ฉบับที่ 269 สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี

        เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยงานประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี   สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานีได้รายงานผลการเฝ้าระวังอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินในตลาดชุมชน 19 ตลาด พื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยสรุปพบว่า จาก 100 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ พบอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลีน 13 ตัวอย่าง ทั้งในอาหารทะเล ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์และเครื่องในแปรรูป         นี่คือปรากฏการณ์ที่ภาคประชาชนลุกขึ้นมาเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารครั้งสำคัญ   สิรินนา เพชรรัตน์ นายกสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านหน้าเราไปได้ โดยไม่ทำอะไร” และ “ถ้าเราช่วยกันทุกฝ่าย ทั้งระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ”       จุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่         เราเริ่มทำงานมาตั้งแต่ปี  2544  ประเด็นหลักที่เราเริ่มทำงานตั้งแต่แรกคือ เรื่องความปลอดภัยในอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอางต่างๆ เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ใกล้ตัวผู้บริโภคมากๆ           ประเด็นแรกที่เราเฝ้าระวังคือ เรื่องถังน้ำดื่มปลอดภัยขนาด 20 ลิตร และช่วงปี 2544-2545 เราร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ 11 จังหวัดทำคาราวานรณรงค์สถานการณ์เครื่องสำอางไม่ปลอดภัย แล้วตัวเราก็เข้ามาทำงานในจังหวะนี้มาเป็นอาสาสมัครก่อน แล้วก็ทำมาต่อเนื่อง เครือข่ายผู้บริโภคเราขับเคลื่อนร่วมกันมาตลอด ในประเด็น 8 ด้าน หลักๆ   เราทำงานมีกรอบร่วมกันแบบนี้ มีเอกภาพ เพียงแต่ในพื้นที่อาจจะมีศักยภาพในการทำงานแต่ละเรื่องได้แตกต่างกันออกไป         ถามถึงความสนใจจนถึงตอนนี้ เราเลยทำงานเพื่อผู้บริโภคมา 20 ปีแล้ว ปัญหาไม่ได้หมดไป แล้วมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ หลากหลายมาก เช่น การใส่ฟอร์มาลินเข้าไปในอาหารมากขึ้น หลายชนิดที่เราคิดว่าจะไม่ได้เห็นเราก็ได้เห็น การเฝ้าระวังความปลอดภัยในอาหารครั้งล่าสุด ทำไมสนใจเรื่องฟอร์มาลิน         เราสนใจเรื่องฟอร์มาลินเพราะเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน  แล้วในบางพื้นที่สถานการณ์หนักขึ้นด้วย เช่นจะเห็นว่าบางจังหวัดเขาเฝ้าระวังโดยเฉพาะในร้านหมูกระทะเลย แต่การแก้ไขปัญหา เฝ้าระวัง คอยกำกับดูแล  ถูกทำให้เป็นบทบาทของบางหน่วยงานเท่านั้น ขณะที่เรามีการกระจายอำนาจ มีหน่วยงานท้องถิ่นที่อยู่ในระดับท้องที่ที่สามารถทำเรื่องนี้ได้  เราก็ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการจัดการปัญหาให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราเลยสนใจสำรวจ เฝ้าระวังในพื้นที่ เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ คือตลาดนัดในชุมชน แล้วจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นพื้นที่ที่ติดทะเล  เลยอยากรู้ว่าอาหารทะเลบ้านเรามีการปนเปื้อนฟอร์มาลินไหมนี่คือจุดเริ่มต้น การสำรวจ เฝ้าระวังมีแผนการทำงานอย่างไร         พอเราพูดคุยกันว่า อยากจะเฝ้าระวังเรื่องนี้นะเราจึงเริ่มพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผน  คือเราไม่ได้คิดว่า อยากตรวจก็ตรวจ  เราเองก็ทำความเข้าใจต่อการปนเปื้อนฟอร์มาลินในอาหาร         เราเข้าไปขอคำปรึกษา คำแนะนำ ขอความรู้จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานีให้ข้อมูลเราก่อนว่า จริงๆ แล้ว ฟอร์มาลินปัญหามันคืออะไร ปนเปื้อนในอาหารไปเพื่ออะไร ปกติเราเจอฟอร์มาลินที่ไหนบ้างเพราะมันมีปัจจัยหลายอย่างในการที่เราจะตรวจฟอร์มาลิน ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 ได้ส่งบุคลากรมาฝึกอบรมให้เราและเครือข่ายของเรา  ในการใช้ชุดทดสอบการเก็บตัวอย่างมาช่วยดำเนินการตรวจตัวอย่างอาหารที่เก็บมาและทบทวนผลการตรวจ ทำให้เราพร้อมจริงๆ ที่จะตรวจเรื่องของอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินได้  ในกระบวนการทำงาน คนทำงาน เครือข่ายก็ได้รับการพัฒนาศักยภาพไปด้วย        ใช่ เรามีการพัฒนาศักยภาพคนที่ลงไปเก็บตัวอย่าง ให้เขาเข้าใจเรื่องฟอร์มาลินก่อนว่าคืออะไร เพราะมีทั้งฟอร์มาลินตามธรรมชาติและเติมเข้าไปจนปนเปื้อนนะ  แล้วการเก็บตัวอย่างต้องสังเกตอะไร แยกแยะกันอย่างไร เครือข่ายเราจะรู้         สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี ทำงานกับเครือข่ายมาโดยตลอด การเฝ้าระวังครั้งนี้เครือข่ายของเราใน 8 อำเภอเข้ามาช่วยกันทำคือ  