ฉบับที่ 268 เลือดเจ้าพระยา : แค่อยากเห็นสายน้ำในครั้งก่อน ที่ฉันได้เคยว่ายเวียน

        สังคมไทยโดยเฉพาะดินแดนพื้นที่ลุ่มภาคกลาง หยั่งรากมาจาก “วัฒนธรรมแห่งสายน้ำ” นับแต่อดีตกาล วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับแม่น้ำลำคลองอย่างแนบแน่น อาชีพเกษตรกรรมเพาะปลูกที่ต้องอิงอยู่กับวงจรของน้ำในแต่ละฤดูกาล การเดินทางของผู้คนที่ใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการสัญจร หรือกิจกรรมราษฎรบันเทิงอย่างเพลงเรือหรือดอกสร้อยสักวาก็เกิดขึ้นโดยมีสายน้ำเป็นศูนย์กลางของประเพณีท้องถิ่นดังกล่าว         หรือแม้แต่สำนวนภาษิตมากมายก็ตกผลึกมาจากวัฒนธรรมแห่งสายน้ำที่ดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปมาอุปไมยการรู้จักจับจังหวะและโอกาสไม่ให้ผ่านพ้นไปแบบ “น้ำขึ้นให้รีบตัก” หรือการเตือนใจว่าอย่ากระทำการอันใดให้ลำบากเกินไปดุจการ “พายเรือทวนน้ำ” หรืออย่าไปทำอะไรไม่คุ้มค่าการลงทุนดั่งการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” หรืออย่าไปกีดขวางเกะกะเป็นภาระผู้อื่นเหมือน “มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ” ไปจนถึงการที่สรรพชีวิตต่างล้วนพึ่งพาอาศัยกันไม่ต่างจาก “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”         แต่ทว่า เมื่อความเจริญทางเศรษฐกิจก้าวหน้าขึ้น และเมื่อมีการตัดถนนหนทางมาแทนการสัญจรทางน้ำดังเดิม วิถีการพัฒนาที่เชื่อว่า “น้ำไหลไฟสว่างทางดีมีงานทำ” ได้ซัดกระหน่ำและพลิกโฉมอารยธรรมใหม่ให้กับดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลางมานับเป็นหลายทศวรรษ และแม้ว่าการพึ่งพาแม่น้ำลำคลองจะมิได้สูญสลายหายไป แต่วัฒนธรรมแห่งสายน้ำก็เริ่มลดคุณค่าและห่างไกลไปจากชีวิตคนรุ่นใหม่ขึ้นทุกวัน         กับอารมณ์ความรู้สึกที่เส้นกราฟการพัฒนาสังคมไทยต้องมุ่งไปข้างหน้า และหลีกหนีจากสภาวะ “ถอยหลังเข้าคลอง” เช่นนี้ “ราคาที่ต้องจ่ายแบบแพงแสนแพง” ก็ทำให้ผู้คนเริ่มเกิดอาการถวิลหาอดีต หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “nostalgia” ที่หวนหาวัฒนธรรมสายน้ำซึ่งห่างหายกันอีกครั้งครา ไม่ต่างจากภาพชีวิตของบรรดาตัวละครทั้งหลายในละครโทรทัศน์แนวบู๊ผสมรักโรแมนติกเรื่อง “เลือดเจ้าพระยา”         ละครจำลองภาพชีวิตของคนสองรุ่นโดยใช้ฉากหลังของทุ่งลานเท อันเป็นพื้นที่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาบรรจบกัน เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน และเปิดฉากด้วยตัวละคร “สมิง” พระเอกหนุ่มหล่อกล้ามใหญ่ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ลูกเจ้าพระยา” ตัวจริง กับภาพที่เขาดำน้ำแหวกว่ายอยู่ข้างเรือโยงอันเป็นที่ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพ่อและแม่         แม้จะเป็นอ้ายหนุ่มเรือโยงผู้มีฐานะยากจนขัดสน สมิงก็แอบมีใจรักให้กับแม่เพลงลำตัดชื่อดังแห่งทุ่งลานเทนามว่า “ศรีนวล” บุตรสาวคนเดียวของ “กำนันธง” ความงามของศรีนวลเป็นที่ระบิลระบือไปทั่วทุกคุ้งน้ำย่านกรุงเก่า ไม่แพ้อุปนิสัยแก่นแก้ว และฝีมือแม่นปืนตัวฉกาจ         จนกระทั่งวันครบรอบวันเกิดของศรีนวล และกำนันธงได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับบุตรชายของ “ท่านผู้ว่าฯ ทรงพล” ศรีนวลได้พบกับ “เลอสรร” นักเรียนนายร้อยตำรวจหนุ่มรูปหล่อพ่อรวย แม้ว่าในใจลึกๆ ศรีนวลจะมีคำถามว่า “สาวๆ ในจังหวัดนี้ซื่อๆ ตามไม่ทันพี่หรอกหนา ไม่ใช่มาเพื่อลวงใครใช่ไหม” แต่ด้วยจิตปฏิพัทธ์ เธอก็ลักลอบแอบมีความสัมพันธ์กับเขา ในขณะที่สมิงก็ได้แต่แอบเฝ้ามองดูอยู่ด้วยความรู้สึกเจ็บปวด         แม้เลอสรรจะให้คำมั่นสัญญาว่า เมื่อเรียนจบจะรีบให้พ่อแม่มาสู่ขอศรีนวล แต่เพราะชีวิตมนุษย์ไม่ต่างจากสายน้ำ ที่ไม่ได้ไหลราบเรียบเป็นเส้นตรงเสมอไป หากทว่าบางจังหวะก็คดเคี้ยวเลี้ยวลด หรือแม้แต่ปะทะกับแก่งหินเกาะกลางลำน้ำอยู่ตลอดเวลา         ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อเลอสรรเดินทางกลับเมืองกรุง เรือเกิดอุบัติเหตุจนเขาพลัดตกแม่น้ำและสูญเสียความทรงจำบางส่วน โดยเฉพาะเมโมรีไฟล์เรื่องความรักระหว่างเขากับศรีนวล “คุณนายสอางค์” ผู้เป็นมารดาจึงถือโอกาสจับลูกชายคลุมถุงชนแต่งงานกับ “สร้อยเพชร” ลูกสาวผู้ดีมีตระกูลคู่หมั้นคู่หมายตั้งแต่เด็ก และกีดกันบุตรชายไม่ให้เกี่ยวโยงหรือได้ฟื้นฟูความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตที่ทุ่งลานเทอีกเลย         สองทศวรรษผ่านไป พร้อมๆ กับความเจริญและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขยายตัวเข้ามาสู่ดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลาง “สอยดาว” ลูกของศรีนวลได้เติบโตขึ้นมาเป็นสาวแก่นเซี้ยวเฟี้ยวซ่าไม่ต่างจากผู้เป็นแม่ในอดีต โดยมีสมิงที่ยังแอบไปมาหาสู่กับศรีนวล และรับเลี้ยงสอยดาวกับ “บุญเหลือ” เด็กหนุ่มกำพร้าอีกคน จนทั้งคู่ผูกพันและนับถือสมิงเหมือนพ่อ และเรียกสมิงว่า “พ่อใหญ่” ตามที่ศรีนวลสั่งลูกทั้งสองคนเอาไว้         ในอีกฟากฝั่งหนึ่ง ภาพได้ตัดมาที่เลอสรรเองก็มีลูกสองคนคือ “สาวเดือน” กับ “เกียรติกล้า” ในขณะที่หน้าที่การงานของเลอสรรกำลังก้าวหน้า ได้เลื่อนยศเป็นพันตำรวจเอกผู้มีหน้าที่ปราบปรามโจรในภาคกลาง เคียงคู่กับนายร้อยตำรวจหนุ่มรุ่นน้องไฟแรงอย่าง “ระพี” แต่ทว่าความทรงจำที่ครั้งหนึ่งเขาเคยมีความรักความผูกพันและมีหน้าประวัติศาสตร์บางเสี้ยวส่วน ณ ท้องทุ่งลานเท กลับคอยสะกิดห้วงคำนึงที่ต้องการหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นที่นั่น และเขาเกี่ยวข้องอันใดกับผู้หญิงที่ชื่อว่าศรีนวล         หากจะเทียบความรู้สึกในห้วงจิตใจของผู้พันเลอสรรกับอารมณ์ความรู้สึกของคนชั้นกลางไทยในกระแสธารแห่งการพัฒนาประเทศช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยนัยนี้จะพบว่า เพียงแค่ไม่กี่สิบปีที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโตไปมาก แต่ผู้คนกลับรู้สึกว่า ตนมี “ราคาที่ต้องจ่ายแบบแพงระยับ” ให้กับชีวิตอุดมคติในอดีต ไปจนถึงการค่อยๆ ห่างหายไปจากวัฒนธรรมแห่งสายน้ำที่เคยหล่อเลี้ยงสังคมไทยมานานแสนนาน         เพราะฉะนั้น ภายใต้การรอคอยที่จะกู้ไฟล์ความจริงในท้ายเรื่องว่า เกิดอะไรขึ้นที่ทุ่งลานเท และสอยดาวกับสาวเดือนแท้จริงเป็นพี่น้องต่างมารดากัน กอปรกับเส้นเรื่องหลักของละครที่เหมือนจะชวนให้ขบคิดว่า “ทุกชีวิตก็เหมือนสายน้ำที่ต้องดำเนินไป สุขบ้างทุกข์บ้าง สูญเสียบ้าง แต่ก็ต้องดำเนินไปเหมือนเลือดเจ้าพระยา” แต่ในอีกด้านหนึ่ง “ชีวิตเหมือนสายน้ำที่ต้องดำเนินไป” ของตัวละคร กลับมีอดีตที่หลอกหลอนให้ต้องถวิลหาความสวยงามของวัฒนธรรมแม่น้ำลำคลองอยู่ตลอดเวลา         และไหนๆ ตัวละครก็เกิดอาการโหยหาอดีตกันแล้ว ผลานิสงส์ยังแผ่ขยายมาสู่ภาวะ “nostalgia” ที่ผูกโยงอยู่ในเรื่องเล่าสไตล์บู๊แบบประเพณีนิยมที่อาจจะเคยคุ้นตา แต่กลับไม่ได้เห็นกันมานานนับทศวรรษ         ไม่ว่าจะเป็นการหวนคืนภาพฉากบู๊แอ๊กชันสุดมันส์ยิ่งกว่าหนังกังฟูโบราณ ภาพจอมโจรคุณธรรมผู้ปล้นคนเลวมาอภิบาลคนดี ภาพการต่อสู้ด้วยคาถาอาคมของบรรดาจอมขมังเวทย์ ภาพคำสัญญาสาบานกันหน้าศาลเจ้าแม่ท้องถิ่น ภาพคนรุ่นใหม่ร้องเพลงพื้นบ้านลำตัดกันอย่างสนุกสนาน ไปจนถึงภาพที่เธอและเขาวิ่งไล่จับกบกันกลางทุ่งนาจนเปื้อนเปรอะเลอะกลิ่นโคลนสาปควาย ล้วนแล้วแต่แสดงถึงอาการถวิลหาความงดงามแห่งอดีต สวรรค์บ้านนา และสองฝั่งสายน้ำที่เจือจางลางเลือนกันไปนานแสนนาน         และเมื่อมาถึงฉากจบของเรื่อง แม้ชีวิตผู้คนและสังคมจะเหมือนกับสายน้ำที่ไหลไปและยากจะหวนกลับคืน แต่อย่างน้อยคำมั่นสัญญาที่ตัวละครรุ่นใหม่ต่างยืนยันว่า “กระแสน้ำเชี่ยว ถ้าคนเราไม่ช่วยกันพาย เราก็จะไม่รอด” ก็คงเป็นประหนึ่งสักขีพยานต่อลำน้ำเจ้าพระยา และตั้งคำถามไปพร้อมกันว่า คนกลุ่มนี้จะพายเรือทวนกระแสน้ำเชี่ยวกรากไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมของไทยในอนาคตกันอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 253 จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี : ไทยกับพม่ารักกันตรงไหน ให้เอาปากกามาวง

