ฉบับที่ 248 คุณหมอเตือนภัย กล่องสวยซ่อนคม ชวนสังคมเรียกร้องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลอดภัย

...เช้าวันหนึ่งในห้องทำงาน คุณหมอแคนหยิบกล่องเหล็กลายน่ารักออกมาจากกระเช้าของขวัญ นึกชมว่ากล่องหนาดี ลายน่ารักน่าเก็บ ก่อนจะตัดสินใจเปิดออกดูว่าข้างในมีอะไร โดยไม่คาดคิดว่าจะโดนฝากล่องด้านในที่คมราวมีดคัตเตอร์นั้นบาดจนนิ้วโป้งขวาต้องพิการชั่วคราว...         ฉลาดซื้อฉบับนี้พาไปพบกับหมอแคนหรือผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงสายพิณ หัตถีรัตน์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของเรื่องชวนหวาดเสียวนี้ ในฐานะผู้เสียหายที่พร้อมเปิดใจเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเข้มงวดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ปลอดภัยมากขึ้นด้วย   ตอนโดนบาดยังงงว่าบาดได้ยังไง         เช้าวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน หมอหยิบกล่องเหล็กใส่เครื่องดื่มซองที่เป็นสี่เหลี่ยมลายการ์ตูนน่ารักๆ มาเปิด เห็นฝาหนาๆ เหมือนจะปลอดภัย แต่ฝาที่ทำหนาๆ นี่คือเป็นสองชั้นที่งับกันอยู่ แล้วคงจะประกอบมาไม่ดี ฝาที่ดูหนาๆ นี้ไปติดกับตัวกล่องเอง จึงเปิดไม่ออก พอพยายามจะเปิด ฝามันเลยแยกออกจากกัน ฝาท่อนล่างก็สะบัดมาบาดนิ้วโป้งขวาเป็นแผล ตอนนั้นยังงงๆ อยู่ว่าบาดได้ยังไง แล้วก็เพิ่งมาเห็นว่าฝาชั้นล่างนี้คมบางเหมือนมีดเลย        ตอนแรกก็คิดว่าโดนบาดธรรมดา แผลประมาณ 1 เซนติเมตร ก็ไปล้างน้ำแล้วกดไว้ พอดีอยู่โรงพยาบาลก็เลยลงไปห้องพยาบาลทำแผล แล้วรีบไปตรวจคนไข้ครึ่งวันเช้าก่อน เสร็จแล้วก็ไปเปิดแผลดูว่าหายหรือยัง ปรากฏว่าเลือดก็ยังออกอยู่ เอ๊ะ ชักยังไง คราวนี้ไปห้องฉุกเฉินเลย คุณหมอมาตรวจ เลือดยังออกอยู่ แล้วพอกระดกปลายนิ้วไม่ได้ ก็เลยรู้ว่าเอ็นขาด ขาดเกือบ 90% เหลือติ่งอยู่นิดเดียว คุณหมอศัลกรรมพลาสติกก็มาเย็บเอ็นให้ หลังจากเย็บแล้วต้องให้เอ็นกระดกขึ้น ไม่ให้ขยับจนกว่าเอ็นจะติด จึงต้องใส่เฝือกนิ้วโป้งอยู่ 2 เดือน        จริงๆ อยากแนะนำว่าต่อไปถ้าใครโดนบาดในลักษณะแบบนี้ ให้สังเกตว่าหากเลือดไม่หยุด หรือกระดกนิ้วไม่ได้ ควรหาหมอเพื่อประเมินว่าแผลนั้นลึกขนาดไหน อย่าชะล่าใจ เพราะเห็นแค่แผลเล็กๆ แล้วปิดไว้เฉยๆ อาจช้าเกินไป ถ้าเกิดบาดลึกจนเอ็นขาด เอ็นจะหดแล้วเย็บไม่ได้         หลังจากถอดเฝือกออกแล้ว หมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูกับทางกายภาพบำบัด เขาก็มีวิธีรักษาหลายอย่าง