ฉบับที่ 251 เป็นพุทธมามกะนั้น..ยาก

        วิกิพีเดียไทยให้ข้อมูลว่า พุทธมามกะ หมายถึง ผู้ประกาศตนว่าขอถือพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ หรือผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา และ www.trueplookpanya.com อธิบายต่อว่า ในชีวิตประจำวันนั้นพุทธมามกะมีหน้าที่ปฏิบัติตน 6 ประการคือ 1) ศึกษาหลักธรรมให้เป็นสัมมาทิฏฐิคือ แนวคิดที่ถูกต้อง มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว 2) ฟังธรรมหรือสนทนาธรรมตามกาล 3) ทำบุญตักบาตร 4) ไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน 5) ปฏิบัติตนตามศีล 5 เป็นอย่างน้อย 6) ปฏิบัติกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นถ้าสำรวจกันตามหลักวิชาทางสถิติแท้ ๆ แล้ว ผลที่ได้ออกมาอาจเป็นว่า คนไทยส่วนหนึ่งไม่สามารถอ้างได้ว่าตนเป็นพุทธมามกะเพราะยังทำตามศีล 5 ไม่ได้         ศีลที่ผู้อ้างว่าเป็นพุทธมามกะมักบกพร่องคือ ศีลข้อที่ 5 พิสูจน์จากข้อมูลในเว็บของกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2560 มีประเด็นข่าวว่า 'XXX' ห่วงคนไทยดื่มเหล้าติดอันดับ 5 ของโลก ซึ่งเนื้อข่าวให้ข้อมูลว่า มีนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุ 15–19 ปี เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 ต่อปี เพราะคนไทยใช้เวลาเดินเพียง 4.5 นาที ก็ถึงร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นี่แสดงว่าประชาชนซื้อหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายมาก และองค์การอนามัยโลกเคยระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนถนนมากที่สุดในทุกช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวและก่อปัญหาสังคมอื่นตามมา เช่น การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การทะเลาะวิวาท การล่วงละเมิดทางเพศ และอาชญากรรมอื่น ๆ         เว็บ https://alcoholrhythm.com มี infographic ที่อ้างข้อมูลจากหนังสือ ข้อเท็จจริงและตัวเลขเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พ.ศ.2559-2561 ซึ่งมี สาวิตรี อัษณางค์กรชัย เป็นบรรณาธิการและพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สหมิตรพัฒนาการพิมพ์ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2562 ให้ข้อมูลว่า ในปี 2560 มีนักดื่มในประเทศไทยราว 15.89 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28.4 ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยในจำนวนนี้มีคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์มากถึง 6.98 ล้านคน หรือร้อยละ 12.5 ของประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป (แสดงว่ายังมีอีก 8.91 ล้านคนดื่มมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ใช่ไหม) โดยเชียงรายครองอันดับหนึ่งของจังหวัดที่มีนักดื่มมากที่สุดร้อยละ 45.3 ตามด้วยลำพูน (ร้อยละ 44.1) พะเยา (ร้อยละ 44.0) น่าน (ร้อยละ 42.4) และสุรินทร์ (ร้อยละ 40.6) ทำให้เห็นได้ว่าชาวเหนือและอีสานมีจำนวนผู้ละเมิดศีลข้อ 5 เยอะ ส่วนจังหวัดที่มีนักดื่มน้อยที่สุดอยู่ในภาคใต้คือ ยะลามีนักดื่มเพียงร้อยละ 2.3 ตามด้วย ปัตตานี (ร้อยละ 3.9) นราธิวาส (ร้อยละ 4.9) สตูล (ร้อยละ 9.9) และสงขลา (ร้อยละ 13.2)         คนไทยวัยทำงานเป็นกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด ซึ่งอาจเป็นเพราะความเครียดจากการทำงาน พบว่าผู้ชายเริ่มดื่มเมื่ออายุ 19 ปี (ปีที่เริ่มเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา) ซึ่งโดยเฉลี่ยดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 50 กรัมขึ้นไปต่อวัน ส่วนผู้หญิงเริ่มดื่มหลังที่อายุได้ 24 ปี (น่าจะเพราะเริ่มมีรายได้จากการทำงานและคิดว่าตนเป็นผู้ใหญ่พอ) ซึ่งดื่มโดยเฉลี่ย 12-50 กรัมต่อวัน         ที่น่าสนใจคือ จากการสำรวจในปี 2560 สถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศไทยมี 583,880 แห่ง หรือเท่ากับ 1 ร้านสามารถให้บริการประชากรได้ 113 คน นอกจากนี้ในบรรดาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด เบียร์ได้รับความนิยมมากที่สุด พบว่าคนไทยดื่มเบียร์มาก ถึงร้อยละ 47.4 ของการดื่มทั้งหมด รองลงมาเป็นสุราขาวหรือสุรากลั่นชุมชน (ร้อยละ 26.6) และสุราสีหรือสุราแดง (ร้อยละ 22.0)         ข้อมูลจากเว็บ www.expensivity.com เผยข้อมูลดัชนีเบียร์โลกประจำปี 2021 ว่า กาตาร์ขายเบียร์แพงที่สุดในโลก เพราะเรียกเก็บภาษีนำเข้าแอลกอฮอล์เกินร้อยละ 100 เบียร์จึงมีราคาประมาณ 400 บาทต่อขวด ส่วนแอฟริกาใต้มีเบียร์ราคาถูกที่สุดคือ 51 บาทต่อขวด สิ่งที่น่าละอายใจคือ ตำแหน่งขี้เมาเบียร์ประจำเอเชียตกเป็นของคนไทย เพราะคนไทยดื่มเบียร์คนละ 142 ขวด/คน/ปี (จริงแล้วคงมากกว่านี้เพราะคนไทยอีกหลายคนไม่เคยเมาเลยแต่ถูกนำมารวมเป็นตัวหารในการคำนวณหาค่าเฉลี่ย) ตามด้วยคนเกาหลีใต้ 130 ขวด/คน/ปี และ คนจีน 127 ขวด/คน/ปี นอกจากนี้น่าอดสูใจมากที่คนไทยยังหมดเงินไปกับการดื่มเบียร์มากที่สุดโดยเฉลี่ยราวคนละ 21,093 บาทต่อปี ตามมาด้วยคนเกาหลีใต้และคนญี่ปุ่นตามลำดับ         ด้วยข้อมูลข้างต้นนี้คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วยังประกาศตนว่าเป็นพุทธมามกะนั้นน่าจะถูกนับว่าผิดศีลข้อที่ 4 ด้วยเพราะพูดปด โกหกมดเท็จ พูดไม่อยู่กับร่องกับรอยเพิ่มอีก 1 ข้อ ดังนั้นจึงมีผู้พยายามหาเหตุผลว่า ทำไมคนไทยถึงชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งคำตอบนั้นมีหลากหลายประมาณว่า เพื่อคลายเครียด เพื่อให้การเข้าสังคมเป็นเรื่องง่ายซึ่งบางกรณีมีประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ และที่น่ากังวลคือ การอ้างผลการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณดีต่อสุขภาพ         เคยมีนักวิชาการด้านสุขภาพของประเทศทางตะวันตกกล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พอประมาณนั้นส่งผลที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเช่น ลดโอกาสมีเส้นเลือดหัวใจตีบตัน เป็นต้น ดังในบทความเรื่อง Effect of alcohol consumption on biological markers associated with risk of coronary heart disease: systematic review and meta-analysis of interventional studies ในวารสาร BMJ (British Medical Journal) ของปี 2011ได้ให้ข้อสรุปว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่ดูเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของหลอดเลือดและหัวใจหลายประการเช่น