เครือข่ายผู้บริโภคอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอไชยา อำเภอเกาะสมุย อำเภอพุนพิน อำเภอวิภาวดี อำเภอตาขุน อำเภอชัยบุรีและกลุ่มเมล็ดพันธุ์บันเทิง จึงเก็บได้ประมาณ 100 ตัวอย่าง สมาคมฯ ไม่อาจจะทำเองได้  เราไปเก็บทุกอำเภอไม่ได้  ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ เครือข่ายผู้บริโภคที่อยู่ในอำเภอต่างๆ เป็นกลไกที่จะช่วยสมาคมฯ ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค ช่วงที่เกิดโควิด เครือข่ายเฝ้าระวังเรื่องของการจำหน่ายฟ้าทลายโจร  ล่าสุดเราเฝ้าระวังเรื่องถังแก๊สหุงต้มที่หมดอายุ เราก็ทำด้วยกันเป็นเครือข่าย  การทำงานกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี  เป็นอย่างไร         พอมีความร่วมมือกับหน่วยงาน เราคิดว่ามันดีมาก หนึ่งในแง่ของงานวิชาการที่ทำให้เข้าใจบริบทมากขึ้น เพราะฟอร์มาลินในธรรมชาติก็มี บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่เราใช้อยู่ก็มีทำให้เราเห็นประเด็นมากขึ้น สองการสนับสนุนงานเชิงวิชาการของเขาช่วยให้เรามั่นใจต่อการทดสอบตัวอย่างต่างๆ  และการสนับสนุนในกระบวนการทดสอบ การเก็บตัวอย่าง ทำให้เราสามารถเก็บตัวอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ออกมาก็ทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่ได้กลั่นแกล้งกัน อย่างน้อยมีกระบวนการเก็บที่ถูกต้องใช้ชุดทดสอบที่ถูกต้อง เราก็คิดว่ามันเป็นการสร้างความมั่นใจให้ทั้งคนทำงานและข้อมูลที่เราได้ผลออกมา   ผลการเฝ้าระวังอาหารครั้งนี้ บอกอะไรกับเราคนทำงานบ้าง         ผลทดสอบออกมาบอกเลยว่า แม้ว่าเราจะอยู่ใกล้ทะเล แต่ไม่ได้หมายความว่า อาหารทะเลที่ขายในตลาดชุมชนของเราจะไม่มีฟอร์มาลิน แต่จริงๆ แล้วเรื่องความปลอดภัยในอาหารตลอดที่ทำงานมา เราก็พบว่ามันเป็นเรื่องที่มีอยู่มาตลอด แต่กระบวนการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคยังทำแยกส่วน แต่ครั้งนี้เรามีความตั้งใจให้เรื่องการเฝ้าระวังมีการมาบูรณาการกัน มาสร้างองค์ความรู้ที่เราต้องช่วยกันสร้างให้กับผู้บริโภค รับรู้และมีความเข้าใจ หลังจากนี้มีแผนการทำงาน ในระยะต่อไปอย่างไร         ตอนนี้หลังจากเราได้รายงานผลการเฝ้าระวัง อาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน ผลการตรวจ 100 ตัวอย่าง พบอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลินกว่า 13 ตัวอย่าง ทั้งในอาหารทะเล ผัก ผลไม้ อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์และเครื่องในแปรรูป หลังจากเราได้ข้อมูลมาแล้วเราก็ชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันและเราทำข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักๆ 3 หน่วยงานในพื้นที่ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รพ.สต. เพราะเขามี  อสม. ที่เป็นเครือข่ายทำงานเฝ้าระวังในพื้นที่ได้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เราคิดว่า 3 หน่วยงานหลักที่อยู่ในระดับพื้นที่เข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ เราเชิญเขาเข้ามาแลกเปลี่ยนกับเราว่าที่ผ่านมา เขาทำงานอย่างไรและพอเราเจอแบบนี้ เราจะช่วยกันทำงานต่อไปอย่างไร  และเรามีข้อเสนออยากให้เขากับเรามาทำงานด้วยกัน เป็นขั้นตอนต่อไป         เราตรวจครั้งนี้เพื่อขอความร่วมมือกับเขาก่อน ให้รู้สถานการณ์ด้วยกันก่อนว่าตรวจแล้วยังเจอนะ มีนะ แล้วเราจะร่วมกันทำงานอย่างไร เราหวังผลการทำงานร่วมกันในระยะยาว  แต่ถ้ายังไม่เกิดการทำอะไรที่เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค เราก็ตรวจซ้ำ และจะเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบ เพื่อให้ประชาชนได้เฝ้าระวังสุขภาพของตัวเองด้วยแต่คือต้องบอกว่าเรื่องนี้  เรามีกฎหมายที่กำกับดูแลพอสมควรเรามีหน่วยงานที่อยู่ในระดับพื้นที่ ท้องถิ่นก็ไม่น้อย หน่วยงานเหล่านี้อาจะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้มากขึ้นบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น คือฟอร์มาลินไม่ได้กินแล้วตายคาปาก  แต่ตามกฎหมายใส่ไม่ได้ มันไม่ควรมีในอาหาร เราคิดว่าถ้ามีการบังคับใช้เรื่องนี้อย่างจริงจัง ผู้ประกอบการจะกลัวเกรงเรื่องนี้มากขึ้น เพราะจากการตรวจ เราก็พบว่ามี 1 อำเภอที่ไม่เจอเลย  อาสาสมัครเราก็บอกว่า เป็นเพราะเขามีการเฝ้าระวัง / ตรวจอย่างต่อเนื่อง  ผู้ประกอบการเองจึงยังต้องระมัดระวังในการเอาของมาขาย  วิธีการนี้ยังช่วยได้ นี่คือการบังคับใช้กฎหมาย ใช้มาตรการทางสังคม ในการที่จะช่วยกันทำให้เรื่องนี้หายไปหรือน้อยลง แต่สุดท้ายมาตรการที่สำคัญอย่างมากด้วย คือทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจเรื่องนี้เพื่อป้องกันตัวเองได้ เช่นการล้าง ทำความสะอาด เพราะเราไม่ได้ตรวจเจอแค่ในหมึกกรอบแต่มีในเล็บมือนาง สไบนาง  ถั่วงอก ซึ่งหลายครั้งเราไม่ได้ปรุกให้สุก กินดิบๆ เลยก็มี