ฉบับที่ 153 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2556 จับผิดพ่อค้า – แม้ค้าโกงตาชั่ง กรมการค้าภายใน ฝากคำแนะนำถึงคนที่ต้องซื้อสินค้าข้าวของกับร้านค้าที่มีการใช้ตาชั่ง ชั่งตวงสินค้า ป้องกันการถูกโกงน้ำหนัก หลังจากที่กรมการค้าภายในได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกพ่อค้า – แม้ค้าใช้กลโกงตาชั่งเอารัดเอาเปรียบ สำหรับข้อสังเกตในการดูตาชั่งสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีอย่างเช่น ต้องตรวจสอบเครื่องหมายรับรองจากกรมฯ ซึ่งเป็นตราครุฑติดไว้, ไม่มีการหักเข็มชี้น้ำหนักเพราะทำให้เครื่องอ่านน้ำหนักไม่ถูกต้อง, ตัวเลขถาดกับตัวเลขเครื่องที่ระบุต้องตรงกัน, ต้องไม่มีวัสดุอื่นหรือนำสีมาพ่นหน้าปัดด้านใดด้านหนึ่งหรือการนำกระดาษมาปิดอีกหน้าหนึ่งของเครื่องชั่ง, การใช้เครื่องที่ทำด้วยพลาสติกหรือเครื่องชั่งที่อยู่ในสภาพชำรุด เป็นต้น เทคนิคที่พ่อค้า-แม้ค้านิยมใช้ในการโกงตาชั่งหลักๆ จะมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ การแกะเครื่องและเปลี่ยนสปริง, การเปลี่ยนหน้าปัดและสปริง, การเปลี่ยนถาดที่มีน้ำหนักสูง ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อได้สินค้าไม่เต็มน้ำหนัก จะได้ของเฉลี่ยที่ 8-9 ขีดต่อน้ำหนักที่ซื้อไป 1 กก. เท่านั้น     ใช้ตู้เอทีเอ็มอย่างปลอดภัยเงินไม่ถูกขโมย ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน(ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาให้คำแนะนำกับผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม ป้องกันการถูกลักลอบขโมยข้อมูลบนแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตรและรหัสประจำบัตร หลังจากเกิดกรณีที่มีกลุ่มมิจฉาชีพแอบดูดเงินจากบัญชีของผู้ใช้เอทีเอ็มกว่า 10 ราย รวมยอดเงินที่ถูกลอบขโมยไปหลายแสนบาท สำหรับคำแนะนำของ ศคง. ในการใช้ตู้เอทีเอ็มอย่างปลอดภัย มีดังนี้ ทุกครั้งที่ใช้ตู้เอทีเอ็ม ควรสังเกตช่องสอดบัตรและแป้นกดตัวเลขอย่าให้มีสิ่งผิดปกติ หากรู้สึกสงสัยก็ไม่ควรใช้เครื่องนั้นและรีบแจ้งให้ธนาคารทราบทันที จุดที่ควรสังเกตก่อนใช้ตู้เอทีเอ็ม คือ กล่องใส่โบชัวร์ ซึ่งไม่ได้เป็นของธนาคาร เพราะอาจเป็นที่ซ่อนกล้องรูเข็มเพื่อแอบดูการกดเลขรหัส ควรใช้มือบังแป้นกดตัวเลขขณะทำรายการ เพื่อไม่ให้กล้องที่มิจฉาชีพแอบติดตั้งไว้หรือคนที่อยู่ด้านหลังเห็นรหัสบัตร ถ้าเป็นไปได้ควรเปลี่ยนรหัสบัตรอยู่เสมอ และควรรีบเปลี่ยนรหัสทันทีเมื่อสงสัยว่าบุคคลอื่นทราบรหัสของเรา   อย.ประกาศลดราคายาผู้ป่วยมะเร็ง -  สมาธิสั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปรับลดราคายากลุ่มจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตตามต้นทุนการจัดหาที่ลดลง จำนวน 7 รายการ เช่น ยาเฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ยาเมทิลเฟนิเดต ที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น และยาโซลพิเดม ทาร์เทรต ซึ่งเป็นยานอนหลับ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลและผู้ป่วยที่ต้องใช้ยา ซึ่งยา 7 รายการที่ประกาศลดราคาประกอบด้วย 1.เฟนทานิล ชนิดฉีด (0.1 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร/หลอด) 10 หลอด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 220 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 180 บาท ลดลง 18 % 2.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (12 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 500 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 400 บาท ลดลง 20 % 3.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (25 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 900 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 600 บาท ลดลง 33 % 4.