เมื่อมีการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลางจะมีการเพิ่มขึ้นทั้ง HDL (คลอเรสเตอรอลตัวดี) และ adiponectin ซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างจากเซลล์ไขมันและมีบทบาทสำคัญในการป้องกันภาวะดื้อต่ออินซูลิน/เบาหวาน ต้านการอักเสบ และลดการแข็งตัวของเลือดที่เกินพอดี โดยผ่านกลไกที่แตกต่างกันที่เป็นการสนับสนุนทางอ้อมถึงการป้องกันต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ และในบทความเรื่อง Mediterranean alcohol-drinking pattern and mortality in the SUN (Seguimiento Universidad de Navarra) Project: a prospective cohort study ในวารสาร British Journal of Nutrition ของปี 2014 ซึ่งให้ข้อมูลว่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะที่ดีต่อสุขภาพคือ ดื่มพอประมาณ (moderate drinking) ราว 10–50 กรัม แอลกอฮอล์ต่อวันสำหรับผู้ชาย หรือ 5–25 กรัมต่อวันสำหรับผู้หญิงนั้น มีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่มเลยหรือดื่มมากเกินคำแนะนำ         อย่างไรก็ดีคำแนะนำเกี่ยวกับประโยชน์ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแง่เกี่ยวกับสุขภาพในปัจจุบันได้เริ่มเปลี่ยนไป โดยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2018 เว็บ www.bbc.com/thai มีบทความเรื่อง ผลวิจัยล่าสุดชี้ "ระดับปลอดภัย" ในการดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีจริง ซึ่งทำให้หลายคนที่เชื่อเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์วันละเล็กน้อยดีต่อสุขภาพ อาจต้องทบทวนในความคิดนี้ใหม่ ยืนยันได้จากบทความเรื่อง No level of alcohol consumption improves health ใน www.thelancet.com เมื่อ 22 กันยายน 2018 รายงานผลการศึกษาใน 195 ประเทศ ให้ข้อมูลสรุปประมาณว่า ความเชื่อเดิมว่าการดื่มแอลกอฮอล์วันละเล็กน้อยช่วยป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองจำต้องเปลี่ยนไป เพราะความเสี่ยงต่อโรคภัยโดยรวมที่มีอยู่นั้นสูงมากเกินจนไม่คุ้มกับสิ่งที่ได้จากการดื่มเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพบางประการ และชี้ว่าหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐบาล (ที่ไม่ได้หวังภาษีจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นรายได้หลัก) ควรออกคำเตือนให้ประชาชนงดเว้นการบริโภคแอลกอฮอล์อย่างสิ้นเชิง พร้อมไปกับการพิจารณายกเลิกคำแนะนำเรื่องปริมาณการดื่มที่ปลอดภัยที่มีอยู่เดิมเสีย เนื่องจากอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ เช่นมะเร็ง หรือได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละวัน โดยผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์วันละ 1 หน่วย (มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ 10 กรัม) มีความเสี่ยงต่อโรคภัยและการบาดเจ็บสูงกว่าคนที่ไม่ดื่มเลย 0.5% ส่วนคนที่ดื่มวันละ 2 หน่วยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 7% และคนที่ดื่มวันละ 5 หน่วยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 37%         สำหรับ www.mayoclinic.org ซึ่งเคยให้ข้อมูลเห็นด้วยเกี่ยวกับประโยชน์จากการดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะพอเหมาะแก่สุขภาพมานานได้เริ่มเปลี่ยนท่าทีแล้ว จากการเข้าดูข้อมูลของเว็บนี้ในปี 2021 พบตอนหนึ่งในบทความเรื่อง Alcohol use: Weighing risks and benefits กล่าวว่า ประโยชน์ที่เป็นไปได้ของแอลกอฮอล์นั้นค่อนข้างน้อยและอาจใช้ไม่ได้กับทุกคน ประกอบกับคำแนะนำในการกินอาหารของคนอเมริกัน (American Dietary Guidelines) ล่าสุดกล่าวอย่างชัดเจนว่า ไม่มีใครควรเริ่มดื่มแอลกอฮอล์หรืออ้างประโยชน์ต่อสุขภาพจึงดื่มบ่อยขึ้น เนื่องจากประโยชน์ที่อาจมีนั้นไม่ได้มีมากกว่าความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เป็นแนวทางที่ดีที่สุดถ้าหวังมีสุขภาพที่ดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 อาสาสมัคร มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย

“พ.ศ.2509 ท่านธรรมาจารย์ เจิ้งเหยียน อาศัยจิตวิญญาณ “ยับยั้งชั่งใจ อุตสาหะ มัธยัสถ์ ฟันฝ่าอุปสรรค” จนสามารถก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้ขึ้น ณ เมือง    ฮวาเหลียน ไต้หวัน ในยุคแรกลูกศิษย์ซึ่งเป็นภิกษุณี 6 รูป ต่างช่วยกันเย็บรองเท้าเด็กเพิ่มวันละหนึ่งคู่ และแม่บ้าน 30 คน ต่างช่วยกันออมเงินลงในกระบอกไม้ไผ่ ออมบุญวันละ 50 สตางค์ เพื่อดำเนินงานการกุศลของฉือจี้ ปัจจุบันมูลนิธิฉือจี้มีสำนักงานและจุดติดต่อรวมทั้งสิ้น 56 ประเทศ โดยให้การช่วยเหลือผู้คนทั่วโลกไปแล้ว 92 ประเทศ” ที่ประเทศไทย สุชน แซ่เฮง อาสาสมัคร มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย ได้เล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นการเป็นอาสาสมัคร         สมัยเรียน ผมเรียนหลักคิดของท่านขงจื้อ อันนี้หมายถึงที่ไต้หวันนะ   ชอบมากสังคมแบบนั้น ตอนหลังผมมาพบว่ามันมีหลายส่วนคล้ายๆ กับสังคมไทยในอดีต มีหลายส่วนคล้าย แต่เหมือนว่ามันไกลจากตัวเรา ในสมัยท่านขงจื้อ 2,600 ปีก่อน หรืออย่างสมัยพุทธกาลก็เหมือนกัน เหมือนเป็นอุดมการณ์อย่างหนึ่งที่ไกลมาก แล้วเราจะเดินไปถึงได้อย่างไรกับอุดมการณ์และสังคมแบบนั้น พอผมมามีเพื่อนเป็นชาวคริสต์ เขาเรียกผมไปพบที่มูลนิธิฉือจี้ประเทศไทยซึ่งที่ตั้งเดิมที่อยู่รัชดาซอย 3 ผมก็ไป         “เขาบอกว่ามูลนิธินี้เปิดใหม่ เป็นมูลนิธิที่ดีควรเข้าร่วม ตอนนั้นจะไม่มีหนังสือไทยเลย โปสเตอร์ต่างๆ ก็เป็นภาษาจีนหมด ผมไปยืนอ่าน แล้วก็ดูภาพ และก็อ่านข้อความข้างใน แค่ตรงนั้นเอง  ผมบอกว่าอันนี้น่าสนใจมาก” มันมาเชื่อมต่อกับตอนที่เราเป็นหนุ่มๆ ที่บอกว่ามันทำให้สังคมนี้เกิดได้ ตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าอะไรคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พอเขาเอามาแปลเป็นเรื่องการกุศล การรักษาพยาบาล การศึกษาและวัฒนธรรม ผมเห็นการกุศลอย่างเดียวเท่านั้น การทำของฉือจี้ก็จะทำให้สังคมของท่านขงจื้อเกิดได้ระดับหนึ่งแล้ว เฉพาะแค่หนึ่งภารกิจ แล้วภารกิจต่อๆ ไปมันเป็นภารกิจที่ผมเห็น แก้ปัญหาสังคมไทย แค่ดูกับอ่านอันนี้มันไม่พอ         หลังจากนั้นก็มีการลงมือปฏิบัติ สัมผัสคนไทย การสัมผัสเป็นการพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า ใช่หรือไม่คนไทยในอดีตเป็นแบบนั้น ถึงแม้ว่าตอนนี้มันไม่ค่อยเหมือน