ฉบับที่ 224 ลดโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

        เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักกับคำว่าภาวะโลกร้อน ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนนั้นมีหลายอย่าง เช่น ธารน้ำแข็งละลายทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ ความเสี่ยงที่จะเกิดสภาพอากาศรุนแรง เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และอุณหภูมิทั่วโลกที่กำลังสูงขึ้น         และการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศของทั่วโลกก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างที่เป็นอยู่         จากการรายงานข่าวเมื่อสิ้นปี 2561 ที่ระบุว่าทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่า 37,100 ล้านตัน ซึ่งถือว่ามีปริมาณมากที่สุดตั้งแต่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมา และจากข้อมูลจาก Greenpeace เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 รายงานว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมปีนี้สูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบอุณหภูมิเฉลี่ยในต้นศตวรรษที่ 19         จะเห็นได้ว่าระบบนิเวศบนโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ทุกประเทศทั่วโลกจึงต้องกระตือรือร้นและพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของมนุษย์ในขณะนี้         สำนักพัฒนาธุรกิจ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า CF Calculator ที่มีคุณสมบัติในการช่วยคำนวณข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หมายถึง ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก) โดยผู้ที่ใช้แอปพลิเคชันนี้จะสามารถทราบถึงปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมประจำวัน และจะทำให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเรียนรู้ในการเปลี่ยนรูปแบบการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ และเปลี่ยนวิธีการบริโภค เพื่อช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนได้         ภายในแอปพลิเคชันจะให้ระบุพลังงานที่ใช้ในบ้านตั้งแต่ปริมาณของผู้อยู่อาศัยในบ้าน จำนวนหลอดไฟทุกชนิด จำนวนเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้าน รวมถึงพลังงานที่ใช้ในการเดินทางในชีวิตประจำวันและสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละปี โดยจะให้ระบุระยะทางไปกลับและชนิดของรถที่โดยสาร และยังให้ระบุการบริโภคอาหารในแต่ละมื้ออีกด้วยหลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะคำนวณข้อมูลออกมาว่าผู้ใช้แอปพลิเคชันมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาในปริมาณเท่าไร และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร เพื่อให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดน้อยลง         ที่น่าสนใจมากกว่านี้ก็คือ ถ้าประชาชนคนใดต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีสัญลักษณ์ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ ฉลากลดโลกร้อน (มีลักษณะเป็นตัว C ตัวใหญ่และเลข 2) ทดแทนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่ได้ใส่ใจต่อการเกิดภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน         ทั้งนี้ขณะนี้ทั่วโลกกำลังพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศแล้วหันมาใช้พลังงานสะอาดและมีความยั่งยืน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น เข้ามาแทนที่ ที่ในทุกด้าน แม้ว่าประชาชนอย่างเราจะเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ แต่ก็สามารถช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งถือว่าได้มีส่วนช่วยให้บรรยากาศของโลกดีขึ้นได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 สีทาผนังกันความร้อน

        ภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยซึ่งอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตร ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน และรุนแรง ช่วงเดือนเมษายน หน้าร้อน อุณหภูมิ อาจสูงถึง 45 องศาเลยทีเดียว ภาวะโลกร้อนดังกล่าวทำให้ชั้นบรรยากาศบางลง ทำให้สกัดกั้นรังสีความร้อนที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์ได้น้อย        ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้น การลดอุณหภูมิสะสมในตัวบ้าน อาคาร ให้ได้มากที่สุดมีความจำเป็นมากเพื่อลดพลังงานที่ใช้สำหรับเครื่องปรับอากาศ นอกจากจะประหยัดพลังงานแล้วยังลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย        หลังคาจะเป็นส่วนที่รับความร้อนหลัก หากลดความร้อนสะสมใต้หลังคาแล้วด้วยแผ่นสะท้อนรังสีความร้อน ฉนวนบนฝ้าเพดานแล้ว ผนังบ้าน อาคาร จะเป็นส่วนที่รับความร้อนรองลงมา สีทาผนังประเภทที่มีความสามารถสะท้อนความร้อนได้จึงมีความจำเป็นที่จะซื้อหามาใช้งาน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีให้เลือกมากมายหลายระดับราคา บางยี่ห้อมีฉลากเบอร์ 5 การันตีประสิทธิภาพด้วย        ฉลาดซื้อจะเลือกนำเอาสีทาผนังอาคาร ที่มีความสามารถสะท้อนรังสีความร้อนได้ โดยสอบถามร้านค้าที่เป็นที่นิยม สามแห่ง ได้แก่ โฮมโปร บุญถาวร และไทวัสดุ ซึ่งพนักงานได้แนะนำสีที่มีความสามารถดังกล่าว และเป็นที่นิยม ได้มา 6 ยี่ห้อ โดยเลือกสีเป็นแบบกึ่งเงาสีขาว Base A ได้แก่ 1.TOA รุ่น SuperShield Advance2.Captain รุ่น ParaShield Cool max 3.Beger รุ่น BegerCool Diamond Shield4.Jotun รุ่น JOTASHIELD5.Dulux รุ่น Weathershield6.Nippon paint รุ่น WEATHERBOND flex         เบื้องต้น วิเคราะห์ข้อมูลจากฉลากพบว่า มาตรฐานอุตสาหกรรม ที่ตัวอย่างสีได้รับการรับรองจะมีอยู่สองหมายเลข ได้แก่             1.มอก.2321-2549 (สีอิมัลชันทนสภาวะอากาศ) พบทุกยี่ห้อ            2.มอก.2514-2553 (สีอิมัลชันลดความร้อนจากแสงอาทิตย์) พบบางยี่ห้อ         นอกเหนือจากมาตรฐานอุตสาหกรรมที่กล่าวมายังมีสัญลักษณ์ที่รับรอง แสดงบนฉลากอีกหลายอย่างโดยสรุปเป็นตารางได้ดังนี้ แนวทางการทดสอบ        เนื่องจาก ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยห้องปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ เป็นหน่วยงานที่ทดสอบสีตามมาตรฐาน มอก.2321-2549 และ มอก.2514-2553 จึงขอความอนุเคราะห์ส่งทดสอบตัวอย่างสีที่เตรียมไว้ ในบางรายการที่เกี่ยวข้องได้แก่             -   กำลังซ่อนแสง เป็นการทดสอบความสามารถในการทาปิดทับ โดยปรับความหนืดของสีที่เตรียมไว้ให้เท่ากัน แล้วเคลือบฟิล์มสีตัวอย่างบนแผ่นทดสอบขณะเปียกที่ความหนา 100 ไมโครเมตร             -  การสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ (solar radiation reflectance)  ทดสอบตาม JIS R 3106 เตรียมตัวอย่างโดยเคลือบสีตัวอย่างบนกระจกให้มีความหนาขณะแห้ง 300 ไมโครเมตร  การทดสอบความร้อนสะสม และ การผ่านของ แสง/ รังสีความร้อน         ทดสอบโดยใช้ตู้ทดสอบ โดยเตรียมตัวอย่างด้วยการทาสีตัวอย่างด้วยแปรงทาสี 2 ชั้น เว้นระยะเวลาแต่ละชั้นห่างกัน 1 ชม. บนกระจก ขนาด  30x30 ซม. ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทหนึ่งสัปดาห์ โดยยึดแนวคิดตามหลักปฏิบัติของช่างทาสีโดยทั่วไป หลังจากที่ตัวอย่างที่เตรียมไว้แห้งสนิทดีแล้ว นำไปวางบนตู้ทดสอบที่เตรียมไว้ ใช้หลอดฮาโลเจน และหลอดกำเนิดแสงยูวี เป็นแหล่งกำเนิดความร้อน เหนือกระจกที่ทาสีตัวอย่างไว้ แล้ววัดอุณหภูมิภายนอก และภายในตู้ทดสอบ โดยเริ่มจาก แผ่นกระจกเปล่าที่ไม่มีการทาสี เพื่อเป็นตัวควบคุมเปรียบเทียบ ผลของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เกิดขึ้น กระจกที่ทาสีตัวอย่าง นอกจากการวัดค่าอุณหภูมิแล้ว ยังวัดผลของสเปคตรัมของแสง/ รังสีความร้อน ที่ทะลุผ่านกระจกมาด้วย          ค่าอุณหภูมิแตกต่างที่ใช้ชี้วัดประสิทธิภาพของสีตัวอย่างนั้น ใช้วิธีการดูความสามารถต้านทานการแผ่รังสีความร้อน โดยวัดอุณหภูมิภายในตู้ทดสอบ ณ เวลาเดียวกัน โดยเวลาที่กำหนด จะใช้เวลาที่ได้จากการทดสอบด้วยกระจกใสแล้วทำให้ค่าอุณหภูมิภายในและภายนอกมีค่าเท่ากัน ซึ่งจะอยู่ที่นาทีที่ 8 (ทดสอบที่อุณหภูมิเริ่มต้น 24.5˚C) ตามภาพที่ 3          สำหรับเวลานาทีที่ 8 นั้นอุณหภูมิที่วัดได้จะอยู่ที่ 47.3 ˚C และเมื่อทำการทดสอบที่กระจกทาสีตัวอย่าง หากที่เวลานาทีที่ 8 ตัวอย่างสีใดที่ได้ค่าอุณหภูมิต่ำที่สุด ย่อมมีประสิทธิภาพต้านทานรังสีความร้อนดี         ผลของสเปคตรัมแสง ความร้อน ที่ผ่านกระจกทดสอบเข้ามา จะแบ่งเป็น UV แสงช่วงที่มองเห็น (visible) และ รังสีความร้อน (infrared) ผลที่ได้เป็นดังนี้  ผลการทดสอบ        หลังจากทดสอบทั้ง 3 วิธีแล้ว โดยได้จากการทดลอง ผลของความร้อนสะสม แสง/ รังสีที่ส่องผ่าน และผลทดสอบจาก ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา ได้แก่ กำลังซ่อนแสง และ ค่า % สะท้อนรังสีความร้อน เป็นดังนี้ตารางที่ 2 ผลการทดสอบบทสรุป        จากตัวอย่างสีทั้งหมดลักษณะของเนื้อสี ความเข้มข้น ค่อนข้างใกล้เคียงกัน มีความสามารถในการทาปิดทับได้ดี ทาง่ายพื้นผิวสีที่ได้หลังจากทาด้วยแปรงสองครั้ง เรียบเนียนสวยงาม ผลของกำลังซ่อนแสง จะแสดงผลของการทาปิดทับที่ดี การทดสอบเนื้อสีจะถูกปรับความเข้มข้นให้เท่ากัน หากสีที่ได้รับมาตรฐาน มอก. 2321–2549 จะมีค่าของกำลังซ่อนแสงจะต้องไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ซึ่ง ทุกสีตัวอย่างมีค่าของ กำลังซ่อนแสง มากกว่าร้อยละ 80  โดยค่าสูงสุดคือ Nippon paint มีค่า 94.53 %        การสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ ตาม มอก.2514-2553 สีตัวอย่างจะต้องมีความสามารถสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ซึ่งสีทุกตัวอย่างมีความสามารถสะท้อนรังสีแสงอาทิตย์ ได้เกือบ 90 % โดยค่าสุงสุดคือ 91.2 % ได้แก่ TOA และ Nippon paint        ผลการทดลองการสะสมความร้อน และ การผ่านของ แสง/ รังสีความร้อน ที่นาที ที่ 8 หลังจากฉาย แสง/ รังสีความร้อน พบว่าสี Nippon paint จะมีค่าความร้อนภายในตู้ทดสอบ น้อยที่สุด ที่ 33.7 ˚C สอดคล้องกับ ผลของแสง/ รังสีความร้อนที่ส่องผ่านเข้ามาต่ำที่สุด        ผลทดสอบเชิงตัวเลขถือว่า สีตัวอย่างทุกยี่ห้อ มีความสามารถที่ลดความร้อนได้ใกล้เคียงกันมาก สามารถทดแทนกันได้ มีความสามารถลดพลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศได้อย่างแน่นอน เลือกใช้ตามความเหมาะสม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point