มันยิ่งทำให้ร่างกายรับฟอร์มาลินเข้าไปมาก  มองความเข้มแข็งของการทำงานในพื้นที่ว่ามี จุดอ่อน – จุดแข็งที่จะพัฒนาต่อไปอย่างไร         ถ้าเรื่องความเข้มแข็งอย่างแรกเลย ในฐานะเราองค์กรที่ทำงานเพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค เรามีความแน่วแน่ มีจุดยืนในการทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ด้านความปลอดภัยด้านอาหาร เราจะไม่ปล่อยให้ผ่านหน้าเราไปได้ โดยไม่ทำอะไร  สองเราคิดว่าการทำงานเรื่องนี้ได้ เราต้องมีเครือข่าย ถ้าทำงานแบบไม่มีเครือข่ายเราไม่สามารถจะทำงานตรงนี้ได้เลย  เราเก็บไม่ได้หมดแบบนี้ เราต้องยกความดี ขอบคุณเครือข่ายที่เราทำงานด้วยกัน สาม พอเราทำงานมาระดับหนึ่ง เราจะพบว่า งานวิชาการมีความสำคัญมาก  ถ้าเรามีกลไกที่เป็นวิชาการมาช่วยเราทำงานได้จะช่วยให้งานเรามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ส่วนหนึ่งเมื่อเราทำงาน แล้วเราเห็นองคาพยพในการทำงานว่ามีใครบ้าง แล้วเข้าไปชวนเขามาทำงานด้วยกัน พี่มองว่างานคุ้มครองผู้บริโภคจะได้รับการพัฒนา คิดว่าเป็นสี่ส่วนสำคัญที่จะช่วยการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่เข้มแข็ง  ความท้าทายที่มองเห็นในการทำงานต่อไป คือเรื่องอะไรบ้าง         เราเองก็ติดตามสถานการณ์ภาพรวมในประเทศตลอดว่ามีเรื่องอะไรบ้างแล้วเรากลับมามองในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้างเช่นกัน อย่างเรื่องหมูกระทะ เราก็เอ๊ะนะ  มีความน่าสนใจหลายเรื่องเป็นประเด็นความท้าทายในระดับชาติก็เป็นความท้าทายที่จะนำมาเฝ้าระวังในพื้นที่ด้วยทำเป็นโมเดลเล็กๆ พื้นที่เล็กๆ อาจจะต้องสอดคล้องกันไปด้วย  ส่วนประเด็นในพื้นที่หลายเรื่องก็มีความเฉพาะได้แต่ต้องดูว่าผู้บริโภคมีปัญหาเรื่องนี้มากแค่ไหน เช่น ยาสมุนไพรที่ผลิตในพื้นที่หลายเรื่องมีความท้าทายที่จะเข้าไปจัดการอย่างเป็นระบบ    สิ่งที่อยากฝาก          เรื่องความปลอดภัยในอาหารเป็นเรื่องสำคัญมากและประเด็นงานคุ้มครองผู้บริโภคหลายเรื่องมากๆ ก็มีความท้าทาย ขณะที่หน่วยงานรัฐที่บทบาทในการกำกับดูแลไม่มีกำลังเพียงพอที่จะทำ อย่างเรื่องอาหารเรามีตลาดจำนวนมากเขาไม่สามารถทำได้จริง แต่การทำงานด้วยกันเฝ้าระวังด้วยกัน เราภาคประชาชนมีความพร้อมในการเฝ้าระวัง  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ/ จังหวัด ท่านมีอำนาจอยู่ก็ใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ ในบริบทของตัวเองหรือบางหน่วยงานมีความรู้ทางวิชาการเราก็มาช่วยกัน เรามีคน เขามีวิชาการเขามีกฎหมาย ถ้าเราช่วยกันทุกฝ่ายทั้งระบบจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด (ตอน 3)

จากตอนที่แล้ว เราเห็นๆ กันอยู่ คือเมื่อไฟฟ้าดับ ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ต่างออกหน้ามาให้ข่าวกันอย่างครึกโครม จนเราลืมไปเลยว่ายังมีอีกองค์กรหนึ่ง ที่มีหน้าที่กำกับดูแลประเด็นนี้โดยตรงคือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แห่งชาติ(กกพ.) หรือ 7 อรหันต์(ที่มีเงินเดือนสูงส่ง แต่กลับมีบทบาทเรื่องนี้น้อยมากจนน่าใจหาย เพราะไม่เห็นตัวตนของท่านเลย) คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 10 จึงได้ทำข้อเสนอมาตรการแก้ไขและปรับปรุงการให้บริการพลังงาน ตามมาตรา 99 แห่ง พระราชบัญญัติ ประกอบกิจการพลังงาน 2550 ดังนี้1. ขอให้ กฟผ. แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายร้ายแรงในครั้งนี้ โดยเสนอให้ กกพ. กำหนดมาตรการชดเชยผู้ได้รับความเสียหาย และกำหนดว่าการเสียหายกรณีใด จึงจะได้รับการเยียวยา2. ขอให้กพพ. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายนอกอย่างเร่งด่วน กรณีดังกล่าวโดยการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน รวมถึงการให้ตัวแทนผู้ใช้พลังงานในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมในกรณีดังกล่าว มิใช่รอให้ กฟผ.มารายงานฝ่ายเดียว3. ขอให้ กกพ. กำหนดมาตรการ บังคับให้ กฟผ.มีแผนฉุกเฉินรองรับกรณีไฟฟ้าในระดับ และกฟผ.ต้องแจ้งเดือนประชาชน กรณีมีการซ่อมบำรุงที่สุ่มเสี่ยงต่อการที่จะก่อให้เกิดไฟฟ้าดับในวงกว้างให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน 4. ขอให้ กกพ. มีนโยบายในการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถ นำวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ มาผลิตเป็นพลังงานทางเลือกใช้เอง ลดการพึ่งพาแหล่งผลิตขนาดใหญ่ ป้องกันเหตุไฟฟ้าดับในวงกว้างได้อย่างยั่งยืน โดยแต่ละพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในพื้นที่ และเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริงให้กับประเทศไทย5. ขอให้ กกพ.ออกมาตรการให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดทำแผนพลังงานระดับจังหวัดได้ เพื่อเป็นการกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัด มีส่วนร่วมกำหนดแผนพลังงานให้เหมาะสมกับพื้นที่ ลดการผูกขาดอำนาจจากส่วนกลาง6. ขอให้ กกพ.มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ในการกระจายกองทุนอนุรักษ์พลังงานไปในระดับจังหวัด เพื่อหนุนเสริมแผนพลังงานจังหวัดนี่คือข้อเสนอที่เราคาดหวังว่าจะได้เห็นพัฒนาการของการบริหารจัดการ ด้านพลังงาน ที่จะสร้าง ความเป็นธรรม ให้กับผู้บริโภคไฟฟ้า แต่คงไม่ใช่เสนอแล้วก็จบไป คงต้องร่วมกันติดตามและผลักดันกันต่อไป ด้วยความหวัง ด้วยพลังของผู้บริโภค .......  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด (ตอน 2)

