ฉบับที่ 251 ผลทดสอบสารทาเลตและบีพีเอในผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหาร

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ          ทาเลท (Phthalates) เป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะ DEHP และ DINP (ชนิดของทาเลท) ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์         นอกจากนี้ยังมีสารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือบีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร ทั้งนี้มนุษย์อาจจะได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ โดยสารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในสินค้าแก่ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค, สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกที่นำมาบรรจุอาหาร จำนวนทั้งหมด 30 ตัวอย่าง ประกอบด้วยภาชนะพลาสติกที่มีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ ซื้อจากห้าง ซื้อจากตลาด ซื้อจากร้าน 20 บาท ภาชนะที่บรรจุอาหารปรุงเสร็จในร้านสะดวกซื้อ และภาชนะที่จัดมาให้ในอาหารสำเร็จรูป เพื่อดำเนินการตรวจวิเคราะห์หาสารทาเลตอันตรายทั้ง 7 ชนิด และ สารบีพีเอ โดยวิธีการทดสอบทาเลตอ้างอิงตาม EN 14372: 2004, Extraction with organic solvent, determination by GC-MS. ส่วนการทดสอบ บีพีเอ (Bisphenol A); CAS No. 80-05-7 ทดสอบโดยสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (LC-MS) โดยบริษัท TUV เป็นผู้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ ผลการทดสอบ         ผลไม่พบสารทาเลททั้ง 7 ชนิด ที่ระดับ 60 มก./กก. (.006%) หรือสูงกว่าเลย (ดูตารางที่ 1) และการทดสอบหาการปนเปื้อนของสารบิสฟีนอล (เอ) ผล ไม่พบสารดังกล่าวที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมหรือมากกว่า สรุป         ภาชนะบรรจุอาหารที่อยู่ในตลาดและได้รับการสุ่มตรวจ 30 ตัวอย่างทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารทาเลทหรือ บีพีเอเกินกว่าค่ามาตรฐาน         อย่างไรก็ตามสารทาเลทในพลาสติกยังอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับตัวพลาสติกเอง เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ และต้องอาศัยพลังงานสูง นอกจากนี้พลาสติกยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก การรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆ อีกด้วย ส่วนการเผาขยะพลาสติกชนิดพีวีซีจะเป็นตัวก่อให้เกิดสารไดออกซิน ผู้บริโภคจึงควรลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการดำเนินการเรื่องการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการลงทุนในงานวิจัยด้านภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคนโดยเฉพาะสำหรับเด็ก   ตารางที่ 1          ทาเลทเป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะDEHP และ DINP ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก มีการใช้งานตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ของเล่นและผลิตภัณฑ์ในการดูแลเด็ก สหภาพยุโรปได้รับกำหนดทาเลท 5 ชนิดที่มีความสำคัญและต้องควบคุม ได้แก่ ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง: di-isononyl phthalate (DINP), di-isodecyl phthalate (DIDP) เป็น 80% ของทาเลทที่ใช้ในยุโรป ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ: dibutyl phthalate (DBP), benzyl-butyl phthalate (BBP), di-2-ethyl-hexyl phthalate (DEHP) ซึ่งมีอันตรายมากกว่าและเป็นพิษ         ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ตัวอ่อนในครรภ์มารดาที่ได้รับทาเลทพบว่าระยะห่างระหว่างรูทวารกับอวัยวะเพศมีลักษณะแคบกว่าเด็กปกติ (anogenital distance) (Swan et al.,Environ Health Perspect. 2005)  ทารกที่ได้รับสารทาเลทจากนมแม่ มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของฮอร์โมนเพศโดยลดฮอร์โมนเพศชาย และเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง (Main et al., Environ Health Perspect. 2006) และยังมีความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารทาเลท(ทั้งในครรภ์และระหว่างผู้ใหญ่) กับน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (Tang-Peronard et al., Obesity Reviews, 2011) และโรคเบาหวาน (Swensson et al., Envir. Res.) ในเพศชายที่ได้รับสารทาเลทสูงพบเชื้ออสุจิมีรูปร่างผิดปกติและมี DNA เสียหาย รวมทั้งพบการหลั่งฮอร์โมนของการสร้างน้ำนม (โปรแลคติน) (Duty et al., Hauser et al) พบว่าความเข้มข้นของสารเมตาโบไลต์ของทาเลทที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยาก (Trafno G. et al. tox. lett., 2011) อย่างมีนัยสำคัญ        แต่ก็อาจเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ กระบวนการก่อมะเร็งและแม้กระทั่งในความผิดปกติของออทิสติกสเปกตรัม พบว่า การได้รับทาเลทในวัยเด็กมีความเกี่ยวข้องกับโรคเยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง และโรคหอบหืด (Bornehag et al., 2004) (Jaakkola et al., 1999) การให้ DEHP ทำให้เกิดมะเร็งตับ (Ito et al., 2007) และตับอ่อนในหนู (Selenskas et al.,1995) พบเนื้องอกของระบบสืบพันธ์เช่น endometriosis และ uterine leiomyomata มีความสัมพันธ์กับระดับของสารทาเลท (Weuve et al., Environ Health Perspect. 