ฉบับที่ 268 สงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ

เราบ่นกันมากว่าค่าไฟฟ้าแพงมาก จะเรียกว่าราคาแพงที่สุดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมาก็ว่าได้ จนในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองต่างก็เสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่จะเป็นจริงหรือไม่ ผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป รวมทั้งต้องร่วมกำหนดนโยบายของผู้บริโภคเองด้วยปัญหาสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงก็คือนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องการกับการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทุกคน ที่คนไทยเราได้ร่วมกันพิทักษ์รักษามาตลอดที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า ร้อยละ 56 ของไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยนั้น ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น เรามาพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซฯที่เราใช้ในการผลิตไฟฟ้ากันสักหน่อย รวมทั้งที่มา และราคา ดังรูปข้างล่างนี้  ว่ากันตามรูปเลยนะครับผมขอสรุปว่า ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทยมาจาก 3 แหล่งคือ(1)          จากประเทศไทยเราเอง(ทั้งในอ่าวไทยและบนบก) ราคาในเดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ  239 บาทต่อล้านบีทียู เราเริ่มใช้ก๊าซในยุคที่เขาคุยว่า “โชติช่วงชัชวาล” ประมาณปี 2524(2)          จากประเทศเมียนมาร์ ผ่านท่อก๊าซฯ ราคา 375 บาทต่อล้านบีทียู  เริ่มนำเข้าตั้งแต่ปี 2543(3)          ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าทางเรือ ราคา 599 บาทต่อล้านบีทียู เริ่มนำเข้าครั้งแรกปี 2553 และโปรดสังเกตว่า ราคาแปรผันมาก จาก 717 เป็น 599 บาทต่อล้านบีทียูในเวลาเดือนเดียว จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่า ราคา LNG  สูงกว่าราคาในประเทศไทยมากกว่า 2 เท่าตัว ตรงนี้แหละครับที่เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลว่า จะให้ใคร หรือกลุ่มไหนได้ใช้ประโยชน์จากก๊าซทั้ง 3 แหล่งที่มีราคาแตกต่างกันมากขนาดนี้ผมไม่ทราบว่า ก่อนที่จะมีการนำเข้า LNG ทางกระทรวงพลังงานได้คิดราคาก๊าซจาก 2 แหล่งอย่างไร แต่หลังจากปี 2553 ที่ได้นำก๊าซทั้ง 3 แหล่ง ทางกระทรวงฯได้นำราคาก๊าซทั้ง 3 แหล่งมาเฉลี่ยกันเพื่อให้ ภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงแยกก๊าซ(หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี) และภาคยานยนต์(เอ็นจีวี) ใช้ในราคาที่เท่ากับค่าเฉลี่ย หรือที่เรียกว่า ราคา Pool Gasแต่โรงแยกก๊าซหรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะได้ใช้ในราคาที่ผลิตจากประเทศไทย ถ้าในภาพข้างต้นก็ราคา 239 บาทต่อล้านบีทียู ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าต้องจ่ายในราคา 376 บาทโดยอาศัยข้อมูลจากกระทรวงพลังงานพบว่า ก๊าซ 1 ล้านบีทียูสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 129 หน่วย ดังนั้น หากต้องใช้ Pool Gas ต้นทุนค่าก๊าซ(อย่างเดียว)จะเท่ากับ 376/129  หรือ 2.91 บาทต่อหน่วยแต่หากรัฐบาลมีนโยบายให้ก๊าซจากประเทศไทยซึ่งเป็นของคนไทย ให้คนไทยทั้งประเทศได้ใช้ก่อน โดยนำไปผลิตไฟฟ้าซึ่งมีจำนวนมากเพียงพอ ต้นทุนค่าก๊าซก็จะลดลงเหลือเท่ากับ 239/129 หรือ 1.85 บาทต่อหน่วยเห็นกันชัดๆเลยใช่ไหมครับว่า ต้นทุนนี้ลดลง 1.06 บาทต่อหน่วยแต่เนื่องจากไฟฟ้าที่คนไทยใช้ผลิตจากก๊าซ 56% ดังนั้น เมื่อเฉลี่ยทั้งประเทศแล้วค่าไฟฟ้าจะลดลงถึง 59 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ยังไม่ได้คิดถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าล้นเกินเลยที่นำไปสู่ค่าความพร้อมจ่ายทั้งที่ไม่ได้มีการเดินเครื่องผลิตเลยในปี 2565 คนไทยใช้ไฟฟ้าประมาณ 2 แสนล้านหน่วย หากรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนนโยบายว่า ก๊าซฯจากประเทศไทยให้คนไทยได้ใช้ผลิตไฟฟ้าก่อน ก็จะทำให้มูลค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึงประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ผลประโยชน์ตรงนี้ก็จะตกอยู่กับประชาชนผู้บริโภคแต่ปัจจุบันนี้เงินก้อนนี้ได้ไหลเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของธุรกิจปิโตรเคมี อันเป็นผลมาจากสงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 "แฉเล่ห์! ผู้ค้าน้ำมันหากินกับส่วนต่างราคา"

หากินกับส่วนต่างราคาน้ำมัน, ปกปิดราคาอ้างอิงตลาดสิงคโปร์, ปกปิดข้อมูลสต็อกน้ำมันเหล่านี้คือสิ่งที่กระทรวงพลังงาน ไม่ยอมให้สังคมเห็นต้นตอทำราคาขายปลีกน้ำมันแพง         ผู้บริโภคเคยสงสัยกันไหมว่า น้ำมันดิบเวลาเอาไปกลั่นเป็นน้ำมันเบนซินและดีเซล กระทรวงพลังงาน ที่กำกับดูแล ปตท. (การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย )จึงอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ เพราะฉะนั้น ราคาที่ปรับขึ้น-ลง ก็ควรเป็นตลาดสิงคโปร์ ใช่ไหม อ้าว ! แล้วทำไมเวลาประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันสำเร็จรูปถึงไปอ้างอิง OPEC ( Organizationof the Petroleum Exporting Countries องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก )         ประเด็นต่อมา ถือว่าสำคัญสุดยอด ในเมื่อประเทศไทย ใช้สูตรอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์แต่ทำไม กระทรวงพลังงาน กลับไม่ยอมโชว์ตัวเลข โดยอ้างว่า เป็นข้อมูลลับ มีอะไรในกอไผ่ ! คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค บอกกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แฉข้อมูลเชิงลึกแบบละเอียดยิบ         “ราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับขึ้นหรือลง จะมีผลตามหลังราคาน้ำมันดิบ 1-2 วัน เช่นหากราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ประกาศวันใดก็ตาม ให้นับเป็นวันแรก ถัดจากนั้น อีก 1-2 วัน ให้จับตาดูราคาน้ำมันสำเร็จรูป จะถูกประกาศลดหรือเพิ่มตามราคาน้ำมันดิบ ก็อย่างที่ผู้บริโภค ได้เห็นเวลาประกาศขึ้นราคาขายเอาซะเยอะเชียว แต่พอเวลาลดราคาขายกลับลงแค่นิดเดียว อันนี้แหละ ที่จะบอกให้ว่าผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ มักใช้ข้ออ้างเรื่องสต็อกน้ำมัน ที่มีต้นทุนสูงอยู่เดิมนั่นมันแค่การพูดให้ชาวบ้านสบายใจว่า ทุกอย่างเป็นไปตาม “กลไกราคาตลาด“ แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลสต็อกน้ำมัน ไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน คำถามคือทำไมต้องปกปิด “มีเรื่องที่ตลกมาก กระทรวงพลังงานไม่ยอมเปิดข้อมูล “ราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงหน้าโรงกลั่นตลาดสิงคโปร์”         ณ วันที่ออกประกาศขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในไทย ลองไปหาดูกันสิ ไม่มีเว็บไซต์ไหน เอาขึ้นมาโชว์ เป็นไปได้อย่างไรที่หน่วยงานรัฐบาลซึ่งออกนโยบายว่าประเทศไทยอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ แต่ไม่ยอมเอาข้อมูลมาเปิดเผยวันต่อวัน ...ผู้บริโภคเคยสังเกตไหมว่า ทำไมปตท. ถึงประกาศปรับราคาน้ำมันตอน 5 โมงเย็นทุกครั้ง มีเล่ห์กลที่ผู้บริโภคคาดไม่ถึงเลยทีเดียว!         “เวลาของสิงคโปร์เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง ตลาดน้ำมันปิด “4 โมงเย็น จังหวะนี้แหละที่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของไทย เห็นราคาล่วงหน้าจึงคำนวณได้ว่าหาก 5 โมงเย็นประกาศขึ้นหรือลดราคาน้ำมัน30 หรือ 60 สตางค์ /ลิตร ไม่เจ็บตัวเท่าไหร่ อ้าว! เห็นตัวเลขล่วงหน้าแบบนี้มันไม่ใช่กลไกตลาด แถมไม่ได้เห็นวันเดียวด้วยนะ เพราะคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ใช้วิธีคิดแบบถัวเฉลี่ยของราคาสิงคโปร์ย้อนหลังไปอีก 2 วัน เพื่อเอามาคำนวณกับวันที่ 3 ซึ่งใช้ประกาศ ลด -เพิ่ม ราคาน้ำมันสำเร็จรูป เพราะฉะนั้น เขาถึงบอกว่า วันนี้จะลดให้ 30 สตางค์หรือ 60 สตางค์ แต่พอเห็นจังหวะที่ไม่ส่งผลบวก ก็รีบชิงปรับขึ้นราคาล่วงหน้า 1 วัน ได้กำไรเฉพาะวันนั้น 300 ล้านบาท นี่แหละเป็นวิธีที่เขาเล่นกันแบบนี้! ผมเคยส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดข้อมูล“ราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงหน้าโรงกลั่นตลาดสิงค์โปร์” เพื่อเทียบเคียงกับ“โครงสร้างราคาน้ำมันของไทย “จะได้คิดย้อนทวนคำนวณราคาต่อลิตร”1 บาท หรือ 2 บาท แต่พอไม่ยอมเปิดข้อมูลมีปัญหาแล้ว แถมไม่เคยมีคำตอบอธิบายความใดๆ มีแต่ข้ออ้างที่ว่า “เปิดไม่ได้เพราะเป็นราคาที่เขาต้องซื้อข้อมูล” ขอถามกลับว่าตลาดอะไรต้องซื้อข้อมูล อย่างนี้ไม่เรียกว่าตลาดแล้ว ตลาดหมายถึงว่าเขาจะต้องประกาศที่หน้าป้ายอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เป็นสาธารณะให้ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย รับทราบด้วยกัน การปิดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแสดงให้เห็นถึงการ “ไม่มีธรรมาภิบาล” แต่กระทรวงพลังงานกลับได้คะแนนโหวตดีเด่นด้านความโปร่งใส         คุณอิฐบูรณ์บอกว่า ทุกวันนี้ต้องใช้ข้อมูล “วงใน” วันต่อวัน เพื่อดูราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่รัฐบาลประกาศ โดยเขียนบทความแหย่เบาๆ เช่น “วันนี้พวกคุณโกงเรา, ไม่ยอมปรับลดราคา2วันแล้วนะ” อีกทั้งยังพบความผิดปกติจากราคาหน้าโรงกลั่นที่รัฐบาลเอามาแถลงอยู่บ่อยครั้งเพื่อทำให้ค่าการตลาดมันสูงขึ้นหรือ ดีดกลับแบบประหลาดๆ เหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่ผมต้องการสื่อสารไปถึงชาวบ้านให้รู้เท่าทัน และที่ยากที่สุดของการอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ มันคืออะไรรู้ไหม? มันคือ“ราคาค่าการกลั่น “บางทีคิดจากความต่างระหว่างราคาสิงคโปร์กับราคาน้ำมันดิบดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยิ่งหากราคาสิงคโปร์ห่างจากราคาน้ำมันดิบดูไบก็จะยิ่งได้ค่าการกลั่น เพราะนี่คือกำไรขั้นต้นก่อนที่จะหักต้นทุนสุทธิออกมาเป็นกำไรสุทธิ ดังนั้น จึงมีขบวนการดันให้ราคาตลาดสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบดูไบ ทำให้ค่าการกลั่นบางช่วงพุ่งไป 5 บาท ถึง 6 บาท ได้กำไรกันทีเป็นแสนล้านบาทเรียกว่า “หากินกับส่วนต่างราคาน้ำมัน” เพราะสิ่งนี้ ไม่ได้เกิดจากต้นทุนของโรงกลั่นที่แท้จริง แต่มันคือ ราคาที่ถูกสมมุติ รวมกันถึง 2 สมมุติ กระทั่งกลายร่างออกมาเป็นราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นแบบสมมุติแถม ยังบวกด้วย ค่าขนส่งสมมุติแล้วก็มาเก็บเงินเป็นราคาขายที่แพงเอากับประชาชน อย่างหลังสุดนี่คือของจริง หากยังมองไม่เห็นภาพ ผมขออธิบายความชัดๆ เริ่มจาก ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่ถูกสมมุติเพราะฉะนั้นค่าการตลาด ก็เป็นสิ่งสมมุติ ซึ่งค่าการตลาดรัฐบาลกำหนดให้อยู่ที่ 2 บาท นี่ก็สมมุติเพราะไม่มีใครรู้เลยว่า ปตท. เอาต้นทุนร้านกาแฟ, ค่าพื้นที่เวิ้งว้างที่เอามาทำธุรกิจย่อมๆ, ร้านค้าปลีกต่างๆ, ธุรกิจโรงแรมธุรกิจถูกเอามารวมเป็นต้นทุน-ค่าโสหุ้ยของค่าการตลาดน้ำมันด้วยหรือเปล่า ผมเคยเสนอให้ ปตท. แยกบัญชี แต่กลับเห็นการเอาที่ดินทั้งแปลง มารวมเป็นค่าการตลาด แล้วก็มาอ้างเหตุผลว่า ได้ค่าการตลาด 2 บาทน้อยมากเลย ยังขาดทุนอยู่นะ ทั้งที่ความเป็นจริงผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ปรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปช้าและลดราคาน้อยกว่าที่ควรเป็น ทำค่าการตลาดน้ำมันพุ่งสะสมขึ้นไปถึง3 บาทต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ประกาศ และทำให้ผู้ใช้น้ำมันต้องเสียเงินกับค่าการตลาดสูงที่เกินควรร่วมกว่า 300 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566         ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการปล่อยลอยตัว ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทีไร้การควบคุม, ต้องกำหนดเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมเป็นมาตรการบังคับ, ต้องตรวจสอบและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบถึงต้นทุนการประกอบการและต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่โรงกลั่นขายให้ผู้ค้าน้ำมันที่มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมากที่สุด 2 ลำดับแรก คือ บริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. และบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาอ้างอิงของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ตามที่ผู้ค้าน้ำมันกล่าวอ้าง เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลทำได้ตามนี้ จึงจะถือได้ว่าเห็นแก่ประโยชน์ของบริโภคอย่างแท้จริง! ผู้เขียน : นิชานันท์ ธัญจิราโชติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 แอบดูการผลิตไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย

        ประเทศไทยเรากำลังมีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพงมากเป็นประวัติการณ์ มากกว่า 5 บาทต่อหน่วยแล้วรัฐบาลก็อ้างว่าที่แพงเพราะว่าค่าเชื้อเพลิงแพง คือค่าก๊าซธรรมชาติที่ในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ             ผมถามว่า...เรามีเชื้อเพลิงเป็นของตัวเองแล้ว โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ทำไมเราไม่นำมาใช้            รัฐตอบว่า...พลังงานแสงอาทิตย์มันไม่เสถียร กลางคืนไม่มีพระอาทิตย์จะเอาอะไรใช้         แล้วทำไมรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประชากร 40 ล้านคน เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกใช้ไฟฟ้ามากกว่าประเทศไทยเราเกือบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ทำไมเขาจึงผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดมาใช้ได้เยอะมากเลย จากแผงโซล่าเซลล์ที่ติดตามบ้านประมาณ 1.5 ล้านหลังคาเรือน โดยใช้ระบบแลกไฟฟ้ากับรัฐ และต้องย้ำว่า แลกไฟฟ้ากันในราคาที่เท่ากันด้วย         ทั้งๆ ที่มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 กันยำยน 2565 ออกมำแล้วว่าให้ส่งเสริมให้ประชาชนติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาโดยด่วน โดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (NetMetering) คือแลกไฟฟ้ากันระหว่างผู้ผลิตบนหลังคากับการไฟฟ้า แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงพลังงานไม่ทำอะไรต่อ ทั้งๆ ที่มีมติ ครม.ไปนานกว่า 8 เดือนแล้ว ฉบับนี้ ผมจะมาแสดงการผลิตำพลังงานไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนียให้เห็นกันว่าเขาทำอย่างไรบ้าง         ผมไปดูข้อมูลการผลิตไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ของรัฐนี้ เริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้า โซล่าเซลล์ก็ผลิตได้แล้วจนถึงหนุ่งทุ่มก็ยังทำงานอยู่บางส่วนในบางวัน ผมลองคำนวณคร่าวๆเอาช่วงเวลาประมาณ 10 ชั่วโมง คิดออกมาเป็นไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 160 ล้านหน่วยต่อวัน ถ้าคิดแบบบ้านเรา  เป็นค่าเชื้อเพลิงหน่วยละ 2.50 บาท ก็ 400 ล้านบาทต่อวัน นี่คือมูลค่าของแสงแดดที่เรมองข้ามที่สามารถนำมาแทนเชื้อเพลิงได้โดยไม่ต้องซื้อ        ช่วงที่มีแดด เขาก็ให้แดดผลิตก่อน ตอนที่ไม่มีแดดก๊าซธรรมชาติก็ผลิตได้เยอะ แต่พอมีแดดเขก็ลดการผลิตจากก๊าซธรรมชาติลง ซึ่งข้อมูลค่าส่วนที่ไม่ต้องไปซื้อก๊าซตรงนี้ก็กลายเป็นรายไดด้ของชาวบ้านไปเลย ในแคลิฟอร์เนียเขาผลิตโซล่าเซลล์เองด้วย เงินจำนวนนี้ก็กระจายอยู่นั้นนอกจากแสงแดดแล้วเขายังใช้เชื้อเพลิงอะไรอีกบ้างในการผลิตไฟฟ้าเรามาดูกันที่รัฐนี้เขาจะพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าล่วงหน้าไว้ก่อนว่าพรุ่งนี้จะใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ เขาจะรู้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน ล่วงหน้า 1 วันล่วงหน้า 1 ชั่วโมง รู้หมด เผื่อมีอะไรผิดพลาดขนาดไหน จะได้ปรับแผนได้         ในหนึ่งวัน ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงเขาจะใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้แดดเยอะ ใช้ก๊าซน้อย พอตอนหัวค่ำก็ใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นมา แล้วก็ใช้พลังงานหมุนเวียนอื่นๆบางส่วน พอใช้แดดหมดแล้วก็ใช้ลม ใช้พลังน้ำ ใช้แบตเตอรื่เขาใช้นิวเคลียร์คคงที่ตลอดทั้งวันทั้งปี ถ่านหินก็ใช้แค่ 2 เมกะวัตต์เท่านั้น เขาใช้หลักว่าพลังานหมุนเวียนซึ่งไม่ต้องซื้อและไม่ปล่อยมลพิษ ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนให้ผลิตมาใช้ได้ก่อนเลย ถ้าลมมาก็ผลิตเลย แดดมาก็ลิตเลย ถ้าพอกับความต้องการดก็จบ ถ้าเหลือก็เก็บเข้าแบตเตอรี่ ถ้าไม่พอก็เอาจากแบตเตอรี่มาใช้         นี่คือการบริหารพลังงานไฟฟ้าโดยปรับเปลี่ยนตามทรัพยากรที่มี เลือกทรัพยากรของฟรีก่อน ที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้ ชาวบ้านผลิตได้ ถ้าไม่พอก็ไปใช้ฟอสซิล ไปใช้นิวเคลียร์ซึ่งเป็นของบริษัทต่างๆทีหลัง หลายคนอาจถามว่า...ทำไมประเทศไทยไม่ทำอย่างนี้ ?         ผมขอตอบว่า...ประเทศไทยเอาพลังงานฟอสซิลก่อน เพราะสามารถผูกขาดได้ แค่นี้ละครับ นี่เป็นมายาคติซึ่งหลายคนไม่เข้าใจเราต้องพยายามอธิบาย ก็ต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อน นอกจากกนี้ ในส่วนของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนในภาคไฟฟ้า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 30 เดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าในช่วงตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น รัฐแคลิฟอร์เนียมีการปล่อยคำร์บอนฯ ในภาคผลิตไฟฟ้าลดต่ำลงจนกระทั่งติดลบ         ผมเองก็สงสัยว่ามันติดลบได้อย่างไร ก็ไปดูว่าเขาใช้พลังงานอะไรบ้างในการผลิต ปรากฏว่าการผลิตไฟฟ้าของเขาในช่วงประมาณบ่าย 3เศษๆ เขามีพลังงานหมุนเวียนเยอะเขามีไฟฟ้าเหลือ เขาส่งออกไปให้รัฐอื่น จึงทำให้การปล่อยคาร์บอนฯของเขาในช่วงเวลาบ่าย 3 เศษๆ นั้นติดลบ นั่นเอง          จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า เราแก้ปัญหาโลกร้อนได้ภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน คือใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ไม่ใช่เรื่องยากเลย ถ้าผู้นำมีความกล้าหาญที่จะลดผลประโยชน์ของพวกพ่อค้าพลังงานฟอสซิลลง         ผมมองว่าปัญหาในการผลิตไฟฟ้าของไทยตอนนี้ คือการผูกขาดคนอื่นผลิตไม่ได้ เขาจะไม่ให้ชาวบ้านผลิตเอง ทั้งๆที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศไทย ด้านพลังงาน ที่ใช้คำว่า Prosumer (Production byConsumer – ผลิตโดยผู้บริโภค)         ดังนั้น การอ้างว่าไฟฟ้าแพงเพราะเชื้อเพลิงแพงนั้น จริงๆ แล้วมีปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ การหลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้พลังงานที่ตัวเองขายไม่ได้ที่ตัวเองไม่สามารถควบคุมได้เท่านั้นแหละครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 พลังงานไทยไม่เป็นธรรมตรงไหน?

        เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมเสวนาออนไลน์ Just Energy Transition Talk ครั้งที่ 1 ที่ The Cloud กลุ่ม RE100 และป่าสาละ จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนผ่านตัวแทนจากแต่ละภาคส่วน ว่า ‘ทำไมต้องเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม?’ ผมไปในฐานะตัวแทนสภาองค์กรผู้บริโภค ตั้งใจและเตรียมตัวเต็มที่เลย ผมไปบรรยายพร้อมกับสไลด์อัปเดตข้อมูลด้านพลังงานกว่า 40 หน้า         ผมยกคำพูดของดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ ผู้ที่ทำงานอย่างไม่ย่อท้อเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก ที่ว่า “การปล่อยให้พ่อค้าพลังงานฟอสซิลเขียนนโยบายพลังงาน ก็เหมือนกับการปล่อยให้พ่อค้าบุหรี่เขียนแผนรณรงค์การไม่สูบบุหรี่” มาย้ำอีกครั้ง และเสนอภาพให้เห็นว่าการทำนโยบายพลังงานของประเทศเราหรือทุกประเทศ ล้วนถูกผูกขาดอยู่ด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แล้วก็มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็คือพ่อค้าพลังงานฟอสซิลนั่นเอง นี่ก็คือความไม่เป็นธรรมข้อแรก         ทุกวันนี้เทคโนโลยีพลังงานหลายอย่างมาบรรจบกันในทางที่ดีและราคาถูกลง ซึ่งวิศวกรกลุ่มหนึ่งของ “Institute for Local Self Reliance” (ILSR) ที่ผมติดตามมานานแล้ว เขาบอกว่าเราใช้เทคโนโลยี 5 อย่างคือ แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือ โซล่าเซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และกังหันลม ที่เปรียบเหมือน 5 จอมเทพนี้ที่มาปราบระบบพลังงานแบบเก่าที่เราใช้อยู่ตอนนี้ได้เลย         ตอนนี้เริ่มมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าทำได้จริง เช่น การผลิตไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีประชากร 40 ล้านคน ที่นั่นใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้สามารถส่งไฟฟ้าเข้าสายส่งได้โดยไม่จำกัดจำนวน แสงอาทิตย์มาก่อนใช้ก่อน ลมมาก่อนใช้ก่อน ใช้เต็มที่ไปเลย พอไม่มีแดดแล้วก็ไปเอาไฟฟ้าจากก๊าซมา อย่างบ้านเราผมว่าไฟฟ้าจากชีวมวลเยอะมาก ทำกันดีๆ เอามาใช้ตอนหัวค่ำที่เปลี่ยนผ่านตรงนั้นก็ได้แล้ว จริงๆ รัฐทำได้ทุกอย่าง ถ้าอยากจะทำนะ         หรืออย่างที่หมู่บ้าน Wildpoldsried ทางตอนใต้ของเยอรมัน มีประชากร 2,500 คน สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่เขาใช้ถึง 8 เท่าตัว ตอนที่ได้ 5 เท่าตัว ผมจำตัวเลขได้ว่าเขาขายไฟฟ้าได้ปีละ 4 ล้านยูโร ณ วันนี้อาจจะเป็น 6-7 ล้านยูโรแล้วก็ได้ เขาได้ผสมผสานหลายอย่าง มีกังหันลม มีโซล่าเซลล์ 190 กว่าหลัง อาคารสำนักงานข้าราชการก็ใช้โซล่าเซลล์หมด แล้วเอาเงินมาแบ่งกันตามสัดส่วน         คราวนี้กลับมาดูในบ้านเรา ผมได้ยกตัวอย่างเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ผู้นำประเทศเราบอกว่ามีน้อย ไม่เสถียร กลางคืนจะเอาอะไรใช้ แต่ปรากฎมีข้อมูลสำรวจของนักวิทยาศาสตร์พบว่า พลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีมากกว่าที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ถึงหมื่นเท่าตัว และจากที่ผมได้เล่าไปแล้วถึงมติ ครม. 27 ก.ย. 65 (ซึ่งเป็นช่วงที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี) ที่ให้ติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านโดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ได้ ซึ่งเป็นระบบที่ประหยุดที่สุด ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม ติดเข้าไปได้เลย แล้วแลกไฟฟ้ากันในราคาที่เท่ากัน สิ้นเดือนก็มาคิดบัญชีกัน ใครจ่ายมากจ่ายน้อยก็ว่ากันไปตามนั้น แต่มาถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางปฏิบัติเลย         ประเทศไทยเราผลิตไฟฟ้าจากก๊าซมากที่สุดถึง 54% ถ้าเราเปลี่ยนจากก๊าซเป็นแดด จะประหยัดเงินได้ 3 แสนล้านต่อปี นี่เห็นชัด แก้จน สร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้ทันทีเลย และทั้งๆ ที่ธรรมชาติของสายส่งไฟฟ้านั้น ไฟฟ้าสามารถเดินได้ 2 ทาง เข้าบ้านเราก็ได้ ออกจากบ้านเราได้ 2  แต่ตลอดมามันเดินทางเดียว คือจากโรงไฟฟ้ามาเข้าบ้านเราอย่างเดียว แล้วเงินของเราก็เดินทางเดียวเหมือนกัน คือจากกระเป๋าเราไปเข้ากระเป๋านายทุน  เราก็เลยจนลงๆ เจ้าของโรงไฟฟ้าก็รวยเอา รวยเอาจนรวยที่สุดในประเทศไทยแล้ว         ปัจจุบันไทยมีการสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 60% แสดงว่าไฟฟ้าล้นเกิน โดยปกติประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเขาวัดกันที่อัตราการใช้ประโยชน์ คือดูว่าใน 1 ปี มี 8,760 ชั่วโมง มีการเดินเครื่องเต็มที่คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเวลาดังกล่าว โดยปกติโรงไฟฟ้าถ่านหินกับโรงไฟฟ้าก๊าซ เขาจะใช้อัตราการใช้ประโยชน์ 90% ของเวลาเต็มศักยภาพ  ที่น่าแปลกใจคือโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ได้ผลิตถึง 100% ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ได้เพียง 35% ต่ำมาก ในจำนวนนี้มี 5-6 แห่งยังไม่ได้เดินเครื่องเลย แต่ได้เงินไปในรูปของค่าความพร้อมจ่าย นี่คือสัญญาที่เป็นปัญหา สัญญาไม่เป็นธรรม เราทำสัญญายาว 25 ปี ในรูปไม่ซื้อก็ต้องจ่าย เมื่อโลกมีปัญหา เช่น โควิด-19 ประเทศมีปัญหาก้ปรับตัวไม่ได้         ทั้งๆ ที่มีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งขององค์กรพลังงานสากล (IEA) ที่กระทรวงพลังงานของไทยร่วมทำวิจัยอยู่ด้วย ก็เสนอไว้ชัดเจนในเรื่องให้มีความยืดหยุ่น และเพิ่มพลังงานหมุนเวียนด้วย แต่ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานเราไม่ทำตามผลงานวิจัยที่ตัวเองไปทำ เราทำสัญญาแบบไม่ยืดหยุ่น เทคโนโลยีก็เป็นแบบที่ตายตัว ทั้งๆ ที่โลกทุกวันนี้เป็น VUCA World แล้ว มีทั้งความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และกำกวม แต่เรายังไปยึดอาของเก่า สัญญาเก่า 25 ปี เทคโนโลยีเก่า           ในภาพรวมของพลังงานไทย เราชูคำขวัญ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่ปรากฏว่าการพึ่งตนเองด้านพลังงานของเรากลับลดลง  ในปี 2554 เราเคยพึ่งตัวเองได้ 46% จากข้อมูลกระทรวงพลังงาน แต่ตอนนี้เราพึ่งตัวเองได้เพียง 24% เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงอนาคต จะยั่งยืนได้ยังไง แล้วคนจะไม่จนลงได้อย่างไง จนทั้งระดับครอบครัวและระดับประเทศ  เพราะต้องซื้อทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่แสงอาทิตย์ไม่ต้องซื้อ แต่ว่าถูกกฎระเบียบห้ามหมด พ่อค้าพลังงานฟอสซิลมายืนบังแดดอยู่         ประเทศไทยพูดถึงความมั่นคงทางพลังงานคือ มีใช้ มีพอ ราคาถูก แต่ที่จริงแล้วยังต้องมีมิติของคาร์บอนต่ำ เรื่องประสิทธิภาพ เรื่องท้องถิ่นที่ต้องให้คนท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมทั้งนโยบายและรายได้ รวมถึงมิติความเป็นธรรมอื่นๆ ด้วย         สรุปภาพรวมที่ผมนำเสนอในวันนั้นก็คือ เรื่องนโยบายเป็นเรื่องใหญ่เลย เรื่องแนวคิดพวกนี้ ทำยังไงให้ประชาชนเป็นผู้เขียนนโยบายพลังงาน ซึ่งผมเชื่อว่าโลกนี้ทุกอย่างมีทางออก ถ้าไม่เห็นแก่ตัว มีทางออกแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ค่าเฉลี่ยกับความมั่นคงด้านพลังงานและของชีวิต

        เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดเสวนาเรื่อง “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟฟ้าแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” (อย่าลืมอ่านเครื่องหมายคำถามด้วยนะ) โดยผมเองได้มีโอกาสกล่าวเปิดการเสวนาในครั้งนั้น จึงขอถือโอกาสนำมาเล่าให้ชาว “ฉลาดซื้อ” ฟังในบางประเด็นดังต่อไปนี้ครับ         เอาเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนเลยครับ         รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง กำหนดว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้”นอกจากนี้ ในมาตรา 72 วรรคห้า กำหนดว่า “ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาและสนับสนุนให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน” เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เป็นคำที่เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2560 สองฉบับก่อนหน้านี้คือปี 2540 และ 2550 ยังไม่มีครับ         เท่าที่ผมติดตามความหมายของ “ความมั่นคงด้านพลังงาน” ค่อยๆ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มต้นอย่างแคบๆ เช่น สามารถมีใช้ตลอดเวลา ราคาไม่แพง หากเป็นกรณีไฟฟ้าก็ต้องให้อุปสงค์กับอุปทานต้องเท่ากันตลอดเวลา เป็นต้น แต่ในระยะต่อมาความหมายเริ่มกว้างขึ้น เช่น มีมิติของความยั่งยืน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำและมีความเป็นธรรม         ความจริงแล้วโลกรู้จัก “ความไม่มั่นคงด้านพลังงาน” ก่อนที่รู้จัก “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เสียด้วยซ้ำ โดยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ประเทศกลุ่มโอเปค (OPEC) ขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 เท่าตัวในปี 2516  Evan Hillebrand ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (University of Kentucky Patterson School สหรัฐอเมริกา) ได้ให้ความหมายที่ลึกซึ้งมากว่า “ความมั่นคงทางพลังงานไม่ใช่แค่เรื่องความสำคัญของพลังงาน แต่เกี่ยวข้องกับว่าพลังงานมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างไร” ย้ำนะครับว่า มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติด้วย เหตุการณ์ประเทศรัสเซียถล่มโรงไฟฟ้าในประเทศยูเครนคงจะเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้อย่างดี มีคนสรุปว่า “ในช่วงที่อุณหภูมิหนาวจัดการทำลายโรงไฟฟ้าคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” มันสาหัสกว่าการทำลายความมั่นคงของชาติเสียอีก         ความมั่นคงด้านพลังงานไม่ใช่แค่หมายถึง (1) การมีพลังงานใช้ตลอดเวลา (2) ในราคาที่สามารถจ่ายได้และมีเสถียรภาพ แต่ยังคงหมายถึง (3) การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย (4) มีการปล่อยคาร์บอนและมลพิษน้อย และ (5) มีความเป็นธรรม มีธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล จากความหมายของศาสตราจารย์ Evan Hillebrand และความหมาย 5 ข้อข้างต้นพอสรุปได้ว่า “ประเทศใดไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ประเทศนั้นไม่มีความมั่นคง” และน่าจะเป็นจริงกับเรื่องทั่วๆ ไปด้วย         ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งประเทศคิดเป็นมูลค่า 3.65 แสนล้านบาท ซึ่งตอนนั้นค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ขึ้นมากนัก ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ค่าเอฟทีได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย (จำได้ใช่ไหมครับ)  ดังนั้นพอจะประมาณได้ว่า ค่าไฟฟ้าปี 2565 ทั้งปีน่าจะประมาณ 7.4-8.0 แสนล้านบาทซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีกิจการไฟฟ้า         คราวนี้มาถึงมาตรา 56 ที่พอสรุปให้กระชับได้ว่า การทำให้รัฐเป็นเจ้าของสาธารณูปโภค(ระบบการผลิตไฟฟ้า)น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ แต่เนื่องจากระบบการผลิตไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนของโรงไฟฟ้าซึ่งนับถึงเดือนสิงหาคม 2565 มีจำนวน 53,030 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของรัฐหรือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ร้อยละ 32 ที่เหลือร้อยละ 68 ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไปแล้ว ส่วนของโครงข่ายสายส่งเป็นของ กฟผ.ทั้ง 100%  และส่วนฝ่ายจัดจำหน่ายซึ่งเป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงรวมกันเป็น 100%  การคิดความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของระบบไฟฟ้าว่าเป็นของรัฐหรือของเอกชนนั้น ควรจะคิดกันอย่างไร จะคิดรวมทั้งระบบทั้ง 3 ส่วน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้กรรมสิทธิ์ของรัฐก็น่าจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 51    หรือจะคิดทีละส่วนๆ เพราะถือว่าหากส่วนใดส่วนหนึ่งไม่มีความมั่นคงก็ส่งผลให้ทั้งระบบก็ไม่มีความมั่นคงไปด้วย         ภาพบนเป็นภาพคนเอาเท้าข้างหนึ่งแช่น้ำเย็นอุณหภูมิลบ 60 องศาเซลเซียสซึ่งเย็นกว่าน้ำแข็ง เท้าอีกข้างหนึ่งแช่ในน้ำร้อนบวก 60 องศาเซลเซียส น่าจะพอลวกไข่ได้ เมื่อเป็นดังนี้ หากเราคิดตามหลักการหาค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์หรือทางสถิติ เราก็จะได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของคนคนนี้ก็ยังเท่าเดิม คือ 37 องศาเซลเซียส  ทั้งๆที่ ในความเป็นจริงแล้ว เท้าทั้งสองข้างอาจจะเปื่อยพองไปแล้วก็ได้         สิ่งที่ผมยกมาเปรียบเทียบ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ แต่มีคนเขียนเป็นหนังสือชื่อ How to lie with Statistics ขายดีด้วยทั่วโลก และมีคนแปลเป็นภาษาไทยว่า “วิธีปั่นหัวคนด้วยสถิติ”  ผมอธิบายเพิ่มเติมดังรูป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ผลสำรวจฉลากเยลลี่พร้อมดื่ม

        เยลลี่เหลวที่บรรจุในถุงพร้อมดื่ม มีทั้งที่ระบุว่าเป็น “ขนมเยลลี่คาราจีแนน” “ขนมเยลลี่คาราจีแนนและบุก” “วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนน” หรือ“วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนนแบบผสมบุกผง” ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้อิ่มท้อง จนหลายคนเลือกดื่มเยลลี่เหลวแบบนี้เพื่อควบคุมน้ำหนัก เพราะอร่อย หาซื้อง่ายและราคาถูก         ข้อมูลจากเอซี นีลเส็น (AC Nielsen) เผยว่า “ตลาดเยลลี่พร้อมดื่ม” มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยอยู่ที่ 9% ซึ่งสอดคล้องกับภาพที่เรามักเห็นเยลลี่พร้อมดื่มหลายสูตรและหลายรสชาติ วางเรียงอยู่ในตู้แช่ของร้านสะดวกซื้ออย่างละลานตา ชนิดที่ว่าเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว ในปัจจุบันผู้ผลิตยังแข่งกันชูจุดขายด้านสุขภาพและความงาม โดยเน้นเป็นสูตรน้ำตาลน้อย แคลอรีต่ำและยังพ่วงผสมวิตามินต่าง ๆ คอลลาเจน ไฟเบอร์และสารอาหารอื่นๆ เพิ่มเข้าไปด้วย        นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มจำนวน 22 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 มาสำรวจฉลากแสดงส่วนประกอบและฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกชื้อได้ถูกปาก ปลอดภัยและคุ้มค่า         ผลการสำรวจฉลากในส่วนประกอบ พบว่า        1.สัดส่วนของปริมาณน้ำผลไม้ มากที่สุดคือ 30 % มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ คอลลาเจน , วิตามิน A ,C, E และแบล็คเคอร์แร้นท์ น้อยที่สุดคือ 8% มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A, วิตามินรวมและวิตามิน C+B        2.วัตถุกันเสีย 18 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้  ( คิดเป็น 81.82 % ของตัวอย่างทั้งหมด )  และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิม, กลิ่นแอปเปิ้ล ฮันนี่ และบลู วิตามิน เยลลี่    ส่วนเจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ระบุไว้ชัดเจนว่า”ไม่ใช้วัตถุกันเสีย”         3.วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  19 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้ (คิดเป็น 86.36% ของตัวอย่างทั้งหมด) และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E และนูริช เมท แอลคาร์นิทีนและคอลลาเจน         ในส่วนฉลากโภชนาการ (ปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภค) พบว่า        1.พลังงาน มากที่สุดคือ 60 กิโลแคลอรี มี 5 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ,เซ็ปเป้บิวติเจลลี่  คอลลาเจน , กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ , นูริช เมท ฝรั่งชมพูและแอลคาร์นิทีน ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือ 20 กิโลแคลอรี        2.น้ำตาล มากที่สุด 14 กรัม คือ กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ มีน้อยที่สุด 3 กรัม คือ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E        3.โซเดียม มากที่สุดคือ 75 มิลลิกรัม ได้แก่ ซี-วิต เยลลี่ รสส้มและรสเลมอน น้อยที่สุดคือ 10 มิลลิกรัม ได้แก่ เจเล่ ไลท์ เฟรช์ชี่ กลิ่นสตรอเบอรี่และกลิ่นบลูเบอร์รี่ ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A และเซ็ปเป้บิวติเจลลี่ ไฟเบอร์ ระบุว่าไม่มี           เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า แพงที่สุดคือ 0.12 บาท (8 ตัวอย่าง) ถูกที่สุดคือ 0.06 บาท (2 ตัวอย่าง)   ข้อสังเกต        - น้ำองุ่นขาว (จากองุ่นขาวเข้มข้น) เป็นน้ำผลไม้ที่นิยมใช้ในส่วนประกอบมากที่สุด (17 ตัวอย่าง)          - เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิมและกลิ่นแอปเปิ้ลฮันนี่ ระบุคำเตือนถึงผู้ที่มีสภาวะฟินิลคีโตนูเรียไว้ว่า  ผลิตภัณฑ์มี “ฟินิลอลานีน”         - เจเล่ เยลลี่ บิวตี้  วิตามินซี ระบุว่าไม่ใช่อาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก        - 9 ตัวอย่าง มีปริมาณน้ำตาลต่อ 1 หน่วยบริโภค ตั้งแต่ 10 -14 กรัม ใน 1 วัน เราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 24 กรัม ดังนั้นถ้าเราดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาล 14 กรัมต่อถุง ไป 2 ถุง เราก็จะได้รับน้ำตาลมากเกินไป ยังไม่นับว่ารวมถึงอาหารอื่นๆ ที่รับประทานในหนึ่งวันด้วย  ฉลาดซื้อแนะ        - หากต้องการลดน้ำหนัก ควรพิจารณาฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง เพราะเยลลี่แต่ละยี่ห้อดื่มแล้วอิ่มท้องพอกัน แต่หากเผลอเลือกดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาลสูง อาจยิ่งเพิ่มความอ้วนได้        - ไม่ควรดื่มเยลลี่แทนมื้ออาหารหลักเพื่อลดน้ำหนัก เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้        - จากตัวอย่างเยลลี่พร้อมดื่มส่วนใหญ่ใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล จึงไม่ควรดื่มปริมาณมากๆ บ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดการสะสมของสารสังเคราะห์เหล่านี้ จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้        -ในแต่ละวัน ถ้าเราได้รับวัตถุกันเสียในปริมาณน้อย ร่างกายจะสามารถกำจัดออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ แต่หากได้รับในปริมาณมากทุกวัน ตับและไตจะต้องทำงานหนักขึ้น และหากกำจัดออกไปไม่หมด ก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของตับและไตในการกำจัดสารเคมีเหล่านี้ลดลง และอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่อตับและไตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการใส่วัตถุกันเสียหรือบริโภคแต่น้อย น่าจะดีต่อสุขภาพที่สุด        -ผู้บริโภคที่แพ้ปลา ควรหลีกเลี่ยงเยลลี่พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนจากปลา        -หากเคยดื่มเยลลี่แล้วมีอาการปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน ให้สันนิษฐานว่ากระเพาะอาหารของคุณอาจไวต่อคาราจีแนน ทั้งนี้จากผลศึกษาเปรียบเทียบ 45 รายการโดยศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐ (National Center for Biotechnology Information: NCBI) เมื่อปี 2001 สรุปว่าการกินคาราจีแนนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อมะเร็งระบบทางเดินอาหารและลำไส้อักเสบ ข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อฉบับที่ 158 เยลลี่ กับสารกันบูดhttps://consumerthai.org (เรื่อง ปลอดภัยไหม..เมื่อต้องกินอาหารที่แถมสารกันบูด)https://www.thansettakij.com/business/marketing/539834https://brandinside.asia/jelly-for-beauty-and-healthy/https://waymagazine.org (เรื่อง คาร์ราจีแนน ภัยเงียบในกระเพาะอาหาร)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ตามดูการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่ม APEC

        เนื่องจากในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) เรามาตามดูการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มสมาชิกซึ่งมีจำนวน 21 สมาชิก (บางสมาชิกไม่ได้เป็นประเทศ)         ผมได้รวบรวมข้อมูลในปี 2015 และปี 2021 เพราะว่าในปี 2015 เป็นปีที่มีข้อตกลงปารีสเพื่อให้ประเทศต่างๆช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่วนใหญ่ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ก๊าซนี้คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนและภัยพิบัติต่างๆ ตามมา แล้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ก็มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงานและการขนส่งเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้นก็คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง         จำนวนประชากรของกลุ่มเอเปกมีประมาณ 37% ของโลก แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันถึง 60% ของโลก ดังนั้น หากประเทศใดมีร้อยละของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2015 กับ 2021 เพิ่มขึ้นมากก็แสดงว่าประเทศนั้นๆให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติด้วยดี เรามาดูกันเลยครับ        จากข้อมูลในรูปข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ในปี 2015 ของประเทศไทยปล่อยมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเล็กน้อย แต่พอถึงปี 2021 กลับต่ำกว่า ในขณะที่ประเทศเวียดนาม เริ่มจากเกือบศูนย์(มากไม่เห็นในรูป) จนพุ่งปรี๊ดถึง 10.53%  ในช่วงเวลาเดียวกัน         ความจริงดังกล่าวได้สะท้อนว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวที่อยู่มาตลอดนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาโลกร้อนขององค์การสหประชาชาติเท่าที่ควร         นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศซึ่งมีราคาผันผวนเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นต้นมา         อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมให้มีการใช้โซลาร์เซลล์บนหลังคาประชาชน โดยใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า หรือ Net Metering  หากมติดังกล่าวได้รับการปฏิบัติจริง ผู้บริโภคจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกหลายสตางค์ต่อหน่วยในงวดถัดไป การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านในประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศออสเตรเลียซึ่งติดไปแล้วกว่า 3 ล้านหลังคา ทั้งๆ ที่มีจำนวนประชากรไม่ถึงครึ่งของประเทศไทย         จึงขอฝากให้ผู้บริโภคช่วยกันติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องปากท้องของผู้บริโภคที่นับวันจะชักหน้าไม่ถึงหลังแล้ว ยังจะช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 มาติดโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เองกันเถอะ ผลตอบแทน 15% ต่อปี

