอนามัยและโรงพยาบาลตำบลที่อยู่ห่างไกลและไม่มีระบบคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต เจ้าหน้าที่จะสำเนาฐานข้อมูลรายชื่อจากส่วนกลางและปรับให้ทันสมัยทุกเดือน สำหรับใครที่ยังไม่ได้รับบัตรประชาชน สามารถใช้บัตรอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้ มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และรูปถ่าย ส่วนคนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีซึ่งยังไม่มีบัตรประชาชน ให้ใช้สำเนาสูติบัตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านแทนได้ ซึ่งสิทธิการรักษาฟรีนี้ครอบคลุมเกือบครบทุกโรค ทั้งบริการทำฟัน การตรวจสุขภาพ และการฟื้นฟูสภาพหลังเจ็บป่วยในรายการที่เหมาะสม เช่นโรคเอดส์ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต ถ้าจำเป็นสามารถผ่าตัดเปลี่ยนไต ล้างไต และมีบริการส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านฟรี ยกเว้นการล้างไตผ่านเครื่อง มีค่าใช้จ่ายครั้งละ 1,500 บาท รัฐจ่ายให้ 1,000 บาท ผู้ป่วยร่วมจ่ายเพิ่มเพียง 500 บาท แต่ไม่ได้ครอบคลุมการผ่าตัดตกแต่ง การปลูกถ่ายตับ ปอด และหัวใจ ซึ่งมีราคาสูง-------------------------------------------------- ปรับลดค่าธรรมเนียมธนาคารการทำธุรกรรมข้ามเขต ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติร่วมกับธนาคารพาณิชย์เรื่องการปรับลดค่าธรรมเนียม ในการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามเขตทั้งการถอนเงินโอนเงิน เนื่องจากเทคโนโลยีในปัจจุบันทันสมัยขึ้น สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ด้วยระบบออนไลน์ซึ่งทำให้ต้นทุนลดลงไปมาก ซึ่งค่าธรรมเนียมใหม่ที่ออกมามีดังนี้ 1.อัตราค่าธรรมเนียมใหม่ของการโอนเงินธนาคารเดียวกันข้ามเขต จากหมื่นละ 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท บวกค่าบริการ 20 บาท เป็นโอนฟรีครั้งแรกส่วนครั้งต่อไปคิดไม่เกิน 15 บาท   2.การถอนเงินในธนาคารเดียวกันข้ามเขต ปัจจุบันธนาคารพานิชย์ส่วนใหญ่คิดหมื่นละ 10 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท บวกค่าบริการ 20 บาท เป็นไม่เกิน 15 บาทต่อรายการ 3.การถอนเงินต่างธนาคารข้ามเขต ปัจจุบันคิดหมื่นละ 10 บาท ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 20 – 25 บาท ครั้งที่ 5 ขึ้นไปใน 1 เดือน คิดเพิ่ม 5 บาท ปรับเป็นไม่เกิน 20 บาทต่อรายการ 4.การถอนเงินและถามยอดผ่านตู้ ATM ต่างธนาคารในจังหวัดเดียวกัน ปัจจุบันถอนและสอบถามยอดในเขตกรุงเทพฯ ใช้ฟรี 4 ครั้งต่อเดือน ครั้งที่ 5 คิดครั้งละ 5 บาท ต่างจังหวัดคิดค่าธรรมเนียม 20 – 25 บาทต่อครั้ง ครั้งที่ 5 ขึ้นไปคิดเพิ่ม 5 บาท เป็นให้ใช้บริการฟรี 4 ครั้งต่อเดือน ครั้งที่ 5 ขึ้นไปคิดไม่เกิน 10 บาท ซึ่งค่าธรรมเนียมใหม่นี้จะเริ่มใช้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2554 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนค่าธรรมเนียมครั้งนี้จะช่วยเหลือประชาชนรายย่อยหรือคนที่ไม่ได้มีธุระต้องทำธุรกรรมทางการเงินเป็นประจำ เช่นการโอนเงินที่ให้ฟรีได้ 1 ครั้งในแต่ละเดือน แต่ที่น่าจะส่งผลกับคนที่ถอนเงินบ่อยตรงที่การปรับค่าธรรมเนียมการถอนเงินผ่านตู้ ATM ต่างธนาคาร จากที่เสีย 5 บาท ในครั้งที่ 5 ของเดือน สำหรับตู้ ATM ในจังหวัดเดียวกัน ส่วนตู้ในต่างจังหวัดคิด 20 - 25 บาท ปรับเป็น 10 บาท ราคาเดียวทั่วประเทศ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 น้ำผลไม้ระเบิดไขมัน

