ฉบับที่ 264 เมื่อผู้บริโภคถูก “ฟ้องปิดปาก”

        การฟ้องปิดปาก (SLAPPs) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ”  เมื่อเกิดขึ้นกับใคร ย่อมบั่นทอนกำลังใจ สำหรับคุณกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง หรือคุณนะ หนึ่งในผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกระทะโคเรีย คิง มีเพียงความเชื่อมั่นในสิทธิของผู้บริโภคเท่านั้นที่ทำให้เธอสามารถเดินหน้าต่อไปได้         ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน 2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้ยื่นฟ้องบริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด  ผู้นำเข้า‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีกลุ่ม เนื่องมาจากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณกัลยทรรศน์ได้เข้าร่วมการไต่สวนคำร้องการดำเนินคดีแบบกลุ่มตามนัดของศาลมาอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมาคุณกัลยทรรศน์ กลับถูกบริษัทวิซาร์ด โซลูชั่น ฟ้อง ใน 2 คดีซึ่งล้วนเป็นคดีอาญาคือ คดีที่ 1 อ.169/2565 ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ศาลจังหวัดสตูล และคดีที่ 2 ในข้อหาเบิกความเท็จ หมายเลขดำที่ อ.2961/2565  ศาลอาญา         ทั้ง 2 คดีบริษัทฟ้อง คุณกัลยทรรศน์เป็นการส่วนบุคคล ซึ่งล้วนมีที่มาจากการที่คุณกัลยทรรศน์เข้าร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกร้องให้บริษัทชดใช้ค่าสินค้าให้แก่ผู้บริโภคทุกรายที่ซื้อสินค้ามากกว่า 1,650 ล้านบาทเหตุการณ์เริ่มต้นอย่างไร ทำไมบริษัทถึงฟ้องได้         ต้องเล่าย้อนกลับไปถึงการฟ้องคดีกลุ่ม เพราะเกี่ยวข้องกัน เราฟ้องบริษัทในฐานะที่เขาขายสินค้าไม่ตรงที่โฆษณาว่าสามารถที่จะ ผัด ทอด โดยที่ไม่ต้องใช้น้ำมันแล้วสินค้าไม่ได้เป็นตามนั้น เพราะว่าทุกครั้งที่เราใช้กระทะเราก็ต้องใช้น้ำมันอยู่ดีเรารู้สึกว่ามันไม่ตรงกับสิ่งที่เขาโฆษณาไว้ อีกอย่างหนึ่งก็หลายสตางค์นะ เราเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เราทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล เราจึงร่วมฟ้อง         แต่การซื้อ ตอนนั้นเห็นโฆษณาเราก็สั่งซื้อกัน  แต่ใช้ชื่อน้อง‘อนัตตา’  เป็นเพื่อนร่วมงานซื้อ ซื้อแล้ว  เราก็เฉลี่ยเงินแล้วก็มาแบ่งกัน  พอซื้อแล้ว เราต่างคนก็ต่างเอากระทะกลับไปใช้แล้วก็รู้ว่าคุณสมบัติเรื่องของการโฆษณาไม่เป็นไปตามนั้นเลย พอรู้ว่าตอนนั้นก็มีผู้เสียหายหลายคน และมูลนิธิจะฟ้องเราก็จะร่วมด้วย  แต่ใบเสร็จรับเงินที่อยู่ในกล่องตอนที่ซื้อมามันหายไป เราเลยไปแจ้งความ ตำรวจก็ให้ลงบันทึกประจำวันไว้ว่าใบเสร็จได้สูญหายไป ยืนยันว่าเราได้ซื้อกระทะจากบริษัทจริง กระทะทั้งสองใบก็ยังอยู่นะ  ตรงนั้นเราจึงเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีกลุ่ม แล้วบริษัทมาฟ้องได้อย่างไร         บริษัทเขาบอกว่าค้นในระบบแล้วไม่เจอชื่อเราว่าเป็นคนซื้อ เราไม่ใช่ผู้ซื้อ  ไม่มีประวัติในการซื้อ ซึ่งกระทะก็อยู่ที่เราจนถึงตอนนี้ เลยเป็นที่มาของการฟ้อง         บริษัทฟ้องเรากลับมาคนเดียว ฟ้องคดีแจ้งความเท็จที่ศาลจังหวัดสตูล  สองก็คือเบิกความเท็จ ฟ้องที่ศาลอาญา เมื่อบริษัทเขาไม่เจอชื่อเราว่าเป็นคนซื้อ  ที่เราได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เขาเลยเอาตรงนั้นมาแจ้งข้อหาและฟ้องที่ศาลจังหวัดสตูล เมื่อช่วงปลายปี 2565         เราเองก็รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับเรานะเพราะเป็นคนซื้อจริงๆ  