ฉบับที่ 246 มนต์รักหนองผักกะแยง : ดีใจจังใครต่อใครก็เป็นลาว

        วรรณกรรมท้ายรถแท็กซี่ เคยปรากฏข้อความสติ๊กเกอร์เขียนว่า “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” วลีแบบนี้สะท้อนจิตสำนึกของคนอีสานผู้พลัดถิ่นมาใช้ชีวิตในเมืองหลวง ที่พยายามยึดโยงและภูมิใจในตัวตนของความเป็น “อีสานบ้านเฮา” แม้จะพลัดพรากมาพำนักในพื้นถิ่นดินแดนอื่นก็ตาม         แต่ดูเหมือนว่า ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์คนอีสานพลัดถิ่นเช่นนี้ ไม่น่าจะใช่คำอธิบายที่ถูกต้องนักสำหรับพระเอกหนุ่มอย่าง “บักเขียว” ที่ “ละทิ้งแผ่นดินถิ่นอีสาน จากมิตรวงศ์วานบ้านป่า” เพื่อก้าวเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์กลางแห่งเมืองหลวงอันทันสมัย         ในละครโทรทัศน์เรื่อง “มนต์รักหนองผักกะแยง” นั้น ได้ย้อนภาพกลับไปสัมผัสชีวิตของบักเขียวตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กน้อยแห่งชุมชน “บ้านหนองผักกะแยง” โดยมีเด็กหญิงคู่หูคู่ปรับข้างบ้านชื่อ “ชมพู่” เป็นเพื่อนไม้เบื่อไม้เมากันมา ครั้นพอโตขึ้น บักเขียวได้ย้ายไปเรียนที่กรุงเทพ ทำให้เด็กน้อยสองคนต้องแยกจากกันไป         เมื่อมาอยู่มหานครอันศิวิไลซ์ จากนักเรียนดีเด่นของแดนดินถิ่นอีสานที่เว้าลาวพูดไทยไม่ชัด และกินปลาร้าปลาแดกเป็นนิจสิน บักเขียวได้ถูกเพื่อนร่วมชั้นกลั่นแกล้งบูลลี่กับวัตรปฏิบัติที่ต่างไปจากพวกเขาเหล่านั้น แถมยังล้อเลียนบักเขียวว่า เป็น “เด็กบ้านนอก” บ้าง หรือเป็น “เด็กลาวเด็กอีสาน” บ้าง ไปจนถึงทำให้เด็กชายพลัดถิ่นกลายเป็น “ตัวตลก” ในหมู่ผองเพื่อนชาวกรุงไป         ในห้วงจิตใจลึกๆ บักเขียวโทษความผิดว่า เป็นเพราะ “ยายเพียร” ที่เลี้ยงดูเขามาให้เป็น “คนอีสาน” เขาจึงบอกตัวเองว่า จักต้องลบประวัติศาสตร์หน้านี้ออกไปจากชีวิต และจะไม่กลับไปเหยียบบ้านหนองผักกะแยงอีกเลย         เพราะศักดิ์ศรีแห่งคนอีสาน ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการที่ต้องให้คนกรุงเทพหรือ “คนอื่น” มาเชิดชูยอมรับ แต่ต้องมาจากจิตสำนึกของ “คนใน” เองที่ต้องมั่นอกมั่นใจในตัวตนความเป็นอีสานนั้นเสียก่อน ดังนั้น บักเขียวจึงเลือกจะรื้อถอนชื่อแซ่อัตลักษณ์ท้องถิ่นให้สลายหายไปในทุกวิถีทาง ถึงขนาดที่ว่า ก่อนอยู่บ้านนาเขาเรียกกันว่า “บักเขียว” มาอยู่กรุงเทพ เพียงประเดี๋ยวเดียว เปลี่ยนจากบักเขียวเป็น “ธรากร” กันเลย         บักเขียวในคราบไคลใหม่ เริ่มฝึกพูดภาษาไทยไม่ให้เหลือสำเนียงอีสานแต่อย่างใด