ฉบับที่ 277 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2567

เตือน อินฟลูฯ ดาราไทย อย่ารับรีวิวอาหารเสริมเกินจริง        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เปิดเผยว่า ได้มีการตรวจพบการรีวิวสินค้า ประเภทอาหารเสริมโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง มีการอ้างรักษาโรค ลดความอ้วน ซึ่งมีการใช้ดารา นักแสดง พิธีกร ผู้ประกาศข่าว อินฟลูเอนเซอร์ แพทย์ รวมถึงเภสัชกรจำนวนมากมารีวิว         อย. ได้เตือนว่าการกระทำดังกล่าว มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ดังนี้        ·     มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 70         ·     มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ ของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 71         หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที  บขส. แจ้งกรณีปิดพื้นที่ขาเข้าหมอชิต แต่ “ถูกแท็กซี่เรียกค่าบริการเพิ่ม”         มีนาคม 2567 ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ประกาศชี้แจงกรณีที่ทาง บขส. ปิดพื้นที่ทางขาเข้าสถานีหมอชิต 2 ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งได้ให้รถโดยสารทุกคันเข้าจอดส่งผู้โดยสารที่บริเวณชานชาลาขาออก ช่องที่ 112-130 นั้น พบว่ามีแท็กซี่บางรายฉวยโอกาสเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม 50 บาทกับผู้โดยสาร ดังนั้น ทาง บขส. ขอแจ้งว่าไม่มีนโยบายดังกล่าวสำหรับการให้รถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นจะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด สามารถแจ้งเรื่องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 ลูกหลานใส่ใจ ระวังมิจฉาชีพพุ่งเป้าผู้สูงอายุ         เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง ออกมาเตือนกรณีพบว่ามีผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณจำนวนมากมักตกเป็นเป้าหมายในกลุ่มมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) ซึ่งใช้กลลวงหลอกเอาเงิน เช่น การแอบอ้างเป็นประกันสังคม หลอกเอาเงินบำเหน็จ-บำนาญ รวมถึงแอบอ้างเป็นสรรพากร ทางตำรวจสอบสวนกลางจึงได้แนะนำวิธีป้องกันผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ ดังนี้          1. อย่ารีบเชื่อทันที หาเหตุและผลให้ดีก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่         2. เปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง หาข้อมูลให้ได้มากที่สุด นำมาชั่งน้ำหนักดูว่าเป็นเรื่องเท็จจริงหรือไม่         3. เช็กข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์ ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง การแชร์ในสิ่งที่ผิดเป็นผลเสียตามเสมอ        4. เลือกดูสื่อที่น่าเชื่อถือเท่านั้น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าไปอ่าน        5. หากมิจฉาชีพอ้างถึงหน่วยงานต่างๆ ให้โทรไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วยตัวเองว่าจริงหรือไม่        6. ควรปรึกษาคนใกล้ตัว ลูก-หลาน ก่อนที่จะเชื่อกลอุบายต่างๆ ที่มิจฉาชีพนำมาหลอก เพื่อจะได้ให้ช่วยกันหาข้อมูลว่าจริงหรือไม่         ทั้งนี้ ตำรวจสอบสวนกลางจึงอยากให้ลูกหลานคอยระวังผู้สูงอายุและผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย จับแล้วทุจริต “โครงการสามล้อเอื้ออาทร”         จากกรณีกลุ่มผู้เสียหาย 200 ราย ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินคดีกับสหกรณ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง สืบเนื่องจากสหกรณ์ดังกล่าว ได้เป็นผู้ประสานการขอสินเชื่อระหว่างสมาชิกและธนาคาร เพื่อทำโครงการสินเชื่อพัฒนาองค์กรชุมชน แต่ภายหลังพบว่าทางสหกรณ์กลับนำเงินฝากของสมาชิกไปชำระสินเชื่อกับธนาคาร ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง จนเป็นเหตุให้สมาชิกถูกธนาคารฟ้องร้องเนื่องจากผิดชำระหนี้และผิดสัญญาค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงที่ทางสหกรณ์ไม่สามารถจัดซื้อรถสามล้อได้ตรงตามคุณภาพที่กำหนดไว้ และติดต่อจ้างอู่หลายแห่งให้ประกอบสามล้อแล้วนำมาจำหน่ายให้สมาชิก และเพิ่มค่าส่วนต่างถึง 75,000-180,000 บาท สุดท้ายแล้วมีการนำเงินส่วนต่างดังกล่าวไปเป็นของตนเอง มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาทนั้น         ล่าสุดตำรวจสอบสวนกลาง ได้นำกำลังเข้าจับกุม นายสุรชัย อายุ 43 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 487/2567  ฐานความผิด “ร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการตาม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562” เพื่อนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ผู้บริโภค เฮ! คดีหลอกขายเครื่องนอนยางพารา ชนะศาลฎีกา         จากกรณีผู้เสียหายหลายราย ฟ้องร้องเพจเฟซบุ๊กออนไลน์ที่อ้างว่าขายที่นอนยางพารา แต่เมื่อสั่งของมากลับพบว่าได้รับของที่ไม่ได้คุณภาพ หรือ ไม่ได้สินค้าเลย กว่า 10 เพจนั้น และได้มาร้องเรียนทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ล่าสุดวันที่ 15 มีนาคม 2567 ณัฐวดี เต็งพาณิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า คดีนี้ต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่ศาลชั้นต้นถึงศาลอุทธรณ์ จนกระทั่งมกราคม 2567 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ลงโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เห็นควรลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ศาลให้จำเลยชำระเงิน 6,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2562 นับจากวันที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม         อย่างไรก็ตาม อีกคดีศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ภาค 1 โดยให้จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยเป็นชัยชนะของผู้บริโภค 2 ราย ในจำนวน 120 ราย ที่ได้มาร้องต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อปี 2563 ในส่วนของการได้เงินคืนทางโจทก์ต้องไปทำการสืบทรัพย์จำเลยตามกระบวนการบังคับคดีตามเงื่อนไขของคดีแพ่งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ตำรวจไซเบอร์ แนะวิธีสังเกตเพจหลอกจองที่พัก ขายของออนไลน์        ตำรวจไซเบอร์ระบุ  ปัจจุบันมีผู้เสียหายจำนวนมากจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพในออนไลน์ ทั้งการใช้วิธีการสร้างเพจปลอมเป็นโรงแรมที่พักหรือการขายของออนไลน์หลอกลวงประชาชน จากข้อมูลสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ 1 มี.