ฉบับที่ 261 ภูตแม่น้ำโขง : สิ่งที่มองไม่เห็น ใช่ว่าจะไม่มี

        เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสลงสนามเก็บข้อมูลพื้นที่วิจัยแถบภาคอีสาน และได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์บรรยากาศการประกอบพิธีกรรมเข้าทรงหมอผีพื้นบ้าน ในฐานะภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้าน แม้วิถีชุมชนจะดูแปลกตาสำหรับนักวิจัยที่มาจากสังคมเมืองหลวง แต่หลายๆ ภาพที่เห็นตรงหน้าก็ชวนให้รู้สึกได้ว่า “ไม่เชื่อแต่ก็ไม่กล้าจะลบหลู่”         ในครั้งนั้น ชุมชนหมู่บ้านที่เป็นสนามวิจัยก็ไม่ได้ปฏิเสธองค์ความรู้แพทย์แผนใหม่ เพราะชาวบ้านก็ยังคงไปรักษาหาหมอที่โรงพยาบาลกันเป็นเรื่องปกติ แต่คู่ขนานกันไป ชาวบ้านเองก็สำเหนียกว่า ความเชื่อผีดั้งเดิมเป็นอีกหนึ่งวิถีทางที่ผู้คนท้องถิ่นศรัทธา ในฐานะกลไกจัดการโรคภัยและสุขภาวะชุมชนด้วยเช่นกัน         จนกระทั่งได้มาเปิดดูละครโทรทัศน์เรื่อง “ภูตแม่น้ำโขง” ความทรงจำของการทำงาน ณ สนามวิจัยในท้องถิ่นอีสานเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ก็หวนกลับมาชวนให้ตั้งคำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติดั้งเดิมกับชุดความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่กันอีกครั้ง         ละครได้ย้อนยุคไปเมื่อปีพุทธศักราช 2514 “อัคนี” แพทย์หนุ่มพระเอกของเรื่อง ได้เดินทางจากเมืองหลวงมาที่หมู่บ้านนางคอย ริมแม่น้ำโขง เพื่อมาสานต่องานวิจัยของ “หมอประเวศ” ผู้เป็นบิดา ที่ศึกษาค้นคว้าด้าน “จิตเวชศาสตร์วัฒนธรรม” หรือโรคทางจิตที่เกิดจากความเชื่อและสิ่งลี้ลับในท้องถิ่นชนบท และมาเป็นหมอคนใหม่ประจำสุขศาลาของหมู่บ้าน        การมาถึงหมู่บ้านอัน “ไกลปืนเที่ยง” ของหมออัคนี ทำให้เขาได้พบกับ “บัวผัน” สาวชาวบ้านซื่อใสจิตใจดี แต่มีหนี้กรรมที่พันผูกกันมาตั้งแต่ชาติภพก่อน โดยที่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีวิญญาณของ “เจ้าแม่ทอหูก” จุดเริ่มต้นของตำนานความเชื่อเรื่อง “ภูตแม่น้ำโขง” เป็นสตรีอีกหนึ่งนางที่ผูกตรึงตัวเองไว้ในสามเส้าแห่งบ่วงรักบ่วงกรรมดังกล่าวด้วย         ตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องละคร บัวผันได้ถูกมนต์สะกดของเจ้าแม่ทอหูกล่อลวงให้ไปลิ้มรสไข่พญานาค เธอจึงตกอยู่ใต้อาณัติบัญชาของภูตแม่น้ำโขงมานับจากนั้น ในขณะเดียวกัน ทางฝ่ายของเจ้าแม่ทอหูกเอง เพื่อธำรงอำนาจและความเป็นอมตะ นางจึงต้องดื่มโลหิตของมนุษย์ จนทำให้มีหลากหลายชีวิตที่ถูกพรากมาเซ่นสังเวยยังใต้วังบาดาล         จะว่าไปแล้ว โดยแก่นของละครคือการให้คำอธิบายว่า กรรมมิใช่เพียงการกระทำที่เกิดขึ้นในชาตินี้เท่านั้น หากแต่เป็นผลของการกระทำตั้งแต่อดีตชาติ และวนเวียนเป็นวัฏฏะมาจนถึงปัจจุบันกาลด้วยเช่นกัน         การที่หมออัคนีได้มาพานพบกับทั้งบัวผันและวิญญาณเจ้าแม่ทอหูก ก็เป็นเพราะทั้งสามคนยังเวียนว่ายในสังสารวัฏของรักสามเส้าที่ผูกพันกันมาแต่ครั้งปางบรรพ์ หรือการที่ทั้งบัวผันและ “บุญเรือน” ผู้เป็นมารดาต้องมาเผชิญทุกข์กรรมมากมาย ก็มาจากกรรมเก่าที่สร้างไว้ในชาติอดีตนับเป็นพันปี รวมไปถึงการที่ชาวบ้านหลายชีวิตในหมู่บ้านนางคอยต้องประสบพบเจอกับเรื่องลึกลับมากมาย บ้างถูกผีสิง บ้างต้องตายลง ก็ล้วนมาแต่วิบากกรรมที่พวกเขาก่อและตกทอดมาจากชาติปางก่อน         แต่ทว่า ภายใต้แก่นเรื่องละครที่อธิบายถึงวัฏจักรแห่งกรรมเช่นนี้ ผู้ชมเองก็ได้เห็นการปะทะประสานกันระหว่างโลกทัศน์สองชุด ที่วิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นคุณค่าวิทยาการแห่งสังคมโลกสมัยใหม่ มาต่อสู้ต่อกรกับความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติเร้นลับอันเป็นองค์ความรู้ตามวิถีชาวบ้านในสังคมดั้งเดิม         ด้วยเหตุนี้ นับแต่ก้าวแรกที่หมออัคนีได้เดินทางมาถึงหมู่บ้านนางคอย หมอผู้ยึดมั่นในชุดความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์แผนใหม่จึงได้สัมผัสเหตุการณ์อันแปลกประหลาด ซึ่งผิดแผกไปจากที่เขาคุ้นชินเมื่อครั้งอยู่ในเมืองกรุง แม้ชาวบ้านต่างก็คอยเตือนสติเขาอยู่เนืองๆ ว่า “ถ้าหมอมาอยู่ที่นี่ ในที่สุดหมอจะได้เห็นในสิ่งที่หมอไม่คิดว่าจะได้เห็น”         ดังนั้น ควบคู่ไปกับเรื่องราวความรักความแค้นที่วิญญาณอสูรใต้ลำน้ำโขงรอคอยที่จะได้ครองคู่กับชายคนรักมายาวนานนับพันปี เราจึงเห็นภาพของการแบทเทิลช่วงชิงชัยระหว่างความเชื่อท้องถิ่นตามวิถีชาวบ้านกับความคิดแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งซัดสาดเข้ามาจากโลกภายนอก         ฉากที่ชาวบ้านเกิดอาการผีเข้าจนสติไม่สมประดี ก็ถูกพระเอกหนุ่มตีความว่าเป็นอาการของโรคลมชักและการเกิดอุปาทานหมู่ หรือที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่าอาการของโรคฮีสเตอเรีย หรือฉากที่ “ญาแม่คำแพง” หญิงสูงวัยผู้เป็นร่างทรงของ “เจ้านางแก้วพิมพา” ทำพิธีเสี่ยงทายรักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้าน ด้วยการตั้งไข่ไก่บนดาบ หมออัคนีก็รำพึงแกมปรามาสว่าเป็นเพียง “มายากล” ที่เชื่อถือไม่ได้เลย         หรือกับเหตุการณ์ร้ายๆ ที่บัวผันและแม่เผชิญอยู่ทั้งเรื่อง ถึงขนาดที่นางบุญเรือนผู้มีอาการป่วยเรื้อรังมานานก็ยืนยันว่า เป็น “โรคเวรโรคกรรม” ที่เจ้ากรรมนายเวรจากชาติที่แล้วกลับมาทวงคืนหนี้กรรมเก่า แต่หมอหนุ่มอัคนีก็ตัดสินไปแล้วว่า นั่นเป็นความงมงาย เพราะเขาไม่เชื่อว่าผีมีอยู่จริง         สำหรับสังคมไทย วิทยาศาสตร์เป็นชุดความรู้ใหม่ที่ชนชั้นนำสยามรับเข้ามาเมื่อราวร้อยกว่าปีนี่เอง แต่ก่อนหน้านั้น ระบบความรู้ของไทยหยั่งรากมาจากไสยศาสตร์กับพุทธศาสนากันเป็นเวลาช้านาน หรืออีกนัยหนึ่ง ก่อนที่หมอวิทยาศาสตร์จะสถาปนาอำนาจขึ้นมาแบบที่เราเห็นๆ กันในปัจจุบัน ชาวบ้านในยุคดั้งเดิมต่างก็เคย “ฝากผีฝากไข้” ไว้กับองค์ความรู้สุขภาพพื้นบ้านและการทรงเจ้าเข้าผีกันจนเป็นวิถีปกติ         ดังนั้นแล้ว แม้จะมี “เหตุผลของวิทยาศาสตร์” แบบที่หมออัคนีใช้หักล้างผลักไสให้เรื่องวิญญาณภูตแม่น้ำโขงกลายเป็นเรื่องงมงายไร้สาระเพราะพิสูจน์จับต้องไม่ได้ แต่ทว่า “เหตุผลของชาวบ้าน” ก็ได้เข้ามาปะทะคัดง้างกับอหังการความรู้ที่พระเอกหนุ่มยึดมั่นถือมั่นอยู่ตลอดเวลา         แบบเดียวกับที่ “พ่อเฒ่าเชียงหล้า” แห่งหมู่บ้านนางคอย ก็เคยตั้งคำถามกับหมออัคนีว่า “ตั้งแต่หมอมาอยู่ที่นี่ มีอะไรที่วิทยาศาสตร์ให้คำตอบกับหมอได้บ้าง” และ “ในโลกนี้มีเรื่องราวหลายอย่างที่วิทยาศาสตร์หาคำตอบไม่ได้ บางเรื่องก็ละเอียดเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ”         จนท้ายที่สุดของเรื่อง เมื่อเจ้าแม่ทอหูกพยายามใช้มนต์สะกดพาหมออัคนีมาทำพิธีมฤตสัญชีวนี เพื่อให้เขากลายเป็นภูตผีครองคู่กับนางตลอดกาล หมอหนุ่มจึงเกิดตระหนักรู้ว่า แม้ความจริงทางวิทยาศาสตร์อาจรับรู้ผ่านอายตนะทางรูปรสกลิ่นเสียงและกายสัมผัสได้ก็ตาม แต่สิ่งเหนือธรรมชาติที่ชาวบ้านยึดถืออยู่ในสัมผัสที่หก ก็เป็นความจริงอีกชุดหนึ่งที่ดำรงคุณค่าเกินกว่าที่วิทยาศาสตร์จะหยั่งถึงได้จริงๆ         จากฉากเนื้อเรื่องละครที่ย้อนยุคไปเมื่อราวห้าสิบปีก่อน กับการนั่งดูละคร “ภูตแม่น้ำโขง” ในห้วงเวลาห้าทศวรรษให้หลัง แม้สังคมทุกวันนี้จะเจริญก้าวหน้าทันสมัยไปมากเพียงไร ละครก็ยังกระตุกต่อมความคิดให้เราระลึกได้ว่า ในขณะที่เรายอมรับวิทยาศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต แต่ตำนานความเชื่อเจ้าแม่ทอหูกที่ทอผ้าบรรเลงเพลงอยู่ใต้ลำน้ำโขง ก็มิอาจเจือจางลางเลือนไปเสียจากวิถีแห่งโลกสมัยใหม่ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >