ฉบับที่ 277 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2567

เตือน อินฟลูฯ ดาราไทย อย่ารับรีวิวอาหารเสริมเกินจริง        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เปิดเผยว่า ได้มีการตรวจพบการรีวิวสินค้า ประเภทอาหารเสริมโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง มีการอ้างรักษาโรค ลดความอ้วน ซึ่งมีการใช้ดารา นักแสดง พิธีกร ผู้ประกาศข่าว อินฟลูเอนเซอร์ แพทย์ รวมถึงเภสัชกรจำนวนมากมารีวิว         อย. ได้เตือนว่าการกระทำดังกล่าว มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ดังนี้        ·     มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 70         ·     มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ ของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 71         หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที  บขส. แจ้งกรณีปิดพื้นที่ขาเข้าหมอชิต แต่ “ถูกแท็กซี่เรียกค่าบริการเพิ่ม”         มีนาคม 2567 ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ประกาศชี้แจงกรณีที่ทาง บขส. ปิดพื้นที่ทางขาเข้าสถานีหมอชิต 2 ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งได้ให้รถโดยสารทุกคันเข้าจอดส่งผู้โดยสารที่บริเวณชานชาลาขาออก ช่องที่ 112-130 นั้น พบว่ามีแท็กซี่บางรายฉวยโอกาสเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม 50 บาทกับผู้โดยสาร ดังนั้น ทาง บขส. ขอแจ้งว่าไม่มีนโยบายดังกล่าวสำหรับการให้รถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นจะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด สามารถแจ้งเรื่องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 ลูกหลานใส่ใจ ระวังมิจฉาชีพพุ่งเป้าผู้สูงอายุ         เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง ออกมาเตือนกรณีพบว่ามีผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณจำนวนมากมักตกเป็นเป้าหมายในกลุ่มมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) ซึ่งใช้กลลวงหลอกเอาเงิน เช่น การแอบอ้างเป็นประกันสังคม หลอกเอาเงินบำเหน็จ-บำนาญ รวมถึงแอบอ้างเป็นสรรพากร ทางตำรวจสอบสวนกลางจึงได้แนะนำวิธีป้องกันผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ ดังนี้          1. อย่ารีบเชื่อทันที หาเหตุและผลให้ดีก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่         2. เปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง หาข้อมูลให้ได้มากที่สุด นำมาชั่งน้ำหนักดูว่าเป็นเรื่องเท็จจริงหรือไม่         3. เช็กข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์ ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง การแชร์ในสิ่งที่ผิดเป็นผลเสียตามเสมอ        4. เลือกดูสื่อที่น่าเชื่อถือเท่านั้น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าไปอ่าน        5. หากมิจฉาชีพอ้างถึงหน่วยงานต่างๆ ให้โทรไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วยตัวเองว่าจริงหรือไม่        6. ควรปรึกษาคนใกล้ตัว ลูก-หลาน ก่อนที่จะเชื่อกลอุบายต่างๆ ที่มิจฉาชีพนำมาหลอก เพื่อจะได้ให้ช่วยกันหาข้อมูลว่าจริงหรือไม่         ทั้งนี้ ตำรวจสอบสวนกลางจึงอยากให้ลูกหลานคอยระวังผู้สูงอายุและผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย จับแล้วทุจริต “โครงการสามล้อเอื้ออาทร”         จากกรณีกลุ่มผู้เสียหาย 200 ราย ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินคดีกับสหกรณ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง สืบเนื่องจากสหกรณ์ดังกล่าว ได้เป็นผู้ประสานการขอสินเชื่อระหว่างสมาชิกและธนาคาร เพื่อทำโครงการสินเชื่อพัฒนาองค์กรชุมชน แต่ภายหลังพบว่าทางสหกรณ์กลับนำเงินฝากของสมาชิกไปชำระสินเชื่อกับธนาคาร ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง จนเป็นเหตุให้สมาชิกถูกธนาคารฟ้องร้องเนื่องจากผิดชำระหนี้และผิดสัญญาค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงที่ทางสหกรณ์ไม่สามารถจัดซื้อรถสามล้อได้ตรงตามคุณภาพที่กำหนดไว้ และติดต่อจ้างอู่หลายแห่งให้ประกอบสามล้อแล้วนำมาจำหน่ายให้สมาชิก และเพิ่มค่าส่วนต่างถึง 75,000-180,000 บาท สุดท้ายแล้วมีการนำเงินส่วนต่างดังกล่าวไปเป็นของตนเอง มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาทนั้น         ล่าสุดตำรวจสอบสวนกลาง ได้นำกำลังเข้าจับกุม นายสุรชัย อายุ 43 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 487/2567  ฐานความผิด “ร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการตาม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562” เพื่อนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ผู้บริโภค เฮ! คดีหลอกขายเครื่องนอนยางพารา ชนะศาลฎีกา         จากกรณีผู้เสียหายหลายราย ฟ้องร้องเพจเฟซบุ๊กออนไลน์ที่อ้างว่าขายที่นอนยางพารา แต่เมื่อสั่งของมากลับพบว่าได้รับของที่ไม่ได้คุณภาพ หรือ ไม่ได้สินค้าเลย กว่า 10 เพจนั้น และได้มาร้องเรียนทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ล่าสุดวันที่ 15 มีนาคม 2567 ณัฐวดี เต็งพาณิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า คดีนี้ต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่ศาลชั้นต้นถึงศาลอุทธรณ์ จนกระทั่งมกราคม 2567 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ลงโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เห็นควรลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ศาลให้จำเลยชำระเงิน 6,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2562 นับจากวันที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม         อย่างไรก็ตาม อีกคดีศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ภาค 1 โดยให้จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยเป็นชัยชนะของผู้บริโภค 2 ราย ในจำนวน 120 ราย ที่ได้มาร้องต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อปี 2563 ในส่วนของการได้เงินคืนทางโจทก์ต้องไปทำการสืบทรัพย์จำเลยตามกระบวนการบังคับคดีตามเงื่อนไขของคดีแพ่งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 บำนาญแห่งชาติ สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย

        กว่า 20 ปีแล้วที่ประเทศไทยได้มีการพูดถึงสังคมสูงวัย เริ่มตั้งแต่ ในปี 2548 จนถึงปัจจุบันในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจำนวน 12 ล้าน 6 แสนคนหรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 19.21 ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน ... และคาดการณ์กันว่า ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.9  หรือการเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น         ผู้สูงอายุของไทยจะมีความเป็นอยู่อย่างไร นี่คือน้ำเสียงแห่งความกังวลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังในทุกครั้ง ทุกโอกาสที่มีการพูดถึงสถานการณ์สังคมสูงวัย เมื่อเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังไม่เพียงต่อต่อการดำรงชีพและยังไม่มีความแน่นอนดังที่ล่าสุดได้มีการปรับเกณฑ์กันอีกครั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา         เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เริ่มรณรงค์สื่อสารเพื่อยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’  ให้เป็น  ‘บำนาญถ้วนหน้า’ ตั้งแต่ระยะแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงเรื่องสังคมสูงวัย ผ่านมากว่า 17 ปี ข้อกังขาต่อความเป็นไปได้เริ่มแผ่วเสียงลง การเลือกตั้งที่ผ่านมายังเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคการเมืองหลายต่อหลายพรรคส่งเสียงยืนยันสิทธิที่ผู้สูงอายุไทยควรได้อย่างพร้อมกันที่ตัวเลข 3,000 ต่อเดือน ความสำเร็จครั้งนี้ คุณแสงสิริ ตรีมรรคา  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่ายังมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย...ที่ในวันนี้สถานการณ์ทางสังคมได้ฟูมฟักให้ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป จุดเริ่มต้นที่เริ่มผลักดันเรื่อง บำนาญถ้วนหน้า            เราเริ่มกันช่วงปี 2551 – 2552 ตอนนั้น เราเริ่มมีการพูดถึงกันแล้วว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย เราก็คิดว่า แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรเพราะเราไม่มีหลักประกันทางรายได้เลยซึ่งสำคัญมากที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ตอนนั้น เราจึงมีการยกร่าง พ.ร.บ. ภาคประชาชน ยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’ ให้เป็นบำนาญถ้วนหน้า  มีการระดมรายชื่อ 10,000 รายชื่อเสนอเข้าไปที่รัฐสภา ตอนนั้นคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีเรื่องก็ค้างไว้ ไม่ได้เซ็นต์ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าสภาแต่เราก็ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เราปรับปรุง พ.ร.บ. ฉบับนี้ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2562 มีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 14,000 รายชื่อ ในรัฐบาลประยุทธ์ แต่ก็ตกไป ไม่ได้เซ็นต์ เพราะเป็นกฎหมายการเงินต้องผ่านนายกรัฐมาตรีถึงจะเข้าสภาได้         จนถึงรัฐบาลปัจจุบันขณะนี้  ต้องบอกว่ารัฐสภาก็มีการศึกษาเรื่องนี้และเราได้เข้าไปเป็นอนุกรรมการฯ ด้วย ทางรัฐสภาได้มีรายงานหนึ่งฉบับหนึ่งออกมาและมีการยกร่าง การแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ เป็น พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เราเลยนำร่างของกรรมาธิการเป็นตัวยกร่างฉบับที่ 3 ของเรา และปรับปรุงให้เป็นตามแนวทางของฉบับประชาชนที่เรายืนยันหลักการสำคัญเลยคือ หนึ่ง ให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นสิทธิพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป สอง เราใช้เกณฑ์เส้นความยากจนเป็นหลัก เราจึงเสนอที่ 3,000 บาท มาโดยตลอด เงินตรงนี้ควรจะต้องให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สถานการณ์ตอนที่เริ่มผลักดันเรื่องนี้ เป็นอย่างไร          ช่วงปี 2552 – 2553 เมื่อเราพูดถึงบำนาญถ้วนหน้า รัฐสวัสดิการ คนยังไม่เข้าใจ ไม่ติดหู จนถึงไม่อยากได้  มีการตั้งคำถามเยอะ แต่ประสบการณ์ที่ผ่าน เราพบว่าคนตั้งคำถามเยอะที่สุดเพราะกลัวแทนรัฐว่าจะ ‘เอาเงินมาจากไหน’ ‘เป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเราจะต้องเก็บภาษีให้สูงๆ เหมือนต่างประเทศ’  มีเสียงที่บอกเลยว่า  ทำไมรัฐต้องให้สวัสดิการประชาชน ประชาชนต้องขวนขวายทำงานเก็บเงินเอง แต่เราก็เคลื่อนไหวและสื่อสารถึงความจำเป็นมาตลอด ช่วง ปี 2560 - 2561  คนเริ่มพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้น  นักวิชาการจากเมื่อก่อนที่ไม่ได้สนับสนุนเต็มตัวก็มีนักวิชาการหลายคนเข้ามาสนับสนุน เพราะเขามองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำได้ มีงานวิจัยออกมาทั้งในและต่างประเทศว่า การให้หรือการสนับสนุนเรื่องหลักประกันรายได้ ไม่ว่าจะกับคนกลุ่มไหนจะช่วยทำให้ผู้คนสามารถออกแบบชีวิต วางแผนชีวิต และนำเงินเหล่านั้นไปต่อยอดได้  บริษัทใหญ่ๆ อย่าง อเมซอนก็เคยทดลองให้เงินทางประชาชนในแถบแอฟริกาแบบให้เปล่าต่อเนื่องผลก็เป็นไปตามแบบที่งานวิจัยบอกมา            กระแสการพูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่หลังรัฐประหารมีขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียน คนรุ่นใหม่  นักศึกษา ยิ่งมีพูดถึงเยอะมากเพราะคนเริ่มเห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างว่า นโยบายของรัฐไม่ได้เอื้อให้คนหลุดพ้นจากวงจนความยากจนได้ ไม่ได้เอื้อให้คนมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดี คนเลยคิดว่าสิ่งที่ควรเป็นสิทธิและรัฐต้องคิด มีเจตนา เจตจำนงที่จะต้องให้กับประชาชนก็คือเรื่องการมีสวัสดิการ ทั้งหมดนี้ทำให้เรื่องรัฐสวัสดิการถูกพูดถึงมากขึ้น ขณะที่คำถามเรื่องความเป็นไปได้ต่างๆ ก็ลดลง มีงานวิจัย มีข้อมูลออกมาเยอะมากว่าจริงๆ แล้วประเทศของเราควรจัดสรรงบประมาณแบบใดได้บ้าง ในภาพรวมของประเทศตอนนี้ เรามีสวัสดิการให้ประชาชนเรื่องอะไรบ้างและมีปัญหาอย่างไร            สวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชน มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ประชาชนทั่วไป ราว 66 ล้านคน เท่าที่เราทำข้อมูล  สวัสดิการที่รัฐจ่ายตรงไปให้กับประชาชนราว 66 ล้านคน ตรงนี้ เช่นเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ให้กับครอบครัวที่ยากจน อุดหนุนอาหารกลางวันเด็ก สิทธิเรียนฟรี กองทุนเสมอภาค อยู่ที่ 73,000 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพมากที่สุดคือ 1.4 แสนล้านบาท ประกันสังคม เบี้ยผู้สูงอายุ กองทุนการออมแห่งชาติ  ซึ่งใช้เงินน้อยมากเพียง  300 กว่าล้าน ทั้งหมดนี้เป็นงบประมาณกว่าร้อยละ14.12 ของรายจ่ายรัฐบาล แม้ดูว่าหลากหลายแต่สวัสดิการที่เป็นถ้วนหน้า มี 2 เรื่องเท่านั้น คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับสิทธิเรียนฟรี นอกนั้นจะเป็นการให้แบบเลือกให้         ขณะที่อีกกลุ่มคือกลุ่มข้าราชการ มีประมาณ 5 ล้านคนได้สวัสดิการจากรัฐคิดแล้วเป็นงบประมาณกว่า ร้อยละ 15.36 เป็นค่ารักษาพยาบาล เงินช่วยเหลือข้าราชการ และสวัสดิการต่างๆ           งานวิจัยที่ผ่านมาเราได้เห็นว่า การเลือกให้เฉพาะกลุ่มหรือคนที่ยากจน เช่น งานวิจัยอย่างของ อาจารย์สมชัย หรือของ  TDRI  บอกชัดเจนว่าจะทำให้คนที่ควรได้จะตกหล่นมากกว่าร้อยละ 20 แล้วคนที่ไม่จำเป็นต้องได้ก็ได้ แล้วต้องใช้งบประมาณเพื่อคัดกรองมากพอๆ กับที่ใช้เพื่อจ่ายสวัสดิการ จริงๆ อาจจะน้อยกว่า แต่ก็เป็นเงินจำนวนที่ไม่น้อยที่ต้องนำมาใช้จ่ายตรงนี้   จึงมีหลักการที่ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าต้องเป็นสวัสดิการแบบ ‘ถ้วนหน้า ’ เท่านั้น         ใช่ และเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละสมัยมากๆ  เช่น นโยบายของนรัฐบาล ถ้านายกสั่งวันนี้เลย 3,000 บาทเขาก็ต้องจ่าย 3,000 บาท ถ้าวันนี้ปรับเกณฑ์ลด ก็ลดลง และหลายปีมาแล้ว เรายังให้แบบขั้นบันได 600 – 1,000 บาทและไม่ได้เป็นถ้วนหน้า          เราผลักดันเรื่องนี้โดยใช้ประสบการณ์จากจากการร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือผลักดันให้เป็นกฎหมายเฉพาะ แล้วจะมีความแน่นอน ความเสมอภาค คือคุณอาจจะทำให้เป็น 3,000  ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ได้ 1,500 แล้วค่อยๆ ขยับไปก็ได้แต่ชีวิตประชาชนก็จะมีหลักประกันที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้เหมือนตอนนี้  ดังนั้นเราตั้งใจว่าจะระดมรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายกว่า 10,000 รายชื่อให้ทันภายในสิ้นปี 2566 นี้  คิดว่าอะไรทำให้สังคมพูดถึงเรื่อง รัฐสวัสดิการและบำนาญถ้วนหน้ากันมากขึ้นแล้วในตอนนี้         เราเป็นสังคมสูงวัยแล้ว และในปี 2572 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุประมาณ 20 ล้านคน ตอนนี้อยู่ที่ 12 ล้านคน แต่เบี้ยยังชีพ ยังเป็นปัญหามาก เรามีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลประชาชน  รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า ร้อยละ14 เพื่อจัดสวัสดิการดูแล ผู้คนในสังคมกว่า 66 ล้านคน เมื่อเทียบกับ ข้าราชการและครอบครัวที่มีราว 5 ล้านคนใช้งบประมาณร้อยละ 15.3 งบตรงนี้เมื่อรวมกับ รายจ่ายบุคลากรของกลุ่มข้าราชการอีกเป็น ร้อยละ 40 ของบประมาณเลยแล้วยังเพิ่มอยู่อย่างต่อเนื่อง เราคิดว่า ไม่ใช่ปัญหาว่ามีงบไม่พอแต่เป็นเรื่องที่ไม่บาลานซ์ เป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณของประเทศเรา ยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงในบ้านของเรา         คือทุกวงสนทนาที่เราจัดมา ถามถึงความเป็นไปได้หมด และมีคำตอบที่เหมือนกันอยู่กันอย่างหนึ่งคือ การที่จะมีสวัสดิการนี้ได้ต้องเริ่มเจตจำนงที่รัฐอยากจะทำก่อน รัฐต้องมีไมด์เซ็ตที่ดีว่า สวัสดิการจะเข้ามาช่วยสร้างเศรษฐกิจได้ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่ถ้ารัฐไม่มีเจตจำนงจะทำ ก็จะไม่เกิดสักที อย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพ เราเริ่มต้นจากหัวละ1,200 บาท  ตอนนี้ขยับมาที่ 4,000 ต่อหัว มันค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปได้ งบประมาณเป็นเรื่องที่จัดการได้ รีดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เพิ่มการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่หรือในรูปแบบเก่าที่มีอยู่แต่ว่ายังไม่มีประสิทธิภาพก็ปรับปรุง             งบประมาณที่จะนำมาจัดสวัสดิการมาได้จากหลายแบบ ทั้งปฏิรูปสิทธิประโยชน์  BOI เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี  ลดงบกลาง ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เหล่านี้จะทำให้มีเงินเข้ามาจัดสวัสดิการได้ถึง 650,000 ล้านบาท ความเป็นไปได้มีอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่า รัฐต้องตั้งต้นแล้วต้องทำ หากรัฐไม่มีเจตจำนง ไม่กล้าทำ ก็ไม่เกิด         ประชาชนเราเลยต้องไปตั้งต้น ที่ระบบโครงสร้างทางการเมืองว่าเราจะตัดสินใจให้ใครขึ้นมาบริหาร เราจะทำยังไงที่จะทำให้รัฐไม่โกหก คนที่เป็นรัฐบาลขึ้นไปแล้วจะไม่สับขาหลอกก็เป็นหน้าที่ประชาชนที่จะต้อง ตรวจสอบ ถ่วงดุล และเรียกร้อง คือภาคประชาชนเองการได้มาของสวัสดิการประชาชนไม่เคยได้มาด้วยตัวรัฐเองเลย ถ้าดูประวัติศาสตร์เกิดจากการเรียกร้องของประชาชนเอง อย่างเราเองก็ลุกขึ้นมาขับเคลื่อน ข้อมูลล่าสุดเป็นผลการศึกษาของนักวิชาการหลายท่าน ในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาบอกว่า การจัดให้มีบำนาญถ้วนหน้า จะทำให้ GDP โตไปถึง 4 % ข้อมูลนี้มาจากไหน           ใช่ เป็นการศึกษาโดยการใช้ตัวคูณทางการเงิน การคลัง ว่าถ้าทดลองจ่ายเงินบำนาญ ในจำนวนเท่านี้ๆ กี่คนจะส่งผลต่อ GDP แบบไหน อย่างไร ซึ่งเป็นวิธีวิจัย วิธีศึกษาของเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปอยู่แล้ว           ในงานวิจัย เราให้โจทย์นักวิจัยว่า ถ้าเรามีเป้าหมายที่จะจ่ายบำนาญให้ผู้สูงอายุทุกคน คนละ 3,000  บาท จะส่งผลกระทบอะไรในเชิงเศรษฐกิจบ้าง และเราได้เห็นจากงานวิจัยว่า ถ้าให้แบบถ้วนหน้า ไม่เลือกว่าจะให้ใครจะใช้งบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท พอคำนวณแล้วพบว่าจ่ายปีแรกยังไม่ส่งผลต่อ GDP ชัดเจน ปีที่ 2 – 3 เริ่มเห็น หลังจ่ายไปปีที่ 5 เห็นผลชัดเจนที่สุด เปรียบเหมือนเราโยนหินลงไปในน้ำก็จะเกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นวงกระเพื่อม ถ้าเราโยนลงไปทุกปี มันจะมีแรงกระเพื่อมตลอดจนเมื่อจ่ายถึงปี 9 จะมี GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 4%   แล้วประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการแล้วมีสถานการณ์ที่ดีหรือเสียอย่างไรไหม         จากงานวิจัยที่มีออกมา มีข้อดีเยอะพอสมควร เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ ประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศด้วย อย่างประเทศในสแกนดิเนเวียเกิดขึ้นในตอนที่เขาประเทศมีวิกฤตทั้งนั้น คือประเทศไม่ได้รวย มีวิกฤต แต่รัฐบาลก็มองว่า การที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ได้  รัฐต้องเข้าไปสนับสนุนบางอย่างเข้าไป  มันเลยเกิดเป็นวิธีคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ แล้วการเป็นประเทศประชาธิปไตยที่การทุจริตน้อยมากๆ ประชาชนเขาก็ไว้วางใจเชื่อมั่น ว่าจ่ายแล้วรัฐบาลของประเทศเขานำไปจัดสวัสดิการจริงๆ         ข้อดีที่แน่นอนอีกอย่างคือ การจัดสวัสดิการเหล่านี้จะช่วยทำให้ คนไม่ต้องไปกังวลต่อปัจจัยพื้นฐาน เขาจะออกแบบชีวิตได้ เขารู้ว่าอยากจะเรียนอะไร โดยไม่สนใจว่ามีรายได้ เท่าไหร่  เราจึงได้เห็นว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมากในประเทศเหล่านี้ เช่น  ฟินแลนด์  ประเทศเหล่านี้สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพดี เพราะว่ามีสวัสดิการจริงๆ         บำนาญถ้วนหน้ายังส่งผลลดความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นข้อนี้คือแน่นอนมาก  คือคนสูงอายุไม่ต้องกังวลว่า 60 ไปแล้วจะอยู่อย่างไร คุณจะได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แน่ๆ                  ข้อเสียก็มี ที่ประเทศญี่ปุ่นพอจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนทำงานน้อยลงกองทุนเขาก็มีปัญหามีการเสนอว่าจะลดการจ่ายบำนาญลงเพื่อที่จะทำให้กองทุนมีเสถียรภาพแต่เรามองว่า เป็นปัญหาที่เป็นโจทย์ในการทำงานออกแบบมากกว่า เป็นปัญหาที่วัดฝีมือของรัฐบาล กลับมาที่บ้านเราที่ยังไม่เริ่มทำสักที ที่อื่นเขาเริ่มทำไปกันเรื่อยๆ เจอวิธีการ เจอปัญหาก็แก้ไข เรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นแต่ของบ้านเราสวัสดิการต่างๆ ยังจ่ายแบบเบี้ยหัวแตก ไม่แน่นอน มีคนตกหล่น แล้วไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดความยากจนของประชาชนลงได้ สิ่งที่อยากฝาก          เราทำหลายทาง ทั้งจัดเวทีสาธารณะ นำเสนองานวิชาการ เข้าไปผลักดันกับคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม รัฐสภา ที่มีการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อทำข้อเสนอเรื่องนี้ เราสร้างกระแสสังคมให้ประชาชนร่วมกันลงรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เราพูดซ้ำๆ เพื่อให้คนเข้าใจมากขึ้นว่า เป็นสิทธิของประชาชนไม่ต้องไปกังวลแทนรัฐ           หนึ่ง ทุกคนต้องยึดหลักการ ยึดมั่นว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่มองว่าไม่ดีเลยแต่ก็ยังกำหนดว่าประชาชนควรจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องอะไรบ้างซึ่งยังเป็นการเลือกจ่าย เราจึงต้องช่วยกันยืนยันหลักการทำให้เป็นสวัสดิการของประชาชนครอบคลุมถ้วนหน้า         สอง ระหว่างทางที่ผลักดันเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ เรายืนยันที่จะเสนอกฎหมายประชาชนเรื่องบำนาญถ้วนหน้า ดังนั้นฝากให้ทุกคนที่เชื่อมั่นในหลักการนี้ร่วมกันลงชื่อได้ที่ ‘เพจบำนาญแห่งชาติ ’ ซึ่งมีรายละเอียดบอกไว้ทุกอย่าง เรามีความหวังว่าจะรวบรวมให้ได้ 10,000 รายชื่อเพื่อยื่นต่อรัฐสภาภายในสิ้นปีนี้    ร่วมลงลายมือเสนอ ร่าง พรบ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติฯ ได้ที่เพจ บำนาญแห่งชาติ  https://www.facebook.com/pension4all