แล้วก็จ่ายเงินจริง ใช้จริง  เราก็มั่นใจ มันเหมือนกันว่าถ้าเอาตามตัวหนังสือแน่นอนว่าไม่มีชื่อเรา  สุดท้ายศาลท่านแนะนำว่าเป็นคดีที่ไกล่เกลี่ยกันได้  ซึ่งทนายความทางศาลก็ไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ฟ้องกับเราที่เป็นจำเลย  โดยถ้ายอมรับสารภาพว่าเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ซื้อ แล้วบริษัทก็จะถอนฟ้อง แล้วอีกคดีที่บริษัทฟ้องในข้อหาเบิกความเท็จ         คดีนี้เขาฟ้องที่ศาลอาญา ฟ้องในเวลาไล่เลี่ยกันเลย เขาฟ้องว่าในคดีที่ฟ้องกลุ่ม เราเบิกความเท็จว่าเป็นผู้ซื้อ พอถูกดำเนินคดีแล้ว เราเสียอะไรไปบ้าง         วันที่หมายศาลมาที่บ้าน กลัวมาก นอนไม่หลับเครียดมาก ร้องไห้ เครียดกลัวพ่อแม่ กลัวลูกไม่สบายใจ ตอนนั้นเครียดจนต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลย  เราเป็นคนธรรมดา ไม่มีความรู้กฎหมาย เราก็กลัว แล้วเรื่องค่าใช้จ่าย เราต้องเดินทางขึ้นกรุงเทพ เดือนละครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง แล้วมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับสภาองค์กรของผู้บริโภคเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร         ก็ช่วยตลอดมาตั้งแต่แรก  ช่วยเรื่องเงินประกัน มีทนายความมาช่วย มูลนิธิฯ ออกค่าที่พักที่นอนให้แต่เราเองก็ต้องออกไปก่อนครั้งละ 5,000 -6,000 บาท เวลาที่ขึ้นไปศาลฯ ที่กรุงเทพ         ที่ศาลอาญา ช่วงที่รอไต่สวน เราต้องเข้าไปอยู่ในห้องขัง ต้องไปเจอผู้ต้องขังเยอะแยะมากมาย เราเสียใจ ร้องไห้นะ ในคดีแจ้งข้อความอันเป็นเท็จที่ศาลจังหวัดสตูล ทำไมเราถึงยอมรับสารภาพ         ความหมายของผู้บริโภคเมื่อเกิดความเสียหายก็สามารถฟ้องได้  เราพูดในฐานะที่เป็นผู้บริโภคแล้วเวลาเราฟ้อง ในวันนั้นที่เราฟ้องคดีกลุ่ม ฟ้องในฐานะผู้บริโภค ซึ่งเราก็เป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้ซื้อด้วยและเราก็บริโภคด้วยเพราะเราเป็นคนใช้ แต่ศาลที่สตูลเขาบอกว่าถ้าด้วยตัวกฎหมายก็คือว่ามันไม่ใช่ชื่อกัลยทรรศน์ แต่มันเป็นชื่ออนัตตา มันผิดตรงนั้นที่เราไปลงบันทึกประจำวันไว้ ทำไม บริษัทถึงมาฟ้องเรื่องนี้ในปี 65  ทั้งที่เริ่มฟ้องคดีกลุ่มมาตั้งแต่ปี 60 แล้ว          ในคดีกลุ่ม บริษัทฯ ก็ทยอยไกล่เกลี่ย คืนเงินชดเชยซึ่งอาจเหลือไม่กี่คนแล้ว อันนี้เขาบอกนะ ถ้าสมมุติว่าเขาทำให้พี่ถอนฟ้องได้ การฟ้องแบบนี้มันเหมือน ฟ้องปิดปากเพื่อที่จะให้เราไปถอนฟ้อง เหมือนกับคดีปิดปากอื่นๆ เขาทำให้เรารู้สึกกลัว แล้ว จำนวนคนที่ยังอยู่ที่บริษัทจะชดใช้เงินคืนก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตอนนี้กำลังใจเป็นอย่างไร          เรามีกำลังใจจากคนที่เข้ามาช่วยเรา ทั้งจาก เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และน้องๆ ทนายความจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่คอยปลอบใจ ให้กำลังใจเราเสมอ สิ่งที่อยากฝาก         เราได้บทเรียนว่าวินาทีที่เราตั้งใจซื้อไม่ว่าทางไหนก็แล้วแต่จะต้องมีหลักฐานเอกสารขนาดต้อง Copy ไว้หมดเลยการซื้อของทุกวันนี้ต้องเก็บหลักฐานตั้งแต่วินาทีสั่งของ เวลาที่ของมาถึงเราแล้วก็ต้องถ่ายรูปคนที่เขามาส่ง ต้องจำให้หมดแล้วถ่ายสำเนาไว้หมด ต้องมีหลักฐานหมด จุดเริ่มต้นที่ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม และหลังจากถูกฟ้องจากบริษัท ความคิด ความเชื่อได้เปลี่ยนไปไหม            เราก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้เป็นไปตามโฆษณาอย่างนั้นจริงๆ เพราะเราเชื่อโฆษณาไง เราก็ไม่อยากใช้น้ำมันเราอยากดูแลสุขภาพ แต่ว่ามันไม่ได้เป็นไปตามนั้น  เราก็ใช้ทุกครั้งมันก็ติดกระทะมัน ก็ไม่เป็นจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอน 2

