ฉบับที่ 227 ตลกร้ายรับปีใหม่ ของขวัญแด่คนกรุงเทพ

        รถเมล์สามพันคันประกันหมด        ถอนหายใจสามเฮือก ขสมก.คิดทำอะไรอยู่ รู้ทั้งรู้ว่าประกันภัยจะหมดสิ้นปี แต่ยังปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น อ้างยังไม่สามารถจัดหาบริษัทประกันภัยรายใหม่ได้ทัน เนื่องจากความล่าช้าของการอนุมัติโครงการ เหตุเพราะผิดขั้นตอนจึงถูกตีตกไปจัดทำใหม่         ถ้าว่ากันเรื่องมาตรฐานองค์กรและความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว เรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่ออกมาขอโทษหรือแก้ตัว หน้าที่องค์กรของรัฐอย่าง ขสมก.ควรมีความรับผิดชอบและมาตรฐานการจัดการที่ดีมากกว่านี้ แค่ตั้งใจปล่อยข่าวออกมาให้ประชาชนรู้หลังประกันภัยหมดหลายวัน ก็ไม่จริงใจต่อกันแล้วหลายคนรับไม่ได้แล้ว แต่องค์กรอย่าง ขสมก.ก็ยังอยู่ได้ปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น         แม้ว่าภายหลัง ขสมก.จะออกมาแก้ข่าวว่า ขสมก.จะรับผิดชอบดูแลความเสียหายหากเกิดอุบัติเหตุ โดยพนักงานขับรถไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของ ขสมก. แต่สิ่งที่ออกมาบอกก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้วมิใช่หรือ การรับผิดชอบประชาชนที่ใช้รถเมล์กว่าล้านคนต่อวันไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ยังไม่รวมถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบที่ดีที่ต้องมีมากกว่านี้        หากกรณีนี้เป็นรถร่วมเอกชนที่ออกมาบอกว่า รถประกันหมดนะ ขอวิ่งไปก่อนจนกว่าจะหาประกันภัยใหม่ได้ คงโดนเล่นงานสาปส่งลงโทษสถานหนักแล้ว เพราะการนำรถที่ไม่มีประกันออกมาวิ่งรับส่งคนโดยสารเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่พอเป็น ขสมก.ที่ออกมาบอกหน้าตาเฉยว่าประกันหมด ตอนนี้กำลังรีบหาประกันภัยใหม่อยู่ บอกแบบนี้ คือให้ทุกคนต้องดูแลตัวเองอย่างนั้นหรือ ความปลอดภัยของประชาชนและความเชื่อมั่นต่อองค์กรหนี้แสนล้านนี้อยู่ที่ไหน ตรงนี้ประชาชนถามเยอะมาก แต่ก็ไม่มีความรับผิดชอบใดๆ ออกมาจาก ขสมก. ความผิดพลาดแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นและควรต้องมีคนรับผิดชอบ         เรื่องรถเมล์ว่าแย่แล้ว ปัญหาเรื่องรถตู้โดยสารก็ยังไม่จบ         ประมาณเดือนมีนาคมนี้คงได้คำตอบจากกระทรวงคมนาคมว่า ที่ขอขยายเวลาไปศึกษาแนวทางการยืดอายุรถตู้โดยสารประจำทางหมวด 1 และ 4 ที่อายุสิบปีไม่ให้ต้องเปลี่ยนเป็นไมโครบัสนั้น ทิศทางข้างหน้าจะเป็นยังไง         เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมต้องคิดให้รอบคอบ เพราะกว่าที่ทุกฝ่ายจะผลักดันมาตรฐานความปลอดภัยให้รถตู้โดยสารประจำทางมาจนถึงจุดนี้ ที่ผ่านมาต้องแลกมาด้วยชีวิตของผู้สูญเสียมากมาย บทเรียนจากอดีตเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และแก้ไข เพราะประเด็นไม่ได้อยู่ที่การวิ่งใกล้หรือวิ่งไกลอย่างที่ผู้ประกอบการโต้แย้ง แต่ประเด็นอยู่ที่สภาพโครงสร้างของรถตู้ไม่ได้ถูกออกแบบให้มาวิ่งรับส่งคนโดยสาร การเอาชีวิตรอดจากโครงสร้างรถตู้ที่ไม่ปลอดภัยต่างหากคือเรื่องสำคัญ การเปลี่ยนผ่านรถตู้เป็นรถไมโครบัสที่ปลอดภัยกว่าจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยินยอมเปลี่ยนรถ ขณะที่มาตรฐานความปลอดภัยด้านคนขับและการบังคับใช้กฎหมายต้องไม่ลดลง         อย่างไรก็ดีต้องให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางกันสักนิด ที่หลังจากกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในหลายส่วน รวมถึงการทำความเข้าใจและความร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการ มีผลทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารประจำทางลดน้อยลงอย่างน่าพอใจ         กลับกันรถตู้ส่วนบุคคลหรือที่เรียกกันว่า รถตู้ป้ายฟ้า และรถตู้โดยสารไม่ประจำทางกลับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการเกิดเหตุสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนทางกับกลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางอย่างชัดเจน และโดยเฉพาะกลุ่มรถตู้ส่วนบุคคลที่นำมาวิ่งรับจ้างรับส่งคนโดยสารอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งรถกลุ่มนี้จะไม่ถูกกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เช่น ไม่ต้องติด GPS ไม่ถูกควบคุมความเร็ว ไม่บังคับทำประกันภัยค้ำจุน ไม่ต้องมีสมุดประจำรถ ไม่ต้องเดินรถด้านซ้าย ฯลฯ เนื่องจากเป็นการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ ที่เป็นรถส่วนบุคคลห้ามนำมาวิ่งรับจ้าง         แต่ในทางปฏิบัติกลับมีรถกลุ่มนี้ออกมาวิ่งรับส่งคนตามท้องถนนอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ที่ผ่านมามีเพียงคำขู่จากกรมการขนส่งทางบก แต่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เห็นถึงมาตรการเด็ดขาดที่จะหยุดรถกลุ่มนี้ไม่ให้ออกมาวิ่งรับจ้างแต่อย่างใด         เหตุผลสำคัญคือ นอกจากสภาพโครงสร้างรถจะไม่ปลอดภัยแล้ว รถกลุ่มนี้อาจจะไม่จัดทำประกันภัยค้ำจุน เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้หากเกิดอุบัติเหตุความรุนแรง เจ้าของรถก็จะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อชดเชยเยียวยาผู้โดยสารที่จ้างเหมาได้ ทุกคนอาจจะต้องเจ็บตัวฟรี เหมือนกับหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้น         และปัญหาใหญ่ที่เริ่มกันแล้วในตอนนี้ คือ การชุมนุมประท้วงของกลุ่มรถตู้โดยสารไม่ประจำทางทั้งประเภททะเบียน 30 และ 36 ที่ออกมาเรียกร้องปลดแอกไม่ให้ถูกเหมารวมเป็นกลุ่มเดียวกับรถตู้โดยสารประจำทาง อ้างว่าเพราะเป็นกลุ่มรถรับจ้างเช่าเหมา จึงไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกับกลุ่มรถตู้โดยสารประจำทาง รวมถึงการเรียกร้องยกเลิกข้อปฏิบัติต่างๆ เช่น ไม่เอา GPS ที่ควบคุมความเร็ว ไม่เอาความเร็วที่บังคับ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขอคืนป้ายทะเบียนรถรับจ้างเพื่อกลับมาใช้ป้ายรถส่วนบุคคล ไม่ต้องทำประกันภัยค้ำจุนเพิ่ม (ภาคสมัครใจ) เพราะจ่ายค่า GPS ไปแล้ว และอีกหลายข้ออ้างเหตุผลที่เข้าข้างตัวเอง         หากกระทรวงคมนาคมเห็นด้วยตามข้อเสนอของคนกลุ่มนี้ เห็นผลประโยชน์ของผู้ประกอบการเป็นที่ตั้ง จนละเลยความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภค คงเป็นเรื่องยากที่จะเกิดความปลอดภัยต่อทั้งผู้บริโภคที่ใช้บริการและกลุ่มผู้ประกอบการเอง ถ้ายอมให้คืนป้ายกลับไปใช้ป้ายส่วนบุคคลได้ รถผีรถเถื่อนจะเกลื่อนเมือง หรือ ถ้ายอมยกเลิก GPS ยอมเพิ่มความเร็ว เชื่อเลยว่าอุบัติเหตุที่รุนแรงจะกลับมา การบังคับใช้กฎหมายจะล่มสลาย คำถามคือ แล้วกระทรวงคมนาคมจะรับผิดชอบไหวได้อย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 เรื่องบ่นหลังเทศกาล คุณสามารถจัดการได้

               พ้นช่วงหยุดยาวมหาสงกรานต์กันไปแล้ว นับเป็นเทศกาลที่ผู้คนจำนวนมากต่างเดินทางเพื่อกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนกันเป็นจำนวนมหาศาล ระดับกรุงเทพฯ ร้างกันทีเดียว หลายคนโชคดีเดินทางถึงบ้านด้วยความปลอดภัย ขณะที่อีกหลายคนต้องพบเจออุปสรรคต่างๆ นานา กว่าจะถึงบ้านก็เล่นเอาเสียเวลาเสียความรู้สึกกันไปจนเกือบจะหมดสนุก         คนที่พบเจอปัญหาหลายคน ต่างก็มาบ่นและแชร์กันไปมากมายในสื่อโซเชียล ซึ่งความจริงแล้วอยากให้ทุกท่านที่พบเจอปัญหา ได้ทดลองใช้บริการรับเรื่องร้องทุกข์ของ กรมการขนส่งทางบก ซึ่งผลของข้อมูลและการดำเนินการต่างๆ จะได้ถูกเก็บบันทึกไว้เป็นระบบ เพื่อให้เกิดมาตรการแก้ไขต่อไป หรือกับปัญหาเฉพาะหน้า ทางหน่วยงานรัฐจะได้มีบทบาทในการลงโทษคนผิดให้หลาบจำ         ดังนั้นในครั้งนี้ จะรวบรวมเสียงบ่นจากทางโซเชียลมีเดียมานำเสนอกันสักนิดนะครับ เป็นปัญหาโลกแตกที่พบเจอกันแทบทุกเทศกาล และเพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกการร้องเรียนของผู้โดยสารมีความสำคัญ และนำไปสู่การพัฒนาการให้บริการของผู้ประกอบการได้         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปแม่สอด จังหวัดตาก โดยใช้บริการรถโดยสารประจำทางของบริษัทแห่งหนึ่ง ปรากฎว่ากว่ารถจะมารับที่สถานีก็ช้าไปเกือบชั่วโมงแล้ว แถมระหว่างทางยังจอดทิ้งผู้โดยสารที่วังเจ้าตาก