ฉบับที่ 274 ผักผลไม้ควรกินแต่พอดี

        หลายคนอาจเข้าใจว่า การกินผักมากๆ ดีต่อสุขภาพเพราะอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่มากมาย กินมากเท่าไรก็ควรจะดีเท่านั้น         อย่างไรก็ดีในเดือนตุลาคม 2566 มีข่าวหนึ่งซึ่งน่าสนใจบนหลายเว็บไซต์ให้ข้อมูลว่า ดาราสาวได้แชร์ประสบการณ์ผ่านอินสตาแกรมถึงกรณีป่วยเพราะกินผักเยอะ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจนเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร เนื้อข่าวนั้นได้มีการแสดงภาพขณะทำการตรวจรักษาพร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “มีเรื่องมาเตือนทุกคนเพราะเพิ่งไปตรวจสุขภาพส่องกล้องลำไส้ใหญ่มา เนื่องจากช่วงหลังรู้สึกว่าท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยมากแล้วพบว่า เกิดจากการกินอาหารจำพวกสลัดมากเกินไป เพราะผักบางชนิดอาจจะไปกระตุ้นทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ใหญ่ เลยทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ”         มีคำแนะนำจากเว็บไซต์ของ Mayo Clinic (Wikipedia ให้ข้อมูลว่า เป็นศูนย์การแพทย์เชิงวิชาการของสหรัฐอเมริกาที่ไม่แสวงหากำไร มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษาและการวิจัยแบบบูรณาการในการบำบัดโรคที่ยากลำบากที่ต้องการดูแลระดับตติยภูมิและการแพทย์ทางไกล ศูนย์นี้มีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 7,300 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอีก 66,000 คน ประจำในวิทยาเขตหลักสามแห่ง ได้แก่ โรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา; แจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา, และฟีนิกซ์/สกอตส์เดล รัฐแอริโซนา) กล่าวในบทความเกี่ยวกับใยอาหารว่า ผู้หญิงควรพยายามกินใยอาหารอย่างน้อย 21-25 กรัมต่อวัน ในขณะที่ผู้ชายควรตั้งเป้าไว้ที่ 30-38 กรัมต่อวัน โดยผักหนึ่งถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) ให้ใยอาหารราว 8 กรัม นั่นหมายความว่า ถ้ากินผัก 4-5 ถ้วยแล้วจะได้ใยอาหารเกินมาตรฐานสำหรับผู้หญิง         ในกรณีที่กินผักผลไม้มากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้นนั้น Mayo Clinic กล่าวว่า ปริมาณที่แนะนำนั้นไม่ใช่ปริมาณสูงสุด คนที่ชอบผักและผลไม้ส่วนใหญ่กินใยอาหารมากกว่าที่แนะนำโดยไม่ได้รับผลเสียใดๆ ถ้าทยอยกิน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อกินมากกว่าที่กระเพาะรับไหวหรือเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มักแสดงออกในลักษณะของผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์คือ มีแก๊สในท้อง ท้องอืด และอาจท้องผูกอย่างรุนแรง         การกินใยอาหารมากเกินไปอาจทำให้ได้สารอาหารบางชนิดไม่พอได้ เนื่องจากใยอาหารมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารอื่นๆ บทความเรื่อง Does Dietary Fiber Affect the Levels of Nutritional Components after Feed Formulation ในวารสาร Fibers ของปี 2018 ได้ให้ข้อมูลว่า การบริโภคใยอาหารอาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งคุณสมบัติของใยอาหาร เช่น ความสามารถในการอุ้มน้ำจนรวมตัวเป็นก้อนส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการจับสารอาหารอื่น เกิดความหนืดและมีความเป็นวุ้นหรือเจลซึ่งเป็นการกักเก็บน้ำซึ่งส่งผลให้สารอาหารที่ละลายน้ำได้ติดอยู่กับใยอาหารซึ่งเคลื่อนตัวลงสู่ลำไส้ใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารต่างๆ ลดลง         มีประเด็นที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ใดที่ควรใส่ใจควบคุมปริมาณผักและผลไม้ให้พอเหมาะ โดยทั่วไปแล้วการกินอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้หรือ plant based diet ในภาพรวมนั้นช่วยให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ดี แต่อาหารที่มีพืชเป็นหลักนั้นบางประเภทอาจทำให้ผอมเกินไป ซึ่งหากเป้าหมายในการกินผักผลไม้คือ การลดน้ำหนัก สิ่งจำเป็นต้องควบคุมคือ สัดส่วนของผลไม้และผักที่มีแป้งและ/หรือน้ำมันที่ให้พลังงานสูง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง และถั่ว ดังนั้นแม้แต่อาหารเพื่อสุขภาพก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไปขึ้นได้         มีการแนะนำกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศว่า ประชาชนควรบริโภคอาหารให้ครบห้าหมู่ซึ่งรวมถึงการกินอาหารกลุ่มผักผลไม้ที่ให้ใยอาหาร อย่างไรก็ดีคำแนะนำนั้นยังขาดการให้ข้อมูลเชิงลึกว่า การกินผักหรือผลไม้นั้น ถ้ากินอะไรก็ได้ ทำให้ได้ผลเหมือนกันหรือไม่อย่างไร ข้อมูลพื้นฐานที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับใยอาหาร         ใยอาหาร หมายถึง ทุกส่วนของอาหารจากพืชที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยเป็นโมเลกุลเล็กได้ จึงไม่มีการดูดซึมอะไรเข้าสู่ระบบของร่างกาย ต่างจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จาก ข้าวสุก ขนมปัง เผือก มัน และน้ำตาลต่างๆ ส่วนความรู้สึกจากการเคี้ยวอาหารที่มีใยอาหารปริมาณสูงคือ ความกระด้างของอาหารที่เกิดขึ้น เปรียบได้ถึงความแตกต่างระหว่างการเคี้ยวข้าวสวยที่หุงจากข้าวขัดขาวและข้าวกล้อง (หรือข้าวซ้อมมือ)         ใยอาหารนั้นมีสองประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดี (soluble fiber) ซึ่งอุ้มน้ำและของเหลวในทางเดินอาหารจนมีลักษณะคล้ายวุ้น (ให้นึกภาพเม็ดแมงลักที่แช่น้ำแล้วพองตัว) ที่ถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้แก๊ซ ซึ่งมีความเป็นกรดไขมันระเหยง่ายที่ให้พลังงานแก่เซลล์ของลำไส้ใหญ่และอาจเหลือส่งไปสมอง ส่วนอีกประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดี (insoluble fiber) ซึ่งคงสภาพเกือบเหมือนเดิมแม้มีโมเลกุลของน้ำเกาะอยู่บ้างขณะเคลื่อนผ่านระบบทางเดินอาหาร และไม่ถูกย่อยเลยทั้งจากน้ำย่อยของมนุษย์และแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จึงถือว่า ไม่เป็นแหล่งพลังงาน         ผู้เขียนไม่ใช้คำว่า ละลาย แม้ว่าฝรั่งใช้คำว่า soluble กับ fiber เนื่องจากคำว่า ละลายนั้นทางเคมีแล้วมีความหมายประมาณว่า การที่สารกระจายตัวในตัวทำละลายอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้เกิดของเหลวที่ทุกตำแหน่งในภาชนะมีความเข้มข้นเท่ากัน เช่น เกลือแกงละลายน้ำ ส่วนใยอาหารนั้นเป็นแค่จับตัวกับโมเลกุลของน้ำได้ดีทางกายภาพจึงทำให้มองเห็นว่า พองขึ้นในน้ำ เช่นกรณีที่เมล็ดแมงลักพองตัวในน้ำ         สำหรับภาพรวมถึงประโยชน์ของใยอาหารคือ ทำให้รู้สึกอิ่มนานหลังมื้ออาหาร เนื่องจากใยอาหารที่อุ้มน้ำดีทำให้การย่อยอาหารช้าลง ในขณะที่ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีจะเข้าไปเติมเต็มพื้นที่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว ลดความเสี่ยงต่อหลายโรค เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมอื่นๆ         ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีมักลดการดูดซึมไขมันและช่วยควบคุมน้ำหนักซึ่งเข้าใจกันว่า ลักษณะวุ้นที่เกิดขึ้นนั้นมีความหนาและกระจายตัวออกไปรอบไขมันจึงชะลอหรือลดการย่อยและดูดซึม ประเด็นนี้รวมถึงลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้ในระดับหนึ่ง จึงเป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีช่วยรักษาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้คงที่ โดยชะลออัตราการย่อยคาร์โบไฮเดรตให้ช้าลงเช่นกัน         ประเด็นที่สำคัญมากคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีแทบทั้งหมดเป็นอาหาร (prebiotics) ของแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพ (probiotics) ในลำไส้ใหญ่ โดยผลที่ได้ออกมาคือ กรดไขมันระเหยได้ (volatile free fatty acids เช่น กรดน้ำส้ม กรดโปรปิโอนิค และกรดบิวทิริค) ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่         สำหรับใยที่อุ้มน้ำไม่ดี (ซึ่งหมายความว่า อุ้มน้ำบ้าง) นั้นมีบทบาทในการป้องกันอาการท้องผูกเพราะไม่ถูกแบคทีเรียย่อย จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อตัวเป็นอุจจาระที่มีความหนืดพอเหมาะไม่แข็งหรือเหลวเกินไป รวมถึงช่วยเพิ่มน้ำหนักของอุจจาระส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการขยับตัวของลำไส้ซึ่งเป็นการช่วยเร่งการกำจัดของเสีย (รวมถึงสารพิษที่ถูกขับออกมาจากตับทางน้ำดี) ในอุจจาระให้ออกจากร่างกาย เป็นการป้องกันการอุดตันของกากอาหารในทางเดินอาหารและลดอาการท้องผูก ซึ่งต่อเนื่องไปถึงการลดความเสี่ยงของโรคถุงบนผนังลำไส้ (diverticular disease คือ การเกิดกระเปาะหรือถุงโป่งยื่นออกมาทางด้านนอกของผนังลำไส้) ซึ่งอาจมีขนาดต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ และอาจมีกระเปาะเดียวหรือหลายกระเปาะได้  ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด         มักมีคำถามว่า ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด ประเด็นนี้คงตอบยากและคงไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ เพราะแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างเฉพาะตัว เช่น กรณีของโปรไบโอติกในลำไส้ใหญ่นั้นก็ตัวใครตัวมัน ดังนั้นถ้ากินใยอาหารได้เหมาะสมสิ่งที่สังเกตได้คือ การขับถ่ายอุจจาระเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ถ่ายแข็งหรือเหลวเกินไป ไม่ท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่ผายลมบ่อยนัก         อาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารที่อุ้มน้ำดีที่หากินได้ในบ้านเราเพื่อทำหน้าที่เป็นโปรไบโอติกนั้น เช่น แตงกวาทั้งสุกและดิบ ฟักทองสุก ถั่วดำปรุงสุก ถั่วแดงปรุงสุก แครอทปรุงสุก กระหล่ำดาวปรุงสุก ข้าวโอ๊ต มันหวานปรุงสุก (เช่น มันม่วง มันสีส้ม) ฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม เมล็ดทานตะวัน และอีกหลายชนิดที่ดูมีเนื้อนิ่ม         สำหรับคำแนะนำในการเพิ่มปริมาณใยอาหารในแต่ละมื้อสำหรับท่านผู้อ่านที่ถ่ายอุจจาระแล้วดูแข็งเกินไปคือ กินธัญพืชไม่ขัดสีซึ่งมีใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีสูง (ตามเหตุผลที่อธิบายข้างต้น) พร้อมทั้งพิจารณาอาหารที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ราวครึ่งจานในแต่ละมื้อ และถ้าเป็นไปได้ให้พยายามบริโภคผักและผลไม้ทั้งเปลือกถ้าพิจารณาแล้วไม่เสี่ยงต่อสารกำจัดศัตรูพืชและไม่ก่อความลำบากให้เหงือกและฟัน พร้อมทั้งค้นหาวิธีที่ดีในการปรุงอาหารที่สามารถเพิ่มผักเช่น ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด และผลไม้บางชนิดลงไปตามความเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ตลาดถนอมมิตร กับแนวคิดอาหารปลอดภัยที่ยั่งยืน

        เทรนด์กินรักษ์โลกยังมาแรง แต่ผู้บริโภคบางคนอาจหมดแรงซะก่อน เพราะหากเดินตามตลาดสดทั่วๆ ไป การหาซื้อผักและผลไม้สดปลอดสารเคมี เนื้อหมูไม่ใส่สารเร่งเนื้อแดง หรืออาหารทะเลสดๆ ไม่มีสารโลหะหนักปนเปื้อน ที่มีมาตรฐานการผลิตปลอดภัยจริงๆ ในราคาสมเหตุสมผลนั้น คงจะเหนื่อยหน่อย             ฉลาดซื้อรู้จักรู้ใจผู้บริโภคดี ฉบับนี้จึงพามาที่ ตลาดถนอมมิตร ตลาดสดยุคใหม่ย่านวัชรพล ในกรุงเทพฯ ซึ่งที่นี่มีพ่อค้าแม่ค้าเปิดร้านขายวัตถุดิบอาหารออร์แกนิกคุณภาพดี มีให้เลือกหลากหลาย ในราคาที่ชาวบ้านอย่างเราๆ จ่ายได้ โดยเป็นผลงานการบริหารของคุณศุภกร กิจคณากร กรรมการผู้จัดการตลาดถนอมมิตร เจ้าของตลาดที่ตั้งใจบริการให้ลูกค้าเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้สะดวก พร้อมทั้งสนับสนุนให้พ่อค้าแม่ค้าและผู้ผลิตสินค้าออร์แกนิกให้ยืนหยัดอยู่ได้อย่างเข้มแข็งด้วยการทำร้านค้าออร์แกนิกในตลาดถนอมมิตรมีจุดเริ่มต้นอย่างไร         จริงๆ ทางเราก็ตั้งใจมานานมากแล้วที่จะหาสินค้าที่มีคุณภาพเข้ามาให้บริการกับลูกค้า แต่อย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ เราเป็นเจ้าของสถานที่ เราไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้าที่นำมาขาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ก็คือ เราพยายามที่จะส่งเสริมผู้ค้าที่ขายสินค้าอยู่ในตลาด โดยชี้ช่องให้เขาเห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแล้วนะ ทัศนคติ มุมมองของลูกค้าที่มองหาสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยมีมากขึ้นเรื่อยๆ นะ ลูกค้าอาจจะยอมจ่ายแพงกว่าสินค้าเดิมทั่วไปนิดหน่อยได้นะ เราก็ค่อยๆ รวมกลุ่มผู้ค้า แล้วก็พยายามเสาะหาผู้ค้าใหม่ที่มีสินค้าตรงตามแนวทางที่เราตั้งใจไว้ให้เข้ามาด้วย มีวิธีคัดเลือกและควบคุมคุณภาพร้านค้าในตลาดอย่างไร         ทางตลาดของเราค่อนข้างให้ความสำคัญในการคัดเลือกผู้ค้าที่จะเข้ามาขายสินค้าในตลาด เรามีการพูดคุยสัมภาษณ์กันก่อนว่าขายสินค้าอะไร ขายราคาเท่าไหร่ มาขายเองไหม หรือจ้างลูกจ้างมา เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่มาขายนั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีราคาสมเหตุสมผล แล้วที่สำคัญก็คือเรื่องของการให้บริการที่เราค่อนข้างที่จะกำชับกับผู้ค้าว่า ไม่ใช่เอาลูกจ้างต่างด้าวมาปล่อยแล้วก็มาเก็บเงินอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้ทางเราก็จะไม่ให้เข้ามาตั้งแต่แรก         เรายังเน้นเรื่องความสะอาดมากๆ ด้วย เรามีเจ้าหน้าที่หลายคนเดินตรวจตลาดอยู่ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงวิกฤติโควิด-19 ทางตลาดก็เข้มงวดเรื่องของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็นสวมหมวก ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ทำความสะอาดแผงค้า และสินค้าปรุงสำเร็จต้องมีภาชนะคลุม นี่ก็เป็นสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด ทำไมถึงมีแนวคิดว่าควรมีร้านออร์แกนิคในตลาดสด         เราเองก็มองเห็นปัญหาเรื่องของอาหารที่ไม่ปลอดภัยมาตลอด เราโตมากับการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐเรื่องของยาฆ่าแมลง เรื่องการจับปลาฤดูวางไข่ อะไรพวกนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนก็รู้แหละ แต่ว่าเราไม่มีทางเลือกไง แล้วจะให้ทำยังไง โดยเฉพาะตลาดขายปลีกนี่ยิ่งไม่มีทางเลือกเข้าไปใหญ่เลย เพราะว่าผู้ค้าเราก็จะไปรับมาจากตลาดขายส่ง ซึ่งก็จะว่ากันด้วยเรื่องของราคากับคุณภาพสินค้า แม้ภาครัฐจะพยายามรณรงค์เรื่องยาฆ่าแมลง อะไรต่อมิอะไร แล้วก็มาจับที่ตลาดค้าปลีก เพราะง่ายดี ก็มาตรวจที่ตลาดค้าปลีก เราก็บอกว่าทำไมไม่ไปจับที่ต้นทาง ก็เป็นปัญหาวังวนอยู่อย่างนี้         แล้วก็มีเทรนด์เรื่องการตื่นตัวของกลุ่มเกษตรกรด้วย ที่ต้องการปลูกสินค้าคุณภาพไว้บริโภคเองส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็มาขาย โดยจะรวมกลุ่มกันมาขายเป็นหมู่คณะ แต่ที่ชัดเจนคือ คนปลูกกับคนขายไม่เจอกัน จะมีช่องว่างตรงนี้ คือคนปลูกก็ไม่รู้จะไปขายใคร คนซื้อก็ไม่รู้จะซื้อที่ไหน เราก็เห็นว่าตรงนี้น่าจะเป็นหน้าที่ของเจ้าของตลาดสดที่จะเข้ามาเติมช่องว่างตรงนี้ให้ได้ ก็คือเป็นที่ที่ผู้ปลูกมาขายให้กับแม่ค้าภายในตลาด แล้วแม่ค้าก็ขายให้กับลูกค้าที่เขาต้องการสินค้าลักษณะนี้         แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะว่ากว่าจะปรับ กว่าจะแนะนำให้รู้จักกัน กว่าจะเข้าถึงสินค้าประเภทนี้ กว่าเกษตรกรจะมาเจอกับผู้ขายในตลาดได้ เราทำมาจนถึงทุกวันนี้ก็น่าจะเกือบ 10 ปีแล้ว ลูกค้าให้การตอบรับดีไหม         ดีครับ เรามีลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมากพอสมควร เพราะลูกค้าที่เขาเลือกที่จะบริโภคสินค้าลักษณะนี้ เขามีความต้องการที่ชัดเจน เขาต้องศึกษามาแล้วว่าสินค้าที่มีคุณภาพจริงๆ เป็นอย่างไร น่าเชื่อถือแค่ไหน แล้วราคาควรจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งปัญหาที่ทางตลาดเจอคือ คนมักจะเข้าใจผิดว่า สินค้าออร์แกนิกต้องแพง แต่จริงๆ แล้วถ้าเราบริโภคตามฤดูกาล แล้วก็มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ ไม่ได้ผ่านมาหลายต่อ ผักออร์แกนิกไม่ได้แพงกว่าผักเคลือบสารเคมีเท่าไหร่เลย หากซื้อมาเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน ส่วนต่างตรงนี้ไม่กี่เปอร์เซนต์หรอก ในฐานะเจ้าของตลาดมองเรื่องอาหารปลอดภัยในบ้านเราอย่างไร         เรื่องอาหารปลอดภัยนี้ก็เป็นโจทย์ที่ยังต้องช่วยกันอย่างมาก เพราะว่าซัพพลายที่เข้ามาอยู่ในตลาดนั้นเป็นสัดส่วนที่แทบจะเทียบกันไม่ได้เลย ระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตผักที่เรารู้กันอยู่ กับผักคุณภาพที่มีเสนอให้ผู้บริโภค ซึ่งปัญหาตรงนี้ก็ต้องเข้าใจว่าเกษตรกรที่เขาปลูกผักหรือเลี้ยงสัตว์ที่ปลอดภัย เขาก็ต้องเจอปัญหาพ่อค้าคนกลางกดราคา การเข้าไม่ถึงแหล่งผู้ซื้อได้โดยตรง ยิ่งเป็นของสดนี่จะรอให้ค่อยๆ หาคนมาซื้อก็ไม่ได้ แล้วบางครั้งยังออกมาพร้อมๆ กันอีก เพราะฉะนั้นผมมองว่าเรื่องการบริหารจัดการที่ดี ตรงนี้ยังเป็นปัญหาอยู่         ในฐานะเจ้าของตลาด เราก็อยากให้มีสินค้าดีๆ มาขาย แต่ปัญหาก็คือ เราเองก็ยังเข้าไม่ถึงเกษตรกรกลุ่มนั้น แล้วการที่เขาจะนำสินค้ามา หรือผู้ค้าในตลาดเราจะเข้าไปซื้อของเขา การเชื่อมต่อจุดต่างๆ นี่ก็ยังขาดๆ หายๆ อยู่ ในขณะเดียวกันก็มีของที่ราคาถูก รูปลักษณ์สวย มีให้กินทุกฤดูกาล ในราคาที่ไม่แพง ก็ซ้ำเข้ามาอีก ฉะนั้นการที่จะทำให้อาหารทางเลือกที่ปลอดภัยสามารถยืนได้อย่างแข็งแรง เราต้องช่วยกัน ผู้บริโภคเองก็ต้องเข้าใจจุดนี้ด้วย วางแผนจัดการร้านค้าออร์แกนิกในตลาดต่อไปอย่างไร         ตอนนี้ร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกในตลาดเราก็อยู่ได้มั่นคง ซึ่งเป้าหมายต่อไปคือ เราจะขยายกลุ่มผู้ค้าที่ขายสินค้าออร์แกนิกภายในตลาดให้มากขึ้น เราวางแผนไว้แล้ว อย่างเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เราได้ประชุมร่วมกับทางมูลนิธิชีววิถี พี่เขาก็พากลุ่มเกษตรกรที่ปลูกออร์แกนิกมาสองกลุ่มใหญ่ เราก็เชิญผู้ค้าที่ขายผักโครงการหลวง ขายผักออร์แกนิกมา เพื่อให้พวกเขาได้คุยกัน ก็ยังอยู่ในช่วงของการติดต่อสื่อสารกันอยู่ ขนาดว่าแม่ค้าอยากซื้อ คนปลูกอยากขาย ก็ยังต้องคุยกันว่ามีอะไร ราคาเท่าไหร่ เล็งกันไปเล็งกันมา ช่วงนี้ยิ่งเจอปัญหาโควิด-19 ทางตลาดก็วุ่นเรื่องฉีดวัคซีน ตรวจ ATK กันอยู่ งานนี้เลยดีเลย์ไป 2 ปีที่ผ่านมา แต่เราก็มีแพลนอยู่แล้วว่าเราจะผลักดันยังไงต่อไป           ที่ผ่านมา ตลาดของเราก็ทำปุ๋ยเองจากพวกเศษอาหาร เศษซากสัตว์ พุงปลา หัวกุ้ง หรือเปลือกผลไม้ เราดึงพวกนี้ออกมาจากระบบที่จะต้องขนไปทิ้งเป็นขยะ วันหนึ่งก็ได้ประมาณตันกว่า เราเอามาทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ของเรา แล้วก็แจกลูกค้า ซึ่งจริงๆ แล้วเราตั้งใจว่าจะเอาปุ๋ยนี้ให้กับเกษตรกรที่เขาทำสินค้ามาให้กับผู้ค้าเรา แต่ผู้ค้าเราก็ยังไปรับมาจากแหล่งขายส่งอยู่ ซึ่งพอวันที่เราได้เจอกับกลุ่มเกษตรกรตัวจริง เราก็บอกว่า “พี่ เรามีปุ๋ยนะ วันที่พี่เอาผักมาส่งที่นี่ พี่ขนปุ๋ยเราไปได้เลย” นี่คือไอเดียที่เราคุยกันมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้เริ่มใช้จริงจัง ซึ่งถ้าเป็นไปได้อย่างนี้ ก็จะช่วยให้ต้นทุนของเกษตรกรถูกลงด้วย อยากให้ฝากถึงตลาดอื่นๆ ที่สนใจเปิดร้านออร์แกนิกในตลาดสด         จริงๆ แล้วในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ เราเห็นชัดเจนเลยว่าความต้องการของผู้บริโภคหันมาสนใจสินค้าที่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นเจ้าของตลาด การเปิดร้านขายสินค้าออร์แกนิกนี้ เราก็มองว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำให้มีสินค้าทางเลือก มาให้บริการกับลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายในตลาด ยิ่งมีสินค้าประเภทนี้มากก็จะทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องอาหารปลอดภัยเข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน แต่สิ่งที่เจ้าของตลาดต้องตีโจทย์ให้แตกคือ สินค้าที่นำมาขายนั้นจะต้องเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานจริงๆ ถึงจะดึงลูกค้ากลุ่มนี้เอาไว้ได้ เพราะฉะนั้นผู้ค้าเองต้องมีความน่าเชื่อถือ ตลาดเองก็ต้องคอยตรวจสอบการซื้อขาย และต้องเข้าไปดูอยู่เรื่อยๆ ว่าผู้ค้าเอาสินค้ามาจากไหนด้วย        ถ้าหากเกิดเป็นลักษณะของการย้อมแมวขายแล้ว ลูกค้าเขาไม่ได้ด่าแม่ค้านะ เขาด่าตลาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 มนต์รักหนองผักกะแยง : ดีใจจังใครต่อใครก็เป็นลาว