  “น้ำผลไม้ระเบิดไขมัน นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา มีอย. รับรอง 30 ประเทศทั่วโลก จดทะเบียน อย.ในหมวดอาหาร ไม่ใช่ยา สามารถรับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ ยิ่งทานในปริมาณมากยิ่งเห็นผลเร็วขึ้น” ไม่กี่วันมานี้ เพื่อนฝูงผมหลายคนต่างได้รับอีเมล์ จ่อหัวเรื่องซะน่าสนใจว่า น้ำผลไม้ระเบิดไขมัน โดยในเนื้อหาของอีเมล์นี้บอกว่าน้ำผลไม้ที่ว่านี้คือ น้ำผลไม้มากี้เบอร์รี่ Maqui Berry ซึ่งมีส่วนผสมของผลไม้ที่สำคัญและแร่ธาตุในน้ำว่านหางจระเข้ที่มีประสิทธิภาพ ผลไม้นี้ถูกค้นพบในป่าของทวีปอเมริกาใต้ เต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งแตกต่างจากผลไม้อื่นๆ ในโลก เพราะมากี้คือการผสมผสานของทุกอย่างไว้อย่างลงตัว ผมสงสัยว่าคำอธิบายเหล่านี้ คนขายคงกลัวว่า จะไม่น่าเชื่อถือ ในอีเมล์จึงมีการอธิบายคุณสมบัติมหาศาลเพิ่มเติมเข้าไปอีก จนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมียาใดมาเทียมทานได้ในสามโลก เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงสุดในโลก จึงส่งผลในการป้องกันความเสี่ยงต่อภาวะมะเร็งและโรคความเสื่อมของเซลล์และอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย  ช่วยในการลดน้ำหนัก 1 ขวด ช่วยลดน้ำหนักได้ 1-2 กก. ทั้งยังช่วยควบคุมน้ำหนักไม่ให้กลับมาเพิ่มขึ้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีสารพิษ หรืออนุมูลอิสระในร่างกายมากๆ เช่น ผู้ที่อยู่ในโปรแกรมการกำจัดไขมันหรือลดน้ำหนักหรือในผู้ที่ภาวะความเครียดจากการทำงาน ... ยังไม่หมดนะครับ ยังมีบอกต่อไปอีกว่า ช่วยทำให้มีสุขภาพผิวพรรณที่ดี ปรับผิวให้กระจ่างใสและปกป้องจากการถูกทำลายของแสงอาทิตย์ ช่วยให้ระบบการขับถ่ายเป็นปกติ กระตุ้นการล้างพิษในร่างกาย ปกป้องระบบหัวใจและหลอดเลือด ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง อัลไซเมอร์และพาร์คินสัน ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง เพิ่มระดับพลังงาน สนับสนุนให้มีอายุยืนยาว  มีส่วนประกอบของวิตามินซี แคลเซียม ธาตุเหล็กและโพแทสเซียม ทำให้กระดูกและข้อต่อแข็งแรง ช่วยลดการอักเสบและความเจ็บปวดจากข้อต่อโรคข้ออักเสบและกล้ามเนื้อ ป้องกัน LDL จากออกซิเดชัน มีส่วนผสมของ Resveratrol (เรสเวอราทรอล) ใน 1 ขวดเทียบกับ ไวน์แดง 7 ขวด  ประกอบด้วยวิตามิน เกลือแร่ กรดอะมิโนและธาตุอื่นๆ ที่มีส่วนช่วยในการรักษาความสมดุล    ช่วยควบคุมความเป็นกรดกระเพาะอาหาร   มีวิตามินบีสูง เพื่อสุขภาพระบบประสาทไหลเวียนของหัวใจและหลอดเลือดทางเดินอาหารและภูมิคุ้มกันแร่ซีไอออนิก จำเป็นต่อการทำงานของตับและไตและการขับพิษในร่างกาย และยังระบุ หมายเลข อย. 10-3-07754-1-0005 อีกด้วย   อันที่จริงมีหลักง่ายๆ ฝากท่านผู้อ่าน สำหรับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ว่าเป็นจริงหรือไม่ คือ ก่อนอื่นพิจารณาดูว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นอาหารหรือยา ถ้าเป็นยาต้องมีเลขทะเบียนยา ถ้าเป็นอาหารก็จะต้องมีเลขสารบบ ซึ่งจะอยู่ในเครื่องหมาย อย. และที่สำคัญคือ ถ้าเป็นอาหารจะไม่มีสรรพคุณทางการรักษาโรคแต่อย่างใด ถ้ามีถือว่า ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ผู้อ่านก็ลองตรวจสอบได้ด้วยตัวเองเลยครับว่า ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ให้ข้อมูลเท็จหรือไม่ แล้วเราจะได้คำตอบเลยว่า ยิ่งกินมากยิ่งเห็นผล ไอ้ผลที่ว่านั้นคือผลในการรักษาหรือผลที่คนขายจะรวยกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ผมส่งอีเมล์นี้ก็ไปถึง อย.เรียบร้อยแล้วครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 146 2 ปี กับการจัดการโฆษณาหลอกลวงน้ำผลไม้อินทรา

 เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2554 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณเกษสุดา ชาวแม่เมาะ จ.ลำปาง ว่า ได้รับแผ่นพับโฆษณาขายน้ำผลไม้ ยี่ห้ออินทรา ซึ่งนำเข้าและจัดจำหน่ายโดย บริษัท ไลฟ์สไตล์ แปซิฟิค ริม(ประเทศไทย) จำกัดแผ่นพับที่คุณเกษสุดาได้มา มีข้อความระบุว่า เป็นของศูนย์ข้อมูลน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพของป๋ามร มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อย่างชัดเจน มีการโฆษณาว่า น้ำผลไม้อินทรา มีสรรพคุณในการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ ให้ดีขึ้นเหมือนกับการรักษาทางยา เช่น ไมเกรน โรคผิวหนัง โคเลสเตอรอล อัมพฤต อัมพาต เบาหวาน กระดูกสันหลังทับเส้น โรคมะเร็ง โรคตับอักเสบ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ เรียกว่ากวาดกลุ่มเป้าหมายอย่างกว้างขวางคุณเกษสุดา มีอาการอัมพาตช่วงหัวเข่า คิดว่าอาการของตัวเองไร้ทางออก หลงเชื่อว่าน้ำผลไม้ยี่ห้อนี้จะช่วยรักษาให้หายได้ เลยซื้อมากินหนึ่งขวด ราคาขวดละ 1,445 บาท ถูกมั้ยล่ะ กินไปได้ 2 เดือน อาการอัมพาตที่เป็นอยู่ก็ยังเหมือนเดิมนั่นแหละแต่ถึงขนาดนี้คุณเกษสุดาก็ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองถูกหลอกหรือเปล่า เลยส่งเรื่องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบโฆษณาน้ำดื่มผลไม้ยี่ห้อนี้ แนวทางแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ได้มีหนังสือไปถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อปลายเดือนกันยายน 2554 และได้รับหนังสือตอบกลับมาในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2556เรามาดูกันว่าเส้นทางการจัดการปัญหาโฆษณาหลอกลวงของน้ำผลไม้ยี่ห้อดังกล่าวหลังจากนี้เป็นอย่างไรบ้าง อย. ได้รับเรื่องร้องเรียนในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 และได้ส่งเรื่องให้สำนักงานสาธารณสุขเชียงใหม่(สสจ.เชียงใหม่) ทำการตรวจสอบ ขณะเดียวกันสำนักอาหารของ อย. ได้ทำการตรวจสอบควบคู่ไปในเวลาเดียวกันวันที่ 7 พฤศจิกายน 2554 สำนักอาหารได้สรุปผลการตรวจสอบเอกสารการโฆษณาส่งกลับมาที่เลขา อย.  ได้ความว่า เอกสารของโฆษณาสื่อให้เข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราอินทรา มีสรรพคุณในการบำบัด บรรเทารักษาโรคได้หลายชนิด แม้จะมีการแสดงเลขอนุญาตโฆษณาอาหาร แต่การโฆษณาซึ่งทำให้เข้าใจสรรพคุณลักษณะดังกล่าวถือว่าไม่ได้รับอนุญาตให้โฆษณา จัดเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ สรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร จัดเป็นการกระทำฝ่าฝืนมาตรา 41 และมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522สำนักอาหารยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า กรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเคยได้ตรวจสอบกับบริษัท