ฉบับที่ 224 กว่าจะมาเป็นเรื่องราวของภาษีความหวาน

               การจัดเก็บภาษีจากค่าความหวาน ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น พบว่าผู้ประกอบการที่ไม่ปรับตัวหรือปรับลดปริมาณความหวาน ตามที่กำหนด ต้องรับภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นทุก 2 ปี (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 และ 1 ตุลาคม 2566) เช่น ปัจจุบันเสียภาษี 50 สตางค์ต่อลิตร หากไม่ปรับตัว จะเสียภาษีเพิ่ม 1 เท่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีผู้ประกอบการทยอยปรับตัวไปบ้างแล้ว ทำให้ภาระภาษีลดลง แต่บางรายปรับราคาเพิ่มตามต้นทุนที่เพิ่มด้วย ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการทันตสาธารณสุข กรมอนามัย และผู้อำนวยการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ย้อนความให้ฉลาดซื้อฟัง ก่อนมาเป็นเรื่องภาษีน้ำตาล        เราเริ่มดูสถานการณ์การบริโภคของคนไทยมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วเข้าไปสืบค้นข้อมูลว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลอย่างไร เราเห็นว่าตั้งแต่ปีนั้นที่เราไปสืบค้นข้อมูลได้ ตลอดระยะเวลาในช่วงนั้นเราเห็นว่าอัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นธรรมดาเพราะบ้านเราเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลของโลก อ้อยและน้ำตาล เพราะฉะนั้นเนื่องจากว่าตนเองเป็นทันตแพทย์ ก็เริ่มกังวลเพราะว่า เราคุมเรื่องอัตราการเกิดโรคฟันผุไม่อยู่แล้ว         ในขณะเดียวกันเรื่องอ้วนก็เริ่มเป็นปัญหาเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็คุยกับทางนักโภชนาการกับกุมารแพทย์ว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องมีขบวนการที่จะรณรงค์ใช้มาตรการที่จะทำให้คนไทยลดการบริโภคลงมาได้ ทำเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ.2548 ก่อน 2548 แถวๆ ปี 2546 – 2547 เราก็ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ ก็เริ่มจากหนึ่งเอาน้ำตาลออกจากนมสูตร 2 ซึ่งเราก็โชคดีที่ทาง อย. ตอนนั้นก็ให้ความร่วมมือกับเรา แล้วก็ออกประกาศเรื่องนี้ให้เราด้วย แล้วก็เป็นระเบียบฉบับแรกที่เราแก้ไขเชิงนโยบาย         เรารู้มานานแล้วว่าแหล่งบริโภคของน้ำตาล แหล่งรับน้ำตาลของคนไทยเรามาจากเครื่องดื่ม รู้มานานแล้วจากการที่เราเฝ้าดูการบริโภคเพียงแต่ว่ามาตรการที่เราจะดำเนินการคือ เราเห็นว่าหนึ่งเริ่มจากเด็กไม่ให้ติดหวาน สองคือเราจะจัดการอย่างไรให้สิ่งแวดล้อมนั้นเอื้ออำนวยให้คนเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรืออะไรก็ได้ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเราก็พยายามใช้กลไกการรณรงค์ ตั้งแต่ดูว่าจะทำอย่างไรกับ setting ของโรงเรียน เพราะเรามีข้อมูลว่าเด็กไทยตอนนั้นก็ดื่มน้ำอัดลม เอาแค่เฉพาะน้ำอัดลมนั้นอยู่ที่ประมาณ 250 ซีซีต่อวัน ในน้ำอัดลมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคประมาณ 250 ซีซีที่ว่าจะมีน้ำตาลอยู่ประมาณ 10-15 