ฉบับที่ 277 เปิดคลินิกในปั๊มน้ำมันแบบนี้ก็ได้หรือ

        ความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะหากปล่อยไว้วันหนึ่งความเสียหายอาจมาถึงตัวเราเองและคนใกล้ตัวเข้าสักวัน         วันหนึ่งเมื่อคุณกองฟางพบว่า ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองสกลนครมีการเปิดคลิกนิกให้บริการทางการแพทย์ เขารู้สึกแปลกใจ เพราะไม่คิดว่า คลินิกจะสามารถตั้งอยู่ในสถานที่เช่นนี้ได้ เพราะโดยปกติในปั๊มน้ำมันจะพบเห็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านสะดวกซื้อเท่านั้น        เมื่อความสงสัยและประหลาดใจเกิดขึ้นแล้ว มันต้องเคลียร์เพื่อไม่ให้คาใจคุณกองฟางจึงได้พยายามสอบถามข้อมูลจากผู้คนต่างๆ และได้รู้ข้อมูลต่อมาว่าในคลินิกแห่งนี้มีผู้อ้างตนว่าเป็นแพทย์ หรือ มีการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษาโรค จ่ายยา ฉีดยา เช่นเดียวกับแพทย์ ก็ยิ่งทำให้ไม่สบายใจมากขึ้น จากความสงสัยในตอนแรกว่าสถานที่ตั้งคลินิกถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะหน้าร้านมีเพียงป้ายระบุชื่อคลินิกขนาดเล็ก ไม่มีป้ายแสดงชื่อผู้ตรวจ ชื่อประเภทและลักษณะการให้บริการ ไม่มีเลขที่ใบอนุญาต จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่าผู้ตรวจรักษาโรค เป็นแพทย์จริงหรือไม่และคลินิกได้รับอนุญาตเปิดคลินิก ถูกต้องหรือไม่ คุณกองฟางจึงเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณกองฟาง พร้อมทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เพื่อให้ตรวจสอบว่าคลินิกดังกล่าวได้จดทะเบียนและเปิดให้บริการอย่างถูกต้องหรือไม่ แล้วการอนุญาตให้เปิดในปั๊มน้ำมันนั้นสามารถทำได้หรือไม่         ต่อมาวันที่ 21 มี.ค. 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการขออนุญาตของคลินิกว่าภายหลังจากที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนครได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 12 .ก.พ. พบว่า คลินิกที่ถูกร้องเรียนนี้มีปัญหาจริงหลายประการ เจ้าหน้าที่จึงให้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขโดยให้คลินิกปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ต่อมาพบว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่กำหนด  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงออกคำสั่งยกเลิกและคืนคำขออนุญาตทำให้คลินิกต้องปิดตัวลง           กรณีนี้มีข้อที่ประชาชนควรรู้คือการเปิดคลินิกให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2551 การเปิดให้บริการคลินิกแต่ละประเภทต่างๆ เช่น คลินิกทันตกรรม  คลินิกกายภาพบำบัด  คลินิกเวชกรรมต่างๆ กฎหมายได้กำหนดมาตรฐานที่ผู้ขอเปิดให้บริการต้องดำเนินการไว้แตกต่างกัน...หากประชาชนพบความผิดปกติ หวาดกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยสามารถร้องเรียนเรื่องเข้ามาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมายเช่นกรณีนี้         สำหรับกรณีเรื่องสถานที่ตั้งในปั๊มน้ำมันนั้น กฎหมายไม่ได้ระบุชัดว่าได้หรือไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 เขียวพอหรือยัง

        ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีคดีฟ้องร้องผู้ประกอบการว่าด้วยการ “แอบอ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือทำให้สังคมเข้าใจว่าบริษัทมีแผนรักษ์โลก ทั้งที่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและไม่มีผู้รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง         รายงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันวิจัย Grantham แห่งลอนดอนระบุว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา มีการฟ้องคดีลักษณะดังกล่าวทั้งโดยรัฐบาลและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมรวมกันไม่ต่ำกว่า 2,340 คดี ตัวอย่างเช่น ในอเมริกา เทศมณฑลมัลท์โนมาซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดในรัฐโอเรกอน ฟ้องบริษัทน้ำมันและถ่านหินอย่าง เชลล์ บีพี เชฟรอน โคโนโคฟิลิปส์ เอ็กซอนโมบิล และอีกไม่ต่ำกว่าห้าบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหาย 51,000 ล้านเหรียญ ฐานปล่อยมลพิษซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโดมความร้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 69 คน         บริษัท TotalEnergies ก็ถูกเทศบาลเมืองปารีสและนิวยอร์ก ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและสมาคมต่างๆ ฟ้อง ด้วยข้อกล่าวหา “ชกไม่สมศักดิ์ศรี” ในการต่อสู้เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แม้แต่หน่วยงานกำกับดูแลก็หนีไม่พ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมได้กล่าวหาหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของอังกฤษว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ด้วยการอนุญาตให้บริษัทก๊าซและน้ำมันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ทั้งที่ไม่สามารถอธิบายความเสี่ยงที่จะเกิดกับสภาพแวดล้อมได้         ไม่พียงธุรกิจด้านพลังงานเท่านั้น อุตสาหกรรมการบินก็กำลังถูกสังคมจับตามองเช่นกัน ไม่นานมานี้ผู้ประกอบการสายการบิน 17 บริษัท ถูกองค์กรผู้บริโภคแห่งสหภาพยุโรป (BEUC) ร้องเรียนเรื่องจริยธรรมการตลาด โฆษณาหรือสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัทเหล่านี้มักพูดถึง “โปรแกรมชดเชยการปล่อยมลพิษ” ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผิดน้อยลงจากการเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ไม่มีแผนชัดเจนว่าจะชดเชยอย่างไร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยการแข่งขันอย่างเป็นธรรมนั่นเอง         นอกจากนี้ BEUC ยังเรียกร้องให้สมาชิกสหภาพยุโรปและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในแต่ละประเทศร่วมกันสอบสวนสิ่งที่เรียกว่า “ค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อม” ที่บางสายการบินเรียกเก็บเพื่อเป็นการ “ชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเดินทางโดยเครื่องบิน” และยังเรียกร้องให้สายการบินคืนเงินดังกล่าวให้ผู้บริโภคด้วย         อีกตัวอย่างของการ “ฟอกเขียว” ในอุตสาหกรรมการบินคือกรณีของสายการบิน KLM ที่ชวนผู้บริโภคมาปลูกป่า หรือลงทุนในเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ผลิตจากสาหร่าย น้ำมันใช้แล้ว ขยะทั่วไปและขยะการเกษตร ฯลฯ ที่นำมาผสมกับเชื้อเพลิงฟอสซิล จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัท เชื้อเพลิงที่ว่านี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 80 แต่องค์กรผู้บริโภคมีข้อมูลที่ระบุว่ายังอีกนานกว่าเชื้อเพลิงนี้จะพร้อมเข้าตลาดและกฎหมายยุโรปก็ตั้งเกณฑ์สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกไว้ต่ำมาก        ด้านวงการแฟชัน แม้จะทำได้ดีเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งในขั้นตอนการผลิตและการใช้งาน เช่น การนำเทคโนโลยีผลิตเส้นใยต้านจุลชีพมาใช้ในการผลิตที่ทำให้เรามีกางเกงยีนส์ที่ใส่ซ้ำได้หลายสัปดาห์ก่อนจะนำไปซัก เท่ากับการประหยัดน้ำในช่วงชีวิตการใช้งานไปได้ถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว         แต่เป้าหมาย “การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ทุกอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่มี “ขยะผ้า” นั้นยังอีกห่างไกล ปัจจุบันเสื้อผ้าที่ใช้แล้วหรือขายไม่ได้ยังคงถูกนำไปถมทิ้งในบ่อหรือกองขยะ มีเพียงปริมาณน้อยเท่านั้นที่ถูกนำไปใช้ทำเป็นถุงมือหรือบรรจุในเบาะทำโซฟา         ถึงแม้จะยังไม่มีการฟ้องร้องแบรนด์แฟชัน แต่ก็มีรายงานที่ระบุว่าการนำของเสีย/ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอมาใช้ใหม่ ยังอยู่ในขั้นตอนการ “ศึกษาวิจัย” เท่านั้น ยังต้องมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้แผนนี้เป็นจริงได้ เช่น การตั้งโรงงานรีไซเคิลศักยภาพสูงในพื้นที่ หรือแม้แต่การมีนโยบายรีไซเคิลที่สอดคล้องกันในแต่ละประเทศ ก็ใช่ว่าจะไม่มีหวัง หลายแบรนด์เสื้อผ้าได้เริ่มใช้พลังงานทางเลือกในการจัดส่งสินค้ามาตั้งแต่ปี 2020 เรื่องนี้ยืนยันได้จากข้อมูลของ Maersk บริษัทจัดส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่อันสองของโลก ที่ระบุว่าร้อยละ 26 ของตู้สินค้า 24,000 ตู้ที่บริษัทจัดส่งด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นตู้สินค้าแฟชัน นอกจากนี้บริษัทค้าปลีกอย่าง Amazon และ Ikea ก็ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนมาใช้การขนส่งแบบไร้คาร์บอนให้ได้ภายในปี 2040 เช่นกัน         ที่น่าจับตาคือความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมที่จะลดการแอบอ้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนนานาชาติ I(International Sustainability Standards Board หรือ ISSB) ได้กำหนดมาตรฐาน “การรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ของผู้ประกอบการที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป         หนึ่งในมาตรฐานดังกล่าวคือ บริษัทต้องจัดให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบข้อมูลเรื่องการปล่อยมลพิษ (แบบเดียวกับการตรวจสอบบัญชี) นอกจากนั้น “มาตรการลดโลกร้อน” ของบริษัทก็ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารสูงสุด ไม่ใช่เรื่องที่รับผิดชอบโดยฝ่ายการตลาดหรือฝ่ายสื่อสารองค์กรเหมือนที่ผ่านมา         แม้จะเป็นเพียงมาตรฐาน “สมัครใจ” แต่ก็เพิ่มความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ทำให้นักลงทุนมีข้อมูลที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจด้วย  เอกสารอ้างอิง        https://www.straitstimes.com/world/europe/climate-washing-lawsuits-jump-as-more-activists-challenge-corporate-claims-report-shows         https://www.dutchnews.nl/2023/06/klm-climate-claims-targeted-in-eu-wide-consumer-complaint/        https://www.scmp.com/business/article/3226112/green-jeans-hong-kong-maker-says-global-brands-improving-sustainability-circular-denim-lifecycle-far         https://www.scmp.com/news/world/europe/article/3226189/fashion-brands-driving-demand-green-shipping-fuels-industry-giant-says         https://www.reuters.com/sustainability/new-global-rules-aim-clamp-down-corporate-greenwashing-2023-06-26/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 มัน..ไซยาไนด์