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 คุณภาพ “สถานดูแลผู้สูงอายุ” รับ “Ageing Societies” เมืองไทย

        ปัจจุบันประเทศไทย เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” มีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เกิน 20% ของประชากรทั้งประเทศ ทำผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งวางระบบการดูแลทั้งสุขภาพกายสุขภาพใจให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด แต่ด้วยสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงการต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้นนั้นไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ในขณะเดียวกันกับที่ลูกหลานซึ่งอยู่ในวัยทำงานยังมีภาระต้องทำมาหากิน ดังนั้นเวลาที่จะอยู่ดูแลผู้สูงอายุในบ้านจึงน้อยลงไปด้วย “สถานดูแลผู้สูงอายุ” จึงเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ แต่ก็ต้องมีการกำกับดูแลเรื่องมาตรฐานให้ดีทั้งในด้านของสถานที่และบุคลากรที่จะมาดูแลผู้สูงอายุ “คุณภาพ มาตรฐานประเทศไทยและต่างประเทศ”         ทุกวันนี้ในเมืองไทยถือว่ามีสถานดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนคุณภาพมาตรฐานต่างๆ ดังว่านั้นจะเป็นอย่างไร ทาง “ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์” อาจารย์ประจำคณะกายภาพมหาวิทยาลัยรังสิต ได้สะท้อนให้ฟังว่า ถ้าพูดถึงจำนวนสถานดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทยในปัจจุบันแม้จะมีมากขึ้นและมีหลายรูปแบบ  ซึ่งหลักๆ มี 3 รูปแบบใหญ่ คือ 1. เดย์แคร์ เช้าไปเย็นกลับ 2. Nursing Home ดูแลผู้สูงอายุที่ออกไปข้างนอกลำบาก หรือป่วยติดเตียง กลุ่มนี้จะอยู่นาน และ 3. เป็นเทรนด์มาใหม่คล้ายๆ คอนโดผู้สูงอายุ         ที่ว่ามานี้รวมๆ แล้วมีประมาณ 4,000 กว่าแห่ง ซึ่งมีการจดทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจริงๆ แค่ประมาณพันกว่าแห่งเท่านั้น ที่เหลือเป็นการเกิดแบบธรรมชาติหรือนักวิชาชีพไปเปิดเองแต่ไม่ขึ้นทะเบียน แต่จำนวนเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือการเข้าถึงยังอยู่ในวงจำกัด ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะปานกลางหรือฐานะร่ำรวย         หากเทียบกับสถานดูแลผู้สูงอายุในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เยอรมนี แคนาดา หรือญี่ปุ่น จะเห็นว่าของไทยยังมีข้อด้อยกว่าในหลายๆ ด้าน คือ        1. สัดส่วนสถานดูแลผู้สูงอายุที่ไม่เพียงพอ อย่างที่กล่าวในตอนต้น         2. คุณภาพ ซึ่งประเทศไทยจะเน้นเรื่องของสุขภาพเป็นหลัก แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีพอ ในขณะที่ต่างประเทศจะเน้นทั้งเรื่องของสุขภาพและสร้างสังคม หรือ healthcare + Social Care         อย่างไรก็ตามจากข้อมูลเท่าที่ลงสำรวจ ถ้าพูดถึงคุณภาพตามข้อกำหนดของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพถือว่าส่วนใหญ่ผ่านมาตรฐาน แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขออกมาใหม่ๆ เช่น การขยายประตู ทางเดินต่างๆ ต้องปรับกันพอสมควร ส่วนคนดูแลต้องไปสอบรับใบอนุญาตคล้ายๆ ใบประกอบการวิชาชีพ ดังนั้นเรื่องมาตรฐานถึงเราจะไม่พรีเมียม แต่ก็ไม่แย่นักและดีกว่าหลายๆ ประเทศในอาเซียน แต่ที่ยังสู้ประเทศที่เจริญแล้วไม่ได้เลยคือ การเอาเทคโนโลยีมาใช้ไม่ว่าจะเป็นระบบการบันทึกและติดตาม         นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความหลากหลายของบุคลากรที่เข้าไปให้บริการดูแลผู้สูงอายุ  บ้านเรานั้นส่วนใหญ่อาจจะเป็นคุณพยาบาล เป็นผู้ช่วยที่ผ่านการอบรมเป็นส่วนใหญ่ บางแห่งอาจจะดีหน่อยมีหมอเป็นเจ้าของเองมาดูแลบางส่วน หลายๆ แห่งมีบริการที่มากขึ้นเช่นมีนักกายภาพด้วย แต่ในต่างประเทศจะมีอีกอาชีพหนึ่งที่เรียกว่าเป็น care worker หรือเป็นผู้ช่วยผู้สูงอายุในการทำกิจกรรมทางสังคมหลายๆ อย่าง ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี ตรงนี้สำคัญมากๆ และที่จริงมหาวิทยาลัยรังสิตกำลังเปิดสอนปีนี้เป็นปีแรก          3. ระบบการเงิน ค่าบริการต่างๆ ในประเทศไทย ต่อให้บอกว่าเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุ ในลักษณะสถานสงเคราะห์ อย่างบ้านบางแคก็ยังต้องมีการเสียค่าใช้จ่าย แถมยังต้องรอคิวนานเป็นปี นอกนั้นเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุที่ประชาชนต้องจ่ายเอง แต่ในต่างประเทศจะมีระบบการร่วมจ่าย (copayment) รัฐบาลกลางจ่ายส่วนหนึ่ง ท้องถิ่นจ่ายส่วนหนึ่งและประชาชนร่วมใจอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งพอได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก็ทำให้เกิดการเกิดการกระจายตัว ประชาชนเข้าถึงง่ายขึ้นและทำให้การระบบการตรวจสอบ กำกับ ติดตามและมาตรฐาน หรือ (KPI) เพื่อนำไปเบิกจ่ายกับหน่วยงานต่างๆ ได้        “สมมุติว่าประเทศไทยทำเรื่องนี้ให้เป็นสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุโดยตรง โดย สปสช. ยอมจ่าย แล้วไปจับมือกับท้องถิ่น ซึ่งจริงๆ มีกองทุนหลักประกันสุขภาพที่มีเงินอยู่เยอะมากที่ไม่เคยถูกนำมาใช้ ถ้าภาครัฐไปหยิบเงินจากตรงนี้มาแล้วไปวางกลไกการบริหารจัดการให้ดีของศูนย์จะทำให้เรามีระบบที่ดีมาก ซึ่งน่าจับตาเพราะตอนนี้พรรคการเมืองหลายๆ พรรคก็นำมาทำแคมเปญอยู่” “ระบบ 3 หมอ ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ชุมชน”           ดร.วรชาติ ย้ำว่า จริงอยู่ที่ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สปสช. มีระบบ 3 หมอ ตลอดจนสิทธิประโยชน์ เช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ มีการเยี่ยมบ้านต่างๆ นานา ซึ่งถือว่าคล้ายกับแนวโน้มของต่างประเทศที่เริ่มระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน สร้างสังคมชุมชนที่ผู้สูงอายุสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เพราะต่างก็ตระหนักดีว่า สังคมผู้สูงอายุโตเร็วมาก การสร้างสถานดูแลผู้สูงอายุมากเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ จึงเน้นที่การดูแลผู้สูงอายุที่บ้านให้มีคุณภาพ แต่จะเห็นว่าในต่างประเทศนั้นเน้นวางระบบคุณภาพมาตรฐานตั้งแต่การมีผู้ช่วยผู้สูงอายุ การปรับปรุงบ้านที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ           ในขณะที่ระบบ 3 หมอของไทย ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบที่ดี แต่จะเห็นว่าในทางปฏิบัติเหมือนเป็นเพียงการเยี่ยมบ้าน ให้กำลังใจ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้ผู้สูงอายุมีชีวิตชีวา จัดกิจกรรมดูแลสุขภาพจริงจัง หลายครั้งเป็นเหมือนการไปเยี่ยมผู้ป่วยแล้วเอากระเช้าไปมอบเท่านั้น และเน้นเรื่องการสงเคราะห์ ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพแบบฉาบฉวยไม่ได้ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างหมอคนที่ 1 คือ “อสม” ก็มีภารกิจเยอะมาก ยังไม่รวมถึงเวลา คุณภาพ ความรู้ทัศนคติ รวมถึงทักษะการจัดบริการ  ส่วนหมอคนที่ 2 คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลก็มีภารกิจมากทำให้การดูแลแบบโฮมแคร์ยากขึ้นในประเทศไทย แต่หลายที่ก็ทำของแท้ได้โดยใช้กลไกชุมชนเข้ามาช่วยก็สามารถทำได้ดีระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นการสนับสนุนจากสสส. เริ่มต้นคล้ายโมเดลผู้สูงอายุและใช้กลไกผู้สูงอายุมารวมตัวกัน แต่ตรงนี้ก็เน้นโซเชียลแคร์อย่างเดียว แต่ health care ยังไปไม่ถึง หรือทำให้ยังมีปัญหา “ขาดทั้ง 2 ฝั่ง” ฝั่งหนึ่งขาดบุคลากรมีความรู้ทางด้าน health care และ Social care ที่ทำงานร่วมกันได้ หากทำร่วมกันได้จะถือว่าเป็นระบบบริการใหม่ที่จะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยได้ ก็ต้องยอมรับว่าเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็ว ในขณะที่เรายังจนอยู่ แต่เราก็ไม่ได้แย่ จึงอยากฝากว่าจากนี้ เรื่องของการดูแลผู้สูงอายุต้องสนใจ 3 เรื่องไปพร้อมกัน คือ        1. เรื่องสุขภาพ ในต่างประเทศจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยติดตามสุขภาพผู้สูงอายุสูงวัย เช่น นาฬิกาข้อมือที่สามารถรู้อัตราการเต้นของหัวใจ บางรุ่นดีมากๆ ถึงขนาดตรวจจับเรื่องของการเคลื่อนไหวที่เสี่ยงหกล้มได้ จากนั้นวางผังเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลต้นสังกัด        2. สถานที่ บ้านต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ในต่างประเทศถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่ต้องได้รับการปรับปรุงที่พักอาศัยด้วย และ         3. เรื่องสังคม คือจะต้องมีโอกาสให้ผู้สูงอายุได้สื่อสาร หรือมีกิจกรรมกับสังคมภายนอกได้มากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขกับการที่อยู่บ้านและสามารถสร้างสังคมผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ได้  นอกจากนี้ อยากให้ทำระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ  “สภาพปัญหาและเรื่องร้องเรียน”         นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ระบุว่า ที่ผ่านมา มีผู้ร้องเรียนปัญหาของสถานดูแลผู้สูงอายุเข้ามา ทั้งเรื่องคุณภาพ มาตรฐานต่างๆ แต่มีสิ่งที่น่าสังเกตคือการร้องเรียนถึงการ “หลอกลวง” โดยบริษัทนายหน้าจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ ที่จะส่งไปดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน เช่น ส่งคนที่ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุ หรือดูแลเด็ก ส่วนใหญ่อยู่ไม่นานก็หายไป ซึ่งในเรื่องนี้ ทางมพบ.ได้ให้คำแนะนำในการขอคืนค่าบริการ ซึ่งบางรายก็ได้เงินคืนบ้าง แบบทยอยคืน บางกรณีก็ไม่ได้คืนจนต้องฟ้องร้องคดี แต่การต่อสู้คดีก็พบว่ามีปัญหาตามมา เพราะดูเหมือนว่าบริษัทเหล่านี้จะรู้ข้อกฎหมายดี ถึงได้ส่งคนมาทำงาน 3 วัน 5 วัน ทำให้กลายเป็นแค่คดีแพ่งเท่านั้น (จะเข้าข่ายเป็นเรื่องฉ้อโกงหรือคดีอาญาคือ การไม่ส่งพนักงานมาเลย)           บริษัทพวกนี้ใช้วิธีการเลี่ยงกฎหมาย อ้างว่าจดในชื่อของบริษัท แต่ก็อ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของ ซึ่งจริงๆแล้ว คนที่เซ็นนั้นก็เป็นเจ้าของส่วนหนึ่งหรืออาจจะเป็นตัวแทนที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นผู้รับมอบอำนาจ ซึ่งบางครั้งผู้บริโภคหรือประชาชนอาจจะไม่ได้ขอดูรายละเอียดหนังสือมอบอำนาจว่าถูกต้องหรือไม่ บางคนโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียไว้ดีมาก มีหน้าม้าเข้ามาแสดงความเห็นชมเชย รีวิวดีงาม ซึ่งทำให้ประชาชนหลงเชื่อ         ดังนั้น จึงขอเตือนผู้บริโภคที่ต้องการว่าจ้างคนไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ผ่านบริษัทนายหน้า ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียด โดยตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า จดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ ใครเป็นเจ้าของ มีการส่งงบดุลหรือไม่ เพราะถ้าไม่ส่ง ให้สันนิษฐานว่าเป็นบริษัทลม คิดจับเสือมือเปล่า รอมีคนว่าจ้างแล้วจึงจัดหาคนไปดูแล แล้วก็เข้าลูปเดิมคือ ไปทำงาน 3 วัน 5 วันแล้วหายตัวไป นอกจากนี้อย่าหลงเชื่อการแสดงความเห็นชมเชยทางโซเชียลฯ (รีวิว) ให้ตรวจสอบหลายๆ แหล่ง ว่ามีคนแสดงความเห็นตรงกันหรือไม่          อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ควรโยนภาระให้ประชนเป็นผู้ตรวจสอบอย่างเดียว แต่หน่วยงานรัฐควรเข้ามากำกับดูแลด้วย โดยจัดให้มีหน่วยงานกลาง กำกับดูแลบริษัทจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ดูแลเด็กตามบ้าน อย่างจริงจัง เหมือนกับที่มีหน่วยงานตรวจสอบ กำหนดมาฐานสถานดูแลผู้สูงอายุ สถานดูแลเด็ก ทั้งนี้หากพบว่ากระทำผิดต้องมีบทลงโทษจริงจัง เพราะที่ผ่านมา หลังจากมพบ.เข้าให้การช่วยเหลือประชาชน หลายหน่วยงานต่างก็โยนความรับผิดชอบไปให้อีกหน่วยงานหนึ่ง กลายเป็นว่าประชาชนไม่มีที่พึ่งต้องช่วยเหลือตนเอง          ในขณะที่สถานดูแลผู้สูงอายุและศูนย์ดูแลเด็กนั้น มีการร้องเรียนเข้ามาบ้าง เช่น สถานรับเลี้ยงตามชุมชน ตามหมู่บ้าน ในส่วนของผู้สูงอายุ ถ้ายกตัวอย่างคือสถานเลี้ยง ผู้สูงอายุบ้านบางแคและที่เปิดใหม่ที่ตรงบางปูของโรงพยาบาลรามาไปซื้อไม่ต่ำกว่าหลังละ 5 ล้านบาท เท่ากับว่าผู้ใช้บริการจะต้องไปซื้อหลังละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซ้ำยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือน แถมยังมีเงื่อนไขว่า เมื่อเสียชีวิตก็ต้องคืนสิทธิ์นั้นให้กับเจ้าของเพื่อให้ผู้บริหารจัดการนำไปปล่อยขายต่อไป ซึ่งลักษณะเช่นนี้เหมาะกับคนที่มีฐานะดีมากจริงๆ   “ข้อกำหนดมาตรฐานตามกฎหมาย”        “นพ.สุระ วิเศษศักดิ์” อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการกำหนดมาตรฐาน อธิบายว่า  หลักสูตรด้านการดูแลผู้สูงอายุของกรม สบส. มี 2 หลักสูตร 1. หลักสูตรผู้ดำเนินการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง 130 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องมีการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจพื้นฐาน  มีคุณธรรมจริยธรรมและเจตคติที่ดี ในการดำเนินงานการดูแล มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและจรรยาบรรณที่เกี่ยวข้อง มีความรู้ความเข้าใจในการบริหารดำเนินงานและการให้บริการที่เกี่ยวข้อง จากนั้นก็ต้องอบรมเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การปฐมพยาบาล การช่วยชีวิต ทั้งนี้ ผู้เรียนต้องอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 21            2. หลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง  จะเป็นการอบรมให้มีทักษะสามารถทำงานได้จริง มีความสามารถในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ประเมินภาวะวิกฤติ การช่วยชีวิต การปฐมพยาบาล การศึกษาสุขภาพองค์รวม โดยผู้เรียนต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี จบการศึกษาภาคบังคับ มีสุขภาพร่างกายและจิตใจไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เป็นต้น          ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด มีผู้ผ่านหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง 130 ชั่วโมง ทั้งหมด  663 คน อย่างไรก็ตาม ตามหลักเกณฑ์ระบุว่า สำหรับผู้ที่จบ 11 หลักสูตรไม่ต้องเข้ารับการอบรม ก็สามารถสอบเป็นผู้ดำเนินการได้ ดังนี้  หลักสูตรแพทยศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ หรือการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นสูง หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ หลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ หลักสูตรกายภาพบำบัด หลักสูตรการแพทย์แผนไทย หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หลักสูตรการแพทย์แผนจีน หลักสูตรวิทยาศาสตร์ สาขากิจกรรมบำบัด หลักสูตรวิทยาศาสตร์ สาขาจิตวิทยา และหลักสูตรเภสัชศาสตร์ โดยรวมแล้วตอนนี้มีใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการ 2,328 คน (ข้อมูล 11 พ.ค. 2566)         ส่วนหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง มีผู้ผ่านการอบรม 4,267 คน และมีผู้ที่จบ 5 หลักสูตรที่ไม่ต้องเข้ารับอารอบรม ก็สามารถขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานดูแลได้เลย คือ หลักสูตรแพทยศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตร์และการผดุงครรภ์ชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ ระดับต้น หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (การดูแลผู้สูงอายุ) และหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล  โดยสรุปมีผู้ได้รับใบรับรองเป็นให้บริการ ทั้งหมด 8,214 คน (ข้อมูล 11 พ.ค.2566)         นพ.สุระ ระบุเพิ่มเติมว่า ตามกฎกระทรวงกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แบ่งลักษณะ การให้บริการออกเป็น 3 ลักษณะ คือ (1) การให้บริการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงระหว่างวันที่มีการจัดกิจกรรมการดูแลส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยไม่มีการพักค้างคืน (2) การให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ โดยจัดให้มีที่พำนักอาศัย ซึ่งในลักษณะที่ (1) และ (2) ไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนในการให้บริการไว้         ลักษณะที่ (3) การให้บริการดูแลและประคับประคองผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงที่มีการจัดกิจกรรมการดูแล ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีการพักค้างคืน โดยในลักษณะที่ (3) ได้กำหนดให้มีสัดส่วนของผู้ให้บริการ (ผู้ดูแลผู้สูงอายุ) 1 คนต่อผู้รับบริการ (ผู้สูงอายุ) ไม่เกิน 5 คน หรือ 1 : 5  ถ้าไม่เป็นไปตามสัดส่วนนี้จะไม่สามารถขอรับใบอนุญาต ประกอบกิจการได้ ซึ่งปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการลักษณะ ที่ 3 ที่ได้รับอนุญาต 783 แห่ง         สำหรับหลักเกณฑ์มาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุ จะกำหนดไว้หลักๆ 3 ด้าน ดังนี้ 1. มาตรฐานด้านสถานที่ 2. มาตรฐานด้านความปลอดภัย 3. มาตรฐานด้านการให้บริการ โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขออนุญาตประกอบกิจการได้ที่ Website : https://esta.hss.moph.go.th/ ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 5 ปี ผู้ขออนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี และมีการต่ออายุทุก 5 ปี ทั้งนี้หากมาตรฐานไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จะมีบทลงโทษ ดังนี้         1. กรณีสถานที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนด ซึ่งมาตรา 41 การใช้ชื่อ “สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ” โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท มาตรา 42 การไม่ขออนุญาตประกอบกิจการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         2. กรณีบุคลากรไม่เป็นไปตามที่กำหนด ผู้ให้บริการที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในมาตรา 23 จะถูกลบชื่อออกจากทะเบียน โดยผู้ให้บริการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ ก. คุณสมบัติ 1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ 2) ได้รับวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพที่ได้รับการรับรองจากกรมสบส. และ ข. ลักษณะต้องห้าม 1) เป็นบุคคลวิกลจริต คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ  2) เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษ         3. กรณีหากเกิดความเสียหายหรือสูญเสียในสถานดูแลผู้สูงอายุหรือจากบุคลากรตามกฎหมายสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ไม่มีบทกำหนดโทษ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคหรือใช้สิทธิตามกฎหมายอื่น         สำหรับ กรณี “บริษัทจัดหาผู้ดูแลผู้สูงอายุ” นั้นในการการจัดส่งคนไปดูแลที่บ้านจะเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการควบคุมกำกับดูแลการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านของ ผู้รับบริการ พ.ศ. 2564 ผู้รับผิดชอบ คือ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยผู้ที่ประสงค์จะดำเนินกิจการเพื่อให้บริการต้องขอรับใบอนุญาต ประกอบกิจการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตที่ผู้ดำเนินกิจการประกอบ กิจการในเขตท้องถิ่นนั้น โดยผู้ให้บริการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้        1.มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์         2.ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ โรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษ         3.ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ         4. ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี          5. ไม่เป็นผู้เคยต้องโทษในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือทรัพย์ตามประมวล กฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด หรือความผิดตาม กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การค้าประเวณี เว้นแต่ได้พ้นโทษ มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี        6. ต้องมีความรู้หรือประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ และต้อง ผ่านการอบรมเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่กรมอนามัยรับรอง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ผู้สูงอายุกับการซื้อของออนไลน์

        ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ และเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแล้ว        ปัจจุบันกลุ่มคนสูงวัยมียอดใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์เติบโตขึ้นมาก และมีแนวโน้มสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย เพราะสะดวก รวดเร็ว มีให้เลือกหลากหลาย และลดความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมา แม้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันหาแนวทางส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ และรู้เท่าทันเทคโนโลยีมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีผู้สูงวัยหลายคนที่พบปัญหาต่างๆ จากการชอปปิงออนไลน์  ผู้สูงอายุถูกหลอกให้ซื้อสินค้าออนไลน์ (สรุปปัญหาจากกลุ่มตัวอย่าง จ.พะเยา)        เนื่องจากมีการร้องเรียนปัญหาเรื่องสินค้าและบริการในพื้นที่จังหวัดพะเยาอย่างต่อเนื่อง คุณพวงทอง ว่องไวและเครือข่ายผู้สูงอายุ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุใน 9 อำเภอ ของจ.พะเยา แบ่งเป็นช่วงอายุ 60 – 65 ปี (46.8%) ช่วงอายุ 66-70 ปี (26.8%) และช่วงอายุ 71-75 ปี (13.9%) แบ่งเป็นเพศชาย 101 คน และเพศหญิง 130 คน โดยใช้แบบสอบถามทั้งหมด 231 ชุด เพื่อศึกษาถึงปัญหาที่ผู้สูงอายุใน จ.พะเยา ถูกหลอกซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งสรุปผลสำรวจในประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้         ช่องทางการรับรู้ข้อมูลสื่อสารในการซื้อสินค้า – ทีวี เป็นสื่อที่กลุ่มผู้สูงอายุเข้าถึงมากที่สุด เนื่องจากชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะรับชมทีวีกัน ประกอบกับทุกวันนี้มีการขายสินค้าผ่านทางรายการทีวีมากขึ้น ส่วนทาง Line และ Facebook นั้น ผู้สูงอายุยุคปัจจุบันมีการใช้งานสมาร์ตโฟนกันมาก จึงทำให้เข้าถึงสื่อโฆษณาตามสื่อโซเชียลนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น         ประเภทสินค้าออนไลน์ที่ซื้อ - อาหารเสริม และ ยา เป็นสินค้าสองอันดับแรกที่ผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายส่วนใหญ่เลือกซื้อ เนื่องจากในปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นมีหลากหลายประเภท ทำให้เข้าถึงได้ง่าย ส่วนอันดับที่สามคือ อุปกรณ์ของใช้ (อุปกรณ์แต่งบ้าน อุปกรณ์การเกษตร อุปกรณ์แต่งรถ) เป็นสินค้าที่ผู้สูงอายุเพศชายเลือกซื้อมากกว่าเพศหญิง          เหตุผลที่ซื้อสินค้าออนไลน์ - สาเหตุที่ผู้สูงอายุเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่คือ เพื่อรักษาสุขภาพ และเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เห็นได้ว่าผู้สูงอายุในปัจจุบันหันมาดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพและสินค้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันเองก็หันมาจำหน่ายผ่านทางออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุบางส่วนที่ซื้อสินค้าออนไลน์เพราะอยากทดลอง อีกด้วย          ปัญหาที่พบในการซื้อสินค้าออนไลน์ – ปัญหายอดฮิตอันดับแรกคือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้รับสินค้าไม่ตรงกับโฆษณา รองลงมาจะเป็นไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งและได้รับสินค้าล่าช้า จากปัญหาดังกล่าวอาจจะทำให้การสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ของผู้สูงอายุลดลงได้         เมื่อประสบปัญหาแล้วท่านทำอย่างไร – ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะประสานร้านค้า เพื่อให้ทางร้านดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป รองลงมาคือ ไม่ได้ทำอะไร และ ทิ้งสินค้านั้นไป จึงทำให้ผู้สูงอายุเสียเงินเปล่าและเสียโอกาสไปกับการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ (อาจเป็นไปได้ว่ามีผู้สูงอายุไม่กี่คนเท่านั้นที่จะประสานหน่วยงานเพื่อดำเนินการช่วยเหลือ แสดงว่าจำนวนผู้เสียหายจริงๆ น่าจะมีมากกว่าที่เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์ฯ หลายเท่าตัว)        ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหา –ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นควรให้ควบคุมคุณภาพร้านออนไลน์และกำหนดบทลงโทษและการชดเชยเยียวยา เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์เกรงกลัวในการทำความผิด และมีการจัดทำทะเบียนร้านค้าเพื่อให้การขายออนไลน์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน         ทั้งนี้ ผู้สำรวจได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในสถานการณ์ที่มีปัญหาเรื่องร้องเรียนจากการซื้อสินค้าออนไลน์เกิดขึ้นมากมายนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างแรงจูงใจทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า ด้วยวิธีการโฆษณาขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาดที่ขายตามปกติมาก และช่องทางการติดต่อเพื่อชำระเงินไม่ยุ่งยาก ก่อนซื้อติดต่อพูดคุยสอบถามเรื่องสินค้าง่าย แต่เมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อสินค้ากลับพบปัญหาต่างๆ         ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ หรือผิดกฎหมาย ขายสินค้าที่ติดฉลากที่ผิดกฎหมาย เช่น การโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ระบุเลขสาระบบอาหาร การโฆษณาขายสินค้าที่มีข้อความหรือ โฆษณาเกินจริง หรือสินค้าไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่กล่าวอ้าง ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากได้รับความเสียหายสะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ที่แม้จะมีกฎหมายควบคุมดูแลผู้ค้าออนไลน์ จัดการผู้กระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ หรือความผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ แต่โดยสภาพบังคับใช้ยังไม่เอื้อต่อการปรามการกระทำความผิด และยังขาดการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ จึงไม่สามารถกำกับและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ           ผู้สูงอายุรู้ไม่เท่าทันกลโกงของร้านค้าออนไลน์         จากเวที “สูงวัยรู้เท่าทันโลกออนไลน์” ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดขึ้น โดยมีสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. : ETDA) และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าร่วมด้วย ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและแนะแนวทางลดความเสี่ยงให้ผู้สูงอายุไม่ถูกโกงจากการชอปปิงออนไลน์ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้         - ช่องทางที่ผู้สูงอายุถูกหลอกลวงมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก (44 %) รองลงมาคือทางไลน์ (31.25%)         - ผู้สูงอายุมักถูกดึงดูดจากการโฆษณาที่ใช้วิธีการลดราคาสินค้าลงมาก ๆ มีระยะเวลาจำกัดในการซื้อ ใช้ข้อความที่เกินจริง สร้างเรื่องราวให้เชื่อ และมีผู้สูงอายุเป็นพรีเซ็นเตอร์         - หากสินค้ามีการอ้างข้อมูลทางสถิติ จะต้องมีงานทดสอบหรืองานวิจัยจากสถาบันที่น่าเชื่อถือมารองรับ หากไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือพิสูจน์ได้ก็ไม่ควรซื้อ           - ถ้ามีการตั้งราคาจนถูกลงมาก ๆ อาจมองว่ามาหลอกขาย หรือสินค้าไม่มีคุณภาพ        - ถ้าไม่ได้บอกแหล่งที่มาว่าเอาข้อมูลมาจากไหนให้เชื่อไว้ว่าเป็นเท็จ        - การซื้อสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต เช่น อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ควรเช็กข้อมูลหรือสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ.หรือ อย.ก่อน เพื่อความปลอดภัย         - อย่าเร่งรีบซื้อสินค้า แต่ให้หาข้อมูลก่อน ทั้งข้อมูลของผู้ขาย ที่อยู่ของผู้ขาย โดยนำชื่อบัญชีผู้ขายค้นหาบนเว็บไซต์ตรวจสอบประวัติผู้ขายที่ควรระวัง เช่น เว็บไซต์แบล็กลิสต์เซลเลอร์ (blacklistseller.com) หรือค้นหาชื่อผ่านกูเกิ้ล (google)         - เลือกซื้อสินค้ากับตลาดออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ        - ไม่ควรซื้อกับผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ เพราะหากเกิดปัญหาจะตามตัวได้ยาก         - ผู้สูงอายุอย่าอายที่จะปรึกษากับลูกหลานก่อนตัดสินใจซื้อ         - ในจำนวนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ทั้งหมดที่มีผู้ร้องเรียนกับ สพธอ. พบปัญหาซื้อขายออนไลน์มากเป็นอันดับหนึ่ง สพธอ. จึงได้ร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนในการประสานงานการเฝ้าระวัง ให้ข้อมูลความรู้ผู้บริโภค รวมทั้งช่วยจัดการแก้ไขปัญหาซื้อขายออนไลน์         - กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. ร่วมมือกับชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย (OPPY) ส่งเสริมความรู้ในเรื่องการซื้อขายออนไลน์         อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุไทยยังพบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลให้ปลอดภัย เพราะข้อมูลบนออนไลน์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้มีหลายคนถูกหลอกหรือถูกโกงมากขึ้น ดังนั้น ครอบครัวควรมีส่วนช่วยผู้สูงอายุในการให้ข้อมูล ความรู้ คำปรึกษา และแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ด้วย ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ผิดปกติ         จากที่ Nikkei Asian Review นำเสนอกรณีศึกษาในประเทศญี่ปุ่นที่พบพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ผิดปกติของผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น โดยสินค้าที่ผู้สูงอายุสั่งซื้อมากผิดปกติคือ กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ (Health Foods) สาเหตุหนึ่งมาจากตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ เช่น ตัวหนังสือ หรือปุ่มแจ้งเตือนต่าง ๆ มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ยากแก่การสังเกต นอกจากนี้ อาการป่วยของผู้สูงวัยก็มีผลต่อการสั่งซื้อออนไลน์ที่ผิดปกติด้วย เช่นกรณีของคุณยายฐานะดีชาวญี่ปุ่นวัย 86 ปี ที่มีภาวะสมองเสื่อม ได้กดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ชนิดเดิม ๆ ซ้ำๆ ไปมากถึง 10 ล้านเยน ภายในเวลาเพียง 6 เดือน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองเสื่อมจากมหาวิทยาลัยเกียวโตมองว่า สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง เนื่องจากไม่มีใครคอยช่วยเตือน นั่นเอง         สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเชิงประจักษ์นี้ นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการยกระดับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น  Amazon ที่สามารถตรวจจับความผิดปกตินี้ได้แล้ว หากมีการกดซื้อสินค้าซ้ำ ๆ ติดต่อกันหลายวัน ระบบจะขึ้นแจ้งเตือนให้เห็นชัด ๆ ด้วยว่าเกิดการซื้อซ้ำที่มากเกินไป         ไม่แน่ว่า ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในประเทศไทยได้เช่นกัน       ก่อนสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         1.ธุรกรรมที่เกี่ยวกับการเงินไม่ควรใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะ (Free-WiFi) - มิจฉาชีพอาจปล่อยสัญญาณให้ใช้ โดยให้ผู้ซื้อกรอกข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อขอใช้สัญญาณ เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ดังนั้น เพื่อป้องกันโดนขโมยข้อมูลทางการเงิน จึงควรใช้ WiFi ที่มีรหัสอย่างชัดเจน หรือเชื่อมต่อผ่านระบบสัญญาณมือถือส่วนตัวดีที่สุด         2. ตั้งสติก่อนคลิกทุกครั้ง - บ่อยครั้งที่เวลาสั่งซื้อสินค้าบนเว็บไซต์มักมีป็อบอัปเด้งข้อมูลโปรโมชั่น หรือส่วนลดต่างๆ ขึ้นมา ผู้ซื้อควรอ่านให้ละเอียดก่อนคลิกทุกครั้ง เพราะอาจโดนมัลแวร์หรือโปรแกรมประสงค์ร้ายที่แฝงมาเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่คลิกเข้าไปดูได้         3. เลือกซื้อจากเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือร้านที่เชื่อถือได้ – ร้านค้าต้องไม่มีประวัติการโกง ส่งสินค้าจริง เเละขายสินค้าที่มีคุณภาพ หากไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ อย่าสั่งซื้อเป็นอันขาด        4. เปรียบเทียบราคา และอ่านรีวิวจากผู้ซื้อ – ราคาควรสมเหตุสมผลกับตัวสินค้า ระวังสินค้าถูกเกินไปอาจเสื่อมคุณภาพหรือใกล้หมดอายุ และสังเกตด้วยว่ามีรีวิวจากหน้าม้าที่มาอวยเกินจริงหรือเปล่า         5. อ่านรายละเอียดของสินค้าให้ครบ - ร้านค้าต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าให้ครบถ้วน เช่น ขนาด สี ลวดลาย จำนวนชิ้น ฯลฯ ค่อย ๆ พิจารณา อย่าพึ่งรีบกดซื้อ เพราะอาจถูกกลโกงจากภาพสินค้าเเละข้อมูลที่ไม่ตรงกันได้         6. สอบถามรายละเอียดจากผู้ขาย – ร้านค้าที่ดีควรมีช่องทางการติดต่อผู้ขายเสมอ หากไม่มั่นใจในสินค้า มีข้อสงสัย หรืออยากทราบที่มาของสินค้า ควรสอบถามรายละเอียดจากผู้ขาย รวมถึงขอดูรูปถ่ายสินค้าจริงประกอบการตัดสินใจ จะช่วยลดปัญหาสินค้าไม่ตรงปกได้อีกหนึ่งทาง การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         7. กรอกข้อมูลส่วนตัวเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องกรอกทุกช่อง - สังเกตจากเครื่องหมายว่า ส่วนใดจำเป็นต้องกรอก เช่น เครื่องหมาย *         8. อ่าน “เงื่อนไขในการให้บริการ” และ “การขอความยินยอม” หรือนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลอย่างละเอียดด้วย - จะได้รู้ว่ามีการเก็บข้อมูลเราไปเพื่ออะไร นำไปใช้ทำอะไรบ้าง เช่น เอาข้อมูลที่เรากรอกไปส่งต่อให้คนอื่นหรือไม่         9. พยายามจำรหัสผ่านให้ได้ หรือจดไว้ในที่ลับเฉพาะ - เมื่อใช้งานเว็บไซต์ หรือจะจ่ายเงิน ถ้ามีบริการช่วยจำหรือให้บันทึกรหัสผ่าน อย่าเผลอกด “ตกลง” แม้สะดวกสบายสำหรับการใช้งานครั้งถัดไป แต่อาจโดนสวมรอยได้         10. ตรวจสอบขั้นตอนวิธีการสั่งสินค้า และการส่งสินค้า – ผู้ซื้อควรรู้ขั้นตอนการสั่งและการส่งสินค้าของผู้ให้บริการ รวมถึงดูวันจัดส่ง วิธีการจัดส่ง โดยการยืนยันด้วยหมายเลขพัสดุ เพื่อติดตามและตรวจสอบสถานะการจัดส่งสินค้า        11.การชำระเงิน ถ้าเลือกได้ แนะนำให้ผู้สูงวัยเลือกจ่ายเงินแบบเก็บปลายทาง เพื่อความปลอดภัยเเละมั่นใจว่าได้ของแน่นอน แต่ต้องเช็กก่อนว่าได้สินค้าตรงปกจริงๆ จึงค่อยจ่ายเงิน หากเลือกการโอนเงินหรือตัดบัตรเครดิต ก็ต้องตรวจสอบจำนวนเงิน ชื่อและเลขบัญชีให้ถูกต้องก่อนกดยืนยันทุกครั้ง หลังการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์         12.เก็บหลักฐานซื้อขายทุกชิ้นไว้ให้ครบ –ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการชำระเงิน ชื่อและเลขบัญชีธนาคารของเว็บไซต์ หรือร้านค้าออนไลน์ รวมถึงบันทึกหน้าจอสนทนากับผู้ขายไว้ด้วย เพราะหากเกิดปัญหาตามหลังมา ผู้ซื้อจะได้มีหลักฐานไว้ยืนยันเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเอง         13.เช็กว่าร้านค้านำข้อมูลส่วนตัวของผู้ซื้อไปเผยแพร่ในช่องทางสาธารณะหรือเปล่า เพราะในกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) นอกจากห้ามร้านค้าขอข้อมูลของลูกค้าเกินความจำเป็นแล้วยังห้ามเผยแพร่สลิปที่มีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือหมายเลขพัสดุของลูกค้า ในช่องทางสาธารณะต่าง ๆ ด้วย แต่ให้แจ้งข้อมูลแก่ลูกค้าในช่องทางส่วนตัวได้ หรือในกรณีที่พนักงานขนส่งสินค้าขอถ่ายรูปใบหน้าเพื่อยืนยันการรับสินค้า ผู้รับสามารถปฏิเสธการถ่ายภาพได้ และเปลี่ยนให้ถ่ายรูปมือขณะรับสินค้าแทน         15. เมื่อผู้ซื้อได้สินค้าแล้ว ก่อนจะเปิดกล่องพัสดุ ให้ตรวจเช็กชื่อผู้ส่งและผู้รับว่าถูกต้องหรือไม่รวมถึงอัดคลิปวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุเก็บไว้ทุกครั้ง พร้อมตรวจเช็กสินค้าให้ละเอียดไปด้วย เพื่อป้องกันสิทธิ์ที่พึงมีของผู้ซื้อ และใช้เป็นหลักฐานหากได้รับสินค้าไม่ตรงปก ชำรุด หรือไม่ถูกต้องตามรายการที่สั่งซื้อ รวบรวมข้อมูลจาก...สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)เพจเฟซบุ๊กกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมช่องยูทูบ NSMThailand และ เว็บไซต์ myhellomonday.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 เวย์โปรตีนกับสตรีและคนชรา