ห่างจากปลายทางที่แม่สอดกว่า 80 กิโลเมตร แล้วให้เปลี่ยนรถซื้อตั๋วใหม่ อ้างไม่กล้าขับรถขึ้นเขาขึ้นดอย เจอแบบนี้จะทำยังไงดี         ตอบ : กรณีทิ้งผู้โดยสารกลางทางแบบนี้ ทั้งที่ผู้โดยสารได้จ่ายค่าโดยสารครบถ้วนแล้ว ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎตามที่ร้องเรียน พนักงานขับรถโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ฐานปล่อยผู้โดยสารลงก่อนถึงจุดหมายปลายทาง ตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 127 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ด้านผู้ประกอบการไม่พ้นผิดต้องมีความผิดด้วย ฐานไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการ เนื่องจากไม่ควบคุมการเดินรถให้เป็นไปตามเส้นทางที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพ ไปจังหวัดลพบุรี โดยใช้บริการรถตู้โดยสารประจำทาง  แต่ปรากฎว่าระหว่างทางพนักงานขับรถโดยสารกลับรับผู้โดยสารรายทางและรับมาเรื่อยๆ จนมีผู้โดยสารยืนบนรถตู้โดยสาร เจอแบบนี้จะทำยังไงดี         ตอบ : กรณีเอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งบนรถ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏตามที่ร้องเรียน พนักงานขับรถโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.การขนส่งทางบก ในข้อหารับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวน ตามมาตรา 107 ประกอบมาตรา 127 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท พร้อมทั้งส่งตัวเข้ารับการอบรม บันทึกประวัติความผิด และกำชับมิให้กระทำความผิดซ้ำ และสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต เปรียบเทียบปรับตามมาตรา 31(4) ประกอบมาตรา 131 ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนที่นั่งต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         ถาม : ผู้โดยสารรายหนึ่งต้องการเดินทางจากกรุงเทพไปจังหวัดขอนแก่น โดยใช้บริการรถทัวร์โดยสารประจำทาง  แต่ปรากฏว่ามีการคิดราคาค่าโดยสารแพงกว่าปกติ เจอแบบนี้จะทำยังไงดี        ตอบ : กรณีเอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการเก็บค่าโดยสารเกินกว่าปกติ ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎตามที่ร้องเรียน พนักงานจำหน่ายตั๋วโดยสารจะมีความผิดตามกฎหมาย พรบ.การขนส่งทางบก ในข้อหาเรียกเก็บค่าโดยสารเกิน ตามมาตรา 159  ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจะมีความผิดฐานเพิ่มค่าบริการค่าโดยสารโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 38 ประกอบมาตรา 135 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท        เห็นกันแล้วใช่ไหมครับว่า การร้องเรียนของผู้โดยสารทุกคนมีความหมาย นอกจากจะเป็นการป้องปรามพนักงานขับรถและผู้ประกอบการให้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังเป็นการยกระดับการให้บริการของผู้ประกอบการให้มีความรอบคอบเพื่อมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครเจอปัญหาแบบนี้ ไม่อยากให้เงียบเฉยกัน อย่าลืมว่าทุกเสียงทุกปัญหา สามารถเริ่มต้นแก้ไขได้ด้วยตัวเราเอง “ ร้องทุกหนึ่งครั้งดีกว่าบ่นพันครั้ง ” ครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 เคล็ดลับก่อนและหลังเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ

                การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่มีจำนวนคนใช้บริการจำนวนมาก เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ มักมีผู้ประสบพบเจอปัญหาต่างๆ มากมาย นอกจากอุบัติเหตุทางถนนที่พบเห็นได้บ่อย ปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการไม่ว่าจะเป็นบรรทุกผู้โดยสารเกิน หรือเรียกเก็บค่าโดยสารแพงกว่าปกติ โดยอ้างว่าเป็นรถเสริมวิ่งช่วงเทศกาล ตลอดจนปัญหารถผีรถเถื่อนที่มาคอยดักเก็บผู้โดยสารที่สถานีขนส่ง ซึ่งหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ผู้โดยสารจะเสียประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ก็พบได้บ่อยในทุกช่วงเทศกาลด้วยเช่นกัน           วันนี้ฉลาดซื้อมีเคล็ดลับดีๆ มาบอกกันครับ เคล็ดลับที่ 1 ซื้อตั๋วอย่างไรให้ปลอดภัย         1. ควรเลือกรถโดยสารกับบริษัทที่เชื่อถือได้ คือมีชื่อบริษัทปรากฏที่ช่องจำหน่ายตั๋ว ที่ตั๋วโดยสารและบริเวณตัวรถ มีตราสัญลักษณ์ประทับข้างรถว่าเป็นรถร่วมของ บขส. หรือ รถที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกล่อลวงให้ใช้บริการของรถโดยสารที่ผิดกฎหมายหรือที่เรียกว่า "รถผี รถเถื่อน" นั่นเอง        2. เมื่อจ่ายเงินซื้อตั๋ว จะต้องได้รับตั๋วโดยสารหลังจ่ายเงินทุกครั้ง พร้อมทั้งตรวจสอบทันทีว่าข้อมูลการเดินทางถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่ รายละเอียดที่ไม่ควรมองข้ามประกอบด้วย วันเวลาที่เดินทาง ราคาตั๋วโดยสาร ตำแหน่งที่นั่ง เลขข้างรถ ประเภทของรถโดยสาร หากระบุไม่ตรงให้รีบทักท้วงแก้ไขโดยทันทีเคล็ดลับที่ 2 ทำอย่างไรจึงปลอดภัยก่อนเดินทาง        1. ควรต้องมาถึงสถานีขนส่ง ก่อนเวลารถออกอย่างน้อย 45 นาที เพื่อจะได้มีเวลาตรวจสอบว่า รถโดยสารที่จะใช้บริการถูกต้องตรงตามต้องการหรือไม่ เช่น ซื้อตั๋วรถโดยสารชั้นเดียวแต่ทางผู้ให้บริการจัดเป็นรถประเภทอื่นมาแทน หากเจอแบบนี้ต้องปฏิเสธทันที และขอให้ปรับเปลี่ยนจัดรถที่ถูกต้องตรงตามสัญญา หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้ผู้โดยสารติดต่อที่ หน่วยคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถสาธารณะซึ่งจะให้บริการภายในสถานีขนส่งแต่ละแห่ง หากไม่มีให้โทรติดต่อที่หมายเลข 1584 เพื่อให้ช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหา        2. ต้องขึ้นรถในบริเวณสถานีขนส่งเท่านั้น ห้ามขึ้นรถในบริเวณภายนอกสถานีขนส่ง เพราะหากหลงเชื่ออาจจะกลายเป็นเหยื่อของ "รถผี รถเถื่อน"        3. ควรจดจำข้อมูลสำคัญของรถโดยสารทุกครั้ง เช่น หมายเลขทะเบียนรถโดยสาร  ป้ายทะเบียนรถ รถโดยสาร เลขข้างรถ และควรใส่ใจถึงตำแหน่งทางออกฉุกเฉินและที่ตั้งของอุปกรณ์ความปลอดภัยบนรถด้วย เช่น ถังดับเพลิง และค้อนทุบกระจกเคล็ดลับที่ 3 ระหว่างเดินทางต้องปลอดภัย        1. รถโดยสารต้องออกจากสถานีเดินรถตามเวลาที่กำหนด และไม่รับผู้โดยสารเกินกว่าจำนวนที่นั่งผู้โดยสารตลอดเส้นทางการเดินรถ โดยเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศต้องไม่มีผู้โดยสารยืนโดยเด็ดขาด         2. พนักงานขับรถต้องขับรถติดต่อกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง เว้นแต่ได้พักติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง จึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ขับรถต่อไปได้อีกไม่เกินสี่ชั่วโมงติดต่อกัน และต้องขับรถตามเส้นทางที่กำหนดไว้ หากไม่มีเหตุสุดวิสัย และต้องหยุดหรือจอดรถตามที่กำหนดไว้ตามตารางการเดินรถ ไม่ทอดทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง        3. ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง เพราะหากรถเกิดสูญเสียการทรงตัว หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะทำให้ร่างกายของผู้โดยสารไม่หลุดจากที่นั่งไปชนกระแทกกับผู้โดยสารคนอื่นหรือวัสดุสิ่งของต่างๆในรถได้ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี         4. ผู้โดยสารต้องมีสติขณะโดยสารอยู่บนรถ ต้องสังเกตพฤติกรรมการขับรถโดยสารของพนักงานขับรถ เช่น เหยียบเบรกโดยไม่มีเหตุผล ขับรถส่ายไปส่ายมา ขับรถเร็วกว่าปกติ ควรต้องเตือนและแจ้งพนักงานขับรถให้หยุดขับรถและจอดพักโดยทันที         5. หากพนักงานขับรถมีพฤติกรรมขัดขืน หรือเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ควรรีบแจ้ง 1584 หรือ 191 หรือ 1193 โดยทันที         จากเคล็ดลับ 3 ระวังข้างต้น เชื่อว่าหากผู้โดยสารนำ 3 เคล็ดเหล่านี้ไปใช้ การเดินทางของท่านในช่วงวันหยุดยาวจะถึงจุดหมายปลายทางด้วยความปลอดภัย มีความสุขแน่นอนครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 รถตู้โดยสารไม่ประจำทางกับความปลอดภัยของผู้โดยสาร

