ฉบับที่ 196 กระแสต่างแดน

ถุงลมมหาภัยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคฮาวายยื่นฟ้องฟอร์ด นิสสัน และโตโยต้า ที่เลือกใช้ถุงลมนิรภัยทาคาตะที่มีข้อบกพร่อง จนกลายเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่แทนที่จะเป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดการชน เขาให้เหตุผลว่า บริษัทรถเหล่านี้น่าจะรู้เรื่องความบกพร่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และรู้ว่าแอมโมเนียมไนเตรต(สารเคมีที่ใช้ในการปล่อยจรวด) เป็นสารที่ยากแก่การควบคุม และภูมิอากาศในฮาวายเองมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตลอดเวลา ซึ่งก็เอื้อต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมีที่จะทำให้เกิดการระเบิดของถุงลมด้วยสำนักงานดังกล่าวเรียกร้องค่าเสียหาย 10,000 เหรียญต่อรถยนต์หนึ่งคัน ซึ่งคาดว่าในฮาวายมีรถยี่ห้อดังกล่าวที่ใช้ถุงลมทาคาตะอยู่ประมาณ 30,000 คัน  ก่อนหน้านี้รัฐนิวเม็กซิโก ก็ได้ยื่นฟ้องบริษัททาคาตะและบริษัทรถยนต์ไปแล้วเช่นกัน ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย บาดเจ็บ 180 รายจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับถุงลมดังกล่าว เลือกกินไม่ได้?หลายพื้นที่ในรัฐทมิฬนาฑูและรัฐเกรละของอินเดียจัดงานเทศกาลกินเนื้อวัวเพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลกลางประกาศห้ามซื้อขายวัวเพื่อนำเข้าโรงฆ่าหลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้ผิดรัฐธรรมนูญและละเมิดเสรีภาพในการเลือกของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเนื้อวัวในอินเดียที่มีมูลค่าถึง 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย การแบนครั้งนี้จะทำให้มีคนตกงานไม่ต่ำกว่า 500,000 คนรัฐเกรละซึ่งมีประชากรที่บริโภคเนื้อวัวอยู่ถึงร้อยละ 70 นำเข้าเนื้อวัวจากรัฐอื่นไม่ต่ำกว่า 2 แสนตันต่อปี  กฎหมายใหม่จะทำให้เกิดการขาดแคลนขึ้นอย่างแน่นอนด้วยปริมาณเนื้อที่เข้าสู่ตลาดน้อยลงและบริษัทรับจ้างขนส่งที่ไม่ยินดีรับงานเพราะกลัวจะถูกทำร้ายเมื่อขับผ่านพื้นที่ ที่ต่อต้านการบริโภคเนื้อวัว รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายนเรนดรา โมดี ได้เพิ่มความเข้มงวดเรื่องการฆ่าวัว ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในศาสนาฮินดูขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งในปี 2014 อินเดียมีประชากรร้อยละ 20 ที่ไม่ได้นับถือฮินดู ไม่ปลื้มของนอกธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดจากต่างประเทศดูจะไปได้ไม่สวยนักในเวียดนาม เบอร์เกอร์คิงตัดสินใจปิดสาขาในเมืองหลักๆ อย่างโฮจิมินห์และดานังไปหลายสาขา หลายเจ้าเลือกที่จะไม่เปิดสาขาเพิ่มแม้แต่เจ้าใหญ่อย่างแมคโดนัลด์ที่เคยประกาศไว้เมื่อสามปีก่อนตอนเริ่มเข้ามาทำธุรกิจในเวียดนามว่าจะเปิดให้ได้ 