        วรรณกรรมท้ายรถแท็กซี่ เคยปรากฏข้อความสติ๊กเกอร์เขียนว่า “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” วลีแบบนี้สะท้อนจิตสำนึกของคนอีสานผู้พลัดถิ่นมาใช้ชีวิตในเมืองหลวง ที่พยายามยึดโยงและภูมิใจในตัวตนของความเป็น “อีสานบ้านเฮา” แม้จะพลัดพรากมาพำนักในพื้นถิ่นดินแดนอื่นก็ตาม         แต่ดูเหมือนว่า ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์คนอีสานพลัดถิ่นเช่นนี้ ไม่น่าจะใช่คำอธิบายที่ถูกต้องนักสำหรับพระเอกหนุ่มอย่าง “บักเขียว” ที่ “ละทิ้งแผ่นดินถิ่นอีสาน จากมิตรวงศ์วานบ้านป่า” เพื่อก้าวเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์กลางแห่งเมืองหลวงอันทันสมัย         ในละครโทรทัศน์เรื่อง “มนต์รักหนองผักกะแยง” นั้น ได้ย้อนภาพกลับไปสัมผัสชีวิตของบักเขียวตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กน้อยแห่งชุมชน “บ้านหนองผักกะแยง” โดยมีเด็กหญิงคู่หูคู่ปรับข้างบ้านชื่อ “ชมพู่” เป็นเพื่อนไม้เบื่อไม้เมากันมา ครั้นพอโตขึ้น บักเขียวได้ย้ายไปเรียนที่กรุงเทพ ทำให้เด็กน้อยสองคนต้องแยกจากกันไป         เมื่อมาอยู่มหานครอันศิวิไลซ์ จากนักเรียนดีเด่นของแดนดินถิ่นอีสานที่เว้าลาวพูดไทยไม่ชัด และกินปลาร้าปลาแดกเป็นนิจสิน บักเขียวได้ถูกเพื่อนร่วมชั้นกลั่นแกล้งบูลลี่กับวัตรปฏิบัติที่ต่างไปจากพวกเขาเหล่านั้น แถมยังล้อเลียนบักเขียวว่า เป็น “เด็กบ้านนอก” บ้าง หรือเป็น “เด็กลาวเด็กอีสาน” บ้าง ไปจนถึงทำให้เด็กชายพลัดถิ่นกลายเป็น “ตัวตลก” ในหมู่ผองเพื่อนชาวกรุงไป         ในห้วงจิตใจลึกๆ บักเขียวโทษความผิดว่า เป็นเพราะ “ยายเพียร” ที่เลี้ยงดูเขามาให้เป็น “คนอีสาน” เขาจึงบอกตัวเองว่า จักต้องลบประวัติศาสตร์หน้านี้ออกไปจากชีวิต และจะไม่กลับไปเหยียบบ้านหนองผักกะแยงอีกเลย         เพราะศักดิ์ศรีแห่งคนอีสาน ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการที่ต้องให้คนกรุงเทพหรือ “คนอื่น” มาเชิดชูยอมรับ แต่ต้องมาจากจิตสำนึกของ “คนใน” เองที่ต้องมั่นอกมั่นใจในตัวตนความเป็นอีสานนั้นเสียก่อน ดังนั้น บักเขียวจึงเลือกจะรื้อถอนชื่อแซ่อัตลักษณ์ท้องถิ่นให้สลายหายไปในทุกวิถีทาง ถึงขนาดที่ว่า ก่อนอยู่บ้านนาเขาเรียกกันว่า “บักเขียว” มาอยู่กรุงเทพ เพียงประเดี๋ยวเดียว เปลี่ยนจากบักเขียวเป็น “ธรากร” กันเลย         บักเขียวในคราบไคลใหม่ เริ่มฝึกพูดภาษาไทยไม่ให้เหลือสำเนียงอีสานแต่อย่างใด เลิกกินและแสดงอาการรังเกียจปลาร้าปลาแดกอย่างออกหน้า เปลี่ยนลุคปรับวิธีเดินเหินและการแต่งตัวเสียใหม่ ไปจนถึงเลือกเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาที่จะไม่ต้องเฉียดกรายกลับสู่วิถีเกษตรอันเป็นรากเหง้าที่ถีบตัวเองออกมา         กล่าวกันว่า พื้นที่ความเป็นเมืองเป็นดินแดนที่ปราศจากซึ่งความรัก แม้จะปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองเพียงใด เมื่อบักเขียวเรียนจบ ได้กลายมาเป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์และคบหากับ “อลิซ” แฟนสาว รวมทั้งทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อผ่อนคอนโดเรือนหอหลักล้าน แต่แล้ว ภายใต้ความฝันที่จะก่อร่างสร้างชีวิตในเมืองมั่งคั่ง อลิซก็สะบั้นรักหักอกเขา แถมยังใช้เล่ห์กลโกงโฉนดสัญญาคอนโดไปเป็นของเธออีก         “เมืองหลวงควันและฝุ่นมากมาย พี่สูดดมเข้าไปร่างกายก็เป็นภูมิแพ้ ผู้หญิงที่กรุงเทพก็อันตราย เพราะพวกเธอหลายใจหัวใจพี่เองก็แพ้…” บักเขียวผู้ครวญเพลง “ภูมิแพ้กรุงเทพ” จึงได้แต่พกพาจิตใจอันบอบช้ำกลับไปเยียวยาบาดแผลยังบ้านหนองผักกะแยง ภูมิลำเนาบ้านเกิดที่ตนจากมากว่ายี่สิบปี         แม้ละครจะผูกปมให้เห็นว่า เขี้ยวเล็บที่บักเขียวลับคมมาจากเมืองกรุง ทำให้จิตสำนึกของเขาได้แต่มองที่ดินของยายเพียรเป็นเพียงสินทรัพย์ที่จะขายไปเพื่อต่อทุน และกลับไปตั้งหลักใช้ชีวิตในเมืองหลวงอีกคำรบหนึ่ง แต่ความรักและสายสัมพันธ์อันเป็นแรงเกาะเกี่ยวยึดโยงไว้ตั้งแต่ครั้งอดีต ก็ทำให้สายตาของบักเขียวค่อยๆ เห็นอีกด้านหนึ่งของชนบทอีสานบ้านเกิดที่ต่างออกไป         ในห้วงหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมา วิถีการพัฒนาแบบทันสมัยพยายามสร้าง “ภาพจำ” เพื่อเหมารวมอีสานให้กลายเป็นพื้นที่ที่ล้าหลัง แร้นแค้น เป็นดินแดนแห่งความยากจน ความทรงจำวูบแรกที่ผู้คนนึกถึงวิถีอีสานมักเกิดขึ้นบนผืนดินแตกระแหง และเป็นชีวิตที่ไม่สอดรับกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจใดๆ ภาพจำแบบนี้จึงเป็นแรงผลักให้เกิดแรงงานอีสานพลัดถิ่นที่ซัดเซพเนจรมาเสี่ยงโชคชะตาในมหานครเมืองกรุง         ดังนั้น เมื่อต้องพลัดถิ่นไปนาน และติดบ่วงอยู่ในภาพจำแบบเดิมเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่อาการบักเขียวผู้กลับมาหนองผักกะแยงช่วงแรกๆ จึงกอปรขึ้นจากความรังเกียจรังงอน สีหน้าขยะแขยงอาหารที่ปรุงรสด้วยปลาร้า ไปจนถึงอากัปกิริยาเหม็นขี้วัวที่ต้องโกยมาทำปุ๋ยคอก ดูจะสะท้อนภาพดังกล่าวได้เป็นอย่างดี         เพราะอีสานเป็นเบ้าหลอมที่บักเขียวใช้ชีวิตเติบโตมา และก็เหมือนกับความเชื่อมั่นที่ยายเพียรกล่าวถึงหลานชายว่า “คนเรามันเปลี่ยนกันได้ เบิ่งไป” เราจึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า ในท้ายสุดบักเขียวก็ต้องล้มเลิกความคิดที่จะขายที่ดินของบรรพชนเพื่อแลกกับเม็ดเงินหลายสิบล้าน และเลือกจะใช้ชีวิตครองคู่กับชมพู่น้องนางบ้านนามากกว่าผู้หญิงกรุงเทพที่หักอกเขาแบบไม่ไยดี         แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในยุคปัจจุบันที่คนอีสานในโลกความเป็นจริงมีความมั่นคงแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสังคมมากขึ้น ภาพจำในแบบเดิมๆ จึงถูกบักเขียวรับรู้และตีความอีกครั้งให้กลายเป็น “อีสานใหม่” ผ่านโลกสัญลักษณ์แห่งละครโทรทัศน์ไปเสียเลย         จากผืนดินที่แตกระแหงก็กลายเป็นผืนนาอันเขียวขจี จากภาพอีสานที่ยากจนแร้นแค้นกลายเป็นชีวิตผู้คนที่หาอยู่หากินและร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน จากภูมิภาคที่ล้าหลังดิบเถื่อนกลายเป็นแอ่งอารยธรรมที่โอบอุ้มประเพณีพิธีกรรมอันน่าถวิลหา จากความแห้งแล้งและคราบน้ำตากลายเป็นดินแดนแห่งรักโรมานซ์ที่แม้แต่ฝรั่งต่างชาติยังชื่นชมและอยากใช้ชีวิตอยู่ และที่สำคัญ จากภาพคนอีสานตัวดำในห้วงคำนึงกลายเป็นพระเอกหนุ่มที่สวมบทบาทโดยคุณพี่ณเดชน์สามีแห่งชาติของสาวๆ รุ่นใหม่หลายคน         เพราะจิตสำนึกของคนเราเปลี่ยนได้แบบที่ยายเพียรมั่นใจในหลานชายของตน จากคนที่พลัดถิ่นไปอยู่ในวิถีบริโภคล้วนๆ เป็นหนุ่มเมืองหลวง เมื่อได้ย้อนกลับคืนบ้านเกิด บักเขียวได้ลงมือปลูกแตงกวาและเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยตนเองเป็นครั้งแรก เขาก็ค่อยๆ สำเหนียกเห็นคุณค่าของวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม จนพูดกับตนเองว่า “คิดถึงแปลงแตงกวา ไม่เคยคิดถึงแตงกวามากขนาดนี้มาก่อนเลย”         หลังผ่านการรื้อถอนปอกเปลือกคราบไคลที่ห่อหุ้มตัวตนจริงๆ ออกไป ในท้ายที่สุด “จริต” ของบักเขียวที่เคย “ดัด” ให้ต้องพูดภาษาไทยชัดเจนด้วยสำเนียงแบบคนกรุงเทพ ก็กลับกลายมาเป็นคนอีสานบ้านเฮาที่เว้าภาษาบ้านเกิดเป็นไฟแลบโดยไม่รู้ตัว         หากในเมืองหลวงถิ่นอื่น คนอีสานมีแต่ต้องชะเง้อหาแนวร่วมที่จะตะโกนร้อง “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” แต่ทว่าในถิ่นฐานภูมิลำเนาที่ตนภูมิใจในอัตลักษณ์ศักดิ์ศรีเท่านั้น บักเขียวก็พร้อมจะบอกทั้งตนเองและคนอื่นๆ ว่า ณ บ้านหนองผักกะแยงแห่งนี้ “ดีใจจังใครต่อใครก็เป็นลาว”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 กระแสต่างแดน

คุมกำเนิดบิ๊กโฟร์        สหรัฐฯ เล็งออกกฎหมาย 5 ฉบับ เพื่อควบคุมบิ๊กเทคทั้งสี่ (Amazon, Apple, Facebook และ Google) ไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดเกินไป         จากการสำรวจการครองตลาดของสี่ค่ายนี้เป็นเวลา 15 เดือน ทีมวิจัยพบข้อมูลการใช้อำนาจเหนือตลาดเรียกเก็บค่าบริการที่แพงเกินไป การกำหนดข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้ใช้ รวมถึงการเก็บข้อมูลบุคคลและธุรกิจต่างๆ ที่ใช้บริการ         หากร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่านการพิจารณา (อีกหลายรอบ) บิ๊กโฟร์จะไม่สามารถเข้าซื้อกิจการบริษัทเล็กได้ง่ายเหมือนที่ผ่านมา และจะไม่สามารถเลือกให้ประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองเหนือผลิตภัณฑ์ของผู้ค้ารายอื่นบนแพลตฟอร์มของตัวเอง         กฎหมายใหม่จะให้อำนาจกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น         ในการประชุม G7 ครั้งล่าสุด ประเทศสมาชิกยังเห็นพ้องกับข้อเสนอที่จะขอให้ประเทศต่างๆ เรียกเก็บภาษีขั้นต่ำร้อยละ 15 จากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีด้วย  แบตเตอรีต้องกลับมา         การสำรวจโดยกลุ่มศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมพบว่า ร้อยละ 50 ของขยะแบตเตอรีในครัวเรือนประเทศเยอรมนียังคงถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป         กรรมการผู้จัดการของ Redux บริษัทที่เชี่ยวชาญการรีไซเคิล “แบตเตอรีจากครัวเรือน” แห่งหนึ่งในเยอรมนีที่รีไซเคิลแบตเตอรีปีละ 10,000 ตัน บอกว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยกฎหมายเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดจากการสรรหาวัตถุดิบที่นำมาทำแบตเตอรี โดยเฉพาะเมื่อพาหนะไฟฟ้ามีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น         วัตถุดิบมีค่าอย่างโคบอล์ท นิกเกิล ทองแดง และลิเธียม ควรถูกนำกลับมาใช้ใหม่         Redux เสนอว่าแบตเตอรรีรถยนต์ ควรอยู่ใน “ระบบเช่า” ที่ผู้ใช้สามารถนำแบตฯ เสื่อมสภาพมาเปลี่ยนเอาของใหม่ได้         ค่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเทสลาและโฟล์กสวาเกน ก็ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงลงทุนหลายหมื่นล้านเหรียญเพื่อรองรับการรีไซเคิลแบตเตอรี ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์  เพราะอาหารแพงมันน่ากลัว         สวิตเซอร์แลนด์โหวต “ไม่รับ” แผนห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและห้ามนำเข้าพืชผักหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมีดังกล่าว         แม้จะมีข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันคนสวิสไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนต้องดื่มน้ำปนเปื้อนสารเคมี แต่เสียงจากภาคการเกษตรมีอิทธิพลพอสมควร พวกเขาอ้างว่าสารเคมีการเกษตรที่ใช้นั้นผ่านการทดสอบและควบคุมจนสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว         หากไม่ใช้สารเคมี ผลิตผลทางการเกษตรจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ พืชผักต่างๆ จะราคาแพงขึ้น และสวิตเซอร์แลนด์อาจสูญเสียอธิปไตยทางอาหารด้วย         รัฐบาลเองก็แอบลุ้นให้ประชาชนโหวตไม่รับแผนดังกล่าว เพราะนั่นหมายถึงการที่ผู้คนจะพากันข้ามชายแดนไปซื้ออาหารจากประเทศข้างเคียง           ตามกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ ประชาชนทั่วไปสามารถขอให้มีการทำประชามติได้ หากรวบรวมรายชื่อได้ถึง100,000 รายชื่อ กลุ่มที่เสนอแผนห้ามใช้สารเคมีครั้งนี้คือกลุ่มที่ชื่อว่า Future 3 ไม่อยากได้ยิน         สถาบันด้านสุขภาพของเนเธอร์แลนด์จะทำการสืบสวนผลกระทบต่อสุขภาพที่มีสาเหตุจากกังหันลม หลังงานวิจัยพบว่า เสียงกังหันลมส่งผลต่อสุขภาวะของคนในชุมชน         พลังงานสะอาดนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อม และเนเธอร์แลนด์ก็มีเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 49 ภายในปี 2030         แต่ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีเสียงคัดค้านจากชุมชนมากขึ้น เพราะเสียงจากการทำงานของกังหันตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ทำให้ชาวบ้านนอนไม่หลับ เกิดความเครียดและมีปัญหาสุขภาพ           ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดระยะห่างขั้นต่ำระหว่างตัวกังหันและชุมชน มีเพียงข้อเสนอจากเขตหนึ่งที่ขอให้กำหนดระยะดังกล่าวไว้ที่ 600 เมตรจากบ้านคน         ส่วนข้อกำหนดด้านเสียงนั้นมีอยู่แล้วที่ 49 เดซิเบล เมื่อวัดจากนอกตัวบ้าน แต่ระดับเสียงยังขึ้นกับชนิดของกังหันและทิศทางลมด้วย                 รายงานระบุว่าผู้คนไม่ได้ต่อต้านกังหันลม แต่อยากให้มีการจัดการหรือการจำกัดเสียงที่เกิดขึ้นจากกังหันลมมาช้าแต่ก็มานะ         ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในญี่ปุ่นให้การตอบรับ “ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก” ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ในที่สุดบรรดาผู้ผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ก็ตัดสินใจเข้าร่วมตลาดนี้จนได้ โดยจะผลิตคู่ไปกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แบบที่เคยทำอยู่         แถมยังบอกด้วยว่าประสบการณ์ที่มีจะทำให้เขาทำผลิตภัณฑ์จากบุกและถั่วเหลือง หรือแหล่งโปรตีนอื่นๆ อย่างสาหร่าย แมลง ออกมาได้รสชาติเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ         เพื่อให้ประเทศไม่ตกเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมในอเมริกาและยุโรป กระทรวงเกษตรกรรมของญี่ปุ่นจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านการหาและพัฒนาแหล่งโปรตีนใหม่ๆ มีตัวแทนสถาบันวิจัย บริษัทสตาร์ทอัป ผู้ประกอบการ และองค์กรอื่นๆ เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 800 คน         ญี่ปุ่นเองต้องการส่งออกอาหารไปยังตลาดยุโรปและอเมริกา และต้องการเพิ่มมูลค่าตลาดให้ได้ถึง 45,600 ล้านเหรียญ (1.4 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม

พาณิชย์คุมเข้มค่าบริการดีลิเวอรี่ ห้ามขึ้นค่าคอมมิชชั่นร้านค้า        7 พ.ค. นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามดูแลราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างใกล้ชิด กรมการค้าภายในจึงได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ทั้ง 11 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lineman, GRAB, Foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJmall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove  ซึ่งจากการหารือผู้ให้บริการยืนยันว่า ไม่มีการปรับขึ้นราคาค่าบริการขนส่งดีลิเวอรี่อย่างแน่นอน พร้อมกันนี้ หลายแพลตฟอร์มยังมีการจัดโปรโมชั่น เพื่อช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว สำหรับสถานการณ์ยอดการสั่งซื้อส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 5-10% เท่านั้น หรือบางรายไม่เพิ่มขึ้น         กรณีที่มีข่าวว่าแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีการปรับขึ้นค่า GP (Gross Profit) หรือ ค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับเป็นค่าดำเนินการที่ทางแพลตฟอร์มเรียกเก็บนั้น แพลตฟอร์มต่างๆ ยืนยันว่าไม่มีนโยบายปรับค่า GP หรือค่าบริการขนส่ง เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์และต้องการช่วยเหลือร้านค้าต่างๆ อยู่แล้ว โดยในส่วนการเก็บค่า GP บางรายให้ร้านค้าเลือกที่จะจ่ายค่า GP หรือไม่ บางรายไม่มีการเก็บค่า GP หรือเก็บค่า GP เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ ได้เน้นย้ำให้แพลตฟอร์มพยายามรักษามาตรฐานสุขอนามัยของพนักงานส่งสินค้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน รวมทั้งให้แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ดูแลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด และต้องแสดงราคาให้ชัดเจนอีกด้วยผักสด 10 ชนิดที่พบพยาธิมากที่สุด         เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยผลสำรวจผักสดที่วางขายตามตลาด พบการปนเปื้อนพยาธิสูงถึง 35.1%  และมีพยาธิที่สามารถไชผ่านผิวหนังเราได้ จำเป็นต้องล้างด้วยน้ำยาล้างผัก และสวมใส่ถุงมือขณะล้าง         ข้อมูลดังกล่าวมาจากการสำรวจของ Punsawad C และคณะ (2019) จากสำนักวิชาแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเก็บผักจากตลาดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 265 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนพยาธิในผักจำนวน 93 ตัวอย่าง (35.1%)   โดยพบว่ามีพยาธิปากขอสูงสุด 42.9% รองลงมาคือ พยาธิเส้นด้าย 10.6% พยาธิแส้ม้า 2.6% พยาธิไส้เดือน 2.6% และพยาธิไส้เดือนสุนัข 2.6%         โดยผัก 10 ชนิดที่พบพยาธิเรียงจากมากไปน้อย คือ 1. ผักขึ้นฉ่ายฝรั่ง 2. สะระแหน่ 3. ใบบัวบก 4. ผักชีไทย 5. หอม 6. ผักชีฝรั่ง 7. ผักกาดขาวจีน 8. ผักสลัด  9. โหระพา 10. ผักบุ้งจีน  แนะรับประทานโดยการทำให้สุก หากจะรับประทานสดควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างผัก น้ำส้มสายชู ด้วยการแช่อย่างน้อย 30 นาที และควรสวมถุงมือขณะล้างป้องกันพยาธิชนิดที่ไชผ่านผิวหนังได้ สภาของผู้บริโภคเสนอหน่วยงานกำกับเร่งตรวจสอบ รพ.เอกชนเรื่องค่ารักษาพยาบาล         สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ กรมการค้าภายในและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งตรวจสอบและกำกับควบคุมราคาค่าบริการ ค่ารักษา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด - 19 ของโรงพยาบาลเอกชน หลังพบกรณีที่อาจเข้าข่ายการตั้งราคาที่สูงเกินสมควร เช่น ผ้าก๊อซ ที่ราคาต้นทุน 10 บาท ถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บในราคา 800 บาท ชุดป้องกันเชื้อ (PPE) ราคาที่ยอมรับร่วมกัน 144 บาท แต่กลับถูกเรียกเก็บถึง 401.61 บาท หรือหน้ากาก 3M รุ่น 1870 ราคาขายในท้องตลาดชิ้นละ 65 - 70 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งคิดราคาถึงชิ้นละ 185 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดถึงร้อยละ 226 – 282         การตั้งราคาในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นที่มาของการเรียกร้องให้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จนกลายเป็นภาระของรัฐบาลและประชาชน เป็นการสร้างวิกฤติในวิกฤติอีกชั้นครม.เห็นชอบจัดสรรงบให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นทุนประเดิมขับเคลื่อนงาน         11 พ.ค. 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน จำนวน 350 ล้านบาท ให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น ตามที่ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนด สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีอำนาจหน้าที่ อาทิ คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ติดตามและตรวจสอบปัญหาที่กระทบสิทธิผู้บริโภค ส่งเสริมองค์กรของผู้บริโภคในระดับพื้นที่และจังหวัด ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดี สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิ และเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ภาครัฐ         น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับแผนปฏิบัติการสภาองค์กรของผู้บริโภค ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 - 2565 ประกอบด้วย 6 แผนสำคัญ ดังนี้        1.แผนงานสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค        2.แผนงานพัฒนานโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค        3.แผนงานสนับสนุนหน่วยประจำจังหวัดและองค์กรของผู้บริโภค        4.แผนงานสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค        5.แผนงานจัดตั้งสำนักงานและพัฒนากำลังคนของสภาองค์กรของผู้บริโภค        6.แผนเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพันธมิตร ส่งคําชี้แจงขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว ควบรวมธุรกิจ ซีพี – เทสโก้โลตัส         14 พฤษภาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในฐานะผู้ฟ้องศาลปกครองร่วมกับ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์ จํากัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จํากัด อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ส่งคําชี้แจงถึงเหตุผลที่ขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยระบุว่า หากศาลไม่คุ้มครองชั่วคราวจะทำให้เกิดการผูกขาดจนยากต่อการแก้ไข เยียวยาภายหลัง การอนุมัติให้ควบรวมครั้งนี้จะเพิ่มอำนาจครอบงำธุรกิจ ปิดทางเลือกผู้บริโภค ทำลายกิจการรายย่อย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 238 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2563