หากจะถามว่า แม่น้ำที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของไทยหรือสยามประเทศคือแม่น้ำอะไร ทุกคนก็คงตอบได้ทันทีว่า “แม่น้ำเจ้าพระยา” และหากจะถามบนข้อสงสัยเดียวกันว่า แล้วแม่น้ำสายหลักของพม่าหรือสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาคือแม่น้ำสายใด เราก็คงตอบได้เช่นกันว่า “แม่น้ำอิรวดี”ฃโดยหลักทางภูมิศาสตร์แล้ว แม่น้ำสองสายดังกล่าวไม่ได้มีเส้นทางที่จะไหลมาเชื่อมบรรจบกันได้เลย แต่หากพินิจพิจารณาในเชิงสังคมการเมืองแล้ว เส้นกั้นพรมแดนเกินกว่าสองพันกิโลเมตรระหว่างรัฐชาติ กลับมีสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมบางเส้นที่ผูกโยงข้ามตะเข็บชายแดนกันมาอย่างยาวนานด้วยเหตุฉะนั้น พลันทีช่องทีวีสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสออกอากาศละครโทรทัศน์ที่ตั้งชื่อเรื่องแบบดูดีมีรสนิยมว่า “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” ผู้เขียนก็เริ่มสงสัยใคร่รู้ว่า สายสัมพันธ์ทางความคิดและความหมายที่ข้ามแว่นแคว้นแดนดินระหว่างไทยกับพม่าจะถูกตีความออกมาเยี่ยงไร                  โดยโครงที่วางไว้เป็นละครแนวโรแมนติกดรามาแบบข้ามภพชาตินี้ ผูกโยงเรื่องราวชีวิตของนางเอกสาว “นุชนาฏ” ผู้มีภูมิลำเนาอยู่พระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มต้นงานใหม่เป็นผู้ช่วยเชฟประจำโรงแรมใจกลางกรุงย่างกุ้ง เป็นเหตุให้เธอได้มาพบเจอกับพระเอกหนุ่ม “ปกรณ์” หัวหน้าเอ็กเซ็กคูทีฟเชฟคนไทย ที่ทั้งแสนจะเจ้าระเบียบและโผงผางตรงไปตรงมา แต่ภายใต้ท่าทีขึงขังจริงจังนั้น เขาก็เป็นคนที่มุ่งมั่นในวิชาชีพการทำอาหารยิ่งนัก         และเหมือนกับชื่อเรื่อง “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” เมื่อตัวละครนุชนาฏผู้ที่หลุดไปจากบริบทของสังคมไทยที่หลอมตัวตนมาตั้งแต่เกิด และได้ไปพำนักอยู่ในนครย่างกุ้ง เธอก็ได้เริ่มเห็นอีกด้านหนึ่งของพม่าที่แตกต่างไปจากภาพจำของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถูกกล่อมเกลาและติดตั้งจนเป็นสำนึกในโลกทัศน์ของคนไทย         แม้จะยังคงแบกเอาอคติต่อพม่าในฐานะภาพเหมารวมอันฝังตรึงในห้วงคำนึงแบบไทยๆ มาไว้ในความคิดของเธอตั้งแต่แรกก็ตาม แต่การที่นุชนาฏได้มาสัมผัสประสบการณ์ใหม่และเป็นประสบการณ์จริงจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น ประสบการณ์ตามภาพจำที่เผชิญหน้ากับประสบการณ์ตรงจากของจริงจึงก่อเกิดเป็นคำถามมากมายในใจที่เธอเริ่มมองพม่าผิดแผกไปจากเดิม                  เริ่มต้นตั้งแต่ที่ปกรณ์ต้องประกอบอาหารเพื่อต้อนรับ “อูเทวฉ่วย” มหาเศรษฐีใหญ่ของพม่า ที่วางแผนจะเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการโรงแรมที่เขาทำงานอยู่ และเมนูอาหารพื้นเมืองที่ต้องจัดเตรียมในครานี้ก็คือ “โมฮิงกา” ทั้งปกรณ์และนุชนาฏจึงต้องร่วมกันสืบเสาะค้นหาว่า ตำรับอาหารที่ชื่อโมฮิงกานั้นคืออันใด มีรสชาติเช่นไร และจะปรุงแต่งอย่างไรจึงจะสร้างความประทับใจให้กับนายทุนใหญ่ผู้นี้ได้         เพราะที่ผ่านมาคนไทยมีภาพจำที่หยั่งรากฝังลึกว่า พม่าเป็นศัตรูอันยิ่งใหญ่ของรัฐชาติสยามประเทศ ภาพที่ฝังลึกดังกล่าวนี้จึงเป็นยิ่งกว่ากำแพงที่สกัดไม่ให้เราปรารถนาจะก้าวข้ามเพื่อไปทำความรู้จักหรือเรียนรู้ความเป็นไปของผู้คนที่อาศัยอยู่ฝั่งตรงข้ามพรมแดนสมมติทางภูมิศาสตร์         ดังนั้นภาพที่ตัวละครเอกทั้งคู่ต้องดั้นด้นสืบค้นหาสูตรการปรุงโมฮิงกา ก็มีนัยที่เสียดสีในทีว่า เผลอๆ จะเป็นคนไทยนี่เองที่ไม่อยากข้องแวะ หรือแทบจะไม่รู้จักเสียเลยว่า วัฒนธรรมการกินการอยู่ของผู้คนที่แค่ข้ามฝั่งเส้นแบ่งภูมิศาสตร์ไปนั้น เขา “เป็นอยู่คือ” หรือใช้ชีวิตวัฒนธรรมกันอย่างไร         แล้วความซับซ้อนของโครงเรื่องก็เพิ่มระดับขึ้นไปอีก เมื่อนุชนาฏได้มาเดินเล่นที่ถนนพันโซดันในนครย่างกุ้งกับเพื่อนใหม่ชาวพม่าอย่าง “ซินซิน” และเธอได้มาสะดุดตากับหนังสือเก่าที่ตีพิมพ์วรรณกรรมเรื่อง “อิเหนา” ฉบับพม่า ความลึกลับของหนังสือโบราณนี้เองทำให้นุชนาฏได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกที่แปลกตาเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน         เพราะไม่ใช่แค่การได้แยกตัวเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคยเท่านั้น แต่การหลุดย้อนเข้าไปสู่ห้วงเวลาแห่งอดีตก็ทำให้นุชนาฏค้นพบว่า เมื่อชาติภพปางก่อนเธอคือ “ปิ่น” หญิงสาวชาวกรุงศรีอยุธยาหรือ “โยเดีย” ซึ่งถูกกวาดต้อนมาอยู่ที่อังวะ เมื่อสยามประเทศต้องเสียกรุงครั้งที่สองให้กับพม่า ปิ่นได้มาเป็นข้าหลวงประจำตำหนักของ “เจ้าฟ้ากุณฑล” และ “เจ้าฟ้ามงกุฏ” พระราชธิดาใน “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ที่พลัดถิ่นมาในเวลาเดียวกัน          การได้มาสวมบทบาทใหม่เป็นนางปิ่นผู้ข้ามภพชาติ ทำให้นุชนาฏได้ตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า ความขัดแย้งในสนามทางการเมืองระหว่างไทยกับพม่าเมื่อครั้งอดีต (หรือแม้แต่สืบต่อมาจวบจนปัจจุบัน) ดูจะเป็นการต่อสู้ต่อรองผลประโยชน์เฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำผู้ยึดครองอำนาจรัฐเอาไว้ หากทว่าในระดับของสามัญชนคนธรรมดาทั่วไปแล้ว ชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมดูจะเป็นอีกด้านที่ผิดแผกแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง         ยิ่งเมื่อนุชนาฏในร่างของปิ่นได้มาเจอกับ “สะสะ” หรือที่ใครๆ ต่างเรียกกันว่า “หม่องสะ” ศิลปินลูกครึ่งมอญ-พม่า ผู้ทำหน้าที่สร้างสรรค์ละครหลวงในราชสำนักอังวะ และปลุกปั้นให้ปิ่นได้เป็นนางรำในโรงละครหลวง อันนำไปสู่การประสานนาฏยศิลป์ของสองวัฒนธรรมผ่านท่าร่ายรำที่ทั้งคู่ออกแสดงร่วมกันหน้าพระที่นั่ง ไปจนถึงการเพียรพยายามแปลบทนิพนธ์อิเหนามาเป็นภาษาพม่า ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มคนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในวังวนแห่งการช่วงชิงผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองด้วยประสบการณ์ที่หลุดเข้าไปในอีกห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ นุชนาฏจึงได้ทบทวนหวนคิดว่า แท้จริงแล้ว