        สารประกอบไซยาไนด์เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีอนุมูลไซยาไนด์เป็นองค์ประกอบ บางชนิดออกฤทธิ์ทำอันตรายผู้เคราะห์ร้ายได้รวดเร็วเช่น ชนิดที่ถูกนำมาใช้ในการก่อคดีฆาตกรรมนั้นเป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่อนุมูลไซยาไนด์รวมตัวกับโลหะอัลคาไลน์ (เช่น โซเดียมหรือโปแตสเซียม) ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็งสีขาว นอกจากนั้นพบได้เป็นสารประกอบที่รวมตัวกับโลหะอื่นอีกหลายชนิด ประเด็นที่น่าสนใจคือ สารประกอบไซยาไนด์หลายชนิดถูกพบในรูปของไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ (cyanogenic glycoside) ในพืชหลายชนิด เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งสารประกอบนี้ถูกเปลี่ยนเป็นกรดไฮโดรไซยานิคในบริบทที่เหมาะสม           มันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแป้งและเม็ดสาคู เป็นที่รู้กันดีในทางวิชาการว่า โอกาสที่มันสำปะหลังจะปล่อยก๊าซไซยาไนด์ออกมาระหว่างการเก็บและผลิตเป็นแป้งนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ ประเด็นคือ เรื่องราวเหล่านี้มีการให้ความรู้แก่ประชาชนมากพอหรือยัง อีกทั้งการเลี่ยงจะไม่กินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ตามธรรมชาตินั้นอาจเป็นไปได้ยากในบางกลุ่มชนในบางภูมิภาคของโลก         บทความเรื่อง High cassava production and low dietary cyanide exposure in mid-west Nigeria ในวารสาร Public Health Nutrition ของปี 2000 ให้ข้อมูลว่า หัวและใบมันสำปะหลังดิบนั้นบริโภคไม่ได้ เนื่องจากมีสารไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์หลัก 2 ชนิด คือ ลินามาริน (linamarin) และโลทอสตราลิน (lotaustralin) แต่สารพิษเหล่านี้ยังไม่ออกฤทธิ์จนกว่าถูกย่อยสลายโดยเอ็นซัมลินามาเรส (linamarase ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติในเซลล์ของมันสำปะหลังแต่แยกกันออกจากไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์โดย โดยอยู่ในส่วนเฉพาะเหมือนถุงหุ้มภายในเซลล์ของมันสำปะหลัง) ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ระเหยสู่อากาศรอบบริเวณสถานที่เก็บหัวมันหรือผลิตแป้งมัน ในกรณีที่ก๊าซระเหยหายไปหมดย่อมทำให้ได้แป้งที่ได้มีความปลอดภัยต่อการบริโภค         นอกจากนี้บทความเรื่อง Occupational exposure to hydrogen cyanide during large-scale cassava processing, in Alagoas State, Brazil ในวารสาร Cadernos de Saúde Pública (คาแดร์โนส เด เซาเด ปุบลิกา หรือ สมุดบันทึกสาธารณสุข) ของปี 2017 ให้ข้อมูลว่า การแปรรูปมันสำปะหลังที่มีสารประกอบไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ในระดับอุตสาหกรรมใหญ่จนถึงอุตสาหกรรมพื้นบ้านของบราซิลนำไปสู่การปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์สู่อากาศ ซึ่งพนักงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องรับไฮโดรเจนไซยาไนด์อย่างต่อเนื่องผ่านการหายใจ การสัมผัสทางผิวหนัง และอาจได้รับทางปากด้วยในบางกรณี         โดยหลักการทางพิษวิทยาแล้วเมื่อใดที่สารประกอบไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายในระดับที่ไม่ก่อพิษเฉียบพลัน สารประกอบไซยาไนด์ส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนโดยกระบวนการที่ใช้เอ็นซัมโรดาเนส (ซึ่งพบในไมโตคอนเดรียของเซลล์) ได้เป็นสารประกอบไธโอไซยาเนต (thiocyanate) ซึ่งมีอันตรายน้อยกว่าและถูกขับทิ้งออกจากร่างกายทางปัสสาวะ และไซยาไนด์จำนวนเล็กน้อยที่เหลือในร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งออกจากร่างกายผ่านทางลมหายใจ โดยรวมแล้วสารประกอบไซยาไนด์ปริมาณต่ำและผลิตภัณฑ์จากไซยาไนด์ที่เกิดจากการกำจัดพิษส่วนใหญ่ถูกขับออกจากร่างกายภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการสัมผัส         สำหรับในประเด็นที่ว่าการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ธรรมชาติมีส่วนในการก่อให้เกิดลูกวิรูปต่อเด็กในท้องผู้บริโภคสตรีหรือไม่นั้น เรื่องนี้สำคัญมากต่อการพัฒนาประชากรโลกซึ่งผู้เขียนพบว่า มีเอกสารเรื่อง Cyanogenic glycosides (WHO Food Additives Series 30) ในเว็บของ www.inchem.org มีข้อมูลในหัวข้อ Special studies on embryotoxicity and teratogenicity ซึ่งอ้างบทความเรื่อง Congenital malformations induced by infusion of sodium cyanide in the Golden hamster ในวารสาร Toxicology and Applied Pharmacology ของปี 1982 ซึ่งเป็นการศึกษาในหนูแฮมสเตอร์สีทองที่ตั้งท้องแล้วได้รับเกลือโซเดียมไซยาไนด์ในวันที่ 6-9 ของการตั้งท้อง สารพิษนั้นถูกให้แก่แม่หนูผ่านเครื่องปั๊มออสโมติกขนาดเล็กที่ฝังใต้ผิวหนังด้วยอัตรา 0.126-0.1295 มิลลิโมล/กิโลกรัม/ชั่วโมง ซึ่งผลการศึกษาพบว่า มีการชักนำให้เกิดการหายไปของตัวอ่อน (resorptions) ในมดลูกของแม่หนู และพบว่าลูกหนูที่คลอดออกมามีรูปร่างผิดปกติ (malformations) ซึ่งความผิดปกติที่พบมากสุดคือ ความบกพร่องของท่อประสาท (neural tube defects) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจในบทความนี้กล่าวว่า การเกิดคอพอกในพลเมืองของสาธารณรัฐซาอีร์ (Zaire) ซึ่งประชาชนกินอาหารทำจากมันสำปะหลังที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ดีพอนั้นได้รับผลกระทบจากสารประกอบไธโอไซยาเนต (ซึ่งเกิดในร่างกายหลังจากการพยายามกำจัดไซยาไนด์ทิ้ง) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น         มีสมมุติฐานหนึ่งที่น่าสนใจกล่าวว่า สารประกอบไธโอไซยาเนตนั้นมีขนาดโมเลกุลใกล้เคียงกับโมเลกุลของไอโอดีน ดังนั้นสารประกอบไธโอไซยาเนตจึงอาจขัดขวางการดูดซึมไอโอดีนไปใช้ในการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ อย่างไรก็ดีระดับไทโอไซยาเนตที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับสารประกอบไซยาไนด์จะส่งผลต่อต่อมไทรอยด์เฉพาะเมื่อผู้บริโภคได้รับไอโอดีนต่ำกว่า 100 ไมโครกรัม/วัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณไอโอดีนน้อยที่สุดที่ร่างกายต้องได้รับ งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ประชากรที่ได้รับสารไซยาไนด์จากมันสำปะหลัง (ที่แปรรูปไม่ดีพอ) จะไม่เป็นโรคคอพอกตราบเท่าที่ได้รับไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย นี่แสดงว่าประเทศไทยมาได้ถูกทางแล้วที่กำหนดให้เกลือบริโภคต้องมีการเติมไอโอดีน          สำหรับเด็กในท้องแม่ที่พัฒนาอวัยวะครบถ้วนหรือคลอดออกมาแล้วถ้าได้รับสารประกอบไซยาไนด์และ/หรือไธโอซัลเฟตในขนาดต่ำนั้นจะเป็นอย่างไรนั้น มีบทความเรื่อง Public Health Statement for Cyanide จากหน่วยงาน ATSDR (Agency for Toxic Substances and Disease Registry) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งปรากฏในเว็บของ US.CDC (www.cdc.gov) ให้ข้อมูลว่า ตลอดระยะเวลาที่แม่ตั้งครรภ์และได้รับก๊าซไซยาไนด์ เช่น จากควันบุหรี่หรือจากการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ ทารกในครรภ์จะได้รับไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตผ่านรก นอกจากนี้การศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่า ไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตสามารถขับออกมาในน้ำนมไปยังลูก         ในกรณีที่แม่กินอาหารที่มีแป้งมันสำปะหลังเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตแล้วตั้งท้อง โอกาสที่จะเกิดปัญหากับลูกที่เกิดมาย่อมเป็นไปได้แม้ว่ายังไม่มีรายงานว่า สารประกอบไซยาไนด์ทำให้เกิดความพิการในคนโดยตรงแต่สามารถพบได้ว่า ผู้คนในเขตร้อนบางประเทศที่กินมันสำปะหลังเป็นแหล่งของอาหารแป้งนั้น เด็กบางส่วนเกิดมาพร้อมด้วยปัญหาของไทรอยด์ ซึ่งอาจเกี่ยวกับการได้รับไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตจากแม่ในระหว่างตั้งท้องในลักษณะเดียวกับที่พบความผิดปรกติแต่กำเนิดในหนูทดลองที่แม่หนูถูกเลี้ยงด้วยอาหารมีแป้งมันสำปะหลัง ดังแสดงในบทความเรื่อง Effect of Cyanogenic Glycosides and Protein Content in Cassava Diets on Hamster Prenatal Development ในวารสาร Fundamental and Applied Toxicology ของปี 1986 ซึ่งรายงานผลการศึกษาที่ให้หนูแฮมสเตอร์ในช่วงวันที่ 3-14 ของการตั้งท้องได้รับอาหารทดลองซึ่งประกอบด้วยมันสำปะหลังป่น (ชนิด sweet cassava ซึ่งมีสารประกอบไซยาไนด์ต่ำหรือ bitter cassava ซึ่งมีสารประกอบไซยาไนด์สูง) 80 ส่วนและอาหารหนูปรกติ 20 ส่วน พร้อมมีกลุ่มควบคุมได้รับอาหารปรกติซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับอาหารทดลองแล้วผลการศึกษาพบว่า ความเข้มข้นของไทโอไซยาเนตเพิ่มขึ้นสูงในปัสสาวะ เลือด และในเนื้อเยื่อทั้งตัวของลูกหนูที่แม่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารมีแป้งมันสำปะหลัง นอกจากนี้ลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินอาหารทดลองมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินอาหารควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับหลักฐานของความเป็นพิษที่เกิดต่อลูกในท้องนั้นพบว่า การสร้างกระดูกหลายส่วนในลูกหนูลดลง อีกทั้งอาหารมันสำปะหลังที่มีสารประกอบไซยาไนด์สูงยังสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนลูกสัตว์แคระแกรนเมื่อเปรียบเทียบกับลูกของแม่หนูที่กินอาหารปรกติ         ประเด็นว่าโดยทั่วไปผู้บริโภคควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากไซยาไนด์ที่ได้รับจากอาหารที่กินในชีวิตประจำวันนั้น มีหลายการศึกษาพบว่า ผลกระทบของสารประกอบไซยาไนด์ระดับต่ำมักส่งผลร้ายต่อมนุษย์และสัตว์เฉพาะเมื่อมีภาวะโภชนาการไม่ดี ทั้งนี้เพราะอาหารที่มีโปรตีนสมบูรณ์ (ซึ่งมีกรดอะมิโนจำเป็นครบ) ในปริมาณที่เพียงพอมักช่วยแก้ปัญหาจากการที่ผู้บริโภคได้รับสารประกอบไซยาไนด์จากอาหาร         มีรายงานถึงประเด็นด้านสุขภาพอื่นๆ อีกที่คาดว่าเป็นผลกระทบทางอ้อมเกี่ยวกับการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ซึ่งส่งผลต่อระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ต่ำคือ บทความเรื่อง Association between maternal hypothyroidism and autism spectrum disorders in children ในวารสาร Pediatric RESEARCH ของปี 2018 ได้รายงานผลการศึกษาแบบ retrospective cohort study โดยใช้การจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน 397,201 คน ที่คลอดตั้งแต่ปี 1991 ถึงปี 2011 และยังคงเป็นสมาชิกแผนสุขภาพตั้งแต่ปี 1993 ถึงปี 2014 ซึ่งพบว่า บุตรของสตรีที่มีภาวะไทรอยด์ต่ำมีอัตราความผิดปกติในลักษณะของออทิสติกสูงเป็น 1.31 เท่าของบุตรของสตรีปรกติ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งในผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยการมีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งภาวะการมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำของแม่นั้นมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของออทิสติกทั้งเด็กชายและเด็กหญิงอย่างชัดเจน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 “ดูดไขมัน” บทเรียนที่ต้องการส่งต่อ

        ข่าวประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อจากคลินิกเสริมความงามยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางรายทำให้เสียรูปโฉมไปตลอด ไม่สามารถแก้ไข กลับคืนดังเดิมได้ กรณีของคุณพงษ์พัฒน์  ลอมคุณารักษ์ ที่ได้เข้าไปรับการฉีด Fat Away เพื่อสลายไขมันบริเวณหน้าท้องส่วนล่างที่คลินิกชื่อดังในจังหวัดพิษณุโลก ในช่วงปี 2564 นอกจากไขมันจะไม่สลายหายไปแม้แต่น้อยแล้ว เขายังต้องรักษาตัว เจาะท้อง ล้างแผลอยู่กว่าหนึ่งเดือน อันตรายที่รุนแรงที่สุดระหว่างรักษาตัวคือเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ !ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นตอนไหน อย่างไร           ช่วงปี 64 ผมเริ่มอ้วน น้ำหนักขึ้นมาเยอะมากถึง 97 แล้ว ตอนนั้นไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ผมเลยหาวิธีดู ศึกษาแล้วทางคลินิกเขาก็โฆษณามาว่า เห็นผลจริง ไม่มีอันตราย ผมถามหมดว่ามีผลเสีย มีผลกระทบอะไร คลินิกก็แจ้งว่าไม่มี เขาพูดให้เราเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขาทำมันทำได้ ผมเลยเข้าไปรับบริการ ฉีด Fat Away เพื่อสลายไขมันบริเวณหน้าท้องส่วนล่างที่คลินิก คลินิกชื่อดังในจังหวัดพิษณุโลก           พอฉีดแล้วมีรอยเข็มเต็มหน้าท้องเลย แล้วมีรอยช้ำใหญ่ วันนั้นทางแพทย์ กับเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ตอนแรก เขาบอกว่าจะไม่มีรอยช้ำ ไม่มีอะไรเลย พอเป็นแล้ว เขาก็บอกว่าประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะหาย แต่ผ่านไปรอยเข็มหาย แต่รอยช้ำก็ยังไม่หาย ทางคลินิกก็โทรชวนให้ผมไปฉีดเพิ่ม ผมก็บอกว่าให้หายก่อน ตอนที่ผมไปฉีดผมไม่ได้คาดหวังว่า ฉีดไปแล้วจะเห็นผล 100 %  คือผมหวังแค่ว่า ฉีดแล้ว มันจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ไม่คิดว่ามันจะกลับมาแย่ขนาดนี้ แล้วหลังจาก 2-3 สัปดาห์แล้ว อาการเป็นอย่างไร          ตอนแรกผม ไม่รู้ว่าเป็นอะไรมันเป็นรอยช้ำอย่างที่บอก ผมรอให้หายแต่ไม่หาย  ผมถ่ายรูปส่งให้คลินิก แล้วเข้าไปที่คลินิกเล่าว่าอาการเป็นแบบนี้  ช้ำแล้วเจ็บไม่หาย คลินิกก็นัดให้เข้าไปตรวจ แพทย์คนที่ฉีดให้ผมตรวจแล้วไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร หรือสาเหตุเกิดจากอะไร เขาขอออกไปโทรปรึกษาอาจารย์ใหญ่ข้างนอก พอกลับเข้ามาแล้วก็ขอเจาะ ดูด เขาโปะยาชา แล้วเขาก็ขอกรีดเลยตอนนั้นเร็วมาก เขากรีดเป็นรอย เพื่อระบายหนองออกมา หลังจากนั้นแพทย์บอกว่าต้องล้างแผลที่คลินิกทุกวันเพราะเป็นหนอง ผมบอกว่าไม่สะดวก ที่จะต้องมาล้างแผลทุกวันที่คลินิก คุณหมอเลยเสนอให้ผมไปล้างแผลที่สถานพยาบาลใกล้บ้านและให้คำมั่นว่า  ค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะค่าทำแผล ค่าน้ำมันรถไปทำแผล ค่ารักษาตั้งแต่เริ่มจนหาย ค่าตรวจร่างกายต่างๆ หากกังวลว่าจะมีผลข้างเคียงใดๆ หมอและคลินิกจะออกให้ทั้งหมด และจะโทรติดตามอาการคนไข้ทุกวัน  ผมเลยไปล้างแผลที่สถานพยาบาลที่ผมสะดวก ผมถามหมอที่คลินิกว่าผมเป็นอะไร เขาก็บอกว่า ผมเป็นหนอง    แล้วที่คลินิก บอกว่าจะรับผิดชอบ เขาได้รับผิดชอบอะไรบ้าง            วันรุ่งขึ้นผมก็ไปล้างแผลปกติ เขาก็โทรมาสอบถามอาการ ผมก็ส่งเอกสารค่าบิล ค่าน้ำมันรถ จำนวน 1,300 บาท เขาก็โอนเงินมาให้ในวันนั้นเลย  แต่วันต่อมาผมก็ไปล้างแผลอีกเพราะต้องล้างทุกวัน ทนายความของคลินิกก็โทรมา บอกว่าไม่ขอรับผิดชอบแล้ว  ให้ผมรับผิดชอบตัวเอง จะไปรักษาหรือไปทำอะไร ก็ให้เราไปรักษาเองเลย เพราะเขาไม่มั่นใจว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผม เกิดจากคลินิก  แต่ที่ได้กรีดหนองให้ในครั้งแรก เป็นความช่วยเหลือเบื้องต้นที่หมอทั่วไปก็ต้องทำ         แล้วตอนแรกที่เขาบอกว่าจะรับผิดชอบ ผมให้เขาไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจ เพราะเขาพูดอย่างเดียวมันเป็นคำพูด พอได้ยินว่า “ให้ไปลงประจำวัน” เขาไม่คุยด้วยเลย ถ้าตอนนั้นเขารับผิดชอบ เรื่องคงไม่มาถึงตอนนี้  ผมก็ไม่เข้าใจว่า เขาจะรับผิดชอบแต่เขาไม่ลงบันทึกประจำวันไว้ ผมไม่ต้องการอะไรมาก คือแค่ต้องการให้หาย และได้รับการดูแลที่ดีที่สุด แม้ทางคลินิกจะบอกว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากเขา แต่คุณพงษ์พัฒน์เชื่อมั่น         ตอนที่ผมไปรักษาตัวที่สถานพยาบาล ผมไปล้างแผลทุกวัน แล้วไปตรวจกับแพทย์เฉพาะทางทุก 2 สัปดาห์ ผมถามว่าผมเป็นอะไร หมอก็บอกว่า เรื่องนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่น่าจะมาจาก 2 สาเหตุคือ 1. เกิดจากกระบวนการ ที่เข็มอาจจะไม่สะอาด  และ 2.เกิดจากการใช้ยา  ซึ่งการแพ้ยาเกิดได้น้อยมากซึ่งถ้าแพ้ยาคือต้องแพ้ทั้งหมด ทุกเข็มที่ฉีดไปคือจะต้องมีรอยทั้งหมดเลย  ไม่น่าจะเกิดแค่รอยเดียว ผมพยายามสอบถามคนรู้จักที่ทำคลินิกด้วยกันมาเรื่อยๆ  ผมก็มั่นใจที่จะต่อสู้ ตลอดเวลาที่รักษาตัว  มีอาการเป็นอย่างไร         ช่วงที่รักษาตัว ผมไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้เลยเพราะว่าทำแผลเป็นแผลเปิด ไม่ใช่แผลเย็บ ฆ่าเชื้อ ใช้ยา และยัดเข้าไปแผล  แล้วก็ต้องรอจนกว่าเนื้อจะเติมเข้ามาเต็ม ซึ่งต้องใช้เวลา         ผมรักษาตัว ทำแผลอยู่กว่า 1 เดือน ระหว่างนี้ก็มีหนองทุกวัน ผมไปล้างแผลทุกวัน ผมใช้ชีวิตปกติไม่ได้เลยผมนอนไม่ค่อยหลับ เวลานอนเลือด หนอง ออกมาตลอดเวลา ผมเครียดมาก         นอกจากอาการทางร่างกาย จิตใจ ช่วงนั้นผมก็ขาดรายได้ด้วย ผมทำอาชีพอิสระเป็นเหมือนนายหน้า   วิ่งซื้อของส่งช่วงนั้นคือจะทำไม่ได้ เพราะว่าเดินทางไม่ได้ แล้วเริ่มดำเนินการเพื่อต่อสู้อย่างไร         หลังจากแผลหายแล้ว  ผมก็ไปแจ้งความเลย แต่พอแจ้งความแล้ว ทนายความของคลินิกก็ติดต่อผมมาเลย   ทนายความของคลินิกติดต่อมาว่าอย่างไร         เขาให้ผมยุติการดำเนินการต่างๆ คือให้เราจบ  จบๆ กันไป  เหมือนว่าไม่ต้องมีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ยอมจบ เขาจะฟ้องกลับ พูดทำนองเรื่องนี้พิสูจน์ไม่ได้  ถ้าเราดำเนินคดีกับคลินิก เขาก็จะดำเนินการฟ้องกลับ เขาพูดว่าสิ่งที่เกิดกับผมไม่ได้เป็นความผิดของเขา แต่คุณพงษ์พัฒน์ไม่ได้หวั่นกลัว         ใช่ครับ ไม่ได้หวั่นกลัว แต่หวั่นใจว่าเกิดอะไรกับร่างกายเรา แต่มันเลยจุดที่เราจะกลัวมาแล้ว เพราะว่าตอนที่ผมรักษาตัวทรมานมากหมอที่รักษาผมยังบอกว่า เรื่องนี้ถ้าเลวร้ายที่สุดคือสามารถทำให้เสียชีวิตได้เลย  1 เดือนที่เราต้องรักษาตัวมาก่อนที่เราจะแจ้งความ ผมเลยจุดเลวร้ายมาแล้ว  แต่ผมต้องการที่จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพราะตอนที่รักษาตัวก็ไม่ได้มาดูแล แล้วยังเอาทนายมาข่มขู่  ตอนนั้นผมก็รู้สึกว่า ไม่มีอะไรจะเสียแล้วระหว่างต่อสู้ ผมก็หาข้อมูลมาตลอด หลังจากแจ้งความแล้ว ดำเนินการต่ออย่างไร            หลังจากที่ผมแจ้งความเสร็จ  ผมก็ไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่ สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดพิษณุโลก และยื่นขอความเป็นธรรม ตามหน่วยงานต่างๆ  ยื่นตามเพจขอความช่วยเหลือ มียื่นขอความเป็นธรรมกับรายการ สำนักข่าวช่อง 36  ร้องเรียนกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  ต่อมา สำนักงานสาธารณสุขก็เข้ามาตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วเขาก็ส่งความเห็นมาว่า  เกิดจากความบกพร่องของคลินิกเรื่องการจัดการ เขาได้ส่งใบตรวจยืนยันได้ว่าผมมาใช้บริการที่นี่จริง  ผมก็เอาใบนี้มาให้ตำรวจ ผมเข้าไปปรึกษาทางสำนักงานอัยการ เขาบอกว่า เรื่องนี้มันก็มีมูล  คือว่าให้เราแจ้งความและสามารถดำเนินคดีได้ ผมกลับมาหาตำรวจบอกว่าหลักฐานยังไม่เพียงพอให้รอก่อน หลังจากนั้นผมก็ยื่นเรื่องไปที่แพทยสภา  แพทยสภาบอกว่าต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบ         ผมเดินทางเข้ากรุงเทพ ไปที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข  เพื่อไปยื่นเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบ เอาใบที่เขาแจ้งว่า บกพร่อง หลังจากนั้น เขาก็บอกว่า เขามีมูลความผิด ทำไมสาธารณสุขไม่ทำการลงโทษ  หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์มีใบแจ้งมาที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่จังหวัดพิษณุโลก ให้ดำเนินการลงโทษ แจ้งคลินิกและปรับกรรมการผู้บริหาร  และแพทย์ประมาณ 4 หมื่นกว่าบาท เข้าข่ายความผิดฐาน ผิด พรบ.  โฆษณา โอ้ อวด เกินความจริง         การยื่นเรื่องที่แพทยสภา เขาก็ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวน มีหนังสือมาให้ผมเดินทางไปที่แพทยสภาผมเล่าเหตุการณ์ว่าเป็นอย่างไรจนสุดท้ายก็มีหนังสือออกมาว่าแพทย์ที่ให้บริการผมมีความผิดจริง  ผมได้มายื่นร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย มีเจ้าหน้าที่โทรติดตามสอบถามว่าผมเป็นอย่างไรบ้าง อยู่ต่อเนื่อง   เรียกได้ว่า คุณพงษ์พัฒน์ได้ต่อสู้ จนถึงที่สุด         ครับ เพราะระหว่างที่ยังมีเรื่องนี้กับผม เขาก็ยังเปิดขายคอร์สแบบนี้  ไม่ได้หยุด อะไรเลยซึ่งส่วนหนึ่งที่ผมออกมาร้องเรียน และยื่นเรื่องเพื่อจะเอาผิด เพราะผมต้องการเตือนให้ทุกคนรู้ด้วยว่า สิ่งที่เขาขาย มันไม่ได้มีความปลอดภัยนะ แต่ระหว่างนี้ผมก็ไม่ได้ประจาน ฝากถึงประชาชนที่อาจจะตกเป็นเหยื่อได้         ผมเข้าใจว่าทุกคนต้องการผลลัพธ์ที่แบบว่า  ลดน้ำหนัก ต้องการให้เห็นผลเร็วที่สุด แต่วิธีการแบบนี้เรา เป็นหนูทดลองยาด้วย การลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ดีที่สุดแล้ว เราไม่ควรไปพึ่งพวกที่เป็นสารแต่งเติม หรือว่าอะไรมาช่วยเราด้านนี้  และเวลาเกิดปัญหาขึ้น คืออยากให้ตั้งสติและพยายามต่อสู้และหาข้อมูล  และเราก็ต้องยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาทำงานด้วย  เพราะเราก็ไม่สามารถที่จะสู้คนเดียวได้ และการต่อสู้ต่างๆ  เราได้คำแนะนำของหน่วยงานด้วยว่าเราต้องทำอย่างไร  1-2- 3- 4   เพราะถ้าคนทั่วไปจะไม่รู้ได้เลยว่า การต่อสู้จะต้องทำอย่างไร แล้วการดำเนินคดีกับแพทย์เป็นเรื่องที่ยาก  เพราะมีกฎระเบียบมาควบคุมอยู่ว่า  ถ้าจะดำเนินคดีกับแพทย์ ต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทยสภาก่อน แต่แพทยสภาก็ไม่ได้ปกป้องแพทย์เสมอไปถ้าแพทย์ผิดจริง สามารถดำเนินคดีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 "แฉเล่ห์! ผู้ค้าน้ำมันหากินกับส่วนต่างราคา"

