ฉบับที่ 261 คดีแพ้ คนไม่แพ้ ตีแผ่ฟิตเนสเอาเปรียบผู้บริโภค

        “นี่ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนเจ้าปัญหา แต่เป็นเรื่องว่าด้วยสิทธิของผู้บริโภคในการรับบริการ ถ้าเราชำระเงินค่าบริการครบถ้วนแล้ว เราได้รับบริการที่ครบถ้วนตามนั้นหรือไม่ เมื่อผมเห็นว่าไม่ได้ ผมสมัครได้ก็เลิกได้สิครับ”         ด้วยความคิดนี้ คุณจตุพล ปัทม์วิชัยพร จึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาลผู้บริโภคว่าเขาถูกละเมิดสิทธิจากฟิตเนสแห่งหนึ่งซึ่งเขาเป็นสมาชิกรายปีอยู่ ในกรณีที่ฟิตเนสปฏิเสธการขอยกเลิกสมาชิกของเขา         ถึงแม้ในวันนี้เขาจะแพ้คดี แต่เขายังคงเชื่อมั่นในพลังของผู้บริโภค และยินดีมาคุยกับ “ฉลาดซื้อ” เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนอื่นๆ ได้รู้เท่าทันการถูกเอาเปรียบจากธุรกิจฟิตเนส สมัครเป็นสมาชิกฟิตเนสนานแค่ไหน แล้วทำไมถึงจะขอยกเลิก         ตั้งแต่ปลายปี 2561 ผมสมัครสมาชิกประเภทรายปี คือชำระเงินในวันแรกที่สมัครเต็มจำนวน แล้วก็มาเล่นให้ครบหนึ่งปี พอเข้าปีที่สองตอนจะต่ออายุทางฟิตเนสแจ้งว่าเขาเปลี่ยนเจ้าของ เปลี่ยนชื่อใหม่ สัญญาที่เซ็นครั้งที่สองก็เลยเป็นชื่อของที่ใหม่ เริ่มประมาณสัญญาใหม่เดือนมกราคม ปี 2563 พอดีมีการระบาดของโควิดเข้ามาช่วงกุมภาพันธ์ ต่อมารัฐบาลก็สั่งล็อคดาวน์ ฟิตเนสก็ต้องปิด พอเริ่มผ่อนคลายให้เปิดได้บางช่วง ผมก็ไปใช้บริการอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะปิดอีกในช่วงตุลาคมแล้วยาวเลย เพราะโควิดระบาดหนักมาก         ฟิตเนสกลับมาเปิดได้ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 ผมก็มาออกกำลังกาย แต่ว่าบริการต่างๆ ตามที่ตกลงกันไว้ถูกตัดออกไปหมด ทั้งห้องซาวน่า (ห้องอบไอน้ำ) คลาสโยคะ คลาสออกกำลังกายก็ไม่เปิด เปิดเฉพาะส่วนยกน้ำหนัก ลู่วิ่ง ผมก็บอกเจ้าหน้าที่ว่าอย่างนี้ไม่ได้นะ เพราะเราตกลงกันแล้วว่าจะต้องให้บริการอะไรบ้าง เขาก็บอกว่าช่วงนี้ยังไม่พร้อม ผมก็บอกว่าถ้าคุณจะทำอย่างนี้ คุณต้องมีมาตรการชดเชยให้ลูกค้านะ ก็คือว่าคุณมาเปิดแล้ว แต่คุณให้บริการไม่ครบ คุณต้องมีอย่างอื่นมาตอบแทน ผมก็ต่อว่าไป เจ้าหน้าที่เขาก็เถียงว่าไม่ใช่เจ้าของ ตัดสินใจอะไรไม่ได้ ผมก็ขอคุยกับเจ้าของ เขาก็เลี่ยงไม่ให้เจ้าของมาเจอผม พอผมเข้าไปที่ฟิตเนส เขาก็ทำเฉยกัน อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกไม่พอใจ         แล้วผมก็ยังกังวลว่าจะติดเชื้อโควิดจากลูกค้าท่านอื่นที่มาใช้บริการด้วย เพราะไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัยเลย แล้วบางทีเขาก็ให้เข้ามาโดยไม่ได้วัดอุณหภูมิ ไม่ได้ตรวจอะไร ไม่ได้มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง อีกอย่างหนึ่งคือพอผมมาออกกำลังกายแล้วผมใส่หน้ากากอนามัย ผมก็หายใจไม่สะดวกด้วย ทีนี้ผมก็บอกเขาไปว่าจะขอยุติไว้เท่านี้ ส่วนที่เล่นไปแล้วก็ให้จ่ายเงินตามปกติ เพราะผมให้เงินไปแล้ว แต่ส่วนที่ผมไม่มาเล่นจะขอคืนตามสัดส่วนไป ก็พูดกันตรงๆ อย่างนี้เลย แล้วทางฟิสเนสตอบกลับมาว่ายังไงบ้าง         เจ้าหน้าที่เขาก็พูดว่าจะขอแจ้งเจ้าของก่อน เขาตัดสินใจเองไม่ได้ เขาจะซื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ จนดูว่าเริ่มไม่จริงใจกับสิ่งที่ผมเรียกร้องไปแล้ว ผมก็บอกไปว่าขอหยุดวันนี้เลยแล้วกัน คุณมีเอกสารใบลาออกหรือใบอะไรไหม ผมจะเขียนเลยว่าขอคืนเงิน ขอยุติ เขาก็บอกว่าไม่มี ผมก็เลยบอกว่าผมพูดปากเปล่าวันนี้เลยนะว่าผมหยุดตั้งแต่วันนี้ แล้วผมจะทำหนังสือมาให้คุณเซ็น ผมก็กลับไปทำหนังสือมาให้เซ็น เขาก็ยังไม่ยอมเซ็นชื่อในเอกสารที่เราเตรียมไปให้ แค่ลงชื่อว่ารับเรื่องไว้เท่านั้น พออีกประมาณสองอาทิตย์ ผมก็เข้าไปตามเรื่อง เขาก็มีหนังสือปฏิเสธว่าไม่ให้ยกเลิกมา อ้างว่าผมกลัวโควิดไปเองอย่างนั้นอย่างนี้ รัฐบาลเขาให้เปิดแล้วคุณก็ต้องมาเล่น แต่ว่าเขาไม่ได้ดูไงว่าคนที่เขามาเล่นจริงๆ เขาได้รับผลกระทบอย่างไร         ผมก็เลยบอกว่าสัญญาที่เราเซ็นกันไว้คือตกลงกันในสถานการณ์ปกติ แต่วันนี้มีโควิดแล้วไปต่อไม่ได้ในการที่จะออกกำลังกายในสถานการณ์อย่างนี้ ทิ้งไปเลยก็เสียเงินฟรี คุณได้ผลประโยชน์ ผมเสียประโยชน์ ก็ต้องยุติกันไว้ เขาก็ไม่ยอม ผมก็เลยต้องไปฟ้องศาลผู้บริโภค แล้วทำไมเลือกไปฟ้องศาลผู้บริโภค         ผมได้รับคำแนะนำจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าลองมาใช้บริการช่องทางนี้ว่าเป็นอย่างไร แล้วผมก็ลองค้นหาจากอินเทอร์เน็ตดู เขาก็จะพูดกันโดยทั่วๆ ไปว่าศาลผู้บริโภคเขาค่อนข้างอยู่ข้างผู้บริโภค มีอะไรเรามาทางนี้ดีกว่า ถ้ามีความจริงใจ มีปัญหา ตรงไปตรงมา ก็มาเคลียร์มาพิสูจน์กันที่นี่ ก็เลยไปยื่นเรื่องที่นี่ ซึ่งพอผมเข้ากระบวนการต่างๆ แล้ว ผลออกมาก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้บริโภคคาดหวัง ในด้านของคำตัดสินต่างๆ แล้วก็การยกเลิก ก็สรุปว่ายกเลิก (สัญญา) ไม่ได้ ที่ศาลผู้บริโภค ไปดำเนินการคนเดียวเลย        ผมก็ไม่เคยขึ้นศาล ผมติดต่อสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ ส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ทางไลน์ เขาให้ผมส่งเอกสารข้อมูลเพื่อทำสำนวนคำฟ้อง ต่อไปก็เริ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย ผมก็ไม่รู้ว่าบทบาทของศาลในกระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นอย่างไร แต่เมื่อไกล่เกลี่ยแล้วทางฝ่ายฟิตเนสเข้าไม่ยอมคืนเงิน ผมเห็นว่าทางผู้ประกอบการเขาจ้างทนายมา แล้วเขาคงมองว่าไม่แพ้หรอกคดีอย่างนี้ เพราะถูกรัฐบาลสั่งปิดไม่ได้อยากหยุดเอง ตัวผมเองก็ไม่ได้โทษรัฐบาลที่สั่งปิด ที่ผมยกเลิกเพราะว่าคุณเปิดแล้วบริการไม่เหมือนเดิม ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวก และประโยชน์จากการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ อันนี้คือประเด็น ผมก็ไม่รู้ว่าไปตีความกันอย่างไร ไปโทษเป็นทำนองว่าผู้บริโภคเจ้าปัญหา หาเรื่อง เรื่องแค่นี้มาขึ้นศาลทำไม ตอนที่ไปขึ้นศาล ต้องมีทนายฝั่งเราไหม หรืออย่างไร         เขาบอกว่าศาลนี้เหมือนเป็นศาลพิเศษ คือเป็นศาลผู้บริโภค เป็นคดีผู้บริโภค เขาบอกว่าผู้บริโภค คุณไม่ต้องไปจ้างทนาย คุณมาที่นี่แล้วเดี๋ยวเขาจะมีคนร่างคำฟ้องให้คุณ ตอนแรกผมก็ว่าดีนะ คือได้ช่วยผู้บริโภคจริงๆ แต่พอไปเข้าจริงๆ กลับไม่ใช่ไง กลายเป็นผมไม่รู้เรื่องไปเลยและไม่มีคนแนะนำด้วย พอผมจะถามเพื่อขอคำแนะนำ เขาโยนไปทนายอาสา ไปถามทนายอาสา คุยกันเอาเอง ที่นี่คือทำสำนวนให้แล้วก็จบแค่นี้ แล้วไม่เกี่ยวอะไรแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องของคุณแล้ว ไม่ได้แจ้งอะไรผมเลย เขาไม่ได้ยุ่งอะไรกับผมด้วย เขาให้เราไปขึ้นศาล ผมก็ไปแบบไม่มีอะไรทั้งนั้น ไม่มีทนาย ก็ไปพูดเอง สืบเอง เตรียมเองหมด แต่ผมก็มองว่าไม่น่าจะยาก เพราะว่าผมก็เชื่อว่าผมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือไปประเด็นแค่นี้ ไม่ได้ไปหาเรื่องอะไรใคร ผมก็เขียนไปชัดเจนแล้ว หลักฐานเราก็มีหมด ปัญหาที่ผมไปร้องคือ คุณเปิดแล้ว ผมไปใช้บริการแล้ว แต่ไม่ได้เป็นบริการตามที่ตกลงกัน อันนี้คือประเด็น ผมไปศาลเพราะเรื่องนี้ นอกจากศาลผู้บริโภคแล้วได้ไปที่อื่นอีกไหม หรือจบแค่นี้         ผมมาตรงนี้ ผมไม่ได้ต้องการมาเอาแพ้ชนะ ผมต้องการสิทธิผู้บริโภค ให้เห็นว่าเขาเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไร ผู้บริโภคเสียหายอย่างไร คือมาร้องกับหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เห็นว่ามีเรื่องอย่างนี้นะ ในประสบการณ์ตรงนี้ผมจึงคิดว่าผมมาทางช่องทางของผู้บริโภคดีกว่า         ศาลตัดสินอย่างไรไม่เป็นไร ผมจบตรงนั้นไป ผมมาให้ความรู้ผู้บริโภคดีกว่า ให้ระวังป้องกัน แล้วเดี๋ยวจะเกิดมาตรฐานเอง เพราะผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ถ้าเขารู้ว่าผู้บริโภครู้ทันแล้ว เขาจะมาหลอกก็หลอกไม่ได้ เมื่อหลอกไม่ได้ เขาก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของเขา ไม่เปลี่ยนคุณก็ต้องเจ๊ง ต้องปิดกิจการไปเพราะว่าเขาอยู่ไม่ได้ นี่คือให้ผู้บริโภคเป็นผู้บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องไปวิ่งเรื่องกฎหมายเรื่องอะไร ไม่มีประโยชน์ แนะนำให้ผู้บริโภคท่านอื่นๆ ป้องกันการเกิดเหตุการณ์แบบนี้อย่างไร         หนึ่ง-ถ้าไม่จำเป็น อย่าทำสัญญาลักษณะที่จ่ายเงินก่อนแล้วมาผ่อนรับบริการทีหลัง และอย่าไปจ่ายผ่านบัตรเครดิต คุณรูดเต็มจำนวนไป เขารับเงินไปแล้ว แต่ว่าคุณไปเป็นหนี้บัตรเครดิตอีกต่อ คือเขาจะพยายามดำเนินธุรกิจที่ได้เปรียบเรา ในด้านของการรับเงินก่อนไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ต้องระวังไว้ก่อนว่า ตรงนี้คุณจะเดินเข้าไปสู่ทางที่เสียเปรียบ         สอง-เรื่องสัญญา ก่อนจะลงชื่อต้องดูให้เรียบร้อย ถ้าเห็นจุดไหนที่เสียเปรียบ ไม่ต้องเซ็น แต่หากอยากสมัครจริงๆ ก็ต้องมีสัญญาพ่วง (สัญญาพ่วง หมายถึง สัญญาที่ผู้บริโภคร่างเตรียมไปเองเพื่อให้สถานประกอบการลงนาม) ระบุให้ละเอียดเลยว่ามีเครื่องออกกำลังกายตัวไหน ณ วันที่ออกกำลังกายกัน คลาสออกกำลังกาย ห้องออกกำลังกายอะไรพวกนี้ มีบริการอะไรบ้าง เขียนให้ครบถ้วนเลย แล้วถ้าเกิดว่าคุณไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าคุณผิดสัญญากับเรา เรามีสิทธิบอกเลิกได้ อันนี้เป็นสัญญาของเรา ให้เขาเซ็นไว้เลย อย่าไปเซ็นฝ่ายเดียวเพราะถ้าเซ็นของเขา เขาจะเขียนเฉพาะประโยชน์ของเขา เช่น ไม่คืนเงินให้ ยกเลิกสัญญาไม่ได้ บริการต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ถ้ามีปัญหาอะไรในการใช้บริการทางสถานบริการจะไม่ขอรับผิดชอบใดๆ คือเขาจะเขียนอะไรที่เป็นประโยชน์ของเขาอย่างเดียว ผู้บริโภคไม่ได้อะไร         คือถ้าคุณเซ็นให้เขา เขาต้องเซ็นให้คุณด้วย แล้วคุณต้องรู้ว่าผู้บริหารของเขาชื่ออะไร เวลาที่คุณเอาสัญญาของคุณไปให้เขาเซ็น เขาจะต้องเซ็นโดย หนึ่ง-ลงนามพร้อมประทับตรา สอง-แนบสำเนาหนังสือรับรองบริษัทอายุไม่เกิน 6 เดือนมาด้วย ให้เราไว้ชุดหนึ่งเพื่อไม่ให้เป็นการได้เปรียบเสียเปรียบกัน อันนี้จะเป็นทางที่ช่วยได้ เพื่อให้เวลามีปัญหาในอนาคตจะได้มีทางออกว่า คุณก็ตกลงกับฉันไว้แบบนี้เหมือนกัน ไม่ใช่ลักษณะที่เป็นสัญญาทางเดียว         สาม-แนะนำให้สมัครเป็นรายเดือน คือผู้ประกอบการเขาอยากได้รายปี อยากได้หลายๆ ปีเพราะเขาอยากได้เงินก้อนเยอะๆ แต่อย่างที่ผมบอกคือผู้บริโภคเสียเปรียบตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นอย่างมากที่สุดคือชำระเป็นรายเดือน เดือนนี้ขอเล่นก่อน สมมติเล่น 1 มกราคม ถึง 30 มกราคม วันที่ 30 ค่อยจ่ายเงิน พยายามให้เป็นแบบนี้ให้ได้ ถ้าจะขอยกเลิกต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน อย่าเป็นลักษณะทุ่มเงินก้อนระยะยาว เพราะพวกนี้ถ้าหนีไปแล้วคุณตามไม่ได้เลย มีโดนมากันเยอะแล้ว ฝากตรงนี้ให้ระมัดระวัง         สุดท้าย พอหลังจากผมไปฟ้องศาลผู้บริโภคได้ไม่นาน เจ้าของฟิตเนสเขาก็ขายกิจการทิ้งเลย คือ นิสัยของผู้ประกอบการอย่างนี้ลูกค้าก็ขยาดหมด เขาก็เข็ด คุณบริการไม่เต็มที่ เขาจะเลิกก็เลิกไม่ได้ แต่เงินของลูกค้าคุณก็เก็บไปเต็มจำนวนทั้งหมดแล้ว อย่างนี้ก็ทำให้ลูกค้าเขาก็หนีกันหมด ซึ่งตรงนี้ก็ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้นในธุรกิจนี้ในวงการนี้ ปากต่อปากลูกค้าก็หายหมด         “ผมว่าพลังผู้บริโภคอย่างของมูลนิธิฯ หรือว่าสภาฯ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลกเลยนะ สำคัญกว่าทุกองค์กรของภาครัฐด้วยซ้ำ เพราะว่าผู้บริโภคคือสิ่งสำคัญและเป็นหลักของการทำธุรกิจ เพราะธุรกิจเขาอยู่ได้เขาต้องมีลูกค้า มีผู้บริโภค แล้วการปฏิบัติของผู้บริโภคจะสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบธุรกิจเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 กระแสต่างแดน

