ฉบับที่ 272 การทดสอบประสิทธิภาพทางเทคนิคของพัดลม

        พัดลมเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีใช้ประจำบ้านในเกือบทุกครัวเรือน จากรายงานสรุปผลที่สำคัญ การใช้จ่ายพลังงานของครัวเรือน พ.ศ. 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ครัวเรือนไทยมีพัดลมไว้ประจำบ้านในอัตราส่วนสูงถึงร้อยละ 98.60 ของครัวเรือนทั้งหมด[1] จัดเป็นอัตราสูงสุดเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เป็นอุปกรณ์ไว้ใช้งานในครัวเรือน  พัดลมไฟฟ้านั้นมีหลายแบบ ซึ่งแบบที่นิยมกันในปัจจุบันทั้งชนิดตั้งโต๊ะ ตั้งพื้น ติดผนัง ระบายอากาศ แขวนเพดาน และส่ายรอบตัว แต่ละแบบก็เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ที่แตกต่างกัน เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงมีมาตรฐานอุตสาหกรรมกำหนดเฉพาะคุณลักษณะด้านความปลอดภัย โดยเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 934-2558 (มอก. 934-2558)         สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของพัดลมครั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้ออกแบบและกำหนดการทดสอบ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1) การทดสอบประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 2) ระดับความดังเสียงของพัดลมระหว่างการทดสอบ และ 3) ค่ามุมส่ายสูงสุด  ซึ่งกำหนดขอบเขตคุณสมบัติทางด้านเทคนิคสำหรับการสุ่มซื้อสินค้าที่จะนำทดสอบดังนี้         1 สินค้าต้องมีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม         2 เป็นพัดลมที่ใช้ในครัวเรือนขนาดใบพัดไม่เกิน 16 นิ้ว และ         3 กำลังไฟฟ้าที่ระบุไม่เกิน 70 วัตต์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่สุ่มซื้อมาทดสอบมีสมบัติเบื้องต้นตามที่ระบุไว้ในฉลากและคู่มือการใช้งาน ตามตารางที่ 1         การให้คะแนนเพื่อจัดลำดับแต่ละประเด็นของการทดสอบ ขึ้นอยู่กับอันดับของผลการทดสอบแต่ละประเด็นโดย ผลิตภัณฑ์ที่ได้อันดับดีที่สุดจะได้คะแนน 15 คะแนน และผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนลำดับสุดท้ายจะได้ 1 คะแนน สำหรับการจัดลำดับขั้นตอนสุดท้านคือการนำคะแนนที่ได้ของการทดสอบแต่ละประเด็นมารวมกัน  สรุปผลการทดสอบ         จากผลการทดสอบทางด้านประสิทธิภาพและทางเทคนิคของพัดลมจำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ ทั้งสามประเด็น ผลิตภัณฑ์ของ Mi รุ่น JLLDS01XY ได้คะแนนสูงสุด คือ 39 คะแนน ผลิตภัณฑ์ Misumaru รุ่น AP-SF1602AT ได้คะแนนรวม 32 คะแนน และผลิตภัณฑ์ที่ได้อันดับ 3 ซึ่งได้คะแนนรวมเท่ากันทั้งสามผลิตภัณฑ์ คือ 31 คะแนน ได้แก่ Toshiba รุ่น F-ASY50TH (W) Mitsubishi รุ่น LV16-GA SF-GY และ Mamaru รุ่น DFS-9136[1] (พัดลม (ร้อยละ 98.6) โทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 96.4) หม้อหุงข้าวไฟฟ้า (ร้อยละ 93.1) ตู้เย็น (ร้อยละ 92.2) โทรทัศน์ (ร้อยละ 91.7))  และหลอดไฟนีออน (ร้อยละ 90.7)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 อ้าว! ทำไมราคาพัดลม ไม่ตรงป้าย

        ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคท่านหนึ่ง ที่ได้ไปซื้อสินค้าแล้วมาพบตอนที่จะชำระเงินว่า ราคาสินค้าไม่ตรงกับป้ายที่แสดงไว้ โดยเรื่องมีอยู่ว่า..        บ่ายวันหนึ่ง คุณอรอุมาได้แวะเข้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา เพื่อเลือกซื้อพัดลมตั้งโต๊ะตัวใหม่ เมื่อเดินสำรวจพัดลมแต่ละยี่ห้อ ก็พบว่าเป็นช่วงที่ห้างฯ จัดโปรโมชันลดราคาสินค้าอยู่พอดี เมื่อเลือกได้พัดลมตัวที่ถูกใจ ที่ป้ายติดราคา 379 บาท คุณอรอุมาก็หิ้วกล่องพัดลมไปชำระค่าสินค้าที่แคชเชียร์ แต่เมื่อคิดราคาแล้วปรากฏว่า ราคาพัดลมกลายเป็น 399 บาท ซึ่งแพงกว่าป้ายราคาที่ติดไว้ 20 บาท         คุณอรอุมารู้สึกว่าตัวเองถูกหลอกอีกครั้งแล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ราคาสินค้าไม่ตรงป้าย คุณอรอุมาจึงร้องเรียนมายังศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยาเพื่อขอความเป็นธรรม         แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยาได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณอรอุมา จึงดำเนินการทำหนังสือส่งเรื่องรายงานไปถึงสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับห้างฯ ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย        ข้อแนะนำผู้บริโภค         หากผู้บริโภคพบเจอว่า สินค้าที่ซื้อมีราคาไม่ตรงกับป้ายแสดงราคา ก็ให้ถ่ายภาพสินค้าและป้ายราคา เก็บใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐาน ร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน สายด่วน 1569 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งตาม ข้อ 11 ของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 50 พ.ศ. 2562 เรื่อง การแสดงสินค้าและค่าบริการ กำหนดให้ผู้จำหน่ายต้องแสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าหรือบริการให้ตรงกับราคาที่จำหน่ายหรือค่าบริการที่ให้บริการ เว้นแต่จำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าราคาที่แสดงไว้         ทั้งนี้ ผู้จำหน่ายต้องปิดป้ายแสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้าหรือบริการ หรือแสดงไว้ไม่ตรงกับราคาที่จำหน่าย เป็นความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 ความอิหลักอิเหลื่อกับความแรงของพัดลม

  คุณผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าวัตถุแห่งยุคสมัยหนึ่งๆ ต้องมาปรากฏอยู่ในอีกช่วงเวลาหนึ่ง ที่ผิดฝาผิดตัวและไม่น่าจะเป็นไปได้  ตัวอย่างเช่น ถ้าเรานั่งชมละครโทรทัศน์แนวย้อนยุคหรือนั่งดูละครจักรๆ วงศ์ๆ ทางโทรทัศน์ แล้วอยู่ดีๆ ก็มีรถยนต์คันหนึ่งแล่นผ่านเข้ามาในฉาก เราในฐานะผู้ชมก็คงจะรู้สึกตะขิดตะขวงหรืออิหลักอิเหลื่อใจพิกลๆ อยู่  ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่า รถยนต์เป็นวัตถุจากโลกร่วมสมัยในปัจจุบัน และไม่น่าจะเป็นไปได้ที่วัตถุอย่างรถยนต์จะไปปรากฏอยู่ในโลกที่โพ้นสมัยแบบที่เขาจำลองไว้ที่หน้าจอเช่นนั้น  แต่ทว่า ความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อที่เวลาต่างกันมาซ้อนทับกันเฉกเช่นนี้ กลับไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด หากไปปรากฏอยู่ในโลกแห่งโฆษณาโทรทัศน์!!!  ตัวอย่างโฆษณาพัดลมไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง ที่จำลองฉากท้องพระโรงของละครจักรๆ วงศ์ๆ เอาไว้ ได้เริ่มต้นด้วยการใช้กล้องจับภาพพระสาโท(เหงื่อ)ที่ผุดพรายจับใบหน้าตัวละครพระราชา ก่อนที่พระองค์จะตรัสกับมุขอำมาตย์ว่า “ร้อน...” ข้างๆ พระราชา มีนางกำนัลในชุดสไบสีบานเย็นคอยนั่งหน้าไร้อารมณ์แต่ก็ยังปรนนิบัติ “พัดวี” โชยลมแห่งความสุขไปให้กับพระราชา แต่ดูเหมือนว่า ลมจากพัดวีโบกและแรงงานมนุษย์อาจไม่มากพอจะสนองพระหฤทัยหรือไม่ช่วยบรรเทาความร้อนให้กับตัวละครพระราชาได้ จึงทรงตรัสกับปุโรหิตต่อไปว่า “ขอเบอร์ 3 สิ”  จากนั้น ภาพก็ตัดมาที่ท่อนแขนนางกำนัล ซึ่งปรากฏให้เห็นปุ่มกดสามระดับตามสปีดของแรงลม และเมื่อปุโรหิตกดเปลี่ยนเป็นปุ่มเบอร์ 3 นางกำนัลก็เร่งสปีดของการพัดวีให้แรงขึ้น จนนางนั้นช็อคหยุดนิ่งและควันดำคลุ้งไหลออกมาทางจมูก เหมือนกับเครื่องมอเตอร์ในตัวของนางได้น็อคพังลง  มหาดเล็กยกนางกำนัลที่มอเตอร์ชำรุดออกไปจากท้องพระโรง ก่อนจะยกพัดลมไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดเข้ามาแทน พระราชาที่ออกอาการเซ็งก็ถามขึ้นว่า “แล้วพัดลม...มันดียังไง”  ว่าแล้ว ปุโรหิตก็กดปุ่มเปิดพัดลม เป่าได้แป็บเดียวเท่านั้น เล่นเอาตัวละครพระราชากระเด็นออกไปทางพระบัญชรของท้องพระโรงนั่นเลย ก่อนที่จะมีเสียงบรรยายพูดปิดท้ายกล่าวชื่นชมสรรพคุณของพัดลมรุ่นใหม่นี้ว่า ทั้ง “ใหญ่กว่า” และ “แรงกว่า” ก็ดังที่เราๆ ท่านๆ คงทราบกันดีว่า พื้นที่ของละครจักรๆ วงศ์ๆ หรือบรรดานิทานพื้นบ้านทั้งหลายนั้น เป็นพื้นที่ที่มิติเรื่อง “เวลา” มีความคลุมเครือยิ่งนัก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เรื่องเล่าพื้นบ้านต่างๆ มักเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...” ซึ่งผู้ฟังหรือผู้ชมเองก็มิอาจทราบได้ว่า เป็นกาลครั้งหนึ่งเมื่อไร เป็นกาลสมัยยุคไหน เนื่องจากไม่มีความชัดเจนของศักราชที่จะระบุชี้ชัดได้แน่นอน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ น่าจะต้องเป็นอดีตกาลที่ “ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” ด้วยเหตุดังกล่าว วัตถุต่างๆ ในละครจักรๆ วงศ์ๆ หรือที่ภาษาเทคนิคการผลิตโทรทัศน์เขาเรียกว่า “props” นั้น ก็ต้องเป็นอะไรก็ตามที่บ่งบอกนัยว่า “นานมาแล้ว” นั่นเอง ตั้งแต่โต๊ะตั่งเตียงแท่นบัลลังก์ ตัวท้องพระโรง เสื้อผ้าของมุขอำมาตย์ รวมไปถึงสไบสีบานเย็นและพัดวีพัดโบกที่อยู่ในมือของนางกำนัล  แต่ที่น่าแปลกก็คือ ท่ามกลางบรรยากาศของกาลครั้งหนึ่งที่ผ่านพ้นมานานแล้วนั้น โฆษณาได้อนุญาตให้นวัตกรรมอย่างพัดลมไฟฟ้า เข้ามาแทรกเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องเล่าพื้นบ้านหรือนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ได้เช่นนี้  ทั้งๆ ที่พัดลมเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของยุคสังคมสมัยใหม่ แต่ก็น่าประหลาดใจว่า “ความอิหลักอิเหลื่อ” ของช่วงเวลาที่แตกต่างกันแต่ก็มาซ้อนทับกันได้นั้น กลับถูกทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาหรือปกติวิสัยในพื้นที่ของโฆษณา  อันที่จริงแล้ว เหตุการณ์ที่ตัวละครถูกลมหอบพัดปลิวไปที่นั่นที่นี่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ในเรื่องเล่าพื้นบ้านแต่อย่างใด ผมจำได้ว่า สมัยเมื่อเด็กๆ ตอนเรียนวิชาวรรณคดีไทยนั้น จะมีเรื่องเล่าพื้นบ้านอยู่หลายเรื่องที่ใช้ลมหอบตัวละครจากดินแดนหนึ่งไปยังดินแดนอื่นที่ไกลๆ เพื่อสร้างความรู้สึกถึงการพลัดพรากให้กับตัวละครเอก และเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งบางอย่างในท้องเรื่อง  แต่อย่างไรก็ดี ลมพายุที่หอบพัดเอาตัวละครให้พรากพลัดจากกันในวรรณคดีโบราณนั้น มักเกิดเนื่องมาแต่การดลบันดาลจากเทพยดา หรือมาจากบัญชาของอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ทั้งปวง และที่แน่ๆ คงไม่ใช่ลมหอบจากพัดลมไฟฟ้าหน้ากว้างรุ่นใหม่ แบบที่เราสัมผัสเห็นได้จากโฆษณาโทรทัศน์แบบนี้ เพราะฉะนั้น จะมีเหตุผลอันใดกันเล่าที่โฆษณาจึงต้องนำเสนอภาพ “ความอิหลักอิเหลื่อ” ด้วยการหยิบจับเอาสองช่วงเวลาที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ให้มาอยู่ที่หน้าจอโฆษณาในเวลาเดียวกันเช่นนี้ ?  ผมเดาเอาว่า คำตอบข้อแรกก็น่าจะเป็นเพราะว่า โฆษณาพัดลมรุ่นใหม่ชิ้นนี้ได้อาศัยเทคนิคการเล่าเรื่องแบบ “ขบขัน” หรือที่เรียกว่า “humour” เป็นพื้นฐาน และการที่จะทำให้ผู้ชม “ขบ” จน “ขัน” ได้นั้น ก็ต้องทำให้คนดูเกิดคำถามบางอย่างถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างบางสิ่งบางอย่างที่เราเห็นหน้าจอโทรทัศน์  ตอนเด็กๆ ผมจำได้ว่า ทุกครั้งเวลาดูละครจักรๆ วงศ์ๆ แล้วเห็นภาพนางกำนัลนั่งโบกพัดวีอยู่ในท้องพระโรงนั้น จะเกิดความสงสัยอยู่เสมอว่า ถ้าพัดกันทีละพรึ่บๆ แบบนี้แล้ว พระราชาบนบัลลังก์จะเย็นไหมเนี่ย ??? ความสงสัยเช่นนี้ทำให้ดูละครกี่ครั้ง ก็ “ขบ” จน “ขัน” ขึ้นมาได้ทุกที  แต่พอมาถึงปัจจุบัน ความรู้สึกขบขันคงไม่ใช่เหตุที่เกิดแบบไม่ตั้งใจของคนดู(เช่นที่ผมรู้สึกในวัยเด็กแบบนั้น) แต่เกิดมาจากความจงใจของนักโฆษณาที่จะใช้เทคนิคบางอย่างในการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งใจสร้างความอิหลักอิเหลื่อให้สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ บังเกิดกลายเป็น “ความเป็นไปได้” ขึ้นมา ตัวอย่างของความอิหลักอิเหลื่อแบบนี้ก็เช่น การสร้างภาพนางกำนัลสไบบานเย็น ซึ่งมีท่อนแขนแบบหุ่นยนต์เป็นปุ่มกดบังคับสปีดการโบกพัด รวมไปถึงการจับวัตถุสมัยใหม่อย่างพัดลมมาวางไว้ในท้องพระโรงของฉากเรื่องเล่าแบบโบราณ ส่วนคำตอบอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าพัดลมเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของวัตถุในโลก “สมัยใหม่” และถ้านางกำนัลสไบบานเย็นกับ “พัดวี” ที่อยู่ในมือของเธอ เป็นตัวแทนของโลก “โบราณ” โฆษณาเองก็คงบอกคนดูเป็นนัยว่า ความโบราณคือความเชย