เป็นเวลาเกือบครบปี  หลังจากที่เราผ่านความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ กับอุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทาง สายจันทบุรี – กรุงเทพ  พุ่งข้ามเลนประสานงากับรถกระบะที่สวนทางมา จนเกิดเพลิงลุกไหม้รถทั้งสองคัน มีผู้เสียชีวิตเป็นคนไทยด้วยกันเองมากถึง 25 คน  จากเหตุการณ์ครั้งนั้น นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่เข้มข้นหลายอย่าง ที่ออกมาเพื่อควบคุมความเร็วและพฤติกรรมคนขับรถโดยสาร ทั้งการติด GPS ห้ามวิ่งเกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง การบังคับทำประกันภาคสมัครใจ การปรับลดเบาะที่นั่ง การมีช่องทางออกฉุกเฉิน และการรณรงค์ให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่อเดินทาง โดยมุ่งหวังเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซากแบบนั้นอีกแต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ก็ยังมีเหตุสะเทือนขวัญที่เกิดกับรถตู้โดยสารอยู่เป็นระยะๆ เป็นเหมือนฝันร้ายที่คอยวนเวียนหลอกหลอนผู้โดยสารที่ต้องใช้บริการอยู่ทุกวันว่า วันไหนจะเกิดขึ้นกับใคร ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง คนรู้จัก เพื่อน ญาติสนิทหรือไม่ หลายฝ่ายต่างพุ่งเป้าไปที่กลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางที่มีอยู่มากกว่า 15,000 คันทั่วประเทศ โดยเฉพาะรถที่วิ่งระหว่างจังหวัดว่าเป็นกลุ่มรถความเสี่ยงสูง ที่หลายคนจำเป็นต้องใช้เพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน แม้จะกลัวการเกิดอุบัติเหตุเวลานั่งรถตู้โดยสาร แต่กลับพบว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังไม่เห็นถึงความสำคัญที่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย นั่นเท่ากับว่า ผู้ใช้บริการส่วนหนึ่งยังไม่ตระหนักในเรื่องความปลอดภัยให้กับตัวเองมากนักขณะที่คนจำนวนมากกำลังจับตามองไปที่กลุ่มรถตู้โดยสารประจำทางว่าเป็นกลุ่มรถเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย แต่เราอาจลืมไปว่า ยังมีรถตู้โดยสารอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงไม่น้อยกว่ากัน นั่นก็คือ กลุ่มรถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางที่มีปริมาณรถอยู่ในระบบมากกว่า 27,000 คันทั่วประเทศ โดยรถในกลุ่มนี้มีทั้งในรูปแบบผู้ประกอบการใหญ่ที่เป็นนิติบุคคล หรือกลุ่มรายย่อย ที่เจ้าของรถขับเอง และมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือเครือข่ายเพื่อการติดต่อรับจ้างทางธุรกิจ แน่นอนว่า ความแตกต่างที่สำคัญ นอกจากเรื่องระบบการออกใบอนุญาตและการกำกับดูแลตามมาตรการของรัฐแล้ว โดยปกติรถตู้โดยสารประจำทางจะวิ่งได้ในเฉพาะในเส้นทางที่ขออนุญาตเส้นทางไว้เท่านั้น ห้ามวิ่งออกนอกเส้นทาง ในเส้นทางระยะไกลห้ามวิ่งเกินวันละ 2 รอบ หรือวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมงตามกฎหมายแรงงาน แต่รถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางนั้น  วิ่งได้ในทุกเส้นทางทั่วไทยตามที่ว่าจ้าง ไม่มีใครคอยตรวจสอบว่าคนขับพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ก่อนมาให้บริการ   ถือได้ว่าเป็นกลุ่มรถมีความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยมากกว่า สอดคล้องกับผลการเก็บข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารของเครือข่ายเฝ้าระวังรถโดยสารปลอดภัย พบว่า กลุ่มรถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทาง มีอัตราการเกิดเหตุและอัตราการบาดเจ็บของผู้โดยสารมากกว่ากลุ่มรถตู้โดยสารประจำทาง โดยมีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุ ที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเช่น โศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดของวันที่  8  พฤศจิกายน  ที่ผ่านมา กรณีรถตู้โดยสารรับจ้างไม่ประจำทางของบริษัท อาร์แอลเซอร์วิส ประสบอุบัติเหตุชนท้ายรถบรรทุกสิบล้อ ที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  จากการสอบปากคำคนขับรถตู้โดยสารที่รอดชีวิต ได้ยอมรับกับทางเจ้าหน้าที่ว่า ในวันที่เกิดเหตุตนเองเข้านอนเวลา 24.00 น.และตื่นในเวลา 04.00 น.ของวันที่เกิดเหตุ และในเวลา 05.00 น.ได้เดินทางไปรับคณะนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นพร้อมไกด์คนไทย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อนำทั้งหมดเดินทางมาท่องเที่ยวตามโปรแกรมที่วางไว้ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนจะประสบอุบัติเหตุหลับในชนท้ายรถบรรทุก ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย  แม้หลังเกิดเหตุกรมการขนส่งทางบกจะมีมาตรการเด็ดขาดสั่งถอนทะเบียนรถตู้คันเกิดเหตุออกจากบัญชีประกอบการขนส่ง และให้บริษัทฯ นำรถในบัญชีทั้งหมด จำนวน 84 คัน เข้ารับการตรวจสภาพโดยละเอียดอีกครั้ง และให้พนักงานขับรถทุกคนของบริษัทฯ เข้ารับการอบรมด้านความปลอดภัย พร้อมเปรียบเทียบปรับฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยในอัตราโทษสูงสุดเป็นจำนวนเงิน 50,000  บาท รวมถึงเพิกถอนใบอนุญาตขับรถของคนขับรถคันเกิดเหตุทันที แต่มาตรการดังกล่าวก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของทุกฝ่ายกลับคืนมา  โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ยังมีประเด็นปัญหาสำคัญที่รอให้จัดการ คือ การกำหนดแนวทางการประกอบธุรกิจรถรับจ้างไม่ประจำทาง ที่ทุกวันนี้ยังไม่มีมาตรการกำกับหรือควบคุมที่ชัดเจนแต่อย่างใด ทำให้มีผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายที่นำรถทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายออกมาวิ่งรับจ้างไม่ประจำทางอีกเป็นจำนวนมาก โดยที่ผู้บริโภคต้องกลายเป็นคนแบกรับชะตากรรมนั้นเสียเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 จองตั๋วเครื่องบินไม่ได้

มีวิธีการมากมายในการจองตั๋วเครื่องบินผ่านสายการบินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจองผ่านเว็บไซต์ หรือผ่านแอพพลิเคชั่น อย่างไรก็ตามแม้วิธีการเหล่านั้นจะสะดวกสบายและรวดเร็ว แต่ก็สามารถสร้างปัญหาได้เช่นกัน หากระบบการจองเกิดความผิดพลาด เหมือนเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสมชายและเพื่อนต้องการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ จึงจองตั๋วเครื่องบินของสายการบินแอร์เอเชีย ผ่านแอพพลิเคชั่นของสายการบินดังกล่าว และชำระเงินผ่านบัตรเครดิตเป็นเงิน 3,094.72 บาท อย่างไรก็ตามหลังชำระเงินเรียบร้อยกลับขึ้นข้อความว่าแจ้งเตือนว่าหมดเวลา(Time out) คุณสมชายจึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทเพื่อสอบถามปัญหา ซึ่งพนักงานตอบกลับว่าไม่มีรายการจองตั๋วดังกล่าว และขอให้ทำรายการใหม่ ดังนั้นเขาจึงต้องทำการจองใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง รวมทั้งชำระเงินผ่านบัตรเครดิตในยอดเงินเท่าเดิม ซึ่งปัญหาก็เกิดขึ้นเหมือนครั้งก่อน โดยมีการแจ้งเตือนผ่านหน้าแอพพลิเคชั่นว่าทำรายการล้มเหลว แต่มีการตัดยอดเงินในบัตรเครดิตเช่นเดิม ยิ่งกว่านั้นเมื่อเขาได้ตรวจสอบข้อมูลการจองอีกครั้ง กลับพบว่าตนเองจองตั๋วผิด และหลังจากโทรศัพท์ไปยังสายการบินเพื่อขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน พนักงานก็ได้แจ้งกลับมาว่าหากสำรองที่นั่งแล้ว สายการบินอนุญาตเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินได้ก่อนกำหนดเดินทางอย่างน้อย 48 ชม. หากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไม่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงใดๆ และการเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราของสายการบินด้วย ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถขอคืนค่าภาษีสนามบินได้หลังจากที่เที่ยวบินได้ผ่านไปแล้ว เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมชายจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวการทางการแก้ไขปัญหาหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ฯ ช่วยติดต่อกับทางบริษัทให้มีการเจรจา ซึ่งใช้หลักฐานประกอบการดำเนินการคือ ข้อมูลหมายเลขบัตรโดยสาร และยอดบัตรเครดิตที่จ่ายไป ทั้งนี้ผู้ร้องต้องการให้ทางสายการบินคืนเงินค่าตั๋วทั้งหมดจำนวน 6,189.44 บาท อย่างไรก็ตามทางบริษัทได้ส่งหนังสือชี้แจงกลับมาว่า สามารถคืนเงินค่าโดยสารได้แค่ครั้งแรกที่เกิดความผิดพลาดจากระบบ ส่วนครั้งที่สองเสนอให้เก็บยอดดังกล่าวไว้เพื่อใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว และขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 “หน้าที่” ของผู้โดยสาร ในการใช้บริการรถสาธารณะ