ทำบุญวิถีใหม่           ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้คนจากประเทศพัฒนาแล้วจำนวนไม่น้อยนิยม “ทำบุญ” ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสด้วยการบริจาคแพะให้กับผู้คนในประเทศยากจน โดยหวังว่าพวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากมันในการสร้างรายได้ให้ครอบครัวด้วยสนนราคาเพียงตัวละ 12.50 ปอนด์ (ประมาณ 600 บาท) ที่ผ่านมาจึงมีแพะจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่กันดาร แถมแพะยังให้ลูกได้ถึงปีละหกตัว เรียกว่าลงทุนน้อยแต่ได้ผลมากแต่ล่าสุด เจน กูดดอลล์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังออกมาเปิดเผยว่า การเลี้ยงแพะนั้นต้องใช้น้ำมาก ทำให้พื้นที่ๆ แห้งแล้งอยู่แล้วเสี่ยงที่จะแล้งกว่าเดิม ยังไม่นับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ประกอบกับไม่มีสัตว์แพทย์ที่จะดูแลรักษาแพะที่ป่วย โอกาสที่พวกมันจะอยู่รอดจนโตเต็มวัยจึงมีน้อยเธอแนะนำว่า หากต้องการช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้อย่างยั่งยืน ให้นำเงินไปสมทบทุนโครงการศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืช โครงการปรับปรุงคุณภาพดิน หรือโครงการทำระบบชลประทาน จะดีกว่า ผลกระทบมาไกล         งานสำรวจโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษาแห่งญี่ปุ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต และมหาวิทยาลัยคิวชู พบว่า การบริโภคโดยคนญี่ปุ่นส่งผลให้มีผู้คนในประเทศต้นทางที่ผลิตสินค้า เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย เสียชิวิตก่อนวัยอันควรถึง 42,000 คนต่อปีในจำนวนนี้มีทั้งผู้ใหญ่ที่อายุเฉลี่ย 70 ปี และยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบถึง 1,000 คนทีมวิจัยใช้วิธีคำนวณจากข้อมูลประชากร ข้อมูลการปล่อย PM 2.5 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงงานที่ผลิตสินค้า และจำนวนผู้เสียชีวิตจากห้าโรคร้ายที่มีความเกี่ยวข้องกับมลภาวะดังกล่าว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และโรคติดเชื้อบางชนิดนักวิจัยเสนอให้ผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษที่ตนเองสร้างขึ้น ทั้งในประเทศตัวเองและที่อื่นๆ ตลอดช่วงอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงแผนการบริหารจัดการมลพิษดังกล่าว เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนผู้ผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคมได้ การขายเชิงรุก           วิธีการขายแบบ “ตีหัวเข้าร้าน” ดูจะไม่จำกัดอยู่ในแวดวงฟิตเนสหรือศัลยกรรมความงามเท่านั้นล่าสุดองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงเปิดเผยว่ามีเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ “ได้รับบริการทางการแพทย์โดยไม่จำเป็น” เพราะถูกชักชวนแกมกดดันถึง 71 เรื่อง ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้เทคนิคการขายแบบนี้เริ่มจากการสร้างความวิตกด้วยการบอกความรุนแรงของอาการเกินจริง จากนั้นก็เสนอบริการที่ “ค่อนข้างแพง” แต่ “จำเป็น” ว่าแล้วก็กดดันให้ลูกค้ารู้สึกว่าต้องซื้อบริการผู้ร้องรายหนึ่งซึ่งเป็นชายวัย 30 กว่า เสียเงินไป 150,000 เหรียญ (ประมาณ 650,000 บาท) เริ่มจากการเดินเข้าไปถามราคาบริการตรวจสุขภาพ เขาถูก “ต้อน” อยู่ 2 ชั่วโมง ในที่สุดก็เสียค่าถอนฟันไป 10,000 เหรียญ ตามด้วยค่าบริการนวดจัดกระดูกอีก 29,080 เหรียญ และอื่นๆ อีก เช่น ค่าตรวจลำไส้ ค่าอาหารเสริม เป็นต้นข่าวระบุว่าเขาได้เงินคืนเต็มจำนวน แต่ยังไม่ได้บอกว่าอุตสาหกรรมการแพทย์จะจัดการกับพฤติกรรมนี้อย่างไร ไข่ต้องมีข้อมูล           ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2022 เป็นต้นไป ไต้หวันกำหนดให้ไข่สดแต่ละฟองที่ผ่านการล้างและบรรจุลงกล่องต้องมีข้อมูลฟาร์มที่เลี้ยง โรงงานล้างบรรจุ วันที่บรรจุ รวมถึงรูปแบบการเลี้ยง บนเปลือกด้วยสภาเกษตรของไต้หวันระบุว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางอาหาร ที่จะทำให้การตรวจสอบย้อนกลับและการแจ้งเตือนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว กรณีที่เกิดปัญหาขึ้นในส่วนของผู้บริโภค ข้อกำหนดดังกล่าวจะทำให้ไข่ไก่ขนาดแพ็ค 10 ฟอง มีราคาเพิ่มขึ้น 1 เหรียญไต้หวัน ส่วนทางด้านผู้ผลิต หากฝ่าฝืน จะต้องจ่ายค่าปรับระหว่าง 6,000 ถึง 30,000 เหรียญไต้หวันผลิตไข่ไก่ได้เฉลี่ยวันละ 22 ล้านฟอง ร้อยละ 65 เป็นแบบล้างและบรรจุกล่องการพิมพ์รหัสลงบนเปลือกไข่เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว สหภาพยุโรปกำหนดให้พิมพ์ “รหัสผู้ผลิต” มาตั้งแต่ปี 2004 เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะรับประทานไข่จากฟาร์มที่เลี้ยงด้วยวิธีใด เช่น ปล่อยอิสระ เลี้ยงในกรง หรือเลี้ยงแบบออกานิก  จุดขายใหม่           สหภาพยุโรปเคาะแล้ว ในปี 2022 เขาจะทุ่มงบประมาณ 185.9 ล้านยูโร ในการส่งเสริมสินค้าเกษตรของประเทศสมาชิก ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืช พูดง่ายๆ คือเขาต้องการจูงใจผู้ผลิตให้หันมาเลือกแนวทางสายเขียวกันมากขึ้นด้วยการสร้างความต้องการในตลาดให้กับอาหารที่ทำจากพืชนั่นเองนอกจากนี้ยัง “ตีตรา” เนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปที่เคยเป็นดาวเด่นมานานว่าเป็น “อาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง” ด้วยเรื่องนี้ถูกใจสายสิ่งแวดล้อมที่ต้องการเห็นการลดการใช้น้ำและพลังงานมหาศาลในการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า รวมถึงสายวีแกนที่อยากเห็นความเป็นมิตรต่อสัตว์โลกแต่แผนนี้ก็ขัดใจอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ออกมาโต้ว่า การจะทำอาหารที่ผลิตจากพืชล้วนๆ ให้ถูกปากผู้บริโภค ก็ต้องผ่าน “การสร้าง” หรือการ “การแปรรูป” อย่างเข้มข้นเช่นกันผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าสิ่งที่โลกต้องการอย่างเร่งด่วนคือ นวัตกรรมอาหาร และการหาสมดุลระหว่างการผลิตพืชและสัตว์ให้ได้นั่นเอง    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 กระแสต่างแดน

แบรนด์ที่ไว้ใจ        ขยะอิเลคทรอนิกส์ที่กำลังจะล้นโลกส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จากเราไปก่อนเวลาอันควรและไม่คุ้มที่จะซ่อมกลับมาใช้ต่อ สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคพอจะทำได้คือ เลือกแบรนด์ที่ทำผลิตภัณฑ์ได้มีประสิทธิภาพและใช้งานได้นาน แล้วใครล่ะที่เราเชื่อถือได้         องค์กรผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา Consumer Reports (CR) ได้สำรวจและจัดอันดับ “ความน่าเชื่อถือ” ของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน เตาไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า และเครื่องอบผ้า เป็นต้น โดยใช้คะแนนจากความเห็นของสมาชิก         ในการสำรวจครั้งที่สามนี้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกอ้างอิง 760,000 ชิ้น ที่ผู้บริโภคซื้อในระหว่างปี 2010 และ 2020 และแบรนด์ที่ถูกนำมาจัดอันดับนั้นคือแบรนด์ที่มีเครื่องไฟฟ้าออกมาจำหน่ายอย่างน้อยสองประเภท สิบอันดับแรกได้แก่ Speed Queen  LG  Café’  Ikea  Thermador  Bosch Miele  GE  Roper และ Signature Kitchen Suite ส่วนยี่ห้อที่เรารู้จักกันอย่าง Whirlpool  KitchenAid และ Samsung นั้นเข้ามาที่อันดับ 11, 17 และ 20 ตามลำดับ รู้แต่ไม่เข้าใจ?        การสำรวจความเข้าใจเรื่อง “ยาปฏิชีวนะ” ในหมู่ประชากรยุโรปในปี 2018 พบว่าคนส่วนใหญ่รู้ว่ายาปฏิชีวนะ (ที่หลายคนเรียกติดปากว่า ยาแก้อักเสบ) รักษาโรคหวัดไม่ได้ และรู้ด้วยว่าหากใช้พร่ำเพรื่อจะทำให้ยาใช้ไม่ได้ผล         นอกจากนี้ยังรู้ว่ามีผลข้างเคียง และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น         แต่เมื่อถามถึงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการฆ่าไวรัส ร้อยละ 48 ตอบว่ายาปฏิชีวนะสามารถ “ฆ่าไวรัสได้” ในขณะที่ร้อยละ 43 ตอบว่า “ฆ่าไม่ได้” ที่เหลืออีกร้อยละ 9 ตอบว่า “ไม่รู้”แต่ละปียุโรปมีการติดเชื้อจากแบคทีเรียดื้อยาไม่ต่ำกว่า 670,000 เคส มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 33,000 คน ส่งผลให้เกิดภาระทางการเงินต่อระบบสุขภาพไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านยูโร         มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ผู้คนจะเสียชีวิตจากแบคทีเรียดื้อยามากกว่าโรคมะเร็ง            ขณะนี้ประเทศที่มีอัตราการตายจากแบคทีเรียดื้อยาสูงที่สุดในยุโรปคืออิตาลี ตามด้วยฝรั่งเศส ในขณะที่กรีซ ไซปรัส และสเปน เป็นประเทศที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะมากที่สุดตามลำดับ   โควิดช่วยเพิ่มยอด        การศึกษาตัวเลขยอดขายยาปฏิชีวนะในอินเดีย โดยคณะวิจัยจากอเมริกาและแคนาดาพบว่ายอดสั่งซื้อยาปฏิชีวนะจากโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงโควิด-19 ระบาด         ปี 2019 มีการใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.5 ในขณะที่ปี 2020 มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.8         นักวิจัยคาดว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นไปประมาณ 216 ล้านโดส หรือพูดง่ายๆ ข้อมูลนี้ทำให้ตีความได้ว่าผู้ป่วยทุกคนที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิดจะได้รับยาปฏิชีวนะนั่นเอง         และเมื่อเจาะจงไปที่ยาอซิโตรมัยซิน (ที่ใช้รักษาไทยฟอยด์หรือท้องร่วง) ก็พบว่ามีการใช้ถึง 38 ล้านโดส ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดหนัก         น่าสังเกตว่าขณะที่การใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มประเทศตะวันตกมีแนวโน้มลดลงเพราะคนไม่ค่อยเป็นหวัด ติดต่อพบปะกันน้อยลง ยกเลิกนัดทำฟันหรือการผ่าตัดเล็กอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น แต่แนวโน้มการใช้ในอินเดียกลับเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่โรคอย่างมาลาเรีย ไข้เลือดออก หรือโรคชิคุนกุนยาก็ลดลงแล้ว  ไหนเล่ามาซิ        สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของสิงคโปร์ ขอคำอธิบายด่วนหลังพบว่ามีอุปกรณ์ฟิตเนสแทรคเกอร์ 341,208 ชิ้น รวมมูลค่าห้าล้านเหรียญสิงคโปร์หรือประมาณ 120 ล้านบาท ยังไม่ถูกนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนตามโครงการส่งเสริมสุขภาพ National Steps Challenge ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2015         อุปกรณ์ที่ราคาระหว่าง 10 ถึง 25 เหรียญ เหล่านี้อยู่ในสภาพที่ใช้งานแทบไม่ได้ มีราขึ้นทั้งสายและหน้าปัด และการรับประกันจากผู้ผลิตบางรุ่นก็หมดแล้ว บางรุ่นก็จะหมดสิ้นปีนี้ ยังไม่นับว่าเทคโนโลยีที่ใช้ก็อาจจะเก่าเกินไปแล้ว         หนักไปอีกเมื่อไม่พบว่าใครเป็น “เจ้าภาพ” ทำหน้าที่จัดทำสต็อคหรือบันทึกการแจกจ่ายผ่านทางอีเวนท์ต่างๆ และสตง. ยังพบว่ามีอุปกรณ์ดังกล่าวหายไปจากสต็อคอย่างไร้ร่องรอยถึง 17,909 เครื่อง (คิดเป็นมูลค่า 720,000 เหรียญ)         ผู้เข้าร่วม “โครงการนับก้าว” สามารถเอาคะแนนที่สะสมจากการออกกำลังกายมาแลกเป็นสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการได้โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย โครงการเขาช่างจูงใจเหลือเกิน แม้แต่คนที่ตายไปแล้วก็ยังมาสมัครกันถึง 136 คน!!  อยากให้รีบสั่งเลย        ปีนี้คนออสซี่ต้องรีบคิดให้ตกว่าจะซื้อของขวัญอะไรให้เพื่อนหรือญาติในคริสต์มาสที่จะถึง... ในอีกห้าเดือนข้างหน้า คิดได้แล้วก็ต้องลงมือสั่งทันที ผู้ประกอบการเขาออกมาเตือนด้วยความหวังดี         อย่าลืมว่านักช้อปออนไลน์มีจำนวนมหาศาล ในขณะที่การขนส่งระหว่างประเทศมีข้อจำกัดมากขึ้นทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน บริษัทขนส่งทางเรือที่เคยมีดำเนินการอยู่ 24 เจ้าก็ลดเหลือแค่ 13 เจ้าในช่วงที่มีโรคระบาด         ไหนจะปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ หรือการปิดโรงงานในประเทศต้นทางเพราะพนักงานติดโควิด-19 อีก         ยิ่งถ้าต้องการสินค้าแบบเจาะจงแบรนด์ก็ยิ่งต้องรีบ โดยปกติแล้วร้อยละ 80 ของสินค้าที่ส่งทางเครื่องบินมายังออสเตรเลียนั้นจะนั่งมาสวยๆ ใต้ท้องเครื่องบินโดยสาร (ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่ร้อยละ 50) แน่นอนว่ามีเที่ยวบินโดยสารน้อยลงเพราะปัจจุบันออสเตรเลียยอมให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้แค่ 3,035 คนต่อสัปดาห์เท่านั้น (จากเดิม 6,070 คน) สรุปว่ารีบได้รีบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อตรวจเวย์โปรตีน พบบางยี่ห้อมีโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

        ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน ไม่พบสเตียรอยด์ แต่ทดสอบพบ 2 ตัวอย่างมีปริมาณโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก แนะผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการทานเวย์โปรตีนที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์มากเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ          นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ดำเนินการทดสอบนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอ และได้รับความปลอดภัยจากสินค้าหรือบริการ ตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน จำนวน 9 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ ในช่วงเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่          ผลสำรวจพบว่า ไม่พบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) แต่พบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีนที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีนที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         จากผลสำรวจอาหารเสริมเวย์โปรตีนไม่ตรงตามการกล่าวอ้างบนฉลาก เข้าลักษณะอาหารปลอม กล่าวคือ อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ตามมาตรา 27 (4) และอาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6 (2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละ 30 จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทําให้เกิดโทษหรืออันตราย ตามมาตรา 27 (5) ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 อ่านผลการทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3716 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ผลทดสอบ อนาบอลิกสเตียรอยด์ ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีน

        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มตลาดฟิตเนสนั้นกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสรักสุขภาพ เมื่อมองที่สถานบริการฟิตเนสก็จะพบว่ามีการเปิดสถานบริการกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นกระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งผู้ใช้บริการมีหลากหลายกลุ่มอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงวัย ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งวิตามิน เกลือแร่ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมสร้างร่างกาย(เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ) อย่าง “เวย์โปรตีน” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย จากเดิมผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนที่เคยมีแต่สินค้านำเข้าและจำหน่ายเป็นถังหรือบรรจุภัณฑ์ใหญ่ๆ  ได้มีผู้ผลิตในประเทศหลายรายให้ความสนใจเข้ามาร่วมแข่งขันในผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็กลง ช่องทางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และการเติบโตทางการตลาดที่สูงขึ้นทุกปี         จากผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นและช่องทางจำหน่ายที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในร้านค้า ร้านค้าออนไลน์ หรือแม้แต่ในสถานบริการฟิตเนส อาจทำให้ผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนบางส่วนไม่มีมาตรฐานหรือมีการปลอมปนผลิตภัณฑ์ยาเพื่อหวังผลในการเร่งสรรพคุณผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากงานวิจัยของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูและเครือข่าย คบส.เขต 8 ได้ศึกษาไว้เมื่อปี 2563 นั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนจำนวน 20 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ร้อยละ 25 (จำนวน 5 ตัวอย่าง) มีการปลอมปนอนาบอลิกสเตียรอยด์ ทั้งในผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และไม่มีเลขสารบบอาหาร         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สินค้าเสริมอาหารเวย์โปรตีน ทั้งในเรื่องมาตรฐาน การอวดอ้างคำโฆษณาหรืออาจมีการปลอมปนยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้เก็บตัวอย่างเวย์โปรตีน จำนวน 9 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและทางออนไลน์ ในเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบหาสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่         สรุปผลทดสอบ        · การปลอมปน อนาบอลิกสเตียรอยด์  ผลทดสอบไม่พบทั้ง 9 ตัวอย่าง        · ทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ผลทดสอบพบว่า มี 2 ตัวอย่าง ที่มีโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         พ.ร.บ.อาหาร 2510 มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตรายตารางผลทดสอบอนาบอลิกสเตียรอยด์และโปรตีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนเก็บตัวอย่างช่วงเดือน มกราคม 2564 ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 สมาร์ตวอทช์ นาฬิกาอัจฉริยะ

        ภาคต่อจากฉบับที่แล้ว คราวนี้เรามาดูผลทดสอบเปรียบเทียบสมาร์ตวอทช์ที่องค์กรผู้บริโภคของอังกฤษได้ทำไว้ มีให้เลือกกันจุใจถึง 28 รุ่น ที่สนนราคาตั้งแต่ประมาณ 1,400 ถึง 21,500 บาท                การทดสอบครั้งนี้แบ่งคะแนนออกเป็น 7 ด้าน        - ร้อยละ 25 ประสิทธิภาพ/ความแม่นยำในการนับก้าวขณะเดิน วิ่ง และทำงานบ้านทั่วไป รวมถึงความแม่นยำในการวัดระยะทางและอัตราการเต้นของหัวใจ        - ร้อยละ 25 ฟังก์ชันสมาร์ต        - ร้อยละ 20 ความสะดวกในการใช้งาน          - ร้อยละ 15 ความอึดของแบตเตอรี           - ร้อยละ 5 การทำงานของแอปฯ        - ร้อยละ 5 รูปลักษณ์ วัสดุที่ใช้ทำตัวเรือน สายรัด ความทนทานของหน้าจอต่อรอยขูดขีด        - ร้อยละ 5 ฟีเจอร์ การปรับแต่งได้ตามต้องการ และความเข้ากันได้กับแอปฯ อื่นๆ         เช่นเดียวกับฟิตเนสแบนด์ ราคาที่แพงกว่าของนาฬิกาอัจฉริยะไม่ได้รับรองประสิทธิภาพที่เหนือกว่าเสมอไป เราพบว่าหลายรุ่นที่ราคาปานกลางได้คะแนนสูงกว่ารุ่นที่ราคาแพง แต่เรื่องรูปลักษณ์นั้นก็แล้วแต่ความพึงพอใจของผู้สวมใส่ เชิญพลิกหน้าถัดไปเพื่อเลือกสมาร์ตวอทช์ที่ตรงใจคุณได้เลย          หมายเหตุ:        · ค่าใช้จ่ายในการทดสอบอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1,800 ยูโร (ประมาณ 66,000 บาท) ต่อหนึ่งตัวอย่าง        · ก่อนหน้านี้ฉลาดซื้อเคยเสนอผลทดสอบสมาร์ตวอทช์ไว้ในฉบับที่ 215 และ 177 ท่านสามารถอ่านผลทดสอบย้อนหลังได้ทางออนไลน์        · ราคาที่แสดงเป็นราคาในช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 225 สิทธิของผู้ใช้ฟิตเนส