        หลายคนเชื่อมโยง “เวย์โปรตีน” เข้ากับภาพชายหนุ่มกล้ามแขนเป็นมัดๆ หรือนักกีฬาเพาะกาย แล้วถ้าสาวๆ ที่รักการออกกำลังกายอยากมีกล้ามเล็กๆ บ้าง รับประทานเวย์โปรตีนจำเป็นไหม คำถามเดียวกันแล้วสำหรับคนสูงวัย เวย์โปรตีนช่วยได้แค่ไหน เพราะเริ่มเห็นโฆษณากันเยอะขึ้นเรื่อยๆ ให้ สว.ทั้งหลายรักษามวลกล้ามเนื้อด้วยเวย์โปรตีน         ทำความเข้าใจกันก่อน เวย์โปรตีน คือนมวัวนี่แหละ แต่แยกส่วนของไขมันออกไป (ส่วนนั้นกลายไปเป็นเนย) ส่วนเป็นน้ำแยกออกมาเรียกว่าเวย์ (Whey) ต่อมาก็ทำให้เป็นผง ซึ่งจะมีโปรตีนอยู่ประมาณ 30-80% (whey concentrate) ที่เหลือเป็นน้ำตาลแลคโต้สและไขมัน จากขั้นตอนนี้ถ้าสกัดเอาน้ำตาลและไขมันออกไปอีก เหลือเปอร์เซ็นต์โปรตีนให้มากสุดจะเรียกกันว่าเวย์โปรตีนชนิด whey isolate ซึ่งจะมีโปรตีนสูงระดับ 90% ขึ้นไป         ดังนั้นเวย์คือโปรตีนชนิดหนึ่ง รับประทานได้ไม่อันตราย แต่จำเป็นไหมเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา สารอาหารที่เรียกว่า "โปรตีน" นั้นมีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ เพราะเป็นสารอาหารที่จะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและเสริมสร้างกล้ามเนื้อและการเจริญเติบโต ทั้งยังมีส่วนช่วยรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือด เนื้อเยื่อ และเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย พร้อมกับให้พลังงานในกรณีที่ร่างกายขาดพลังงานด้วย แต่พิจารณาจากรูปแบบการบริโภคของคนไทยแล้ว แทบจะไม่ค่อยขาดสารอาหารชนิดนี้ ยิ่งปัจจุบันยิ่งนิยมรับประทานเนื้อสัตว์ ดื่มนมกันมาก การพิจารณาว่า เวย์โปรตีนจำเป็นไหม ก็อาจมองได้ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล         สำหรับบางคนเวย์ อาจตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสำหรับคนไม่มีเวลาหรือในบางสถานการณ์ที่ไม่สามารถรับประทานโปรตีนจากอาหารหลักได้ อาจจะใช้เวย์โปรตีนเพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนที่มีกรดอะมิโนครบถ้วนเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ถ้ารับประทานอาหารปกติทั่วไปที่มีแหล่งโปรตีนเองได้ เช่น ไข่ นม นมจากถั่วชนิดต่างๆ เนื้อสัตว์ ปลา เวย์ก็ไม่จำเป็น         ผู้หญิงรับประทานได้ไหม แล้วจะอ้วนไหม มีคำแนะนำว่า ต้องดูก่อนว่าคุณอยากเพิ่มน้ำหนักหรืออยากเพิ่มกล้ามเนื้อ ถ้าอยากเพิ่มน้ำหนักรับประทานเวย์ชนิด  concentrate ซึ่งมีน้ำตาลและไขมันเหลืออยู่มากจะช่วยเพิ่มน้ำหนัก แต่ถ้าอยากสวยแบบลีนและมีกล้ามเนื้อเพิ่ม whey isolate ก็เหมาะกับคุณ (อย่างไรก็ตามต้องควบคู่กับการออกกำลังกายที่ถูกวิธีด้วย)          ผู้สูงวัย  จริงๆ แล้วทุกวัยต้องการโปรตีน ดังนั้นเวย์ก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามสำหรับผู้สูงวัย แต่ด้วยหลักการเดียวกัน คือ จำเป็นหรือไม่ ถ้าผู้สูงอายุกินโปรตีนจากแหล่งอาหารอื่นๆ ได้ เวย์ก็ไม่จำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ปัญหาเนอร์สซิ่งโฮมดูแลผู้ป่วยไม่ดี

        เนอร์สซิ่งโฮม คือบริการในด้านสถานที่สำหรับการดูแลพักฟื้นและให้การช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันแก่ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยที่ต้องการพักฟื้นระยะสั้น และผู้ป่วยที่ต้องการพักฟื้นระยะยาว ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่ไม่สะดวกในการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงวัยด้วยตนเอง หรืออาจไม่มั่นใจว่าตนเองจะทำได้ดีพอ จึงเลือกใช้บริการด้านนี้ เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงวัย ด้วยว่ามีความเป็นมืออาชีพ และมีความเชี่ยวชาญมากกว่า         คุณสาละวิน ตัดสินใจพาคุณแม่ไปอยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่ง  สมมติว่าชื่อ สว. เนอร์สซิ่งโฮม เนื่องจากคุณแม่มีภาวะกระดูกหักที่สะโพกและต้องทำกายภาพบำบัด ซึ่งทางคุณสาละวินพิจารณาแล้วว่า การอยู่เนอร์สซิ่งโฮมที่มีพนักงานและอุปกรณ์พร้อมน่าจะดีกว่าอยู่ที่บ้าน ซึ่งคุณแม่ก็เข้ารับบริการอยู่ที่นี่ได้สักพักหนึ่ง         วันหนึ่งได้รับแจ้งว่าคุณแม่ของเธอถูกส่งไปรักษาฉุกเฉินที่โรงพยาบาล เพราะว่ามีอาการหายใจไม่ออกเจ็บหน้าอกและมีไข้ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าคุณแม่ของเธอต้องนอนพักดูอาการที่โรงพยาบาลก่อนยังไม่สามารถกลับบ้านได้ทันที ขณะนั้นเธอก็ไม่ได้ติดใจอะไร แต่ในช่วงเย็นวันเดียวกันขณะที่เธอเปลี่ยนผ้าอ้อมให้คุณแม่ คุณแม่ร้องบอกว่า “เจ็บ เจ็บ” เธอพลิกก้นคุณแม่ดูจึงพบว่า มีแผลกดทับที่ก้นคุณแม่ขนาดใหญ่ จึงโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของเนอร์สซิ่งโฮมว่า คุณแม่มีแผลกดทับได้อย่างไร เพราะตอนเข้าไปในเนอร์สซิ่งโฮมไม่มีบาดแผลดังกล่าวแน่นอน        ทางเจ้าของสถานบริการรีบปฏิเสธว่าคุณแม่ไม่มีแผลกดทับจากการดูแลของทางเรา ส่วนแผลที่คุณสาละวินเห็นเพิ่งเกิดที่โรงพยาบาล เพราะไม่เปลี่ยนผ้าอ้อมนานๆ และไม่พลิกตัวจึงทำให้กลายเป็นแผลกดทับ เธอจึงคาดคั้นว่าเกิดจากที่โรงพยาบาลจริงหรือ อาการแผลกดทับที่เพิ่งเป็นกับที่เป็นมานานแล้วแตกต่างกัน ทางโรงพยาบาลจะพลาดจนแม่เกิดแผลกดทับจริงหรือ เธอไม่เชื่อตามที่ทางสถานบริการแจ้งมา และเมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลหลายรอบ ในท้ายที่สุดเจ้าของเนอร์สซิ่งโฮมก็ยอมรับว่า “เกิดจากการที่ดูแลคุณแม่ของเธอไม่ดีและขอรับผิดชอบด้วยการที่จะดูแลคุณแม่ของเธอให้ดีในช่วงที่ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาล”         คุณสาละวินจึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า กรณีเช่นนี้เธอสามารถเรียกค่าชดเชยจากเนอร์สซิ่งโฮมที่ทำให้คุณแม่เจ็บป่วยได้หรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา             กรณีนี้เป็นการละเมิดทำให้ได้รับความเสียหาย ผู้ดูแลหรือทางสถานบริการจะต้องดูแลผู้สูงอายุตามหน้าที่ ตามสัญญา หากไม่ดำเนินการตามสัญญา อีกทั้งละเลยจนทำให้ได้รับความสียหายเกิดแผลกดทับ ผู้บริโภคสามารถเรียกเป็นค่าเสียหาย เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่ารักษาให้กลับมาเป็นปกติ และอื่นได้ตามสมควร         หลังจากเกิดเรื่องร้องเรียนทางเนอร์สซิ่งโฮมได้ขอยกเลิกการมาดูแลคุณแม่ของคุณสาละวินขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตามเพื่อให้มีการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คุณสาละวินได้ขอให้เนอร์สซิ่งโฮมคืนเงินที่เหลือ เพราะคุณแม่ของเธออยู่ใช้บริการในสถานบริการไม่ครบเดือนตามสัญญากับทางสถานบริการ         เรื่องนี้ได้มีการจัดการเจรจาเพื่อหาข้อยุติ โดยศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้เชิญผู้แทนทางเนอร์สซิ่งโฮมเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ทางศูนย์ฯ จึงแนะนำคุณสาละวินให้ใช้สิทธิทางศาล เนื่องจากอายุความละเมิดมีกำหนดแค่ 1 ปี ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ให้ทางคุณสาละวินได้เตรียมพร้อมในส่วนข้อมูล เช่น การประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคุณแม่ที่เกิดขึ้นทั้งหมดและในอนาคต เพื่อนำไปใช้ประกอบการเรียกค่าเสียหายในการดำเนินคดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ‘สวนบำบัด’ เพื่อเด็กพิการและผู้สูงอายุ เมื่อดอกไม้หนึ่งดอกคือสวนทั้งสวน

        ‘สวนบำบัด’ ฟังครั้งแรกเลี่ยงไม่พ้นต้องนึกถึงสวนที่มีต้นไม้ร่มรื่น มีเนื้อที่กว้างขวางพอประมาณ ชวนให้คิดต่อไปว่าชุมชนเมืองน่าจะยากเย็นที่จะนำกิจกรรมนี้มาใช้บำบัดผู้พิการหรือผู้สูงอายุ        ทว่า มันอาจไม่ได้ยากอย่างที่คิด นพ.ประพจน์ เภตรากาศ ประธานมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ บอกว่าแน่นอน ถ้ามีพื้นที่สวนย่อมเป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่มี เพียงต้นไม้กระถางเล็กๆ สักกระถาง ดอกไม้หนึ่งดอก ใบไม้หนึ่งใบ หรือแม้กระทั่งดินเหนียวสักก้อน เป็นสามารถใช้ทำกิจกรรมสวนบำบัดได้         สิ่งสำคัญคือตัวองค์ความรู้ด้านสวนบำบัดของผู้ทำกิจกรรม         และส่วนนี้เป็นงานที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการทำมานานแล้ว เพราะคงรอให้เกิดนักวิชาชีพสวนบำบัดไม่ได้ พ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงเด็กก็สามารถเป็นนักสวนบำบัดได้ ขอเพียงเติมความรู้เข้าไป         ในฐานะผู้บริโภค บริการสาธารธสุขจัดเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหาให้ นพ.ประพจน์และเครือข่ายกำลังผลักดันให้กิจกรรมสวนบำบัดเข้าไปอยู่ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552’ ของกระทรวงสาธารณสุข และหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคต ‘สวนบำบัด’ จะเป็นกิจกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คุณหมอช่วยอธิบายหน่อยว่า ‘สวนบำบัด’ คืออะไร?         สวนบำบัดคือตัวความรู้และกิจกรรมที่เราจะใช้บำบัดผู้ป่วยโดยใช้สวน อันนี้เป็นความหมายพื้นฐาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องใช้บำบัดผู้ป่วยเพียงอย่างเดียวอาจจะไปใช้ในเรื่องการพัฒนาเด็ก การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค หรือฟื้นฟูสมรรถภาพ และเพื่อนันทนาการก็ได้ อันนี้ก็มีความหมายที่กว้างขึ้น         แต่ถ้าในความหมายแคบ เริ่มแรกมันใช้ในการรักษาผู้ป่วยโดยเฉพาะในอเมริกาเขาใช้ในการรักษาทหารผ่านศึกผู้ป่วยทางด้านจิตเวชเพราะเมื่อมาทำธรรมชาติบำบัดเกี่ยวกับพืชและสวน เขาจะรู้สึกผ่อนคลายและช่วยรักษาได้ แทนที่จะใช้ยาเพียงอย่างเดียว สำหรับประเทศไทยหน่วยงานแรกที่นำมาใช้ก็คือโรงพยาบาลศรีธัญญา เมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้วก็นำผู้ป่วยจิตเวชมาทำแปลงปลูกผักเพื่อให้มีกิจกรรมทำและผ่อนคลายไม่เครียด         ในส่วนมูลนิธิเพื่อเด็กพิการสมัยที่เราทำกิจกรรมบำบัดกับเด็กที่เป็นซีพี (Cerebral Palsy: CP) หรือสมองพิการ พอเด็กๆ ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปชายทะเล พบว่าเด็กมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด มีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราจึงพัฒนาเรื่องสวนบำบัดขึ้น เพราะถ้าเราใช้สวนบำบัด เราสามารถทำได้ทุกวัน เพียงแต่เราเติมความรู้เข้าไป เพราะเด็กพิการเคลื่อนไหวยากการจะออกไปข้างนอกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราสามารถทำสวนบำบัดเล็กๆ อยู่ที่บ้าน อยู่ในชุมชน เด็กก็จะเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายกว่าและเป็นประโยชน์กับเด็กด้วย  ธรรมชาติบำบัดกับสวนบำบัดต่างกันอย่างไร?         ธรรมชาติบำบัดอาจจะเป็นร่มที่ใหญ่มากและมีความหมายกว้าง เช่น การรักษาด้วยแสง ด้วยสี ก็เป็นธรรมชาติบำบัด ดนตรีบำบัดก็ถือเป็นธรรมชาติบำบัดเหมือนกัน ดังนั้น สวนบำบัดอาจถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติบำบัด แต่ถ้าเป็นสวนบำบัดก็อาจจะเฉพาะเจาะจงว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับพืช ต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ที่อยู่ในสวนหรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของสวนที่นำมาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้ ถ้าอย่างนั้นการทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จำเป็นต้องมีสวน?         เวลาเราพูดถึงสวนเราจะเกิดความรู้สึกว่ามันมีความเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเราพูดถึงต้นไม้กระถาง มันคงไม่ใช่สวน คือถ้าเรายิ่งมีสถานที่ที่เป็นพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้เยอะๆ ตรงนี้จะมีประโยชน์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยได้มาก แต่เวลาที่เราทำกิจกรรมเรื่องสวนบำบัด บางครั้งเราก็อาจนำส่วนหนึ่งของสวนมาใช้ เช่น การปลูกผัก เพาะถั่วงอกในขวด ในกระถางเล็กๆ เราก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสวนไม่จำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในสวนทั้งหมด อาจจะเป็นแค่ไม้ประดับ ไม้ดอก ผักหรือแม้กระทั่งใบไม้หนึ่งใบ กิ่งไม้หนึ่งกิ่งก็ได้        ดังนั้น คำว่าสวนบำบัดเราคิดว่าน่าจะมีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ องค์ประกอบที่หนึ่งต้องมีต้นไม้แต่ถ้ามีลักษณะของความเป็นสวน มันจะให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างดีกว่า แต่ถ้าไม่มีก็ขอให้เป็นต้นไม้สัก 1 กระถาง 2 กระถางกล่าวคือต้องมีองค์ประกอบเป็นต้นไม้ใบหญ้า         องค์ประกอบที่ 2 จะต้องมีผู้ที่ทำกิจกรรมได้ ไม่ใช่ว่าเอาต้นไม้ตั้งแล้วก็ถือเป็นสวนบำบัด เพราะมันถือเป็นกิจกรรมในการพัฒนาและบำบัดผู้ที่มีปัญหาจึงต้องมีผู้รู้ที่จะทำกิจกรรมได้ ซึ่งอาจจะเป็นนักสวนบำบัดหรือครูหรือครอบครัวของเด็ก         องค์ประกอบสุดท้ายคือตัวความรู้ในการทำกิจกรรม เช่น ต้องประเมินเด็กได้ ประเมินความพิการหรือความบกพร่องของเด็กได้ เมื่อประเมินเสร็จก็รู้ว่ากิจกรรมสวนบำบัดจะสนองตอบความต้องการของเด็กคนนี้ได้อย่างไร และเมื่อทำกิจกรรมไปแล้วก็สามารถประเมินผลของการทำได้  การเป็นนักสวนบำบัดยากหรือเปล่า?         จริงๆ ไม่ยากครับเพราะความรู้ที่เราต้องการนำมาใช้กับเด็กพิการ เด็กทั่วไป หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป เราอยากจะให้เป็นชาวบ้านธรรมดาก็ทำกิจกรรมได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาชีพ สิ่งที่เราทำ เรามองว่าประเทศไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการทำสวนบำบัดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันอยู่ในวิถีชีวิต ยกตัวอย่างเช่นการถักปลาตะเพียนด้วยทางมะพร้าวแล้วก็ห้อยบนเปลเด็ก อันนี้เป็นสวนบำบัดอย่างหนึ่งได้เพราะมันไปกระตุ้นให้เด็กมองสิ่งที่เคลื่อนไหว มองสีเขียวๆ ของทางมะพร้าว แล้วเราอาจจะเล่นกับเด็กด้วยสิ่งนี้ งานจักสาน เช่น ตะกร้าที่สานด้วยทางมะพร้าว หวาย ไม้ไผ่ อันนี้ก็สามารถนำมาใช้เป็นกิจกรรมสวนบำบัดได้ หรือแม้แต่งานปั้นอย่างการปั้นตุ๊กตา ปั้นวัว ปั้นควาย เราก็ถือว่าเป็นส่วนบำบัดเพราะดินก็มาจากสวน ก็เป็นการบริหารกล้ามเนื้อ        เราจะเห็นว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นมีกิจกรรมเหล่านี้อยู่แล้ว แต่มันอยู่ในวิถีชีวิตปกติของคนไทยสมัยก่อน เมื่อเราเพิ่มตัวความรู้เข้าไป แล้วนำกิจกรรมเหล่านี้มาใช้กับเด็กพิการหรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านร่างกายหรือจิตใจก็ถือเป็นสวนบำบัด เราจึงมองว่าคนที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็เป็นชาวบ้านธรรมดาได้         ถึงปัจจุบัน เราอบรมพ่อแม่ประมาณเกือบ 40 ครอบครัว แล้วก็นำไปทำกิจกรรมกับลูกๆ ของตัวเอง อย่างเช่นการเพาะผักต้นอ่อนร่วมกับเด็ก เขาก็มองว่านี่เป็นสวนบำบัดเพราะรู้ว่าถ้าทำกิจกรรมนี้แล้วช่วยเด็กอย่างไร การเพาะ การปลูก การเฝ้าสังเกตจะทำให้เด็กพัฒนาทางด้านสายตา การใช้มือ พัฒนาด้านอารมณ์ เพราะเด็กจะเริ่มจดจ่อสนใจการเพาะปลูกผัก เมื่อใส่ความรู้เข้าไป พ่อแม่ พี่เลี้ยงเด็ก ครู หรือบุคลากรทางด้านสาธารณสุขก็สามารถทำได้  แต่ในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีนักวิชาชีพสวนบำบัดโดยตรง?         นักวิชาชีพสวนบำบัดในเมืองไทยยังไม่มี เราจึงมองว่าถ้าจะหวังพึ่งนักวิชาชีพอาจจะยาก เด็กและผู้สูงอายุจะเข้าไม่ถึงเราจึงต้องทำความรู้ให้ง่าย เรามีหลักสูตรพื้นฐาน 54 ชั่วโมงที่จะอบรมพ่อแม่ ครู พี่เลี้ยงให้ทำสวนบำบัดกับเด็กพิการได้ และอาจจะมีหลักสูตรต่อยอดสำหรับผู้ที่สนใจเพิ่มเติมให้เป็นครูที่จะไปสอนผู้อื่นได้ แล้วเราค่อยๆ ยกระดับความรู้ขึ้นไปทีละน้อย         ในบ้านเรา เรามองว่าการจะพึ่งตนเองได้ต้องใช้ครอบครัวของเด็กพิการ ใช้พี่เลี้ยง ครู บุคลากรที่มีอยู่ในชุมชน เราเพียงเพิ่มความรู้เรื่องเด็ก เรื่องพัฒนาการ เรื่องความพิการก็สามารถทำกิจกรรมสวนบำบัดได้เพราะมันไม่ได้ซับซ้อนมาก ไม่มีอันตรายต่อเด็ก ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ อย่างน้อยการทำกิจกรรมส่วนบำบัดก็ช่วยให้คนกลุ่มนี้เกิดความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ได้ทำกิจกรรมรวมกลุ่ม         ส่วนนักวิชาชีพ เราคิดว่าน่าจะใช้นักวิชาชีพที่มีอยู่ เช่น นักกิจกรรมบำบัด เป็นการเพิ่มความรู้เพิ่มเติมหรือคอร์สพิเศษ อีกอันหนึ่งเรามองว่าผู้ที่จบทางด้านการเกษตร ถ้ามีวิชาเพิ่มเติมให้เขาสามารถใช้เรื่องการเกษตรเพื่อการบำบัดรักษาผู้คนได้ อันนี้ก็จะเกิดประโยชน์ เป็นการเพิ่มความรู้ให้กับวิชาชีพที่มีอยู่แล้ว ผมคิดว่าถ้าทำแบบนี้ฐานเราจะกว้างและทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ เข้าถึงเพราะไม่อย่างนั้นจะติดเป็นคอขวดว่าจะต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลเท่านั้น  ในการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมต้องเรียนรู้อะไรบ้าง?         ในคอร์สอบรม ความรู้แรกคือให้รู้ว่าสวนบำบัดคืออะไร ไม่ใช่การทำสวนธรรมดา แต่เป็นการทำสวนเพื่อใช้ในด้านสุขภาพ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันการบำบัดและฟื้นฟู อันที่ 2 ต้องมีความรู้เรื่องการทำสวนกับเรื่องการบำบัดทั้งสองอย่างนี้ต้องมาผสมผสานเชื่อมโยงกันให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้เรื่องการประเมินความพิการได้ แต่ไม่ใช่การประเมินแบบแพทย์ เป็นการประเมินความพิการประเภทต่างๆ ว่าจะทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง แล้วจะเลือกกิจกรรมสวนบำบัดอะไรที่ไปช่วยเหลือฟื้นฟูความบกพร่องของผู้พิการแต่ละคน         ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญที่สุดที่หลักสูตรนี้เน้นก็คือผู้เข้าอบรมจะต้องเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติและเกิดความเปลี่ยนแปลงความรู้สึก จากที่มองต้นไม้เป็นแค่ต้นไม้ มองผักเป็นแค่ผัก หรือมองคนพิการเป็นแค่คนพิการ ไปสู่ความรู้สึกที่ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่นำธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เพราะฉะนั้นคนที่เข้ามาอบรมส่วนใหญ่จะรู้สึกจริงๆ ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงเมื่อได้สังเกตธรรมชาติ เห็นคุณค่าของธรรมชาติ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำธรรมชาติไปใช้ฟื้นฟูผู้พิการต่อไป อันนี้เป็นเป้าหมายของตัวหลักสูตร         แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้เปิดอบรมให้แก่บุคคลทั่วไป เพราะเราอยากจะเคลื่อนกิจกรรมสวนบำบัดนี้ให้เข้าไปอยู่ในศูนย์บริการผู้พิการที่มีอยู่ประมาณ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ถ้าศูนย์เหล่านี้มีบริการสวนบำบัดก็จะทำให้ผู้พิการในชุมชนสามารถรับบริการด้านนี้ได้ ในระยะแรก เราจึงเน้นอบรมให้กับครอบครัวที่มีเด็กพิการและศูนย์บริการผู้พิการเป็นหลัก  ที่บอกว่าต้องสามารถประเมินเด็กได้หมายความว่าอย่างไร?         การประเมินมี 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือการประเมินประเภทความพิการซึ่งจะได้รับการประเมินจากบุคลากรด้านวิชาชีพในโรงพยาบาลที่ต้องมีการประเมินอยู่แล้ว และเมื่อต้องการจะแก้ไขหรือพัฒนาด้านใดเมื่อเข้าไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กพิการทั่วไปหรือที่โรงพยาบาล ผู้ที่จะทำกิจกรรมสวนบำบัดก็จะประเมินความพร้อมหรือปัญหาของเด็กอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้จัดกิจกรรมสวนบำบัดที่เหมาะสมให้กับเด็กคนนี้ เช่น เด็กคนนี้ยืนได้หรือเปล่า เด็กคนนี้นั่งได้หรือไม่ ใช้มือหยิบจับได้ไหม สายตามองเห็นได้ สัมผัสได้ รับคำสั่งได้ เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ได้หรือไม่ อันนี้เป็นการประเมินเพื่อทำกิจกรรม         แล้วจึงเลือกกิจกรรมสวนบำบัดมาทำกับเด็ก เช่น เด็กคนนี้ต้องการฝึกการเคลื่อนไหว การนั่ง การยืน ก็จะหากิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ยืน ซึ่งอาจจะต้องทำสวนผักแนวตั้งเพื่อให้เกิดการยืนทำกิจกรรม แต่ถ้าเด็กนั่งได้ยืนได้ แต่มือไม่ค่อยมีแรงหรือหยิบจับไม่ค่อยดีก็อาจทำกิจกรรมศิลปะจากใบไม้เพื่อให้เกิดการหยิบจับ เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือ หรือถ้ามีปัญหาเรื่องการนับเลขก็อาจทำกิจกรรมการนับเมล็ดพืช ครูสวนบำบัดจะรู้ว่าเด็กคนนี้ต้องการอะไร ทำกิจกรรมให้ และประเมินว่าเด็กทำได้หรือไม่ได้ ทำได้ดีหรือไม่ ถ้าทำได้เพราะอะไร ทำไม่ได้เพราะอะไร แล้วกิจกรรมต่อไปที่สามารถฝึกเพิ่มขึ้นจะเป็นอะไร  เวลานี้มีการใช้กิจกรรมสวนบำบัดแพร่หลายมากแค่ไหนในประเทศไทย          ตอนนี้สวนบำบัดในเมืองไทยผมเข้าใจว่ามีการกระจายไปประมาณ 30-40 แห่ง โดยเฉพาะในศูนย์บริการผู้พิการบางแห่ง โรงพยาบาลบางแห่งก็เริ่มทำสวนบำบัด เช่นที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์หรือสถานสงเคราะห์ผู้พิการในจังหวัดนนทบุรี มูลนิธิบางแห่งก็เริ่มใช้ ที่สำคัญน่าจะมีครอบครัวมากกว่า 30 ครอบครัวที่มีการทำสวนบำบัด โดยเฉพาะที่สกลนครมีเครือข่ายของบุคคลออทิสติกก็มีการใช้สวนบำบัดกับเด็กพิการ         บางครอบครัว แม่รู้สึกว่าเวลาที่ทำสวนบำบัดให้ลูก ตัวแม่เองนั่นแหละที่เป็นผู้รับการบำบัด เพราะการดูแลผู้พิการจะมีความเครียดโดยที่ไม่รู้ตัว แต่พอมาทำสวนบำบัดแล้ว เขารู้สึกผ่อนคลาย ขณะที่ตัวลูกซึ่งเดิมก็ไม่ได้สนใจทำกิจกรรมอะไรมาก แต่เมื่อมาทำสวนบำบัดเด็กพิการส่วนใหญ่ชอบและเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อเทียบกับกิจกรรมด้านกายภาพบำบัดหรืออื่นๆ ทางมูลนิธิจึงพยายามผลักดันให้สวนบำบัดเข้าไปเป็นหนึ่งในบริการของกระทรวงสาธารณสุข ในประกาศ ‘การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ และสื่อส่งเสริมพัฒนาการสําหรับคนพิการ พ.ศ.2552?          เราอยากจะให้ทางกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้สวนบำบัดเป็นบริการที่ 27 เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและจัดบริการขึ้นในสถานบริการสาธารณสุขที่มีความพร้อม การประกาศนี้จะมีความสำคัญอยู่ 2 ระดับ ระดับที่ 1 คือกระทรวงสาธารณสุขเห็นความสำคัญว่ากิจกรรมสวนบำบัดเป็นกิจกรรมที่สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการได้ ระดับที่ 2 ตอนนี้ศูนย์บริการผู้พิการทั่วไปซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ตกลงร่วมกันและยอมรับว่า ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปถือเป็นสถานบริการสาธารณสุขประเภทหนึ่งของ สปสช. ด้วย ดังนั้น ถ้ากระทรวงสาธารณสุขยอมรับกิจกรรมสวนบำบัดก็จะเป็นร่มนโยบายใหญ่ว่า ต่อไปศูนย์บริการผู้พิการต้องจัดกิจกรรมสวนบำบัดเพราะเป็นนโยบายของกระทรวง ก็จะเกิดความร่วมมือของทั้ง 3 ส่วน         สำหรับโรงพยาบาล ถ้าจัดบริการสวนบำบัดและประชาชนเข้ามารับบริการ ถ้ากิจกรรมสวนบำบัดอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. เมื่อไหร่ก็สามารถรับบริการฟรีได้ แต่ตอนนี้ยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ การที่จะเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เช่น มีงานวิจัยในประเทศไทยหรือยังที่พูดถึงประสิทธิผลของมัน หรือถ้าจะจัดให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน มีบุคลากรที่จะให้บริการที่มีคุณภาพหรือยัง และประชาชนสามารถเข้าถึงได้แค่ไหน สิ่งเหล่านี้ต้องการศึกษาก่อนที่จะประกาศอยู่ในชุดที่ประโยชน์ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ใยอาหารกับความเสื่อมของสมอง