หากินกับส่วนต่างราคาน้ำมัน, ปกปิดราคาอ้างอิงตลาดสิงคโปร์, ปกปิดข้อมูลสต็อกน้ำมันเหล่านี้คือสิ่งที่กระทรวงพลังงาน ไม่ยอมให้สังคมเห็นต้นตอทำราคาขายปลีกน้ำมันแพง         ผู้บริโภคเคยสงสัยกันไหมว่า น้ำมันดิบเวลาเอาไปกลั่นเป็นน้ำมันเบนซินและดีเซล กระทรวงพลังงาน ที่กำกับดูแล ปตท. (การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย )จึงอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ เพราะฉะนั้น ราคาที่ปรับขึ้น-ลง ก็ควรเป็นตลาดสิงคโปร์ ใช่ไหม อ้าว ! แล้วทำไมเวลาประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันสำเร็จรูปถึงไปอ้างอิง OPEC ( Organizationof the Petroleum Exporting Countries องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก )         ประเด็นต่อมา ถือว่าสำคัญสุดยอด ในเมื่อประเทศไทย ใช้สูตรอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์แต่ทำไม กระทรวงพลังงาน กลับไม่ยอมโชว์ตัวเลข โดยอ้างว่า เป็นข้อมูลลับ มีอะไรในกอไผ่ ! คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค บอกกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แฉข้อมูลเชิงลึกแบบละเอียดยิบ         “ราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับขึ้นหรือลง จะมีผลตามหลังราคาน้ำมันดิบ 1-2 วัน เช่นหากราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ประกาศวันใดก็ตาม ให้นับเป็นวันแรก ถัดจากนั้น อีก 1-2 วัน ให้จับตาดูราคาน้ำมันสำเร็จรูป จะถูกประกาศลดหรือเพิ่มตามราคาน้ำมันดิบ ก็อย่างที่ผู้บริโภค ได้เห็นเวลาประกาศขึ้นราคาขายเอาซะเยอะเชียว แต่พอเวลาลดราคาขายกลับลงแค่นิดเดียว อันนี้แหละ ที่จะบอกให้ว่าผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ มักใช้ข้ออ้างเรื่องสต็อกน้ำมัน ที่มีต้นทุนสูงอยู่เดิมนั่นมันแค่การพูดให้ชาวบ้านสบายใจว่า ทุกอย่างเป็นไปตาม “กลไกราคาตลาด“ แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลสต็อกน้ำมัน ไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน คำถามคือทำไมต้องปกปิด “มีเรื่องที่ตลกมาก กระทรวงพลังงานไม่ยอมเปิดข้อมูล “ราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงหน้าโรงกลั่นตลาดสิงคโปร์”         ณ วันที่ออกประกาศขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในไทย ลองไปหาดูกันสิ ไม่มีเว็บไซต์ไหน เอาขึ้นมาโชว์ เป็นไปได้อย่างไรที่หน่วยงานรัฐบาลซึ่งออกนโยบายว่าประเทศไทยอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ แต่ไม่ยอมเอาข้อมูลมาเปิดเผยวันต่อวัน ...ผู้บริโภคเคยสังเกตไหมว่า ทำไมปตท. ถึงประกาศปรับราคาน้ำมันตอน 5 โมงเย็นทุกครั้ง มีเล่ห์กลที่ผู้บริโภคคาดไม่ถึงเลยทีเดียว!         “เวลาของสิงคโปร์เร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง ตลาดน้ำมันปิด “4 โมงเย็น จังหวะนี้แหละที่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของไทย เห็นราคาล่วงหน้าจึงคำนวณได้ว่าหาก 5 โมงเย็นประกาศขึ้นหรือลดราคาน้ำมัน30 หรือ 60 สตางค์ /ลิตร ไม่เจ็บตัวเท่าไหร่ อ้าว! เห็นตัวเลขล่วงหน้าแบบนี้มันไม่ใช่กลไกตลาด แถมไม่ได้เห็นวันเดียวด้วยนะ เพราะคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ใช้วิธีคิดแบบถัวเฉลี่ยของราคาสิงคโปร์ย้อนหลังไปอีก 2 วัน เพื่อเอามาคำนวณกับวันที่ 3 ซึ่งใช้ประกาศ ลด -เพิ่ม ราคาน้ำมันสำเร็จรูป เพราะฉะนั้น เขาถึงบอกว่า วันนี้จะลดให้ 30 สตางค์หรือ 60 สตางค์ แต่พอเห็นจังหวะที่ไม่ส่งผลบวก ก็รีบชิงปรับขึ้นราคาล่วงหน้า 1 วัน ได้กำไรเฉพาะวันนั้น 300 ล้านบาท นี่แหละเป็นวิธีที่เขาเล่นกันแบบนี้! ผมเคยส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดข้อมูล“ราคาน้ำมันสำเร็จรูปอ้างอิงหน้าโรงกลั่นตลาดสิงค์โปร์” เพื่อเทียบเคียงกับ“โครงสร้างราคาน้ำมันของไทย “จะได้คิดย้อนทวนคำนวณราคาต่อลิตร”1 บาท หรือ 2 บาท แต่พอไม่ยอมเปิดข้อมูลมีปัญหาแล้ว แถมไม่เคยมีคำตอบอธิบายความใดๆ มีแต่ข้ออ้างที่ว่า “เปิดไม่ได้เพราะเป็นราคาที่เขาต้องซื้อข้อมูล” ขอถามกลับว่าตลาดอะไรต้องซื้อข้อมูล อย่างนี้ไม่เรียกว่าตลาดแล้ว ตลาดหมายถึงว่าเขาจะต้องประกาศที่หน้าป้ายอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เป็นสาธารณะให้ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย รับทราบด้วยกัน การปิดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแสดงให้เห็นถึงการ “ไม่มีธรรมาภิบาล” แต่กระทรวงพลังงานกลับได้คะแนนโหวตดีเด่นด้านความโปร่งใส         คุณอิฐบูรณ์บอกว่า ทุกวันนี้ต้องใช้ข้อมูล “วงใน” วันต่อวัน เพื่อดูราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่รัฐบาลประกาศ โดยเขียนบทความแหย่เบาๆ เช่น “วันนี้พวกคุณโกงเรา, ไม่ยอมปรับลดราคา2วันแล้วนะ” อีกทั้งยังพบความผิดปกติจากราคาหน้าโรงกลั่นที่รัฐบาลเอามาแถลงอยู่บ่อยครั้งเพื่อทำให้ค่าการตลาดมันสูงขึ้นหรือ ดีดกลับแบบประหลาดๆ เหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่ผมต้องการสื่อสารไปถึงชาวบ้านให้รู้เท่าทัน และที่ยากที่สุดของการอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ มันคืออะไรรู้ไหม? มันคือ“ราคาค่าการกลั่น “บางทีคิดจากความต่างระหว่างราคาสิงคโปร์กับราคาน้ำมันดิบดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยิ่งหากราคาสิงคโปร์ห่างจากราคาน้ำมันดิบดูไบก็จะยิ่งได้ค่าการกลั่น เพราะนี่คือกำไรขั้นต้นก่อนที่จะหักต้นทุนสุทธิออกมาเป็นกำไรสุทธิ ดังนั้น จึงมีขบวนการดันให้ราคาตลาดสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบดูไบ ทำให้ค่าการกลั่นบางช่วงพุ่งไป 5 บาท ถึง 6 บาท ได้กำไรกันทีเป็นแสนล้านบาทเรียกว่า “หากินกับส่วนต่างราคาน้ำมัน” เพราะสิ่งนี้ ไม่ได้เกิดจากต้นทุนของโรงกลั่นที่แท้จริง แต่มันคือ ราคาที่ถูกสมมุติ รวมกันถึง 2 สมมุติ กระทั่งกลายร่างออกมาเป็นราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นแบบสมมุติแถม ยังบวกด้วย ค่าขนส่งสมมุติแล้วก็มาเก็บเงินเป็นราคาขายที่แพงเอากับประชาชน อย่างหลังสุดนี่คือของจริง หากยังมองไม่เห็นภาพ ผมขออธิบายความชัดๆ เริ่มจาก ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่ถูกสมมุติเพราะฉะนั้นค่าการตลาด ก็เป็นสิ่งสมมุติ ซึ่งค่าการตลาดรัฐบาลกำหนดให้อยู่ที่ 2 บาท นี่ก็สมมุติเพราะไม่มีใครรู้เลยว่า ปตท. เอาต้นทุนร้านกาแฟ, ค่าพื้นที่เวิ้งว้างที่เอามาทำธุรกิจย่อมๆ, ร้านค้าปลีกต่างๆ, ธุรกิจโรงแรมธุรกิจถูกเอามารวมเป็นต้นทุน-ค่าโสหุ้ยของค่าการตลาดน้ำมันด้วยหรือเปล่า ผมเคยเสนอให้ ปตท. แยกบัญชี แต่กลับเห็นการเอาที่ดินทั้งแปลง มารวมเป็นค่าการตลาด แล้วก็มาอ้างเหตุผลว่า ได้ค่าการตลาด 2 บาทน้อยมากเลย ยังขาดทุนอยู่นะ ทั้งที่ความเป็นจริงผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ปรับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปช้าและลดราคาน้อยกว่าที่ควรเป็น ทำค่าการตลาดน้ำมันพุ่งสะสมขึ้นไปถึง3 บาทต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ประกาศ และทำให้ผู้ใช้น้ำมันต้องเสียเงินกับค่าการตลาดสูงที่เกินควรร่วมกว่า 300 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566         ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการปล่อยลอยตัว ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทีไร้การควบคุม, ต้องกำหนดเกณฑ์ค่าการตลาดที่เหมาะสมเป็นมาตรการบังคับ, ต้องตรวจสอบและเปิดเผยให้สาธารณชนทราบถึงต้นทุนการประกอบการและต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่โรงกลั่นขายให้ผู้ค้าน้ำมันที่มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมากที่สุด 2 ลำดับแรก คือ บริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. และบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาอ้างอิงของ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)ตามที่ผู้ค้าน้ำมันกล่าวอ้าง เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลทำได้ตามนี้ จึงจะถือได้ว่าเห็นแก่ประโยชน์ของบริโภคอย่างแท้จริง! ผู้เขียน : นิชานันท์ ธัญจิราโชติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ดูแลริมฝีปากช่วงหน้าหนาว

