ฉบับที่ 170 นับถอยหลัง 180 วัน พรบ.ทวงหนี้

จากปัญหาการร้องเรียนพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนที่ติดตามหนี้มีมากมาย  เช่น การข่มขู่  การประจาน  ทวงหนี้ไม่เป็นเวลา  ทวงหนี้กับญาติพี่น้อง  ฯลฯ  สร้างแรงกดดันให้ลูกหนี้  ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล ก็ยังไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการติดตามทวงถามหนี้ ได้    หลังจาก  คสช.ได้หยิบร่าง พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. ..   มาปัดฝุ่นใหม่  ส่งให้สภานิติบัญญัติไปแก้ไขร่างให้ครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบเมื่อเดือนสิงหาคม 57     หลังจากที่รอคอยกันมาหลายปี   คงต้องนับถอยหลังจากวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558   ไปอีก 180  วัน“พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558” จะมีผลบังคับใช้ควบคุมพฤติกรรมของเจ้าหนี้และคนติดตามทวงหนี้ ลูกหนี้ที่รอคอยกฎหมายฉบับนี้คงได้เฮ กันอย่างถ้วนหน้า  ที่จะเห็นคนติดตามทวงหนี้มีมารยาทดีขึ้น  วันนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  เนื้อหาเป็นอย่างไร คงต้องมาดูกัน ว่าฝันของลูกหนีจะเป็นจริงหรือไม่เนื้อหาสาระสำคัญ ของ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้  พ.ศ. 25581. ขอบเขตการใช้บังคับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ทั้งนี้ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้รวมถึง ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้สินเชื่อในการทวงหนี้2. กำหนดให้มีการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย  หากเป็นทนายความให้ดำเนินการจดทะเบียนได้ที่สภาทนายความ 3. การติดตามทวงถามหนี้ ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้ การติดต่อกับบุคคลอื่น ให้กระทำได้เพื่อสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น โดยผู้ทวงถามหนี้ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้(1) แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้(2) ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสม(3) ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้(4) ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ การทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ปฏิบัติดังต่อไปนี้(1) สถานที่ติดต่อ ในกรณีที่ติดต่อโดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ได้แจ้งให้เป็นสถานที่ติดต่อ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าหรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้ โดยผู้ทวงถามหนี้ได้พยายามติดต่อตามสมควรแล้ว ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(2) เวลาในการติดต่อ การติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 20.00 นาฬิกาและในวันหยุดราชการ เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 18.00 นาฬิกา หากไม่สามารถติดต่อตามเวลาดังกล่าวได้หรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม ให้ติดต่อได้ในช่วงเวลาอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(3) จำนวนครั้งที่ติดต่อ ในช่วงเวลาตาม (2) ให้ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสมและคณะกรรมการอาจประกาศกำหนดจำนวนครั้งด้วยก็ได้(4) ในกรณีที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งให้ทราบถึงชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้ และถ้าผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย ในกรณีที่ผู้ทวงถามหนี้ขอรับชำระหนี้ ผู้ทวงถามหนี้ต้องแสดงหลักฐาน การรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ด้วยและเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้แล้ว ให้ผู้ทวงถามหนี้ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้ด้วยหากลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้โดยสุจริต ให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยชอบ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ทวงถามหนี้จะได้รับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้หรือไม่ก็ตาม ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้(1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น(2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น(3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 8 วรรคสอง (2)(4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใด ที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้(6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังต่อไปนี้(1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ(2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย(3) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน(4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิตหรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิตมาตรา 13 ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทำการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมดังต่อไปนี้(1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด(2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการดังต่อไปนี้(1) ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้(2) ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย 4. การกำกับดูแลและตรวจสอบ คณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้” ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการคนที่สองปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนายกสภาทนายความ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ ให้อธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการของกรมการปกครองสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามวรรคหนึ่งต้องมีความรูความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านการเงินการธนาคาร ด้านกฎหมายหรือด้านการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างน้อยด้านละหนึ่งคน ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ให้แต่งตั้งจากผู้แทนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่ห้ามอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ (1) ออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (2) ออกข้อบังคับกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการตามมาตรา 27 และกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว (3) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งให้ชำระค่าปรับทางปกครองและคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามมาตรา 38 (4) กำหนดหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบและระยะเวลาการชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบ (5) เสนอแนะหรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (6) เสนอแนะคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการในการคุ้มครองหรือช่วยเหลือลูกหนี้ในด้านอื่น (7) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดหรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย ให้มีคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ภายในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนตามพระราชบัญญัตินี้ (2) สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการ (4) รายงานการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการทุกสามเดือน (5) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ให้ที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจ ให้ที่ทำการปกครองจังหวัดและกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีอำนาจในเขตพื้นที่รับผิดชอบดังต่อไปนี้ (1) เป็นสำนักงานทะเบียนรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (2) รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี (3) ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ทวงถามหนี้หรือกำกับดูแลการปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (4) ประสานกับหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือตรวจสอบผู้ทวงถามหนี้หรือบุคคลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ (5) รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และอบรมวิธีการทวงถามหนี้ที่ถูกต้องและเหมาะสม (6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการ และคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำกรุงเทพมหานครแล้วแต่กรณี มอบหมาย   5. บทกำหนดโทษ 5.1 โทษทางปกครอง คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดมีอำนาจสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนดหากผู้ทวงถามหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คณะกรรมการฯมีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท   5.2 โทษอาญา บุคคลใดใช้วาจาดูหมิ่น  เปิดเผยหนี้  ติดต่อกับลูกหนี้ด้วยจดหมายเปิดผนึก ไปรษณียบัตร โทรสาร หรือใช้สัญลักษณ์หรือชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมาย  ที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน    ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความ สำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมายหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน  หรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต หรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บุคคลใดทำการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหาย แก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น  หรือ การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เจ้าหน้าที่ของรัฐประกอบธุรกิจทวงถามหนี้   ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการ  มาให้ข้อเท็จจริง หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ การทวงถามหนี้มาเพื่อประกอบการพิจารณา  หรือมาให้ถ้อยคำ   แสดงข้อมูลหรือส่งสมุดบัญชี  เอกสาร ดวงตราหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของผู้ทวงถามหนี้     ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษอาญาตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือการกระทำการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการแทนนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกัน  กฎหมายฉบับนี้ออกมามีเจตนาเพื่อควบคุมพฤติกรรม  ของผู้ทวงถามหนี้ เท่านั้น     มิได้ครอบคลุมเรื่องการชำระหนี้    ดังนั้นเมื่อลูกหนี้ไปกู้ยืมเงิน  ต้องมีหน้าที่ชำระหนี้ตามปกติ  หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้     เจ้าหนี้มิสิทธิที่จะดำเนินการฟ้องร้อง เรียกหนี้สินคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 14 ปี พรบ.องค์การอิสระฯ แท้งเรียบร้อย

วันนี้ผู้บริโภคอย่างเราๆ คงต้องยอมรับกันแล้วว่าวันนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพงกันแล้ว สินค้าหลายตัวทยอยกันขึ้นราคาอย่างไม่มีทีท่าจะว่าจะหยุดยั้งเมื่อไร หลายคนต้องดำรงชีวิตยากลำบากขึ้น เมื่อสินค้าแพงแต่ค่าแรงเท่าเดิม ปัญหาสารพัดถาโถมเข้ามารุมเร้าผู้บริโภคอย่างเราๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ คงทำได้แค่เซซัดตามกระแสไปวันๆ ทั้งปัญหามีเงินไม่พอซื้อสินค้า และมีเงินแต่หาซื้อสินค้าไม่ได้อันนี้น่าเจ็บใจเราเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นผู้ผลิตแต่ไม่มีสินค้าให้ซื้อ(กรณีสินค้าขาดตลาด) ปัญหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเราไม่มีเจ้าภาพที่มีฝีมือแก้ปัญหานี้ จริงๆที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เข้าตำรา ลิงแก้แห คือยิ่งแก้ยิ่งยุง สุดท้ายของคนทำงานผู้บริโภคก็หนีไม่พ้นอยากเห็นองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมันเกิดซะที3 เดือนที่แล้ว พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าสภาผู้แทนผ่านวาระที่ 1 ไปเรียบร้อย จนมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาหนึ่งคณะที่มีทั้งตัวแทนพรรคการเมืองและตัวแทนประชาชน ร่วมกันพิจารณา เสร็จสมบูรณ์ไปในต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นพวกเราก็เฝ้ารอให้ พรบ.เข้าสภา พวกเราได้แจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ากฎหมายจะเข้าสภาหลายครั้ง ทุกครั้งพวกเราก็จะไปนั่งรอ วันแล้ววันเล่ากฎหมายก็ไม่เข้า เพราะมีกฎหมายอื่นถูกเสนอแซงขึ้นพิจารณาก่อน โดยวิปรัฐบาล แต่พวกเราก็อดทนรอด้วยความหวังว่าน่าจะเข้าทันพวกเรารอจนประธานสภาจะปิดประชุม พวกเราถึงได้เคลื่อนออกจากรัฐสภา จนวันที่ 3 มีนาคม 2553 เรียกได้ว่าเป็นวันที่คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภครอคอยก็ว่าได้ วันนั้นเป็นวันที่กฎหมายเราจ่อคิวเข้าเป็นฉบับแรกยังไงก็ต้องเข้าเอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่แล้วคราวนี้ ไชโย้.....เช้าพวกเราเดินเข้ารัฐสภาอย่างอิ่มเอมเต็มไปด้วยความหวังอันล้นเปี่ยม แต่พอเข้าไปหลังบรรลังก์เราได้เห็นท่าทีของรองนายกรัฐมนตรี ทั้งคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ คุณสาทิตย์ วงหนองเตย บวกนายกรัฐมนตรี เราก็รู้สึกทะแม่งๆ เพราะเท่าที่คุยคือวิปรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับกรณีงบบริหารจัดการที่กรรมาธิการเสียงข้างมากกำหนดไว้หัวละ 5 บาท แต่วิปและรัฐบาลมีความเห็นว่าควรเป็น 3 บาท และมีความพยายามที่จะหว่านล้อมให้พวกเราถอน พรบ.