ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 204 พ่อยุ่งลุงไม่ว่าง : แล้วใครจะปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานเล่น?

จากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน สังคมไทยได้มอบหมายภารกิจให้ครอบครัวกลายเป็นสถาบันหลักและสถาบันแรกที่ทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะดูแลเด็กและเยาวชน ด้วยเหตุผลเบื้องต้นก็เป็นเพราะว่า ช่วงเวลาและพื้นที่ที่เด็กๆ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยมากที่สุดก็หนีไม่พ้นในปริมณฑลของสถาบันครอบครัว เมื่อครอบครัวเป็นหน่วยที่ประกอบขึ้นด้วยพ่อแม่พี่น้อง ปู่ยาตายาย ลุงป้าน้าอา และเครือญาติอีกมากมาย สมาชิกที่ใกล้ชิดชีวิตของเยาวชนนี้เองที่ต้องมีภาระรับผิดชอบขับเคลื่อนชีวิตของเด็กๆ ให้เดินไปข้างหน้าตามที่สังคมคาดหวังไว้ แต่ทว่า คำถามจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสมาชิกผู้ใหญ่ในบ้านไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวให้กับลูกๆ หลานๆ ได้แล้ว ผลต่อการเติบโตของเด็กตามความคาดหวังของสังคมจะเป็นเช่นไร ก็คงคล้ายๆ กับชีวิตของ “น้องกาโม่” ที่เกิดมาในครอบครัวที่ทั้ง “พ่อเองก็ยุ่ง” แถม “ลุงก็ยังไม่ว่างอีก” กาโม่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ถ้าหากครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ที่สังคมคาดหวังได้แล้ว จะเกิดปัญหาอันใดบ้างกับเด็กๆ ที่จะเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ ปัญหาของเด็กน้อยกาโม่เริ่มต้นเมื่อ “โต๊ด” และ “พาย” พ่อแม่วัยใสที่มีลูกตั้งแต่วัยเรียน แต่ไม่กล้าบอกกับทางบ้าน เพราะกลัวว่าตนจะถูกตัดออกจากกองมรดกของตระกูล จึงนำกาโม่มาฝากไว้ให้ “เต็ง” พระเอกของเรื่องผู้มีศักดิ์เป็นลุงคอยเลี้ยงดู และทั้งคู่ก็ตัดสินใจทิ้งลูกน้อยเพื่อไปเรียนต่อเมืองนอก ด้วยอาชีพการงานของเต็งที่เป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ที่แทบจะไม่มีเวลาว่างเอาเสียเลย กอปรกับภาระใหม่ที่ต้องมาสวมบทบาท “คุณพ่อจำเป็น” แทนน้องชาย ลุงเต็งจึงไปติดต่อเนิร์สเซอรี และได้พบกับ “ชิดดาว” ซึ่งเขาไม่เพียงแต่จ้างให้เธอมาช่วยเลี้ยงดูกาโม่เท่านั้น แต่ชิดดาวยังกลายเป็น “รักแรกพบ” ที่เต็งสะดุดตกหลุมรักเมื่อแรกเจอ ความใกล้ชิดระหว่างเต็งกับชิดดาวค่อยๆ ก่อตัวเป็นความรักขึ้นมา ยิ่งเมื่อ “โต้” แฟนหนุ่มของชิดดาวเกิดนอกใจเลือกไปคบหากับ “ละออง” ผู้จัดการดารา เพื่อหวังใช้หล่อนเป็นทางลัดหรือสะพานไต่เต้าอยู่ในแวดวงบันเทิงด้วยแล้ว ชิดดาวจึงเลือกที่จะหันมาคบหาดูใจกับเต็งแบบเต็มตัว ลุงเต็งซึ่ง “ยุ่ง” อย่างมากกับหน้าที่การงาน ก็จึงยิ่งต้อง “ยุ่ง” กับภาระแห่งหัวใจเพิ่มขึ้นไปอีก แม้ว่าความรักระหว่างเต็งกับชิดดาวจะดำเนินไปได้ด้วยดีก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งอุปสรรคขวากหนามใดๆ เลย เพราะละครได้ผูกเรื่องเอาไว้ตามสูตรตำราที่ว่า หากตัวละครเอกจะ “lucky in love” แล้ว พวกเธอและเขาก็ไม่ควรจะ “lucky in game” ได้ง่ายนัก ฉะนั้น ในฟากของเต็งเองนั้น โต้ก็คือตัวละคร “ศัตรูหัวใจ” ที่เข้ามาขัดขวางและคอยทำตัวเป็น “สุนัขหวงก้าง” ราวีทุกวิถีทางที่จะเขี่ยเต็งออกไปจากชีวิตของชิดดาว และกลั่นแกล้งเขาในหน้าที่การงานด้วยการถอดรายการโทรทัศน์ที่เต็งและเพื่อนๆ รับผิดชอบอยู่ ให้หลุดออกไปจากผังของสถานี เมื่อปัญหาการงานรุมเร้าเข้ามา เราจึงเห็นภาพฉากที่หลายๆ ครั้ง ลุงเต็งก็พกพาเอาความหงุดหงิดจากนอกชายคาเข้ามาระบายออกในพื้นที่ของบ้าน และดุว่าหลานน้อยกาโม่ ที่ดึงดื้อตามประสาเด็กด้วยอยากจะเรียกความสนใจจากคุณลุงนั่นเอง ในขณะที่ทางฟากของชิดดาวนั้น ปัญหาที่ต้องเผชิญหน้ากับคำข่มขู่ของละอองที่หึงหวงไม่อยากให้เธอเข้าไปพัวพันกับชีวิตของโต้ ทำให้ชิดดาวเลือกตัดสินใจทิ้งปัญหารุมเร้าและหลบเร้นตัวเองออกไปจากชีวิตของเต็งและกาโม่ แม้ว่าเต็งจะเคยพูดกับเธอในฐานะคนรักว่า “ผมทุ่มสุดตัว พุ่งชนปัญหามาขนาดนี้ ผมต้องการกำลังใจมากนะครับ...” ก็ตาม ด้วยเหตุที่ผู้ใหญ่ก็เอาแต่สนใจและเล็งเห็นแต่ปัญหาของตนว่าเป็นศูนย์กลางของปัญหาทั้งมวลในโลกนี้ ไม่เพียงแค่ “พ่อที่ยุ่ง” เพราะหายตัวไปกับแม่ตั้งแต่ต้นเรื่อง และ “ลุงที่ไม่ว่าง” เพราะสาละวนแต่จะแก้ปัญหาสารพันในที่ทำงาน แถมซ้ำด้วย “อาที่เอาแต่จะหนีปัญหา” แล้ว คำถามก็คือ ใครกันจะมาทำหน้าที่ “ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานของเรากัน”? เพราะสถาบันครอบครัวไม่อาจทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ตัวละครหน้าใหม่อย่าง “ทอย” ที่เป็นเพื่อนร่วมงานและแอบหลงรักเต็ง ก็กลายมาเป็นตัวกลางใหม่ที่เข้ามาแทรกกลางความสัมพันธ์ระหว่างเต็งกับกาโม่ ในขณะที่ชิดดาวตัดสินใจตีจากเต็งเพื่อหนีปัญหาทั้งปวง ทอยก็ถือโอกาสเข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคนใหม่ดูแลกาโม่แทนชิดดาวเสียเลย แม้จะมีความรักใส่ใจเด็กน้อยกาโม่อยู่บ้าง แต่ลึกๆ แล้ว ทอยก็มี “ผลประโยชน์” ที่อยากจะช่วงชิงเป็นเจ้าของหัวใจของเต็งให้ได้ เด็กน้อยจึงมิใช่ “เป้าหมาย” ที่ทอยอยากจะทำหน้าที่ฟูมฟักดูแลจริงๆ หากแต่เป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่ถูกใช้เพื่อบรรลุ “เป้าหมาย” อันเป็น “ผลประโยชน์แฝงเร้น” ของเธอเท่านั้น  ด้วยมิจฉาทิฐิที่มีอยู่ในจิตใจ ทอยก็เริ่มต้นเป่าหูให้กาโม่เป็นสะพานเชื่อมเธอเข้าไปอยู่ในหัวใจลุงเต็ง เสแสร้งเป็นแม่คนใหม่ที่คอยดูแลกาโม่ และที่สำคัญ เมื่อชิดดาวย้อนกลับมาคบหากับเต็งอีกครั้ง ทอยก็ยุแยงให้กาโม่เกลียดและทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางความรักของคุณลุง  เมื่อเทียบกับบรรดาพ่อแม่ลุงป้าน้าอาหรือสมาชิกครอบครัวด้วยกัน ที่ผลประโยชน์หลักมักจะตั้งต้นที่ตัวของเด็ก ตัวละครแบบทอยก็คือตัวอย่างของคนนอกบ้านที่พร้อมจะเสี้ยมสอนและใช้เด็กเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ของตนเสียมากกว่า  จนมาถึงตอนท้ายของเรื่อง ก่อนที่ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่จะลุกลามจนเกินเยียวยา บรรดาผู้ใหญ่ก็เริ่มหันมาทบทวนตัวเองและเข้าใจว่า บทบาททางสังคมในการดูแลบุตรหลานหาใช่การฝากฝังไว้ในมือของคนอื่น แต่เป็นภารกิจแรกๆ ที่ตนมิอาจเพิกเฉยไปได้  เริ่มจากโต๊ดและพายที่ตัดสินใจกลับมาจากเมืองนอก เพราะได้เข้าใจแล้วว่า พ่อแม่เป็นบุคคลแรกที่ต้องเลี้ยงดูเด็กน้อยโดยชอบธรรมที่สุด ในขณะที่เต็งก็เรียนรู้ว่า ภาระงานนอกบ้านก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องแลกมาด้วยความสุขความทุกข์ของหลานชายตัวน้อยได้เลย หรือแม้แต่ชิดดาวที่ตระหนักว่า การเอาแต่วิ่งหนีปัญหานั้น นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาใดๆ ได้แล้ว ยังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ลุกลามเป็นไฟไม่สิ้นไม่สุด “พ่อที่เลิกยุ่ง” กับ “ลุงที่เริ่มทำตัวว่างๆ” พร้อมกับ “อาผู้หญิงที่หันหน้ามาสู้กับปัญหา” ก็คือคำตอบแก่เราๆ ว่า อยู่บ้านของตนก็อย่ามัวนั่งนิ่งดูดายเสียเอง เพราะลูกหลานยังรอให้เราคอยอบรมดูแล หาไม่แล้วก็อาจมี “บ่างช่างยุ” จากนอกบ้าน ที่ย่างก้าวเข้ามา “ปั้นวัวปั้นควาย” ให้ลูกๆ หลานๆ เล่นแทนเรา

อ่านเพิ่มเติม >