ล้าหลัง และไม่มีประสิทธิภาพแต่อย่างใด สู้บรรดาวัตถุในโลกสมัยใหม่อย่าง “พัดลม” ไม่ได้ ทั้ง “ใหญ่กว่า” ทั้ง “แรงกว่า” เป็นนวัตกรรมที่ทรงประสิทธิภาพของผู้คนในยุคนี้  เพราะฉะนั้น ในขณะที่ด้านหนึ่ง ความอิหลักอิเหลื่อในความแตกต่างของเวลา ถูกใช้เพื่อสร้างความรู้สึกขบขัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง โฆษณาก็ใช้ความอิหลักอิเหลื่อเพื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่าง “เก่า” กับ “ใหม่” และลดทอนคุณค่าของความเก่าให้ดูด้อยค่ากว่าความใหม่นั่นเอง วันนี้ หากคุณเปิด “พัดลม” คุณอาจจะรู้สึกว่าได้ลมเย็นๆ เต็มที่ยิ่งกว่า “พัดวี/พัดโบก” แบบโบราณ แต่ก็อย่าลืมด้วยนะครับว่า พัดลมอาจพัดไปพัดมา แต่ก็เป่าให้คุณกระเด็นออกไปนอกหน้าต่างได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 พัดลม วัดกันไปใครแรงกว่า

พัดลมเป็นอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคที่มีใช้กันมานาน แทบจะมีอยู่ประจำบ้านทุกครัวเรือนในเมืองไทย หลายๆ คนอาจคิดว่าพัดลมคงไม่มีอะไรให้ต้องคำนึงถึงมากเหมือนกับสินค้าประเภทอื่นในการเลือกซื้อ หลักการทำงานของพัดลมก็ไม่ซับซ้อน มันจะทำงานเมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่มอเตอร์พัดลม และเมื่อเรากดปุ่มเลือกให้ใบพัดลมหมุนเร็วขึ้น ความแรงของลมก็จะมากขึ้นตามที่ต้องการได้โดยใบพัดจะดูดอากาศจากบริเวณด้านหลังของตัวใบพัด แล้วปล่อยออกสู่ด้านหน้านั่นเอง  อย่างไรก็ตาม จากการที่ฉลาดซื้อร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้ทำการทดสอบพัดลม ขนาด 16 นิ้ว ทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบบตั้งพื้น (ชนิดที่สามารถปรับระดับคอได้) ที่ราคาตั้งแต่ 400 บาท ถึง 1,100 บาท นั้น เราพบว่ามีความแตกต่างกันอยู่พอสมควรมีตั้งแต่ระดับที่เราประเมินว่าเหมาะกับระดับ 5 ดาว ไปจนถึงรุ่นที่เรากล้ำกลืนให้ได้เพียง 1 ดาว เลยทีเดียว   รายละเอียดของแต่ละรุ่นที่เราทดสอบเป็นอย่างไร ติดตามได้ในหน้าถัดไป  เราทดสอบอะไร • ประสิทธิภาพแรงลม  ได้จากการคำนวณค่าความเร็วลมเทียบกับการกินไฟ เช่น พัดลมที่มีความเร็วลมสูงมากและกินไฟมากย่อมมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าพัดลมที่มีความเร็วลมต่ำแต่กินไฟมาก • การทรงตัวของพัดลม การทรงตัวเมื่อมีแรงกระแทก พิจารณาจากแรงกระแทกที่หน้าพัดลม ทดสอบโดยการตั้งพัดลมไว้กึ่งกลางคาน แล้วผูกเชือกติดกับคาน ปลายเชือกอีกด้านผูกกับลูกบอล โดยให้ความยาวเชือกยาวเท่ากับลูกบอลอยู่กึ่งกลางหน้าพัดลม จากนั้นจับลูกบอลตั้งฉาก 90 องศา จากแนวดิ่ง เชือกตึง แล้วปล่อยด้วยแรงที่เท่ากันให้ไปกระแทกกับพัดลม • ปุ่มควบคุมการหมุนส่าย / ปุ่มปรับระดับความแรง  ประเมินจากสภาพของปุ่มหลังผ่านการทดสอบโดยการกด 500 ครั้ง • ฐานพัดลม   พิจารณาจากความเหมาะในการถ่วงน้ำหนักของตัวพัดลมไม่ให้ล้มง่าย • ฝาครอบใบพัด  พิจารณาจากความแข็งแรงของวัสดุที่ใช้ทำ ตัวล็อค และความยากง่ายในการถอดเพื่อทำความสะอาด ----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------                   ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- มอเตอร์พัดลมมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นส่วนต้นกำลังในการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานกล และเป็นมอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียวใช้กับไฟบ้านขนาดแรงดัน 220 โวลต์ มีตัวเก็บประจุต่อร่วมเพื่อช่วยทำให้มอเตอร์หมุนในตอนเปิดเครื่อง USEFUL TIP!