แต่ว่ายังมีหลงเหลืออยู่หรือเปล่า ใกล้ยี่สิบปีแล้ว ไปหลายๆ จังหวัดและไปอยู่ตามบ้านนอกเลยยิ่งมั่นใจเลยว่าใช่ สังคมของคนไทยในอดีตคล้ายมาก การทำงานจิตจอาสาแบ่งเวลาอย่างไร สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้ยั่งยืน         ตรงนี้สำคัญที่สุดเลย ที่ศาสนาพุทธพูดถึงคือ ทางสายกลาง อย่าเกินและอย่าขาดเกินไป คนเราไม่ว่าคุณจะยุ่งขนาดไหนคุณจะมีเวลากับสิ่งนั้นๆ ถ้าคุณคิดว่าสิ่งนั้นมีคุณค่า อันนี้สำคัญมาก แต่ถ้าบอกว่าไม่มีเวลาแปลว่าสิ่งนั้นไม่ได้อยู่ในหัวใจเรา    อันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด เป็นเรื่องปกติ หมายถึงอย่างนี้ ฉะนั้นผมก็เห็นหลายๆ ท่าน ชาวฉือจี้ปัจจุบันยุ่งมากแต่เขาก็เจียดเวลามาช่วย เฉพาะคนไทยหลังๆ นี่ เป็นแพทย์ พยาบาล ใครจะมีเวลายุ่งมากกว่าแพทย์ พยาบาล เหนื่อยก็เหนื่อยงานก็หนักเวลาส่วนตัวก็น้อย แต่เวลาที่เหลืออยู่เทให้ฉือจี้หมด เขาเห็นคุณค่าถ้าไม่เห็นคุณค่าเขาก็จะมองว่าแค่เป็นมูลนิธิฉือจ         อันที่หนึ่งคำว่ามูลนิธิเราถูกตีกรอบแล้ว เหมือนอย่างที่เรา  คุ้นชินกัน อันที่สองพอเป็นชื่อมูลนิธิฉือจี้ คนเราถูกบ่มเพาะมาแล้วในเรื่องความแตกต่าง การแยกแยะให้เป็นสองส่วน โดยเฉพาะพวกเก่งวิทยาศาสตร์มันจะต้องมีสองอย่างมาชนกัน พอมองฉือจี้ว่าเป็นมูลนิธิถึงเวลาเอาข้าวสารเอาเงินมาให้อะไรต่างๆ  ก็มองเป็นแบบนี้ไป มันก็ถูกนิดหน่อยถูกส่วนหนึ่ง แต่เขาไม่รู้ว่าเป็นมูลนิธิองค์กรศาสนาพุทธ พอเป็นศาสนาพุทธก็จะเป็นเรื่องของหลักธรรม พอเป็นเรื่องหลักธรรม อิสลาม ศริสต์  ก็เข้ามาได้ คำว่าหลักธรรมเป็นของทุกศาสนา ขงจื้อไม่ใช่ศาสนา เพราะปัญญาของศาสดาเหล่านี้ ขออนุญาตใช้คำว่าศาสดา ท่านขงจื้อท่านก็ไม่ได้บอกว่าท่านเป็นศาสดา แต่ท่านเป็นครูท่านมีปัญญาสูงแบบนี้ เวลาพูดออกมาหลักธรรมใกล้เคียงกันมาก เช่น เราพูดเรื่องความจริง ความดี ความงาม อะไรคือความจริง ความจริงคือสิ่งที่ไม่ตาย คนไทยบอก อะไรคือสิ่งที่ไม่ตาย หมายถึงว่าเอาไปไว้ที่ไหนก็ได้ เวลาจะผ่านไปนานขนาดไหนมันจะมีคุณค่าของมัน อันนี้เป็นนามธรรมมากๆ อย่างทองคำแท่งหนึ่งตู้เย็น กับโอ่งน้ำหนึ่งโอ่ง ให้เลือกๆ อะไรตอนนี้ในใจเลือกอะไร เลือกทองโดยไม่ต้องคิดเลย เพราะเราคิดว่าทองมีค่า ถ้าเปลี่ยนสถานที่ให้ไปอยู่ที่ทะเลทรายกำลังหลงทาง เราก็อยากได้น้ำมากกว่า แสดงว่าทองก็ไม่จริง พอเปลี่ยนสถานที่มันก็ไม่จริง         เราบอกความจริง ความดี ความงาม แล้วอะไรคือความจริง ในทางหลักธรรมทางสายกลาง ท่านขงจื้อก็พูด พระพุทธองค์ก็พูด พระพุทธองค์พูดเอาเรื่องพิณมาเปรียบเทียบ ถ้าสายหย่อนมันไม่เป็นเพลง ถ้าตึงเกินมันจะขาด มันต้องพอดี  มันถึงจะเป็นเพลง ชาวจีนเขาจะบอกว่า ชาหนึ่งถ้วยมันจะกลมกล่อมน้ำต้องพอดี  ชาต้องพอดี ความร้อนต้องพอดี ระยะแช่ต้องพอดี นี่คือทางสายกลาง ถ้าขาดไปมัน  ก็จืด ถ้านานไปมันก็ขม นี่คือความจริง หลักธรรมอันที่สองคือความดี ความดีเยอะเลย พูดจาเพราะก็ความดี ช่วยเหลือคนก็ความดี แล้วอะไรดีเลิศประเสริฐที่สุด ดีที่สุด ท่านขงจื้อบอกว่าสิ่งที่ดีเลิศประเสริฐที่สุดก็คือความกตัญญู ส่วนพระพุทธองค์บอกว่าความกตัญญูเป็นบ่อเกิดแห่งความดีทั้งหลาย อะไรคือความงาม เรื่องความงามท่านขงจื้อบอกว่ามนุษย์เราเกิดมาบนโลกใบนี้เป็นพี่เป็นน้องกัน ทัดเทียมกันทุกชีวิต แต่พระพุทธองค์ไม่ได้พูดเรื่องมนุษย์อย่างเดียว พูดเรื่องสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย ตัวที่มองไม่เห็นเขาก็มีค่าเหมือนกับมนุษย์ เขาเรียกว่าหลักธรรม ท่านขงจื้อกับพระพุทธองค์อยู่ในยุคเดียวกันต่างกันแค่ 5 ขวบ ท่านหนึ่งอยู่ที่อินเดียท่านหนึ่งอยู่ที่จีน ท่านคิดตรงกัน เขาเรียกว่าหลักธรรม ถ้าสามอย่างนี้เรายอมรับว่าใช่ สามอย่างนี้ในบ้านเมืองเรามีไหม ยังมีอยู่          ถ้าเรายอมรับ พระพุทธเจ้าและท่านขงจื้อก็เสริมหนุนบอกว่าคำสอนตรงนี้ใช่ แล้วเราทำไมปล่อยปละละเลยโดยเฉพาะเรื่องความกตัญญู มันเกี่ยวกับเรื่องชีวิตเลย คนที่ไม่กตัญญูเขาเรียกว่าคนที่ไม่รู้บุญคุณคน ลองคิดดูคนที่ไม่รู้บุญคุณคนอันตรายนะ ถ้าเราไปมอบชีวิตให้กับเขาหรือเราไปอยู่กับเขาเหมือนอยู่ใกล้เสือ มันจะกัดเมื่อไหร่ก็ได้ ความกตัญญูมันไปหลายเรื่อง มันก็ไปเรื่องความซื่อสัตย์ด้วย คนที่ไม่กตัญญูต่อพ่อแม่    คุณเชื่อไหมว่าเขาจะซื่อสัตย์ ถ้าเขาไม่ซื่อสัตย์เขาก็ไม่ซื่อสัตย์ต่องานที่ทำ ไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเขาเอง ไม่ซื่อสัตย์ต่อคนอื่น ถ้าเขาสูงขึ้นๆ เป็นผู้ปกครองแผ่นดินเขาก็ไม่ซื่อสัตย์ต่อประชาชน ฉะนั้นความกตัญญูเป็นบ่อเกิดแห่งความดีทั้งหลายที่พุทธองค์ปรารภเอาไว้ เราขยายความเอาไว้ พอเราขยายความมันใช่ มันเป็นเรื่องสัจธรรมที่แท้จริง ต้องแก้ตรงนี้ ไม่แก้ตรงนี้แล้วจะไปแก้ตรงไหน แล้วบ้านเมืองเราจะสงบ เมื่อมาเป็นจิตอาสา ฉือจี้ให้อะไรบ้าง         ฉือจี้ทำให้ผมเห็น ผมเห็นเฉพาะเรื่องการกุศลที่เขาไปช่วยเหลือคน ตอนนี้เราต้องยอมรับว่าความกตัญญูเราหายไปเยอะแล้ว เราต้องเรียกกลับมา เอามาท่องเป็นบทความนี่ไม่กลับมานะ เพราะไม่ได้สัมผัสไม่ได้เห็น ไม่เคยเห็นพ่อแม่ตัวเองกตัญญูกับปู่ย่าตายาย เขาก็ไม่รู้ว่าหน้าตาความกตัญญูมันเป็นอย่างไร ภาพนั้นเป็นภาพกตัญญูหรือเปล่า มองภาพไม่ออก อันที่สองคือตัวเองไม่ได้ไปสัมผัส พอไม่ได้สัมผัสมันเข้าไม่ถึงใจ พอเข้าไม่ถึงใจในที่สุดพอรุ่นลูกร่นหลานของคนไทยก็หายหมดแล้ว ความกตัญญูหายไปหมด มันเกิดอย่างนี้คือด่าคนเขาไปทั่ว ไม่รู้ว่าคนนั้นมีบุญคุณกับเราขนาดไหน ยังไม่รู้เลยก็ด่าไปแล้วคุณไปด่าเขาได้อย่างไร ถ้าไม่มีคนนี้คุณไม่ได้อยู่บนแผ่นดินนี้แล้ว บรรพบุรุษคุณก็ไม่ได้มาที่นี่ ดีไม่ดีไปตกทะเลตายไปแล้ว อะไรอย่างนี้ไม่รู้แต่ด่าไปแล้ว เหตุผลที่ด่าไปแล้ว เพราะตัวเองไม่มีความกตัญญู ไม่ได้ไปโทษว่าเขาเลวร้ายนะ แต่เพราะเขาไม่เห็นว่ามันเป็นอย่างไรนึกภาพไม่ออก    พ่อแม่เขาไม่ได้ทำให้เห็น         การกุศลมันฟื้นฟูความกตัญญูได้อย่างไร เราก็พาลูกๆ หลานๆ ขึ้นเครื่องไปดูแลพ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่ตกยาก ฉือจี้จะไปทำให้เห็น ไปเช็ดตัว ช่วยอะไรได้ก็จะช่วย คนนี้เดิมทีเขาอาจจะไม่สนใจเอามือล้วงกระเป๋า แต่พอนานๆ ไปเขาก็ทำเพราะเห็นว่าคนอื่นเขาทำงานแล้วเรามายืนดูเขาเฉยๆ เขาก็อาจจะเอาไม้กวาดมากวาด หรือมาช่วยตัดเล็บก็ได้ เอาผ้ามาเช็ดตัว ไปหลายๆ ครั้งก็ทำได้มากขึ้น วันหนึ่งได้คิดว่าคนที่บ้านปู่ย่าตายาย พ่อแม่ คนนี้เป็นคนอื่นเราทำได้ แล้วคนที่บ้านเราล่ะ  ก็กลับไปทำ นี่คือพฤติกรรมของความกตัญญู กตัญญูแปลว่ารู้คุณคน พอรู้คุณคน  คุณจะลงมือทำ ไม่ใช่รู้คุณอย่างเดียว