ฉบับที่ 98 หมูยืดอายุ พรานทะเล ยอมจ่ายหนึ่งหมื่นชดใช้ผู้บริโภค

จากกรณีร้องเรียนเรื่อง “หมูยำพรานทะเล หมดอายุแล้วยังต่ออายุได้” ซึ่งตีพิมพ์ในฉลาดซื้อฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บัดนี้มีข้อยุติแล้ว หลังจากที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทำหนังสือไปถึงบริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเต็ม จำกัด ผู้ประกอบการห้างเทสโก้โลตัส เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2552 ผู้บริหารของบริษัท พรานทะเลฯ ได้มีหนังสือชี้แจงแสดงความรับผิดชอบตอบกลับมาใจความสรุปได้ว่า บริษัทฯ ได้เคยเสนอชดใช้ค่าเสียหายเพื่อเยียวยาข้อบกพร่องในการบรรจุสินค้าเป็นเงิน 5,000 บาทกับผู้ร้อง ซึ่งคิดเป็นเงิน 100 เท่าของมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไป (ยำ 2 แพ็ค รวมมูลค่า 40 บาท) และชี้แจงเรื่องคุณภาพของอาหารว่า ปลอดภัยเพื่อให้ผู้ร้องเข้าใจความผิดพลาดในกระบวนการบรรจุว่าเนื้อหมูแดงดังกล่าวยังไม่หมดอายุแต่สามารถรับประทานได้เนื่องจากผ่านกระบวนการถนอมสภาพด้วยวิธีแช่แข็งทำให้เก็บได้นาน 18 เดือน แต่ซองบรรจุระบุวันหมดอายุก่อนเพราะแต่เดิมผลิตแบบซีล(แช่เย็น) ซึ่งเก็บไว้ได้นาน 15 วัน ผู้บริหารของบริษัท พรานทะเล ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ต่อมาผู้ร้องได้โทรศัพท์ติดต่อบริษัทฯ ขอค่าเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นเงินสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อไปมากหลายเท่า บริษัทฯ จึงได้ต่อรองขอให้ผู้ร้องมารับค่าเสียหายไปจำนวน 10,000 บาท แต่ผู้ร้องปฏิเสธ...บริษัทฯ จึงเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความเป็นธรรมและให้ช่วยประสานงานให้ผู้ร้องมารับเงินซึ่งบริษัทยินดีชดใช้เยียวยาค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท มูลนิธิฯจึงได้มีหนังสือสอบถามไปยังผู้ร้องว่า ยินดีที่จะรับเงินเยียวยาความเสียหายตามที่บริษัทฯเสนอมาหรือไม่ ได้รับคำตอบจากผู้ร้องว่ายินดีและพร้อมที่จะถอนแจ้งความบริษัทด้วย ในที่สุดทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายผู้บริโภคกับฝ่ายเจ้าของสินค้าได้ไปส่งมอบเงินกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สถานีตำรวจภูธรบางเสาธง สถานีย่อยในนิคมเมืองใหม่บางพลี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2552 เรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างของผู้บริโภคที่ไม่มองข้ามปัญหาที่บางคนอาจเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับผู้บริโภครายนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่และใช้สิทธิร้องเรียนโดยทันที จนได้รับการเยียวยาความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจโดยที่ไม่ต้องฟ้องร้องกัน ในขณะเดียวกันต้องขอชมเชยบริษัทพรานทะเลฯ ที่ผิดแล้วก็ยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคโดยรวดเร็ว งานนี้ขอปรบมือดัง ๆ ให้กับทั้งสองฝ่าย มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่จะใช้สิทธิร้องเรียนเมื่อพบอาหารไม่ปลอดภัย หรือติดฉลากไม่ตรงตามความเป็นจริง สิ่งที่ควรทำคือให้เร่งดำเนินการคือการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการถ่ายรูป มีพยานบุคคล หรือการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานโดยทันทีเพื่อป้องกันการถูกกล่าวหาว่าเป็นการร้องเรียนที่มีเจตนาไม่ชอบ และประสานไปยังผู้ขายหรือผู้ผลิตให้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่นอาจให้มาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และควรมีการเรียกค่าเสียหายที่ชัดเจนตามสมควร หากผู้ขายหรือผู้ผลิตไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ถ้าต้องการเรียกค่าเสียหายสามารถร้องเรียนมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งจะช่วยเหลือทั้งการเจรจาและการช่วยเขียนคำฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ ส่วนความผิดในทางอาญานั้นหากเป็นอาหารสำเร็จรูปคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ โทษส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการได้รับคือการถูกปรับเป็นเงินเข้ารัฐทั้งหมด ส่วนผู้เสียหายอาจได้เงินค่าสินบนนำจับจำนวนหนึ่งหลังจากคดีเสร็จสิ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นข่าวจาก อย. ว่าได้จ่ายเงินสินบนนำจับกับผู้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนแต่ละปีเป็นเงินเท่าไหร่ ถ้าเป็นไปได้ขอให้ช่วยลงประกาศในเว็บไซต์ของ อย. ก็ยังดี ชาวบ้านจะได้ตื่นตัวช่วยกันเฝ้าระวังสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างมีชีวิตชีวา  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 หมูยำพรานทะเล หมดอายุแล้วยังต่อได้

