ฉบับที่ 198 พีรพล อนุตรโสตถิ์ กับชัวร์ก่อนแชร์

 “ ชัวร์เหรอ? ” วลีบ่งบอกอารมณ์สงสัย ที่เขากล่าวท้ายประโยคเรื่องในกระแสที่ยังไม่มีข้อสรุป หรือเป็นข้อมูลที่ถูกส่งต่อๆ กันมา แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการสืบค้นหาความจริงที่เรามักได้ยินจนคุ้นชินในช่วงหนึ่งของข่าวภาคค่ำ สำนักข่าวไทย ของโย พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวไทย อสมท. (ช่อง 9 MCOT HD) ผู้ผลิตรายการ "ชัวร์ก่อนแชร์” ซึ่งนอกจากนี้เขายังเป็นนักเขียนและคอลัมนิสต์ด้านไอที, บล็อกเกอร์และผู้ให้ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ภายใต้ชื่อ @YOWARE (โยแวร์)ที่เราจะพามารู้จักที่มาของ ชัวร์ก่อนแชร์ กันให้มากยิ่งขึ้นเป็นนักสื่อสารมวลชนแต่แรกใช่ไหมเรียนจบมาวิชาเอกสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ตอนเริ่มต้นทำงานในวงการสิ่งพิมพ์มาก่อน เริ่มงานทำหนังสือ หนังสือเล่ม นิตยสาร เคยทำนิตยสารคอมพิวเตอร์มาก่อน เขียนบทความคอมพิวเตอร์ แปลหนังสือคอมพิวเตอร์ เคยเขียนหนังสือคอมพิวเตอร์ ต่อมาก็อยากมาทำข่าว อยู่ที่สำนักข่าวไทยมาตั้งแต่ปี 2548 ระยะเวลา 12 ปี พอเป็นผู้สื่อข่าวก็ได้ทำข่าวไปประจำที่กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงศึกษาฯ และเป็นผู้ประกาศข่าวภาคสนามและในเวลาเดียวกันก็ยังทำงานด้านไอทีไปด้วย ก็คือจัดรายการวิทยุด้านไอทีที่นี่ และด้วยเป็นความชอบและความถนัดอยู่แล้ว ก็ได้ทำข่าวไอทีอยู่บ้างคือเนื่องจากว่าข่าวไอทีของสำนักข่าวไทยนั้นก็จะผสานไปกับข่าวทั่วๆ ไป เราก็เลยได้มีโอกาสไปทำข่าวไอทีอยู่บ้างเป็นระยะ ก็เป็นข่าวไอทีเชิงสังคมที่ทำผ่านมาและก็ทำแบบนี้มาเรื่อยๆ พอมียุคโซเชียลมีเดียเราก็เข้าไปอยู่ในโซเชียลมีเดีย เริ่มเขียนบล็อก ใช้งานทวิตเตอร์และก็พยายามติดตามอ่านโลกไอที ติดตามไอทีอยู่ตลอด บนโซเชียลมีเดียผมก็เป็นคนที่ชอบเขียนข้อมูลและให้ข้อมูลเรื่องของไอทีมากๆ แต่ช่วงการทำงานก็มาทำชัวร์ก่อนแชร์ตั้งแต่เริ่มก็ 2 ปีกว่า ตอนหลังก็ทำแต่ชัวร์ก่อนแชร์อย่างเดียวทำไมถึงคิดว่าการเช็คข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์เป็นเรื่องสำคัญถึงกับมาทำเป็นรายการโทรทัศน์ เป็นเพราะผลกระทบ แต่เดิมเราเห็นข้อมูลข่าวสารที่แชร์กันผิดๆ มันมีมาตั้งนานแล้ว จริงๆ มันมีตั้งแต่สมัยจดหมายลูกโซ่หรือการบอกกล่าวใครคนนั้น คนนี้บอกมาและพอมาถึงยุคอินเทอร์เน็ตเราก็เจอปัญหานี้ก่อนในยุคที่เป็นฟอร์เวิร์ดอีเมล์ตอนหลังก็มี MSN ที่เป็นช่องทางในการแชร์เรื่องผิดๆ กันมา  ซึ่งตอนฟอร์เวิร์ดอีเมล์ก็เดือดร้อนระดับหนึ่งเพราะยุคนั้นยังไม่มีอะไรให้ตรวจสอบง่ายๆ Google ก็ยังไม่มีแต่ก็ยังไม่กว้างมากเท่าไร เพราะคนยุคนั้นก็ยังใช้อินเทอร์เน็ตไม่เยอะเพราะฉะนั้นก็เหลือข่าวลือไม่เยอะ แต่พอยุคนี้เป็นยุคที่คนจำนวนเยอะเข้าสู่อินเทอร์เน็ตซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือเทคโนโลยีมันพร้อม คนก็พร้อมและการเข้าถึงก็พร้อมหมายถึงเทคโนโลยีพร้อมคือมันเร็ว มันน่าสนใจ มันดึงดูด มันง่าย มีภาษาไทยและก็พกพาได้ อยู่ในมือถือ มันเล็กลง ราคาก็ถูกและอินเทอร์เน็ตก็ไปทั่วถึง นี่คือเทคโนโลยีพร้อม คนก็เข้าถึงด้วยเพียงแต่คนที่เข้าถึงนั้นไม่พร้อมเพราะว่าถ้านึกภาพสมัยก่อนเราเคยแนะนำว่าถ้าซื้อคอมพิวเตอร์หรือจะให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตเราจะมีคำแนะนำว่าให้หันคอมพิวเตอร์ออกมาข้างนอก อย่าหันเข้ากำแพงเพราะเราจะได้ดูว่าเด็กกำลังทำอะไร ระวังเด็กโดนหลอกหรือว่าพ่อแม่บางคนจะไม่ให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตเลยจนกว่าจะขึ้นมัธยมแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คืออินเทอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์มาอยู่ในรูปของสมาร์ทโฟนที่จริงๆ มันมีพลังสูงกว่าสมัยก่อนที่เราห้ามเด็กเล่นกันอีก มันมาพร้อมประสิทธิภาพ พร้อมการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วด้วยและเข้าได้ทุกอย่าง แต่เผอิญมันไปตกอยู่ในมือคนที่ไม่เคยจับคอมพิวเตอร์มาก่อนในชีวิตเลยซึ่งน่าจะมีพอสมควร ถ้านึกถึงตอนที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งเข้ามาตอนนั้นก็จะมีกลุ่มนักศึกษาที่จะได้ใช้อินเทอร์เน็ตแล้วพอขยายกว้างขึ้น ก็ขยายไปถึงกลุ่มคนทำงานและขยายไปที่นักเรียน   และตอนนี้มันถึงมาที่กลุ่มคนที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์เลย  กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใหม่มากคือไม่รู้ว่าของบนดิจิทัลมันปลอมง่าย ภาพรีทัชมันง่ายเหลือเกิน ทำวิดีโอให้คนเชื่อ เรื่องวิดีโอสมัยก่อนจะมีคนสอนว่าถ้าแค่ภาพนิ่งอย่าไปเชื่อถ้าเป็นวิดีโอเชื่อได้เลย ปัจจุบันมันก็ไม่ใช่แล้ว วิดีโอก็ยังเชื่อไม่ค่อยได้อีกและถ้ามีวิดีโอแล้วมีแคปชั่นมันก็อาจไม่ได้เป็นแบบนั้นทั้งหมด ถึงมีคำอธิบายแต่คำอธิบายก็อาจจะคนละเรื่องกับวิดีโอนั้นก็ได้ มันมีความซับซ้อนขึ้นแต่คนที่เข้ามานั้นไม่มีความพร้อม ไม่มีความตระหนักรู้ในธรรมชาติของดิจิทัลมากพอ ทำให้โดนหลอกได้และเข้าใจผิดไปบ้างในข้อมูลข่าวสารที่เข้ามา พอเป็นอย่างนี้แล้วมันจึงเป็นภาพใหญ่ๆ ของผลกระทบ คือ สมัยก่อนข้อมูลข่าวสารมันไม่ได้กระทบต่อคนมากนักและคนที่เข้าไปใช้ข้อมูลพวกนี้ก็ไม่มาก