        บทความนี้มี 3 ส่วน คือ (1) แรงจูงใจ (2) อุปสรรคและทางออกที่เปิดบ้างแล้ว และ (3) ต้นทุนและผลตอบแทนหนึ่ง แรงจูงใจ         เป็นที่คาดกันว่าในงวดใหม่คือ เดือนกันยายน-ธันวาคมนี้จะมีการขึ้นค่าไฟฟ้าในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft จาก 24.77 บาทต่อหน่วย เป็นเท่าใดก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันแต่คาดว่าจะขึ้นมากกว่าทุกๆครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมทั้งค่าไฟฟ้าฐานและภาษีมูลค่าเพิ่มคาดว่าค่าไฟฟ้าน่าจะประมาณ 5 บาทต่อหน่วย สาเหตุสำคัญที่ทางราชการบอกเราก็คือราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งมีราคาถูกมีจำนวนลดลง จึงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีราคาสูงมาก         เท่าที่ผมสอบถามจากเพื่อนๆ โดยส่วนมากมักจะไม่รู้ว่าตนเองใช้ไฟฟ้าเดือนละกี่หน่วย แต่จะตอบได้ว่าประมาณสักกี่บาท เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมขอสมมุติว่า บ้านอยู่อาศัยประเภท 1.2 ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 600 หน่วย ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันจะเท่ากับ 2,796.86 บาท เฉลี่ยหน่วยละ 4.66 บาท หากมีการขึ้นค่า Ft เป็น 65 สตางค์ต่อหน่วย (สมมุตินะครับ) ค่าไฟฟ้าจะขึ้นเป็น 3,055.14 บาท เฉลี่ย 5.09 บาทต่อหน่วย ข้อมูลนี้มีความสำคัญต่อการตัดสินใจว่าเราควรจะติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือไม่ ถ้าจะติดควรจะติดเท่าใดกี่ปีจึงจะคุ้มทุนสอง อุปสรรคและทางออกที่เปิดบ้างแล้ว         แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เรามาทำความเข้าใจถึงนโยบายและข้อปฏิบัติของรัฐบาลกันสักหน่อยหลังการรัฐประหารโดย คสช.เมื่อปี 2557 ได้ไม่นานนัก “สภาปฏิรูปชาติ” ได้ทำข้อเสนอให้กระทรวงพลังงานจัดทำโครงการ “โซลาร์รูฟ ภาคประชาชน” คือให้ประชาชนสามารถติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง หากมีเหลือก็สามารถขายให้กับการไฟฟ้าได้ภายใต้โครงการใหญ่ที่สะท้อนถึงเจตนาที่เร่งด่วนว่า “Quick Win” คือให้สำเร็จหรือประสบชัยชนะเร็วๆ         กระทรวงพลังงานโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกระเบียบเพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าวตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 โดยได้ตั้งเป้าว่าจะติดตั้งให้ได้ทั้งประเทศรวมกัน 100 เมกะวัตต์ ถ้าเฉลี่ยมีการติดตั้งหลังละ 5 กิโลวัตต์ รวม 2 หมื่นหลังคา ภายในเดือนธันวาคม 2562 โดยตั้งกติกาแบบท้าทายว่าใครมาก่อนจะได้รับอนุญาตก่อน ครบโควต้าแล้วหมดกันนะ         ฟังอย่างนี้แล้วดูเหมือนว่ากระทรวงพลังงานได้ตอบสนองนโยบายเร่งด่วนนี้อย่างเต็มที่เลยหรือ Quick จริงๆ แต่จนแล้วจนรอดจนถึงปัจจุบันนี้มีผู้แจ้งความสนใจไม่ถึง 1.8 เมกะวัตต์ ทำไมประชาชนไม่ตอบสนอง ทั้ง ๆ ที่มีการเรียกร้องต้องการ         เหตุผลสำคัญก็คือว่า กกพ.ได้ตั้งกติกาที่หยุมหยิมเกินความจำเป็นและไม่สมเหตุสมผลในเชิงการลงทุนและรายได้ เช่น (1) สัญญารับซื้อแค่ 10 ปี แต่อายุโซลาร์ 25-30 ปี ระยะเวลาที่เหลือจะให้ทำอย่างไร (2) รับซื้อในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย แล้วขยับมาเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย ทั้ง ๆที่ การไฟฟ้าขายให้ผู้บริโภคในราคาประมาณ 4.40 บาทต่อหน่วย  (3) ต้องติดมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัวราคาประมาณ 8 พันบาท เพื่อวัดปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้า (4) ต้องให้มีการเซ็นรับรองความแข็งแรงของอาคาร ทั้งๆ ที่คนธรรมดาๆ สามารถดูด้วยตาเปล่าก็รู้ว่ามีความแข็งแรงหรือไม่ และ (5) ต้องให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าตรวจมาตรฐานของอุปกรณ์ ข้อนี้ผมเห็นด้วยว่ามีความจำเป็นครับ แต่ถ้าแค่มีคำแนะนำที่ชัดเจนและบังคับใช้อย่างจริงจังก็น่าจะใช้ได้แล้ว เพราะเจ้าของบ้านก็คำนึงถึงความปลอดภัยบนหลังบ้านตัวเองเป็นหัวใจสำคัญเช่นกัน         สภาองค์กรของผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ทำข้อเสนอนี้ถึงทั้งรัฐบาลและกระทรวงพลังงานหลายครั้งแล้วแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด         แต่แล้วก็มีข่าวดีจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ สาระสำคัญคือมีการผ่อนผันเงื่อนไขเดิมของการไฟฟ้า 2 ประการ คือ         หนึ่ง  ไม่มีการตรวจสอบเงื่อนไขขีดจำกัดของหม้อแปลงไฟฟ้า (ว่าไม่เกิน 15% ของพิกัดหม้อแปลง) ที่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ กล่าวคือ ต่อจากนี้ไม่ต้องคำนึงประเด็นนี้แล้ว         สอง ให้ยกเว้นการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า ตามข้อกำหนดฯ         ความสำคัญของประกาศฉบับนี้อยู่ที่ข้อที่สองนี้ คืออนุญาตให้ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ในตอนกลางวันสามารถไหลย้อนเข้าไปในระบบสายส่งได้ เปรียบเหมือนเป็นการฝากพลังงานไฟฟ้าไว้ในสายไฟฟ้า (เพื่อนำไปให้บ้านอื่นใช้ก่อน) ในช่วงนี้มิเตอร์แบบจานหมุนก็จะหมุนถอยหลัง ตัวเลขที่มิเตอร์ก็จะลดลง เมื่อถึงเวลาที่เจ้าของบ้าน (ที่ติดโซลาร์) จะใช้ไฟฟ้าจากสายส่งก็จะไหลผ่านมิเตอร์ จานหมุนในมิเตอร์ก็จะหมุนเดินหน้า ตัวเลขก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่มาจดมิเตอร์ก็ว่ากันไปตามตัวเลขที่ปรากฎสมมุติว่าเราใช้ไฟฟ้าจริงๆ จำนวน 600 หน่วย แต่เราผลิตได้เอง 350 หน่วย เราก็จ่ายเงินเพียง 250 หน่วย แต่ถ้าเราใช้ไฟฟ้าเพียง 300 หน่วย ทางการไฟฟ้าก็จะได้รับไฟฟ้าไปจำนวน 50 หน่วย โดยไม่คิดราคาให้กับเจ้าของบ้านแต่อย่างใด         แต่ถ้าเป็นระบบที่เรียกว่า “Net Metering” หรือการหักลบกลบหน่วย ทางการไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของบ้านจำนวน 50 หน่วย เท่าที่ผมทราบจากหลายประเทศ ทั้งที่เป็นประเทศร่ำรวยและยากจนก็ใช้ระบบนี้กันเป็นส่วนใหญ่เพราะเป็นระบบที่ประหยัดที่สุด ไม่ต้องติดตั้งมิเตอร์ราคา 8,000 บาท เพราะถ้าขายไฟฟ้าได้ราคา 2.20 บาทต่อหน่วย หลังคาที่ติดขนาด 3 กิโลวัตต์ต้องใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงจะได้ค่ามิเตอร์คืน ระยะเวลาการคืนทุนก็ต้องยืดออกไปอีก         แต่เอาเถอะครับ การที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผ่อนผันให้ขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นผลดีพอสมควรแล้ว ไม่ทราบว่าการไฟฟ้านครหลวงจะมีประกาศแบบนี้บ้างเมื่อไหร่         เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุผลที่ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้ในการผ่อนผันดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากเหตุผลทางวิศวกรรมหรือความปลอดภัยที่เคยอ้างกันว่าไฟฟ้าจะไหลย้อนไปดูดพนักงานที่กำลังซ่อมระบบเลย แต่เป็นเหตุผลทางนโยบายที่ต้องการตอบสนองผู้ใช้ไฟฟ้าเรื่อง “การลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน” ประเทศออสเตรเลียซึ่งมีประชากรไม่ถึงครึ่งของประเทศไทยแต่มีการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาไปแล้ว 2.3 ล้านหลังคาเมื่อต้นปี 2022 และเป็นการติดภายใต้ระบบ “Net Metering” สาม ต้นทุนและผลตอบแทน         ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องได้ลดลงราคาอย่างต่อเนื่อง แต่จากสถานการณ์การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ต้นทุนทั้งระบบเพิ่มขึ้น 10-20%   เท่าที่ผมติดตามต้นทุนพร้อมค่าแรงติดตั้งขนาด 3 กิโลวัตต์ น่าจะประมาณ 1.2-1.3 แสนบาท ใช้พื้นที่ประมาณ 16 ตารางเมตร โดยที่ 1 กิโลวัตต์สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,300 - 1,450 หน่วย ขึ้นอยู่กับว่าอยู่จังหวัดใด และทิศทางในการรับแสงแดดว่าเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นขนาด 5 กิโลวัตต์ ก็ประมาณ 1.5 - 2.0 แสนบาท         ในที่นี้ผมขอสมมุติว่า ขนาด 3 กิโลวัตต์ ลงทุน 130,000 บาท ผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 3X1,300 หรือ 3,900 หน่วย หรือ 325 หน่วยต่อเดือน  ถ้าเราคิดอย่างง่ายๆ ว่า ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ 1 หน่วย ทำให้เราลดค่าใช้จ่ายได้ 5 บาท (ตามอัตราค่าไฟฟ้าที่จะขึ้นใหม่เดือนกันยายนนี้) นั่นคือ ได้ผลตอบแทนเดือนละ 1,650 บาท ปีละ 19,500 บาท ใช้เวลา 6.7 ปีก็คือทุน ถ้าคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยก็ 15% ต่อปี โดยที่ทุนที่เราลงไปยังใช้งานต่อได้อีก 18 ถึง 23 ปี         นี่เป็นการคิดอย่างคร่าวๆ ตามเงื่อนไขที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริงในปีที่ 12 เราต้องเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นใหม่ เช่น อินเวอร์เตอร์ (ซึ่งไม่ใช่ส่วนที่มีราคาแพงที่สุด) ในขณะที่แผงโซลาร์เซลล์ (และเป็นส่วนที่แพงที่สุด) จะมีอายุการใช้งานนาน 25-30 ปี นอกจากนี้อาจจะต้องเสียเงินค่าล้างแผงบ้างปีละครั้ง แต่เท่าที่ผมทราบบางบ้านติดมา 4 ปีแล้วยังไม่ได้ล้างแผงเลย ปล่อยให้ฝนช่วยล้างให้ ผลผลิตก็ไม่ได้ตกต่ำอย่างมีนัยสำคัญ อ่านมาถึงตอนนี้ ท่านคิดอย่างไรครับ เงินออมของท่านที่ฝากธนาคารให้ผลตอบแทนเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปีเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ราคาน้ำมันในกำมือของพ่อค้าพลังงาน (1)

        ก่อนที่จะเริ่มต้นเขียนบทความนี้ ผมได้เช็คราคาน้ำมันที่กระทรวงพลังงานประกาศ (7 มิ.ย.65) พบว่าราคาเบนซิน 51.46 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาดีเซลหมุนเร็ว 33.94 บาทต่อลิตร  ผมคิดในใจว่าน่าจะเป็นราคาที่สูงที่สุดตั้งแต่ผมจำความได้ แต่เมื่อได้เช็คย้อนหลังไปหนึ่งวันพบว่า ราคาเบนซิน 52.06 บาท โดยที่ราคาดีเซลยังเท่าเดิม        ผู้บริโภคเราหลายคนถูกทำให้เข้าใจว่า ราคาน้ำมันที่คนไทยจ่ายอยู่นี้แพงเพราะกลไกราคาในตลาดโลก เรามาดูความเป็นจริงกันครับ ผมมี 3 เรื่องหลักๆที่จะเล่าให้ฟัง         ผมจึงได้สืบค้นข้อมูลโดยเริ่มต้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก(ดูไบ)และ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินดอลลาร์ (ดังรูปแรก) ทำให้เราทราบว่าราคาน้ำมันดิบในวันที่ 7 มิ.ย.65 เท่ากับ 24.68 บาทต่อลิตร  ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยเท่ากับ 33.94 บาทต่อลิตร         ราคามันต่างกันถึงเกือบ 10 บาทต่อลิตร มันเป็นเพราะอะไรครับ        ผมได้ฟังการสัมภาษณ์ปลัดกระทรวงพลังงาน(คุณกุลิศ สมบัติศิริ) จากรายการเจาะลึกทั่วไทยฯ (19 พ.ค.65) พอสรุปได้ว่า รัฐบาลได้จะลดภาษีสรรพสามิตเฉพาะกลุ่มดีเซลเท่านั้น โดยลดลง 5 บาทต่อลิตร พร้อมกับได้เท้าความว่า “คราวที่แล้วได้ลดภาษีลง 3 บาทต่อลิตร โดย 2 บาทเป็นการเอาไปช่วยเหลือกองทุนน้ำมันซึ่งขาดทุนอยู่หลายหมื่นล้านบาท และอีก 1 บาทเพื่อลดราคาหน้าปั๊มให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังบอกว่ากระทรวงพลังงานมีเป้าหมายว่าจะควบคุมราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร”         สิ่งที่ผมได้นำเสนอไปแล้ว คือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (24.68 บาทต่อลิตร) และราคาน้ำมันสำเร็จรูปดีเซลหน้าโรงกลั่น (33.94 บาทต่อลิตร)  เราอาจจะสงสัยว่าผลต่างของราคาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10 บาทต่อลิตรนั้นเป็นราคาที่เป็นธรรมหรือไม่          ในวงการธุรกิจน้ำมัน เขามีศัพท์อยู่คำหนึ่งคือ “ค่าการกลั่นรวม (Gross Refinery Margin)” ซึ่งหมายถึงผลต่างระหว่างมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่กลั่นได้ทุกชนิดรวมกัน(ที่หน้าโรงกลั่น) กับราคาน้ำมันดิบที่โรงกลั่นเช่นเดียวกัน นั่นคือ ยังไม่รวมค่าขนส่งน้ำมันดิบจากตลาดโลกมาถึงโรงกลั่น         คำถามก็คือ ค่าการกลั่นรวมควรจะเป็นเท่าไหร่จึงจะเป็นธรรมกับผู้บริโภคและเจ้าของโรงกลั่น         จากคำให้สัมภาษณ์ของปลัดกระทรวงพลังงาน (ในรายการเจาะลึกทั่วไทยฯ) ได้ความว่าทางกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาค่าการกลั่นอยู่ พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ผมก็ไปเจรจาเปิดข้อมูลมาดู ค่าการกลั่นมีต้นทุนอย่างอื่นอยู่ด้วย และเป็นตลาดเสรีด้วย”         เมื่อพิธีกรในรายการตั้งคำถามแบบชี้นำว่า “ตอนนี้ค่าการกลั่นประมาณ 12-13 ดอลลาร์ (หรือ 2.61-2.83 บาทต่อลิตร) ใช่ไหม” ปลัดกระทรวงพลังงานตอบว่า “ใช่ และกำลังเจรจาให้เขาลดลงมาอีก”         ผมรู้สึกแปลกๆ กับคำตอบของปลัดกระทรวงพลังงานท่านนี้มาก โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นคือ “เขามีต้นทุนอย่างอื่นอยู่ด้วย” และ “กิจการโรงกลั่นเป็นตลาดเสรี”         ผมไม่ทราบว่าต้นทุนอย่างอื่นของโรงกลั่นคืออะไร แต่จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานเองพบว่า  นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงเดือนมกราคมปี 2565 ค่าการกลั่นรวมไม่ถึง 2 บาทต่อลิตร (ยกเว้นปี 2560 และ 2561 ที่เกินมาเล็กน้อย)  ซึ่งในช่วงเวลา 6 ปีเศษ อัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซลลิตรละ 5.99 บาทมาตลอดแต่พอรัฐบาลลดภาษีลงมาเหลือ 3.20 บาท ค่าการกลั่นรวมก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จาก 1.35 บาทต่อลิตรในเดือนมกราคม 65 จนมาอยู่ที่ 5.15 และ 5.82 บาทต่อลิตรในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ดูภาพประกอบ         โปรดดูรูปประกอบอีกครั้งครับ พอรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตลงมา เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน แต่เจ้าของโรงกลั่นน้ำมันก็ฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่นในเดือนเมษายนและพฤษภาคม         เพื่อให้เห็นภาพของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น ผมได้นำเสนอข้อมูลสำคัญใน 2 ช่วงเวลาคือ 27 กันยายน 2564 และ 19 พฤษภาคม 2565 (ดังภาพประกอบ)        จากภาพ ผมได้ใช้ปากกาวงไว้ 4 ก้อน เราจะเห็นว่า เมื่อภาษีสรรพสามิตลดลง ค่าการกลั่นรวมก็เพิ่มขึ้นจาก 1.15 บาทต่อลิตรเป็น 5.82 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว แล้ว...อย่างไร คราวหน้ามาต่อกันครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 การพึ่งตนเองด้านพลังงานด้วยโซลาร์เซลล์