เรื่องไฟฟ้าดับตอนที่แล้ว เขียนถึงข้อสงสัยกรณีไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้  ตอนนี้เรามีข้อมูลจากผู้ปฏิบัติการจริงในพื้นที่ มาตอบข้อสงสัยกัน(ไม่รู้ว่าจะใช่คำตอบที่แท้จริงหรือไม่) เรื่องนี้เกิดขึ้นโดยผู้เขียนใช้ฐานะ ประธานคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานเขต 10 ราชบุรี  (มีพื้นที่ดูแล 6 จังหวัด)เชิญผู้อำนวยการกองควบคุมและบำรุงรักษา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 เพชรบุรี (ภาคใต้)  เข้าชี้แจงสาเหตุการเกิดไฟฟ้าดับ   ซึ่งมีคำชี้แจงว่า1.การเกิดไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้และภาคกลางบางส่วน เมื่อวันที่        21 พฤษภาคม  2556  เหตุเกิดจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) มีการปิดซ่อมสายส่งขนาด 500 KV สายส่งจาก อำเภอ       จอมบึง-อำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์   ระหว่างเวลา 08.00 น. – 17.00 น. ในพื้นที่ อำเภอบ้านลาดจังหวัดเพชรบุรี   มีกำหนดการนำสายส่งกลับเข้าระบบเพื่อจ่ายไฟในเวลา  18.00 น.  แต่ปรากฏว่าการซ่อมบำรุงล่าช้ากว่ากำหนดเวลา 20.00 น.ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556  เกิดเหตุฟ้าผ่าสายส่งเส้นสำรองทำให้เกิดการชำรุดและไฟฟ้าดับ โดยไฟฟ้าฝ่ายผลิตนำสายส่งที่ซ่อมบำรุงเข้ามาติดตั้งได้เวลา 02.00 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม 2556 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายวงกว้าง(แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  กลับออกมาคนละทาง  กับข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่    ดังที่เราได้เห็นข้อมูลที่ รมต.พลังงาน  ออกมา ให้ข่าวสรุปผลการสอบ  ว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของระบบ) 2. กรณีภาคใต้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่หลายโรง และมีปริมาณการผลิตจำนวนมาก  แต่ทำไมไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งได้   สาเหตุเป็นเพราะระบบการส่งกระแสไฟฟ้ามีการคำนวณโดยใช้สูตร N- 1  สรุปได้ว่า เมื่อกระแสไฟฟ้าจากส่วนกลางถูกตัดขาด  เทคโนโลยีของแต่ละโรงไฟฟ้าคำนวณได้ว่าหากส่งกระแสไฟเข้าสายส่งจะเกิดความเสียหายต่อระบบผลิต  ก็จะตัดการส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งแบบอัตโนมัติ  เป็นเหตุให้ในพื้นที่ภาคใต้ไฟฟ้าดับเต็มพื้นที่ คำถามสำคัญคือ  แนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มในภาคใต้ สามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือ? เพราะประสบการณ์ผ่านมาทำให้เราเห็นได้ว่า    นโยบายที่ทำให้ระบบการการส่งกระแสไฟผูกติดกับส่วนกลาง ส่งผลให้พื้นที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ปัญหามันอยู่ที่แนวคิดและนโยบาย ที่ใช้อำนาจผูกขาดการตัดสินใจไว้เพียงในส่วนกลางเท่านั้น  ที่สำคัญคือ เราบอกว่าประเทศไทยปรกครองในระบบประชาธิปไตย  การบริหารหลายส่วน มีการกระจายอำนาจลงพื้นที่  แต่ที่ส่วนกลางกอดติดไม่ยอมกระจายอำนาจ คือ  “พลังงาน” เพราะอะไร? แหม...ข้อมูลกำลังเข้มข้นเลย  หมดเนื้อที่ซะแล้ว ......โปรดติดตามตอนต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 ไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด

หลายท่านคงยังจำเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้ง 14  จังหวัดในภาคใต้ได้ดี  และหลายคนคงจะยังงงๆ  เหมือนผู้เขียนที่ว่ามันเกิดขึ้นได้ไง?  ก็เลยตามข่าวสารมาเล่าสู่กันฟัง   การเกิดเหตุไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้   วันที่  21  พฤษภาคม 2556   ความเข้าใจตามข่าวคือ ดับ 14 จังหวัด แต่เรื่องจริงคือ ดับ 16 จังหวัด เพราะนอกจาก ชุมพร  ระนอง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต กระบี่ สตูล สงขลา   สุราษฎร์ธานี ตรัง และยะลา  แล้วยังมีเพชรบุรีบางส่วน(ตั้งแต่อำเภอบ้านลาดลงไป) และประจวบคีรีขันธ์ทั้งจังหวัดด้วยโอ้โฮ!  มันกว้างขวางใหญ่โตมากนะ ความเดือดร้อนเสียหายจากไฟฟ้าดับงวดนี้   ตามมาด้วยเสียงโหยหวน ของ รมต.