หน้ากากอนามัยขายเกินราคา จำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท        ความต้องการหน้ากากอนามัยพุ่งสูงอีกครั้งเมื่อสถานการณ์โควิดกลับมาร้อนอีกหน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 22 ธันวาคม ว่า         หน้ากากอนามัย มี 3 ประเภท คือ 1.หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (เป็นสินค้าควบคุม) 2.หน้ากากผ้า 3.หน้ากากทั่วไป        หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มี 2 ประเภท 1.ผลิตในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 30 โรงงานผลิต ได้ประมาณวันละ 4-5 ล้านชิ้น ส่วนที่สองหน้ากากอนามัยที่มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ การควบคุมราคานั้นจะมีความแตกต่างกันสำหรับที่ผลิตในประเทศไทย คุมราคาชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท ส่วนหน้ากากนำเข้า คุมราคาอยู่ที่ต้นทุนนำเข้าบวกอีกไม่เกินร้อยละ 60 ของต้นทุนนำเข้า ก็จะเป็นราคาจำหน่ายที่ควบคุม         “สำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทยที่คุมราคา 2.50 บาท ได้มีการติดตามตรวจสอบมาโดยตลอดก่อนที่จะเกิดปัญหาที่สมุทรสาครราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1-2 บาทไม่เกิน 2.50 บาท แต่ถ้าขายเกินราคาควบคุมจะมีการดำเนินคดีและถือว่ามีความผิด โทษของการขายเกินราคาจะจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”         ผู้บริโภคหากพบว่ามีการขายเกินราคาหรือกักตุนให้แจ้งพาณิชย์จังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแจ้งสายด่วน 1569          กรมการค้าภายในคาดปี 64 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ปรับขึ้น          นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปี 64 ว่า สถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคจะยังคงทรงตัวจากปีนี้ และไม่น่ามีแรงกดดันทำให้ผู้ประกอบการต้องขอปรับขึ้นราคาขาย เพราะจากการประเมินปัจจัยที่เป็นต้นทุนการผลิตโดยรวม พบว่ายังไม่น่าปรับขึ้นโดยคาดว่าราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับที่ไม่น่ากังวล เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ส่วนค่าเงินบาทที่มีผลต่อการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนนั้น คาดว่าจะไม่ต่างจากปีนี้คือ มีอัตราไม่แข็งค่าหรืออ่อนค่าเกินไปสามารถดูแลได้       สำหรับมาตรการดูแลราคาสินค้าของกรมการค้าภายในประกอบด้วย การกำหนดรายการสินค้าและบริการควบคุม ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ซึ่งจะมีการประชุมทบทวนรายการสินค้าและบริการควบคุมทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้น และการกำหนดรายการสินค้าสำคัญที่ติดตามดูแล 207 สินค้า และ 23 บริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตัวแทนผู้บริโภคทั้งประเทศเกิดแล้ว         ราชกิจจานุเบกษา “ประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค”         มาตรา 3 ให้จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของผู้บริโภค และมีสิทธิ หน้าที่ และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46 พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง         ประกาศ ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2563 รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายทะเบียนกลาง ธ.ไทยพาณิชย์เตือนภัยลิงก์เว็บไซต์ปลอมที่มาทางไลน์ อีเมลและ sms         หลังพบการร้องเรียนจากลูกค้ากว่า 200 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท โดยมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นธนาคารต่างๆ รวมทั้งธนาคาไทยพาณิชย์ส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอม แนบมากับอีเมล sms หรือ LINE เพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญของผู้บริโภค ทั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยืนยันไม่มีนโยบายในการส่งข้อความผ่านทาง SMS, อีเมล, LINE หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือรหัสต่างๆ สำหรับท่านใดที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ สามารถติดต่อธนาคารฯ ได้ที่ 02-777-7777 ตลอด 24 ชั่วโมง ผลตรวจผักไทยแพน ผักไฮโดรไม่ได้ปลอดภัยกว่าผักผลไม้ทั่วไป         ผลการสุ่มตรวจผักประจำปี 2563 ของไทยแพน ตอกย้ำว่าผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่า โดยผลการสุ่มตรวจผักไฮโดรโปนิกส์ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 9 ตุลาคม 2563 จำนวน 52 ตัวอย่าง พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 29 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 55.8% ใกล้เคียงกับการตกค้างของผักผลไม้ทั่วไปที่สุ่มตรวจทั่วประเทศในคราวเดียวกันเกือบ 500 ตัวอย่าง         โดยตัวอย่างที่มีสารพิษตกค้างทั้งหมด 39 ตัวอย่าง (รวมที่พบการตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน 10 ตัวอย่าง) พบว่าเป็นสารกำจัดแมลง 18 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 17 ชนิด และสารกำจัดแแมลงและไร 3 ชนิด         ผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นระบบการปลูกผักที่ให้ปุ๋ยเคมีผ่านสารละลายในน้ำหรือตัวกลาง โดยอาจปลูกในระบบปิด เช่น ในโรงเรือน หรือในพื้นที่โล่งก็ได้ สภาวะพืชที่อวบน้ำและมีธาตุอาหารในรูปสารละลาย ดึงดูดให้โรคแมลงโจมตี ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งจึงใช้สารเคมีกำจัดแมลง (insecticide) สารเคมีกำจัดโรค (fungicide) เป็นต้น เพื่อควบคุมกำจัด โดยจากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการบางรายนำสารเคมีประเภทดูดซึมผสมอยู่ในสารละลายเพื่อใช้กำจัดโรคแมลงด้วย ทำให้ความเสี่ยงในการตรวจพบสารเคมีตกค้างของผักไฮโดรโปนิกส์แทบจะไม่แตกต่างใดๆกับผักทั่วไป ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายละเอียดว่า ผักยี่ห้อใด และแหล่งจำหน่ายใดพบการค้างได้จากลิงค์ https://www.thaipan.org/highlights/2283         ผลการวิเคราะห์นี้ยังเป็นสัญญาณเตือนไปยังห้าง ซัพพลายเออร์ และผู้ผลิตที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมทั้งหน่วยงานต่างๆทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯที่จะต้องทำหน้าที่กำกับดูแล ให้ความรู้ และปกป้องสุขภาพของประชาชน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฏาคม 2563

5 แบงก์เปิดบัญชีเงินฝากด้วยใบหน้าสำเร็จ        ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไฟเขียว 5 แบงก์เปิดบัญชีเงินฝากด้วยเทคโนโลยีจดจำใบหน้าสำเร็จ จากทดสอบทั้งหมด 14 ราย พร้อมออกหลักเกณฑ์ ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ให้บริการทางการเงิน         นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้มี 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย กรุงเทพ กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย และซีไอเอ็มบี ไทย ได้ออกจากศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (Sandbox) ภายหลังจากธปท.ได้เปิดทดสอบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามธนาคาร บนแพลตฟอร์ม NDID (National Digital ID) เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากผ่านหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้าด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ ในการให้บริการทางการเงิน โดยใช้เทคโนโลยีชีวมิติในการเปรียบเทียบใบหน้า (Facial recognition) เพื่อให้บริการเป็นวงกว้าง         “จากการทดสอบเราจะดูความแม่นยำของการยืนยันตัวตน ซึ่งในการทดสอบประมาณ 99.50% สามารถยืนยันได้แม่นยำ และอีก 0.50% อาจจะมีเรื่องของแสงของภาพอาจมืดไป หรือใบหน้าที่อาจมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น ธปท.จึงอยากให้ประชาชนไปอัพเดตข้อมูลกับธนาคารให้เป็นปัจจุบันที่สุด เพื่อจะได้รับบริการที่สะดวกยิ่งขึ้น”         ทั้งนี้ ธปท. ได้ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ ในการให้บริการทางการเงินเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่นำ Biometrics มาใช้ในการให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการเปรียบเทียบใบหน้า แนวปฏิบัติดังกล่าวครอบคลุมหลักการที่ผู้ให้บริการทางการเงินพึงปฏิบัติ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ 2) การรวบรวมข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย 3) การประมวลผลข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างแม่นยำ 4) การรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวดและรัดกุม ตามมาตรฐานสากล 5) การคุ้มครองผู้ใช้บริการและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวมิติอย่างเหมาะสมเพียงพอ และ 6) การควบคุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง  คาดธุรกิจฟาร์มปลูกผักในเมืองเติบโตขึ้นรับยุคนิวนอร์มัล        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ประเทศไทยช่วง 1-2 ปีถัดจากนี้ อาจมีธุรกิจฟาร์มปลูกผักในเมืองเพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการปลูกที่ให้ผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่และหนึ่งหน่วยเวลาที่สูงกว่าปกติ สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพ รวมถึง COVID-19 ที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจนี้จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้เข้าถึงความปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น นับเป็นโอกาสดีของคนเมือง         โดยทำเลที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการลงทุน ได้แก่ พื้นที่ใจกลางเมืองที่มีผู้คนอาศัยหรือสัญจรเป็นจำนวนมาก อาทิ ห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารสูง เป็นต้น เพื่อป้อนให้กับลูกค้าเป้าหมายที่สนใจและพร้อมเต็มใจจ่ายกับสินค้ากลุ่มนี้ อาทิ คนรักสุขภาพ ผู้ออกกำลังกายหรือผู้รักการทำอาหาร ส่วนในระยะต่อไปกลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าจับตาคาดว่า น่าจะอยู่ในกลุ่มของโรงแรม โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูงเพื่อนำเสนอให้กับลูกค้า ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น โรงเรียนสังกัดกทม.ห้ามจำหน่ายน้ำอัดลม ขนมกรุบ ลดภาวะฟันผุในเด็ก         นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. เปิดเผยว่า จากการสำรวจนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาทั่วประเทศ เกี่ยวกับสุขภาพทางช่องปาก พบเด็กนักเรียนมีฟันผุในระยะเป็นรูถึงร้อยละ 50 เฉลี่ย 1-2 ซี่/คน ดังนั้นสำนักการศึกษา กทม. จึงวางแนวทางปฏิบัติสำหรับโรงเรียนสังกัด กทม. ในเรื่องการจำหน่ายอาหารว่าง เครื่องดื่มในโรงเรียน โดยห้ามจำหน่ายน้ำอัดลม อาหารกรุบกรอบ ลูกอมทุกชนิด อาหารประเภทปิ้งย่างที่ไม่สะอาดมีโภชนาการต่ำและไม่ปลอดภัยให้เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งอาหารจะต้องมีคุณค่าตามหลักโภชนาการ สะอาดและปลอยภัยแก่นักเรียน พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเรื่องการจำหน่ายอาหารแก่บุคลากรและร้านค้าทั้งในโรงเรียนและบริเวณรอบโรงเรียน ตลอดจนให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ อบรมให้ความรู้แก่นักเรียนในการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ พร้อมให้คำแนะนำนักเรียนหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์โดยเฉพาะบริเวณรอบโรงเรียน เครือข่ายผู้ป่วยยื่นคัดค้าน ประกาศแพทยสภา 10 หน้าที่อันพึงปฏิบัติ        ตามที่แพทยสภาได้ออกประกาศแพทยสภา ที่ 50/2563 เรื่อง หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย โดยได้กำหนดหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยไว้ 10 ข้อ และมีผลในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 นั้น         8 กรกฎาคม 2563 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายผู้ป่วยทุกประเภททั่วประเทศ (Healthy Forum) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเดินทางไปยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ยกเลิกประกาศแพทยสภา เรื่อง หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย เนื่องจากพบว่า การออกประกาศดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ ขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของแพทยสภาตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ซึ่งประกาศฯ นั้นไม่ได้ให้อำนาจแพทยสภาในการออกคำสั่งให้ผู้ป่วยหรือประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย          ประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยในหลายข้อ มีประเด็นปัญหาที่จะส่งผลต่อการพิจารณาคดีทางการแพทย์ในปัจจุบัน สะท้อนทัศนคติทางการแพทย์ที่คับแคบ มองว่าประชาชนไม่สนใจปัญหาสุขภาพของตนเอง ทั้งที่ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การทำข้อตกลงระหว่างประเทศ สังคม สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของอาหาร และปัญหาสารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น           นอกจากนี้กระบวนการในการจัดทำประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยนี้นั้น ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยเอง  ภาครัฐและประชาชนร่วมใจพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล        กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2563 ในการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ได้มีมติเห็นชอบต่อแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งครอบคลุมการพัฒนา ตั้งแต่ระบบการกำกับดูแลด้านยา (ต้นน้ำ) ผู้ประกอบวิชาชีพและสถานบริการสุขภาพ (กลางน้ำ) และ ประชาชน ครอบครัวและชุมชน (ปลายน้ำ) ทั้งการใช้ยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ วัคซีน ยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ใช้เพื่อการรักษา ยาสมุนไพร/ยาแผนโบราณ และยาสำหรับสัตว์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มุ่งหมายใช้เป็นยา         คนไทยทุกคนสามารถมาร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ (new normal) เพื่อ ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล หรือเรียกว่า “Rational Drug Use country” ได้โดยยึดหลักว่าความเจ็บป่วยเป็นทุกข์ ซึ่งมีสมุทัยคือสาเหตุของการเกิดโรค การแก้ไขต้องเริ่มจากเหตุเพื่อนำไปสู่ความสุขทั้งกายและใจ เริ่มจากการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเพื่อไม่นำโรคเอ็นซีดี เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันเกาะตับ โรคเกาต์ โรคไต ตลอดจนโรคจากการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด มาสู่ตน รวมไปถึงการนำบุตรหลานและบุคคลในครอบครัวไปรับวัคซีนต่าง ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด การกระทำเช่นนี้จะลดโอกาสป่วย ลดความจำเป็นในการใช้ยาลงได้อย่างมหาศาล แต่เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องทำความรู้จักกับยาที่ได้รับและตั้งใจที่จะใช้ยานั้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์ ไม่หยุดยาเอง ไม่เลือกกินหรือไม่กินยาบางชนิด เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ใช้หรือไม่ประสงค์จะใช้ยาต่อต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 สำรวย กล้าวิเศษ พ่อค้าผักสดกับวิกฤตโควิด-19

หลายคนเวิร์กฟอร์มโฮมแต่ชาวฉลาดซื้อเปลี่ยนสำนักงานเป็นที่พักชั่วคราวและอยู่กับที่ตามนโยบายป้องกันโรค อย่างไรก็ตามเราก็ต้องขวนขวายหากิน ทำให้มีโอกาสพูดคุยกับพี่สำรวย ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งอาหารสำคัญของเรา เพราะพี่เขาเข็นรถขายผักคันน้อยๆ มาอำนวยความสะดวกให้เราทุกวัน ฉบับนี้จึงขอพาทุกท่านไปสัมผัสกับชีวิตของพ่อค้าคนยากที่ผันตัวเองจากชาวนาบ้านนอกมาเป็นผู้ขนส่งอาหารแก่ชาวเมืองหลวง ที่พึ่งยามวิกฤตโรคระบาดแห่งปี 2563              พี่สำรวย กล้าวิเศษ พ่อค้าผักสด วัย 55 พื้นเพเป็นคนบุรีรัมย์ แล้วย้ายมาอยู่สุรินทร์ แต่มาได้แฟนที่ร้อยเอ็ด เดิมเขาเป็นชาวนา แต่ไม่พอกิน ทำให้ต้องออกมาทำมาหากินต่างถิ่น โดยเริ่มจากเป็นพ่อค้าที่จังหวัดชลบุรีก่อนจะมาค้าขายผลไม้ที่เมืองหลวงตอนอายุ 40 กว่าๆ หรือเมื่อกว่าสิบปีก่อน แต่พี่สำรวยเพิ่งผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าขายผักสดเพราะเห็นว่า ได้กำไรดีกว่า ซึ่งถ้านับอายุงานก็เพียงแค่สองสัปดาห์เศษ เขากับรถเข็นคู่ใจ บรรทุกผักนานาชนิดไม่ต่างจากรถพุ่มพวงขนาดย่อม โดยเริ่มต้นทางจากตลาดมหานาค ตระเวณเข็นรถขายมาเรื่อยๆ จนถึงย่านอนุเสาวรีย์ชัยในเวลาสายๆ ค่อนไปเกือบเที่ยง มาค้าขายในกรุงเทพฯ เองหรือมีคนชักชวนมา         มีคนที่รู้จักสมัยก่อนทำงานด้วยกันชวนมา เขาให้ลองมาขายดู มาขายก็ดีเหมือนกัน เมื่อก่อนของมันถูก ขายได้แต่เดี๋ยวนี้ของแพงมาก แต่ก่อนผมไปหาบขายที่ชลบุรี ขายถั่วต้ม ไข่นกกระทา ขนมไข่หงส์ รับเขามาขายอีกที ขายอยู่ที่ชลบุรีไม่ถึงปีหาบหนักและมันไกลด้วย กินอยู่ก็ไม่สะดวก ฟืนไฟไม่ค่อยมี ตื่นแต่ดึกต้องต้มข้าวโพดต้มถั่ว ลำบากมาก เลยตามเพื่อนชวนเข้ามาขายผลไม้ตั้งแต่แรก ขายมาเรื่อยๆ จนถึงสิ้นปี ขายหลายที่แถวเยาวราช  หมอชิต สุขุมวิท เมื่อก่อนเดินไกลแต่เดี๋ยวนี้ไม่ไหวแล้ว ที่ต้องเดินเพราะจะได้ไม่ต้องเสียค่าที่ เดินเอาตลอด เพิ่งมาเสียค่าเช่าที่ตอนขายที่ซอยรางน้ำ ถ้าไม่เสียก็จอดรถเข็นไม่ได้ ขายที่รางน้ำคงได้นักท่องเที่ยวเยอะ        เมื่อก่อนขายคนจีนนะ ซอยรางน้ำคนจีนเยอะ ก็ขายมะม่วง มังคุด คนจีนเขาชอบทุเรียน มังคุด มะม่วง ลำไย ผลไม้หวานๆ ขายดีมาก เขาชอบของหวานๆ อย่างทุเรียนก็ชอบแบบสุกมากๆ ทำไมถึงเปลี่ยนมาขายผัก         เพิ่งขายได้ 2 อาทิตย์เอง ตอนนักท่องเที่ยวมากๆ เราขายผลไม้แบบชั่งเป็นกิโล ขายบริเวณแถวนี้ ซอยรางน้ำ ขายมะม่วง เงาะ ลำไย พวกมังคุด ละมุด พุทรา ขายผลไม้ทุกอย่างตามฤดูกาล เมื่อก่อนรายได้ดีแต่ตอนนี้ไม่ดีแล้ว พอเริ่มเจอโควิด 19 ก็ต้องเปลี่ยนเริ่มมาขายพวกผักตั้งแต่เดือนนี้ (เมษายน) คนเขาซื้อผักมากกว่าผลไม้ แต่ก็ลำบากเหมือนกัน ลำบากยังไง         มันขายยากขึ้นมากเลยครับ ต้นทุนของก็แพงมากขึ้นหาซื้อยากมาก ของที่ขายมีไม่เท่าเดิม(ความหลากหลาย) ผักหรือของบางอย่างก็ซื้อไม่ได้มันแพงเกินไป จะได้เท่าที่น้องเห็น บางทีลูกค้าถามหาผัก อย่าง คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว พวกนี้แพงมากหรือก็ไม่มีให้ซื้อ ถึงซื้อมาก็ขายยาก ขายไม่ได้มันแพงมาก พี่จัดการเวลาขายอย่างไร         ผมไปตลาดมหานาค (บ้านพี่สำรวยอยู่ใกล้ๆบริเวณนั้น) ไปให้ถึงตลาดตั้งแต่ตีสี่(หลุดเคอร์ฟิวแล้ว)  ยากมาก ไปตีสี่ ตีสี่กว่าๆ นิด กลับมาเตรียมของกว่าจะเสร็จก็สี่โมงเช้า (ต้องซื้อเจ้าประจำไหม) ไม่ๆ ถ้าเจ้าเดิมไม่มีเราก็เดินซื้อไปเรื่อยๆ ที่มีผักขาย บางทีถ้าซื้อเจ้าประจำตอนนี้เขาขึ้นราคาเราก็ซื้อไม่ได้ไง ตอนนี้ลำบากเมื่อก่อนขายผลไม้ก็ขายไม่ได้ ขายผักๆ ก็ราคาสูงขึ้นอีกยิ่งไปใหญ่เลย เดี๋ยวนี้ของ(ผัก) มันแพง ส่วนหนึ่งเพราะมันหายาก พวกรายย่อยต้องแย่งกันเอาของมาขาย อย่างถ้าเราไปทันก็ทัน แต่ถ้าไม่ทันก็เรียบร้อยเลย อด ต้องตื่นให้ทันคนเขา แต่ดีกว่าขายผลไม้ตรงที่คิดว่า ทุกคนต้องกินอาหาร ทำอาหาร ผักอะไรพวกนี้ทุกคนยังต้องกินอยู่ ตอนนี้ก็คือทำอย่างนี้ไปก่อน        ใช่ คนเขายังต้องการผัก ทำกินไปวันๆ ก่อน ขายไปเรื่อยๆ ชั่วโมงหนึ่งก็เดินไปเรื่อยๆ เป็นจุดๆ ไม่ใช่ว่าจอดรถทิ้งไว้ที่ไหนตลอด มีเพื่อนๆ พี่ที่เปลี่ยนมาขายผักแบบบ้างไหม        เยอะ รับของจากที่เดียวกันหมดเลย แต่ละคนก็กระจายกันไปตลาดไทยบ้าง สี่มุมเมืองบ้าง มหานาค ถ้าไม่มีรถก็ซื้อแถวมหานาค ปากคลองบ้าง เพราะไปรถเมล์ง่ายกว่า แล้วพ่อค้าแม่ค้าเจ้าประจำที่เราซื้อของเขา เขาลดราคาให้บ้างไหม        ราคาเขาลดบาทสองบาทได้ สมัยก่อน 50 สตางค์เอง เขาขายยกลังเขากินกำไรบาทสองบาท ถึงเป็นเจ้าประจำก็เหมือนเดิมเพราะเขาส่งมาแบบนั้น ที่เป็นเศษเขาก็ไม่เอา อย่าง 2,350 บาท 50 บาทเขาปัดออกให้เป็นถ้วน แต่บางคนไม่ลดเลย เต็มๆ เลย เขาบอกว่ากินกำไรแค่บาทสองบาท เป็นบางคนที่ลดให้ อย่างบางคนเราซื้อประจำเขาก็ไม่เอาเขาปัดออกเลยที่เป็นเศษ บางคนก็ไม่ได้จ่ายเต็มๆ เลยก็มีผักมันแพงมากแค่ไหนเมื่อเทียบกันกับช่วงเวลาปกติก่อนโควิดก็อย่างเคยขายถุงละ 80 บาทตอนนี้เป็น 200 บาทแล้ว คะน้าขึ้น 200 ผักบุ้ง 100 บาท ถั่ว 50 บาท เอามาขายไม่ได้มันแบ่งไม่ได้ อย่างเช่น เราเคยขายมะนาว ห้าลูก 10 บาท ตอนนี้ไม่ได้อะไรเลยคะน้าจากเดิมพี่ได้กำไรก็ได้ครึ่งต่อครึ่ง คะน้าธรรมดาแบ่ง 10 บาท มันได้ 20 กำ ตอนนี้ 20 กำ 200 บาท เราไม่ได้สักบาทเลย ส่วนผักที่เลือกมาขายคือที่ยังขายได้ มันได้ครึ่งๆ ก็ยังดี เราก็ยังได้ค่ากับข้าวค่าอะไรๆ บ้าง ถ้าเราขายหมด ถ้าขายไม่หมดกำไรก็ติดลบอยู่ ก็ไปซื้อมาเพิ่มอีกนิดหน่อย ไม่ต้องลงทุนเยอะ บอกได้ไหมว่าตอนนี้มีรายได้วันละเท่าไหร่        เมื่อก่อนมีรายได้วันละ 600 -  800 บาท แต่เดือนนี้ไม่ถึงแล้ว วันละ 400 - 500 บาท ก็ให้ได้เถอะ บางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ สมัยก่อนวันละเป็น 1,000 ถึง 2,000 บาท เดี๋ยวนี้ไม่ได้เลย เป็นทุกคนกระทบหมดเลยผักที่ขายดีที่สุดของเราในช่วงนี้คืออะไร         มีผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า(ถ้าหามาได้) มะละกอก็ขายได้ดี ถั่วฝักยาว มะเขือพวง ทุกอย่าง 10 บาทหมด กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก ก็ยังขายได้ พวกเครื่องแกงเครื่องต้มยำขายได้ คนเขาซื้อไปทำกินที่บ้าน คนที่มาซื้อเขามาซื้อปกติ หรือเขามีการป้องกันอะไรมากขึ้นไหมคะ         ระวังตัวเพิ่มมากขึ้น เขาก็จะถามว่าผักมีสารพิษไหม เราก็บอกไม่รู้ รับเขามา เราก็บอกเขาให้ไปแช่น้ำเกลือก่อนก็ได้แล้วค่อยทำกิน ทุกวันนี้เขาใช้สารเคมีทั้งนั้น ร้านส่งเขาก็ตอบไม่ตรง เขาก็บอกผักสวยผักงามแค่นี้แหละ คนกินก็ต้องดูแลตัวเอง ทุกวันนี้ก็มีสารพิษหมด เวลาไปซื้อเดินดูถูกใจก็ซื้อเลย เวลาเราถามเขาก็ตอบไปอย่างนั้นแหละ เขาบอกผักสวย ปลอดสารพิษนะ แต่ก็ไม่จริงหรอก ถ้าพี่เป็นคนกินเองเวลาพี่ซื้อผักพี่จะทำอย่างไร        ส่วนมากไม่ค่อยได้กินผักมาก อยู่บ้านนอกก็จะกินผักที่ปลูกที่บ้าน ผักสวนครัว แต่ถ้ากินผักก็จะดูที่ใบที่มีแมลงกิน ก็จะกินแบบนั้นเพราะส่วนมากจะไม่ปลอดภัย เวลาล้างก็แช่น้ำ แต่ส่วนมากไม่ค่อยทำกินเองซื้อเขากิน พวกผัดกะเพรา ต้มยำ ถ้าเป็นที่บ้านนอกจะปลูกเองผักที่ป่าเยอะเลย ปลูกกินเองก็มีเกิดจากธรรมชาติก็มี ถ้าฝากถึงรัฐบาลได้ เขาคงช่วยได้เป็นบางคน คงช่วยไม่ทุกคนหรอก ตัวผมนี่ยังไม่ได้อะไรเลย เมื่อก่อนขายได้แต่ตอนนี้ขายไม่ค่อยได้ เวลาขายมันสั้นมาก(ติดเคอร์ฟิว) เมื่อก่อนขายถึงเที่ยงคืนตีหนึ่ง แต่ตอนนี้ขายได้แค่สี่ทุ่ม แต่ก่อนมีร้านเย็บผ้า ร้านนวด สปาเขาซื้อเรา ถ้าได้ทิปเยอะ เขาก็ซื้อเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ปิดหมดเลย ผักผลไม้ขายไม่ได้ มองข้างหน้าไว้อย่างไรบ้าง                   เหมือนมันไม่มีอะไรแน่นอน อยากให้มันแน่นอนบ้างนะ (น่าจะหมายถึงมาตรการหรือนโยบายเกี่ยวกับผู้ค้ารายย่อย) บางทีเราจอดตรงนี้ได้ พอไปๆ มาๆ ก็ยกเลิกบอกให้เราทำตรงนั้นตรงนี้ ทุกวันนี้มันไม่แน่นอนเดี๋ยวได้ย้ายอีก ถ้าที่ประจำเราจอดหน้าบ้านเราได้ อันนี้ที่ฟุตบาท บางทีเขาจะเปลี่ยนแปลงใหม่เขาก็ให้ย้ายไป อาชีพค้าขายไม่แน่นอนแบบพี่เลยไม่มีอะไรแน่นอนให้วางใจได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 เปลี่ยนวิธีคิด เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณ ใครก็ต้องการผักผลไม้ที่ปลอดภัย

        กรณีสารเคมี 3 ตัว พาราควอต คลอไพรีฟอส และไกลโฟเสต ได้สร้างความเข้าใจผิดต่อคน จำนวนมากว่า หากเรายกเลิกสารเคมีสามตัวนี้ มีคนได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ต้องตอบว่า องค์กรผู้บริโภคไม่ได้มีผลประโยชน์ ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมี หรือไม่ใช้วิธีหนีเสือปะจระเข้ แต่สนับสนุนวิธีการอื่นๆที่เป็นทางเลือกที่มีอยู่จริงและหลากหลายทาง แต่จะก้าวพ้นความคิดที่มีมาตลอดในเวลา 50 ปี หากจะปลูกอะไรต้องรองสารเคมีก้นหลุม การใช้ เครื่องจักรกำจัดหญ้า สารกำจัดแมลงด้วยวิธีอินทรีย์ทั้งหลายที่มีมากขึ้น การเกษตรแบบอินทรีย์มีอยู่จริงและสามารถทำได้ในระดับอุตสาหกรรมเกษตร         อีกความเข้าใจผิดที่อ้างว่า หากยกเลิก 3 สารเคมีนี้ จะไม่มีพืชผักผลไม้รับประทานและราคาแพง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นและไม่น่าจะเป็นความจริง หรือขณะที่เรามีสารเหล่านี้ใช้ ราคาผลไม้ที่ราคาถูกก็แพงจับใจในปัจจุบัน ปัญหาราคาคงมีเหตุผลอีกหลายปัจจัย ตราบเท่าที่เรายังมีพืชผักผลไม้ส่งออกหรือนำเข้าได้ ย่อมต้องมีจำหน่ายในประเทศไทยแน่นอน แถมหากยังใช้สารเคมีจะเป็นเหตุผลให้ส่งออกไม่ได้ คนไทยต้องได้รับอันตรายจากสารเคมีอันตรายที่ตกค้างเหล่านี้มานาน เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง พาร์กินสัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และโรคอื่นๆอีกมากมาย          อันตรายชัดเจนต่อผู้บริโภคจากสารเคมีสามตัวที่ตกค้างในพืชผักผลไม้จากการตรวจสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ไม่น้อยกว่าห้าปีที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 3 ของผัก ผลไม้ มีสารเคมีตกค้างและบางส่วนตกค้างเกินมาตรฐานหรือแม้กระทั่งการสำรวจล่าสุดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็พบว่าตกค้างสูงถึง 26.6 %         อันตรายถึงชีวิตต่อผู้ที่ฉีดพ่น ซึ่งมีอาชีพรับจ้างพ่นสารเคมี คนกลุ่มนี้ไม่มีทางเลือกมาก เพราะเจ้าของสวนหรือไร่นา หรือแปลงขนาดใหญ่ไม่ได้มีการดำเนินการฉีดพ่นเอง ดังที่ในสหรัฐอเมริกา โดยศาลสั่งให้บริษัทมอนซานโต ผู้ผลิตสารเคมีสำหรับการเกษตร จ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,619 ล้านบาท) ให้ ดีเวย์น จอห์นสัน ซึ่งฟ้องร้องเมื่อปี 2016 ว่ายาฆ่าหญ้าราวด์อัพ และยากำจัดศัตรูพืช แรนเจอร์ โปร มีส่วนก่อมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีที่เหลือกว่า 5,000 คดี ที่โจทก์ยื่นฟ้องว่าผลิตภัณฑ์ของมอนซานโตมีส่วนก่อมะเร็ง https://www.posttoday.com/world/560676 การใช้ที่ถูกวิธีทำได้ลำบากและไม่เป็นความจริง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศร้อน อันตรายตกกับเกษตรกรรับจ้างพ่นสารเคมีอันตราย ซึ่งคำแนะนำในการจัดการปัญหาสารเคมีทั่วโลก เสนอให้แก้ปัญหาที่ต้นทางคือการลดสารเคมีที่เป็นอันตรายให้ได้มากที่สุด         ส่วนปัญหาราคาแพง หากเราคิดและยอมรับว่า เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณต่อผู้บริโภคที่ทำงานหนัก รายได้ต่ำ สินค้าเกษตรราคาถูกเกินไปจนเกษตรกรไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จึงต้องมีราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ เกษตรกรได้ขายสินค้าในราคาถูก ปัญหาดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่ การส่งเสริมการตลาดสำหรับเกษตรกร หรือ การจำหน่ายตรงสำหรับเกษตรกร การกำกับพ่อค้าคนกลาง ขณะที่ผู้บริโภคต้องจ่ายราคาแพงในปัจจุบัน         ส่งผลกระทบที่เสียหายชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อม การตกค้างในดิน สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และกลับมาในห่วงโซ่อาหารในท้ายที่สุดส่วนปัญหาราคาแพง เช่นกรณีน้ำปู๋ที่พบการตกค้างสารเคมีกลุ่มนี้มากกว่าปูนา         ทุกรัฐบาลต้องมีนโยบายประกันราคา จำนำสินค้าเกษตร หรือประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งในทางปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ใช้มาตรการนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่เกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด รวมทั้งมีเป้าหมายในการขยายเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรยั่งยืนที่ชัดเจน         สุขภาพต้องมาก่อนการค้า หลักการป้องกันไว้ก่อน คงเป็นเหตุผลเพียงพอ ว่า ทำไมต้องเพิกถอนทะเบียน ห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและจำหน่ายสารเคมีอันตราย 3 ตัวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 สารเคมีตกค้าง

การใช้สารเคมีในภาคเกษตรนับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรและผู้บริโภคภายในประเทศจำนวนมาก จนนำมาสู่การเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐยกเลิกสารเคมีหลายตัวที่หลายประเทศ แม้แต่ประเทศผู้ผลิตก็ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าผู้เกี่ยวข้องจะดูใจเย็นกับเรื่องนี้เหลือเกินทั้งๆ มีรายงานตัวเลขผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในภาคเกษตรนับเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อยู่ที่หลักหลายพันคนต่อปี หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เฝ้าระวังผลผลิตที่วางจำหน่ายในท้องตลาด จะออกมาป่าวประกาศถึงสถานการณ์สารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ ในระดับที่น่าเป็นห่วงก็ตาม  ล่าสุด นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ให้ข้อมูลกับ ฉลาดซื้อ ว่าแต่ละปีมีการสำรวจสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ แตกต่างกัน ซึ่งช่วงแรกๆ ที่ทำร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน มีการตรวจยาฆ่าแมลงแค่ 2 กลุ่ม ก่อนจะพัฒนามาเป็น 4 กลุ่มสารเคมี (organophosphates, carbamates, organochlorine  และ pyrethroids) ปัจจุบันมีการส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องแลปที่อังกฤษ ซึ่งสามารถวิเคราะห์สารเคมีได้มากกว่า 4 กลุ่ม ทำให้ช่วงหลังพบสารเคมีตกค้างมากขึ้น          สำหรับปี 2562 มีการเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้จากห้างสรรพสินค้าและตลาดสด พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานประมาณ 41% ขณะที่สองปีก่อนส่งไปตรวจที่อังกฤษเหมือนกันพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 46% แต่ถ้าดูเฉพาะสารสี่กลุ่มที่ประเทศไทยสามารถวิเคราะห์ได้ จะพบปัญหาการตกค้างเกินค่ามาตรฐานลดลงเรื่อยๆ เหลือ 30% จนกระทั่งล่าสุดเหลืออยู่ที่ 20% และไม่ลงไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม แม้ของไทยจะลดลงแต่ยังถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป ที่สามารถตรวจได้ในระดับเดียวกันกับอังกฤษ การพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ ประมาณ 1-3% สำหรับสารที่ปีนี้ที่พบมากสุดคือ คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นสารป้องกันการเกิดเชื้อรา เป็นสารดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ ยกตัวอย่าง หากตกค้างใน “ส้ม” ถึงจะปอกเปลือกออก สารนี้ก็ยังอยู่ในเนื้อ  ปัจจุบันหลายประเทศยกเลิกการใช้แล้วเพราะทำให้คนที่ได้รับสารนี้มีโอกาสเป็นหมัน  นางสาวปรกชล ยังบอกอีกว่า จากการตรวจวิเคราะห์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในกลุ่ม “ผัก” ปัญหาจะหมุนเวียนชนิดกัน ขึ้นๆ ลงๆ เช่น ผักกวางตุ้ง คะน้า พริก กระเพรา ผักชี ถั่วฝักยาว จะอยู่ในอันดับต้นๆ ทุกปี ส่วน “ผลไม้” ที่เป็นอันดับหนึ่งที่พบสารเคมีตกค้างมาตลอด คือส้ม ตามมาด้วย องุ่น สลับกับ ฝรั่ง หรือ มะละกอ ชมพู่ และมีความเป็นไปได้ ที่ผัก ผลไม้หนึ่งตัวอย่างจะเจอสารเคมีตกค้างมากกว่าหนึ่งชนิด         “อย่างสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 41% อีกเกินครึ่งก็เจอสารเคมีในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน ซึ่ง 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้มีสารเคมีตกค้างมากกว่าสองชนิดในหนึ่งตัวอย่าง มากสุดคือสารเคมีตกค้าง 20 ชนิดในหนึ่งตัวอย่าง ถือว่าเป็นปัญหามาก เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่มีการประเมินความเสี่ยงสารตกค้างร่วมกับผู้บริโภคจึงไม่มีทางรู้เลยว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน”         ที่น่าสังเกตคือเราพบว่าตัวอย่างผัก ผลไม้ที่ขายในห้างฯ มีสารเคมีตกค้างมากกว่าที่วางขายในตลาดสดเล็กน้อย  แม้ว่าผลผลิตที่ขายในห้างฯ จะมีตรารับรองมาตรฐาน อย่างเช่น Q หรือ Organic Thailand ยังพบว่าไม่มีความปลอดภัย สารตกค้างยังคงเกินค่ามาตรฐาน ส่วนตัวมองว่าระบบการตรวจสอบรับรองยังคงมีช่องว่าง รวมถึงกระบวนการในการกำกับดูแลหลังให้ใบรับรองไปแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ที่บางครั้งอาจจะไปถูกสวมสิทธิ์ที่ห้างหรือซับพลายเออร์ เท่ากับว่ากระบวนการให้ใบรับรองยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้เรายังมั่นใจไม่ได้ 100% กับสินค้าที่มีตรารับรอง             “การล้างทำความสะอาดสามารถล้างสารพิษออกได้นิดหน่อย แต่ถ้าเป็นสารประเภทดูดซึมจะล้างไม่ออก ปีนี้เราพบสารพิษตกค้าง 90 ชนิด ในจำนวนนี้ 50 ชนิดเป็นสารตกค้างประเภทดูดซึม ล้างไม่ออกแน่ๆ ปอกเปลือกออกก็อยู่ในเนื้อ ส่วนที่ล้างออกประมาณ 40 ชนิด บางอย่างก็ล้างออกง่าย แค่เปิดน้ำไหลผ่าน การแช่ด่างทับทิม น้ำส้มสายชู เบคกิ้งโซดา ซึ่งสามารถขจัดสารเคมีได้แตกต่างกัน การล้างผัก ผลไม้จึงแค่เป็นการทำให้ตัวเองสบายใจ”         นางสาวปรกชล ระบุว่า เรื่องการใช้สารเคมีที่มีมากในประเทศไทยที่จริงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมสารเคมี เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น 1.ไม่มีระบบการเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐที่มีการตรวจก็เก็บข้อมูลไว้ไม่ได้เปิดเผยให้ผู้บริโภคทราบ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีข้อมูล จึงไม่สามารถแสดงความต้องการอาหารที่ปลอดภัย หรือความต้องการที่จะสนับสนุนสินค้าที่มีคุณภาพที่ไหนได้2. สารเคมีหลายตัวที่พบ เป็นสารที่หลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว โดยเฉพาะประเทศต้นทางที่ผลิตสารเคมีเอง เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค แต่ประเทศไทยกลับยังนำเข้ามาใช้     แสดงว่าระบบการคัดกรองสารเคมีเหล่านี้ของประเทศไทยยังไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากสารเคมี 3 ตัวที่ขอให้แบนคือพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แล้ว ยังมีสารเคมีอีกกว่า 100 ชนิด ที่ต้องมีการจัดการเช่นเดียวกัน         “วันนี้จึงทำให้เราประสบภาวะที่ว่านอกจากสารเคมีเกินค่ามาตรฐานแล้วยังมีสารเคมีหลายตัวที่ร้ายแรงมาก” 3.เกษตรกรมองว่าการใช้สารเคมีในภาคเกษตรคือคำตอบที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบ เนื่องจากบริษัทนำเข้าไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะฉะนั้นราคามันเลยไม่ได้รวมผลกระทบภายนอกทั้งทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เลยทำให้ดูเป็นทางเลือกที่ราคาถูกที่สุดในการทำเกษตรกรรม เกษตรกรจึงนิยมใช้ แถมยังไม่ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย จึงทำให้มีการใช้มากเกินความจำเป็น        เพราะฉะนั้น วันนี้ ทางเลือกของผู้บริโภคอาจจะต้อง “เหนื่อย” และต้องการข้อมูลของผัก ผลไม้ว่ามีที่มาที่ไปอย่าง ไร ผักประเภทไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย เพราะไม่สามารถดูได้จากหน้าตาผัก ผลไม้ ต่อให้มีรอยแมลงกัดก็ไม่สามารถการันตีอะไร ตรารับรองก็ไม่สามารถเชื่อมั่นได้ 100% ที่จริงแล้วผู้บริโภคมีอำนาจเต็ม เพราะเงินอยู่ในกระเป๋าเรา ทุกครั้งที่ใช้จ่ายจะเป็นการแสดงเจตจำนงว่ากำลังสนับสนุนเกษตรกรที่ใช้สารเคมี หรือจะสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งราคาไม่ได้สูงเสมอไปหากไม่ซื้อในห้างฯ หรือให้เกษตรกรจัดส่งให้ที่บ้านก็ยังได้ ราคาถูกด้วย อีกทางหนึ่งควรปลูกผักกินเองบาง เช่น พริก กระเพรา เป็นต้น         นางสาวปรกชล ย้ำว่า สิ่งที่ไทยแพนอยากเห็นคือเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องพื้นฐาน ถ้ามีสารเคมีตกค้างก็ต้องไม่เกินมาตรฐานกำหนด ซึ่งประชาชนต้องช่วยกันกดดันภาครัฐให้มีการตรวจสอบและลงโทษกลุ่มเกษตรกรที่มีการใช้สารเคมี ปล่อยให้เกินค่ามาตรฐาน แถมยังเคลมว่าปลอดภัย แล้วขายในราคาแพงๆ หรือกดดันให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีบางตัวที่หลายประเทศยกเลิกไปแล้ว ทำไมไทยถึงยังยอมให้เข้ามาในระบบอาหารของไทย และช่วยกันส่งเสียงกระตุ้นให้เกิดระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย ซึ่งสำคัญมาก เพราะการมีข้อมูลที่ชี้ปัญหาจะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้         อันที่จริงสถานการณ์ก็เหมือนจะดีขึ้น มีจำนวนเกษตรที่ลุกขึ้นมาปลูกผักที่ลดการใช้สารเคมี การเพิ่มตลาดสีเขียว ผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้น  แต่ว่าในภาพใหญ่ระดับโครงสร้างนโยบายที่ยังคงมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะยังต้องสู้กันอีกยาว ตรงนี้ต้องใช้พลังผู้บริโภคลุกขึ้นมาส่งเสียงว่าต้องการอาหารปลอดภัยและต้องร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการปรับพฤติกรรมอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกผัก ผลไม้โดยไม่ใช้สารเคมี และอุดหนุนให้หลากหลายเพื่อเปิดตลาดให้กว้าง         รวมถึงการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงฉลาก เช่น ใช้ก็บอก ไม่ใช่ก็บอก มีการเรียกร้องให้โรงงานน้ำตาลแจ้งบนถุงน้ำตาลเลยว่า อ้อยมาจากการปลูกโดยใช้พาราควอตหรือไม่ และผู้บริโภคจะตัดสินใจเอง นี่คือการส่งเสียงเพื่อให้รัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย         ด้าน นพ.พูนลาภ ฉันทวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการปลูกผัก ผลไม้ในเมืองไทยยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีอยู่ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้มีการใช้มากเกินไปจนเกิดการตกค้างในผลผลิตเกินค่ามาตรฐาน จึงเป็นที่มาว่าเมื่อมีการสุ่มตรวจสารตกค้างในผลผลิตเหล่านี้แล้วยังเจอบ้าง ไม่เจอบ้าง แต่ถ้าไม่ได้มีปริมาณเกินค่ามาตรฐานก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่มีความปลอดภัย เกิดการตรวจการเฝ้าระวัง         “หากจะให้ไม่มีสารเคมีเลยนั้นยอมรับว่ายังยาก ดังนั้นคำแนะนำสำหรับประชาชนคือไม่ว่าจะซื้อผักผลไม้จากแหล่งใดก็ตามจะต้องมีการนำมาล้างด้วยวิธีการปล่อยให้น้ำไหลผ่านหรือการแช่น้ำเกลือ หรือเบกกิ้งโซดา สักช่วงเวลาหนึ่งก็จะช่วยลดปริมาณสารเคมีลงได้”         อย่างไรก็ตามในเรื่องของสารเคมีนั้นทางอย.ไม่ได้มีการดูโดยตรง และไม่เคยมีการออกตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองมาตรฐาน หรือรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษแต่อย่างใด เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ แต่สิ่งที่อย.ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือกรณีที่มีการแบ่งบรรจุจำหน่ายผัก ผลไม้นั้น ให้ ทางห้างฯ ติดฉลากแหล่งที่มาของผลผลิตนั้นๆ ให้ชัดเจน เพราะหากตรวจเจอสารเคมีเกินค่ามาตรฐานก็จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาและดำเนินการเอาผิดได้ ฐานเป็นอาหารไม่ปลอดภัย ตามพ.ร.บ.อาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท        ทั้งนี้ ที่ผ่านมาต้องเรียนว่ายังไม่มีการลงโทษถึงขั้นนั้นเนื่องจากเราต้องการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือป้องปรามและการเฝ้าระวัง พยายามสร้างความตระหนักและทำให้เกษตรกร ไม่ใช้สารพิษในปริมาณที่มากเกินไปมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลผัก ผลไม้ที่มีการแบ่งบรรจุขายในห้างสรรพสินค้า ในตลาดสดคิดเป็น 30% อีก 70% เป็นการขายส่ง ซึ่งผลจากแนวปฏิบัติดังกล่าว รวมถึงการขอความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่นให้ช่วยกันสุ่มตรวจผัก ผลไม้ โดยอาศัย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 แก้ไข พ.ศ.2560 เข้ามาดำเนินการ ก็พบว่าปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ดีขึ้น อย่างที่ไทยแพนได้มีการสุ่มตรวจก็พบว่าน้อยลงเช่นกัน  ด้านกรมอนามัยได้มีการออกเอกสารเผยแพร่คำแนะนำแก่ประชาชน โดยใจความระบุว่าการรับประทานผักผลไม้เป็นประจำย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพื่อความปลอดภัยประชาชนจึงควรใส่ใจการล้างผักให้สะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค โดยให้แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด หรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้ สามารถลดสารเคมีตกค้างจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายได้ ขณะที่ นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกซ์แฟมในประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อดูจากสถานการณ์ปัจจุบันโดยยังไม่ได้ดูในแง่ของสถิติจะพบว่ามีห้างสรรพสินค้ากว่า 3 พันสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ยังไม่นับรวมร้านสะดวกซื้ออีกจำนวนมาก ทำให้เห็นแนวโน้มว่าผู้บริโภคเลือกที่จะไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เพราะสะดวกสบายไปครั้งเดียวก็ได้ของครบทุกอย่าง         ทั้งนี้ถ้ามองในแง่ของสถิติ นอกจากการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแล้วยังพบว่ามีการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แอปพลิเคชั่นต่างๆ ยิ่งเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้ามากขึ้น แม้ตัวจะยังอยู่ที่บ้านก็ตาม เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าผู้บริโภคกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกมีความใกล้ชิดกัน อย่างน้อยในหนึ่งสัปดาห์ น่าจะเข้าห้างสรรพสินค้าราวๆ 1-2 ครั้ง         สำหรับการจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารสด ผัก ผลไม้ นั้นทางอ็อกซ์แฟมยังไม่ได้มีการสำรวจและประเมิน จึงยังไม่สามารถบอกถึงความนิยมได้ เพราะที่มีประเมินอยู่คือ มิติทางด้านสังคม เช่น ความโปร่งใส เรื่องแรงงาน เรื่องเกษตรกรรายย่อย เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมบทบาทสตรี เป็นต้น          “ถ้าจับจากพฤติกรรมคนทั่วไปก็เห็นได้ว่า ทุกวันนี้คนนิยมซื้อสินค้าอาหารสด ผัก ผลไม้ในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น แทนการเดินตลาดสด ซึ่งปัจจุบันตลาดสดเองก็เริ่มมีน้อยลง แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพ สินค้าและความปลอดภัยแล้ว ตนมองว่าปัจจุบันก็ค่อนข้างปฏิบัติตามมาตรฐานกฎหมายและค่อนข้างมีการพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภค”          อย่างไรก็ตาม ประมาณปลายปี 2562 หรือ ต้นปี 2563 จะมีการสำรวจ ประเมินมิติด้านความปลอดภัยทางอาหารร่วมด้วย ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สารเคมีต่างๆ รวมถึงการจัดซื้อที่เป็นมิตร แต่สิ่งที่อ็อกซ์แฟมและภาคีเครือข่ายดำเนินการอยู่ขณะนี้ คือการสนับสนุนให้ห้างฯ ซึ่งเป็นตลาดปลายทางที่รับสินค้ามาจากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค มีนโยบายเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับเกษตรกร ผู้แปรรูปอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกสินค้าที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ถ้ามีการออกเป็นนโยบายแล้วจะทำให้เกิดการปฏิบัติเหมือนกันของห้างฯ ทุกสาขา และมีการปฏิบัติอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยยังคงเป็นแบบโครงการ กิจกรรมซีเอสอาร์ ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าโครงการเหล่านี้ไม่ดี เพียงแต่กรณีแบบนี้เมื่อจบโครงการก็คือจบ ถ้ามีการกำหนดเป็นนโยบายจะมีความยั่งยืนมากกว่า “นโยบายหมายความว่าจะต้องใช้กับทุกพื้นที่ ทุกผลิตภัณฑ์ และอยู่ถาวร มีการดึงมาสู่แผนงานแผนปฏิบัติ มี KPI หากปฏิบัติตามไม่ได้ก็ต้องปรับปรุง มีความยั่งยืน ถ้าไม่ดีก็ปรับปรุง ดังนั้นอยากให้ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ยั่งยืนถาวรมากขึ้น เชื่อว่าห้างค้าปลีกไทยมีศักยภาพที่จะทำ เพราะดูจากนวัตกรรมทางการตลาดและการขยายธุรกิจไม่ได้น้อยหน้าต่างประเทศ หากเกิดนโยบายเชิงบวกเพื่อให้ผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีขึ้น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 รู้เท่าทันการกินผัก 5 สี

                มีการส่งเสริมการกินผัก 5 สีว่าจะได้คุณค่าและประโยชน์จากผักสีต่างๆ  ผักแต่ละสีจะมีสารอาหารแตกต่างกัน เรื่องผัก 5 สี เป็นเรื่องจริงหรือไม่ มีประโยชน์ตามสีหรือเปล่า เรามารู้เท่าทันกันเถอะผัก 5 สี ฮือฮาเฉพาะเมืองไทยหรือ         เว็บไซต์ต่างประเทศมีการส่งเสริมการกินผัก 5 สีในประเทศต่างๆ ตั้งแต่ออสเตรเลีย อเมริกา เกาหลี เป็นต้น  แสดงว่า ความเชื่อเรื่องกินผัก 5 สีนั้น เป็นกระแสนิยมที่แพร่กระจายทั่วโลก ในนิตยสารอาหารออสเตรเลียเรียกการกินผัก 5 สีว่า กินสายรุ้ง  ในประเทศไทย การกินผัก 5 สี ก็ได้รับความนิยมมากพอควร เว็บไซต์ของสสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ก็มีบทความส่งเสริมการกินผัก 5 สีเช่นเดียวกัน มีอะไรในแต่ละสีของผัก สีเขียว  ผักและผลไม้สีเขียวจะมีคลอโรฟิลล์ สารเคมีจากพืช ตั้งแต่แคโรทีนอยด์ อินโดล ซาโปนิน ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง  พวกผักโขม บร็อคโคลี่ จะอุดมไปด้วยโฟเลต (หนึ่งในวิตามินบีรวม) สีแดง ผักผลไม้สีแดง เช่น มะเขือเทศ แตงโม พริกชี้ฟ้า หอมแดง ฟักข้าว มะละกอสุก แครอท ส้มโอ แก้วมังกร หม่อน มีสารไลโคพีนในปริมาณสูง เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์สูงมาก ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งอื่นๆ และทำให้หัวใจแข็งแรง สีเหลือง ส้ม  ผักผลไม้สีเหลือง ส้ม เช่น มะละกอ ฟักทอง มันเทศ  แครอท ส้ม สับปะรด  มีสารเบต้าแคโรทีน ฟลาโวนอยด์ และลูทีน ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันต้อกระจก จอตาเสื่อม รักษาสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด  ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สีม่วง น้ำเงิน  ผักผลไม้สีน้ำเงิน ม่วง เช่น มะเขือม่วง กะหล่ำปลีสีม่วง ลูกหว้า ชมพู่ มะเหมี่ยว ดอกอัญชัญ หอมแดง มีสารแอนโทไซยานิน ซึ่งมีส่วนช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์  ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และเส้นเลือดอุดตันในสมอง สีขาว น้ำตาล   ผักผลไม้สีขาว น้ำตาล เช่น  ขิง ข่า กระเทียม หัวไชเท้า งาขาว ถั่วเหลือง ลูกเดือย กล้วย มันฝรั่ง มีสารอัลลิซิน (ในกระเทียม) มีคุณสมบัติในการต้านไวรัสและแบคทีเรีย ในกล้วยจะมีโปตัสเซียมมาก  ผักผลไม้สีขาว น้ำตาล สร้างเซลล์ให้แข็งแรง  ยับยั้งการเกิดเนื้องอก  ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก ต้านการอักเสบ ลดระดับน้ำตาลในเลือด  ลดความดันโลหิตป้องกันเส้นเลือดอุดตัน ลดปริมาณไขมันในเลือด รักษาระบบภูมิคุ้มกัน  กินผัก 5 สี มีประโยชน์จริงหรือ         งานวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับการกินผัก 5 สีมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาสารอาหารต่างๆ ในผักแต่ละสีว่ามีคุณสมบัติอย่างไร แต่งานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับประโยชน์ของการกินผักและผลไม้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดยุทธศาสตร์ อาหาร การออกกำลังกาย และสุขภาพ ไว้ว่า          “ผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การกินผักและผลไม้เพียงพอในแต่ละวันจะช่วยป้องกันโรคสำคัญ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งบางชนิด”          องค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ออกคำแนะนำเมื่อเร็วๆ นี้ ให้บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน เพื่อป้องกันโรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน         สรุป  การกินผักและผลไม้มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างแน่นอน ส่วนการกินผักและผลไม้ 5 สีนั้นช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลายจากผักมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 กระแสต่างแดน

ขายให้ชัดหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าและตลาดและของอังกฤษ  เริ่มลงมือจัดการกับดาราและบุคคลมีชื่อเสียงที่โพสต์ภาพของตนเองร่วมกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยไม่ระบุให้ชัดว่าได้เงินค่าโฆษณาจากแบรนด์หรือไม่ตามกฎหมายอังกฤษ โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟสบุ้ค อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ที่ผู้โพสต์ได้รับเงินจากการแชร์เรื่องราวนั้น จะต้องทำให้ผู้บริโภคสามารถดูออกทันทีว่าเป็นการโฆษณา ขณะนี้มีคนดังถูกดำเนินการแล้วสี่ราย ตั้งแต่ดาราที่โพสต์รูปวิตามินพร้อมโค้ดส่วนลด บล้อกเกอร์ด้านการแต่งหน้าที่ลงรูป “ชาลดพุง” ในอินสตาแกรม  พิธีกรรายการโทรทัศน์ที่ทวิตบอกผู้ติดตามของเธอว่าโปรดปรานขนมยี่ห้อหนึ่งเป็นพิเศษ ไปจนถึงดาราที่ลงรูปเครื่องดื่มพร้อมแฮชแท็ก #sp (ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าหมายถึง sponsored post หรือโพสต์ที่มีสปอนเซอร์) การสืบสวนจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และอาจนำไปสู่การฟ้องร้อง ซึ่งไม่มีเพดานค่าปรับสูงสุดด้วยจ่ายแพงกว่าเพื่อ?อเมซอน ร้านค้าออนไลน์ถูกสั่งงดโฆษณาบริการสมาชิกแบบ “อเมซอน ไพรม์” ที่รับประกันการ จัดส่งสินค้า “ภายในหนึ่งวัน”   หน่วยงานดูแลมาตรฐานการโฆษณาของอังกฤษ ได้รับเรื่องร้องเรียน 280 กรณี จากสมาชิกบริการไพร์มที่มีค่าธรรมเนียมเดือนละ 7.99 ปอนด์ (ประมาณ 350 บาท) ที่ไม่ได้รับสินค้าที่สั่งภายในหนึ่งวัน อเมซอน อธิบายว่าได้แจ้งไว้ (ตรงไหนสักแห่ง) ในเว็บไซต์ว่าผู้สั่งซื้อจะได้รับสินค้า “หนึ่งวันทำการหลังจากเริ่มจัดส่ง” และ “เวลาในการจัดส่งขึ้นอยู่กับเวลาที่สั่งซื้อ” ด้วย  แต่หน่วยงานดังกล่าวฟันธงว่าผู้ใช้เว็บไซต์ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นข้อความเหล่านี้ก่อนตัดสินใจสมัครสมาชิกแบบ “ไพร์ม” องค์กรผู้บริโภค Citizens Advice บอกว่า ไม่เพียงลูกค้าของอเมซอนเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ ร้อยละ 40 ของลูกค้าระดับ “พรีเมียม” ของร้านออนไลน์ ได้รับสินค้าช้ากว่าที่คาดหวังทั้งๆ ที่จ่ายแพงขึ้น  ที่สำคัญขณะนี้ยังไม่มีช่องทางการชดเชยเยียวยาที่สะดวกในกรณีที่เกิดความเสียหายจากความล่าช้าด้วยภาษีลดสูบญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องประชากรที่สุขภาพดีและอายุยืน กำลังเผชิญปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์  กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่าในปีงบประมาณ 2015 รัฐบาลใช้เงินไม่ต่ำกว่า 2,000,000 ล้านเยนเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่  ด้านหนึ่งคือค่ารักษาพยาบาล 1,200,000 ล้านเยน (โรคมะเร็ง หัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ และภาวะสมองเสื่อม) ทั้งในผู้สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ ส่วนที่เหลือเป็นความเสียหายจากเหตุไฟไหม้ที่มีสาเหตุจากก้นบุหรี่ ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 18.2 ของประชากร ซึ่งถือว่าลดลงมากแล้วเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน แต่มาตรการลดการสูบบุหรี่ของรัฐบาลญี่ปุ่นยังดำเนินต่อไป ล่าสุดได้ประกาศเพิ่มภาษีบุหรี่ ทำให้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี  2019 ราคาบุหรี่จะขึ้นเป็นซองละ 500 เยน (ประมาณ 150 บาท) เช่นเดียวกับในสหภาพยุโรปที่ราคาบุหรี่ต่อซองจะเพิ่มขึ้นเป็น 385 บาทในปี 2020ไม่สวยก็กินได้ประมาณร้อยละ 35 ของผักผลไม้จากสวนของเกษตรกรในยุโรป ไม่เคยมีโอกาสได้พบปะผู้บริโภคซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะพวกมันมีหน้าตาประหลาดหรือขนาดไม่ตรงสเปคงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเอดินบะระพบว่า ผักผลไม้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านตันถูกทิ้งไปเพราะ “ผู้บริโภคไม่ชอบแบบนี้” ในขณะที่เกษตรกรต้องลงทุนผลิตในปริมาณที่มากกว่าที่ทำสัญญาไว้กับห้างค้าปลีก เพื่อให้มีส่งครบตามที่สั่งหลังจากบางส่วนถูกคัดออกความสูญเสียที่ว่านี้มาจากมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐ รวมกับมาตรฐานสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งไว้สูงเกินไป และความคาดหวังของตัวผู้บริโภคเองที่ต้องการแต่ผักผลไม้ที่ดูดีไร้ตำหนิ ผู้วิจัยเรียกร้องให้ผู้บริโภคใส่ใจกับการเลือกซื้อสินค้าอย่างยั่งยืนมากขึ้น พร้อมๆ ขอให้ห้างค้าปลีกให้ที่ยืนกับผักผลไม้ที่หน้าตาไม่สมบูรณ์แบบบ้าง ที่ผ่านมา ห้าง Sainsbury และ ห้าง Morrisons ได้เริ่มลงโครงการกับกล้วยและอโวคาโดแล้วเจ็บมาเยอะสาวๆ เกาหลีนัดกันหยุดใช้จ่ายทุกๆ วันอาทิตย์แรกของเดือน เพื่อประท้วงการดูถูกผู้หญิงและการเอาเปรียบโดยผู้ประกอบการต่างๆ ที่มักจะตั้งราคาสินค้าสำหรับผู้หญิงแพงกว่าสินค้าสำหรับผู้ชายพวกเธอบอกว่า ไม่เป็นธรรมเลยที่สังคมเกาหลีคาดหวังให้ผู้หญิงต้องดูดีดูสวยตลอดเวลา แต่สินค้าที่พวกเธอต้องซื้อกลับมีราคาแพงเกินไป แจ็กเก็ตสำหรับผู้หญิงซึ่งมีแต่กระเป๋าหลอก ใส่ของอะไรไม่ได้ ราคาแพงกว่าแจ็กเก็ตชาย กางเกงแบบไร้รอยยับสำหรับผู้ชายก็ถูกกว่าและสวมใส่สบายกว่าด้วย  กลุ่มนี้ซึ่งมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 5,000 คน บอกว่าอยากให้ธุรกิจรู้ว่ายอดขายจะร่วงลงแค่ไหนหากผู้หญิง “ไม่ช้อป” และหันมาทำอาหารกลางวันไปรับประทานเอง ถีบจักรยานไปไหนต่อไหนเอง รวมถึงยกเลิกการจองโต๊ะสำหรับอาหารเย็น เป็นต้น  เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงของผู้หญิงในไอซ์แลนด์ เมื่อหลายสิบปีก่อนที่รวมตัวกันไม่ไปทำงานและหยุดทำงานบ้าน เพื่อให้เห็นว่าโลกจะไปต่อไม่ได้หากผู้หญิงไม่ไปด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนกุมภาพันธ์ 2561อย.ใช้มาตรา 44 ปลดล็อกบริการขึ้นทะเบียน หวังเพิ่มประสิทธิภาพงานคุ้มครองผู้บริโภคเลขาธิการ อย.ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (เผยแพร่วันที่ 6 ก.พ.2561) ถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามคำสั่งมาตรา 44 ที่ปลดล็อกความล่าช้าเรื่องบริการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งจะทำให้ อย.สามารถเรียกเก็บค่าขึ้นทะเบียนเพื่อมาใช้ในกิจการของ อย. ได้ อีกทั้งทำให้การพิจารณาอนุญาตและขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยปีงบประมาณ 2562 อย.