อคติความชิงชังที่ฝังอยู่ในโลกทัศน์ของคนไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะถูกสร้างขึ้นบนสมรภูมิแห่งอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง หาใช่เป็นความขัดแย้งในพื้นที่สังคมพลเมืองแต่อย่างใด         “อันรักกันอยู่ไกลถึงสุดขอบฟ้า เหมือนชายคาเข้ามาเบียดดูเสียดสี อันชังกันนั้นใกล้สักองคุลี ก็เหมือนมีแนวป่ามาปิดบัง…” ดังนั้นเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ชนชั้นนำทางการเมืองก็ยังคงใช้วาทกรรมความชิงชังแบบเดิมมาปิดกั้นไม่ให้คนไทยสนใจใคร่รู้จักความจริงด้านอื่นของเพื่อนบ้านในอุษาคเนย์ จนนำไปสู่ภาพเหมารวมว่า พม่าก็ไม่ใช่อื่นใดนอกจากเป็นปรปักษ์หรือศัตรูในจินตกรรมความเป็นชาติของไทยเท่านั้น         เหมือนกับฉากเริ่มต้นเรื่องที่นุชนาฏตั้งแง่รังเกียจคำพูดของซินซินที่เรียก “อยุธยา” บ้านเกิดของเธอว่า “โยเดีย” อันเนื่องมาแต่ภาพจำที่ถูกกล่อมเกลาสลักฝังไว้ในหัวว่า คำเรียกโยเดียหมายถึงการปรามาสดูถูกคนไทยว่าเป็นพวกขี้แพ้ หากแต่ซินซินกลับให้คำอธิบายไปอีกทางหนึ่งว่า คำเรียกเช่นนี้หาใช่จะมีนัยว่าไทยเป็นศัตรูคู่ตรงข้ามแต่อย่างใด เพราะในมุมมองของคนพม่าแล้ว ศัตรูในจินตนาการที่ตัวใหญ่กว่า น่าจะเป็นชาติตะวันตกที่เคยฝากบาดแผลความทรงจำไว้ตั้งแต่ยุคลัทธิล่าอาณานิคม         จาก “เจ้าพระยา” สู่ “อิรวดี” ก่อนที่ฉากจบตัวละครจะออกจาก “อิรวดี” ย้อนกลับมาสู่ดินแดนราบลุ่มริมน้ำ “เจ้าพระยา” แต่สำหรับผู้ชมแล้ว จินตนาการแบบใหม่ที่ท้าทายภาพจำต่อประเทศเพื่อนบ้าน คงไม่มากก็น้อยที่น่าจะทำให้เราลองหันกลับมาอ่านบทนิพนธ์อิเหนาฉบับแปล ลองดูนาฏยกรรมพม่า หรือลองลิ้มรสเมนูโมฮิงกากันด้วยความรัก หาใช่ด้วยรสชาติความชิงชังเพียงเพราะไม่รู้จักหรือไม่อยากจะคุ้นเคย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 ยาทาฝ้าจากอินเดียสั่งออนไลน์ได้นะจ๊ะนายจ๋า

ผมมีโอกาสไปสอนหนังสือนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในหัวข้อ เกี่ยวกับการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค และได้มอบหมายให้นักศึกษาไปตรวจสอบการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ และให้ดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นักศึกษารายหนึ่งตรวจพบการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพทางออนไลน์ของเว็บขายสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง          นักศึกษาเล่าว่า เมื่อตนเข้าไปที่เว็บขายสินค้านี้  พบผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาว่า เป็นยาทาลบรอยฝ้า รอยจุดด่างดำ เห็นผลจริง เป็นของดีจากอินเดีย มีการบรรยายสรรพคุณว่าผลิตภัณฑ์นี้เหมาะสำหรับการรักษาผิวใต้วงแขนที่หยาบกร้าน แผลพุพอง รอยดำของบิกินี่ รอยบวมเล็กๆ บนผิวหนัง ช่วยลดรอยฝ้า กระอ่อน รอยแห่งวัย จุดด่างดำ หน้าท้องลายจากการตั้งครรภ์ และอื่นๆ มีวิธีใช้ง่ายๆ คือ ทาบางๆ บริเวณที่เป็นฝ้า ทุกวันหลังล้างหน้าตอนเย็น  แนะนำให้ทาติดต่อกันไม่เกิน 1 เดือน โดยมีคำเตือนว่า สตรีมีครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ควรใช้          ผลิตภัณฑ์นี้ระบุส่วนประกอบ ได้แก่  Hydroquinone, Mometasone Furoate และ Tretinoin ซึ่งทั้งสามตัวมีสรรพคุณเป็นยา และเป็นยาที่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และต้องระมัดระวังในการใช้ เพราะมีผลข้างเคียงสูง เช่น Hydroquinone หากใช้ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน แทนที่หน้าจะขาวผ่อง กลับจะยิ่งทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวรขึ้นได้ รวมทั้งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังอีกด้วย          ส่วน Mometasone Furoate เป็นครีมสเตียรอยด์ ที่ทางการแพทย์นำมาใช้รักษาผื่นคัน หรือการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ การใช้ยาที่มีความแรงสูงๆ หรือใช้เป็นเวลานานๆ อาจทำให้ ผิวหนังแดง แห้ง แสบร้อน คัน สีผิวจางลง หรืออาจมีผื่นคล้ายสิว และยาอาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังได้ อาจเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงมากได้ เช่น กดไขกระดูก หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น          ส่วนตัวสุดท้าย tretinoin เป็นสารในกลุ่มวิตามินเอ ทางการแพทย์จะใช้เป็นยารักษาสิว แต่มีข้อควรระวังที่น่ากลัวคือ ห้ามใช้ในคนท้อง เพราะตัวยาอาจดูดซึมเข้าสู่ทารก จนร่างกายทารกอาจพิการได้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงเป็นยา ซึ่งผู้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จะต้องนำมาขอขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน จึงจะสามารถจำหน่ายได้ และต้องจำหน่ายในร้านขายยาเท่านั้น แต่ยานี้กลับจำหน่ายทางออนไลน์ให้สั่งซื้อได้อย่างง่ายๆ เมื่อนักศึกษาได้ลองสั่งซื้อ ก็ได้รับสินค้ามาอย่างรวดเร็ว นักศึกษาได้ร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และแจ้งไปที่เว็บจำหน่ายสินค้าดังกล่าวด้วย          ปรากฏว่าทั้งสองแห่งต่างก็ตอบว่าได้รับเรื่องแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนผมลองเข้าไปดูก็ยัง พบการโฆษณาในเว็บอยู่ เพียงแต่ขึ้นข้อความว่าสินค้าหมด ใครนิยมสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ก็ระวังด้วยนะครับ การจำหน่ายยาทางนี้ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังทำให้เราเสี่ยงต่ออันตรายอีกด้วย ถ้าใครเจอ ช่วยๆ กันเตือนและช่วยๆ กันร้องทุกข์ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 ร่วมถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9

ด้วยความจงรักภักดีที่ประชาชนชาวไทยมีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทำให้ประชาชนทั่วประเทศหลั่งไหลกันมาเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพกันอย่างมาก ประชาชนยิ่งล้นหลามเมื่อใกล้เวลาการปิดการเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 ของสำนักพระราชวัง ในวันที่ 5 ตุลาคม 2560 เป็นวันสุดท้าย เพื่อจัดเตรียมการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตรในเดือนตุลาคม 2560 นี้ ทางสำนักพระราชวังได้กำหนดวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม 2560 ได้กำหนดจำนวนริ้วขบวน พระราชอิสริยยศไว้ทั้งสิ้น  6  ริ้วกระบวน และนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 ผ่านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ โครงการพระราชดำริ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ชื่นชมความงามของพระเมรุมาศ ซึ่งมีกำหนดเปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 1 - 30 พฤศจิกายน 2560คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จึงได้จัดทำเว็บไซต์ www.kingrama9.net เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถติดตามการจัดเตรียมการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้อย่างใกล้ชิดเว็บไซต์ www.kingrama9.net จะมีข้อมูลข่าวสารรายละเอียดการจัดเตรียมงาน ประกาศจากสำนักพระราชวัง  