ฉบับที่ 270 วิกฤตหนักของสิทธิผู้บริโภค ใน ‘อสังหาริมทรัพย์’

        วันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีกลุ่มคดีสำคัญในรอบปี 2566 คือการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์  กว่า 32 ราย   โดยยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งและศาลพระนครเหนือในฐานผิดสัญญา เพื่อเรียกเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายทุกคน         หนึ่งในผู้เสียหายที่เดินทางไปฟ้องคดีด้วย คือ คุณกิตติพงศ์  สุชาติ   ที่ตั้งใจซื้อคอนโคครั้งนี้เพื่ออยู่อาศัยสร้างครอบครัวเมื่อโครงการคอนโดเริ่มมีปัญหา คือการสร้างที่ไม่คืบหน้าทำให้ไม่สามารถเข้าพักอาศัยได้ตามสัญญาที่ทางโครงการระบุไว้เมื่อตอนโฆษณาขายและทำสัญญา ซึ่งเขาเข้าใจในคำอธิบายของบริษัทฯ ในชั้นต้นจึงยังคงให้โอกาสกับทางบริษัทเพราะสิ่งที่ต้องการคือคอนโด ไม่ได้ต้องการเงินคืน แต่สุดท้ายการไร้ความรับผิดชอบของบริษัททำให้เขาทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นมาฟ้องคดีเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง   คุณกิตติพงศ์เข้าซื้อคอนโด ตั้งแต่เมื่อไหร่          ผมซื้อคอนโดของบริษัทออล อิน สไปร์ ในโครงการ  The Excel ลาซาล 17 ตอนที่ซื้อได้เข้าไปดูห้องตัวอย่าง เขามีให้ดูมีเซลล์แกลลอรี่แบบปกติเลย  เขาพาไปชมโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ ตอนนั้นน่าจะเริ่มไปประมาณ  50 %  แล้ว ผมก็ทำปรกตินะวางเงินดาวน์ แล้วก็จ่ายเป็นงวดๆ ตามสัญญาที่ให้ไว้  ช่วงที่ซื้อประมาณปลายปี  2563 เข้าไปดูโครงการแล้วจอง ต่อมาอีก 2 สัปดาห์ก็นัดทำสัญญากัน และผ่อนชำระงวดแรก  ในสัญญาระบุว่าสิ้นเดือน ธ.ค. ปี 2564 เขาจะส่งมอบคอนโด  ซึ่งระหว่างนี้ผมก็เข้าไปดูความคืบหน้าที่โครงการเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ต่อมาบริษัทก็ได้ส่งจดหมายมาขอเลื่อนการส่งมอบออกไปอีก ผมก็ยังไม่เอะใจอะไรทั้งที่ตอนนั้นผมก็เริ่มได้ยินว่ามีคนเริ่มไปขอเงินคืนกันแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้คืนเงิน ในเนื้อความจดหมาย บริษัทแจ้งอ้างเหตุอะไรจึงขอเลื่อน         บริษัทเกิดปัญหาจากโควิดทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักและดำเนินการล่าช้า  บริษัทจึงขอเลื่อนการก่อสร้างออกไปก่อนแล้วเดี๋ยวจะมีการแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ประมาณ ต.ค. พ.ย. ก่อนครบสัญญา เขามาแจ้งก่อน ตอนนั้นคนที่ซื้อคอนโด คนอื่นๆ ก็น่าจะได้จดหมายด้วยเช่นกัน แล้วเริ่มแก้ไขปัญหาอย่างไร          ตอนนั้น บริษัทเขาก็มีการตั้งเจ้าหน้าที่มาคนหนึ่งคอยประสานกับคนที่ซื้อคอนโด เขาโทรมาหาผมว่าจะสร้างต่อนะจะรอไหม ถ้าไม่รอจะคืนเงิน แต่จะคืนเงินให้เป็นงวดๆ ผมเลยถามว่าจะใช้เวลาสร้างต่อถึงเมื่อไหร่ เขาบอกว่าจะสร้างต่อถึงประมาณตุลาคม 2565 ผมเลยบอกว่า ผมรอ แต่ถ้าสร้างไม่เสร็จ ผมขอเอาเงินคืนแล้วกัน         ตอนนั้นในกลุ่มผู้เสียหายก็มีการรวมตัวกันในกลุ่มไลน์แล้ว เฉพาะ โครงการ The Excel ลาซาล 17 ก็มีอยู่ 100 กว่าคนแล้ว ผมก็อยู่ในกลุ่มด้วยตอนบางคนเริ่มมีคนไปออกข่าว ส่วนผมผมกลัวว่าเขาจ่ายเงินคืนเป็นงวดๆ 6 งวด  แล้วถ้าจ่ายแล้วหายไป เขาบ่ายเบี่ยงอีก ประกอบกับเขาให้ความมั่นใจด้วยว่าเขาจะสร้างต่อ แล้วจริงๆ ผมอยากได้คอนโดด้วยผมเลยรอ แต่พอถึงช่วง ต.ค. ก็เริ่มวุ่นวายขึ้นอีก ผมเลยบอกว่า งั้นผมขอเงินคืนแล้วกัน  แต่ตัวแทนของบริษัทยังยืนยันจะจ่ายคืนเป็นงวดๆ  ผมก็บอกว่าผมไม่สะดวก เพราะว่าผมขอเป็นงวดเดียวเลยก้อนเดียวเลย เพราะว่าผมจ่ายไปหมดแล้ว เขาเลยบ่ายเบี่ยงไปเรื่อยๆ จนผู้เสียหายๆ หลายๆ คนรวมถึงผมด้วยไม่ไหวแล้ว ผมเลยมาขอความช่วยเหลือให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยประสานทำเรื่องให้แต่หลังจากนั้นก็ติดต่อบริษัทไม่ได้อีกเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ มีผู้เสียหายผู้หญิง 2 คน  เคยมาที่มูลนิธิแล้ว เขาเคยบอกแล้วว่า เคยไปที่บริษัทมาแล้ว แต่บริษัทเขาปิดไม่ให้เข้าแล้วต่อเราจึงได้รู้ว่าเขาย้ายที่อยู่บริษัทไปแล้ว แล้วจุดที่คิดว่าไม่ไหวแล้วและตัดสินใจฟ้องคดี คืออะไร          ผมมาทราบข่าวอีกครั้ง  เมื่อเดือน ก.พ. 66   ว่าบริษัทได้ขายโครงการให้อีกบริษัทหนึ่งไปแล้วซึ่งบริษัทนี้ก็เอาโครงการมาดำเนินการก่อสร้างต่อแล้วก็ขายต่อแล้ว บริษัทที่ผมทำสัญญาด้วยได้เงินกว่า 500 ล้านจากโครงการที่ขายไป แต่เขาไม่ได้ติดต่อเอาเงินมาจ่ายลูกบ้านที่มีปัญหากันอยู่เลย แล้วบริษัทก็ติดต่อไม่ได้ แล้วล่าสุดบริษัทก็แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าขอย้ายที่อยู่ไปแล้ว  แล้วพอตอนที่ติดต่อมาว่าจะคืนเงินให้ผมยังถามว่าแล้วจะให้ผมจะไปเซ็นต์สัญญาที่ไหนซึ่งผมยืนยันว่าขอเงินคืนในงวดเดียว เจ้าหน้าที่ของเขาก็บอกว่า เดี๋ยวจะนัดหมาย วัน เวลา สถานที่ให้เข้าไปทำเรื่องและขอไปปรึกษา บัญชีก่อน แล้วก็เงียบหาย แต่ผมไม่รอแล้ว แล้วการที่บริษัทเอาโครงการไปขายต่อ ทั้งที่ยังมีปัญหากับลูกบ้าน ทำได้ด้วยหรือ         ผมคิดว่าการซื้อขายคงทำหนังสือกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเขาดำเนินการซื้อกัน  โดยผมเชื่อว่าบริษัทที่เข้ามาซื้อก็รู้ว่าคอนโดโครงการนี้ยังมีปัญหาอยู่ แต่เป็นทางบริษัท ทางออลล์ อินสไปร์เองที่จะต้องไปเคลียร์กับลูกบ้าน  