ฉบับที่ 269 มัน..ไซยาไนด์

        สารประกอบไซยาไนด์เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีอนุมูลไซยาไนด์เป็นองค์ประกอบ บางชนิดออกฤทธิ์ทำอันตรายผู้เคราะห์ร้ายได้รวดเร็วเช่น ชนิดที่ถูกนำมาใช้ในการก่อคดีฆาตกรรมนั้นเป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่อนุมูลไซยาไนด์รวมตัวกับโลหะอัลคาไลน์ (เช่น โซเดียมหรือโปแตสเซียม) ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็งสีขาว นอกจากนั้นพบได้เป็นสารประกอบที่รวมตัวกับโลหะอื่นอีกหลายชนิด ประเด็นที่น่าสนใจคือ สารประกอบไซยาไนด์หลายชนิดถูกพบในรูปของไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ (cyanogenic glycoside) ในพืชหลายชนิด เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งสารประกอบนี้ถูกเปลี่ยนเป็นกรดไฮโดรไซยานิคในบริบทที่เหมาะสม           มันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแป้งและเม็ดสาคู เป็นที่รู้กันดีในทางวิชาการว่า โอกาสที่มันสำปะหลังจะปล่อยก๊าซไซยาไนด์ออกมาระหว่างการเก็บและผลิตเป็นแป้งนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ ประเด็นคือ เรื่องราวเหล่านี้มีการให้ความรู้แก่ประชาชนมากพอหรือยัง อีกทั้งการเลี่ยงจะไม่กินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ตามธรรมชาตินั้นอาจเป็นไปได้ยากในบางกลุ่มชนในบางภูมิภาคของโลก         บทความเรื่อง High cassava production and low dietary cyanide exposure in mid-west Nigeria ในวารสาร Public Health Nutrition ของปี 2000 ให้ข้อมูลว่า หัวและใบมันสำปะหลังดิบนั้นบริโภคไม่ได้ เนื่องจากมีสารไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์หลัก 2 ชนิด คือ ลินามาริน (linamarin) และโลทอสตราลิน (lotaustralin) แต่สารพิษเหล่านี้ยังไม่ออกฤทธิ์จนกว่าถูกย่อยสลายโดยเอ็นซัมลินามาเรส (linamarase ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติในเซลล์ของมันสำปะหลังแต่แยกกันออกจากไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์โดย โดยอยู่ในส่วนเฉพาะเหมือนถุงหุ้มภายในเซลล์ของมันสำปะหลัง) ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ระเหยสู่อากาศรอบบริเวณสถานที่เก็บหัวมันหรือผลิตแป้งมัน ในกรณีที่ก๊าซระเหยหายไปหมดย่อมทำให้ได้แป้งที่ได้มีความปลอดภัยต่อการบริโภค         นอกจากนี้บทความเรื่อง Occupational exposure to hydrogen cyanide during large-scale cassava processing, in Alagoas State, Brazil ในวารสาร Cadernos de Saúde Pública (คาแดร์โนส เด เซาเด ปุบลิกา หรือ สมุดบันทึกสาธารณสุข) ของปี 2017 ให้ข้อมูลว่า การแปรรูปมันสำปะหลังที่มีสารประกอบไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ในระดับอุตสาหกรรมใหญ่จนถึงอุตสาหกรรมพื้นบ้านของบราซิลนำไปสู่การปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์สู่อากาศ ซึ่งพนักงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องรับไฮโดรเจนไซยาไนด์อย่างต่อเนื่องผ่านการหายใจ การสัมผัสทางผิวหนัง และอาจได้รับทางปากด้วยในบางกรณี         โดยหลักการทางพิษวิทยาแล้วเมื่อใดที่สารประกอบไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายในระดับที่ไม่ก่อพิษเฉียบพลัน สารประกอบไซยาไนด์ส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนโดยกระบวนการที่ใช้เอ็นซัมโรดาเนส (ซึ่งพบในไมโตคอนเดรียของเซลล์) ได้เป็นสารประกอบไธโอไซยาเนต (thiocyanate) ซึ่งมีอันตรายน้อยกว่าและถูกขับทิ้งออกจากร่างกายทางปัสสาวะ และไซยาไนด์จำนวนเล็กน้อยที่เหลือในร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งออกจากร่างกายผ่านทางลมหายใจ โดยรวมแล้วสารประกอบไซยาไนด์ปริมาณต่ำและผลิตภัณฑ์จากไซยาไนด์ที่เกิดจากการกำจัดพิษส่วนใหญ่ถูกขับออกจากร่างกายภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการสัมผัส         สำหรับในประเด็นที่ว่าการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ธรรมชาติมีส่วนในการก่อให้เกิดลูกวิรูปต่อเด็กในท้องผู้บริโภคสตรีหรือไม่นั้น เรื่องนี้สำคัญมากต่อการพัฒนาประชากรโลกซึ่งผู้เขียนพบว่า มีเอกสารเรื่อง Cyanogenic glycosides (WHO Food Additives Series 30) ในเว็บของ www.inchem.org มีข้อมูลในหัวข้อ Special studies on embryotoxicity and teratogenicity ซึ่งอ้างบทความเรื่อง Congenital malformations induced by infusion of sodium cyanide in the Golden hamster ในวารสาร Toxicology and Applied Pharmacology ของปี 1982 ซึ่งเป็นการศึกษาในหนูแฮมสเตอร์สีทองที่ตั้งท้องแล้วได้รับเกลือโซเดียมไซยาไนด์ในวันที่ 6-9 ของการตั้งท้อง สารพิษนั้นถูกให้แก่แม่หนูผ่านเครื่องปั๊มออสโมติกขนาดเล็กที่ฝังใต้ผิวหนังด้วยอัตรา 0.126-0.1295 มิลลิโมล/กิโลกรัม/ชั่วโมง ซึ่งผลการศึกษาพบว่า มีการชักนำให้เกิดการหายไปของตัวอ่อน (resorptions) ในมดลูกของแม่หนู และพบว่าลูกหนูที่คลอดออกมามีรูปร่างผิดปกติ (malformations) ซึ่งความผิดปกติที่พบมากสุดคือ ความบกพร่องของท่อประสาท (neural tube defects) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจในบทความนี้กล่าวว่า การเกิดคอพอกในพลเมืองของสาธารณรัฐซาอีร์ (Zaire) ซึ่งประชาชนกินอาหารทำจากมันสำปะหลังที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ดีพอนั้นได้รับผลกระทบจากสารประกอบไธโอไซยาเนต (ซึ่งเกิดในร่างกายหลังจากการพยายามกำจัดไซยาไนด์ทิ้ง) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น         มีสมมุติฐานหนึ่งที่น่าสนใจกล่าวว่า สารประกอบไธโอไซยาเนตนั้นมีขนาดโมเลกุลใกล้เคียงกับโมเลกุลของไอโอดีน ดังนั้นสารประกอบไธโอไซยาเนตจึงอาจขัดขวางการดูดซึมไอโอดีนไปใช้ในการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ อย่างไรก็ดีระดับไทโอไซยาเนตที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับสารประกอบไซยาไนด์จะส่งผลต่อต่อมไทรอยด์เฉพาะเมื่อผู้บริโภคได้รับไอโอดีนต่ำกว่า 100 ไมโครกรัม/วัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณไอโอดีนน้อยที่สุดที่ร่างกายต้องได้รับ งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ประชากรที่ได้รับสารไซยาไนด์จากมันสำปะหลัง (ที่แปรรูปไม่ดีพอ) จะไม่เป็นโรคคอพอกตราบเท่าที่ได้รับไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย นี่แสดงว่าประเทศไทยมาได้ถูกทางแล้วที่กำหนดให้เกลือบริโภคต้องมีการเติมไอโอดีน          สำหรับเด็กในท้องแม่ที่พัฒนาอวัยวะครบถ้วนหรือคลอดออกมาแล้วถ้าได้รับสารประกอบไซยาไนด์และ/หรือไธโอซัลเฟตในขนาดต่ำนั้นจะเป็นอย่างไรนั้น มีบทความเรื่อง Public Health Statement for Cyanide จากหน่วยงาน ATSDR (Agency for Toxic Substances and Disease Registry) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งปรากฏในเว็บของ US.CDC (www.cdc.gov) ให้ข้อมูลว่า ตลอดระยะเวลาที่แม่ตั้งครรภ์และได้รับก๊าซไซยาไนด์ เช่น จากควันบุหรี่หรือจากการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ ทารกในครรภ์จะได้รับไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตผ่านรก นอกจากนี้การศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่า ไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตสามารถขับออกมาในน้ำนมไปยังลูก         