และในส่วนของข้อมูลและคำอธิบายของพระเมรุมาศว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ส่วนต่างๆ เรียกชื่อว่าอย่างไร  ทั้งนี้มีคำอธิบายรายละเอียดเส้นทางของขบวนพระบรมราชอิสริยยศทั้งสิ้น  6  ริ้วกระบวน ว่าแต่ละริ้วกระบวนจะเริ่มจากจุดใดและใช้เส้นทางใด และรายละเอียดการแต่งกายของแต่ละส่วนในริ้วพระบรมราชอิสริยยศทั้งหมด  นอกจากการจัดเตรียมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพบริเวณท้องสนามหลวงแล้ว ยังมีการจัดสร้างพระเมรุมาศจำลอง 85 แห่งทั่วประเทศไทย และต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสถวายความจงรักภักดีแด่พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยสามารถตรวจสอบสถานที่จุดวางดอกไม้จันทน์ใกล้บ้านได้ในเว็บไซต์ www.kingrama9.net เช่นกันรายละเอียดและข้อมูลทุกอย่างสามารถหาคำอธิบายได้ในเว็บไซต์ www.kingrama9.net 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ศาลโซเชียลกับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทกับภาคสังคมและภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตจึงได้รับความนิยมมาก ในอดีตการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ต่างๆ นั้น สามารถแสดงเพียงเนื้อหาอย่างเดียวเท่านั้น บุคคลไม่สามารถติดต่อหรือโต้ตอบซึ่งกันและกันได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการพูดคุยโต้ตอบกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถทำได้ รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่ส่งผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเว็บไซด์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเฟซบุ๊ค ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถแสดงความคิดเห็นและโต้ตอบถึงกันได้  จึงเกิดเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์  “เครือข่ายสังคมออนไลน์”  หมายถึงช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคมที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ข่าวสาร หรือการพูดคุยโต้ตอบระหว่างกัน รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่สามารถส่งผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้  การสื่อสารประเภทนี้มีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมากทั้งในด้านดีและไม่ดี ในด้านดี กล่าวคือใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวในด้านการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย การจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อความบันเทิง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย กล่าวคือในด้านการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร และสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลส่วนตัว ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมด้านสังคม เป็นต้นดังนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงเปรียบเสมือนผู้ควบคุมช่องทางในการผ่านเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งหลังจากที่ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้แล้วก็จะสามารถเข้าถึงการใช้งานใดในระบบอินเทอร์เน็ตได้ และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ได้บัญญัติความหมายของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการคือ  "ผู้ให้บริการ" หมายความว่า (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น  (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น "ผู้ใช้บริการ" หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการ ไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม          ปัจจุบันเกิดสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างมากมาย ซึ่งสามารถแยกประเภทพิจารณาออกได้สามกรณีกรณีที่หนึ่ง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบ    เช่น การเข้าไปในเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมและเข้าไปนำเอาข้อมูล  ภาพ หรือคลิป  ของผู้ใช้บริการมาเก็บไว้เพื่อเฝ้าติดตามคุกคามความเป็นส่วนตัว หรือนำไปใช้เผยแพร่แสวงหาประโยชน์  ดังนี้ อาจจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2560 มาตรา 16 ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง กรณีที่สอง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยชอบ เช่น การได้ข้อมูลส่วนบุคคลมาโดยได้รับความยินยอมจากผู้ใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตามผู้เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าวอาจให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดต่อสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ผู้ได้รับข้อมูลส่วนบุคคลนั้นนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อการนำมาใช้เพื่อการขายตรงหรือโฆษณาสินค้าหรือบริการ ดังนี้ ดังนี้ อาจจะมีความว่าผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2)พ.ศ.2560 มาตรา11ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง         กรณีที่สาม การนำเสนอข่าวของสื่อประเภทโซเชียล ซึ่งทำตัวเป็นเสมือนศาลที่พิพากษาให้บุคคลที่ตกเป็นข่าวเป็น”คนผิด” ในทันที โดยที่เจ้าตัวอาจจะยังไม่มีโอกาสชี้แจ้งใดๆ เลย เช่น ข่าวผู้ว่าราชการแม่ฮ่องสอนมีชื่อพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ สื่อทุกสื่อร่วมใจกันตีแผ่เรื่องนี้ยาวนานหลายสัปดาห์ แต่ต่อมาเมื่อความจริงปรากฏว่าท่านผู้ว่าฯ ไม่ได้ทำ มลทินที่ท่านได้รับจากศาลโซเชียล ก็ยังไม่ถูกบรรเทาลงไปแต่อย่างใด หรือกรณีการส่งรูปภาพที่ได้รับมาจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งเป็นทอดๆ โดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของภาพจนทำให้บุคคลในภาพได้รับผลกระทบ ทั้งสามกรณี หากนำข้อมูลส่วนบุคคล ภาพ หรือคลิป ออกมาเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะมีการชี้นำให้คิดตามหรือไม่ก็ตาม  ย่อมอาจจะทำให้บุคคลนั้นถูกละเมิดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง  หรือได้รับความอับอายได้  ประเด็นเหล่านี้ ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์  หากจะใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหา “อิทธิพลศาลโซเชียล” ได้อย่างแน่นอน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 สักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9