เรื่องการมี “สุขภาพ” ดีกำลังเป็นที่นิยมของคนปัจจุบัน ทำให้กิจการต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลร่างกายได้รับความนิยมไปด้วย หนึ่งในนั้นคือธุรกิจฟิตเนส ที่บรรดาคนอยากมีหุ่นดี มีกล้าม มีซิกแพค สัดส่วนกระชับ เลือกใช้บริการ ซึ่งฟิตเนสแต่ละแห่งก็สรรหาเครื่องออกกำลังกาย และจัดโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจลูกค้า แต่หากผู้ให้บริการไม่สามารถจัดหาสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง หรือผู้บริโภคมีเหตุให้ไม่สามารถใช้บริการได้ ต้องทำอย่างไร เรามาดูกัน         เรื่องที่ 1  อุปกรณ์ไม่พอ          ภูผา เป็นคนหนึ่งที่ต้องการมีหุ่นดี มีกล้าม มีซิกแพค จึงเลือกสมัครสมาชิกรายปีกับฟิตเนสแห่งหนึ่งในห้างชื่อดังย่านรังสิต โดยชำระเงินเป็นบัตรเดบิต เมื่อเขาไปใช้บริการช่วงแรกก็สะดวกสบายดี พื้นที่ อุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายมีจำนวนมากเพียงพอต่อผู้มาใช้บริการ แต่เมื่อผ่านไปสักประมาณสองเดือน เขากลับรู้สึกไม่ค่อยสะดวกสบายเหมือนเดิม เพราะว่ามีสมาชิกเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่ อุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายไม่เพียงพอกับผู้มาใช้บริการ สมาชิกมีมากกว่าอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกาย แต่ทางผู้ให้บริการฟิตเนสกลับไม่ได้มีการเพิ่มเครื่องออกกำลังกายให้เพียงพอ ทำให้เขาไม่สามารถใช้อุปกรณ์ในการออกกำลังกายได้         ภูผาไตร่ตรองแล้ว เขาคิดว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาและขอเงินได้  แต่เพื่อให้ชัดเจนจึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ว่ากรณีแบบนี้สามารถยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้หรือไม่         เมื่อรับเรื่องราวของคุณภูผาได้ไม่ทันไร ก็มีการขอคำปรึกษาจากคุณทัดดาว ในกรณีเกี่ยวกับบริการฟิตเนสเช่นกัน มาลองดูเรื่องของคุณทัดดาวกันบ้าง         เรื่องที่ 2  เจ็บป่วย        คุณทัดดาว สมัครเป็นสมาชิกกับบริษัทฟิตเนสแห่งหนึ่งเมื่อเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ทันได้เข้าใช้บริการ คุณทัดดาวเกิดอาการป่วยกะทันหัน มีอาการปวดท้องรุนแรงเมื่อเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ ระบุว่า เป็นเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดด่วน         หลังจากผ่าตัดคุณทัดดาวยังต้องพักผ่อนต่อเนื่อง สภาพร่างกายย่อมไม่แข็งแรงพอจะไปใช้บริการที่ฟิตเนสได้ จึงทำหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังบริษัทฟิตเนสดังกล่าว แต่พบว่าทางบริษัทฯ บ่ายเบี่ยงไม่ยินยอมให้ยกเลิกสัญญา แม้คุณทัดดาวจะมีใบรับรองแพทย์ยืนยันชัดเจนว่าตนเองมีเหตุให้ใช้บริการไม่ได้จริง โดยทางบริษัทฯ พยายามยื่นเงื่อนไขให้คุณทัดดาวจ่ายค่าบริการรายเดือน เดือนละ 500 บาท เพื่อเป็นค่ารักษาสถานภาพสมาชิกไว้  และจะระงับการเข้าใช้บริการชั่วคราวให้แทน “เพราะไม่สามารถยกเลิกสัญญา” ได้  จนกว่าจะหายดีจึงค่อยเข้ามาใช้บริการใหม่          คุณทัดดาวจึงปรึกษามาทาง ศูนย์พิทักษ์สิทธิเช่นกันว่า ควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        ธุรกิจฟิตเนส มีกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ควบคุมกำกับดูแล คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2554 ข้อ 3 (4) ให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาได้ ดังนี้        1. อุปกรณ์/พื้นที่ ไม่เพียงพอ โดยไม่จัดหาอุปกรณ์ให้เพียงพอภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับแจ้งจากสมาชิก        2. มีใบรับรองแพทย์ โดยแพทย์ลงความเห็นว่าไม่สามารถออกกำลังกายได้        3. ได้รับบาดเจ็บจากผู้ฝึกสอนหรืออุปกรณ์ที่ชำรุดบกพร่องของฟิตเนส         เบื้องต้นผู้บริโภคที่พบปัญหาจากเหตุต่างๆ ต้องแจ้งให้ฟิตเนสทราบ เช่น เรื่องมีสมาชิกมาใช้บริการมากกว่าอุปกรณ์ ทำให้พื้นที่และอุปกรณ์ไม่เพียงพอ และให้แก้ไขปัญหาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับแจ้ง ถ้าฟิตเนสยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิเลิกสัญญาได้โดยทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน ส่งไปยังประธานกรรมการของบริษัท ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และผู้จัดการสาขา แบบไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ซึ่งบริษัทต้องคืนเงินค่าสมาชิกในส่วนที่ยังไม่ใช้บริการให้แก่ผู้ร้อง ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลิกสัญญา ถ้าบริษัทไม่คืนเงินภายใน 30 วัน ผู้ร้องสามารถเรียกเบี้ยปรับได้ด้วย         ในกรณีทั้งของคุณทัดดาวและคุณภูผา ฝ่ายแรกได้ทำหนังสือแล้ว แต่บริษัทฯ บ่ายเบี่ยงจึงมีการเจรจาในเบื้องต้น ซึ่งทางฟิตเนสยินยอมยกเลิกสัญญาและคืนเงินทั้งหมดให้กับคุณทัดดาว ส่วนกรณีของคุณภูผา อยู่ระหว่างยื่นเรื่องดำเนินการ คาดว่าคงมีการยกเลิกสัญญาแต่อาจจะไม่ได้รับเงินคืนทั้งหมดเพราะได้ใช้บริการไปบางส่วนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 7 ปี กับ “ฟิตเนสไม่ว้าว”

ทุกคนมีสิทธิฉบับเข้าหน้าฝนกับอารมณ์เหงาๆ ขอพาไปย้อนถึงเรื่องราวเก่าๆ เมื่อ 7 ปีก่อน ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า แคลิฟอร์เนียฟิตเนส ซึ่งเจ้าของคือ บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียน จำกัด (มหาชน) บริษัทฯ ได้ทยอยปิดสาขาที่ตนเองใช้บริการ โดยไม่แจ้งให้ทราบ และสมาชิกของฟิตเนสต่างก็ไม่สามารถไปใช้บริการในสาขาอื่นที่เหลือได้ เพราะมีสถานที่ไม่เพียงพอ หรือบางคนเพิ่งสมัครสมาชิกไม่นาน สาขาที่สมัครไว้ก็ปิดบริการ จนต้องสูญเงินไปจำนวนมาก  จนกระทั่งประมาณเดือนมีนาคม 2555 บริษัทฯ ถูกธนาคารกรุงเทพฯ ฟ้องล้มละลาย  (ต่อมาบริษัทฯ ได้ทำการขอยื่นฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลาย ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการในเดือนพฤษภาคม 2555)        สมาชิกที่ได้รับความเสียหาย เริ่มทยอยเข้ามาร้องเรียน  มูลนิธิฯ เห็นว่ากรณีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก  จึงจัดแถลงข่าวเปิดรับเรื่องร้องเรียนเพิ่มเติมในวันที่ 21 มีนาคม 55  (เปิดรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2555 – 31 สิงหาคม 2555) รวมมีผู้เข้ามาร้องเรียนถึงกว่า 300 ราย  จากนั้นได้มีการประชุมหารือและจัดตั้งแกนนำกลุ่มผู้เสียหายขึ้น เพื่อดำเนินการรับคำร้องเรียนเพิ่มในสื่อสังคมโซเชียล จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 55 มีผู้ร้องเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ ถึง 639  ราย  ต่อมาทางบริษัทฯ ได้ยื่นเรื่องขอถอนการฟื้นฟูกิจการของตนเองเดือนธันวาคม 2555 กล่าวคือ บริษัทฯ  กลับเข้าสู่กระบวนการพิจารณาล้มละลายต่อไปและศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 56  (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2556)           จากการสอบข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายและข้อมูลของบริษัทฯ พบความผิดปกติและพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นเจตนาไม่สุจริตหลายอย่าง เช่น บริษัทฯ รับสมัครสมาชิกแบบตลอดชีพในราคาที่ไม่สูงมากเพื่อดึงดูดให้มีการสมัครสมาชิกจำนวนมาก   และให้สมาชิกชำระค่าใช้บริการด้วยวิธีการ ชำระเป็นเงินสด หักบัตรเครดิต และชำระเป็นรายเดือนโดยผ่อนกับบัตรเครดิตและการกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ต่อเมื่อเข้าไปใช้บริการจะถูกกดดันด้วยเทรนเนอร์ให้สมัครใช้บริการเทรนเนอร์ส่วนบุคคล  หากใครไม่สมัครจะไม่ได้รับการดูแล  หรือจะถูกเทรนเนอร์เข้ามาตื๊อจนต้องสมัครด้วยความรำคาญ และเมื่อสมัครแล้วจะถูกหว่านล้อมให้สมัครซื้อบริการล่วงหน้า บางรายซื้อล่วงหน้าเกือบ 8 ปี  เป็นเงินหลายแสนบาท เป็นต้น          จากข้อมูลรายงานว่าบริษัทฯ ยังส่งงบดุลบัญชีว่าขาดทุนตั้งแต่ปี 2549-2554  และผู้ตรวจสอบบัญชีไม่รับรองงบฯ ตั้งแต่ปี 2552 สิ่งนี้แสดงว่าบริษัทประสบภาวะทางการเงิน   แต่ในทางปฏิบัติบริษัทฯ ยังรับสมัครสมาชิกตลอดชีพอยู่ตลอดเวลา   อีกทั้งเมื่อเดือน สิงหาคม 2554 ไม่มีประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้ธุรกิจการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา   ได้กำหนดระยะเวลาในสัญญาห้ามเกิน 1 ปี แต่บริษัทฯ ยังรับสมัครสมาชิกตลอดชีพอยู่ หากมีสมาชิกทักท้วง จะได้คำตอบว่าเป็นสัญญาตลอดชีพนั่นแหละ แต่ต้องระบุในสัญญาว่าปีเดียว  สมาชิกเห็นว่าเป็นบริษัทมหาชนที่น่าเชื่อถือ คงไม่ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย จนเกิดปัญหาในที่สุด          ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้ จึงขอสัมภาษณ์หนึ่งในแกนนำผู้เสียหาย ที่ยังคงตั้งความหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการพิจารณาคดีที่สืบเนื่องมานานถึง 7 ปี          เยาวภา ทรัพย์สมบูรณ์ “อยากให้เป็นบทเรียนกับคนที่อยากไปสมัครฟิตเนสว่า ก่อนสมัครอยากให้เช็คดูให้ดีก่อน สถานการณ์ปัจจุบันเรากำลังต่อสู้กันอยู่นะคะ ตอนนี้ก็มีการฟ้อง และก็คือเริ่มมีข่าวดีว่าเรา ศาลรับฟ้องเป็นคดี ก็คือเอาผิดกับผู้ที่เรากล่าวหา”ใช้เวลากับการร้องเรียนและดำเนินคดีมานานแค่ไหน        ปีนี้เป็นปีที่เจ็ดแล้ว ศาลเพิ่งจะรับฟ้อง คือเคยต่อสู้กันครั้งหนึ่งเขา(บริษัทฯ) หาว่าเรา คือแบบว่าภาษากฎหมายคือ ไม่เป็นธรรมกับเขา เขาก็สู้ตอบ เขาก็ส่งทนายมาสู้ตอบ แต่ ณ ตอนนี้คือ เมื่อเที่ยวที่แล้วที่ไปฟังศาล ศาลท่านนัดจำเลยมาพบในวันที่ 15 เดือนพฤษภาคมนี้ กลุ่มเรา ที่ฟ้องมีประมาณ 16 ท่าน (เท่าเดิมจากตอนแรก) ค่ะ เป็นตัวแทนในการฟ้อง การทำงานในระหว่างเจ็ดปีที่ผ่านมา มีการประสานงานกันอย่างไร        เราก็ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พาเราไปร้องเรียนที่สำนักงานใหญ่ของเขา ไปกองปราบ ไปแจ้งความ ไปทำหนังสือยกเลิกเอกสาร ไปกรรมาธิการที่รัฐสภา เราก็ไปนะคะ ไป สคบ., ปปง. เราไปมาหมด จนเราแบบว่าที่ไหนที่เราคิดว่าเขาให้ความยุติธรรม สามารถช่วยเหลือเราได้ เราก็ไปค่ะ        รวมๆ แล้ว 7 ปีคะ  ตั้งแต่เริ่มเลย ไปอย่างนี้เรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายเราก็เป็นคนออกเอง แล้วก็มีหน่วยงานทนายความอาสาที่เขาช่วยเหลือในการฟ้อง สิ่งที่ทำให้กลุ่มพี่มีกำลังใจในการสู้คืออะไร        เราถูกโกงเราไม่ได้รับความยุติธรรม เราก็ต้องการที่จะเรียกร้องความยุติธรรม ความถูกต้องค่ะ และตอนนี้ 7 ปีเราก็ไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ ทั้งสิ้น เราผู้เสียหาย บริษัทแคลิฟลอเนียว้าว ยังไม่เคยให้ความรับผิดชอบใดๆ ให้กับผู้เสียหายเลย  ถามว่าท้อแท้บ้างไหม ไม่เลยค่ะ เราไม่ได้รับความยุติธรรม เราจะสู้ต่อไปค่ะ เราก็จะดำเนินการทางด้านกฎหมายให้ถึงที่สุด จนกว่าเราผู้เสียหายทุกคนจะได้รับการเยียวยา ของพี่เองได้รับความเสียหายเท่าไหร่คะ        ค่าเสียหายมากทั้งที่หาเอกสารเจอและไม่เจอเกือบล้านค่ะ ที่เราฟ้องไว้ที่พอจะมีเอกสารก็ประมาณเจ็ดแสนกว่า ถ้ารวมทั้งหมดของคนอื่นๆ ด้วย แล้วมูลค่าประมาณหลายสิบล้านคะ เฉพาะที่มาร้องเรียนที่มูลนิธิข้อมูลก็น่าจะหลายล้านอยู่ สำหรับผู้ที่มาฟ้องมูลนิธิ กับผู้ที่ไปฟ้องที่อื่นอีก ก็คือเขาปิดกิจการไปเฉยๆ ก็คือเท่ากับว่าสมาชิกทุกคนถูกโกงหมดไม่มีใครไม่โดนโกง ณ วันที่เขาใกล้ปิดกิจการเขาก็ยังหาลูกค้าอยู่ ตอนนั้นพี่ทำงานและใช้บริการที่ไหนคะ        ตอนนั้นทำงานอยู่บริษัทเอกชน แถวๆ สมุทรปราการ แล้วก็มาใช้ได้เฉพาะวันอาทิตย์วันเดียวนะคะ แต่ก็ซื้อคอร์สไว้มากมาย ระหว่างที่มีปัญหา คอร์สเราก็ยังเหลืออยู่ ซึ่งเขาก็ไมได้คืนเงินให้ เขาบอกว่าปิดกิจการค่ะ เราจะไปออกที่ไหน ก็นอกจากฟ้องผู้ประกอบการใช่ไหมคะ แล้วตอนนี้ออกกำลังกายที่ไหนคะ        ตอนนี้ไม่ได้ไปออกกำลังกายแล้วค่ะ สงสัยจะต้องพึ่งสนามกีฬาแบบแอโรบิคตอนเย็น ตามชุมชนซะแล้ว ดีกว่า คือสบายใจกว่า มีเพื่อนเยอะ แต่ที่เราเลิกเพราะเราไม่ค่อยมีเวลาในบางจุดใช่ไหมคะ แล้วเครื่องออกกำลังกายบางอย่างเราก็ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ต้องมีคนสอน แล้วอีกอย่างหนึ่ง อย่างสถานชุมชนเขาก็อาจจะเปิดแค่ไม่เกินหกโมงเย็น เวลามันไม่ได้ เราต้องทำงาน แต่เราก็ผิดหวังกับการให้บริการของฟิตเนสเอกชน ก็ทำให้เข็ด เวลาถ้าเกิดจะไปสมัครที่ไหนก็ต้องระมัดระวัง ตอนนี้ออกกำลังกายกำลังเป็นกระแส        ใช่ค่ะ การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีนะคะ แต่การบริการก็ต้องให้กับผู้บริโภค ผู้ใช้บริการได้รับความยุติธรรม สอนให้จบ เงินเสียไปคุณก็ต้องสอนเราให้จบ ไม่ใช่จ้องแต่ว่าขอให้ซื้อเพิ่ม ซื้อเพิ่มโดยที่ไม่รู้ว่าการบริการจะเป็นอย่างไร คุณจะบริการให้เราได้หรือไม่ ใช่ไหมคะ คุณสักแต่ว่าให้เราซื้อ ซื้อคอร์สแล้วสุดท้ายบริษัทก็ปิดกิจการหนีไป ซึ่งเกิดเหตุกับแคลิฟลอเนียว้าวแล้ว ก็ไม่อยากจะให้เกิดกับบุคคลอื่น โดนเหมือนอย่างที่เราโดน เพราะว่าอันนี้ก็ถือเป็นบทเรียนคนที่จะสมัครฟิตเนสตอนนี้ต้องดูอะไรบ้าง        ก็อยากจะเตือนผู้ที่จะสมัครฟิตเนสว่า การจะสมัครก็ให้ดูเอกสารสัญญาให้ชัดเจน ควรจะฝึกให้หมดคอร์สแล้วค่อยต่อใหม่จะดีกว่านะคะ ดูสัญญาเพราะตอนนี้สัญญามันจะต้องเป็นสัญญาปีต่อปีคะ สัญญาแบบยาวนานตลอดชีพไม่มีแล้วนะคะ นอกจากเรื่องสัญญาต้องดูพฤติกรรมการสอนของเขา บางครั้งเขาก็จะมาอ้อนวอนให้เราช่วยซื้ออะไรแบบนี้ ก็ควรจะ หมดแล้วค่อยต่อใหม่น่าจะดีกว่า น่าจะปลอดภัยต่อผู้สมัคร อยากฝากอะไรให้ผู้ประกอบการบ้าง        ผู้ประกอบการก็ควรมีจรรยาบรรณ คุณมีบริการด้านสุขภาพ สมาชิกยินดีเสียเงิน แต่ผู้บริการก็ต้องให้บริการตรงตามสัญญา หรือตรงตามที่เขาต้องการใช่ไหมค่ะ เขาอยากได้สุขภาพดีคุณก็สอนไป คุณก็สอนไปจนเขาจบคอร์ส แต่ไม่ใช่คุณได้เงินแล้วคุณไม่บริการ หนี ปิดกิจการไป มันก็ไม่ถูกต้องกับผู้บริโภคใช่ไหมคะ มันก็จะต้องเกิดปัญหาเกิดขึ้น มันก็เหมือนกับว่าคุณใช้ธุรกิจด้านการให้บริการออกกำลังกายบังหน้า เพื่อที่จะหาเงินเข้าส่วนของบริษัทของคุณ         เราซื้อคอร์สไว้มากมาย แล้วปิดกิจการไป ส่วนที่เหลือไม่ได้ชดเชยให้ ปิดไปเฉยๆ ดื้อๆ อย่างนี้ สอบถามไปก็อ้างว่าจะปรับปรุง สุดท้ายก็ทยอยปิด ทยอยปิดทีละสาขา จนสุดท้ายไม่เหลือ และก็ไม่เคยชี้แจง หรืออกมาแสดงความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าผู้ประกอบการออกมาแสดงความรับผิดชอบ เรื่องมันก็คงไม่ยาวขนาดนี้ การที่เขาปล่อยให้ยาวขนาดนี้ ก็แสดงถึงเจตนาเขาเหมือนกันนะคะ เพราะว่าถ้าเกิดเขาแสดงความรับผิดชอบ ทุกคนที่เป็นผู้เสียหายได้รับการเยียวยาก็คงไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ไม่มีการฟ้องร้องที่ยาวนาน     จากนี้จะมีกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวอะไรอีกบ้าง        ก็วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ศาลนัดอีกที แล้วก็มีพวกที่ไปร้องไว้ที่ ปปง.หรือที่อื่นเขาก็ดำเนินการอยู่บ้าง รวมตัวกัน เราก็จะสู้ต่อไปค่ะ ก็คือแม้จะใช้เวลายาวนานอีกเท่าไหร่ก็จะสู้ต่อไปค่ะ เพื่อความยุติธรรม เพราะว่าสิ่งที่เขาทำกับเรา เราไม่ได้รับความยุติธรรม เราก็ไม่คิดว่าบริษัทเขามีกิจการใหญ่โต จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับเรา และนอกจากเรื่องนี้ พอเกิดเหตุการณ์เรื่องนี้เสร็จแล้วนี่ ในการซื้อของหรือว่าในการใช้บริการต่างๆ พี่เอาเรื่องนี้มาใช้กับตนเองอย่างไรบ้าง ก็คิดว่าถ้าเกิดไปใช้บริการด้านสุขภาพพวกนี้ก็ต้องระมัดระวังขึ้นในเรื่องสัญญา หนึ่งสัญญา และก็สองการซื้อคอร์ส ก็คือต้องคุยกันว่าจบแล้วเริ่มใหม่ดีกว่าซื้อเผื่อไว้ล่วงหน้าแบบนี้ เราคงจะไม่ซื้อเผื่อไว้ล่วงหน้าคะ พูดง่ายๆ ก็คือเราเข็ด เพราะเราเคยโดยมาแล้ว โดนพฤติกรรมแบบนี้ เราก็ต้องระวัง วันที่ 15 คือนัดให้จำเลยไปแถลงต่อศาลถ้าเขาไม่มาก็ออกหมายจับเลยหรือคะ        น่าจะประมาณนี้ ก็ดีนะ นานมากเจ็ดปี ใช่ค่ะกองปราบเราก็ไป สคบ.ก็ไป แล้วก็ให้ ปปง.เขาสืบเส้นทางการเงินของบริษัทเขา ปรากฏว่าเขาก็มีเส้นทางโอนเข้าโอนออกอะไรของเขา  แต่เมื่อก่อนบริษัทนี้ใหญ่มาก มีตั้งหลายสาขา  ณ ตอนนี้มันเริ่มสืบถึงตัวเจ้าของ แต่ก่อนเราก็ได้แค่ปลาซิวปลาสร้อยเล็กๆ น้อยๆ ตอนนี้เหมือนเขาจะให้แค่ 20 % (การเยียวยา) ซึ่งทางเราไม่ยอม ทางเราหลายคน ตั้งเป้าไว้ว่าอย่างไรคะ        มันต้องได้คืนทั้งหมด  ดอกเบี้ยก็ต้องค่าเสียหายตามศาลสั่ง ใช่ไหมคะ ระหว่างเจ็ดปีเรามีค่าใช้จ่ายนะคะ แต่ละคนมีค่าใช้จ่ายในการไปศาล ในการวิ่งเต้น และก็ได้ทนายอาสาช่วย ซึ่งมันต้องจ่ายเอง แล้วระยะเวลาก็อยากจะให้คนทุกคนออกมาใช้สิทธิ์ของตนเองด้วย ในการเรียกร้อง เพราะเราเป็นผู้ถูกกระทำ เราเป็นผู้เสียหาย         เราทุกคนจะสู้ต่อไป ในกลุ่มเอง ตัวดิฉันเองถ้ายังไม่ได้รับความยุติธรรมก็จะสู้คะ จนกว่าจะถึงที่สุดคือ คำสั่งศาลถือว่าเป็นที่สุดคะ เพราะคดีนี้มันจะเป็นคดีอาญาไปแล้วคะ เป็นทั้งคดีผู้บริโภค ผิดคดีอาญาด้วย มันก็จะเป็นคดีตัวอย่างที่มีปัญหา ซึ่งฟ้องกลุ่มจะสามารถดำเนินการได้ต่อเป็นบรรทัดฐานใหม่ มันนานมาก คดีอื่นก็น่าจะจบไปแล้ว ก็อยากจะให้กระบวนการยุติธรรมช่วยพิจารณาคดีเราให้เร็วกว่านี้อีกนิดหนึ่ง นี่เรารอมาตั้งเจ็ดปีแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 บอกเลิกสัญญาฟิตเนสไม่ได้

เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย ใครอยากได้ต้องทำเอง ส่งผลให้ผู้บริโภคปัจจุบันเริ่มหันมาออกกำลังกายกันเป็นประจำมากขึ้น ซึ่งหลายคนก็นิยมออกกำลังกายในฟิตเนส เพราะสะดวก มีอุปกรณ์หลากหลาย แต่หากวันหนึ่งเกิดปัญหาและต้องการยกเลิกสัญญาใช้บริการ เราสามารถทำได้ง่ายๆ จริงหรือคุณณรงค์สมัครใช้บริการฟิตเนสเจ้าหนึ่ง มาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี แต่วันหนึ่งเขากลับประสบอุบัติเหตุขณะกำลังออกกำลังกาย ทำให้ต้องพักรักษาตัวและงดออกกำลังกาย 1 เดือน เขาจึงไปแจ้งกับพนักงานของฟิตเนสดังกล่าวว่า ขอระงับการใช้บริการชั่วคราว โดยยินดีเสียค่าธรรมเนียมการระงับตามระเบียบของบริษัท อย่างไรก็ตามพนักงานกลับแจ้งว่าไม่สามารถระงับชั่วคราวในทันทีได้ เพราะตอนที่คุณณรงค์มาแจ้งนั้น เริ่มเข้าเดือนใหม่แล้ว ซึ่งกฎของบริษัทกำหนดให้สามารถระงับได้ในเดือนถัดไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณณรงค์จึงเห็นว่าในเดือนถัดไป เขาน่าจะอาการดีขึ้นและสามารถกลับมาออกกำลังกายได้ตามปกติแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องขอระงับชั่วคราว ดังนั้นเมื่อถึงวันสุดท้ายของเดือนดังกล่าว คุณณรงค์จึงไปขอยกเลิกสัญญา และแจ้งระงับการชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต ซึ่งปกติจะตัดยอดอัตโนมัติ พร้อมนำกุญแจล็อกเกอร์ไปคืน แต่พนักงานของฟิตเนสกลับแจ้งว่า ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้อีกเช่นกัน เพราะตามกฎการบอกยกเลิกสัญญานั้น จะต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน แสดงว่าจะในเดือนที่กำลังจะถึงนี้ คุณณรงค์ยังคงต้องชำระค่าบริการก่อนและบอกยกเลิกได้ในเดือนถัดๆ ไป ส่งผลให้เขารู้สึกว่าโดนเอาเปรียบและส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยผู้ร้องร่างหนังสือแจ้งขอยกเลิกสัญญาและปฏิเสธการชำระค่าบริการ เนื่องจากการที่ผู้ร้องประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถออกกำลังกายได้นั้น เป็นเหตุในบอกระงับการใช้บริการได้ ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผุ้บริโภค เรื่องสิทธิในการบอกเลิกสัญญาฟิตเนสที่กำหนดว่า หากมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์(ใบรับรองแพทย์) ยืนยันว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกายหรือจิตใจปกติ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ นอกจากนี้ทางบริษัทยังไม่มีการดูแลหรือแจ้งข้อเสนออื่นๆ ให้ผู้ร้องทราบก่อนเลย เช่น กฎของบริษัทในการบอกเลิกสัญญา ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวของบริษัท อาจเข้าข่ายข้อสัญญาไม่เป็นธรรมได้เช่นกัน ขณะนี้ยังอยูระหว่างเจรจา ได้ผลเช่นไรเราจะติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2560ทรูฟิตเนส-ทรูสปา ปิดบริการทำผู้บริโภคเดือดร้อน“ทรูฟิตเนส” ปิดให้บริการทุกสาขาในประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้สมาชิกทราบ ซึ่งยังรวมถึงกิจการอื่นๆ ในเครือเดียวกัน ทั้ง ทรูสปา และ ทรูอีสต์ โดยในเว็บไซต์ของบริษัทได้แจ้งเหตุผลในการปิดให้บริการเอาไว้ว่า ทางบริษัทประสบปัญหาเรื่องผลประกอบการอยู่ในภาวะขาดทุนจนไปสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้การปิดบริการโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าของทรูฟิตเนสนั้น ถือว่ามีความผิดตามประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(คคบ.) เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา และขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เปิดให้ผู้เสียหายนำหลักฐานการทำสัญญาหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงชื่อร้องเรียน ซึ่งในขั้นแรก สคบ. จะเชิญทางทรูฟิตเนสเข้ามาเจรจาเรื่องแนวทางการชดเชยเยียวยาให้กับผู้เสียหาย แต่หากหาข้อตกลงกันไม่ได้ สคบ. จะดำเนินการยื่นฟ้องแทนผู้เสียหายต่อไป ซึ่งมีผู้เสียหายทยอยกันเข้ามายื่นเรื่องฟ้องร้องแล้ว เป็นจำนวนมากกว่าร้อยราย โดยผู้เสียหายบางรายสมัครบริการแบบตลอดชีพเอาไว้ซึ่งมูลค่าความเสียหายมากกว่า 3 แสนบาททุเรียนเผา กินได้ไม่อันตราย แค่วิตามินน้อยลงกรมอนามัย ออกมายืนยันแล้วว่า “ทุเรียนเผา” ไม่ทำให้เกิดกำมะถันเพิ่มจนเป็นอันตราย หรือกินแล้วถึงตาย หลังมีกระแสข่าวว่า มีคนกินทุเรียนเผาแล้วเสียชีวิตเนื่องจากสารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีงานวิจัยใดยืนยันว่า การเผาทุเรียนจะทำให้กำมะถันในทุเรียนเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนเป็นเหตุให้ผู้บริโภคเสียชีวิต แต่การเผาทุเรียนจะทำให้วิตามิน เช่น โฟเลต วิตามินบี วิตามินซี ลดลง รวมทั้งทำให้น้ำในทุเรียนระเหยออกไป ทุเรียนเผาจึงมีรสชาติหวานขึ้น แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรเผาทุเรียนจนไหม้ เพราะหากกินสะสมไปนานๆ ไม่ต่างจากกินอาหารปิ้งย่างจนไหม้เกรียม ซึ่งเสี่ยงมะเร็งพร้อมกันนี้ได้ฝากเตือนที่ผู้ที่ชอบรับประทานทุเรียน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดหัวใจตีบควรระวังเป็นพิเศษ หากกินทุเรียนในปริมาณที่มากเกินไปอาจทำให้อาการป่วยทรุดได้ เพราะในทุเรียนมีแป้งและไขมันสูง นอกจากนี้ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินได้เท่าคนปกติจึงควรเลี่ยง  “ดีท็อกซ์เท้า” อย. ยันไม่เคยรับขึ้นทะเบียนอย. เตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่า สามารถดีท็อกซ์เท้าเพียงแค่ใช้การปิดผลิตภัณฑ์ที่ฝ่าเท้า หลังพบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทางเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณว่า “ช่วยซับเหงื่อออกจากเท้า ช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของโลหิต ช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในให้เป็นปกติ ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้น ช่วยลดอาการเจ็บปวด เมื่อยล้า ลดอาการบวม ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น และช่วยให้หลับสนิทมากขึ้นช่วงกลางคืน เพียงปิดผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่บริเวณฝ่าเท้าก่อนนอน” โดยทาง อย. ยืนยันว่าไม่เคยอนุญาตให้มีการจำหน่ายและโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย. กำลังเร่งเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งตรวจวิเคราะห์ว่า มีการใส่สารต้องห้ามที่เป็นอันตรายหรือไม่ พร้อมทำการระงับการโฆษณา และดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และเจ้าของสื่อตามกฎหมายต่อไป หากเป็นการโฆษณาเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการแสดงคุณประโยชน์หรือคุณภาพอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง หรือเป็นการแสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอย่าซื้อ “ยุงจุดกันยุง-ธูปหอมไล่ยุง” ไม่ผ่านการรับรอง หลังมีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พบผลิตภัณฑ์ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงผิดกฎหมาย วางจำหน่ายในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน โดย อย. ตรวจสอบแล้วพบว่า มีสารอันตราย เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสารชนิดนี้ อย. ไม่เคยรับขึ้นทะเบียนมาก่อน เพราะไม่ผ่านการประเมินด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพ รวมถึงความเหมาะสมของอัตราการใช้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุง ที่พบว่าผิดกฎหมาย มีจำนวนทั้งสิ้น 5 ตัวอย่าง ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ธูป หอมไล่ยุงฉลากภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีเหลือง-สีฟ้า 2. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุงฉลากเป็นภาษาเขมร บรรจุ กล่องกระดาษสีเขียว-สีเหลือง 3. ผลิตภัณฑ์ธูปหอมไล่ยุง Ranger Scout บรรจุกล่องกระดาษสีน้ำเงิน-สีเขียว 4. ผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงชนิดขดตราหัวเสือฉลากเป็นภาษาจีน บรรจุกล่องกระดาษสีแดง-สีขาว ห่อด้วยพลาสติก ใสไม่มีสี และ 5. ยาจุดกันยุงชนิดขดตรา Laojun ปิดด้วยแผ่นกระดาษ สีฟ้า-สีเหลือง-สีดำ มีรูปเด็กบนฉลาก โดยมีข้อความบนฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ การเลือกซื้อยาจุดกันยุงและธูปหอมไล่ยุงทุกครั้ง จึงควรเลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนกับทาง อย. แล้วเท่านั้น เหตุขาดการมีส่วนร่วม-แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ภาคประชาชนยืนหยัดค้านแก้กฎหมายบัตรทองตัวแทนภาคประชาชน นำโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ แสดงความห่วงใยต่อการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายบัตรทอง เพราะมีหลายประเด็นที่ขัดต่อหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน หากปรับปรุงแก้ไขแล้วประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซ้ำยังอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลดลง โดยประเด็นที่ฝั่งภาคประชาชนมีความกังวลได้แก่  ประเด็นเรื่องการเปิดให้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายมีแนวโน้มในการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้บริการ เช่น การเพิ่มสัดส่วนของกรรมการหลักประกันสุขภาพในสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพ รวมทั้งในขั้นตอนการแก้กฎหมาย ก็จำกัดจำนวนกรรมการตัวแทนภาคประชาชนเพียง 2 คน จากสัดส่วนคณะอนุกรรมการ 27 คน ขณะที่ตัวแทนจากฝั่งผู้ให้บริการมีถึง 7 คน ที่เหลือเป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องส่วนในประเด็นปัญหาสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน ที่ควรแก้ไข กลับไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา  เช่น ปัญหาการจัดซื้อยา ที่ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นหรือมีราคาแพงได้ค่อนข้างดี ซึ่งช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชนที่ป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรือกลุ่มโรคเฉพาะเช่น ไตวาย หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ เป็นต้น นั้นกฎหมายที่ควรแก้ไข คือการเพิ่มอำนาจในการจัดซื้อยาให้กับ สปสช. แต่กลายเป็นว่า มีการแก้ไขให้โอนอำนาจการจัดซื้อยากลับไปอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขแทน ซึ่งข้อมูลในอดีตพบว่า การจัดหายาของกระทรวงสาธารณสุขนั้น เน้นนำเข้ารายการยา Top 10 ที่แต่ละรพ. ใช้ ซึ่งราคายาที่ซื้อมีราคาสูงกว่าการบริหารจัดการของ สปสช. มากนอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีความกังวลในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ครั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่ เฟซบุ๊ค กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ https://www.facebook.com/PeopleHealthSystemsMovement/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 25542 มิถุนายน 2554จ่ายเพิ่มชดเชยอุบัติเหตุรถยนต์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. เตรียมออกคำสั่งให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นจาก 100,000 บาท เป็นสูงสุด 300,000 บาท ทั้งกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพถาวรจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยมีผลบังคับใช้กับกรมธรรม์ที่เริ่มให้ความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป  นอกจากนี้ คปภ. จะจัดทำระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ (E-cliam) เพื่อช่วยในเรื่องการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้เต็มวงเงินคุ้มครองทันทีโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด พร้อมทั้งจะมีการเร่งจัดทำมาตรฐานราคาอ้างอิงค่าซ่อมรถใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน จากเดิมที่อ้างอิงราคาค่าซ่อมรถกำหนดตามขนาดของรถ จะมีการเปลี่ยนเป็นกำหนดตามรุ่นและยี่ห้อของรถแทน เพราะกระบวนการผลิตรถยนต์มีการพัฒนารูปแบบและเทคโนโลยี รถขนาดใกล้เคียงกันอาจมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้รถมากที่สุด----------------------------------------------------------------------------   26 มิถุนายน 2554 “สมุดบันทึกยา” แก้ปัญหาการใช้ยาซ้ำซ้อน ยา ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากเวลาที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย ยิ่งถ้าเราต้องเผชิญกับหลายโรครุมเร้า การใช้ยาก็ต้องเพิ่มขึ้นตามอาการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งการใช้ยาหลายชนิดหลายประเภทอาจไม่ช่วยรักษาโรคแถมยังกลับกลายเป็นผลร้าย ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้เลย “สมุดบันทึกยา” จึงเป็นตัวช่วยสำคัญให้ผู้ป่วยได้บันทึกการใช้ยาของตัวเอง ป้องกันการกินยาซ้ำซ้อนหรือยาออกฤทธิ์ตีกันจนกลายเป็นผลเสียต่อร่างกาย   ในงานสัปดาห์เภสัชกรรมประจำปี 2554 ได้มีการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการบันทึกรายการยาที่ใช้ เพื่อป้องกันการใช้ยาไม่เหมาะสม เพราะปัจจุบันมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังหลายโรคในเวลาเดียวกันโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันและโรคหัวใจ ทำให้ต้องใช้ยาหลายชนิดและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีโอกาสเกิดความสับสนในการใช้ยาได้ มีข้อมูลจากการติดตามผู้ป่วยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลนั้นสาเหตุมาจากเรื่องการใช้ยา โดยร้อยละ 40 มาจากการใช้ยาไม่ถูกต้อง และร้อยละ 60 มาจากอาการไม่พึงประสงค์จากยา   การจดบันทึกข้อมูลการใช้ยา ผู้ป่วยจะบันทึกด้วยตัวเองหรือจะให้แพทย์ หรือเภสัชกรเป็นผู้บันทึกก็ได้ ข้อมูลที่บันทึกจะเป็นประโยชน์มากในการรักษาผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยเองต้องรู้จักยาที่ตัวเองใช้เสียก่อนจึงจะสามารถจดบันทึกได้ เท่ากับได้เรียนรู้เรื่องยาไปด้วย --------------------------------------------------------   27 มิถุนายน 2554สคบ.คุมเข้ม “ฟิตเนส” ไม่ทำตามสัญญาต้องคืนเงิน ในที่สุด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ได้ออกประกาศเรื่อง การให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 นี้ เป็นต้นไป ส่งผลให้ธุรกิจให้บริการออกกำลังกาย อาทิ ธุรกิจฟิตเนส โรงยิม สถานบริการออกกำลังกายรูปแบบอื่นๆ ที่ให้บริการใช้สถานที่และอุปกรณ์ออกกำลังกายเพื่อประโยชน์ในทางการค้า จะถือเป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมสัญญา  สาระสำคัญและเงื่อนไขที่ต้องระบุในสัญญา ให้ชัดเจน คือ 1) รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดพื้นที่สถานให้บริการ จำนวนประเภท และจำนวนอุปกรณ์ และการให้บริการอื่นๆ 2) รายละเอียดอัตราค่าสมาชิก ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเรียกเก็บ เงื่อนไขและวิธีการชำระเงิน วันเริ่มต้นและสิ้นสุดการเป็นสมาชิก 3) ผู้ประกอบการต้องระบุชัดเจนว่าการผิดสัญญาเรื่องใดของผู้บริโภคที่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่ก่อนบอกเลิกสัญญาจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน  ในกรณีของผู้บริโภค การบอกเลิกสัญญาการใช้บริการโดยได้เงินคืนนั้นจะมาจาก 3 กรณี คือ 1)ผู้ประกอบการไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่น หรือมีอุปกรณ์แต่ชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอ ตามระบุในสัญญา 2) มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไปอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ 3) ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนไม่มีความรู้ความชำนาญ หรือจากอุปกรณ์ออกกำลังกายที่ชำรุดบกพร่องแต่ไม่มีการแจ้งเตือน --------------------------------------------------------   “หนี้” ปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้กฎหมายจัดการ “หนี้” ปัญหายอดฮิตของผู้บริโภค ทั้งเรื่องดอกเบี้ยสูงเกินจริง และการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชมรมหนี้บัตรเครดิต และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กระตุ้นภาครัฐเร่งออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคด่วน   น.ส. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียน เรื่องความไม่เป็นธรรมจากดอกเบี้ยบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ระหว่างเดือน 1 ม.ค.-15 มิ.ย. 2554 พบว่า  มีผู้ร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 126 เรื่อง ซึ่งปัญหาที่ร้องเรียนเข้ามาได้แก่ การผิดนัดชำระ, การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม, ถูกฟ้องให้ชำระหนี้ และค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิต ว่ามี 3 ประเด็นหลักๆ คือ (1) การคิดดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงมาก ปัจจุบันเรียกเก็บสูงสุดถึงร้อยละ 28 ขณะที่ต่างประเทศอย่างเยอรมนี เก็บสูงสุดแค่ร้อยละ 16 (2) กรณีการทวงหนี้ในปัจจุบัน แม้ ธปท. มีประกาศชัดเจนเรื่องแนวทางการทวงหนี้ แต่ก็เป็นเพียงประกาศเท่านั้น ไม่มีบทลงโทษในทางกฎหมาย และ (3) เรื่องการส่งเสริมการขายและการดึงดูดลูกค้าให้มีการเข้าถึงบัตรเครดิตมากขึ้น สุดท้ายก็มักเข้าสู่วังวนเรื่องหนี้ นายชูชาติ  บุญยงยศ ประธาน ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เสนอแนะให้ภาครัฐ ต้องออกมาตรการควบคุมการเก็บดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม  โดยไม่ควรเกินร้อยละ 15  ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม  เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งเฉลี่ยที่ร้อยละ 2  สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการปรึกษาเรื่องหนี้บัตรเครดิต ท่านสามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โทรศัพท์ 02-2483737 หรือปรึกษาทางเว็บไซต์กับชมรมหนี้บัตรเครดิต debtclub.consumerthai.org -----------------------------------   กด “Like” ถ้าโรงหนังทำให้ปวดใจ ค่าตั๋วแพง – โฆษณาเพียบ เมื่อสังคมบนโลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่แสดงพลังผู้บริโภคที่ง่ายและรวดเร็ว "เครือข่ายคนรักหนังต่อต้านการโฆษณามหาโหดของโรงหนังเครือเมเจอร์" จึงได้เปิดหน้าแฟนเพจบนเฟซบุ้คขึ้น ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเข้าร่วมขบวนการกันมากมาย ประเด็นนี้ถือเป็นกระแสร้อนแรงบนโลกออนไลน์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา "เครือข่ายคนรักหนังต่อต้านการโฆษณามหาโหดของโรงหนังเครือเมเจอร์" ได้ก่อตั้งแฟนเพจบนเฟซบุ้คขึ้นก็เพื่อให้เป็นพื้นที่ร่วมแสดงความคิดเห็นของกลุ่มคนที่รู้สึกถูกเอาเปรียบจากการชมภาพยนตร์ในโรงหนัง “มัลติเพล็กซ์” โดยเฉพาะโรงหนังในเครือเมเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการโฆษณาก่อนฉายภาพยนตร์นานเกินไป และเรื่องราคาตั๋วที่สูงขึ้นจนน่าตกใจ ซึ่งหลังจากเปิดตัวแฟนเพจ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 54 ในช่วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน มีผู้ใช้เฟซบุ้คมากดเป็นเพื่อนมากกว่า 2 หมื่นคน  ปัจจุบันราคาตั๋วชมภาพยนตร์ในโรงมัลติเพล็กซ์มีราคาสูงถึง 140 – 170 บาท ในช่วงวันหยุด ขณะที่วันธรรมดาอยู่ที่ประมาณ 120 – 150 บาท ส่วนโฆษณาและตัวอย่างภาพยนตร์ก่อนฉายจริงนั้นจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 20 – 30 นาที แม้กระแสบนโลกออนไลน์จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ปัญหาได้ทันทีทันใด แต่โรงหนังเครือเมเจอร์ก็พยายามหาทางออกด้วยการติดป้ายบอกเวลาการฉายโฆษณาและหนังตัวอย่างให้กับผู้ชม แต่เป็นแค่แจ้งให้ทราบเท่านั้น จำนวนไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ถึงกระนั้นก็เป็นการสร้างแรงสั่นสะเทือนเล็กๆ จากผู้บริโภคถึงผู้ประกอบการธุรกิจว่า หากผู้บริโภครู้สึกว่ามาเอาเปรียบกันมากเกินไปแล้ว ผู้บริโภคก็พร้อมออกมาทวงถามสิทธิของตัวเองกันมากขึ้น  ยิ่งในโลกที่สื่อออนไลน์เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนด้วยแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจโปรดพึงระวัง การตอบโต้กลับจากผู้บริโภคที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนมกราคม 2554 19 มกราคม 2554ฉลากอาหารปรับลุคใหม่ หวาน – เค็มเท่าไหร่รู้ได้เลยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมออกประกาศ ปรับปรุงการแสดงฉลากอาหารสำเร็จรูปทุกประเภท รวมทั้งน้ำดื่มทุกชนิด ที่เป็นการให้ข้อมูลโภชนาการแก่ผู้บริโภคให้อ่านง่ายและเข้าใจมากขึ้น จากเดิมที่มีรายละเอียดซับซ้อนและเข้าใจได้ยาก ผู้บริโภคต้องคิดคำนวณสารอาหารที่ได้หรือเปรียบปริมาณที่ควรกินต่อวันเอง แต่ข้อมูลในฉลากใหม่นี้จะเน้นที่การให้ข้อมูลสารอาหารที่บรรจุภายในผลิตภัณฑ์ เปรียบเทียบเป็นร้อยละความต้องการสารอาหารของร่างกายในแต่ละวัน รวมทั้งปรับปรุงจากเดิมที่เป็นการกำหนดสารอาหารต่อ 1 หน่วยบริโภค เป็นสารอาหารตามจำนวนที่บรรจุแทน เพราะปัจจุบันอาหารมีการบรรจุหลายขนาด บางครั้ง 1 หน่วยบริโภคอาจเป็นน้ำหนักเพียง 1 ใน 4 ของน้ำหนักอาหารจริงใน 1 ซองก็ได้ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคหลายคนเข้าใจผิด  การปรับปรุงฉลากอาหารของ อย. จะทำให้ผู้บริโภคคำนวณสารอาหารที่กินได้ง่ายขึ้น และจะแสดงค่าสารอาหารสำคัญๆ ได้แก่ พลังงาน น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว และเกลือ ซึ่งการกำหนดฉลากในรูปแบบใหม่นี้ จะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมเรื่องการกิน หวาน มัน เค็ม ไม่ให้มากเกินไป ทำให้สามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ง่ายขึ้น โดย อย. ตั้งเป้าว่าผู้บริโภคจะได้เห็นฉลากรูปแบบใหม่นี้ในปี 2554++++++++++++++++++++++++++++   23 มกราคม 2554ถึงเวลาคุมเข้ม สัญญา “ฟิตเนส”สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เตรียมออกกฎหมายคุมเข้มบริการ “ฟิตเนส” หลังยอดร้องเรียนปี 53 พุ่ง 200 ราย โดยประเด็นที่ร้องเรียนส่วนใหญ่คือเรื่อง การไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาในเรื่องการบริการ ที่ก่อนจะมีการทำสัญญา พนักงานขายจะบอกว่าสามารถใช้บริการด้านใดได้บ้าง แต่เมื่อทำสัญญาแล้วไม่เป็นตามข้อตกลงที่วางไว้ กับอีกเรื่องคือ เรื่องการบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด ที่ผู้ใช้บริการไม่สามารถเรียกร้องเอาเงินคืนจากผู้ประกอบการได้ และจะมีการหักเงินจากบัตรเครดิตเป็นรายเดือน ในการทำสัญญาระหว่างผู้ประกอบการและลูกค้าจะเป็นการทำสัญญากันเองของสองฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะถูกเอาเปรียบ และไม่สามารถเอาผิดกับผู้ประกอบการได้ เนื่องจากไม่มีข้อกฎหมายบังคับ  โดยสาระสำคัญของ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ จะเจาะจงแต่สถานที่ให้บริการแบบที่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายเท่านั้น ไม่รวมสถานที่ที่มีหลักสูตรเฉพาะอย่าง โยคะ ศิลปะป้องกันตัว หรือกีฬา โดยการทำสัญญาต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน พร้อมระบุรายละเอียดขนาดพื้นที่ จำนวนประเภท จำนวนอุปกรณ์ออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวก  อัตราค่าสมาชิก ค่าใช้บริการออกกำลังกาย ค่าฝึกสอน ลักษณะการเรียกเก็บเงิน ระยะเวลาการเป็นสมาชิก ฯลฯ  สิทธิในการบอกเลิกสัญญา เงื่อนไขการขอเรียกคืนเงิน ซึ่งต่อไปหากพบสัญญาไม่เป็นธรรม ผู้บริโภคสามารถฟ้องร้องได้++++++++++++++   26 มกราคม 2554ผู้บริโภคเสี่ยงน้ำมันทอดซ้ำเพราะน้ำมันปาล์มขึ้นราคาผลพวงจากวิกฤติราคาน้ำมันปาล์มที่แพงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงว่า บรรดาพ่อค้า-แม่ค้าอาจใช้วิธีประหยัดต้นทุนด้วยการใช้น้ำมันทอดอาหารซ้ำหลายๆ ครั้ง ซึ่งเป็นอันตรายกับผู้บริโภค เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าการนำน้ำมันมาทอดซ้ำ จะเป็นการก่อให้เกิดสารโพลาร์ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง  กระทรวงสาธารณสุขเคยสุ่มตรวจตัวอย่างน้ำมันที่ใช้ทอดอาหาร ในร้านขายอาหารในปี 2553 จำนวนทั้งหมด 4,397 ตัวอย่าง พบมีสารโพลาร์เกิน 294 ตัวอย่าง ในช่วงวันที่ 1-14 มกราคม 2554 ได้ตรวจน้ำมันทอดซ้ำในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 494 ตัวอย่าง พบน้ำมันทอดซ้ำไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 5.06  กระทรวงสาธารณสุขฝากถึงพ่อค้า-แม้ค้าว่า ไม่ควรน้ำมันทอดซ้ำเกิน 2 ครั้ง โดยหลังจากใช้ทอดครั้งแรกแล้ว จะต้องกรองกากทิ้งก่อน จึงจะสามารถนำน้ำมันมาใช้ทอดครั้งที่ 2 ได้ หากสุ่มตรวจแล้วพบมีสารโพลาร์เกินมาตรฐาน คือไม่เกินร้อยละ 25 ต่อน้ำหนักน้ำมันที่ใช้ ถือว่ามีความผิดฐานจำหน่ายอาหารไม่ได้มาตรฐาน มีสิทธิโดนโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   บรอดแบรนด์ 199 บาท เพื่อการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทีโอที ได้เปิดให้บริการอินเตอร์เน็ตราคาถูกใน 6 จังหวัด ด้วยระบบบรอดแบนด์ 2 เมกะบิต เพียง 199 บาทต่อเดือน ภายใต้โครงการ “ถนนไร้สาย” ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ซึ่งเป็นโครงการนำร่องให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไร้สาย หรือ ไว-ไฟ (Wi-Fi) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตามนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยเริ่มต้นไปแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช, ตรัง, เพชรบูรณ์, เชียงใหม่, เชียงราย และ พิษณุโลก  โดย ทีโอที หวังว่าการให้บริการอินเตอร์เน็ตในราคานี้ จะช่วยให้การใช้งานอินเตอร์เน็ตภายในประเทศมีความแพร่หลายมากขึ้น เพราะปัจจุบันอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ขั้นต่ำ 6 เมกะบิต อยู่ที่ 599 บาทต่อเดือน ซึ่งยังถือว่าค่อนข้างสูงเกินไปสำหรับลูกค้าที่มีรายได้น้อย การปรับลดราคาโดยใช้เงื่อนไขลดความเร็วของอินเตอร์เน็ตลง จึงน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน – นักศึกษา  แต่บริการนี้ก็ยังติดปัญหาเรื่องการให้บริการยังไม่ครอบคลุมในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งถ้าจะทำให้เข้าถึงได้ทั่วประเทศต้องใช้เงินลงทุนสูง  แบบนี้คงต้องฝากความหวังเอาไว้กับ 3 จี ซึ่งหวังว่าบ้านเราจะมีโอกาสได้ใช้เร็วๆ นี้++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   คัดค้านเครดิตบูโร เก็บประวัติการจ่ายค่าน้ำ – ค่าไฟมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นหนังสือคัดค้านการจัดเก็บประวัติการชำระค่าระบบสาธาณูปโภค ต่อบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด(เครดิตบูโร) เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค เรื่องการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่น่าจะมีผลเกี่ยวข้องกับเรื่องขอสินเชื่อ พร้อมเสนอให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนโดยไม่เป็นธรรม  นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่าการเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้ต้องการให้ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ทบทวนการนำประวัติการชำระค่าระบบสาธาณูปโภคมาเป็นเงื่อนไขในการของสินเชื่อ เพราะเรื่องการชำระ ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าโทรศัพท์ของผู้บริโภคไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน แถมยังเป็นการซ้ำเติมประชาชน เพราะปัญหาเรื่องการขาดชำระค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นเรื่องที่อาจเกิดได้จากหลายเหตุผล ทั้งจากความผิดพลาดด้านเอกสาร ที่อาจตกหล่นไม่ถึงมือผู้ใช้บริการ หรือการที่ชื่อของผู้ขอใช้กับผู้ใช้จริงไม่ได้เป็นคนเดียวกัน อย่างในกรณีของผู้ให้บริการหอพัก บ้านเช่า หรือการที่อาจถูกแอบอ้างชื่อโดยมิจฉาชีพไปจดทะเบียนของใช้บริการโทรศัพท์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจ หากมีการนำไปบันทึกประวัติเสียในเครดิตบูโร ข้อมูลจะถูกเก็บไว้ถึง 3 ปี แม้เงินที่ค้างชำระจะเป็นเงินจำนวนไม่มากและผู้บริโภคจะได้ชำระเงินเรียบร้อยในภายหลังแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูไม่สมเหตุสมผลหากกลายมาเป็นอุปสรรคในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน++++++++++++++++++++++  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 แฟนท้อง อยากจะขอเลิกสัญญาฟิตเนส