ไลฟ์สไตล์ฯ หลายครั้งแล้ว และไม่พบว่ามีเอกสารการโฆษณาตามที่มีการร้องเรียน อย่างไรก็ตามอาจเป็นไปได้ว่า เป็นการดำเนินการของสมาชิกอิสระของบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ ประกอบธุรกิจจำหน่ายอาหารแบบขายตรง และข้อมูลการร้องเรียนแจ้งว่าผู้ร้องเรียนได้รับเอกสารจากบุคคลชื่อ ป๋ามร ระบุหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบจากอินเตอร์เน็ตว่า หมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว        เป็นของ นายมร  กันยาบำเรอ ทั้งนี้ จากการขอข้อมูลชื่อ-สกุล และที่อยู่ของบุคคลดังกล่าวกับนายอำเภอเมืองนนทบุรี ได้ข้อมูลว่าบุคคลดังกล่าวอยู่บ้านเลขที่......ตำบลป่ากุมเกาะ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย จึงเห็นควรแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยตรวจสอบดำเนินการตามกฎหมาย และสั่งระงับโฆษณากับผู้โฆษณาในเขตพื้นที่ และให้รวบรวมบันทึกการตรวจสอบและพยานหลักฐานส่งให้ สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการกรณีพบว่า เป็นการดำเนินการเผยแพร่โฆษณาโดยบริษัทฯ และนอกจากนี้เนื่องจากเห็นว่า เป็นการโฆษณาจำหน่ายอาหารในลักษณะขายตรง ซึ่งอาจมีการโฆษณาลักษณะดังกล่าวทั่วประเทศ จึงเห็นควรประสาน กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคช่วยเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้กับผู้บริโภคทราบ และให้ใช้วิจารณญาณอย่าหลงเชื่อคำโฆษณา และประสาน กองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อแจ้งให้ทุกจังหวัดเป็นข้อมูลเฝ้าระวังวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนถึง เลขา อย. แจ้งว่า พบว่าศูนย์ข้อมูลน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพป๋ามร มีสถานที่อยู่ที่ ต.ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เป็นสถานที่ตั้งของสถานีวิทยุ FM 95.25 MHzสอดคล้องกับการตรวจสอบของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยซึ่งมีหนังสือตอบกลับมาที่ อย.ในวันที่ 7 ธันวาคม 2554 ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ได้ตรวจสอบสถานที่ หจก.กันยามีเดีย ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้อินทรา ขณะตรวจพบ นางดวงศมนฑร์  ไกรทอง ผู้ดูแลกิจการ ยอมรับว่า เอกสารแสดงสรรพคุณเป็นของทางร้านที่แนบไปกับผลิตภัณฑ์ที่ส่งมอบให้กับลูกค้า สสจ.สุโขทัย จึงได้ชี้แจงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นการโอ้อวดสรรพคุณเป็นยาไม่ใช่น้ำผลไม้ และให้ยุติการแจกจ่ายเอกสารให้กับลูกค้า ส่วนเอกสารของบริษัทผู้นำเข้าได้รับอนุญาตโฆษณาถูกต้อง สามารถเผยแพร่ได้ นอกจากนี้ ทางร้านยังมีการโฆษณาทางวิทยุคลื่น 95.25 MHz ขอให้นำข้อความหรือเสียงมาขออนุญาตจากจังหวัดให้ถูกต้องเสียก่อนจึงจะโฆษณาได้ ขณะนี้(ช่วงเวลาในขณะนั้น)ให้ระงับโฆษณาไปก่อน ต่อมา นายมร กันยาบำเรอ ได้เดินทางมาที่สำนักงานสาธารณสุขจ.สุโขทัย รับว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง โดยยุติการแจกจ่ายเอกสารแสดงสรรพคุณ 31 รายการ และดำเนินการขออนุญาตเกี่ยวกับโฆษณาให้ถูกต้อง31 มกราคม 2555 สสจ.สุโขทัย ได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสัชนาลัย เพื่อขอความร่วมมือในการบันทึกเสียงการโฆษณาจากสถานีวิทยุชุมชน FM 95.25 MHz8 กุมภาพันธ์ 2555 สสจ.