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มักจะนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับ สิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเสมอ แต่ที่มาพร้องกับสิทธิ นั่นคือ “หน้าที่” ซึ่งผู้บริโภคบางครั้งก็มักจะหลงลืม หรือให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้น้อย ฉบับนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงขอนำเสนอ หน้าที่ของผู้โดยสาร เมื่อต้องใช้บริการของรถสาธารณะกันบ้างราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557 ได้ประกาศกฎกระทรวง  กำหนดความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติในระหว่างการโดยสาร พ.ศ. 2557 ซึ่งกฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งประจำทางต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตลอดเวลาที่อยู่ระหว่างการโดยสาร ดังนี้(1) ไม่สูบบุหรี่หรือสิ่งที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน(2) ไม่กล่าววาจาไม่สุภาพ เสียดสี ดูหมิ่น ก้าวร้าว ส่งเสียงอื้ออึง หรือกระทำการใด ๆ ในลักษณะที่ก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น(3) ไม่โดยสารนอกตัวรถ หรือห้อยโหน หรือยื่นมือ แขน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถ ทั้งนี้ เมื่อผู้ประจำรถได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้วไม่ยอมปฏิบัติตาม(4) ไม่นำสิ่งของที่มีกลิ่นแรงอันอาจก่อความรำคาญแก่ผู้อื่นขึ้นบนรถ เว้นแต่จะได้จัดเก็บให้มิดชิดโดยปราศจากกลิ่นนั้น(5) ไม่นำดอกไม้เพลิง ลูกระเบิด วัตถุระเบิด หรือวัตถุกัดกร่อนขึ้นบนรถ (6) ไม่บ้วน หรือถ่มน้ำลาย น้ำหมาก หรือเสมหะ สั่งน้ำมูก ถ่ายสิ่งปฏิกูล หรือเท หรือทิ้งสิ่งใด ๆ ลงบนรถ ณ ที่ซึ่งมิได้จัดไว้เพื่อการนั้น(7) ไม่ลงจากรถนอกบริเวณที่มีเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง(8) ไม่ดื่มสุราตามกฎหมายว่าด้วยสุรา(9) ไม่กระทำการลามกอนาจาร(10) รัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทาง (เช่น รถท่องเที่ยวทัศนาจร) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสารตามข้อ  (1) (3) (5) (8) (9) และ (10)เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งประจำทางต้องปฏิบัติตลอดเวลาที่อยู่ในระหว่างการโดยสารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งไม่ครอบคลุมข้อปฏิบัติเรื่องความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยบางประการ ประกอบกับจำเป็นต้องเพิ่มข้อกำหนดเพื่อผู้โดยสารรถสำหรับการขนส่งไม่ประจำทางด้วยเห็นหรือไม่ว่า นอกจากสิทธิแล้ว หน้าที่ก็ยังเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ นั่นก็เพื่อให้ผู้โดยสารมีความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในระหว่างการโดยสารยิ่งขึ้นนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ตีค่าราคามนุษย์ เยียวยาความเสียหายหรือเอาเงินฟาดหัว?

วันที่ 17 เมษายน 2556 วันสุดท้ายของโครงการ 7 วันอันตราย ตามนโยบายของรัฐบาลบนถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  หนุ่มสาวยังคงสนุกสนานกับการเล่นน้ำ ยิ่งรถติดยิ่งสนุกโครม!! เสียงรถเมล์สาย 15 ชนกับท้ายรถยนต์คันหนึ่ง แต่ไม่รุนแรงมากนัก ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ จึงมีการถ่ายผู้โดยสารจากรถเมล์ที่เกิดอุบัติเหตุมายังรถเมล์สายเดียวกันที่แล่นตามมา เมื่อรวมผู้โดยสารทั้งหมดมาอยู่ในคันเดียวกัน ทำให้เกิดความแออัดยัดเยียดเบียดกันมาถึงบริเวณด้านหน้ารถติดคนขับ“ผู้โดยสารด้านหน้าช่วยเขยิบด้วยครับ ผมมองกระจกข้างไม่เห็น” เสียงลุงคนขับรถเมล์ตะโกนบอกแต่ด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ดังทำให้ผู้โดยสารคนนั้นไม่ได้ยิน ลุงคนขับจึงขยับตัวเอื้อมมือไปสะกิดผู้โดยสารคนที่ยืนบังกระจกมองข้าง โดยที่รถยังแล่นด้วยความเร็ว และเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นโครม!!! ลุงคนขับล้มลง ทำให้มือที่จับพวงมาลัยอยู่นั้น หักเข้าชนต้นไม้ข้างทางเข้าอย่างจัง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บกว่า 20 รายวันที่ 23 เมษายน 2556 บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันไว้กับรถเมล์คันที่เกิดเหตุ ได้นัดผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บมาเจรจาค่าเสียหาย วันนั้นเป็นวันธรรมดาผู้บาดเจ็บแต่ละคนต้องลางานมา  เมื่อผู้จัดการบริษัทประกันภัยมาถึง“เอ้า .. ใครก่อนดีครับ?” ผู้จัดการบริษัทประกันภัยตะโกนร้องเรียกเหมือนมาแจกของที่โรงทาน“ชั้นก่อนละกัน เดี๋ยวต้องรีบไปเปิดร้านขายของต่อ” หญิงคนหนึ่งยกมือแสดงตัว “300 พอมั้ย” ผู้จัดการคนนั้นเสนอตัวเลข โดยไม่ถามถึงความเสียหาย หรืออาการบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย“บ้าเหรอ  300  ชั้นหน้าบวมปูดไปตั้งหลายวันนะ ไปทำงานก็ไม่ได้ ชั้นมีใบเสร็จนะ”“ใบเสร็จนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่ได้ลงวันที่ .. เอางี้ ผมให้ 1,000 บาท จบเรื่องเลย ถือว่าผมช่วยละกัน” ผู้จัดการคนเดิมตอบ“ 1,000 ก็ได้ ชั้นกลัวเสียเวลา” หญิงคนนั้นตอบเมื่อตกลงตัวเลขเงินค่าเสียหายกันได้ด้วยวิธีแบบที่ว่ามา ผู้จัดการบริษัทประกันภัย จะส่งเรื่องให้ลูกน้องอีก 2-3 คน ดำเนินการเรื่องการประนีประนอมยอมความ และจัดการให้ผู้เสียหายแต่ละรายลงลายมือชื่อยอมให้รับเงินและไม่ติดใจเอาความทางคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อไป จากนั้นผู้จัดการบริษัทประกันภัยก็ทำสิ่งที่เรียกว่า การเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บ” แบบเดิมซ้ำๆ จนครบทั้ง 20 คนคำถามคือ มาตรฐานการชดเชยเยียวยาของประกันภัยในอุบัติเหตุรถโดยสารอยู่ตรงที่ไหน? อยู่ที่ความเขี้ยวของตัวแทนประกัน หรือควรอยู่บนที่ตั้งแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหาดร.สุเมธ  องกิตติกุล  แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษา “อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : ผลกระทบ การประกันภัย การชดเชยเยียวยา” ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้เปิดเผยว่า การชดเชยเยียวยาต่อผู้ประสบอุบัติเหตุจากระบบประกันภัยนั้นพบว่า วงเงินค่าเสียหายยังไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควรนอกจากนั้น ยังพบปัญหาการขาดการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทประกัน ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตอย่างบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)  และบทบาทของบริษัทประกันมีอยู่น้อยในการสร้างระบบตรวจสอบ และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารจากการกำหนดเบี้ยประกัน ดังนั้นจึงเสนอให้มีการกำกับดูแลผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตและผู้ประกอบการที่ร่วมบริการอย่างเข้มงวด รวมถึงให้เข้มงวดในการให้ใบอนุญาตที่พิจารณาถึงประวัติด้านอุบัติเหตุด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างกลไกของบริษัทประกันภัยในการกำหนดเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วยนอกจากนี้ ดร.สุเมธได้เสนอให้มีการปรับปรุงเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายสำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำ โดยให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้กับจาก 200,000 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาท และหากสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตควรปรับให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 240,000 บาทและระบบประกันภัย ควรปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประสบอุบัติเหตุ ได้แก่ ความล่าช้าในการพิสูจน์ถูก-ผิด และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การติดต่อประสานงานที่ไม่มีใบเสร็จ ทำให้ใช้เรียกร้องค่าเสียหายได้ยากด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 การบินไทยช่วยผู้โดยสารหลีกภัยนิวเคลียร์?