พลังงาน และผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต  มันเกิดจากเหตุสุดวิสัย  ฟ้ามันผ่า ไม่มีใครผิด   ก็ยิ่งกระตุ้นต่อมสงสัยให้ขยายกว้างมากขึ้นดังนี้1.ในพื้นที่ภาคใต้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่หลายโรง และมีปริมาณการผลิตจำนวนมาก ทั้งโรงไฟฟ้าขนอม ผลิตได้ 824 เมกกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากระบี่ ผลิตได้ 340 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ารัชประภา ผลิตได้       240  เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบางลาง  ผลิตได้ 73.3  เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากลัฟยะลากรีน ผลิตได้ 20.2 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจะนะ ผลิตได้  731 เมกะวัตต์  เป็นต้น แต่ทำไมเมื่อเกิดเหตุที่จอมบึงไฟฟ้าในพื้นที่ถึงใช้สำรองไม่ได้  มีการบริหารจัดการอย่างไรจึง ปล่อยให้ให้เกิดความเสียหายร้ายแรงเช่นนี้2. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีแผนการซ่อมบำรุงล่วงหน้า แต่ทำไมไม่มีการแจ้งเตือน ไม่มีการเตรียมแผนฉุกเฉินในการรองรับปัญหาในกรณีเกิดไฟฟ้าไม่พอใช้หรือไฟฟ้าดับ  ทั้งนี้จากประสบการณ์ทั้งกรณีไฟฟ้าดับที่จังหวัดภูเก็ต หรือกรณีการหยุดจ่ายก๊าซจากประเทศพม่า  และกรณีไฟฟ้าดับที่เกิดขึ้นที่ เกาะสมุย  น่าจะเป็นบทเรียนที่ชัดเจนสำหรับการเตรียมพร้อม  มิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย แต่กลับปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้พลังงานในวงกว้าง 3. เหตุที่เกิดขึ้น เกิดจากนโยบายการบริหารพลังงานที่ผิดพลาดหรือไม่? การที่บริหารแบบรวมศูนย์อำนาจการสั่งการและการผลิตไว้ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไว้ในส่วนกลาง  สร้างความมั่นคงในด้านพลังงานได้จริงหรือ?  เพราะทันทีที่ไฟฟ้าดับ  ก็มีผู้มีอำนาจออกมาส่งเสียงว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม ทั้งที่หากเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินวันนี้อย่างเร็วต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4 ปี จึงจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้  ดังนั้นการมีเป้าหมาย ในการผลิตไฟฟ้าไว้ที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่  สามารถทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าได้จริงหรือไม่?4. การที่ปล่อยให้มีการผูกขาดแผนขาดแผนพลังงานไว้เพียงในส่วนกลาง  ส่งผลให้เมื่อเกิดไฟฟ้าดับ เป็นสาเหตุให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในพื้นที่ท่านผู้อ่านล่ะสงสัยเหมือนเรามั้ย?  หากสงสัยโปรดติดตามตอนต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 ไฟใต้ดับ เหตุสุดวิสัยหรือไร้ประสิทธิภาพ

ไฟฟ้าดับเมื่อค่ำคืนของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ถือเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะเป็นปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคใต้ ครบถ้วนทั้ง 14 จังหวัดในค่ำคืนนั้นประชาชนที่อยู่อาศัยทางภาคใต้ต้องตระหนกอกสั่นกันถ้วนทั่ว โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อยู่ในสี่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อพบว่าเมืองทั้งเมืองตกอยู่ในความมืดมิดโดยไม่มีใครรู้ถึงสาเหตุ หลายคนคิดเลิยเถิดว่าเป็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ของผู้ไม่หวังดีเลยทีเดียววันรุ่งขึ้น 22 พฤษภาคม 2556 นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดเผยเป็นทางการว่า เมื่อเวลา 18.52 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เกิดปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้อง ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ได้ผู้ว่าการ กฟผ. ได้ขยายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 เส้น คือ สายส่ง 500 KV จำนวน 2 เส้น และสายส่ง 230 KV จำนวน 2 เส้น โดยในช่วงเช้าเวลา 08.00 น. ของวันเกิดเหตุ กฟผ. ได้ปลดสายส่ง 500KV จำนวน 1 เส้น เพื่อทำการซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ในเวลา 17.26 น. สายส่ง 500 KV เส้นที่ 2 เกิดการชำรุดคาดว่าเกิดเนื่องจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าลงภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 KV ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำให้สายส่งจ่ายไฟฟ้าเกินกำลังส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ ประกอบกับจากการที่ภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอและต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งดังกล่าว โดยความต้องการใช้ไฟฟ้า ณ วันที่ 21 พ.