ช้อนชาแล้วแต่รสชาติของมัน         ก็เริ่มต้นว่าจะทำอย่างไรที่จะขอความร่วมมือจากโรงเรียนในการจัดการ คือพยายามให้มีเรื่องโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมขึ้นมา ซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างมากจากกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ปี 2550 มีนโยบายออกมาแต่ค่อยๆ ทำมาเรื่อย ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมันเป็นนโยบายที่ประกาศเฉยๆ ไม่ได้ออกเป็นกฎ ซึ่งยากมากที่จะไปออกเป็นกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ตอนนั้นเรายังไม่สำเร็จเรื่องนี้ แต่ว่าเราก็ทำต่อเนื่องมา ถัดมาก็ทำเรื่อง Healthy Meetings ที่พูดมาทั้งหมดนี้ คือมาตรการที่ไม่เกี่ยวกับภาษีหมดเลย เราคิดว่าเราก็ค่อยๆ ทำไปเป็นกระบวนการที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย พร้อมๆ กันก็มีกระบวนการสื่อสารให้ความรู้อย่างทั่วถึงเรื่องของน้ำตาลที่มากเกินไป  เริ่มต้นด้วยการทบทวนวรรณกรรม มีนักวิชาการช่วยเราทบทวนเรื่องเหล่านี้ว่าเป็นอย่างไรตั้งแต่ปี 2552         หลังจากปี 2553 ตอนนั้นได้มติสมัชชาสุขภาพเรื่องโรคอ้วน ซึ่งหนึ่งในมตินั้นก็มีการพูดถึงในเรื่องของโรคอ้วนในเด็ก เรื่องของน้ำอัดลม เรื่องของการจัดการด้วยระบบของภาษี พอเป็นตรงนี้เราก็เริ่มเข้าสู่กระบวนการ ได้โอกาสได้ทีมงานมาเพิ่มขึ้นเป็นนักวิชาการในส่วนของมูลนิธิ ISBP ระหว่างประเทศเขามาช่วยเรา แนวคิดเก็บภาษีน้ำตาลเริ่มขึ้นตอนไหน         ประมาณปี 2552-2553 ปี 2553-2554 อาจารย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจากจุฬาฯ มาช่วยเราดูมันมีกระบวนการทางภาษีจะกระทบกับเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ก็มีการสำรวจ ล่าสุดเลยที่เราใช้การขับเคลื่อนตัวนโยบายก็คือ เราสำรวจว่าคนไทยอายุ 10 ปีขึ้นไปมีพฤติกรรมดื่มน้ำอย่างนี้อย่างไร แล้วเขามีแนวโน้มจะเปลี่ยนพฤติกรรมไหม สิ่งที่เราพบจากการสำรวจก็คือว่า สำหรับคนไทยเราแล้ว หากราคาต้องปรับขึ้นไปประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์สำหรับคนที่ดื่มพวกนี้เป็นประจำเขาจะเปลี่ยน คือคิดที่จะดื่มอย่างอื่นแทน ซึ่งส่วนใหญ่ที่ตอบมาเขาคิดจะเปลี่ยนไปดื่มน้ำเปล่าซึ่งอันนั้นดี        แล้วก็เป็นจังหวะที่โชคดีที่ตอนนั้นมีสภาปฏิรูปแห่งชาติขึ้นมาแล้ว ซึ่งมีคณะกรรมการปฏิรูปด้านการเงินการคลังสาธารณสุข มีอาจารย์แพทย์หญิงพรพันธุ์ บุญยรัตพันธุ์ เป็นประธาน เครือข่ายมีการรณรงค์ต่อเนื่องท่านก็ได้ทราบข่าวสาร ท่านได้ทราบถามว่าใครกำลังทำเรื่องนี้(ภาษีน้ำตาล) ก็เลยเรียกว่าโอกาสเปิด ทางอาจารย์พรพันธุ์ท่านแอคทีฟ(active) มาก พูดว่าเรื่องนี้ต้องทำให้สำเร็จ        ตั้งแต่ปี 2559 ที่เริ่มต้น เราก็ได้ข้อเสนอออกมาจากทาง สปช.หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติให้ทำเรื่องนี้เข้าไป รอว่ากระทรวงสาธารณสุขจะว่าอย่างไร พอดีท่านอาจารย์แพทย์หญิงพรพันธุ์ กลับมาใหม่ในหน้าที่และตำแหน่งเดิมท่านก็ตามเรื่องนี้ต่อ  ประมาณเดือนเมษายนปี 2559 ก็เร็วมาก เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมเขาโต้แย้งเยอะแล้วทางสภาปฏิรูปเองก็ให้โอกาสทุกภาคส่วนจัดประชุมในชุดเดียวกันเลย สิ่งที่พบเจอก็คือว่าข้อมูลเป็นชุดเดียวกัน เขาเองก็รู้ว่าคนไทยนั้นได้น้ำตาลมาจากแหล่งนี้มากที่สุด(เครื่องดื่ม) เพียงแต่เขาก็รู้สึกว่าตัวนี้ไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้คนลดอ้วน หรือลดโรค NCDs ได้ แต่เราบอกว่าตัวนี้มันเป็น good buy คือเป็นมาตรการแนะนำขององค์การอนามัยโลกเลยนะ ซึ่งทั่วโลกเขาพยายามทำแล้วให้ผลค่อนข้างจะมาก จึงได้มีกระบวนการพูดจา เจรจากัน ทำความเข้าใจกันทั้งหมดแล้วก็ผ่านขั้นตอนในการออกกฎหมาย แล้วก็ผ่านไปจนผ่าน ครม. จนไปผ่านสภาปฏิรูปเพื่อที่จะกลับไปที่ ครม.ใหม่ สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้มันก็เลยสามารถออกมาได้ เพราะว่ามันก็ถูกใส่เข้าไปแก้ไขได้เลยใน พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเขาจะประกาศใช้        ต้องบอกว่าเครือข่ายโชคดี อาจจะโชคดีเนื่องจากว่าเราก็พยายามทำข่าวอย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่ช่วยเราในการเคลื่อนข่าว เราก็ออกข่าวเป็นระยะๆ ได้ทั้ง ศ.เกียรติคุณพญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ พากลุ่มผู้ป่วยเบาหวานมาช่วยออกข่าว เราก็ได้ติดต่อทางองค์การอนามัยโลกประเทศไทยให้มาช่วยให้ข่าวด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกยอมออกมาพูดเรื่องเหล่านี้ หลังจากนั้นพอมีกระบวนการเหล่านี้ ก็มีข้อต่อรองจากทางอุตสาหกรรมขอเวลา 5 ปี ในการปรับตัวซึ่งเราไม่ยอม ทางเราก็บอกว่า 5 ปีนานไปเพราะว่า 5 ปีนั้นไม่รู้ว่าคนไทยจะเป็นเบาหวานไปอีกนานเท่าไหร่ เด็กจะอ้วนไปอีกเท่าไหร่มันเพิ่มไปเรื่อยมันไม่ลดสักทีเราก็บอกไม่ได้        “ทางกระทรวงการคลังเอง สรรพสามิตเขาก็เลยบอกว่าเอาอย่างนี้ละกันไม่ต้องมี 5 ปีไม่ต้องมี 10 ปี เขาจะประกาศทันที แต่เขาจะพยายามจัดระบบการจัดเก็บตามแนวทางที่เราเสนอ เพราะเราทำข้อเสนอว่าให้จัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้า สำหรับปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในเครื่องดื่มให้จัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้า เขาบอกเขาจะจัดเก็บอัตราก้าวหน้า แต่ว่าระดับเปอร์เซ็นต์เป็นเท่าไหร่เขาขอพิจารณาเอง เราได้เท่านี้เราก็โอเคแล้วละค่ะ”         สรุปออกมาเป็นข้อตกลงร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนของกระทรวงการคลังเองที่จะดูเรื่องนโยบาย เขาก็ทำอัตราภาษีมาให้เห็นเมื่อภาษีสรรพสามิตประกาศก็เกิดขึ้นทันที แต่ว่าสองปีที่ผ่านมาคือปี 2561 และ 2562 อัตราภาษีที่ขึ้นน้อยมาก การขึ้นน้อยก็เป็นการให้ภาคอุตสาหกรรมตื่นตัว ขึ้นน้อยมากแทบไม่กระทบต่อราคา ถ้าเราสังเกตนะคะเขาขึ้นน้อย เพราะจริงๆ เป็นช่วงปรับตัวให้คุณ แล้วก็มาขึ้นที่ระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มมาแล้วเมื่อวานนี้ (วันที่ 1 ตุลาคม)        ระยะที่ 2 นี้ถ้าไปสังเกตอัตราภาษีจะขึ้นเท่าตัวเลย ซึ่งรอบนี้คือการขึ้นจริงแล้ว