        เริ่มเข้าช่วงเดือนแห่งความหนาวกันอีกรอบ (ช่วงเวลาหนาวแต่อากาศไม่หนาว)  หลายคนคงหนีไม่พ้นปัญหาสุดคลาสสิกผิวแห้ง แตก ผิวหน้าลอกเป็นขุย รวมถึงริมฝีปากที่แตกแห้งน่ารำคาญ ริมฝีปากบางคนถึงขั้นสามารถดึงลอกผิวที่ปากออกมาได้เป็นแผ่นๆ        ริมฝีปากหากไม่ดูแลก็สร้างความผิดหวังหรือลดทอนความสง่างามของบุคลิกได้ การดูแลริมฝีปากควรเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรให้ความใส่ใจและดูแลเป็นประจำ ถึงแม้ว่าช่วงสถานการณ์โควิดจะทำให้เราใส่หน้ากากอนามัยจึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับริมฝีปากมากนัก แต่การดูแลให้มีสุขภาพดีไม่แห้งแตกคงจะดีมากกว่าปกปิดไปเรื่อยๆ ฉลาดซื้อจึงมีวิธีดูแลรืมฝีปากง่ายๆ มาฝาก         สาเหตุริมฝีปากแห้ง หลักๆ ก็คือสภาพอากาศที่ความชื้นในอากาศลดน้อยลง หรืออากาศเย็นขึ้นทำให้ร่างกายผิวของเรานั้นมีการสูญเสียน้ำได้ง่ายกว่าปกติ จนเกิดความเปลี่ยนแปลงสมดุลของผิวหนัง ทำให้ผิวแตกแห้งได้ง่ายกว่าปกติ         วิธีดูแลริมฝีปากไม่ให้แห้งแตก        ·     แบบง่าย คือการบำรุงด้วยความชุ่มชื้น เช่น ลิปมัน ลิปบาล์มที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียม ขี้ผึ้ง หรือลิปมันปกติที่มีค่าการป้องกันแดดได้ เพราะแสงแดดก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุเช่นกัน และควรที่จะทาเป็นประจำ เช้า ระหว่างวัน และก่อนนอน แม้จะไม่ใช่หน้าหนาวก็ตาม เพื่อให้ริมฝีปากชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา        ·     การดื่มน้ำบ่อยๆ ให้เพียงพอ 8-10 แก้วเป็นประจำ        ·     ระมัดระมัดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาริมฝีปาก เช่น พวกที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ง่ายอย่างลิปสติกที่มีน้ำหอมเป็นส่วนประกอบเป็นต้น ดังนั้นก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ควรอ่านฉลากเช็กให้ละเอียด        ·     หากเกิดอาการที่ไม่ใช้แค่แห้งแตก ลอกเป็นขุย แต่เป็นอาการแพ้คัน ให้สังเกตว่าอาจจะเกิดจากผลิตภัณฑ์ที่เราใช้อย่างพวก ยาสีฟัน หรือลิปสติกที่มีส่วนประกอบที่ทำให้ระคายเคือง ดังนั้นควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยนั้นทันที        ·     ในกรณีสงสัยว่าจะแพ้จากสารเคมีอื่นจริงๆ ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยทำ patch test ทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง        ·     สิ่งที่ไม่ควรทำหากริมฝีปากแตกแห้ง คือ การใช้น้ำลายเลียที่ปากนั้นเอง เพราะหากสังเกตดีๆ คนที่เคยทำจะพบว่าเหมือนริมฝีปากเรานั้นมีอาการที่แห้งแตกยิ่งกว่าเดิม          ทั้งนี้ นอกจากการเลียริมฝีปากแล้วก็ห้ามทำพฤติกรรม เช่น กัดริมฝีปากเนื่องจากเวลาเราปากแห้ง ต่อมา ถ้าไม่มีการบำรุงหรือให้ความชุ่มชื่นแก่ริมฝีปากมากพอก็จะก่อให้เกิดการแตกและบางคนก็อาจจะกัดผิวที่แตกลอกออกมา รวมถึงการใช้มือแกะหรือเกาอีกด้วย จนทำให้เกิดแผลที่ริมฝีปากเล็กๆ ได้ ที่ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะริมฝีปากเป็นสิ่งที่บอบบางพอสมควรหากเกิดแผลแล้วอาจจะก่อให้ติดเชื้อได้ด้วย ที่สำคัญลิปสติกหรือลิปบาล์มแบบกระปุกก็ไม่ควรที่จะใช้ร่วมกับผู้อื่นด้วยเหมือนกัน         อีกเรื่องที่ฉลาดซื้ออยากให้ระวังคือพวกลิปสติกปลอม เพราะก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ริมฝีปากพังได้ เกิดการระคายเคือง พุพอง แสบคัน ลอก จากสารเคมีที่ไม่รู้ว่าใส่อะไรเข้าไปบ้างและตรวจสอบได้ยาก ซึ่งน่ากลัวกว่าการที่ปากเราแห้งแตกจากอากาศหนาวอีกนะคะ         ข้อมูลจาก : https://www.pobpad.com/%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%87-%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81        https://www.pobpad.com/%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%87-%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81-%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B9%89        https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=961

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 เอาแล้วโดนหลอกขายน้ำมันพืชราคาถูก

        ยุคข้าวของแพง ใจใครจะไม่หวั่นไหวเมื่อมีการเสนอขายสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาด         คุณดาวเรือง เป็นแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง ทุกวันนี้ต้องปรับราคาขายขึ้นไปเพราะไม่อาจทนต้านราคาสินค้าซึ่งถีบตัวสูงได้ โดยเฉพาะน้ำมันพืชที่ต้องใช้จำนวนมาก และราคาก็สูงขึ้นเป็นเท่าตัว แต่ปรับมากไปลูกค้าก็จะหนีหายกันไปหมด วันหนึ่งมีคนรู้จักมาบอกว่า “ฉันรู้แหล่งซื้อน้ำมันพืชยี่ห้อดังนะ น้ำมันปาล์มราคาถูกกว่าตลาด ขายแค่ 3 ขวด 100 บาท เพราะเขาได้รับปันส่วนมาจากบริษัท สนใจไหม”         แน่นอนดีลนี้คุณดาวเรืองหูผึ่งทันที ด้วยว่ารู้จักกันกับคนที่นำข่าวมาบอกพอสมควรและเขาก็เอาหลักฐานที่อยู่ของคนที่เสนอขายมานำเสนอ คุณดาวเรืองจึงสั่งซื้อไปหลายลัง แต่หลังโอนเงินไปรอแล้วรออีกสินค้าก็ไม่มาตามสั่ง วันหนึ่งก็เห็นข่าว ตำรวจรวบแก๊งหลอกขายน้ำมันพืชราคาถูก “ตายๆ ฉันจะทำอย่างไรดี” แน่นอนคุณดาวเรืองมั่นใจแล้วว่าตนเองโดนหลอกแน่ และคนรู้จักคนนั้นก็พลอยหายหน้าไปด้วย จึงโทรมาปรึกษากับทาง มพบ. ว่าตนเองควรทำอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิแนะนำให้คุณดาวเรืองนำหลักฐานที่มีทั้งหมด ทั้งใบสั่งซื้อ ชื่อ เลขที่บัญชีที่โอนเงินเข้า รีบนำไปแจ้งความทันที         กรณีนี้นำมาฝากเป็นข้อเตือนใจ หากพบว่ามีใครนำเสนอขายสินค้าใดก็ตามที่ราคาถูกผิดปกติ คือถูกกว่าราคาตลาดไปมาก ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่า เป็นเรื่องหลอกลวงไม่ควรหลงเชื่อเพื่อจะได้ไม่ต้องสูญเสียเงินทอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ราคาน้ำมันในกำมือของพ่อค้าพลังงาน (2)

        ในปี 2564 คนไทยใช้น้ำมันสำเร็จรูปจำนวน 134 ล้านลิตรต่อวัน หากมีการคิดค่าการกลั่นรวมสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นสัก 3 บาทต่อลิตร ก็คิดเป็นมูลค่าที่ถูกปล้นไปถึงวันละ 500 ล้านบาท ที่น่าสังเกตก็คือ ในเดือนกันยายน 2564 รัฐบาลเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลลิตรละ 1 บาทเพื่อเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลได้นำเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยถึง 9.30 บาทต่อลิตร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นี่คือหนี้ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายคืนในภายหลัง เมื่อราคาน้ำมันลดลง         เราในฐานะผู้บริโภคไม่มีทางทราบได้หรอกว่า ค่าการกลั่นรวมควรจะเป็นเท่าใดจึงจะเป็นธรรมกันทั้งสองฝ่ายระหว่างเจ้าของโรงกลั่นกับผู้บริโภค แต่การที่โรงกลั่นคิดค่าการกลั่นไว้ที่ระดับไม่เกิน 2 บาทต่อลิตรติดต่อกันมานานอย่างต่อเนื่องกว่า 6 ปีเต็ม ก็แสดงว่า ค่าการกลั่นที่ผ่านมาจึงเป็นที่พอใจของเจ้าของโรงกลั่นแล้ว มีกำไรแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำไปเปรียบเทียบกับค่าการกลั่นในต่างประเทศ         ถ้ากิจการกลั่นน้ำมันมี “ต้นทุนอย่างอื่น” อยู่จริง แล้วทำไมในปีอื่นๆ จึงมีค่าต่ำกว่านี้มาตลอดอย่างน้อย 6 ปีเต็ม ถ้าจะอ้างว่าเป็นสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนในการกลั่นน้ำมันสูงขึ้นก็ไม่น่าจะเป็นไปได้  เพราะต้นทุนในการกลั่น เช่น ค่าแรง ค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าสึกหรอของเครื่องจักร ก็ยังคงเท่าเดิม         หากเรายึดเอาตามนิยามของ “ค่าการกลั่นรวม” คือ มูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูป (ที่โรงกลั่น) แล้วลบด้วยราคาน้ำมันดิบ (ที่หน้าโรงกลั่น) ทั้งตัวตั้ง (คือมูลค่าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป) และตัวลบ (คือราคาน้ำมันดิบ) ซึ่งทั้งสองตัวก็มีราคาสูงขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้ (คือค่าการกลั่นรวม) จึงควรจะเท่าเดิม (หากค่าใช้จ่ายในการกลั่นเท่าเดิม)         จริงไหมครับ (หยุดคิดสักครู่)         ดังนั้น ผมจึงขอสรุปว่า การขึ้นค่าการกลั่นรวมจึงเป็นการฉวยโอกาสของเจ้าของโรงกลั่นนั่นเอง         อยากเรียกร้องให้ปลัดกระทรวงพลังงานอธิบายว่า “ต้นทุนอื่นคืออะไร” นอกจากนี้การที่ปลัดกระทรวงพลังงานอ้างว่า ธุรกิจโรงกลั่นเป็นตลาดเสรี มันเสรีจริงหรือ หรือเสรีที่จะกำหนดราคาเอาตามอำเภอใจกระนั้นหรือ         รายการเจาะลึกทั่วไทยฯ (7 มิ.ย.65) ได้นำผลประกอบการของโรงกลั่น 2 โรง พบว่า กำไรสุทธิของโรงกลั่นดังกล่าวในรอบ 3 เดือนแรกของปีนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 ทั้งปี (ดูภาพประกอบ)         ยังมีอีกสองประเด็นสำคัญที่ทำให้เราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงอย่างผิดปกติ        ประเด็นแรกคือค่าการตลาด         จากการรวบรวมข้อมูลค่าการตลาดน้ำมันเบนซินและดีเซล (เฉลี่ยรายเดือน) พบว่า ได้เกิดปรากฏการณ์ที่เหมือนกับค่าการกลั่น กล่าวคือ เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลง ค่าการตลาดก็เพิ่มขึ้น ดังแสดงในภาพ เช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2564 (ค่าการตลาด 2.02 บาทต่อลิตร) และ ธันวาคม 2564 (ค่าการตลาด 2.06 บาทต่อลิตร) เป็นต้น แม้ส่วนต่างของค่าการตลาดจะน้อยแต่เมื่อเทียบกับการใช้วันละ 134 ล้านลิตร ก็คิดเป็นมูลค่าไม่น้อย        ประเด็นที่สอง การคิดค่าขนส่งเทียม         การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยเป็นการกำหนดโดยการอิงราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ (Mean of Platts : MOP Singapore) โดยคิดการบวกด้วยค่าขนส่งน้ำมันจากท่าเรือสิงโคโปร์มายังโรงกลั่นในประเทศไทย นอกจากนี้ยังบวก ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างขนส่ง ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ฯลฯ         แต่จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน (สถานการณ์พลังงานไทย 2564) พบว่า ประเทศไทยผลิตน้ำมันสำเร็จรูปโดยโรงกลั่นในประเทศไทย จำนวน  1.106 ล้านบาร์เรลต่อวัน (161.5 ล้านลิตรต่อวัน) โดยมีการใช้ภายในประเทศ 134 ล้านลิตรต่อวัน ที่เหลือจึงมีการส่งออกประมาณ 32.3 ล้านลิตรต่อวัน  แต่ก็มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพียง 5.6 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นเราสามารถกล่าวโดยประมาณได้ว่าน้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้ในประเทศไทยทั้งหมด เป็นน้ำมันที่กลั่นในประเทศไทยเราเอง ไม่ได้นำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์แต่ประการใด แต่กระทรวงพลังงานได้กำหนดให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นไทยที่ขายให้คนไทยใช้ทั้งหมดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดสิงคโปร์ โดยบวกเอาค่าขนส่งและค่าอื่นๆ หรือที่เรียกว่า “ค่าขนส่งทิพย์” ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง        ตามธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผู้บริโภคได้เลือกรัฐบาลให้ไปเป็นผู้กำกับดูแลกติกาให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค ทั้งนี้ ต้องอย่างโปร่งไส และตรวจสอบได้ แต่รัฐบาลนี้กำลังทำอะไรอยู่จึงได้ปล่อยให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบเช่นนี้ และนับจากวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 อัตราภาษีสรรพสามิตจะลดลงอีก(คาดว่าจะเหลือประมาณ 1.34 บาทต่อลิตร) เจ้าของโรงกลั่นจะฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่นรวมไปอีกเท่าใด ผู้บริโภคต้องช่วยกันติดตาม ตรวจสอบนะครับ มิเช่นนั้นเราจะถูกเขาเอาเปรียบตลอดไป         คราวหน้า(ถ้าไม่ลืมหรือมีอย่างอื่นมาแทรก) ผมจะเขียนเรื่องมีความเป็นไปได้ไหมที่โลกจะเลิกใช้น้ำมัน และเมื่อไหร่ โปรดติดตามครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 แค่มันทอด จะอะไรกันนักกันหนา