ค.65 – 28 มิ.ย. 66 พบว่า มีการหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการมากถึง 108,383 ครั้ง         ตำรวจไซเบอร์ (บช.สอท.) จึงแนะนำวิธีการสังเกตเพจปลอมต่างๆ ดังนี้             1. เพจต้องได้รับยืนยันเครื่องหมายรับรองตัวตน (Verified badge)             2.ตรวจสอบรายละเอียดเพจได้ วันที่สร้างเพจ เคยเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่? หากเพจสร้างขึ้นมาไม่นานแต่มีการเปลี่ยนชื่อเพจเสี่ยงต่อการเป็นเพจปลอม             3. ยอดผู้กดถูกใจโพสต์ เนื่องจากเพจปลอมจะมีผู้ติดตามน้อย มิจฉาชีพมักสร้างยอดผู้ติดตามปลอมไว้ มองผ่านๆ จะคล้ายจำนวนผู้ติดตามจริง            4. ชื่อเพจสะกดถูกต้องหรือไม่ มิจฉาชีพมักทำเลียนแบบหากไม่สังเกตอาจทำให้ถูกหลอกลวง              5. โพสต์เนื้อหาและโต้ตอบในเพจ จำนวนคนกดถูกใจ คอมเมนต์ จะมีการโต้ตอบน้อย และคอมเมนต์เชิงตำหนิ เช่น สั่งสินค้าไปไม่ได้รับของเลย             6. สังเกตที่ URL ของ มักเป็นคำแปลกๆ ไม่มีความหมาย พบข้อมูลคนไทยโดนประกาศขายดาร์กเว็บ 20 กว่าล้านบัญชี        จากกรณี Resecurity บริษัทความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้รายงานว่าเมื่อเดือนมกราคม ปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามีข้อมูลของคนไทยรั่วไหลและถูกนำมาประกาศขายในบนเว็บไซต์ข้อมูลผิดกฎหมายกว่า 27 ล้านบัญชี โดยกลุ่มข้อมูลที่มาจากกรมกิจการผู้สูงอายุ รั่วไหลมากถึง 19.7 ล้านบัญชีนั้น         นายประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวว่า สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ตรวจพบตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ แล้ว พร้อมทั้งแจ้งไปยังกรมกิจการผู้สูงอายุให้รับทราบถึงกรณีข้อมูลของหน่วยงานรั่วไหลเกือบ 20 ล้านบัญชี แต่ยังหาสาเหตุของการรั่วไหลไม่ได้ ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้เตรียมเข้าตรวจสอบเกี่ยวกับลักษณะการรั่วไหลของข้อมูลดังกล่าวแล้ว  สั่งค่ายมือถือ “ระงับซิมไม่ยืนยันตัวตน” กรณีมีเกิน 100 เบอร์         จากกรณีที่ กสทช. ได้ออกมาตรการบังคับใช้ เมื่อ 16 มกราคม 2567 สำหรับผู้ที่ใช้บริการซิมมือถือต้องทำการยืนยันตัวตนตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยให้กับผู้ที่ถือซิม 6-100 เบอร์ ต้องยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน และ 101 หมายขึ้นไป ภายใน 30 วันนั้น         15 กุมภาพันธ์ 2567  กสทช. ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมถึงบริษัทผู้ให้บริการ ถึงมาตรการยืนยันตัวตนของซิมการ์ด  และข้อมูลการใช้บริการของผู้ถือครองซิม หลังพ้นกำหนดระยะเวลายืนยันตัวตนสำหรับผู้ถือครอง 101 เบอร์ ขึ้นไป ตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กสทช. จึงได้มีคำสั่งเร่งรัดให้ค่ายมือถือ ดำเนินการตามเงื่อนไขระงับการใช้บริการรวมถึงการโทรออก ส่งข้อความ SMS และการใช้งานอินเทอร์เน็ต และจะอนุญาตเพียงเบอร์โทรฉุกเฉินเท่านั้น            “เยลลี่องุ่นเคียวโฮ” ไม่มีฉลากระวังอันตราย        หลังจากที่บนโลกออนไลน์มีการรีวิวขนม “เยลลี่องุ่นเคียวโฮ” อย่างมากมาย ทำให้เป็นขนมยอดฮิตในกลุ่มเด็กและคนทั่วไป จนมีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และวางขายตามหน้าโรงเรียนเกลื่อน         ภก. เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เปิดเผยว่า พบขนมเลียนแบบเยลลี่องุ่นที่มีจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี โดยมีการนำมารีวิวผ่านโซเชียลออนไลน์ ซึ่งลักษณะบรรจุในถุงคล้ายถุงมือยางหรือลูกโป่งลูกกลมๆ และมีวิธีการกินคือใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มให้ถุงแตกออกมาแล้วจึงนำมารับประทานได้ มีหลายรสชาติ แต่ไม่มีเลขอย. และฉลาก จึงขอเตือนว่า ไม่ควรซื้อมารับประทานเพราะอาจลักลอบนำเข้าหรือผลิตเพื่อขายในสถานที่ต่างๆ และไม่มีฉลาก ไม่มีข้อมูลเกี่ยวอาหาร อาจเสี่ยงได้รับสารอันตรายที่เป็นผลต่อสุขภาพได้ เช่น สี วัตถุกันเสีย วัตถุแต่งกลิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด การบรรจุอาหารในถุงมือยางหรือบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อบรรจุอาหาร ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ หากผลิต นำเข้าเพื่อขายสถานที่ต่างๆ ไม่มีฉลาก มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท  มพบ.เสนอการบินพลเรือนเร่งจัดการปัญหาเที่ยวบินเทผู้โดยสาร         หลังจากสายการบิน  Air Japan ได้มีการยกเลิกเที่ยวบิน NQ2 เส้นทางสุวรรณภูมิ - นาริตะ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เวลา 00.15 น.  ซึ่งเป็นการยกเลิกแบบกะทันหัน (ก่อนหน้ามีการดีเลย์กว่า 3 ชั่วโมง) หลังจากนั้นทางสายการบินได้รับผิดชอบผู้โดยสารเพียงแค่คืนค่าตั๋วเดินทาง แต่ไม่ได้ชดเชยเยียวยาความเสียหายในส่วนอื่นๆ เช่น ค่าโรงแรมที่พักของผู้โดยสารที่ได้ทำการจองไว้อีกด้วย         23 กุมภาพันธ์ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ ได้กล่าวว่า จากประเด็นดังกล่าวที่ให้ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบและต้องการเรียกร้องค่าชดเชยไปดำเนินการยื่นเรื่องเองกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นั้น ไม่ควรผลักให้เป็นภาระของผู้โดยสาร เพราะสำนักงานการบินพลเรือน อยู่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งควรออกมาตรการกำหนดให้สายการบินจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้โดยสาร ซึ่งจะเป็นการผลักภาระให้ต้องไปเรียกร้องที่ สคบ. และการยกเลิกเที่ยวบินแล้วคืนเฉพาะค่าโดยสารถือเป็นการเอาเปรียบผู้โดยสารที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งสายการบินควรต้องชดเชยค่าใช้จ่ายที่เสียหายจริงทั้งหมด เช่น ค่าตั๋วใหม่ ค่าโรงแรม ค่ารถที่ได้ทำการจองไปแล้ว รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ         อีกประเด็น คือ ทางสายการบินมีเครื่องบินให้บริการเพียง 1 ลำ ถือเป็นเรื่องที่สำนักงานการบินพลเรือนต้องตรวจสอบรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล ทั้งนี้ ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยเรียกร้องไปยังสำนักงานการบินพลเรือนให้ออกประกาศคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินในเส้นทางบินต่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากยังไม่มีประกาศฉบับดังกล่าว แต่กลับไม่เป็นผล จนกระทั่งมาเกิดเหตุซ้ำซากแบบเดิม

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 275 5 เรื่องเตือนภัยผู้บริโภค ปี 2567

        ปี พ.ศ. 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับร้องเรียนจากประชาชนทั้งหมด 1,600 เรื่อง ครอบคลุมทั้งเรื่อง บริการสุขภาพ, อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ, สื่อและโทรคมนาคม ,สินค้าและบริการทั่วไป , อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย , การเงิน การธนาคาร , บริการขนส่งและยานพาหนะและเรื่องพลังงานกับสิ่งแวดล้อม ในจำนวนเหล่านี้เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา  ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยตลอดปี 2567 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงขอย้ำเรื่องสำคัญ 5 เรื่องที่ประชาชนควรระวังตัวก่อนตกเป็นเหยื่อสูญเงินทรัพย์สิน    1.มิจฉาชีพหลอกจากการซื้อของออนไลน์         กลุ่มที่ถูกหลอกจากการซื้อของออนไลน์มีหลายลักษณะ ไม่ว่าซื้อของแล้วไม่ได้ของเลยหรือซื้อของแล้วได้ไม่ตรงตามสินค้าที่สั่ง สั่งสินค้าแล้วได้รับแต่ไม่มีคุณภาพเพียงพอให้ใช้งานได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วในสินค้าและบริการทุกประเภท ไม่ว่าจะของใช้ โทรศัพท์มือ เสื้อผ้า อาหาร และบริการหลายประเภท เช่น ที่พักโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ         ตัวอย่างล่าสุดของเรื่องร้องเรียนจากความเดือดร้อนของ เพจปลอม ที่เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือ ผู้เสียหายนั้นถูกมิจฉาชีพจาก เพจ Facebook ชื่อ BEACH VIEW pool Villa โพสต์ภาพข้อความและที่พักที่หาดเจ้าสำราญ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี หลอกให้จองที่พัก โดยเมื่อผู้เสียหายเห็นรูปที่พักในเพจสวยถูกใจ จึงติดต่อไปสอบถามรายละเอียดเพื่อจองที่พักในช่วงเดือน ธันวาคม ปี 2566 ที่ผ่านมาซึ่งแอดมินเพจก็ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วและเสนอส่วนลด 3,300 บาท หากเธอโอนเงินค่าที่พักเข้ามาทันที เมื่อผู้เสียหายโอนเงินแล้วต่อมาทางเพจยังแจ้งให้โอนค่าประกันความเสียหายของที่พักอีก 5,000 บาท ผู้เสียหายไม่ได้คิดมากอะไรนัก คิดว่าเงินประกันย่อมได้คืนในตอนสุดท้าย จึงโอนเงินให้อีกเป็นครั้งที่ 2 รวมโอนเงินไปทั้งสิ้น 14,700 บาท  ต่อมาผู้เสียหายจึงพบว่า ความจริงเมื่อเดินทางไปตามแผนที่ไม่พบที่พักดังกล่าว (BEACH VIEW pool Villa) แต่กลับเป็นที่พักของโรงแรมชื่อ Canary Good Pool Villa ซึ่งเจ้าของได้ดำเนินการแจ้งความแล้วเช่นกันที่ถูกมิจฉาชีพนำรูปไปใช้           “ถามว่าทำไมเราถึงเชื่อและหลงโอนเงินไปให้ คือในเพจเขาเหมือนจริงทุกอย่าง มีรูปห้อง มีรูปคนมาเข้าพัก มีรีวิว มีการกดไลค์ มีผู้ติดตามทุกอย่าง เราเลยเชื่อ ตอนนี้เราได้ดำเนินการแจ้งความไปแล้วแต่ถึงตอนนี้ยังไม่ได้เงินคืนเพราะตำรวจออกหมายเรียกไปแล้วแต่เขายังไม่มาเราก็กำลังติดตามเรื่องอยู่” ผู้เสียหายเล่าให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น         มิจฉาชีพหลอกให้ซื้อของและบริการส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของการสร้างเพจปลอมหรือบัญชีโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น ในแพลตฟอร์ม TikTok  ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อขายบนแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบผู้ขายสินค้าหรือบริการได้ มีที่อยู่แน่ชัด ผู้ขายมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญและมีระบบการระงับการเงิน การประกันเงินที่เพียงพอเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น  2.สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้า         กลุ่มเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุดทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและที่สภาองค์กรของผู้บริโภคที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ สินค้าและบริการที่ซื้อขายล่วงหน้าครอบคลุมหลายเรื่อง เช่น การเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงาม การซื้อบัตรคอนเสิร์ต การสมัครใช้บริการฟิตเนส บริการท่องเที่ยว รวมถึงการทำสัญญาประกันภัยประเภทต่างๆ ด้วย         สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับ ‘ข้อสัญญา’ แต่ไม่มีกฎ ระเบียบที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สินหลายลักษณะอย่างมาก บางกรณีแม้ความเสียหายอาจเป็นจำนวนไม่มาก แต่เมื่อประชาชนจำนวนมากหลงเชื่อก็ทำให้มิจฉาชีพได้เงินไปจำนวนมาก         กรณีการเข้าใช้บริการคลินิกเสริมความงามเกิดได้ทั้งตั้งแต่ถูกล่อลวงให้ใช้บัตรเครดิตแม้ต่อมาผู้บริโภคจะขอยกเลิกก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก อาจต้องเสียเงินไปบางส่วนแล้ว บางกรณีประชาชนถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สเสริมความงามแต่ต่อมาถูกยกเลิกสัญญา หรือสถานเสริมความงามปิดตัวลงไม่สามารถใช้บริการได้ และหลายกรณีเข้าใช้บริการแล้วต่อมากลับพบว่า คลินิกใช้ยาไม่ถูกต้องเพราะไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ หลายกรณีประชาชนเกิดความเสียหายขึ้นกับร่างกายจากการรับบริการแต่ถูกปฏิเสธความรับผิดชอบ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องเพื่อให้เกิดการชดใช้ค่าเสียหายซึ่งกินเวลาเนิ่นนาน         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังได้รับเรื่องร้องเรียนสินค้าและบริการประเภทประกันภัยมากขึ้นเช่นกัน ทั้งการจ่ายเบี้ยประกันภัยไปแล้วหลายปีแต่เมื่อเจ็บป่วยกลับไม่ได้รับการคุ้มครองตามสัญญาประกัน  และบางกรณีได้ครบกำหนดสัญญาประกันแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนครบตามที่สัญญาประกันได้โฆษณาไว้  3.