เฟนทานิล ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง (50 ไมโครกรัม/ชั่วโมง) 5 แผ่น/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 1,500 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 900 บาท ลดลง 40 % 5.ยาเมทิลเฟนิเดต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 100 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 350 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 300 บาท ลดลง 14 % 6.ยาเมทิลเฟนิเดต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 200 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 700 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 600 บาท ลดลง 14 % 7.โซลพิเดม ทาร์เทรต ชนิดเม็ด (10 มิลลิกรัม/เม็ด) 20 เม็ด/กล่อง ราคาเดิมกล่องละ 180 บาท ราคาใหม่ กล่องละ 160 บาท ลดลง 11 % โดยยาทั้ง 7 รายการจะเริ่มปรับลดราคาใหม่ในเดือนตุลาคม 2556 นี้เป็นต้นไป   คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โวย กสทช. เอาจริงแก้ปัญหา “ซิมดับ” หลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ออกประกาศ “มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556” หรือกรณีปัญหาสัญญาโทรศัพท์มือถือคลื่น 1,800 MHz ซึ่งเป็นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่สิ้นสุดสัญญาณไม่สามารถใช้งานได้ หรือที่มีคนให้คำจำกัดความว่า “ซิมดับ” โดยหลังจาก กสทช. มีคำสั่งตั้งแต่เมื่อวันที่16 ส.ค.56 ที่ผ่านมา พบว่าประกาศดังกล่าวยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้บริโภคได้จริง เพราะยังคงมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายัง กสทช. เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนมีทั้ง ปัญหาเรื่องการโอนย้ายเลขหมาย ที่ไม่สะดวกอย่างที่ควรจะเป็น แถมมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการแจ้งเรื่องการโอนย้ายเครือข่าย การถูกย้ายเครือข่ายโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า บางคนถูกปรับสิทธิประโยชน์ลดลงจากการโอนย้ายเครือข่าย รวมถึงปัญหาที่บริษัทไม่ยอมคืนเงินที่ยังคงเหลือในระบบเดิม ไปจนถึงไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้ จากปัญหาที่เกิดขึ้น คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดย ผศ.รุจน์ โกมลบุตร ในฐานะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและโทรคมนาคม ร่วมกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสระบุรี ออกแถลงการณ์เป็นข้อเสมอต่อ กสทช. ให้เร่งจัดการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหลังการประกาศใช้มาตรการเยียวยากรณีซิมดับไปแล้วแต่ปัญหายังไม่ถูกแก้ไข โดยข้อเสนอของภาคประชาชนมีดังนี้ 1.ขอให้ กสทช. ติดตามการบังคับใช้ประกาศอย่างเคร่งครัด เพราะยังพบปัญหาเกิดขึ้นกับผู้บริโภค เช่น ผู้ประกอบการยังมีการขยายฐานผู้ใช้บริการคลื่น 1800 MHz ต้องควบคุมคุณภาพการให้บริการ และคืนเงินคงเหลือเมื่อผู้บริโภคยุติการใช้บริการ 2.กสทช. ต้องกำกับดูแลการจัดการคลื่นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซิมดับซ้ำอีก โดยต้องเร่งให้มีจัดให้มีการประมูลก่อน ถึงวันหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2558 3.ให้ กสทช. ถอนฟ้องนักวิชาการและสื่อมวล ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหากรณีคลื่นสัญญา 1800 MHz เพราะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้หลักสุจริต เพื่อประโยชน์ของสังคม   “มาตรา 61 ยิ่งใกล้ ยิ่งต้องเชียร์” ฉายหนังสั้นผู้บริโภคที่รัฐสภา แม้สถานการณ์ทางการเมืองยังคงสับสนวุ่นวาย แต่องค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนก็ยังมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะผลักดันกฎหมาย “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเราเสียที ล่าสุดสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ฉายภาพยนตร์สั้นและเสวนาเรื่อง “มาตรา 61 ยิ่งใกล้ ยิ่งต้องเชียร์” ณ สโมสรรัฐสภา เพื่อปลุกจิตสำนึกและสร้างความเข้าใจกับบรรดานักการเมือง สส. สว. ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกกฎหมายฉบับนี้ โดยหลังการฉายภาพยนตร์ ก็ได้มีการผู้คุยกับเหล่าผู้กำกับภาพยนตร์ ได้แก่ นายไพจิตร ศุภวารี, นายชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา และ นายพัฒนะ จิรวงศ์ โดยมี ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ในฐานนะนักวิชาการที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว สส. พรรคเพื่อไทย ร่วมพูดคุยกันถึงปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเรา และการเดินทางของกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคว่าตอนนี้อยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รอเพียงยกขึ้นมาพิจารณาลงคะแนนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น ผู้บริโภคยังคงต้องคอยติดตาม เป็นกำลังใจ และลุ้นกันต่อไป ว่ากฎหมายเพื่อผู้บริโภคฉบับนี้ว่าจะถึงฝั่งฝันได้เมื่อไหร่ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 Up date มาตรา 61

ระหว่างกำลังรอการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาของ ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่กำลังงวดเข้ามาทุกที มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ก็ได้ฝึกภาคปฏิบัติกันอีกครั้ง โดยเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นร้อนเรื่อง การขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจี ของรัฐบาลท่านนายกยิ่งลักษณ์ ในเวที สัมมนา เรื่อง “จับตายุทธการกินรวบประเทศไทย ตอน การขึ้นราคาก๊าซ NGV และ LPG” โดยมีเจ้าภาพใหญ่คือ คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เมื่อวันพุธที่ 11 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา เป็นการระดมความคิดเห็นและการแสดงพลังจากภาคประชาชนที่มีคนให้ความสนใจเยอะมาก เรียกว่าได้ใส่กันเต็มที แม้งานนี้จะไม่เห็นคนจากรัฐบาลหรือปตท.เลยก็ตาม(แบบที่มาอย่างเปิดเผยนะ) ซึ่งถ้ามีองค์การอิสระเกิดขึ้นแล้วล่ะก็ รัฐบาลและหน่วยงานที่สร้างผลกระทบทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนในวงกว้าง จะต้องมาให้ข้อมูลโดยไม่หลบเลี่ยง ข้อมูลที่ควรจะเปิดเผยต่อสาธารณะจะได้เปิดออกมาจริงๆ เสียทีไม่ใช่งุบงิบๆ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เอาน่า รอหน่อยล่ะกัน  ฮึ่ม

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 130 Up date มาตรา 61

  ข่าวรัฐสภาโหวตรับรองกฎหมาย 24 ฉบับ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในนั้นคือ ร่าง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ถือเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง ในท่ามกลางภาวะวิกฤตน้ำท่วม เป็นอันว่า... กฎหมายนี้ได้เข้าไปรอการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาแล้ว ในการพิจารณาชั้นวุฒิสภา จะประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 29 ท่าน โดยเป็น กรรมาธิการที่ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 13 ท่าน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันร่าง พรบ.ดังกล่าว ได้แก่  นายไพโรจน์  พลเพชร  นายนิโรจน์   เจริญประกอบ นายถนอม  อ่อนเกษ นายวรรณชัย    บุญบำรุง  รศ.ดร.จิราพร    ลิ้มปานานนท์ รศ.ดร.วิทยา     กุลสมบูรณ์  ผศ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ  ดร.ไพบูลย์    ช่วงทอง ศ.เจิมศักดิ์   ปิ่นทอง  นางสาวสารี     อ๋องสมหวัง  นายชัยรัตน์    แสงอรุณ   นางสาวบุญยืน    ศิริธรรม และนางสาวกรรณิการ์   กิจติเวชกุล ทุกท่านล้วนทำงานแข็งขันถือเป็นความภูมิใจของภาคประชาชนค่ะ หวังว่าการพิจารณาจะผ่านไปได้ด้วยดี จนออกมาเป็นกฎหมายฉบับสมบูรณ์ ผู้บริโภคเราจะได้มี องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่อดทนรอคอยกันมายาวนานเสียที เพิ่มเติมเรื่องข้อกฎหมายสักนิด ในการพิจารณาในชั้นวุฒิสภานั้น ระยะที่ใช้คือ 30 วัน แต่ก็สามารถขยายได้อีก 30 วัน ซึ่งสมัยนิติบัญญัตินี้จะเปิดการประชุมในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ และจะครบ 30 วัน ในวันที่ 18 มกราคม 2555 โอ้...อีกนิดก็ถึงฝั่งฝันแล้วค่ะ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 129 Up date มาตรา 61