        สารปนเปื้อนในอาหารนั้นมีผลกระทบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารตลอดห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ โดยเริ่มตั้งแต่อาหารดิบไปจนถึงอาหารปรุงสุกและ/หรือแปรรูป ประเด็นที่น่าวิตกนี้ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง Fried potato chips and French fries-Are they safe to eat? ในวารสาร Nutrition ของปี 2011 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า ปริมาณอะคริลาไมด์ (acrylamide) ในมันฝรั่งทอดเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวลเมื่ออุณหภูมิในการทอดเพิ่ม สารอะคริลาไมด์นั้นมีผลเสียต่อสุขภาพหลายประการซึ่งรวมถึงความเป็นพิษต่อระบบประสาท ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรมรวมถึงการก่อมะเร็ง         ในทางอุตสาหกรรมอะคริลาไมด์ผลิตได้จากการสังเคราะห์และถูกใช้ในการผลิตโพลีอะคริลาไมด์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ทำเรซินของไส้กรองเครื่องกรองน้ำสำหรับผลิตน้ำดื่ม ดังนั้นมนุษย์จึงมีโอกาสได้รับอะคริลาไมด์บ้างไม่มากก็น้อย         ผู้บริโภคได้รับอะคริลาไมด์ที่เกิดตามธรรมชาติจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิสูง เมื่อใช้วัตถุดิบเช่น มันฝรั่ง หรือวัตถุดิบอื่นที่มีกรดอะมิโนแอสปาราจีนสูง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น Wikipedia ให้ข้อมูลว่า ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังได้พบอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว และถั่วลิสงคั่ว และพบเป็นองค์ประกอบในควันบุหรี่ด้วย อย่างไรก็ดีแม้ว่าปริมาณที่ผู้บริโภคได้รับสารพิษนี้เข้าไปในปริมาณต่ำอาจไม่มีนัยสำคัญ แต่ความถี่ของการบริโภคอาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวจากการสะสม เมื่อผู้บริโภคมีอวัยวะภายในเช่น ตับและไต ไม่แข็งแรง         ประเด็นที่เริ่มน่ากังวลคือ อะคริลาไมด์ถูกวิเคราะห์พบเป็นสารปนเปื้อนในอาหารสำหรับทารกและเด็ก บทความเรื่อง Toxicity of acrylamide and evaluation of its exposure in baby foods ในวารสาร Nutrition Research Reviews ของปี 2010 คาดว่า ทารกและเด็กได้รับสารพิษนี้จากการบริโภคที่มากกว่าผู้ใหญ่สองถึงสามเท่าเมื่อคำนึงถึงน้ำหนักตัว ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ความเป็นพิษของอะคริลาไมด์น่าจะสูงขึ้นในเด็ก และเนื่องจากทุกวันนี้การสัมผัสกับอะคริลาไมด์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการปกป้องทารกและเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราต้องการประชากรวัยทำงานในอนาคตที่มีคุณภาพดี         นอกจากอะคริลาไมด์เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองแล้วนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า สารพิษนี้เป็นสารก่อลูกวิรูป (Teratogen) ที่ส่งผลต่อความผิดปรกติของทารกในครรภ์เมื่อแม่สัมผัสกับสารพิษนี้จากอาหาร งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า ตัวอ่อนในท้องมีการเจริญเติบโตลดลงซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยลบด้านอาหารที่แม่กิน ดังกล่าวไว้ในบทความเรื่อง Importance of growth for health and development ซึ่งอยู่ในหนังสือที่รวบรวมบทความวิจัยของการประชุม 65th Nestlé Nutrition Institute Workshop, Pediatric Program, Kuala Lumpur, March 2009 หนังสือนี้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Karger, Basel ในปี 2010 ซึ่งได้ให้ข้อมูลพื้นฐานว่า จำนวนการเกิดลูกวิรูปในสังคมมนุษย์เป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพของสิ่งแวดล้อมของทารกในครรภ์ ซึ่งรวมถึงปัจจัยต่างๆ ในอาหารของแม่ที่ส่งผลถึงสมองที่กำลังพัฒนาของทารกในครรภ์และหลังคลอด         ปรกติแล้วอันตรายต่อสมองและระบบประสาทของทารกในท้องแม่มักเกิดจากสารพิษที่มีอยู่ในอาหาร ยา หรือการติดเชื้อโรค และในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า อันตรายต่อสมองและระบบประสาทยังคงเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดความบกพร่องต่อการพัฒนาการของระบบประสาทส่งผลให้เด็กมีการรับรู้ล่าช้าและความพิการตลอดชีวิต ส่งผลต่อการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ทักษะการปรับตัวของกล้ามเนื้อในภาพรวม ระบบการคิดรับรู้ของสมอง การใช้ภาษา การใช้เหตุผลและความจำ การมีสมาธิ และความสนใจในสิ่งรอบตัว         บทความเรื่อง Structural and ultrastructural evidence of neurotoxic effects of fried potato chips on rat postnatal development ในวารสาร Nutrition ของปี 2011ให้ประเด็นที่มีคุณค่าอย่างยิ่งเพราะเป็นการนำเสนอหลักฐานการทดลองเกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบประสาทของมันฝรั่งทอดที่มีอะคริลาไมด์ในระหว่างการพัฒนาของทารกก่อนคลอดและหลังคลอด งานวิจัยนี้ระบุว่า การที่แม่หนูกินมันฝรั่งทอดซึ่งมีอะคริลาไมด์ทำให้เกิดความเสื่อมของสมองน้อยหรือซีรีเบลลัม (cerebellum) และพัฒนาการที่ด้อยลงของกล้ามเนื้อน่องของลูกหนูหลังคลอด ในการศึกษานี้หนูทดลองได้แสดงให้เห็นว่าการเจริญเติบโตที่ช้าและน้ำหนักร่างกายและสมองต่ำกว่าควรนั้นเกิดจากการให้แม่หนูกินอาหารที่มีอะคริลาไมด์ผสมอยู่ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า การบริโภคอะคริลาไมด์เช่นที่มีในมันฝรั่งทอดเป็นประจำระหว่างตั้งครรภ์น่าจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กในท้องตลอดจนในเด็กปฐมวัย ซึ่งรวมถึงอันตรายต่อการเจริญเติบโตของกระดูก ข้อมูลในบทความเรื่อง Acrylamide: increased concentration in homemade food and first evidence of its variable absorption from food, variable metabolism and placental and breast milk transfer in humans ในวารสาร Chemotherapy ของปี 2002 ได้กล่าวถึงผลในทำนองเดียวกันที่เป็นหลักฐานสำหรับผลกระทบที่เป็นอันตรายเนื่องจากการบริโภคอาหารทอดที่มีปริมาณอะคริลาไมด์เพิ่มขึ้น         ดังนั้นการได้รับอะคริลาไมด์ในอาหารจึงเป็นหัวข้อที่เหมาะสมและสำคัญสำหรับนักวิจัยด้านสุขภาพที่สนใจในการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาของเด็กก่อนคลอดและหลังคลอด จากการศึกษาต่างๆ ได้แสดงให้เห็นว่า อะคริลาไมด์ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์แป้งทอดหรือผลิตภัณฑ์ขนมอบกรอบนั้นอาจมีผลต่อระบบประสาทของประชากร เพราะปัจจุบันการบริโภคอาหารแป้งทอด เช่น เฟรนช์ฟรายส์นั้นเป็นแหล่งอาหารแป้งอันดับต้นๆ ในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา พฤติกรรมการบริโภคอาหารประเภทนี้อาจส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเด็กที่เกิดใหม่ต่ำลง         งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวประมาณว่า อะคริลาไมด์สามารถทำให้เกิดการตายของเซลล์ต้นกำเนิดของระบบประสาทและส่งผลต่อการสร้างเซลล์ประสาทของฮิบโปแคมปัส ตัวอย่างเช่นในบทความเรื่อง Acrylamide induces cell death in neuronal progenitor cells and impairs hippocampal neurogenesis. ในวารสาร Toxicology Letter ของปี 2010 ซึ่งกล่าวถึงแนวโน้มว่า อะคริลาไมด์อาจมีผลเสียต่อการซ่อมแซมตัวเองของสมอง การที่สมองสามารถฟื้นตัวและปรับโครงสร้างตัวเองได้หลังจากอาการบาดเจ็บหรือการเสื่อมสภาพของเซลล์และการฟื้นตัวในการทำงานของเซลล์สมอง ประเด็นที่กล่าวนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนากลยุทธ์การป้องกันและป้องกันระบบประสาทอย่างมีเหตุผล เพื่อลดปัญหาของการพัฒนาสมองต่ำกว่าที่ควร ซึ่งอาจทำให้การทำงานและแสดงผลลัพธ์ด้านพฤติกรรมที่ไม่ดีในประชากร         จากหลักฐานดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่า ความกังวลด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการบริโภคอาหารแป้งทอด เช่น มันฝรั่งทอดที่มีอะคริลาไมด์นั้น ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้บริโภค ผู้ผลิตอาหาร และผู้ที่ทำงานดูแลความปลอดภัยในการกินอาหาร ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการกินให้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคทั่วไปควรรู้ว่า อาหารปรุงเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับความร้อนอย่างไม่เหมาะสมอาจเต็มไปด้วยสารพิษจากการปรุงอาหารเช่น อะคริลาไมด์         ผู้เขียนเข้าใจว่า ประชาชนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความรู้หรือสนใจรู้ในปัญหาของการสัมผัสและผลกระทบต่อระบบประสาทของอะคริลาไมด์ในอาหาร ข้อมูลงานวิจัยใหม่ในปัจจุบันนั้นแนะนำว่า ควรตรวจสอบอาหารสำหรับทารกและอาหารทอดทางอุตสาหกรรมเป็นประจำเพื่อควบคุมระดับการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดควรดำเนินการเกี่ยวกับระบบการผลิตอาหารทางอุตสาหกรรมที่ดี ซึ่งควรมีการตรวจหาสารปนเปื้อนที่สามารถเกิดได้ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ราคาน้ำมันในกำมือของพ่อค้าพลังงาน (1)

        ก่อนที่จะเริ่มต้นเขียนบทความนี้ ผมได้เช็คราคาน้ำมันที่กระทรวงพลังงานประกาศ (7 มิ.ย.65) พบว่าราคาเบนซิน 51.46 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาดีเซลหมุนเร็ว 33.94 บาทต่อลิตร  ผมคิดในใจว่าน่าจะเป็นราคาที่สูงที่สุดตั้งแต่ผมจำความได้ แต่เมื่อได้เช็คย้อนหลังไปหนึ่งวันพบว่า ราคาเบนซิน 52.06 บาท โดยที่ราคาดีเซลยังเท่าเดิม        ผู้บริโภคเราหลายคนถูกทำให้เข้าใจว่า ราคาน้ำมันที่คนไทยจ่ายอยู่นี้แพงเพราะกลไกราคาในตลาดโลก เรามาดูความเป็นจริงกันครับ ผมมี 3 เรื่องหลักๆที่จะเล่าให้ฟัง         ผมจึงได้สืบค้นข้อมูลโดยเริ่มต้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก(ดูไบ)และ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินดอลลาร์ (ดังรูปแรก) ทำให้เราทราบว่าราคาน้ำมันดิบในวันที่ 7 มิ.ย.65 เท่ากับ 24.68 บาทต่อลิตร  ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยเท่ากับ 33.94 บาทต่อลิตร         ราคามันต่างกันถึงเกือบ 10 บาทต่อลิตร มันเป็นเพราะอะไรครับ        ผมได้ฟังการสัมภาษณ์ปลัดกระทรวงพลังงาน(คุณกุลิศ สมบัติศิริ) จากรายการเจาะลึกทั่วไทยฯ (19 พ.ค.65) พอสรุปได้ว่า รัฐบาลได้จะลดภาษีสรรพสามิตเฉพาะกลุ่มดีเซลเท่านั้น โดยลดลง 5 บาทต่อลิตร พร้อมกับได้เท้าความว่า “คราวที่แล้วได้ลดภาษีลง 3 บาทต่อลิตร โดย 2 บาทเป็นการเอาไปช่วยเหลือกองทุนน้ำมันซึ่งขาดทุนอยู่หลายหมื่นล้านบาท และอีก 1 บาทเพื่อลดราคาหน้าปั๊มให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังบอกว่ากระทรวงพลังงานมีเป้าหมายว่าจะควบคุมราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร”         สิ่งที่ผมได้นำเสนอไปแล้ว คือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (24.68 บาทต่อลิตร) และราคาน้ำมันสำเร็จรูปดีเซลหน้าโรงกลั่น (33.94 บาทต่อลิตร)  เราอาจจะสงสัยว่าผลต่างของราคาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10 บาทต่อลิตรนั้นเป็นราคาที่เป็นธรรมหรือไม่          ในวงการธุรกิจน้ำมัน เขามีศัพท์อยู่คำหนึ่งคือ “ค่าการกลั่นรวม (Gross Refinery Margin)” ซึ่งหมายถึงผลต่างระหว่างมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่กลั่นได้ทุกชนิดรวมกัน(ที่หน้าโรงกลั่น) กับราคาน้ำมันดิบที่โรงกลั่นเช่นเดียวกัน นั่นคือ ยังไม่รวมค่าขนส่งน้ำมันดิบจากตลาดโลกมาถึงโรงกลั่น         คำถามก็คือ ค่าการกลั่นรวมควรจะเป็นเท่าไหร่จึงจะเป็นธรรมกับผู้บริโภคและเจ้าของโรงกลั่น         จากคำให้สัมภาษณ์ของปลัดกระทรวงพลังงาน (ในรายการเจาะลึกทั่วไทยฯ) ได้ความว่าทางกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาค่าการกลั่นอยู่ พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ผมก็ไปเจรจาเปิดข้อมูลมาดู ค่าการกลั่นมีต้นทุนอย่างอื่นอยู่ด้วย และเป็นตลาดเสรีด้วย”         เมื่อพิธีกรในรายการตั้งคำถามแบบชี้นำว่า “ตอนนี้ค่าการกลั่นประมาณ 12-13 ดอลลาร์ (หรือ 2.61-2.83 บาทต่อลิตร) ใช่ไหม” ปลัดกระทรวงพลังงานตอบว่า “ใช่ และกำลังเจรจาให้เขาลดลงมาอีก”         ผมรู้สึกแปลกๆ กับคำตอบของปลัดกระทรวงพลังงานท่านนี้มาก โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นคือ “เขามีต้นทุนอย่างอื่นอยู่ด้วย” และ “กิจการโรงกลั่นเป็นตลาดเสรี”         ผมไม่ทราบว่าต้นทุนอย่างอื่นของโรงกลั่นคืออะไร แต่จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานเองพบว่า  นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงเดือนมกราคมปี 2565 ค่าการกลั่นรวมไม่ถึง 2 บาทต่อลิตร (ยกเว้นปี 2560 และ 2561 ที่เกินมาเล็กน้อย)  ซึ่งในช่วงเวลา 6 ปีเศษ อัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซลลิตรละ 5.99 บาทมาตลอดแต่พอรัฐบาลลดภาษีลงมาเหลือ 3.20 บาท ค่าการกลั่นรวมก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จาก 1.35 บาทต่อลิตรในเดือนมกราคม 65 จนมาอยู่ที่ 5.15 และ 5.82 บาทต่อลิตรในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ดูภาพประกอบ         โปรดดูรูปประกอบอีกครั้งครับ พอรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตลงมา เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน แต่เจ้าของโรงกลั่นน้ำมันก็ฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่นในเดือนเมษายนและพฤษภาคม         เพื่อให้เห็นภาพของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น ผมได้นำเสนอข้อมูลสำคัญใน 2 ช่วงเวลาคือ 27 กันยายน 2564 และ 19 พฤษภาคม 2565 (ดังภาพประกอบ)        จากภาพ ผมได้ใช้ปากกาวงไว้ 4 ก้อน เราจะเห็นว่า เมื่อภาษีสรรพสามิตลดลง ค่าการกลั่นรวมก็เพิ่มขึ้นจาก 1.15 บาทต่อลิตรเป็น 5.82 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว แล้ว...อย่างไร คราวหน้ามาต่อกันครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 มันฝรั่งทอดอร่อยปลอดภัย..ในญี่ปุ่น