        เวลาพูดถึงใยอาหารเรามักคิดกันว่า มันเป็นเรื่องของความสบายเมื่อต้องเข้าห้องน้ำหลังตื่นนอน ทั้งนี้เพราะใครก็ตามที่กินผักและผลไม้ในปริมาณที่เหล่าหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งไทยและเทศแนะนำคือ ราวครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร ย่อมได้ใยอาหารซึ่งมีผลโดยตรงคือ ช่วยในการขับถ่ายอุจจาระได้สะดวก และผลโดยอ้อมคือ ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และลดโอกาสมีน้ำหนักเกิน        อย่างไรก็ดีมีงานวิจัยหลายชิ้นได้ศึกษาถึงผลของใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) ที่มีผลถึงอวัยวะสำคัญอื่นๆ คือ สมอง (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) โดยใยอาหารกลุ่มนี้มีบทบาทเป็น prebiotic คือ เป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งทำหน้าที่เป็น probiotic กินใยอาหารแล้วปล่อยกรดไขมันสายสั้นโดยประมาณคือ กรดบิวทิริคร้อยละ 15 กรดโปรปิโอนิคร้อยละ 25 และกรดอะซิติคร้อยละ 65 เป็นผลพลอยได้ (โดยปรกติแล้วในสิ่งมีชีวิตนั้น กรดเหล่านี้จะอยู่ในรูปของเกลือ) ซึ่งเซลล์ของผนังลำไส้ใหญ่ดูดซึมกรดบิวทิริคในรูปเกลือบิวทิเรตไปใช้เป็นพลังงานได้ รายละเอียดดูได้ฟรีในบทความเรื่อง Intestinal Short Chain Fatty Acids and their Link with Diet and Human Health ในวารสารออนไลน์ Frontiers in Microbiology ของเดือนกุมภาพันธ์ 2016 (โดยอาศัย google นำทาง)         กล่าวกันว่าในกรณีของบิวทิเรตนั้น เซลล์ผนังลำไส้ใหญ่ใช้สารนี้เป็นพลังงานราวร้อยละ 70 เพื่อการดำรงชีวิต ดังนั้นในคนที่กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำเซลล์ลำไส้ใหญ่อาจมีพลังงานเพื่อดำรงชีวิตของเซลล์ไม่พอ จนต้องทำการย่อยสลายตัวเอง (apoptosis) ปรากฏการลักษณะนี้จะทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลงจากสภาวะปรกติซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของคนๆ นั้นไปเป็นภาวะไม่ปรกติ        Wikipedia ให้ข้อมูลประมาณว่า งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวถึงศักยภาพของบิวทิเรตในการป้องกันและบำบัดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่และกำจัดเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในประเด็นหลังมีการให้เหตุผลว่า แม้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์ปรกติของลำไส้ใหญ่แต่กลับทำให้เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ตายตามหลักการของ Warburg effect (ซึ่งกล่าวประมาณว่า เซลล์มะเร็งนั้นดำรงอยู่ได้ด้วยพลังงานน้ำตาลกลูโคสที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานผ่านกระบวนการ glycolysis เพียงอย่างเดียว) ซึ่งทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถใช้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบิวทิเรตไปเป็นพลังงานนั้นจำต้องผ่านกระบวนการใน ไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในเซลล์เกี่ยวกับการผลิตพลังงานหลักของเซลล์ปรกติ แต่เซลล์มะเร็งนั้นไม่ใช้ไมโตคอนเดรียในการสร้างพลังงานแต่อย่างใด ซึ่งนำไปสู่การสะสมของบิวทิเรตในนิวเคลียสส่งผลให้เกิดการยับยั้งเอ็นซัม histone deacetylase ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในกระบวนการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง กระบวนการนี้ค่อนข้างซับซ้อนเกินขอบเขตของบทความนี้ แต่กล่าวได้โดยสรุปว่า บิวทิเรตน่าจะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้         ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับใยอาหาร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีคือ ได้มีงานวิจัยใหม่กล่าวว่า ใยอาหารน่าจะชะลอภาวะการอักเสบของสมองที่เพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งส่งผลให้สมองทำงานได้ยาวนานขึ้น ดังมีงานวิจัยของ Department of Animal Sciences ของ University of Illinois ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Immunology ในปี 2018 เรื่อง Butyrate and Dietary Soluble Fiber Improve Neuroinflammation Associated With Aging in Mice ซึ่งบทความนี้แสดงให้เห็นว่า บิวทิเรตซึ่งเกิดในลำไส้ใหญ่ของหนูสูงอายุที่ได้กินใยอาหารชนิดอินูลิน (inulin) ได้ลดการทำงานของไซโตไคน์ (cytokine) ที่ออกฤทธิ์เกี่ยวกับการชักนำให้เซลล์ไมโครเกลีย (microglia) ก่อการอักเสบในสมองของหนู ส่งผลให้สมองของหนูกลุ่มนี้มีสภาพดีกว่ากลุ่มหนูสูงวัยที่กินเซลลูโลสซึ่งเป็นใยอาหารที่แบคทีเรียใช้ทำอะไรไม่ได้         ไมโครเกลียเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของสมองสัตว์ทั่วไป เซลล์นี้ทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่ก่อปัญหาในสมองเช่น เซลล์ที่แก่หมดหน้าที่แล้วและเชื้อโรคต่างๆ อย่างไรก็ดีในผู้สูงอายุนั้นไมโครเกลียมีแนวโน้มในการก่ออาการสมาธิสั้นและการอักเสบเรื้อรังในสมอง ถ้ามีการทำงานมากเกินไป สมมุติฐานนี้ดูเป็นสาเหตุหลักของอาการความจำเสื่อมและการลดลงของความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวัยชรา         งานวิจัยที่ดูว่าสนับสนุนสมมุติฐานนี้คือ บทความเรื่อง Posttraining systemic administration of the histone deacetylase inhibitor sodium butyrate ameliorates aging-related memory decline in rats ในวารสาร  Behavioural Brain Research ของปี 2011 ซึ่งกล่าวในบทสรุปประมาณว่า บิวทิเรตที่เป็นผลพลอยได้จากการกินใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) ของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถปรับปรุงความจำและลดการอักเสบในสมองหนูได้         ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนแบคทีเรียที่ผลิตบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ ย่อมส่งผลถึงการป้องกันไม่ให้ไมโครเกลียทำงานเกินจำเป็นเมื่อสัตว์มีอายุมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ ผลการศึกษานี้เห็นได้ชัดเจนเฉพาะในหนูแก่ (ซึ่งเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับสมองแล้ว) ส่วนหนูวัยรุ่นหนุ่มสาวนั้นไม่ชัดเจน จึงกล่าวได้ว่าการกินอาหารที่อุดมด้วยใยอาหาร โดยเฉพาะส่วนนิ่มของใบผัก เช่น บรอกโคลี คะน้า ผักกาดขาว ฯลฯ ถั่ว ข้าวโอ๊ต แตงต่างๆ ผลไม้ตระกูลส้ม และขนมปังธัญพืชไม่ขัดสี น่าจะช่วยชะลอความแก่ของสมองของผู้สูงอายุได้ดี สำหรับส่วนแข็งของใบผักเช่น ก้าน นั้นมีประโยชน์ในด้านการอุ้มน้ำของอุจจาระจึงทำให้ถ่ายสะดวก และการจับสารพิษที่อาจก่ออันตรายแก่ลำไส้ใหญ่ออกไปจากร่างกาย ซึ่งสอดคล้องกับข่าวหนึ่งในมติชนออนไลน์ประจำวันที่ 24 มกราคม 2563 ที่กล่าวว่า สมาคมสภาผู้สูงอายุจังหวัดพะเยาในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายที่มีอายุยืนยาวกว่า 100 ปีแล้วพบว่า ผู้สูงอายุนั้นต่างก็กินอาหารแบบพื้นบ้านล้านนาที่เป็นอาหารประเภทผักที่ปลูกเองกับน้ำพริก ปลา กล้วยน้ำว้า แตงกวา และพืชใบเขียวทั่วไปที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช        ประเด็นที่ท่านผู้อ่านควรทำความเข้าใจคือ การที่ผู้ค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งมีเกลือบิวทิเรตสังเคราะห์เป็นองค์ประกอบร่วมกับสารอาหารอื่นๆ ในรูปแคปซูลได้มีการประชาสัมพันธ์ว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้นสามารถช่วยทำให้สุขภาพลำไส้ใหญ่ดีขึ้น มีประเด็นที่ผู้เขียนเสนอให้พิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อคือ สารอาหารอะไรก็ตามที่กินทางปากนั้นเมื่อผ่านลงสู่ลำไส้เล็กแล้วจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กไปสู่ตับด้วยระบบเส้นเลือดกลุ่มที่เรียกว่า hepatic portal vein ทั้งสิ้น ซึ่งในกรณีของบิวทิเรตที่ถูกนำเข้าสู่เซลล์ตับแล้วโอกาสที่จะหลุดรอดออกไปถึงเซลล์ลำไส้ใหญ่ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะตับมีระบบเอ็นซัมที่เปลี่ยนบิวทิเรตเป็นอะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอ (acetylcoenzyme A) ซึ่งจะถูกนำไปสร้างเป็นสารพลังงานสูงคือ เอทีพี (ATP) เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของเซลล์ อย่างไรก็ดีในสถานะการณ์ที่เอทีพีในเซลล์มีมากเกินพอแล้ว ตับจะเลือกใช้อะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กรดไขมันต่าง ๆ (ซึ่งมีขนาดโมเลกุลใหญ่กว่าบิวทิเรต) ตามความต้องการของร่างกาย ข้อมูลนี้ปรากฏในบทความชื่อ From the gut to the peripheral tissues: the multiple effects of butyrate ในวารสาร Nutrition Research Review ปี 2010 ดังนั้นจะเห็นว่า โอกาสที่บิวทิเรตที่กินเข้าไปทางปากจะไปถึงลำไส้ใหญ่หรือต่อไปถึงสมองนั้นดูน่าจะเป็นไปได้ยาก ต่างจากบิวทิเรตที่สร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ซึ่งเมื่อถูกดูดซึมด้วยเซลล์ของลำไส้ใหญ่ โอกาสที่ส่วนเกินจากการถูกใช้เป็นพลังงานอาจรอดไปสู่ระบบเลือด ซึ่งไปถึงสมองได้บ้างดังสมมุติฐานของงานวิจัยข้างต้นที่ว่า การกินผักผลไม้เพื่อให้ได้ใยอาหารนั้นอาจช่วยให้สมองมีสุขภาพที่ดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2562