มันอาจจะสร้างความเข้าใจผิดแต่ความเข้าใจผิดนั้นมันไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญอะไรและก็จะมีข่าวลักษณะที่หน่วยงานต้องออกมาชี้แจ้งว่าข่าวนี้ไม่จริง ข่าวนั้นไม่จริงและก็มีปรากฏการณ์พวกที่สร้างข่าวปลอมเพื่อหาโฆษณา หาคนคลิกโฆษณา พวกสร้างข่าวปลอมก็สร้างเรื่องขึ้นมาพอเรื่องแพร่กระจายออกไปก็ต้องมีหน่วยงานออกมาชี้แจงว่าจริงบ้างไม่จริงบ้าง ดาราออกมาฟ้องซึ่งฟ้องไปก็จับใครไม่ได้เพราะใช้เทคโนโลยีในการซ่อนตัว แต่มันมีผู้เสียหายจากการเข้าใจใจผิดเกิดขึ้น พวกข่าวดาราตายอะไรพวกนี้ พอมันมีแบบนี้เกิดขึ้นนักข่าวเองก็มีสำนักงานข่าวไทย อสมท. ก็ทำข่าวแบบนี้บ่อย ผมเองก็ด้วยส่วนหนึ่ง เพราะตอนนั้นผมทำข่าวไอทีก็จะเหมือนว่าอะไรที่มันเกิดบนโลกโซเชียลมีเดียเขาก็จะให้เราทำ เราก็ทำแบบนั้นอยู่บ่อยๆ รวมทั้งนักข่าวในสายอื่นๆ ก็ต้องทำข่าวแนวนี้อยู่บ่อยๆ เราก็เลยคิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้ที่จะทำอะไรให้เป็นลักษณะหมวดหมู่เป็นเรื่องเป็นราว เป็นรายการฟอร์มขึ้นมา  การทำงานของชัวร์ก่อนแชร์ชัวร์ก่อนแชร์ เริ่มไอเดียตั้งแต่ปี 2557 และได้เริ่มออกอากาศจริงตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2558 ก็ออกเป็นชัวร์ก่อนแชร์ที่เป็นสกู๊ปสั้นๆ รายสัปดาห์ เน้นเอาเรื่องที่แชร์กันไม่จริงไปหาคำตอบมาว่าความจริงมันคืออะไรและเอามาอธิบายให้ประชาชนฟังบนหน้าจอทีวีในช่วงข่าวค่ำ เป็นสกู๊ปสั้นๆ เหมือนกับสกู๊ปข่าวและหลังจากนั้นกระแสตอบรับก็ดี มีคนชอบและทางผู้บริหารเองก็คิดว่ามันน่าสนใจและมีประโยชน์กับคนก็เลยเพิ่มความถี่ของรายการจากสัปดาห์ละครั้งเป็นสัปดาห์ละ 2 ครั้งคือเสาร์ อาทิตย์ จนประมาณเดือนเมษายน 2559 ก็เพิ่มจากเสาร์ อาทิตย์เป็น 7 วันก็คือมีชัวร์ก่อนแชร์ทุกวันตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และเราก็เก็บข้อมูลเหล่านี้มาเรื่อยๆ เพื่อที่จะหาทางว่าเราจะทำให้คนเข้าใจมากขึ้นในประเด็นต่างๆ ซึ่งการทำเนื้อหาแบบชัวร์ก่อนแชร์ มันก็จะเป็นการต้องแก้ข้อมูลที่ไม่จริงที่มีเข้ามาเรื่อยๆ ไปทีละอันๆ และต้องไปหาคำตอบแต่ละอันมาสะสมไว้และทำเพื่อให้คนดูในปัจจุบันดูและคนดูในอนาคตได้ดู เพราะว่าธรรมชาติหนึ่งของเรื่องที่แชร์กันมันก็จะวนไปวนมา เราต้องการสร้างข้อมูลที่เข้าถึงได้สะดวก รวดเร็วให้กับคนดูทั้งปัจจุบันและอนาคตด้วยโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นฐานชัวร์ก่อนแชร์เกิดขึ้นมานอกจากมีคอนเทนต์ในโทรทัศน์เรายังเปิดช่องทางหนึ่งในการติดต่อสื่อสารกับประชาชนคือ ไลน์ของสำนักข่าวไทย (@TNAMCOT) ก็จะเป็นไลน์ที่ส่งข้อมูลเข้ามาถาม คือตอนที่สร้างชัวร์ก่อนแชร์ขึ้นมามันมีโจทย์หนึ่ง คือเรารู้ได้อย่างไรว่าคนแชร์อะไรกัน มันไม่เหมือนข่าวทั่วไป เช่น ข่าวอาชญากรรมเขาก็จะฟังวิทยุสื่อสารตำรวจหรือมีวงข่าวกู้ภัยเพื่อที่จะรู้ว่าเกิดอะไรที่ไหน ข่าวการเมืองเขาก็มีแจ้งหมายอะไรที่ไหนกัน แต่พอมันมาเป็นโซเชียลเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรื่องไหนถูกแชร์ ยากมากที่จะรู้ให้ทั่ว ตอนแรกเลยคิดว่า อยากจะให้คนได้ส่งข้อมูลเข้ามาถามด้วยเพราะจริงๆ แล้วเราก็อยากจะให้ลำดับความสำคัญกับเรื่องที่คนกำลังได้รับแชร์มาแล้วสงสัยในเวลานั้นจริงๆ เราก็มีช่องทางนี้ขึ้นมาแล้วคนก็ส่งข้อมูลเข้ามาถาม เราก็ตอบกลับเข้าไป ทีนี้ส่วนคำถามตรงนี้เลยทำให้ได้ข้อมูลมาว่า เวลาที่คนที่ระดับผู้เชี่ยวชาญนั้น เวลาเขาไม่ตอบ เพราะเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ แต่จริงๆ มันมีคนเชื่อจริงๆ เวลาคนส่งเข้ามาถามผมก็จะคุยตอบกลับไป คนส่งเขาก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นผมมาตอบเอง แต่ผมอ่านเองเพราะผมต้องการจะรู้เพราะมันไม่มีระบบที่จะช่วยในเวลานั้น ไม่มีระบบอะไรเลยที่จะช่วยให้กระบวนการตรงนี้มันทำได้ง่ายกว่านั้น ง่ายที่สุดในตอนนั้น คือต้องอ่านเองและอ่านอย่างเดียวไม่ได้ด้วยต้องตอบด้วย เพราะว่าพออ่านปุ๊บมันจะขึ้นอ่านที่ฝั่งคนส่ง ถ้าอ่านไม่ตอบก็ดูไม่มีมารยาทอีก เราก็เลยอ่านเองตอบเองในช่วงประมาณ 2 ปีแรก บางทีเราก็คิดว่าเรื่องแค่นี้เขาเชื่อหรือ เราก็พิมพ์กลับเข้าไปถามเหมือนทดสอบว่า อยากรู้มุมมองความคิดเขาว่าตกลงเขาเชื่อจริงหรือว่าแค่ส่งมาขำๆ ก็ปรากฏว่าเราเจอคนที่เขาเชื่อจริงๆ จนเอาไปลองทำ บางคนส่งมาบอกว่าช่วยรีบตอบด้วยนะคะ เพราะว่ากำลังทุกข์ใจเพราะเป็นโรคมะเร็งอยู่อยากรักษา เห็นช่องทางที่เขาแชร์กันว่ารักษามะเร็งได้ก็อยากทำ เราก็เลยเห็นว่ามันมีคนที่เชื่อจริงๆ และเราไม่มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ มันควรจะมองเป็นเรื่องที่จริงจัง อย่างน้อยคือ ให้ค้นหาในอินเทอร์เน็ตเขาจะต้องเจอคำตอบนั้นบ้าง พยายามทำให้มันมีความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ก็ตั้งใจแบบนั้นมาตลอด คือมันเหมือนการทำงานทีเดียว 2 – 3 อย่างไปด้วยตลอด คือในเชิงการสร้างคอนเทนต์ สร้างเนื้อหาก็คือหาคำตอบออกมาให้คนที่อยู่ในปัจจุบันดู และเวลาเดียวกันก็เอาคำตอบให้คนที่อยู่ในอนาคตดูด้วย  เพราะรู้ว่าเรื่องที่แชร์กันมันจะวนไปวนมา เพราะฉะนั้นระบบคอนเทนต์นี้มันควรจะต้องถูกจัดเก็บเข้าไปในระบบที่คนเข้าถึงง่ายอีกรอบด้วย ก็พยายามจะวางระบบตรงนี้ไว้ ก็ใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วนี้ ไม่ได้ให้คนต้องโหลดแอฟฯ อะไรใหม่ เข้า Google พิมพ์คำว่าชัวร์ก่อนแชร์แล้วตามด้วยเรื่องที่สงสัยปัจจุบันทั้ง Google , Youtube , Facebook 3 อันนี้ถ้าค้นคำว่าชัวร์ก่อนแชร์แล้วพิมพ์เรื่องที่สงสัย เช่นชัวร์ก่อนแชร์เว้นวรรคตามด้วยมะเร็ง ก็จะเข้าไปถึงข้อมูลที่เขาสงสัยได้ง่ายขึ้นก็เป็นความตั้งใจส่วนใหญ่เป็นเรื่องแนวไหนประเด็นเรื่องข้อมูลข่าวสารที่แชร์กันในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่ของคนไทยจะเป็นเรื่องสุขภาพ เรื่องอะไรที่มันเกี่ยวโยงกับสุขภาพ เช่นทำแล้วสุขภาพจะดีขึ้นอย่างไร หรือจะรักษาโรคอย่างไร แต่ว่าโดยรวมๆ ส่วนใหญ่ 80 % ขึ้นไปของเรื่องที่แชร์กันเป็นเรื่องที่ไม่จริง เรื่องที่เก่าแล้ว ซึ่งอันนี้ผมละนักวิชาการคนอื่นๆ เช่น อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เห็นด้วยว่ามันมีประมาณนี้แหละคือส่วนใหญ่ 80 - 90 % ของเรื่องที่แชร์กันไม่ใช่เรื่องจริง แล้วใน 80 - 90 % ที่เป็นเรื่องที่ไม่จริงนั้นก็เป็นเรื่องสุขภาพส่วนใหญ่ ในเรื่องสุขภาพมันก็จำแนกออกเป็นเรื่องคำแนะนำกับคำเตือน คำแนะนำก็อย่างเช่นทำแบบนี้ กินแบบนี้เพื่อที่จะได้ดีขึ้น แบบนี้ป้องกันโรคนี้ได้ คำเตือนก็คืออย่าทำแบบนี้ อย่ากินแบบนี้เพราะมันจะทำให้เป็นโรคนั้นโรคนี้ ซึ่งโรคที่เป็นโรคปลายทางมากที่สุดก็จะเป็นโรคมะเร็ง คำเตือนห้ามกินแบบนี้เพราะจะเป็นโรคมะเร็ง คำแนะนำให้ทำแบบนี้เพื่อจะรักษามะเร็ง มันเป็นโรคปลายทางที่ถูกพูดถึงมากที่สุดและเป็นโรคที่กระตุ้นให้เกิดการแชร์มากพอสมควร รองลงมาก็เบาหวาน ความดัน ไต อะไรพวกนั้น ส่วนใหญ่ที่คนไทยจะแชร์ๆ กันก็จะเป็นเรื่องพวกนี้หรือถ้าเป็นเรื่องใกล้ๆ ก็จะเป็นเรื่องอาหาร จริงๆ แล้วก็จัดอยู่ในหมวดสุขภาพเหมือนกันเพราะเวลาแชร์เรื่องอาหารอะไรสักอย่างสุดท้ายมันก็จะสะท้อนกลับไปที่เรื่องสุขภาพอีก เช่นแชร์เรื่องอาหารปลอมถ้ากินก็จะเป็นมะเร็ง ต่อจากอาหารเรื่องที่เหลือก็คละเคล้ากันไป เช่นเรื่องกฎหมาย เรื่องสถานการณ์บ้านเมือง เรื่องวิทยาศาสตร์ความเข้าใจทางเทคโนโลยี เตือนการใช้อินเทอร์เน็ต ใช้มือถือ ใช้ไลน์ สติ๊กเกอร์ไลน์ฟรีอะไรแบบนี้ ก็จะมีเรื่องพวกนี้แชร์กันมีทั้งเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างเรื่องไหนที่รู้สึกสนุกที่สุดจนรู้สึกอยากทำต่อหรือเรื่องที่ยากที่สุดมันมีหลายเรื่องที่พยายามจะทำพิสูจน์ คือทุกเรื่องบางทีมันเป็นเรื่องของความเชื่อ ความลี้ลับที่ไม่มีใครเคยพิสูจน์ ถ้าเรื่องไหนพิสูจน์ได้ก็จะพยายามพิสูจน์ให้คนดูเห็นหน้าจอและใช้การได้เปรียบของการเป็นคอนเทนต์วิดีโอซึ่งมันทำให้คนดูเชื่อถือได้มากกว่า