ฉบับที่ 215 ยาทาฝ้าจากอินเดียสั่งออนไลน์ได้นะจ๊ะนายจ๋า

ผมมีโอกาสไปสอนหนังสือนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในหัวข้อ เกี่ยวกับการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค และได้มอบหมายให้นักศึกษาไปตรวจสอบการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อต่างๆ และให้ดำเนินการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นักศึกษารายหนึ่งตรวจพบการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพทางออนไลน์ของเว็บขายสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง          นักศึกษาเล่าว่า เมื่อตนเข้าไปที่เว็บขายสินค้านี้  พบผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาว่า เป็นยาทาลบรอยฝ้า รอยจุดด่างดำ เห็นผลจริง เป็นของดีจากอินเดีย มีการบรรยายสรรพคุณว่าผลิตภัณฑ์นี้เหมาะสำหรับการรักษาผิวใต้วงแขนที่หยาบกร้าน แผลพุพอง รอยดำของบิกินี่ รอยบวมเล็กๆ บนผิวหนัง ช่วยลดรอยฝ้า กระอ่อน รอยแห่งวัย จุดด่างดำ หน้าท้องลายจากการตั้งครรภ์ และอื่นๆ มีวิธีใช้ง่ายๆ คือ ทาบางๆ บริเวณที่เป็นฝ้า ทุกวันหลังล้างหน้าตอนเย็น  แนะนำให้ทาติดต่อกันไม่เกิน 1 เดือน โดยมีคำเตือนว่า สตรีมีครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ควรใช้          ผลิตภัณฑ์นี้ระบุส่วนประกอบ ได้แก่  Hydroquinone, Mometasone Furoate และ Tretinoin ซึ่งทั้งสามตัวมีสรรพคุณเป็นยา และเป็นยาที่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ และต้องระมัดระวังในการใช้ เพราะมีผลข้างเคียงสูง เช่น Hydroquinone หากใช้ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน แทนที่หน้าจะขาวผ่อง กลับจะยิ่งทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวรขึ้นได้ รวมทั้งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังอีกด้วย          ส่วน Mometasone Furoate เป็นครีมสเตียรอยด์ ที่ทางการแพทย์นำมาใช้รักษาผื่นคัน หรือการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ การใช้ยาที่มีความแรงสูงๆ หรือใช้เป็นเวลานานๆ อาจทำให้ ผิวหนังแดง แห้ง แสบร้อน คัน สีผิวจางลง หรืออาจมีผื่นคล้ายสิว และยาอาจถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังได้ อาจเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงมากได้ เช่น กดไขกระดูก หรือภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น          ส่วนตัวสุดท้าย tretinoin เป็นสารในกลุ่มวิตามินเอ ทางการแพทย์จะใช้เป็นยารักษาสิว แต่มีข้อควรระวังที่น่ากลัวคือ ห้ามใช้ในคนท้อง เพราะตัวยาอาจดูดซึมเข้าสู่ทารก จนร่างกายทารกอาจพิการได้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงเป็นยา ซึ่งผู้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จะต้องนำมาขอขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน จึงจะสามารถจำหน่ายได้ และต้องจำหน่ายในร้านขายยาเท่านั้น แต่ยานี้กลับจำหน่ายทางออนไลน์ให้สั่งซื้อได้อย่างง่ายๆ เมื่อนักศึกษาได้ลองสั่งซื้อ ก็ได้รับสินค้ามาอย่างรวดเร็ว นักศึกษาได้ร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และแจ้งไปที่เว็บจำหน่ายสินค้าดังกล่าวด้วย          ปรากฏว่าทั้งสองแห่งต่างก็ตอบว่าได้รับเรื่องแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนผมลองเข้าไปดูก็ยัง พบการโฆษณาในเว็บอยู่ เพียงแต่ขึ้นข้อความว่าสินค้าหมด ใครนิยมสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ก็ระวังด้วยนะครับ การจำหน่ายยาทางนี้ นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังทำให้เราเสี่ยงต่ออันตรายอีกด้วย ถ้าใครเจอ ช่วยๆ กันเตือนและช่วยๆ กันร้องทุกข์ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ศาลโซเชียลกับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทกับภาคสังคมและภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตจึงได้รับความนิยมมาก ในอดีตการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ต่างๆ นั้น สามารถแสดงเพียงเนื้อหาอย่างเดียวเท่านั้น บุคคลไม่สามารถติดต่อหรือโต้ตอบซึ่งกันและกันได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการพูดคุยโต้ตอบกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถทำได้ รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่ส่งผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเว็บไซด์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเฟซบุ๊ค ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถแสดงความคิดเห็นและโต้ตอบถึงกันได้  จึงเกิดเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์  “เครือข่ายสังคมออนไลน์”  หมายถึงช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคมที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ข่าวสาร หรือการพูดคุยโต้ตอบระหว่างกัน รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่สามารถส่งผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้  การสื่อสารประเภทนี้มีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมากทั้งในด้านดีและไม่ดี ในด้านดี กล่าวคือใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวในด้านการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย การจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อความบันเทิง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย กล่าวคือในด้านการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร และสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลส่วนตัว ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมด้านสังคม เป็นต้นดังนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงเปรียบเสมือนผู้ควบคุมช่องทางในการผ่านเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งหลังจากที่ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้แล้วก็จะสามารถเข้าถึงการใช้งานใดในระบบอินเทอร์เน็ตได้ และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ได้บัญญัติความหมายของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการคือ  "ผู้ให้บริการ" หมายความว่า (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น  (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น "ผู้ใช้บริการ" หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการ ไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม          ปัจจุบันเกิดสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างมากมาย ซึ่งสามารถแยกประเภทพิจารณาออกได้สามกรณีกรณีที่หนึ่ง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบ    เช่น การเข้าไปในเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมและเข้าไปนำเอาข้อมูล  ภาพ หรือคลิป  ของผู้ใช้บริการมาเก็บไว้เพื่อเฝ้าติดตามคุกคามความเป็นส่วนตัว หรือนำไปใช้เผยแพร่แสวงหาประโยชน์  ดังนี้ อาจจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2560 มาตรา 16 ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง กรณีที่สอง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยชอบ เช่น การได้ข้อมูลส่วนบุคคลมาโดยได้รับความยินยอมจากผู้ใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตามผู้เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าวอาจให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดต่อสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ผู้ได้รับข้อมูลส่วนบุคคลนั้นนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อการนำมาใช้เพื่อการขายตรงหรือโฆษณาสินค้าหรือบริการ ดังนี้ ดังนี้ อาจจะมีความว่าผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2)พ.ศ.2560 มาตรา11ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง         กรณีที่สาม การนำเสนอข่าวของสื่อประเภทโซเชียล ซึ่งทำตัวเป็นเสมือนศาลที่พิพากษาให้บุคคลที่ตกเป็นข่าวเป็น”คนผิด” ในทันที โดยที่เจ้าตัวอาจจะยังไม่มีโอกาสชี้แจ้งใดๆ เลย เช่น ข่าวผู้ว่าราชการแม่ฮ่องสอนมีชื่อพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ สื่อทุกสื่อร่วมใจกันตีแผ่เรื่องนี้ยาวนานหลายสัปดาห์ แต่ต่อมาเมื่อความจริงปรากฏว่าท่านผู้ว่าฯ ไม่ได้ทำ มลทินที่ท่านได้รับจากศาลโซเชียล ก็ยังไม่ถูกบรรเทาลงไปแต่อย่างใด หรือกรณีการส่งรูปภาพที่ได้รับมาจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งเป็นทอดๆ โดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของภาพจนทำให้บุคคลในภาพได้รับผลกระทบ ทั้งสามกรณี หากนำข้อมูลส่วนบุคคล ภาพ หรือคลิป ออกมาเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะมีการชี้นำให้คิดตามหรือไม่ก็ตาม  ย่อมอาจจะทำให้บุคคลนั้นถูกละเมิดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง  หรือได้รับความอับอายได้  ประเด็นเหล่านี้ ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์  หากจะใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหา “อิทธิพลศาลโซเชียล” ได้อย่างแน่นอน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังโดนหลอกขายปุ๋ยไร้คุณภาพ