ค. 2556 มีสูงถึง 2,200 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าภาคใต้เดินเครื่องอยู่ 1,600 เมกะวัตต์ ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้ อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าเขื่อนรัชชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติเนื่องจากความถี่ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน 50 Hz (เฮิร์ต) เพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้ากฟผ. ได้เร่งแก้ไขสถานการณ์  ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทุกโรงในภาคใต้อย่างเต็มกำลังการผลิต รวมทั้งยังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลที่ จ.สุราษฎร์ธานี และทางมาเลเซียได้ส่งไฟมาช่วยอีก 200 เมกะวัตต์ ทำให้สามารถจ่ายไฟให้ประชาชนได้ทั้งหมดเมื่อเวลา 23.00 น.ต่อมากระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ซึ่งได้มีผลสรุปออกมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 โดยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของ กฟผ. เนื่องจากเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าได้พยายามควบคุมการจ่ายไฟตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ทุกขั้นตอนแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ สำหรับสาเหตุสรุปได้ 3 ประเด็น คือ 1.สายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 2 ถูกปลดเพื่อบำรุงรักษาฉุกเฉิน (Unplanned) 2. เกิดฟ้าผ่าบนสายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 1 และ 3. ระบบ HVDC ที่ กฟผ. รับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเกิดขัดข้องทำให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ถูกแยกออกจากระบบไฟฟ้าหลักของประเทศ หลังจากนั้นก็เกิดไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่สั้นมาก คือประมาณ 5.2 วินาทีทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ กฟผ. เริ่มทยอยนำสายส่งเชื่อมโยงระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ ทั้งระบบ 500 เควี และ 230 เควี เข้าใช้งานตามลำดับ เพื่อใช้ในการเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า สามารถเริ่มจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีไฟฟ้าแรงสูงหลังสวน จังหวัดชุมพรเป็นแห่งแรก ตั้งแต่เวลา 19.05 น. และสามารถทยอยจ่ายไฟฟ้าครบทุกสถานีไฟฟ้าแรงสูงในภาคใต้ของ กฟผ. ในเวลา 20.12 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ในทุกขั้นตอนขณะที่นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า การเกิดไฟฟ้าดับที่ภาคใต้ที่ผ่านมาถือเป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้นจึงไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบ ส่วนความเสียหายที่เกิดจากการซื้อไฟฟ้าของมาเลเซียมาชดเชยชั่วคราว 380 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงิน 13 ล้านบาทนั้น ต้องกลายเป็นภาระที่ประชาชนต้องแบกรับแทน โดยจะมาเกลี่ยเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดถัดไป (ก.ย.-ธ.ค.2556) ซึ่งคิดเป็นค่าเอฟทีที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มไม่ถึง 1 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม เรกูเลเตอร์ยังเหลือเงินค่าปรับที่เรียกเก็บจากหลายส่วนในหลายกรณีอีกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาเกลี่ยเป็นค่าเอฟทีของประชาชนในงวดหน้าทั้งหมด จบข่าว. ข้อค้นพบและข้อสังเกตแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงพลังงานจะมีผลสรุปว่าเป็นเหตุสุดวิสัย (สื่อบางสำนักบอกว่า เป็นผลสรุปที่เป็นไปตามคาด) แต่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อค้นพบและข้อสังเกตว่าปัญหาไฟฟ้าภาคใต้ดับทั่วทั้งภาคอาจไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่จะเป็นความบกพร่องในการบริหารจัดการในการผลิตและการส่งไฟฟ้าหรือไม่นั้น ชวนมาร่วมพิจารณากัน สถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้า...ยืนยันว่า กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาค ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้รวบรวมข้อมูลกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของภาคใต้ ทั้งจากเว็บไซต์ของ กฟผ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงงาน และการยืนยันข้อมูลจาก อ.