เลิกกินและแสดงอาการรังเกียจปลาร้าปลาแดกอย่างออกหน้า เปลี่ยนลุคปรับวิธีเดินเหินและการแต่งตัวเสียใหม่ ไปจนถึงเลือกเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาที่จะไม่ต้องเฉียดกรายกลับสู่วิถีเกษตรอันเป็นรากเหง้าที่ถีบตัวเองออกมา         กล่าวกันว่า พื้นที่ความเป็นเมืองเป็นดินแดนที่ปราศจากซึ่งความรัก แม้จะปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองเพียงใด เมื่อบักเขียวเรียนจบ ได้กลายมาเป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์และคบหากับ “อลิซ” แฟนสาว รวมทั้งทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อผ่อนคอนโดเรือนหอหลักล้าน แต่แล้ว ภายใต้ความฝันที่จะก่อร่างสร้างชีวิตในเมืองมั่งคั่ง อลิซก็สะบั้นรักหักอกเขา แถมยังใช้เล่ห์กลโกงโฉนดสัญญาคอนโดไปเป็นของเธออีก         “เมืองหลวงควันและฝุ่นมากมาย พี่สูดดมเข้าไปร่างกายก็เป็นภูมิแพ้ ผู้หญิงที่กรุงเทพก็อันตราย เพราะพวกเธอหลายใจหัวใจพี่เองก็แพ้…” บักเขียวผู้ครวญเพลง “ภูมิแพ้กรุงเทพ” จึงได้แต่พกพาจิตใจอันบอบช้ำกลับไปเยียวยาบาดแผลยังบ้านหนองผักกะแยง ภูมิลำเนาบ้านเกิดที่ตนจากมากว่ายี่สิบปี         แม้ละครจะผูกปมให้เห็นว่า เขี้ยวเล็บที่บักเขียวลับคมมาจากเมืองกรุง ทำให้จิตสำนึกของเขาได้แต่มองที่ดินของยายเพียรเป็นเพียงสินทรัพย์ที่จะขายไปเพื่อต่อทุน และกลับไปตั้งหลักใช้ชีวิตในเมืองหลวงอีกคำรบหนึ่ง แต่ความรักและสายสัมพันธ์อันเป็นแรงเกาะเกี่ยวยึดโยงไว้ตั้งแต่ครั้งอดีต ก็ทำให้สายตาของบักเขียวค่อยๆ เห็นอีกด้านหนึ่งของชนบทอีสานบ้านเกิดที่ต่างออกไป         ในห้วงหลายๆ ทศวรรษที่ผ่านมา วิถีการพัฒนาแบบทันสมัยพยายามสร้าง “ภาพจำ” เพื่อเหมารวมอีสานให้กลายเป็นพื้นที่ที่ล้าหลัง แร้นแค้น เป็นดินแดนแห่งความยากจน ความทรงจำวูบแรกที่ผู้คนนึกถึงวิถีอีสานมักเกิดขึ้นบนผืนดินแตกระแหง และเป็นชีวิตที่ไม่สอดรับกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจใดๆ ภาพจำแบบนี้จึงเป็นแรงผลักให้เกิดแรงงานอีสานพลัดถิ่นที่ซัดเซพเนจรมาเสี่ยงโชคชะตาในมหานครเมืองกรุง         ดังนั้น เมื่อต้องพลัดถิ่นไปนาน และติดบ่วงอยู่ในภาพจำแบบเดิมเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่อาการบักเขียวผู้กลับมาหนองผักกะแยงช่วงแรกๆ จึงกอปรขึ้นจากความรังเกียจรังงอน สีหน้าขยะแขยงอาหารที่ปรุงรสด้วยปลาร้า ไปจนถึงอากัปกิริยาเหม็นขี้วัวที่ต้องโกยมาทำปุ๋ยคอก ดูจะสะท้อนภาพดังกล่าวได้เป็นอย่างดี         เพราะอีสานเป็นเบ้าหลอมที่บักเขียวใช้ชีวิตเติบโตมา