        คนไทยกินข้าวเป็นแหล่งของแป้งมาแต่นมนาน ไม่เคยมีใคร (คิดจะ) ทักท้วงว่า ข้าวมีสารพิษ แต่ชาวตะวันตกกินมันฝรั่งเป็นแหล่งของแป้งกลับถูกเตือนว่า ระวังอาจมีสารพิษได้ สารพิษในมันฝรั่งนั้นคืออะไร นอกเหนือไปจาก อะคริลาไมด์ ที่เกิดระหว่างการทอด         เดือนมกราคม 2565 facebook “ครบเครื่องเรื่องญี่ปุ่น” ได้โพสต์ข้อความประมาณว่า บริษัทจำหน่ายขนมอบกรอบรายใหญ่ในญี่ปุ่นรายหนึ่งประกาศว่า  พบสารกลัยโคอัลคาลอยด์ (glycoalkaloid) ในมันฝรั่งทอดกรอบที่นำเข้าจากไทยในปริมาณที่สูงเกินกำหนด จึงทำการเรียกสินค้าคืน (recall) จากผู้บริโภคและผู้บริโภคสามารถขอเงินคืนได้เต็มจำนวน สำหรับจำนวนขนมอบกรอบที่มีการเรียกคืนนั้นคือ 3,348 ถุง         เหตุผลที่ต้องเรียกคืนสินค้านั้นเกิดเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 หน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยของอาหารในญี่ปุ่นได้ออกประกาศว่า ตรวจพบสารกลัยโคอัลคาลอยด์ซึ่งหลัก ๆ แล้วคือ โซลานีน (solanine) และชาโคนีน (chaconine) ที่มีความเข้มข้นสูงเกินมาตรฐานจากส่วนหนึ่งของมันฝรั่งทอดกรอบซึ่งนำเข้าและจำหน่ายโดยบริษัทหนึ่ง         ประเด็นที่คนไทยควรสนใจคือ ในญี่ปุ่นและประเทศที่กำลังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ นั้นมีการตรวจสอบปริมาณสารพิษจำเพาะที่เกิดในอาหารแต่ละประเภท (ไม่ใช่แค่โลหะหนัก สารกำจัดศัตรูพืช และอื่นๆ ที่เป็นสารพิษทั่วไป) เพราะกลัยโคอัลคาลอยด์นั้นมีเฉพาะในพืชบางชนิด ซึ่งมีมันฝรั่งเป็นแกนนำในการถูกตรวจสอบ เนื่องจากเมื่อมันฝรั่งถูกแปรรูปโดยทอดเป็นแผ่นกรอบบางนั้น ผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่นิยมกินคู่กับเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ระหว่างการดูกีฬาเป็นอย่างยิ่งในหลายประเทศ         สำหรับท่านผู้อ่านฉลาดซื้อที่พอมีความรู้ด้านพิษวิทยาและได้เนื้อข่าวตัวเต็มดังกล่าว อาจรู้สึกว่าข้อมูลวิชาการจาก facebook ข้างต้นนั้นค่อนข้างหลวมไปหน่อย ดังนั้นในฉลาดซื้อฉบับนี้ผู้เขียนจึงอยากนำเรื่องเก่าๆ เกี่ยวกับมันฝรั่งมาคุยกันว่า ควรระมัดระวังในเรื่องใดบ้าง เนื่องจากมันฝรั่งนั้นทำอะไรก็อร่อยไปหมดและคนไทยก็บริโภคกันเยอะ         มันฝรั่งเป็นพืชหัวซึ่งมนุษย์ใช้บริโภคเป็นอาหารแป้ง และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกมานานแล้ว เชื่อกันว่ามีแหล่งกำเนิดอยู่บนพื้นที่ระหว่างประเทศเม็กซิโกและชิลี ลากยาวไปบนแถบที่ราบสูงบนเทือกเขาแอนดีส ในประเทศโบลิเวียและเปรูยังปรากฏว่ามีมันฝรั่งป่าพันธุ์พื้นเมืองชนิดที่ปลูกให้เทวดาเลี้ยงขึ้นอยู่จนทุกวันนี้         สำหรับข้อมูลที่กล่าวถึงกลัยโคอัลคาลอยด์ในบทความวิชาการนั้นมีมากเช่น ในบทความทบทวนเอกสารวิชาการเรื่อง A Review of Occurrence of Glycoalkaloids in Potato and Potato Products ตีพิมพ์ในวารสาร Current Research in Nutrition and Food Science ของปี 2016 ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับกลัยโคอัลคาลอยด์ในมันฝรั่งเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีบทความทบทวนเอกสารเกี่ยวกับความเป็นพิษของมันฝรั่งในระดับลึกจนเกินความจำเป็นของผู้บริโภคทั่วไปเช่น บทความเรื่อง Formation and control of chlorophyll and glycoalkaloids in tubers of Solanum tuberosum L. and evaluation of glycoalkaloid toxicity ตีพิมพ์ในวารสาร Advances in Food Research ของปี 1975 และที่น่ากังวลเป็นพิเศษคือ หลายบทความได้กล่าวถึงงานวิจัยที่แสดงถึงฤทธิ์ก่อลูกวิรูป (ทำให้ลูกสัตว์พิการแต่กำเนิด) ของกลัยโคอัลคาลอยด์เช่น บทความในวารสาร Teratology หน้าที่ 73-78 ของปี 1975, วารสาร Food and Chemical Toxicology หน้าที่ 537-547 ของปี 1991 และวารสาร Molecular Biology Reports หน้าที่ 9235-9238 ของปี 2020 เป็นต้น         สำหรับผู้บริโภคที่ชอบปรุงอาหารกินเองอาจมีประสบการณ์ว่า เมื่อซื้อมันฝรั่งมาเก็บไว้ในครัวแล้วลืมจนมาพบว่า มันฝรั่งเริ่มมีสีเขียว (ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วสีเขียวนั้นคือ คลอโรฟิลล์) และมีต้นอ่อนเริ่มงอกพร้อมรากแล้ว สิ่งที่หลายคนทำคือ ตัดลำต้นและรากทิ้ง จากนั้นปอกเปลือกออก เฉือนส่วนที่มีสีเขียวทิ้งแล้วรีบปรุงเป็นอาหาร จึงมีคำถามที่น่าสนใจว่า แค่ตัดเอาส่วนสีเขียว ต้นอ่อนและรากทิ้งนั้น มันฝรั่งนั้นยังปลอดภัยดีพอในการบริโภคหรือ         ปรกติแล้วมันฝรั่งมีเปลือกออกสีน้ำตาลหลายระดับเฉดสี แต่ถ้าเริ่มมีบางส่วนของหัวออกสีเขียวเมื่อใด นั่นแสดงว่ามันฝรั่งนั้นกำลังเข้าสู่กระบวนการเริ่มงอกแล้ว ซึ่งช่วงนี้มันฝรั่งจะสร้างสารพิษคือ กลัยโคอัลคาลอยด์ เพิ่มออกมาจากเดิมที่มีอยู่นัยว่า ความเป็นพิษของสารกลุ่มนี้ช่วยป้องกันการเข้ารุกรานของแมลงที่เป็นศัตรูพืช         คำว่า glycoalkaloid นั้น glyco คือ กลุ่มน้ำตาล ส่วน alkaloid คือ สารอินทรีย์ที่มีธาตุไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบในโมเลกุล โดยทั่วไปอัลคาลอยด์มักมีฤทธิ์ทางยาและ/หรือเป็นสารพิษ ในธรรมชาตินั้นพบอัลคาลอยด์มากในพืชชั้นสูง ตามส่วนต่างๆ ของพืชเช่น ใบ ดอก ผล เมล็ด รากและเปลือก แต่ก็มีบ้างที่อัลคาลอยด์เป็นสารพิษจากเชื้อรา เช่น ergot alkaloid ที่เกิดจากราชื่อ Claviceps purpurea ซึ่งปนเปื้อนบนข้าวไรน์ที่เกี่ยวหนีหิมะไม่ทัน ส่วนพืชชนิดอื่นที่อาจพบกลัยโคอัลคาลอยด์ได้คือ มะเขือต่างๆ         หัวมันฝรั่งที่เริ่มออกสีเขียวเนื่องจากกำลังงอกนั้นมีสารพิษกลัยโคอัลคาลอยด์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากปริมาณที่มีน้อยเป็นพึ้นฐานของหัวมันทั่วไป (ซึ่งไม่แสดงความเป็นพิษ) แต่ที่น่าสนใจคือ หัวมันที่ถูกโยนจนช้ำ (ทั้งจากคนงานและลูกค้าที่เลือกสินค้าแบบไร้มรรยาท) หัวมันที่เก็บในที่อุณหภูมิสูงไป ได้รับแสงแดด หรือมีแมลงเจาะ มักสร้างกลัยโคอัลคาลอยด์เพิ่มขึ้น สมมุติฐานหนึ่งในการสร้างสารพิษกลุ่มนี้คือ เป็นการเตรียมตัวเพื่อต่อสู้กับศัตรูที่จะเข้าโจมตี ประเด็นที่สำคัญคือ เมื่อมีสารพิษเกิดขึ้นใต้เปลือกแล้ว สารพิษนั้นจะซึมไปรอบๆ ส่วนที่มีสีเขียว การตัดต้นหรือรากทิ้งแล้วเฉือนส่วนที่เป็นสีเขียวทิ้งนั้นไม่ได้ช่วยให้สารพิษหมดไป ทดสอบได้จากการลองชิมดูจะรู้สึกถึงรสขมซึ่งเป็นธรรมชาติของอัลคาลอยด์        มีผู้หวังว่าการให้ความร้อนแก่มันฝรั่งระหว่างการปรุงอาหารน่าจะทำลายกลัยโคอัลคาลอยด์ได้ ซึ่งคำตอบคือ ไม่ ทั้งนี้เพราะกลัยโคอัลคาลอยด์นั้นเป็นสารที่ค่อนข้างทนความร้อน การปรุงอาหารธรรมดาจึงทำลายได้ไม่มากนัก ในทางอุตสาหกรรม เช่น การทำมันฝรั่งทอด โดยพื้นฐานแล้วหัวมันมักถูกล้างในระบบการผลิตด้วยน้ำร้อนและลวกไอน้ำ โดยน้ำนั้นอาจมีการปรับให้มีฤทธิ์เป็นด่างเพื่อช่วยทำให้เปลือกยุ่ย ง่ายต่อการขัดให้เปลือกหลุดออกไปด้วยเครื่องอัตโนมัติ ดังนั้นสารพิษนี้จึงอาจหลุดละลายไปกับเปลือกที่หลุดในน้ำเป็นบางส่วน แต่ส่วนที่เหลือนั้นเมื่อถูกทอด ต้ม หรือผัดอย่างไร สารพิษก็ถูกทำลายได้ยาก ดังปรากฏเป็นการปนเปื้อนในมันฝรั่งทอดที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยและเป็นข่าวดังกล่าวข้างต้น         ในประเด็นว่ามีกลัยโคอัลคาลอยด์ในมันฝรั่งดิบสักเท่าไรนั้น ข้อมูลจากเอกสารวิชาการหลายฉบับที่มีการเผยแพร่ในต่างประเทศกล่าวประมาณว่า โดยปรกติแล้วมีไม่เกิน 10-20 มิลลิกรัม/กิโลกรัมทั้งหัว โดยเฉพาะส่วนใหญ่อยู่ที่เปลือกซึ่งเมื่อทำการวิเคราะห์อาจมากกว่า 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของเปลือก ดังนั้นจึงอาจไม่ปลอดภัยนักสำหรับผู้ที่ชอบกินมันฝรั่งปรุงสุกพร้อมเปลือกโดยหวังได้ใยอาหารเพิ่ม แต่ในหัวมันฝรั่งที่มีสีเขียวแล้วอาจมีกลัยโคอัลคาลอยด์ถึง 250–280 มิลลิกรัม/กิโลกรัมทั้งหัว โดยส่วนเปลือกที่มีสีเขียวอาจมีถึง 1500 –2200 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของเปลือก         ปรกติแล้วถ้าผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทำจากมันฝรั่งสภาพดี ผู้บริโภคอาจไม่รู้สึกถึงรสขม อีกทั้งเรามักจิ้มผลิตภัณฑ์นั้นกับซอสที่ชอบ แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการปนเปื้อนของกลัยโคอัลคาลอยด์ปริมาณสูงและมีการบริโภคปริมาณมากความเป็นพิษอาจเกิดขึ้น เช่น เป็นไข้ ปวดหัว ปวดท้อง ถ่ายท้อง อาเจียน ชีพจรเบาลง หายใจช้าลง ทั้งนี้เพราะกลัยโคอัลคาลอยด์นั้นมีฤทธิ์ทำลายผนังเซลล์ของทางเดินอาหาร และเป็นสารพิษต่อระบบประสาทในลักษณะเดียวกับสารกำจัดแมลงชนิดออร์กาโนฟอสเฟตคือเป็น cholinesterase inhibitor แต่อาการนั้นไม่หนักถึงขั้นเสียชีวิตแบบเกษตรกรที่ได้รับสารกำจัดแมลงโดยตรง         ในประเทศที่บริโภคมันฝรั่งเป็นแหล่งของอาหารแป้งหลายๆ ประเทศนั้น ได้มีการเผยแพร่ความรู้ถึงวิธีการป้องกันการเพิ่มขึ้นของกลัยโคอัลคาลอยด์ในมันฝรั่งว่า ควรเก็บมันฝรั่งในที่เย็นและไม่ควรนานนัก เพราะขนาดอยู่ในตู้เย็นแล้วมันฝรั่งซึ่งเป็นพืชเขตอบอุ่นนั้นยังงอกได้ มีผู้พบว่ามันฝรั่งเก็บที่ 25 องศาเซลเซียสเกิดกลัยโคอัลคาลอยด์เพิ่มเป็น 3 เท่าของการเก็บในตู้เย็น ที่ 7 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำว่า ไม่ควรให้หัวมันโดนแสงแดดหรือแสงไฟโดยไม่จำเป็น ต้องขนส่งอย่างเบามืออย่าให้ช้ำ และที่สำคัญคือ ต้องอยู่ในภาชนะกันแมลงได้         ในกรณีที่มันฝรั่งถูกเก็บอย่างดีแต่นานไปหน่อยจนงอกแล้ว ผู้เขียนได้ลองนำไปฝังดินปนทรายแล้วรดน้ำไม่ต้องมากนักจะพบว่ามันงอกได้และออกดอกคล้ายมะเขือด้วย ทั้งนี้เพราะมันฝรั่งหรือ potato (Solanum tuberosum) และมะเขือหรือ eggplant (Solanum melongena) นั้นเป็นญาติสนิทกัน และณ.วันที่เขียนบทความนี้ผู้เขียนกำลังรอว่า จากมันหนึ่งหัวที่ฝังดินไว้จะเพิ่มเป็นมันหลายหัวได้หรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 พลังงง-พลังงาน !?

        ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกว่าเรื่องพลังงานนี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากถึงยากมาก ถ้าเราเชื่อและยอมรับอย่างนั้นจริงๆ ก็ถือว่าพ่อค้าพลังงานทำงานได้ผลดีมาก เพราะความตั้งใจของพ่อค้าพลังงานเขาไม่ต้องการให้ผู้บริโภคเข้าใจอะไรที่สำคัญๆ หรอก เขาต้องการให้เราบริโภคและจ่ายเงินซื้อพลังงานจากเขาเพียงอย่างเดียว แต่ครั้นจะไม่ให้เข้าใจอะไรเสียเลยก็จะผิดหลักการค้าในยุคสมัยใหม่ ที่ต้องการความโปร่งใส  เป็นธรรมและร่วมกันรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวิกฤตโลกร้อน พวกพ่อค้าจึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลแบบไม่ครบถ้วนบ้าง  ไม่จริงทั้งหมดบ้าง หรือแกล้งทำให้ดูเป็นเรื่องซับซ้อน เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น เรียกว่าทำให้เรางงเล่นแล้วจะรู้สึกเบื่อไปเอง         ผมเองเชื่อมานานแล้วว่า มนุษย์เราสามารถเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องที่มีความสำคัญกับตนเองได้เกือบทุกคน แต่กับบางคนที่ไม่ยอมเรียนรู้ก็เพราะไปติดกับดักที่เป็นวาทกรรม เช่น “ราคาน้ำมันดิบเป็นไปตามกลไกตลาดโลก” แต่ในความเป็นจริงแล้วมันขึ้นอยู่ที่พ่อค้าจะปั่นราคาเป็นส่วนใหญ่และเมื่อไหร่ ปัจจัยเรื่องอุปสงค์และอุปทานก็มีส่วนด้วยแต่ก็ไม่เสมอไป ที่น่าแปลกมากก็คือราคาน้ำมันดิบเคยติดลบถึง $37 ต่อบาร์เรล (ใครสั่งน้ำมันราคาล่วงหน้านอกจากไม่ต้องจ่ายเงินแล้วยังได้เงินกลับไปอีก เพราะบริษัทไม่มีที่จะจัดเก็บ) ในช่วงพฤษภาคม 2563 ทีทั่วโลกกำลังตกใจกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในช่วงแรก          อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านที่มี “พลังงง” อาจจะรู้สึกว่าเข้าใจยาก ผมจึงมีวิธีการแปลงราคาจาก “ดอลลาร์ต่อบาร์เรล” มาเป็น “บาทต่อลิตร” พร้อมด้วยข้อมูลที่น่าสนใจบางอย่างเพิ่มเติม ดังรูป ไม่ยากเลยครับ            ประเทศเราเป็นประเทศที่ไม่สามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้ ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงในรูปของน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและไฟฟ้ารวมกันมากกว่า 60% ของมูลค่าที่ต้องใช้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบประเทศเราต้องนำเข้าประมาณ 85%  ดังนั้น หากมีการปั่นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประเทศเราจึงไม่ต่างอะไรกับ“ประเทศเมืองขึ้น” หรือ “ทาส” นั่นเอง         เรามาทดสอบความเข้าใจกันดีไหมครับ หยิบเอาข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2563 ราคาน้ำมันดิบประมาณ $42 ต่อบาร์เรล (อัตราแลกเปลี่ยน 31.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) เราสามารถแปลงมาสู่สิ่งที่เราคุ้นเคยได้ว่าประมาณ 8.41 บาทต่อลิตร ถ้าเราอยากจะรู้ว่าตอนนั้นราคาประกาศหน้าโรงกลั่นเป็นเท่าใด ก็ถาม “google” ได้ โดยพิมพ์คำว่า “โครงสร้างราคาน้ำมัน” พบว่าเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ราคาเบนซิน(ULG) ขายส่งหน้าโรงกลั่นเท่ากับ 9.88 บาทต่อลิตร และราคาหน้าปั๊มใน กทม.และปริมณฑลเท่ากับ 28.96 บาทต่อลิตรซึ่งเป็นราคาที่รวมภาษีและค่าอื่นๆ แล้ว รู้สึกงงอีกแล้วใช่ไหมครับ  ก็ต้องขยันค้นคว้า ขยันตั้งคำถามว่า “เอ๊ะ”         ในปี 2564 (จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์) พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่า 7.7 และ 1.7 แสนล้านบาท ตามลำดับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท (จัดเป็นมูลค่าส่งออกที่สูงเป็นอันดับ 7 ของประเทศ)  นั่นคือมูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่าถึง 36% ของมูลค่าน้ำมันดิบที่นำเข้า ถึงตรงนี้เราอาจจะรู้สึกงงๆ ใน 2 ประเด็นคือ         หนึ่ง ทำไมไม่สั่งน้ำมันดิบเข้ามาให้ใกล้เคียงกับปริมาณที่คนไทยใช้  เรื่องนี้ตอบไม่ยากครับ เพราะโรงกลั่นในประเทศไทยมีจำนวนมาก สามารถกลั่นได้มากกว่าที่คนไทยใช้ ที่เหลือจึงต้องส่งออก ประเด็นนี้จึงไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ นอกจากปัญหามลพิษจากกระบวนการกลั่นที่ได้ทิ้งไว้ให้คนไทยรับไป รวมทั้งน้ำมันดิบรั่ว เป็นต้น         สอง สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญมากๆ คือ การกำหนดราคาขายส่งน้ำมันสำเร็จหน้าโรงกลั่น ถ้าขายให้คนไทยใช้(ขายส่งนะ) ให้คิดในราคาเท่ากับที่กลั่นในประเทศสิงคโปร์ แล้วบวกด้วยค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาอำเภอศรีราชา ประเทศไทย บวกด้วยค่าประกันภัย และบวกด้วยค่าน้ำมันหกหรือระเหยระหว่างการขนส่ง ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่บวกเข้ามานี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ความจริงคือกลั่นในประเทศไทย         ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่หน้าโรงกลั่นในประเทศไทยที่ขายให้คนไทยใช้นั้นมีราคาแพงกว่าราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์ นี่คือความไม่เป็นธรรม ที่ทางกระทรวงพลังงานไม่เคยอธิบาย คงจะเป็นเพราะว่ามันไม่รู้จะเอาเหตุผลอะไรมาอธิบาย         จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่าในปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 5 หมื่นล้านลิตร ถ้าราคาที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงมีมูลค่าเท่ากับลิตรละหนึ่งบาท ก็มีมูลค่าเท่ากับ 5 หมื่นล้านบาทแล้ว นี่คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคโดยตรง         ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรู้ว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายให้คนไทยใช้ภายในประเทศกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปส่งออกนั้นราคาจะสูงกว่ากันเท่าใด แต่ผมไม่พบข้อมูล(สำเร็จรูปที่สามารถใช้ได้ทันที) จากกระทรวงพลังงาน  ดังนั้นผมจึงลงมือคำนวณเอง โดยเลือกคำนวณเพียงเดือนเดียว (เพราะข้อมูลดิบมีเยอะมาก) ผลการคำนวณในเดือนพฤศจิกายน 2564 ดังแสดงในรูปครับ ผลการคำนวณสรุปว่า        (1)   ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกถูกกว่าราคาน้ำมันสำเร็จที่ขายให้คนไทยที่หน้าโรงกลั่น 1.01 บาทต่อลิตร        (2)   ราคาน้ำมันดิบนำเข้าแพงกว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย(จากหลายตลาด)ในตลาดโลก 1.57 บาทต่อลิตร         ยังมีความจริงอีกหนึ่งอย่างที่กระทรวงพลังงานไทยไม่เคยบอกเรา แต่ผมพบในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศแคนาดาคือ “โดยเฉลี่ยน้ำมันดิบ 1 บาร์เรล หรือ 159 ลิตรจะได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปรวมกันถึง 170 ลิตร” นี่คือกำไรที่ซ่อนอยู่ในโรงกลั่นน้ำมัน        เรื่องพลังงานไม่ได้มีเฉพาะแต่เรื่องน้ำมันอย่างเดียวซึ่งเป็นเรื่องผูกขาด ปั่นราคา ก่อสงคราม (เช่นกรณียูเครน รัสเซีย) และเอื้อให้มีการคอรัปชันได้ง่าย ยังมีเรื่องไฟฟ้าที่ในปัจจุบันเราสามารถผลิตได้จากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานที่ผูกขาดได้ยาก เราสามารถนำแสงแดดมาผลิตไฟฟ้าแล้วใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนน้ำมันได้ด้วย นี่เป็นหนทางที่ประเทศเราจะสามารถพึ่งตนเองหรือเป็นอิสระได้มากขึ้น นี่เป็นหนทางที่ทำให้คนไทยมีงานทำมากขึ้น เป็นหนทางลดรายจ่ายได้ หรือหนทางเพิ่มรายได้ให้ทุกครัวเรือนหากเราสามารถขายไฟฟ้าที่เราผลิตเองได้        แล้วค่อยคุยในในโอกาสต่อไปครับ ผมจะเขียนประจำที่ “ฉลาดซื้อ”  เพื่อเปลี่ยนพลังงงของผู้บริโภคมาเป็นพลังของการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและลดปัญหาโลกร้อนนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 หม้อทอดไร้น้ำมัน

        แม้จะเข้าวงการมาได้ไม่นาน แต่หม้อทอดไร้น้ำมันก็ติดอันดับเครื่องครัวยอดนิยมที่หลายคนอยากมีไว้ติดบ้านไปแล้ว ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำเสนอผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่สมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ หรือ International Consumer Research & Testing ได้ทำไว้ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤศจิกายนปี 2564 (หากสนใจผลการทดสอบที่เราเคยนำเสนอ สามารถติดตามได้ในฉลาดซื้อ ฉบับที่ 203 และ 230)           เนื่องจากเป็นการทดสอบต่อเนื่อง ทีมทดสอบจึงยังใช้ขั้นตอนการทดสอบเหมือนที่ผ่านมา นั่นคือการใช้งานตามคู่มือของหม้อทอดแต่ละรุ่น โดยจะวัดความร้อน บันทึกเวลาที่ใช้ อุณหภูมิเฉลี่ยขณะทอด และพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ ส่วนอาหารที่ใช้ในการทดสอบได้แก่        -       มันฝรั่งเส้น (ทดสอบทั้งแบบใส่ในปริมาณ 2/3 ของความจุหม้อ และแบบใส่จนเต็ม)         -       น่องไก่ (นำออกจากตู้เย็นหลังแช่ไว้ 24 ชั่วโมง ใส่พร้อมกัน 4 น่อง ขนาดน่องละประมาณ 100 กรัม)         -       ปอเปี๊ยะ (นำออกจากตู้เย็นหลังแช่ไว้ 24 ชั่วโมง ใส่10 ชิ้น ขนาดชิ้นละ 25 กรัม)        -       ช็อคโกแลตเค้ก (เฉพาะในบางรุ่นที่มีฟังก์ชันรองรับ)        การให้คะแนนแบ่งออกเป็น 5 ด้าน              ประสิทธิภาพ                         ร้อยละ        55             ความสะดวกในการใช้งาน      ร้อยละ        20             การประหยัดพลังงาน             ร้อยละ       15             ความปลอดภัย                      ร้อยละ         5              คุณภาพการประกอบ              ร้อยละ         5             ในภาพรวมเราพบว่าหม้อทอดรุ่นใหม่ๆ ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น แม้รุ่นที่ได้คะแนนสูงที่สุดจะได้คะแนนรวมไม่ต่างจากตัวท็อปในการทดสอบคราวก่อน แต่ที่น่าสนใจคือ “คะแนนต่ำสุด” ของหม้อทอดกลุ่มนี้สูงขึ้นกว่าเดิม และหนึ่งในรุ่นที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือ รุ่นที่มีความจุสูงและพยายามรวมฟังก์ชันหลายอย่างไว้ด้วยกันคราวนี้เรามีมาให้คุณเลือกถึง 25 รุ่น เชิญพลิกหน้าต่อไปเพื่อหารุ่นที่ตรงใจได้เลย แต่อย่าลืมตรวจสอบราคาอีกครั้ง (ราคาที่นำเสนอเป็นราคาจากอินเทอร์เน็ตในช่วงเดือนธันวาคม 2564)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับ 250 หลงซื้อน้ำมันงาโบราณ ไม่มีเลขทะเบียนยา

        "อย.ขอเตือนประชาชน อย่าได้หลงเชื่อยาสมุนไพรแผนโบราณใดๆ ที่แสดงสรรพคุณเกินจริงว่า สามารถรักษาได้สารพัดโรค เพราะนอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังอาจได้รับอันตรายอย่างคาดไม่ถึง เนื่องจากมักพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่แสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง มักลักลอบใส่ยาหรือสารที่เป็นอันตรายลงไป และการผลิตผลิตภัณฑ์มักไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน จึงอาจทำให้ได้รับอันตรายจากการปนเปื้อน”...นี่คือตัวอย่างคำเตือนที่มักปรากฏตามสื่อต่างๆ บ่อยๆ แต่บางครั้งบางคนก็หลงจ่ายเงินซื้อยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณครอบจักรวาลมา เพียงเพราะหลังทดลองใช้แล้วเห็นผลทันตาเพียงครู่ เลยลืมดูรายละเอียดของข้อความบนฉลากให้ถ้วนถี่ซะก่อน          คุณเด่น ไกด์หนุ่มก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเล่าว่าตอนที่เขาพาลูกทัวร์ไปท่องเที่ยวที่แก่งกึด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีแม่ค้ามาขายน้ำมันงาโบราณโดยบอกว่าใช้นวดแก้ปวดเมื่อยดีขนาด และจะมาขายแค่ปีละครั้งเท่านั้น เขาเองก็กำลังรู้สึกปวดที่ต้นแขนอยู่พอดี จึงขอลองใช้น้ำมันงาโบราณนี้นวดดูหน่อย อะ ได้ผลดีแฮะ นวดไปๆ กล้ามเนื้อที่ต้นแขนเริ่มหายปวดละ เขาจึงอุดหนุนแม่ค้าในราคาขวดละ 190 บาท มา 2 ขวด ว่าจะไว้ใช้เองขวดหนึ่ง อีกขวดจะเอาไปฝากแม่         เมื่อแม่ค้าคล้อยหลังไปแล้ว ไกด์หนุ่มจึงหยิบขวดน้ำมันงานั้นขึ้นมาอ่านฉลากให้ละเอียดอีกที ปรากฎว่าหมุนรอบขวดแล้วก็ยังหาเลขทะเบียนยา หรือ อย. ไม่เจอเลย ตัวฉลากก็ไม่ได้อธิบายรายละเอียดส่วนประกอบ ไม่มีวันหมดอายุ มีแต่เบอร์โทรคนขาย และเขียนวิธีใช้ว่า ใช้นวดเวลาปวด เช้า-เย็น มีสรรพคุณ ใช้นวดอาการปวดเส้น ปวดเอ็น ปวดเข่า ปวดขา แก้ปวดฟัน รักษาอาการผื่นคัน ใช้ทาริดสีดวง สารพิษสัตว์กัดต่อย บาดแผลทุกชนิด ซึ่งดูจะเกินจริงไปมาก ไกด์หนุ่มเห็นแบบนี้ก็ไม่กล้าใช้แล้วเพราะกลัวว่าจะแอบใส่สารอันตรายอะไรปนไปหรือเปล่า จึงมาร้องเรียนกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพะเยาได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นกับคุณเด่นว่า ผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณจะต้องมีเลขทะเบียนยา ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต มีวันเดือนปีที่ผลิต และวันหมดอายุ ซึ่งน้ำมันงาโบราณนี้ไม่มีรายละเอียดเหล่านี้เลย มีแต่สรรพคุณ วิธีใช้และเบอร์โทรผู้ขาย ซึ่งไม่ทราบแหล่งที่มา และส่วนประกอบ จัดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย อาจมีส่วนผสมของสารอันตราย ดีแล้วที่คุณเด่นไม่ใช้ต่อ ทางศูนย์ฯ จะนำผลิตภัณฑ์นี้ส่งตรวจหาสารต้องห้ามต่อไป หากพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายจะส่งเรื่องให้ทางสาธารณสุขจังหวัดจัดการต่อไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อเปิดผลทดสอบค่าพลังงาน ไขมัน และโซเดียม ใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี” ให้คุณเลือกรับประทานได้อย่างปลอดภัย

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลทดสอบเปรียบเทียบปริมาณพลังงาน ไขมัน โซเดียม ใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี” พบฉลากภาษาไทย จัดหน่วยบริโภคให้แบ่งรับประทาน 2 ครั้งต่อ 1 ซอง ไม่สอดคล้องกับการบริโภคปกติ  แนะนำกินเฉพาะเส้นไม่ซดน้ำซุปจะช่วยลดโซเดียมได้ 7%         วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป จำนวน 14 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลีเป็นกำลังที่นิยม เพราะอิทธิพลจากซีรีส์เกาหลีและเป็นอาหารที่ปรุงง่าย รวมทั้งมีรสชาติถูกปากคนไทย อย่างไรก็ตามรสชาติอร่อยอาจต้องแลกด้วยการปรุงรสที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ อาหารประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจัดเป็นอาหารที่มีโซเดียมและพลังงานสูงประเภทหนึ่ง ในการทดสอบครั้งนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อได้ทดสอบหาปริมาณโซเดียม ไขมันและพลังงาน โดยกำหนดเงื่อนไขและวิธีในการเตรียมตัวอย่างตามขั้นตอนการปรุงที่ระบุบนฉลากของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่ละยี่ห้อ เช่น ยี่ห้อ เอ ระบุ เตรียมน้ำปริมาณ 500 มิลลิลิตร ตั้งไฟจนเดือดใส่เส้นและเครื่องปรุง ต้มต่อไปอีก 3 นาที เป็นต้น  จากนั้นจึงใช้การวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐาน โดยห้องปฎิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO 17025         ผลทดสอบโดยการเตรียมตัวอย่างแบบที่ฉลาดซื้อกำหนดนั้น พบว่า ทุกตัวอย่างมีปริมาณ พลังงาน ไขมัน และโซเดียม น้อยกว่าที่ฉลากระบุ (ดูตารางแสดงผล) และเนื่องจากฉลากภาษาไทยมีความหลากหลาย บางฉลากมีความคลาดเคลื่อนของการคำนวณ เราจึงนำผลการทดสอบของฉลาดซื้อเทียบกับฉลากโภชนาการที่ระบุบนซองผลิตภัณฑ์ (ภาษาอังกฤษหรือภาษาเกาหลี) และใช้หน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักของผลิตภัณฑ์จำนวน  1 ซอง คือ 1 ซอง ต้มรับประทาน 1 ครั้ง         สาเหตุที่ฉลาดซื้อทดสอบแล้วพบปริมาณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียมน้อยกว่าค่าที่ระบุบนฉลาก อาจเกิดจาก 1) ในการทดสอบแบบปกติจะใช้การเตรียมตัวอย่างด้วยผลิตภัณฑ์แบบแห้ง และ 2) มีผลิตภัณฑ์สองตัวอย่างที่ในวิธีการปรุงระบุให้เทน้ำออกก่อนปรุงด้วยเครื่องปรุง (เป็นผลิตภัณฑ์แบบแห้งเมื่อปรุงสำเร็จ) อย่างไรก็ตามการทดสอบในครั้งนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อพบข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับฉลากผลิตภัณฑ์  ดังนี้         1. ฉลากภาษาไทย จัดหน่วยบริโภค (ปริมาณการกินหรือดื่มต่อครั้ง) ไม่สอดคล้องกับวิธีการบริโภคตามปกติ คือ แนะนำให้แบ่งหน่วยบริโภคต่อครั้งเป็น 50 กรัม หรือ 60 กรัม ในขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซองมีปริมาณเฉลี่ย 120 กรัม หรือ ให้แบ่งรับประทาน 2 ครั้งต่อ 1 ซอง         2. หลายผลิตภัณฑ์เมื่อคำนวณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียม จากฉลากภาษาเกาหลีหรือภาษาอังกฤษบนซองผลิตภัณฑ์พบว่า ไม่ตรงกับฉลากจริงของผลิตภัณฑ์         นอกจากนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อมีข้อแนะนำของ "การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ที่จะช่วยรักษาสุขภาพ ตามข้อมูลของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวไว้ว่า โซเดียมอยู่ในเส้นและเครื่องปรุง โดยโซเดียมจะอยู่ในเครื่องปรุง มากกว่าเส้น 3 เท่า มีวิธีการรับประทานเพื่อลดปริมาณโซเดียม โดยถ้าลวกเส้นทิ้งไป 1 น้ำ จะช่วยลดปริมาณโซเดียมลงได้เล็กน้อย แต่ถ้าเลือกกินเฉพาะเส้น ไม่ใส่เครื่องปรุงหรือกินเฉพาะเส้นไม่ซดน้ำซุปจะช่วยลดโซเดียมได้ประมาณ 7% ถ้าจำเป็นต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปควรเติมเครื่องปรุงลดลงหนึ่งในสาม ลดน้ำลงหนึ่งในสาม ใส่น้ำเดือดร้อนๆ เส้นจะได้สุกกำลังดี ข้อควรระวังไม่ควรกินแบบแห้ง เพราะอาจดูดน้ำในระบบทางเดินอาหาร ถ้ากินก็ควรดื่มน้ำตามมากๆ         ดูตารางแสดงผลและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3891