เดชรัต  สุขกำเนิด นักวิชาการที่ติดตามด้านกิจการไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด พบว่า กำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้มีทั้งหมด 2,494 เมกะวัตต์  ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกำลังไฟฟ้าจากสายส่งภาคกลาง 600 เมกะวัตต์ และจากมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงขึ้น โดยเมื่อรวมกันแล้วจะมีกำลังไฟฟ้าสำรองทั้งหมด 3,394 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ที่ 2,424 เมกะวัตต์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556  เมื่อเวลา 19.30 น.2. แม้ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้จะมีปริมาณที่เพียงพอต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2556 ตามที่กล่าวมา แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวเลขและต้นทุนที่ประชาชนจ่ายผ่านค่าไฟฟ้าฐาน เพราะจากการรายงานของส่วนประชาสัมพันธ์ กฟผ. ผ่านเฟสบุ๊ค GG News และเอกสารประกอบการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของ กฟผ. ได้ให้รายละเอียดถึงโรงไฟฟ้าที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและซ่อมฉุกเฉิน รวมถึงปัญหาของสายส่งไฟฟ้าจากมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าลดลงไปอย่างมากจนอยู่สถานะที่ไม่มั่นคง โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับโรงไฟฟ้าในภาคใต้มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือมีกำลังผลิตพร้อมจ่ายเพียง 1,662.2 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 67 ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดของภาคใต้ และเมื่อมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวันของภาคใต้ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,200 – 2,400 เมกะวัตต์ กฟผ. แก้ปัญหาด้วยการรับไฟฟ้าจากภาคกลางและจากมาเลเซียมาเสริม โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับได้รับไฟฟ้าจากภาคกลาง 430 เมกะวัตต์ และรับจากมาเลเซียเพียง 30 เมกะวัตต์  รายละเอียดของโรงไฟฟ้าภาคใต้ที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและนอกแผน รวมทั้งปัญหาระบบสายส่งจากมาเลเซีย มีดังนี้ 2.1            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซขนอม จ.นครศรีธรรมราช ปลดเครื่องบางส่วนออกจากระบบเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. - 13 มิ.ย. 56 กำลังไฟฟ้าที่ผลิตไม่ได้ 100 เมกะวัตต์ 2.2            โรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ ปลดเครื่องออกจากระบบเพื่อทำการบำรุงรักษาตามแผน ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. - 25 พ.ค. 56 กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 340 เมกะวัตต์ 2.3            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซสุราษฎร์ฯ ได้ปลดเครื่องออกจากระบบส่วนหนึ่ง เพื่อทำการบำรุงรักษาฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 56 เป็นต้นมา (ก่อนเกิดเหตุไฟดับเพียง 2 วัน)ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไปราว 100 เมกะวัตต์ 2.4            โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา  จำนวน 1 หน่วยจาก 3 หน่วย ไม่พร้อมเดินเครื่อง ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 56 ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 24 เมกะวัตต์ 2.5            การรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียผ่าน HVDC 300 เมกะวัต์และ HVAC 85 เมกะวัตต์ ไม่ได้รับเต็มที่ 385 MW ตามที่ทำสัญญาฯ โดยรับ-ส่งเพียงพลังไฟฟ้าขั้นต่ำคือ HVDC 30 MW เท่านั้นต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว GG News ให้ข้อมูลว่าอาจเกิดจาก TNB หรือการไฟฟ้ามาเลเซีย แจ้ง Shortfall (กำลังผลิตไฟฟ้าพร้อมจ่ายไม่พอ) หรือไม่พร้อมขายให้ไทย… 2.6            รายงานของ กฟผ. และกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กเพียงแค่ 20.2 เมกะวัตต์เท่านั้น  โดยไม่ให้รายละเอียดว่า เหตุใดจึงไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มีกำลังผลิตรวมกันกว่า 128 เมกะวัตต์ เข้ามาใส่ระบบไฟฟ้าของภาคใต้3. เมื่อสถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ขาดความมั่นคง โดยสาเหตุหลักใหญ่มาจากมีโรงไฟฟ้าหยุดซ่อมเป็นจำนวนมาก ตามที่กล่าวมาในข้อ 2 ดังนั้น การถ่ายเทไฟฟ้าจากภาคกลางลงสู่ภาคใต้โดยอาศัยสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้มีความมั่นคง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ทำการปรับปรุงระบบสายส่งจาก 115 กิโลโวลต์เป็น 230 กิโลโวลต์ และเพิ่มสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) เข้ามาอีก 2 เส้น เพื่อให้สามารถถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าภาคกลาง-ภาคใต้ได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการใช้  ดังนั้น การปลดและซ่อมสายส่งที่ลงสู่ภาคใต้ขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) จำนวน 1 เส้น ในช่วงเช้าเวลา 08.00 น.ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 โดยปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งเส้นใหญ่ที่เหลืออยู่โดยไม่มีมาตรการหรือแผนรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินทั้งโดยมนุษย์หรือธรรมชาติ นับว่าเป็นการปฏิบัติการที่ประมาทเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังนี้ 3.1            เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเคยมีการเผาหรือวางระเบิดระบบสายส่งเกิดเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง 3.2            เคยมีประวัติเกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า ในปี 2555 เกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้า ทำให้เกิดไฟฟ้าดับด้วยสาเหตุต่างๆ ที่เป็น Forced Outage (สายส่งหลุดออกจากระบบ) รวม 73 ครั้ง โดยเป็นเหตุขัดข้องจากสายส่ง 14 ครั้ง 3.3            ที่ภาคใต้มีประวัติเคยเกิดเหตุการณ์ไฟดับใหญ่มาแล้ว จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 เวลา 15.56 น. เกิดเหตุการณ์ Partial Blackout (ไฟดับทั่วทั้งจังหวัดหรือทั้งภาค) ที่ภาคใต้ตอนล่างรวม 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล รวมมีไฟดับทั้งหมด 641.4 เมกะวัตต์ นานที่สุด 26 นาที 3.4            แม้จะมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์เหลืออยู่ 1 เส้น และมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์เป็นตัวช่วย แต่สายส่งไฟฟ้าเส้นรองลงมานี้สามารถรับกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 400 เมกะวัตต์เท่านั้น จึงอาจมีปัญหาแรงดันที่แตกต่างกันได้ อีกทั้งไฟฟ้าที่ป้อนสู่ภาคใต้ในวันที่เกิดเหตุก็สูงกว่าคืออยู่ที่ 430-470 เมกะวัตต์4. เมื่อจะมีการซ่อมสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ภาคกลางและอาจทำให้ต้องลดกำลังส่งไฟฟ้าลงมาเพื่อความปลอดภัยของระบบสายส่งไฟฟ้า เหตุใด กฟผ. จึงไม่มีการเตรียมการรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น กลับยังคงใช้ไฟฟ้าจากมาเลเซียเพียงแค่ 30 เมกะวัตต์ นับเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เรื่องนี้การชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องยังไม่กระจ่าง  จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับการไฟฟ้ามาเลเซีย (Tenaga Nasional Berhad : TNB) ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าผ่านจุดเชื่อมโยงไฟฟ้า 2 จุดด้วยกัน 4.1            ระบบส่งเชื่อมโยง HVAC จำนวน 85 เมกะวัตต์ เป็นการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายตกลงทำข้อเสนอราคาขายไฟฟ้าล่วงหน้าเดือนต่อเดือนที่ 3 ระดับราคา คือ Price A (ราคาต่ำ) Price B (ราคาปานกลาง) และ Price C (ราคาสูง) ในช่วงที่เกิดเหตุ กฟผ. ไม่ได้ใช้จาก HVAC เลย 4.2            ระบบเชื่อมโยง HVDC ปริมาณซื้อขายสูงสุด 300 เมกะวัตต์ โดยเป็นการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm ในลักษณะ Bulk Energy โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าคิดเป็น Tier ในปริมาณ Tier ละ 25-30 ล้านหน่วย โดยจะมีราคาลดหลั่นลงตามลำดับ ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณมากมีราคาเฉลี่ยถูกลง แต่ปัจจุบันรวมถึงตอนที่จะปลดสายส่งเพื่อซ่อมบำรุงในวันที่เกิดเหตุ กฟผ. กลับรับซื้อเพียง 30 เมกะวัตต์เท่านั้น และเมื่อเกิดไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาค กฟผ. ต้องย้อนกลับไปขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียอย่างฉุกเฉินทำให้ถูกคิดค่าไฟที่ราคาแพงมาก (บางแหล่งข่าวบอกว่าสูงถึง 16 บาท/หน่วย)   บทสรุปแม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะมีบทสรุปออกมาเรียบร้อยแล้วว่า เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯหรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในฐานะเรกูเลเตอร์ แต่ข้อค้นพบและข้อสังเกตที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่าบทสรุปดังกล่าว ไม่มีการกล่าวถึง ความบกพร่องในการซ่อมระบบสายส่งไฟฟ้าเส้นหลักภาคกลาง-ภาคใต้ ที่ไม่มีมาตรการรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างใดอย่างหนึ่งจากมนุษย์หรือจากธรรมชาติเลย  อีกทั้งยังชี้ให้เห็นจุดโหว่ในการจัดการปัญหาไฟฟ้าดับทั้งภาคหรือทั้งประเทศอย่างเด่นชัด ว่ายังมีความบกพร่องอยู่มากและห่างไกลจากการกล่าวอ้างในโฆษณาประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมาก  ปัญหาเหล่านี้หากไม่มีการตรวจสอบแก้ไขกันอย่างจริงจังและจริงใจ แล้วพยายามไปแก้ไขด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นที่ภาคใต้ แม้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเหลือแต่หากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคหรือทั้งประเทศก็อาจเกิดขึ้นอีกได้ไม่ยากเย็นนัก  

อ่านเพิ่มเติม >