เรื่องนี้เหตุเกิดขึ้นที่ห้างเทสโกโลตัส สาขาซิตี้พาร์ค บางพลี เวลาประมาณสองทุ่มของวันที่ 12 มกราคม 2552 คุณปานกับแฟนหนุ่มได้ไปเดินหาซื้ออาหาร เดินกันสักพักใหญ่มาประสบพบเจอกับชุดยำหมูกึ่งสำเร็จรูปของพรานทะเลวางจำหน่ายอยู่ เห็นป้ายแจ้งว่า ลดราคาเพียงแค่ชุดละ 20 บาท ไม่รอช้าสายตากวาดไปที่ป้ายราคาเพื่อมองหาวันผลิต-วันหมดอายุ ตามคำแนะนำของ อย. โดยทันที ฉลากระบุวันผลิตเป็นวันที่ 12 มกราคม 2552 มีวันหมดอายุถัดไปอีก 2 วันคือคือวันที่ 14 มกราคม 2552 เห็นแล้วมั่นใจว่า “ยังสดใหม่” คุณปานกับแฟนหนุ่มจึงตัดสินใจหยิบใส่ตะกร้า 2 ชุดทันทีเพื่อนำไปแบ่งรับประทานคนละชุด กลับมาถึงบ้านยัดใส่ตู้เย็นไว้ก่อน มาเปิดอีกทีก็เข้าวันที่ 14 มกราคม เพราะเกรงว่าของจะหมดอายุเสียก่อน ความจริงถึงได้ปรากฏ เพราะเมื่อแกะห่อชั้นนอกก็พบห่อชั้นในที่เป็นห่อเนื้อหมูแดงที่จะใช้ทำยำ มาตกใจกับป้ายฉลากของพรานทะเลที่ระบุวันผลิตวันหมดอายุอีกชิ้นหนึ่งแปะอยู่บนซองเนื้อหมูแดง เพราะระบุวันที่ผลิตเป็นวันที่ 17 กันยายน 2551 และวันหมดอายุเป็นวันที่ 2 ตุลาคม 2551 “ตายแล้ว นี่มันหมดอายุไปตั้ง 3 เดือนแล้วนี่” คุณปานอุทานกับตัวเองด้วยความตกใจ พร้อมกับหยิบเปลือกห่อด้านนอกที่ฉลากเป็นของห้างเทสโกโลตัสมาดูอีกที.... วันที่ผลิต วันที่หมดอายุไม่ตรงกันจริงๆ คุณปานจึงโทรไปต่อว่าที่โลตัส พนักงานรับสายบอกว่า “มันเป็นของพรานทะเลไม่ใช่ของโลตัส” เจอคำตอบแบบนี้ไฟที่แค่คุก็ลุกเป็นเพลิงทันที เพราะเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบชัดๆ คุณปานจึงจูงมือแฟนหนุ่มในฐานะพยานไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานกับสถานีตำรวจท้องที่ ก่อนจะย้อนกลับไปยื่นสำเนาใบแจ้งความที่ห้างโลตัสสาขาดังกล่าวในวันเดียวกับที่พบความผิดปกติของสินค้านั่นเอง วันรุ่งขึ้นจึงได้รับการติดต่อจากพรานทะเลเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมคำขอโทษ และได้รับอีเมล์ชี้แจงตอบกลับมาใจความสรุปได้ว่า “การที่ซองหมูแดงที่แพ็คอยู่ด้านในระบุวันหมดอายุวันที่ 2 ตุลาคม 2551 แต่ที่แพ็คของสินค้ายำระบุวันหมดอายุวันที่ 14 มกราคม 2552 นั้น เกิดจากพนักงานบรรจุสินค้าเป็นพนักงานใหม่ทำให้หยิบสินค้าสลับแพ็ค โดยนำหมูแดงที่ใช้สำหรับจัดเป็นชุดชิมรสชาติมาใส่เป็นชุดยำ ที่มาของหมูแดงชุดนี้ เดิมเป็นสินค้าที่ตั้งใจผลิตแบบ chilled หรือหมูสดแช่เย็น เพื่อนำไปขายในร้านสะดวกซื้อ มีอายุการเก็บ 15 วัน และมีสินค้าเหลือจากยอดสั่งเกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง ทางพรานทะเลจึงนำไปผ่านกระบวนการ freeze หรือแช่แข็งเพื่อยืดวันหมดอายุออกไป พรานทะเลอ้างว่าเก็บได้นานถึง 18 เดือน แต่ไม่ได้มีการแก้ไขวันผลิตและวันหมดอายุ เนื่องจากตั้งใจใช้หมูแดงเหล่านี้จัดเป็นชุดสำหรับให้ชิมรสชาติเท่านั้น ไม่คิดจะเอามาใส่ลงในชุดยำ” จากคำชี้แจงทำให้คุณปานและแฟนหนุ่มถึงกับอึ้ง แม้ว่าพรานทะเลจะแจ้งว่าได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณปาน แฟนหนุ่ม รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่หลงซื้อสินค้าเพราะคิดว่าใหม่สดตามฉลากที่แจ้ง ทั้งเทสโกโลตัสและพรานทะเลยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนใดๆ คุณปานจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เป็นลักษณะของการนำอาหารที่ไม่สดแล้วมาแสดงฉลากว่าเป็นอาหารสดใหม่ ถือเป็นแสดงฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในคุณภาพของผลิตภัณฑ์สินค้า ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย อาจมีความผิดฐานผลิตและจำหน่ายอาหารปลอมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 10,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายควรแจ้งความดำเนินคดี ส่วนการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น มูลนิธิฯ ได้ส่งจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนอยู่ในขณะนี้ หากไม่มีการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนตามสมควร ผู้ร้องเรียนสามารถมอบอำนาจให้มูลนิธิฯ ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่งครับ

อ่านเพิ่มเติม >