มอเตอร์เหนี่ยวนำเฟสเดียวเป็นมอเตอร์ประสิทธิภาพต่ำ(แต่ราคาถูก) ดังนั้นเราจึงควรปิดพัดลมทุกครั้งที่ไม่ได้ใช้งาน จะช่วยประหยัดค่าไฟได้แถมยังเป็นการช่วยยืดอายุการใช้งานของพัดลมด้วย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- วิธีการเลือกซื้อพัดลม - เลือกขนาดของพัดลมให้เหมาะสมกับขนาดของพื้นที่ใช้สอย ตำแหน่งของการติดตั้ง และการไหลเวียนของอากาศ - เลือกรุ่นที่มีเอกสารมาตรฐานประหยัดไฟเบอร์ 5 และ ฉลาก มอก. และถ้าผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 9001 ก็จะช่วยให้ประหยัดไฟได้อย่างมากในระยะยาว และมีอายุการใช้งานนานอีกด้วย - อย่าลืมพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้ o ดูน้ำหนักของตัวพัดลมo โครงสร้างโดยเฉพาะช่วงคอพัดลมo ชนิดของเนื้อพลาสติกที่ใช้และความแข็งของเนื้อพลาสติกจากการสัมผัสo ลักษณะและขนาดของสายไฟ รวมทั้งปลั๊กไฟฟ้า หรือมีระบบตัดไฟอัตโนมัติในกรณีที่พัดลมไม่หมุนเมื่อมีการจ่ายกระแสไฟฟ้า - พัดลมที่บรรจุอยู่ในกล่อง ควรมีการแกะออกและทำการทดสอบก่อนตัดสินใจซื้อ เนื่องจากโครงสร้างของ พัดลมนั้นค่อนข้างเปราะบาง อาจเกิดกรณีสินค้าชำรุดเสียหายซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งได้ และไม่สามารถสังเกตได้จากภายนอกของบรรจุภัณฑ์   ดูแลรักษาพัดลมของคุณ พัดลมจัดว่าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก การดูแลรักษาจึงไม่มีความยุ่งยากสามารถใช้หลักการพื้นฐานในการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไปได้ 1. ศึกษาคู่มือการใช้งานอย่างละเอียด ทำความเข้าใจถึงหลักการทำงานของพัดลม 2. อย่าเสียบปลั๊กทิ้งไว้ โดยเฉพาะพัดลมที่มีระบบรีโมทคอนโทรล เพราะจะมีกระแสไฟฟ้าไหลเข้าอยู่ตลอดเวลา 3. สังเกตอุณหภูมิของตัวพัดลมโดยเฉพาะบริเวณมอเตอร์หากมีการใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หากมอเตอร์มีความร้อนมากเกินไปเป็นเวลานาน ตัวมอเตอร์นั้นเสื่อมสภาพได้ ควรให้ปิดพักบ้าง เพราะสาเหตุส่วนใหญ่ที่พัดลมเสียนั้นเกิดจากมอเตอร์เสีย 4. หลีกเลี่ยงการตั้งพัดลมในบริเวณที่อาจมีการกระทบกระทั่งกับสิ่งอื่นได้ง่าย เนื่องจากรูปทรงพัดลมแบบใช้ใบพัดนั้น จุดศูนย์ถ่วงนั้นอยู่ค่อนข้างสูง น้ำหนักเบาและเปราะบาง ล้มง่าย 5. หลีกเลี่ยงการตั้งพัดลมในที่ๆ มีความร้อนสูงหรือกลางแจ้งเนื่องจากโครงสร้างพัดลมบางชนิดจะมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบหลัก 6. ถอดใบพัดและตะแกรงออกมาทำความสะอาดเป็นระยะๆ เพื่อช่วยให้ประหยัดพลังงานได้ดีขึ้น  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point