ฉบับที่ 276 ผังเมืองกรุงเทพต้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

        ช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา หลายปัญหาได้วิกฤตขึ้นในกรุงเทพมหานคร ทั้งปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ลุกลามมาถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด และปัญหาฝุ่น PM 2.5  ทั้งหมดนี้ ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร         ปัจจุบัน เมื่อกรุงเทพมหานคร ได้กำลังจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ภาคประชาสังคมในวันนี้ได้ตื่นตัว ให้ความสนใจเพราะอยากให้ผังเมืองฉบับใหม่เอื้อให้คนกรุงเทพมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิดขึ้นจริงๆ  ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในผู้ที่ ติดตามการพัฒนาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่เริ่มจัดทำตั้งแต่ในปี 2562 ปฐมพงศ์สนใจและเข้ามาเกี่ยวข้อง เคลื่อนไหวด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงปี 2540 ที่เขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการอยู่อาศัยในคอนโดโดยตรง การทำงานที่ผ่านมาจากในบทบาทผู้อยู่อาศัยคนเล็กๆ ในเมืองใหญ่ สู่การเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการสร้างอาคารสูงในซอยแคบที่ส่งผลเดือดร้อนต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม วันนี้เขายืนยันว่ายังคงต้องคัดค้านผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ฉบับนี้ หากยังไม่มีการเริ่มต้นจัดทำใหม่ด้วยการเปิดรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง   ขอเริ่มคำถามง่ายๆ ก่อนว่า ผังเมือง คืออะไร เพราะหลายคนอาจยังไม่ทราบ และจะได้เข้าใจว่า กฎหมายผังเมืองจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองอย่างไร         ถ้าพูดให้เห็นภาพว่า ผังเมืองคืออะไรให้ลองนึกถึงว่า สมมุตว่าเรามีบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้เราก็จะผังบ้านของเราว่ากว้างยาวเท่าไหร่ มีคอกสัตว์ แปลงผัก ไปจนถึงขอบเขตรั้วบ้านอยู่ตรงไหน แผนผังนี้คือกระดาษที่เหมือนเวลาเรามองลงมาจากที่สูง จะบอกทุกอย่างว่ามีอะไรบ้างซึ่งตรงนี้แค่บ้านหลังหนึ่ง พอใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้าน ตำบลย่อมต้องมีแผนที่แบบนี้แน่นอน ที่สำนักงานเขตเขาก็จะมีแผนที่ แผนที่ทุกคนคงจะนึกออก แต่ผังเมือง  จะมีรายละเอียดข้างในด้วยที่กำหนดให้อะไรอยู่ตรงไหน ศูนย์การค้าอยู่ตรงนี้ ที่อยู่อาศัยอยู่ตรงนี้ ผังเมืองคือแผนที่อันหนึ่งที่จะบอกว่าในเมืองๆ นั้นมีอะไรบ้าง           แต่นอกจากผังเมืองจะบอกว่า อะไรอยู่ตรงไหนแล้ว ผังเมืองยังมีข้อกำกับลงไปด้วยว่า ไม่ให้มีอะไร หรือ ห้ามสร้าง ห้ามปลูกอะไร ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอาจมาจากตรงนี้คือห้ามสร้าง เมื่อมาสร้างจึงผิดกฎหมาย         กฎหมายผังเมืองจึงเป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชนด้วยเช่นกัน หากเป็นบ้านเราเองจะปลูกต้นไม้ ดอกไม้ หรือจะตั้งถังขยะตรงไหน ย่อมทำได้ แต่พอเป็นเมืองแล้ว ผังเมืองจะกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนที่อยู่อาศัยในเมือง จึงกำหนดข้อห้ามสำคัญเช่นพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ห้ามสร้างตึกสูงใดๆ  ตรงนี้ห้ามสร้างตึกสูงเกินเท่าไหร่ ในแต่ละจังหวัดตอนนี้มีผังเมืองจังหวัด  ผังเมืองกรุงเทพ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง           ผังมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา เรามีมาแล้วทั้งสิ้น 4 ฉบับ ทั้ง 4 ฉบับเป็นไปตามพระราชบัญญัติผังเมืองปี 2518  ครั้งนี้เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 หากมีการประกาศใช้จะเป็นฉบับที่ 5  ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 เริ่มมีปัญหาจากจุดไหน         ต้องบอกว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพ เรามีมาตั้งแต่ปี 2556 และทุก 5 ปี กฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำใหม่ และหลังจากประกาศใช้ทุก 2 ปี จะให้มีการประเมิน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาเช่นนี้ แต่การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพที่ถึงกำหนดในปี 2561 มีกฎหมายสำคัญคือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดว่ากฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชนในด้านต่างๆ ก่อนจะดำเนินการต้องไปทำประชาพิจารณ์ก่อน  นอกจากนี้ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับที่ปรับปรุงในปี 2561 กว่าจะทำเสร็จยังมีการประกาศใช้ของ พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562 มาแทนฉบับปี 2518         การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพ ครั้งที่ 4 ครั้งนี้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562  สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจาก พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2518 ที่กำหนดให้มีการจัดทำผัง 4 ประเภท ได้แก่ 1) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้นำแนกประเภท 2) แผนผังแสดงที่โล่ง 3) แผนผังแสดงโครงสร้างคมนาคมและขนส่ง และ 4) แผนผังโครงการกิจการสาธารณูปโภค ขณะที่ พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 กำหนดให้มีการจัดทำผัง 6 ประเภท โดยเพิ่มแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำเข้ามาด้วย         พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 ยังกำหนดให้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวม                ดังนั้นการที่กรุงเทพมหานคร นำร่างผังเมืองรวมที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561 - 2562 มาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเลย จึงเป็นการทำมาแล้ว ว่าอยากให้อะไรอยู่ตรงไหน  ไม่ได้เป็นการเปิดรับฟังเสียงจากประชาชนเพื่อทำขึ้นใหม่จริงๆ   