ได้ของบประมาณราว 250 ล้านบาท เพื่อใช้ก่อสร้างอาคารใหม่ 9 ชั้น ตั้งเป็นศูนย์บริการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สุขภาพแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service รวมถึงจะดำเนินการออกกฎหมายใหม่ และแก้ไขกฎหมายเดิม เช่น กฎหมายยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล โดยมองว่าน่าจะช่วยให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไรก็ตาม แม้ว่า อย. หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะทำงานอย่างเต็มที่ แต่ก็เรียกว่าไม่สามารถป้องปรามการซื้อขายผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการขายที่ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ยากต่อการควบคุม ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องช่วยกันเฝ้าระวังจับตาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ช่วยแจ้งเบาะแสที่สายด่วน อย. 1556 เพื่อรีบดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างรวดเร็ว‘แท็กซี่โอเค’ ขนส่งทางบกจัดให้เพื่อยกระดับแท็กซี่ไทย หากผู้บริโภคเคยเห็นแท็กซี่ไฟสีเขียว ซึ่งดูแปลกตา และทำให้ไม่กล้าใช้บริการ ขอบอกว่า ไม่ต้องตกใจ เพราะกรมขนส่งทางบกเขาออกมาบอกว่า แท็กซี่ไฟเขียวนั้นอยู่ในโครงการ “แท็กซี่โอเค” เป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานของแท็กซี่ไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคเพื่อแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ที่บริการไม่สุภาพและปฏิเสธผู้โดยสาร กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ทำโครงการแท็กซี่โอเค ซึ่งกำหนดให้เเท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคัน ต้องติดตั้งอุปกรณ์ จีพีเอส แทรคกิ้ง (GPS Tracking) ซึ่งจะแสดงข้อมูลผู้ขับขี่ ระบุพิกัดเส้นทางการเดินรถและการใช้ความเร็ว มีปุ่มฉุกเฉินกรณีผู้โดยสารต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินใกล้บริเวณที่นั่งผู้โดยสาร ทั้งยังมีการติดตั้งกล้องบันทึกภาพภายในรถ และเชื่อมต่อข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการแท็กซี่ของกรมขนส่งทางบก เพื่อส่งข้อมูลการเดินรถแบบเรียลไทม์ (Real-Time) อีกด้วย ซึ่งผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเรียกรถผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้ โดยมีค่าบริการเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นครั้งละ 20 บาทต่อไปเมื่อเห็นแท็กซี่ไฟสีเขียว ณ แห่งหนใด ผู้บริโภคก็สามารถโบกเรียกใช้บริการได้อย่างมั่นใจ บัตรประชาชนหายอาจไม่ใช่เรื่องเล็กต้องรีบจัดการ ต้นปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคคงได้ยินข่าวหญิงสาวรายหนึ่ง ที่อยู่ดีๆ ก็ตกเป็นจำเลยและถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง เพราะถูกแอบอ้างเอาบัตรประชาชนไปเปิดบัญชีกับธนาคารต่างๆ มากถึง 9 บัญชี ซึ่งความจริงก่อนหน้านี้เธอถูกมิจฉาชีพขโมยกระเป๋าสตางค์ขณะอยู่บนรถโดยสาร และเธอเองก็ได้ไปแจ้งความว่าบัตรประชาชนหายและได้ทำบัตรใหม่เรียบร้อยแล้ว กรณีเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็สามารถตกอยู่ในความเสี่ยงได้ ดังนั้นควรเก็บรักษาบัตรประชาชนให้อยู่ดีในที่ปลอดภัย ไม่วางทิ้งหรือฝากไว้กับคนที่ไม่รู้จักคุ้นเคยอย่างเด็ดขาด หรือเมื่อต้องใช้บัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรทำธุรกรรมใดๆ ก็ควรต้องขีดคร่อม เขียนข้อความกำกับทับบนสำเนาหน้าบัตรด้วยว่า ใช้เพื่ออะไร กับใครหรือหน่วยงานใด พร้อมระบุวันที่ให้ชัดเจน เป็นแนวทางการป้องกันเบื้องต้นที่สามารถทำได้แต่หากต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการแสดงตัวตนเพื่อแลกบัตรหรือติดต่อทำธุระกับหน่วยงานต่างๆ หรือใช้ฝากไว้เป็นหลักประกันกรณีเช่าสินค้าหรือบริการ หากเป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือใช้ใบขับขี่หรือบัตรอื่นๆ แทนบัตรประจำตัวประชาชน และหากบัตรประชาชนหายอย่านิ่งนอนใจ แม้จะไม่ต้องใช้ใบแจ้งความในการดำเนินการทำบัตรใหม่ เพียงไปที่สำนักงานเขตเพื่อขอทำบัตรใหม่ก็สามารถทำได้ทันที แต่ให้ปลอดภัยเพิ่มขึ้นก็ควรไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เผื่อโชคร้ายมีคนเอาบัตรประชาชนเราไปทำเรื่องผิดกฎหมาย อย่างน้อยก็จะได้มีหลักฐานเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของเราเอง  ผักไฮโดรโปรนิกส์ไม่ปลอดภัย สวนทางความเชื่อผู้บริโภคThai-PAN (Thailand Pesticide Alert Network) เปิดเผยผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2561 พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักไฮโดรโปนิกส์สูงกว่าผักทั่วไปปัจจุบันผู้บริโภคหันมาเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น ผักและผลไม้จะเป็นอาหารประเภทแรกๆ ที่กลุ่มคนรักสุขภาพเลือกบริโภค เพราะอุดมด้วยสารอาหารและกากใยที่ดีต่อสุขภาพ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มผู้บริโภคผัก อาจต้องกลุ้มใจเพิ่มขึ้น เพราะผักที่ปลูกด้วยระบบไฮโดรโปรนิกส์(รากไม่สัมผัสดิน) ที่หลายคนเชื่อ(ไปเอง) ว่าปลอดภัยนั้น ทางเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN (Thailand Pesticide Alert Network) ได้ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2561 ว่า มีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักไฮโดรโปนิกส์สูงกว่าผักทั่วไป โดยไทยแพนเองได้เก็บตัวอย่างผักไฮโดรโปนิกส์จำนวน 30 ตัวอย่าง จากตลาดและห้างสรรพสินค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า ผักจำนวน 19 ตัวอย่าง พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 63.3 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับการตกค้างของผักและผลไม้ทั่วไป ซึ่งไทยแพนได้เคยสำรวจและวิเคราะห์เมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่ามีการตกค้างสูงกว่าผักทั่วไปที่พบการตกค้างเกินมาตรฐานที่ร้อยละ 54.4  และนอกจากนี้ยังพบการตกค้างของไนเตรท ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในผักไฮโดรฯ อีกด้วย ปัญหาร้องเรียนเรื่องสินค้าและบริการทั่วไปครองแชมป์ปี 60ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ ผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องสินค้าและบริการทั่วไปมากที่สุด ทั้งโฆษณาเกินจริง สัญญาไม่เป็นธรรม รองลงมาได้แก่ การเงินการธนาคาร ซึ่งหนี้บัตรเครดิตยังคงเป็นประเด็นสำคัญศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียนใน เดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2560 ว่ามียอดร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้น 1,153 เรื่อง ผ่านช่องทางโทรศัพท์ เว็บไซต์ ไปรษณีย์ เดินทางมาด้วยตนเอง ส่งอีเมล์ และร้องเรียนผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจของมูลนิธิฯ ตามลำดับหมวดปัญหาที่ร้องเรียนมากที่สุด อันดับหนึ่ง ได้แก่ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป ซึ่งมีการร้องเรียนเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 41.54 โดยเฉพาะประเด็นปัญหา สินค้าที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและเลือกซื้ออุปโภคบริโภค เช่น การโฆษณาขายกระทะยี่ห้อดังที่คุณสมบัติสินค้าไม่เป็นไปตามที่โฆษณา การปิดกิจการของสถานบริการออกกำลังกายที่ไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า หรือการไม่สามารถขอยกเลิกสัญญา คอร์สบริการเสริมความงาม เพราะข้อสัญญาที่ระบุว่าจะไม่คืนเงินทุกกรณีอันดับสอง คือ ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร คิดเป็นร้อยละ 34.69 ฮิตที่สุดในหมวดนี้ ได้แก่ ปัญหาหนี้บัตรเครดิต และปัญหาการเช่าซื้อรถ และอันดับสุดท้ายคือ ปัญหาอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะทั้งนี้เมื่อพิจารณาปัญหาเรื่องร้องเรียนข้างต้นพบว่า สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่มักเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ข้อมูลสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภคไม่ครบถ้วนถูกต้อง ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อสินค้าและบริการดังกล่าว รวมถึงข้อสัญญาต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคที่สำคัญคือ หน่วยงานของรัฐไม่มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรมชัดเจน รวดเร็ว รวมถึงไม่มีกลไกแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบยังมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเป็นรายกรณี ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิ มีข้อเสนอว่า ควรต้องทำงานเชิงรุกในการตรวจสอบและเฝ้าระวัง ไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคมาร้องเรียนจึงค่อยดำเนินการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2559แพทย์เฉพาะทางบาทเดียวปัจจุบันนี้มีการส่งต่อและแชร์ข้อมูลต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งมีข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่ไม่ถูกต้อง หรือให้รายละเอียดไม่ครบถ้วน นำมาซึ่งความเข้าใจผิด หากนำไปใช้ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ จากหลากหลายสถาบัน ในชื่อของ “แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว” (SOS Specialist) โดยกลุ่มแพทย์จิตอาสากลุ่มนี้จะคอยให้บริการตอบคำถามสุขภาพผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊ค เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถส่งข้อความเข้ามาสอบถามความรู้ที่ถูกต้องเรื่องสุขภาพ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลกับแพทย์ผู้มีความรู้เฉพาะด้านได้โดยตรง โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนสอบถามและขอคำแนะนำเป็นจำนวนมากถึง 50,519 คำถาม ส่วนใหญ่เป็นคำถามจากห้องอายุรกรรมเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง รูมาตอยด์ อัมพาต รองลงมาคือ ห้องเด็ก ห้องสูติ เช่น เรื่องการคุมกำเนิด ประจำเดือน ฯลฯ และห้องจิตเวช ซึ่งผู้ที่ส่งคำถามมาขอคำปรึกษาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ และกลุ่มที่ผ่านการตรวจรักษาแล้ว แต่ยังมีข้อสงสัย ใครที่สนใจอยากสอบถามปัญหาเรื่องสุขภาพและการรักษาพยาบาลกับแพทย์ตัวจริงเสียงจริง สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว www.sosspecialist.com หรือที่เฟซบุ๊คแพทย์เฉพาะทางบาทเดียว เลิกสงสัย!!! “น้ำผักชี” ไม่ช่วยล้างไตมีการแชร์ข้อมูลที่อ้างว่า “น้ำผักชี” ช่วยล้างไตได้ ซึ่งสร้างความสงสัยว่าข้อมูลดังกล่าวจริงเท็จประการใด จนล่าสุด ภก.พินิต ชินสร้อย เภสัชกรปฏิบัติการงานแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลวังน้ำเย็น  และรักษาการประธานชมรมเภสัชกรสมุนไพร ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า น้ำผักชีไม่ได้มีผลในการช่วยล้างไต ข้อมูลที่มีการแชร์กันอยู่เป็นเพียงการกล่าวอ้างเท่านั้น ไม่มีผลการศึกษาวิจัยใดเป็นตัวยืนยัน ที่สำคัญคือในผักชีมีสารโพแทสเซียมสูงถึง 540 มิลลิกรัมต่อผักชี 100 กรัม ซึ่งสารดังกล่าวส่งผลให้ไตทำงานหนัก เพราะถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไปจะเป็นภาระต่อไตที่ต้องทำหน้าที่ขับออกจากร่างกาย ซึ่งปกติใน 1 วันร่างกายของเราควรได้รับโพแทสเซียที่ปริมาณ 4.7 มิลลิกรัมเท่านั้นแต่ทั้งนี้คนที่บริโภคผักชีทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะโดยปกติเรากินผักชีในปริมาณไม่มากถึงขนาดที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งผักชีถือเป็นผักที่มีประโยชน์ ช่วยในการขับลม ทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น ซื้อสินค้าลดราคา ระวังเจอของหมดอายุ!!!ใครที่ชอบซื้อสินค้าลดราคาโดยเฉพาะพวกอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค อย่าลืมเช็คเรื่องคุณภาพสินค้าและวันหมดอายุให้ดี ระวังได้จะของถูกแต่ไม่มีคุณภาพเหมือนกับกรณีที่มีการแชร์กันในสื่อออนไลน์ เมื่อมีผู้บริโภครายหนึ่งได้ซื้อไข่ไก่ลดราคาที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สุขาภิบาล 3 โดยผู้บริโภครายนี้พยายามมองหาข้อมูลวันหมดอายุที่ตัวสินค้า แต่กลับพบว่าป้ายที่แจ้งลดราคาแปะทับเอาไว้อยู่ เมื่อแกะป้ายราคาออกก็ต้องตกใจเมื่อเจอกับข้อมูลวันหมดอายุที่แจ้งว่าไข่ไก่แพ็คนี้หมดอายุมาแล้ว 2 วัน!!!นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้าต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะห้างมีหน้าที่ต้องตรวจสอบสินค้าก่อนที่จะขาย เมื่อสินค้าหมดอายุก็ควรรีบจัดเก็บทันที เพราะถ้าผู้บริโภคซื้อสินค้าและรับประทานเข้าไปก็อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหารหมดอายุได้ นอกจากนี้ยังถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่องอาหารที่ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับโดยผู้บริโภคที่พบเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพบสินค้าหมดอายุถูกนำมาวางจำหน่าย การปกปิดข้อมูลเรื่องวันหมดอายุ หรือการแจ้งราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาที่ขาย สามารถร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ ไมว่าจะเป็น อย., สคบ. และ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บังคับติด “ฉลากหวานมันเค็ม” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป – อาหารแช่แข็งกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเพิ่มชนิดอาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน นํ้าตาล ไขมัน และ โซเดียม แบบ GDA (Guideline Daily Amounts) หรือ “ฉลากหวานมันเค็ม” จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ในอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่งทอด ข้าวโพดคั่ว ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้ โดยในประกาศฉบับใหม่จะมีการเพิ่มกลุ่มอาหารที่ผู้บริโภคนิยมรับประทาน อย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารแช่แข็งพร้อมปรุงเข้าไปประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 374) พ.ศ. 2559 เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน นํ้าตาล ไขมัน และโซเดียมแบบจีดีเอ ได้กำหนดกลุ่มอาหารที่ต้องแสดงฉลากหวานมันเค็ม ออกเป็น 5 กลุ่ม 15 ชนิด ดังนี้1.อาหารขบเคี้ยว ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วหรือทอดกรอบ ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ถั่วหรือนัตทอดหรืออบกรอบ หรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส สาหร่ายทอดหรืออบกรอบ หรือเคลือบปรุงรส และปลาเส้นทอดหรืออบกรอบ หรือปรุงรส2.ช็อกโกแลต และผลิตภัณฑ์ในทํานองเดียวกัน3.ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ได้แก่ ขนมปังกรอบ แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์สอดไส้ คุกกี้ เค้ก พาย เพสตรี้ ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้4.อาหารกึ่งสําเร็จรูป ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตาม พร้อมซองเครื่องปรุง ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง5.อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจําหน่ายทั้งนี้จุดมุ่งหมายของการบังคับให้อาหารเหล่านี้ต้องแสดงฉลากหวานมันเค็ม ก็เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในการใช้เป็นข้อมูลในเลือกรับประทานให้เหมาะสมต่อสุขภาพ ลดการบริโภค หวาน มัน เค็ม ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง ความดัน เบาหวาน หัวใจ โดยผลิตภัณฑ์อาหารตามประกาศฉบับนี้จะต้องทำการติดฉลากหวานมันเค็มตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 นี้เป็นต้นไป เชิญร่วมงานเวทีประชุมแลกเปลี่ยน “ตลาดที่มีจิตสำนึก” ครั้งที่ 3ในยุคที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะฝากท้องไว้กับอาหารจากระบบอุตสาหรรม อาหารแปรรูปที่ผ่านการปรุงแต่งดัดแปลง ซึ่งแม้จะได้ความสะดวกสบายแต่กลับเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยและการปนเปื้อนของสารเคมีปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นสารกันบูด สีสังเคราะห์ สารปรุงแต่งรสและกลิ่น ฯลฯ ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา    “ตลาดที่มีจิตสำนึก” จึงเกิดขึ้นมาจากความตั้งใจที่อยากให้ผู้ผลิต เกษตรกร ที่ใส่ใจในการผลิตอาหารปลอดภัย ได้นำสินค้าของตัวเองมาส่งต่อโดยตรงถึงมือผู้บริโภค คนกินได้อาหารที่ปลอดภัยไม่มีสารเคมีปนเปื้อน อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร สุขภาพร่างกายแข็งแรง ส่วนคนขายคนผลิตก็ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เป็นธรรม ได้กำลังใจในการทำเกษตรกรที่ปลอดภัยที่ต้องใช้ความใส่ใจในปลูกมากกว่าการเกษตรทั่วไป    ในวันที่ 30 ส.ค. – 1 ก.ย 59 นี้ จะมีการจัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนตลาดทางเลือกในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชีย ความร่วมมือระหว่างเกษตรกรรายย่อยผู้ประกอบการสังคมและผู้บริโภคสีเขียว ภายใต้ชื่องานว่า “ตลาดที่มีจิตสำนึก #3” ซึ่งในงานจะมีการพูดถึงความสำคัญของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่อสังคม โดยจะมีประสบการณ์จากต่างประเทศ ทั้ง ญี่ปุ่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย มาบอกเล่าในงานประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนผู้ประกอบการทางสังคมที่จะมาบอกเล่าว่าการทำธุรกิจโดยใส่ใจสังคมเป็นมิตรกับชุมชนนั้นต้องเริ่มต้นยังไง    ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ สวนเงินมีมา โทร. 02-622-0955, 02-622-2495-6 www.suan-spirit.com  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2557 ประกันสังคมเพิ่มสิทธิผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ประกาศเพิ่มความคุ้มครองกรณีปลูกถ่ายอวัยวะ 5 รายการ ประกอบด้วย 1.การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ 2.การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด 3.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 4.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อน และ 5.การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะพร้อมกัน ได้แก่ หัวใจและปอด หัวใจและไต ตับและไต ตับอ่อนและไต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค.57 เป็นต้นไป ก่อนหน้านี้สำนักงานประกันสังคมก็ได้ให้สิทธิผู้ประกันตนในการ ผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ปลูกถ่ายไขกระดูก และปลูกถ่ายไต ครั้งนี้ได้มีการขยายความคุ้มครองแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โรคปอดที่มีอันตรายถึงชีวิต โรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งโรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ จึงต้องได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะ โดยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราบริการทางการแพทย์ ทั้งผู้บริจาคอวัยวะและผู้รับบริจาค จะได้รับสิทธิครอบคลุมค่าใช้จ่าย ดังนี้  1. ค่าเตรียมก่อนการผ่าตัด 2. ค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการผ่าตัดของผู้รับบริจาค กรณีมีภาวะแทรกซ้อน และกรณีไม่มีภาวะแทรกซ้อน 3. ค่าใช้จ่ายหลังการผ่าตัด ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับสำนักงานประกันสังคมที่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ 5 แห่งขณะนี้ คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์     ขนส่งฯ เข้มเรื่อง “เข็มขัดนิรภัย” ระวังโทษปรับทั้งคนนั่ง-คนขับ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นวันดีเดย์ที่กรมขนส่งทางบกประกาศให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องมีการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง พร้อมเดินหน้าบังคับใช้เข้มงวดจริงจัง (สักที) เป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้ทำข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทพบว่ามีเกิดขึ้นเฉลี่ยถึง 2,000 ครั้งต่อปี ซึ่งมีผลการวิจัยถึงประโยชน์ของการใช้เข็มขัดนิรภัยในประเทศไทยระบุว่า ผู้ที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์มากกว่าผู้ที่คาดเข็มขัดนิรภัยถึง 1.52 เท่าและพบว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยสามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 34 สำหรับประเภทของรถโดยสารสาธารณะที่ต้องปฎิบัติตามคำสั่งนี้ได้แก่ รถตู้โดยสารสาธารณะ ทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างจังหวัด และรถโดยสารไม่ประจำทาง หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องโดนโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมนังได้มีการออกกฎกระทรวง เรื่องกำหนดความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติในระหว่างการโดยสาร พ.