ก็พยายามใช้คอนเทนต์วิดีโอเพื่อให้คนเห็นภาพว่ามันไม่จริง อย่างเช่นมันมีเรื่องที่แชร์ว่าน้ำอัดลมผสมเครื่องดื่มชูกำลังแล้วก็ทำเป็นคลิปวิดีโอ มีคนเทน้ำสีดำกับของเหลวเทลงไปผสมกันแล้วคนๆ มันก็ฟูขึ้นมากลายเป็นฟองใหญ่ๆ ก็แชร์กันมาว่าให้ระวังอย่ากินน้ำอัดลมผสมเครื่องดื่มชูกำลังไม่อย่างนั้นตายแน่ๆ เพราะถ้ามันผสมกันเข้าไปในท้องมันก็จะออกมาเป็นแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่รู้สึกตื่นเต้นว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า  แต่ว่าเวลาเราหาคำตอบเรื่องนี้เราก็ต้องหาให้ได้ว่าใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งมันง่ายมากแค่เอาน้ำอัดลมผสมเครื่องดื่มชูกำลังแล้วคนๆ ให้เข้ากันตามคลิปซึ่งก็ปรากฏว่ามันไม่ใช่ แต่เราก็ต้องไปหาคำตอบอีกว่าแล้วมันคืออะไร ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ขึ้นมาได้ สุดท้ายกรณีนี้คือได้ไปสัมภาษณ์อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีเรื่องโภชนาการก่อน คือนำน้ำอัดลมผสมเครื่องดื่มชูกำลังแล้วก็ทดลองว่ามันไม่เกิดอย่างที่แชร์กัน ในขณะเดียวกันก็ไปหาจนเจอว่ามันคือสารอะไร ซึ่งก็คือโพลียูรีเทนที่ช่างทั่วไปบางคนก็รู้อยู่แล้วว่ามันคือสารเคมี 2 ตัวคือโพลีและยูรีเทน ผมก็เพิ่งรู้จากการเรื่องนี้ คืออาจารย์ที่ ม.เทคโนฯ ธัญบุรีบอกมาพอรู้แล้วเราก็อยากพิสูจน์เองอีกเพราะเราพิสูจน์เองมันทำให้เราพูดได้อย่างหนักแน่นว่ามันใช่หรือไม่ใช่ บางทีเราต้องใช้เวลามากเลยกับการตามหาซื้อของ พอได้มาแล้วทำเพื่อที่จะพูดแค่ประโยคเดียวว่าใช่ แต่เป็นคำว่าใช่ที่เรารู้สึกมั่นใจที่จะพูดว่าใช่หรือไม่ใช่ พอใช้โพลียูรีเทนมาลองทำดูมันก็ขึ้นมาแบบนั้นจริงๆ ก็ทุกๆ เรื่องถ้าพิสูจน์ได้ ทดลองได้ก็จะพยายามหาทางพิสูจน์ เรื่องที่สนุกนอกจากเรื่องที่ได้ทดลองเอง อย่างเช่นแชร์กันว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมันเคลือบแว็กซ์ เราก็ติดต่อไปที่โรงงานเพื่อขอดูคือ ขอดูก็ไม่พอเพราะต้องเอามาให้คนดูในทีวีด้วย ขอดูว่าในกระบวนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมันจะมีแว็กซ์อยู่ตรงไหนบ้าง ตอนนั้นก็ติดต่อไป ซึ่งเขาก็ให้ความร่วมมืออย่างดี เรื่องที่คนส่งเข้ามาให้ช่วยเช็คมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไรหรือพอๆ กับเมื่อก่อน มีคนส่งเข้ามามากขึ้น หมายถึงคนที่ส่งมาและมาขอข้อมูลมีจำนวนมากขึ้น ในวันนั้นเริ่มจากศูนย์เมื่อเดือนมีนาคม 2558 ตอนนี้ เดือนกรกฎาคม 2560 มีประมาณ 70,000 คนที่อยู่ในไลน์แอด