ความเดือดร้อนนี้ที่ทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านจำนวนมาก         ใช่ กฎหมายผังเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั้งหมด และกรุงเทพมีพื้นที่ 50 เขต แต่ละเขต มันต่างกันมาก บางขุนเทียนเป็นพื้นที่มีชายฝั่งทะเล  เราไม่อยากให้มีการกัดเซาะ จึงไม่ค่อยมีการตั้งอุตสาหกรรม  ส่วนพื้นที่หนองจอกส่วนใหญ่ทำนา การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดิมต้องคำนึงสภาพที่เป็นและข้อจำกัดด้วย         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้ยังจะมีการขยายพื้นที่ถนน พื้นที่แก้มลิง พื้นที่รับน้ำ ทำให้ประชาชนถูกเวนคืนที่ดิน บางพื้นที่หมู่บ้านหายไปหมด ถนนจาก 4 เมตร จะขยายเป็น 12 เมตร  คนจะเดือดร้อนมาก เรามองว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้มุ่งเน้น เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์   การขยายถนน การกำหนดพื้นที่ให้เปลี่ยนจากพื้นที่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นปานกลาง จากหนาแน่นปานกลางเป็นหนาแน่นสูง หรือให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม  ทั้งหลายนี้เหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ในความเป็นจริง กรุงเทพไม่อาจขยายตัวได้มากแล้ว จึงเกิดอาคารสูงกระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง แต่เมืองนี้เราไม่ได้มีแต่คนรวย  ยังมีคนเข็นผักในตลาด รปภ. ตำรวจ พยาบาล ทหาร บุรุษไปรษณีย์ การถูกเวนคืนที่  การเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นความเดือดร้อนที่ค่อยบีบคนอยู่อาศัยธรรมดาให้ออกจากเมือง  การที่ยังให้มีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบทั้งที่สร้างไม่ได้ ได้สร้างความเดือดร้อนให้ทุกคนในซอย รถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่แค่ช่วงเข้าไปสร้าง ก็เดือดร้อนแล้ว อาคารที่สูงมากๆ ก็จะสร้างขยะเยอะ ใช้ไฟเยอะ  น้ำเสีย มันเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยทั้งหมด            แล้วข้อความเห็นว่าเหมือนบีบคนออกจากเมือง เขาก็บอกว่าก็มีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ขยายออกไปเรื่อยๆ แต่ระบบรถ BTS ของเรามันไม่ได้เชื่อมต่อกัน ประชาชนยังแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4  ยังมีโบนัสให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายเรื่องมากๆ ที่ดำเนินการแล้ว เขาสามารถนำไปเพิ่มพื้นที่การสร้างอาคารให้สูงขึ้นได้  ช่วยขมวด 3 เรื่องสำคัญที่ประชาชนควรช่วยกันเฝ้าระวังในผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ครั้งนี้           หนึ่ง ผังเมืองรวมฉบับนี้ทำให้ กรุงเทพมีพื้นที่หนาแน่นขึ้น เดิมความหนาแน่นของกรุงเทพตอนนี้คือราว  3,500 คน/ ตร.กม แต่หากรวมประชากรแฝงเราคาดว่าน่าจะถึง 10,000 คนต่อ / ตร.กม เมื่อคนอยู่อาศัยกันแน่นขึ้น ปัญหาอีกสารพัดจึงจะตามมาอีกมาก  สอง ผังเมืองรวมฉบับนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการระบายน้ำ  เรามีน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 มาแล้ว ยิ่งคนเข้ามาแน่น ปัญหาน้ำท่วมเราจะยิ่งวิกฤต เพราะตอนนี้ฝนตกหนักครั้งเดียว เราก็แย่แล้ว สาม เมื่อนำผังเมืองที่เขาทำไว้แล้วในปี 2562  มารับฟังความเห็นจากประชาชน  ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้ ยังไม่คิดตอนที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 กับเรื่องโรคระบาด         เราเป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้การอยู่อาศัยของคนในเมืองแย่ลง ทั้งน้ำท่วม การจราจร ฝุ่นPM2.5  โรคระบาด สิ่งแวดล้อมมันแย่ลงมากกว่าดีขึ้น สิ่งที่เราบอกว่ามันจะมีปัญหา เราไม่ได้จินตนาการเอาเอง ปัญหามีประจักษ์มาแล้ว เรื่องโรคระบาด ตอนเป็นโควิดเราเห็นแล้วว่า เราต้องการพื้นที่ปลอดภัย ต้องการพื้นที่จะระยะห่างบ้าง  เราเป็นห่วงคนในชุมชนคลองเตยมาก เพราะเขาต้องอาศัยกันอย่างแออัด  เขาบอกว่า เมืองว่าเมืองจะเจริญ แต่ตอนนี้สภาพแวดล้อมเราออกห่างจากคำว่าธรรมชาติมากขึ้นทุกที คนต้องหนีออกจากเมืองมากกว่าจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้         การระบายน้ำ ขยะ การจราจร โรคระบาด ทั้งหมดนี้คือคุณภาพการใช้ชีวิตของคน  เราไม่สามารถอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ว่าห้องจะหรูหรา มีเครื่องฟอกอากาศดีแค่ไหน แล้วเราไม่ออกไปไหน เราต้องออกไปข้างนอก         เรากังวล เป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองแย่ลง   เราอยากให้มีผังเมืองที่ตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่แล้วยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาด้วย อยากให้ประชาชน สังคมโดยทั่วไป ร่วมกันมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง         อย่างที่ผมบอกว่า ผังเมืองเกี่ยวข้องกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกมิติ หลายคนที่เขายังรู้สึกว่า เขาไม่ได้รับผลกระทบ เขาอาจะวางเฉยได้ หรือเขาอาจจะรู้ว่า มีผลกระทบมาถึงตัวได้แต่ยังคิดว่า อาจไม่ใช่เร็วๆ นี้ ต้องออก พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ยังรอได้  แต่ผมคาดว่ามันไม่ได้นาน หลายพื้นที่ตอนนี้เริ่มโดยเวนคืนที่ดินแล้ว และผังเมืองรวมกรุงเทพยังส่งผลกระทบกับปริมณฑล  เครือข่ายถนนทั้งหมดเชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียง นนทบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี  ฉะเชิงเทรา  สมุทรปราการ              การต่อสู้เรื่อง เราต้องศึกษาเรื่องกฎหมายด้วย เพราะเราสู้เรื่องกระบวนการที่ต้องดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายด้วยเราอาจะต้องสู่กันกันถึงศาลปกครอง แล้วหากเราตื่นตัว ร่วมกันลงชื่อเยอะๆ ผมคิดว่ามันมีผลกระทบ มันมีพลังที่จะทำให้เราสามารถทำให้หน่วยงานรัฐเริ่มทำผังเมืองกรุงเทพใหม่ได้ ผมก็สื่อสารเรื่องนี้ อยู่ตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2565