ที่ผ่านมาเคยมีข่าวเกี่ยวกับการจำหน่ายปุ๋ยเคมีปลอมและไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก ซึ่งหากเกษตรกรหลงเชื่อซื้อปุ๋ยเหล่านั้นมาใช้ ย่อมส่งผลเสียต่อผลผลิตและสุขภาพของเกษตรกรรวมทั้งผู้บริโภคได้ ทำให้ภายหลังมีกฎหมายออกมาควบคุมอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตามเราพบว่า ในบางพื้นที่ยังคงมีการจำหน่ายปุ๋ยไร้คุณภาพ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณชูชัยเป็นเกษตรกรชาวระนองร้องเรียนมาว่า มีตัวแทนของบริษัทแห่งหนึ่ง นำดินของชาวบ้านไปตรวจสอบและกลับมาแจ้งว่าดินเป็นกรด ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการซื้อแคลเซียมคาร์บอร์เนตมาปรับสภาพ ทำให้เขาและเกษตรกรคนอื่นๆ พากันสั่งซื้อปุ๋ยจากตัวแทนรายนี้หลายสิบกระสอบ รวมเป็นเงินหลายพันบาท โดยตกลงให้มีการชำระเมื่อได้รับสินค้า อย่างไรก็ตามหลังเห็นสภาพปุ๋ย คุณชูชัยเป็นเพียงคนเดียวที่ปฏิเสธการซื้อ เพราะพบว่าบนกระสอบมีเพียงชื่อยี่ห้อ “Call C” ระบุไว้เท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดของส่วนประกอบหรือชื่อผู้ผลิตเหมือนปุ๋ยยี่ห้ออื่นๆ ที่เคยใช้มา ซึ่งทำให้เขากังวลว่าปุ๋ยดังกล่าวอาจเป็นปุ๋ยปลอมและนำมาหลอกขายชาวบ้าน จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำว่าผู้ร้องสามารถส่งตัวอย่างปุ๋ยไปตรวจสอบคุณภาพได้ที่ ฝ่ายปุ๋ยเคมี สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2579-5536 หรือโทรศัพท์แจ้ง ส่วนสารวัตรเกษตรที่เบอร์ 0-2940-5434 เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหาได้ ทั้งนี้สำหรับกระสอบปุ๋ยที่มีการระบุเพียงชื่อยี่ห้อ ถือว่าทำผิดตามพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้กระสอบปุ๋ยต้องมีฉลากภาษาไทย และต้องแสดงข้อความต่อไปนี้1. ชื่อทางการค้า และมีคำว่า ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีมาตรฐาน หรือปุ๋ยอินทรีย์เคมี แล้วแต่กรณี2. เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายอื่นใดซึ่งแสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมี3. ปริมาณธาตุอาหารรับรอง4. น้ำหนักสุทธิหรือขนาดบรรจุของปุ๋ยเคมีตามระบบเมตริก5. ชื่อผู้ผลิต และที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า6. ชื่อทางเคมีและปริมาณของสารเป็นพิษที่อยู่ในปุ๋ยเคมี7. ข้อความอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดให้มีในฉลากนอกจากนี้ตามมาตรา 30 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดผลิตเพื่อการค้า ขาย หรือนำเข้าปุ๋ยดังต่อไปนี้ 1. ปุ๋ยปลอม2. ปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน3. ปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ เว้นแต่กรณีตามมาตรา 314. ปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์ หรือปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์5. ปุ๋ยที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้6. ปุ๋ยที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน7. ปุ๋ยที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยหากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับและจำคุก ซึ่งสำหรับผู้กระทำความผิดผลิตปุ๋ยเคมีปลอมต้องระวางโทษจำคุก 5-15 ปี ปรับตั้งแต่ 200,000-2,000,000บาท หรือผลิตปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานที่กำหนด  ต้องระวางโทษจำคุก  2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 80,000-200,000 บาท และสำหรับผู้จำหน่ายปุ๋ยเคมีปลอมต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 120,000-400,000 บาท ส่วนผู้จำหน่ายปุ๋ยผิดมาตรฐานต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-3 ปี ปรับ 40,000-200,000 บาททั้งนี้สำหรับใครที่อยากได้ปุ๋ยคุณภาพ สามารถใช้หลักการเบื้องต้นในการเลือกซื้อได้ง่ายๆ เช่น- เลือกซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้โดยเฉพาะร้านที่มีสัญลักษณ์ Q-Shop ของกรมวิชาการเกษตร - ตรวจสอบว่ามีเลขทะเบียนของกรมวิชาการเกษตรหรือไม่- ควรเก็บใบเสร็จรับเงินจากร้านค้าไว้เสมอ เพราะหากพบปัญหาใดๆ จะสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าผู้จำหน่ายนั้นได้

อ่านเพิ่มเติม >