ฉบับที่ 162 พฤติกรรมการกินที่ดี ช่วยคุณได้

รสนิยมในการกินอาหารของชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยดูแล้วน่าสงสาร เพราะกินแต่อาหารมีพลังงานและไขมันสูง อีกทั้งรสชาติอาหารก็ซ้ำซากอย่างที่เห็นในภาพยนตร์จากฮอลลิวู้ด ขาดความประณีตและจินตนาการในการปรุงแต่ง ดังนั้นทุกครั้งที่เพื่อนชาวอเมริกัน(สมัยที่ผู้เขียนมีโอกาสไปเรียนในสหรัฐอเมริกา) ได้รับคำเชิญให้ร่วมงานกินอาหารของชาวเอเชียแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ปฏิเสธและตั้งตารอ Annie Tucker Morgan และ Divine Caroline จาก www.care2.com ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ  Healthy Diet Habits from Around the World ซึ่งเล่าถึงพฤติกรรมการกินอาหารที่ทั้งสองคนเชื่อว่า น่าจะช่วยให้สุขภาพของชาวอเมริกันที่ทำตามดีขึ้น ผู้เขียนจึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง เพราะปัจจุบันคนไทยหลายส่วนก็ใกล้จะเป็นชาวอเมริกันเข้าไปทุกขณะแล้ว พฤติกรรมแรกเป็นของคน “โปแลนด์” ซึ่งกินอาหารที่บ้านเป็นประจำ จึงกำหนดปริมาณอาหารไม่ให้มากเกินไปได้ ต่างจากเวลาไปกินอาหารนอกบ้าน ซึ่งอาหารแต่ละจานบางครั้งก็มากเกิน จนผู้บริโภคต้องยอมท้องแตกดีกว่าของเหลือ เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ชาว “แกมเบีย” ในอัฟริกาจึงเลือกกินถั่วหลากชนิด เป็นอาหารหลัก เพราะได้ทั้งโปรตีน แป้ง ไขมัน รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวทำให้ชาวแกมเบียเป็นกลุ่มชนที่มีอัตราการเป็นโรคอ้วนและมะเร็ง(ในภาพรวมทุกชนิด) ต่ำที่สุดในโลกชาติหนึ่ง   ถ้าถามหนุ่มอเมริกันว่า สาวชาติใดเซ็กซี่มากที่สุดในโลกในการเยื้องย่างร่างกาย คำตอบส่วนใหญ่มักยกให้ สาว “บราซิล” ซึ่งมีสไตล์การเต้นแซมบ้าที่เร้าใจ โดยไม่มีหน้าท้องมาขัดขวางการส่ายสะโพก แม้ว่าชาวบราซิเลียนกินอาหารที่มีแป้งค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นแป้งในรูปเมล็ดธัญพืชและถั่วทั้งเมล็ด ซึ่งมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Obesity Research สนับสนุนว่า อาหารแป้งในอาหารบราซิเลียนนั้นลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนถึงร้อยละ 14 เพราะมีใยอาหารและไขมันต่ำ ทั้งช่วยชะลอการเพิ่มความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือดและทำให้อิ่มทน สำหรับอาหารที่มีเครื่องเทศสูงของ “ไทยและมาเลเซีย” สามารถทำให้คนอเมริกันหลั่งน้ำตามานักต่อนักด้วยความซาบซึ้งว่า ได้กินของดีที่ทำให้แสบร้อนตั้งแต่รากผมถึงปลายเท้า เพราะเครื่องเทศในอาหาร