        คงทราบกันแล้วนะครับว่า ทางกระทรวงพลังงานได้ประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าในรูปของ “ค่าไฟฟ้าผันแปร” หรือ “ค่าเอฟที” ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม จาก 1.39 บาทต่อหน่วยเป็น 24.77 บาทต่อหน่วยอ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านก็คงจะรู้สึกงงกับศัพท์แสงที่เกี่ยวข้องเสียแล้ว แต่อย่ากังวลเลยครับ ถ้าเราเริ่มให้ความสนใจ เราจะค่อยๆ รู้มากขึ้นๆ         ผมได้แนบภาพแสดงการคิดค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนละ 300 ถึง 1,000 หน่วยมาให้ดูประกอบแล้วครับ มีอยู่คำหนึ่งที่เราควรระวังคือ ค่าไฟฟ้าเป็นอัตรา “ก้าวหน้า” นั่นคือ ยิ่งเราใช้มาก อัตราค่าไฟฟ้ายิ่งแพงขึ้น เช่น ถ้าใช้ 300 หน่วยต่อเดือน เมื่อรวมทุกอย่างแล้วเราต้องจ่ายเฉลี่ยหน่วยละ 4.40 บาท แต่ถ้าเราใช้ถึง 1,000 หน่วย ค่าเฉลี่ยก็เท่ากับ 4.80 บาทต่อหน่วย เห็นความแตกต่างที่สำคัญนะครับ คือนอกจากจะเสียเงินเพิ่มขึ้นเพราะใช้มากแล้ว อัตราต่อหน่วยก็เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นการใช้อย่างประหยัดจึงเป็นสิ่งสำคัญ           ในบทความนี้ผมตั้งใจจะพูดถึงการพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้าทั้งในระดับประเทศและระดับครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับครัวเรือนซึ่งเราทุกคนต่างมีอำนาจเต็มและสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันทีหากเราพอจะมีเงินหรือรู้จักการบริหารการเงินของเราเอง         ในปี 2564 คนไทยทั้งประเทศใช้ไฟฟ้ารวมกันคิดเป็นมูลค่า 6.9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้พอประเมินได้ว่าเป็นค่าเชื้อเพลิง คือก๊าซธรรมชาติอย่างเดียวประมาณ 3.2 แสนล้านบาท  แม้ว่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ (ประมาณ 60%) มาจากแหล่งในประเทศไทยเราเอง แต่ราคาก็ผูกพันกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งสามารถกำหนดราคาได้เองตามอำเภอใจของกลุ่มทุนผู้ผลิต สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้พิสูจน์ให้เราเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ประเทศเรากำลังยืมจมูกคนอื่นหายใจ        กล่าวเฉพาะการผลิตไฟฟ้า ไทยเราซึ่งเป็นประเทศต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติ แต่เราใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าถึง 64% ใช้แสงแดดซึ่งเรามีมากมายเพียง 2.3% เท่านั้น ในขณะที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มากที่สุดในโลก แต่เขาใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าเพียง 38% เท่านั้น และใช้แสงแดด 3.9%         คราวนี้มาดูข้อมูลการผลิตไฟฟ้าด้วยแสงแดดซึ่งเป็นทรัพยากรที่ธรรมชาติได้มอบให้กับมนุษยชาติทั่วโลก ความจริงที่น่าตกใจสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไประเทศไทยปรากฏอยู่ในรูปข้างล่างครับ         ในปี 2558 ประเทศไทยเคยผลิตจากแสงแดดได้มากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเพียงเล็กน้อย และมากกว่าของประเทศเวียดนามค่อนข้างเยอะ แต่พอผ่านไป 6 ปี ประเทศไทยผลิตได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึงกว่า 2 เท่าตัว  และถูกเวียดนามแซงหน้า ในขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งมีแสงแดดน้อยกว่าบ้านเรา ได้ผลิตจากแสงแดดเพิ่มขึ้นเป็น 711 หน่วยต่อคน หรือเกือบ 9 หมื่นล้านหน่วยทั้งประเทศ คิดเป็น 42% ของพลังงานไฟฟ้ารวมทั้งหมดที่ประเทศไทยผลิต         ถ้าเราสังเกตเส้นกราฟในรูปจะพบว่า การใช้แสงแดดเพื่อผลิตไฟฟ้าในปี 2564 ของประเทศไทยกลับน้อยกว่าในปี 2563 เล็กน้อย ในขณะที่ของประเทศอื่นๆ รวมทั้งค่าเฉลี่ยของโลกกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ยกเว้นเยอรมนีที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศไทยซึ่งถูกองค์กรระดับสากลจัดให้เป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่เรากำลังพัฒนาไปในทางที่ผิด เราหลงไปใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นธุรกิจผูกขาดและเรามีเองไม่มากพอ มากขึ้นๆ ในขณะที่แสงแดดซึ่งมีมากและกระจายตัวอยู่ทั่วไป ไม่สามารถผูกขาดได้ แต่เรากลับไม่นำมาใช้ประโยชน์ด้วยนโยบายที่กลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลเป็นผู้กำหนดขึ้น         คราวนี้เรามาดูกันว่า ถ้าเราต้องการจะพึ่งตนเองด้านพลังงานไฟฟ้าในระดับครัวเรือนโดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาจะต้องติดขนาดเท่าใด ลงทุนเท่าใดและจะได้ผลตอบแทนร้อยละเท่าใดต่อปี         สิ่งแรกที่เราควรจะถามตัวเองก็คือว่า ที่ผ่านมาเราใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละกี่หน่วย คิดเป็นเงินจำนวนเท่าใด         สมมุติว่าในครอบครัวเราใช้ไฟฟ้าเดือนละ 400 หน่วย จากตารางในรูปแรกเฉลี่ย 4.49 บาทต่อหน่วย (หมายเหตุ ในปี 2564 โดยเฉลี่ยผู้อยู่อาศัยในประเทศไทยใช้ไฟฟ้าเดือนละ 73 หน่วยต่อคนต่อเดือน ถ้าครอบครัว 5 คนก็ใช้ประมาณ 330 หน่วย)  ผมขอแนะนำให้ติดโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ ซึ่งจะต้องลงทุนประมาณ 1.2 แสนบาท (ข้อย้ำว่าประมาณ) โดยมีผลตอบแทนและแผนที่ศักยภาพของผลผลิตจากโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย แสดงแล้วในรูปประกอบ         ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การคำนวณข้างต้นมาจากการประมาณอย่างคร่าวๆ เท่านั้น (แต่ใกล้เคียงความจริงมาก) ทั้งเงินลงทุน ผลผลิตและค่าไฟฟ้าซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขึ้นราคาอีกในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ โดยผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 11% ต่อปี  สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยฝากธนาคารประเภทประจำเยอะอยู่นะ         โดยสรุป ผู้นำรัฐบาลมักจะพูดให้ประชาชนฟังอยู่เสมอๆ ว่า ประเทศไทยเรายึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวนโยบาย แต่ในความเป็นจริงเฉพาะเรื่องพลังงานไฟฟ้า รัฐบาลกลับทำในสิ่งตรงกันข้าม คือเลือกใช้พลังงานที่ไม่มีในประเทศของตนเอง และกีดกันพลังงานที่เรามีอย่างไม่จำกัด คือพลังงานจากแสงแดดน่าเสียดายแดดที่รัฐบาลยืนบังแดด ผู้บริโภคคิดอย่างไร จะทำอะไรเพื่อเพิ่มการพึ่งตนเองให้มากขึ้นก็รีบตัดสินใจได้แล้ว จะรออะไรละครับ?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 พลังงง-พลังงาน !?

        ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกว่าเรื่องพลังงานนี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากถึงยากมาก ถ้าเราเชื่อและยอมรับอย่างนั้นจริงๆ ก็ถือว่าพ่อค้าพลังงานทำงานได้ผลดีมาก เพราะความตั้งใจของพ่อค้าพลังงานเขาไม่ต้องการให้ผู้บริโภคเข้าใจอะไรที่สำคัญๆ หรอก เขาต้องการให้เราบริโภคและจ่ายเงินซื้อพลังงานจากเขาเพียงอย่างเดียว แต่ครั้นจะไม่ให้เข้าใจอะไรเสียเลยก็จะผิดหลักการค้าในยุคสมัยใหม่ ที่ต้องการความโปร่งใส  เป็นธรรมและร่วมกันรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวิกฤตโลกร้อน พวกพ่อค้าจึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลแบบไม่ครบถ้วนบ้าง  ไม่จริงทั้งหมดบ้าง หรือแกล้งทำให้ดูเป็นเรื่องซับซ้อน เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น เรียกว่าทำให้เรางงเล่นแล้วจะรู้สึกเบื่อไปเอง         ผมเองเชื่อมานานแล้วว่า มนุษย์เราสามารถเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องที่มีความสำคัญกับตนเองได้เกือบทุกคน แต่กับบางคนที่ไม่ยอมเรียนรู้ก็เพราะไปติดกับดักที่เป็นวาทกรรม เช่น “ราคาน้ำมันดิบเป็นไปตามกลไกตลาดโลก” แต่ในความเป็นจริงแล้วมันขึ้นอยู่ที่พ่อค้าจะปั่นราคาเป็นส่วนใหญ่และเมื่อไหร่ ปัจจัยเรื่องอุปสงค์และอุปทานก็มีส่วนด้วยแต่ก็ไม่เสมอไป ที่น่าแปลกมากก็คือราคาน้ำมันดิบเคยติดลบถึง $37 ต่อบาร์เรล (ใครสั่งน้ำมันราคาล่วงหน้านอกจากไม่ต้องจ่ายเงินแล้วยังได้เงินกลับไปอีก เพราะบริษัทไม่มีที่จะจัดเก็บ) ในช่วงพฤษภาคม 2563 ทีทั่วโลกกำลังตกใจกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในช่วงแรก          อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านที่มี “พลังงง” อาจจะรู้สึกว่าเข้าใจยาก ผมจึงมีวิธีการแปลงราคาจาก “ดอลลาร์ต่อบาร์เรล” มาเป็น “บาทต่อลิตร” พร้อมด้วยข้อมูลที่น่าสนใจบางอย่างเพิ่มเติม ดังรูป ไม่ยากเลยครับ            ประเทศเราเป็นประเทศที่ไม่สามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้ ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงในรูปของน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและไฟฟ้ารวมกันมากกว่า 60% ของมูลค่าที่ต้องใช้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบประเทศเราต้องนำเข้าประมาณ 85%  ดังนั้น หากมีการปั่นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประเทศเราจึงไม่ต่างอะไรกับ“ประเทศเมืองขึ้น” หรือ “ทาส” นั่นเอง         เรามาทดสอบความเข้าใจกันดีไหมครับ หยิบเอาข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2563 ราคาน้ำมันดิบประมาณ $42 ต่อบาร์เรล (อัตราแลกเปลี่ยน 31.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) เราสามารถแปลงมาสู่สิ่งที่เราคุ้นเคยได้ว่าประมาณ 8.41 บาทต่อลิตร ถ้าเราอยากจะรู้ว่าตอนนั้นราคาประกาศหน้าโรงกลั่นเป็นเท่าใด ก็ถาม “google” ได้ โดยพิมพ์คำว่า “โครงสร้างราคาน้ำมัน” พบว่าเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ราคาเบนซิน(ULG) ขายส่งหน้าโรงกลั่นเท่ากับ 9.88 บาทต่อลิตร และราคาหน้าปั๊มใน กทม.และปริมณฑลเท่ากับ 28.96 บาทต่อลิตรซึ่งเป็นราคาที่รวมภาษีและค่าอื่นๆ แล้ว รู้สึกงงอีกแล้วใช่ไหมครับ  ก็ต้องขยันค้นคว้า ขยันตั้งคำถามว่า “เอ๊ะ”         ในปี 2564 (จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์) พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่า 7.7 และ 1.7 แสนล้านบาท ตามลำดับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท (จัดเป็นมูลค่าส่งออกที่สูงเป็นอันดับ 7 ของประเทศ)  นั่นคือมูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่าถึง 36% ของมูลค่าน้ำมันดิบที่นำเข้า ถึงตรงนี้เราอาจจะรู้สึกงงๆ ใน 2 ประเด็นคือ         หนึ่ง ทำไมไม่สั่งน้ำมันดิบเข้ามาให้ใกล้เคียงกับปริมาณที่คนไทยใช้  เรื่องนี้ตอบไม่ยากครับ เพราะโรงกลั่นในประเทศไทยมีจำนวนมาก สามารถกลั่นได้มากกว่าที่คนไทยใช้ ที่เหลือจึงต้องส่งออก ประเด็นนี้จึงไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ นอกจากปัญหามลพิษจากกระบวนการกลั่นที่ได้ทิ้งไว้ให้คนไทยรับไป รวมทั้งน้ำมันดิบรั่ว เป็นต้น         สอง สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญมากๆ คือ การกำหนดราคาขายส่งน้ำมันสำเร็จหน้าโรงกลั่น ถ้าขายให้คนไทยใช้(ขายส่งนะ) ให้คิดในราคาเท่ากับที่กลั่นในประเทศสิงคโปร์ แล้วบวกด้วยค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาอำเภอศรีราชา ประเทศไทย บวกด้วยค่าประกันภัย และบวกด้วยค่าน้ำมันหกหรือระเหยระหว่างการขนส่ง ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่บวกเข้ามานี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ความจริงคือกลั่นในประเทศไทย         ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่หน้าโรงกลั่นในประเทศไทยที่ขายให้คนไทยใช้นั้นมีราคาแพงกว่าราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์ นี่คือความไม่เป็นธรรม ที่ทางกระทรวงพลังงานไม่เคยอธิบาย คงจะเป็นเพราะว่ามันไม่รู้จะเอาเหตุผลอะไรมาอธิบาย         จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่าในปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 5 หมื่นล้านลิตร ถ้าราคาที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงมีมูลค่าเท่ากับลิตรละหนึ่งบาท ก็มีมูลค่าเท่ากับ 5 หมื่นล้านบาทแล้ว นี่คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคโดยตรง         ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรู้ว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายให้คนไทยใช้ภายในประเทศกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปส่งออกนั้นราคาจะสูงกว่ากันเท่าใด แต่ผมไม่พบข้อมูล(สำเร็จรูปที่สามารถใช้ได้ทันที) จากกระทรวงพลังงาน  ดังนั้นผมจึงลงมือคำนวณเอง โดยเลือกคำนวณเพียงเดือนเดียว (เพราะข้อมูลดิบมีเยอะมาก) ผลการคำนวณในเดือนพฤศจิกายน 2564 ดังแสดงในรูปครับ ผลการคำนวณสรุปว่า        (1)   ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกถูกกว่าราคาน้ำมันสำเร็จที่ขายให้คนไทยที่หน้าโรงกลั่น 1.01 บาทต่อลิตร        (2)   ราคาน้ำมันดิบนำเข้าแพงกว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย(จากหลายตลาด)ในตลาดโลก 1.57 บาทต่อลิตร         ยังมีความจริงอีกหนึ่งอย่างที่กระทรวงพลังงานไทยไม่เคยบอกเรา แต่ผมพบในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศแคนาดาคือ “โดยเฉลี่ยน้ำมันดิบ 1 บาร์เรล หรือ 159 ลิตรจะได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปรวมกันถึง 170 ลิตร” นี่คือกำไรที่ซ่อนอยู่ในโรงกลั่นน้ำมัน        เรื่องพลังงานไม่ได้มีเฉพาะแต่เรื่องน้ำมันอย่างเดียวซึ่งเป็นเรื่องผูกขาด ปั่นราคา ก่อสงคราม (เช่นกรณียูเครน รัสเซีย) และเอื้อให้มีการคอรัปชันได้ง่าย ยังมีเรื่องไฟฟ้าที่ในปัจจุบันเราสามารถผลิตได้จากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานที่ผูกขาดได้ยาก เราสามารถนำแสงแดดมาผลิตไฟฟ้าแล้วใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนน้ำมันได้ด้วย นี่เป็นหนทางที่ประเทศเราจะสามารถพึ่งตนเองหรือเป็นอิสระได้มากขึ้น นี่เป็นหนทางที่ทำให้คนไทยมีงานทำมากขึ้น เป็นหนทางลดรายจ่ายได้ หรือหนทางเพิ่มรายได้ให้ทุกครัวเรือนหากเราสามารถขายไฟฟ้าที่เราผลิตเองได้        แล้วค่อยคุยในในโอกาสต่อไปครับ ผมจะเขียนประจำที่ “ฉลาดซื้อ”  เพื่อเปลี่ยนพลังงงของผู้บริโภคมาเป็นพลังของการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและลดปัญหาโลกร้อนนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 กระแสต่างแดน