และก็เหมือนกับความเชื่อมั่นที่ยายเพียรกล่าวถึงหลานชายว่า “คนเรามันเปลี่ยนกันได้ เบิ่งไป” เราจึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า ในท้ายสุดบักเขียวก็ต้องล้มเลิกความคิดที่จะขายที่ดินของบรรพชนเพื่อแลกกับเม็ดเงินหลายสิบล้าน และเลือกจะใช้ชีวิตครองคู่กับชมพู่น้องนางบ้านนามากกว่าผู้หญิงกรุงเทพที่หักอกเขาแบบไม่ไยดี         แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในยุคปัจจุบันที่คนอีสานในโลกความเป็นจริงมีความมั่นคงแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสังคมมากขึ้น ภาพจำในแบบเดิมๆ จึงถูกบักเขียวรับรู้และตีความอีกครั้งให้กลายเป็น “อีสานใหม่” ผ่านโลกสัญลักษณ์แห่งละครโทรทัศน์ไปเสียเลย         จากผืนดินที่แตกระแหงก็กลายเป็นผืนนาอันเขียวขจี จากภาพอีสานที่ยากจนแร้นแค้นกลายเป็นชีวิตผู้คนที่หาอยู่หากินและร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน จากภูมิภาคที่ล้าหลังดิบเถื่อนกลายเป็นแอ่งอารยธรรมที่โอบอุ้มประเพณีพิธีกรรมอันน่าถวิลหา จากความแห้งแล้งและคราบน้ำตากลายเป็นดินแดนแห่งรักโรมานซ์ที่แม้แต่ฝรั่งต่างชาติยังชื่นชมและอยากใช้ชีวิตอยู่ และที่สำคัญ จากภาพคนอีสานตัวดำในห้วงคำนึงกลายเป็นพระเอกหนุ่มที่สวมบทบาทโดยคุณพี่ณเดชน์สามีแห่งชาติของสาวๆ รุ่นใหม่หลายคน         เพราะจิตสำนึกของคนเราเปลี่ยนได้แบบที่ยายเพียรมั่นใจในหลานชายของตน จากคนที่พลัดถิ่นไปอยู่ในวิถีบริโภคล้วนๆ เป็นหนุ่มเมืองหลวง เมื่อได้ย้อนกลับคืนบ้านเกิด บักเขียวได้ลงมือปลูกแตงกวาและเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยตนเองเป็นครั้งแรก เขาก็ค่อยๆ สำเหนียกเห็นคุณค่าของวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม จนพูดกับตนเองว่า “คิดถึงแปลงแตงกวา ไม่เคยคิดถึงแตงกวามากขนาดนี้มาก่อนเลย”         หลังผ่านการรื้อถอนปอกเปลือกคราบไคลที่ห่อหุ้มตัวตนจริงๆ ออกไป ในท้ายที่สุด “จริต” ของบักเขียวที่เคย “ดัด” ให้ต้องพูดภาษาไทยชัดเจนด้วยสำเนียงแบบคนกรุงเทพ ก็กลับกลายมาเป็นคนอีสานบ้านเฮาที่เว้าภาษาบ้านเกิดเป็นไฟแลบโดยไม่รู้ตัว         หากในเมืองหลวงถิ่นอื่น คนอีสานมีแต่ต้องชะเง้อหาแนวร่วมที่จะตะโกนร้อง “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” แต่ทว่าในถิ่นฐานภูมิลำเนาที่ตนภูมิใจในอัตลักษณ์ศักดิ์ศรีเท่านั้น บักเขียวก็พร้อมจะบอกทั้งตนเองและคนอื่นๆ ว่า ณ บ้านหนองผักกะแยงแห่งนี้ “ดีใจจังใครต่อใครก็เป็นลาว”

อ่านเพิ่มเติม >