ฉบับที่ 99 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดน 99 ศศิวรรณ ปริญญาตร เทคโนโลยีใหม่ ขายตรงถึงใจ จิตใจมนุษย์เรานั้นอาจจะไม่ได้ยากแท้หยั่งถึงอีกต่อไป เมื่อนักวิจัยหันมาใช้เทคโนโลยีที่สามารถบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสมองของเราบ้างสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราฟังแล้วต้องหนาวคือ บริษัทผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ๆ และบริษัทผู้ประกอบการอาหารฟาสต์ฟู้ด ได้หันมาซื้อบริการอ่านใจลูกค้าผ่านสมองกันแล้วนักวิจัยอ้างว่าวิธีดังกล่าวได้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือกว่าการทำโฟกัสกรุ๊ปหลายเท่า เพราะโดยมากแล้วคนเราไม่ค่อยรู้ถึงความรู้สึกของตนเอง หรือถึงจะรู้ก็อาจไม่กล้ายอมรับด้วยเหตุผลต่างๆ นานา จากสถิติที่มีการบันทึกไว้ปรากฏว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวในตลาดจะต้องปิดตัวไปภายในระยะเวลาหนึ่งปี ทั้งๆที่สินค้าหรือบริการเหล่านี้ผ่านการทำโฟกัสกรุ๊ปกับผู้บริโภคมาแล้วทั้งสิ้นว่ากันว่าการตัดสินใจของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่เรากระทำไปโดยไม่รู้ตัว คงไม่มีใครคิดว่าคำเตือนที่อยู่บนซองบุหรี่นั้นเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนอยากสูบบุหรี่มากขึ้น แต่นี่คือเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์พบจากการแสกนสมอง ที่พบว่า ความอยากบุหรี่ของคนเราถูกกระตุ้นโดยคำเตือนดังกล่าวเรียกว่าอีกหน่อยอาจจะไม่ต้องมีการสัมภาษณ์ผู้บริโภคกันแล้ว ไม่ว่านักการตลาดจะอยากรู้ว่าเราคิดอย่างไร หรือต้องการอะไร เขาก็จะสามารถสื่อสารกับสมองของเราโดยตรงได้เลย และเทคโนโลยีที่สามารถทำให้มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองเราจากระยะไกลก็มีแล้วด้วย เช่น แทนที่ผู้ประกอบการร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดกำลังค้นหาวิธีที่จะหลอกล่อสมองเราให้คิดไปว่าอาหารของตนนั้นดีต่อสุขภาพ โดยไม่ต้องพัฒนาสูตรอาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้นให้เป็นการเพิ่มต้นทุนแต่อย่างใด เช่นอาจจะเป็นการปล่อยกลิ่นอาหารชนิดหนึ่งออกมาในร้าน ที่ทำให้สมองของเราเกิดความรู้สึกในเชิงบวก เป็นต้น วิทยาศาสตร์กำลังบอกเราว่า สมองของคนเรานั้นยังไม่สามารถวิวัฒนาการมาได้ทันกับความซับซ้อนของระบบการตลาดในปัจจุบันด้วยเช่นกัน หลอดน่ะ ประหยัดไฟ แต่ไม่ประหยัดคน ข่าวดี กลุ่มประเทศยุโรปประกาศว่าจะเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟแบบประหยัดพลังงานทั้งหมดภายในอีก 3 ปีข้างหน้าเพราะมันสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 5 ล้านตัน เอ…แต่ว่า หลอดไฟจำนวนมหาศาลที่จะต้องจัดหามาเพื่องานนี้ จะมาจากที่ไหนได้ล่ะ ถ้าไม่ใช่ประเทศจีน ซึ่งมีทั้งโรงงานแบบที่มีมาตรฐานการผลิตไม่แพ้โรงงานในยุโรปและโรงงานนรกที่เปิดตัวขึ้นมากมายเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจำนวนมากมายดังกล่าวนั้น การผลิตหลอดประหยัดไฟก็ทำให้เกิดผลเสียต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมไม่น้อย เพราะใช้สารปรอทเป็นตัวที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่จะทำให้เกิดแสงสว่างขึ้น ซึ่งเรารู้กันดีว่าเป็นสารที่อันตรายต่อระบบประสาท ปอด และไต