ศ. 2557 ที่มีข้อบังคับให้ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเป็น 1 ใน 10 บังคับเรื่องความปลอดภัยที่ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะต้องปฏิบัติ   ยาจุดกันยุงอันตราย ตายทั้งยุง ตายทั้งคน บ้านไหนที่ใช้ยาจุดกันยุงต้องระวัง เพราะเดี๋ยวนี้มียาจุดกันยุงไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงสารอันตรายทำร้ายสุขภาพถูกลักลอบนำเข้ามาขายหลอกลวงผู้บริโภค โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมมือกับกองปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ทำการจับกุมผู้กระทำผิดที่ลักลอบผลิต-จำหน่ายยาจุดกันยุงที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ได้แก่ ยาจุดกันยุงยี่ห้อ LaoJun และ ยี่ห้อgoldeer จากการตรวจสอบพบว่ายาจุดกันยุงทั้ง 2 ยี่ห้อ มีการใช้ “สารเมเพอร์ฟลูทริน” ( Meperfluthrin ) ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มของสารไล่แมลง ไพรีทริน หรือ ไพรีทรอยด์ ที่ อย. ยังไม่รับขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ไม่มีการยืนยันเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้ เพราะฉะนั้นก่อนจะซื้อยาจุดกันยุงหรือผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดแมลงต่างๆ ต้องดูให้แน่ใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองถูกต้อง และอย่าลืมดูวิธีใช้ที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง   เศร้าเพราะ “ผักสด” สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนคนชอบทานผัก ระวังผักสดที่ถูกใส่มาพร้อมในกล่องข้าวที่ปิดสนิท เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคสูง เหตุเพราะผักสดส่วนใหญ่จะมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งผักสดที่ไม่ได้ผ่านการล้างทำความสะอาดที่ดีพอ ก็อาจมีเชื้อแบคทีเรียตกค้าง ซึ่งมาจากดินที่ปลูก ขั้นตอนการเก็บ การขนส่ง หรือแม้แต่จากขั้นตอนการปรุง พอนำมาวางบนอาหารที่ปรุงสุกแล้วภายในกล่องซึ่งมีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 35-50 องศาเซลเซียส ผักสดที่ได้รับความร้อนจากอาหารเป็นเวลานานๆ ทำให้ผนังเซลล์ของผักถูกทำลาย เชื้อแบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น ผักจะเน่าเร็วกว่าปกติ ทำให้เชื้อแบคทีเรียอาจปนเปื้อนลงในอาหาร เสี่ยงต่ออาการอาหารเป็นพิษ วิธีป้องกันก็ต้องวอนต่อไปยังพ่อครัว-แม่ครัวว่าควรแยกผักสดออกจากกล่องข้าวกับข้าวที่ทำใหม่ๆ แยกใส่ถุงพลาสติกต่างหาก ส่วนคนกินอย่างเราก็ควรเลือกกินอาหารที่ผลิตสดใหม่ ลดความเสี่ยงจากการอาหารไม่ปลอดภัย   ยกระดับเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลในประกันสังคม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก แถลงข่าว “ร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว” เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบสุขภาพของผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคม ปัญหาที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ เรื่องของการเข้าถึงสิทธิ ที่ต้องสมทบเข้ากองทุนไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะได้รับสิทธิการรักษา และกรณีคลอดบุตรต้องสมทบไม่น้อยกว่า 7 เดือน จึงจะได้รับสิทธิค่าคลอดเหมาจ่าย ทำให้คนที่ยังจ่ายสมทบไม่ครบไม่สามารถใช้สิทธิใดได้เลย สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ใช้ไม่ได้ สิทธิประกันสังคมก็ยังไม่ได้สิทธิ ต้องให้สิทธิการรักษาพยาบาลเกิดขึ้นทันทีที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกจำนวนมากที่รอการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น ให้การคลอดเป็นการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ยกเลิกการจำกัดการคลอดได้ 2 ครั้ง ยกเลิกการจำกัดสิทธิไม่รักษากรณีการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ต้องรักษาทุกกรณี และต้องได้รับการชดเชยตามสิทธิกรณีตายที่ระบุไว้ในประกันสังคม ไม่กำหนดเพดานวงเงินและเงื่อนไขจำนวนครั้งต่อปี  ในการรักษาเกี่ยวกับฟัน ต้องเป็นไปตามความจำเป็น ให้สิทธิการรักษากรณีการบำบัดสารเสพติดต่างๆ รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย ให้ได้รับการบำบัดทดแทนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดอย่างโปรตีนแฟคเตอร์ที่เท่าเทียมเช่นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกเรื่องที่มีความสำคัญมาก คือผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการรักษาพยาบาล จะไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41ทำให้ผู้ประกันตนต้องไปฟ้องศาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งใช้เวลานานไม่ทันต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงควรมีการดูแลคุ้มครองสิทธิด้านนี้ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมด้วย   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 2556 ผักดองต้องระวัง ใครที่ชอบผักดองอ่านข่าวนี้แล้วคงต้องคิดหนัก เพราะทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการสุ่มตรวจสอบตัวอย่างผักดองในช่วงเทศกาลกินเจที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดดอง กาน่าไฉ่ หัวไชโป้ว รวมจำนวน 30 ตัวอย่าง โดยนำตัวอย่างมาตัวหาวัตถุกันเสีย ชนิดกรดเบนโซอิค พบว่า มีตัวอย่างผักดองที่เกินมาตรฐานถึง 22 ตัวอย่าง ปริมาณของกรดเบนโซอิคที่พบอยู่ระหว่าง 1,034 - 5,995 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ. 2547) กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้น โดยชนิดของผักดองที่พบการใช้วัตถุกันเสีย กรดเบนโซอิคมากที่สุด คือ ผักกาดดองและหัวไชโป้ว ซึ่งวัตถุกันเสียไม่ได้มีปนเปื้อนเฉพาะในตัวผักเท่านั้น แต่ยังมีอยู่ในน้ำที่ใช้ดองผักด้วยเช่นกัน วัตถุกันเสีย เมื่อเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากเกินไปจะทำลายเซลล์ในร่างกาย ทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เกิดแผล นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำ จนเกิดอาการช็อกได้ หรือในบางรายที่กินเข้าไปไม่มากแต่แพ้ จะทำให้เป็นผื่นคันขึ้นตามตัว อาเจียน มีไข้     คุมเข้มคลินิกเสริมความงาม ความนิยมที่มีเพิ่มขึ้นของสถานเสริมความงาม สิ่งที่เพิ่มตามไม่ใช่แค่ความสวยเท่านั้น แต่ปัญหาหลายอย่างก็ตามมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการหลอกลวง สถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน หมอเถื่อน คลินิกเถื่อน ยาปลอม จนเป็นเหตุให้ผู้ที่ใช้บริการต้องเสียทั้งทรัพย์ เสียสุขภาพ เสียโฉม ไปจนถึงเสียชีวิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ได้เตรียมจัดอบรมพร้อมกำหนดมาตรฐานคลินิกเสริมความงามทั่วประเทศ เพื่อจัดการกับปัญหาคลินิกเถื่อน หมอเถื่อน รวมไปถึงเรื่องการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการเสริมความงามที่เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง โดย สบส.จะจัดโครงการอบรมผู้ประกอบกิจการคลินิกเวชกรรมทุกประเภทซึ่งมีประมาณ 14,000 แห่ง และ รพ.เอกชน 326 แห่งทั่วประเทศ ในเดือน ต.ค. นี้ เพื่อชี้แจงแนวทางปฏิบัติให้เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ โดยได้กำหนดมาตรฐานของคลินิกเวชกรรมทุกประเภทจะต้องแสดงหลักฐาน 5 ประการ คือ 1.ชื่อสถานพยาบาล รวมทั้งเลขที่ใบอนุญาต 11 หลักติดที่หน้าสถานพยาบาล 2.แสดงใบอนุญาตประกอบกิจการและใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลในที่ตั้งชัดเจนและเปิดเผย 3.แสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปีของปีปัจจุบัน 4.มีแพทย์อยู่ประจำจริง โดยต้องแสดงชื่อ รูปถ่าย รวมทั้งเลขที่ใบประกอบวิชาชีพ และ 5.แสดงราคาค่ารักษาที่ชัดเจน ติดที่หน้าห้องตรวจ เพื่อให้ประชาชนแยกแยะได้ง่ายยิ่งขึ้น หลังจากการอบรม สบส. จะตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการตรวจประเมินมาตรฐานของคลินิกความงาม โดยคณะกรรมการจะประกอบด้วย ผู้แทนจากสาธารณสุข ผู้แทนภาคเอกชน และสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องทุกสาขา ซึ่งในหลักเกณฑ์การประเมินอาจจะมีการกำหนดรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในคลินิกต้องผ่าน อย. สถานที่มีความสะอาดปลอดภัย มีเครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตกรณีฉุกเฉิน ซึ่งจะช่วยแก้ไขในกรณีที่เกิดปัญหา เช่น การแพ้ยาในเบื้องต้นได้ หากสุ่มตรวจแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไข จะมีการยึดใบอนุญาต พร้อมทั้งดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541   บ้านนี้อยู่แล้วดี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับ การเคหะแห่งชาติ กรมที่ดิน ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ได้ร่วมกันคัดเลือกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดี โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ 5 ข้อสำคัญ คือ 1.การประกอบการและทีมงาน 2.ความถูกต้องเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง คุณภาพด้านคมนาคม สาธารณูปโภค 3.มาตรฐานการออกแบบและการก่อสร้าง 4.ความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจต่อผู้บริโภคและสังคม ก่อนและหลังการขาย และ 5.ความพึงพอใจของผู้บริโภคทั้งในเรื่องของคุณภาพบ้าน การดูแลสาธารณูปโภคและการบริการสาธารณะ การตอบสนองต่อการแจ้งปัญหาของผู้อยู่อาศัย โดยผลการคัดเลือกได้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ดี ที่ผ่านหลักเกณฑ์ฯ ทั้งหมดจำนวน 22 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพฤกษาวิลเลจ Scenery (รังสิต คลอง 2) โดย บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท 2.โครงการพฤกษาวิลล์ 31 (สายไหม) โดย บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท 3.โครงการบ้านพฤกษา 52/1 (พหลโยธิน – นวนคร) โดย บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท 4.โครงการทรี คอนโด สุขุมวิท 42 โดย บจก. บิ๊ก ทรี แอสเสท 5.โครงการทรี คอนโด ลาดพร้าว 27 โดย บจก.บิ๊ก ทรี แอสเสท 6.โครงการเลอนครินทร์ นีโอ โดย บจก.น้อมบุญ 7.โครงการศุภาลัย สุวรรณภูมิ โดย บมจ.ศุภาลัย 8.โครงการศุภาลัย ปาร์ค ศรีนครินทร์ โดย บมจ.ศุภาลัย 9.โครงการศุภาลัย ปาร์ค แยกติวานนท์ โดย บมจ. ศุภาลัย 10.โครงการศุภาลัย ริเวอร์เพลส โดย บมจ. ศุภาลัย 11.โครงการเลอริช พระราม 3 โดย บจก.ริชี่เพลซ 2002 12.โครงการไอริส พาร์ค (สุขุมวิท 76) โดย บจก. ไอริส กรุ๊ป 13.โครงการอิสรเพลส โดย บจก. อิสรพร็อพเพอร์ตี้ 14.โครงการยู ดีไลท์ แอท ห้วยขวาง สเตชั่น โดย บจก. แกรนด์ ยู ลิฟวิ่ง 15.โครงการAqua Divina by Sammakorn โดย บมจ.สัมมากร 16.โครงการบ้านฟ้าปิยรมย์ เลค แอนด์ พาร์ค 2 โดย บมจ.เอ็น ซี เฮ้าส์ซิ่ง 17.โครงการบ้านฟ้ากรีนพาร์ค รอยัล ธนบุรีรมย์ โดย บมจ. เอ็น ซี เฮ้าส์ซิ่ง 18.โครงการ The First Home รังสิต–ลำลูกกา คลอง 2 โดย บจก. กานดา เดคคอร์ 19.โครงการนิรันดร์ วิลล์ 8 โดย บจก.นิรันดร์วิลล์ 20.โครงการนิรันดร์ วิลล์ 10 โดย บจก. นิรันดร์วิลล์ 21.โครงการนิรันดร์ วิลล์ 10 โดย บจก.อีลิท แลนด์ 22.โครงการซิมโฟนี สุขุมวิท โดย บจก.อีลิท แลนด์   "สเต็มเซลล์" รักษาได้แค่ 5 โรค องค์กรด้านการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมประสาทวิทยา ร่วมกันแถลงยืนยันและออกโรงเตือนประชาชน เรื่องการรักษาโรคด้วย "สเต็มเซลล์" ว่าในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถใช้สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรคที่เป็นที่ยอมรับเพียง 5 โรคเท่านั้น คือ 1. โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว 2. โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง 3. โรคไขกระดูกฝ่อ 4. โรคมะเร็งมัลติเพิล มัยอิโรมา และ 5. โรคโลหิตจางพันธุกรรมธาลัตซีเมีย เพราะฉะนั้นอย่าหลงเชื่อหากมีใครมีอวดอ้างว่าสามารถใช้สเต็มเซลล์รักษาโรคอื่นๆ นอกเหนือจาก 5 โรคที่กล่าวมา และหากมีผู้ใดชักชวนให้รักษาด้วยสเต็มเซลล์นอกจาก 5 โรคนั้น ให้แจ้งไปที่แพทยสภาเพื่อตรวจสอบได้ว่า การรักษาดังกล่าวเป็นโครงการวิจัยหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากเป็นโครงการวิจัย ผู้ป่วยจะต้องไม่เสียเงินและไม่มีการเรียกเก็บเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นใด สำหรับโทษต่อผู้ป่วยที่ได้รับสเต็มเซลล์โดยไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงกับโรค อาจเกิดอาการแพ้ เกิดการอุดตันของหลอดเลือด และอาจเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรง     สคบ.ฟ้องแทนคดีรถโดยสาร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.เตรียมให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดีแทนผู้บริโภค ในเรื่องของการฟ้องร้องขอชดเชยค่าเสียหายเพิ่มเติมจากกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ทั้งรถประจำทาง รถตู้โดยสาร และรถแท็กซี่  ซึ่งที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ประสบอุบัติเหตุจากการเดินทางโดยสารรถสาธารณะเป็นจำนวนมาก ที่พบปัญหากรณีเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บแล้วได้รับการชดเชยค่าเสียหาย แค่ในวงเงินที่ผู้ให้บริการทำประกันไว้เท่านั้น ซึ่งถือว่ามีจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แถมหลายรายยังถูกประวิงเวลาไม่ได้รับการเยียวยาทั้งที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นไปแล้ว การดำเนินการฟ้องแทนผู้บริโภคของ สคบ. จะเป็นการช่วยการดำเนินการรวดเร็วขึ้น จากเดิมที่ผู้บริโภคร้องเรียนมายัง สคบ. ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาหลายขั้นตอน กว่าจะถึงการส่งฟ้องคดีได้ แต่ทั้งนี้ สคบ. จะต้องประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานศาลยุติธรรม และ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อการทำงานช่วยเหลือผู้บริโภคมีประสิทธิภาพมากที่สุด   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 139 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 2555 อย.ก็ตรวจสารเคมีในผัก หลังจากที่ฉลาดซื้อของเราได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างผักสดที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดัง แล้วพบว่ามีการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐานในหลายตัวอย่าง ซึ่งหลังจากฉลาดซื้อนำผลวิเคราะห์ลงในนิตยสารพร้อมทั้งเปิดแถลงข่าวจนเกิดเป็นกระแสตื่นตัวถึงอันตรายของสารเคมีในผักและการขายสินค้าไม่ปลอดภัย โดยหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ก็ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบคุณภาพผักผลไม้ที่จำหน่ายในท้องตลาดโดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น (Test Kit) โดยเป็นการสุ่มเก็บตัวอย่างผัก – ผลไม้ในเขตกทม.จำนวน 1,987 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์ ผลที่ได้พบว่ามีจำนวนตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ 69 ตัวอย่าง แบ่งเป็นตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสด 60 ตัวอย่าง ตัวอย่างผักสดที่พบสารพิษตกค้างมากที่สุดคือ 1. คะน้า 2. กะหล่ำดอก 3. ต้นหอม ส่วนอีก 9 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนเป็นตัวอย่างที่เก็บจากซูเปอร์มาร์เก็ต โดยคะน้ายังคงเป็นผักที่พบสารตกค้างมากที่สุด รองลงมาคือ มะเขือพวง และ พริกไทย ซึ่งทาง อย. ก็ได้ตักเตือนไปกับทางผู้จำหน่าย พร้อมทั้งจะทำการสุ่มตรวจซ้ำต่อเนื่อง หากพบการทำผิดซ้ำจะมีบทลงโทษตามกฎหมาย ----------------------------------------------------------------------------------------     ไม่ใช่แค่คนขับ...คนนั่งก็มีสิทธิถูกปรับถ้าเมาบนรถ นักดื่มทั้งหลายรู้กันหรือยัง ตอนนี้มีกฎหมายออกมาแล้วว่าไม่ว่าจะเป็นคนขับรถหรือเป็นผู้โดยสารถ้าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือว่ามีความผิด ตาม “ประกาศตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เรื่อง การห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทางสาธารณะ ขณะขับขี่หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถทุกประเภท” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคมเป็นต้นไป โดยบทลงโทษสำหรับผู้ที่ทำผิดคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เชื่อว่ากฎหมายนี้น่าจะช่วยลดสถิติการเสียชีวิตและบาดเจ็บที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสถิติทุกวันนี้จะอยู่ที่เฉลี่ย 30 รายต่อวัน ยิ่งถ้าจะเป็นช่วงเทศกาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นนั้น บริษัทผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่เคยออกมารับผิดชอบแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้กฎหมายอีก 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กำลังรอการบังคับใช้ ประกอบด้วย ร่างประกาศ “ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงานอุตสาหกรรม” ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน และ ร่างประกาศ “ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ” ที่ยังไม่ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ---------------------------------------------------------------------------------------     เรื่องร้อนๆ ของ “ผ้าเย็น” “ผ้าเย็น” ถือเป็นสินค้าที่หลายคนใช้โดยมองข้ามเรื่องความปลอดภัย ทั้งที่ความจริงแล้ว ผ้าเย็นจัดเป็นสินค้าในกลุ่ม “เครื่องสำอางควบคุม” ตามประกาศของ อย. ต้องมีการแสดงคำเตือนบนฉลาก เช่น “ห้ามใช้บริเวณรอบดวงตา” พร้องทั้งข้อมูลสำคัญอื่นๆ เช่น ชื่อ – ที่อยู่ผู้ผลิต เลขที่จดแจ้งกับทาง อย. แต่ปัจจุบันเรายังพบเห็นผ้าเย็นที่มีปัญหาเรื่องการแสดงข้อมูลบนฉลากเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผ้าเย็นที่ได้รับแจกตามร้านอาหาร โต๊ะจีน บนรถโดยสาร ซึ่งอันตรายของผ้าเย็นที่ไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง หรือหากถูกบริเวณก็อาจทำให้แสบตาได้ เนื่องจากสารที่ต้องห้ามในเครื่องสำอางอย่าง เมททิลแอลกอฮอล์ และรวมถึงอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ โดยล่าสุด กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ได้ตรวจยึดผ้าเย็นที่เสี่ยงอันตราย จำนวนกว่า 100,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 500,000 บาท ของบริษัทไทยโทเวล หลังจากได้รับการร้องเรียน โดยตรวจสอบพบว่าผ้าเย็นทั้งหมดไม่มีการแสดงฉลาก ---------------------------------------------------     “พาสต้า” น่าเป็นห่วง ใครที่ชอบทานอาหารอิตาเลียนชื่อดังอย่าง “พาสต้า” อ่านข่าวนี้แล้วอาจจะตกใจ เพราะมีการเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยในการประชุมวิชาการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 20 เกี่ยวกับสิ่งแปลกปลอมในพาสต้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยศึกษาสิ่งแปลกปลอมชนิดต่างๆ ในตัวอย่างพาสต้านำเข้าช่วงเดือนตุลาคม 2548-2552 จำนวน 142 ตัวอย่าง พบสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กในทุกตัวอย่าง เช่น ชิ้นส่วนของแมลง ตัวหนอน ตัวไร มด ขนสัตว์ต่าง ๆ ไข่แมลง เป็นต้น ฟังแล้วน่าตกใจ งานนี้ อย. จึงต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างพาสต้าเพื่อนำมาวิเคราะห์หาสารพิษจากเชื้อราและวัตถุกันเสีย ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบตัวอย่างที่มีการปนเปื้อน พาสต้าจัดเป็นอาหารทั่วไปกลุ่มผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไม่มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานเป็นการเฉพาะไว้ แต่ก็มีข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เช่น ต้องไม่มีสารปนเปื้อนและจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค แต่ปกติพาสต้าต้องมีการปรุงด้วยความร้อนก่อนทาน ก็น่าจะช่วยฆ่าเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมได้ระดับหนึ่ง ซึ่งหากใครที่ซื้อพาสต้ามาทานแล้วพบเจอสิ่งแปลกปลอมน่าสงสัยให้รีบแจ้งหรือส่งไปให้ทาง อย. ตรวจสอบต่อไป ------------------------------------------------------------------------------------     ระวังสูญเงินฟรีเพราะซอฟต์แวร์เถื่อน ใครที่ใช้งานซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ต้องระวัง โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต อาจมีความเสี่ยงต่อการสูญเงินแบบไม่รู้ตัว เนื่องจากโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์มักขาดระบบป้องกันที่ได้มาตรฐาน