พอรู้คุณคนก็ต้องตอบแทนบุญคุณ อันนี้เป็นพฤติกรรมตอบแทนบุญคุณ การเช็ดตัว การตัดเล็บ การอุ้มไปอาบน้ำอะไรต่างๆ   พอเป็นอย่างนี้ความกตัญญูฟื้นแล้ว ลองคิดดูว่าถ้าไม่ใช้วิธีนี้แล้วเราจะเอาวิธีไหนมาสอนได้ หนังสือศีลธรรมก็ไม่มีแล้ว เอาหนังสือศีลธรรมมาท่องก็ทำไม่ได้ เพราะว่าภาพนั้นมันไม่ปรากฏ มันไม่เหมือนสมัยพ่ออุ้ยแม่อุ้ยจะมีภาพเหล่านี้อยู่ ลูกหลานเราไม่ต้องสอนเขาเห็น รู้ว่าต้องไปวัด ต้องรู้ไม่ต้องสอน รู้ว่าเห็นพระต้องไหว้ เพราะว่าภาพเหล่านี้มันสอนเรา คือรุ่นบรรพบุรุษเขาสอนด้วยภาพทำให้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดี         ตอนนี้บ้านเมืองเราเจริญรุ่งเรืองต่างๆ เต็มไปหมด แต่เรื่องจิตใจตกต่ำถอยหลังจะเป็นคนป่าคนดงแล้วก็ว่าได้ เราจะเอาอย่างไรดี เป็นคนป่าคนดงก็ดีขับเครื่องบิน คนป่าคนดงขับรถยนต์ก็ไม่ว่าอะไร ก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราคิดว่าคนไทยน่าจะเป็นชนเผ่าที่ดีงามที่สุดในโลก ถ้าเราตีความแบบนี้ ผมคิดว่ามันน่าทุ่มมาก ทำให้ฟื้นขึ้นมา แล้วบ้านเมืองเราจะไม่ต้องไปกังวลเรื่องกินเรื่องอยู่เลย มันสมบูรณ์มาก ทำไมเราต้องไปแข่งกับคนอื่นเขา แข่งอะไร ของเรามีน้ำที่ดี มีดินที่สมบูรณ์ มีอากาศที่ดีๆ อย่างเราว่าหนาวลองไปอีกที่ๆ หิมะตกทั้งเดือน เลยประเทศเกาหลีไปก็ไม่น่าอยู่แล้ว ประเทศไทยดีที่สุดแล้วผมเชื่อว่าเป็นตำแหน่งที่พอดี ทางสายกลางดีมากๆ ในทุกๆ เรื่องแม้กระทั่งตัวคนไทยเอง ประเทศไม่ใหญ่ประชากรก็ไม่มาก ทุกอย่างมันพอดีหมดเลย วัด โบสถ์ มัสยิด สวยงามไปหมด พอภาพเป็นอย่างนี้ ถามว่าเกิดมาเป็นคนไทยทำไม ทำไมต้องอยู่ในผืนแผ่นดินไทย ต้องคิดแล้วนะครับ บางทีเราก็คิดว่าเราเป็นคนไทยทำไม ก็ไม่รู้ ก็เกิดมาเป็นคนไทยก็เป็นคนไทย แล้วเกิดมาเป็นคนไทยแล้วต้องทำอะไรเพื่อบำเพ็ญตน  ถ้าคนไทยทุกคนค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องชีวิต การบำเพ็ญตนมาที่หนึ่งจะทำอะไรก็มีความสุข จะอยู่ที่ไหนก็มีความสุขได้ ยกตัวอย่างเช่น ใครบอกว่าอยากเกิดมาเพื่อเป็นหมอ ใครอยากเกิดมาเพื่อเป็นนายก ไม่มีนะ แต่ถ้าหากว่าไม่รู้จักหลักธรรม แล้วเป็นหมอนี่มันมีความสุขจริงไหม เป็นนายกแล้วมีความสุขจริงไหม แต่เราก็รู้ว่าเป็นยามนี่ทุกข์แน่ แต่ถ้าคนไทยที่บอกว่าเกิดมาเพื่อบำเพ็ญตนไม่ว่าจะเป็นยามเป็นหมอเป็นนายก คุณจะมีความสุขเหมือนๆ กัน เพราะว่าคุณค่าของคุณไม่ได้วัดว่าที่แบงค์ คุณมีจำนวนเงินเท่าไหร่ มันวัดอยู่ที่หัวใจของคุณว่ามีความปีติขนาดไหน ถ้าเราทำแล้วใจเรามีความสุขนั่นคือมีความสุขแล้ว ถ้าคนไทยเราเกิดมาเพื่อบำเพ็ญตน พอรู้ตรงนี้แล้วเอาอะไรมาบำเพ็ญ เอางานที่ทำมาขัดเกลาจิตใจตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ  ตรงนี้ของผมมาได้ที่ฉือจี้ ถ้าทุกคนมีค่านิยมแบบนี้ ค่านิยมทางตะวันตกที่บ้าบอคอแตกทำอะไรเราไม่ได้ แต่เราไม่ได้ปฏิเสธความเจริญรุ่งเรือง ไม่ได้ปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เรายอมรับที่สุดคือเรื่องจิตใจ พัฒนาจิตใจท่ามกลางความเป็นอยู่ที่พัฒนาต่อไป มีอะไรมาทำๆ เอาสิ่งนั้นมาขัดเกลาจิตใจตนไม่ใช่ไปเป็นทาสมัน เอามาเป็นเครื่องมือเรา  มาทำให้ใจเราสะอาดขึ้น ดีขึ้น งานของฉือจี้มีอะไรบ้าง         ภารกิจด้านต่างๆ มันขัดเกลาจิตใจเรา เรามีทั้งหมด 4 ภารกิจ อาจารย์เรา ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนต้องการขัดเกลาจิตใจมนุษย์ด้วยศาสตร์ เพราะเป็นเป้าหมายเดียวและเป็นเป้าหมายสุดท้าย แล้วเอาอะไรมาขัดเกลา มันต้องมีวิธีการ ก็ใช้หลักพรหมวิหารสี่ อันนี้พุทธใช่ไหม พรหมวิหารสี่คืออะไร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วหน้าตามันเป็นอย่างไร คนไทยผมคิดว่าส่วนมากไม่รู้นะ หรือว่าให้อธิบายก็อธิบายได้ แต่ไม่รู้ว่าทำอย่างไร อย่างผมนี่ลูกศิษย์ขงจื้อ หลายๆ คนไม่มีศาสนา อาจารย์ท่านบอกทำ 4 อย่างนี้ การกุศล การรักษาพยาบาล การศึกษา และก็วัฒนธรรมที่ดีงาม อันนี้ก็คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เพราะฉะนั้นถ้ามันเป็นอย่างนี้ อิสลามมาอยู่ด้วย  ได้ไหม อยู่ได้ ศาสนาคริสต์ก็มาอยู่ด้วยได้ การกุศล การรักษาพยาบาล การศึกษา วัฒนธรรมที่ดีงาม         การกุศลก็คือการบำบัดทุกข์การบำรุงสุข คนเขาทุกข์มาก เราก็ไปบำรุงสุขให้เขา ขาดเงินเอาเงินให้ ขาดของเอาของให้ ขาดอะไรให้อะไรเพื่อให้เขาสุขขึ้นมา บำรุงสุข นี่ใช่การกุศลไหม ใช่การกุศล เมตตา กรุณา บำบัดทุกข์เป็นอย่างไร เจ็บป่วยทำอย่างไรให้เขาทุกข์น้อยลงก็คือการรักษาพยาบาล ต่อมาก็คือมุทิตา มุทิตาตรงนี้ก็คือทำอย่างไรให้เกิดความปีติยินดีอยู่เรื่อยๆ ผมยังไม่อยากจะใช้คำว่าตลอดเวลาเพราะเรายังเป็นปุถุชนคนธรรมดา ไม่ว่าเราจะเป็นยาม หรือคนขายผักที่หน้าตลาดหรืออะไรก็ช่าง แต่ถ้าเรามีความยินดีอยู่ตลอด คืออยู่บ่อยๆ เกิดความสุขไหม แน่นอนอยู่ดีๆ จะมีความสุขไม่ได้หรอก มันต้องเกิดจากการขัดเกลาจากการบำเพ็ญ เขามาผิดกับเรา เราให้อภัยเขา ยกตัวอย่างเช่น เขาทำผิดเราทำถูก เราอภัย หรือว่าเราทำผิดเราไปขอโทษ อะไรต่างๆ เหล่านี้ พออย่างนี้ พอปมต่างๆ มันไม่มีในหัวใจ มันมีความยินดี คนเราถ้าไม่มีปมหัวใจมันมีความยินดีไหม คือไม่ไปโกรธไปเคืองใครมันก็ตลอดเวลา มันไม่ทุกข์ อันนี้คือการศึกษา อันที่สี่วัฒนธรรมที่ดีงามอันนี้หัวใจเลย วัฒนธรรมที่ดีงาม เรื่องการแยกขยะ เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจด้วยไหม         เราบอกมีสี่ภารกิจใช่ไหม มันมีลำดับของมันนะครับ เมื่อกี้บอกการกุศล การรักษาพยาบาล การศึกษา วัฒนธรรม หนึ่งภารกิจท่านธรรมาจารย์ผู้ก่อตั้งใช้เวลา 10 ปี หนึ่งภารกิจสิบปี สิบปีที่สอง การรักษาพยาบาล สิบปีที่สามการศึกษา 10 ปี ที่สี่วัฒนธรรมที่ดีงาม พอเวลาผ่านไปคนเยอะขึ้น อาสาสมัครเยอะขึ้น ผ่านไปเกือบสี่สิบปีแล้ว อาสาสมัครมีทั่วแล้ว อาจารย์ก็บอกว่าอาจารย์ไปสะดุดตาเดินผ่านตลาดมีแต่ขยะ เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนโน้น พอไปเที่ยวเก็บ  ก็บอก คนจีนพอพระเทศน์ดีเขาปรบมือนะเขาไม่พนมมือสาธุนะ อาจารย์บอกว่าอย่าปรบมือนะเอาสองมือนี้ไปแยกขยะ ได้ครับๆ เป็นลูกศิษย์อาจารย์ เป็นอาสาสมัครทำไมไม่ได้เพราะศรัทธา ท่านมีวิสัยทัศน์แต่ตอนนั้นไม่ได้บอกว่าทำไม         แต่ด้วยความศรัทธาเรารู้ว่าเป็นพระที่มีวิสัยทัศน์และมีปัญญามาก ก็ไปแยกที่ไหนแยกที่บ้าน ทำที่บ้านก่อนเสร็จแล้วบ้านผมอยู่ในหมู่บ้านมันมีที่ว่าง ว่างอยู่ที่หนึ่งก็ทำก่อนแล้วบังเอิญคุณก็เป็นเพื่อนผมแล้วรู้จักกันแล้วเป็นชาวฉือจี้ด้วยกัน บอกว่าให้ใช้บ้านผมแล้วกันเอามากองๆ รวมกันแล้วมาแยก เริ่มจากตรงนี้ แล้วค่อยๆ ไปบอกชาวบ้าน มีไหมหนังสือพิมพ์เก่าๆ มีไหมขวดพลาสติก มีไหม พอนานๆ เข้ามันโต ชุมชนนี้ก็มานัดกันบอกว่าทุกวันพุธ  มันจะมีโรงแยกขยะใหญ่จะมารับจุดย่อย ตรงนี้สำคัญ เริ่มต้นที่ไหนก่อนเริ่มที่บ้านที่ครอบครัว บทนำจาก บทความ “รู้จักมูลนิธิฉือจี้” https://www.tzuchithailand.org/th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 อาคม : พุทธกับไสย (และวิทยาศาสตร์) ต่างก็ไปด้วยกัน