  เพราะเหตุน้ำท่วมหนักเกินบรรยาย ทำให้การพิจารณากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร์เลื่อนไปเรื่อยๆ จะเปิดสภาก็เฉพาะให้บรรดาท่าน สส.ได้ฉะกันเรื่อง ใครทำน้ำท่วม บ้านเมืองเสียหาย เอาเถอะ ภาคราชการยังไม่เคลื่อนไหว แต่ภาคประชาชนเรายังขับเคลื่อนต่อไป เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคหลายจังหวัดในช่วงที่คนภาคกลางตื่นน้ำกันอยู่นั้น ก็ได้จัดเวทีเพื่อเร่งประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น ถึงความสำคัญขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อว่าเมื่อออกมาเป็นกฎหมายใช้ได้จริงแล้ว จะได้หยิบจับมาใช้กันได้อย่างเต็มที่ เริ่มที่ เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดพะเยา ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มงานภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(กสทช.) และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภค(คคส.),สำนักงานสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ได้ร่วมกับหน่วยงานสำคัญๆ ในพื้นที่ จัดงาน  “อนาคตที่รออยู่ข้างหน้ากับองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ” ณ โรงแรมพะเยาเกทเวย์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2554 จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในพื้นที่ของจังหวัดพะเยา พบว่า  ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นยังมีสาเหตุจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ ขาดข้อมูลของผู้บริโภค และยังถูกผู้ประกอบการเอาเปรียบโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ทางด้านโทรคมนาคม เช่น เรื่องของค่าบริการโทรศัพท์มือถือ เรื่องรถโดยสารสาธารณะ ปัญหาสื่อท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวีที่โฆษณาอาหารเป็นยา หลอกลวงผู้บริโภค และเรื่องอันตรายใกล้ตัวอย่างกรณี แร่ใยหิน ซึ่งทุกฝ่ายได้เห็นร่วมกันว่า พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะมีส่วนสำคัญในการทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบน้อยลง อีกทั้งพวกเราทุกคนที่เป็นผู้บริโภคควรช่วยกันสนับสนุน จะมีข้อกังวลอยู่บ้างก็ที่ว่า พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้นจริงๆ อาจจะต้องแก้ปัญหาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในสังคมไทยตามมา เนื่องจากประเทศไทยเรามีการออกกฎหมายมามากมายแต่มักมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ ซึ่งองค์การอิสระฯ นี้ เป็นอะไรที่น่าจะต้องหามาตรการรองรับปัญหานี้ให้ได้ ฉบับหน้าจะได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนของภาคประชาชนในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 128 Up date มาตรา 61

  นับว่าที่ลงแรงไปไม่เสียเปล่า รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ตอบรับให้ ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ...เดินหน้าต่อ ตามหมายเดิมจะเข้าประชุมรัฐสภาในวันที่ 17 ตุลาคม 54 แต่อย่างที่ทราบกัน ประเทศไทยเรากำลังประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วม ซึ่งรุนแรงและสร้างความเสียหายนับแสนล้าน จึงมีหมายยกเลิกการประชุมในวันดังกล่าวออกไปก่อน ไม่เป็นไรค่ะ เรารอได้ ตอนนี้ปัญหาเฉพาะหน้ายิ่งใหญ่มาก ทุกฝ่ายต้องเร่งเข้าช่วยกันกอบกู้สถานการณ์ก่อน อย่างไรเสียขอให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดีด้วยเถิด   น้ำท่วมครั้งนี้ หลายเครือข่ายงานผู้บริโภคในจังหวัดภาคกลางและภาคเหนือ ถูกน้ำท่วมสำนักงานเสียหาย ก็ขอเอาใจช่วยนะคะ และต้องชื่นชมกับสิ่งที่พวกเราพยายามรณรงค์กันสุดตัวในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่ผ่านมา โดยเฉพาะเครือข่าย กทม. ที่ขนทีมมาช่วยกันรณรงค์เพื่อเผยแพร่ สิ่งที่เรียกว่า องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ   เราไปกันหลายพื้นที่ในเขต กทม. เช่น รณรงค์ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ  มาตรา 61  อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วันที่ 12 ก.ย. พอวันที่ 13 เราก็ไปร่วมรณรงค์ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ และ ยื่น จม.ให้กับคณะรัฐมนตรี เพื่อให้นำกฎหมายมาพิจารณาในการประชุม ครม.(วันอังคาร) 14 ก.ย. ไปสีลม 17 ก.ย. ไปเดอะมอลล์บางกะปิ และในช่วง 15 – 20 ก.ย. เครือข่ายทั่วประเทศ ก็ช่วยกันขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ รณรงค์ มาตรา 61 ให้ สส.สว. สนับกฎหมายองค์การอิสระทั่วประเทศ   นอกจากนั้นยังใช้ Social network ทำงาน ทั้ง คลิป ใน ยูทูป และ เฟสบุ๊ค   เรียกว่า ทุ่มกันสุดตัว ก็นับว่า ผ่านไปด้วยดี แต่...   เราก็ยังต้องร่วมใจกันขับเคลื่อนให้ กฎหมายนี้สำเร็จให้ได้นะคะ ตอนนี้มันแค่ครึ่งทางเท่านั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 127 Update มาตรา 61

  ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ประชาชนก็มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมายได้ ซึ่งสมัยนั้นก็ยากหน่อย ต้องรวมกันให้ได้ถึง 50,000 รายชื่อ เพื่อให้มีกฎหมายสักฉบับ  แต่กฎ กติกานี้ ผ่อนคลายลงเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดไว้แค่ 10,000 รายชื่อเท่านั้น ประชาชนผู้บริโภคอย่างเราๆ เจอปัญหาถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด พอมีช่องทางก็เลยสบโอกาสเสนอกฎหมายภาคประชาชนกันบ้าง เสนอกันเข้าไปหลายฉบับเชียว ซึ่งมันสะท้อนล่ะนะว่า ยิ่งภาคประชาชนเสนอกฎหมายมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่า ปัญหาของประชาชนมันมากมายหลายเรื่อง  เฉพาะองค์กรผู้บริโภคกับองค์กรพันธมิตร ก็มีร่างกฎหมายที่นอนรอดูตัวรอบสองรอบสามในสภากันถึง 9 ฉบับ โดยเฉพาะ กฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตามมาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่ผ่านการพิจารณาจาก สส. ในรัฐบาลที่แล้วไปแบบฉลุย 3 วาระนั้น ดันสะดุดวิกฤตการเมืองเข้า รัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ยุบสภาไปเสียก่อนไม่อยู่จนครบวาระ เลยต้องรอให้เลือกตั้งเสร็จ จัดรัฐบาลใหม่เสร็จ และรอรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของท่านยิ่งลักษณ์ชงเรื่องต่อเพื่อให้ร่างกฎหมายฯ เข้าสู่การพิจารณาในชั้นวุฒิสมาชิกต่อไป ปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ รัฐบาลใหม่ต้องพิจารณานำเสนอกฎหมายให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่การเปิดประชุมรัฐสภาวันแรก  ถามว่า ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่ชงเรื่องต่อ ร่างกฎหมายฯ จะเป็นอย่างไร งานเข้าเต็มๆ สิ ทำงานใหม่กันอีกครั้งเลยนะคะพี่น้อง ต้องออกหารายชื่อ 10,000 กันใหม่ เริ่มผลักดันกันใหม่ คืออะไรๆ ที่ทำมา(14 ปี) มันสูญเปล่าต้องเริ่มใหม่อีกครั้ง  ตอนนี้เลยต้องเร่งรณรงค์กันใหญ่ ก่อนวันสิ้นสุด 60 วัน คือในวันที่ 30 กันยายน 54 เพื่อขอให้ประชาชนทั่วไป ช่วยส่งเสียงเชียร์ให้รัฐบาลท่านเห็นความสำคัญของร่างกฎหมายฯ มาตรา 61  เพราะฉะนั้นหากท่านเห็น ขบวนการหน่วยพิทักษ์ผู้บริโภค มาตรา 61 แวะเวียนไปรณรงค์กันที่ไหน โปรดส่งแรงใจและช่วยลงรายชื่อเป็นกำลังใจให้กันด้วยนะคะ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point