ความปลอดภัยของ แอปพลิเคชัน การเงิน การลงทุนต่างๆ         แม้เรื่องนี้ยังมีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิไม่มากนัก  แต่เราเห็นว่าปัจจุบันและในอนาคตคนรุ่นใหม่ๆ จะสนใจการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ในสกุลเงินที่หลากหลายมากขึ้น ประชาชนจึงต้องศึกษาปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่สม่ำเสมอติดตามปัญหาว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้เสียหายได้รับการเยียวยาชดเชยหรือไม่และจะต้องดำเนินการอย่างไร          กรณีที่มีผู้ร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือผู้เสียหายได้ซื้อขายคริปโต (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มสีเขียว มาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีแล้วก็ไม่มีปัญหาใดๆ แต่ต่อมาในเดือน ธันวาคม 2565 กลับได้รับข้อความแจ้งเตือนว่า   "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว" โดยพบว่าเหรียญถูกสั่งถอนจนไม่มีเหรียญเหลืออยู่ในบัญชีเลย แม้ผู้เสียหายจะแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดี  และทางแพลตฟอร์มสีเขียวได้ดำเนินการส่งข้อมูลรายละเอียดให้ตำรวจเพื่อประกอบสำนวนคดีแล้ว แต่ผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รับเงินคืนยังต้องต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อป้องสิทธิของตัวเอง 4.  สื่อและโทรคมนาคม         หลังบริษัท ทรู และดีแทคได้ควบรวมจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 และ กสทช. ได้กำหนดเงื่อนไข / มาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนากิจการโทรคมนาคม แต่จากการสำรวจโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ สภาองค์กรของผู้บริโภคที่สำรวจประชาชนกว่า 2,924 รายพบว่า80% ของผู้ใช้บริการพบปัญหาการใช้งาน โดยเครือข่ายที่พบปัญหามากที่สุด คือ ทรู 47% ดีแทค 34% เอไอเอส 18% และ อื่น ๆ 1% โดย 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า (29%) สัญญาณหลุดบ่อย (19%) ต้องใช้โปรโมชันใหม่ที่แพงขึ้น เมื่อโปร ฯ เดิมหมด (14%) ค่าแพ็คเกจเท่ากันหมด ไม่มีตัวเลือก (12%)  คอลเซ็นเตอร์โทรติดยาก (10%)         ปัจจุบันนอกจากปัญหาสำคัญ 5 เรื่องดังกล่าวแล้ว ประชาชนยังคงร้องเรียนปัญหาอื่นๆ เข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัทผู้ให้บริการค่ายสัญญาณมือถือ เช่น การถูกหลอกให้เปิดเบอร์โทรศัพท์  กรณีไม่เคยเปิดใช้งานเบอร์ดังกล่าว แต่ถูกเรียบเก็บค่าบริการซึ่งมีอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงประชาชนได้น้อยในหลายพื้นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจาก การย้ายเสาสัญญาณจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเสาสัญญาณภายหลังการควบรวมธุรกิจดังกล่าวด้วย   5.การซื้อ - เช่าอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัย         ปัญหากลุ่มนี้มีหลายลักษณะ เริ่มตั้งแต่การจองคอนโด ที่อยู่อาศัย ที่สุดท้ายคอนโดก็สร้างไม่เสร็จตามกำหนดสัญญา หรือแม้แต่เมื่อเข้าอยู่อาศัย เป็นเวลาไม่นานก็อาจเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความรับผิดชอบจากบริษัทเจ้าของโครงการได้ มีกรณีถูกเรียกเก็บค่าส่วนกลางมากขึ้น หรือไม่ได้ใช้พื้นที่ส่วนกลางตามสัญญาเพราะมีไม่เพียงพอ  หรือกรณีที่อยู่ไปยาวนานแล้วก็อาจเป็นคอนโดที่ผิดกฎหมายได้ ดังที่เราได้เห็นจากกรณีแอชตัน อโศก มาแล้ว  ......................................................... ผู้บริโภคจะป้องกันตัวเอง ได้อย่างไร           คุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่า จากปัญหาที่ประชาชนจำนวนมากถูกมิจฉาชีพหลอกให้ซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ ขอเรียกร้องให้แพลตฟอร์มที่เป็นช่องทางการขาย รวมถึงบริษัทขนส่ง ควรร่วมเข้ามากำหนดมาตรการกำกับดูแลด้วย โดยควรมีระบบที่สามารถบันทึก บัญชีของมิจฉาชีพหรือผู้ขายที่ใช้ส่งของ ควรมีระบบที่ช่วยกันตรวจสอบว่าหากถูกตีกลับบ่อยครั้ง อาจมีระงับบัญชีชั่วคราว ระงับการโอนเงินให้ร้านค้าเพื่อนำเงินมาคืนให้แก่ผู้เสียหายได้ทันท่วงที         “แพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง Facebook และ TikTok เราจะเห็นว่าเป็นพื้นที่ของการซื้อขายไปแล้ว แต่การจัดทำระบบเพื่อความปลอดภัย การตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวตนของร้านค้ายังพัฒนาไม่มากเท่าแพลตฟอร์มที่พัฒนามาเพื่อการซื้อขายจริงๆ เราจึงเรียกร้องว่าหากประชาชนใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อทำการซื้อขายแล้วเจ้าของแพลตฟอร์มก็ควรจะต้องยกระดับ มาตรการความปลอดภัยมากขึ้นด้วย ให้มีความปลอดภัยที่เพียงพอ”         ในด้านอสังหาริมทรัพย์ คอนโด ที่อยู่อาศัยนฤมลสะท้อนว่ากฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้เอื้อที่จะคุ้มครองผู้บริโภคเลย ผู้บริโภคเป็นผู้เช่าซื้อ ผ่อนไปนาน 3 เดือนหรือ 20 ปี สถานะไม่ได้ต่างกันหากยังผ่อนไม่หมดหรือแต่เมื่อผ่อนหมดไปแล้วผู้บริโภคก็จะใช้อำนาจขัดทรัพย์ไม่ได้ กฎหมายยังมีช่องว่างที่ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบอยู่มาก         กรณีที่มีเรื่องฟ้องคดีแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังพบว่าปัจจุบันมีปัญหาที่บริษัทเจ้าของโครงการยังสามารถโอนถ่ายทรัพย์สินไปเสียก่อน หรือ ทำให้บริษัทล้มละลาย ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายไม่ได้รับการชดเชย