ในกรณีที่แม่กินอาหารที่มีแป้งมันสำปะหลังเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตแล้วตั้งท้อง โอกาสที่จะเกิดปัญหากับลูกที่เกิดมาย่อมเป็นไปได้แม้ว่ายังไม่มีรายงานว่า สารประกอบไซยาไนด์ทำให้เกิดความพิการในคนโดยตรงแต่สามารถพบได้ว่า ผู้คนในเขตร้อนบางประเทศที่กินมันสำปะหลังเป็นแหล่งของอาหารแป้งนั้น เด็กบางส่วนเกิดมาพร้อมด้วยปัญหาของไทรอยด์ ซึ่งอาจเกี่ยวกับการได้รับไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตจากแม่ในระหว่างตั้งท้องในลักษณะเดียวกับที่พบความผิดปรกติแต่กำเนิดในหนูทดลองที่แม่หนูถูกเลี้ยงด้วยอาหารมีแป้งมันสำปะหลัง ดังแสดงในบทความเรื่อง Effect of Cyanogenic Glycosides and Protein Content in Cassava Diets on Hamster Prenatal Development ในวารสาร Fundamental and Applied Toxicology ของปี 1986 ซึ่งรายงานผลการศึกษาที่ให้หนูแฮมสเตอร์ในช่วงวันที่ 3-14 ของการตั้งท้องได้รับอาหารทดลองซึ่งประกอบด้วยมันสำปะหลังป่น (ชนิด sweet cassava ซึ่งมีสารประกอบไซยาไนด์ต่ำหรือ bitter cassava ซึ่งมีสารประกอบไซยาไนด์สูง) 80 ส่วนและอาหารหนูปรกติ 20 ส่วน พร้อมมีกลุ่มควบคุมได้รับอาหารปรกติซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับอาหารทดลองแล้วผลการศึกษาพบว่า ความเข้มข้นของไทโอไซยาเนตเพิ่มขึ้นสูงในปัสสาวะ เลือด และในเนื้อเยื่อทั้งตัวของลูกหนูที่แม่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารมีแป้งมันสำปะหลัง นอกจากนี้ลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินอาหารทดลองมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินอาหารควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับหลักฐานของความเป็นพิษที่เกิดต่อลูกในท้องนั้นพบว่า การสร้างกระดูกหลายส่วนในลูกหนูลดลง อีกทั้งอาหารมันสำปะหลังที่มีสารประกอบไซยาไนด์สูงยังสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนลูกสัตว์แคระแกรนเมื่อเปรียบเทียบกับลูกของแม่หนูที่กินอาหารปรกติ         ประเด็นว่าโดยทั่วไปผู้บริโภคควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากไซยาไนด์ที่ได้รับจากอาหารที่กินในชีวิตประจำวันนั้น มีหลายการศึกษาพบว่า ผลกระทบของสารประกอบไซยาไนด์ระดับต่ำมักส่งผลร้ายต่อมนุษย์และสัตว์เฉพาะเมื่อมีภาวะโภชนาการไม่ดี ทั้งนี้เพราะอาหารที่มีโปรตีนสมบูรณ์ (ซึ่งมีกรดอะมิโนจำเป็นครบ) ในปริมาณที่เพียงพอมักช่วยแก้ปัญหาจากการที่ผู้บริโภคได้รับสารประกอบไซยาไนด์จากอาหาร         มีรายงานถึงประเด็นด้านสุขภาพอื่นๆ อีกที่คาดว่าเป็นผลกระทบทางอ้อมเกี่ยวกับการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ซึ่งส่งผลต่อระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ต่ำคือ บทความเรื่อง Association between maternal hypothyroidism and autism spectrum disorders in children ในวารสาร Pediatric RESEARCH ของปี 2018 ได้รายงานผลการศึกษาแบบ retrospective cohort study โดยใช้การจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน 397,201 คน ที่คลอดตั้งแต่ปี 1991 ถึงปี 2011 และยังคงเป็นสมาชิกแผนสุขภาพตั้งแต่ปี 1993 ถึงปี 2014 ซึ่งพบว่า บุตรของสตรีที่มีภาวะไทรอยด์ต่ำมีอัตราความผิดปกติในลักษณะของออทิสติกสูงเป็น 1.31 เท่าของบุตรของสตรีปรกติ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งในผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยการมีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งภาวะการมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำของแม่นั้นมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของออทิสติกทั้งเด็กชายและเด็กหญิงอย่างชัดเจน

อ่านเพิ่มเติม >