คนเกาก็ชอบของก็อป         การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน หรืออุณหภูมิติดลบ ไม่สามารถลดความคึกคักของการค้าใน “ตลาดของก็อป” ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี (กลุ่มเต็นท์สีเหลืองประมาณ 80 หลัง ใกล้ “ตลาดดงแดมุน” ศูนย์กลางเสื้อผ้าและแฟชั่นในกรุงโซล) ลงไปได้เลย         ช่วงเวลาระหว่างสามทุ่มถึงตีสอง ที่นี่จะคลาคล่ำไปด้วยหนุ่มสาวสายแฟที่มาหาซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรือนาฬิกา “แบรนด์เนม”            อาจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล อธิบายว่าคนเกาหลีอ่อนไหวต่อเทรนด์เป็นพิเศษ พวกเขาอยากมีเหมือนคนอื่น จะได้รู้สึกเข้าพวก และต้องมีอะไรที่ดีกว่า เพื่อจะได้เป็นที่อิจฉา พวกเขาต้องการครอบครองของที่ดู “แพง” เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจึงแทบไม่มีใครใส่ใจ         ตามกฎหมายเกาหลี คนซื้อไม่มีความผิด แต่คนขายที่ถูกจับได้อาจต้องจ่ายค่าปรับถึง 100 ล้านวอน และอาจถูกจำคุกสูงสุด 7 ปี         ข้อมูลจากศุลกากรเกาหลีระบุว่าตั้งแต่มกราคม 2017 จนถึงสิงหาคม 2021 มี “คดีกระเป๋าปลอม” 1,866 คดี   ลดอายุคนขับ         เดนมาร์กกำลังขาดแคลนพนักงานขับรถของเทศบาล (รถรับส่งผู้ป่วย รถรับส่งนักเรียน เป็นต้น) เนื่องจากพนักงานจำนวนมากลาออกไปในช่วงที่โควิด-19 ระบาด จึงมีที่ว่างกว่า 1,000 ตำแหน่ง ที่อาจว่างไปอีกนาน เพราะไม่ค่อยมีคนสนใจสมัคร         พรรคฝ่ายค้านมองว่านี่คือปัญหาเร่งด่วน ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ ปัญหานี้จะกระทบไปถึงรถสาธารณะในเมืองและรถข้ามจังหวัดด้วย ว่าแล้วก็เสนอให้ลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถมีใบอนุญาตขับรถโดยสารเป็น 19 ปี (โดยให้เริ่มฝึกงานตั้งแต่อายุ 18 ปี)         จากเกณฑ์เดิมคือ 24 ปีสำหรับรถที่มีผู้โดยสาร ที่วิ่งในระยะทางมากกว่า 50 กิโลเมตร และ 21 ปี สำหรับระยะทางน้อยกว่า 50 กิโลเมตร         ด้านรัฐมนตรีกระทรวงขนส่งไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ เขาให้เหตุผลว่าผู้โดยสารอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย หากคนขับหน้าเด็กเกินไป เขาเสนอว่ากลุ่มสตรีผู้อพยพ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสงานให้กับพวกเธอด้วย  คิดก่อนกู้         หนุ่มสาวฟินแลนด์ยุคนี้เป็นหนี้กันมากขึ้น นอกจากจะนิยมกู้เงินไปลงทุนทำกำไร ซึ่งทำผ่านแอปพลิเคชันได้สะดวกทั้งการขอกู้และการลงทุน พวกเขายังนิยมกู้เพื่อซื้อบ้าน/อพาร์ตเมนต์ อีกด้วย         สถิติในปีที่ผ่านมาระบุว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของคนหนุ่มสาวที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งลดลงฮวบฮาบจากร้อยละ 30 ในปีก่อนหน้า         โอกาสซื้อที่อยู่อาศัยในฟินแลนด์มีมากขึ้นเพราะการท่องเที่ยวที่ซบเซาหลังโรคระบาด ทำให้เจ้าของบ้านที่เคยเก็บอพาร์ตเมนต์ไว้ให้นักท่องเที่ยวเช่าผ่านแอปฯ อย่าง Airbnb ก็เริ่มปล่อยของ ในขณะที่จำนวนอพาร์ตเมนต์สร้างเสร็จใหม่ในโซนที่มีการเดินทางสะดวกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน            อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของฟินแลนด์เริ่มกังวลกับสถานการณ์ที่คนกลุ่มนี้สามารถกู้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด จึงเสนอให้มีการกำหนดเพดานหนี้ ที่ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อปี และแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ/คิดให้รอบคอบก่อนจะเป็นหนี้ เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจล่มสลายหากลูกหนี้ขาดรายได้กะทันหันและไม่สามารถใช้หนี้ได้  ทั้งเพิ่มทั้งลด         วิถีชีวิตแบบดิจิทัลของเราทำให้เกิดความต้องการ “ดาต้าเซ็นเตอร์” เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์เหล่านี้อยู่ถึง 7.2 ล้านศูนย์ทั่วโลก ประเทศที่มีมากที่สุดได้แก่อเมริกา (2,670 แห่ง) ตามด้วยอังกฤษ (452) เยอรมนี (443) อันดับต่อมาคือเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น          เซิร์ฟเวอร์ในศูนย์เหล่านี้ทำงานทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าร้อยละ 1 ของการบริโภคพลังงานไฟฟ้าในโลกคือพลังงานที่ใช้ในศูนย์ข้อมูล         ที่น่าสนใจคือตัวเลขนี้ไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2010 ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในขณะที่การจราจรบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 15 เท่า         ส่วนหนึ่งเพราะศูนย์พวกนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น และใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพกว่าศูนย์ขนาดเล็ก ฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้นวัตกรรมการก่อสร้างอาคาร ระบบระบายความร้อน และการลงทุนในพลังงานทางเลือกหรือเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของผู้ประกอบการนั่นเอง เอไอไม่แฟร์         การสำรวจความเห็นของ “แรงงานดิจิทัล” จำนวน 5,000 คน โดยสถาบันความเท่าเทียมทางเพศแห่งยุโรปพบว่า เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้ในการจ้างงานในเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม ยังไม่ถูกพัฒนาให้เป็นธรรมกับแรงงานหญิงเท่าที่ควร         องค์กรนี้พบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกงานแบบนี้เพราะ “ความยืดหยุ่นเรื่องชั่วโมงทำงาน”  พวกเธอต้องการเวลาในการทำงานบ้านและดูแลครอบครัว แต่กลับถูก “หมางเมิน” หรือแม้แต่ “ลงโทษ” โดยเอไอของแพลตฟอร์ม เพราะพวกเธอมีชั่วโมง “รับงาน” น้อยกว่าผู้ชายซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจแบบนี้         ปัจจุบันร้อยละ 16 ของแรงงานดิจิทัลในอังกฤษและสหภาพยุโรปเป็นผู้หญิง และสัดส่วนนี้จะยิ่งน้อยลงในตำแหน่งที่สูงขึ้น         สถาบันฯ เสนอให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น และขอให้กำหนดความเท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในเกณฑ์การ “ตัดสินใจ” ของเอไอ ไม่เช่นนั้นเทคโนโลยีก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือการเลือกปฏิบัติและผลิตซ้ำอคตินั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อเปิดผลทดสอบค่าพลังงาน ไขมัน และโซเดียม ใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี” ให้คุณเลือกรับประทานได้อย่างปลอดภัย

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลทดสอบเปรียบเทียบปริมาณพลังงาน ไขมัน โซเดียม ใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี” พบฉลากภาษาไทย จัดหน่วยบริโภคให้แบ่งรับประทาน 2 ครั้งต่อ 1 ซอง ไม่สอดคล้องกับการบริโภคปกติ  แนะนำกินเฉพาะเส้นไม่ซดน้ำซุปจะช่วยลดโซเดียมได้ 7%         วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป จำนวน 14 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลีเป็นกำลังที่นิยม เพราะอิทธิพลจากซีรีส์เกาหลีและเป็นอาหารที่ปรุงง่าย รวมทั้งมีรสชาติถูกปากคนไทย อย่างไรก็ตามรสชาติอร่อยอาจต้องแลกด้วยการปรุงรสที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ อาหารประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจัดเป็นอาหารที่มีโซเดียมและพลังงานสูงประเภทหนึ่ง ในการทดสอบครั้งนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อได้ทดสอบหาปริมาณโซเดียม ไขมันและพลังงาน โดยกำหนดเงื่อนไขและวิธีในการเตรียมตัวอย่างตามขั้นตอนการปรุงที่ระบุบนฉลากของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่ละยี่ห้อ เช่น ยี่ห้อ เอ ระบุ เตรียมน้ำปริมาณ 500 มิลลิลิตร ตั้งไฟจนเดือดใส่เส้นและเครื่องปรุง ต้มต่อไปอีก 3 นาที เป็นต้น  จากนั้นจึงใช้การวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐาน โดยห้องปฎิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO 17025         ผลทดสอบโดยการเตรียมตัวอย่างแบบที่ฉลาดซื้อกำหนดนั้น พบว่า ทุกตัวอย่างมีปริมาณ พลังงาน ไขมัน และโซเดียม น้อยกว่าที่ฉลากระบุ (ดูตารางแสดงผล) และเนื่องจากฉลากภาษาไทยมีความหลากหลาย บางฉลากมีความคลาดเคลื่อนของการคำนวณ เราจึงนำผลการทดสอบของฉลาดซื้อเทียบกับฉลากโภชนาการที่ระบุบนซองผลิตภัณฑ์ (ภาษาอังกฤษหรือภาษาเกาหลี) และใช้หน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักของผลิตภัณฑ์จำนวน  1 ซอง คือ 1 ซอง ต้มรับประทาน 1 ครั้ง         สาเหตุที่ฉลาดซื้อทดสอบแล้วพบปริมาณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียมน้อยกว่าค่าที่ระบุบนฉลาก อาจเกิดจาก 1) ในการทดสอบแบบปกติจะใช้การเตรียมตัวอย่างด้วยผลิตภัณฑ์แบบแห้ง และ 2) มีผลิตภัณฑ์สองตัวอย่างที่ในวิธีการปรุงระบุให้เทน้ำออกก่อนปรุงด้วยเครื่องปรุง (เป็นผลิตภัณฑ์แบบแห้งเมื่อปรุงสำเร็จ) อย่างไรก็ตามการทดสอบในครั้งนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อพบข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับฉลากผลิตภัณฑ์  ดังนี้         1. ฉลากภาษาไทย จัดหน่วยบริโภค (ปริมาณการกินหรือดื่มต่อครั้ง) ไม่สอดคล้องกับวิธีการบริโภคตามปกติ คือ แนะนำให้แบ่งหน่วยบริโภคต่อครั้งเป็น 50 กรัม หรือ 60 กรัม ในขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซองมีปริมาณเฉลี่ย 120 กรัม หรือ ให้แบ่งรับประทาน 2 ครั้งต่อ 1 ซอง         2. หลายผลิตภัณฑ์เมื่อคำนวณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียม จากฉลากภาษาเกาหลีหรือภาษาอังกฤษบนซองผลิตภัณฑ์พบว่า ไม่ตรงกับฉลากจริงของผลิตภัณฑ์         นอกจากนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อมีข้อแนะนำของ "การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ที่จะช่วยรักษาสุขภาพ ตามข้อมูลของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวไว้ว่า โซเดียมอยู่ในเส้นและเครื่องปรุง โดยโซเดียมจะอยู่ในเครื่องปรุง มากกว่าเส้น 3 เท่า มีวิธีการรับประทานเพื่อลดปริมาณโซเดียม โดยถ้าลวกเส้นทิ้งไป 1 น้ำ จะช่วยลดปริมาณโซเดียมลงได้เล็กน้อย แต่ถ้าเลือกกินเฉพาะเส้น ไม่ใส่เครื่องปรุงหรือกินเฉพาะเส้นไม่ซดน้ำซุปจะช่วยลดโซเดียมได้ประมาณ 7% ถ้าจำเป็นต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปควรเติมเครื่องปรุงลดลงหนึ่งในสาม ลดน้ำลงหนึ่งในสาม ใส่น้ำเดือดร้อนๆ เส้นจะได้สุกกำลังดี ข้อควรระวังไม่ควรกินแบบแห้ง เพราะอาจดูดน้ำในระบบทางเดินอาหาร ถ้ากินก็ควรดื่มน้ำตามมากๆ         ดูตารางแสดงผลและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3891

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ปริมาณโซเดียม ไขมัน และพลังงานใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี”

        บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีหรือที่เรียกว่า “รามยอน” ในภาษาเกาหลีนั้น คนไทยส่วนหนึ่งมักจะเรียกว่า “มาม่าเกาหลี”  ซึ่งปัจจุบันฮิตมาก มีหลายยี่ห้อถูกนำเข้ามาให้เลือกอย่างมากมาย หากจะถามว่าไทยเราได้อิทธิพลความนิยมนี้มาจากไหน ก็คงหนีไม่พ้นจากความโด่งดังของซีรีส์เกาหลีและการชื่นชอบนี้ทำให้หลายคนขณะดูตัวละครกำลังกินรามยอนอย่างเอร็ดอร่อย ก็แทบอยากจะหยิบซองบะหมี่มาต้มตามทันที         บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลีนอกจากนิยมกินเพราะอิทธิพลจากซีรีส์เกาหลีแล้ว ก็คงเพราะเป็นอาหารที่กินง่าย และมีรสชาติถูกปากคนไทยด้วย อย่างไรก็ตามรสชาติอร่อยต้องแลกด้วยการปรุงรสที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นจัดเป็นอาหารที่มีโซเดียมและพลังงานสูงชนิดหนึ่ง         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้เก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป จำนวน 14 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกันยายน 2564 เพื่อทดสอบหาปริมาณโซเดียม ไขมันและพลังงาน เงื่อนไข วิธีการทดสอบ         ในการเตรียมตัวอย่างเพื่อทดสอบ ทางฉลาดซื้อใช้วิธีการเตรียมตัวอย่างตามขั้นตอนการปรุงที่ระบุบนฉลากของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตามที่แต่ละยี่ห้อระบุ เช่น ยี่ห้อ เอ ระบุ เตรียมน้ำปริมาณ 500 มิลลิลิตร ตั้งไฟจนเดือดใส่เส้นและเครื่องปรุง ต้มต่อไปอีก 3 นาที เป็นต้น  วิธีการทดสอบใช้วิธีที่ได้มาตรฐาน โดยห้องปฎิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO 17025 สรุปผลการทดสอบ         ผลทดสอบโดยการเตรียมตัวอย่างแบบที่ฉลาดซื้อกำหนดนั้น พบว่า ทุกตัวอย่างมีปริมาณ พลังงาน ไขมัน และโซเดียม น้อยกว่าที่ฉลากระบุ (ดูตารางแสดงผล) และเนื่องจากฉลากภาษาไทยมีความหลากหลาย บางฉลากมีความคลาดเคลื่อนของการคำนวณ เราจึงนำผลการทดสอบของฉลาดซื้อเทียบกับฉลากโภชนาการที่ระบุบนซองผลิตภัณฑ์ (ภาษาอังกฤษหรือภาษาเกาหลี) และใช้หน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักของผลิตภัณฑ์จำนวน  1 ซอง         การทดสอบของฉลาดซื้อที่พบปริมาณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียมน้อยกว่า ค่าที่ระบุบนฉลาก อาจเกิดจากหนึ่ง ในการทดสอบแบบปกติจะใช้การเตรียมตัวอย่างด้วยผลิตภัณฑ์แบบแห้ง และสอง มีผลิตภัณฑ์ 2 ตัวอย่างที่ในวิธีการปรุงระบุให้เทน้ำออกก่อนปรุงด้วยเครื่องปรุง (เป็นผลิตภัณฑ์แบบแห้งเมื่อปรุงสำเร็จ)           ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับฉลากผลิตภัณฑ์          1.ฉลากภาษาไทย จัดหน่วยบริโภคไม่สอดคล้องกับวิธีการบริโภคตามปกติ กล่าวคือ พยายามแบ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำเป็น 50 กรัม หรือ 60 กรัม ในขณะที่การบรรจุบะหมี่ฯ 1 ซองจะมีปริมาณเฉลี่ยที่ 120 กรัม           2.หลายผลิตภัณฑ์เมื่อคำนวณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียม จากฉลากภาษาเกาหลีหรือภาษาอังกฤษบนซองผลิตภัณฑ์พบว่า คำนวณผิดพลาดไม่ตรงกับฉลากจริงของผลิตภัณฑ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 กระแสต่างแดน