100 สาขาภายใน 10 ปี ขณะนี้ก็มีเพียง 15 สาขาเท่านั้น เหตุผลหลักๆ ที่นักวิเคราะห์เขาบอกไว้ คืออาหารไม่ถูกปาก ราคาก็ไม่ถูกใจ แถมคนเวียดนามเขายังมีทางเลือกเป็นแซนวิช “บั๋นหมี่” ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามถนนในราคาย่อมเยา รสชาติโดนใจกว่าและดีต่อสุขภาพด้วย ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามได้ให้ใบอนุญาตกับธุรกิจต่างชาติ 148 แบรนด์ ในจำนวนนี้มีถึงร้อยละ 43.7 ที่เป็นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม จอดได้ แต่จ่ายเพิ่มกรุงเดลลีมีประชากร 17 ล้านคน มีรถยนต์ 10 ล้านคัน(ในจำนวนนั้น 9.5 แสนคันเป็นรถส่วนตัว) ปัญหาเรื่องรถติด มลภาวะ และการขาดแคลนที่จอดรถจึงตามมาอย่างไม่ต้องสงสัยเทศบาลเมืองจึงเสนอมาตรการรับมือกับปัญหาดังกล่าวด้วยการขึ้นค่าจอดรถบนพื้นที่ข้างถนนในกรณีต่อไปนี้ : จอดตอนกลางวัน จอดช่วงที่มีการจราจรหนาแน่น จอดช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ นอกจากนี้ใครที่มีรถมากกว่าสองคันก็จะต้องจ่ายค่าจอดมากกว่าคนอื่นที่พีคไปกว่านั้น คือค่าจอดรถในพื้นที่ใกล้ตลาดจะแพงขึ้นเป็นสามเท่า ข่าวบอกว่าเขาจะปรับค่าบริการจอดรถริมทางให้แพงกว่าการนำรถขึ้นไปจอดบนอาคารจอดรถ ส่วนใครที่จะซื้อรถใหม่ก็ต้องแสดงหลักฐานยืนยันว่ามีที่จอดด้วย ชาวเดลลีมีเวลาหนึ่งเดือน ในการแสดงความคิดเห็นก่อนที่นโยบายนี้จะประกาศใช้ เขาคำนวณไว้ว่าถ้าเป็นไปตามสูตรนี้จริง รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 6,000 ล้านรูปี (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) ย่างกุ้งได้รถเมล์ใหม่ปีนี้เป็นการดำเนินงานปีแรกของขนส่งมวลชนย่างกุ้ง(Yangon Bus System) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยกระดับบริการรถสาธารณะให้กับเมืองที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยผู้ใช้บริการวันละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน YBS นำรถเมล์ใหม่มาวิ่งแล้ว 2,600 คัน(2,000 คันเป็นของรัฐ ที่เหลือเป็นของเอกชน) เพื่อนำมาวิ่งแทนรถโดยสารรุ่นเก่าที่ทำงานล่วงเวลามาหลายปีแล้ว ทั้งนี้เจ้าของรถเก่าเหล่านั้นสามารถนำรถไปส่งที่โรงหลอมแล้วรับคูปองไปเป็นส่วนลดในการซื้อคันใหม่ได้ตามแผนนี้ผู้ประกอบการรายเดิมจะมี 3 ทางเลือก ได้แก่ เลิกกิจการ เข้าร่วมเป็นรถของ YBS หรือเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) ทั้งนี้โครงสร้างรายได้สำหรับคนขับจะเป็นการรับเงินเดือนแทนการ “ทำยอด” เหมือนก่อนรัฐบาลพม่าจะต้องใช้งบประมาณ 70,000 ล้านจัต(ประมาณ 17,000 ล้านบาท) ในการจัดซื้อรถเมล์ทั้งหมด 3,000 คัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 เฟรนช์ฟราย จานด่วน อันตราย