ภาพการต่อแถวเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 ณ บริเวณท้องสนามหลวง เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความอาลัยของประชาชนที่หลั่งไหลเดินทางเข้ามาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ความหนาแน่นของมวลชนยังคงเป็นภาพที่ได้เห็นผ่านการรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์และการรายงานสถานการณ์บนสังคมโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ บริเวณท้องสนามหลวงในเวลานี้จึงถือว่าเป็นศูนย์รวมของประชาชนทั่วประเทศที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือ การเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9สำหรับประชาชนที่ต้องการเดินทางมาสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 ณ บริเวณท้องสนามหลวง อาจจะไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร หรือสามารถต่อแถวจากจุดใด มีประตูตรงจุดใดบ้างบริเวณท้องสนามหลวง ผู้เขียนมีตัวช่วยที่จะทำให้ผู้อ่านรู้ว่าสถานการณ์โดยรอบท้องสนามหลวงในขณะนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สถานการณ์เป็นอย่างไรก่อนเดินทางผู้อ่านลองดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ZONE  เพราะแอพพลิเคชั่นนี้จะบอกรายละเอียดต่างๆ ไว้ในบริเวณท้องสนามหลวงที่เกี่ยวกับการเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9  ได้แก่ ประตูทางเข้าเพื่อต่อแถวบริเวณสนามหลวง  เวลาในการเปิดประตูทางเข้าสนามหลวง  เวลาในการเปิดปิดการเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9  บอกข้อมูลการต่อแถว จุดหางแถวที่สามารถไปต่อแถวได้ในเวลานั้น เป็นต้น ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะทำให้รู้ความเคลื่อนไหวตลอดเวลา พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วอีกด้วยเมื่อเข้าไปในแอพพลิเคชั่น ZONE  ให้กดไปที่ current  zone และให้เลือกข้อมูลเข้าร่วมพิธี ณ ท้องสนามหลวง โดยจะมีข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น  การรับบริจาคหรือการขอความช่วยเหลือต่างๆ  คำแนะนำการเข้าคิวเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 การแจ้งจุดขึ้นรถและจุดที่รถออก และจุดขึ้นรถฟรีบริเวณโดยรอบท้องสนามหลวง  จุดบริการมอเตอร์ไซต์  แผนผังเต็นท์ต่างๆ ที่ให้บริการในเรื่องอาหารและคอยช่วยเหลือประชาชนทั้งนี้แอพพลิเคชั่นมีในส่วนของกระดาษคำถาม (Board) เพื่อให้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นแต่ละคนสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่เดินทางมาจากจังหวัดไหนในประเทศไทยก็ตาม  แอพพลิเคชั่นนี้จะสร้างความอุ่นใจขึ้นเพราะจะทำให้รู้จักพื้นที่โดยรอบท้องสนามหลวงมากขึ้น  และรู้ขั้นตอนการปฏิบัติตนเพื่อเข้าสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังโดนหลอกขายปุ๋ยไร้คุณภาพ

ที่ผ่านมาเคยมีข่าวเกี่ยวกับการจำหน่ายปุ๋ยเคมีปลอมและไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก ซึ่งหากเกษตรกรหลงเชื่อซื้อปุ๋ยเหล่านั้นมาใช้ ย่อมส่งผลเสียต่อผลผลิตและสุขภาพของเกษตรกรรวมทั้งผู้บริโภคได้ ทำให้ภายหลังมีกฎหมายออกมาควบคุมอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตามเราพบว่า ในบางพื้นที่ยังคงมีการจำหน่ายปุ๋ยไร้คุณภาพ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณชูชัยเป็นเกษตรกรชาวระนองร้องเรียนมาว่า มีตัวแทนของบริษัทแห่งหนึ่ง นำดินของชาวบ้านไปตรวจสอบและกลับมาแจ้งว่าดินเป็นกรด ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการซื้อแคลเซียมคาร์บอร์เนตมาปรับสภาพ ทำให้เขาและเกษตรกรคนอื่นๆ พากันสั่งซื้อปุ๋ยจากตัวแทนรายนี้หลายสิบกระสอบ รวมเป็นเงินหลายพันบาท โดยตกลงให้มีการชำระเมื่อได้รับสินค้า อย่างไรก็ตามหลังเห็นสภาพปุ๋ย คุณชูชัยเป็นเพียงคนเดียวที่ปฏิเสธการซื้อ เพราะพบว่าบนกระสอบมีเพียงชื่อยี่ห้อ “Call C” ระบุไว้เท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดของส่วนประกอบหรือชื่อผู้ผลิตเหมือนปุ๋ยยี่ห้ออื่นๆ ที่เคยใช้มา ซึ่งทำให้เขากังวลว่าปุ๋ยดังกล่าวอาจเป็นปุ๋ยปลอมและนำมาหลอกขายชาวบ้าน จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำว่าผู้ร้องสามารถส่งตัวอย่างปุ๋ยไปตรวจสอบคุณภาพได้ที่ ฝ่ายปุ๋ยเคมี สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2579-5536 หรือโทรศัพท์แจ้ง ส่วนสารวัตรเกษตรที่เบอร์ 0-2940-5434 เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหาได้ ทั้งนี้สำหรับกระสอบปุ๋ยที่มีการระบุเพียงชื่อยี่ห้อ ถือว่าทำผิดตามพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้กระสอบปุ๋ยต้องมีฉลากภาษาไทย และต้องแสดงข้อความต่อไปนี้1. ชื่อทางการค้า และมีคำว่า ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีมาตรฐาน หรือปุ๋ยอินทรีย์เคมี แล้วแต่กรณี2. เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายอื่นใดซึ่งแสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมี3. ปริมาณธาตุอาหารรับรอง4. น้ำหนักสุทธิหรือขนาดบรรจุของปุ๋ยเคมีตามระบบเมตริก5. ชื่อผู้ผลิต และที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า6. ชื่อทางเคมีและปริมาณของสารเป็นพิษที่อยู่ในปุ๋ยเคมี7. ข้อความอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดให้มีในฉลากนอกจากนี้ตามมาตรา 30 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อการค้า ขาย หรือนำเข้าปุ๋ยดังต่อไปนี้ 1. ปุ๋ยปลอม2. ปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน3. ปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ เว้นแต่กรณีตามมาตรา 314. ปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์ หรือปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์5. ปุ๋ยที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้6. ปุ๋ยที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน7. ปุ๋ยที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยหากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับและจำคุก ซึ่งสำหรับผู้กระทำความผิดผลิตปุ๋ยเคมีปลอมต้องระวางโทษจำคุก 5-15 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-2,000,000บาท หรือผลิตปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานที่กำหนด  ต้องระวางโทษจำคุก  2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 80,000-200,000 บาท และสำหรับผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมีปลอมต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 120,000-400,000 บาท ส่วนผู้จำหน่ายปุ๋ยผิดมาตรฐานต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-3 ปี ปรับ 40,000-200,000 บาททั้งนี้สำหรับใครที่อยากได้ปุ๋ยคุณภาพ สามารถใช้หลักการเบื้องต้นในการเลือกซื้อได้ง่ายๆ เช่น- เลือกซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้โดยเฉพาะร้านที่มีสัญลักษณ์ Q-Shop ของกรมวิชาการเกษตร - ตรวจสอบว่ามีเลขทะเบียนของกรมวิชาการเกษตรหรือไม่- ควรเก็บใบเสร็จรับเงินจากร้านค้าไว้เสมอ เพราะหากพบปัญหาใดๆ จะสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าผู้จำหน่ายนั้นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 สุขพอที่พ่อสอน