        ฉบับนี้ขอนำเสนอตัวอย่างคดีฟ้องปิดปาก อย่างลงลึกมากขึ้นคือ คดีหมายเลขดำที่  723/2565 โดย สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและ นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์                   เรื่องราวของคดีนี้เริ่มต้นในช่วงปี 2562 ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าว กระแสหนึ่งที่สังคมจับตาให้ความสนใจอย่างมาก คือ การรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายในการเกษตรคือ  พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2562 ปรับให้ทั้ง 3 สาร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออกและห้ามใช้         ภายหลังมีมติดังกล่าวยิ่งทำให้สังคมให้ความสนใจ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ  ในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีจึงได้รับเชิญให้ไปแสดงความเห็นในสถานีวิทยุ โทรทัศน์และสื่อต่างๆ เป็นจำนวน ทั้งยังใช้เพจเฟซบุ๊กรณรงค์ ให้ความเข้าใจแก่สังคมเรื่องอันตรายของทั้ง  3 สารเคมี  ในระหว่างนี้เขาได้แชร์โพสต์ของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยที่มีข้อความว่า “ไม่มีรัฐบาลไหนในโลกใบนี้ที่จะแบนสารแถบสีน้ำเงิน แบบไกลโฟเซตแต่เสนอสารทดแทนแถบสีเหลืองแบบกลูโฟซิเนต” มายังเพจของมูลนิธิชีววิถี   และนั่นคือที่มาของการถูกฟ้องที่เริ่มต้นขึ้น         “โพสต์ดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เป็นการบิดเบือนเพราะไม่ได้พูดถึงภัยอันตรายทั้งหมด  นั่นคือประเด็นหนึ่งที่ได้ทั้งแสดงความเห็น ทั้งโพสต์ในเฟซบุ๊ก รวมถึงอธิบายในสื่อต่างๆ  สีของฉลากไม่ได้พูดถึงพิษเรื้อรัง การก่อกลายพันธุ์ การก่อมะเร็ง”  วิฑูรย์กล่าว โดยประเด็นสำคัญที่ทำให้เขาแชร์โพสต์ดังกล่าวเพราะอยากสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า ฉลากสีที่กำหนดประเภทของสารเคมี ไม่ได้ให้ข้อมูลอันตรายทั้งหมดของสารเคมีแต่ละชนิด โดยเฉพาะอันตรายในระยะยาวที่จะสะสมในร่างกายจนก่อให้เกิดโรครุนแรงได้หลายโรค  การที่สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยได้สื่อสารและทำให้ประชาชนเข้าใจอันตรายของสารเคมีตามฉลากของสีจึงยังไม่ถูกต้อง เพราะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด          สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและนางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมฯ มองเรื่องนี้ว่าเป็นหมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จึงยื่นฟ้องวิฑูรย์ในข้อหาหมิ่นประมาท ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์   ขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 91,326,328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) , 16   ลงวันที่ฟ้องในศาลชั้นต้นวันที่  17 มีนาคม 2564         “โดยเมื่อพิจารณาจากการที่จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีที่จัดตั้งซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยด้านทรัพยากร ชีวภาพ เกษตรกรรม อาหาร สิทธิเกษตรกรและชุมชนเพื่อประโยชน์สาธารณด้านสิ่งแวดล้อม  มูลนิธิดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทั้งจำเลยและบุคคลในมูลนิธิของจำเลยเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการเกี่ยวกับการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความอันตรายและจากการศึกษาทางวิชาการของจำเลยตามเอกสารหมายเลข จ.5 ได้แบ่งประเภทความอันตรายของสารเคมีเกษตรด้วยแถบสียังไม่สามารถวัดอันตรายของพิษเรื้อรังได้ ประกอบกับคู่มือการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังมีการจำแนกความอันตรายจากสารพิษตามหลักเกณฑ์พิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรังไว้ด้วย  ดังนั้นกรณีที่จำเลยกล่าวถ้อยคำทางแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊คผ่านเพจมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เป็นการเตือนให้ตระหนักหรือระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้สารเคมีที่ให้ผลเป็นพิษแก่ผู้บริโภคเป็นไปตามฐานะตำแหน่งการงานที่จำเลยดำรงอยู่ ”                  “เราคิดว่า ผลของคดีนี้ทำให้ผู้ถูกฟ้องมีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นและทำงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่ต่อไปเป็นอิสระจากความกลัวและเป็นการยืนยันว่า การทำเพื่อประโยชน์สาธารณะจะคุ้มครองเราเองจากการฟ้องคดีปิดปาก” จันทร์จิรา  ทนายความกล่าวยืนยันผลของคดี         ด้านวิฑูรย์กล่าวว่า “คำตัดสินของศาลเป็นการยืนยัน  สิทธิของประชาชนที่จะวิพากษ์ วิจารณ์  หรือแสดงความคิดเห็น  ในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ คำตัดสินแบบนี้ควรจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในคดีความอื่นๆ  ด้วยที่จะปกป้องประโยชน์ของคนที่ทำงานเรื่องสุขภาพ และเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยต่อไป”           “เพราะในที่สุดแล้วผมคิดว่าการมีคดีแบบนี้เยอะๆ มันไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของสังคมโดยรวมเลย ในท้ายที่สุด คนที่จะสูญเสียประโยชน์ ได้รับผลกระทบ คือสังคมส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ในประเทศ การที่คนเล็กคนน้อยถูกฟ้องร้องในคดีพวกนี้  เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วประเทศไทยควรมีทั้งแนวปฏิบัติ แนวกฎหมายที่จะช่วยป้องกันคุ้มครองคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้หรือการแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ฟ้องปิดปาก เครื่องมือหยุดผู้บริโภคไม่ให้ส่งเสียง! ตอนที่ 1

“ที่ใดก็ตาม ไม่มีเสรีภาพของการแสดงออกที่แท้จริง ที่นั่นไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง” นี่คือปรัชญาที่สหภาพยุโรปใช้เป็นแนวทางการยกเลิกความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท มองมาที่ไทย ประเทศที่เสรีภาพการแสดงออกได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2475 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อประชาชนใช้สิทธิ เสรีภาพ  เพื่อส่งเสียงเรียกร้องสิทธิของตนเอง  อาจกระทบต่อคนหลายฝ่าย อาจเกี่ยวพันไปถึงสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของผู้ประกอบการ  นักการเมือง ข้าราชการ ที่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ย่อมมีสิทธิในการปกป้องรักษาชื่อเสียงเกียรติยศของตนเองด้วยเช่นกัน         ‘การฟ้องปิดปาก’ หรือ SLAPPs (strategic lawsuits against public