5 ข้อมูลส่วนบุคคลที่เสี่ยงถูกจารกรรม        สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เตือนประชาชนระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นรวมถึงทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และหลีกเลี่ยงร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่ให้เปิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการรับรหัส ATM นำโชคต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อที่กำลังเป็นที่นิยม โดย 5 ข้อมูลสำคัญที่ไม่ควรเปิดเผย ได้แก่ 1.ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2. ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล 3.ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน เลขบัญชี รหัส ATM เลขบัตรเครดิต 4.ข้อมูลชีวมิติ ลายนิ้วมือ ข้อมูลแสดงม่านตา 5.ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ IP Address MacAddress Cookie ID        นอกจากนี้ควรระวังส่วนของข้อมูลทรัพย์สินของบุคคล จำพวกทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ข้อมูลใดๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลตนเองได้ เช่น วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา หรือข้อมูลบันทึกอื่นๆ อีกด้วย สปสช.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ 9 แห่ง        สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการให้บริการสาธารณสุขรพ.เอกชน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทอง 30 บาท 9 แห่ง มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เหตุจากการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง         ทั้งนี้ สปสช.มีแผนการรับรองผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวโรงพยาบาล 9 แห่ง หลัง 30 กันยายน 2565 ยังไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล สามารถรักษาตัวต่อไปได้ทาง สปสช.จะรับผิดชอบค่าใช้ให้ 2) ผู้ป่วย 5 กลุ่ม เช่น สตรีใกล้คลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัดและรังสีรักษา ผู้ป่วยมีนัดทำอัลตราซาวนด์ ทำซีทีสแกน และทำ MRI  ยังคงรักษาตัวตามนัดเดิมได้ 3) ผู้ป่วย 9 รพ.ที่ได้รับใบส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นยังได้รับสิทธิส่งตัวไปรักษาตามปกติ 4) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้เข้ารับการรักษาตัวต่อได้ที่ คลินิกเวชกรรม คลินิกอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา พร้อมจัดระบบบริการรูปแบบใหม่ คือ ระบบบริการแพทย์ทางไกลที่ใดก็ได้ 5) ผู้ป่วย HIV และวัณโรคให้เข้ารับการรักษาเหมือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 6) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดหัวใจ ทำบอลลูนหัวใจ ใส่สายสวนหัวใจ ยังคงได้รับการรักษาได้ตามโรงพยาบาลเดิม สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งแต่ไม่ได้เป็นผู้ป่วย สามารถเข้าเลือกหน่วยบริการใหม่ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. แค่เดือนสิงหา ปชช.แจ้งความออนไลน์แล้ว 1.7 หมื่นคดี        จากสถิติ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์จำนวนสูงถึง 59,846 เรื่อง ในส่วนของเดือนสิงหาคม 2565 พบสถิติประชาชนแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ถึง  17,254 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3,317 ล้านบาท โดยประเภทที่มีการแจ้งความมากที่สุด ได้แก่ ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า (34.09%) หลอกให้ลงทุน (19.21%) หลอกให้ทำงานออนไลน์ (13.20%) หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (12.48%) และ ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวหรือคอลเซนเตอร์ (6.08%)           ดังนั้นเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ เพจ PCT Police, เพจ ตำรวจสอบสวนกลาง, เพจ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB นัดพิจารณานัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้องกรณีแอชตัน อโศก        20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณานัดแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม.อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่ง รฟม.ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบคำอุทธรณ์ฟังขึ้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี         อย่างไรก็ตาม คําแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นความเห็นโดยอิสระ ไม่ผูกพันองค์คณะในการจัดทําคําพิพากษาในคดี จึงต้องรอคำตัดสินทั้งองค์คณะต่อไป         ตุลาการผู้แถลงคดี คือตุลาการศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำและเสนอคำแถลงการณ์ต่อองค์คณะ ผู้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นๆ ตู้น้ำดื่ม-รถเมล์-ผังเมือง สามเรื่องสภาผู้บริโภค กทมฯ ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากทม ฯ         19 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวทีเสวนา การคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง โดยคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า หลังจากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2563  ได้มอบหมายให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ดำเนินงานในวัตถุประสงค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจัดเวทีเสวนาระดมแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เครือข่ายการทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น         ทั้งนี้จากการรวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขนั้น หน่วยงานประจำจังหวัดและเครือข่าย สรุป 3 ปัญหาสำคัญคือ บริการรถเมล์สาธารณะ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการจัดการผังเมืองอย่างมีส่วนร่วมและมอบหมายให้ตัวแทนทั้ง 3 เรื่องยื่นข้อเสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในงานเสวนาดังกล่าว         นายชัชชาติได้ตอบรับและกล่าวขอบคุณที่ให้ตนได้มีโอกาสมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่อง เรื่องบริการรถเมล์สาธารณะ แม้ภารกิจหลักจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ขสมก. แต่ กทม. อาจสามารถจัดบริการเสริมได้ในบางเส้นทาง ตู้น้ำดื่มอาจมีการพิจารณานำเรื่องน้ำดื่มฟรีที่ กทม. เคยทำมาแล้วกลับมาอีกครั้ง ส่วนผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่คงต้องพูดคุยกันอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่ได้มารับฟังปัญหาตนเองเห็นถึงสัญญาณที่ดี นั่นคือภาคประชาชนตื่นตัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 จากแอชตัน อโศกถึงหมิงตี้ จากผังเมืองถึงชีวิตของเรา