สี่ล้อแดงเชียงใหม่ปรับตัว เริ่มใช้แอปฯ ต้นปี 2563        หลังกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาออกกฎหมายรองรับแกร็ป ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการสี่ล้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีอยู่ทั้งหมด 2,465 คัน ขณะที่สี่ล้อแดงเชียงใหม่ ก็เตรียมพร้อมปรับตัว โดยในต้นเดือน ม.ค.63 สหกรณ์นครลานนาเดินรถ เตรียมเปิดใช้แอปพลิเคชัน CM TAXI ที่ร่วมพัฒนาโดย กระทรวงพลังงานและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยแอปฯ มีการใช้งานทุกอย่างเหมือนกับ Grab มีการแสดงระยะทาง อัตราค่าโดยสาร และข้อมูลรถที่จะให้บริการ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจ ในขณะที่ผู้ใช้เฟสบุ๊คบางรายแสดงความเห็นว่า นอกจากการทำแอปฯ แล้วอยากให้ปรับปรุงเรื่องการให้บริการและการคิดราคาค่าโดยสารด้วย สสส. ชวนเลิกบุหรี่ ผ่าน อสม.        สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที “ชวน ช่วย เลิกบุหรี่” เพื่อให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวคิดและกระบวนการทำงานระหว่างภาคีเครือข่ายที่มีส่วนในการขับเคลื่อน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ปักหมุด หยุดสูบ” ร่วมสร้างสังคมปลอดบุหรี่ และสร้างการมีส่วนร่วมในการสร้างปัจจัยเอื้อต่อการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ         โดยข้อมูลจากระบบบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการปี 2560 พบว่ามีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคจากบุหรี่ถึง 553,611 ครั้ง คิดเป็นค่ารักษาพยาบาลรวม 21,389 ล้านบาท แต่ละครั้งต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาลเฉลี่ย 7 วัน โดยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในแต่ละครั้งเฉลี่ย 38,638 บาท หรือ 6,806 บาทต่อวันสสส. จึงสนับสนุนโครงการจัดความรู้และสื่อสารการขับเคลื่อนงานตามพันธกิจชวนและช่วยเลิกบุหรี่ ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัด ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน “อสม.” โดยมีโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นแกนกลางสนับสนุนให้เครือข่ายและ อสม. ทำหน้าที่ชวนและช่วยคนในชุมชนให้เลิกสูบบุหรี่ตามบริบท วิถีชีวิต สภาพสังคม และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่​ผู้สูงอายุไทยยังรู้สึกว่าดูแลตนเองได้        ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้สัมภาษณ์กลุ่มผู้สูงอายุในประเด็นการดูแลตนเองว่า “จำเป็นต้องมีคนดูแลปรนนิบัติในงานกิจวัตรประจำวันหรือไม่” โดยคำตอบจากกลุ่มผู้สูงอายุ 60 - 69 ปี ร้อยละ 94 บอกว่าสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งสัดส่วนของคำตอบนี้ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น ในกลุ่มผู้สูงอายุวัย 80 ปีขึ้นไป เหลือร้อยละ 76.2 ในผู้ชาย และร้อยละ 58.4 ในผู้หญิง         นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้สูงอายุชายร้อยละ 90.9 และผู้หญิงร้อยละ 84.6 ตอบว่าไม่ต้องการผู้ดูแล และส่วนที่ต้องการและมีผู้ดูแลมีร้อยละ 7.4 ในเพศชาย และ 13.4 ในเพศหญิง         ส่วนกลุ่มที่ต้องการ แต่ไม่มีผู้ดูแล มีร้อยละ 1.7 - 2.1 เมื่อจำแนกตามอายุและเพศ โดยกลุ่มอายุ 60 - 69 ปี ที่ไม่ต้องการผู้ดูแล มีสูงถึงร้อยละ 94.6 ในเพศชาย และ 93.4 ในเพศหญิง ซึ่งอาจอธิบายได้ว่ากลุ่มนี้ยังแข็งแรงและช่วยตัวเองได้        ส่วนคำถามที่ว่า ‘ใครเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ’ ผู้สูงอายุที่ตอบว่ามีผู้ดูแลในชีวิตประจำวันซึ่งอาจมีมากกว่าหนี่งคน คือ บุตรสาวมีสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 45.1) รองลงมาคือ คู่สมรส (ร้อยละ 28.1) บุตรชาย (ร้อยละ 18.4) และหลาน (ร้อยละ 6.2) สรุปได้ว่าเป็นผู้ดูแลในระบบครอบครัว และดูเหมือนว่าผู้ดูแลจากระบบบริการ เช่น ผู้ช่วยพยาบาล หรือ ผู้ดูแลรับจ้าง ยังไม่มีบทบาทมากนัก         อย่างไรก็ตาม แม้จะเชื่อมั่นว่าดูแลตัวเองได้ แต่จากสถิติระบุผู้สูงอายุ ‘พลัดตก-หกล้ม' ต้องเข้ารับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินเฉลี่ย 140 ครั้ง/วัน เสียชีวิตเฉลี่ย 3 คน/วัน พบรอบ 3 ปี รับบริการทางแพทย์ฉุกเฉินถึง 141,895 ราย แม้ลักษณะบ้านที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุควรเป็น ‘บ้านชั้นเดียว’ แต่ผู้สูงอายุกลับอยู่ 'บ้านหรือตึกสองชั้นขึ้นไป' มากที่สุดที่ 44% ต้องใช้บันไดขึ้นลงทุกวัน 48.8% ต้องเดินบนพื้นที่ลื่น 31.7% มีผู้สูงอายุเพียง 24.6% เท่านั้นระบุว่าอยู่บ้านที่ดัดแปลงให้เหมาะสมกับตนเอง เด็กไทยเล่นเกมส์ออนไลน์เกินวันละ 8 ชั่วโมง        สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานอื่นๆ จัดเสวนาเรื่อง “เปิดวิถีออนไลน์...เด็กไทยกับภัยใกล้ตัว” โดยได้นำผลการวิจัยเชิงสำรวจ หัวข้อ "สถานการณ์การเล่นเกมส์ออนไลน์ของเด็กไทย" ประจำปี 2562 ซึ่งสำรวจนักเรียนระดับมัธยมศึกษา, ปวช. และ ปวส. รวม 3,056 คน จากทั่วประเทศใน เดือน ก.ย. – ต.ค.62 พบว่า เด็กส่วนใหญ่ 2,730 คน หรือ ร้อยละ 89.33 เคยเล่นเกมส์ออนไลน์ โดยเล่นเกมเกือบทุกวัน ร้อยละ 64.66 เฉลี่ย 3-5 ชั่วโมง หากเป็นเด็กในพื้นที่ กทม. ร้อยละ 8.1 จะใช้เวลาเล่นเกมส์มากกว่า 8 ชั่วโมงในวันหยุด         โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้เด็กเล่นเกมส์ออนไลน์มากที่สุด คือ เพื่อนชักชวน รองลงมาคือ ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าเกมส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของเด็กไทย คือ ROV ร้อยละ 51.38 รองลงมา คือ PUBG MOBILE ร้อยละ 18.21 และ Free Fire ร้อยละ 15.53         ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายกับเกมส์ออนไลน์ พบว่าในจำนวนผู้ที่ตอบว่า เคยเสียเงินในการเล่นเกมออนไลน์ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.13 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนั้น พบว่าร้อยละ 30.9 ในจำนวนดังกล่าว ใช้จ่ายมากกว่า 500 บาทต่อเดือน         ทั้งนี้ ยังพบว่า เด็กต้องเผชิญกับการกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ในหลายรูปแบบ จนอาจนำไปสู่การทำร้ายตนเองและผู้อื่นทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ และทางสังคม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความฉลาดทางดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เท่าทันต่อกระบวนการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ เช่น สอนให้เด็กจัดการตัวตนและรับผิดชอบต่อการกระทำบนโลกออนไลน์ สอนให้ใช้เวลาออนไลน์อย่างพอเหมาะ ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การงาน และชีวิตด้านอื่น สอนให้ยืดหยุ่น เข้มแข็ง รับมือกับการกลั่นแกล้งได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร้อง ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ระงับขึ้นค่าทางด่วน        เมื่อ 20 ธ.ค.62 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน ระงับการขึ้นเงินค่าผ่านทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมือง - โทลล์เวย์) ที่เตรียมจะปรับขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค.62 ซึ่งยังเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หากยังคงปล่อยให้ขึ้นราคาค่าผ่านทาง จะส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความเสียหายต่อประชาชน และขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาจะถึงที่สุด         โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ รู้สึกผิดหวังที่กรมทางหลวงไม่ยอมทำอะไร หลังจากที่มีคำพิพากษาศาลปกครองกลางเมื่อปี 2558 ที่ให้มีการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องสัมปทาน ซึ่งความเป็นจริงแล้วขณะนี้ประชาชนควรจะได้รับสิทธิในการใช้ทางดังกล่าวโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน เนื่องจากสัญญาสัมปทานได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2557        แต่ด้วยทางบริษัทฯ ได้มีการทำตัวเลขขาดทุนที่เกินจริง ทำให้มีการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 20 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2577 และยังมอบอำนาจให้เอกชนสามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตหน่วยงานใด ตนจึงฝากถึงนายกรัฐมนตรีให้รีบลงมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งกรมทางหลวงควรรักษาผลประโยชน์ของประชาชนที่ใช้ทางให้มากกว่านี้ อีกทั้งเพื่อรักษาสิทธิและคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนด้วย        อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ศาลมีคำสั่งไม่รับคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ความเดือดร้อนเสียหายดังกล่าว มิใช่เป็นความเดือดร้อนเสียหายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ หรือยากแก่การเยียวยาแก่ไข เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดิน สายวิภาวดีรังสิต และพหลโยธิน อยู่ใต้ทางยกระดับ ที่สามารถใช้จร ไปมาได้ ผู้ฟ้องคดี จึงมีโอกาสเลือกที่จะใช้เส้นทางอื่น ที่ไม่ต้องชำระค่าบริการผ่านทางตามที่กล่าวแทนทางด่วนยกระดับอุตราภิมุข ช่วงดินแดง-ดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ทั้งขาออกและขาเข้าที่ต้องชำระค่าผ่านทางดังกล่าวได้ อีกทั้งยังมีการเปิดให้บริการขนส่งมวลชน ในเส้นทางใกล้เคียง และที่จะเปิดให้บริการในเส้นทางเดียวกัน เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่สามารถใช้บริการเป็นทางเลือกในการให้บริการได้         ดังนั้น คำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านงส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว ก่อนพิพากษาจนกว่าคดีจะถึงที่สุดนั้น จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอ ตามมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติจัดตังศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง. พ.ศ. 2542 จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลกำหนดมาตราการ หรือวิธีการคุ้มครองบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 กลไกความช่วยเหลือทางการเงิน สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย : กรณีศึกษาของระบบประกันสังคมเยอรมัน

        ประเทศเยอรมนีได้จัดว่าเป็นต้นแบบของระบบรัฐสวัสดิการ เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน ทุกคนมีสิทธิ และหน้าที่จากการทำงานมีรายได้ จะต้องสมัครเข้าร่วมในกองทุนประกันสังคม ซึ่งผู้มีรายได้รายเดือน จะถูกหักเข้ากองทุน ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงานจนถึงวันเกษียณอายุการทำงาน แบบอัตโนมัติทันที เงินที่ถูกหักจากรายได้ของคนทำงานรายเดือน ประกอบด้วย        · เงินประกันการตกงาน (Arbeitsloenversicherung: ALV)        · เงินบำนาญ (Deutsche Rentenversicherung: DRV)        · เงินประกันสุขภาพ (ภาคบังคับ Gesetzliche Krankkenverischerung: GKV)        · ประกันอุบัติเหตุ (ภาคบังคับ Gesetzliche Unfallversicherung: GUV)        · ประกันการดูแลคนไร้สมรรถภาพ เมื่อไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในยามพิการ หรือชราภาพ (Pflegeversicherung: PV)         เสาหลักของระบบรัฐสวัสดิการ ของกองทุนดังกล่าวได้ถูกบัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายประกันสังคม 5 ชุดในแต่ละประเด็นดังนี้ คือ        · ระบบการช่วยเหลือผู้ตกงาน บรรจุอยู่ใน the 3rd  book of social code  (SGB III)        · ระบบประกันสุขภาพ บรรจุอยู่ใน the 5th book of social code  (SGB V)        · ระบบเงินบำนาญ บรรจุอยู่ the 6th  book of social code  (SGB VI)        · การประกันอุบัติเหตุ อยู่ใน the 7th  book of social code  (SGB VII) และ        · การประกันการดูแลคนไร้สมรรถภาพใน the 11th book of social code  (SGB XI)         ถึงแม้ว่าจะมีกลไกการประกันสังคม ในเรื่องเงินบำนาญหลังเกษียณให้กับประชาชนทุกคนแต่ก็พบว่า ประชาชนวัยชราหลังจากเกษียณแล้ว ได้รับเงินบำนาญในอัตราที่ต่ำกว่าค่าครองชีพอยู่มาก และไม่ได้มีสมบัติเก่าจากมรดกในการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น ดังนั้นรัฐบาลจึงมีกลไกการช่วยเหลือ อีกทางหนึ่ง คือ ระบบการประกันคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ (basic life security: Grundsicherung)         สำหรับความช่วยเหลือของรัฐบาลในกรณีนี้ ก่อนที่จะอนุมัติความช่วยเหลือ ผู้ที่มีสิทธิในการยื่นคำขอจะถูกตรวจสอบ รายได้ และทรัพย์สินอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้มั่นใจว่า เงินช่วยเหลือนี้ ได้ส่งไปถึงผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือจริงๆ จากสถิติของ สำนักงานสถิติแห่งประเทศเยอรมนี ในปี 2018 มีผู้ได้รับสิทธิในการให้ความช่วยเหลือถึง 550,000 คน         กลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถสะสมเงินประกันสังคมได้เพียงพอ สำหรับชีวิตหลังเกษียณ (ซึ่งสะท้อนรายได้ของประชาชน กลุ่มประชากรที่มีรายได้สูง ก็มักจะได้เงินบำนาญที่เพียงพอในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย ก็มักจะได้รับเงินไม่เพียงพอ) สาเหตุที่ทำให้ ประชาชนมีรายได้น้อย คือ การเจ็บป่วย การตกงานเป็นระยะเวลานานๆ         ขอยกตัวอย่างคนทำงานที่มีรายได้เฉลี่ย 1,621 ยูโร ส่งเงินประกันสังคม นาน 45 ปี หลังเกษียณจะได้รับเงินบำนาญ เพียงครึ่งเดียว คือเดือนละ 743 ยูโร ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่า ค่าครองชีพตามมาตรฐานขั้นต่ำในการดำรงชีวิตของเงินประกันคุณภาพชีวิต (basic life security) ที่ปัจจุบันอยู่ที่เดือนละ 800 ยูโร         และเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย เป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตและจำนวนเงินที่เหลือใช้แต่ละเดือนหลังจากหักค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย รัฐบาลจึงกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยในการกำหนดเงินช่วยเหลือ        สำหรับพื้นที่อาศัยของประชาชนที่สามารถได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลประเภทนี้ ได้กำหนด ไว้ว่า        ห้องสำหรับ ผู้อยู่อาศัย 1 คน ขนาด 45- 50 ตารางเมตร         ห้องสำหรับ 2 คน ขนาดไม่เกิน 60 ตารางเมตร         ห้องสำหรับ 3 คน ขนาด ไม่เกิน 75 ตารางเมตร         ห้องสำหรับ 4 คน ขนาดไม่เกิน 90 ตารางเมตร         แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดสิทธิประโยชน์ และจำนวนเงินที่จะได้รับแต่ละเดือน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าพนักงานประกันสังคม ดังนั้นหากมีกรณีพิพาท ประชาชนสามารถใช้สิทธิในการต่อสู้คดีในศาลประกันสังคมได้ (Sozialgericht: Social Court)        กลไกดังกล่าว จะสามารถทุเลาสภาพยากจนตอนชราภาพได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าจะนำกลไกดังกล่าวมาใช้ในสังคมไทย คงต้องพิจารณ ถึงบริบทครอบครัวไทยตลอดจนสังคมเมือง สังคมชนบท และชุมชนแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะที่พิเศษ แตกต่างกันด้วย          (แหล่งข้อมูล วารสาร Test 3/2017 และ ปรับปรุงข้อมูล ฉบับ 11/2019)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ริมฝั่งน้ำ : “คนไกลฝั่ง” กับ “ไม้ใกล้ฝั่ง”…เรารักกันนะ...จุ๊บจุ๊บ

           นั่งเรียบเรียงต้นฉบับครั้งนี้ ผู้เขียนเลือกวันดีๆ และสถานที่ดีๆ มาทอดอารมณ์เขียนงานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อรับลมเย็นสบายๆ อันที่จริงแล้ว “ริมฝั่งน้ำ” แบบนี้ ถือเป็นแหล่งรวมของผู้ใช้ชีวิตหลายเพศ หลายรุ่น หลายวัย และหลายหลากสถานะทางสังคม และยังเป็นอาณาบริเวณอันน่าสนใจที่จะให้ผู้คนหลากหลายได้มาเห็นกันและกัน เพื่อเรียนรู้วิถีปฏิบัติและความเป็นไปในชีวิตทางสังคมที่แตกต่างจากตัวเรา            เฉกเช่นเดียวกับละครโทรทัศน์เรื่อง “ริมฝั่งน้ำ” ที่ทำให้เราได้หันมาทบทวนหวนคิดกับชีวิตของคนที่หลากหลายเพศ วัย และสถานะทางสังคม ไม่ต่างจาก “ริมฝั่งน้ำ” ที่เราสัมผัสกันอยู่ในโลกความจริงเลย            และเพราะตอนนี้โรดแม็พของสังคมไทยกำลังเลี้ยวโค้งเข้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” กันอย่างแท้จริง ภาพของผู้คนที่ฉายอยู่ในโลกสัญลักษณ์ของละคร “ริมฝั่งน้ำ” ก็ต้องจำลองชีวิตของบรรดาปู่ย่าตายายทั้งหลาย กับมุมมองที่ผู้คนหลากหลายเจนเนอเรชั่นมีต่อผู้สูงวัยเหล่านี้            ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างรุ่นวัยดังกล่าว เวียนวนอยู่ในปริมณฑลแห่ง “บ้านร่มไม้ชายคา” บ้านพักคนชราที่เป็นมรดกตกทอดจากบิดามารดา มาอยู่ในมือของ “พิมพ์วีนัส” นางเอกของเรื่อง            เริ่มแรกเมื่อได้รับมรดกมา พิมพ์วีนัสก็ตั้งแง่รังเกียจบ้านพักคนชราแห่งนี้ ด้วยเพราะในอดีตพ่อแม่ของเธอต้องเสียชีวิต เนื่องจากอาสาช่วยคนแก่จมน้ำจนตัวเองต้องตายไป ยิ่งผนวกกับภาพลักษณ์และความหมายของบ้านพักคนชราในฐานะที่เป็นแหล่งรวมของบรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ซึ่งมีแต่จะร่วงโรยจากน้ำที่กัดเซาะตลิ่งจนผุพังไปตามกาลเวลา จึงเป็นสิ่งที่นางเอกคนสวยมิอาจรับได้ เพราะนั่นหาใช่ความฝันของคนรุ่นใหม่ที่ยืนอยู่ “ไกลฝั่ง” อย่างเธอคาดหวังจะถือครองได้เลย            ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นของเรื่อง พิมพ์วีนัสจึงปฏิบัติการ “ตามล่าฝัน” ด้วยการหนีไปเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ตามแบบอุดมคติที่คนรุ่นใหม่ยุคนี้ฝันอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพอะไรสักอย่างหนึ่งในชีวิต แต่เมื่อต้องมานั่งตบยุงเพราะไม่มีลูกค้าเข้ามานั่งในร้านกาแฟเลย พิมพ์วีนัสก็ได้คำตอบว่า ความฝันกับชีวิตจริงของ “คนไกลฝั่ง” ที่ประสบการณ์อ่อนต่อโลกนั้น ยังอีก “ไกลแสนไกลกว่าจะถึงฝั่งฝัน”            จนเมื่อ “คุณยายพิกุล” ได้มาเตือนสติพิมพ์วีนัสผู้เป็นหลานสาวว่า “พ่อแม่หนูสร้างสร้างบ้านร่มไม้ฯ มาด้วยความรัก แต่หนูอย่าไปทำลายมันด้วยความเกลียดเลยนะ” นั่นจึงเป็นเหตุปัจจัยให้นางเอกของเราลองเปิดใจหันกลับมาดูแลกิจการบ้านพักคนชรา และค่อยๆ เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิต “ไม้ใกล้ฝั่ง” ที่ครั้งหนึ่งเธอมองข้าม หรือไม่อยากแม้แต่จะผาดตามอง            ณ บ้านร่มไม้ชายคาแห่งนี้เอง มีหลายชีวิตที่มาอยู่อาศัยรวมกัน ไม่ว่าจะเป็น “คุณตาชาญชัย” เจ้าของกิจการโรงแรมที่ไม่มีความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต เพราะลูกหลานแย่งชิงสมบัติกัน “คุณตาโตมร” อดีตอธิบดีที่วางอำนาจใส่ทุกคนในบ้าน เพื่อกลบเกลื่อนอาการเจ็บป่วยของตน “คุณยายนิ่มนวล” แม่ค้าขนมเปี๊ยะที่ลูกหลานไม่ดูแลเพราะเป็นอัลไซเมอร์ “คุณยายม้วน” ที่ช่างพูดช่างสมาคม รวมไปถึง “เชาว์” “อี๊ด” “กรรณิการ์” “ดวงใจ” “เฟรดริก” และคุณตาคุณยายหลายคนที่ร่วมกันขับเคลื่อนความเป็นไปในบ้านพักคนชราหลังนี้            จนกระทั่ง วันหนึ่ง “พฤกษ์” ผู้เป็นพระเอกของเรื่อง ได้ตัดสินใจพา “บุษกร” มารดาของตนเข้ามาพำนักร่วมกับเพื่อนผู้สูงวัยในบ้านร่มไม้ชายคา แม้บุษกรจะเคยเป็นคนที่ชอบเสียงเพลงและรักการเต้นรำ แต่ภายหลังจาก “เดชา” บิดาของพฤกษ์ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต มารดาของเขาก็กลายเป็นโรคซึมเศร้านับจากนั้นมา            แม้อาจารย์มหาวิทยาลัยหนุ่มอย่างพฤกษ์จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และร่ำเรียนความรู้เชิงทฤษฎีมาสอนด้านบริหารธุรกิจให้กับลูกศิษย์ลูกหามากมาย แต่กับการบริหารสถาบันครอบครัวจริงๆ ที่อยู่นอกห้องเรียน เขากลับล้มเหลวกับมรสุมชีวิตต่างๆ แบบไม่เป็นท่า ทั้งจากการเลือกปิดบังความลับเรื่องพ่อตายไม่ให้มารดารู้ และจากการตีกรอบชีวิตตัวเองเนื่องจากผิดหวังกับความรักมาก่อน            การผูกโยงให้ตัวละครเอกได้มาพบรักกัน และยังได้เรียนรู้ชีวิตจากผู้สูงวัยที่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ซึ่งแน่นอนว่า ครั้งหนึ่งก็เคยมีประสบการณ์ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมายิ่งกว่าเธอและเขาเสียอีก ในที่สุดทั้งพิมพ์วีนัสและพฤกษ์ก็ค่อยๆ ปรับโลกทัศน์ของตนต่อคนสูงอายุเสียใหม่ เหมือนกับหลายๆ ฉากที่ผู้ชมจะได้เห็นภาพคนรุ่นใหม่ที่ “ไกลฝั่ง” เหล่านี้ เดินเข้าไปมองสายน้ำอยู่ริมตลิ่งที่ “ใกล้ฝั่ง” นั่นเอง            ด้านหนึ่ง ด้วยสุขภาพร่างกายที่ป่วยกระเสาะกระแสะบ้าง ขี้หลงขี้ลืมบ้าง ขี้บ่นขี้โวยวายบ้าง แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมของผู้สูงวัยที่เดินทางมาอยู่บั้นปลายชีวิต เฉกเช่นที่คุณตาชาญชัยได้พูดกับพิมพ์วีนัสว่า “นาฬิกาของฉันมันเดินถอยหลัง มันต่างจากนาฬิกาของหนู ซึ่งเดินไปข้างหน้า”            แต่อีกด้านหนึ่ง ประสบการณ์ที่มี “นาฬิกาชีวิต” หมุนผ่านมาหลายรอบนี้เอง ทำให้คนสูงวัยต่างมีภูมิความรู้และรู้เท่าทันโลก ในแบบที่อหังการของคนรุ่นใหม่ผู้อ่อนหัดไม่อาจทัดเทียมได้จริง เหมือนกับที่ “อานัส” หลานชายเพลย์บอยของคุณตาชาญชัยต้องเคยพ่ายแพ้เกมเล่นเปตองให้กับคุณตาโตมร ก็เป็นเพราะว่า เกมบางเกมไม่ใช่การใช้เรื่องแรงกาย แต่เป็นเรื่องของสมองและประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตต่างหาก            แม้ “เกิดแก่เจ็บตาย” จะเป็นธรรมดาของโลก แต่ในห้วงปลายทางของชีวิต ผู้สูงอายุในบ้านร่มไม้ชายคาก็ยังต้องเผชิญปัญหารุมเร้ามากมาย บางคนถูกทรมานทั้งกายวาจาใจจากคนรุ่นใหม่ ถูกปอกลอกโกงเงิน ถูกทอดทิ้ง รวมไปถึงถูกทำให้รู้สึกเหงา เหมือนกับที่คุณตาชาญชัยเคยเปรยกับพฤกษ์ว่า “ความเหงาคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตคนแก่”             แต่อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า สิ่งที่จะทำให้บรรดา “ไม้ใกล้ฝั่ง” ต้องเจ็บปวดมากที่สุดก็คือ การเฝ้ามองดูความเสื่อมถอยของบุตรหลานตน เหมือนเมื่อครั้งที่คุณตาชาญชัยต้องเสียน้ำตาให้กับลูกๆ หลานๆ เพราะหลานคนหนึ่งติดยาเสพติด อีกคนหนึ่งหนีคดีขับรถชนคนตาย ในขณะที่ลูกๆ ที่เหลือก็เอาแต่จะแย่งชิงมรดกมาเป็นของตน คุณตาถึงกับตัดพ้อว่า “คนแก่จะอายุยืนถ้าได้อยู่เห็นความกลมเกลียว ความรักกันของลูกหลาน มากกว่าที่จะได้ยินเสียงแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นระหว่างคนสายเลือดเดียวกัน”             หากบ้านร่มไม้ชายคาเป็นภาพจำลองให้เห็นสังคมไทยที่กำลังเดินหน้าสู่ “สังคมแห่งผู้สูงอายุ” ก็คงถึงเวลาแล้วกระมังที่ “คนไกลฝั่ง” จะได้จัดวางจังหวะชีวิตของตนให้หันมามองประสบการณ์และความเป็นไปของ “ไม้ใกล้ฝั่ง” กันบ้าง เมื่อยิ่งเรียนรู้และยิ่งผูกพันกัน บางทีความสัมพันธ์ที่เข้าอกเข้าใจกันของคนต่างวัยก็อาจเป็นดุจดังที่พิมพ์วีนัสได้เคยพูดบ้านร่มไม้ชายคาว่า “เราเคยเกลียดที่นี่ ไม่อยากจะเดินเข้ามาที่นี่ แต่วันนี้พอไม่มีคุณตาคุณยายแล้ว ทำไมเรากลับใจหายก็ไม่รู้”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 กระแสในประเทศ

ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2561แนะใช้แอป  EMS 1669 ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉิน         สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อตอบโจทย์การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินกับประชาชน ภายใต้ชื่อแอปพลิเคชัน EMS 1669 ซึ่งประชาชนสามารถเรียกรถพยาบาลได้ทันที สามารถระบุพิกัดตำแหน่งที่อยู่ของผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างแม่นยำ ทำให้ทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เพียงแค่กดปุ่มสีแดงในแอป เรียกรถพยาบาล นอกจากนี้ยังสามารถแนบไฟล์ภาพเหตุการณ์เพื่อแจ้งสถานการณ์เพิ่มเติม และมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอีกด้วยปี 2574 ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า ไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 โดยอาศัยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าปี 2564 ไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด ในปี 2574 ซึ่งมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนเท่ากับหรือมากกว่า 14% ประชากรทั้งหมด                ปัจจุบันไทยมีประชากรสูงอายุประมาณ 11 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่ม ติดสังคม 79.5 % ติดบ้าน 19 % และติดเตียง 1.5 % โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ลำพังมากถึง 10 % กรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุแนวทางผลักดันและส่งเสริมให้ สังคมสูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยเร่งขับเคลื่อน 10 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ 2. การทำงานและการสร้างรายได้ 3. ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 4. ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ  5. ธนาคารเวลา(สังคมไม่ทอดทิ้งกัน) โดยที่ผู้สูงอายุในชุมชนต้องได้รับการดูแล  6. การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่ 7. กำหนดให้สังคมสูงอายุเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ  8. การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำงานด้าน ผู้สูงอายุ 9. ปฏิรูประบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนงาน โดยมีฐานข้อมูลรายบุคคลของผู้สูงอายุ และ 10. พลิกโฉมนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุงดเหล้าเข้าพรรษา ลดเสี่ยงตับอักเสบกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า คนไทยเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบโดยไม่รู้ตัว เพราะระยะแรกมักไม่มีอาการ จนละเลยการรักษา แต่เซลล์ตับจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนเกิดตับแข็ง หรืออาจเป็นมะเร็งตับในที่สุด โดยตับอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ยา สารเคมี สารพิษต่างๆ ซึ่งเเอลกอฮอล์ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบได้ โดยการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจทำให้เกิดอาการพิษต่อตับได้ทั้งระยะเฉียบพลัน และเรื้อรัง ทั้งนี้ นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ การหยุดดื่มทันทีอาจทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน และในบางคนอาจได้ยินเสียงแว่ว ประสาทหลอน สับสน และชักได้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่ติดเหล้าเป็นเวลานาน อาจจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการ เสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย แซงหน้าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตและหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคปอด กระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่รายงานว่าในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วย โรคมะเร็งประมาณ 77,566 คน เป็นเพศชาย 44,490 คน เป็นเพศหญิง 33,076 คน ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุ การตายอันดับหนึ่งของคนไทยแล้ว ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย โดยโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ชายไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลําไส้ใหญ่ ส่วนผู้หญิงไทยโรคมะเร็ง 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านมโฆษณาว่า ไขมันทรานส์ 0 % ระวังเข้าข่ายโอ้อวดเกินจริงน.ส.สุภัทรา บุญเสริม ผอ.สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าว ความจริงไขมันทรานส์ ว่า หลังจาก อย.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ทำให้เกิดไขมันทรานส์ขึ้น โดยมีผลวันที่ 9 ม.ค. 2562 นั้น ไม่อยากให้ประชาชนเกิดความตระหนก ยืนยันว่าน้ำมันที่ใช้ตามบ้าน ทั้งน้ำมันปาล์ม และน้ำมันพืช ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ "ที่น่ากังวล คือ ขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้โฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์ปลอดไขมันทรานส์ หรือไขมันทรานส์ 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน จึงขอให้ใช้ข้อความว่า ปราศจาก/ไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ และแสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในกรอบโภชนาการแบบเต็มร่วมกับการแสดงส่วนประกอบอื่นๆ เท่านั้น โดยให้แสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์เดียวกับไขมันอิ่มตัว และเพื่อให้เป็นธรรม อย.จะมีการตรวจสอบว่าข้อความดังกล่าวเป็นจริง โดยการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ซึ่งต้องไม่เจอจริงๆ ถึงจะไม่เป็นการโอ้อวด ในกรณีฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 2 หมื่นบาท" น.ส.สุภัทรา กล่าวผู้บริโภคยังร้องเรียน วินมอเตอร์ไซค์ขับขี่หวาดเสียว – เก็บค่าโดยสารเกินราคามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาคเผยข้อมูลเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่ต้นปี 60 - ก.ค.61 พบผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะทั้งสิ้น 729 ราย โดยพบตั้งแต่ ถูกเรียกเก็บค่าโดยสารเกินอัตรา หรือแพงเกินกว่าที่ระบุบนป้ายแสดงค่าบริการ, ขับขี่เร็ว หวาดเสียว เกิดอุบัติเหตุ และใช้วาจาไม่สุภาพกับผู้โดยสาร โดยพบปัญหาการใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่รู้สิทธิตนเองโดยจากการประสานงานไปยังสำนักงานเขต และกรมการขนส่งเพื่อตรวจสอบข้อมูล ยังพบปัญหาว่าผู้ร้องเรียนไม่ได้จดจำเลขทะเบียน หรือเบอร์เสื้อวินรับจ้าง ทำให้ปัญหาเกิดความล่าช้า ดังนั้นหากผู้บริโภคพบวินรับจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ให้จดจำวัน-เวลา และสถานที่เกิดเหตุ, ชื่อ-สกุล หรือเลขเสื้อวิน, เลขทะเบียน และร้องเรียนไปยัง กรมการขนส่งทางบก ผ่านสายด่วน 1584 หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-3737

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ประกันชีวิต (เพื่อผู้สูงอายุ) ศึกษาให้เข้าใจ ไม่ตกเป็นเหยื่อ

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่เป็นข่าวโด่งดังทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และบนสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับปัญหาจากการซื้อ “ประกันผู้สูงอายุ” เนื่องจากมีผู้ทำประกันหลายรายถูกปฏิเสธจากบริษัทประกันในการจ่ายทุนเอาประกันหรือค่าสินไหมทดแทน โดยบริษัทแจ้งว่าผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรงที่เจ็บป่วยเรื้อรังมาก่อนสมัครทำประกัน โดยจุดเริ่มต้นของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของความไม่ตรงไปตรงมาและการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะคำโฆษณาในทำนองที่ว่า “สมัครได้ทันที ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ เบี้ยประกันแค่วันละไม่กี่บาท” ทำให้ผู้เอาประกันตัดสินใจซื้อประกันทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาข้อมูลเงื่อนไขในกรมธรรม์ให้เข้าใจเพียงพอ ปัญหาที่เกิดขี้นทำให้บรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่ สมาคมประกันชีวิตไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องทำงานร่วมกันเพื่อหามาตรการในการจัดการปัญหา ควบคุมไม่ให้สัญญาประกันผู้สูงอายุเป็นไปในลักษณะเอาเปรียบผู้ทำประกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เกิดประกาศหลายฉบับที่ออกมาจัดการควบคุมประกันเพื่อผู้สูงอายุ ลองไปดูกันดีกว่าว่า จากนี้ไปหากจะทำประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุจะต้องศึกษาข้อมูลตรงไหนบ้างเงื่อนไขที่ควรรู้ก่อนทำประกันผู้สูงอายุสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลควบคุมธุรกิจประกันภัย ได้ออกมาทำหน้าที่จัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อประกันถูกเอาเปรียบจากบริษัทประกัน โดยได้ออกข้อกำหนดที่จะมาควบคุมรูปแบบการทำประกันเพื่อผู้สูงอายุให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งประกาศดังกล่าวมีชื่อว่า คำสั่งเรื่อง “ให้แก้ไขเพิ่มเติมแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุของบริษัทประกันชีวิตและเอกสารประกอบ” ซึ่งประกาศฉบับนี้จะกำหนดรายละเอียดสำคัญที่ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุต้องมีเอาไว้ดังนี้1.เติมคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อแบบประกันต้องมีการเพิ่มคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อแบบและข้อความในกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ใบคำขอเอาประกันชีวิต และเอกสารสรุปสาระสำคัญโดยย่อที่ใช้สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งการกำหนดให้เพิ่มเติมคำว่า (เพื่อผู้สูงอายุ) ต่อท้ายชื่อของแบบประกัน ก็เพื่อให้ทั้งผู้ซื้อประกันและบริษัทฯ เข้าใจร่วมกันว่า ประกันฉบับนี้คือประกันเพื่อผู้สูงอายุ ข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์และความคุ้มครองจะต้องเป็นไปตามประกาศที่ทาง คปภ. กำหนด ทางบริษัทประกันไม่มีสิทธิใช้ข้ออ้างอื่นใดในการปฏิเสธหรือไม่ทำตามข้อกำหนดที่มีอยู่ในประกาศ2.อายุผู้ที่สามารถทำประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุได้ต้องมากกว่า 50 ปีขึ้นไปอายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถเอาประกันภัยเพื่อผู้สูงอายุอยู่ที่ 50 ปีขึ้นไป จนถึง 70 หรือ 75 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัท โดยจะได้รับเงินทุนเอาประกันเมื่อผู้ทำประกันเสียชีวิต หรืออยู่ครบอายุสัญญาที่อายุ 90 ปี3. ไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพในใบคำขอเอาประกันชีวิตส่วนนี้คือจุดเด่นที่สุดของประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ เพราะเปิดโอกาสที่ผู้สูงอายุทุกคนสามารถทำประกันชีวิตเพื่อมีเงินไว้ใช้เมื่ออายุมากขึ้น หรือมีเงินก้อนไว้ให้ลูกหลานในวันที่จากไป ซึ่งการบังคับให้มีการกำหนดเรื่องการไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องแถลงสุขภาพในใบคำขอเอาประกันชีวิต ทำให้บริษัทประกันไม่สามารถเอาเรื่องการป่วยด้วยโรคเรื้อรังร้ายแรงก่อนทำประกันมาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการจากเงินเอาประกันได้อีก4.ผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนครบ 2 ปี จะต้องได้เบี้ยประกันคืน พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 2หากผู้เอาประกันเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 2 ปี นับแต่วันทำสัญญา บริษัทฯ จะคืนเบี้ยประกันที่ได้รับมาแล้วพร้อมเงินเพิ่มในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ผู้รับประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ ร้อยละ 2 – 5 ตามแต่ละบริษัทฯ 5.ยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 15 วันต้องมีการระบุในสัญญาว่า ผู้เอาประกันภัยสามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ ภายใน 15 หรือ 30 วันแล้วแต่กรณี นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ประกันชีวิตประกันผู้สูงอายุ ให้ผลประโยชน์แบบไหนจุดเด่นของ ประกันชีวิตผู้สูงอายุ ก็คือการเป็นทางเลือกให้กับผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถสมัครทำประกันแบบปกติทั่วไปได้ เพราะประกันชีวิตผู้สูงอายุ มาพร้อมเงื่อนไขที่ว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพและก็ไม่ต้องแจ้งเรื่องสุขภาพลงในสัญญา ทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องการมีเงินไว้ให้กับลูกหลานหรืออาจจะเก็บไว้ใช้เองยามแก่เฒ่า สามารถเลือกทำประกันเพื่อผู้สูงอายุได้แต่ทั้งนี้บริษัทประกันก็ได้มีการออกแบบมาไว้แล้ว โดยใน 2 ปีแรก หากผู้ทำประกันเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรง ก็ได้รับเพียงเงินจากเบี้ยประกันที่จ่ายมา บวกเงินเพิ่มที่ทางบริษัทประกันจะจ่ายให้อีกร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันที่จ่ายมาแล้ว ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก เช่น ถ้าในช่วง 2 ปีก่อนเสียชีวิต ผู้ทำประกันจ่ายเบี้ยมาแล้วเป็นเงิน 4,000 บาท ก็จะได้เงินเพิ่มอีก ร้อยละ 2 ของเบี้ยประกันคือ 4,000 บาท หรือเท่ากับ 80 บาท รวมแล้วผู้รับผลประโยชน์ก็ได้เงินจำนวน 4,080 บาท ในกรณีที่เสียชีวิตจากโรคในช่วง 2 ปีแรกของการทำประกันส่วนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วง 2 ปีแรกของการทำประกัน จะได้รับผลประโยชน์เต็มจำนวนของเงินทุนเอาประกัน เช่นเดียวกับเมื่อทำประกันเข้าสู่ปีที่ 3 ก็จะได้รับเงินทุนเอาประกันเต็มวงเงินไม่ว่าเสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วยจากโรคหรืออุบัติเหตุกรณีที่อยู่จนครบสัญญาประกันซึ่งส่วนใหญ่กำหนดไว้ที่อายุ 90 ปี ผู้เอาประกันก็จะได้รับเงินทุนเอาประกันเต็มวงเงินเช่นกันประกันชีวิตสูงวัย ไม่คุ้มครองเรื่องรักษาพยาบาลประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุ จะเน้นที่การคุ้มครองในลักษณะประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว ตามชื่อแบบประกัน คือจะให้ผลประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตหรืออยู่จนครบอายุสัญญาเท่านั้น ไม่ได้ให้ความคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาล หรือการจ่ายเงินปันผล แต่บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งก็มีการขายสิทธิประโยชน์เหล่านี้เพิ่มเติมกับประกันชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งแน่นอนว่าในเงื่อนไขสัญญาของสิทธิอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็จะมีความแตกต่างไปจากเงื่อนไขสัญญาของประกันชีวิตเพื่อผู้สูงอายุทั่วไปรู้ให้ทันโฆษณาประกันชีวิตประเด็นหลักที่ทำให้ก่อนหน้านี้ “ประกันชีวิตเพื่อผู้สุงอายุ” ถูกมองว่าเป็นสัญญาที่เอาเปรียบผู้บริโภค ก็คือเรื่องของการโฆษณา ที่จงใจบอกเพียงแต่ผลประโยชน์สูงสุดที่จะได่รับ แต่กลับปกปิดเงื่อนไขสำคัญอย่างเกณฑ์ในการขอรับเงินคุ้มครอง แม้จะบอกว่าสมัครได้โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ แต่ก็กลับพบปัญหาเรื่องการปฏิเสธการจ่ายเงินทุนเอาประกันคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.จึงต้องออกประกาศเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเป็นประกาศที่จะควบคุมเรื่องการโฆษณาขายประกันโดยเฉพาะ ซึ่งกำหนดที่บริษัทประกันต้องปฏิบัติในการโฆษณาขายประกันทุกประเภทมีดังนี้1.ข้อความที่โฆษณาต้องไม่เป็นเท็จหรือเกินความจริง2.ข้อความที่โฆษณาต้องไม่กำกวม มีความชัดเจน เข้าใจง่าย 3.ข้อความที่โฆษณาจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยหรือการจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย4.ไม่ประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับ หรือไม่ประมาณการผลประกอบการธุรกิจผู้เสนอขาย เว้นแต่ กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการจ่ายปันผล, กรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน และกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์ โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวต้องระบุแหล่งที่มาของสมมุติฐานที่ใช้อ้างอิง5.ในการโฆษณาที่ระบุว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ” จะต้องมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าต้องแถลงเกี่ยวกับสุขภาพในใบคำขอเอาประกันภัยด้วยหรือไม่ หากมีการแถลงเกี่ยวกับสุขภาพ ต้องระบุเพิ่มด้วยว่าการแถลงสุขภาพเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณารับประกันภัย หรือพิจารณาจ่ายเงินตามสัญญาประกันภัย6.ในกรณีที่มีการอ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอื่นใด ต้องระบุแหล่งที่มาให้ชัดเจน ต้องไม่ตัดทอนข้อมูลดังกล่าว จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และต้องมีข้อมูลดังกล่าว พร้อมให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้7.กรณีโฆษณาผ่านสื่อโฆษณาที่ใช้ข้อความ หรือภาพ ตัวอักษรของคำเตือนและคำอธิบายรายละเอียดต้องมีความคมชัด และอ่านได้ชัดเจน8.กรณีโฆษณาผ่านสื่อโฆษณาที่มีเฉพาะการใช้เสียง ต้องจัดให้มีการอ่านออกเสียง คำเตือน และคำอธิบายรายละเอียดที่สามารถฟังเข้าใจได้9.ให้มีการระบุคำเตือน โดยใช้ข้อความว่า “ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจในรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไขก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง” หรือข้อความอื่นใดที่มีความหมายทำนองเดียวกัน10.ต้องระบุให้ชัดเจนว่าในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสื่อโฆษณาว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขายเป็นกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทใดที่มา : ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางสือโฆษณาตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต พ.ศ. 2556