participation) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” จึงถูกผู้ประกอบการ นักการเมือง ข้าราชการนำมาใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง         คดีจากการ‘การฟ้องปิดปาก’  นี้จึงแตกต่างจากคดีทั่วไปตรงที่ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัวหรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำหรือแกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น เช่น ปัจจุบัน ผู้บริโภคหลายรายเพียงรีวิว การใช้สินค้าที่ซื้อมาใช้ด้วยความสุจริตลงในสื่อออนไลน์ กลับถูกประกอบการขู่ฟ้อง ดำเนินคดี ก็เพื่อให้หยุดแสดงความคิดเห็นหรือลบข้อความที่ได้เขียนลงไป         ในเวทีเสวนาเรื่อง “เสวนาปัญหาการถูกฟ้องคดีปิดปาก: ถอดบทเรียนจากการใช้สิทธิของผู้บริโภค” วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ในต่างประเทศการฟ้องปิดปากเป็นคดีแพ่งเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยประชาชนที่ออกมาพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะกลับถูกดำเนินคดีทั้งกระบวนการทางแพ่งและอาญา สุดท้ายทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิ ถอดใจ เรากล่าวขอโทษ ถอดบทความต่างๆ ความจริงก็จะไม่ปรากฏ และประโยชน์สาธารณะก็จะเสียไป        “ผมคิดว่า การฟ้องปิดปากมีสมการที่อธิบายได้แบบนี้ เสรีภาพ การแสดงออกซึ่งความคิดของประชาชน กับเรื่องสิทธิของผู้ประกอบการในการมีสิทธิทางธุรกิจ เกียรติยศ  ผมว่าเสมอกัน เสรีภาพของประชาชน เสมอกับเกียรติยศของคนที่เราพูดถึง   ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว  เราไปกล่าวหาคนอื่น เรื่องส่วนตัว เรามีความรับผิด ตรงกันข้าม ถ้าเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด บวกประโยชน์สาธารณะเข้ามา มันควรจะมากกว่า ชื่อเสียง เกียรติยศของภาคธุรกิจหรือไม่  เราเป็นผู้บริโภคแสดงออกว่า สินค้านี้ไม่ดี เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เขาไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว เขาทำให้บ้านเมืองนี้ดีขึ้น เพื่อธุรกิจจะมีความรับผิดชอบ นำของที่ดีมาขาย ไม่ใช่เอาของไม่ดีมาขายแล้วตัดภาระให้ประชาชน เมื่อมีประโยชน์สาธารณะสุดท้ายจะปรับให้เกิดภาพรวมที่ดีของสังคมที่ได้ ได้ใช้สินค้าและบริการที่ดี ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองมากขึ้นเพราะทุกคนในประเทศไทยต่างเป็นผู้บริโภค เพราะเราต้องซื้อของ และใช้บริการ”          รายงานวิจัยของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พบว่า ตั้งแต่ปี 2540 มีคดีปิดปากอย่างน้อย 212 คดีที่นำเข้าสู่กระบวนการศาล  หนึ่งในสี่ของคดีปิดปากเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ ประชาชนถูกฟ้องร้องจากความพยายามที่จะร้องเรียนเรื่องสภาพการทำงานที่ผิดกฎหมาย เรื่องการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หรือ เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  โดยร้อยละ 95 ของคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย เป็นคดีอาญา และผู้ที่เป็นจำเลยส่วนใหญ่ คือ ประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอาสาสมัคร ร้อยละ 39  ผู้แทนชุมชนและแรงงาน ร้อยละ 23% นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร้อยละ16%และ นักข่าวร้อยละ9%  และกิจกรรมหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญของการฟ้องร้องคือการแสดงความเห็นออนไลน์ ซึ่งคดีหมิ่นประมาทเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 2 ปี และ ปรับ 200,000 บาท หากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง         รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่าเขามองว่า ความหวัง และทางออกของเรื่องนี้คือ กฎหมายมาตรา 329 ที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทุกฝ่ายควรได้นำไปปรับใช้ให้มากขึ้น“มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต(1)   เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม(2)   ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่(3)   ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ(4)   ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุมผู้นั้น ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”         “ผมว่าตรงนี้คือกุญแจสำคัญในการที่ผู้บริโภค พิทักษ์สิทธิ์ ไปแสดงความเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด แม้เป็นการใส่ความเขาเหตุผลเพราะ เรากำลังทำเพื่อความเป็นประธรรม ประโยชน์ส่วนร่วม ตามมาตรา 329”         อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติยังเป็นไปได้น้อย ศาลยังขาดข้อมูลว่าผู้ฟ้องมีเจตนาใช้กระบวนการยุติธรรมด้วยความไม่บริสุทธิ์ ทำให้มีคดีเข้าสู่ศาลแม้การฟ้องปิดปากจะเป็นคดีที่ไม่มีมูลเหตุ ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อน กินระยะเวลายาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายราคาแพงสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าจำเลยไม่มีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะสู้คดี ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ไม่มีทางเลือกและจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของโจทก์ ซึ่งมักจะมาในรูปของ การชดใช้ค่าเสียหาย การขอโทษ หรือ การลบข้อความที่ถือว่าละเมิด         การดำเนินคดีในกลุ่มผู้ใช้สิทธิผู้บริโภคก็มีมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอข่าว และ บทความ ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า “ฉลาดซื้อเผยผลสุ่มตรวจ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. …” โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ยี่ห้อ เคียวร์ซิส (CUREAYS) ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยผลการทดสอบ ได้ผล ร้อยละ 69 และ ร้อยละ 64 ตามลำดับ พร้อมระบุข้อสังเกตจากการทดสอบ เรื่องคุณภาพการผลิต พบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน … บริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด รับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายบริษัท แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า บริษัทผู้ผลิต กลับยื่นฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานโดยสุจริต เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กลับถูกข้อกฎหมายฟ้องปิดปาก มาปิดกั้นการทำงานเพื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ และยังมีอีกหลายกรณีของการทดสอบ หรือ เผยแพร่ข้อมูลโดยสุจริตเพื่อ เตือนภัย แต่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับถูกแทรกแซงจากผู้ประกอบการด้วยวิธีการต่างๆ และจากหลายกรณีที่ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน เช่น คดีกระทะโคเรียคิง ครีมเพิร์ลลี่ หรือ คดีสามล้อ ฯลฯ กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปากโดย ปปช.         คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ ให้ประชาชน ‘ไม่ทำ’ และ ‘ไม่ทน’ ต่อการทุจริต  แต่เมื่อประชาชนที่มาชี้ช่อง เบาะแสกลับถูกดำเนินคดีฟ้องกลับ มากมาย ปปช.ในปี พ.ศ. 2564 จึงเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. ....” หรือ ปัจจุบันมีชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ...” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้าย         นายนิรุท  สุขพ่อค้า  ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวว่า “ปปช. เรามีแนวคิดปกป้องคุ้มครองประชาชนมานานแล้วเราจึงมีกฎหมายในการคุ้มครองพยาน แต่ยังเป็นเรื่องของการคุ้มครองอันตรายทางกายภาพ เนื้อตัว ร่างกาย ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  ผู้ถูกกล่าวหาเขามีความรู้ก็จะใช้กฎหมายดำเนินคดีกับผู้แจ้งเบาะแส หรือ ภาคประชาชนซึ่งเรื่องการชี้ช่องเบาะแส  บางอย่าง เป็นเรื่องของการก้ำกึ่งระหว่างเรื่องของการหมิ่นประมาทซึ่งเป็นคดีอาญา การที่เขาจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้อง หรือ ดำเนินคดีปิดปาก มันเป็นการดำเนินการที่ไม่ต้องใช้ทุนอะไร แค่เดินไปยังพนักงานสอบสวน และร้องทุกข์ กล่าวโทษก็ถือว่าเป็นคดีได้แล้ว”         “เรื่องการทุจริตต่อหน้าที่ ปปช. มีหน้าที่รวบรวม พยานหลักฐาน  แต่คนที่จะมีส่วนรู้เห็น ก็มีบทบาทสำคัญที่จะมาช่วย  ปปช. ได้คือภาคประชาชน การฟ้องปิดปากจึงทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเดือดร้อน  ไม่ว่าจะภาคประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง ที่ถูกเจ้าหน้าที่เอาเปรียบ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับความเดือดร้อน เสียหายในเขตพื้นที่อันเกิดจากการทุจริต ในการจัดซื้อจัดจ้าง ถนนชำรุดทรุดโทรมง่าย ภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ NGO ทำหน้าที่เป็นสื่อ ทำหน้าที่สอดส่อง ดูแล  การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง เป็นกลุ่มที่หลากหลาย ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ”          “กฎหมายฉบับนี้จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชรตามคดี 3 ลักษณะกว้างๆ คือ เมื่อคนที่ชี้ช่องถูกดำเนินคดีอาญา ปปช. จะเข้าไปทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความร้องทุกข์ฐานหมิ่นประมาท ทางในแพ่ง ปปช. จะตั้งทนายเข้าไปช่วยประชาชน และหากเป็นคดีทางปกครอง ถูกผู้บัญชาดำเนินการทางวินัย ปปช.มีอำนาจที่จะสั่งให้หยุดการดำเนินการทางวินัยได้เลย นี่ค่อนข้างจะเด็ดขาดมาก ทั้ง 3 ลักษณะคดีนี้  ปปช. มีอำนาจที่จะให้ข้อมูล เพื่อให้พนักงานสอบสวน/ อัยการ มีดุลยพินิจ สั่งไม่ฟ้อง และ ปปช.ดำเนินการด้วยงบประมาณของตนเองเพราะมีกองทุนอยู่แล้วจึงมีความพร้อมในการปฏิบัติ เราคาดหวังเต็มร้อยเพราะเรื่องการปราบปรามทุจริตได้ เราทำเองไม่ได้ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือให้ข้อมูล เบาะแส หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความสำคัญเป็นลำดับต้นกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคประชาชนด้วยทุกฝ่าย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสังคมโลกดีขึ้น ”นายนิรุทกล่าวยืนยัน        ฉบับหน้าติดตามตัวอย่างผู้บริโภคที่ได้รับผลจากการฟ้องคดี “ปิดปาก” และผลของคดีที่น่าสนใจ

อ่านเพิ่มเติม >