มีอัลตราซาวด์เพื่อให้แผลไม่ตึงมากไป ทำเลเซอร์ที่ใต้ชั้นผิวหนังเพื่อไม่ให้พังผืดมาเกาะจนนิ้วขยับไม่ได้ ต้องมีแช่น้ำร้อน มีดัด ขยับข้อ หมอให้ทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ  2-3 ครั้งต่ออาทิตย์ ครั้งละราว 2 ชั่วโมง เจ็บนิ้วเดียว สะเทือนถึงงานและชีวิตหลายอย่าง         แคนเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัวค่ะ ตรวจคนไข้ทั่วไป แล้วช่วงนั้นโควิดกำลังระบาดพอดี ใครๆ ก็แบบว่ามะรุมมะตุ้ม แต่มือขวาเราใส่เฝือกอยู่ เขียนหนังสือไม่ได้เลย ไปโรงพยาบาลบ้างแต่ว่าตรวจคนไข้ไม่ได้ ทำให้ช่วยทีมงานได้ไม่ค่อยเต็มที่ ทำได้แต่งานเอกสารหรืองานอะไรที่ใช้คอมพิวเตอร์แทน ช่วงนั้นแคนใช้เป็นวันลาป่วย แล้วต้องยกให้อาจารย์คนอื่นทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าภาคแทนด้วย เพราะลงลายเซ็นไม่ได้ เซ็นสั่งการอะไรไม่ได้เลย         การใช้ชีวิตประจำวันยากมาก เวลาจะทำอะไรก็ต้องใช้มือซ้ายที่ไม่ถนัดเป็นหลัก หัวไหล่ทั้งสอง ข้างก็เจ็บอยู่ก่อนแล้วด้วย ยิ่งจำเป็นต้องใช้หัวไหล่ซ้ายมากขึ้น ก็ยิ่งเจ็บเพิ่มอีก ทีนี้พอใส่เฝือกแล้วข้อมือมันต้องแอ่นๆ เพื่อให้เอ็นที่เย็บไว้ไม่ตึง เฝือกก็จะอยู่ในท่าที่ไม่ปกติ ก็ทำให้มือเราเจ็บเป็นทีๆ นอนไม่ค่อยได้ขับรถก็ไม่ได้ เวลาไปไหนมาไหนต้องรบกวนคนอื่นเขา อย่างถ้าเจ้าหน้าที่เขาจะไปโรงพยาบาลแล้วทางเดียวกัน ก็ให้เขาช่วยมารับเราไปด้วยกัน         แม้ตอนนี้จะถอดเฝือกออกมาสักระยะแล้ว แต่นิ้วโป้งก็ยังงอได้ไม่เต็มที่ หยิบของชิ้นใหญ่ๆ พอได้ จับปากกาได้แต่ยังเขียนหนังสือไม่ค่อยคล่อง อยากเตือนภัยเรื่องนี้ เรื่องที่เหมือนจะไม่มีอะไร         วันหนึ่งได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่มาทำกายภาพให้ เขาก็บอกว่าเคยโดนกล่องแบบนี้บาดเหมือนกัน แต่เขาโดนอีกด้านหนึ่งของนิ้วโป้ง เป็นแค่แผลเฉยๆ ไม่โดนเอ็น อ้าวแสดงว่าเรื่องนี้ไม่ธรรมดาแล้วก็เลยฉุกคิดว่านี่ไม่ใช่แค่เราโดนคนเดียวนะ คนอื่นก็โดนมาแล้วด้วย น่าจะต้องเตือนกันแล้วล่ะ โดยเฉพาะที่เป็นห่วงคือเด็กๆ เพราะกล่องดีไซน์น่ารัก เด็กๆ น่าจะไปหยิบจับได้บ่อย แล้วขนาดมือเรายังเจ็บขนาดนี้ ถ้ามือเด็กนี่ขาดแน่นอน จึงรู้สึกว่ากล่องแบบนี้ไม่ปลอดภัย การออกแบบการผลิตน่าจะมีปัญหา         ทีแรกนั้นแคนจะทิ้งกล่องใบนี้ไปแล้วนะ แต่นึกได้ว่าน่าจะต้องเก็บเอาไว้เตือน ใครมาถามก็เอาให้ดูว่ากล่องหน้าตาแบบนี้ระวังด้วยนะ เพราะหลังจากโดนบาด ทุกคนในภาควิชาก็ตกใจว่าโดนบาดได้ไงเนี่ย