แต่เขา (บริษัทใหม่) รู้ว่ามีลูกบ้านที่ติดอยู่สถานการณ์เป็นแบบนั้น         ผมก็ยังงง มันเหมือนลูกบ้านอย่างเราก็มีสัญญายังผ่อนอยู่ แล้วอยู่ดีๆ เอาบ้านไปขายให้คนอื่น  คนใหม่ก็มาซื้อด้วย ทั้งๆ ที่รู้นะ   มันแปลกมากแล้วกระทบกับสิทธิของผู้บริโภคที่เข้าไปซื้อคอนโดแบบนี้มาก การยื่นฟ้องคดีที่ผ่านมา ผู้เสียหายทุกคน ฟ้องคดีไหม         ไม่ทุกคน คือ ปีที่แล้วมีผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งราว 20 คน  เขาตั้งกลุ่มไลน์ขึ้นมา แล้วเขาจะมีความเคลื่อนไหว  ไปออกข่าวร้องทุกข์คนที่เป็นแกนนำสัมภาษณ์ให้ข่าวบ่อยๆ แบบนั้นเจ้าหน้าที่ของบริษัทเขาติดต่อไปคืนเงินให้ก่อนใคร เขาก็ได้เงินคืน เขาแจ้งในไลน์กลุ่มว่าเขาได้เงินคืนแล้วในครั้งเดียวเลย แล้วเขาก็เลยขอออกจากกลุ่มไปหลักๆ กลุ่มนี้เท่าที่ผมคุย คือ ได้เงินคืนครบประมาณ 10  คน กับอีก 10 คน โดนสร้างเงื่อนไขให้ได้รับเงินคืนเป็นงวดๆ บางคนได้งวดเดียวแล้วไม่ได้อีกเลย หายเงียบหรือบางคนไม่ได้สักงวดเลยก็มี เลยมีทั้งคนที่ได้เงินคืนแล้ว แล้วคนที่สุดท้ายมาร่วมกันฟ้องคดี  ในฐานะที่เป็นผู้บริโภค แล้วมาเจอผู้ประกอบการที่เป็นแบบนี้ อยากจะเปิดใจเรื่องอะไร         ผมมองว่ามันเป็นการเอาเปรียบกัน  คุณบริหารล้มเหลวเองให้ผลกระทบมาตกกับลูกค้ามันไม่ถูกต้อง แล้วมองว่าทรัพย์สินคุณก็ยังมีอยู่ ทำไมไม่คิดจะเอามาขายเพื่อชำระหนี้   ถ้ามองภาพรวมนะครับ แต่ถ้ามองในส่วนที่โครงการยิ่งน่าเกลียด ในเมื่อคุณขายโครงการได้เงินมาแล้ว ขายได้เกือบ 500 ล้าน แทนที่คุณจะเอาเงินมาเคลียร์ลูกบ้านก่อน น่าจะครอบคลุมได้หมดเลย  ผมนั่งดีดตัวเลขกลมๆ ถ้าเขาขายห้องหมด ประมาณ 200 ล้าน ก็ยังเหลือๆ เขาควรเลือกจะคืนให้คนที่มีผลทางกฎหมายกับเขา ส่วนคนที่เขาไม่ทำอะไรเลย  เขาเลือกที่จะเฉยๆ เขาไม่ได้สนใจที่จะคืนเงินเลย อยากบอกอะไรกับคนอื่นๆ ที่เขาอาจจะยังแบบว่า อย่าไปฟ้องเลยไหม         คือมีอีกหลายคน  ที่เขาไม่ทำอะไรเลย เสพข่าวอย่างเดียวหรือบางคนไปบ่นกับพนักงาน  พนักงานเขาก็บอกได้แต่ว่า เขาทำอะไรไม่ได้หรอก เขาไม่มีเงินต้องให้คนที่เขามีอำนาจตัดสินใจมาคุยกับเรา เรามานั่งอ่านไลน์กลุ่มมันก็ไร้สาระ  แล้วก็ไปว่าพนักงาน เขาก็ไม่เกี่ยว เขาทำตามหน้าที่ของเขา และยังมีลูกค้าต่างชาติอีก  เขาพิมพ์ข้อความมาก็ไม่ค่อยมีคนสนใจแต่พนักงานเขาก็ทำอะไรไม่ได้มาก         วันแรกที่ซื้อคอนโด ผมก็ได้ตรวจสอบดีแล้ว แล้วอีกอย่างหนึ่งโครงการก็ขึ้นมา ตั้ง 5 โครงการแล้ว  โครงการที่ผมซื้อมันเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้วด้วยนะ  ทุกอย่างมันไม่มีทิศทางว่าเขาจะเป็นแบบนี้ เรามั่นใจ ที่อื่นขึ้นตอม่อมาก็โดนแล้วแต่ของผมโครงสร้างมันเสร็จหมดแล้ว เหลือแต่งานออกแบบภายในเฉยๆ  แล้วทราบอีกว่าเขาโกงเงินผู้รับเหมาด้วย  ผู้รับเหมาเขาเลยหนี ไม่สร้างต่อแล้ว         เราทำทุกทางแล้ว ไปกองปราบ ไปร้องกับ สรยุทธ  โหนกระแส เราก็ติดต่อไปแล้ว เขาก็รับเรื่องไว้ เขาไม่ได้สนใจอยากจะเอามาตีแผ่  ผู้บริโภคบางคนยอมทิ้งเงินตัวเองเลย ไม่เอาแล้ว หลายๆ คนเริ่มนิ่ง เราก็บอกไปแล้วว่า ถ้านิ่งๆ จะไม่ได้เงินคืนนะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอนที่ 1

“ที่ใดก็ตาม ไม่มีเสรีภาพของการแสดงออกที่แท้จริง ที่นั่นไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง” นี่คือปรัชญาที่สหภาพยุโรปใช้เป็นแนวทางการยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท มองมาที่ไทย ประเทศที่เสรีภาพการแสดงออกได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2475 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อประชาชนใช้สิทธิ เสรีภาพ  เพื่อส่งเสียงเรียกร้องสิทธิของตนเอง  อาจกระทบต่อคนหลายฝ่าย อาจเกี่ยวพันไปถึงสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของผู้ประกอบการ  นักการเมือง ข้าราชการ ที่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของตนเองด้วยเช่นกัน         ‘การฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (strategic lawsuits against public participation) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” จึงถูกผู้ประกอบการ นักการเมือง ข้าราชการนำมาใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง         คดีจากการ‘การฟ้องปิดปาก’  นี้จึงแตกต่างจากคดีทั่วไปตรงที่ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัวหรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำหรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น เช่น ปัจจุบัน ผู้บริโภคหลายรายเพียงรีวิว การใช้สินค้าที่ซื้อมาใช้ด้วยความสุจริตลงในสื่อออนไลน์ กลับถูกประกอบการขู่ฟ้อง ดำเนินคดี ก็เพื่อให้หยุดแสดงความคิดเห็นหรือลบข้อความที่ได้เขียนลงไป         ในเวทีเสวนาเรื่อง “เสวนาปัญหาการถูกฟ้องคดีปิดปาก: ถอดบทเรียนจากการใช้สิทธิของผู้บริโภค” วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ในต่างประเทศการฟ้องปิดปากเป็นคดีแพ่งเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยประชาชนที่ออกมาพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะกลับถูกดำเนินคดีทั้งกระบวนการทางแพ่งและอาญา สุดท้ายทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิ ถอดใจ เรากล่าวขอโทษ ถอดบทความต่างๆ ความจริงก็จะไม่ปรากฏ และประโยชน์สาธารณะก็จะเสียไป        “ผมคิดว่า การฟ้องปิดปากมีสมการที่อธิบายได้แบบนี้ เสรีภาพ การแสดงออกซึ่งความคิดของประชาชน กับเรื่องสิทธิของผู้ประกอบการในการมีสิทธิทางธุรกิจ เกียรติยศ  ผมว่าเสมอกัน เสรีภาพของประชาชน เสมอกับเกียรติยศของคนที่เราพูดถึง   ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว  เราไปกล่าวหาคนอื่น เรื่องส่วนตัว เรามีความรับผิด ตรงกันข้าม ถ้าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด บวกประโยชน์สาธารณะเข้ามา มันควรจะมากกว่า ชื่อเสียง เกียรติยศของภาคธุรกิจหรือไม่  เราเป็นผู้บริโภคแสดงออกว่า สินค้านี้ไม่ดี เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เขาไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว เขาทำให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้น เพื่อธุรกิจจะมีความรับผิดชอบ นำของที่ดีมาขาย ไม่ใช่เอาของไม่ดีมาขายแล้วตัดภาระให้ประชาชน เมื่อมีประโยชน์สาธารณะสุดท้ายจะปรับให้เกิดภาพรวมที่ดีของสังคมที่ได้ ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดี ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากขึ้นเพราะทุกคนในประเทศไทยต่างเป็นผู้บริโภค เพราะเราต้องซื้อของ และใช้บริการ”          รายงานวิจัยของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า ตั้งแต่ปี 2540 มีคดีปิดปากอย่างน้อย 212 คดีที่นำเข้าสู่กระบวนการศาล  หนึ่งในสี่ของคดีปิดปากเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ประชาชนถูกฟ้องร้องจากความพยายามที่จะร้องเรียนเรื่องสภาพการทำงานที่ผิดกฎหมาย เรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หรือ เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  โดยร้อยละ 95 ของคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย เป็นคดีอาญา และผู้ที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่ คือ ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาสาสมัคร ร้อยละ 39  ผู้แทนชุมชนและแรงงาน ร้อยละ 23% นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร้อยละ16%และ นักข่าวร้อยละ9%  และกิจกรรมหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญของการฟ้องร้องคือการแสดงความเห็นออนไลน์ ซึ่งคดีหมิ่นประมาทเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ ปรับ 200,000 บาท หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง         รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่าเขามองว่า ความหวัง และทางออกของเรื่องนี้คือ กฎหมายมาตรา 329 ที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายควรได้นำไปปรับใช้ให้มากขึ้น“มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต(1)   เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม(2)   ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่(3)   ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ(4)   ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุมผู้นั้น ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”         “ผมว่าตรงนี้คือกุญแจสำคัญในการที่ผู้บริโภค พิทักษ์สิทธิ์ ไปแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด แม้เป็นการใส่ความเขาเหตุผลเพราะ เรากำลังทำเพื่อความเป็นประธรรม ประโยชน์ส่วนร่วม ตามมาตรา 329”         อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังเป็นไปได้น้อย ศาลยังขาดข้อมูลว่าผู้ฟ้องมีเจตนาใช้กระบวนการยุติธรรมด้วยความไม่บริสุทธิ์ ทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลแม้การฟ้องปิดปากจะเป็นคดีที่ไม่มีมูลเหตุ ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อน กินระยะเวลายาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าจำเลยไม่มีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะสู้คดี ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ไม่มีทางเลือกและจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของโจทก์ ซึ่งมักจะมาในรูปของ การชดใช้ค่าเสียหาย การขอโทษ หรือ การลบข้อความที่ถือว่าละเมิด         การดำเนินคดีในกลุ่มผู้ใช้สิทธิผู้บริโภคก็มีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอข่าว และ บทความ ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า “ฉลาดซื้อเผยผลสุ่มตรวจ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. …” โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ยี่ห้อ เคียวร์ซิส (CUREAYS) ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยผลการทดสอบ ได้ผล ร้อยละ 69 และ ร้อยละ 64 ตามลำดับ พร้อมระบุข้อสังเกตจากการทดสอบ เรื่องคุณภาพการผลิต พบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน … บริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด รับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายบริษัท แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า บริษัทผู้ผลิต กลับยื่นฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานโดยสุจริต เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กลับถูกข้อกฎหมายฟ้องปิดปาก มาปิดกั้นการทำงานเพื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ และยังมีอีกหลายกรณีของการทดสอบ หรือ เผยแพร่ข้อมูลโดยสุจริตเพื่อ เตือนภัย แต่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับถูกแทรกแซงจากผู้ประกอบการด้วยวิธีการต่างๆ และจากหลายกรณีที่ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน เช่น คดีกระทะโคเรียคิง ครีมเพิร์ลลี่ หรือ คดีสามล้อ ฯลฯ กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากโดย ปปช.         คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ ให้ประชาชน ‘ไม่ทำ’ และ ‘ไม่ทน’ ต่อการทุจริต  แต่เมื่อประชาชนที่มาชี้ช่อง เบาะแสกลับถูกดำเนินคดีฟ้องกลับ มากมาย ปปช.ในปี พ.ศ. 2564 จึงเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. ....” หรือ ปัจจุบันมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ...” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย         นายนิรุท  สุขพ่อค้า  ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า “ปปช. เรามีแนวคิดปกป้องคุ้มครองประชาชนมานานแล้วเราจึงมีกฎหมายในการคุ้มครองพยาน แต่ยังเป็นเรื่องของการคุ้มครองอันตรายทางกายภาพ เนื้อตัว ร่างกาย ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  ผู้ถูกกล่าวหาเขามีความรู้ก็จะใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้แจ้งเบาะแส หรือ ภาคประชาชนซึ่งเรื่องการชี้ช่องเบาะแส  บางอย่าง เป็นเรื่องของการก้ำกึ่งระหว่างเรื่องของการหมิ่นประมาทซึ่งเป็นคดีอาญา การที่เขาจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้อง หรือ ดำเนินคดีปิดปาก มันเป็นการดำเนินการที่ไม่ต้องใช้ทุนอะไร แค่เดินไปยังพนักงานสอบสวน และร้องทุกข์ กล่าวโทษก็ถือว่าเป็นคดีได้แล้ว”         “เรื่องการทุจริตต่อหน้าที่ ปปช. มีหน้าที่รวบรวม พยานหลักฐาน  แต่คนที่จะมีส่วนรู้เห็น ก็มีบทบาทสำคัญที่จะมาช่วย  ปปช. ได้คือภาคประชาชน การฟ้องปิดปากจึงทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเดือดร้อน  ไม่ว่าจะภาคประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง ที่ถูกเจ้าหน้าที่เอาเปรียบ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับความเดือดร้อน เสียหายในเขตพื้นที่อันเกิดจากการทุจริต ในการจัดซื้อจัดจ้าง ถนนชำรุดทรุดโทรมง่าย ภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ NGO ทำหน้าที่เป็นสื่อ ทำหน้าที่สอดส่อง ดูแล  การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง เป็นกลุ่มที่หลากหลาย ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ”          “กฎหมายฉบับนี้จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชรตามคดี 3 ลักษณะกว้างๆ คือ เมื่อคนที่ชี้ช่องถูกดำเนินคดีอาญา ปปช. จะเข้าไปทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความร้องทุกข์ฐานหมิ่นประมาท ทางในแพ่ง ปปช. จะตั้งทนายเข้าไปช่วยประชาชน และหากเป็นคดีทางปกครอง ถูกผู้บัญชาดำเนินการทางวินัย ปปช.มีอำนาจที่จะสั่งให้หยุดการดำเนินการทางวินัยได้เลย นี่ค่อนข้างจะเด็ดขาดมาก ทั้ง 3 ลักษณะคดีนี้  ปปช. มีอำนาจที่จะให้ข้อมูล เพื่อให้พนักงานสอบสวน/ อัยการ มีดุลยพินิจ สั่งไม่ฟ้อง และ ปปช.ดำเนินการด้วยงบประมาณของตนเองเพราะมีกองทุนอยู่แล้วจึงมีความพร้อมในการปฏิบัติ เราคาดหวังเต็มร้อยเพราะเรื่องการปราบปรามทุจริตได้ เราทำเองไม่ได้ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือให้ข้อมูล เบาะแส หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญเป็นลำดับต้นกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนด้วยทุกฝ่าย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสังคมโลกดีขึ้น ”นายนิรุทกล่าวยืนยัน        ฉบับหน้าติดตามตัวอย่างผู้บริโภคที่ได้รับผลจากการฟ้องคดี “ปิดปาก” และผลของคดีที่น่าสนใจ

อ่านเพิ่มเติม >

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบจากเว็บไซต์

            ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคช่วงโควิด - 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย มูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น (อ่านข้อมูล ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ จากนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3420)         ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 บริษัท รีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”         ในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้         1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา         2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ อย. ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค         4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา         ด้าน ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้าและเผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา         "การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น"        ทั้งนี้ พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

รวมพลังฟ้องคดีแบบกลุ่ม ทำได้จริง!

