ฉบับที่ 227 ที่มาที่ไปของมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในครัวเรือน

        จากการติดตามดูเสียงสะท้อน ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศ ที่ร่วมจัดทำกับนิตยสารฉลาดซื้อ พบว่า ยังต้องมีการทำความเข้าใจและอธิบายเพิ่มในเรื่องมาตรฐานการทดสอบอีกพอสมควร ซึ่งทางเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้ใช้มาตรฐานของ JEMA (The Japan Electrical Manufacturers’ Association เป็นแนวทางในการทดสอบ ผมขออนุญาตใช้คอลัมน์นี้ อธิบายความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นของมาตรฐานนี้ เพื่อให้ ประชาชนและผู้บริโภคที่สนใจได้รับทราบเพิ่มเติม          มาตรฐานที่ทางทีมวิชาการของเรา ใช้อ้างอิง คือ JEM 1467 เป็นมาตรฐานสำหรับ เครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในครัวเรือน และ การใช้งานที่คล้ายกัน ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1995 และแก้ไขปรับปรุง (ฉบับที่ 4) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2015 จุดมุ่งหมายของการบัญญัติมาตรฐาน        มีการกำหนดมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศสำหรับ Commercial Use ตามมารตรฐานของ JIS C 915 (เครื่องฟอกอากาศ) .ในปี 1976 อย่างไรก็ตามในปี 1983 เริ่มมีการใช้เครื่องฟอกอากาศในครัวเรือนอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่ใช้ Filter ที่กำจัดกลิ่น และดักจับฝุ่น แต่เนื่องจากเกณฑ์การเปลี่ยนและวิธีการทดสอบ Filter แตกต่างกันไปในแต่ละผู้ผลิต จึงมีความต้องการให้กำหนดมาตรฐานให้เป็นหนึ่งเดียวกัน         คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเครื่องฟอกอากาศของสมาคม JEMA จึงสร้างมาตรฐานโดยความสมัครใจของวิธีการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดกลิ่น และวิธีการทดสอบประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นขึ้นมา ก่อน ปรับให้เข้ากับการบังคับใช้ แล้วพิจารณากำหนดมาตรฐานแยก ในฐานะเป็น  The Japan Electrical Manufacturers’ Association ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ประยุกต์ใช้กับเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในครัวเรือนขนาดเล็ก แยกกับ JIS          ที่น่าสนใจสำหรับ การทดสอบตามมาตรฐานของ JEMA คือ ในปี 2015 มีการแก้ไขมาตรฐานให้สอดคล้องกับสภาพปัจุจบัน โดยใช้เนื้อหาและข้อมูลวิธีการทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่นละอองขนาดไมโคร (PM 2.5)  ของเครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน และวิธีการคำนวณเปลี่ยนแปลงมาตรฐานโดยสมัครใจของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเครื่องฟอกอากาศของสมาคมที่ได้กำหนดไว้        ขอบเขตการประยุกต์ใช้ คือ เป็นกฎข้อบังคับกำหนดเกี่ยวกับเครื่องฟอกอากาศที่ติดตั้งในครัวเรือนทั่วไป และในสำนักงาน เพื่อกำจัดกลิ่น ดักจับฝุ่นและควบคุมไวรัส หรือ ดักจับฝุ่นอย่างเดียว         ขอยกนิยาม และ คำศัพท์เฉพาะ และเงื่อนไขการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับการดักจับฝุ่น กรณี PM 2.5                เครื่องฟอกอากาศ หมายถึง อุปกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์ ในการกำจัดกลิ่นและดักจับฝุ่น หรือดักจับฝุ่นเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็นวิธีการดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้า และแบบเชิงกล        เครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้า เป็นเครื่องฟอกอากาศ ที่ใช้ประจุไฟฟ้าที่มีแรงดันสูงเพื่อดักจับฝุ่นละออง        หมายเหตุ เครื่องฟอกอากาศแบบไฟฟ้าที่ไม่มีอุปกรณ์พัดลม โดยทั่วไปถือว่าเป็นเครื่องฟอกอากาศ แบบอิออน         เครื่องฟอกอากาศแบบเชิงกล ส่วนมากเป็นเครื่องฟอกอากาศที่ดักจับฝุ่นที่ใช้วัสดุตัวกรอง        อัตราการไหลของอากาศ (Rated Air Flow) เป็นการไหลของลมในขณะที่เครื่องฟอกอากาศกำลังทำงาน ที่ระดับความถี่ (Rated Frequency) และที่ระดับแรงดันไฟฟ้า ( Rated Voltage) ในกรณีที่ เครื่องฟอกอากาศที่มีอุปกรณ์ปรับการไหลของอากาศ ให้ใช้อัตราการไหลของอากาศสูงสุด        ความคงทนของตัวกรอง (Durability)        เกณฑ์การเปลี่ยนตัวกรองกำจัดกลิ่น และตัวกรองดักจับฝุ่น แสดงเป็นจำนวนวัน        พื้นที่ห้องที่ใช้งาน        เงื่อนไขจำนวนครั้งในการระบายอากาศตามธรรมชาติ คือ สิ่งสกปรกในอากาศที่ความหนาแน่น 1.25 mg / m3 ในเวลา 30 นาที โดยเป็นห้องที่สามารถทำความสะอาดให้เหลือสิ่งสกปรก 0.15 mg/ m3 ตามกฎหมายการจัดการอาคารและสุขภาพของประเทศญี่ปุ่น        ประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นละอองขนาดไมโคร (PM 2.5) คือ ประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นขนาดไมโคร (PM 2.5) เมื่อทดสอบตามข้อกำหนด ตามภาคผนวก G ในพื้นที่ 32 ตารางเมตร ภายใน 90 นาที เมื่อได้ค่า Capacity ที่สามารถกำจัดฝุ่นได้ 99 % จึงถือว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดฝุ่นละอองขนาดไมโคร (PM 2.5) ของเครื่องฟอกอากาศ (ที่การทดสอบครั้งนี้ ใช้เป็นแนวทาง)        หมายเหตุ ในข้อกำหนดมาตรฐานการทดสอบประสิทธิภาพการดักจับฝุ่นละอองขนาดไมโคร (PM 2.5) คือ เป็นข้อกำหนดสำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องฟอกอากาศ อย่างไรก็ตามสามารถบังคับใช้โดยอนุโลม กับผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากเครื่องฟอกอากาศได้ โดยให้พิจารณาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ แล้วตั้งค่าขนาดพื้นที่ทดสอบและเวลาวัดตามแต่ละรายการ        และบทความนี้ต้องขอขอบคุณ ผศ. ดร. ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ที่กรุณาให้ข้อมูลและอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐาน JEM 1467        สุดท้ายนี้ผมคิดว่า ถึงเวลาที่หน่วยงานทางด้านการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทยจะต้องรีบออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เครื่องฟอกอากาศในครัวเรือน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ย่อมมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กทารก ผู้ป่วยทางเดินหายใจ ในกรณีที่เครื่องฟอกอากาศไม่มีคุณภาพ ในการกรองดักจับฝุ่นครับ แหล่งข้อมูลJapan Electrical Manufacturers’ Association Regulation JEM 1467: 2015

อ่านเพิ่มเติม >