แต่พอมาดูกล่อง ทุกคนก็บอกว่ามันคมยังกับมีดโกน การประกอบแบบนี้ไม่ค่อยดีเลย น่าจะต้องแก้ไข        แคนคิดว่าถ้าเราเจอผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ก็ควรจะมีช่องทางแจ้งกลับไปที่บริษัทผู้ผลิต เพื่อให้เขาแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่อย่างนั้นถ้าเกิดผลิตมาในจำนวนมหาศาล ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดอันตรายกับผู้บริโภคคนอื่นๆ มากขึ้นไปอีก           ในเคสนี้ แคนเป็นหมอจึงเข้าถึงการตรวจรักษาได้เร็ว แล้วก็ใช้สิทธิ์ข้าราชการเบิกค่ารักษาได้ แต่ก็ยังคิดว่าจริงๆ แล้วผู้ประกอบการควรชดเชยความเสียหายให้ด้วยไหม เพราะแคนก็ถามกับตัวแทนประกันที่ทำไว้ เขาก็บอกว่าอาจารย์ไม่ได้แอดมิด ก็เบิกไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่คิดว่าประกันจะจ่าย ก็อาจไม่จ่าย ซึ่งแคนไม่ได้ติดใจเรื่องเงินนะ แต่หมายความว่าถ้าเป็นคนอื่นที่เขาไม่มีเงินเดือน ไม่มีอะไรอื่น แล้วเขาไม่สามารถทำงานได้ตั้ง 2 เดือนอย่างนี้ มันก็จะยาก ของแคนไม่เป็นไรก็อยู่บ้านไป รู้ว่าตัวเองใช้สิทธิผู้บริโภคได้ แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง         แคนคิดว่าน่าจะมีผู้บริโภคอีกหลายคนที่บาดเจ็บจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย บางคนเจ็บน้อยก็ปล่อยผ่านไป แม้บางคนเจ็บมากก็ยังเงียบ ไม่ใช่ว่าเขากลัวอะไรหรอก แต่เพราะว่าไม่อยากยุ่งยากมากกว่า แคนเองก็ต้องการเรียกร้องตามสิทธิ์ แต่ไม่รู้ขั้นตอนว่าต้องทำยังไงบ้าง ก็เลยรู้สึกว่าขนาดเรายังไม่รู้ แล้วคนอื่นเขาจะรู้ไหม ถ้าเป็นคนอื่นก็คงจะรู้สึกว่า ช่างมันเถอะ เย็บแล้วก็เย็บไป เบิกค่ารักษาก็เบิกได้ แต่ว่ามันไม่ถูกไหม ไม่ควรจะต้องให้เป็นภาระของเราอยู่คนเดียว                  จริงๆ แล้วควรมีการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้เรื่องการใช้สิทธิ์ของตนมากขึ้นว่า ถ้าเขาใช้ผลิตภัณฑ์แล้วไม่ปลอดภัย เขาควรจะต้องทำยังไง หนึ่ง-เก็บวัตถุที่เป็นอันตรายไว้ก่อน สอง-ใบรับรองแพทย์ หรือว่าอะไรที่จะมารับรองเหตุการณ์ว่ามีความเสียหายที่เกิดขึ้น การรักษาต่อเนื่องต้องยาวนานแค่ไหน อะไรอย่างนี้ ซึ่งแคนก็เก็บไว้หมดนะ ทีนี้พอเก็บแล้วจะให้ร้องเรียนไปที่ไหนยังไงล่ะ         ตอนนี้แคนก็กำลังปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะมีช่องทางดำเนินการอย่างไรต่อไป ผู้ประกอบการน่าจะเข้มงวดในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยมากขึ้น        