โลกตะวันตกมีคำอธิบายว่า ยิ่งสังคมเจริญก้าวหน้าไปมากเท่าไร มนุษย์ก็จะยิ่งเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลที่จะใช้ตอบคำถามต่อความเป็นจริงรอบตัวมากขึ้นเท่านั้น แต่กระนั้นก็ตาม สำหรับสังคมไทยแล้ว คำอธิบายดังกล่าวกลับถูกหักล้างด้วยข้อเท็จจริงที่ต่างออกไปว่า ยิ่งสังคมทันสมัยหรือลัทธิวัตถุนิยมจะซัดกระหน่ำสังคมมากเท่าไร มนุษย์ก็ยังคงมีคำถามบางอย่างที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลมิอาจขานไขคำตอบได้มากขึ้นเช่นกัน หากข้อหักล้างข้อหลังนี้เป็นคำตอบที่ “based on” ความเป็นจริงในสังคมไทยที่แท้จริงด้วยแล้ว คำตอบดังกล่าวก็ปรากฏให้เห็นผ่านละครโทรทัศน์แนวดราม่าสืบสวนสอบสวนแบบแฟนตาซีอย่างเรื่อง “อาคม”  จับความตามท้องเรื่องมาที่ภาพของตัวละครที่สร้างเนื้อสร้างตัวมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาหลังยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เมื่อ “ทรงพล” นักธุรกิจและประธานบริษัทใหญ่ ได้ถูกเพื่อนรักหักหลังและใส่ความว่าเขาเป็นพ่อค้ายาเสพติด จนไปถึงวางแผนลอบสังหารทรงพลจนเสียชีวิต แต่แม้บิดาจะถูกคนร้ายลอบวางระเบิดเครื่องบินตกลงกลางป่า แต่ทว่า “ทรงกลด” พระเอกหนุ่มผู้เป็นบุตรชายของเขากลับรอดชีวิตมาได้ด้วยความช่วยเหลือจาก “ฮันเตอร์” ผู้มีวิชาอาคม ซึ่งภายหลังฮันเตอร์ก็ได้ถ่ายทอดความรู้ไสยวิชาให้กับทรงกลด และเปลี่ยนชื่อเขาเสียใหม่ว่า “คิม” ชายหนุ่มภายใต้หน้ากากอาคม เพื่อกลับมาแก้แค้นกลุ่มคนที่ฆ่าบิดาและทำลายครอบครัวเขาจนภินท์พัง โดยธีมหลักของละคร ดูจะต้องการสื่อสารกับผู้ชมว่า ในขณะที่ความยุติธรรมไม่อาจแสวงหาหรือได้รับมาจากสังคมที่ล้มเหลวเกินจะเยียวยา เพราะสถาบันหลักอย่างกฎหมายหรือตำรวจไม่อาจเป็นที่พึ่งพิงของผู้คนได้นั้น ปัจเจกบุคคลอย่างคิมก็ต้องลุกขึ้นมาทวงคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวเขาเสียเอง และก็เข้าตำราที่ว่า “ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยกล ก็ต้องใช้เวทมนต์คาถาอาคม” เพราะฉะนั้น ทั้งคิมและฮันเตอร์จึงค่อยๆ ลงมือแก้แค้นศัตรูของเขาด้วยอาคมวิชาไปทีละคนๆ เมื่อเป็นดังนี้ อาคมที่เคยถูกตีตราว่าเป็น “ความรู้” แบบนอกรีตและพิสูจน์ไม่ได้ด้วยอายตนะทั้งห้าสัมผัสแห่งมนุษย์ ก็ได้กลายมาเป็น “ความรู้” ที่มีพลังอำนาจที่ถูกพระเอกคิมนำมาใช้ประโยชน์ แม้แต่กับยุคที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลเป็นระบบความคิดหลักของคนในสังคม แม้ดูผิวเผินแล้ว เรื่องของคาถาอาคมอันเป็นระบบความรู้ความคิดที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้น ดูจะเป็นสิ่งที่ยืนอยู่ “คู่ตรงข้าม” กับวิทยาศาสตร์ อันเป็นปรัชญาที่เชื่อในการพิสูจน์สรรพสิ่งให้ได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์และเหตุผลที่ยอมรับได้รองรับอยู่ แต่ทว่า ความสัมพันธ์แบบตรงข้ามกันดังกล่าว อาจไม่ใช่ระบบวิธีคิดที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทยจริงๆ ทั้งนี้ โลกทัศน์ของคนไทยมีแนวโน้มจะเชื่อว่า แม้แต่สิ่งที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ ก็คู่ขนานหรือเป็นคู่ไขว้ที่ร้อยรัดพันเกลียวกันไว้อย่างแนบแน่นได้เช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น “พุทธ” เป็น “ไสย” หรือเป็น “วิทยาศาสตร์” คนไทยก็ไม่เห็นว่าสามระบบความรู้นี้จะแยกขาดจากกันโดยสมบูรณ์ ในขณะที่กฎแห่งกรรมซึ่งเป็นความคิดความเชื่อแบบ “พุทธ” ก็ให้คำอธิบาย “กำเกวียนกงเกวียน” ที่ตัวละครได้รับผลกรรมของการทรยศหักหลังเพื่อนรักอย่างทรงกลดไล่เรียงลำดับไปทีละคน คาถาอาคมอันเป็นผลผลิตแห่ง “ไสย” ก็เป็นกลไกที่คิมใช้เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับบิดาของเขา ควบคู่ไปกับบทบาทของตัวละคร “แดน” ผู้เชี่ยวชาญไอทีที่ใช้ความรู้แบบ “วิทยาศาสตร์” ยุคใหม่ เพื่อช่วยเหลือพระเอกให้บรรลุเป้าหมายในการแก้แค้นศัตรู  พุทธ ไสย และวิทยาศาสตร์ จึงกลายเป็นความรู้ที่มิใช่จะมีเฉพาะด้านที่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกัน แต่ก็อาจจะเป็นระบบความคิดแบบสามประสานที่คนไทยใช้จัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัวนั่นเอง  ไม่เพียงเฉพาะตัวละครพระเอกคิมที่สะท้อนภาพการผนวกผสานระบบความรู้ที่เป็น “คู่ตรงข้าม” ให้เป็นคู่ไขว้เข้าไว้ด้วยกันเท่านั้น แม้แต่กับนางเอก “เอื้อกานต์” และน้องชายฝาแฝดอย่าง “ทีเกื้อ” ก็เป็นอีกสองตัวละครพี่น้องที่ฉายภาพการผสมผสานระบบความคิดที่ย้อนแย้งดังกล่าวเอาไว้ด้วยเช่นกัน ในส่วนของพี่สาวฝาแฝดอย่างเอื้อกานต์นั้น ละครได้ออกแบบให้เธอเป็นแพทย์หญิงที่ยึดจรรยาบรรณการดูแลรักษาคนไข้อย่างเต็มที่ และแม้โดยพื้นเพแล้ว ระบบความรู้แบบแพทยศาสตร์จะเชื่อมั่นในหลักการทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่คุณหมอเอื้อกานต์กลับเป็นตัวละครที่มีพลังพิเศษของสัมผัสที่หก มีพลังจิตที่หยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าต่างๆ ได้ และสามารถใช้พลังจิตนั้นรักษาโรคให้กับผู้ป่วยได้อย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยภาพของตัวละครคุณหมอหญิงเช่นนี้ วิทยาศาสตร์หรือระบบเทคนิควิทยาด้านการแพทย์ จึงมิใช่ชุดความรู้เดียวที่อธิบายการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ แต่กลับกลายเป็นความคิดความเชื่อที่ได้ปรับปรนผสมผสานกับระบบความรู้เหนือธรรมชาติเพื่อใช้แก้ไขปัญหาของตัวละครต่างๆ ไปในเวลาเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกับน้องชายฝาแฝดอย่างทีเกื้อ ที่แม้โดยวิชาชีพจะเป็นนายตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งต้องเชื่อมั่นในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ บนความถูกต้องของระบบกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม แต่เพราะอีกด้านหนึ่ง ร.ต.อ.ทีเกื้อ ก็มีพลังจิตพิเศษไม่ต่างจากพี่สาว เขาก็อาศัยพลังจากสัมผัสที่หกมาเป็นเครื่องมือสืบค้นเรื่องราวอาคมที่วิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่อาจหยั่งถึงได้นั่นเอง เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินมาถึงฉากจบ พระเอกคิมผู้สามารถทวงคืนความยุติธรรมที่บิดาถูกกล่าวหาใส่ความได้ ก็เลือกที่จะทิ้งหน้ากากอาคมให้ลอยล่วงกลายเป็นควันสีขาว และกลับมาเป็นตัวละครทรงกลดที่เลือกเดินทางชีวิตสายใหม่ท่ามกลางความสุขกับคุณหมอเอื้อกานต์ แต่ถึงกระนั้น ปริศนาธรรมที่ละครได้ทิ้งเอาไว้ให้เราคิดถามต่อก็คือ ตราบใดที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลไม่ใช่เพียงคำตอบเดียวหรือคำตอบสุดท้ายของมนุษย์เราได้แล้ว ตราบนั้นความเร้นลับของหน้ากากอาคมก็อาจจะไม่สูญสลายกลายเป็นอากาศธาตุไปได้จริงๆ หรอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 พุทธฉือจี้ ต้นแบบขบวนการทำความดี

