ฉบับที่ 230 มอเตอร์ไซค์ขาดต่อ พ.ร.บ. เกิดอุบัติเหตุยังได้สิทธิรักษาหรือไม่

        บ่ายวันหนึ่งคุณพิพัฒน์ออกไปซื้อของที่ตลาดนัดแห่งหนึ่งแถวละแวกบ้าน หลังอาบน้ำแต่งตัวเสร็จเรียบร้อย ก็เดินมาหยิบกุญแจรถมอเตอร์ไซค์ที่วางไว้บนโต๊ะทำงาน แต่ปรากฏว่า กุญแจรถที่เคยวางอยู่บนโต๊ะหายไป คุณพิพัฒน์จึงคิดว่าลูกสาวคงยืมรถมอเตอร์ไซค์ไปหาเพื่อน จึงหยิบกุญแจรถมอเตอร์ไซค์อีกคัน ซึ่งเป็นรถพ่วงข้างของตนเองที่เอาไว้ใช้งานขนของแต่รถคันนี้เป็นคันที่ยังไม่ได้ต่ออายุตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535         เมื่อทำธุระในตลาดเสร็จเรียบร้อย คุณพิพัฒน์ขับขี่รถกลับบ้านอย่างช้าๆ เพราะเป็นรถพ่วงข้าง ซึ่งไม่ค่อยได้นำออกมาใช้งานนัก เมื่อขับขี่มาจนถึงบริเวณด้านหน้าปากซอยขณะที่กำลังจะเลี้ยวเข้าบ้านนั้น คุณพิพัฒน์ได้กะจังหวะการเลี้ยวผิด ทำให้รถพุ่งไปชนกับรั้วบ้านจนได้รับบาดเจ็บแขนหัก ต่อมาเพื่อนบ้านที่เห็นเหตุการณ์ได้นำตัวคุณพิพัฒน์ส่งโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน หลังเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารสิทธิแล้วได้แจ้งว่า คุณพิพัฒน์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเองทั้งหมด เพราะว่ารถพ่วงข้างที่คุณพิพัฒน์ขับขี่แล้วเกิดอุบัติเหตุนั้นเป็นรถที่ไม่ได้ต่อ พ.ร.บ.         ในกรณีแบบนี้ คุณพิพัฒน์จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลกับหน่วยงานใดได้บ้าง และเบิกจ่ายได้แค่ไหน แนวทางแก้ไขปัญหา        ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือที่เราเรียกกันว่า “ประกันภัยภาคบังคับ” หรือ “ พ.ร.บ.รถ”  กฎหมายบังคับให้รถทุกคัน ทุกประเภท ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกต้องทำไว้ เพื่อให้ความคุ้มครองกับตัวบุคคลที่ได้รับผลจากอุบัติเหตุ ซึ่งตัวบุคคลที่ว่านั้นหมายถึง ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก ในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัย โดยจะได้รับเป็นเงินค่าชดเชยความเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทน        จากข้อเท็จจริงกรณีนี้พบว่า คุณพิพัฒน์ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์ด้วยความประมาทล้มเองไม่มีคู่กรณี และรถมอเตอร์ไซค์ไม่ได้จัดทำ พ.ร.บ. จึงไม่ได้รับความคุ้มครองใดตามสิทธิใน พ.ร.บ. นี้ แต่จะเข้าในสิทธิประกันสุขภาพที่สังกัด เช่น พ.ร.บ.ประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง หรือสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ ซึ่งกรณีอุบัติเหตุหากร้ายแรงอยู่ในเกณฑ์อันตรายถึงแก่ชีวิตจะเข้าข่ายกรณีฉุกเฉิน เมื่อ รพ.เอกชนได้ดูแลเบื้องต้นจนอาการปลอดภัยแล้ว จะต้องเข้ารักษาต่อที่ รพ.ตามที่มีสิทธิอยู่ต่อไป โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษา แต่กรณีอาการไม่ถึงแก่ชีวิตหากเข้ารักษาตัวใน รพ.เอกชน ก็ต้องสำรองเงินตนเองจ่ายไปก่อน        แต่ถ้ารถมอเตอร์ไซค์คุณพิพัฒน์จัดทำ พ.ร.บ. ไว้ คุณพิพัฒน์จะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ในส่วนค่าเสียหายเบื้องต้น คือ ค่ารักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 30,000 บาท และเงินชดเชย 35,000 ต่อคน กรณีเสียชีวิต        ดังนั้นการต่ออายุ พ.ร.บ. หรือ ประกันภัยภาคบังคับ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของรถทุกคน เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ต้องป้องกันไว้ก่อนเป็นดีที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 บทเรียนจากหนึ่งของการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.