แฟนเล่นฟิตเนสครบปีและเพิ่งต่อสัญญาเมื่อเดือนมกราคม ในสัญญาลงไว้ 12 เดือน ถ้าจะ dropต้องเสีย ทุกเดือน 20% หรือประมาณ 400 บาทตอนนี้แฟนผมท้อง จึงจะขอยกเลิกสัญญา เพราะคิดว่าไม่ได้ไปใช้บริการเพราะไม่จำเป็นทำไมต้องเสียเงินอีก ไม่ทราบยกเลิกสัญญาได้ไหมครับ แล้วต้องทำอย่างไรถึงไม่โดนหักบัตรเครดิตต่อ ขอบคุณครับ แนวทางแก้ไขปัญหาคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา  พ.ศ. ๒๕๕๔  มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา หมายความว่า หากข้อความในสัญญาของฟิตเนสฉบับไหนขัดต่อประกาศฉบับนี้ให้ถือว่าข้อความในสัญญานั้นไม่มีผลทางกฎหมาย และหากสัญญาของฟิตเนสฉบับไหนไม่มีข้อความตามประกาศฉบับนี้ ก็ให้ถือว่าสัญญาของฟิตเนสนั้น มีข้อความหรือข้อสัญญาตามที่ประกาศได้กำหนดไว้โดยอัตโนมัติทันที แม้มิได้มีข้อความปรากฏอยู่ในสัญญาฉบับนั้นก็ตาม “ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกาย” ตามประกาศฉบับนี้ หมายความว่า ธุรกิจให้บริการ ใช้สถานที่ และอุปกรณ์ออกกำลังกายเพื่อประโยชน์ในทางการค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจทำสัญญาให้บริการ ออกกำลังกายกับผู้บริโภคให้เป็นสมาชิก แต่ไม่หมายความรวมถึงธุรกิจให้บริการเฉพาะโยคะ ศิลปะการป้องกันตัว และกีฬา ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร โดยมีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว และจะต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้(1) รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดพื้นที่ของสถานที่ให้บริการออกกำลังกาย จำนวนประเภทและจำนวนอุปกรณ์ออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และการให้บริการอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคมีสิทธิพึงได้รับตามสัญญา(2) รายละเอียดอัตราค่าสมาชิก และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากสมาชิก เช่น ค่าใช้ บริการออกกำลังกาย ค่าฝึกสอน ค่าธรรมเนียม เป็นต้น เงื่อนไขและวิธีการชำระเงิน วันเริ่มต้น และสิ้นสุดการเป็นสมาชิก(3) การผิดสัญญาเรื่องใดของผู้บริโภคที่ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเลิกสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องระบุเหตุในเรื่องนั้น ๆ ไว้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำหรือตัวเอนที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป และก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่การผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ดังนี้ (ไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า)(ก) กระทำการอันเป็นความผิดกฎหมายอาญาโดยเจตนา(ข) มีพฤติกรรมรบกวนการใช้บริการของสมาชิกอื่น(ค) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงประกาศฉบับนี้ได้กำหนดสิทธิเลิกสัญญาของผู้บริโภค ไว้เพียง 3 กรณี คือ(1) ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีประเภทอุปกรณ์ออกกำลังกาย หรือบริการอื่น ๆ ตาม (1) หรือประเภทอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดบกพร่องหรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอ เมื่อเทียบกับ จำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการนั้น ๆ ที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาทดแทนได้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับแจ้ง(2) มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่าการใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ(3) ได้รับการบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่าชำรุดบกพร่องดังนั้น จากคำถามที่ถามมา ภรรยาตั้งครรภ์หรือการมีปัญหาทางด้านสุขภาพ จะสามารถบอกเลิกสัญญาได้ต่อเมื่อมีหลักฐานใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าการใช้บริการฟิตเนสต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือสภาพร่างกายหรือจิตใจผิดปกติ ไปแสดงประกอบการบอกเลิกสัญญาในกรณีที่ผู้บริโภคชำระค่าสมาชิกและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วยบัตรเครดิต ประกาศฉบับนี้กำหนดให้ ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องแจ้งระงับการเรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิตทันทีเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงคำบอกกล่าวในการบอกเลิกสัญญาของผู้บริโภคให้ทำเป็นจดหมายส่งถึงผู้ให้บริการทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเป็นดีที่สุดครับ        