ต้องดมก่อน         กฎหมายเยอรมนีกำหนดว่าก่อนเริ่มงานก่อสร้าง เจ้าของโครงการต้องตรวจสอบว่ามีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในบริเวณนั้นหรือไม่ หากพบก็ให้ดูแลพวกมันให้ปลอดภัยหรือย้ายถิ่นฐานให้ด้วย                 Deutsche Bahn หรือการรถไฟเยอรมนี ซึ่งต้องขยายระบบรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศจึงมี “ทีม” ที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สงวน ทีมนี้ยังประกอบด้วยน้องหมาที่ผ่านการฝึกอบรมให้ทำงานได้อย่างแม่นยำและทั่วถึง         เมื่อเจอ งู เขียด ค้างคาว กิ้งก่า หรือสัตว์สงวนอื่นๆ สุนัขเหล่านี้เรียนรู้ว่าต้องไม่ตะปบหรือพยายามไล่ตาม มันจะนั่งลงทันทีเพื่อรอรับ “รางวัล” จากผู้ดูแล พวกมันไม่เกี่ยงฤดูกาลหรือสภาพอากาศจึงทำงานเสร็จในเวลาเพียง 2 เดือน (จากปกติ 1 ปี)          เรื่องนี้เยอรมนีเขาจริงจัง ปีที่แล้วโครงการก่อสร้างโรงงานของเทสลา ในเขตใกล้กรุงเบอลิน ก็เคยถูกสั่งหยุดชั่วคราวมาแล้ว หลังพบสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่โครงการ   หยุดหลอกขายถัง          บริษัท Fire Safety & Prevention (SG) ผู้จำหน่ายและติดตั้งถังดับเพลิง ถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ สั่งให้หยุดพฤติกรรมหลอกลวงผู้บริโภค         หลังผลการสืบสวนพบว่าบริษัทนี้ให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด เช่น เบื้องต้นแจ้งราคาถังดับเพลิงว่าถังละ 17.90 เหรียญ แต่ต่อมากลับเรียกเก็บ 179 เหรียญ  และผู้ซื้อจะไม่สามารถขอเงินคืนได้ (ทั้งๆ ที่การยกเลิกและขอเงินคืนเป็นเรื่องที่ทำได้ตามปกติตามกฎหมายผู้บริโภค)         นอกจากนี้ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าบริษัทได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐหรือคณะกรรมการชุมชน และจะได้รับส่วนลดพิเศษหากเป็นผู้ถือบัตรสมาชิกบางชนิด แถมยังจะมีช่างเข้ามาดูแล/เปลี่ยนอุปกรณ์ให้ฟรีปีละครั้ง (แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง)         หนักที่สุดคือการอ้างว่าสิงคโปร์กำลังจะมีกฎหมายบังคับให้ทุกบ้านติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง         ระหว่างมกราคม 2019 ถึง กุมภาพันธ์ 2020 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริษัทขายถังดับเพลิง49 เรื่อง โดย 8 เรื่องเป็นการร้องเรียนบริษัทนี้ เรื่องปวดหัว        นักวิจัยอินโดนีเซียพบว่าตัวอย่างน้ำจากเขตอังเก้ ซึ่งเป็นย่านที่มีคนอยู่หนาแน่นในจาการ์ตา และเขตอังกอล ทางเหนือของเมือง ตรงปากแม่น้ำจิลีวุง มีปริมาณพาราเซตามอลสูงถึง 610 และ 420 นาโนกรัม/ลิตร ตามลำดับ         งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Marine Pollution Bulletin เมื่อเดือนสิงหาคมไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของมัน แต่นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าตัวการคือ ของเสียจากการขับถ่ายของมนุษย์ โรงงานผลิตยา (ซึ่งมีอยู่ถึง 27 แห่งรอบอ่าวจาการ์ตา) รวมถึงโรงพยาบาลและคลินิก           จึงนำไปสู่คำถามว่าเมืองนี้มีระบบจัดการของเสียของที่ดีพอหรือยัง ขยะจากโรงพยาบาล หรือยาหมดอายุถูกกำจัดอย่างไร โครงการก่อสร้างในเขตอ่าวมีผลกระทบแค่ไหนต่อการไหลเวียนของน้ำ เป็นต้น         นักวิจัยระบุว่าการได้รับพาราเซตามอลอย่างต่อเนื่อง (ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก) ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ซ้ำเติมการทำมาหากินของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้วด้วย กังหันต้องไป         ศาลสูงสุดของนอร์เวย์ตัดสินว่าฟาร์มกังหันลมสองแห่งทางตะวันตกของประเทศ ละเมิดวิถีชีวิตชนกลุ่มน้อยชาวซามิที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นอาชีพ ด้วยการรุกล้ำเข้าไปในถิ่นที่พวกเขาทำมาหากิน         ศาลตัดสินว่าใบอนุญาตต่างๆ ที่กระทรวงน้ำมันและพลังงานของนอร์เวย์ออกให้กับบริษัท Fosen Vind นั้นถือเป็นโมฆะ เนื่องจากละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR: International Covenant on Civil and Political Rights) และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวซามิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย         แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทนายความของพวกเขาบอกว่าอาจจะได้เห็นการรื้อกังหันลม 151 ตัว ที่ติดตั้งเสร็จในปี 2020 บทคาบสมุทรโฟเซน (ส่วนหนึ่งของฟาร์มกังหันลมบนดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป) เมื่อการ “สร้าง” กังหันเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย การ “ใช้งาน” ก็ย่อมผิดเช่นกัน         ปัจจุบันมีชาวซามิประมาณ 100,000 คนใช้ชีวิตอยู่ในเขตสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซีย  กู๊ดบาย 162             ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป สวิตเซอร์แลนด์จะยกเลิกบริการสายด่วนหมายเลข 162 สำหรับสอบถามสภาพอากาศ หลังเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 30 ปี             ตามหลักการแล้วบริการเลขสามตัวแบบนี้จะยังให้บริการต่อไปได้ หากมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่าสองล้านคนต่อปี แต่จากสถิติในปี 2020 มีผู้โทรเข้ามาเพียง 350,000 สาย (ลดลงจากที่เคยสูงถึงเจ็ดล้านสายในช่วง 20 ปีก่อน)             MeteoSchweiz ผู้ให้บริการ ตัดสินใจเลิกบริการนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างสูง ไม่คุ้มที่จะทำต่อไป คนสวิสทุกวันนี้นิยมใช้ช่องทางอื่น อย่างเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน MeteoSwiss เป็นต้น และจากข้อมูลของ Statista ร้อยละ 84 ของคนสวิสเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟน             ทั้งนี้สำนักงาน OFCOM ของสวิตเซอร์แลนด์มีกำหนดให้บริการเลขสามตัวทั้งหมด (ยกเว้นหมายเลขฉุกเฉิน) ดำเนินการได้ถึงวันที่ 1 มกราคม 2523 เท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 สำรวจฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย

        คุกกี้เนย หนึ่งในขนมยอดฮิตติดใจคนทุกวัย ด้วยรสชาติหวาน มัน หอม อร่อย ชิ้นพอดีคำ เคี้ยวกรุบกรอบเพลินเกินห้ามใจ หลายครั้งเราจึงเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำ (ตามฉลากโภชนาการ) คุ้กกี้เนยนั้น มีส่วนผสมหลักๆ คือ แป้ง เนย มาการีน น้ำตาลทราย นมผง ไข่ไก่ ผงฟู ปริมาณมากน้อยก็แล้วแต่สูตรความอร่อยของแต่ละยี่ห้อ อย่างไรก็ตามหลักๆ ก็คือของให้พลังงานสูง ดังนั้นหากกินคุกกี้เนยมากเกินไป อาจทำให้ได้รับพลังงาน รวมถึงโซเดียมเกินความต้องการในแต่ละวัน อาจก่อให้เกิดโรคจากพฤติกรรมการบริโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคไต เป็นต้น         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย จำนวน 10   ตัวอย่าง ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ(ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ) เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ผลการสำรวจฉลากโภชนาการคุกกี้เนย         เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของคุกกี้เนยทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าค่ากลางจากฐานนิยมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำคือ 30 กรัม หน่วยบริโภคที่มากที่สุดคือ 40 กรัม ได้แก่ คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ และ คุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ หน่วยบริโภคที่น้อยที่สุดคือ 20 กรัม ได้แก่ คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณพลังงานและไขมัน ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ พบว่า คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ มีมากที่สุด (พลังงาน 210 กิโลแคลอรี และไขมัน 11 กรัม) คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มีน้อยที่สุด (พลังงาน 110 กิโลแคลอรี และไขมัน 6 กรัม) ส่วนปริมาณน้ำตาล มีมากที่สุด คือ 11 กรัม ได้แก่คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้  มีน้อยที่สุดคือ 5 กรัม ได้แก่คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่  สำหรับปริมาณโซเดียมนั้น บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ก ตราบิสชิน มีมากที่สุด คือ 135 มิลลิกรัม และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด คือ 45 มิลลิกรัม ข้อสังเกต- เมื่อนำทั้ง 10 ตัวอย่างมาคำนวณในหน่วยบริโภคที่เท่ากันหรือใกล้เคียง (30 กรัม) พบว่า มีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 150-165 กิโลแคลอรี- หากนำคุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มาลองคำนวณในหน่วยบริโภคที่ 30 กรัม พบว่ามีค่าพลังงานสูงที่สุดคือ 165 กิโลแคลอรี่- ใน 1 วัน ร่างกายเราต้องการพลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ ปริมาณน้ำตาลสูงสุดไม่เกิน 40 กรัม ไขมันไม่เกิน 65 กรัม และโซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ดังนั้น ถ้าเรากิน คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ เพลินจนหมดกระปุก (6 ชิ้น) เราจะได้ปริมาณน้ำตาลและไขมัน อย่างละ 66 กรัม ซึ่งเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันแล้ว-เราไม่ควรบริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค หรือไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งพบว่าคุกกี้ทั้ง 10 ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมอยู่ในเกณฑ์นี้คือระหว่าง 45-135 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค-มีคุกกี้ 7 ยี่ห้อ ที่ระบุคำเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” แสดงว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็ห่วงใยสุขภาพผู้บริโภคเช่นกัน แล้วผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพตัวเองกันแค่ไหน ?คำแนะนำ-หยิบคุกกี้มาวางใส่จานไว้  1 ชิ้นใหญ่ หรือ 2-3 ชิ้นเล็ก แล้วปิดกล่องหรือมัดปากซองคุกกี้ไปเก็บไว้ไกลมือ เพราะถ้าไว้ใกล้มืออาจจะเผลอหยิบเข้าปากได้เรื่อยๆ-หากใครติดใจรสชาติและสัมผัสกรุบกรอบของคุกกี้ แต่กลัวอ้วน กลัวโรคต่างๆ ถามหา ก็ยังมีคุกกี้เพื่อสุขภาพ เช่น คุกกี้ธัญพืช คุกกี้ไข่ขาว มาเป็นทางเลือกในการลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดโซเดียม ได้-ก่อนกินคุกกี้ควรพิจารณาฉลากโภชนาการแบบ GDA หรือ ฉลากหวาน มัน เค็ม เพื่อดูปริมาณที่ควรกินในแต่ละวัน เช่น ฉลากระบุว่าควรแบ่งกิน 2 ครั้ง หมายถึงเราไม่ควรกินหมดภายในวันเดียว แต่ควรแบ่งกิน 2 วัน หรือแบ่งกิน 2 คน จะได้ไม่เผลอกินมากจนเกิดภาวะโภชนาการเกินตามมา-ลองตั้งเงื่อนไขกับตัวเองว่าถ้าวันไหนกินคุกกี้เยอะเกิน จะต้องเบิร์นออกกำลังกายเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไปซะ อย่างน้อยก็จะกินคุกกี้ให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเองข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thaihealth.or.thhttps://www.rama.mahidol.ac.th  https://www.matichon.co.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ฉลาดซื้อ เปิดผลทดสอบครัวซองต์ ยี่ห้อไหนให้พลังงานสูง

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างครัวซองต์ที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ และใกล้เคียง จำนวน 31 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เพื่อวิเคราะห์ค่าพลังงาน ไขมัน (ไขมันรวม ไขมันอิ่มตัว  ไขมันทรานส์) และปริมาณโซเดียม เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เนื่องจากขนมอบชนิดนี้มีค่าพลังงานที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพลังงานจากไขมัน และยังเป็นการเฝ้าระวังเรื่องไขมันทรานส์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ปริมาณโซเดียมในขนมอบหรือเบเกอรีก็เป็นสิ่งทึ่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญและตระหนักรู้ ว่านี่คือแหล่งอาหารชนิดหนึ่งที่มีปริมาณโซเดียมสูง แม้ไม่มีรสเค็ม         สรุปผลการวิเคราะห์ครัวซองต์มีดังนี้ ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 415 – 511 กิโลแคลอรี ตัวอย่างที่มีพลังงานมากที่สุด คือ ครัวซองต์ของร้าน KANOM  สาขา สามย่านมิตรทาวน์ มีพลังงาน 511 กิโลแคลอรี่ (Kcal) ตัวอย่างที่มีพลังงานน้อยที่สุดคือ ครัวซองต์จาก Big C  สาขาบางปะกอก  พลังงาน 415 กิโลแคลอรี่ (Kcal)         ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าไขมันรวม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 21.6 – 33 กรัม  ค่าไขมันอิ่มตัว ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 9.53 – 19.83 กรัม ซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ขนมอบเบเกอรี่ที่มีปริมาณไขมันทั้งหมดและไขมันอิ่มตัวที่สูง สำหรับไขมันทรานส์ ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 0.13 – 1.09 กรัม ทั้งนี้เมื่อนำมาคำนวณตามปริมาณในหนึ่งหน่วยบริโภค (1 ชิ้น) พบว่ามี 3 ยี่ห้อ   ที่มีปริมาณไขมันทรานส์ เกิน 0.5 กรัม  ได้แก่ กาโตว์ เฮ้าส์ (0.56 กรัม/หน่วยบริโภค 52 กรัม) Au bon pain (0.60 กรัม/หน่วยบริโภค 58 กรัม) และ พรมารีย์ เบเกอรี (0.63 กรัม/หน่วยบริโภค 63 กรัม)         ส่วนปริมาณโซเดียมของครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่างนั้นมีปริมาณโซเดียมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ในช่วง 244.83 – 522.26 มิลลิกรัม         สำหรับการตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ รศ.ดร.วันทนีย์  เกรียงสินยศ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ปริมาณไขมันทรานส์ที่พบนั้นเป็นไขมันทรานส์จากธรรมชาติ”  องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization, FAO) แนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันทรานส์ต้องไม่เกิน 1% ของค่าพลังงานต่อวัน (หรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค) อย่างไรก็ตาม FAO ยังแนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่ไม่เกิน 10% ของค่าพลังงาน (หรือประมาณ 20 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 5 กรัมต่อมื้อ) ไว้ด้วย เนื่องจากตระหนักว่าไขมันทั้งสองประเภทยังเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น จึงต้องควบคุมปริมาณการบริโภคร่วมกัน”         แม้ประเทศไทยมีการแบนไขมันทรานส์ (ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจะต้องไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 แล้ว แต่ไขมันทรานส์สามารถตรวจพบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบบางชนิดที่ได้จากสัตว์เคี้ยวเอื้องซึ่งตามธรรมชาติมีไขมันทรานส์เป็นองค์ประกอบ เช่น นม เนย ชีส เป็นต้น  แต่ทั้งนี้แหล่งที่มาต้องไม่ใช่จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน        ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ส่วนใหญ่ให้พลังงานสูง โดยเฉพาะประเภทที่มีการใช้เนย/ครีมเป็นส่วนประกอบมาก มีทั้งไขมันทั้งหมดและไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่สูง การบริโภคเป็นประจำเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ จึงควรระมัดระวังไม่รับประทานมากเป็นประจำ         เพื่อสุขภาพที่ดีควรบริโภคผัก ผลไม้ ให้มากพอ เป็นประจำทุกวัน        อ่านบทความเต็มได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/3685         สนับสนุนการทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อให้ต่อเนื่องและยั่งยืนด้วยการสมัครเป็นสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อได้ที่ facebook แฟนเพจนิตยสารฉลาดซื้อ มลนิธิเพื่อผู้บริโภคหรือบริจาคสนับสนุนกิจกรรมทดสอบได้ที่ ธนาคารไยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 319-2-62123-1 และพบกับบูธนิตยสารฉลาดซื้อ O 07 (โอ ศูนย์ เจ็ด) ได้ที่งานหนังสือ ไบเทคบางนา ระหว่างวันที่ 17-25 เมษายน 2564 นี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ค่าพลังงาน ไขมัน และโซเดียม ในครัวซองต์