        การเดินทางของทุกคนในปัจจุบัน ล้วนมีปัจจัยความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้อยู่ตลอดเวลา หลายครั้งเกิดจากจุดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นความประมาท หรือเกิดจากการที่พวกเราไม่ตระหนักถึงความปลอดภัยเวลาเราใช้รถใช้ถนน จากจุดเล็กๆ นำพาไปสู่ความสูญเสียทั้งของครอบครัว ญาติพี่น้องมิตรสหาย ตลอดจนความเสียหายของเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของประเทศเลยทีเดียว         หลายครั้งพวกเราอาจจะมองภาพรวมว่าอุบัติเหตุทางถนนมักจะต้องเกิดกับรถขนาดใหญ่ที่ชนกันตามภาพข่าวสารที่ให้เราเสพอยู่ทุกวัน แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้นจะพบว่าอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดกับถนนสายรอง เช่น ถนนในหมู่บ้านชุมชน ที่ส่วนใหญ่มักละเลยกฎระเบียบจราจรเป็นนิสัย ไม่ว่าจะขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกกันน็อค ที่เห็นกันจนชินตาอยู่ทุกวัน         และไม่น่าแปลกใจเลยที่ทำไมถนนสายรองตามชุมชนหมู่บ้านจะเป็นจุดที่มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ เพราะทุกวันนี้สิ่งที่เราเห็น คือ ภาพวัยรุ่นแว้นจักรยานยนต์กันไปมาด้วยความเร็ว ขี่จักรยานยนต์ซ้อนสามโดยไม่สนใจใคร และที่สำคัญไม่มีใครใส่หมวกกันน็อคเลยซักคน         หากวันไหนดวงตกรถล้มพลิกคว่ำแล้วพาคนอื่นล้มเจ็บไปด้วย ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที เหมือนเรื่องที่จะบอกต่อไปนี้ ที่ผู้เขียนคิดน่าจะเป็นบทเรียนให้กับทุกคนได้ หากวันหนึ่งเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเรา         เรื่องมีอยู่ว่า เช้าวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในเวลาเช้าของทุกวัน คุณแม่ของผู้เขียนจะขี่จักรยานไปตลาดตามประสาแม่บ้าน เมื่อซื้อของเสร็จแล้วและกำลังขี่จักรยานกลับ โดยขี่อยู่ในช่องทางด้านซ้ายของตนเอง อยู่ดีๆ ก็ถูกรถจักรยานยนต์ของวัยรุ่นสาวที่ซ้อนสามพุ่งเข้าชนที่ด้านท้ายรถจักรยานอย่างจัง จนทำให้คุณแม่ของผู้เขียนกระเด็นล้มลงกลางถนนศีรษะฟาดพื้น         หลังเกิดเหตุมีพลเมืองดีได้เข้ามาช่วยเหลือและรีบโทรแจ้งสายด่วนฉุกเฉินทันที แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเช้าประมาณ 7.45 น. ขณะนั้นได้รับแจ้งจากปลายทางว่าตอนนี้ไม่มีรถฉุกเฉินรองรับ หากรีบให้พาผู้บาดเจ็บมาเองได้เลย แต่ด้วยเรายังไม่แน่ใจในอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจไม่เคลื่อนย้ายคุณแม่ตามที่ปลายสายแนะนำ เพราะหากมีการเคลื่อนย้ายโดยผู้ไม่มีความรู้ อาจจะทำให้อาการที่บาดเจ็บเดิมมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้         แต่โชคดียังมีพลเมืองดีช่วยเรียกรถฉุกเฉินที่รู้จักมารับ แม้จะรอนานเกือบยี่สิบนาทีก็ตาม เมื่อรถฉุกเฉินมารับแล้วและพาไปถึงโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ผู้เขียนแจ้งความประสงค์จะขอใช้สิทธิ พ.ร.บ.หรือประกันภัยภาคบังคับของรถคู่กรณี เพราะเตรียมเอกสารไปด้วยแล้ว แต่พยาบาลบอกจะใช้ได้ต้องให้คู่กรณีไปลงบันทึกประจำวันให้ตำรวจชี้ก่อนว่าเป็นฝ่ายผิด เพื่อที่เราจะสามารถนำบันทึกประจำวันนั้นมาเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิของ พ.ร.บ. หรือประกันภาคบังคับรถจักรยานยนต์คู่กรณีได้         หลังจากนั้นผู้เขียนจึงรีบติดต่อตามคู่กรณีมาลงบันทึกประจำวัน เมื่อถึงสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกยังชี้ผิดถูกไม่ได้ เพราะคุณแม่ยังบาดเจ็บรักษาตัวอยู่ ต้องรอให้หายดีก่อน แล้วให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบข้อเท็จจริง ถึงจะชี้ได้ว่าใครผิดใครถูก…         จากอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เขียนนึกในใจเพราะเป็นแบบนี้ คนที่มีความจำเป็นถึงเข้าใช้สิทธิ พ.ร.บ.ได้ยาก คนส่วนใหญ่เขาถึงรอไม่ไหว ต้องสำรองเงินส่วนตัว หรือประกันภัยอื่นๆ (ถ้ามี) จ่ายไปก่อน เช่น ผู้เขียนเป็นต้น ที่ตัดสินใจไม่รอแล้ว พ.ร.