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 True Fitness ไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกภาพ

ช่วงที่ผ่านมา เว็บไซต์ www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับบริการของ True Fitness อยู่หลายราย ลองมาดูตัวอย่างกัน“ดิฉันสมัครสมาชิก True Fitness ที่สาขาแครายไว้ค่ะ” คุณยุพานามสมมติของผู้บริโภครายหนึ่ง เริ่มเรื่องตอนที่สมัครเซลล์แจ้งว่า ถ้าอนาคตไม่ต้องการใช้บริการต่อก็สามารถโอนหรือขายต่อสมาชิกภาพให้ผู้อื่นได้ ดิฉันจึงเซ็นสัญญาไปและชำระเงินค่าสมาชิกราย 2 ปีไปครบเรียบร้อยแล้วแต่เมื่อวานติดต่อไปที่ฟิตเนสเพื่อสอบถามเรื่องการโอนสมาชิกให้เพื่อน พนักงานปฏิเสธเสียงแข็งว่า "เดี๋ยวนี้" โอนไม่ได้แล้วค่ะ ดิฉันเถียงกลับไปว่าตอนสมัครทำไมเซลล์พูดว่าโอนได้ ขายได้ พนักงานก็ไม่ตอบคำถามนี้ พูดแต่เพียงว่า ปกติเราไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกนอกจากจะมีเหตุผลด้านสุขภาพเท่านั้น ส่วนเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ เช่น การย้ายที่อยู่ ติดภารกิจเรื่องงาน ฯลฯ ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการโอนได้ดิฉันลองดูในสัญญา ก็เขียนไว้แค่ว่า สมาชิกภาพนี้มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถโอนได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากทางบริษัท ดิฉันสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างคะ สิ่งที่เซลล์พูดก็เป็นเพียงคำพูดค่ะ ไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีสมาชิกหลายคนที่ได้รับข้อมูลจากเซลล์มาแบบเดียวกันว่าโอนให้คนอื่นได้ คำพูดของเซลล์ถือเป็นการเจตนาบิดพลิ้วสาระสำคัญของสัญญาได้ไหมคะ” ส่วนอีกรายก็เขียนร้องเรียนมาว่า “เจอปัญหาเดียวกันเลยค่ะ” “ตอนสมัครปีที่แล้วน้องเซลล์ก็พูดเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่าสามารถโอนสิทธิได้ แต่ว่าได้แค่ครั้งเดียว โดยมีค่าธรรมเนียม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็รู้กันอยู่ว่าเขาโอนกันเยอะแยะ พอมาถึงตอนนี้ดิฉันกับเพื่อนต้องการโอนสิทธิให้คนอื่น กลับมาบอกเราว่าเมื่อก่อนโอนได้ เดี๋ยวนี้ไม่ให้โอนแล้ว ดิฉันไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายนะคะ แต่เห็นว่าถ้าตอนหลังจะยกเลิกเรื่องการโอน ก็ควรมีผลเฉพาะกับคนที่สมัครหลังจากออกกฎนี้หรือเปล่า และสัญญารุ่นใหม่ก็ควรระบุไปเลยว่าไม่ให้โอนสิทธิไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น” ปัญหาเป็นแบบนี้แนวทางการแก้ไขปัญหา จะต้องทำอย่างไร มาดูกัน แนวทางแก้ไขปัญหาขอตอบแบบในมุมของกฎหมายคดีผู้บริโภคเลยนะครับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 ได้บัญญัติไว้ว่า ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตามดังนั้น หากพบว่ามีลูกค้าหลายรายตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ก็สามารถชวนกันมาเป็นพยานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ว่า เซลล์ได้มีการสัญญาในเรื่องต่างๆ ตรงกันหรือไม่ ถ้าใช้แต่ตัวเองก็จะเป็นหลักฐานที่อ่อนไป ศาลอาจไม่เชื่อได้แต่ก่อนที่เรื่องจะไปศาลนั้น ควรทำหนังสือขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรียนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เรื่องขอโอนสมาชิกภาพ รายละเอียดก็ว่าไป...ว่าไม่ยอมให้มีการโอนโดยอ้างเรื่องสัญญา แต่สมาชิกคนอื่นๆ ต่างได้รับข้อเสนอจากพนักงานขายเป็นเสียงเดียวกันว่าสามารถโอนสมาชิกได้ จึงขอให้บริษัทพิจารณาดำเนินการโดยเร็วภายในกี่วันก็ว่าไป แล้วให้สำเนาท้ายจดหมายว่า เรียนถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจดหมายที่ส่งไปให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้น ให้ส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับ เก็บสำเนาตัวจดหมายและใบตอบรับไว้เป็นหลักฐานเผื่อต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ล่าสุดมีข่าวดีเพิ่มเติม...คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งให้สิทธิการเลิกสัญญาของผู้โภคได้ในกรณีต่อไปนี้1. ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นๆ ให้ตามที่สัญญา หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายมีการชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการที่ใกล้เคียงกันมาทดแทนได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค2. ผู้บริโภคมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่า การใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกาย หรือทำให้จิตใจผิดปกติได้3. ผู้บริโภคได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่า ชำรุดบกพร่องเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีเวลาปรับปรุงคุณภาพการบริการให้เป็นไปตามสัญญาควบคุมฉบับนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงกำหนดให้ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 True Fitness ไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกภาพ

ช่วงที่ผ่านมา เว็บไซต์ www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับบริการของ True Fitness อยู่หลายราย ลองมาดูตัวอย่างกัน“ดิฉันสมัครสมาชิก True Fitness ที่สาขาแครายไว้ค่ะ” คุณยุพานามสมมติของผู้บริโภครายหนึ่ง เริ่มเรื่องตอนที่สมัครเซลล์แจ้งว่า ถ้าอนาคตไม่ต้องการใช้บริการต่อก็สามารถโอนหรือขายต่อสมาชิกภาพให้ผู้อื่นได้ ดิฉันจึงเซ็นสัญญาไปและชำระเงินค่าสมาชิกราย 2 ปีไปครบเรียบร้อยแล้วแต่เมื่อวานติดต่อไปที่ฟิตเนสเพื่อสอบถามเรื่องการโอนสมาชิกให้เพื่อน พนักงานปฏิเสธเสียงแข็งว่า "เดี๋ยวนี้" โอนไม่ได้แล้วค่ะ ดิฉันเถียงกลับไปว่าตอนสมัครทำไมเซลล์พูดว่าโอนได้ ขายได้ พนักงานก็ไม่ตอบคำถามนี้ พูดแต่เพียงว่า ปกติเราไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกนอกจากจะมีเหตุผลด้านสุขภาพเท่านั้น ส่วนเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ เช่น การย้ายที่อยู่ ติดภารกิจเรื่องงาน ฯลฯ ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการโอนได้ดิฉันลองดูในสัญญา ก็เขียนไว้แค่ว่า สมาชิกภาพนี้มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถโอนได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากทางบริษัท ดิฉันสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างคะ สิ่งที่เซลล์พูดก็เป็นเพียงคำพูดค่ะ ไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีสมาชิกหลายคนที่ได้รับข้อมูลจากเซลล์มาแบบเดียวกันว่าโอนให้คนอื่นได้ คำพูดของเซลล์ถือเป็นการเจตนาบิดพลิ้วสาระสำคัญของสัญญาได้ไหมคะ”ส่วนอีกรายก็เขียนร้องเรียนมาว่า “เจอปัญหาเดียวกันเลยค่ะ” “ตอนสมัครปีที่แล้วน้องเซลล์ก็พูดเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่าสามารถโอนสิทธิได้ แต่ว่าได้แค่ครั้งเดียว โดยมีค่าธรรมเนียม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็รู้กันอยู่ว่าเขาโอนกันเยอะแยะ พอมาถึงตอนนี้ดิฉันกับเพื่อนต้องการโอนสิทธิให้คนอื่น กลับมาบอกเราว่าเมื่อก่อนโอนได้ เดี๋ยวนี้ไม่ให้โอนแล้ว ดิฉันไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายนะคะ แต่เห็นว่าถ้าตอนหลังจะยกเลิกเรื่องการโอน ก็ควรมีผลเฉพาะกับคนที่สมัครหลังจากออกกฎนี้หรือเปล่า และสัญญารุ่นใหม่ก็ควรระบุไปเลยว่าไม่ให้โอนสิทธิไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น”ปัญหาเป็นแบบนี้แนวทางการแก้ไขปัญหา จะต้องทำอย่างไร มาดูกัน แนวทางแก้ไขปัญหาขอตอบแบบในมุมของกฎหมายคดีผู้บริโภคเลยนะครับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 ได้บัญญัติไว้ว่า ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตามดังนั้น หากพบว่ามีลูกค้าหลายรายตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ก็สามารถชวนกันมาเป็นพยานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ว่า เซลล์ได้มีการสัญญาในเรื่องต่างๆ ตรงกันหรือไม่ ถ้าใช้แต่ตัวเองก็จะเป็นหลักฐานที่อ่อนไป ศาลอาจไม่เชื่อได้แต่ก่อนที่เรื่องจะไปศาลนั้น ควรทำหนังสือขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรียนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เรื่องขอโอนสมาชิกภาพ รายละเอียดก็ว่าไป...ว่าไม่ยอมให้มีการโอนโดยอ้างเรื่องสัญญา แต่สมาชิกคนอื่นๆ ต่างได้รับข้อเสนอจากพนักงานขายเป็นเสียงเดียวกันว่าสามารถโอนสมาชิกได้ จึงขอให้บริษัทพิจารณาดำเนินการโดยเร็วภายในกี่วันก็ว่าไป แล้วให้สำเนาท้ายจดหมายว่า เรียนถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจดหมายที่ส่งไปให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้น ให้ส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับ เก็บสำเนาตัวจดหมายและใบตอบรับไว้เป็นหลักฐานเผื่อต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคล่าสุดมีข่าวดีเพิ่มเติม...คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งให้สิทธิการเลิกสัญญาของผู้โภคได้ในกรณีต่อไปนี้1. ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นๆ ให้ตามที่สัญญา หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายมีการชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการที่ใกล้เคียงกันมาทดแทนได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค2. ผู้บริโภคมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่า การใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกาย หรือทำให้จิตใจผิดปกติได้3. ผู้บริโภคได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่า ชำรุดบกพร่องเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีเวลาปรับปรุงคุณภาพการบริการให้เป็นไปตามสัญญาควบคุมฉบับนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงกำหนดให้ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 ถูกปลอมลายเซ็นสมัครฟิตเนส

ณ สำนักงานชั่วคราว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อาคารเซนจูรี่มูฟวี่ ชั้น 6 ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พวกเราระเห็จเข้ามาปักหลักในสำนักงานชั่วคราวแห่งนี้ได้ประมาณเดือนเศษ หลังจากตึกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ซอยราชวิถี 7 ถูกไฟไหม้ไปบางส่วนอันเนื่องจากการลอบวางเพลิงในช่วงเหตุการณ์การเมืองชุลมุนคุณปราณีพร้อมลูกสาววัยยี่สิบเข้ามาร้องเรียนกับเราในวันนั้น เธอบอกว่าเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2552 เธอกับบุตรสาวได้ไปเดินเล่นในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ขณะที่กำลังเพลิดเพลินกับการชอปอยู่นั้น ได้มีเซลล์ของสถานบริการฟิตเนสแห่งหนึ่ง สมมติชื่อว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสเข้ามาชักชวนให้สมัครเป็นสมาชิก ก็ตามสูตรของนักขายมืออาชีพเขาล่ะ คุยซะไม่มีเนื้อมีแต่น้ำ แต่ก็ได้ผลทำให้สองแม่ลูกเดินตามเข้าไปในฟิตเนสจนได้“ก็ไม่ตั้งใจจะเล่นจริงๆ จังๆ หรอกค่ะแต่เห็นเขาอัธยาศัยดี เขาถามว่าเราจะสมัครเป็นแบบ 6 เดือนหรือ 12 เดือนก็ได้ ก็บอกเขาว่าไม่อยากเล่นนานขนาดนั้น ขอทดลองเล่นสักครั้งได้มั้ย เขาก็บอกว่าได้จ่ายแค่ 2,399 บาท ก็เข้าเล่นได้เลยถ้าเรามีเวลาว่างมา ไม่ต้องสมัครเป็นปีก็ได้”“แล้วเค้าก็เอาใบสัญญาสมัครสมาชิกมาติ๊กมากรอกเองทั้งหมดโดยมีดิฉันกับลูกสาวนั่งดู โดยที่เราไม่ได้เซ็นชื่อในใบสมัครสมาชิกที่อยู่ส่วนหน้า ไม่ได้ให้ข้อมูลเลขบัตรเครดิตเพราะเป็นคนไม่มีบัตรเครดิตใช้อยู่แล้ว แต่ยอมรับว่าได้เซ็นชื่อในเอกสารที่แนบตามหลังใบสมัคร เช่น แบบทบทวนความเข้าใจสำหรับสมาชิกใหม่อะไรทำนองนี้ ส่วนลูกสาวตอนนั้นอายุก็ยังไม่ครบยี่สิบปี เราในฐานะแม่ก็ไม่ได้เซ็นยินยอมอะไรไป แต่ก็เห็นเซลล์เขานั่งติ๊กนั่งกรอกแบบฟอร์มให้ลูกสาวเราด้วยก็คิดว่าเป็นการทำเอกสารเพียงเพื่อให้เราเข้าไปใช้บริการหนึ่งครั้ง”จากนั้นคุณปราณีก็ได้จ่ายเงินค่าเข้าใช้บริการไปคนละ 2,399 บาท โดยได้ใบสำเนาใบสมัครสมาชิกที่ไม่มีลายเซ็นของตัวเองกลับมา หลังจากนั้นก็ได้เข้าไปใช้บริการเพียงหนึ่งครั้งและไม่ได้เข้าไปใช้บริการอีกเลยเพราะคิดว่าตัวเองมีสิทธิเล่นกันเพียงตามที่ได้จ่ายเงินไปเท่านั้น ข้ามเข้าปี 2553 เดือนกุมภาพันธ์มีจดหมายจากตุ๊ดตู่ฟิตเนสแจ้งเชิญชวนให้คุณปราณีสมัครเป็นสมาชิกสัญญาระยะสั้นเวลา 6 เดือนค่าสมัคร 9,000 บาท ที่สำคัญจะมีการเรียกเก็บค่าบริการสมาชิกที่คงค้างอยู่ หากได้เปลี่ยนเป็นสัญญาระยะสั้นนี้คุณปราณีได้รับเอกสารก็งงๆ แต่ไม่ใส่ใจอะไรมากนักเพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปออกกำลังกายในฟิตเนส อีกทั้งยังแพงอีกด้วย จึงไม่ใส่ใจกับหนังสือเชิญชวนฉบับนั้นพอเข้าต้นเดือนมีนาคม 2553 ตุ๊ดตู่ฟิตเนสมีจดหมายเซอร์ไพรส์แจ้งกับคุณปราณีว่ามีหนี้ค้างค่าบริการรายเดือนจำนวน 2 เดือนเป็นเงินจำนวน 4,700 กว่าบาท พร้อมกำชับว่าถ้าอยากแก้ปัญหานี้ก็น่าจะเข้าไปทำสัญญาเป็นสัญญาระยะสั้น 6 เดือน“ดิฉันมั่นใจว่าดิฉันไม่ได้เป็นหนี้เขา และที่ฟิตเนสบอกว่า ไม่สามารถเรียกเก็บเงินบัตรเครดิตจากธนาคารได้ดิฉันก็งงมากค่ะเพราะดิฉันไม่เคยมีบัตรเครดิต”คุณปราณีคิดว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสคงจะเข้าใจผิดหรือส่งจดหมายผิดคนก็เลยเฉยๆ กับจดหมายฉบับนั้นไป ปรากฏว่าถึงเดือนมิถุนายน 2553 เจ้าตุ๊ดตู่ฟิตเนสมีหนังสือรังควานมาอีกฉบับ แต่จดหมายฉบับนี้เล่นซะคุณปราณีอยู่ไม่สุข เพราะแจ้งว่าคุณปราณีมีหนี้ค้างรวมเป็น 11,000 กว่าบาท และหากไม่ชำระหนี้นี้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายจนถึงที่สุด ตัดสินใจหยิบมือถือโทรไปสอบถามที่ฟิตเนสว่าตัวเองเป็นหนี้อะไร“ได้คำตอบว่าเป็นหนี้ค่าบริการฟิตเนสสัญญา 12 เดือน เราก็แปลกใจก็บอกว่าสมัครแค่เดือนเดียวนี่ไม่ใช่ 12 เดือน แล้วของลูกสาวน่ะมีหนี้ด้วยหรือเปล่า”“อ๋อของลูกสาวไม่มีนะคะเพราะไม่ได้เซ็นชื่อสมัคร”“ดิฉันก็ไม่ได้เซ็นชื่อสมัครเหมือนกันนะคะวันนั้น”“มีนะคะลายมือชื่อของคุณพี่อยู่ในใบสมัครชัดเจนค่ะ”คุณปราณีแปลกใจหยิบใบสำเนาใบสมัครสมาชิกที่เก็บไว้ยกขึ้นมาดูในช่องลงชื่อผู้สมัคร/ผู้ซื้อ เห็นแต่ความว่างเปล่า“งั้นช่วยส่งแฟกซ์ใบสมัครมาให้ดูหน่อยได้มั้ยคะ” คุณปราณีอยากรู้ไม่นานเกินรอแฟกซ์ใบสมัครสมาชิกได้มาอยู่ในมือคุณปราณี มันมีลายเซ็นชื่อคุณปราณีชัดเจน แต่เมื่อเพ่งดูนิ่งและนานขึ้น เอ๊ะนี่ไม่ใช่ลายมือของเรานี่ ไม่ได้เรื่องแล้วคุณปราณีรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่มีอยู่และเพิ่งได้ แจ้นมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือทันทีแนวทางแก้ไขปัญหาหลังจากสอบถามรายละเอียดกันจนชัดแล้ว และให้คุณปราณีลองช่วยเซ็นลายมือชื่อของตัวเองให้เราดูกันหลายรอบก็พบความผิดปกติจนได้ในลายเซ็นที่ปรากฏในใบสมัครที่ตุ๊ดตู่ฟิตเนสส่งแฟกซ์มาว่ามันมีความผิดเพี้ยนในตัวอักษรหลายจุดแต่เพื่อไม่ให้กระต่ายตื่นตัว เราจึงช่วยร่างจดหมายปฏิเสธหนี้ให้กับคุณปราณีแล้วส่งไปให้กรรมการผู้จัดการของบริษัทตุ๊ดตู่ฟิตเนส เพื่อให้ตรวจสอบว่ามีพนักงานขายคนไหนเล่นไม่ซื่อบ้าง ปรากฏว่ามีโทรศัพท์อ้างว่ามาจากฝ่ายกฎหมายยืนยันให้คุณปราณีต้องชำระหนี้ ไม่งั้นจะดำเนินการฟ้อง คุณปราณีก็บอกว่างั้นก็ฟ้องมาเลย เพราะใจนั้นอยากเห็นบริษัทใช้ใบสมัครที่มีลายเซ็นที่ไม่ใช่ของตนเองถูกแสดงต่อหน้าศาล จะได้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดให้โดนโทษอาญาให้เข็ดไปเลย มูลนิธิฯ ก็รออยู่เหมือนกันพร้อมจัดทนายอาสาเข้าช่วยทำคดี แต่จนถึงวันนี้ไม่มีวี่แววว่าตุ๊ดตู่ฟิตเนสจะรังควานมาอีกเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 Fitness trackers อุปกรณ์วัดความฟิต

วันนี้ใครๆ ก็สามารถรู้ได้ว่าใช้พลังงานไปเท่าไร เดินไปแล้วกี่ก้าว นอนหลับเพียงพอหรือยัง และยังสามารถแชร์กิจกรรมการออกกำลังกายหรือท้าแข่งกับเพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ได้อีก ทั้งหมดนี้เป็นไปได้เพราะอุปกรณ์วัดความฟิตของร่างกายชนิดที่ใช้สวมรอบข้อมือนั่นเอง ฉลาดซื้อ ฉบับนี้มีผลทดสอบที่ CHOICE องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียทำไว้มาฝากสมาชิกเพื่อประกอบการตัดสินใจอุปกรณ์ที่ลงสนามครั้งนี้มีทั้งหมด 13 รุ่น สนนราคาตั้งแต่ 2,590 บาทไปจนถึง 13,000  ส่วนใหญ่สามารถใช้ได้กับแอปแอนดรอยด์และ IOS และมีฟังก์ชั่นพื้นฐานอย่างการนับก้าว วัดระยะทาง หรือนับแคลอรี หรือวัดอัตราการเต้นของหัวใจ แต่จะแตกต่างกันในเรื่องการบันทึกข้อมูล(ด้วยแอปเสริม) เช่น การนอนหลับ อาหารที่รับประทาน หรือการแชร์ข้อมูลในสังคมออนไลน์ เป็นต้นการทดสอบครั้งนี้พบว่าอุปกรณ์ทั้งหมดมีระดับความเที่ยงตรงในการวัดเกินร้อยละ 90 แต่คะแนนจะแตกต่างกันในเรื่องของความยากง่ายในการใช้งาน (ตั้งค่า อ่านค่า จัดการข้อมูล) หรือความสบายในการสวมใส่ ก่อนตัดสินใจซื้ออย่าลืมขอลองสวมและใช้งานก่อนด้วย   No pain, no gainงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไอโอวาสเตท ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise พบว่าคนส่วนใหญ่เชื่อว่า อุปกรณ์นี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่อง “ความไม่อยากเคลื่อนไหว” ของพวกเขาได้ แม้ว่าดร. เกรกอรี่ เวล์ค หัวหน้าทีมวิจัยจะยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคือสิ่งที่สำคัญกว่า แต่เขาก็พบว่าอุปกรณ์นี้มีประโยชน์ในการทำให้ผู้คนประเมินตนเองได้เที่ยงตรงมากขึ้น การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าคนส่วนใหญ่จะประเมินระดับการใช้พลังงานของตัวเองสูงเกินจริงเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีน้ำหนักเกิน                        

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 168 Fitness Band อุปกรณ์วัดความฟิต

เป็นเรื่องน่ายินดีเสมอถ้าใครสักคนจะลุกขึ้นมาออกกำลังกายสร้างความฟิตให้กับตัวเอง และวันนี้เรามีผู้ช่วยที่ทำให้เราสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยอุปกรณ์ที่บอกได้ว่าวันนี้เราเดินหรือวิ่งเป็นระยะทางเท่าไร ใช้พลังงานไปแค่ไหน พักผ่อนเพียงพอหรือไม่ เพียงแค่เราป้อนข้อมูลพื้นฐานบางอย่างเช่น อายุ เพศ ส่วนสูง หรือน้ำหนัก ลงไป ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ขอนำเสนอผลการทดสอบฟิตเนสแบนด์ ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้ทำไว้ทั้งหมด 15 รุ่น สนนราคาประมาณ 2,800 ถึง 6,600 บาท  อุปกรณ์นี้ทำงานด้วยโปรแกรมที่ทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการ iOS 6 หรือสูงกว่า / แอนดรอยด์ 4.3 หรือสูงกว่า (ยกเว้น Withings Pulse O2 ที่ใช้กับแอนดรอยด์ 2.3.3) และสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ได้ ข้อสำคัญคือผู้ใช้ต้องไม่ลืมถ่ายข้อมูลเข้าโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์บ่อยๆ เพราะอุปกรณ์นี้มีข้อจำกัดเรื่องหน่วยความจำ รุ่นที่เก็บข้อมูลได้นานที่สุดในการทดสอบนี้ก็เก็บได้ไม่เกิน 30 วัน ส่วนด้านพลังงานนั้นอุปกรณ์ส่วนใหญ่ใช้แบตเตอรี่ชนิดที่สามารถชาร์จใหม่ได้ ขณะที่บางรุ่นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี ในภาพรวมแล้วอุปกรณ์นี้ ทั้งแบบที่มีและไม่มีหน้าจอแสดงผล สามารถตอบโจทย์ของคนรักสุขภาพได้ดีพอใช้ ทุกรุ่นกันน้ำได้เพราะต้องสัมผัสกับเหงื่อ และบางรุ่นก็สามารถใส่เล่นกีฬาทางน้ำได้ด้วย เราพบว่าฟิตเนสแบนด์ที่เราทดสอบมีความแม่นยำในการนับก้าว การคำนวณระยะทางและแคลอรีที่ใช้ไปได้ในระดับพอใช้ถึงดีมาก นอกจากนี้โดยเฉลี่ยแล้วคะแนนด้านความรู้สึกสบายเวลาสวมใส่ ความสวยงามของรูปลักษณ์ภายนอกและความทนทาน ก็อยู่ในระดับดีเช่นกัน ... ติดตามผลคะแนนของแต่ละรุ่นได้ในหน้าถัดไป   ก่อนซื้ออย่าลืมตรวจสอบราคาอีกครั้ง และเพื่อความแน่ใจกรุณาสอบถามผู้ขายว่าระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์นี้กับระบบในโทรศัพท์มือถือของคุณสามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่                

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 132 รู้ทันสัญญาฟิตเนส

  อยากเสียเหงื่อให้กีฬา...แต่กลับต้องเสียน้ำตาให้บริการฟิตเนส คนที่ไม่เคยใช้บริการ ฟิตเนส คลับ คงจะสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีข่าวการร้องเรียนของคนที่ใช้บริการออกมาอยู่ตลอดเวลา หรือถ้าใครลองเสิร์ชข้อมูลเรื่องฟิตเนสในอินเตอร์เน็ตก็จะพบว่า มีคนมาบอกเล่าปัญหาต่างๆ ที่ได้เจอจากการใช้บริการฟิตเนสเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดกับบรรดาฟิตเนส คลับชื่อดังที่เป็นแฟรนไชส์มาจากต่างประเทศทั้งสิ้น เรียกว่าสวนทางกับภาพลักษณ์ที่แสนจะหรูเลิศอลังการของความเป็นสถานบริการเพื่อสุขภาพราวฟ้ากับเหว ฉลาดซื้อเลยส่งทีมงานหน้าใส ไปนั่งฟังพนักงานขายหรือเซลล์ของฟิตเนส คลับ ชื่อดังแห่งหนึ่ง ทำให้ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ พร้อมๆ กับนึกชมตัวเองที่สามารถรอดพ้นจากพนักงานขายฝีมือขั้นเทพเหล่านั้นมาได้เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับสถานบริการฟิตเนสปี 2554  จำนวน 32 เรื่อง แบ่งตามสถานบริการแต่ละแห่งได้ดังนี้ทรู ฟิตเนส  14  เรื่องแคลิฟอร์เนีย ว้าว  9 เรื่องฟิตเนส เฟิร์ส  7  เรื่องอื่นๆ   2 เรื่อง ปัญหาที่ร้องเข้ามาส่วนใหญ่เป็นเรื่องสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและปัญหาเรื่องการขอยกเลิกสัญญา ซึ่งมีการร้องเรียนเข้ามาถึง 29 เรื่องจากทั้งหมด 32 เรื่อง ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่มีการร้องเรียนเข้ามาคือ ถูกนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทางอื่นโดยไม่ขออนุญาต ปิดบริการไม่แจ้งล่วงหน้า และปัญหาด้านมาตรฐานการบริการ ที่มา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาของผู้บริโภคโดยตรง ก็เคยเก็บรวบรวมสถิติเรื่องร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการฟิตเนสเอาไว้เมื่อปี 2548 - 2551 มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากถึง 893 เรื่อง โดย แคลิฟอร์เนีย ว้าว นำมาเป็นอันดับ 1 ที่ 576 เรื่อง ลองลงมาคือ ทรู ฟิตเนส 180 เรื่อง และ ฟิตเนส เฟิร์ส 74 เรื่อง   ฟิตสมองก่อน ใช้ฟิตเนส ฟิตเนสเป็นบริการที่คนให้ความสนใจมาก เพราะฟิตเนส คลับ ต่างๆ จะมีบริการที่พร้อมสำหรับคนเมือง และมักตั้งอยู่ในย่านที่สะดวกในการเดินทาง โดยเฉพาะบรรดาฟิตเนส คลับที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นสาขามาจากต่างประเทศ จะมีบริการครบวงจร ตั้งแต่อุปกรณ์ออกกำลังกายแบบพื้นฐาน อย่าง ลู่วิ่งไฟฟ้า ที่ปั่นจักรยาน ไปจนถึงกิจกรรมพิเศษอื่นๆ อย่าง โยคะ เต้นรำ และอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย ฉลาดซื้อสนับสนุนให้ทุกคนออกกำลังกาย เพราะอย่างที่ทุกคนรู้ดีว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์และจำเป็นกับชีวิต ซึ่งการเลือกที่จะใช้บริการ ฟิตเนส คลับ ต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ภาพข่าวที่ปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ อาจทำให้ผู้บริโภคหวั่นๆ ว่าตัวเองจะกลายเป็นอีกคนหนึ่งหรือไม่ ที่ต้องปวดหัวจากบริการฟิตเนส ฉลาดซื้อได้ลองประมวลปัญหาที่เกิดจากการเข้าใช้บริการฟิตเนสแล้วพอจะสรุปได้ดังนี้ 1. ความไม่จริงใจของฟิตเนส คลับ ที่เน้นเพียงการเพิ่มยอดสมาชิกหนึ่งในเรื่องปวดสมองของผู้ได้รับความเสียหายที่ร้องเรียนเกี่ยวกับบริการฟิตเนส คือ เซลล์บอกอย่างแต่จริงๆ เป็นอีกอย่าง บรรดาคุณเซลล์ทั้งหลายจะเน้นอธิบายแต่ตัวเลขราคาค่าใช้จ่าย บริการที่จะได้ แต่ไม่ได้อธิบายถึงสิทธิการร้องขอเมื่อเกิดปัญหา รวมทั้งการสร้างสัญญาที่ผูกมัดมากเกินไป ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาในการใช้บริการ ตัวสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนั่นเองที่เป็นตัวกดดันให้ผู้ใช้บริการที่เกิดปัญหาต้องออกไปร้องเรียนหน่อยงานต่างๆ และบางคนที่เจอปัญหาแล้วแต่ไม่ได้ไปร้องเรียน ก็ต้องกลายเป็นคนมีหนี้ มีภาระ ต้องยอมจ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพื่อยุติปัญหา ทั้งที่ปัญหานั้นไม่ได้มาจากตัวผู้ที่ใช้บริการ 2. ผู้บริโภคใจไม่แข็งพอ เชื่อคนง่าย ในฐานะผู้ใช้บริการ ก่อนจะทำสัญญาก็ต้องมีหน้าที่ด้วยเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าในการทำสัญญาตกลงใช้บริการ ตัวเราเองก็ยินยอมที่จะเซ็นสัญญา การใช้บริการไม่ได้เกิดจากการบังคับขืนใจ (แต่อาจจะเกิดจากการถูกหว่านล้อมกดดัน) ทำให้เวลาที่ปัญหาเกิดขึ้น ฟิตเนส คลับ คู่กรณีจึงมักไม่ยินยอมจัดการในสิ่งที่เราร้องของไป เพราะเขาก็จะใช้ข้อได้เปรียบตรงที่เราได้ยินยอมทำสัญญากันไว้แล้ว ถือว่ารับรู้และยินยอมในเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้หากใครที่อยากจะไปสมัครใช้บริการที่ ฟิตเนส คลับ ไม่ว่าชื่อดังหรือไม่ดัง มีบริการที่ปั่นจักรยานเป็นร้อยตัวหรือไม่ถึงสิบตัวก็ตาม ต้องขอดูสัญญาก่อน ไม่งั้นไม่เซ็นชื่อ 3.ไม่ได้ศึกษาข้อมูลในสัญญาให้ดีการใช้บริการฟิตเนสเป็นอะไรที่มากกว่าเซลล์บอก ดังนั้นต้องขอเอกสารมาศึกษาก่อน โดยไล่ตั้งแต่ ค่าบริการ วิธีการชำระเงิน บริการที่จะได้รับ เงื่อนไขการยกเลิกสัญญา ระยะเวลาการเป็นสมาชิก ฯลฯ ต้องทำความเข้าใจให้ดี ให้ได้มากที่สุด ก่อนเซ็นสัญญา และที่สำคัญคือ ต้องพิจารณาจากสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อตกลงที่มาจากคำพูดของพนักงานขาย เพราะหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาก็มาจาก การที่ตัวพนักงานขายมักจะเสนอโปรโมชั่นและเงื่อนไขสุดพิเศษ เรียกว่าดีจนไม่มีที่ติ ยิ่งพอมาเทียบกับราคา ก็ยากที่จะหักห้ามใจ แต่ถ้ามาดูในใบสัญญาก็จะไม่เจอข้อความที่บอกถึงสิทธิพิเศษอย่างที่พนักงานโม้ให้เราฟังก่อนเซ็นสัญญา เช่น เรื่องการขอยกเลิกสัญญา ที่ว่าถ้ามีปัญหาสามารถมาขอยกเลิกสัญญาได้ตลอดเวลา แต่เอาเข้าจริงกลับทำไม่ได้เพราะในสัญญาจริงๆ ระบุว่าต้องเป็นสมาชิกไปอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งถ้าเลือกตัดสินใจจากการฟังแต่สิ่งที่ได้ยินจากพนักงานขายที่มาทำสัญญาเพียงอย่างเดียว ผู้ใช้บริการอย่างเราก็จะเข้าใจผิด พออยากจะขอยกเลิกสัญญาเข้าจริงๆ ก็ทำไม่ได้ ข้อควรสังเกตในสัญญาฟิตเนส -เงื่อนไขในการยกเลิกสัญญา เพราะเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของคนที่ใช้บริการฟิตเนส ไม่รู้ว่าเป็นเพราะฟิตเนสห่วงใยสุขภาพของเราเป็นอย่างมากหรือเปล่าไม่แน่ใจ ตอนสมัครก็คะยั้นคะยอเราสุดฤทธิ์ ว่าให้มาออกกำลังกายเถอะ มาดูแลสุขภาพกันเถอะ พอตอนจะขอยกเลิกสัญญาก็ไม่ยอม บอกว่าทำไม่ได้ต้องใช้บริการให้ครบตามระยะเวลาขั้นต่ำที่ทำสัญญากันเอาไว้ เพราะฉะนั้นก่อนจะเซ็นสัญญาอย่าลืมพิจารณาให้ดีๆ ว่าการขอยกเลิกสัญญาสามารถทำได้หรือไม่ ระยะขั้นต่ำของสัญญาคือเท่าไหร่ ถ้าหากเกิดเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถมาใช้บริการได้ต้องทำอย่างไรจึงจะยกเลิกสัญญาได้ แล้วเมื่อขอยกเลิกสัญญาแล้วมีเงื่อนไขในการขอรับเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ คืนได้หรือไม่อย่างไร -เงื่อนไขในการตัดเงินอัตโนมัติจากบัตรเครดิตเป็นค่าบริการรายเดือน การหักเงินผ่านบัตรเครดิต เป็นวิธีที่ฟิตเนสชื่อดังทุกแห่งเลือกใช้ในการเก็บค่าบริการกับผู้ใช้บริการ ผู้บริโภคอาจมองว่าเป็นความสะดวก แต่ความจริงแล้วเป็นการการันตีให้กับผู้ให้บริการฟิตเนสว่า จะได้รับค่าบริการรายเดือนจากสมาชิกแน่นอน แม้สมาชิกคนนั้นอาจไม่ได้มาใช้บริการเลยสักครั้งในเดือนนั้นๆ สิ่งที่ผู้ใช้บริการควรรู้ก่อนเซ็นสัญญาคือ จำนวนเงินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน และระยะเวลาที่ต้องจ่าย วันที่ทำการตัดยอดในแต่ละเดือน รวมทั้งค่าปรับที่เกิดจากการผิดนัดชำระ -ความรับผิดต่ออาการบาดเจ็บที่เกิดจากใช้บริการ อาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แล้วถ้าหากเกิดขึ้นขณะที่ใช้บริการฟิตเนสล่ะ ดังนั้นให้ดูในสัญญาว่าเรามีสิทธิได้รับการดูแลหรือเรียกร้องอะไรได้หรือไม่ ถึงแม้ฟิตเนสที่เราไปใช้บริการจะดูปลอดภัยหรือน่าเชื่อถือแค่ไหนก็ตาม ส่วนใหญ่พนักงานขายมักอ้างว่า ทางฟิตเนสมีทั้งบุคลากรและเครื่องมืออย่างดีและมีคุณภาพสำหรับดูแลเรื่องนี้ แต่ถ้าดูในสัญญาส่วนใหญ่จะระบุไว้ว่า สมาชิกจะไม่เรียกร้องความรับผิดชอบใดๆ ต่อทางฟิตเนส กรณีเกิดความบาดเจ็บไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ ไม่ว่ากรณีใดๆ ขณะใช้บริการในฟิตเนส หรือแม้แต่อาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้สมาชิกต้องรับประกันและรับรองตัวเองได้ว่า มีสุขภาพร่างกายที่พร้อมกับการออกกำลังกาย หรือได้ความเห็นชอบจากแพทย์มาแล้วก่อนที่จะมาใช้บริการของฟิตเนส -ความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ ปกติฟิตเนสส่วนใหญ่จะมีบริการตู้ล็อคเกอร์ไว้สำหรับเก็บสิ่งของต่างๆ ให้กับสมาชิก แต่เรื่องของหายในฟิตเนสก็เคยเกิดขึ้นจนเป็นข่าวโด่งดังมาแล้ว ต้องดูให้ดีว่าฟิตเนสที่เราไปใช้บริการนั้นมีมาตรการในการดูแลทรัพย์สินของผู้ที่ไปใช้บริการอย่างไรบ้าง จะชดเชยเยียวยาแค่ไหน อย่างไร  ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่รับผิดชอบถ้าของหายไม่ว่าจะกรณีใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อ “ฉลาดซื้อ” ถูกชวนให้ไปทดลองใช้บริการฟิตเนส-ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้าย เมื่อฉลาดซื้อได้รับโทรศัพท์จากฟิตเนสชื่อดังแห่งหนึ่งให้ไปทดลองใช้บริการฟรี เพราะทางฟิตเนสกำลังจะเปิดสาขาใหม่ จึงมีโปรโมชั่นดีๆ มานำเสนอเพียบ -พอไปถึงเราจึงได้รู้ว่า ที่บอกว่าให้มาทดลองใช้บริการฟรีนั้น ความจริงกลับไม่ได้ทดลองใช้บริการอะไรสักอย่าง เพราะพนักงานจะพาเราไปคุยเพื่อเปิดการขาย โดยจะถามเรื่องพฤติกรรมการออกกำลังกายของเรา มีการตรวจปริมาณไขมันและกล้ามเนื้อของเราด้วย -หลังจากนั้นก็จะเอาโปรโมชั่นมาเสนอ ซึ่งจะเริ่มต้นด้วยราคาที่สูงจนน่าตกใจ ก่อนจะค่อยๆ ลดลงมาโดยอ้างว่าเป็นสิทธิพิเศษนู่นนี่ ซึ่งราคาที่เสนอมาถ้าเรายังไม่พอใจ พนักงานก็จะลดให้เราได้อีก เพราะว่าเราเป็นคนพิเศษเลยได้รับสิทธิพิเศษอีก แต่เป็นเงื่อนไขที่ต้องตกลงทำสัญญากันในวันนี้เท่านี้ ถ้ามาสมัครวันอื่นจะไม่ได้ราคานี้ -ตลอดระยะเวลาที่พนักงานนำเสนอเรื่องราคา เราไม่มีโอกาสได้เห็นสัญญาใดๆ ทั้งสิ้น -แรกๆ พนักงานก็แสดงความห่วงใยสุขภาพของเราดี ที่อยากให้สมัครเพราะอยากให้มาออกกำลังกาย แต่พอเราเริ่มแสดงท่าทีว่าไม่สนใจสมัคร โดยให้เหตุผลไปว่ากลัวไม่มีเวลามาใช้บริการ สมัครไปแล้วอาจจะไม่คุ้มกับเงินที่ต้องเสีย พนักงานก็จะบอกในเชิงว่าให้สมัครทิ้งไว้ มีเวลาก็ค่อยมาเล่น ซึ่งถ้าคิดในแง่ของการออกกำลังกายให้ได้ประโยชน์จริงๆ ก็ควรออกให้ได้สม่ำเสมอ การมาออกกำลังกายตามสะดวกอย่างที่พนักงานบอกคงไม่ได้ประโยชน์เท่าไหร่ -เมื่อการเจรจาเพื่อให้สมัครสมาชิกดูแววแล้วจะไม่สำเร็จ พนักงานขายก็จะไปตามพนักงานมาอีกคน ซึ่งเป็นระดับตัวแม่ เพื่อเพิ่มระดับการเจรจา(กดดัน)ให้เข้มข้นขึ้นอีก -มาถึงตรงนี้การเจรจาเพื่อชักชวนของพนักงานขายเพื่อให้เราสมัครสมาชิกเริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้น พนักงานขายจะใช้คำพูดทั้งอ้อนวอน หว่านล้อม บางครั้งก็เริ่มใช้คำพูดที่ไม่ค่อยเหมาะสม อย่างการพูดเหน็บแนม ประชดประชัน ดูหมิ่น เมื่อเริ่มเห็นว่าเรามีท่าทีว่า ยังไงก็ไม่สมัครแน่ๆ -แม้จะแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่สมัครสมาชิกแน่ๆ แต่การจะปลีกตัวออกมาก็แสนยากเย็น เพราะพนักงานขายต้องการให้เราตกลงทำสัญญาให้ได้(ทำยอด) โปรโมชั่นต่างๆ จะเพิ่มมาเรื่อยๆ ปรับราคาลงมาเรื่อยๆ พูดคุยกับเราไปเรื่อยหวังว่าเราจะใจอ่อน ซึ่งก็คงมีหลายคนที่ต้องจำยอมตกลงสมัครสมาชิกไป ไม่ใช่เพราะอยากใช้บริการ แต่เพราะอยากตัดความรำคาญมากกว่า หรือไม่ก็ใจอ่อนกับตัวเลขค่าบริการ จากระดับหมื่นเหลือแค่ไม่กี่พัน ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่าสมัครไปแล้วจะหาเวลามาใช้บริการได้หรือเปล่า วันนั้นฉลาดซื้อก็รอดตัวมาได้อย่างหวุดหวิด คำแนะนำง่ายๆ ที่อยากฝากไว้ก็คือ ถ้าไม่ได้มีความสนใจที่จะไปใช้บริการฟิตเนสตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ก็ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริการเหล่านี้จะดีที่สุด ไม่ว่าจะคำชวนแบบไหน ให้ไปทดลองใช้บริการฟรี ได้บัตรส่วนลด หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะถ้าเผลอไปทดลองตามคำชวนล่ะก็ ไม่ปวดหัวก็ต้องปวดใจ และเผลอๆ อาจต้องเสียทรัพย์ทั้งๆ ที่ไม่อยากเสียด้วย -------------------------------------------------------------------- “ฟิตเนสเป็นบริการควบคุมสัญญา” ฟิตเนสที่ดีต้องมีอะไรบ้าง1.สัญญาต้องเป็นข้อความภาษาไทย ขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร มีจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดตัวอักษรในหนึ่งนิ้ว 2.เงื่อนไขในสัญญาต้องมีรายละเอียดของขนาดสถานที่ให้บริการ จำนวนและประเภทของอุปกรณ์การออกกำลังกาย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และการให้บริการอื่นๆ ตามที่ผู้ใช้บริการจะได้รับ 3.รายละเอียดแสดงอัตราค่าบริการ ค่าสมาชิก ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการใช้บริการ พร้อมทั้งวิธีการชำระและเงื่อนไขต่างๆ 4.วันเริ่มต้นและการสิ้นสุดการเป็นสมาชิก 5.เงื่อนไขที่นำไปสู่การบอกยกเลิกสัญญา ต้องมีการแสดงข้อความเฉพาะที่ทำให้เห็นได้ชัดเจน โดยต้องใช้ตัวอักษรสีแดง สีดำ หรือตัวเอียง เพื่อสามารถเห็นได้ชัดกว่าข้อความทั่วไป 6.ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญา ตามเงื่อนไขต่อไปนี้-ไม่มีอุปกรณ์หรือบริการตามที่บอกไว้ตามข้อตกลงในสัญญา หรืออุปกรณ์ชำรุดเสียหาย มีไม่เพียงพอต่อความต้องการต่อผู้ใช้บริการ โดยไม่มีการหามาทดแทนหรือทดแทนด้วยอุปกรณ์ที่มีคุณภาพต่ำกว่า-มีใบรับรองจากแพทย์ว่าไม่สามารถออกกำลังกายได้ เพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียกับสุขภาพร่างกายหรือจิตใจ-ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการใช้บริการ อุปกรณ์ไม่ได้คุณภาพชำรุด ผู้ดูแลฝึกสอนไม่มีความชำนาญ 7.การคืนเงินให้กับผู้บริโภคหลังยกเลิกสัญญา ผู้ให้บริการต้องคืนตามจำนวนเงินที่เหลือจากค่าสมาชิกหรือตามระยะเวลาที่ยังไม่ได้ใช้บริการ ภายใน 30 วัน หลังจากยกเลิกสัญญา 8.ผู้บริโภคมีสิทธิในการโอนสิทธิความเป็นสมาชิกตามสัญญาให้กับบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเป็นสมาชิกได้ โดยไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากผู้ให้บริการ แต่ต้องมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้ให้บริการ 9.หากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการในการต่อสัญญาใหม่หลังจากผู้บริโภคใช้บริการมาจนครบกำหนดสัญญา ผู้ให้บริการต้องทำหนังสือแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ของการต่ออายุสมาชิกครั้งใหม่ 10.ห้ามกำหนดให้การต่ออายุสมาชิกเป็นไปแบบอัตโนมัติ 11.ห้ามกำหนดอายุสัญญาสมาชิกเกิน 1 ปี 12.ในสัญญาต้องห้ามมีข้อความที่แสดงถึงความไม่รับผิดชอบต่อผิดพลาดหรือเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการ ทั้งเรื่องการผิดสัญญาของผู้ให้บริการ อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการออกกำลังกาย และทรัพย์สินสูญหายภายในสถานที่ที่ให้บริการ--