เยียวยา ซึ่งเรื่องนี้นฤมลสะท้อนว่าเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง จะต้องร่วมมือกันในอีกหลายฝ่ายเพราะต้องเป็นนโยบาย มีการแก้ไขกฎหมายที่ชัดเจน ประชาชนถึงจะได้รับการคุ้มครองได้         คุณธนทรัพย์  ชิตโสภณดิลก  เจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และแจ้งเบาะแส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) กล่าวถึงปัญหาประชาชนถูกดูดเงินออกจากแอพพลิเคชั่น การเงิน การลงทุนต่างๆว่า ปัญหาดังกล่าวเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2564 และเป็นปัญหาอย่างมากในปี 2565 ปัจจุบันแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ประชาชนยังต้องระมัดระวัง          “คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) มีฝ่ายงานที่กำกับดูแลความปลอดภัยของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัลอยู่แล้ว ระบบในแอพลิเคชั่นมีการให้ยืนยันตัวตนทุกครั้งที่มีการฝาก - ถอน แต่ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นเราต้องให้ความรู้กับประชาชน เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทัน โดยภาพรวมที่ผ่านมา ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิตัล มักจะถูกโจรกรรมโดยการเข้าไป พิชชิ่ง คือการกดเข้าเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพสร้างมาเพื่อหลอกหากไม่ได้ดูให้ดีเพราะชื่อโมเดนของเว็บไซต์จะคล้ายกันมากเช่นเว็บไซต์  zintmes เขาจะปลอมเป็น zintmess  เมื่อเข้าไปแล้วก็จะมีช่องให้กรอกข้อมูล Username และ Password เหมือนกัน หากเผลอกรอกข้อมูลนี้ไปแล้วมีโอกาสสูงอย่างมากที่มิจฉาชีพจะมีข้อมูลของผู้เสียหายและเข้ามาในบัญชีจริง โอนถ่ายเงินไปซื้อเหรียญอื่น และโอนต่อไปเรื่อยๆ จนไปต่างประเทศ การสืบว่า บัญชีปลายทางเป็นบริษัท หรือเป็นใคร เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ที่ตำรวจแล้ว หากไปต่างประเทศจึงปรากฏตามข่าวว่าตำรวจยังสามารถดำเนินการได้ล่าช้า”         ด้านปัญหาที่ประชาชนเข้ารับบริการจากคลินิกเสริมความรับ และได้รับความไม่เป็นธรรม ถูกปัดความรับผิดชอบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า สคบ. มีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนในเรื่องนี้ คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 หากประชาชนมีหลักฐานการจ่ายเงินและยังไม่ได้เข้าใช้บริการก็ย่อมสามารถขอรับเงินคืนได้  ซึ่งตามมาตรา 11 พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ระบุให้การโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา หากประชาชนพบเห็นการโฆษณาจากที่ใดให้เก็บหลักฐานไว้ และเมื่อมีหลักฐานการจ่ายเงินเป็นหลักฐานประกอบอีก กฎหมายจะถือว่าสัญญาเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้ทำสัญญาที่เฉพาะเจาะจงก็ตาม หากภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกประชาชนไม่ได้รับสินค้าหรือใช้บริการ ก็ถือว่าผิดสัญญา สามารถนำหลักฐานการโฆษณา การจ่ายเงิน ในการฟ้องเรียกเงินคืนได้ นอกจากนี้ ยังมี พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 หากประชาชนศึกษาไว้จะเป็นประโยชน์ช่วยคุ้มครองสิทธิของตนเองได้  ทำยังไงไม่ให้ถูกหลอก          ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร รอง สว. (สอบสวน) กก.2 กองบังคับการปราบปราม  การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ข้อมูลกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า 5 อันดับสูงสุดของเรื่องที่มีการแจ้งความออนไลน์เข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือการหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการ หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หลอกให้รักโรแมนส์สแกม และการโดนหลอกผ่านคอลเซนเตอร์           " สำนักงานตำรวจเรามีโครงการ CIB เตือนรักระวังภัย 4 ห้องหัวใจระวังโจรเพราะมี 4 มิจฉาชีพเข้ามาในรูปแบบของความรักคือ 1.1.Romance Scam หลอกให้รัก หลอกให้โอน ด้วยการปลอมเป็นชาวต่างชาติ หน้าตาดี หลอกว่าจะบินมาแต่งงาน ส่งของมีค่ามาให้ ให้เราโอนเงินค่าดำเนินการ 2.Hybrid Scam หลอกให้ลงทุน ด้วยการปลอมโปรไฟล์ให้ดูดี เข้ามาตีสนิทพูดคุยเชิงชู้สาว ก่อนจะใช้คารมคำหวานหลอกให้ลงทุน 3.Sextortion ข่มขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยการหลอกให้ถ่ายรูปโป๊ ชวนแลกภาพโป๊เปลือยก่อนจะนำไปแบล็กเมล์ ข่มขู่จะปล่อยภาพหลุดแลกเงิน 4.Dating fraud ลวงให้ออกเดท ด้วยการ หลอกให้เหยื่อไว้ใจ ขอนัดเจอ ก่อนล่อลวงไปข่มขืน กักขัง คิดถึงสัมพันธ์ออกแบบจำลอง และทำร้ายร่างกาย”         ร.ต.อ.นนทพัทธ์ อินทรศวร ให้คำแนะนำ/ ข้อสังเกตเพื่อให้ประชาชน ป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไว้ดังนี้        ·     เพจปลอมที่หลอกขายสินค้า หรือให้จองที่พักมักจะลดราคาสินค้ามากเป็นพิเศษ ขายสินค้าในราคาต่ำกว่าท้องตลาดมากจนผิดสังเกต         ·     บัญชีที่ให้โอนเงินหากเป็นโรงแรมหรือที่พัก ควรเป็นชื่อโรงแรมหรือบริษัทโดยตรง ไม่ใช่ชื่อบุคคล         ·     เมื่อติดต่อพูดคุยเพื่อสอบถามรายละเอียดในการซื้อสินค้าหรือบริการแนะนำให้ประชาชนขอเบอร์โทรศัพท์และหมั่นโทรไปสอบถามข้อมูลให้บ่อยครั้งที่สุด เพราะโดยปกติเบอร์โทรศัพท์ของมิจฉาชีพจะตั้งระบบให้ไม่สามารถโทรกลับ หรือติดต่อได้โดยง่าย          ·     หากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกว่าเป็นตำรวจหรือหลอกว่าเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติดใดๆ อย่าตื่นตระหนกแต่ให้ขอข้อมูลจากมิจฉาชีพว่ามาจากสถานีตำรวจใดและให้ประชาชนตรวจสอบกลับไปที่สถานีตำรวจดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มิจฉาชีพอ้างถึงได้ติดต่อมาจริงหรือไม่         ·     มิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกไม่ว่าจะทั้งในเพจปลอม หรือ คอล เซ็นเตอร์มักมีลักษณะเร่งรัดให้ตัดสินใจโดยเร็วโดยการยื่นข้อเสนอ จูงใจต่างๆ หรืออาจทำให้ตระหนก ตกใจไม่มีเวลาคิดตรวจสอบข้อมูลจนรีบโอนเงินไป        ·     