  เฟรนช์ฟราย ของอร่อยที่มากับความน่ากลัว (รึเปล่า) หากพูดถึงร้านอาหารจานด่วนหรือร้านฟาสต์ฟู้ด ผมมั่นใจได้ว่าเฟรนช์ฟรายจะมาเป็นลำดับต้น ๆ ของรายการอาหารในร้านอาหารจานด่วนที่ท่านผู้อ่านจะนึกถึง เฟร้นช์ฟรายหรือมันฝรั่งแท่งทอดมีต้นกำเนิดมาจากประเทศเบลเยียมในปี ค.ศ. 1680 ภายหลังได้แพร่กระจายไปหลายประเทศในยุโรปจนมาถึงประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1856 โดยพ่อครัวชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่งทำอาหารชนิดนี้และนำไปเสิร์ฟให้กับประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา ในชื่อสั้น ๆ ว่า ฟราย (Fries) และกลายเป็นรายการอาหารหลักในร้านฟาสต์ฟู้ด จัดว่าเป็นหนึ่งในอาหารที่ทำกำไรได้มากที่สุดของร้านอาหารจานด่วนต่างๆ ทั่วโลกรวมไปถึงประเทศไทย   เพื่อทดสอบความปลอดภัยของเฟรนช์ฟรายที่บริโภคกันอยู่ในปัจจุบัน ทางโครงการพัฒนากลไกการ เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคจึงได้เก็บตัวอย่างเฟรนช์ฟราย จำนวน 30 ตัวอย่าง ในการเก็บตัวอย่างจำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน 2552 เก็บตัวอย่างจากร้านอาหารจานด่วน หรือฟาสต์ฟู้ดเฟรนไชส์ใหญ่ จำนวน 6 ยี่ห้อ ได้แก่ เคเอฟซี แมคโดนัลด์ เชสเตอร์กริลล์ เบอร์เกอร์คิง เอแอนด์ดับบลิว และมอสเบอร์เกอร์ ในกรุงเทพมหานคร กับ ร้านเคเอฟซี จำนวน 2 สาขาในจังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากนี้ยังได้เก็บตัวอย่างเฟรนช์ฟรายจากร้านอาหารจานด่วนขนาดเล็ก อีก 2 ร้าน คือร้านยูเฟรนและร้านอีสานคลาสสิคในจังหวัดสมุทรสงคราม การเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมีนาคม 2553 จากร้านอาหารจานด่วนเฟรนไชส์ขนาดใหญ่ จำนวน 4 ยี่ห้อ ได้แก่ เคเอฟซี แมคโดนัลด์ เชสเตอร์กริลล์ และเบอร์เกอร์คิง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กับ ร้านเคเอฟซี จำนวน 2 สาขาในจังหวัดสมุทรสงคราม การเก็บตัวอย่างครั้งที่ 3 เก็บตัวอย่างซ้ำของครั้งที่ 1 และ 2 ในเดือนเมษายน 2553 ดำเนินการเก็บตัวอย่างจากร้านอาหารจานด่วนเฟรนไชส์ขนาดใหญ่จำนวน 6 ยี่ห้อที่เก็บเมื่อการเก็บตัวอย่างครั้งแรกเดือนพฤศจิกายน 2552 รวม 9 ตัวอย่าง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และตัวอย่างจากร้านเคเอฟซีอีก 2 สาขา จำนวน 4 ตัวอย่าง กับตัวอย่างจากร้านยูเฟรน และร้านทีสเต็ก รวม 4 ตัวอย่าง ในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยตรวจหาปริมาณเกลือ (Salt) ไขมันทรานส์ (Trans fat) และค่าของกรด (Acid Value) ผลการทดสอบ(3 ครั้ง) พบว่า• เกลือหรือโซเดียมยังสูง...