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 กระแสต่างแดน

    ของ่ายๆ ได้ใจความคุณคิดว่าเราต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่ออ่านข้อตกลงและเงื่อนไขของแอปพลิเคชั่นต่างๆ ในสมาร์ทโฟนให้ครบถ้วน หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของนอร์เวย์ทดลองให้ผู้ใช้อ่านข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้งานของแอปยอดนิยม (เช่น Facebook Gmail Instagram Twitter YouTube และ Skype) ทั้งหมด 33 แอป แล้วจับเวลา …Forbrukerradet พบว่าเวลาที่ใช้ในการอ่านข้อความ 260,000 คำ หรือ 900 หน้า(ซึ่งยาวกว่าเนื้อหาใน The New Testament หรือ พระคริสตธรรมใหม่) คือ 31 ชั่วโมง 49 นาทีการทดลองนี้นำไปสู่คำถามว่าทำไมเนื้อหาที่มีความสำคัญกับผู้บริโภคจึงถูกนำเสนอในรูปแบบที่ยืดยาวและเข้าใจยาก จะมีกี่คนที่ใช้เวลาถึง 4 วันทำงานอ่านเงื่อนไขการใช้งานของแอปพวกนี้จนจบ แต่คนส่วนใหญ่มักกด “ตกลง” โดยไม่รู้ตัวว่าได้อนุญาตให้บริษัททำอะไรกับข้อมูลของตัวเองบ้าง รวมถึงการยอมให้บริษัทมีสิทธิ์ในการใช้เนื้อหาการสนทนา หรือรูปภาพต่างๆ ในโทรศัพท์ได้โดยไม่มีกำหนดForbrukerradet ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มาโดยตลอดบอกว่าเรื่องนี้ยอมรับไม่ได้และยังเป็นการละเมิดกฎหมายทั้งของนอร์เวย์และยุโรปด้วย โลกต้องรู้?ใกล้ๆ กันที่สวีเดน ที่ผู้คนจริงจังกับการออกกำลังกายไม่แพ้ชาติใดในโลก ก็มีเรื่องแอปในสมาร์ทโฟนให้กังวลเช่นกันสมาคมผู้บริโภค Sveriges Konsumenter อดเป็นห่วงเรื่องการแชร์ข้อมูลส่วนตัวผ่านแอปของคนกลุ่มนี้ไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปช่วยออกกำลังกายอย่าง Endomondo Lifesim MyFitnessPal Runkeeper Strava แจน เบอร์ทอฟ เลขาธิการสมาคมฯ บอกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่สามารถควบคุมการใช้หรือแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพของตนเองได้เท่าที่ควร หลายคนไม่สามารถอ่านทะลุข้อความที่ซับซ้อนไปถึงเรื่องสำคัญๆ ได้ มีเพียงแอป Strava เท่านั้นที่แจ้งผู้ใช้อย่างตรงไปตรงมาว่าจะนำข้อมูลไปใช้ร่วมกับบุคคลที่ 3 ในขณะที่ MyFitnessPal สามารถนำชื่อและรูปโปรไฟล์ของผู้ใช้ไปหาประโยชน์ได้ ส่วน Runkeeper และ Endomondo นั้นสามารถแชร์ตำแหน่งของผู้ใช้ แม้ในขณะที่พวกเขาไม่ได้ออกกำลังกาย      นี่ก็ไม่ว๊าว!หลังจากเป็นหนี้อยู่หลายล้านเหรียญ ผู้ประกอบการแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในฮ่องกง ซึ่งดำเนินการมา 20 ปีก็ปิดตัวลง ทิ้งลูกค้าประมาณ 64,000 ราย และลูกจ้างอีก 700 คนไปดื้อๆแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ฮ่องกงดำเนินการโดย เจวี ฟิตเนส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการสถานออกกำลังกายรายใหญ่อันดับสองของฮ่องกง ข่าวระบุว่าเจวีขาดทุน 117 ล้านเหรียญ (528 ล้านบาท) ในช่วง 30 เดือนที่ผ่านมาและเหลือเงินในบัญชีเพียง 16 ล้านเหรียญ (72 ล้านบาท) แต่มีหนี้ (ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าแรงพนักงาน) ประมาณ 130 ล้านเหรียญฮ่องกงหรือประมาณ 586 ล้านบาทบริษัทเริ่มปิดสาขาแรกจากทั้งหมด 12 สาขา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า บางคนเพิ่งจ่ายค่าสมาชิกไปประมาณ 50,000 บาท ก่อนสถานประกอบการจะปิดไม่กี่วันอีกด้วย ขณะนี้สคบ. ของฮ่องกงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 กรณี  ก่อนหน้านี้ก็เป็นที่รู้กันว่าบริษัทใช้เทคนิคการขายแบบเข้มข้นดุดันมาตลอด และเทรนเนอร์ที่นี่ก็มีรายได้งามจากค่าคอมมิสชั่นที่เกินจริงถึงเดือนละ 100,000 เหรียญ (450,000 บาท)ล่าสุดแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ในสิงคโปร์ก็ปิดกิจการลงแล้วเช่นกัน เรื่องทั้งหมดนี้ฟังดูคุ้นๆ เหมือนเคยเกิดที่บ้านเราใช่ไหมหนอ  จริงหรือมั่วนิตยสารคอนซูมาตริซิ ของอิตาลีรายงานว่าจากการสำรวจน้ำมันมะกอกแบบบริสุทธิ์พิเศษ (Extra Virgin) ที่ขายดี 20 อันดับต้นของประเทศ มีน้ำมันมะกอกที่คุณสมบัติไม่ถึงแต่แอบอ้างติดฉลากดังกล่าวด้วยถึง 9 รายการ   ถ้าถามว่าดูอย่างไรว่าเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษ ผู้รู้จะตอบว่าให้ดูที่ราคา เพราะกรรมวิธีที่ใช้นั้นสิ้นเปลืองทั้งเวลาและแรงงาน เช่น ต้องเป็นผลมะกอกที่เก็บจากต้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม(ไม่เก็บจากโคน) และนำมาคั้นทันที โดยไม่มีการใช้สารเคมีหรือความร้อน ฯลฯ น้ำมันมะกอกที่แจ้งว่าตัวเองเป็นชนิดบริสุทธิ์พิเศษจึงสามารถขายได้ในราคามากกว่าแบบธรรมดาถึงร้อยละ 40 จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการแอบอ้างตามที่เป็นข่าวล่าสุดคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าลงดาบปรับ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายหรือผลิตน้ำมันมะกอกที่ติดฉลากไม่ถูกต้อง ลิเดิลผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตในยุโรปถูกสั่งปรับ 550,000 ยูโร (ประมาณ 21 ล้านบาท) ลิโอดิโอ ผู้ผลิตน้ำมันมะกอกยี่ห้อแบโตลี่ ก็ถูกปรับไป 300,000 ยูโร(ประมาณ 11.6 ล้านบาท) เช่นกันเขาให้เหตุผลว่าที่ค่าปรับแพงขนาดนี้ เพราะนอกจากการกระทำดังกล่าวจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคที่ต้องจ่ายราคาเกินจริงแล้ว ยังทำให้น้ำมันมะกอกของอิตาลีต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงไปด้วย  อารมณ์เสียสิ่งหนึ่งที่ผู้ให้บริการรถไฟในญี่ปุ่นทุกเจ้าเห็นตรงกันว่ายังไม่สามารถจัดการได้ คือพฤติกรรมของผู้โดยสารที่ “อารมณ์เสีย”สมาคมผู้ประกอบการรถไฟเอกชน รายงานว่าปีที่ผ่านมามีเหตุผู้โดยสารใช้อารมณ์(และกำลัง) กับพนักงานถึง 225 ครั้ง ในขณะที่สถิติลูกจ้างของบริษัทผู้ประกอบการของรัฐและบริษัทในเครือ JR ถูกทำร้ายโดยผู้โดยสารก็สูงถึง 574 ครั้งในปีก่อนหน้าความไม่ปลอดภัยดังกล่าวมักเกิดกับพนักงานในเวลาระหว่าง 4 ทุ่ม ถึงเวลาออกของรถไฟเที่ยวสุดท้าย และมักเกิดขึ้นบริเวณชานชาลา บางครั้งถูกทำร้ายเพราะผู้โดยสารมีอาการมึนเมา บางครั้งโดนลูกหลง เมื่อเข้าไปห้ามการทะเลาะวิวาท หรือเข้าไปให้ความช่วยเหลือแต่ผู้โดยสารรู้สึกไม่ได้อย่างใจผู้ประกอบการทุกเจ้าลงความเห็นตรงกันว่ามันเป็นเรื่องที่คาดการณ์และรับมือได้ยากจริงๆ เพราะคนปัจจุบันนี้หงุดหงิดง่ายและต้องการระบายทันทีตอนนี้ทำได้เพียงติดโปสเตอร์เตือนสติผู้คนว่าการใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่งพนักงานไปอบรมศิลปะป้องกันตัวปีละครั้ง และออกแบบเครื่องแต่งกายพนักงานให้ยากต่อการถูกทำร้าย เช่น เนคไทแบบที่หลุดออกทันทีเมื่อถูกดึง เป็นต้น นักวิชาการด้านจิตวิทยาให้ความเห็นว่าปัญหานี้เรื้อรังเพราะว่า บริษัทไม่เคยดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดกับผู้โดยสารอันธพาล ... เพราะเขาถือว่าลูกค้าคือพระเจ้า โอ้ ญี่ปุ่นแท้ๆ

อ่านเพิ่มเติม >