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ปริมาณโซเดียม ไขมัน และพลังงานใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี”

        บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีหรือที่เรียกว่า “รามยอน” ในภาษาเกาหลีนั้น คนไทยส่วนหนึ่งมักจะเรียกว่า “มาม่าเกาหลี”  ซึ่งปัจจุบันฮิตมาก มีหลายยี่ห้อถูกนำเข้ามาให้เลือกอย่างมากมาย หากจะถามว่าไทยเราได้อิทธิพลความนิยมนี้มาจากไหน ก็คงหนีไม่พ้นจากความโด่งดังของซีรีส์เกาหลีและการชื่นชอบนี้ทำให้หลายคนขณะดูตัวละครกำลังกินรามยอนอย่างเอร็ดอร่อย ก็แทบอยากจะหยิบซองบะหมี่มาต้มตามทันที         บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลีนอกจากนิยมกินเพราะอิทธิพลจากซีรีส์เกาหลีแล้ว ก็คงเพราะเป็นอาหารที่กินง่าย และมีรสชาติถูกปากคนไทยด้วย อย่างไรก็ตามรสชาติอร่อยต้องแลกด้วยการปรุงรสที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นจัดเป็นอาหารที่มีโซเดียมและพลังงานสูงชนิดหนึ่ง         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้เก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป จำนวน 14 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกันยายน 2564 เพื่อทดสอบหาปริมาณโซเดียม ไขมันและพลังงาน เงื่อนไข วิธีการทดสอบ         ในการเตรียมตัวอย่างเพื่อทดสอบ ทางฉลาดซื้อใช้วิธีการเตรียมตัวอย่างตามขั้นตอนการปรุงที่ระบุบนฉลากของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตามที่แต่ละยี่ห้อระบุ เช่น ยี่ห้อ เอ ระบุ เตรียมน้ำปริมาณ 500 มิลลิลิตร ตั้งไฟจนเดือดใส่เส้นและเครื่องปรุง ต้มต่อไปอีก 3 นาที เป็นต้น  วิธีการทดสอบใช้วิธีที่ได้มาตรฐาน โดยห้องปฎิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO 17025 สรุปผลการทดสอบ         ผลทดสอบโดยการเตรียมตัวอย่างแบบที่ฉลาดซื้อกำหนดนั้น พบว่า ทุกตัวอย่างมีปริมาณ พลังงาน ไขมัน และโซเดียม น้อยกว่าที่ฉลากระบุ (ดูตารางแสดงผล) และเนื่องจากฉลากภาษาไทยมีความหลากหลาย บางฉลากมีความคลาดเคลื่อนของการคำนวณ เราจึงนำผลการทดสอบของฉลาดซื้อเทียบกับฉลากโภชนาการที่ระบุบนซองผลิตภัณฑ์ (ภาษาอังกฤษหรือภาษาเกาหลี) และใช้หน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักของผลิตภัณฑ์จำนวน  1 ซอง         การทดสอบของฉลาดซื้อที่พบปริมาณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียมน้อยกว่า ค่าที่ระบุบนฉลาก อาจเกิดจากหนึ่ง ในการทดสอบแบบปกติจะใช้การเตรียมตัวอย่างด้วยผลิตภัณฑ์แบบแห้ง และสอง มีผลิตภัณฑ์ 2 ตัวอย่างที่ในวิธีการปรุงระบุให้เทน้ำออกก่อนปรุงด้วยเครื่องปรุง (เป็นผลิตภัณฑ์แบบแห้งเมื่อปรุงสำเร็จ)           ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับฉลากผลิตภัณฑ์          1.ฉลากภาษาไทย จัดหน่วยบริโภคไม่สอดคล้องกับวิธีการบริโภคตามปกติ กล่าวคือ พยายามแบ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำเป็น 50 กรัม หรือ 60 กรัม ในขณะที่การบรรจุบะหมี่ฯ 1 ซองจะมีปริมาณเฉลี่ยที่ 120 กรัม           2.หลายผลิตภัณฑ์เมื่อคำนวณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียม จากฉลากภาษาเกาหลีหรือภาษาอังกฤษบนซองผลิตภัณฑ์พบว่า คำนวณผิดพลาดไม่ตรงกับฉลากจริงของผลิตภัณฑ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ปัญหาโครงสร้างน้ำมัน ไม่ใช่รถบรรทุกหยุดวิ่ง

        โครงสร้างราคาน้ำมันที่ซับซ้อน หรือทำให้ซับซ้อน ถูกพูดถึงน้อยจากทุกฝ่าย เพราะหากติดตามการรณณงค์ของสมาพันธ์ขนส่งแห่งประเทศไทย แสดงจุดยืนชัดเจน ว่า ทางกลุ่มสมาพันธ์ ฯ ต้องการให้รัฐบาลลดราคาน้ำมัน และไม่ต้องการผลักภาระค่าน้ำมันให้กับผู้ผลิตสินค้า ซึ่งท้ายที่สุดส่งผลต่อราคาสินค้าและค่าบริการของผู้บริโภค ตามที่ประธานสมาพันธ์ ฯ ยืนยันมาโดยตลอด        กลุ่มผู้บริโภคต้องขอบคุณและอยากให้ผู้บริโภค ช่วยสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องราคาน้ำมันและโครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายทุกส่วน ทั้งกิจการขนส่ง กิจการการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริโภค         หากพิจารณาจากโครงสร้างราคาน้ำมัน เห็นความไม่ถูกต้องจากหลายส่วน อาทิเช่น ราคาน้ำมันดิบตั้งต้นที่เป็นปัญหาต้นทาง ที่ใช้ราคาน้ำมันบวกค่าขนส่งเทียมหรือขนส่งทิพย์นำเข้าจากสิงคโปร์ทั้งที่ไม่ได้มีการนำเข้าจากสิงคโปร์จริงซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลไม่เคยแก้ปัญหาทำให้ราคาน้ำมันแพงไปอย่างน้อยอีก 1 บาท         มาพิจารณากันว่า 25 บาทที่องค์กรผู้บริโภคเสนอมาจากอะไร และรัฐบาลสามารถทำได้จริง            +ต้นทุนน้ำมันหน้าโรงกลั่นตามราคาตลาดโลก ราคา 18.45 บาท            +ค่าการตลาด ราคา 1.40 บาท            +ส่วนต่างกำไรที่เป็นเงินเหลืออีก (รายได้ของรัฐบาล) 5.15 บาท หากรวมต้นทุนเทียมเท่ากับรัฐบาลมีกำไรมากถึง 6.15 บาทจากต้นทุนเทียมขนส่งจากสิงคโปร์         โครงสร้างราคาน้ำมันที่บิดเบี้ยวจากข้อมูลข้างต้น และไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สร้างภาระให้กับทุกส่วนยกเว้นบริษัทน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันและกิจการพลังงาน ซึ่งควรได้รับการแก้ไข ทางออกคงไม่ใช่จัดหาบริการขนส่ง แทนรถบรรทุก แต่ต้องการการออกแบบโครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการของประชาชนทั้งระบบ ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องจัดการปัญหาโครงสร้างราคาน้ำมันที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคสักที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ปลาเส้นปรุงรส โปรตีนสูง ไขมันต่ำ แต่โซเดียมสูงปรี๊ด

        ฉลาดซื้อเคยทำสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ขนม (ของกินเล่น) ปลาเส้นปรุงรส ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้ขนมอบกรอบหรือขนมขบเคี้ยวอื่นๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งพบว่า การโฆษณาว่าโปรตีนสูง ไขมันต่ำนั้นไม่ผิด แต่เรื่องโซเดียมนั้นมีเพียบจริงๆ และยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อประกอบกับข้อมูลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สแนกซ์หรือกลุ่มขนมขบเคี้ยวของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่เราจะนำมาเสนอในครั้งนี้         ในการทำสำรวจฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประจำปี 2564 ของ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยนั้น ได้เก็บตัวอย่างสินค้ากว่า 400 ตัวอย่าง แบ่งเป็นขนมอบกรอบ ซึ่งทำจากแป้ง และแยกย่อยเป็นประเภทตามวัตถุดิบได้แก่ มันฝรั่ง ข้าวโพด สาหร่าย ถั่ว แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์ คุกกี้ และปลาเส้น (รวมปลาหมึกอบกรอบ ปลาแผ่น) เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทั้งในกลุ่มเสี่ยงต่ออาหารที่มีโซเดียมสูงอย่างผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และผู้บริโภคทั่วไป โดยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าประเภทนี้ ได้ใช้ในการตัดสินใจเลือกบริโภคหรือเลี่ยงการบริโภคสินค้าที่มีโซเดียมสูง         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลชุดนี้ โดยจะแบ่งเป็นตอนๆ ตามประเภทของผลิตภัณฑ์ โดยขอประเดิมด้วย ปลาเส้นปรุงรส          สรุปผล การสำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรส (รวมปลาแผ่น ปลาหมึกอบกรอบและหมูอบกรอบ) มีข้อสรุปดังนี้        1.ผลิตภัณฑ์ที่นำมาอ่านฉลากมีทั้งสิ้น 36 ตัวอย่าง        2.ขนาดบริโภคหรือหนึ่งหน่วยบริโภคอยู่ที่ประมาณ 12-43 กรัม        3.มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 180 – 810 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค        4.หน่วยบริโภคแม้จะน้อยแค่ 12-13 กรัม แต่ก็ให้ปริมาณโซเดียมสูงถึง 180 กรัม        5.ยิ่งมีการปรุงรสมาก รสแซ่บ รสเข้มข้น (การใช้วัตถุเจือปนอาหารหลายชนิด เช่น โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ยิ่งมีปริมาณโซเดียมสูง         ติดตามผลการสำรวจได้จากภาพในหน้าถัดไป          คำแนะนำ        1.ผู้ปกครองควรใส่ใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรสของเด็ก และให้รับประทานแต่น้อย เพราะเป็นขนมที่มีปริมาณโซเดียมสูง        2.อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อหรือรับประทาน        3.เลี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูง หรือแบ่งบริโภคในวันถัดไป ไม่บริโภคหมดซองในครั้งเดียว หรือเลือกซองเล็กแทนซองใหญ่ (เพราะในแต่ละวันร่างกายต้องรับโซเดียมจากอาหารอื่นๆ ด้วย)         4.ควรส่งเสียงถึงผู้ประกอบการให้พิจารณาจัดทำสินค้าที่ลดปริมาณโซเดียมลงเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน        5.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหารหรือ อย. หรือจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 243 สำรวจฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย

        คุกกี้เนย หนึ่งในขนมยอดฮิตติดใจคนทุกวัย ด้วยรสชาติหวาน มัน หอม อร่อย ชิ้นพอดีคำ เคี้ยวกรุบกรอบเพลินเกินห้ามใจ หลายครั้งเราจึงเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำ (ตามฉลากโภชนาการ) คุ้กกี้เนยนั้น มีส่วนผสมหลักๆ คือ แป้ง เนย มาการีน น้ำตาลทราย นมผง ไข่ไก่ ผงฟู ปริมาณมากน้อยก็แล้วแต่สูตรความอร่อยของแต่ละยี่ห้อ อย่างไรก็ตามหลักๆ ก็คือของให้พลังงานสูง ดังนั้นหากกินคุกกี้เนยมากเกินไป อาจทำให้ได้รับพลังงาน รวมถึงโซเดียมเกินความต้องการในแต่ละวัน อาจก่อให้เกิดโรคจากพฤติกรรมการบริโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคไต เป็นต้น         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย จำนวน 10   ตัวอย่าง ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ(ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ) เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ผลการสำรวจฉลากโภชนาการคุกกี้เนย         เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของคุกกี้เนยทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าค่ากลางจากฐานนิยมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำคือ 30 กรัม หน่วยบริโภคที่มากที่สุดคือ 40 กรัม ได้แก่ คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ และ คุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ หน่วยบริโภคที่น้อยที่สุดคือ 20 กรัม ได้แก่ คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณพลังงานและไขมัน ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ พบว่า คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ มีมากที่สุด (พลังงาน 210 กิโลแคลอรี และไขมัน 11 กรัม) คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มีน้อยที่สุด (พลังงาน 110 กิโลแคลอรี และไขมัน 6 กรัม) ส่วนปริมาณน้ำตาล มีมากที่สุด คือ 11 กรัม ได้แก่คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้  มีน้อยที่สุดคือ 5 กรัม ได้แก่คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่  สำหรับปริมาณโซเดียมนั้น บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ก ตราบิสชิน มีมากที่สุด คือ 135 มิลลิกรัม และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด คือ 45 มิลลิกรัม ข้อสังเกต- เมื่อนำทั้ง 10 ตัวอย่างมาคำนวณในหน่วยบริโภคที่เท่ากันหรือใกล้เคียง (30 กรัม) พบว่า มีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 150-165 กิโลแคลอรี- หากนำคุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มาลองคำนวณในหน่วยบริโภคที่ 30 กรัม พบว่ามีค่าพลังงานสูงที่สุดคือ 165 กิโลแคลอรี่- ใน 1 วัน ร่างกายเราต้องการพลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ ปริมาณน้ำตาลสูงสุดไม่เกิน 40 กรัม ไขมันไม่เกิน 65 กรัม และโซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ดังนั้น ถ้าเรากิน คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ เพลินจนหมดกระปุก (6 ชิ้น) เราจะได้ปริมาณน้ำตาลและไขมัน อย่างละ 66 กรัม ซึ่งเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันแล้ว-เราไม่ควรบริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค หรือไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งพบว่าคุกกี้ทั้ง 10 ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมอยู่ในเกณฑ์นี้คือระหว่าง 45-135 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค-มีคุกกี้ 7 ยี่ห้อ ที่ระบุคำเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” แสดงว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็ห่วงใยสุขภาพผู้บริโภคเช่นกัน แล้วผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพตัวเองกันแค่ไหน ?คำแนะนำ-หยิบคุกกี้มาวางใส่จานไว้  1 ชิ้นใหญ่ หรือ 2-3 ชิ้นเล็ก แล้วปิดกล่องหรือมัดปากซองคุกกี้ไปเก็บไว้ไกลมือ เพราะถ้าไว้ใกล้มืออาจจะเผลอหยิบเข้าปากได้เรื่อยๆ-หากใครติดใจรสชาติและสัมผัสกรุบกรอบของคุกกี้ แต่กลัวอ้วน กลัวโรคต่างๆ ถามหา ก็ยังมีคุกกี้เพื่อสุขภาพ เช่น คุกกี้ธัญพืช คุกกี้ไข่ขาว มาเป็นทางเลือกในการลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดโซเดียม ได้-ก่อนกินคุกกี้ควรพิจารณาฉลากโภชนาการแบบ GDA หรือ ฉลากหวาน มัน เค็ม เพื่อดูปริมาณที่ควรกินในแต่ละวัน เช่น ฉลากระบุว่าควรแบ่งกิน 2 ครั้ง หมายถึงเราไม่ควรกินหมดภายในวันเดียว แต่ควรแบ่งกิน 2 วัน หรือแบ่งกิน 2 คน จะได้ไม่เผลอกินมากจนเกิดภาวะโภชนาการเกินตามมา-ลองตั้งเงื่อนไขกับตัวเองว่าถ้าวันไหนกินคุกกี้เยอะเกิน จะต้องเบิร์นออกกำลังกายเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไปซะ อย่างน้อยก็จะกินคุกกี้ให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเองข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thaihealth.or.thhttps://www.rama.mahidol.ac.th  https://www.matichon.co.th

อ่านเพิ่มเติม >