ถ้าให้สรุปประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผังเมืองเพียงประโยคเดียวก็คงได้ประมาณนี้...        ‘ระบบราชการรวมศูนย์ ทุนใหญ่ และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง’         การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่สักแห่งไปจนถึงผังเมืองที่กำหนดว่าพื้นที่ต่างๆ จะถูกใช้สอยอย่างไรนั้นใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด แต่ด้วยข้อกฎหมายอันซับซ้อน เรื่องราวเชิงเทคนิคที่ยากเข้าใจ บวกกับชีวิตประจำวันก็ไม่ได้เข้าไปข้องเกี่ยวอะไรด้วยยิ่งทำให้มองไม่เห็นความเชื่อมโยงที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเรา         กรณีแอชตัน อโศกถึงการระเบิดของโรงงานหมิงตี้เป็นตัวอย่างที่ดีประโยคสรุปปัญหาข้างต้น ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ทั้งผู้บริโภคและชุมชนรอบข้าง กรณีแอชตัน อโศกเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ขณะที่ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 เกี่ยวพันกับกรณีโรงงานหมิงตี้ เหมือนเป็นคนละเรื่อง กฎหมายคนละฉบับ แต่...ไม่ใช่เลย จากแอชตัน อโศก...         กล่าวถึงกรณีแอชตัน อโศกอย่างรวบรัดได้ว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กำหนดให้อาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตรต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตรติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร และยาวต่อเนื่องไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยกรณีเกิดเพลิงไหม้หรือภัยพิบัติ แต่แอชตัน อโศกไม่มีพื้นที่นี้ตามที่กฎหมายกำหนด ศาลปกครองจึงวินิจฉัยให้เพิกถอนใบอนุญาต         ทั้งนี้ทางฝ่ายแอชตัน อโศก ชี้แจงว่าเดิมทีที่ดินดังกล่าวมีพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากเจ้าของเดิมถูกเวนคืนที่ดินโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อสร้างรถไฟฟ้าจนกลายเป็นที่ดินตาบอด เจ้าของเดิมจึงฟ้องร้องและศาลฎีกาตัดสินให้ทำทางจำเป็นกว้าง 6.4 เมตร ผ่านที่ดินเวนคืนสำหรับออกสู่ถนนอโศก         เจ้าของโครงการแอชตัน อโศกจึงซื้อที่ดินผืนนี้โดยทำสัญญากับ รฟม. เพื่อสร้างทางเข้าออกโครงการให้มีความกว้างตามที่กฎหมายกำหนดโดยจ่ายผลประโยชน์ให้ รฟม. แต่ศาลเห็นว่าการกระทำดังกล่าวขัดกับวัตถุประสงค์การเวนคืนและไม่ใช่การใช้เพื่อกิจการรถไฟฟ้าจึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งที่ดินของ รฟม. ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแอชตัน อโศก จึงทำให้การก่อสร้างโครงการไม่ชอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร คือไม่มีทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะ นั่นเอง         “กรณีของแอชตันมีประเด็นที่น่าสนใจคือการเวนคืน” ภูดิท โทณผลิน ทนายความและกรรมการสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์และสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็น “ศาลจึงวินิจฉัยว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เพราะการที่หน่วยงานรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเวนคืนที่ดินและไปให้เอกชนเช่า ถึงแม้จะเป็นเงินเข้ารัฐก็ตาม แต่ศาลมองว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ รฟม. เพราะไม่อย่างนั้นจะเปิดช่องให้หน่วยงานรัฐทำแบบนี้โดยอ้างว่าเงินเข้ารัฐ แต่จะต้องให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุดด้วย จึงน่าสนใจว่าการที่เขาเอาที่ดิน รฟม. มารวมเพื่อขอใบอนุญาตผมเห็นด้วยในทางกฎหมายว่ามันไม่ตรงตามเจตนารมณ์และจะทำให้เกิดบรรทัดฐานที่หน่วยงานรัฐไปดำเนินการแบบนี้”         ภูดิทแนะนำผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายว่า ถ้ากรณีแอสตัน อโศกถูกห้ามใช้อาคารและต้องดำเนินการรื้อถอนโดยไม่สามารถขอใบอนุญาตได้แล้ว ผู้เสียหายสามารถฟ้องเพื่อเรียกร้องเงินที่ได้ชำระไปคืนกับทางเจ้าของโครงการพร้อมดอกเบี้ย 2 ส่วน ส่วนแรกคือดอกเบี้ยผิดนัดจากการผิดสัญญา ส่วนที่ 2 คือดอกเบี้ยธนาคารที่ผู้บริโภคกู้มา ตึกสูง ผังเมือง และเสียงที่ไม่ถูกได้ยิน         ยังมี พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 อีกฉบับที่เข้ามาพัวพันกับคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน กลุ่มคัดค้านร่างผังเมืองรวม กทม. อดีตเครือข่ายคนคอนโดเล่าว่า ปัญหาคอนโดมิเนียมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น ปัญหาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายจนถึงปัญหาระหว่างผู้ซื้อกับนิติบุคคล ประเด็นที่เขาพบมาตลอดการทำงาน 2 ทศวรรษคือ         “พระราชบัญญัติอาคารชุดปี 2522 ซึ่งเป็นฉบับแรกที่มีการแก้ไขฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 ไม่ได้มีบทลงโทษกรณีที่ผู้จัดการนิติบุคคลไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง รวมทั้งเจ้าของโครงการมีการประกันทรัพย์ต่ำมากหรือไม่มีเลย ช่วงนั้นเครือข่ายคนคอนโดก็พยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติอาคารชุดเป็นฉบับที่ 4 ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษแล้วและให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการได้ สมัยก่อนที่บอกว่าไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่เนื่องจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่อาจจะมองว่าไม่มีการเขียนไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุดให้เจ้าหน้าที่ทำอะไร เขียนไว้แค่ให้เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนเท่านั้น”         ในช่วงหลังปฐมพงศ์ตระหนักว่าการกระจุกตัวของอาคารสูงในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผังเมือง ทำให้เขาต้องหันมาสนใจเรื่องนี้ด้วย         “ถ้าเราโฟกัสเฉพาะในกรุงเทพฯ ผังเมืองจะพยายามเพิ่มความหนาแน่นของประชากร เขากำหนดเป็นนโยบายระดับจังหวัดว่าเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ให้มากขึ้น แต่กลายเป็นว่ามันไปเพิ่มความหนาแน่นตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนที่จะเป็นฉบับที่ 4 นี้ จำนวนประชากรต่อพื้นที่มันสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการสร้างรถไฟฟ้าแล้วดันไปวางว่าพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าอนุญาตให้สร้างตึกสูงได้เกินกว่าที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคารหรือผังเมืองกำหนดไว้เพราะฉะนั้นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็สร้างกัน”          และแม้ว่าจะมีการรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อนำมาพิจารณา แต่กฎหมายก็ไม่ได้ระบุให้ต้องนำความเห็นของประชาชนมาดำเนินการแต่อย่างใด หน่วยงานรัฐยังคงดำเนินการไปตามที่ตนเห็นชอบอยู่ดี โดยทางกลุ่มไม่เห็นด้วยที่กรุงเทพฯ จะเต็มไปด้วยอาคารสูง ซึ่งเวลานี้ก็ถือว่ามีมากเกินความจำเป็นแล้ว เพราะจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การกระทบกระทั่งระหว่างคนข้างล่างกับคนข้างบน การแย่งกันใช้สาธารณูปโภค เป็นต้น แต่ควรใช้โครงข่ายรถไฟฟ้าให้เป็นประโยชน์ในการขนคนเข้ามาในเมืองเพื่อลดความแออัด         ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี สถาปนิกและตัวแทนชุมชนย่านศาลาแดงจากการสร้างอาคารผิดกฎหมาย เล่าจากประสบการณ์ของตนว่า         “เจ้าของโครงการไม่ได้รู้ลึกเรื่องกฎต่างๆ เขาก็โยนมาให้ผู้รู้เป็นคนศึกษาซึ่งก็คือสถาปนิก พอปฏิบัติจริงๆ เราต้องไปปรึกษากับพี่ใหญ่ซึ่งก็คือกรมโยธาธิการและผังเมือง เราก็ไปปรึกษาตามโยธาเขตขึ้นอยู่กับว่าอาคารนั้นๆ ขออนุญาตที่เขตหรือที่ กทม. ผมเรียกพวกนี้ว่าเป็นลูกพี่และเราก็ให้ความเคารพพวกนี้มาตลอดเพราะเราเข้าใจว่าสิ่งที่เขาตีความชี้ช่องบอกเรามาปฏิบัติได้ ถูกกฎหมาย สถาปนิกทำให้เกิดพื้นที่ขายให้เขาได้มากเท่าไหร่ คุณก็ได้ประโยชน์มากเท่านั้น สิ่งสำคัญคือจรรยาบรรณในวิชาชีพ ก็เจ้าหน้าที่บอกว่าทำได้ ขออนุญาตก็ผ่าน แล้วผิดตรงไหน”        ต้นตอสาเหตุปัญหาที่สำคัญ​คือ​ การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กทม.เกือบทั้งหมด ทั้งเรื่องการตรวจแบบ​ อนุมัติตีความตัดสินข้อบัญญัติ​ กฏหมาย​ กฏระทรวงต่างๆ​ การตรวจสอบทั้งระหว่างการก่อสร้าง​ ตั้งแต่เริ่มจนถึงสร้างเสร็จ​ และตรวจสอบเมื่อสร้างเสร็จ​ส่งมอบ​ เปิดใช้งาน​ ทำให้เกิดช่องว่างที่ไม่มีใครจะสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น​ จึงเห็นว่าควรต้องแยกอำนาจในขั้นตอนต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงการประชุมรับฟังความเห็นจากชุมชน​ประชาชนที่มีการตรวจสอบผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) และต้องเพิ่มการตรวจสอบ​ การมีส่วนร่วม​ จากภาคประชาชน​  และตัวแทนหน่วยงานวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรง​ ทั้งจากสภาสถาปนิกและวิศวกรรม​ เข้าร่วมรับฟัง​ แสดงความเห็น​ และตรวจสอบได้​ในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนถึงการเปิดใช้อาคาร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส   ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย​ ที่ผ่านการตรวจสอบขั้นตอนต่างๆมาตั้งแต่ต้น กฎหมายผังเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์          นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าเมื่อดูข้อกำหนดผังเมืองกรุงเทพฯ พบว่าไม่ได้มีการกำหนดโซนอาคารสูงในกรุงเทพฯ เอาไว้ ทำให้มีการก่อสร้างอาคารสูงผิดกฎหมายเกิดขึ้นจำนวนมาก        “พื้นที่พาณิชย์ในกรุงเทพฯ ถูกป้ายเป็นสีแดงทั้งหมด เพราะพยายามทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เจริญ แล้วค่อยสร้างสาธารณูปโภค แต่ก่อนเขาบอกว่าเมืองต้องเจริญก่อน สาธารณูปโภคถึงจะมา ซึ่งมันไม่ใช่ หลักการคือเมื่อใดที่สาธารณูปโภคไปถึง เมืองจะเจริญเอง แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น อาศัยว่าถ้าคุณลงทุนในกรุงเทพฯ ได้คุณจะเป็นอภิมหาเศรษฐี เพราะในกรุงเทพฯ สาธารณูปโภคคุณไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องทำถนนเข้าโครงการหมู่บ้าน ไม่ต้องทำอาคารจอดรถ ทำแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ก็ได้เพราะกฎหมายล่าสุดที่แก้บอกว่าอาคารจอดรถให้ 25 เปอร์เซ็นต์ของอาคาร เขาบอกว่าเป็นการบังคับให้คนที่ซื้อคอนโดฯ ไม่มีรถ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้”         เพราะผังเมืองเป็นนโยบายสาธารณะที่กำหนดการพัฒนาเชิงพื้นที่ของแต่ละพื้นที่ โดยก่อนจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.การผังเมืองในปี 2562 การทำผังเมืองเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญที่เน้นเชิงเทคนิค มุ่งประมาณการในอนาคต และนำมาวางแผนการพัฒนาพื้นที่ เป็นเหตุให้ประชาชนมักไม่ให้ความสนใจผังเมือง จนในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา การวางผังเมืองเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจึงมีการรวมกลุ่มของประชาชนติดตามการทำผังเมือง         “กฎหมายผังเมืองบ้านเราไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่คือไม่ค่อยมีผลในเชิงการบังคับใช้สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการบูรณะนิเวศ กล่าว “แต่อาจจะมีผลในการบังคับใช้กับประชาชนทั่วไป แต่ในต่างประเทศกฎหมายผังเมืองค่อนข้างมีความศักดิ์สิทธิ์และเฉียบขาดในการบังคับใช้เพราะเขาจะให้ความสำคัญกับภูมิทัศน์ การพัฒนาเมือง การขยายตัวของเมือง แต่สำหรับประเทศไทยมันขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลพูดอย่างไรแล้วผังเมืองก็พร้อมจะเปลี่ยนตาม”ถึงหมิงตี้...         