บ. ใช้ประกันอุบัติเหตุจ่ายค่ารักษาพยาบาลของคุณแม่ไปก่อนแทน         แม้ว่าแนวทางที่รัฐกำหนดเรื่องสิทธิตามพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยจากรถให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้จะดีในระดับหนึ่ง แต่หากพิจารณาถึงขั้นตอนกระบวนการในแต่ละส่วนแล้วพบว่า ยังมีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิของผู้บริโภคที่เดือดร้อนเสียหายอยู่         ในกรณีนี้จริงๆ แล้ว โรงพยาบาลทุกแห่งควรมีระบบตรวจสอบข้อมูลและทำเรื่องโดยตรงกับบริษัทประกันภัยของรถคู่กรณีได้เลย ตามสิทธิค่าเสียหายเบื้องต้นที่กำหนดให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประสบภัยจากรถ ทุกคนที่ประสบภัยจากรถคันที่ขับขี่หรือนั่งซ้อนท้ายมา กรณีรถจักรยานยนต์หรือนั่งโดยสารมาในรถกรณีรถยนต์  รวมถึงคนเดินถนน ที่ไม่ได้ขับขี่หรือซ้อนท้ายหรือโดยสารในรถคันอื่นๆ โดยไม่ต้องรอสรุปผลทางคดี         แต่ในทางปฏิบัติของการเคลมค่ารักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยทางถนนในหลายกรณี ยังพบปัญหาในลักษณะเดียวกันกับที่คุณแม่ผู้เขียนพบเจออยู่ ประเด็นหลัก คือ การไม่สามารถเชื่อมต่อหรือถ่ายโอนข้อมูลผู้บาดเจ็บ ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ ของโรงพยาบาล บริษัทประกัน และเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าด้วยกันได้         ทั้งที่ผู้ประสบภัยที่บาดเจ็บสมควรที่จะต้องได้รับการรักษาตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี แต่กลับกลายเป็นว่าคนเหล่านั้นกลับเข้าไม่ถึงสิทธิ บางรายต้องสำรองเงินส่วนตัวหรือกู้หนี้ยืมสินบุคคลภายนอกหาเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาล         ที่ผ่านมาเราได้แต่แนะนำให้คนที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนไปใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก่อนทุกครั้ง แต่พอเจอกับตัวถึงรู้ว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะขอใช้สิทธิค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.นี้  จะทำยังไงให้ พ.ร.บ. ใช้ง่ายสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเวลาที่มีคนต้องการใช้จริงๆ จะได้ไม่ยุ่งยากแบบนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ปัญหา SPAM / SMS กวนใจ กับ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่

ปัญหา sms ขยะ ที่ส่งข้อความโฆษณามาชวนให้ซื้อสินค้า หรือสมัครใช้บริการต่างๆ ทั้ง sms ชวนสมัครเล่นเกมส์  โหลดคลิป ดูดวง ทายผลบอล เข้ามายังโทรศัพท์มือถือวันละหลายๆ ครั้ง หรือข้อความโฆษณาขายครีม ขายอาหารเสริมที่ส่งมาทาง Line หรือโพสฝากร้านค้าผ่าน Facebook หรือ Instagram ที่โพสซ้ำๆ จนเป็นน่ารำคาญ นับเป็นปัญหาที่พูดกันมานานในสังคมไทย มีการออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อจัดการปัญหา SPAM มาโดยตลอด  ล่าสุด พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ได้มีการแก้ไข เพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ ปัญหา SPAM โดยในมาตรา 11 กำหนดว่า “ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิด ความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับ สามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองแสนบาท   ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดลักษณะและวิธีการส่ง รวมทั้งลักษณะและปริมาณของ ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญ แก่ผู้รับ และลักษณะอันเป็นการบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย” ปัจจุบัน ประกาศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ลักษณะและวิธีการส่ง และลักษณะและปริมาณของข้อมูล ความถี่และวิธีการส่งซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ที่สนใจก็สามารถ Download ข้อมูลกฎหมายดังกล่าว มาศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.prachachat.net/ict/news-8775  สาระสำคัญโดยย่อของกฎหมายนี้ก็คือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามกฎหมายนี้ ครอบคลุมทั้ง การส่งข้อความ sms , e- mail , line โฆษณาขายของ การโฆษณาในลักษณะฝากร้านใน facebook , Instragram   การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในเชิงพาณิชย์ไปยังผู้รับ จะต้องได้รับความยินยอมจึงจะไม่เป็นความผิด และข้อมูลที่ส่งไปนั้น จะต้องระบุช่องทางหรือวิธีการในการปฏิเสธการรับข้อมูล เช่น ต้องแจ้งเบอร์โทรศัพท์ โทรสาร e-mail หรือ มีระบบตอบรับอัตโนมัติที่ผู้รับจะแจ้งยกเลิกการรับข้อมูลได้โดยง่าย   หากแจ้งปฏิเสธการรับข้อมูลไปแล้ว ยังมีการฝ่าฝืนส่งข้อมูลโฆษณาต่าง ๆ มาอีก ผู้บริโภคก็จะต้องแจ้งเตือนไปยังผู้ส่งเป็นครั้งที่ 2 ให้ชัดเจนว่าทางผู้ประกอบการได้รับทราบถึงการปฏิเสธนี้อย่างชัดแจ้งแล้ว ถ้ายังฝ่าฝืนส่งมาอีกคราวนี้ ก็จะถือว่าผู้ส่งมีความผิดตามมาตรา 11 มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท  นอกจากนี้ ก็จะมีบทบัญญัติว่าด้วยข้อยกเว้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เช่น การส่งข้อมูลเพื่อเรียกคืนสินค้า(Recall) เนื่องจากความชำรุดบกพร่องของสินค้า การส่งข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรการกุศล หรือการส่งข้อมูลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์  กฎหมายฉบับนี้ ออกแบบมาตามหลักการ Opt-Out คือ ผู้บริโภคต้องแสดงเจตนาว่าจะไม่รับข้อความโฆษณาต่างๆ ไปยังผู้ประกอบการ เมื่อปฏิเสธไปแล้ว ยังมีการฝ่าฝืนส่งข้อความมารบกวนอีกจึงจะถือว่า ผู้ประกอบการมีความผิด  ในต่างประเทศ ที่ใช้ระบบ Opt-Out ควบคุมการทำตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ มิให้รุกล้ำสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกง จะมีสิ่งที่เรียกว่า Do not call register ซึ่ง อาจจะแปลเป็นไทยว่า “ระบบลงทะเบียนห้ามโทร” ซึ่งจะเป็นระบบกลางที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับข้อความโฆษณาต่าง ๆ ได้มาลงทะเบียนไว้ และในกรณีที่บริษัท ห้างร้าน จะทำการส่งข้อความโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ก็จะต้องมาตรวจสอบข้อมูลกับ Do not call list ก่อน ถ้าเกิดบริษัท ส่งข้อความโฆษณา ไปยังผู้ที่มาลงทะเบียนปฏิเสธไว้ ก็จะถือว่ามีความผิดทันที   ส่วนของไทย ณ ขณะนี้ ยังไม่มีระบบกลาง ผู้บริโภคก็ต้องขวนขวายแจ้งไปยังผู้ประกอบการแต่ละรายเอง แถมยังต้องมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ผู้ประกอบการได้รับทราบคำปฏิเสธแล้วยังฝ่าฝืนส่งข้อความโฆษณามา จึงจะถือว่าเป็นความผิด ก็ไม่รู้ว่า กฎหมายที่มีลักษณะเขียนเสือให้วัวกลัว แบบนี้ จะกำราบผู้ประกอบการให้หยุดส่ง SPAM ได้นานสักเท่าไร ปิดท้าย กันด้วยเกร็ดความรู้ของคำว่า SPAM ซึ่งเป็น คำแสลง ในภาษาอังกฤษ ที่ใช้เรียก การพยายามยัดเยียดส่งข้อความโฆษณาไปยังผู้รับจนเกิดความรำคาญ ซึ่งไทยเราก็เรียก ทับศัพท์ตามว่า “สแปม” คำนี้มีที่มาจาก เนื้อหมูกระป๋องยี่ห้อ SPAM ซึ่งเป็นสินค้าขายดีในชีวิตประจำวันของพวกฝรั่ง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีหมูกระป๋องยี่ห้อนี้ขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนเหตุที่ SPAM กลายมาเป็น ศัพท์แสลงก็ต้องย้อนกลับไป เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ในยุค 70 มีรายการโทรทัศน์ของประเทศอังกฤษ ชื่อ Monty Python ซึ่งเป็นรายการตลกสั้นๆ มีอยู่ตอนหนึ่ง ตัวเอกของเรื่องเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งทุกเมนูล้วนแต่มีส่วนผสมของ “SPAM หมูกระป๋อง” แม้ลูกค้าจะบอกว่าไม่ต้องใส่ SPAM ได้ไหม ก็ไม่วายที่พนักงานของร้านจะพยายามยัดเยียด ให้ลูกค้ากิน SPAM ให้จงได้ จนเกิดเป็นความโกลาหล ปนฮาขึ้น ลองเข้าไปชมคลิปรายการ Monty Python ตอน SPAM ทาง YouTube แล้วจะเห็นภาพชัดเจน https://www.youtube.com/watch?v=anwy2MPT5RE  เข้าใจว่า พวกฝรั่ง คงจะอินกับมุขตลกนี้มาก ดังนั้น ต่อมา เมื่อมีการพยายามส่งข้อความโฆษณา ขายสินค้าต่างๆ ให้ผู้บริโภค จนรกหูรกตา หน้ารำคาญ จึงเรียกพฤติกรรมนี้ว่า SPAM