ออกจากการพิจารณาเพื่อเอาไปแก้ให้เหลือ 3 บาท ท่านผู้อ่านคิดดูนะเรารอวันนี้มา 14 ปี พอกฎหมายจะเข้าฝ่ายการเมืองมาขอให้ถอนออก เป็นท่าน ท่านคิดยังไง? อารมณ์นั้นบอกได้คำเดียวว่าอยากร้องให้ และไม่อยากมองหน้าบรรดานักการเมืองเลย.. สุดท้ายพวกเราไม่ยอมให้ถอน ยืนยันให้พิจารณาไป ผ่านก็ผ่านไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน(ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป)ฝ่ายการเมืองก็แสดงให้เราเห็นว่าเขาโกรธที่เราแข็งขืน กฎหมายก็เข้าสภาผ่านไปแค่ 4 วาระ ก็มีสส.พรรครัฐบาลเสนอให้ถอนพรบ.ออกไปพิจารณาใหม่ สุดท้ายสภาก็มีมติให้ถอนพวกเราภาคประชาชนก็ได้แต่นั่งมองเราทำอะไรไม่ได้เพราะคนที่ลงมติได้มีแต่ฝ่ายการเมือง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 107 ปัญหาจาก พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถอีกแล้วครับ..ท่าน

สวัสดีปีใหม่ ขอให้โชคดีมีชัยทุกท่านนะจ๊ะ(ไม่ช้าไปใช่ไหม) และเรื่องที่ตามมาคือจำนวนอุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดจากการเดินทางด้วยรถประเภทต่างๆ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บมากมาย และที่หนีไม่พ้นคือเมื่อเกิดเหตุจากรถ ก็ต้องมี พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ จึงเขียนเรื่องที่เกิดเหตุเมื่อตอนปลายปี 2552ช่วงนั้นมีข่าวแปลกๆ คือชาวบ้าน “แห่ศพไปสวดที่หน้าสถานีตำรวจ” สาเหตุเพราะผู้ตายประสบเหตุ ถูกรถกระบะของตำรวจเฉี่ยวชน รถซาเล้ง(มอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง) จนทำให้แม่ลูก 2 คน ที่โดยสารมาเสียชีวิตทั้งคู่ โดยตำรวจคนที่ขับรถมาชน(ซึ่งค่อนข้างมีอิทธิพล) สั่งห้ามแจ้งความและไม่ยอมแจ้งประกัน แต่จะจ่ายให้ 2 ศพ 30,000 บาท ชาวบ้านไม่กล้าแจ้งความเพราะกลัวไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะคนที่ขับรถชนคือตำรวจ แล้วเขาก็ต้องไปแจ้งตำรวจอีก ญาติจึงตัดสินใจแห่ศพไปสวดหน้าโรงพักซะเลย เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผลมากเพราะสื่อต่างๆ ให้ความสนใจ ทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ (ออกหน้าหนึ่งไทยรัฐ) ทำให้ผู้ว่าฯ นั่งก้นไม่ติดเก้าอี้ ต้องลุกขึ้นมาสั่งการให้มีการสอบสวนให้เกิดความเป็นธรรมในกรณีนี้ ศูนย์พิทักษ์ผู้บริโภคได้เข้าไปช่วยเหลือเพราะกลัวว่าเรื่องนี้จะเป็นแค่ไฟไหม้ฟาง ข่าวสงบทุกอย่างก็จะเงียบอีก จึงได้ไปประสานงานเรื่องการชดเชยเบื้องต้นตามพรบ.ผู้ประสบภัยจากรถก่อน จากข้อมูลที่ศูนย์ฯ ได้มาคือ รถซาเล้ง พรบ. ขาดยังไม่ได้ต่อ แต่รถคันที่มาชนมี พรบ. ผู้ประสบภัยจากรถ ศูนย์ฯ จึงได้ไปประสานงานกับบริษัทประกันภัยกลางจังหวัด เพื่อรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งโดยทั่วไปผู้โดยสารซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ต้องได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายศพละ 100,000 บาท ไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด เพราะไม่ใช่คนขับขี่ แต่กรณีนี้ปรากฏว่า บริษัทประกันภัยกลางแจ้งมาว่า จ่ายให้ได้แค่ศพละ 35,000 บาท เท่านั้น เพราะรถที่ผู้เสียชีวิตนั่งไปไม่ได้ทำประกัน อ้าว..ก็รถคันที่ชนมันมีประกันทำไมไม่ให้คันนั้นจ่ายให้ ล่ะ.. เพราะถึงรถคันที่นั่งไปไม่มีประกัน หากเขาไม่ถูกรถกระบะวิ่งมาชนเขาก็ไม่ตายนี่.. บริษัทกลางยืนยันยังไงก็จ่ายได้แค่นั้น เพราะกฎหมายเขียนไว้อย่างนี้ และนี่คือเหตุผลที่ต้องเขียนเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังว่า พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถมันมีปัญหาซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากมาย ที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถใช้ประโยชน์จาก พรบ.นี้ได้จริง เห็นมีแต่บริษัทประกันภัยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ และบริษัทประกันภัยกลางก็ไม่ได้ยินดียินร้ายกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เฉื่อยแฉะและเย็นชาเอามาก...ก...ก...เครือข่ายผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้กฎหมายฉบับนี้ เพราะเรารู้ว่าเราพึ่งใครไม่ได้ (นักการเมืองไม่ว่างเพราะทะเลาะกันอยู่) ขณะนี้เราร่างพรบ.ฉบับใหม่เรียบร้อยแล้ว และได้ชื่อมาแล้วกว่า 8,000 ชื่อ ยังขาดอีกนิดหน่อย จึงขอเรียนเชิญท่านผู้อ่านช่วยร่วมลงชื่อเพื่อแก้ไข พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประสบภัยมากขึ้น  

อ่านเพิ่มเติม >