“กฎหมายการฟ้องคดีแบบกลุ่ม” หรือ “Class Action” เป็นกฎหมายการฟ้องคดีฉบับใหม่ ที่เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2558  จุดเด่นของกฎหมายคือ การฟ้องคดีเพียงครั้งเดียว ด้วยโจทก์คนเดียว แต่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้าง ช่วยให้ผู้เสียหายเกิดการรวมตัวกัน นอกจากจะช่วยลดภาระและขั้นตอนในการฟ้องคดีต่อกลุ่มผู้เสียหาย แล้วยังช่วยให้ศาลสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญการฟ้องคดีแบบกลุ่มยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของผู้บริโภคในการรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเองที่ชัดเจนที่สุดวิธีหนึ่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ใช้สิทธิของตนเองอย่างเต็มที่ และเมื่อมีคดีระดับสาธารณะเกิดขึ้น ทางมูลนิธิฯ จึงเริ่มทดสอบกระบวนการฟ้องร้องแบบกลุ่ม โดยประเดิมด้วยคดีกระทะยี่ห้อโคเรียคิง...อันเป็นข่าวโด่งดังในระยะเวลาที่ผ่านมา และคราวนี้ฉลาดซื้อจะพาท่านไปติดตามความในใจของผู้บริโภค 4 ท่าน จากผู้ร่วมฟ้องทั้งสิ้น 74 ราย ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจร่วมฟ้องในคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ย.60 ศาลแพ่ง (ถนนรัชดาภิเษก) นัดไต่สวนคำร้องคดีแบบกลุ่ม กรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับผู้เสียหาย 74 ราย ยื่นคำฟ้องและคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม กับ บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด เหตุจำหน่ายกระทะ (กระทะยี่ห้อโคเรียคิง รุ่นไดมอนด์ (Diamond Series) และรุ่นโกลด์ (Gold Series)) ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามโฆษณา เรียกค่าเสียหายกว่า 1,650 ล้านบาท โดยทั้งสองฝ่ายขอเลื่อนนัดไต่สวนคดี พร้อมนัดเปิดเวทีเจรจาในวันที่ 13 พย.2560 ที่จะถึงนี้คุณนลินทิพย์ ศุภกุลกิตติวัฒน์ “จำได้จานแรกที่ทำคือผัดผักบุ้ง ผัดออกมาเหมือนต้นหญ้าเลย แห้งเหี่ยวกินไม่ได้เลย ก็ไม่มีความสุขหรอกแต่ทนๆ ใช้”คุณนลินทิพย์ เล่าว่า ตัวเองป่วยเป็นมะเร็งต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ จริงๆ ก่อนที่จะไปร้องเรียนที่มูลนิธิฯ ได้ติดต่อมาทางบริษัทโคเรียคิง บอกปัญหากับเขาไปแล้วแต่เขาไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีกลับมา แล้วพอดีกับได้ยินข่าวว่าทางมูลนิธิฯ จะมีการฟ้องรวมกลุ่มจึงตัดสินใจเข้าร่วมฟ้องร้องด้วยเพราะตัวเองตอนที่เห็นโฆษณาทางทีวี เห็นมาตั้งนานก็ยังไม่คิดตัดสินใจซื้อเพราะว่ายังไม่ค่อยเชื่อมั่น พอดูไปเรื่อยๆ มันเหมือนดูดซึมตัวเรา ด้วยความที่แต่เดิมเราใช้กระทะสแตนเลสก็รู้สึกว่ามันก็ล้างยากนะ ถ้าเราได้กระทะอย่างดี ล้างง่ายๆ มันน่าจะสะดวกกับเรา และด้วยความเชื่อมั่นในตัวคุณวู้ดดี้ ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์ เห็นเขาโฆษณากระทะเพื่อสุขภาพ ทำให้อยากซื้อสักใบหนึ่งแล้วราคาที่เขาว่า คิดแล้วมันก็รู้สึกไม่แพง มันคุ้มค่าก็เลยตัดสินใจซื้อ แต่พอซื้อมาแล้วในคู่มือบอกให้ใช้ไฟอย่างอ่อน ทีนี้ก็ทำอาหารไม่ได้เลย ส่วนใหญ่ไม่ได้ทอดเพราะว่าป่วย ส่วนใหญ่จะผัดแล้วใส่น้ำมันนิดหนึ่งอยู่แล้ว แต่ใช้เวลาผัดนานมากเลยเพราะเขาบอกให้ใช้ไฟอ่อน แล้วผัดเมื่อไรจะสุก จำได้จานแรกที่ทำคือผัดผักบุ้ง ผัดออกมาเหมือนต้นหญ้าเลย แห้งเหี่ยวกินไม่ได้เลย ก็ไม่มีความสุขหรอกแต่ทนๆ ใช้ จริงๆ คือเสียดายเพราะซื้อมาแล้วมันต้องใช้ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช้ดีกว่ายอมเสียเงินแล้วก็เอาเก็บใส่กล่องได้อ่านคู่มือก่อนใช้ไหมก็อ่านคู่มือก่อน ทำตามขั้นตอนที่เขาบอกแล้วค่อยใช้ พอเจอปัญหาที่ว่าเมื่อเราล้างกระทะแล้ว ล้างด้วยฟองน้ำกับน้ำยาล้างจาน น้ำที่ล้างมันออกมาเป็นสีเทาๆ ดำๆ ก็นึกว่าเป็นครั้งแรกของการใช้แต่พอครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ทุกวันก็เป็นเหมือนกัน เราก็คิดว่าทำไมมันไม่หายสักที เลยรู้สึกกลัวว่าคงจะเกิดจากผิวกระทะมากกว่า แทนที่จะเป็นการดูแลสุขภาพกลายเป็นต้องกินสารพวกนี้เข้าไป ตายผ่อนส่งหรือเปล่าก็ไม่รู้ จึงหยุดการใช้ใช้ไปประมาณ 10 กว่าครั้งได้ โทรไปถามเขาว่าขอใช้ไฟแรงกว่านี้ได้ไหมเพราะว่าไฟมันอ่อนเกินไปอาหารเราไม่สามารถทำได้นะ เขาก็ตอบมาว่า ถ้าใช้เตาแก๊สให้ใช้ไฟดวงในเพิ่มอีกนิดแล้วกัน ก็ลองเพิ่มแล้วเวลาทำอาหาร ตอนนั้นก็ลองทำราดหน้า เวลาผัดผักก็ใส่น้ำร้อนไม่ใส่น้ำเย็นนะ มันก็ยังไม่ค่อยยอมเดือด คิดอยู่ว่าจะโทรไปบอกเขาก็เปลี่ยนใจไม่ได้โทรแต่หลังจากนั้นทางบริษัทโทรกลับมาหาเราเพื่อขายสินค้าอีกว่าถ้าต้องการซื้อเพิ่มจะได้ราคาพิเศษ หรือมีเพื่อนสนใจจะซื้อเพิ่มจะได้ราคาพิเศษเหมือนกันโดยใช้ชื่อสมาชิกของเรา