“ฉือจี้” คำนี้เริ่มกลายเป็นคำคุ้นชินของบุคลากรทั้งในแวดวงการศึกษา ศาสนา สุขภาพ หรือแม้แต่องค์กรภาคเอกชนในประเทศไทยมากขึ้นทุกที ในฐานะองค์กรการกุศลที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติในนามเต็มว่า  “มูลนิธิพุทธฉือจี้” (Tzu Chi Foundation) องค์การกุศลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของไต้หวัน เมื่อเอ่ยนามไต้หวัน หลายๆ คนคงนึกออกแค่ภาพหมู่เกาะเล็กๆ ที่มีประชากรเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ โดยมีลักษณะการปกครองที่เป็นตัวของตัวเองไม่ได้ขึ้นกับจีนแผ่นดินใหญ่  แต่ถึงแม้จะเล็ก ระดับความเจริญทางเศรษฐกิจและเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาที่นี่ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก   ถ้ามีโอกาสไปไต้หวันคุณจะเห็นภาพนักบวช(ทั้งสตรีและบุรุษ) เดินปะปนไปกับผู้คนทั่วไปอย่างกลมกลืน รวมทั้งวัดจำนวนมากมายที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่วัดพุทธ เต๋าหรือขงจื้อ แต่ยังมีโบสถ์ของคริสต์และมัสยิดของอิสลามรวมอยู่ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญของไต้หวันให้เสรีภาพกับประชาชนในการนับถือศาสนาโดยไม่มีองค์กรกลางด้านศาสนามากำกับดูแล ทำให้ความเชื่อและแนวปฏิบัติหลากหลายเติบโตได้อย่างเต็มที่ในดินแดนนี้ ที่จะต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษคือ การให้โอกาสผู้หญิงบวชเป็น “พระภิกษุณี” ได้เท่าเทียมกับผู้ชาย ประมาณกันว่าพระในพระพุทธศาสนา(นิกายมหายาน) เป็นพระภิกษุ(ชาย) ราวร้อยละ 30 และภิกษุณี(หญิง) ร้อยละ 70 ซึ่งศาสนาพุทธนิกายมหายานเป็นที่ยอมรับมากที่สุด โดยมีประชากรราว 8 ล้านคนในไต้หวันเป็นศาสนิก เหตุที่ต้องเอ่ยถึงลักษณะพิเศษที่ประเทศนี้มีภิกษุณีจำนวนมาก ด้วยว่าเราจะเอ่ยถึงมูลนิธิพุทธฉือจี้ไม่ได้เลย หากไม่เอ่ยนามภิกษุณีท่านหนึ่ง ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ผู้ที่เป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณและเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้   เริ่มจากเงินออมวันละ 50 เซนต์ มูลนิธิพุทธฉือจี้ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2509 โดยท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ร่วมกับลูกศิษย์ และผู้ร่วมอุดมการณ์ราว 30 คน ซึ่งได้แก่แม่บ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบวัดจิงเส้อ ที่เมืองฮวาเหลียน เมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน ถือว่าเป็นดินแดนที่มีความทุรกันดารมากแห่งหนึ่ง งานเริ่มแรกของมูลนิธิพุทธฉือจี้คือการสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ ด้วยหลักธรรมแห่งพุทธมหายานนั้น มุ่งเน้นที่การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากหรือบรรดาสรรพสัตว์ต่างๆ ให้หลุดพ้นจากห้วงกรรมเสียก่อน หรือพูดให้ง่ายก็คือ ต้องช่วยเหลือคนอื่นก่อน โดยเฉพาะคนยากไร้ คนที่ถูกทอดทิ้งไร้ที่พึ่งพิง กิจกรรมแรกของท่านธรรมาจารย์คือ ขอให้ลูกศิษย์ประหยัดค่ากับข้าวคนละ 50 เซนต์(เทียบแบบง่ายๆ ก็คือ 50 สตางค์) ต่อวัน โดยเก็บออมไว้ในกระบอกไม้ไผ่เพื่อนำมาช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้คน  โดยเมื่อแรกก่อตั้งนั้นอาจช่วยเหลือผู้คนได้ไม่มาก แต่ปัจจุบันไม่น่าเชื่อว่า มูลนิธิพุทธฉือจี้สามารถช่วยเหลือผู้คนไม่เพียงในไต้หวันเท่านั้นแต่เป็นผู้คนทั่วโลกได้มากมายหลายล้านคน ในขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมอุดมการณ์ฉือจี้ก็มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนทั้งในไต้หวันและต่างประเทศ ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ภารกิจ 8 ประการของมูลนิธิพุทธฉือจี้ (1) งานการกุศล สงเคราะห์ผู้ยากไร้ (2) บรรเทาอุบัติภัย ทั้งระดับท้องถิ่นและสากล (3) บำบัดความเจ็บป่วยด้วยการแพทย์เปี่ยมจริยธรรม (4) การศึกษาที่ทำให้คนเป็นคนที่สมบูรณ์ มีความละเมียดละไมในการใช้ชีวิต (5) การสร้างสรรค์สังคมคุณธรรม (6) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (7) ศูนย์ข้อมูลไขกระดูก (8) อาสาสมัครชุมชน ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   รูปธรรมของการขับเคลื่อนภารกิจทั้ง 8 ประการของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ได้แก่ โรงพยาบาลฉือจี้ ที่มีมากถึง 7 แห่งในไต้หวัน ให้บริการการแพทย์ที่ทันสมัยและเปี่ยมด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ สถาบันการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัย โรงเรียนมัธยม ประถมและอนุบาล ที่พร้อมปลูกฝังคุณธรรมและความเป็นผู้มีจิตเมตตา สถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย สถานีโทรทัศน์น้ำดีที่ได้รับการโหวตจากผู้ชมชาวไต้หวันให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ทรงอิทธิพลต่อผู้ชมมากที่สุด สถานีแยกขยะ(รีไซเคิลขยะ) ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนต่างๆ เพื่อจัดการกับขยะที่ดูเหมือนไร้ค่าให้กลายเป็นทองคำ งานบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย ทั้งในประเทศและระดับสากล ด้วยคำขวัญไปถึงก่อนและกลับทีหลัง(เข้าไปเป็นกลุ่มแรกๆ และกลับออกมาเป็นกลุ่มสุดท้าย)  ธนาคารไขกระดูก เพื่อช่วยเหลือคนที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือด งานสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยากและงานอาสาสมัครชุมชน  เพื่อขัดเกลาให้ชาวฉือจี้ได้ทำงานจิตอาสาอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีในจิตใจให้งอกงาม ลดอัตตาและความเห็นแก่ตัวลง ปี 2553) มูลนิธิพุทธฉือจี้ได้รับสถานะ ที่ปรึกษาพิเศษ (special consultative status) ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสงคมแห่งสหประชาชาติ Economic and Social Council (ECOSOC) ขณะที่ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนก็ได้รับรางวัลนานาชาติ เช่น เหรียญไอเซน ฮาวร์ (Eisenhower Medallion) และได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ   เหตุแห่งความสำเร็จของมูลนิธิพุทธฉือจี้ 1.ความเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านใด ชาวฉือจี้จะมีระบบในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน และมีวินัยอันเยี่ยมยอด 2.เป้าหมายร่วมที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ชาวฉือจี้มุ่งมั่นในการทำความดีเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น โดยละวางตัวตน ทำให้ไม่เกิดความท้อแท้เบื่อหน่ายเมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค 3.ศรัทธาอันแรงกล้าต่อผู้นำองค์กร ท่านธรรมาจารย์มีวัตรปฏิบัติที่สงบ งาม เป็นแบบอย่างอันดีให้แก่ชาวฉือจี้  สิ่งที่ท่านสอนเป็นสิ่งที่ท่านทำอย่างสม่ำเสมอมิเคยขาด ทำงานหนัก อยู่ง่าย กินง่าย เบียดเบียนผู้อื่นและโลกน้อยที่สุด 4.กิจกรรมทันสมัยไม่หนีห่างจากโลก กิจกรรมที่ชาวฉือจี้ปฏิบัติเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และท้าทาย ทุกคนสามารถทำได้ เข้าถึงได้ ไม่มีใครที่เข้าร่วมขบวนการฉือจี้แล้วไม่มีอะไรทำ หรือรู้สึกสูญเปล่า 5.สมาชิกมีคุณภาพและเครือข่ายเข้มแข็ง ฉือจี้เน้นการปฏิบัติธรรมเป็นกลุ่ม บรรลุเป็นทีม ดังนั้นจะมีแนวทางหรือหลักสูตรที่ช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพการทำงานให้กับสมาชิกและอาสาสมัคร 6.มีเงินทุนเป็นของตนเอง ทุกๆ เม็ดเงินที่มีผู้บริจาคเข้ามา หรือรายได้ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ทั้งการรีไซเคิลขยะ ขายของมือสอง ของที่ระลึก เงินทั้งหมดบริหารจัดการโดยมูลนิธิฯ ด้วยความโปร่งใสมากจนเป็นที่เชื่อถือของคนทั่วไป ทำให้แต่ละปีมีผู้บริจาคเงินเป็นจำนวนมาก เงินมาใช้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมากมายไม่รู้จบสิ้น ประมาณการกันว่า เงินบริจาคที่มูลนิธิฯ ได้รับน่าจะมีมูลค่ารวมเป็นหมื่นเป็นแสนล้านเหรียญ 7.วัดไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินบริจาค ในส่วนของวัดท่านธรรมาจารย์จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินบริจาคเลย ท่านธรรมาจารย์และลูกศิษย์ ถือคติ วันไหนไม่ทำงาน วันนั้นไม่กิน มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวัด อาหารการกินมาจากแปลงผักในบริเวณวัดนี้เอง ผักเหล่านี้ภิกษุณีและอาสาสมัครฉือจี้จะช่วยกันปลูก เก็บ และนำมาประกอบอาหารเลี้ยงกันเองในวัด รวมทั้งเลี้ยงผู้มาเยือนซึ่งมีมาตลอดเวลา รวมทั้งการผลิตสินค้าอย่างเทียนไข รองเท้าสานจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้ให้แก่ทางวัด การทำงานทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ดังนั้นจึงยิ่งสร้างศรัทธาให้แก่ผู้คน 8.การสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง โดยมีรูปธรรมความสำเร็จที่ชัดเจน เช่น งานโรงพยาบาล งานวิทยาลัยแพทย์ งานบรรเทาทุกข์ ทำให้คนจำนวนมากสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย หรือแม้แต่การศึกษาดูงาน อาจกล่าวได้ว่า ถ้าไปไต้หวันใครๆ ก็อยากไปดูงานฉือจี้ 9.การสร้างคนรุ่นใหม่ ด้วยการปลูกฝังคุณธรรมให้กับนักเรียน นักศึกษาสถาบันการศึกษาของฉือจี้เอง รวมทั้งการถ่ายทอดเรื่องราวคุณธรรมต่างๆ ผ่านสถานีโทรทัศน์ที่ไม่เพียงสื่อสารกับคนในไต้หวันแต่ยังรวมถึงชาวจีนทั่วโลกด้วย 10.การสร้างพลังใจให้กับคนทำงาน มีการเก็บภาพข่าว ภาพกิจกรรม ความรู้ ประสบการณ์จากอดีตมาเสริมสร้างพลังใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้เรื่องเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ถูกมองข้าม การสื่อสารองค์กร ทำให้เกิดการเรียนรู้ในความสำเร็จและชื่นชมในความดีความงามของสมาชิกและอาสาสมัครตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงปัจจุบัน ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาวฉือจี้ได้เป็นอย่างดี   การเข้าเป็นอาสาสมัครฉือจี้ การเข้าเป็นอาสาสมัครฉือจี้นั้นเป็นการมาโดยสมัครใจ  ไม่มีใครบังคับและทำการทุกอย่างด้วยความสมัครใจตามอรรถภาพที่แต่ละคนมีอยู่ และเปิดกว้างให้กับคนทุกชาติ  ศาสนา  เพราะการช่วยเหลือของมูลนิธิพุทธฉือจี้ เป็นการ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทุกคนที่ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่เลือกชาติ  ศาสนาหรือชนชั้น  เพศ  วัย  โดยถือว่าทุกคนในโลกใบนี้เป็นคนในครอบครัวเดียวกันเมื่อตกทุกข์ได้ยากก็ต้องช่วยเหลือกัน อาสาสมัครของฉือจี้มีหลายประเภท 1.อาสาสมัครชุดน้ำเงินขาว ผ่านการอบรมอย่างน้อย 2 ปี เพื่อพัฒนาขึ้นไปเป็นอาสาสมัครโรงพยาบาลและอาสาสมัครพ่อแม่อุปถัมภ์ 2.อาสาสมัครการศึกษา ผ่านการอบรมแนวคิดการเป็นครูแบบฉือจี้อย่างน้อย 2 ปี เพื่อพัฒนาขึ้นไปเป็นอาสาสมัครสมาคมครู 3.อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการอบรมอย่างน้อย 1 ปี ประจำอยู่ตามหน่วยสาธิตการเก็บแยกขยะทั่วเกาะไต้หวัน 4.อาสาสมัครแพทย์ฉือจี้ระหว่างประเทศ และยังมีอาสาสมัครในอาชีพอื่นๆ อีก เช่น ตำรวจ เป็นต้น   ทำความดีแบบฉือจี้ไม่มีเบื่อ หลายๆ คนอาจเคยได้ลองสัมผัสงานจิตอาสา โดยเฉพาะปลายปีที่แล้วที่บ้านเราพบเจอกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคกลาง ในท่ามกลางความงดงามของความมีน้ำจิตน้ำใจที่คนหันมาช่วยเหลือกัน แต่ก็มีภาพและเสียงสะท้อน ที่บอกถึงความไม่เป็นมืออาชีพในการทำงานจิตอาสา หลายคนบ่นท้อแท้ หลายคนไม่ชอบใจที่ไปความตั้งใจดีแต่กลับพบความไม่มีระบบระเบียบในการดูแลเรื่องข้าวของบริจาค หรือถูกต่อว่าต่อขานโดยคนที่ตนเองเข้าไปช่วยเหลือ ฯลฯ อาจเพราะพวกเรายังใหม่ ส่วนใหญ่ก็มีแต่ใจที่อยากจะช่วย การมีแต่ใจแต่ขาดการจัดการ ส่วนใหญ่แล้วจะทำให้บั่นทอนกำลังใจลงไปเสียมาก จนหลายคนไม่อยากทำ หรือเบื่อหน่ายที่จะทำความดี รู้สึกว่าอยู่เฉยๆ ดีกว่า หรือบางคนก็มีศักยภาพที่สูงมากกว่าที่จะมานั่งแพ็กของ แพ็กกระสอบทราย แต่ที่ฉือจี้ อย่างที่ได้กล่าวไป ที่นี่ทำงานแบบมืออาชีพ งานอาสาสมัครหรือจิตอาสาของฉือจี้ ทำแล้วไม่มีเบื่อ ส่วนหนึ่งก็เพราะ 1.ทำด้วยความเข้าใจ พากเพียรไม่ลดละ 2.ผ่อนคลาย สมดุลทั้งกายและใจ 3.ให้เกียรติผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือและละวางตัวตน 4.