ไม่เพียงกฎหมายผังเมืองเท่านั้น ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ามีกฎหมายหลายฉบับและหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่งยิ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายผังเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์ กรณีโรงงานหมิงตี้ที่กิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ระเบิดเป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนเรื่องนี้         เพ็ญโฉมอธิบายว่าผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการประกาศประมาณปี 2536 ขณะที่โรงงานหมิงตี้สร้างปี 2534 โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ต่อมาเมื่อผังเมืองประกาศใช้พื้นที่ดังกล่าวถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีแดงหมายถึงเป็นเขตพาณิชยกรรมและสีส้มคือเขตที่อยู่อาศัยของประชาชน เท่ากับว่าผังเมืองประกาศทับที่ตั้งของโรงงาน ตามกระบวนการทางจังหวัดต้องจ่ายค่าชดใช้และทำการย้ายโรงงานไปยังพื้นที่สีม่วงหรือเขตอุตสาหกรรม แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ         เมื่อมีโรงงานบวกกับเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย ชุมชนจึงขยายตัวหนาแน่นขึ้น มีการสร้างบ้านจัดสรรเข้าไปชิดโรงงาน ซึ่งเพ็ญโฉมเห็นว่าเป็นความผิดร่วมกันระหว่างจังหวัดสมุทรปราการกับสำนักโยธาธิการและผังเมืองที่ไม่บังคับใช้กฎหมายผังเมืองระหว่างชุมชนกับโรงงานที่ต้องมี Buffer Zone         “แล้วการออกใบอนุญาตให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สร้างหมู่บ้านจัดสรรก็เป็นความผิดของหน่วยงานใดก็แล้วแต่ที่อนุญาตให้มีการสร้างหมู่บ้านขนาดใหญ่อยู่ใกล้กับโรงงานโดยไม่พิจารณาในแง่ความปลอดภัยจึงคิดว่ามันเป็นความผิดร่วมกันของผู้ออกใบอนุญาต นอกจากนี้ เริ่มแรกที่หมิงตี้ประกอบกิจการมีกำลังการผลิตที่ 24,000 ตัน แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมาออกใบอนุญาติให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 36,000 ตันในปี 2562 เท่ากับคุณรู้อยู่แล้วว่าผังเมืองไม่ใช่สีม่วงและชุมชนก็หนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มกำลังการผลิตให้เขาโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ถือว่าไม่ถูกต้อง นั่นหมายความว่าทางโรงงานจะต้องมีการเก็บสารเคมีอันตรายไว้ภายในโรงงานเยอะมากซึ่งอันตรายต่อชุมชนที่อยู่รายล้อม”         การบังคับใช้ไม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่พอ กฎหมายผังเมืองปัจจุบันปี 2562 ยังขัดหลักการที่ควรจะเป็น กล่าวคือไม่แยกเรื่องทางเทคนิคกับนโยบายออกจากกัน เพ็ญโฉมอธิบายว่า เพราะโดยปกติการประกาศพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาล ไม่ควรผูกรวมกับกฎหมายผังเมือง เนื่องจากประชาชนอาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐ แต่เมื่อนำนโยบายมาอยู่ภายใต้กฎหมายผังเมืองย่อมเท่ากับว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่กำลังทำผิดกฎหมายผังเมือง         จากแอชตัน อโศกถึงโรงงานหมิงตี้ จากอาคารแห่งหนึ่งถึงผังเมือง ผูกรัดกันอย่างวุ่นวายด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ หน่วยงานรัฐ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคดังที่แสดงให้เห็นแล้ว ทั้งหมดนี้ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราโดยไม่รู้ตัว หากจะแก้ไขคงต้องมุ่งตัดรากเหง้าของปัญหา...         ‘ระบบราชการรวมศูนย์ ทุนใหญ่ และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง’

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ทำไมต้องคัดค้าน ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและตัวแทนชุมชนประชาชนในกรุงเทพมหานคร อาทิ  ชุมชน สุขุมวิท 28 และ 30 ชมรมอนุรักษ์พญาไท และ ชุมชนซอยมหาดเล็กหลวง 1-2 และ 30 ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)  เพื่อขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาทบทวนกฎกระทรวง ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)   ให้มีหลักเกณฑ์และมาตรการที่ควบคุมอย่างเข้มงวด และมีบทกำหนดโทษขั้นสูงหากมีการฝ่าฝืนกฎหมายทั้งผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดและขอให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาในปัจจุบันทั้งระยะสั้นและในระยะยาว ดังที่ข่าวกระแสหลักได้เสนอไปแล้วนั้น ทีมงานฉลาดซื้อขอพามาอ่านความคิดของตัวแทนชุมชนท่านหนึ่งกันแบบเจาะลึก        คุณมานิต ศรีวิชภูมิ  เป็นตัวแทนชุมชนสุขุมวิทชอย 28 กับ 30 เล่าว่า พวกเขารวมกลุ่มกันเนื่องจากมีปัญหาการสร้างตึกสูง และคอนโดในพื้นที่ชุมชน        เรารวมตัวเพราะว่าเราเจอประเด็นเรื่องการสร้างคอนโด    ครั้งแรกที่รวมตัวกันน่าจะ 3 ปี ได้แล้ว    เพราะเกิดเหตุว่ามีคอนโดมาสร้าง แล้วก็พบว่าคอนโดที่สร้างเริ่มทำให้มีปัญหาในซอยจากผังเมืองอันเก่า พบว่ามีการใช้ใบอนุญาตผิดประเภท มีการไม่ตรงไปตรงมาของเจ้าหน้าที่รัฐ เรารวมตัวกันเพราะมันผิดปกติ มีการอนุญาตให้สร้างในที่ซอยเล็ก มีข่าวว่าจะมีการสร้างตึกในซอยแคบ  8 เมตร 10 เมตร สร้าง 30 ชั้น ดูแล้วว่าไม่ได้แล้ว ก็เลยเกิดการรวมตัวกันแล้วก็ไม่ยอม  รวมตัวกันโดยคนในพื้นที่    ที่อยู่กันมาดั้งเดิม ประเด็นต่อมาที่สำคัญก็คือ ขบวนการแบบนี้มันจะผลักดันให้เจ้าของที่ดินเดิม หรือที่อยู่กันมาหลายชั่วคน  ไม่มีที่อยู่ จะต้องออกไปจากพื้นที่  ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดินเดิม จะอ้างว่าได้ที่ดินราคาสูงขึ้น