ฉบับที่ 191 สิทธิของผู้ซื้อบ้าน กรณีเจอบ้านชำรุดบกพร่อง

ในชีวิตคนเรา ไม่ว่าใครก็ฝันอยากมีบ้านเป็นของตนเอง หรือบางท่านก็ต้องการมีบ้านเพื่อเป็นเรือนหอ เพื่อสร้างครอบครัวของตนเอง บ้านหลังหนึ่งราคาไม่ใช่น้อยๆ  ต้องเก็บเงิน ทำงานทั้งชีวิตกว่าจะได้มา ช่วงที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ทราบข่าวคู่รักชาวเชียงใหม่ เข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมให้ช่วยเหลือ หลังซื้อบ้านใหม่ราคากว่า 2 ล้านบาท เพื่อทำเป็นเรือนหอ แต่ยังไม่ทันเข้าอยู่ กลับมีสภาพเหมือนโรงเพาะเห็ด  เมื่อมาเจอปัญหาซื้อบ้าน แต่ได้บ้านที่มีเห็ด มีเชื้อราขึ้นทั่วบ้าน ใครจะกล้าอยู่  จ่ายเงินไปแล้ว ก็ต้องการบ้านที่ดี สะอาด ปลอดภัย น่าอยู่เหมือนคนอื่นๆ    เรื่องของการซื้อขายบ้าน คนขายไม่ใช่เพียงแต่ขายบ้าน รับเงินแล้วจบ  แต่ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบบ้านในสภาพที่ใช้อยู่อาศัยได้จริงด้วย  หากส่งมอบบ้านมา อย่างกรณีที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคยังไม่ทันเข้าอยู่อาศัย พบว่าบ้านมีเห็ด มีเชื้อราขึ้น สอบถามจนทราบว่าเกิดจากความชื้นจากใต้ดิน ทำให้บ้านเกิดเชื้อรา แบบนี้ถือว่า บ้านที่ส่งมอบให้ผู้บริโภคนั้น เกิดความชำรุดบกพร่องเป็นเหตุเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ กล่าวคือ บ้านซื้อมาประโยชน์จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยอีกหลายสิบปี แต่กลับใช้อาศัยไม่ได้ ไม่ปลอดภัยเพราะมีแต่เชื้อโรค บ้านปกติเขาไม่เป็นแบบนี้  กรณีแบบนี้ ต่อให้ตรวจสอบก่อนรับมอบบ้าน ก็คงไม่ทราบ เพราะไม่ใช่ความชำรุดเสียหายที่เห็นเป็นประจักษ์ขณะส่งมอบบ้านกัน จะให้ผู้บริโภคที่ซื้อบ้านรับผิดชอบคงไม่ได้ (ฏีกาที่   5584/2544, 17002/2555) โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้บริโภคในฐานะผู้ซื้อ เมื่อพบว่าทรัพย์สินที่ซื้อขายมีความชำรุดบกพร่องเช่นนี้ มีสิทธิ 3 ประการ คือ 1.สิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (มาตรา 472)2.สิทธิยึดหน่วงราคาทั้งหมดหรือแต่บางส่วน กล่าวคือ ไม่ต้องชำระเงินค่าบ้านส่วนที่เหลือจนกว่าจะได้รับการแก้ไขความชำรุดบกพร่อง (มาตรา 488) 3.สิทธิบอก(ปัด)เลิกสัญญา และเรียกค่าเสียหาย  รวมถึงเงินมัดจำ และให้ชำระหนี้บางส่วน (ถ้ามี) ( มาตรา 386 และ 391 )แต่อย่างไรก็ตามสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายรับผิดนั้นก็ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง  ดังนั้นในเบื้องต้น หากท่านรู้ว่าบ้านที่ซื้อมีความชำรุดบกพร่อง มีความเสียหายส่วนใดๆ ก็ตาม ต้องรีบทำหนังสือแจ้งให้โครงการดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว เช่น ภายใน 15 วัน หากผู้ขายไม่รีบดำเนินการแก้ไข ก็อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบทำเรื่องร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในการเจรจาไกล่เกลี่ย รวมถึงฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544 ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิท หรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามา จึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้าน เป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)

อ่านเพิ่มเติม >