เช่น ขมิ้นซึ่งมีสารเคอร์คิวมิน (curcumin) ช่วยเร่งการเผาผลาญพลังงานจากอาหาร ส่งผลให้กินช้าลงเพราะต้องคอยซดน้ำเปล่าล้างความเผ็ดร้อนและอิ่มก่อนที่ร่างกายจะถึงจุดอิ่มจริง ซึ่งต่างจากอาหารของชาวอเมริกัน ซึ่งมักทำให้รู้สึกอิ่มหลังจากกินเกินเข้าไปแล้ว เนื่องจากอาหารไขมันสูงมักทำให้เรารู้สึกอร่อยจนหยุดไม่อยู่ ปรัชญาการไม่พลาดอาหารเช้าของชาว “เยอรมัน” นั้น ดูขัดความรู้สึกว่ามันน่าจะทำให้อ้วน แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่า อาหารเช้าช่วยให้น้ำหนักลดถ้าเริ่มอย่างถูกต้อง คือ มีไข่ ธัญพืชทั้งเมล็ดและผลไม้ เพื่อเปิดสวิทช์การใช้พลังงานในร่างกายและตอบสนองความต้องการของสมอง ซึ่งลดโอกาสการตะกายหาอาหารกิน (เกิน)ในช่วงสายเหมือนคนละเลยอาหารเช้า ที่มาแปลกแต่ดูเป็นประโยชน์มากคือ ความคิดของชาวดัชท์ใน “เนเธอร์แลนด์” เกี่ยวกับการขยับแข้งขยับขาก่อนกินอาหาร โดยชาวดัทช์มักถีบจักรยานเพื่อไปซื้ออาหารมากิน ต่างจากชาวอเมริกันที่นิยมระบบ Drive in เพื่อซื้ออาหารจานด่วนมานั่งคุดคู้กินในรถ ที่น่าสนใจคือ ในเนเธอร์แลนด์นั้นจำนวนจักรยานมีมากกว่าจำนวนพลเมืองเสียอีก และกว่าครึ่งของชาวดัทช์ใช้จักรยานในการเดินทางประจำวัน ซึ่งเผาผลาญพลังงานได้ราว 550 แคลอรีต่อชั่วโมง ผู้คนรอบทะเลเมดิเตอเรเนียน เช่น “กรีก” รวมทั้งชาวเอเชียมองเนื้อสัตว์เป็นเพียงส่วนเสริมของมื้ออาหารโดยให้ความสนใจกับพืชผักท้องถิ่น เช่น น้ำมันมะกอก มะเขือต่างๆ และมองหาโปรตีนที่มาจากถั่ว ซึ่งตรงกันข้ามกับความคิดแบบอเมริกันๆ ที่ให้เนื้อสัตว์และมันฝรั่งเป็นองค์ประกอบหลักของอาหารแต่ละมื้อ สำหรับเครื่องดื่มในมื้ออาหารนั้นชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่รู้จักศีลข้อ 5 เรื่องห้ามดื่มสุรา เบียร์จึงขายดีมาก ต่างจากชาว “อัฟริกาใต้” ที่นิยมดื่มชาแดงรอยบอส (Rooibos) ซึ่งถูกสกัดจากใบและกิ่งของต้น แอสปาเลตัสลีเนียรีส (Aspalathus linearis) ซึ่งเป็นไม้พุ่มและขึ้นที่เดียวในโลกคือ อัฟริกาใต้ ชานี้มีความหอมและรสชาติดีพร้อมคาเท็คชิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ปราศจากคาเฟอีนและมีแทนนินต่ำ แต่ถ้าเป็นความยากลำบากในการหาชาดังกล่าว ไทยมีชาสมุนไพรเพื่อสุขภาพมากมายหลายชนิด ที่ผู้เขียนขอแนะนำให้ชาวอเมริกันคือ ชามะตูม เพราะทั้งหอมและมีรสละมุน การปรับให้อาหารกลางวันเป็นมื้อหลักแทนอาหารค่ำตามพฤติกรรมการกินของ “ชาวยุโรปและเม็กซิโก” น่าจะดีกว่าการที่ชาวอเมริกันชอบยกเลิกมื้อเช้า กินกลางวันให้น้อยหน่อย เพื่อสงวนกระเพาะอาหารสำหรับมื้อเย็นพร้อมการสังสรรค์ จากนั้นก็ไปนอนเพื่อให้อาหารถูกย่อยกลายเป็นพลังงานสำหรับสร้างไขมันสะสมที่พุง สารคดีในโทรทัศน์บางเรื่องให้ความรู้เกี่ยวกับการกินอาหารของชาวยุโรปว่า มีความพิถีพิถันในการปรุงและตั้งราคาให้แพงเข้าไว้ จึงต้องกินแต่เพียงน้อย สุขภาพของคนที่กินอาหารตามแบบยุโรปจึงค่อนข้างดีกว่าคนที่กินอาหารแบบอเมริกัน ปัญหาของคนที่ชอบกินของอร่อยและลดน้ำหนักไม่ได้คือ กินเร็ว แบบว่าชอบออกกำลังแขนด้วยการยกช้อนส้อมด้วยความถี่สูง มีผู้ช่างสังเกตพบว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 28 ได้พบหน้าคนในครอบครัวที่โต๊ะอาหารมื้อเย็น ในขณะที่ชาว “ฝรั่งเศส” ร้อยละ 92 กินอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากันเป็นประจำในตอนค่ำ ซึ่งการกินอาหารพร้อมกันนั้นทำให้ต้องกินช้า (มิเช่นนั้นอาหารอาจติดคอเวลาพูดคุยกัน) นักสรีรวิทยากล่าวว่า ระหว่างการเคี้ยวข้าวให้แหลกในปากนั้น จะมีการย่อยแป้งด้วยเอนไซม์อมัยเลสจากน้ำลาย ก่อให้เกิดน้ำตาลกลูโคส ซึ่งถูกดูดซึมเข้าเลือดส่งไปยังสมองทำให้รู้สึกอิ่ม ซึ่งต่างจากคนที่กลืนข้าวโดยไม่เคี้ยวจะอิ่มช้ากว่า จึงกินได้มากกว่าและอ้วนกว่า การเพิ่มปลาและอาหารทะเลอื่นในมื้ออาหารมากขึ้นตามแบบพฤติกรรมการบริโภคของชาว “ญี่ปุ่นและดัทช์” นั้น ทำให้ผู้บริโภคได้กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมกาสาม ซึ่งเชื่อกันว่ากระตุ้นการทำงานของสมองเด็ก ลดความเสี่ยงต่อปัญหาของเส้นเลือดหัวใจ และลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งเพิ่มการสะสมของไขมันหน้าท้อง ที่สำคัญอาหารทะเลส่วนใหญ่เว้นปลาหมึกมีไขมันต่ำผู้บริโภคจึงมักกินกันได้เต็มที่ ลักษณะพิเศษชาวญี่ปุ่นซึ่งชาวอเมริกันค่อนข้างชื่นชมแกมอิจฉาคือ ไม่ค่อยอ้วนเมื่อแก่ โดยเฉพาะเมื่อชะแง้แลดูชาวโอกินาวา ซึ่งมีพฤติกรรมการกินแบบที่เรียกว่า ฮารา ฮาชิ บุ (hara hachi bu) ซึ่งหมายความว่า ให้หยุดกินเมื่อเริ่มอิ่ม เพราะถ้ารอให้รู้สึกอิ่มจริง กระเพาะจะขยายตัวเองใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการเดินออกจากโต๊ะอาหาร หลังจากจ่ายค่าอาหารแล้วอย่างเร็วโดยไม่อ้อยอิ่งเติมของหวาน นำไปสู่การมีดัชนีมวลกายที่ดูดี ชาวโอกินาวานั้นมีค่าดัชนีมวลกายเฉลี่ย 21.5 ในขณะที่ชาวอเมริกันตัวเลขอยู่ที่ 28 ส่วนคนไทยก็ตัวใครตัวมันนะครับท่าน ที่เขียนให้อ่านนี้ก็เพียงหวังว่า ท่านผู้อ่านที่ฉลาดซื้อ จะสนใจหยิบยกเรื่องราวดี ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันบ้างไม่มากก็น้อย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point