ฉบับที่ 138 มารยาริษยา : มหากาพย์แห่งความแปลกแยก

และแล้ว มหากาพย์ความขัดแย้งระหว่างนางแบบรุ่นพี่อย่าง “เพียงดาว” กับนางแบบรุ่นน้องหน้าใหม่อย่าง “ดีนี่” ก็รีเทิร์นกลับมาสร้างความตื่นเต้นสะใจกันอีกครั้งในปี 2012 นี้ นอกจากการตบกันจนกระจายและวิวาทะกันจนกระเจิงแล้ว การหวนกลับมาอีกครั้งของปมขัดแย้งระหว่างเพียงดาวและดีนี่ โดยมีพระเอกช่างภาพหนุ่มอย่าง “โอม” เป็นตัวแปรศูนย์กลางของเรื่อง น่าจะนำไปสู่คำถามบางอย่างว่า ความขัดแย้งแก่งแย่งดังกล่าวกำลังบอกอะไรกับคนดูหรือสังคมไทยกันบ้าง ถ้าดูแบบผิวเผินแล้ว “มารยาริษยา” ก็อาจจะเป็นละครโทรทัศน์ที่กำลังเปิดโปงให้เราเห็นเบื้องหลังของแวดวงนางแบบ ซึ่งหน้าฉากแคทวอล์กอาจจะเป็นภาพของวงการที่ฉาบเคลือบไว้ด้วยอาภรณ์เสื้อผ้าที่สวยงาม แต่ฉากหลังนั้นกลับเต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันและประหัตประหารกันด้วย “มารยา” และ “ริษยา” อันมากมาย แต่หากเพ่งมองให้ลึกลงไปกว่านั้นแล้ว “มารยาริษยา” ก็อาจจะมีอีกด้านหนึ่งที่จำลองภาพของสังคมไทยปัจจุบัน ที่แม้จะดูก้าวหน้าเชิงเศรษฐกิจสังคมมากกว่าในอดีต แต่ก็กำลังเป็นสังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมแห่ง “ความแปลกแยก” ในเวลาเดียวกัน   นักทฤษฎีสังคมรุ่นคลาสสิกอย่างคุณปู่คาร์ล มาร์กซ์ เคยอธิบายไว้ว่า ภายใต้ระบบการผลิตแบบทุนนิยมที่เน้นการแข่งขันเป็นหลัก และผู้แพ้หรือผู้อ่อนแอต้องถูกคัดออกไปจากระบบนั้น มนุษย์จึงมักตกอยู่ในสภาวะที่ถูกตัดสายสัมพันธ์จากสรรพสิ่งแวดล้อมรอบตัว จนนำไปสู่การเกิดอาการแปลกแยกในจิตใจ เรื่องราวของเพียงดาวและดีนี่เองก็เริ่มต้นขึ้นบนหลักการแข่งขันและแพ้คัดออกดังกล่าวเช่นกัน เมื่อตัวละครอย่างเพียงดาวที่เป็นนางแบบรุ่นใหญ่และกำลังหมดศรัทธาในเรื่องความรัก ต้องมาเผชิญหน้ากับนางแบบรุ่นน้องเพิ่งเข้าวงการอย่างดีนี่ ที่ร้ายลึกและพยายามทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะเพียงดาวให้ตกเวทีทั้งในเรื่องงานและเรื่องความรัก และด้วยเหตุฉะนี้ เพียงดาวจึงเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นตัวแทนของมนุษย์ยุคใหม่ในสังคมที่ไร้รัก เปลี่ยวเหงา และแปลกแยก เพราะไม่เพียงแต่ภูมิหลังชีวิตของเธอที่ดูเหมือนจะผิดหวังกับความรักมาครั้งแล้วครั้งเล่าเท่านั้น แม้แต่อาชีพนางแบบที่เธอดำรงชีวิตเยื้องย่างบนแคทวอล์ก ก็ช่างเป็นอาชีพที่สะท้อนบรรยากาศของ “ความแปลกแยก” ได้อย่างเข้มข้นที่สุด บนเวทีแคทวอล์ก เพียงดาวอาจจะเฉิดฉายอู้ฟู่เป็นนางแบบที่รู้จักนิยมยกย่องของผู้คนมากหน้าหลายตา แต่ทว่าอาชีพนางแบบของเธอนั้น กลับมีอีกด้านที่เป็นเพียงอาชีพที่มีคนรู้จักมากมาย แต่เธอเองกลับแปลกแยกและไม่เคยได้รู้จักหรือมีสายสัมพันธ์กับผู้คนที่วนเวียนอยู่รอบตัวอย่างแท้จริง เมื่อเพียงดาวโคจรมาเจอกับโอม ผู้หญิงที่กำลังรู้สึกเปลี่ยวเหงาแปลกแยกและท้อแท้กับชีวิตในระบบอย่างเธอ จึงคิดว่าโอมอาจเป็นความรักความหวังหรือฟาง “สายสัมพันธ์” เส้นสุดท้ายที่เข้ามาในชีวิต เพราะฉะนั้น อารมณ์เกรี้ยวกราดรุนแรงที่เพียงดาวแสดงออกมาตลอดทั้งเรื่อง ก็ไม่ต่างกลับการบ่งบอกนัยว่า เธอเองก็มุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะเกาะเกี่ยวยึดฟางเส้นดังกล่าวเส้นนี้เอาไว้ให้ได้ แต่อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุด เพียงดาวก็ได้เรียนรู้ว่า ความรักหรือความหวังช่างเป็นสิ่งที่หาได้ยากและแร้นแค้นยิ่งในสังคมที่แปลกแยกเยี่ยงนี้ แบบที่เธอเองก็พูดกับโอมว่า “…เป็นความรักแน่เหรอโอม ถ้าสิ่งที่โอมให้ฉันคือความรัก ทำไมมันทำลายชีวิตฉันขนาดนี้ ทำไมทำให้ฉันเจ็บปวดขนาดนี้...” ในส่วนของดีนี่นั้น ละครก็ได้แฟลชแบ็กกลับไปให้เราเห็นว่า เธอเองก็มีปมชีวิตที่เติบโตมาในครอบครัวที่ล้มเหลวแตกแยก และถูกบิดาทำทารุณกรรมมาตั้งแต่เด็ก จนมิอาจยึดโยงสายสัมพันธ์เข้ากับสถาบันดั้งเดิมอย่างครอบครัวเอาไว้ได้เลย ในสังคมที่มี “การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักมิอาจเยียวยา” เช่นนี้ ก็เลยไม่น่าแปลกที่สังคมดังกล่าวจะสร้างตัวละครแบบดีนี่ ที่ไม่เพียงจะตกอยู่ในสภาวะแปลกแยก แต่ก็ยังเป็นมนุษย์แปลกแยกผู้มากด้วยเล่ห์กลและพยายามเอาชนะเหยียบหัวคนอื่น เพื่อให้ตนขึ้นไปถึงฝั่งฝันสูงสุดของชีวิต ไม่ว่าการกระทำนั้นจะผิดหรือถูก มนุษย์ที่ว่ายวนในสังคมแปลกแยกสามารถทำทุกวิถีทางที่จะเป็นม้าตัวสุดท้ายที่วิ่งเข้าสู่เส้นชัย แบบเดียวกับที่ดีนี่ก็ใช้วิธีหลอกลวงสร้างเรื่องโกหกมากมาย ตั้งแต่การหลอกลวงพระเอกแสนดีอย่างโอมและครอบครัวของเขา หลอกลวงบุคคลรอบข้างและพร้อมจะถีบส่งหัวเรือของผู้จัดการดาราอย่างป้ากบที่พายส่งเธอถึงฝั่งแล้ว หรือแม้แต่ยอมปั้นเรื่องเอาเท้าเหยียบเศษแก้วเอง เพื่อสร้างเรื่องป้ายความผิดให้กับเพียงดาว การปรากฏตัวออกมาของตัวละครอย่างดีนี่ จึงดูไม่ต่างไปจากการชี้ให้พวกเราตระหนักด้วยว่า สังคมที่อุดมไปด้วยการแข่งขันและต่างแปลกแยกระหว่างกันนั้น เราอาจจะกำลังได้สร้างมนุษย์สายพันธุ์เดียวกับดีนี่ออกมาวนเวียนอยู่รอบตัวของเราไม่รู้สักกี่ร้อยกี่พันคน ภาพจำลองสังคมที่ “มารยาริษยา” ได้ฉายออกมาเช่นนี้ แม้จะดูสุดขั้วสุดโต่งไปบ้าง แต่ก็สะท้อนนัยว่า เบื้องหน้าฉากสังคมยุคนี้ที่เราเห็นว่ามีด้านที่สวยสดงดงามนั้น หลังฉากก็อาจจะไม่ต่างไปจากบรรยากาศการตบตีแย่งชิงเพื่อเอาชนะกันของเพียงดาวและดีนี่เท่าใดนัก และเมื่อมาถึงบทสรุปของมหากาพย์แห่งความขัดแย้งนั้น เราก็อาจจะพบว่า สังคมที่ไต่ทะยานขึ้นจุดสูงสุด แต่เบื้องหลังกลับเต็มไปด้วย “มารยา” และ “ริษยา” ก็ไม่เคยให้คุณหรือผลกำไรกับใครอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามผู้คนในระบบแบบนี้กลับได้รับบทลงโทษกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เริ่มต้นตั้งแต่เพียงดาวที่ต้องสิ้นสุดทางเดินในวิชาชีพนางแบบและสูญเสียโอมคนรักไปตลอดชีวิต หรือดีนี่ที่ละครใช้กฎแห่งกรรมเป็นคำอธิบายและให้บทลงโทษแก่เธอในฉากจบ ไล่รวมไปถึงบรรดาตัวละครอื่น ๆ เกือบทั้งหมดที่ต่างก็ได้รับบทเรียนชีวิตอันเจ็บปวดกันไปอย่างถ้วนหน้า ก็คงไม่แตกต่างกับสังคมไทยที่ได้เดินเฉิดฉายอยู่บนแคทวอล์กมาอย่างต่อเนื่องนั้น คำถามที่ยังเป็นปริศนาธรรมค้างคาก็คือ หากเราเดินทางมาถึงชุดฟินาเล่ท้ายสุดแล้ว “มารยา” และ “ริษยา” ที่มากล้นอยู่ในสังคมทุกวันนี้ อาจจะไม่ใช่ช่อดอกไม้แห่งความสุขที่ส่งมอบให้กัน แต่กลับจะเป็นหยาดน้ำตาแห่งความสูญเสียที่ต่างหยิบยื่นให้กันมากกว่ากระมัง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point