ยอมเปลี่ยนวันและเส้นทางบิน ปลอดค่าธรรมเนียมเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เมืองฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม 2554 นอกจากจะสร้างความสูญเสียให้ชาวอาทิตย์อุทัยเกือบทั้งเกาะแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้กับสองแม่ลูกที่ตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวชมประเทศญี่ปุ่นในช่วงนั้นอีกด้วย แม้จะเป็นความเสียหายที่ดูเล็กๆ เมื่อเทียบกับการเจ็บการตายและบ้านที่พังถล่มทลายของชาวเมืองซากุระ แต่เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค ทุกเรื่องที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถือเป็นเรื่องสำคัญเท่าเทียมกัน คุณไปรยา(นามสมมติ) เป็นสมาชิกสะสมไมล์รอยัลออร์คิด พลัส ของสายการบินไทย อุตส่าห์ดีใจได้แลกรางวัลไมล์สะสมเพื่อเดินทางไปยังกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นพร้อมคุณแม่ โดยมีกำหนดเดินทางไปในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 และกลับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 ด้วยอากาศที่หนาว กับภาพหิมะที่ปลิวในสายลม เป็นช่วงการเดินทางที่ทำให้คนในเมืองไทยต้องอิจฉาแต่พอเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดไปหลายเตา ภาพปุยหิมะขาวๆ ละลายเป็นน้ำไปทันที นั่ง นอน ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็มีแต่ข่าวไม่ดี การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้า นึกเห็นแต่ภาพเหยื่อกัมมันตภาพรังสีที่น่าขนพองสยองขวัญ“ไม่เอาแล้วโตเกียวเราเปลี่ยนเป้าหมายไปกรุงโซล เกาหลีใต้ ดีกว่า โซนเดียวกัน หนาวเหมือนกัน” เธอบอกกับแม่ คุณไปรยา จึงแจ้งกับการบินไทยเพื่อจะขอเปลี่ยนการเดินทางไปกรุงโซลแทนในวันที่ 2 ธันวาคม และกลับในวันที่ 10 ธันวาคม 2554 การบินไทยบอกเปลี่ยนได้แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 40 ดอลลาร์สหรัฐคิดเป็นเงินไทยตกราว  1,200 บาทคุณไปรยาจึงถามกลับไปว่าทำไมต้องคิดค่าธรรมเนียมด้วย ใจน่ะอยากไปญี่ปุ่นแต่กลัววิกฤตินิวเคลียร์จะมาทำร้ายสุขภาพร่างกายของฉันกับแม่ฉันน่ะ เข้าใจไหม และการเดินทางก็อยู่ในโซนเดียวกันทำไมต้องมาคิดค่าธรรมเนียมกันด้วย และถ้าจะรอให้การบินไทยมีนโยบายอนุญาตให้เปลี่ยนตั๋วได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ก็มักจะประกาศในช่วงเวลาใกล้ๆ การเดินทาง ถึงตอนนั้นก็อาจหาตั๋วไม่ได้แล้ว และต้องเสียสิทธิสะสมไมล์ในท้ายที่สุดฝ่ายหนึ่งขอไม่ให้เก็บเพราะเป็นเหตุการณ์พิเศษ การบินไทยน่าจะเห็นใจลูกค้า แต่การบินไทยแจ้งว่าต้องเก็บเพราะเป็นระเบียบ คุยกันไม่จบ...เรื่องจึงมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด แนวทางแก้ไขปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีจดหมายแจ้งไปถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท การบินไทย จำกัด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 เพื่อขอให้พิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมเป็นกรณีพิเศษให้กับผู้โดยสาร ต่อมาวันที่ 23  สิงหาคม 2554 คุณอมรา  ลีสวรรค์ ผู้จัดการกองบริการสมาชิกรอยัลออร์คิดพลัสของสายการบินไทย ได้มีหนังสือตอบกลับมา แจ้งว่า ทางการบินไทยได้พิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวันเดินทางและเปลี่ยนแปลงเส้นทางบินเป็นกรุงเทพฯ – โซล – กรุงเทพฯ ตามที่ผู้โดยสารประสงค์ โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม พร้อมทั้งชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า โดยปกติการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการคืนไมล์ 3,750 บาท ต่อ 1 ฉบับ และทำบัตรโดยสารใหม่ในเส้นทางใหม่ และการเปลี่ยนวันเดินทางต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,200 บาทต่อการเปลี่ยน 1 ครั้ง แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนเส้นทางจะต้องทำการออกบัตรโดยสารใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดค่าภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยอัตรานี้อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะขึ้นอยู่กับราคาภาษีน้ำมันและวันที่ออกบัตรโดยสารใหม่ (โดยประมาณ 2,130 บาทต่อฉบับ) ซึ่งในส่วนนี้ผู้โดยสารจะต้องรับผิดชอบเอง เมื่อได้ทราบข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว และได้ตรวจสอบสถานการณ์ปัญหาวิกฤตินิวเคลียร์ว่าคลี่คลายไปมากคุณไปรยาจึงเปลี่ยนใจขอไปโตเกียวเหมือนเดิม มูลนิธิฯ ขอขอบคุณการบินไทยที่ใส่ใจสิทธิของลูกค้าเป็นอย่างดี ขอให้คุณไปรยาและคุณแม่เดินทางโดยปลอดภัยและไม่เอานิวเคลียร์มาเป็นของฝากกันนะขอรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 ผู้โดยสาร “นครชัยขนส่ง” ร้องกระเป๋าตังค์หาย

“ถ้าเป็นเงินของหนูเอง คงไม่ร้องหรอกค่ะ แต่เงินที่หายน่ะเป็นเงินของแม่ที่ขายมันสำปะหลังได้ 15,000 บาท แม่ฝากให้หนูเอาไปเข้าธนาคาร หนูสงสารแม่มาก หนูอยากได้เงินคืนค่ะ” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม 2552 วาสนาได้บอกลาผู้เป็นแม่เพื่อเดินทางกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ โดยแม่ได้ฝากเงินจำนวน 15,000 บาท ให้วาสนานำไปเข้าธนาคารในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา วาสนาเก็บเงินจำนวนนั้นไว้ในกระเป๋าสตางค์และเก็บไว้ในกระเป๋าเป้สะพายอีกทีเวลาประมาณเที่ยงครึ่งของวันที่เกิดเหตุ วาสนาขึ้นรถโดยสารปรับอากาศ ป.2 ที่อำเภอพระทองคำบ้านเกิดซึ่งแล่นมาจากอำเภอเชียงคานมุ่งหน้าเข้าตัวจังหวัดนครราชสีมา เป็นรถของบริษัท นครชัยขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่วิ่งบริการในเส้นทางดังกล่าว“ตอนที่จะขึ้นรถ วาดจะสะพายเป้ขึ้นไปบนรถด้วย แต่พนักงานก็มาหยิบกระเป๋าที่วางอยู่ตรงเก้าอี้ตรงที่รอรถไป แล้วบอกว่าเอาไว้ข้างล่างนี่แหละ ข้างบนคนเยอะ”พูดจบพนักงานของรถก็นำกระเป๋าของวาสนาไปวางแหมะตรงที่เก็บกระเป๋าใต้ท้องรถ วาสนาจึงเอ่ยขอใบรับฝากกระเป๋า แต่พนักงานไม่ให้โดยให้เหตุผลว่าเป็นป้ายรายทางไม่ต้องมี แต่วาสนาจำได้ว่าทุกครั้งที่ขึ้นรถและมีการรับฝากกระเป๋าที่ผ่านมาก็จะได้รับใบรับฝากมาโดยตลอด แต่ต้องขึ้นรถไปเพราะโดนเร่ง และนั่งอยู่ในรถด้วยใจตุ้มต่อมพลางปลอบใจว่าคงไม่มีอะไรเพราะนั่งรถเข้าโคราชใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง พอรถแล่นมาถึง บขส.