ฉบับที่ 245 กระแสต่างแดน

แบรนด์ที่ไว้ใจ        ขยะอิเลคทรอนิกส์ที่กำลังจะล้นโลกส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จากเราไปก่อนเวลาอันควรและไม่คุ้มที่จะซ่อมกลับมาใช้ต่อ สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคพอจะทำได้คือ เลือกแบรนด์ที่ทำผลิตภัณฑ์ได้มีประสิทธิภาพและใช้งานได้นาน แล้วใครล่ะที่เราเชื่อถือได้         องค์กรผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา Consumer Reports (CR) ได้สำรวจและจัดอันดับ “ความน่าเชื่อถือ” ของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน เตาไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า และเครื่องอบผ้า เป็นต้น โดยใช้คะแนนจากความเห็นของสมาชิก         ในการสำรวจครั้งที่สามนี้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกอ้างอิง 760,000 ชิ้น ที่ผู้บริโภคซื้อในระหว่างปี 2010 และ 2020 และแบรนด์ที่ถูกนำมาจัดอันดับนั้นคือแบรนด์ที่มีเครื่องไฟฟ้าออกมาจำหน่ายอย่างน้อยสองประเภท สิบอันดับแรกได้แก่ Speed Queen  LG  Café’  Ikea  Thermador  Bosch Miele  GE  Roper และ Signature Kitchen Suite ส่วนยี่ห้อที่เรารู้จักกันอย่าง Whirlpool  KitchenAid และ Samsung นั้นเข้ามาที่อันดับ 11, 17 และ 20 ตามลำดับ รู้แต่ไม่เข้าใจ?        การสำรวจความเข้าใจเรื่อง “ยาปฏิชีวนะ” ในหมู่ประชากรยุโรปในปี 2018 พบว่าคนส่วนใหญ่รู้ว่ายาปฏิชีวนะ (ที่หลายคนเรียกติดปากว่า ยาแก้อักเสบ) รักษาโรคหวัดไม่ได้ และรู้ด้วยว่าหากใช้พร่ำเพรื่อจะทำให้ยาใช้ไม่ได้ผล         นอกจากนี้ยังรู้ว่ามีผลข้างเคียง และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น         แต่เมื่อถามถึงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการฆ่าไวรัส ร้อยละ 48 ตอบว่ายาปฏิชีวนะสามารถ “ฆ่าไวรัสได้” ในขณะที่ร้อยละ 43 ตอบว่า “ฆ่าไม่ได้” ที่เหลืออีกร้อยละ 9 ตอบว่า “ไม่รู้”แต่ละปียุโรปมีการติดเชื้อจากแบคทีเรียดื้อยาไม่ต่ำกว่า 670,000 เคส มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 33,000 คน ส่งผลให้เกิดภาระทางการเงินต่อระบบสุขภาพไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านยูโร         มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ผู้คนจะเสียชีวิตจากแบคทีเรียดื้อยามากกว่าโรคมะเร็ง            ขณะนี้ประเทศที่มีอัตราการตายจากแบคทีเรียดื้อยาสูงที่สุดในยุโรปคืออิตาลี ตามด้วยฝรั่งเศส ในขณะที่กรีซ ไซปรัส และสเปน เป็นประเทศที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะมากที่สุดตามลำดับ   โควิดช่วยเพิ่มยอด        การศึกษาตัวเลขยอดขายยาปฏิชีวนะในอินเดีย โดยคณะวิจัยจากอเมริกาและแคนาดาพบว่ายอดสั่งซื้อยาปฏิชีวนะจากโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงโควิด-19 ระบาด         ปี 2019 มีการใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.5 ในขณะที่ปี 2020 มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.8         นักวิจัยคาดว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นไปประมาณ 216 ล้านโดส หรือพูดง่ายๆ ข้อมูลนี้ทำให้ตีความได้ว่าผู้ป่วยทุกคนที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิดจะได้รับยาปฏิชีวนะนั่นเอง         และเมื่อเจาะจงไปที่ยาอซิโตรมัยซิน (ที่ใช้รักษาไทยฟอยด์หรือท้องร่วง) ก็พบว่ามีการใช้ถึง 38 ล้านโดส ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดหนัก         น่าสังเกตว่าขณะที่การใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มประเทศตะวันตกมีแนวโน้มลดลงเพราะคนไม่ค่อยเป็นหวัด ติดต่อพบปะกันน้อยลง ยกเลิกนัดทำฟันหรือการผ่าตัดเล็กอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น แต่แนวโน้มการใช้ในอินเดียกลับเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่โรคอย่างมาลาเรีย ไข้เลือดออก หรือโรคชิคุนกุนยาก็ลดลงแล้ว  ไหนเล่ามาซิ        สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของสิงคโปร์ ขอคำอธิบายด่วนหลังพบว่ามีอุปกรณ์ฟิตเนสแทรคเกอร์ 341,208 ชิ้น รวมมูลค่าห้าล้านเหรียญสิงคโปร์หรือประมาณ 120 ล้านบาท ยังไม่ถูกนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนตามโครงการส่งเสริมสุขภาพ National Steps Challenge ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2015         อุปกรณ์ที่ราคาระหว่าง 10 ถึง 25 เหรียญ เหล่านี้อยู่ในสภาพที่ใช้งานแทบไม่ได้ มีราขึ้นทั้งสายและหน้าปัด และการรับประกันจากผู้ผลิตบางรุ่นก็หมดแล้ว บางรุ่นก็จะหมดสิ้นปีนี้ ยังไม่นับว่าเทคโนโลยีที่ใช้ก็อาจจะเก่าเกินไปแล้ว         หนักไปอีกเมื่อไม่พบว่าใครเป็น “เจ้าภาพ” ทำหน้าที่จัดทำสต็อคหรือบันทึกการแจกจ่ายผ่านทางอีเวนท์ต่างๆ และสตง. ยังพบว่ามีอุปกรณ์ดังกล่าวหายไปจากสต็อคอย่างไร้ร่องรอยถึง 17,909 เครื่อง (คิดเป็นมูลค่า 720,000 เหรียญ)         ผู้เข้าร่วม “โครงการนับก้าว” สามารถเอาคะแนนที่สะสมจากการออกกำลังกายมาแลกเป็นสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการได้โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย โครงการเขาช่างจูงใจเหลือเกิน แม้แต่คนที่ตายไปแล้วก็ยังมาสมัครกันถึง 136 คน!!  อยากให้รีบสั่งเลย        ปีนี้คนออสซี่ต้องรีบคิดให้ตกว่าจะซื้อของขวัญอะไรให้เพื่อนหรือญาติในคริสต์มาสที่จะถึง... ในอีกห้าเดือนข้างหน้า คิดได้แล้วก็ต้องลงมือสั่งทันที ผู้ประกอบการเขาออกมาเตือนด้วยความหวังดี         อย่าลืมว่านักช้อปออนไลน์มีจำนวนมหาศาล ในขณะที่การขนส่งระหว่างประเทศมีข้อจำกัดมากขึ้นทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน บริษัทขนส่งทางเรือที่เคยมีดำเนินการอยู่ 24 เจ้าก็ลดเหลือแค่ 13 เจ้าในช่วงที่มีโรคระบาด         ไหนจะปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ หรือการปิดโรงงานในประเทศต้นทางเพราะพนักงานติดโควิด-19 อีก         ยิ่งถ้าต้องการสินค้าแบบเจาะจงแบรนด์ก็ยิ่งต้องรีบ โดยปกติแล้วร้อยละ 80 ของสินค้าที่ส่งทางเครื่องบินมายังออสเตรเลียนั้นจะนั่งมาสวยๆ ใต้ท้องเครื่องบินโดยสาร (ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่ร้อยละ 50) แน่นอนว่ามีเที่ยวบินโดยสารน้อยลงเพราะปัจจุบันออสเตรเลียยอมให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้แค่ 3,035 คนต่อสัปดาห์เท่านั้น (จากเดิม 6,070 คน) สรุปว่ารีบได้รีบ

อ่านเพิ่มเติม >