สุโขทัย มีหนังสือกลับมาที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาว่า ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่บันทึกเสียงการโฆษณา ณ ปัจจุบัน (หลังจากแจ้งให้สถานีวิทยุระงับการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย)ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบข้อความที่จะเข้าข่ายหรือหลอกลวงให้หลงเชื่ออีก 1 ปีต่อมา19 กุมภาพันธ์ 2556 อย. ได้มีหนังสือตอบกลับมาที่มูลนิธิฯว่า จากการตรวจสอบเอกสารโฆษณาดังกล่าว พบว่า มีการโฆษณาคุณประโยชน์สรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และหลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้โฆษณาชื่อ นายมร กันยาบำเรอ เป็นสมาชิกขายตรงอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย จึงได้ขอความร่วมมือ สสจ.สุโขทัยตรวจสอบสถานที่จำหน่ายห้างหุ้นส่วนจำกัด กันยามีเดีย โดยผู้ดูแลกิจการยอมรับว่า เอกสารโฆษณาเป็นของทางร้าน จึงได้ให้ยุติการแจกจ่ายให้กับลูกค้า นอกจากนี้ทางร้านยังมีการโฆษณาทางวิทยุคลื่น 95.25 MHz จึงขอให้นำข้อความหรือเสียงมาขออนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งได้ให้ระงับโฆษณาไปก่อน ต่อมานายมรฯ ได้เดินทางมาที่สำนักงานสาธารณสุข(จ.สุโขทัย) รับว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง ทั้งนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อในคำโฆษณา และแจ้งให้ทุกจังหวัดเป็นข้อมูลเฝ้าระวังด้วยแล้วอย.ตอบกลับมาที่มูลนิธิฯ เหมือนกับที่ สสจ.สุโขทัย ตอบกลับมาที่ อย. แทบไม่มีผิดเพี้ยนผู้บริโภคหลงเชื่อโฆษณาเสียเงินไป 1,445 บาท เสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม นี่แค่รายเดียวที่มีการร้องเรียน แต่จะมีอีกกี่รายที่โดนแบบนี้ แต่ในเบื้องต้น สสจ. และ อย. ได้ใช้มาตรการตักเตือนไปก่อน ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า การดำเนินการคดีทางกฎหมายจะเป็นเช่นใดทั้งนี้ ตามกฎหมาย พ.ร.บ.อาหารพ.ศ. 2522 ความผิดในมาตรา 40 ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 น้ำตาลในน้ำผักผลไม้

เครื่องดื่มประเภทน้ำผักผลไม้ สามารถสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับผู้บริโภคได้เสมอ เพราะมักโฆษณาว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งมันคงเป็นเช่นนั้นจริงๆ หากเครื่องดื่มเหล่านั้นไม่ผสมน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน หรือตามที่นักโภชนาการแนะนำคือ 24 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา/วัน เพราะน้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ซึ่งหากเราบริโภคมากเกินไป สามารถเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคอ้วนหรือฟันผุ ทั้งนี้ไม่ว่าน้ำตาลนั้นจะมาจากการสกัดหรือเป็นน้ำตาลฟรักโทสที่อยู่ในผลไม้ก็ตาม เพราะร่างกายของเราสามารถเปลี่ยนน้ำตาลฟรักโทสให้กลายเป็นกลูโคส เพื่อใช้เป็นพลังงานได้เช่นกันฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอเสนอผลทดสอบ ปริมาณน้ำตาลในน้ำผักผลไม้จำนวน 27 ตัวอย่างจาก 8 ยี่ห้อยอดนิยม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพ และป้องกันการบริโภคน้ำตาลมากเกินความต้องการโดยไม่รู้ตัว ซึ่งยี่ห้อไหนจะมีน้ำตาลมากหรือน้อยกว่ากัน ไปดูกันเลย    ตารางผลทดสอบ

อ่านเพิ่มเติม >