แม้แต่ทางยุโรปเองก็เตือนผู้บริโภคว่า ถ้าทำหลอดชนิดนี้แตกเมื่อไหร่ให้รีบออกไปจากห้องดังกล่าวและอย่ากลับเข้ามาก่อน 15 นาทีเป็นอันขาด ก็น่าคิดว่าแล้วคนที่ต้องทำงานอยู่กับมันทั้งวันจะเป็นอย่างไรกันบ้างจากการตรวจสุขภาพคนงานในโรงงานที่ไม่ผ่านมาตรฐานการผลิต พบว่าคนงานเกือบทั้งหมดที่มารับการตรวจร่างกายมีปรอทในร่างกายเกินระดับมาตรฐาน (มีอยู่คนหนึ่งที่มีปรอทในร่างกายเกินไปถึง 150 เท่า) ในกรณีของเมืองอันยาง พบว่า ร้อยละ 35 ของคนงานในเมืองนี้มีอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากสารปรอทและที่สำคัญปรอทจากโรงงานก็ไหลลงสู่แหล่งน้ำของเมืองด้วยปรอทส่วนใหญ่มาจากเหมืองในเมืองกุ้ยโจว ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ที่นี่มีการทำเหมืองปรอทกันอย่างต่อเนื่องมาหลายร้อยปีตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงแล้ว ก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนได้สั่งปิดไปเนื่องจากราคาปรอทในตลาดโลกลดต่ำลง ในขณะที่แม่น้ำ ไร่นาได้รับความเสียหาย และประชากรมีอาการเจ็บป่วยมากขึ้น แต่ด้วยความต้องการอันล้นหลามจากยุโรป เหมืองเหล่านี้จึงถูกเปิดขึ้นมาอีกครั้ง ภาษีช็อกโกแลต ไม่นานมานี้มีคุณหมอและนักโภชนาการชาวสก็อตแลนด์คนหนึ่งออกมาเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีช็อกโกแลต เพื่อที่คนจะได้กินมันให้น้อยลง คุณหมอเดวิด วอล์กเกอร์ บอกว่าขณะนี้ 1 ใน 4 ของคนสก็อตเป็นโรคอ้วน และอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสาเหตุจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากขนมหวานรสช็อกโกแลตที่มีขายอย่างดาษดื่นนั่นเองขนมหวานถุงหนึ่ง (225 กรัม) มีพลังงานสูงถึง 1,200 แคลอรี่ (ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณแคลอรี่ที่เราควรได้รับในแต่ละวัน และเราจะต้องเดินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงจึงจะเผาผลาญมันได้หมด)คุณหมอจึงเสนอให้มีการเก็บภาษีช็อกโกแลตมันเสียเลย แล้วเอาเงินที่ได้มาทำนุบำรุงกิจกรรมกีฬาสร้างเสริมสุขภาพกันดีกว่า แต่ในที่ประชุมนั้นมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวมากกว่า ข้อเสนอนี้จึงตกไปแต่ที่น่าสนใจมากอีกอย่างหนึ่งก็คือสิ่งที่เจ้าของร้านช็อกโกแลตแห่งหนึ่งออกมาคัดค้าน เธอบอกว่าความจริงแล้ว ถ้าเป็นช็อกโกแลตแท้ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องกินเข้าไปมาก พูดง่ายๆ ว่าของแท้นั้นแม้จะกินเพียงเล็กน้อยแต่สามารถให้ความรู้สึกเป็นสุขได้นานกว่า เธอจึงอยากให้ผู้บริโภคได้รับรู้และแยกแยะให้ออกระหว่างช็อกโกแลตจริงๆ กับขนมหวานที่แอบอ้างเรียกตนเองว่า ช็อกโกแลตไปด้วย เพราะอย่างแรกนั้นเป็นสินค้าที่ทำให้เกิดการพัฒนาชุมชน และสร้างรายได้อย่างเป็นธรรมให้กับเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดโกโก้ในประเทศกำลังพัฒนาแต่อาจมีราคาค่อนข้างแพงกว่าเพราะไม่ได้ผลิตโดยโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากๆการคิดภาษี (เพิ่มไปจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้บริโภคจ่ายอยู่แล้ว) จะทำให้ช็อกโกแลตดีๆ ยิ่งมีราคาแพงขึ้นไปอีก ทำให้คนที่รายได้น้อยแต่ใจรักช็อกโกแลตไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ต้องหันไปหาทางเลือกที่ถูกกว่าซึ่งก็คือขนมหวานรสช็อกโกแลตที่ว่าเม็กซิโก