นครราชสีมา วาสนารีบลงไปรับกระเป๋า ปรากฏว่า “กระเป๋าเป้หายไปแล้ว”“เดินหาจนทั่วก็ไม่มี เลยไปขอให้บริษัทช่วยประชาสัมพันธ์ เขาก็ไม่ประชาสัมพันธ์ให้ จะไปขอดูกล้องวงจรปิดก็มีคนมาบอกว่าเขาคงไม่ให้ดู”วาสนา เดินตามหากระเป๋าของตัวเองจนค่ำมืด ไม่พบกระเป๋า และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทรถและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใด ๆ ท้ายสุดจึงต้องไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจแนวทางแก้ไขปัญหาถึงแม้ว่าจะมีข้อสันนิษฐานว่า วิญญูชนโดยทั่วไปมักจะเก็บสิ่งของมีค่าหรือกระเป๋าเงินไว้กับตัวไม่ยอมฝากไว้กับใครที่ไม่รู้จัก อย่างไรก็ดีเมื่อสืบค้นข้อมูลไปที่เว็บไซต์ของบริษัทขนส่งจำกัด(บขส.) พบว่ามีผู้โดยสารที่เก็บกระเป๋าสตางค์ไว้ในกระเป๋าเดินทางและฝากไว้ในที่เก็บของใต้ท้องรถอยูหลายรายเช่นกัน และพนักงานประจำรถของ บขส. ได้ให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารติดตามคืนมาได้หลายรายจนมีการประกาศชื่อชมเชยพนักงานท่านเหล่านั้นก็เยอะแต่น่าเสียดายที่พฤติกรรมดี ๆ ของพนักงานเช่นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับพนักงานประจำรถในเที่ยวรถคันดังกล่าวของบริษัท นครชัยขนส่ง จำกัด ซึ่งกระทำผิดระเบียบของพนักงานหลายข้อด้วยกัน เช่น ผิดที่หนึ่ง คือ ไปหยิบดึงกระเป๋าของผู้โดยสารโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้โดยสาร ผิดที่สอง คือ รับฝากกระเป๋าผู้โดยสารแล้วไม่ออกใบรับฝากให้ผู้โดยสารเก็บไว้เป็นหลักฐาน ผิดที่สาม คือ ไม่ให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารเมื่อได้รับการร้องขอ ผิดที่สี่ เมื่อผู้โดยสารร้องเรียนแล้วกลับเพิกเฉยทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่บริษัทแห่งนี้ต้องรีบปรับปรุงการบริการของตนเองโดยด่วน ส่วนการเรียกร้องความเสียหายนั้นหากบริษัทยังเพิกเฉยต่อไป ผู้โดยสารมีสิทธิฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้เช่นกันล่าสุดได้ข่าวแว่วว่า บริษัท นครชัยขนส่ง มีการปรับปรุงบริการในการรับฝากกระเป๋าด้วยการให้ใบรับฝากแก่ผู้โดยสารทุกราย และเวลารับกระเป๋าได้ให้ผู้โดยสารเข้ารับกระเป๋าอย่างมีระเบียบแล้ว เหลืออีกอย่างเดียวคือลองพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้น้องวาสนาคนต้นเรื่องตามสมควรด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 การบินไทยทำที่นั่งผู้โดยสารหาย

ไม่ได้ตั้งชื่อเรื่องขึ้นมาเพื่อความเท่นะครับแต่เกิดขึ้นจริงๆ ผู้โดยสารจ่ายเงินซื้อตั๋วชั้นธุรกิจล่วงหน้าแล้ว มีตั๋วอยู่ในมือแล้ว พอมาเช็คอินเจ้าหน้าที่บอกไม่มีชื่ออยู่ในระบบ ทำได้แค่จัดที่นั่งชั้นประหยัดให้แทน บริการประทับใจจริงๆคุณปัทมา เขียนเล่าความทุกข์ของตัวเองผ่านทางช่องทางร้องทุกข์ออนไลน์ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า อยากทราบว่ากรณีซื้อตั๋วเครื่องบินของการบินไทย ชั้นธุรกิจ มีตั๋วอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว แต่ในวันเดินทางเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์บอกว่า ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการจองเพราะโดนตัดที่นั่งออกไปแล้ว อยากทราบว่ากรณีนี้ร้องเรียนได้หรือไม่คุณปัทมาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่การบินไทยบอกว่าเป็นเพราะระบบ เห็นว่ามีการจองซ้ำซ้อนกับเอเยนต์ขายตั๋ว แต่ทางเราไม่ได้ซื้อกับทางเอเยนต์ แต่จ่ายเงินกับการบินไทยและได้ตั๋วมาเรียบร้อยแล้ว อยากทราบว่ากรณีนี้อย่างนี้จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง เพราะในที่สุดเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์หาที่นั่งชั้นประหยัดให้แทนแต่จ่ายเงินในชั้นธุรกิจ “เราซื้อตั๋วแล้ว จ่ายเงินแล้ว ทำไมการบินไทยมีสิทธิตัดที่งนั่งได้ด้วยหรือ เอาที่นั่งของเราไปขายให้คนอื่นอย่างนี้ก็เท่ากับได้เงินสองต่อน่ะสิ” แนวทางแก้ไขปัญหาน่าสงสารจริง ๆ ครับ ไม่รู้มีตัวดีหรือผู้ยิ่งใหญ่ที่ไหนไปเบียดเบียนที่นั่งประชาชนคนธรรมดาที่ใช้สิทธิในความเป็นราษฎรเต็มขั้นซื้อตั๋วชั้นธุรกิจ จ่ายเงินแล้ว ได้ตั๋วอยู่ในมือแล้ว แต่ที่นั่งกลับหายไปเสียนี่โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจนจากการบินไทย ทำได้เพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจัดที่นั่งชั้นประหยัดให้แทน คุณปัทมาถามว่าจะเรียกร้องอะไรได้มั้ย ได้สิครับอย่างแรกก็คือ ขอคำชี้แจงจากการบินไทยว่าทำไมถึงได้เกิดเหตุการณ์การบริการที่ประทับใจแบบนี้ขึ้นได้ อย่างที่สองคือ ค่าโดยสารส่วนเกินที่ได้จ่ายไปสำหรับที่นั่งชั้นธุรกิจแต่กลับได้บินไปกับที่นั่งชั้นประหยัด ซึ่งการบินไทยจะต้องคืนให้กับผู้โดยสารในช่องทางใดช่องทางหนึ่งที่ผู้เสียหายเขาประสงค์ และอย่างที่สามก็คือ เรื่องความเสียหายทางด้านจิตใจที่การบินไทยจะต้องพิจารณารับผิดชอบด้วย ก็แหมผู้โดยสารเขาอุตส่าห์ซื้อตั๋วและจ่ายเงินกับการบินไทยแท้ๆ กลับทำที่นั่งเขาหายไปเฉยๆ จะไม่รับผิดชอบในเรื่องนี้ได้อย่างไรข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือสอบถามไปถึงการบินไทยให้เรียบร้อยแล้วนะครับ โปรดรอผลตอบรับจากการบินไทยโดยพร้อมเพรียงกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 คนไทยยังต้องเสี่ยงภัยกับการโดยสารรถประจำทาง 2

โครงการเสริมพลังผู้บริโภคและผู้ประกอบการเพื่อรถโดยสารปลอดภัย พยายามทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิความปลอดภัยในการโดยสารรถสาธารณะ ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการรถทัวร์โดยสารสาธารณะ ซึ่งเก็บตัวอย่างจากผู้บริโภคทั่วประเทศ จำนวน 1,784 ตัวอย่าง (ระยะเวลาเก็บตัวอย่าง เดือนกลางเดือนสิงหาคม-กันยายน 2558 ) เพื่อสะท้อนสถานการณ์จริงที่ผู้บริโภคต้องเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน ------------------------------------------------------------------------------------------------ในแต่ละปีจะมีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท เฉลี่ย 2,000 ครั้งต่อปี ซึ่งจากสถิติเฉลี่ยแล้ว พบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสาธารณะ 1 ครั้งจะมีผู้เสียชีวิต 0.42 รายหรือครึ่งคน บาดเจ็บสาหัส 4 คน และบาดเจ็บเล็กน้อย 2.69 ราย มูลค่าความเสียหายมหาศาล รวมถึงปีละ 8,000 – 9,000 พันล้านบาทต่อปี   ข้อมูลเฉพาะจำนวนตัวอย่างแบบสำรวจ 4 ภูมิภาคภาคเหนือ 609 ภาคใต้ 432 ภาคตะวันออก 263 ภาคอีสาน 480 อาชีพนักเรียน 23.9% รับจ้าง 16.6% พนักงานบริษัทเอกชน 13.9% ธุรกิจส่วนตัว 13.7% ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 10.3%เกษตรกร 8.5% แม่บ้านพ่อบ้าน 5.8% ว่างงาน 4.5%   ผลสำรวจโดยสรุป 1.ประชาชนยังนิยมใช้รถทัวร์โดยสารสาธารณะ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์การเดินทางทั้งไปทำธุระ กลับบ้านและไปเรียนหนังสือ โดยรถ ป.2 ชั้นเดียวได้รับความนิยมที่สุด และบริษัทรถร่วม บขส. ได้รับความนิยมพอๆ กับ บริษัท ขนส่ง จำกัด2. เหตุผลที่ใช้รถทัวร์โดยสารสาธารณะ คือ ความสะดวก ปลอดภัยและราคาถูก เรียงตามลำดับ มากไปน้อย 3.