ฉบับที่ 245 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2564

คปภ.มีคำสั่งห้าม "สินมั่นคง" ยกเลิกประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ          จากกรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศยกเลิกแผนประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in1 อ้างเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19  ที่ไม่สามารถควบคุมได้จึงใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์นั้น  นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า จะใช้อำนาจตามกฎหมาย อาศัยมาตรการ 29 อนุ 2 ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย เพื่อสั่งยกเลิกเงื่อนไขของสินมั่นคงประกันภัยทั้งหมด เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนเหมือนเดิม         ด้านนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากกรณีที่สินมั่นคงประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ สมาคมได้ดำเนินการสอบถามบริษัทประกันวินาศภัยรายอื่นที่เป็นสมาชิก ซึ่งขายกรมธรรม์ประกันประกันโควิด-19 อยู่ในเวลานี้ และได้รับแจ้งว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่ขายกรมธรรม์ดังกล่าวอยู่ ไม่มีนโยบายในการยกเลิกกรมธรรม์แต่อย่างใด จี้รัฐแก้กฎหมายพนันออนไลน์สถิติสูงช่วงโควิด        รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมวิจัย ได้ศึกษาภาพรวมการเล่นพนันออนไลน์ ชี้การสำรวจจากปี 2562-2564 มีรูปแบบไม่แตกต่างกันที่นิยมเล่นสูงสุด คือ บาคาร่า ป๊อกเด้ง รองลงมาคือพวก slot machine และจำนวนผู้เล่นปี 2562  จากเดิม 8 แสนกว่าคนพุ่งสูงขึ้นมาในปี 2564 ประมาณ 1.9 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดมีผู้เล่นการพนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้น  จากการสัมภาษณ์พบว่า เป็นผู้เล่นกลุ่มใหม่และเป็นผู้เล่นออฟไลน์ ที่เปลี่ยนมาเล่นออนไลน์แทน เนื่องจากสถานที่ปิดจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้เล่นส่วนมากมีช่วงอายุเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้รวดเร็ว ส่วนใหญ่สาเหตุการเล่น ประมาณ 90% มาจากการเข้าถึงที่สะดวกง่าย โปรโมชั่น ปกปิดเป็นความลับ และมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกจับ รศ.นวลน้อย จึงแนะว่า รัฐควรมีการจัดการอย่างจริงจัง คิดในรูปแบบบริบทใหม่เพราะเศรษฐกิจสังคมมีการพัฒนาไปเยอะ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือบทลงโทษการเล่นพนันออนไลน์  มีเพียงกฎหมายที่เกี่ยวกับการพนันที่ออกมาตั้งแต่ปี 2478 ถึงมีการปรับปรุงแต่ยังล้าสมัย ไม่ชัดเจนในบทลงโทษ ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย ควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการจัดการให้ชัดเจน ครอบคลุม กรณีหมิงตี้พบยื่นร้องเรียนกว่า 500 ราย ด้านมลพิษอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย         พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ใน จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า ศูนย์รับแจ้งความเสียหาย สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ ได้สอบปากคำผู้ที่ได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 500 ราย รวมมูลค่าความเสียหายที่ได้รับแจ้งจากผู้ได้รับผลกระทบเบื้องต้นประมาณ 250 ล้านบาท ด้านกรมควบคุมมลพิษ โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า คพ.ได้ประสานสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 (นนทบุรี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ คพ. ในการประชุมหารือเพื่อสรุปความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังเพลิงไหม้โรงงานดังกล่าว จากผลการตรวจสอบพบว่าสถานการณ์มลพิษในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ เหลือเพียงการตรวจสอบสารเคมีและกากของเสียอันตรายที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่โรงงาน เพื่อหาแนวทางการจัดการ บำบัดและขนย้ายออกไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป          “ในส่วนของการสื่อสารกับประชาชน คพ.ได้จัดทำอินโฟกราฟิกให้ความรู้ในเรื่องการข้อควรปฏิบัติสำหรับประชาชนเมื่อกลับเข้าที่พักอาศัยหลังเกิดเพลิงไหม้ และคำแนะนำการใช้น้ำรอบพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งน้ำฝน น้ำคลอง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสและนำน้ำฝนมาใช้ในการอุปโภคบริโภคในช่วงนี้ ส่วนน้ำประปา สามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ ประชาชนที่มีการรองน้ำประปาใส่ภาชนะไว้ ให้มีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการปนเปื้อน”  ขึ้นภาษีผ้าอนามัยแบบสอด         จากกรณีมีราชกิจจานุเบกษาประกาศ ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564  ให้ผ้าอนามัยชนิดสอดที่ใช้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือน เป็นเครื่องสำอาง ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จนเกิดแฮชแท๊กเทรนด์ทวิตเตอร์  #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริโภคกลัวว่าจะมีการขึ้นภาษี เนื่องจากถูกจัดเป็นเครื่องสำอางนั้น         นายลวรรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึง กรณีที่มีการประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง จะทำให้ต้องมีภาระเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอัตราภาษีของผ้าอนามัยอยู่ที่ 30% และกรมสรรพสามิตไม่มีนโนบายการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยตามที่เป็นข่าว และไม่เคยมีการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพียงรายการเดียว คือ น้ำหอม ในอัตราภาษีตามมูลค่า 8% ทั้งนี้ ปัจจุบันผ้าอนามัยไม่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นที่สตรีต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในนิยามการเสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย คือ ถ้าไม่มีใช้ ก็ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าส่งผลกระทบ ก็ให้ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ฟุ่มเฟือย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ นสพ.ฐานเศรษฐกิจพาดหัวข่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง         วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและในเว็บไซต์ข่าว  ได้ทำการพาดหัวข่าวว่า “เปิดปมศาลปกครองกลาง ไฟเขียวดีล ‘ซีพี-โลตัส’ ยกคำฟ้อง 37 องค์กรผู้บริโภค” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะผู้ฟ้องคดีนี้ ได้ชี้แจงว่า เป็นการพาดหัวข่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจผิดว่าศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีการควบรวม ซีพีและโลตัส ซึ่งข้อเท็จจริงคือศาลเพียงยกคำร้องกรณีที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการให้ “ไฟเขียว ดีล ซีพี-โลตัส” การรายงานข่าวเช่นนี้ถือเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบให้กับคู่กรณีของคดี ในขณะที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งการกระทำนี้อาจถือว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของศาล ผิดจรรยาบรรณสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอให้ข้อเท็จจริงคือ ในระหว่างการพิจารณาคดีเพิกถอนมติคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มูลนิธิและผู้ร่วมฟ้อง ได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค คู่แข่งทางการค้า และผู้ผลิตสินค้าการเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค ไว้เป็นการชั่วคราว ซึ่งศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีเหตุให้คุ้มครอง แต่ในส่วนของคดี ศาลยังอยู่ระหว่างการไต่สวน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำคำคัดค้านคำให้การยื่นต่อศาล การกระทำเช่นนี้อาจถือได้ว่าเป็นการให้ข้อมูลเท็จกับสาธารณะ เป็นการหมิ่นศาล และผิดจรรยาบรรณสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม จึงเรียกร้องให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ แก้ไขสาระสำคัญของข่าวให้ถูกต้อง ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง

อ่านเพิ่มเติม >