ก็อาจจะเป็นคนที่แอคทีฟอยู่ประมาณหนึ่ง คือมันยังไม่มีเครื่องมือนับ เราพยายามจะนับอยู่ว่าจริงๆ แล้วมีคนที่ส่งมาประจำกี่คน ส่งเรื่องอะไร พยายามจะหาทางนับตรงนี้อยู่ แต่ว่าเรารู้สึกได้ว่ามันมีจำนวนคนที่มากขึ้น ก็จะมี 2 แบบคือมาพร้อมคำถามใหม่กับอีกแบบคือมาพร้อมคำถามเก่าที่เราเคยทำไปแล้ว ส่วนใหญ่คือเรื่องที่แชร์ตอนนี้ ฐานข้อมูลของชัวร์ก่อนแชร์ คือตอบได้ไปส่วนใหญ่แล้ว มันจะมีคำตอบอยู่ในสิ่งที่ชัวร์ก่อนแชร์เคยทำไว้อยู่แล้วมีคำตอบอยู่พอควร แต่ว่ามันก็ยังตอบไม่หมด มีเรื่องที่เราบันทึกไว้แล้วรอคำตอบ รอการผลิตอีกจำนวนพอสมควร ถ้าจะแบ่งย่อยไปก็คือเรื่องที่รอคนมายืนยัน บางเรื่องไม่ได้เร่งด่วนหรือบางเรื่องที่มันซีเรียสมากๆ แล้วยังไม่มีคำตอบ บางทีมันก็ต้องรอคนมาตอบ เราก็ต้องรอคนที่ใช่จริงๆ ซึ่งเรายังเน้นไปที่การทำคำตอบสำหรับในวิดีโอที่ออกทีวีเป็นหลักเพราะมันมีความน่าเชื่อถือในตัวเองและมันเป็นแมส มันออกโทรทัศน์ อยากฝากอะไรถึงผู้บริโภคชัวร์ก่อนแชร์เป็นเหมือนทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเฉยๆ ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาวเหมือนเวลาเราไปต่างประเทศแล้วเรามีคู่มือเล่มหนึ่งที่ทำให้เราพูดกับคนในประเทศนั้นได้โดยที่เราพูดภาษานั้นไม่ได้ เราก็ไม่ต้องการให้คนมายึดโยงชัวร์ก่อนแชร์ตลอดเวลา เราต้องการให้คนมีภูมิคุ้มกันระดับสูงในตัวเองที่จะป้องกันสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใหม่ที่เขากำลังจะเข้าไป ทุกคนอย่างไรก็ต้องเข้าไปสู่โลกใหม่ที่เป็นโลกของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ไร้พรมแดนและเป็นโลกที่ทุกอย่างสามารถปลอมขึ้นมาได้ สร้างได้ เขาต้องมีความเข้าใจมากเพียงพอ แต่ก็ไม่ต้องการให้เขาออกจากโลกพวกนี้เพราะว่าการที่เขาไม่สนใจใยดีกับโลกเทคโนโลยียุคใหม่มันก็ทำให้เขาเสียโอกาสอีกหลายอย่างเหมือนกัน เราก็อยากให้เขาเข้าไปอยู่ในนั้น แต่ในเวลาที่มันเป็นเวลาเฉพาะหน้าแบบนี้ที่ข้อมูลมันเยอะมาก นึกภาพคนที่เข้าไลน์ครั้งแรกแล้วไปพบกลุ่มเพื่อนแล้วก็เจอข้อมูลพวกนี้เยอะๆ แล้วเขาไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริงหรือไม่จริง และตอนนี้เขาก็ไม่รู้ว่าจะแชร์หรือไม่แชร์ดี ก็เป็นสิ่งที่มันคาใจในชีวิตของเขาว่าจะแชร์หรือไม่แชร์ เรื่องไหนจริงเรื่องไหนไม่จริง ค้นก็ค้นไม่เป็นหรือค้นเป็นก็โดนผลการค้นหาหลอกอีก ค้นไปเจอเรื่องหลอกกัน 5 - 6 อันแล้วก็คิดว่ามันเป็นจริงเพราะค้นออกมาแล้วเจอเยอะ สิ่งที่เราอยากเห็นคือ ใช้ชัวร์ก่อนแชร์เป็นทางลัดในการสร้างภูมิคุ้มกันให้เขา 

อ่านเพิ่มเติม >