ความพึงพอใจทั้งเรื่องพนักงานขับรถ พนักงานประจำรถ และความสะดวก ความสะอาดของสถานีรถ อยู่ในค่าเฉลี่ยปานกลาง แต่ยังพบปัญหาการบรรทุกผู้โดยสารเกินประมาณ 9.4%4.ภายในรถโดยสารส่วนใหญ่มีเข็มขัดนิรภัย(80% ตอบว่ามี) และประมาณ 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ทางรถโดยสารได้แจ้งข้อมูลให้กับผู้โดยสารทราบผ่านโทรทัศน์บนรถ แต่มีถึง 45 % ที่ไม่คาดเข็มขัดในขณะโดยสาร ด้วยเหตุผลว่า อึดอัดเป็นอันดับหนึ่ง ไม่มีเข็มขัดหรือเข็มขัดไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน คิดว่าเดินทางแค่ระยะสั้นๆ รวมทั้งอายจึงไม่กล้าคาดเข็มขัด5.มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 23% ที่ทราบว่าถ้าไม่คาดเข็มขัดจะถูกปรับ 5000 บาท6.เกี่ยวกับอุปกรณ์ความปลอดภัยในรถ ทั้งค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง ส่วนใหญ่จะระบุว่ามี (68.6% ,71.6%) เรื่องประตูฉุกเฉิน 82.2 % สังเกตว่ามี ส่วนที่น่าสนใจคือ การแจ้งเรื่องการใช้อุปกรณ์มีครึ่งหนึ่ง คือ 53.4% ไม่พบว่ามีการให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นโดยพนักงานขับรถ พนักงานประจำรถ หรือ วิดีโอ 7.ความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยในการโดยสาร อยู่ที่ระดับปานกลาง คือ 46.7%   รายละเอียดการสำรวจ         เลือกรถโดยสาร อย่างไรให้ปลอดภัย 1. เลือกรถโดยสารสาธารณะที่ถูกกฎหมาย เช่น ถ้าเป็นรถตู้โดยสารสาธารณะต้องเป็นรถร่วมบริการที่ได้รับอนุญาต (มีตราหรือสัญลักษณ์ของ บ.ข.ส. หรือ ขสมก. ติดข้างรถ) หรือ รถโดยสารป้ายทะเบียนสีเหลืองที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น 2. อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจ ‘รถเสริม’ ไม่ควรใช้บริการ รถทัวร์ผี รถตู้เถื่อน ที่มาวิ่งเสริมรับคนในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยเด็ดขาด ซึ่งรถดังกล่าวอาจไม่ได้รับการตรวจสภาพมาก่อน และหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับรถผีรถเถื่อนแล้ว ผู้โดยสารจะไม่มีหลักประกันใดมารับรองความปลอดภัย อาจจะเจ็บตัวฟรีได้ 3. ผู้โดยสารควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ใช้บริการ เพื่อลดความรุนแรงของการบาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุ4. เมื่อต้องเดินทางเกิน 300 กม. ไม่ควรเลือกเดินทางโดยรถตู้โดยสาร เนื่องจากกรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้รถตู้โดยสารให้บริการได้ในระยะทางไม่เกิน 300 กม. เท่านั้น เพราะหากไกลกว่านั้นอาจจะทำให้พนักงานขับรถอ่อนเพลียจนเกิดอุบัติเหตุและยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมายด้วย 5. ถ้ามีผู้โดยสารอื่นขึ้นเต็มรถอยู่ก่อนแล้ว ไม่ควรฝืนขึ้นไปยืนหรือนั่งเบาะเสริม เพียงเพราะต้องการอยากให้ไปถึงที่ด้วยความรวดเร็วอย่างเดียว เพราะการบรรทุกผู้โดยสารเกินของรถโดยสารอาจจะเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ 6. ไม่ทนนั่งรถโดยสารอันตราย ผู้โดยสารควรสังเกตพฤติกรรมและอากัปกริยาของพนักงานขับรถ เช่น มีอาการง่วงซึม หรือมึนเมาจากสุรา สารเสพติดหรือไม่ หรือขับรถเร็วผิดปกติ ส่ายไปส่ายมา แซงซ้ายปาดขวา ไม่เคารพกฎจราจร หากพบเห็น ต้องไม่อายที่จะแจ้งเตือนพนักงานขับรถทันที หรือรีบแจ้งสายด่วน 1584 หรือ 191 หรือกองบังคับการตำรวจทางหลวง 1193 เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารกับตัวเอง ต้องทำยังไง1. ผู้โดยสารต้องตั้งสติให้ได้ก่อน2. เมื่อมีสติแล้ว ให้สำรวจดูสภาพร่างกายของตนเองว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ และทรัพย์สินเครื่องใช้ที่ติดตัวมายังอยู่ครบหรือเปล่า 3. ถ้ามีสติ รู้สึกตัวดี และสำรวจสภาพร่างกายตนเองเรียบร้อยแล้ว ให้หยิบสิ่งของที่จำเป็น เช่น กระเป๋าสตางค์ , โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ แล้วพาร่างกายออกจากตัวรถโดยทันที 4. เมื่อออกมาพ้นตัวรถแล้ว ให้รีบโทรศัพท์ (ถ้ามี) แจ้ง 191 หรือ 1584 หรือ 1193 5. เมื่อดำเนินการตามข้อ 1 – 4 เรียบร้อยแล้ว หากท่านยังพอมีแรงอยู่ ให้ท่านเข้าช่วยเหลือผู้โดยสารคนอื่นที่บาดเจ็บเท่าที่พอจะช่วยได้ หากไม่สามารถทำได้ ให้บุคคลอื่นมาช่วยเหลือ 6. (ถ้ามีสติและทำได้) ควรถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุและบริเวณโดยรอบ ถ่ายภาพตอนบาดเจ็บของตนเองและคนอื่นที่บาดเจ็บ ไว้เป็นหลักฐานด้วยโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นข้อมูลและพยานหลักฐานสำหรับการเรียกร้องค่าเสียหาย 7. เมื่อผู้โดยสารที่บาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หากบาดเจ็บไม่มากและรู้สึกตัวดี ผู้บาดเจ็บต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือพนักงานสอบสวนที่มาขอข้อมูลของผู้บาดเจ็บเพื่อเป็นหลักฐาน8. ผู้โดยสารที่บาดเจ็บสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลเบื้องต้น ได้ตามสิทธิ พ.ร.บ. รถ ของรถโดยสารคันที่โดยสารมา (ผู้โดยสารไม่ต้องสำรองจ่าย โรงพยาบาลที่รับการรักษาเป็นผู้เบิกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จากบริษัทประกันภัยเอง)9. ผู้โดยสารที่บาดเจ็บต้องตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของรถโดยสารคันเกิดเหตุกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือพนักงานสอบสวน หรือตัวแทนของคู่กรณี (เจ้าของรถ หรือบริษัทประกันภัย) ว่ารถโดยสารคันเกิดเหตุทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้หรือไม่ ถ้าทำ ทำไว้กับบริษัทใด เพราะหากรถโดยสารทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้ ผู้โดยสารจะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองความเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย ในการเบิกค่ารักษาพยาบาลและเยียวยาความเสียหายเพิ่มเติมได้    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 177 คนไทยยังต้องเสี่ยงภัยกับการโดยสารรถประจำทาง