ได้รับการดูแลจากพี่เลี้ยง ไม่ปล่อยให้ทำงานลำพัง 5.ไม่หักโหม มีขั้นตอน มีพักผ่อน มีช่วงลงแรงแข็งขัน การทำงานอาสาสมัครของฉือจี้ จะเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว นานๆ เข้าก็เลื่อนขั้นสูงขึ้น ได้ทำงานที่ได้ฝึกฝนตนเองมากขึ้น มีการดูแลจากพี่เลี้ยงไม่มีการทำเกินกำลัง จึงมีเวลาบ่มเพาะความเข้มแข็งทีละน้อย โดยไม่ต้องรู้สึกฝืนตัวตน จริงๆ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ อาจเป็นเป็นข้อแรกเลยก็คือ ทุกคนมีความศรัทธาในตัวท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน จึงพร้อมละวางตัวตนได้อย่างง่ายดายและมีท่านเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตัว ท่านธรรมาจารย์สอนให้ชื่นชมผู้อื่น ไม่เน้นวิจารณ์หรือตำหนิติเตียน เพราะทั้งสองนี้เป็นที่มาของความขัดแย้ง ความไม่สบายใจและความแตกแยก ที่ฉือจี้สอนว่า หากเห็นผู้อื่นมีข้อบกพร่อง ก็จะยกให้กับกฎแห่งกรรมเป็นผู้ลงโทษ แล้วจะคิดไปในเชิงบวก “รู้จักพอเพียง เคร่งครัดที่ตน ผ่อนปรนผู้อื่น” เห็นความสำคัญของการให้เกียรติกันและให้อภัย ทำให้ความขัดแย้งทั้งภายนอกและภายในใจลดน้อยลง ในการให้ความช่วยเหลือ แม้เปี่ยมด้วยเมตตา แต่ก็ต้องใช้ปัญญากำกับเสมอ การดำเนินงานจึงจะถูกต้อง เช่น ครั้งหนึ่งเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในไต้หวัน นอกจากอาสาสมัครจะได้ออกไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เพื่อผ่อนคลายความเดือดร้อนเฉพาะหน้าแล้ว ฉือจี้ยังสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ให้แก่ชุมชนใหม่ถึง 51 แห่ง โดยกำหนดเป้าหมายสร้างอย่างแข็งแรงและทนแรงแผ่นดินไหวได้ถึง 7 ริกเตอร์เพื่อไม่ให้โรงเรียนพังลงมาทับเด็กจากเหตุแผ่นดินไหวอีก ทั้งที่ตอนที่พังลงมานั้นมีความแรงไม่ถึง 7 ริกเตอร์ แสดงให้เห็นถึงการมองถึงอนาคตเพื่อผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ที่สำคัญทุกขั้นตอนมีการวางแผนบริหารจัดการอย่างดี การให้ความช่วยเหลือของฉือจี้จะเริ่มด้วยการประเมินสถานการณ์ก่อน ประเมินความต้องการ ดูเรื่องการขนส่ง การเข้าถึง การคำนึงถึงผู้ประสบภัยว่าต้องการสิ่งใดบ้าง เพื่อให้ของที่ไปถึงมือผู้รับไม่สูญเปล่าและตรงกับความต้องการ และมีการติดตามผล(ฉือจี้ไม่มีการนำข้าวสารไปให้ในพื้นที่ ที่ไม่สามารถหุงหาอาหารได้ ฉือจี้มีข้าวกึ่งสำเร็จรูปที่แค่แช่น้ำก็กินได้ นอกจากนั้นยังมีข้าวของจำเป็นอีกหลายอย่างที่ชาวฉือจี้พัฒนาขึ้นภายหลังการเรียนรู้จากการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกครั้ง) สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิพุทธฉือจี้ สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tzuchithailand.org   ข้อมูล วิชัย โชควิวัฒน์. ไปไหว้พระโพธิสัตว์ที่ไต้หวัน.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ.กรุงเทพ,2553. พระเดิมแท้ ชาวหินฟ้า.พุทธฉือจี้ พุทธที่ไม่เคยเห็นมาก่อน.กองทุนสื่อพุทธฉือจี้,2551.   ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนผู้เป็นประมุขของชาวฉือจี้นั้น เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 ที่ตำบลชิงสุ่ย เมืองไทจุง ซึ่งอยู่ตอนกลางของไต้หวัน พ่อแม่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของอา จึงนับถืออาเป็นเหมือนพ่อแม่ที่แท้จริง เมื่ออายุได้ 15 ปี แม่ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร ท่านอาจารย์ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้มารดาหายป่วย โดยขอลดอายุของตนเองลง 12 ปี และจะกินมังสวิรัติเพื่อเป็นการสร้างกุศล แต่เมื่ออายุได้ 20 ปี บิดาของท่านก็ล้มป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงและเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ท่านอาจารย์มีความสะเทือนใจมาก ในที่สุดก็ตัดสินใจปลงผมตนเองถือบวช เร่ร่อนไปทางแถบตะวันออกของไต้หวันซึ่งเป็นเขตทุรกันดาร ผู้คนยากจนมาก ท่านไม่ออกรับบิณฑบาตจากชาวบ้านเพราะไม่ต้องการให้ชาวบ้านเดือดร้อน ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายด้วยการเก็บถั่วลิสงและมันเทศที่หลงเหลือจากการเก็บเกี่ยวของชาวบ้านมาเป็นอาหาร จนกระทั่งปี พ.ศ. 2504 ท่านได้เดินทางมาพำนักที่เมืองฮวาเหลียน และได้พบกับพระอาจารย์ยิ่นซุ่นซึ่งรับเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ โดยได้สั่งสอนหลักสั้นๆ ว่า “เมื่อบวชแล้ว จงทำทุกอย่างเพื่อพุทธศาสนาและมวลมนุษย์” หลังจากนั้นท่านธรรมาจารย์และผู้ร่วมอุดมการณ์ ได้มาสร้างกระท่อมเล็กๆ หลังวัดผู่หมิงที่ฮวาเหลียนเป็นที่พำนัก โดยมีศิษย์ไม่กี่คนติดตามมาด้วย ท่านอาจารย์และสานุศิษย์ทุกคนต้องทำงานอย่างหนัก ต่อสู้กับภัยธรรมชาติทุกรูปแบบ อยู่แบบอดมื้อกินมื้อ ตามกฎที่ท่านตั้งไว้ว่า “วันใดไม่ทำงาน วันนั้นจะไม่กิน” กล่าวคือ นอกจากจะปลูกผักไว้กินเองแล้ว ยังทำสินค้าออกจำหน่ายเพื่อหาเงินมาประทังชีวิตด้วย เช่น นำด้ายจากโรงงานที่เขาทิ้งแล้วมาถักเป็นเสื้อกันหนาว ถักรองเท้าเด็กขาย เย็บถุงสำหรับใส่อาหารสัตว์ เป็นต้น ปี พ.ศ. 2509 ท่านธรรมาจารย์ประสบเหตุอันทำให้กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง เมื่อไปเยี่ยมอุบาสกผู้หนึ่งที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนที่ฟงหลิน ท่านไปพบกองเลือดกองใหญ่นองอยู่บนพื้น สอบถามได้ความว่าเป็นกองเลือดของผู้หญิงชนบทแท้งลูก ญาติพามาโรงพยาบาลใช้เวลาเดินทาง 7-8 ชั่วโมง แต่ต้องพากลับไปรักษาที่อื่นเพราะไม่มีเงิน 8,000  เหรียญสำหรับจ่ายค่ามัดจำก่อนที่แพทย์จะลงมือผ่าตัดช่วยชีวิต เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ท่านอาจารย์ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจะต้องทำงานเพื่อหาทางช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่ขาดที่พึ่งพิง และในที่สุดก็เกิดความคิดที่จะรวบรวมชาวพุทธเข้าด้วยกันเพื่อร่วมกันสร้างกุศลกรรมโดยการช่วยเหลือผู้ยากไร้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยความเมตตากรุณาและไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งหากทำได้ ทุกคนก็จะเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทันที ไม่ต้องรอสวดมนต์อ้อนวอนภาวนาต่อเจ้าแม่กวนอิมเพื่อให้ได้เป็นพระโพธิสัตว์ ความทุกข์ยากในสังคมและในโลกก็จะบรรเทาเบาบางลงไปได้ นพ. อำพล จินดาวัฒนะ http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=660

อ่านเพิ่มเติม >