เราก็เลยแจ้งเขาไปว่าเราใช้แล้วมีปัญหานะ อาหารมันสุกช้าแล้วเวลาล้างกระทะก็มีปัญหาเป็นน้ำสีดำๆ ออกมา เขาก็รับฟังแล้วก็บอกว่าจะบอกผู้ใหญ่ให้นะคะ แล้วก็ไม่เคยติดต่อมาอีกเลย หลัวจากนั้นก็มีคนโทรมาอีกเป็นตัวแทนขายของอีก เราก็บอกปัญหาเขาไปเขาก็ตอบมาว่าเหรอคะ เดี๋ยวจะแจ้งผู้ใหญ่ให้ แต่ก็ไม่มีใครโทรตามเรื่องเราเลย ก็เงียบไปตลอด เราได้แต่ทำใจทำไมจึงตัดสินใจฟ้องคดีตอนเห็นเป็นข่าวขึ้นมาคนที่บ้านก็บอกกระทะแบบนี้ที่สิงคโปร์ใบละไม่เท่าไรเองนะ เราก็มาตามข่าวแล้วได้ยินว่ามีการรวมกลุ่มก็คิดว่าจะร่วมด้วยแต่ก่อนที่จะคิดตรงนี้ก็พอดี บริษัทก็โทรมาขายก่อนที่จะฟ้องแล้วก็เงียบหายไปอีกอยู่ดี เขาก็ไม่ได้จัดการอะไรให้เราเลย ถ้าตอนนั้นเขาใส่ใจเราที่เป็นลูกค้าสักนิดหนึ่ง สอบถามสักนิดเราก็อาจไม่ได้ฟ้องร้องกับเขา แต่นี่ทำให้มีความรู้สึกว่าเขาหวังแค่ขาย ไม่ได้ใส่ใจลูกค้า และเมื่อเราบอกปัญหาไปเขาก็ยังไม่ใส่ใจคิดว่าการรวมกลุ่มแบบนี้มีโอกาสจะชนะมากขึ้นไหมใช่ค่ะ คิดว่าอย่างนั้น เพราะมีความรู้สึกว่าคนขายเขาต้องขายตามที่เขาบอก เมื่อมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็เหมือนหลอกลวงผู้บริโภค อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่มาเพราะเราอยากเรียกร้องความเป็นธรรม ไม่ใช่มาหลอกลวงเราแบบนี้ อีกหน่อยก็หลอกคนอื่นไปเรื่อยๆ เพราะเขาบอกว่าสินค้าเขาดีและเราก็ซื้อเพราะเราเชื่อว่าสินค้าดี----------------------------คุณวิไลพรรณ สกุลนาค“กระทะนี้เราตั้งใจมากที่จะซื้อให้บุพการีและบุตรที่เป็นที่รักและใกล้ชิดเรามากที่สุด แม่เราเป็นคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูงและลูกสาวก็กินอาหารคลีน”  เมื่อได้กระทะมา ก่อนใช้ล้างด้วยน้ำเปล่ากับฟองน้ำก่อนด้วยนะ แล้วก็ใช้งานตั้งแต่ครั้งแรกเลยไข่ไม่ล่อนอย่างที่เขาโฆษณา ลูกสาวบ่นเลยว่า แม่โดนหลอกแล้ว แล้วที่บ้านอยู่กัน 3 คน ทดลองกัน 3 คน 3 ครั้ง ประสิทธิภาพคือเหมือนเดิม พอล่าสุดเริ่มมีข่าวที่พูดถึงกันมากๆ เราจึงหยุดใช้ทันทีเพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงของรูปกระทะ คุณภาพของกระทะรู้สึกว่า มันไม่เหมือนกับกระทะที่เราเคยใช้งานมานานถึง 20 ปี อย่างเช่น สีเริ่มเปลี่ยน ขนาดใช้แค่ 3 ครั้งนะคะ แล้วหัวน็อตเริ่มเป็นสนิม แล้วพอมีข่าวการผ่ากระทะหรืออะไรออกมาเราก็ติดตามข่าวเรื่อยๆ ไม่ว่าเรื่องมูลค่า ราคาของ การผลิต การขาย การผ่าพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นจริงอย่างคำโฆษณา ทุกสิ่งอย่างทำให้เราหมดความเชื่อมั่นศรัทธาในกระทะเจ้านี้ไปเลยทำให้มารวมตัวกับท่านอื่นร่วมฟ้องคดีค่ะ จริงๆ แล้วประเด็นที่ว่ามันเหมือนทำร้ายจิตใจเรา  กระทะนี้เราตั้งใจมากที่จะซื้อให้บุพการีและบุตรที่เป็นที่รักและใกล้ชิดเรามากที่สุด แม่เราเป็นโคเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูงและลูกสาวก็กินอาหารคลีน  ตัวแม่จะเลือกทำอาหารเองในครัว ทุกคนในบ้านจะรักษาสุขอนามัยเป็นอย่างยิ่งในการบริโภคทุกอย่างเข้าไป ทีนี้การโฆษณาสินค้าบอกว่าการที่ไม่ใช้น้ำมันนั้น ก็คิดว่าลูกกับแม่เราน่าจะได้ประโยชน์มากสุดก็เลยเลือกซื้อ ด้วยเหตุผลที่ว่าราคาซื้อได้ ทีเดียวได้ 2 ต่อเลย ได้ดูแลสุขภาพแม่และลูกเบ็ดเสร็จในเวลาเดียวกัน มันพร้อม แต่ก็ไม่ใช่ พอฟังคำโฆษณาหรือสื่อแล้วเราซื้อเลยนะ ฟังอยู่เป็นเดือนจนมั่นใจว่าเอาดารามาขาย เขามีชื่อเสียง เขาไม่น่าจะมาหลอกลวง คงไม่กล้าเอาชื่อเสียงลงมาทำลายเล่น เราก็มั่นใจว่าเราควรจะซื้อ ใช้เวลา 1 เดือนบวกกับชื่อเสียงคนที่เป็นพรีเซนเตอร์ แล้วกลายเป็นแบบนี้ก็เลยทำให้รู้สึกว่าเรากำลังทำร้ายคนในครอบครัวหรือเปล่า แล้วเราไม่ได้รับความเป็นธรรมในลักษณะที่ว่าทำไมเขาขายเกินราคาจริงอย่างมากมายจากท้องตลาด แล้วมันไม่มีคุณภาพอย่างที่เขาโฆษณา นี่เลยทำให้ต้องมาร่วมฟ้องกลุ่มในวันนี้คิดอย่างไรกับการฟ้องกลุ่ม มันรู้สึกว่า ดูเหมือนมีพลังและประสิทธิภาพมากกว่า น่าจะทำให้ศาลรับฟ้องได้ง่ายขึ้นแล้วก็มันทำให้ไม่ยุ่งยากกับรายบุคคลเพราะบางคนอาจจะไม่สะดวกในการมาเดี่ยวๆ ในศาล การฟ้องกลุ่มก็เลยเป็นทางเลือกที่เหมือนว่าจะดีที่สุด คุณกัณฏารัตน์ เรืองวงษ์ศา“มาเพราะได้ยินข่าวการฟ้องกลุ่ม”ดูทีวีแล้วเห็นทางมูลนิธิฯ บอกให้ส่งรูป ส่งหลักฐานมาก็เลยให้ลูกชายถ่ายส่งให้เพราะเราทำเรื่องพวกนี้ไม่ค่อยเป็น ก็เลยได้มา คิดว่าฟ้องดีกว่า เพราะเราเคยติดต่อทางบริษัทฯ ไปแล้ว แล้วเขาก็บอกว่าเดี๋ยวต้องโทรไปตรงนี้ เราก็โทรไปเขาก็ให้โทรไปตรงนั้น เราก็โทรไปๆ มาๆ สายหลุดอีก ก็โทรไปหลายครั้งนะ จนโอนกันไปโอนกันมา จนรอนานไม่มีใครรับสายสักที จนสุดท้ายผู้หญิงคนหนึ่งรับสาย เราก็พูดให้เขาฟัง เขาก็บอกให้เราไปซื้อเบคกิ้งโซดามาล้าง