ขนมอบหรือเบเกอรีที่ร้อนแรงสุด พ.ศ.นี้ ไม่มีใครเกิน ครัวซองต์ (croissant) ซึ่งมีการประชันความอร่อย ความสวยงามของรูปทรง(เลเยอร์) ความกรอบ เบา ฟู และความหอมเนยที่เป็นวัตถุดิบสำคัญกันทั้งแผ่นดิน ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ก็ทนกลิ่นหอมยั่วยวนของครัวซองต์ไม่ไหว ต้องออกไปเก็บตัวอย่างมาถึง 31 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อวัดค่าพลังงาน ไขมัน (ไขมันรวม ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์) และปริมาณโซเดียม เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เนื่องจากขนมอบชนิดนี้มีค่าพลังงานที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพลังงานจากไขมัน และยังเป็นการเฝ้าระวังเรื่องไขมันทรานส์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องปัญหาหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ปริมาณโซเดียมในขนมอบหรือเบเกอรีก็เป็นสิ่งทึ่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญและตระหนักรู้ ว่านี่คือแหล่งอาหารชนิดหนึ่งที่มีปริมาณโซเดียมสูง (แม้ไม่มีรสเค็ม)              มาดูกันว่า ครัวซองต์ยอดนิยมแต่ละยี่ห้อมีค่าพลังงาน ไขมัน และโซเดียมเท่าไร                                                                                                หมายเหตุ : เก็บตัวอย่างเดือน กุมภาพันธ์ 2564                                                                                     ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น สรุปผลทดสอบ        ในการแสดงผลด้วยภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ จะเรียงลำดับด้วยผลการทดสอบต่อหนึ่งหน่วยบริโภคหรือ 1 ชิ้น ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน (มีน้ำหนักตั้งแต่ 20 – 94 กรัม)  และนำเสนอเปรียบเทียบในปริมาณต่อน้ำหนัก 100 กรัมไว้ในตาราง         พลังงาน         ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 415 – 511 กิโลแคลอรี        ไขมัน         ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าไขมันรวม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 21.6 – 33 กรัม             ค่าไขมันอิ่มตัว ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 9.53 – 19.83 กรัม         ไขมันทรานส์ ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 0.13 – 1.09 กรัม ทั้งนี้เมื่อนำมาคำนวณตามปริมาณในหนึ่งหน่วยบริโภค (1 ชิ้น) พบว่ามี 3 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณไขมันทรานส์ เกิน 0.5 กรัม  ได้แก่ กาโตว์ เฮ้าส์ (0.56 กรัม/หน่วยบริโภค 52 กรัม) Au bon pein (0.60 กรัม/หน่วยบริโภค 58 กรัม) และ พรมารีย์ เบเกอรี (0.63 กรัม/หน่วยบริโภค 63 กรัม)          โซเดียม         ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ในช่วง 244.83 – 522.26 มิลลิกรัม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 222 รู้เท่าทันพลังกับสุขภาพ

        เป็นเรื่องฮือฮามากเมื่อสองสามเดือนก่อน จากกรณีที่ชาวบ้านในหลายจังหวัดหลงเชื่อและซื้อ “บัตรพลังงาน” โดยอ้างสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ เช่นอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย วิธีการรักษา คือให้นำบัตรไปแตะบริเวณที่ปวด หรือนำแก้วน้ำไปวางบนบัตร หรือนำเอาบัตรไปจุ่มในแก้วแล้วดื่ม จนมีการเปิดโปงและจับกุม เรามารู้เท่าทันบัตรพลังงานกันเถอะ ความเชื่อเรื่องพลังกับสุขภาพ        ถ้าเราอ่านข่าวครั้งแรก เราคงรู้สึกว่า ทำไมชาวบ้านถึงหลงเชื่อง่ายๆ ว่า บัตรคล้ายบัตรโทรศัพท์มีพลังงานที่จะรักษาโรค ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้  จริงๆ แล้ว ความเชื่อเรื่องพลังในวัตถุต่างๆ นั้นมีในทุกวัฒนธรรม ทุกยุค ทุกสมัย ในการแพทย์ดั้งเดิมเชื่อว่า หิน วัตถุบางชนิดมีพลังในตัว และสามารถส่งผลต่อสุขภาพ จนการแพทย์ทางเลือกจัดเรื่องพลังเป็นประเภทหนึ่งของการแพทย์ทางเลือก การแพทย์จีนเชื่อเรื่องพลังชี่ การแพทย์แผนไทยเชื่อเรื่องพลังที่วิ่งตามเส้นประธานทั้งสิบ โฮมีโอพาธีย์เชื่อเรื่องพลังจากพืช สัตว์ โลหะ ที่นำมาเจือจางและกระแทก เขย่าในน้ำหรือสารละลาย หลายวัฒนธรรมเชื่อเรื่องผีและอำนาจเหนือธรรมชาติ ดังนั้น บัตรพลังงานจึงสอดคล้องกับความเชื่อเรื่อง พลังในวัตถุและพลังกับสุขภาพได้ง่าย มีระบบธุรกิจรองรับ         บัตรพลังงานนี้มีชื่อว่า ‘Kartu Sakti’ พบว่าต้นตอมาจากประเทศอินโดนีเซีย ทางเว็บไซต์ต้นทางของบัตรระบุว่า มียอดขายแล้วกว่า 5 แสนใบทั่วโลก          นอกเหนือจากความเชื่อเรื่องพลังงานในบัตรแล้ว ยังต้องมีระบบธุรกิจรองรับ เพื่อให้เกิดความนิยมและขยายตัว  สามารถทำกำไรได้เป็นจำนวนมาก จึงมีการโฆษณาในโลกออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องบัตรพลังงาน หรือบัตรพลัง หรือการ์ดวิเศษ ว่ามีคุณสมบัติพิเศษ สามารถช่วยค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส LPG NGV และน้ำมัน ได้เพียงแค่นำไปแปะไว้ที่อุปกรณ์ไฟฟ้า ถังน้ำมัน หรือถังแก๊สนั้น(กระทรวงพลังงานของประเทศไทยได้ออกมายืนยันแล้วว่า ไม่เป็นความจริง ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และอย่าตกเป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพจนทำให้ต้องสูญเสียเงินทองโดยไม่จำเป็น)         นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรม และสาธิตสรรพคุณของบัตร มีการรับสมัครเป็นสมาชิกเพื่อจะได้บัตรพลังงานไปใช้ โดยมีการจ่ายเงินซื้อบัตร และจำหน่ายบัตรให้คนที่สนใจ เพื่อรักษาอาการปวดเมื่อย หากขายได้และมีสมาชิกเพิ่ม ก็จะได้เงินจากการขาย ไม่มีงานวิจัยรองรับ         ปกติแล้ว ธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพจะอ้างอิงงานวิจัยในวารสารที่น่าเชื่อถือ เพื่อสนับสนุนว่าผลิตภัณฑ์แต่ละตัวมีประสิทธิผลที่น่าเชื่อถือ  แต่สำหรับบัตรพลังงานนั้นใช้การสาธิตกับบุคคล และบุคคลนั้นยืนยันว่าบัตรพลังงานใช้ได้ผลจริง ทำให้ชาวบ้านเชื่อถือ  จริงๆ แล้ว ต้องใช้หลักกาลามสูตร อย่าเพิ่งเชื่อง่ายๆ ตามคำบอกเล่า ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะกลายเป็นตัวแทนจำหน่ายบัตรพลังงาน พลังงานของบัตรกลายเป็นกัมมันตรังสี         คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยผลตรวจสอบบัตรพลังงานล่าสุด พบมีสารกัมมันตรังสี และโลหะหนัก เสี่ยงก่อมะเร็ง เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ “บัตรพลังงาน” บัตรไม่มีกระแสไฟฟ้า หรือพลังงานตามที่บริษัทผู้จำหน่ายกล่าวอ้างสรุป     จะมีผลิตภัณฑ์สุขภาพเกิดขึ้นอีกมากที่ใช้ความเชื่อของประชาชนมาเป็นเครื่องมือ  ร่วมกับระบบธุรกิจที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทน จึงควรวิเคราะห์หาข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจใช้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2562

สมอวสาน'รถตู้'!เปิดตัวรถโดยสารขนาดเล็ก วิ่งบริการแทนทั่วประเทศดีเดย์ 1 ตุลาคมนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป กำหนดให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานมาให้บริการทดแทนรถตู้ครบกำหนดอายุ 10 ปี ครอบคลุมรถตู้หมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการภายในกรุงเทพมหานครและเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัด และส่วนภูมิภาคหมวด 2 กรุงเทพมหานครไปยังต่างจังหวัด รวมถึงเส้นทางรถหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 นั้น ได้มีการกำหนดเปลี่ยนรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งานก่อนครบ 10 ปี เฉพาะในเส้นทางหมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทางจำนวน 937 คัน  สมอ. ลุยเชือดร้านค้าออนไลน์ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ส่งทีม เฉพาะกิจเข้าตรวจสอบแหล่งกระจายสินค้าของร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ในพื้นที่ถนนพระรามที่ 2 บางขุนเทียน กทม. และลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี หลังสืบทราบเบาะแสว่ามีการจำหน่ายสินค้าผิดกฎหมาย พบว่ามีสินค้าที่รอการจัดส่งให้ลูกค้าจำนวนมาก และหลายรายการเป็นมาตรฐานบังคับต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ไม่แสดงเครื่องหมายมาตรฐานหรือแสดงไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ได้แก่ ของเล่น สีเทียน ฝักบัวอาบน้ำ ผงซักฟอก และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตาปิ้งย่าง ไดร์เป่าผม เครื่องม้วนผม เครื่องหนีบผม ปลั๊กพ่วง โคมไฟดักยุง พัดลม หลอดไฟแอลอีดี เป็นต้น         “จากการตรวจสอบพบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้ากว่า 14,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 16,300,000 บาท ของเล่นกว่า 10,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 2,500,000 บาท สีเทียน 6,400 ชิ้น มูลค่าประมาณ 1,280,000 ผงซักฟอก 3,000 ชิ้น มูลค่าประมาณ 300,000 บาท ฝักบัวอาบน้ำกว่า 700 ชิ้น มูลค่าประมาณ 70,000 บาท รวมจำนวนสินค้าทั้งหมดกว่า 34,000 ชิ้น มูลค่าร่วม 20 ล้านบาท จึงดำเนินการยึดอายัดไว้ทั้งหมดเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป พร้อมกับแจ้งผู้ครอบครองสินค้าดังกล่าว ห้ามเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเด็ดขาด”         ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่จะจำหน่ายสินค้าดังกล่าวจะต้องจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบังคับเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2562) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ก.ค. 2562 โทษสำหรับผู้จำหน่ายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฟันบริษัทบัตรพลังงาน ธุรกิจขายตรง-จำหน่ายผิดประเภท         นายเดชาวัต แจ้งชื่น ผอ.กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบบัตรพลังงานที่อวดอ้างว่าสามารถรักษาสารพัดโรคได้ว่า ได้เรียก นายธนัช สุรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็กซ์เพิร์ทโปรเน็ตเวิร์ด เจ้าของบัตรพลังงาน เข้าให้ถ้อยคำที่สำนักงาน สคบ.แล้ว ซึ่งเจ้าของบริษัทอ้างว่าบริษัทขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแอลคาร์นิทีน และได้แถมบัตรพลังงาน โดยไม่ทราบว่าเครือข่ายนำบัตรพลังงานไปขาย ซึ่งบัตรพลังงานดังกล่าวมีบริษัทที่รู้จักนำมาฝากไว้นานแล้วไม่มารับคืน จึงนำไปแถมให้กับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์         แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทางบริษัทจดทะเบียนประเภทธุรกิจขายตรงเมื่อปี 2556 ต่อมามีผู้ซื้อบริษัทและเจ้าของคนปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงานเมื่อปี 2558 แต่บริษัทถูกเพิกถอนไปเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา และไม่สามารถจะดำเนินธุรกิจได้จนกว่าจะครบกำหนด 5 ปี เนื่องจากกฎหมายระบุว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขายตรงจะต้องวางหลักประกัน ซึ่งบริษัทดังกล่าวไม่ได้วางเงินหลักประกันและยังคงจำหน่ายสินค้าอยู่ ทำให้ มีความผิดฐานทำธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดขายตรงฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับนิติบุคคล กรรมการบริษัท และผู้จำหน่ายรายละ 1 แสนบาท รวมทั้งอาจเข้าข่ายความผิดขายสินค้าผิดประเภท เนื่องจากไม่ได้แจ้งขายสินค้าประเภทอื่นเพิ่มเติม         ขณะนี้ สคบ.ได้ประสานตำรวจท้องที่ให้เรียกคืนผลิตภัณฑ์และดำเนินคดีฐานหลอกลวงผู้บริโภค7 พรรคฝ่ายค้านเดินเกม หนุนภาคประชาสังคมแบนสารเคมี         พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และตัวแทนสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 7 พรรค เดินทางเข้ามารับฟังการบรรยายปัญหาและข้อเสนอทางนโยบายในการจัดการเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและความไม่ปลอดภัยทางอาหาร ที่มูลนิธิชีววิถี(BioThai)        นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิ BioThai ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา 3 เรื่อง คือ 1)ให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดโดยทันที 2) ผลักดันให้มีการสร้างระบบการเตือนภัยสารพิษตกค้างในผักผลไม้ซึ่งปัจจุบันพบการตกค้างสูงถึง 41%         และ3) ขอให้ 7 พรรคการเมืองสนับสนุนร่างกฎหมายความปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะแยกอำนาจการแบนสารพิษให้ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และให้การสนับสนุน พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว ให้เข้าสู่กระบวนการตามรัฐสภาต่อไปด้วย         ทั้งนี้โดยภายหลังรับฟังการบรายาย ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค ได้ประกาศพร้อมขับเคลื่อนให้มีการแบนสารพิษร้ายแรงให้เป็นวาระเร่งด่วน และเสนอต่อรัฐสภาให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญในประเด็นสารเคมีและความปลอดภัยทางอาหาร โดยขณะนี้ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาแล้ว         ทั้งนี้ มูลนิธิชีววิถี และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เตรียมการติดต่อเข้าพบ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ เพื่อสนับสนุนให้มีการเดินหน้าแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และสารพิษร้ายแรงอื่น รวมทั้งเสนอให้วาระเรื่องอาหารปลอดภัยให้เป็นวาระหลักของรัฐบาลชุดนี้ ศาลปกครองสูงสุด อนุญาตให้ มพบ. ร้องสอด กรณีค่ารักษาพยาบาลแพง         จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ยื่นร้องสอดร่วมเป็นผู้ถูกฟ้องในคดี สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ยื่นฟ้องคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน กรณีการออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยเฉพาะการควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาลนั้น                วันที่ 28 มิถุนายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งอนุญาตให้ มพบ. ร่วมเป็นผู้ถูกฟ้อง โดยให้เป็นผู้ร้องสอด เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า มพบ. เป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง จึงถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการยกเลิกประกาศดังกล่าว 

อ่านเพิ่มเติม >