น่าห่วงการทดสอบปริมาณเกลือหรือโซเดียมในเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่ที่เก็บเมื่อเดือนมีนาคม 2553 นั้นทั้ง 6 ตัวอย่างของเฟรนช์ฟรายที่ทดสอบ มีปริมาณเกลือในระดับที่สูงและจัดว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อไตได้หากมีการบริโภคติดต่อกันในระยะยาว โดยมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 1.48 กรัม/100 กรัม เทียบน้ำหนักต่อห่อของเฟรนช์ฟรายจะพบว่า 1 ห่อมีน้ำหนักอยู่ที่ 150 – 200 กรัม ซึ่งหากใช้ปริมาณเฉลี่ยที่ตรวจพบเป็นฐานคิดจะพบว่าในการบริโภคเฟรนช์ฟราย 1 ห่อจะได้รับเกลือเข้าร่างกายประมาณ 2.2 กรัม – 2-9 กรัม/หน่วยบริโภค ซึ่งเกือบจะเทียบเท่าหรือสูงกว่าปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทย(Thai RDI) ที่ระบุไว้ว่าควรบริโภคโซเดียมน้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัมหรือ 2.4 กรัมต่อวัน   • ไขมันทรานส์ ต่ำกว่าเกณฑ์เป็นอันตรายการทดสอบไขมันทรานส์ (Trans fat) ที่เป็นตัวเพิ่มระดับโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL: low-density lipoprotein) ในเลือดและลดระดับโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL: high-density lipoprotein) ในเลือด อันก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น พบว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยในการบริโภค โดยพบไขมันทรานส์ในทั้ง 10 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจในการเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ด้วยอัตราเฉลี่ย เท่ากับ 0.09 กรัม/100 กรัม หรือเท่ากับ 0.14 – 0.18 กรัม/หน่วยบริโภคที่ 150 – 200 กรัม ในการเก็บตัวอย่างครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมีนาคม 2553 พบไขมันทรานส์ในตัวอย่างจำนวน 5 จาก 6 ตัวอย่างที่ทดสอบด้วยอัตราเฉลี่ยเท่ากับ 0.04 กรัม/100 กรัม หรือเท่ากับ 0.06 – 0.08 กรัม/หน่วยบริโภค 150 – 200 กรัมซึ่งค่าเฉลี่ยของไขมันทรานส์ที่พบในการทดสอบทั้งสองครั้งนั้นต่ำกว่าค่ามาตรฐานการบริโภคไขมันทรานส์ที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริการแนะนำให้บริโภคไม่เกิน 0.7 กรัม/หน่วยบริโภคอยู่อย่างน้อยกว่า 3 เท่า     • น้ำมันทอดซ้ำ ยังเข้าข่ายเฝ้าระวังการทดสอบค่าของกรด (Acid Value) [จำนวนมิลลิกรัมของโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ที่ทำปฏิกิริยาเป็นกลาง (Neutralize) พอดีกับกรดไขมันอิสระที่มีอยู่ในน้ำมันหรือไขมัน 1 กรัม] ซึ่งค่าของกรดจะเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของน้ำมันที่ใช้ในการทอดอาหาร โดยหากค่าของกรดต่ำหมายความว่าน้ำมันที่ใช้มีคุณภาพดีและหากค่าของกรดสูงหมายความว่าน้ำมันที่ใช้ผ่านการใช้ซ้ำมาแล้วหลายครั้ง จากการทดสอบพบว่า มีค่าเฉลี่ยของค่าของกรดจากการทดสอบครั้งที่ 3 เดือนเมษายน 2553 เท่ากับ 2.06 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) โดยมีตัวอย่างจำนวน 2 ตัวอย่าง จาก 15 ตัวอย่างส่งตรวจ ที่พบค่าของกรดสูงกว่า 3 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) [อ้างอิงโดยอนุโลมจากค่ามาตรฐานตามกฎหมายสาธารณสุขด้านอาหารของประเทศญี่ปุ่น (Japan Food Sanitation Act) เรื่อง น้ำมันในอาหารซึ่งสกัดออกจากอาหารของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป]       ได้แก่ ตัวอย่างจากร้าน เคเอฟซี สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวที่ปริมาณ 5.44 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) และตัวอย่างจากร้านเบอร์เกอร์คิง สาขามาบุญครอง ที่ปริมาณ 4.47 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างอีก 3 ตัวอย่างที่มีปริมาณค่าของกรดใกล้เคียงกับมาตรฐาน (สูงกว่า 2 แต่ไม่ถึง 3 mgKOH/g oil โดยอ้างอิงเกณฑ์พึงระวังจากมาตรฐานกลางหรือโคเด็กซ์ - Codex Commodity Standard) คือตัวอย่างจากร้านแมคโดนัลด์ สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ที่ปริมาณ 2.52 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) ในการเก็บตัวอย่างเดือนมีนาคม 2553 ตัวอย่างจากร้านเคเอฟซี สาขาเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ปริมาณ 2.3 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) และ ตัวอย่างจากร้านแมคโดนัลด์ สาขาเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ปริมาณ 2.22 มิลลิกรัมโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ต่อน้ำมัน 1 กรัม (mgKOH/g oil) ในการเก็บตัวอย่างเดือนพฤศจิกายน 2552         บริโภคแต่น้อย เพื่อสุขภาพที่ดีเมื่อดูภาพรวมหลังการทดสอบ การบริโภคเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไตอันเนื่องมาจากได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็ง ความดันโลหิต และหลอดเลือดหัวใจอันเนื่องมาจากการบริโภคน้ำมันทอดซ้ำ แต่ถ้ายังรู้สึกว่า ชีวิตจะไร้สีสันไปสักนิดหากงดบริโภคไปเลย ก็มีข้อแนะนำดังนี้  • ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเฟรนช์ฟรายที่ขายในร้านอาหารจานด่วนทั้งหลาย โดยเฉพาะเฟรนช์ฟรายขนาดใหญ่ เพราะโอกาสที่จะกินให้หมดเนื่องจากเสียดายมีสูง • หากจะบริโภคจริงๆ ก็เลือกขนาดเล็ก กินให้น้อยและไม่ควรบริโภคติดต่อกันเป็นประจำ ถ้าเป็นไปได้ก็ขอให้เจ้าของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ทอดอาหารในร้านบ่อยๆ และใส่เกลือลงในเฟรนช์ฟรายให้น้อยลง • ทำกินเองที่บ้านก็ดีนะครับ เพราะสามารถควบคุมปริมาณเกลือที่จะใช้และอุณหภูมิในการทอดและคุณภาพของน้ำมันที่ใช้ทอดได้------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------  “น้ำมันทอดซ้ำ” น้ำมันทอดซ้ำ ถือเป็นภัยใกล้ตัวคนไทย เพราะบ้านเรามีพวกอาหารทอดๆ ขายเยอะแยะเต็มไปหมด น้ำมันทอดซ้ำก็คือน้ำมันที่ผ่านการทอดมาหลายครั้งจนเสื่อมคุณภาพและเกิดการแตกตัวเป็นสารโพลาร์ ซึ่งทำให้น้ำมันเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีกลิ่นเหม็นหืน และเป็นต้นเหตุทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร ทำให้ตับเสื่อม นอกจานี้ยังก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด วิธีที่จะเลี่ยงภัยเสี่ยงจากน้ำมันทอดซ้ำ ก็ต้องพยายามสังเกตน้ำมันที่ร้านค้านั้นใช้ ต้องไม่มีกลิ่นเหม็นหืน หรือมีสีดำคล้ำ เวลาทอดต้องไม่มีฟองกับควันมากเกินไป เพราะนั้นแสดงว่าน้ำมันใช้มานาน ส่วนใครที่ทำกับข้าวกินเองที่บ้าน มีหลายวิธีหลีกหนีจากภัยน้ำมันทอดซ้ำ เช่น ไม่ควรใช้น้ำมันทอดอาหารซ้ำเกิน 2 ครั้ง หรือหากจำเป็นต้องใช้จริงๆ ให้เทน้ำมันเก่าทิ้ง 1 ใน 3 แล้วเติมน้ำมันใหม่ลงไปแทน ไม่ควรทอดไฟแรงเกินไป อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 160 – 180 องศาเซลเซียส หรือซับน้ำส่วนที่เกินบริเวณผิวหน้าอาหารดิบก่อนทอด ก็ช่วยชะลอการเสื่อมสลายตัวของน้ำมันได้ เฟรนช์ฟราย จานด่วน อันตราย!โดย นายพชร แกล้วกล้าผู้ประสานงานโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 กระแสต่างแดน

แดดไม่แจ่ม เราจ่าย บริษัททัวร์หัวใสในประเทศฝรั่งเศสมีโปรโมชั่นใหม่มาเอาใจลูกค้าที่นิยมสายลมแสงแดด คือถ้าคุณซื้อทัวร์ของบริษัท Pierre et Vacances หรือ FranceLoc ไป แล้วต้องขาดโอกาสในการอาบแดดเพราะไปติดฝนอยู่ไม่ต่ำกว่า 4 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ บริษัทจะรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินคืนให้ด้วยวงเงินประกันสูงสุด 400 ยูโร (ประมาณ 20,000 บาท) คุณอาจสงสัยว่าแล้วจะพิสูจน์กันยังไง ถ่ายรูปตัวเองตอนเปียกปอนเพราะสายฝนแล้วส่งไปให้บริษัทดูอย่างนั้นหรือ ข่าวบอกว่านักท่องเที่ยวไม่ต้องทำอะไร บริษัทจะเป็นฝ่ายส่งอีเมล์หรือเอสเอ็มเอสไปหาเองถ้าเขาตรวจสอบข้อมูลกับรูปถ่ายจากดาวเทียมของกรมอุตุของฝรั่งเศสแล้วว่ามีฝนตกจริงๆ ในสถานที่ที่ลูกค้าซื้อทัวร์ไป จากนั้นก็จะส่งเช็คมาให้ภายใน 3 วันหลังจากลูกค้ากลับถึงบ้าน เงินที่จะคืนให้กับลูกค้าแต่ละรายนั้นเขาจะดูตามปริมาณฝนที่ต้องเผชิญด้วย (สงสัยว่าคนที่จะได้ 400 ยูโรเต็มๆ นี่คงจะเป็นพวกที่ต้องหลบฝนอยู่ในโรงแรมทั้ง 7 วันเลยแน่ๆ) ไอเดียนี้ ททท. สนใจจะนำมาใช้โปรโมทการชวนคนไทยเที่ยวไทยบ้างก็น่าจะดี ว่าแต่จะประกันเรื่องอะไรดี เราก็ไม่ใช่ชนชาติที่นิยมแสงแดดเหมือนเขาเสียด้วย คิวบา ประกาศรัดเข็มขัด ประธานาธิบดี ราอูล คาร์ลอส ของคิวบาบอกกับประชาชนว่า ขณะนี้ประเทศกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติขั้นรุนแรง ขอให้ทุกคนขยันกันให้มากขึ้น และเตรียมพร้อมกับการรัดเข็มขัดระดับชาติกันได้แล้ว ฤดูร้อนปีที่ผ่านมา คิวบาก็เผชิญกับพายุเฮอริเคนถึงสามครั้ง เป็นความเสียหายทั้งหมดกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และจนถึงวันนี้ก็ยังซ่อมบ้านของประชาชนไปได้เพียงร้อยละ 43 ของบ้านที่เสียหายทั้งหมดจำนวน 260,000 หลัง ที่สำคัญคิวบาสูญเสียเสบียงอาหารและสินค้าเกษตรที่รัฐบาลเก็บตุนไว้เพื่อประกันราคาด้วย เมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คิวบาซึ่งประชากรแทบทุกคนเป็นลูกจ้างของรัฐ ด้วยเงินเดือนเฉลี่ยต่อหัวประมาณ 20 เหรียญ (ประมาณ 700 บาท) ได้ประกาศยกเลิกอาหารกลางวันเอื้ออาทรที่เคยมีไว้บริการพนักงานในโรงงานแล้ว และตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นมา คิวบา (ซึ่งผลิตน้ำมันเองได้ และยังได้ใช้น้ำมันฟรีจากเวเนซูเอล่า) ก็ประกาศนโยบายประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดรายจ่ายของประเทศลงให้ได้ร้อยละ 6 ด้วย เดี๋ยวนี้รัฐประกาศให้ข้าราชการมาทำงานแค่ 8 โมงเช้า ถึง 3 โมงเย็นเท่านั้น บางแห่งให้มาทำอาทิตย์ละ 2 วัน ที่สำคัญที่ทำการรัฐหลายๆ แห่งก็ห้ามเปิดเครื่องปรับอากาศด้วย ข่าวบอกว่าโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายลดการใช้พลังงานไปแล้วได้แก่ โรงงานผลิตยางรถยนต์ และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากนมวัว ช่วงนี้ยางรถยนต์ที่คิวบาขาดตลาด ในขณะที่โยเกิร์ตในเมืองหลวงฮาวาน่านั้น กลายเป็นของหายากและราคาแพงลิบลิ่ว มีขายเฉพาะในห้างหรูๆ หรือแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น คนคิวบาตาดำๆ ไม่สามารถซื้อหามากินได้ แบนร้านฟาสต์ฟู้ด อีกไม่นานนิวยอร์คอาจมีประกาศห้ามเปิดร้านฟาส์ตฟู้ดในระยะ 1.6 กิโลเมตรจากที่ตั้งของโรงเรียนรัฐกระแสการตื่นตัวเรื่องโรคอ้วนในเด็กกับอาหารฟาสต์ฟู้ด ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารฟาส์ต์ฟู้ดรายใหญ่ได้ไม่น้อยทีเดียว เช่น แมคโดนัลด์ หรือเบอร์เกอร์ คิง และบริษัทฟาสต์ฟู้ดในอเมริกาอีก 13 ราย (ในกลุ่มนี้ไม่มี เคเอฟซี พิซซ่าฮัท เอแอนด์ดับบลิว และทาโก้ เบลล์) ได้ทำข้อตกลงร่วมกันว่า จะต้องมีข้อความที่พูดถึงอาหารที่ดีต่อร่างกายอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในโฆษณาที่มีเป้าหมายเป็นเด็ก ลดการใช้ตัวการ์ตูนที่เด็กๆ รู้จัก และไม่ทำการโฆษณาในเขตโรงเรียน อย่างไรก็ตามกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ยังเป็นห่วงว่า มาตรการต่างๆ นั้นอาจไม่เป็นผลเมื่อบริษัทเหล่านี้ก็จะยังคงเปิดสาขาเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าเด็กๆ ในบริเวณที่ใกล้กับสถานศึกษา เพิ่มขึ้นทุกวัน จากผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่า เด็กแคลิฟอร์เนียที่เรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีร้านเบอร์เกอร์และเฟรนช์ฟรายส์ อยู่ใกล้ๆ นั้นมีอัตราการเป็นโรคอ้วนสูงกว่าเด็กจากที่อื่นๆ ร้อยละ 5.2 เจนนิเฟอร์ แฮริส นักวิชาการด้านโรคอ้วนและนโยบายด้านอาหารจากมหาวิทยาลัยเยล บอกว่าความพยายามของผู้ประกอบการนั้นยังไม่อาจนับเป็นอะไรได้ สิ่งที่ควรจะมีขึ้นคือการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดการเข้าถึงอาหารฟาสต์ฟู้ดไปเลย เหมือนอย่างที่ทำกับสินค้าอย่างบุหรี่หรือเหล้านั่นเอง