ฉบับที่ 227 บริการขนส่งมวลชนที่พึงปรารถนา

        ปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แน่นอนค่าใช้จ่ายที่สำคัญของผู้บริโภค คงหนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายเรื่อง อาหาร ที่อยู่อาศัย และค่าบริการขนส่งในการเดินทางไปทำงาน         งานวิจัยล่าสุดของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) พบว่า ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร สูงถึง 26-28 % หรือหากใช้รถปรับอากาศ ก็สูงถึง 15 % ของรายได้ขั้นต่ำ ขณะที่ในฝรั่งเศสมีค่าใช้จ่ายเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % ในการใช้รถไฟฟ้าเท่านั้น         โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ต้องออกจากบ้าน ใช้มอเตอร์ไซค์ รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้า 14-16 จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ         แน่นอนปัญหาความไม่เพียงพอของบริการขนส่งมวลชน ปัญหารถติด การใช้เวลาบนท้องถนน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความไม่แน่นอนของบริการจากปัญหารถติด ปัญหารถไฟฟ้าราคาแพง ทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากถึง 43 % เดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์ 26 % และรถขนส่งมวลชน 24 %  ขณะที่สิงคโปร์ใช้รถขนส่งสาธารณะถึง 62 % และ 89 % ในฮ่องกง (สถิติในปี 2015)         รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) โดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี พ.ศ. 2030 จะทำให้ประชากรได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง สามารถจ่ายค่าโดยสารและสามารถเข้าถึงระบบขนส่ง และระบบขนส่งที่ยั่งยืน การปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ตัวอย่างที่ดีที่สุด เช่น โดยการขยายเส้นทางขนส่งสาธารณะให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอย่างผู้หญิง เด็ก คนพิการ และผู้สูงวัย โดยกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ คือต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนที่สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร          เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ความปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งมวลชน การบริโภคที่ยั่งยืน และแน่นอนการแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาสุขภาพ รัฐต้องสนับสนุนให้มีการใช้บริการขนส่งมวลชนที่เพิ่มขึ้น ข้อเสนอที่สำคัญของผู้บริโภคในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มี 5 เรื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สำคัญ         1) ประชาชนทั่วประเทศ ต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที ต้องปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ         2) ระยะเวลาในการรอรถเมล์ หรือรถโดยสารสาธารณะไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงไม่เร่งด่วนในการเดินทางประจำวัน         3) มีระบบให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ว่า รถเมล์ หรือรถโดยสารสายอะไรที่กำลังจะมา (ViaBus) ในกรุงเทพฯยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถบอกได้ในปัจจุบัน รวมทั้งในต่างจังหวัดที่ยังแทบไม่มีระบบอะไรเลย         4) ค่าใช้จ่ายบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมแล้วต้องไม่เกิน 5 % ของรายได้ขั้นต่ำในแต่ละวัน ซึ่งทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สะอาด มีคุณภาพในการให้บริการ         5) สำหรับกรุงเทพ ฯ ต้องจัดการให้ผู้บริโภคเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวในการใช้บริการถึงแม้จะใช้หลายเส้นทาง มีระบบที่เชื่อมโยงรถเมล์กับบริการรถไฟฟ้า และบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท

อ่านเพิ่มเติม >