“...การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย...”“...ความพอเพียงนี้ ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ...”พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งใจจะนำมาบอกต่อผู้อ่านให้รู้และน้อมนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อนำมาเป็นคติเตือนใจให้มีความพอดีและเพียงพอนอกจากพระราชดำรัสที่ยกมาบางส่วนนี้แล้ว ผู้อ่านสามารถเข้าถึงพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่คัดตัดตอนมาเผยแพร่ลงในแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “สุขพอที่พ่อสอน”แอพพลิเคชั่น “สุขพอที่พ่อสอน” นี้ เกิดขึ้นจากสำนักราชเลขาธิการ ร่วมกับ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทมาเผยแพร่ โดยพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทจะมีทั้งหมด 9 เรื่อง ได้แก่ การศึกษา การพัฒนา ความพอเพียง รู้จักสามัคคี ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ประโยชน์ส่วนรวม คุณธรรมจริยธรรม ความสุขและความปรารถนาดี และความยุติธรรมภายในแอพพลิเคชั่นจะมีอยู่ 5 หมวด ดังนี้ หมวดพระราชดำรัส หมวดพระบรมฉายาลักษณ์ หมวดเลือกข้อความ หมวดส่งต่อ และหมวดข้อมูล ซึ่งในทั้ง 5 หมวดนี้จะมีความเกี่ยวเนื่องกับ 9 เรื่องตามที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยจะมีความแตกต่างกันไป ก็คือ หมวดพระราชดำรัส จะเป็นหมวดที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นสามารถเลือกพระราชดำรัสที่ต้องการตามเรื่อง 9 เรื่อง หมวดนี้เป็นหมวดที่สำคัญ เนื่องจากผู้ใช้แอพพลิเคชั่นต้องเลือกเรื่องที่อยู่ภายในหมวดนี้ก่อน แล้วจึงไปอ่านพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในหมวดอื่นที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องที่ได้เลือกไว้หมวดพระบรมฉายาลักษณ์ จะเป็นภาพพระกรณียกิจในอิริยาบถต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นเลือกโดยอิงจากภาพพระกรณียกิจเหล่านั้น สำหรับหมวดเลือกข้อความ จะแบ่งตามข้อความพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท เพื่อให้สะดวกในการหาพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ต้องการ หมวดส่งต่อ เป็นหมวดที่ใช้เมื่อผู้ใช้แอพพลิเคชั่นได้เข้าไปดูพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ต้องการภายในหมวดพระราชดำรัส หมวดพระบรมฉายาลักษณ์ และหมวดเลือกข้อความ โดยมีความต้องการที่จะเผยแพร่ผ่านเฟสบุ๊ค หรือส่งต่อไปยังเมล หรือต้องการบันทึกพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทนั้นไว้ ให้กดมาที่หมวดนี้ และหมวดสุดท้ายเป็นหมวดข้อมูล จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำแอพพลิเคชั่นนี้พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท ภายในแอพพลิเคชั่นนี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยควรน้อมนำไปปฏิบัติกันโดยทั่วหน้า เพื่อให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปตามคำว่า “สุขพอที่พ่อสอน”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 55 สังฆทานถังเหลือง

 เวลา 24 ชั่วโมงของคนในยุคนี้ กับเวลา 24 ชั่วโมงของคนสมัยอยุธยาดูมันจะหดแคบกว่ากันเยอะ เดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็ต้องด่วนไปหมด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการทำบุญ เรา มักจะอ้างว่าไม่ค่อยมีเวลาไปเข้าวัดฟังธรรม การทำสังฆทานเลยกลายเป็นทางเลือกหนึ่ง และกลายเป็นวิธีการทำบุญแบบเร่งด่วนไปโดยที่เราไม่รู้ตัว เดี๋ยวนี้ตามหน้าวัดหรือในวัดต่าง ๆ เราจะเห็นการจัดสังฆทานสำเร็จรูปในถังพลาสติกสีเหลืองไว้คอยบริการญาติโยม แต่เราเคยสำรวจกันไหมว่าในสังฆทานถังเหลืองเหล่านั้นจะมีของสักกี่ชิ้นที่จะ ก่อให้เกิดบุญก่อให้เกิดผลทั้งต่อผู้ให้และผู้รับที่เป็นพระสงฆ์องค์เจ้า จริง ๆ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ได้ไปเก็บรวบรวมสังฆทานถังเหลืองตามที่ต่าง ๆ เพื่อจะดูว่า มีของอะไรบ้างที่ถูกใส่เข้าไป และในของเหล่านั้นมีของอะไรบ้างที่เราใส่เข้าไปแล้วจะก่อให้เกิดบุญเกิดผล และของอะไรบ้างที่เราควรจะลดละเลิกไม่ควรใส่เข้าไปในสังฆทานเพราะจะเกิดโทษ ภัยกับพระสงฆ์หรือกับคนอื่น ๆ ที่พระท่านมอบต่อให้ไป   สิ่งของที่สำรวจพบในสังฆทานสำเร็จรูป(แสดงรูปประกอบเป็นกลุ่ม ๆ ) ก.      ภาชนะที่ใช้บรรจุสังฆทาน  ถังพลาสติกสีเหลือง กล่องพลาสติกใสแบบมีฝาปิด กระติกน้ำแข็ง ขันเงินใบใหญ่ ถังน้ำพลาสติกขนาดใหญ่ ข. ผลิตภัณฑ์ในสังฆทาน กลุ่มอาหาร น้ำปลาขวดเล็ก น้ำผลไม้บรรจุขวด ใบชา เครื่องดื่มขิง บะหมี่สำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง น้ำพริกเผาบรรจุขวด ขนมคุ๊กกี้บรรจุกล่อง เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม นมสดกระป๋อง ปลากระป๋อง น้ำดื่มบรรจุขวด ข้าวสารแบ่งบรรจุ ค. ผลิตภัณฑ์ในสังฆทาน กลุ่มสิ่งของเครื่องใช้ ผ้าขนหนูผืนเล็ก ผ้าอาบน้ำฝน อังสะ ผงซักฟอก สบู่ กล่องสบู่ ไฟฉายและถ่านไฟฉาย ธูปเทียน ไม้ขีดไฟ แก้วน้ำพลาสติก แปรงสีฟัน ทิชชู่ น้ำยาล้างจาน ร่ม รองเท้าฟองน้ำ ไม้จิ้มฟัน ยาสีฟัน ขันน้ำพลาสติก ด้าย และเข็มเย็บผ้า ง. ผลิตภัณฑ์ในสังฆทาน กลุ่มยา ยาหอม ยาสามัญประจำบ้าน ทำไมเราควรจัดถังสังฆทานเองเหตุผลสำคัญที่เราควรจะจัดหาสิ่งของมาจัดเป็นสังฆทานด้วยตนเอง คือ1.    สิ่งของที่อยู่ในสังฆทานสำเร็จรูปที่จำหน่ายโดยทั่วไปเกินกว่าครึ่ง เป็นของที่พระนำไปใช้ประโยชน์ได้น้อย2.    การจัดสังฆทานเองนอกจากจะได้ของที่เกิดประโยชน์แน่นอนแล้ว เรายังสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย3.    สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งของที่คนชอบถวายจนพระใช้ประโยชน์ไม่ทันจนเหลือล้นวัดได้ การจัดสังฆทานที่ไม่ได้บุญ สังฆทานที่แท้คืออะไร คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการทำสังฆทานจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะส่งผลบุญไปถึงญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วใน002อีก ภพอีกชาติหนึ่งได้ แต่ความหมายที่แท้จริงของการทำสังฆทานก็คือ การถวายสิ่งของแก่หมู่พระภิกษุสงฆ์ โดยไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปหนึ่งรูปใด เมื่อเราถวายให้แล้วก็ถือว่า พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปมีสิทธิ์ใช้สอยสิ่งของเหล่านั้นตามสะดวก ซึ่งอาจจะมีเพียงตัวแทนสงฆ์เพียงรูปเดียวมารับประเคน ก็ถือว่าเป็นสังฆทานเหมือนกัน ดังนั้นบุญที่เราเข้าใจว่าจะได้จากการ ทำสังฆทานก็คือ การที่หมู่ภิกษุสงฆ์ได้ประโยชน์จากสิ่งของที่เราทำทานให้ท่าน ยิ่งของที่เราให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มาก บุญก็จะเกิดมากตามไปด้วย แต่ถ้าของที่อยู่ในสังฆทานหาประโยชน์ไม่ได้ สังฆทานก็จะกลายเป็นขยะล้นวัดไป การใส่ใจในสิ่งของที่จะทำสังฆทานจึง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากเราให้ของไม่ดีไม่เกิดประโยชน์กับพระไป บุญที่จะได้ก็อาจจะกลายเป็นบาปก็ได้    ทานที่ใหญ่กว่าสังฆทาน  มีทานอีกรูปแบบหนึ่งที่คล้าย ๆ สังฆทาน เป็นทานที่มีอาณาเขตกว้างขวางกว่า คือ ทานที่ให้แก่หมู่พวกที่ไม่เฉพาะกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เรียก สาธารณทาน เป็นทานที่ไม่จำกัดเฉพาะในรั้ววัด เป็นการให้ที่ไม่มีขอบเขต สังฆทานเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณทานเช่นกัน   