ทำให้บรรดาอาชญากรคอมพิวเตอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ต้องใช้ความระมัดระวังในการให้ข้อมูลที่สำคัญๆ โดยเฉพาะหมายเลขบัญชีธนาคาร และรวมถึงรหัสผ่านต่างๆ นอกจากนี้หากมีการติดต่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงินผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิก ก่อนการตอบรับหรือติดต่อกลับต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าถูกส่งมาจากธนาคารจริง ป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่หวังข้อมูลด้านการเงินของเรา หากไม่แน่ใจหรือมีข้อสงสัยในขั้นตอนใดๆ ของการทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ต้องโทรสอบถามกับทางธนาคาร สำหรับอันตรายของการใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ลิขสิทธิ์ คือการส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะระบบป้องกันข้อมูลต่างๆ มีประสิทธิภาพจะด้อยลง และบ่อยครั้งที่มัลแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่ไม่ปลอดภัยมักจะถูกโหลดมาพร้อมกับซอฟต์แวร์ที่ไม่ถูกกฎหมายโดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว  ที่สำคัญคือผู้บริโภคเองก็ต้องรู้จักที่จะปกป้องข้อมูลของตัวเอง อย่างเช่นการเปิดระบบ Firewalls และทำการติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสที่มีประสิทธิภาพไว้ในคอมพิวเตอร์ของตัวเอง หมั่นล้างประวัติการใช้งานอินเตอร์เน็ต และเปลี่ยนรหัสผ่านที่ใช้ในการทำธุรกรรมการเงินเป็นประจำ ยิ่งเดี๋ยวนี้หลายคนใช้เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง Facebook และ Twitter การแสดงข้อมูลสำคัญต่างๆ ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นแล้วนำไปใช้ประโยชน์จนเกิดความเสียหายกับเราได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมีนาคม 2555 เจ็บป่วย ฉุกเฉิน รักษาได้ทุกที่ไม่มีแบ่งสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารักษาได้ทันทีทุกโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือของเอกชน ใกล้ที่ไหนไปที่นั้น ไม่มีการแบ่งสิทธิ ทุกกองทุนสุขภาพให้บริการภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งทั้ง 3 กองทุนสุขภาพของไทย ประกอบด้วย กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ จับมือร่วมกันเพื่อพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลของบ้านเราให้เป็นไปอย่าง เท่าเทียม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ แถมยังเป็นก้าวสำคัญที่อาจเป็นความหวังเล็กๆ ที่นำไปสู่การสร้างระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียวกันให้กับคนไทยทั้งประเทศ สำหรับนิยามของผู้ป่วยฉุกเฉินที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้กำหนดเอาไว้หมายถึง ผู้ป่วยด้วยโรค ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ทางเดินหายใจ ต้องดูแลติดตามใกล้ชิด เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน   หากต้องการความช่วยกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถติดต่อได้ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โทร. 1669 แต่หากมีข้อสงสัยเรื่องสิทธิหรือสอบถามรายชื่อ รพ. ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ โทร. 1330 -------------------------------------------     คนไทยป่วยมากขึ้น เพราะกินผักน้อยลง ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจเมื่อมีผลการวิจัยออกมาว่า คนไทยกินผัก – ผลไม้น้อยลง ซึ่งส่งผลทำให้คนไทยเราป่วยด้วยโรคร้ายแรงอย่าง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง กันมากขึ้น โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าปัจจุบันมีคนไทยป่วยด้วยโรคที่กล่าวมาเฉลี่ยปีละ 97,900 คน มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งกว่า 6 หมื่นคนเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี ชี้ให้เห็นว่าคนไทยเราอายุสั้นลง แถมคนไทยเรายังกินยากันมากถึงปีละ 4.7 หมื่นล้านเม็ด หรือเฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยป่วยเพิ่มขึ้น มาจากการขาดการดูแลสุขภาพที่ดี ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ที่สำคัญคือการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม กินแต่ของหวาน ของเค็ม ของมัน แต่กลับกินผัก – ผลไม้น้อยเกินไป ซึ่งจากข้อมูลของกรมอนามัยพบว่าในปี 2554 ที่ผ่านมา คนไทยกินผักกันค่อนข้างน้อยเฉลี่ยแค่คนละ 1.8 กรัมหรือไม่ถึง 2 ขีดเท่านั้น ทั้งที่ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ให้กินผักให้ได้อย่างน้อยวันละ 4 ขีด จึงจะผลในทางบวกต่อสุขภาพ เพราะฉะนั้นในฐานะที่บ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ควรหันมาให้ความสำคัญกับการกินผัก – ผลไม้กันให้มากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเอง -----------------------------------------------     ตรวจจับความเร็วรถตู้โดยสาร...มาตรการเพื่อความปลอดภัย ช่วงที่ผ่านมามีข่าวรถตู้โดยสารสาธารณะประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้งจนน่าตกใจ แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือจำนวนทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการที่มีแต่มากขึ้น ในสภาพการจราจรที่แสนจะแออัดวุ่นวายของกทม. แม้จะหวั่นใจเรื่องอุบัติเหตุแต่รถตู้โดยสารก็เป็นทางเลือกที่หลายคนต้องการ เพราะสะดวกกว่าและประหยัดเวลา แต่เรื่องความปลอดภัยยังไงก็เรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง กรมขนส่งทางบกจึงออกมาตรการให้รถตู้โดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งระบบตรวจจับความเร็วที่มีชื่อว่า RFID (Radio Frequency Identification) ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่ตรวจจับความเร็วของรถตู้โดยสารสาธารณะขณะวิ่งบนทางด่วน โดยความเร็วที่กำหนดไว้คือไม่เกิน 90 กม./ชั่วโมง รถตู้ที่ฝ่าฝืนขับเร็วเกินกว่าที่กำหนดจะต้องเสียค่าปรับ 5,000 บาท ถ้าทำผิดซ้ำจะถูกปรับเพิ่มเป็น 10,000 บาท โดยขณะนี้ยังมีการใช้ระบบตรวจจับความเร็วรถตู้โดยสารเฉพาะในกทม.เท่านั้น แต่ในอนาคตข้างหน้ากรมขนส่งทางบกตั้งใจจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สำหรับการเลือกใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องสังเกตแผ่นป้ายทะเบียนที่ต้องเป็นพื้นสีเหลือง ตัวเลขและตัวอักษรเป็นสีดำ แสดงชื่อเส้นทางทีวิ่ง ด้านข้างรถมีเครื่องหมายแสดงการเข้าร่วมกับ ขสมก. และ บขส. -------------     “สเตียรอยด์” ตัวร้าย...อันตรายที่แฝงมากับยาแผนโบราณ เพราะบ้านเรายังมีความเชื่อผิดๆ เรื่องการใช้ยากันอยู่อีกมาก อย่างความเชื่อที่ว่าการใช้ยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณปลอดภัยกว่ายาแผนปัจจุบัน ซึ่งความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากยังพบว่ามีการใส่สารสเตียรอยด์ลงในยาแผนโบราณที่วางจำหน่ายอยู่เป็นจำนวนมาก แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จึงได้งานเสวนาเรื่อง “สภาพปัญหาและผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากการใช้สเตียรอยด์” เพื่อเป็นสร้างความเข้าใจและกระตุ้นเตือนอันตรายของสารสเตียรอยด์ที่ปลอมปนอยู่ในยาแผนโบราณ จากการเก็บตัวอย่างยาแผนโบราณที่วางขายทั่วไป โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ยังพบการปลอมปนสารสเตียรอยด์ ทั้งในยาที่ได้และไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน พบทั้งในแบบที่เป็นยาลูกกลอน ยาชุด ยาน้ำสมุนไพร รวมถึงเดี๋ยวนี้ถูกนำมาไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมด้วย ซึ่งอันตรายของสารสเตียรอยด์มีตั้งแต่ไปกัดกระเพาะอาหาร ทำให้กระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจรุนแรงถึงขั้นไตวาย ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลา ยิ่งกินต่อเนื่องเป็นเวลานานยิ่งอันตรายมาก คนที่เสี่ยงกับสารสเตียรอยด์ส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ตามต่างจังหวัด เพราะเวลาที่เจ็บป่วยไม่นิยมไปสถานพยาบาล อาจจะด้วยเพราะเดินทางลำบากหรือคิดว่าไปหาหมอต้องเสียเงินมาก จึงเลือกวิธีซื้อยามากินเอง ซึ่งยาที่ซื้อก็มักเป็นยาสมุนไพรยาแผนโบราณที่ขายตามร้านขายของชำทั่วไปบ้าง รถเร่ที่ประกาศขายยาต่างๆ บ้าง เป็นเพราะหลงเชื่อในคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณ แม้เดี๋ยวนี้จะการควบคุมเรื่องการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้มงวดขึ้น แต่รูปแบบของการหลอกขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็มีเพิ่มขึ้นหลายช่องทาง ทั้ง อินเตอร์เน็ต ทีวีเคเบิ้ล วิทยุชุมชน การขายตรง ภาครัฐต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการกินยาที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค และควบคุมดูแลการผลิตยาที่ปลอดภัย อย่าให้มีการลักลอบใช้สารสเตียรอยด์ พร้อมทั้งป้องกันการผลิตและจำหน่ายยาที่ผิดกฎหมาย ที่สำคัญคือผู้ป่วยต้องรู้เท่าทันเลือกกินยาที่ปลอดภัยได้รับการรับรองจากเภสัชกร อย่ากินเพราะคำโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง --------------------------------------------     วันสิทธิผู้บริโภคสากล ถึงเวลาตื่นตัวปัญหาผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ต้อนรับ “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา โดยได้มีการแปลอักษรคำว่า “World Consumer Rights Day” รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิผู้บริโภคและชักชวนให้ผู้บริโภคหันมาตระหนัก และสนใจในสิทธิรอบตัว เช่น การโดยสารรถสาธารณะอย่างไรให้ปลอดภัย ราคาดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เป็นต้น โดยมีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก โดยในปีนี้ประเด็นที่องค์กรผู้บริโภคทั่วโลกรณรงค์ร่วมกันคือ ปัญหาเรื่องการเงินการธนาคาร ซึ่งองค์กรผู้บริโภคประเทศไทยของเรามีประเด็นปัญหาการเงินการธนาคารที่อยากให้ภาครัฐจัดการแก้ไข ได้แก่ 1.ปัญหาการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป 2.ปัญหาการทวงหนี้ไม่เป็นธรรม และ 3.ตั้งคณะทำงานทบทวนมาตรการการกำหนดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนโยบายหรือมาตรการที่ออกมาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการแทบทั้งสิ้น เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต ดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝาก การเก็บค่าธรรมเนียมการการโอนเงิน การฝากเงิน การเก็บเงินจากการใช้บริการตู้เอทีเอ็ม ผู้บริโภคต้องรับภาระส่วนนี้โดยไม่เป็นธรรม พร้อมกันนี้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคยังส่งเสียงถึงรัฐบาล เรียกร้องให้เร่งออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (มาตรา 61) ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งกฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากให้กับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2553 2 ธันวาคม 2553นักวิจัยเตือน ผักไฮโดรโปนิกเสี่ยงมะเร็ง ม.เกษตรศาสตร์ เปิดเผยงานวิจัยที่ชวนตกใจ ระบุผักที่ไฮโดรโปนิก รับประทานมากอาจเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็ง จากไนเตรทที่สะสมมากับผัก น.ส.พัชราภรณ์ ภู่ไพบูลย์ นักวิจัยจากฝ่ายเครื่องมือและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกับทีมวิจัย ร่วมกันศึกษาการสะสมไนเตรทในพืชผักที่มากเกินไป ซึ่งหากรับประทานเข้าไปไนเตรตจะไปรวมตัวกับสารเหนี่ยวนำทำให้เกิดมะเร็ง  ผลการศึกษาพบว่าผักที่ปลูกในน้ำยาไฮโดรโปนิกมีแนวโน้มการสะสมไนเตรตสูงสุด เพราะวิธีปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกมีการเติมน้ำยาให้พืชเจริญเติบโตมากเกินความต้องการตามธรรมชาติของผัก โดยผักคะน้าไฮโดรโปนิกมีค่าเฉลี่ยของไนเตรตสูงที่สุด รองลงมาคือ ผักบุ้ง  ดังนั้นจึงอยากขอให้เกษตรกรและผู้ปลูกผักไฮโดรโปนิกลดปริมาณการใส่น้ำยาหรือเติมน้ำเปล่าให้มากขึ้น ผู้บริโภคควรเลือกผักไฮโดรโปรนิกจากเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ส่วนการปลูกผักแบบอื่นๆ ก็ไม่ควรใส่ปุ๋ยมากเกินไป -------------------------------------------------------------------------------------------------------   16 ธันวาคม 2553ส่งเสริมสมุนไพรใช้รักษาโรคทั่วหน้า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคมากขึ้น โดยในปี 2554 นี้ จะผลักดันนโยบายด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ และให้มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านการแพทย์แผนไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุแพทย์แผนไทยที่จบปริญญาตรี ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 1,000 คน ไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ยังไม่นับรวมแพทย์พื้นบ้านทั้งที่ขึ้นทะเบียนไว้และได้รับใบประกอบโรคศิลป์แล้วอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องยาและการนวดเป็นหลัก  นอกจากนี้ยังเตรียมตั้งโรงงานสมุนไพรแห่งชาติ เป็นศูนย์กลางวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาแผนไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยทำให้สมุนไพรไทยได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อนำมาผลิตเป็นยาหรืออาหารเสริมอย่างถูกต้องและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น -----------------------------------------------------------------------------------------------------   15 ธันวาคม 2553โฆษณานมเด็กเกินจริงมีสิทธิโดนแบน ถึงเวลาคุมเข้มโฆษณาอาหารสำหรับทารก เมื่อที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เตรียมผลักดัน พ.ร.บ.อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ตรวจสอบการโฆษณานมผงในเด็ก 0-2 ปี เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติคุณแม่ยุคใหม่ ให้หันกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น  พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการชมรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วย “นมแม่” ในประเทศไทยลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.4 เนื่องจากมีการโฆษณาและแจกตัวอย่างนมผงในโรงพยาบาลจำนวนมาก ซึ่งการโฆษณานมผงสำหรับทารกในปัจจุบันนี้สร้างความเข้าใจที่ผิดๆ ว่ากินแล้วจะช่วยสร้างพัฒนาการที่ดีหรือทำให้เด็กฉลาดกว่าเด็กคนอื่น ทำให้มีพ่อ-แม่จำนวนมากหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมผงกันมากขึ้น ดูได้จากยอดการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ ซึ่งสูงถึง 10,000 ล้านบาทต่อปี  พ.ร.บ.ฉบับนี้ น่าจะเริ่มใช้ในปี 2555 เพื่อควบคุมการส่งเสริมการขายในผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็กแรกเกิด โดยกฎหมายฉบับนี้จะห้ามทำการโฆษณาและส่งเสริมการขายใดๆ ในผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็กทารกถึงอายุ 2 ปี ------------------------------------------------------------------------------------------------------     มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสถิติร้องเรียนปี 53 หนี้บัตรเครดิตครองแชมป์!!! มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลการทำงานการรับเรื่องร้องเรียนในปี 2553 ที่ผ่านมา ปัญหาหนี้บัตรเครดิต ถือเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุด ถึง 94% รองลงมาเป็นเรื่อง บริการสาธารณะ สินค้าและบริการ โทรคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ และบริการด้านสาธารณสุข น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงสถานการณ์การรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในรอบปี 2553 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ฟ้องคดีกระทรวงคมนาคม กรณีดอนเมืองโทลเวย์ เป็นคดีสาธารณะ สนับสนุนการฟ้องคดีให้ผู้บริโภคจำนวน 386 คดี เป็นคดีที่ใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 178 คดี รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น 212,576,590.07 บาท และมีคดีที่สิ้นสุดแล้วจนถึงปัจจุบันเป็นเงิน 27,244,803.39 ล้านบาท โดยรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการช่วยเหลือทั้งสิ้น 798 คดี  สำหรับลักษณะปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตที่มาร้องเรียนนั้น มีหลายรูปแบบ เช่น เป็นหนี้บัตรหลายใบ ไม่มีความรู้ในการจัดการบริหารหนี้สิน ถูกติดตามทวงหนี้ไม่เป็นธรรม จนถึงขั้นถูกฟ้องศาล แนะรัฐฯ ต้องออกกฏหมายคุ้มครองอย่างเหมาะสม เช่น กฎหมายติดตามทวงหนี้ที่เป็นธรรม กฎหมายบัตรเครดิตที่มีการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ย หรือการมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำโดยรัฐกำกับดูแล เป็นต้น  มูลนิธิฯ ตั้งความหวังว่าจะได้เห็น องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคจะเกิดขึ้นในปี 2554 นี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ภาครัฐฯ เข้ามาควบคุมดูแลกิจการที่คิดทำธุรกิจแบบผูกขาด และให้การสนับสนุนเรื่องมาตรการอาหารปลอดภัย ปรับปรุงคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะ และเรียกร้องให้ภาคธุรกิจรับผิดชอบต่อผู้บริโภคให้เท่าเทียมกับความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคในต่างประเทศ ------------------------------------------------------------------------------------------------------   “สบท.” เดินหน้าทำงานต่อไปในยุค “กสทช.” นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ยืนยันว่า งานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กลายเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพราะมีมาตรา 31 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบ กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์   และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช. คอยรองรับอยู่ แต่เรื่องตัวสถาบันจะยังมีอยู่ต่อไปหรือไม่ ต้องรอหลังการจัดตั้งคณะกรรมการกสทช. ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งแนวโน้มอาจจะถูกควบรวม และแต่งตั้งเป็นสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคใหม่  ทั้งนี้ ในฐานะผู้อำนวยการ สบท.จะส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการทุกรายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.กสทช. ใหม่นี้ว่า ผู้บริโภคยังมีสิทธิร้องเรียนปัญหาได้ตามเดิม เพราะการจัดตั้งสบท. มีความชอบด้วยกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 เนื่องจาก สบท.มีผลสถานะเป็นหน่วยงานหนึ่งในสำนักงาน กทช. ยังมีสถานะอยู่ตามเดิม  นอกจากนี้ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศได้เสนอ 4 มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงจัดตั้งคณะกรรมการ กสทช. คือ 1. เร่งรัดให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์อย่างเร่งด่วน และคงบทบาทการทำงานของ สบท. ต่อไป 2. เร่งออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ กรณี เอสเอ็มเอสรบกวน และการขายสินค้าผ่านโทรศัพท์ และกำหนดมาตรการการคงสิทธิเลขหมาย ย้ายค่ายเบอร์เดิมผู้บริโภคต้องไม่เสียค่าใช้จ่าย 3. เร่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไม่ควรกำหนดอายุของบัตรเติมเงินตามประกาศของ กทช. และ 4. ขอให้ทำร่างแผนแม่บทคลื่นความถี่ที่รับผิดชอบก่อนมีกรรมการ กสทช.

อ่านเพิ่มเติม >