ครองตำแหน่งประเทศที่มีประชากรที่เป็นโรคอ้วนมากที่สุดในโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ทั้งๆ ที่มีปริมาณการบริโภคช็อกโกแลตเพียง 500 กรัมต่อคนต่อปี แต่ในขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งมีอันดับประชากรเป็นโรคอ้วนมากเป็นอันดับที่ 28 นั้นมีการบริโภคช็อกโกแลตถึงปีละ 11 กิโลกรัมต่อปีเลยทีเดียว ชุมชนคนไม่ใช้รถประเทศเยอรมนีนั้นเป็นบ้านเกิดของทั้งรถยนต์และถนนคุณภาพ แต่ที่ชุมชน Vauban ในเมือง Freiburg ใกล้กับพรมแดนสวิสและฝรั่งเศสนั้นกำลังเป็นชุมชนนำร่องที่ทดลองการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวชุมชนที่อยู่ห่างตัวเมืองออกมา 4 กิโลเมตรนี้ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2549 ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการวางผังเมืองอย่างฉลาด เพื่อเป็นชุมชนตัวอย่างที่ทำให้ใครๆ ได้เห็นว่าคุณภาพชีวิตแบบคนเมืองนั้นเป็นไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพารถส่วนตัวร้อยละ 70 ของผู้อยู่อาศัยที่นี่ไม่มีรถใช้ และร้อยละ 57 ยอมขายรถที่ตนเองมีอยู่ก่อนที่จะย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนนี้ ซึ่งความจริงแล้วเขาไม่ได้ห้ามไม่ให้มีรถนะ เพียงแต่คุณต้องนำรถไปจอดในเขตนอกชุมชนในที่จอดที่ค่อนข้างจำกัดและมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยชุมชนที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 1 ตารางไมล์นี้มีประชากรประมาณ 5,500 คน พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นค่ายทหารของนาซีซึ่งไม่เคยออกแบบเพื่อการใช้รถส่วนตัวอยู่แล้ว และเพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่อยู่อาศัยจึงเป็นตึกขนาด 4 -5 ชั้น (ไม่มีบ้านเดี่ยว) ขนาบเส้นทางวิ่งของรถราง เพื่อให้ทุกคนสามารถเดินออกจากอาคารที่พักมาขึ้นรถเข้าไปยังตัวเมือง Freiburg ได้โดยสะดวกน่าอยู่ไหมล่ะ หมูตัวเดียวข่าวการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่มีคนเริ่มต้นเรียกมันว่า “โรคหวัดหมู” นั้นทำให้อัฟกานิสถานต้องกักบริเวณหมูที่มีอยู่เพียงตัวเดียวทั้งประเทศเอาไว้คุณอาจสงสัยถึงที่มาที่ไปของเจ้าหมูตัวดังกล่าวว่ามาทำอะไรอยู่ในประเทศมุสลิมแห่งนี้ ที่ผลิตภัณฑ์จากหมูถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เฉลยให้ก็ได้ว่าเป็นของขวัญที่ประเทศจีนมอบให้กับสวนสัตว์ของอัฟกานิสถาน เจ้าหมูน้อยตัวดังกล่าวซึ่งปกติเป็นของแปลกประจำสวนสัตว์ ต้องถูกพรากจากเพื่อนกวางและแพะที่อยู่ในคอกเดียวกัน ออกมาอยู่ในห้องขังเดี่ยวเพราะผู้ที่มาเยี่ยมชมสวนสัตว์กลัวว่ามันจะแพร่เชื้อหวัดสายพันธุ์อันตรายมาให้ แต่จะว่าไปหมูตัวนี้ถือว่ายังโชคดีอยู่ เพราะที่ผ่านมาสัตว์ที่พักอาศัยอยู่ที่สวนสัตว์แห่งนี้เคยผ่านเรื่องที่หนักหนาสาหัสกว่านี้มาแล้ว เช่นในช่วงที่เกิดสงครามนั้นทั้งบรรดาเก้ง กวางหรือกระต่าย ก็ถูกพวกนับรบมูจาฮิดีนที่เข้ามายึดสวนสัตว์สำเร็จโทษด้วยการกินเป็นอาหารประทังความหิว ส่วนเจ้าสิงโตมาร์จัน ดาวเด่นประจำสวนสัตว์ในขณะนั้นก็เผลอตัวไปเขมือบนักรบคนหนึ่งที่แอบปีนเข้ามาในกรงเข้า เลยทำให้ญาติผู้พี่ของนักรบคนดังกล่าวกลับมาล้างแค้นด้วยการเอาระเบิดมาขว้างใส่กรง ทำให้เจ้ามาร์จันต้องกลายเป็นสิงโตตาบอดฟันหลอไป เอ่อ…เป็นหมูตัวเดียวในประเทศมุสลิมก็ดีไปอย่างเนอะ

อ่านเพิ่มเติม >