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 หนูไม่รู้ เขาให้หนูมา

เรื่องเล่าเฝ้าระวังฉบับที่แล้ว นำเสนอกระบวนการหลอกขายสินค้าให้กับผู้สูงอายุไปแล้ว แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจว่าผู้บริโภคกลุ่มวัยอื่นๆ จะไม่ถูกหลอกลวง เพราะขึ้นชื่อว่าการค้าแล้ว มันสามารถโน้มน้าวหลอกลวงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่มอย่างแน่นอน กระทั่งวัยอย่างผม (วัยไหนคงต้องเดากันเองนะครับ) ผมพบกับน้องคนนี้ในวันหนึ่ง เธอโผล่มาที่สำนักงานของผมในชุดนักศึกษา ภายใต้ใบหน้าอ่อนเยาว์แม้จะแต่งหน้าเข้มไปหน่อย แต่ก็พอเดาได้ว่าอายุเธอคงประมาณใกล้ๆ ยี่สิบ เธอยื่นจดหมายแนะนำตัวจากบริษัทให้ผม ข้อความในจดหมายระบุว่า “ขออนุญาตฝึกงานสาธิตนวดเพื่อสุขภาพ” พร้อมรายละเอียดแจ้งว่า “ทางบริษัทได้จัดส่งนักศึกษาที่กำลังฝึกงานอยู่ที่บริษัทให้ออกฝึกงานนอกสถานที่ และขออนุญาตให้นักศึกษาได้พูดและสาธิตการนวดเพื่อสุขภาพ ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที โดยบริษัทจะเตรียมอุปกรณ์มาเองทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักศึกษาได้ทดสอบการพูดและฝึกการสาธิตอุปกรณ์เพื่อหาประสบการณ์จริง” (โถ..เพื่อการศึกษา น่าสนับสนุน) เมื่อผมถามข้อมูลเพิ่มเติม เธออธิบายว่า บริษัทที่เธอฝึกงานให้เธอมาพูดอธิบายเครื่องมือนวดเพื่อสุขภาพ ซึ่งเธอจะได้แต้มในการพูดเป็นเงินจำนวนประมาณสามสิบบาทต่อครั้ง วันหนึ่งจะต้องพูดให้ได้สามสิบราย และต้องพยายามให้คนฟังยินยอมให้เธอสาธิตอุปกรณ์นวดเพื่อสุขภาพ อย่างน้อยสิบราย ซึ่งเธอจะได้ค่าเหนื่อยในการสาธิตอุปกรณ์อีกรายละหนึ่งร้อยบาท ถ้าทำได้ครบถ้วนดังกล่าวจึงจะถือว่าการฝึกงานผ่าน ส่วนอุปกรณ์ที่สาธิตนี้ ผู้ฟังจะซื้อไปใช้หรือไม่ก็ไม่เป็นไร แต่เธอไม่ยอมโชว์อุปกรณ์ให้ผมเห็น แต่ที่แน่ๆ ผม คำนวณรายได้พบว่าหากเธอทำได้ครบถ้วน นอกจากเธอจะได้ฝึกงานแล้ว เธอยังจะได้ค่าตอบแทนอีกหนึ่งพันเก้าร้อยบาท (โถ...มากไม่ใช่เล่น) ผมถามเธอไปว่า การที่เธอจะเอาอุปกรณ์มาใช้ เธอรู้หรือเปล่าว่าอุปกรณ์นี้เป็นเครื่องมืออะไร และมีกฎหมายควบคุมดูแลหรือไม่ ปรากฏว่าเธอตอบว่าไม่ทราบ เอกสารหลักฐานอะไรที่ต้องมีตามกฎหมาย เธอไม่รู้ทั้งสิ้น เธอทราบแค่ว่า บริษัทสั่งให้มาฝึกงาน (โถ...ไร้เดียงสานะหนู) ผมจึงต้องอธิบายเพิ่มเติมไปว่า อุปกรณ์นวดเพื่อสุขภาพน่าจะเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมาย ซึ่งมีกฎหมายเครื่องมือแพทย์ควบคุมดูแลอยู่ หากนำเข้ามาในประเทศก็ต้องไปติดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อขออนุญาตเสียก่อน และหากจะทำการโฆษณาก็ต้องขออนุญาตด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ใครจะเอามาใช้ หรือโฆษณาได้อย่างตามใจชอบ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เธอทำหน้าละห้อย พยายามคะยั้นคะยอเพื่อให้ผมใจอ่อนยอมให้เธอได้ทำตามที่บริษัทสั่งมา แต่ผมยังยืนกรานไม่ยอม และแนะนำให้เธอกลับไปดูเอกสารหลักฐานมาจากบริษัทก่อน ทั้งนี้เพื่อตัวของเธอเองจะได้ไม่ถูกใครหลอกให้กระทำผิด สุดท้ายเธอจึงยอมจากไป (โถ...อย่าหาว่าผมใจร้ายนะหนู) เมื่อเธอกลับไปแล้ว ผมลองสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ก็ไม่พบชื่อบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใด ผมเลยไม่รู้ว่า เธอถูกเขาหลอกให้มาขายของ หรือผมถูกเธอหลอกว่าเธอถูกหลอกให้มาขายของกันแน่ (โถ...น่าสงสารทั้งหนูและผม) ยังไงก็ระวังการหลอกขายสินค้าในรูปแบบแปลกๆ นี้ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 สูงวัย ไม่โอเค...สักนิด

ผลจากที่องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภค  ร่วมกันส่งเสียงถึงความไม่เป็นธรรมในหลายเรื่อง  ทำให้ช่วงนี้มีข่าวที่น่าพอใจของผู้บริโภคปรากฏในสื่อต่างๆ หลายเรื่อง  เช่น  คำตัดสินของศาลปกครองกลาง    “กรณีมูลนิธิผู้บริโภคและเครือข่ายชนะคดีที่ฟ้องการขึ้นค่าทางด่วนโทลล์เวย์  ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค”  และ  “การระงับโฆษณาประกันสุขภาพผู้สูงอายุที่โฆษณา ไม่ตรงกับสัญญากรมธรรม์”   ต้องยอมรับว่านี่คือความก้าวหน้าของประเด็นผู้บริโภค  แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้  จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าผู้บริโภคไม่ร่วมมือลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง  เพราะยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยด้านสุขภาพเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ   ต้นเดือน กันยายน 2558  คุณอี๊ด(นามสมมุติ)มาหารือว่า  ได้ทำประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ คุ้มครองสุขภาพด้วย  ส่งเงินปีละประมาณ 2 หมื่นบาท ต่อเนื่องมา 2 ปี  พอเข้าปีที่ 3 มีปัญหาปวดไหล่มาก  หมอตรวจแล้วบอกว่า ต้องผ่าเพื่อรักษา  เขาจึงไปปรึกษากับตัวแทน ที่ขายประกันภัยให้เขา  ตัวแทนแนะนำให้ไปผ่าที่กรุงเทพฯ เลย”เรามีประกัน” เมื่อตัวแทนแนะนำเขาก็เข้าไปผ่าที่ รพ.ใน กทม. นอนพักฟื้นอยู่ 5 วันมีค่าใช้จ่าย  1 แสนบาทเศษ  พอประสานงานกับตัวแทนประกันฯ เพื่อใช้สิทธิ ตัวแทนไม่พูดอะไรเมื่อฟังว่าค่ารักษาเท่าไหร่  เงียบไปเลย  โทรไปก็ไม่คุยด้วย  สรุปจ่ายเงินเองไปก่อน   พอกลับมาสมุทรสงครามได้ไปประสานกับบริษัทประกันเพื่อเคลียร์ค่าใช้จ่าย   ปรากฏว่า บริษัทปฏิเสธการจ่ายสินไหมทดแทน  ด้วยเหตุผล ผู้เอาประกันมีประวัติเกี่ยวกับแขนข้างที่ผ่าตัดที่ “เคยตกต้นไม้ มาก่อน” แต่ไม่แจ้งต่อผู้ขายประกัน  คุณอี๊ดบอกต่ออีกว่า  จริงๆ บอกตัวแทน(ขนาดโฆษณาบอกว่าไม่ถามเรื่องสุขภาพนะ อันนี้บอกเองเลย) แล้วตัวแทนบอกไม่เป็นไร ทำได้ เขาก็จ่ายเงินซื้อประกันมาอย่างต่อเนื่อง   สุดท้ายยังตกลงกันไม่ได้  ต้องดำเนินการขั้นตอนต่อไปบทเรียนเรื่องนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริโภค  ให้ความสำคัญกับคำบอกเล่าของตัวแทนขายประกันมากกว่า  “การอ่านกรมธรรม์” เพราะถ้าอ่านเขาจะทราบ “วงเงินในการรักษา”แต่ละครั้งในกรมธรรม์กำหนดไว้เท่าไร  เพราะถ้ามีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่กำหนดในกรมธรรม์  ส่วนต่างนั้นผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเอง   รวมถึงข้อยกเว้นต่างๆ ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์  เพื่อให้ทราบว่าเขาคุ้มครองอะไรเราบ้าง  และการคุ้มครองนั้นคุ้มค่าเงินที่เราต้องจ่ายไปหรือไม่    การอ่านกรมธรรม์ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง  อ่านแล้วพบว่า ไม่โอเค ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิขอยกเลิกกรมธรรม์ได้    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 อยากเห็นจิตสำนึกดารากับการโฆษณาหลอกลวง

 จากข่าวครึกโครมเรื่องคุณค่าทางอาหารของรังนก ที่เราๆ ท่านๆ เชื่อกันมาตลอดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ให้กลับมามีพลังกระชุ่มกระชวยได้เร็วขึ้น ทำให้รังนกเป็นสินค้าที่มีคุณค่าและราคาแพง ที่ผู้คนส่วนใหญ่มักซื้อให้กับคนที่เรารักหรือเป็นของเยี่ยมผู้ป่วย  แต่ผู้เขียนมารู้สึกตกใจมากเมื่อได้ทราบข้อมูลจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปรียบคุณค่าโปรตีนของรังนกกับถั่วลิสง ที่น่าตกใจคือเรากินรังนก 1 ขวด 100 กว่าบาท  เราจะได้รับโปรตีนเท่ากับเรากินถั่ว 2 เมล็ด และที่น่าตกใจไปกว่าคือ ไข่ไก่ 1 ฟอง 4-5 บาท มีคุณค่าอาหารเท่ากับเราต้องกินรังนก 24 ขวด 3 พันกว่าบาท(พุทโธธัมโมสังโฆ)นี่ยังไม่รวมที่มีการโฆษณารังนก 100% แต่จริงๆ 1 ขวดมีรังนกเพียง 1 % เศษเท่านั้น   สังคมไทยของเราเป็นอะไรกันทำไมถึงปล่อยให้มีเรื่องหลอกลวงได้ยาวนานถึงเพียงนี้  ทั้งที่เรื่องนี้มีหน่วยงานเฉพาะดูแลอยู่ และที่น่าเจ็บใจไปกว่านั้นคือพอเปิดทีวีดูก็จะเห็นดาราที่เป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาสรรพคุณอันเลอเลิศของรังนกอยู่เลย แค่นั้นยังไม่พอยังเอาความรักระหว่างแม่-ลูกมาโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าอีก  คือหากรักแม่ต้องให้แม่กินรังนก  ตอนยังไม่รู้ข้อมูลก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พอรู้ข้อมูลแล้วจึงมีความรู้สึกด้านอื่นเข้ามา  คือ พรีเซ็นเตอร์ที่โฆษณาสินค้านั้นๆส่วนใหญ่เป็นดาราและนักร้อง ซึ่งได้รับความรักและศรัทธาจากประชาชน แต่เพียงเพื่อรายได้ของตนเองที่ได้รับจากรับจ้างโฆษณา มองแค่รายได้สูงสุด ไม่มองถึงคุณภาพของสินค้า  ก็เท่ากับเอาความรักความศรัทธาที่ประชาชนมีให้มาใช้เป็นเครื่องมือหากิน  โดยไม่คำนึงถึงว่าการโฆษณานั้นหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ ดังนั้นพวกเราในฐานะผู้บริโภคควรช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องจิตสำนึกของเหล่าดารานักร้อง   ให้คำนึงว่าคุณกำลังร่วมมือกับผู้ประกอบการหลอกลวงประชาชนที่เขารักและสนับสนุนพวกคุณอยู่หรือไม่  อย่าเห็นแค่เพียงรายได้ของพวกคุณฝ่ายเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 กระแสต่างแดน

เครื่องดื่มบำรุงคลัง สภาล่างของฝรั่งเศสผ่านกฎหมายรับรองการเก็บภาษี “เครื่องดื่มบำรุงกำลัง” ด้วยเหตุผลว่าผลิตภัณฑ์ที่มีคาเฟอีนสูงอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็กและเยาวชน เพราะมันส่งต่อการเต้นของหัวใจและความดันเลือด ถ้ากฎหมายนี้ผ่านการรับรองของวุฒิสภา รัฐบาลฝรั่งเศสจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 60 ล้านยูโร(ประมาณ 2,647 ล้านบาท) จากการเก็บภาษีในอัตรา 1 ยูโร(44 บาท) ต่อเครื่องดื่มบำรุงกำลัง 1 ลิตร ฝรั่งเศสซึ่งเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงมาได้สองปีแล้ว เพิ่งจะมีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังได้เพียง 5 ปีเท่านั้น แต่ด้วยการเป็นสปอนเซอร์ให้กับกิจกรรมกีฬาต่างๆ และการทำตลาดทางโซเชียลมีเดีย เครื่องดื่มดังกล่าวก็เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่น ทั้งในผับ คอนเสิร์ต และสถานที่ออกกำลังกายต่างๆ   ข่าวบอกว่ามีชาวฝรั่งเศสที่เป็นลูกค้าเครื่องดื่มชนิดนี้อยู่ประมาณ 9 ล้านคน และ 1 ใน 4 ของคนกลุ่มนี้อายุระหว่าง 14 – 25 ปี ก่อนหน้านี้องค์การอาหารและยาฝรั่งเศสได้ออกคำแนะนำให้เด็กและวัยรุ่นหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มเรดบูล มอนสเตอร์ เบิร์น และ ร็อคสตาร์ และเตือนว่าไม่ควรดื่มพร้อมกับแอลกอฮอล์ หรือดื่มหลังการออกกำลังกาย ถ่ายมากลืมหมด งานวิจัยเขาพบว่าการถ่ายภาพเก็บทุกรายละเอียดในช่วงเวลาดีๆ อย่างวันเกิด วันรับปริญญา วันแต่งงาน ฯลฯ มันจะทำให้เราจดจำเรื่องราวในวันนั้นได้น้อยลง ดร. ลินดา เฮนเคล จากมหาวิทยาลัยแฟร์ฟิลด์ ที่ทำการวิจัยครั้งนี้บอกว่า การที่เราวุ่นวายกดชัตเตอร์อยู่นั้น เราจะประสบการณ์ร่วมกับเหตุการณ์ตรงหน้าน้อยลง และนั่นทำให้เราจำรายละเอียดของช่วงเวลาพิเศษนั้นไม่ได้ดีเท่าที่ควร ข้อสรุปนี้เขาได้จากการทดลองพานักศึกษากลุ่มหนึ่งเดินชมภาพที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งพร้อมฟังการบรรยาย เขาบอกให้นักศึกษาจดจำรายละเอียดของภาพต่างๆ ให้ได้ ใครอยากจะถ่ายรูปเก็บไว้ด้วยก็ไม่ว่ากัน เช้าวันต่อมามีการทดสอบความจำ ปรากฏว่านักศึกษาที่ดูภาพอย่างเดียว กลับจำรายละเอียดของภาพได้ดีกว่าคนที่ใช้กล้องบันทึกภาพไว้ แล้วสิ่งที่อยู่ในภาพถ่าย มีผลต่อความจำของเราหรือไม่? ดร. เฮนเคลบอกว่า มันขึ้นอยู่กับว่าตอนถ่ายรูปนั้นคุณตั้งใจสำรวจวัตถุและพื้นหลังในขณะนั้นจริงๆ หรือไม่ เพราะงานสำรวจอีกชิ้นของเธอพบว่า การ “ถ่ายเจาะ” ไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นจะทำให้เราจดจำมันได้ดีขึ้น ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เราถ่ายเจาะมาเท่านั้น แต่เราจะจำได้ว่าเรากันอะไรออกไปนอกเฟรมด้วย   ภาระผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุชาวจีนคงจะไม่สามารถเปิดกรุเงินเก็บมาใช้เที่ยวต่างประเทศ หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ใช้เงินมากได้ เพราะยังคงมีภาระต้อง “เลี้ยง” ลูก ลี ชวน ในวัย 57 ยังต้องช่วยลูกชายจ่ายค่าผ่อนบ้าน ทั้งๆ ที่ลูกชายของเขาก็มีรายได้ประมาณ 30,000 – 45,000 บาทต่อเดือนแล้วเชียว(ลืมบอกไปว่าลูกชายเขาเพิ่งจะแต่งงาน และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงค่าน้ำค่าไฟ และอื่นๆ เพราะอยู่ในเมืองที่ ค่าบ้านแพงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนถึง 28 เท่า) ผู้สูงวัยเหล่านี้อยากให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดี จึงยินดีให้เงินช่วยเหลือ ถ้าไม่มีเงินก็จะใช้วิธีเปิดบ้านให้ลูกและครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่เป็นการประหยัดรายจ่าย การสำรวจโดยบริษัทประกัน HSBC Life Insurance ระบุว่าร้อยละ 76 ของชาวจีน จะยังต้องให้เงินสนับสนุนลูกหลานเมื่อตัวเองเข้าสู่วัยเกษียน งานสำรวจครั้งในทำกับกลุ่มตัวอย่างขนาด 16,000 คน ใน 15 ประเทศ มีคนจีนเข้าร่วมการสำรวจ 1,000 คน งานสำรวจนี้พบว่า ร้อยละ 40 ของคนจีนวัยเกษียนยังคงต้องอุปการะลูก ร้อยละ 28 ยังต้องเลี้ยงพ่อแม่ และร้อยละ 9 ยังต้องรับผิดชอบเลี้ยงหลาน เฮ้อ! รวมๆ แล้วเงินเก็บเพื่อความสุขส่วนตัวของผู้สูงอายุเหลือน้อยลง แถมยังต้องทำงานหาเงินหลังวัยเกษียนอีกด้วย   แผนปรองดอง หลังจากพยายามหาทางออกกันมากว่า 20 ปี ในที่สุดอิสราเอล จอร์แดน ปาเลสไตน์ ก็ตกลงกันได้ ... เรากำลังพูดถึงข้อตกลงเรื่องโครงการนำน้ำจากทะเลแดงมาใช้ ข่าวบอกว่าโครงการที่ไปเซ็นสัญญาที่ธนาคารโลก สาขาใหญ่ในกรุงวอชิงตันนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 240 ล้านเหรียญ(7,700 ล้านบาท) ตามแผนแล้วเขาจะสร้างโรงบำบัดน้ำที่เมืองอคาบา ในจอร์แดน เพื่อเปลี่ยนน้ำเค็มจากทะเลแดงให้เป็นน้ำจืดเพื่อรองรับชุมชนทางตอนใต้ของอิสราเอลและจอร์แดน สองประเทศนี้จะได้น้ำไปใช้กันคนละ 8,000 – 13,000 ล้านลูกบาศก์แกลลอนต่อปี ส่วนน้ำเกลือที่เป็น “น้ำเสีย” จากการผลิตจะถูกส่งผ่านท่อในจอร์แดนขึ้นเหนือไปประมาณ 100 ไมล์ เพื่อปล่อยลงในทะเลสาบเดดซี นั่นหมายความว่าต้องมีการจับตาดูการบริหารจัดการน้ำเค็มนี้ให้ดี ไม่อย่างนั้นทะเลสาบเดดซีจะกลายเป็นทะเลสาบมรณะไปจริงๆ นอกจากนี้อิสราเอลจะต้องส่งน้ำจืด 13,000 พันล้านแกลลอน จากทะเลกาลิลีทางตอนเหนือของประเทศ ให้กับอัมมานเมืองหลวงของจอร์แดน และปาเลสไตน์ก็คาดหวังว่าจะสามารถซื้อน้ำได้อีก 8,000 ล้านลูกบาศก์แกลลอนจากอิสราเอลในราคาพิเศษด้วย ที่มาของข้อตกลงนี้คือการพยายามแก้ปัญหาหลักๆ สองประการคือ 1) การขาดแคลนน้ำจืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจอร์แดน และ 2) การลดลงของระดับน้ำในทะเลสาบเดดซีปีละกว่า 3 ฟุต เพราะน้ำส่วนใหญ่ในแม่น้ำจอร์แดน ถูกเบี่ยงเส้นทางออกไปยังชุมชนและไร่นาในอิสราเอล จอร์แดน และซีเรีย จึงทำให้แทบไม่มีน้ำไหลเขามาในทะเลสาบ แถมยังมีอุตสาหกรรมโปแตช สองฝั่งทะเลสาบอีกด้วย   ศึกคุ้มครองผู้บริโภค ที่เมียนมาร์ไม่ได้มีแค่ศึกซีเกมส์ เขายังมีแมทช์องค์การอาหารและยา ปะทะ สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ลุ้นกัน ด้าน อย. นั้นเตรียมจะฟ้องสมาคมฯ โทษฐานแอบอ้างอำนาจของกระทรวงสาธารณสุขในการออกตรวจแผงขายอาหาร ส่วนสมาคมฯ ก็ขู่จะฟ้อง อย. ที่พยายามลดความน่าเชื่อถือของสมาคมฯ ซึ่งเพิ่งจะได้รับการก่อตั้งเมื่อปีที่แล้วให้มาช่วย อย.ทำงานด้านอาหารปลอดภัยและอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สองหน่วยงานนี้ไฝ่ว์กัน ล่าสุดเมื่อมีสายมารายงานว่ามีการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตกะปิจากปลา เพื่อช่วยย่นระยะเวลาการหมัก(ซึ่งปกติจะนานถึง 12 เดือน) จึงมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาทดสอบ ผลปรากฏว่าห้องแล็บของอย. พบยูเรียในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำนวน 3 ตัวอย่าง แต่อย. ไม่ยอมเปิดเผยปริมาณที่พบ เพียงแต่แถลงข่าวว่าพบในปริมาณปกติทั่วไป ส่วนสมาคมฯ นั้นตีพิมพ์ผลทดสอบทั้งหมด ให้รู้กันไป จึงสร้างความหงุดหงิดใจให้กับ อย.และบรรดาผู้ประกอบการ ที่อ้างว่ายอดขายกะปิปลาของเขาลดลงทั้งๆ ที่เขาได้รับการรับรองความปลอดภัยจาก อย.แล้ว หมัดเด็ดอยู่ตรงที่ สมาคมฯ ประกาศว่าจะเปิดห้องปฏิบัติการของตัวเองเพื่อทดสอบอาหาร เพราะรู้สึกไม่เชื่อในผลการทดสอบจากอย. แล้ว   //

อ่านเพิ่มเติม >