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังเสาสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน

แม้เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยนำพาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย แต่ในปี 2555 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งสมอนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยถึงผลกระทบต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เสาสัญญาณการสื่อสารว่า ภายในรัศมี 400 เมตร ผู้อาศัยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกัน ได้แก่ ปัญหาทางสุขภาวะ เช่น มีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ขาดสมาธิ วิงเวียน สั่นกระตุก เศร้าสลด สายตาพร่ามัว รวมทั้งพบอัตราความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มสูงกว่า 3 - 4 เท่าตัว ทำให้หลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยมีนโยบายต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเรากลับพบว่าในบางพื้นที่ได้มีการติดตั้งเสาสัญญาณ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายของผู้อยู่อาศัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนของผู้ร้องรายนี้ คุณสุชัยร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ในชุมชนของเขามีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ โดยขัดกับนโยบายป้องกันการเกิดอันตราย เพราะเสาดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของเขาที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลชุมชนเพียง 20 เมตร ซึ่งตามหลักการติดตั้งเสาสัญญาณ ต้องอยู่ห่างจากชุมชนเกิน 2 กิโลเมตรและควรอยู่บนเนินสูง รวมทั้งขอบของลำคลื่นหลัก (main beam) ที่ระดับพื้นดินต้องอยู่ห่างจากสถานที่กลุ่มผู้อ่อนแอ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักฟื้นคนชรา ไม่น้อยกว่า 100 เมตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ ดังนั้นคุณสุชัยจึงขอคำปรึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยต้องการให้มีการย้ายเสาสัญญาณดังกล่าวออกจากชุมชนแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมที่ อบต. ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการขออนุญาตจากผู้ประกอบการหรือทำประชาพิจารณ์ ในการติดตั้งเสาสัญญาณดังกล่าวหรือไม่ โดยหากพบว่าไม่มีการดำเนินการเหล่านั้น สามารถล่ารายชื่อของคนในชุมชนที่ไม่ต้องการให้มีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ดังกล่าว และทำหนังสือส่งถึง กสทช. เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหา หรือโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงต่อ กสทช. ได้ที่สายด่วน 1300 นอกจากนี้สามารถทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้ชี้แจงข้อสงสัยได้ด้วย ทั้งนี้ภายหลังการดำเนินการ พบว่า กสทช. ได้เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ และขอให้ถอนการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าวออกจากชุมชนไป ตามหลักการติดตั้งเสาส่งสัญญาณในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1. การขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตรวจสอบจาก กสทช. ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.25352. การขออนุญาตก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารในจุดติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ตรวจสอบจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 4)3. ขั้นตอนการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ตรวจสอบจาก กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 12.54. ตรวจสอบการดำเนินการเรื่อง การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องส่งรายงานประเมินระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และต้องมีระดับความแรงของคลื่นที่ได้มาตรฐานตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 10 และ 11

อ่านเพิ่มเติม >