ซึ่งมันไม่เกี่ยวมันเป็นปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ คุณไม่สามารถเอาปัญหาเศรษฐกิจมาตอบคำถาม มาเป็นข้ออ้างและทำให้คุณสามารถละเมิด หรือทำอะไรก็ได้  แต่ละคนมีทัศนคติต่อเรื่องที่ดินไม่เหมือนกัน   อย่างที่ดินที่บ้านผม  อยู่ต่อกันมาสองสามชั่วคน   เป็นของทวด เพราะฉะนั้นการกระทำแบบนี้มันไม่ถูกต้อง ในกระบวนการพัฒนาเมือง มันต้องไม่ไปละเมิดคนใดคนหนึ่งหรือว่าจะต้องได้รับการเห็นชอบยินยอมสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิด        วันนี้ที่มายื่นหนังสือก็เพราะเห็นว่าผังเมืองอันนี้เขาไม่ได้มาถามเราตอนที่เขาร่าง เท่าที่ฟังดูเหมือนเขาไปถามกันในกลุ่มเอง  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสายอาชีพนักลงทุนต่างๆ คือเป็นพวกนักพัฒนา ซึ่งมันไม่ใช่   ผมได้ยินพวกคนจนเขามาสะท้อนให้ฟังว่า “เขาเป็นคนจนเขาก็ไม่เคยได้ถูกถามว่าจะให้พวกเขาไปอยู่ไหน” ซึ่งผมคิดว่าการพัฒนาแบบทิ้งคนใดคนหนึ่งมันไม่ถูก แล้วต้องให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบกรับภาระไป แล้วนักพัฒนาที่ดินได้เงินไปก็ไม่ได้อยู่ที่นั่น ผมสู้มาผมเห็นมาเยอะ   การที่คุณพัฒนาแบบนี้คุณอยู่ในที่ดินหรือเปล่า  คุณก็ไม่ได้อยู่คุณสร้างปัญหาเสร็จแล้วคุณเอาเงินไปไหน คุณเอาเงินไปเข้าบัญชีคุณ แล้วคุณก็ผ่องถ่ายออกไป บางคนมีร่วมลงทุนกับต่างประเทศ เขาได้เงินไปเขาก็ไปอยู่ประเทศเขา แต่เราที่อยู่ที่นี่ เราจะเผชิญกับปัญหา อันนี้คือปัญหาหลักของเมือง ซึ่งการพัฒนาเมืองที่ไม่สมดุล ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ แล้วจะพัฒนาไปเพื่ออะไร คุณอ้างเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวมันไม่ถูก เศรษฐกิจก็ไม่ได้นำความสุขมาให้กับทุกคน คุณพัฒนาเศรษฐกิจแต่คุณกลับสร้างความทุกข์ให้กับคนจำนวนไม่น้อย        ผมคิดว่าเป้าหมายหลักของการพัฒนาที่ กทม. พยายามจะใช้คำว่าเมืองสร้างสุข มันไม่ใช่สโลแกน มันหลอกลวง มันเป็นการโกหกหลอกลวงตัวเอง เพราะว่ากระบวนการที่ เขาทำก็ทำเฉพาะกลุ่มทุน กลุ่มที่มีอำนาจทางด้านการเงินทุนทรัพย์ เข้ามามีบทบาทในการกำหนดว่าประเทศควรพัฒนาไปอย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่ ประเทศเป็นของทุกคน เมืองเป็นของทุกคน ควรจะคนทุกภาคส่วน คนทุกเพศทุกวัย ควรจะมีเสียงมีสิทธิ คอนโดต้นตอปัญหานั้นสร้างเสร็จหรือยัง        เขาหยุดสร้างไป มันมีสองคอนโดที่เราสู้ มีคอนโดที่ทำ EIA เราก็สู้โดยใช้ EIA ที่จะสร้าง 30 ชั้น เป็นกลุ่มของเคพีเอ็น อันนี้เราก็หยุดเขาได้คัดค้านได้ แต่สิ่งที่เขาทำก็คือเอาที่ดินนี้ไปขายต่อให้นายทุนกลุ่มอื่น ซึ่งนายทุนกลุ่มอื่น นายทุนกลุ่มใหม่ เขาก็รอผังเมืองใหม่มา เขาถึงจะสร้างเป็นการซื้อไว้เก็ง  มีอีกอันคือคอนโดเก่าซึ่งไม่ได้เก่ามาก เพิ่งสร้างเสร็จแต่ใช้ใบอนุญาตเก่า สร้าง 18 ชั้น ซึ่งใช้ใบอนุญาตเก่าที่ไม่ต้องมีการทำ EIA ไม่ต้องทำเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม  อันนี้เราฟ้องร้อง ตอนนี้อยู่ในศาลปกครอง เพราะเราบอกว่าทำไม่ได้ ที่จะใช้ใบอนุญาตตั้งแต่ปี 35 ปรากฏว่าเขาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รีบเปิดใช้อาคาร ทำให้มีการเปิดใช้อาคารแล้ว และเราก็ไม่สามารถที่จะหยุดการใช้อาคารของเขาได้ เขาสร้างเสร็จแล้ว เปิดมามีผลกระทบเรื่องน้ำท่วม เรื่องไฟตก เริ่มตั้งแต่เขาสร้างแล้ว เรื่องน้ำท่วมแต่ก่อนเป็นที่ดินเปล่าฝนตกก็รับน้ำ พอเขาสร้างเสร็จน้ำไม่มีที่ไป น้ำก็ลงมาที่ถนน ลงมาในชุมชน คือถ้าเขาปฏิบัติตามกฎหมาย อาคารเขาก็จะไม่สูง พื้นที่คอนกรีตก็จะน้อย ก็จะมีพื้นที่ๆ จะปล่อยให้น้ำซึมลงดินได้มากขึ้น คือเป็นประเด็นที่ชัดเจน ในส่วนของ 30 ชั้นเราก็คิดว่าให้สร้างไม่ได้แล้ว เพราะปัญหาเรื่องจราจรเอง สาธารณูปโภคไม่เพียงพอ ถึงแม้เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าพอ ก็ไม่พอ “เขาก็จะพูดเอาใจช่วยนายทุน แต่เราชาวบ้าน เราอยู่ ฝนตกปุ๊บไฟดับ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยเป็น ไฟดับคือไฟไม่พอ แล้วคุณจะมาเพิ่มการใช้ไฟอีก อีก 30 ชั้นอีก 200 ห้อง 200 ครอบครัวคุณจะเอาไฟที่ไหนมาใช้   คุณเอาหมู่บ้านมาอยู่แนวตั้งมันไม่ได้  การพัฒนาโดยขาดการคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง  เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่นี่ไม่ใช่เรียกว่าการพัฒนา เรียกว่าการแสวงหาประโยชน์”  เหตุที่มายื่นหนังสือในวันนี้        พอเราทราบข่าวว่าผังเมืองใหม่จะเปลี่ยนพื้นที่จากสีน้ำตาลเป็นสีแดง  ก็คือจะปล่อยผีให้สร้างตึกสูงขึ้นมาได้ เราก็เริ่มไม่สบายใจ เพราะว่ามีคอนโดที่เราสามารถหยุดยั้งเขาได้  ที่เขาพยายามจะสร้างสูงเกินที่กำหนด ซึ่งควรจะเป็น 8 ชั้น แต่ว่าจะสร้าง 30 ชั้น คือเขาจ้องอยู่  วันนี้เขาก็หยุดโครงการ เขาก็รอผังเมืองใหม่ออกมา ให้ถูกกฎหมายแล้วเขาก็จะสร้างได้เต็มที่ ทีนี้จาก 30 ที่เขาวางแผนไว้ก็จะสูงกว่านั้น เพราะว่าถ้าตามแผนนี้เขาก็จะสร้างสูงได้ไม่จำกัดถ้าเป็นสีแดงนี่ก็จะเป็นปัญหา เพราะว่าปกติสภาพการจราจรสุขุมวิทมันก็ติดมาก ขึ้นชื่อว่าเป็นเขตที่รถติดมากเราคิดว่านี่คือประเด็นหลัก ที่เราไม่เห็นด้วยที่จะมาเติมให้พื้นที่ในกรุงเทพฯ มันหนาแน่นขึ้น ซึ่งมันก็หนาแน่นอยู่แล้ว เราก็เลยกลับมาดูว่าผังเมืองนี้โดยภาพรวมแล้ว ถ้ายอมเปิดให้ขยายเส้นสีน้ำตาลมาเป็นสีแดง เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสในการเติมความหนาแน่นเข้าไปอีก จากที่ของเดิมก็แย่อยู่แล้ว ประเด็นที่จะตามมาอีกอันก็คือ ประเด็นของเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเราเห็นว่ามันมีช่องโหว่และมีการคอรัปชัน ดูแล้วทำให้กลับไปคิดว่าเป้าประสงค์ของเขาคืออะไร อดถามไม่ได้ว่าการที่เราปล่อยเส้นสีแดง แล้วก็ไม่ได้ควบคุม ให้สร้างกันได้เต็มที่ในซอยเล็ก ซอยน้อย        ผมคิดว่าประโยชน์มันจะเกิดกับใคร เกิดกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มากกว่าประชาชนส่วนน้อย  แล้วก็ทิ้งปัญหาทั้งหมดให้กับประชาชนธรรมดา ซึ่งไม่มีอะไรที่จะไปต่อรอง   ซึ่งก็ชัดเจนว่าเส้นสีแดงมันไม่ได้ถูกใช้อย่างมียุทธศาสตร์  คือไม่ได้ตอบสนอง