ว่าแล้ว เอริค โจยา สมาชิกสภาเมืองนิวยอร์ค ก็เตรียมยื่นร่างกฎหมายที่ห้ามเปิดกิจการร้านฟาสต์ฟู้ดในระยะ 1.6 กิโลเมตรจากโรงเรียนไปเสียเลย เขาบอกว่าถึงบรรดาพ่อแม่จะมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการเลือกรับประทานอาหารของลูก แต่รัฐเองก็มีหน้าที่รับผิดชอบในการช่วยให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพดีขึ้นด้วยเช่นกัน รถมือสอง ... เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งของคนอังกฤษ คอนซูเมอร์ ไดเร็ค หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคของประเทศอังกฤษ ออกมาแถลงสถิติจำนวนเรื่องร้องเรียนว่าปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2552 ได้แก่ ปัญหาจากการซื้อรถมือสองนั่นเอง โดยมีกรณีร้องเรียนทั้งหมด 24,672 กรณี จากทั้งหมด 414,000 กรณีส่วนอันดับสองได้แก่ สัญญาการใช้โทรศัพท์มือถือ อันดับสามคือโทรทัศน์ และตามด้วยโทรศัพท์มือถือ (หมายถึงตัวเครื่อง) โดยรวมแล้วปีนี้มีคนร้องเรียนน้อยลงร้อยละ 3 โดยถ้าแยกแยะเป็นประเด็นแล้วหนึ่งในสามของเรื่องร้องเรียนเหล่านั้น เป็นเรื่องของสินค้าชำรุด บกพร่อง ในขณะที่หนึ่งในสี่เป็นการได้รับบริการที่ไม่ดีจากร้านหรือจากพนักงานขาย อังกฤษมีการใช้ พรบ.การขายสินค้า ค.ศ. 1979 ที่ระบุว่า ถ้าของที่เราซื้อมามีความบกพร่อง ทางร้านจะต้องรับผิดชอบด้วยการคืนเงินหรือซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ให้ แต่ถ้าความบกพร่องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการใช้งานโดยผู้บริโภคแล้ว ถ้ายังอยู่ในช่วงหกเดือนแรกหลังการซื้อ ทางร้านจะต้องรับภาระการพิสูจน์ข้อบกพร่องดังกล่าว แต่ถ้าหกเดือนผ่านไปภาระการพิสูจน์จะเป็นของผู้บริโภค จองได้ ไม่ต้องจ่ายเพิ่งรู้เหมือนกันว่าที่ประเทศจีนนั้นจะพบแพทย์กันครั้งหนึ่งเราต้องไปเข้าคิวขอนัดหมอ และการเข้าคิวอย่างเดียวก็ใช้เวลาหลายชั่วโมงแล้ว ที่เพิ่งจะรู้อีกอย่างหนึ่งคือคนจีนที่เบื่อรอ เขานิยม (หรือจำเป็นก็ไม่แน่ใจ) ไปเสียเงินใช้บริการของตัวแทนรับจองนัดพบแพทย์อย่าง www.91985.com เป็นต้น ข่าวไม่ได้บอกว่าค่าบริการครั้งละเท่าไร แต่คงไม่สำคัญแล้วเพราะกระทรวงสาธารณสุขของจีนซึ่งอยู่ในระหว่างการปฎิรูปบริการสาธารณสุขมีแผนจะห้ามโรงพยาบาลใช้บริการจากตัวแทนดังกล่าว แล้วบังคับให้โรงพยาบาลเหล่านั้นให้บริการรับนัดฟรีให้กับประชาชนด้วยตนเอง ขณะนี้แผนการดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาและมีการเปิดให้ประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นได้ในเว็บไซต์ของกระทรวงฯ โรงพยาบาลใหญ่ๆ อย่างโรงพยาบาลรุยจินและโรงพยาบาลหัวซานได้ประกาศยกเลิกการรับนัดผ่านตัวแทน www.91985.com ไปแล้ว และทางตัวแทนดังกล่าวก็บอกว่าจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจขายข้อมูลด้านสุขภาพแทน

อ่านเพิ่มเติม >