เราก็ถามว่าเบคกิ้งโซดามันล้างออกแล้วเรากินเบคกิ้งโซดาเหรอ  ขนาดไอ้นี้ยังล้างออกแล้วเราไม่แย่เหรอถ้าเรากินเข้าไปอีก เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่อันตรายก็บอกให้เราทำตามนี้ แต่เราก็ไม่ได้ทำหรอก เลยตัดสินใจฟ้องบริษัทฯ จริงๆ ก็คือ สงสารผู้บริโภคท่านอื่นๆ ด้วยนะ คนที่ซื้อหลังๆ นี้ คืออาจจะต้องใช้เวลานานๆ แล้วมันจะเห็นว่ามีปัญหาจากการใช้งานกระทะนี้ คือถ้าใช้ไปแค่ 1 - 2 ครั้งยังไม่รู้หรอก แต่ถ้าคุณใช้เป็นประจำวันเป็นปกติมันจะเห็นเร็ว ของเราก็ใช้ไม่กี่เดือนเอง เดือนแรกก็เริ่มแล้วทำไปได้ไม่กี่ครั้งเองไม่ถึง 10 ครั้งด้วยซ้ำก็เริ่มติดกระทะ เริ่มหลายอย่างจนกระทั่งรู้สึกไม่ไหวแล้ว มันติดกระทะแล้วก็เริ่มแดงขึ้นๆ เราก็เลยเก็บ พอได้ยินข่าวว่าสามารถฟ้องร้องได้ จึงตัดสินใจว่าจะร่วมฟ้องคดีด้วย ------------------------------คุณณัชไม กิตติโรจนธรรมตอนที่ซื้อมี 1 แถม 1 แต่ราคาตอนนั้น 3,300 บาท รู้สึกจะเป็นรุ่นต้นๆ ของเขา จะไม่มีแถมอะไรต่ออะไร ซึ่งมาตอนหลังนั้นเริ่มถูกลง ราคาก็คงถูกลงด้วยและก็มีของแถมเป็นตะหลิวบ้างอะไรบ้าง สรุปว่าราคาถูกลงและฟังดูหลายๆ คนก็ซื้อได้ราคาถูกลงด้วย เราก็รู้สึกว่าความมาตรฐานของเขาไม่มี อยากจะขายเท่าไรก็ขาย ความนิยมเยอะก็ขายราคาสูง กระทะนี้ก็ดูโฆษณาก็รู้สึกว่าน่าใช้นะ ที่บ้านไม่ค่อยได้ทำอะไรทานเองมากนัก ปกติจะซื้อกับข้าวนอกบ้าน ก็คิดว่าได้กระทะมามันไม่ต้องใช้น้ำมันก็ดีนะ ทอดไข่ ผัดกับข้าวอะไรพวกนี้ จะได้ดีต่อสุขภาพก็ซื้อมาใช้ พอซื้อมาใช้รู้สึกว่าไม่ใช้น้ำมัน(อย่างโฆษณา) ไม่ได้แล้ว อาหารมันติดหนึบเลย สรุปก็คือตอนนั้นเอาปลามาทอดก็ต้องใส่น้ำมันสักนิดหนึ่ง แต่ไอ้ส่วนที่ติดมันก็ติดอยู่ พอใช้ไป 2 – 3 ครั้งมันเริ่มเป็นเหมือนสนิม ก็คิดว่านี่มันจะเป็นอะไรหรือเปล่าแต่ก็ด้วยความที่เราไม่ได้ทำกับข้าวเยอะ ส่วนมากจะซื้อกินเสียมากกว่าก็ไม่ได้สนใจตรงนั้นไป ถึงเวลาจะใช้ก็เอามาใช้ พอใช้ทีก็เป็นอย่างเดิมทุกที คิดอยู่นะว่าเสี่ยงไหมนี่แล้วไม่นานก็ได้ยินข่าวว่ากระทะชื่อดังโฆษณาไม่จริงตามที่เขาได้ทำโฆษณาไว้  เราก็เลยเริ่มกังวลว่าสงสัยเป็นจริงแล้วอย่างที่เรากลัวๆ ไว้ แสดงว่าที่เรากินไปที่หลุดๆ ลอกๆ มามันไม่ได้หายไปไหนมันคงอยู่ในอาหารเรานี้แหละ หลังจากนั้นก็เห็นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเริ่มมาทำเรื่องชวนกันฟ้องร้องเป็นคดีแบบกลุ่ม เราก็เลยขอเข้าไปร่วมทำเรื่องกับเขาด้วย แต่จุดประสงค์ก็คือไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะมาชดใช้อะไรเรา แต่อยากจะสร้างภาพพจน์ให้ผู้บริโภคของเราแข็งแรงขึ้น ในหลายๆ เรื่องนั้น เช่นถ้าผู้บริโภคแข็งแรงการหลอกลวง อย่างเช่น เรื่องที่ดินก็คงไม่เกิดขึ้น ไม่กล้าโฆษณาเพื่อที่จะหวังหลอกลวง  โดยหลอกให้คนส่ง 5 ปี 10 ปี ซึ่งถ้าพวกเราแข็งแรงขึ้นนั้นคนที่จะทำอะไรเขาจะต้องคิดก่อนที่มาทำ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะช่วยๆ กันคิดว่าการร่วมฟ้องฯ ครั้งนี้จะช่วยยกระดับสินค้าคิดเรื่องยกระดับผู้บริโภคให้แข็งแรงขึ้นมากกว่า อยากจะให้ใครได้ยินข่าวนี้อยากให้ช่วยๆ กันมาร่วมมือกัน ทำให้ฝ่ายผู้บริโภคแข็งแรง เพราะถ้าผู้บริโภคมีพลัง คิดว่าเขา(บริษัทฯ) น่าจะกลัวพลังตรงนี้ แล้วก่อนจะทำอะไรพวกบริษัทต่างๆ ที่ทำไม่ดีเขาจะได้คิดเยอะขึ้น และถ้าจะให้ดีนั้นถ้าเสียงดังไปถึงฝ่ายรัฐบาล ถ้ารัฐบาลสนับสนุนทำให้พวกเราโตขึ้นมันก็จะยิ่งทำให้ภาคประชาชนแข็งแรงขึ้นคดีอะไรบ้าง ที่สามารถฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่ม1.คดีละเมิด2.คดีผิดสัญญา3.คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้าขั้นตอนและวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มขั้นตอนการขออนุญาตโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดีเพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม1.  โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเริ่มคดีเพื่อขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม2.   โจทก์ต้องแสดงให้เห็นถึงเหตุผลที่ศาลจะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม3.   คำฟ้องของโจทก์ต้องทำเป็นหนังสือและแสดงโดยชัดเจนถึงข้อหาหรือข้อบังคับ ที่ตัวโจทก์และสมาชิกกลุ่มทั้งหมดที่เข้าร่วมฟ้องได้รับความเสียหายอันเป็นเหตุผลที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล และกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ต้องมีการระบุหลักการและวิธีคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิกกลุ่มเท่าที่จะระบุได้ลงไปด้วย4.   ในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลต้องจัดส่งสำเนาคำฟ้องไปให้จำเลยที่ถูกฟ้องด้วย จากนั้นศาลต้องฟังคู่ความทุกฝ่ายและมีการไต่สวนตามที่เห็นสมควร เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาว่าคดีนี้ศาลจะอนุญาตให้ใช้วิธีการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือไม่5.    เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลจะรับคำร้องนั้นไว้ดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนของศาลต่อไป โดยทนายความของโจทก์ก็ถือว่าเป็นทนายความของกลุ่มด้วย6.    ในกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ หรืออาจทำการขออุทธรณ์อีกครั้งภายใน 7 วันหลังจากศาลมีคำสั่งแรกออกมา โดยคำวินิจฉัยของศาล  อุทธรณ์ถือเป็นที่สิ้นสุดดาวโหลดกฎหมายได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/028/1.PDFขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 173, สำนักงาน ไทยลอว์ คอนซัลต์, http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9580000040824

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ข้อระวัง ในการมอบอำนาจฟ้องคดี

เชื่อว่าหลายท่านคงมีประสบการณ์เคยมอบหมายงานบางอย่างให้ผู้อื่นทำแทนบ้าง  ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ต้องทำหลักฐานมอบอำนาจขึ้นมาโดยทำเป็นหนังสือ เช่น มอบอำนาจให้ไปแจ้งความ ไปยื่นเอกสาร ติดต่อที่หน่วยงานต่างๆ  เป็นต้น  ซึ่งในการดำเนินคดีก็เช่นกัน เราก็มักจะมอบหมายให้ทนายความฟ้องร้องและดำเนินคดีแทนเรา ซึ่งบางคนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในคดีหนึ่ง ก็มีการโต้แย้งกันในเรื่องหนังสือมอบอำนาจ จนเป็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลฏีกา เรื่องมีว่า โจทก์สองคน ทำหนังสือมอบอำนาจฉบับเดียว ซึ่งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีก็ต้องมีการติดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามกฎหมาย จำเลยสู้ว่าไม่ติดให้ครบถ้วน ซึ่งสุดท้าย ศาลฏีกาก็วินิจฉัยว่า เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลเดียว กระทำการครั้งเดียว การติดอากรแสตมป์ของโจทก์ทั้งสองครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นหลักฐานในคดีได้  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง  ตามนัยคำพิพากษาฏีกา ที่ 16640/2557 คำพิพากษาฏีกา ที่ 16640/2557    หนังสือมอบอำนาจระบุข้อความว่า “โจทก์ทั้งสองขอมอบอำนาจให้ อ.เป็นผู้รับมอบอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ทั้งสองเพื่อฟ้องร้องและดำเนินคดีแพ่งกับจำเลยทั้งห้า ในข้อหาหรือฐานความผิดละเมิด  สัญญาประกันภัย เรียกค่าเสียหาย ต่อศาลจังหวัดพัทยา โดยให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางจำหน่ายสิทธิได้ เช่น ...” ข้อความที่ระบุแจ้งชัดเช่นนี้ ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้ อ. ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้า ฐานละเมิด ประกันภัย และเรียกค่าเสียหายคดีนี้เท่านั้น มิได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีเรื่องอื่นต่อจำเลยทั้งห้า หรือฟ้องบุคคลอื่น อันเป็นการกระทำมากกว่าครั้งเดียวไม่ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจจะระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นๆ ได้ด้วยก็ตาม แต่เป็นเพียงวิธีการที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกระทำการครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฏากร ข้อ 7 (ก) กำหนดให้ปิดอากรแสตมป์คิดตามรายตัวบุคคลผู้มอบคนละ 10 บาท โจทก์ทั้งสองจึงต้องปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจรวม 20 บาท เมื่อโจทก์ทั้งสองปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจ จำนวน 30 บาท จึงครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หนังสือมอบอำนาจย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฏากร มาตรา 118 จากคำพิพากษาศาลฏีกาข้างต้น เราจะเห็นว่า เรื่องการมอบอำนาจฟ้องคดีมีความสำคัญ หากหนังสือมอบอำนาจไม่ระบุข้อความให้ชัดเจน หรือติดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย  ทำให้อำนาจฟ้องคดีไม่สมบูรณ์ ศาลอาจยกฟ้องได้ อีกประเด็นคือกรณีมีผู้มอบอำนาจสองคน มอบหมายในหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลเดียวทำการแทน การติดอากรแสตมป์ต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่มอบอำนาจ อย่างเช่นในคดีนี้ มีผู้มอบอำนาจสองคน ต้องติดคนละ 10 บาท รวม 20 บาท  แต่ถ้าเป็นกรณีการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกันกระทำการมากกว่าครั้งเดียวปิดอากรแสตมป์ จำนวน 30 บาท

อ่านเพิ่มเติม >