ทานที่น้อยกว่าสังฆทาน การถวายทานที่ให้เฉพาะพระภิกษุสงฆ์รูป นั้นรูปนี้ เรียก ปาฏิปุคคลิกทาน มีอานิสงส์น้อยกว่าทานสองประเภทข้างต้น เพราะเป็นการจำกัดเฉพาะบุคคลว่าต้องเป็นคนนั้นคนนี้ การให้ทานแก่ส่วนรวมย่อมได้อานิสงส์มากกว่า   คำถวายสังฆทานการ ทำพิธีถวายสังฆทาน ไม่มีอะไรยุ่งยาก เมื่อนำสิ่งของไปและพระสงฆ์รู้ความประสงค์ ท่านก็จะให้จุด ธูป เทียน แล้วก็ว่า นโม 3 จบ แล้วกล่าวถวาย สังฆทาน ดังนี้ อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะโอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆอิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ ข้า แต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญฯ  บุญไม่ใช่แค่เรื่องการบริจาคทรัพย์ทำทาน บุญ แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด หรือ คุณสมบัติที่ทำให้บริสุทธิ์ ส่วนคำว่า "ทาน" แปลว่า การให้ การสละ การเผื่อแผ่แบ่งปัน จะมอบของให้ใคร หรือจะถวายของให้ใครก็เป็นบุญทั้งนั้น จะต่างกันก็เพียงว่าได้บุญมากบุญน้อยเท่านั้นเอง   ฉะนั้น เวลาพูดว่า ไปทำบุญทำทาน จึงหมายความว่าไปชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยการแบ่งปันสิ่งของซึ่งเป็นการแบ่งปันให้ใครก็ได้ และการทำบุญก็ไม่ได้มีความหมายแคบ ๆ แต่เพียงแค่การให้ทานบริจาคสิ่งของแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น    ตามหลักพุทธศาสนา มีการทำบุญด้วยกัน ๑๐ วิธี เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ) คือ1. ให้ทาน แบ่งปันผู้อื่นด้วยสิ่งของ ไม่ว่าจะให้ใครก็เป็นบุญ (ทานมัย) การให้ทาน เป็นการช่วยขัดเกลา ความเห็นแก่ตัว ความคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว และความติดยึดในวัตถุ นอกจากนี้สิ่งของที่เราแบ่งปันออกไป ก็จะเป็นประโยชน์กับบุคคล หรือชุมชนโดยส่วนรวม สังฆทานก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญในข้อนี้ 2. รักษาศีล ก็เป็นบุญ (ศีลมัย) เป็นการฝึกฝนที่จะ ลด ละ เลิก ความชั่ว ไม่ไปเบียดเบียนใคร มุ่งที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น เป็นการหล่อเลี้ยงบ่มเพาะให้เกิดความดีงาม และพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่ให้ตกต่ำ 3. เจริญภาวนา ก็เป็นบุญ (ภาวนามัย) การภาวนา เป็นการพัฒนาจิตใจ และปัญญา ทำให้จิตสงบ ไม่มีกิเลส ไม่มีเรื่องเศร้าหมอง เห็นคุณค่าสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ผู้ที่ภาวนาอยู่เสมอย่อมเป็นหลักประกันว่า จิตจะมีความสงบ ชีวิตมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น 4. อ่อนน้อมถ่อมตน ผู้น้อยอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็แสดงออกในความมีเมตตาต่อผู้น้อย และต่างก็อ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน ทั้งในความคิดความเชื่อ และวิถีปฏิบัติ ของบุคคลและสังคมอื่น เป็นการลดความยึดมั่นถือมั่น ในความเป็นตัวตน ก็เป็นบุญ (อปจายนมัย) 5. ช่วยเหลือสังคมรอบข้าง ช่วยเหลือสละแรงกายเพื่องานส่วนรวม หรือช่วยงานเพื่อนบ้าน ที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็เป็นบุญ (ไวยาวัจจมัย) 6. เปิดโอกาสให้คนอื่น มาร่วมทำบุญกับเรา หรือในการทำงาน ก็เปิดโอกาสให้คนอื่น มีส่วนร่วมทำ - ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการอุทิศส่วนบุญ ให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นบุญ (ปัตติทานมัย) 7. ยอมรับและยินดีในการทำความดี (หรือทำบุญ) ของผู้อื่น เป็นการเปิดโอกาสร่วมใจอนุโมทนา ในการกระทำความดีของผู้อื่น ก็เป็นบุญ (ปัตตานุโมทนามัย) 8. ฟังธรรม บ่มเพาะสติปัญญาให้สว่างไสว ฟังธรรมะ ฟังเรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อสติปัญญา หรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมสวนมัย) 9. แสดงธรรม ให้ธรรมะ และข้อคิดที่ดี กับผู้อื่น แสดงธรรม นำธรรมะไปบอกกล่าว เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้รับฟัง ให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เป็นเรื่องของความจริง ความดี ความงาม ก็เป็นบุญ (ธรรมเทศนามัย)  10. ทำความเห็นให้ถูกต้อง และเหมาะสม มีการปรับทิฏฐิ แก้ไขปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น - ความเข้าใจให้ถูกต้องตามธรรม ให้เป็นสัมมาทัศนะอยู่เสมอ เป็นการพัฒนาปัญญาอย่างสำคัญก็เป็นบุญ (ทิฏฐุชุกรรม)  ทิฏฐุชุกรรม หรือ สัมมาทัศนะ เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำบุญทุกชนิด และทุกโอกาส จะต้องประกบและประกอบเข้ากับบุญกิริยาวัตถุข้ออื่นทุกข้อ เพื่อให้งานบุญข้อนั้น ๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมาย พร้อมทั้งได้ผลถูกทาง    อย่างไรที่เรียกว่า "ฉลาดทำบุญ" พระพยอม กัลยาโณ "การทำบุญตามหลักพุทธศาสนานั้น เราสรรเสริญคนที่ใคร่ครวญ คิดวินิจฉัยดีแล้วจึงทำบุญ ใครที่ทำบุญเก่งอย่างเดียว แต่คิดสังเกต ใคร่ครวญ ถึงประโยชน์ของบุญน้อยไป ก็จะเป็นพวกที่เรียกว่า หลงบุญ เมาบุญ บ้าบุญ คือ ทำดีไม่ถึงดี ทำดีไม่ถูกดี ทำดีไม่พอดี บางทีก็เป็นดีซ่านไป   ฉะนั้น จึงต้องวินิจฉัยว่า ประโยชน์ของการทำบุญในเวลานี้นั้น มันเกื้อกูลกับสังคมมนุษย์แค่ไหน เพราะบุญนั้นทำเพื่อให้มนุษย์สมบูรณ์ขึ้น พูดง่าย ๆ ว่าบุญนั้นต้องทำให้เกิดความสมบูรณ์ในความขาดแคลน เราจึงต้องมองว่าในเวลานี้อะไรขาดแคลนมากที่สุด เช่น มีเด็ก ๆ เป็นจำนวนมากที่ขาดสารอาหาร เราก็ควรทำบุญอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กบ้าง ส่วนอาหารพระ เณร สังฆทานนั้น บางทีก็มากเกินไปแล้ว และของในสังฆทานบางครั้งก็ไม่จำเป็น เช่น เกลือ น้ำมันพืช บางครั้งก็มีมากเกินไป พระไม่ได้มีเวลาไปผัด ไปจิ้ม ไปทอดอะไรมากมาย หรืออย่างทำบุญปล่อยสัตว์ ปล่อยวัว ปล่อยควายเวลานี้ก็มากเกิน และบางวัดก็ทำไปในลักษณะหารายได้เข้าวัด ตัวเดียววนเวียนปล่อยอยู่ตั้งเป็นร้อยเจ้า หลายคนช่วยแต่ช่วยได้ชีวิตเดียว มันก็ไม่ฉลาด วัดรวยแต่สังคมก็ยังขาดแคลน  ดีที่สุด ก็คือ การทำบุญเพื่อให้ศีลธรรมกลับมา เช่น เอาวัวควายไปให้ชาวนาที่ยากจน ไม่ติดอบายมุข ไม่ติดการพนัน พวกที่ติดเหล้า เที่ยวเตร่ เล่นการพนันก็ต้องเลิกถึงจะให้ยืมวัว ยืมควายไปใช้ เพราะถ้าทำบุญแล้วศีลธรรมไม่กลับมา บุญก็จะมิได้ช่วยโลก ช่วยชาติ ช่วยบ้าน ช่วยเมืองเท่าไรเลย อาตมาจึงอยากจะให้เปลี่ยนจากการทำบุญด้วยสังฆทานต่าง ๆ มาเป็นการทำบุญเพื่อให้ศีลธรรมกลับมา ให้เกิดความสมบูรณ์ ให้ความขาดแคลนของสังคมหายไป"    แหล่งข้อมูลจากหนังสือฉลาดทำบุญ เรียบเรียงโดย พระชาย  วรธมโม และพระไพศาล  วิสาโล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 กระแสต่างแดน