แต่ว่าถ้าถามโดยส่วนตัวยังรู้สึกว่า เรายอมเขาเพราะว่าเรายอมเขาส่วนหนึ่ง เราขอเขาที่ 6 เปอร์เซ็นต์น้ำตาลในการเริ่มอัตราจัดเก็บ แต่อุตสาหกรรมขอต่อรอง เราก็มาสรุปจบกันที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรอบนี้ยัง 10 เปอร์เซ็นต์น้ำตาลอยู่นะคะ เพราะฉะนั้นเรายังมีระยะที่ 3 อีก หมดปี 2564 จะขึ้นระยะที่ 3 ซึ่งระยะที่ 3 นั้นใครที่ยังคง 10 เปอร์เซ็นต์จะถูกเก็บมากขึ้นไปอีกเท่าตัว เพราะฉะนั้นเราก็ได้ข้อเสนอตามที่เราเสนอจริงๆ คือเปอร์เซ็นต์น้ำตาลปี 2564 เป็นต้นไป โดยรวมสถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นแบบนี้ ตอนที่คุยกับภาคอุตสาหกรรมเขามีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร         เขาพอจะรู้กระแสนี้มานานแล้วว่าเราทำเรื่องนี้แน่แล้ว เขาก็จับตามองเครือข่ายคนไทยไม่กินหวานมานานแล้ว เพราะเราไม่ได้เพิ่งทำเรื่องนี้เรื่องแรก สิ่งที่เราเป็นกังวลก็คือว่า เขาจะมีข้อมูลชุดอื่นที่มันพิเศษไปกว่าเราไหม หรือแหล่งข้อมูลอะไรที่มันมากกว่าเราไหม ปรากฏว่าทุกคนก็ใช้แหล่งข้อมูลชุดเดียวกัน ตัวเลขที่ได้จากฝั่งที่เราคำนวณกับจากฝั่งที่เขาได้ก็ไม่ได้ต่างกัน เขารู้อยู่แล้วว่าน้ำตาลไปจากตรงนี้มากที่สุดแล้วสำหรับทั่วโลก จริงๆ คนเราวันหนึ่งๆ ได้น้ำตาลจากเครื่องดื่มมากที่สุด        เพราะฉะนั้นคุยกับเขาแบบตรงๆ ว่าเราคาดหวังที่จะให้อะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้ามีการขึ้นภาษีน้ำตาลจริงๆ ก็คือว่าเราคาดหวังว่าจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มันดีต่อสุขภาพ healthy มากขึ้น จะสอดคล้องกับเรื่อง Healthy Choice ที่เราช่วยกันทำ เราต้องการให้ผลิตภัณฑ์ดีขึ้น มีส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น คนมีโอกาสเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เพราะธรรมชาติมนุษย์เห็นอะไรเยอะก็ซื้ออย่างนั้น การตลาดดีก็ซื้ออันนั้น ระยะยาวก็จะสามารถเปลี่ยนได้เอง เราคาดหวังข้อแรกคือเรื่องนี้ เรื่องที่สองที่เราบอกเขาก็คือว่าถ้าคุณไม่อยากโดนเก็บภาษี คุณก็มีวิธีการเดียวคือคุณต้องปรับสูตร ถ้าคุณไม่ปรับสูตรคุณก็ลดขนาดลง จากเดิมเคยขาย 325 มล. คุณก็ลดลงให้แพคเก็จลดลง ฟังก์ชันเล็กลง คนก็กินน้อยลง เพราะว่าข้อมูลเรามีนะคะ คนบริโภคเขาซื้อเป็นแก้ว เป็นขวด เป็นกระป๋อง เหมือนเราซื้อน้ำเราไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่ เราเสีย 5 บาทจากเดิม 10 บาทขวดใหญ่มาก ลดลงมาเหลือขวดเล็กก็ไม่ได้ว่าอะไรก็กินหมด แต่ก็ยังไม่เป็นไรก็เพราะว่าเราก็ไม่ได้กินเข้าไปเยอะ เพราะฉะนั้นคุณก็มีทางเลือกขนาดเป็นขวด คุณก็จะเสียภาษีน้อยลงก็คุยกันว่าแบบนี้ เพราะว่านั่นคือสิ่งที่เราอยากได้ เสียงจากผู้บริโภคทั่วไป        ถ้าโดยรวมช่วงที่เราทำเราไม่ค่อยได้รับกระแสต้านแบบตรงๆ แต่มีตั้งกระทู้ใน pantip ว่าให้คนช่วยดู ซึ่งก็ไม่ได้แรงมาก ไม่มีการออกมาเดินขบวนหรืออะไรทั้งสิ้น น้ำตาลที่บอกจะมีผลกระทบแทบไม่กระทบเลยค่ะ แล้วเราก็ชี้แจงให้เห็นด้วยว่าใครเข้าใจเรื่องของโควต้าน้ำตาลในประเทศ การทำตรงนี้บางทีอาจจะไม่ได้กระทบเชิงลบด้วย บางทีเขาก็ได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งจริงๆ ส่วนตัวก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องพวกนี้เยอะแต่วันนั้นเขาอธิบายให้ฟัง เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้กระทบเราเลย สังเกตว่ามาตรการนี้พวกอ้อยและน้ำตาลไม่ได้รุกมาต่อต้านเท่าไหร่ เพราะเราเชิญเขามาประชุมด้วยค่ะ เขาอยู่ในคณะกรรมการเราด้วย สิ่งที่ตกลงกันทำก็คือทางภาคอุตสาหกรรมเขาจะพยายามช่วยให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งลดน้ำตาล สัญญาเป็นแต่ละปีเลยว่ากี่ SBU กี่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งสองปีผ่านไปเขาทำได้ดีมากนะคะ เขาทำได้มันมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาในท้องตลาดมากกว่าที่ตั้งใจเกือบ 200 เปอร์เซ็นต์จากเดิม ถ้าเราไปสังเกตในท้องตลาดเดี๋ยวนี้แม้กระทั่ง 3 in 1 เขาก็เริ่มบอกให้ลดลงมา        นอกจากนี้ข้อมูลที่ออกมาจากการสำรวจพบว่า คนก็ยังเลือกเครื่องดื่มแบบสำเร็จรูปเยอะกว่าอยู่ดีเพราะว่าจริงๆ คนไทยไม่ได้รวย การดื่มเครื่องดื่มแบบแก้วจริงๆ ราคามันแพงนะคะ ณ ขณะนี้เราก็มีโพลล์ เราก็พยายามรณรงค์ให้คนสั่งเครื่องดื่มเวลาคุณไปสั่งเป็นแก้วที่เป็นไซส์ทั้งหมดว่า “คุณต้องสั่งหวานน้อยหรืองดน้ำตาล” เราก็มีโพลล์ของเราเป็นระยะล่าสุดเพิ่งเก็บกันเองเมื่อสัปดาห์ที่ ในกลุ่มคนทำงานเริ่มมีการสั่งแบบหวานน้อย อ่อนหวานลงบ้างไหม เราได้ตัวอย่างมาไม่มากประมาณ 1,138 คน ส่วนใหญ่เป็นคนทำงาน ประชาชนทั่วไปจริงๆ 83 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าตัวเองรู้และเริ่มสั่งให้เติมน้ำตาลน้อยลงหรือสั่งอ่อนหวาน ซึ่งจริงๆ อันนี้เป็นผลกระทบจากกระแสข่าวของเรื่องภาษีน้ำตาล ทำให้เขาเริ่มรู้ว่าการกินน้ำตาลเยอะมันไม่ดีอย่างไร        ตอนนี้ในส่วนของเครือข่ายเองเราก็หันมาทำข้อมูลเผยแพร่ โดยในแต่ละจังหวัดทำเป็นร้านกาแฟอ่อนหวาน ซึ่งเขาจะขึ้นเลยสูตรเมนูน้ำตาลของเขาสูตรไหนน้ำตาลเท่าไหร่ หรือถ้าคุณอยากสั่งหวานขั้นที่ 1 น้ำตาลเท่าไหร่ หวานขั้นที่ 2 น้ำตาลเท่าไหร่  มีมากเลยหลายจังหวัด อย่างที่สิงห์บุรีเขาลงทุนทำ Map คล้ายๆ Google Map ให้ดูว่าจะไปหาได้ตรงไหน ซึ่งเรื่องนี้เราทำมานานมากแล้ว ในเครือข่ายพยายามมี connection กับร้านกาแฟ ตอนนี้กรมอนามัยลุกขึ้นมาทำตรงนี้เป็นนโยบาย ก็ทำเป็นกลุ่มร้านกาแฟ คือเป็นประเด็นเรื่องของการลดน้ำตาลซองที่ชาวบ้านเติมเอง จากเดิมที่มาตรฐานคนไทยเราจะใช้กันอยู่ที่ซองละ 6 กรัม เราขอให้เป็นแค่ 4 กรัม ซึ่งมีร้านกาแฟที่เข้าร่วมกับเราอย่าง แบล็คแคนยอน อเมซอน ณ ขณะนี้จะวางซองแค่ 4 กรัม หรือไม่เขาก็ไม่วางซองเลย ก็ลดไปโดยไม่รู้ตัว ลดไปแล้วทันที 25 เปอร์เซ็นต์ หรือรู้ตัวโดยการต้องตักเอง เขาก็ไม่แจกเป็นซองให้ลูกค้าตักเอง ร้านกาแฟเราส่วนใหญ่ที่ไม่ใช้ซองขนาด 4 กรัม เขาก็ให้ตักเอง ข้อมูล Website www.sweetenough.in.th  , Facebook ชื่อเพจ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน

อ่านเพิ่มเติม >