ถ้าจะเอาเส้นสีแดงไปใช้ในส่วนของการส่งเสริมให้ความเจริญกระจายออกไปข้างนอก อันนั้นน่าจะเป็นประเด็นที่มีประโยชน์กว่า ควรกระจายออกไป ไม่ควรกระจุกตัวอย่างนี้ เพราะปัญหาเดิมมันไม่ได้แก้ และแก้ไม่ได้ด้วย เพราะด้วยโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างทางหน่วยงานราชการเองก็เป็นปัญหาอยู่ ยังไม่ได้บวกเรื่องของการคอรัปชัน การไม่ซื่อตรงต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ๆ บังคับใช้กฎหมาย คิดไหมว่าการยื่นหนังสือจะช่วยเปลี่ยนอะไรได้        คือเรามาสะท้อนให้ผู้ออกแบบให้เขามองในหลายๆ มิติ คือคำนึงในมิติต่างๆ ที่เราได้สะท้อนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับฟัง การมีส่วนร่วมของประชาชน ประเด็นเรื่องประชากรแฝง ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในรูปของคอนโด หรือแม้แต่เรื่องของภาษี ซึ่งเราต้องโดนแน่ๆ เพราะถ้ามาประกาศอย่างนี้ราคาที่ดินก็จะขึ้น เราก็เคยอยู่ดีๆ เราไม่เกี่ยวอะไรจากประโยชน์ของเขา เราก็ต้องจ่ายภาษีที่สูงขึ้น แล้วก็ตามมาด้วยเรื่องอื่นๆ แน่นอน เรื่องสาธารณูปโภคมันไม่พออยู่แล้ว โดยเฉพาะที่จะออกกฎใหม่ที่จะลดจำนวนที่จอดรถยนต์ในคอนโดเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ มันไม่สอดคล้องกับสังคมไทย สังคมไทยเป็นสังคมบูชารถ มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย คุณให้ 100 เปอร์เซ็นต์เขายังไม่พอ เพราะห้องหนึ่งมีมากกว่าหนึ่งคัน ทุกวันนี้แต่ละคอนโดก็มีปัญหาเรื่องนี้ แล้วก็ทะเลาะกัน คุณจะทำปัญหาเพิ่มขึ้น ตัวนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ ถ้าคุณจะจำกัดรถยนต์ เช่น คุณมีมาตรการในเรื่องภาษี รถยนต์ภาษีต้องสูงขึ้น คุณจะต้องมีแผนผังพื้นที่ในการจอดรถด้วยว่าซื้อแล้วจะไปจอดที่ไหน ไม่ใช่ว่าเอาใจมาตรการนายทุน อุตสาหกรรม ทุกวันนี้ไม่รอดอยู่แล้ว ย้ายฐานการผลิตไปหมดแล้ว หลังจากวันนี้ วางแผนอย่างไรต่อไป        คงต้องติดตามแล้วก็รวมกลุ่มผ่านชุมชนต่างๆ ที่ประสานงานโดยมูลนิธิ  คิดว่าเป็นจุดแข็ง เป็นจุดที่ดี  แล้วก็ไปทุกที่ ทุกเวที แล้วก็แสดงให้รัฐเห็นว่า เราไม่ยินยอม เราไม่เห็นด้วยในระดับนี้ จนกระทั่งคัดค้านไปจนถึงที่สุด เมื่อถึงที่สุดของกระบวนการ แล้วมีการไปอนุญาตหรือไปเซ็นโดยมหาดไทย เราก็จะไปถึงศาลปกครองซึ่งขอให้ยับยั้งการออกกฎกระทรวง เขาเรียกกฎกระทรวงซึ่งมันมีผลกระทบกับมหาชนมาก เพราะว่ากฎหมายที่มีผลกระทบกับมหาชนขนาดนี้กับไม่ผ่านสภา กลับไปอยู่กับกระทรวง  ผมคิดว่ามันมีผลกระทบมากแต่ทำไมจะให้แค่ระดับรัฐมนตรีเซ็นผ่านแค่นั้นหรือ น่าจะเป็นระดับประเทศ เพราะว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผลระทบต่อมหภาค เศรษฐกิจและประชากรที่อยู่ในนี้เป็นหนึ่งในสามของประเทศ ดังนั้นผมคิดว่าอะไรที่มีผลกระทบมากๆ จะต้องมีการถกเถียงกันในระดับสภา ทำไมเมืองใหญ่อื่นๆ ถึงทำได้ แต่ประเทศเราทำไม่ได้        ต้องไปดูว่าประเทศที่เขาจัดการได้ เขามีความเข้มแข็งในการจัดการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายเขาศักดิ์สิทธิ์ เขาบังคับใช้ได้ เอาจริง การคอรัปชันน้อย ดังนั้นที่เราเห็นว่าเขาทำได้และอยากทำเหมือนเขานั้น เราไม่สามารถทำได้หรอก เราจะทำแย่กว่าเพราะการบังคับใช้กฎหมายเราต่ำมากต้องแก้  กทม เอง ปัญหาในวันนี้ก็คือตัว กทม  ผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายกลับปล่อยปละละเลย หรือมีส่วนรู้เห็นในการที่จะให้เมืองมันพัฒนาไปอย่างบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามผัง อย่างที่บอกคือวันนี้ที่เรามาเราถามว่าแผนเดิมของปี 56 ผังเดิมมันมีความบกพร่องตรงไหน คุณมีข้อศึกษาไหม คุณก็ไม่มี แทนที่จะเริ่มใหม่ อันเก่าคุณพัฒนาเต็มศักยภาพหรือยัง อันเก่าคุณยังทำไม่เต็มที่แล้วคุณยังมาขยับอีกเพื่ออะไร นี่มันก็คือการตอบโจทย์นายทุนทั้งนั้นอยากฝากถึงคนที่มีผลกระทบคนอื่นๆ หรือผู้อ่านอย่างไร        คือผมคิดว่าวันนี้เราจะปล่อยปละละเลยให้สิ่งต่างๆ ผ่านไป โดยที่เราไม่ใส่ใจมันคงไม่ได้อีกแล้ว เพราะว่าการที่เราปล่อยให้คนอื่นเขาละเมิดเรา เรายินยอมให้เขาทำ แล้วเราก็บอกว่าเราไม่อยากไปยุ่ง มันเลยทำให้ปัญหาลุกลามใหญ่โต ถ้าทุกคนทำหน้าที่คนละเล็กละน้อย แบ่งเบาภาระกันไป  ก็จะไม่ต้องมีคนใดคนหนึ่งทำหนัก แล้วท่านจะเดือดร้อนจนกระทั่งไปสู่วิกฤต เช่น ถ้า ทุกคนช่วยกันปัดกวาดขยะในบ้านและหน้าบ้านตัวเองมันก็จะไม่มีขยะสะสม จนกระทั่งทำให้บ้านเมืองดูไม่ดี ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือก็จะไม่มีปัญหาที่จะต้องมาทำแบบนี้ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าขยะหน้าบ้านไม่ใช่ของฉัน ฉันจะทำเฉพาะในบ้านตัวเอง ในท้ายที่สุดขยะหน้าบ้านของคุณมันก็จะมาเป็นปัญหาของคุณด้วย เพราะคุณออกจากบ้านคุณก็จะเจอขยะ เมื่อเราต้องอยู่กันเป็นชุมชนเราก็ต้องดูแลชุมชนด้วย เราอย่านิ่งดูดาย เพราะถ้านิ่งดูดายผลักภาระให้คนอื่นที่เขาใส่ใจมันไม่ค่อยยุติธรรม        การแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกันมันจะทำให้เราทำให้ชุมชนเดินหน้าไปด้วยกันได้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดการขาดสมดุลเพราะความไม่ใส่ใจของเรา ที่เราไปดำเนินการตามที่ต่างๆ ก็เป็นเงินส่วนตัว การที่เราออกมาเคลื่อนไหว เราใช้เงินตัวเองไม่มีใครมาว่าจ้าง เราคิดว่าถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครทำให้เรา บ้านเราเองถ้าเราไม่ดูแลใครจะมาดูแลให้เรา “เราต้องช่วยกัน คืออย่าไปคิดว่าเวลาคนออกมาเรียกร้อง อย่าไปมองเชิงลบ ต้องดูเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ว่าเขามีปัญหาอะไร บางคนเขาออกมาเพราะปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ เราปล่อยให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ไม่ได้ถ้าเราทุกคนนิ่งดูดายมันก็ไม่ไม่รอด อย่าไปคิดอะไรเชิงลบ มันไม่สร้างสรรค์และมันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ ยิ่งถ้าเขามาทำให้เรา ถ้าเราช่วยได้ก็ส่งเสริมเขา เป็นกำลังใจ สนับสนุนได้ทางใดได้ก็ทำ”

อ่านเพิ่มเติม >