เจ้าสาวเซลฟี่ โซเชียลมีเดียอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีจำนวนคนศัลยกรรมเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ที่ออสเตรเลีย เทรนด์ฮิตในหมู่สาวๆ ออสซี่ ที่กำลังเตรียมตัวสละโสด ณ วันนี้ คือการถ่ายรูปมือที่สวมแหวนแต่งงานลงมา “แบ่งปัน” ออนไลน์ ให้เพื่อนๆ ได้ร่วมแสดงความชื่นชมยินดี ก็ไม่มีอะไรมาก ... เพื่อให้ “มือ” ของพวกเธอในรูปดูสวยที่สุด ว่าที่เจ้าสาวเหล่านี้จึงพากันไปทำศัลยกรรมมือ ด้วยการฉีดสารฟิลเลอร์เพิ่มความเต่งตึง ให้รอยเส้นเลือดที่ปูดโปนหรือรอยแดงบริเวณหลังมือดูลดลง คุณหมอศัลยกรรมท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าช่วงนี้มีคนไข้ถ่ายรูปมือตัวเองมาให้ดูมากขึ้น เพื่อที่จะอธิบายกับหมอว่ามันไม่สวยอย่างไร และอยากให้ซ่อมตรงไหนบ้างโดยละเอียด กระบวนการทำให้สมบูรณ์แบบเพื่อถ่ายรูปนี้ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีเท่านั้น แต่มันอาจส่งผลต่อจิตใจของเรานานกว่าที่คิด ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการเปรียบเทียบร่างกายตัวเองกับรูปถ่ายนั้นมันสามารถทำให้คนเราจิตตกได้ และผลการสำรวจเมื่อ 3 ปีที่แล้วก็ระบุว่าผู้หญิงออสซี่ส่วนใหญ่ผิดหวังจากการทำศัลยกรรมเสริมความงาม เพราะคาดหวังสูงเกินไป   ค่าเทอมแพงแห่งแดนกิมจิ ช่วงเปิดเทอมที่เกาหลี ถือเป็นช่วงปวดใจของบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัย เพราะค่าเล่าเรียนที่นั่นจัดว่าไม่ธรรมดา แพงเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เลยทีเดียว แม้รัฐบาลจะจัดเงินกู้เพื่อการศึกษาให้ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังต้องหาเพิ่ม ช่วงปิดเทอมจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการตั้งหน้าตั้งตาหาเงินมาจ่ายค่าเทอม ที่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายนนั่นเอง ข่าวบอกว่าร้อยละ 70 ของนักเรียนที่จบมัธยมจะสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัย 7 ใน 10 คน จะกู้เงินเรียน มูลหนี้เฉลี่ยอยู่ที่คนละประมาณ 13,900 เหรียญ(ประมาณ 444,000 บาท) และพวกเขาจะใช้เวลาประมาณ 4 ปีในการจ่ายเงินคืน โดยนักศึกษาเกือบครึ่งระบุว่ายินดีทำงานอะไรก็ได้หลังเรียนจบเพื่อหาเงินมาให้หนี้ให้หมดโดยเร็ว เหตุที่ค่าเล่าเรียนแพงก็เพราะการลงทุนส่วนใหญ่เป็นของทางมหาวิทยาลัยเอง เนื่องจากประเทศเกาหลีจัดสรรงบประมาณเพียงร้อยละ 2.6 ของดัชนีมวลรวมให้กับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แม้รัฐบาลจะพยายามจำกัดการขึ้นค่าเล่าเรียน แต่ก็แทบไม่ได้ผลอะไร ปีที่แล้วนักศึกษาที่นั่นยังคงจ่ายค่าเล่าเรียนคนละประมาณ 208,500 บาทต่อหนึ่งภาคเรียน ภาระนี้ยิ่งใหญ่มิใช่น้อย กระทรวงศึกษาธิการก็ยืนยันว่า สาเหตุอันดับหนึ่งของการฆ่าตัวตายในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยคือเรื่องค่าเล่าเรียนนั่นเอง   เครื่องดื่มสร้างชาติ หลายคนรู้แล้วว่าอิตาลีคือต้นตำรับเอสเปรสโซ่ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่านอร์เวย์นั้นมีเครื่องดื่ม “ประจำชาติ” เป็นกาแฟดำร้อนๆ เหมือนกัน นอร์เวย์มีอัตราการบริโภคกาแฟเป็นอันดับ 3 ของโลก ปีละเกือบ 10 กิโลกรัมต่อคน(อันดับ 1 คือฟินแลนด์ ที่ 12 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่คนละ 1.3 กิโลกรัมต่อปี) ที่นี่เขานิยมดื่มเป็นกาแฟดำร้อนๆ เรียกว่าเป็นเครื่องดื่มประจำบ้าน แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันเริ่มต้นมาอย่างไร ทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจคือกาแฟนั้นเข้ามาแทนที่อัลกอฮอล์ ในช่วงที่มีการห้ามดื่มเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ ระหว่างปี 1916 ถึง 1927 อัลฟ์ เครเมอร์ ประธานสมาคมกาแฟแห่งยุโรป ให้ข้อมูลว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผู้คนติดเหล้ากันงอมแงม รัฐบาลจึงประกาศห้ามการต้มเหล้าเด็ดขาด แล้วก็ตัดสินใจว่าจะต้องหาเครื่องดื่มอย่างอื่นมาทดแทน กาแฟดูเหมือนจะเป็นทางออก ในยุคนั้นถ้าใครเข้าโบสถ์ก็จะต้องได้รับการชักจูงจากบาทหลวงให้เลิกเหล้าแล้วหันมาดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชนิดใหม่นี้จึงกลายเป็นเครื่องดื่มสามัญประจำบ้านของคนนอร์เวย์ตั้งแต่นั้นมา แต่เดี๋ยวก่อน ถึงแม้นอร์เวย์จะจริงจังกับการดื่มกาแฟ ประเทศนี้กลับไม่มีร้านกาแฟใหญ่ๆ ระดับนานาชาติมากมายเหมือนบ้านเรา เพราะที่นั่นค่าแรงสูงและกฎหมายการจ้างงานค่อนข้างเข้มงวด ทำให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาทำธุรกิจได้ยาก   รายงานความหิว รายงานเรื่อง Hunger in America 2014 อาจทำให้เราได้รู้อีกแง่มุมหนึ่งของอเมริกันชน Feeding America ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกับผู้มีรายได้น้อย ได้ทำการสำรวจดังกล่าวทุกๆ 4 ปี เพื่อรวบรวมปัญหาต่างๆ ของครัวเรือนที่ขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารอาหารซึ่งเป็นตัวกลางในการรับบริจาคผัก ผลไม้สด จากเกษตรกรแล้วนำมาแจกจ่ายให้กับผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบัน เครือข่าย Feeding America มีผู้คนที่อยู่ในความดูแลประมาณ 5.1 ล้านคน ปีนี้เขาพบว่า ร้อยละ 20 ของครัวเรือนอเมริกันที่อยู่ในโครงการจะมีสมาชิกอย่างน้อย 1 คนที่เป็นทหารผ่านศึก และมีอย่างน้อยร้อยละ 4 ที่สมาชิกในครอบครัวเป็นทหารที่ยังประจำการอยู่ด้วย กว่าร้อยละ 50 ของคนที่มาร่วมโครงการ มีสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานเต็มเวลา ภาพผู้คนที่มาต่อคิวรับอาหารทั้งที่ยังอยู่ในชุดฟอร์มทำงานก็มีให้เห็นบ่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าร้อยละ 32 ของครอบครัวเหล่านี้ มีสมาชิกที่เป็นโรคเบาหวาน ในขณะที่ร้อยละ 57 มีสมาชิกที่มีความดันเลือดสูงด้วย ในภาพรวมแล้วปีนี้ กว่าร้อยละ 15 ของผู้คนในโครงการ มีปัญหาด้านอาหารและสุขภาพ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น เขาพบว่า 3 ใน 4 ของครอบครัวที่เข้ารับความช่วยเหลือจากธนาคารอาหาร เปลี่ยนมาซื้ออาหารที่ราคาถูกลงและมีคุณค่าทางโภชนาการลดลง เพราะมีเงินไม่พอซื้ออาหารที่ดีกว่านั้นมารับประทานได้   ใครๆ ก็กินได้ เทศกาลไหว้พระจันทร์เวียนมาอีกครั้ง เรามาติดตามนโยบายรัดเข็มขัดสกัดคอรัปชั่นประเทศจีนกันหน่อย นอกจากจะลดการติดสินบนกับข้าราชการแล้ว นโยบายนี้ยังมีผลพลอยได้ที่ทำให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าถึงของดีราคาถูกด้วย ฤดูการไหว้พระจันทร์ปีนี้จะมีขนมไหว้พระจันทร์ที่ดีต่อสุขภาพในราคาที่ถูกลงกว่าเดิมด้วย ปีนี้อุตสาหกรรมอาหารของจีน ซึ่งพบกับยอดขายลดฮวบหลังนโยบายส่งเสริมการประหยัดของรัฐบาล ก็หันมาตั้งเป้าหมายใหม่ที่ตลาดระดับกลางแทน เพื่อให้มีลูกค้ามากขึ้น คราวนี้เขาจึงพากันทำออกมาให้เลือกมากขึ้น บางเจ้ามีให้เลือกถึง 42 ไส้ และที่สำคัญจุดขายคราวนี้คือขนมที่ดีต่อสุขภาพ น้ำตาลน้อย ไขมันต่ำ ยังไม่นับสูตรสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือสูตรที่ทานแล้วรำลึกอดีต ผู้ประกอบการบอกว่านี่เป็นปรากฏการณ์พิเศษ ทั้งๆ ที่ราคาวัตถุดิบและค่าแรงสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกนั้นกลับต่ำลง เขาจึงเลยมั่นใจว่าปีนี้จะต้องขายดีแน่นอน เพราะไม่ว่าจะต้องประหยัดแค่ไหน แต่ธรรมเนียมก็ยังคงต้องเป็นเช่นเดิม แถมยังเป็นของดี ราคาถูกอีกด้วย ลืมบอกไปว่า สนนราคาของขนมไหว้พระจันทร์ในร้านใหญ่ๆ ที่เมืองจีนปีนี้ อยู่ที่กล่องละ 199 – 399 หยวน (ประมาณ 1,000 – 2,000 บาท) บางเจ้าจัดให้ถึง 8 ชิ้นต่อกล่องด้วย

อ่านเพิ่มเติม >