ทุกวันนี้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า รถตู้โดยสาร ได้กลายมาเป็น รถโดยสารประจำทางในเกือบจะทุกเส้นทางรอบปริมณฑลกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่ว่ารถตู้นั้นเป็นทางเลือกยอดนิยม แต่ดูเหมือนไม่มีทางเลือกมากกว่า และแม้ว่าโดยสภาพของรถตู้เองที่ไม่เหมาะกับการเป็นรถขนส่งสาธารณะ แต่เมื่อเติบโตกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หลายฝ่ายจึงพยายามหามาตรการต่างๆ ออกมาบังคับเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การจำกัดความเร็วในการขับ การกำหนดปริมาณคนนั่ง ฯลฯ แต่เมื่อมองจากสถิติจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว ดูเหมือนมาตรการต่างๆ นั้น ไม่ได้ช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับผู้โดยสารสักเท่าไรนัก โครงการเสริมพลังผู้บริโภคและผู้ประกอบการเพื่อรถโดยสารปลอดภัย   ซึ่งพยายามทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิความปลอดภัยในการโดยสารรถสาธารณะ  ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งเก็บตัวอย่างจากผู้บริโภคทั่วประเทศ จำนวน 3,885 ตัวอย่าง (ระยะเวลาเก็บตัวอย่าง เดือนกลางเดือนสิงหาคม-กันยายน 2558   ) เพื่อสะท้อนสถานการณ์จริงที่ผู้บริโภคต้องเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน  ข้อมูลเฉพาะจำนวนตัวอย่างแบบสำรวจ  6 ภูมิภาคภาคเหนือ 177 ภาคใต้ 399 ภาคตะวันออก 479 ภาคตะวันตก 1867 ภาคกลาง 783 ภาคอีสาน 180 เพศชาย 57% หญิง 43%อาชีพนักเรียน     25.4%  รับจ้าง 17% พนักงานบริษัทเอกชน 15.7% ธุรกิจส่วนตัว 15.2% ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 10%เกษตรกร    6%  แม่บ้านพ่อบ้าน 5.1% ว่างงาน 3% อื่นๆ 1.2% ไม่ตอบ 1.4% ผลสำรวจโดยสรุป1.รถตู้โดยสารสามารถตอบสนองการเดินทางของผู้บริโภค ทั้งในเรื่อง การทำธุระส่วนตัว การเดินทางกลับบ้าน การทำงานและการเรียน โดยมีเหตุผลเรื่อง ความสะดวก รวดเร็ว เป็นอันดับหนึ่งและสองตามลำดับ ส่วนเรื่องความปลอดภัยจัดอยู่ในลำดับท้ายสุด2. ความพึงพอใจต่อพนักงานขับรถอยู่ในระดับปานกลาง และ 66.5% ของผู้ตอบแบบสำรวจไม่รู้สึกว่าพนักงานขับรถ ขับรถเร็วหรือหวาดเสียว 3. มีผู้บริโภคเพียง 9.6% ที่พบปัญหาการบรรทุกผู้โดยสารเกิน  4. ผู้บริโภคยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการคาดเข็มขัดนิรภัยโดย 57% ตอบว่าไม่คาดเข็มขัด จากสาเหตุ อึดอัด(21%) รู้สึกว่าระยะเดินทางเป็นช่วงสั้นๆ /ไม่มีเข็มขัดนิรภัย/เข็มขัดไม่พร้อมใช้งาน(8.6/8.4/8.3 %) และมีประมาณ  4% ที่ระบุว่า น่าอาย(หากต้องคาดเข็มขัดขณะที่คนอื่นไม่คาด)   5.มีผู้บริโภคถึง 31.4% ที่ไม่ทราบว่า ถ้าไม่คาดเข็มขัดจะมีโทษปรับสูงถึง 5000 บาท มีเพียง 23.9% ที่ทราบ  ทั้งนี้มีผู้ไม่ตอบแบบสำรวจถึง 44.7% ซึ่งเป็นไปได้ว่า อาจไม่แน่ใจในข้อบังคับกฎหมายเกี่ยวกับโทษปรับดังกล่าว           สถิติอุบัติเหตุรถตู้โดยสาร มกราคม – กันยายน 2558จำนวน 85 ครั้งบาดเจ็บ 675 รายเสียชีวิต 75 ราย ที่มา โครงการเสริมพลังผู้บริโภคและผู้ประกอบการเพื่อรถโดยสารปลอดภัยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 ผลสำรวจความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริการ และความปลอดภัยรถโดยสารประจำทางใน กทม.

แม้ว่าปัจจุบันจะมีรถโดยสารสาธารณะเป็นตัวเลือกให้ใช้บริการหลากหลายประเภท ทั้ง รถเมล์ รถตู้ รถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ เรือด่วน แต่ปริมาณกลับไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพ เพราะเมื่อเรามองดูสภาพการจราจรบนท้องถนน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ทั้งความแออัด ความเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย มลภาวะเป็นพิษ ปัญหาเหล่านี้ล้วนยังอยู่คู่ถนนเมืองไทย เป็นปัญหาใหญ่ที่มองยังไงก็ยังไม่เห็นทางออก ระบบขนส่งมวลชนหลักในกรุงเทพฯ คงต้องยกให้กับ รถเมล์ เพราะไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา แม่ค้า หรือว่าพนักงานบริษัท ต่างก็เป็นลูกค้าของ ขสมก. ทั้งสิ้น แน่นอนว่าปัญหาจากบริการรถโดยสารสาธารณะส่วนหนึ่งย่อมมาจากรถเมล์ แต่ปัญหาเหล่านั้นมีอะไรบ้าง การสอบถามจากปากคนที่ใช้บริการรถเมล์เป็นประจำน่าจะช่วยให้เราได้รู้ถึงสิ่งที่ยังเป็นปัญหาและสิ่งที่ผู้บริโภคที่ใช้บริการต้องการให้เกิดการปรับปรุง สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ทำการสำรวจ “พฤติกรรมการใช้ ความพึงพอใจต่อคุณภาพการบริการ และความปลอดภัยในการใช้รถโดยสารประจำทาง” โดยประเด็นที่ทำการสำรวจมีอย่างเช่น พฤติกรรมก่อนและหลังใช้บริการ, ทัศนคติต่อความปลอดภัยของจุดจอดรับ-ส่ง, เหตุผลในการเลือกใช้บริการ, ระยะเวลาในการรอรถโดยสาร, สภาพรถภายในและภายนอก ฯลฯ โดยการสำรวจความคิดเห็นได้แบ่งประเภทการสำรวจรถโดยสารเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ รถโดยสารประจำทางในกทม.และปริมณฑล กับรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ซึ่งฉลาดซื้อขอเลือกนำเสนอในประเด็นรถโดยสารประจำทางใน กทม.และปริมณฑลก่อน เพื่อประกอบกับบทความเรื่องเด่นซึ่งเกี่ยวกับรถโดยสารประจำทางพอดี ข้อมูลเฉพาะของการสำรวจ *ปริมาณตัวอย่างในการเก็บข้อมูล 307 ตัวอย่าง *สถานที่ในการสำรวจ : บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณสวนจตุจักรและเซ็นทรัลลาดพร้าว บริเวณเดอะมอลล์งามวงศ์วานและพันธุ์ทิพย์งามวงศ์วาน บริเวณเซ็นทรัลบางนาและสี่แยกบางนา บริเวณเซ็นทรัลปิ่นเกล้าและเมเจอร์ปิ่นเกล้า   ข้อสรุปจากผลสำรวจ -รถเมล์หรือรถโดยสารประจำทาง ยังคงเป็นตัวเลือกแรกในการเดินทางของคนกทม.และปริมณฑล ด้วยเหตุผลของราคาที่ถูกกว่าวิธีการเดินทางประเภทอื่นๆ มากถึง 59% โดยมีผู้ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเพียงแค่ 3% เท่านั้น -ในการเดินทางโดยรถประจำทางในกทม. ผู้ใช้ยังต้องต่อรถโดยสารมากกว่า 1 ต่อเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางถึง 31% -ระยะเวลาในการรอรถ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คือ 41% บอกว่าต้องใช้เวลารอ 16-30 นาที ขณะที่มี 3% ที่ต้องรอรถนานมากกว่า 1 ชั่วโมง -เรื่องความถี่ของการมาของรถโดยสารประจำทางในกทม. พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามคือ 56% รู้สึกพอใจในระดับปานกลาง -สภาพรถทั้งภายนอกและภายใน ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งหนึ่งรู้สึกพอใจในระดับปานกลาง คือ 52% สำหรับสภาพรถภายนอก และ 57% สำหรับสภาพรถภายใน -มารยาทการให้บริการของพนักงานขับรถ ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งหนึ่งรู้สึกพอใจปานกลาง คือ 57% -การรับส่งผู้โดยสารนอกป้าย แม้ว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะบอกว่าไม่เคยพบปัญหาดังกล่าว แต่อีก 45% ที่เหลือเคยเจอปัญหารถโดยสารประจำทางการรับส่งผู้โดยสารนอกป้าย ซึ่งต้องถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง -ความรู้สึกปลอดภัยโดยรวม 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกพอใจมาก ส่วนอีก 37% รู้สึกพอใจปานกลาง ขณะที่มี 6% รู้สึกไม่พอใจมากที่สุด                  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point