2010) นอกจากนั้นยังมีการศึกษาในเด็กออทิสติก 48 คน พบว่าปัสสาวะของเด็กเหล่านี้มีสาร DEHP สูงกว่าเด็กปกติอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลท        นับวันประชากรทั่วโลกจะได้รับสารทาเลทมากขึ้น การศึกษาการได้รับสาร DEHP ซึ่งเป็นทาเลทชนิดหนึ่ง ในประชากรผู้ใหญ่ชาวเยอรมันที่ไม่ได้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง 85 ราย (Koch et al., 2003) และเด็กๆ 254 ราย (Becker et al., 2004) พบว่าเด็กได้รับสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายสูงกว่าปริมาณอ้างอิง (RfD, 20 ไมโครกรัม/กก/วัน) ถึง 26 คน (ร้อยละ 10.23) ขณะที่ผู้ใหญ่พบสารสูงกว่าค่าอ้างอิง 7 คน (ร้อยละ 5.95) จึงสันนิษฐานได้ว่าเด็กมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการได้รับ DEHP มากว่าผู้ใหญ่ และอาจเป็นเพราะการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นในเงื่อนไขต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว ในสหภาพยุโรปได้จำกัดการใช้ทาเลทในภาชนะอาหารหรืออุปกรณ์การกินทั้งหลายที่สัมผัสกับอาหารที่นำเข้าปากมาเป็นเวลาหลายปี  เนื่องจากอาจเกิดการเคลื่อนย้ายสารทาเลทจากภาชนะพลาสติกไปยังอาหาร พบว่ากระบวนการนี้จะถูกเร่งให้เร็วขึ้นโดยให้ความร้อน (Directive 2002/72/EC) และอาหารที่มีไขมัน         สารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ บีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร มนุษย์ได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ สารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน บีพีเอถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย         การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนส่วนใหญ่จะมีปริมาณสารบีพีเอวัดได้ในปัสสาวะ ในสัตว์ทดลองพบว่าสารบีพีเอเป็นสารก่อกวนต่อมไร้ท่อที่เลียนแบบผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งจะรบกวนการทำงานของฮอร์โมนหลายอย่างของร่างกายเช่น ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน ฮอร์โมนทัยรอยด์ นอกจากนั้นยังพบว่า มีผลรบกวนระบบเผาผลาญอาหารได้แก่การทำงานของอินซูลิน และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ การแท้งบุตรซ้ำ ความผิดปกติของโครโมโซมในทารกในครรภ์         ส่วนสารทาเลทยังถูกพบว่า ได้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งในดินและน้ำ. อาจส่งผลรบกวนระบบฮอร์โมนต่อมไร้ท่อของมนุษย์ได้ในห่วงโซ่อาหารและน้ำ (Rzybylinska P A and WyszkowskI M, ECOL CHEM ENG S. 2016)         มาตรฐานความปลอดภัยชองสารทั้งสองชนิดในผลิตภัณฑ์เด็กรวมทั้งภาชนะบรรจุอาหารและน้ำดื่ม ที่เด็กเป็นผู้ใช้ ได้กำหนดค่าปริมาณสารทาเลตต่อน้ำหนักวัสดุ และปริมาณสารทาเลทหรือบีพีเอที่สามารถเคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติกมาปนเปื้อนกับอาหารหรือสามารถสัมผัสได้ทางผิวหนัง สูดดมหรือทางปาก หากเป็นภาชนะอาหารเพื่อดูว่าจะมีสารนี้รั่วไหลออกมาสัมผัสกับอาหารได้มากน้อยเพียงใด         ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2020 สหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสารทาเลทในของเล่นและผลิตภัณฑ์ของใช้กับเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะและอุปกรณ์ที่สัมผัสอาหารและนำเข้าปาก โดยให้รวม สารทาเลท 4 ชนิด (จากเดิม 3 ชนิด) ได้แก่ DBP/ BBP/ DEHP + DIBP แล้วต้องน้อยกว่า 0.1% ของน้ำหนักวัสดุ และกำหนดค่าสารทาเลทที่เคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติก (SML: specific migration limit) กำหนดไว้ที่ 60 มก./กก. (.006%)         สำหรับสารบีพีเอ ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นโมโนเมอร์ในการผลิตวัสดุสัมผัสอาหารพลาสติก และยังใช้เพื่อผลิตวัสดุและสิ่งของอื่นๆ ที่สัมผัสกับอาหาร รวมทั้งอีพอกซีเรซินที่ใช้ในเคลือบเงา เมื่อเร็วๆ นี้ ค่า SML ใหม่ถูกกำหนดไว้ที่ 0.05 มก. (หรือ 50ไมโครกรัม) /กก. โดยระเบียบคณะกรรมาธิการ (EU) และไม่อนุญาติให้มีส่วนประกอบของสารนี้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุน้อยกว่าสามปี

อ่านเพิ่มเติม >