หากลองไปเทียบกับกล่องเหล็กอื่นๆ คือความจริงถ้าเป็นฝาชั้นเดียว เปิดแล้วก็จบกันไป แต่ว่าอันนี้ตอนแรกยังชมเลยว่าอุตส่าห์ทำฝาหนาน่าจะดี ดูปลอดภัย แล้วก็น่าเก็บด้วย         ถ้าจะถามว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทของเราหรือเปล่า ตอบเลยว่าไม่ใช่แน่นอน        เพราะดูจากภายนอกกล่องไม่เห็นเลยว่าจะมีส่วนไหนที่คมหรืออันตรายจนต้องระวัง เราก็เปิดเหมือนเปิดฝากล่องธรรมดา ไม่ได้เปิดพิสดารตรงไหน ไม่ได้ไปงัดมุมอะไร เมื่อเราเปิดปกติ มันก็ควรจะเปิดออกได้ปกติ แต่ทีนี้พอผลิตภัณฑ์มันประกอบมาไม่แน่นหนา หรือไม่รู้อะไรที่มันทำให้เปิดแล้วฝามันแยกออกจากกัน แล้วมางับมือเราได้อย่างนี้ แถมข้างล่างมันคมมากไง ถ้าเขาจะทำฝาหนาขนาดนี้ ตัวชั้นล่างเขาอาจจะไม่ทำขอบคมก็ได้         เราจะต้องเตือนผู้ประกอบการ ไม่งั้นผู้ประกอบการจะไม่แก้ไขผลิตภัณฑ์ รอให้มีคนบาดเจ็บรายถัดๆ ไปนี่มันก็อาจไม่ได้เป็นแค่แบบแคนไง ถ้าเขาสูญเสียนิ้วโป้ง จะเสียหายมาก ยิ่งถ้าเป็นนิ้วโป้งข้างที่ถนัดด้วย         ตอนที่แคนใส่เฝือกอยู่ก็คิดว่าจะบอกบริษัทยังไง บางทีเขาอาจไม่รู้ว่าของๆ เขาไม่ปลอดภัย เราก็อยากจะบอกพร้อมแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ที่คุณคิดว่าปลอดภัย แต่จริงๆ แล้วมันไม่ปลอดภัยนะ คุณควรจะปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยมากขึ้น จริงๆ ถ้าผลิตออกมาให้ปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางได้ก็จะดีที่สุด ผู้บริโภคทุกคนควรได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์         เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้แคนคิดว่า        หนึ่ง ทุกคนควรจะช่วยกันดูผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพื่อให้สังคมปลอดภัยขึ้น อะไรที่เราประสบเหตุ เราต้องสามารถเรียกร้องได้ว่ามันไม่ควรจะเกิดไหม สังคมควรปลอดภัยกว่านี้        สอง ทางบริษัทต่างๆ ควรจะมีช่องทางที่เป็นสาธารณะ ให้ผู้บริโภคบอกได้ว่า ถ้าคุณเจออะไรแบบนี้ให้คุณบอกมาที่ตรงไหน พร้อมพยานหลักฐานอะไรบ้าง หรือว่าพร้อมรูปถ่าย หรือว่าพร้อมรายละเอียดอะไรบ้างที่ต้องการ เพื่อให้เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น แล้วก็ทำให้สังคมดีขึ้น         แคนเชื่อว่าทุกเสียงสะท้อนของผู้บริโภคมีพลังพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้ และผู้บริโภคทุกคนควรได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้นด้วย

อ่านเพิ่มเติม >