ประชาชนควรหมั่นติดตาม ข่าวสารแจ้งเตือนภัยมิจฉาชีพในรูปแบบต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเหมือนกันการฉีดวัคซีนการเตือนภัยให้ตัวเอง หากทำไม่สม่ำเสมออาจไม่เท่าทันรูปแบบของมิจฉาชีพที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปทุกวัน         ·     ให้ประชาชนมีสติในการซื้อ ไม่โลภ หากสินค้าราคาถูกกว่าตลาดมากๆ ควรมองว่าเป็นเรื่องผิดสังเกตเพราะปัจจุบัน มีการปลอมสินค้าทุกรูปแบบ เช่น ผงชูรส ผงซักฟอก เป็นต้น  และควรซื้อสินค้าจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ การซื้อในแพลตฟอร์มออนไลน์ควรซื้อในแพลตฟอร์มที่มีการตรวจสอบตัวตนของผู้ขาย   มีมาตรการความปลอดภัย           ·     ปัจจุบัน ประชาชนควรเพิ่มเติมความรู้เท่าทันเทคโนโลยีต่างๆ เช่น รู้ว่า ใช้ AI สร้างบุคคลคนหนึ่งขึ้นมาได้จริง หรือการการพูดคุยกับ มิจฉาชีพทางคอล เซ็นเตอร์นานๆ แม้หลายคนมองเป็นเรื่องสนุกแต่เทคโนโลยีจะสามารถปลอมเสียงของเราไปหาประโยชน์กับรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือของเราได้  

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 274 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2566

ระวังเบอร์โทรหลอกดูดเงิน        โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนภัยประชาชนกรณีที่มีมิจฉาชีพใช้เบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อประชาชนหลอกล็อกอินและดูดเงิน โดยมีวิธีการคือ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทวงการคลัง หลอกลวงให้กดยกเลิกสิทธิโครงการของรัฐฯ ที่หมดเขต พร้อมให้ประชาชนล็อกอินใส่ username และ password ของ “แอปพลิเคชันเป๋าเงิน” พร้อมทั้งยังแอบอ้างว่าได้รับเอกสารสิทธิพิเศษจากกระทรวงการคลัง และมีการลงนามโดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังอีกด้วย         ทั้งนี้  ทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอย้ำว่าหากมีเบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อไป อย่ารับเด็ดขาด ให้บล็อกได้เลย และยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อหาประชาชนให้ยกเลิกสิทธิ์โครงการของรัฐฯ แน่นอน ภัยออนไลน์ปี 2567 มิจฉาชีพอาจใช้ AI ลวงเหยื่อ         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง สถิติแจ้งความออนไลน์เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ผ่านมา  อันดับ 1 ยังคงเป็น “การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์” มีจำนวนกว่า 150,000 คดี   ในส่วนคดีที่ความเสียหายรวมสูงที่สุด คือ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” เสียหายรวมกว่า 16,000 ล้านบาท                    แนวโน้มรูปแบบอาชญากรรมทางออนไลน์ ปี 2567 ประชาชนต้องระมัดระวังมิจฉาชีพ ก่อเหตุโดยนำเทคโนโลยี  AI มาใช้ประโยชน์เพื่อปลอมแปลงฉ้อโกง หรือสร้างความเสียหาย สร้างภาพคลิปปลอม เพื่อนำมาหาประโยชน์ต่างๆ เช่น             ·     การสร้างภาพ หรือคลิปปลอมเป็นบุคคลอื่น (AI Deepfakes)             ·     การเลียนเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก (AI Voice Covers)             ·     การสร้างคลิปลามกปลอม (AI Deepfakes)             ·     การสร้างข่าวปลอม (Fake News)         ขออย่าหลงเชื่อ ยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ ประกาศฉบับใหม่! ห้ามขาย “ใบกระท่อม” ให้คนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ปี         เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง...การปิดประกาศหรือการแจ้งให้บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทราบถึงข้อห้ามขายใบกระท่อมหรืออาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ พ.ศ. 2566  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม2566 เป็นต้นไป         โดยประกาศให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ มีหน้าที่ต้องประกาศ ให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ดังนี้             1. ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย มองเห็นได้ชัดเจน และมีขนาดเหมาะสมกับสถานที่ขาย             2. ระบุข้อความที่ปิดประกาศว่า ไม่ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อม เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบให้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้                 ·บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี                ·สตรีมีครรภ์                ·สตรีให้นมบุตร                ·ให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบ โดยวิธีการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือด้วยวิธีการหรือในลักษณะอื่นใด ปิดประกาศหรือแจ้งให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ปฏิบัติตามข้อ 3 โดยอนุโลม  3 กลุ่มโรคต้องระวังเมื่อถอนฟัน          จากกรณีข่าวสาววัย 25 ปี เสียชีวิตภายหลังถอนฟัน 2 ซี่ ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี นั้น ด้านนพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่าผลตรวจพบก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณกรามด้านขวา ซึ่งกดบีบทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบากนำมาซึ่งการเสียชีวิต         การถอนฟันเป็นการรักษาปัญหาสุขภาพในช่องปากที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการถอนฟันเป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง เพราะในช่องปากเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งมีสามกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยควรต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนหากได้รับการวินิจฉัยว่าต้องถอนฟัน ได้แก่ กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก เช่น ลิวคีเมีย โรคไตมีประวัติล้างไต  กลุ่มที่อาจแสดงอาการระหว่างทำฟัน เช่น ลมชัก หอบหืด ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และกลุ่มโรคเบาหวานที่เสี่ยงแผลหายยาก         จี้ กสทช. แก้ปัญหาผู้บริโภครับผลกระทบรวม ทรู-ดีแทค         22 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายธนัช ธรรมิสกุล หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช.         “กรณีเรียกร้องให้เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากผู้บริโภคหลังรวม ทรู-ดีแทค รวมถึงได้นำหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากทุกค่ายมือถือ ระหว่างวันที่ 9 – 23 พฤศจิกายน 2566 จำนวนผู้ทำแบบสำรวจ 2,924 ราย ยื่นแก่ พลเอกกิตติ เกตุศรี ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช.เป็นตัวแทนรับหนังสือ”         ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด จากผลสำรวจมากถึงร้อย 81 หลักๆ มีดังนี้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า สัญญาณหลุดบ่อย โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก และ call center โทรติดยาก อย่างไรก็ตาม ด้านข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคที่ทำแบบสำรวจ เช่น ขอให้ยกเลิกการควบรวมรวมธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ทรู-ดีแทค เพราะหลังจากที่มีการควบรวมแล้ว ผู้บริโภคพบเจอปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ราคาค่าบริการแพงขึ้น แพ็คเกจไม่หลากหลาย  พร้อมยังไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยตรงหลังจากการควบรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 โดนแอบอ้างใช้บัตรเครดิต เสียหายเป็นแสน

        เสียงผู้บริโภคในวันนี้เป็นเรื่องราวที่หลายคน คงได้เห็นกันตามข่าวกันมาเยอะ กับกรณีที่ถูกพวกแก๊งมิจฉาชีพหลอก นำข้อมูลส่วนตัวของเราเพื่อไปทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องของคุณน้ำตาลที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็เกี่ยวกับการโดนภัยออนไลน์หลอกเช่นกัน แต่มาในรูปแบบอีเมล         คุณน้ำตาลได้เล่าให้ฟังว่า เธอได้รับอีเมลจากทางเว็บไซต์ที่ให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น จองที่พัก จองเที่ยวบิน หรือจองรถเช่าต่างๆ  รายหนึ่ง (ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นเว็บไซต์ปลอมที่พี่มิจฉาชีพแอบอ้างขึ้นมา) โดยในอีเมลมีการระบุข้อความว่า “แจ้งให้รางวัลสำหรับการเข้าพัก” หลังได้รับอีเมลดังกล่าว ตัวเธอเองก็ไม่ได้คิดอะไรตอนนั้น จึงให้ข้อมูลบัตรเครดิต และ OTP สำหรับการยืนยันไป แต่พอผ่านไปไม่ถึง 10 นาที เธอก็เริ่มมีสติ! รู้สึกไม่สบายใจขึ้นมาได้ แต่...ก็ยังไม่ทันอยู่ดีเพราะเธอได้กรอกข้อมูลไปเรียบร้อยแล้วเลยคิดว่าคงโดนหลอกแล้วแน่ๆ เธอจึงรีบโทรติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อให้ยกเลิกการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเผลอให้ข้อมูลไปทางอีเมล ทางคอลเซนเตอร์ แจ้งรับทราบเรื่องพร้อมทั้งบอกว่าจะระงับธุรกรรมที่เกิดขึ้นและออกบัตรให้ใหม่คุณน้ำตาล         ทว่าในเดือนต่อมาดันมีสเตทเม้นท์แจ้งว่ามียอดการใช้จ่ายที่บริษัทแห่งหนึ่งในรายการชำระค่าบัตรเครดิตของเธอ ยอดค่าใช้จ่ายคือ 234,682.96 บาท คุณน้ำตาลก็ตกใจสิ! ฉันแจ้งระงับไปแล้วนะ เลยรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ทันที พร้อมกับปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้น เธอไม่ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ใช่หรือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งกับทางคุณน้ำตาลว่า เมื่อแจ้งระงับการใช้บัตรแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายหลังการแจ้งระงับให้เธอสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติเลย         แม้เธอได้รับข้อมูลว่าจบ แต่เอาจริงเรื่องก็ยังคงไม่จบ เพราะว่ายังคงมีอีเมลส่งมาจากธนาคารว่าเธอได้ซื้อของทางออนไลน์เพิ่มเติมอีก โดยมีชื่อผู้ซื้อเป็นชื่อชาวต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่ชื่อเธอที่เป็นเจ้าของบัตร แถมการจัดส่งสินค้าก็ยังขึ้นที่อยู่จัดส่งอยู่ในประเทศโปแลนด์อีกด้วย     อีกทั้งต่อมาเธอได้รับจดหมายที่ส่งมาจากทางธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตอีกครั้งว่า หลังจากได้มีการตรวจสอบแล้วยอดค่าใช้จ่ายใหม่ที่เกิดขึ้นธนาคารได้ระงับการเรียกเก็บเงินทั้งหมด แต่ทางคุณน้ำตาลต้องเป็นคนรับผิดชอบยอดค่าใช้จ่ายครั้งแรกคือ 234,682.96 บาท         คุณน้ำตาลจึงมาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไรดี?  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำวิธีการแก้ไขให้ผู้ร้องเบื้องต้นดังนี้         1. ทำหนังสือปฏิเสธการชำระทั้งหมด ไปยังธนาคารดังกล่าว เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายเอง (มิจฉาชีพเป็นผู้ทำธุรกรรม) พร้อมทั้งแจ้งธนาคารเพื่ออายัด และให้ผู้ร้องมีการทำสำเนาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกด้วย โดยทางมูลนิธิฯ จะติดตามเรื่องและช่วยในการไกล่เกลี่ยให้กับผู้ร้องเพื่อไม่ต้องชำระยอดค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องไม่ได้กระทำ         2. หากเกิดกรณีธนาคารฟ้องร้องได้อธิบายต่อผู้ร้องว่า อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ถึง 2 ปี ซึ่งแนะให้ผู้ร้องสู้คดี เพราะคำพิพากษาจะเป็นประโยชน์ต่อร้องเนื่องจากไม่ใช่ความผิดของทางผู้ร้องเอง         3. หากระหว่างนั้นผู้ร้องติดเครดิตบูโร แนะนำว่าถ้าสู้คดีในชั้นศาลเสร็จสิ้น ให้ไปแจ้งสาเหตุดังกล่าวต่อทางเครดิตบูโร          ดังนั้นจึงฝากเตือนใจ เตือนภัยผู้บริโภคให้ระมัดระวังให้มากเมื่อต้องทำข้อมูลทางออนไลน์ โดยเฉพาะไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวสำคัญหรือ OTP แก่ผู้ติดต่อที่ไม่มีตัวตนแน่ชัด ไม่น่าเชื่อถือ แนะนำว่า ให้ลองถามคำถามแรกกับตัวเองก่อนว่า บุคคลเหล่านี้เป็นมิจฉาชีพหรือไม่          นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวัง ก็คือพวกลิงก์ปลอม ก่อนกดลิงก์ถ้าไม่แน่ใจว่า จริง หรือ ปลอม แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงที่จะไม่กดไปเลยเพื่อความปลอดภัย หรือถ้ามาในรูปแบบแจกของรางวัลต่างๆ ให้เช็กกับทางเว็บไซต์ทางการเพื่อความแน่ใจดีกว่าก่อนที่จะกดเข้าไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ถูกหลอกจากสินค้าส่งปลายทางไม่ตรงปก

        ปัจจุบันประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการเปิดเพจส่งพัสดุหลอกเก็บเงินปลายทางทุกวัน ทั้งที่ตำรวจตามจับไม่เว้นวัน และสื่อต่างๆ ก็ได้เผยแพร่ข่าวผู้เสียหายมาตลอด แต่ด้วยมิจฉาชีพก็ปรับเปลี่ยนใช้วิธีการใหม่ๆ ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ เช่น กรณีของคุณสุวิมล         ภายในเดือนพฤศจิกายนเดือนเดียว คุณสุวิมลตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่เปิดเพจหลอกขายสินค้าไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก คุณสุวิมลสั่งซื้อผ้าห่มนวม ราคาผืนละ 400 บาท แต่เมื่อสินค้ามาส่งจริงกลับเป็นผ้าขนหนูผืนเล็กๆ 1 ผืน และครั้งล่าสุดเมื่อศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน คุณสุวิมลต้องการหารองเท้ามาใส่ทำงานแบบเร่งด่วนฉุกเฉิน จึงหาร้านที่สามารถจัดส่งได้ภายใน 1 วันและราคาไม่เกิน 200 บาท เมื่อค้นหาในเฟสบุ๊ค จู่ๆ ก็มีเพจร้านขายรองเท้ามาให้คุณสุวิมลเห็นเองอยู่บ่อยครั้ง เธออดไม่ได้เลยกดเข้าไปดูและเห็นรองเท้าแบบที่เธอกำลังหาอยู่มากมาย เมื่อดูรายละเอียดแล้วก็เห็นว่า เพจรายงานว่ามีสินค้าที่ขายแล้วจำนวนมากและอัพเดตสินค้าใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง คุณสุวิมล ทักไปสอบถามระยะเวลาการจัดส่ง แอดมินเพจก็ได้ถาม “คุณสุวิมลอยู่จังหวัดอะไร”  เมื่อตอบว่า อยู่จังหวัดอยุธยา แอดมินเพจจึงบอกว่า “สามารถจัดส่งให้สินค้าไปถึงได้ภายใน 1 วัน ”  เมื่อประกอบกับสินค้าราคารวมจัดส่งแล้วไม่เกิน 200 บาท คุณสุวิมลคิดว่าราคาสินค้าไม่สูง มิจฉาชีพน่าจะหลอกเอาเงินจำนวนมากกว่านี้จึงหลงเชื่อและสั่งรองเท้าไป 1 คู่          รองเท้าที่คุณสุวิมลสั่งเป็นรองเท้าผ้าใบสีขาว ลายสีฟ้าเบอร์ 38 แต่เมื่อพนักงานส่งของมาส่งวันเสาร์ที่ 25 พ.ย. คุณสุวิมลแกะกล่องออกมา  กลับเป็นรองเท้าหนัง สภาพเก่ามากเบอร์ 44 คุณสุวิมลจึงบันทึกวิดีโอตอนเปิดกล่องส่งให้ทางเพจดูว่าได้รับสินค้าไม่ตรง  แอดมินเพจเข้ามาอ่านแต่ไม่ตอบกลับข้อความใดๆ จึงสุวิมลจึงรู้แน่ว่า เธอถูกหลอกอีกแล้ว       แนวทางการแก้ไขปัญหา        เมื่อผู้บริโภค รู้ว่าซื้อสินค้าและถูกหลอก  ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้         1.เก็บหลักฐาน ข้อมูล ให้มากที่สุด เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น เบอร์โทรศัพท์ผู้ขาย , ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้า,บัญชี, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า         2. โทรแจ้งธนาคารอาญัตบัญชีของมิจฉาชีพทันที  เมื่อรู้ตัวว่าถูกโกง ผู้บริโภคสามารถโทรศัพท์ไปที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ ภัยทางการเงิน จากมิจฉาชีพ ของธนาคารต่าง ๆ ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง (โดยที่ไม่จำเป็นต้องแจ้งความก่อน) ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี         3. ไปแจ้งความทันที และแจ้งธนาคาร        โดยแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า “ขอให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด” อย่าทำเพียงลงบันทึกประจำวันเด็ดขาด! หรือแจ้งความออนไลน์ที่  www.thaipoliceonline.com         4. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ เพื่อนำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร และเพื่อให้ เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัว รวมทั้งเพื่อให้ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการยกระดับความปลอดภัยของผู้ขายสินค้าด้วย             5.ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เพื่อตามตัว  ถ้าได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ก็นำหลักฐานส่งต่อให้กับทางตำรวจเพื่อประสานงานออกหมายเรียก ตามตัว หรือหมายศาลไปยังมิจฉาชีพ เพื่อดำเนินคดีความในลำดับต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ระวัง มิจฉาชีพหลอกเหยื่อให้โอนเงินเพื่อทำงานโปรโมตสินค้า

        ปัจจุบันการทำงานโปรโมตสินค้าในตลาดออนไลน์มีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ Affiliate Marketing ซึ่งทำงานคล้ายเป็นนายหน้าและมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่น เมื่อแนะนำสินค้าหรือบริการบนสื่อออนไลน์ต่างๆ พร้อมแปะลิงก์ (URL) สินค้าหรือบริการไว้แล้วมีคนคลิกเข้าไปซื้อผ่านลิงก์นั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่ทำการตลาดในรูปแบบนี้จะเปิดให้สมัครฟรี ดังนั้นหากเจอบริษัทไหนเก็บเงินค่าสมัครหรืออ้างเหตุผลใดๆ ที่ให้คุณต้องโอนเงินไปให้ก่อน รีบเหยียบเบรกไว้เลย เพราะคุณอาจจะเจอโจรในคราบนักบุญที่ใช้วิธีหมุนเงินแบบแชร์ลูกโซ่มาหลอกเชิดเงินไปเนียนๆ เหมือนอย่างที่คุณเชอร์รี่เพิ่งเจอ        เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คุณเชอรี่สนใจหารายได้ทางออนไลน์ จึงไปสมัครเป็นตัวแทนช่วยโปรโมตสินค้าหรือบริการในรูปแบบ Affiliate กับ บริษัท เอฟฟิลิเอท ประเทศไทย ซึ่งมีเงื่อนไขว่าเธอจะต้องโอนเงินไปให้ตัวแทนบริษัทก่อนเพื่อซื้อสินค้า เมื่อทำงานแล้วเธอจะได้ค่าคอมมิชชั่นคืนพร้อมค่าสินค้าที่จ่ายไป ในตอนนั้นคุณเชอรี่ยอมทำตามข้อตกลงนี้โดยไม่ได้เอะใจอะไร เมื่อเธอโอนเงินไปครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นก็ได้เงินคืนมาพร้อมค่าคอมมิชชั่นจริงๆ ต่อมาเธอจึงไม่อิดออดเมื่อตัวแทนแจ้งให้เธอโอนเงินไปก่อนเหมือนเดิม เธอโอนเงินไปแล้ว 3 รอบ และได้ค่าคอมมิชชั่นพร้อมเงินคืนมาครบทุกรอบ         จนล่าสุด เมื่อตัวแทนบอกให้เธอโอนเงินเข้าบัญชีที่เป็นชื่อบุคคลหลายครั้ง จำนวนรวมแล้ว 50,000 กว่าบาท แต่รอบนี้เธอกลับไม่ได้รับเงินคืน เมื่อทวงถาม ทางตัวแทนอ้างว่าเธอจะต้องทำงานให้ครบตามที่กำหนดก่อนจึงจะโอนเงินให้ได้ ซึ่งเธอแย้งกลับไปว่าตอนสมัครไม่เห็นมีการแจ้งเงื่อนไขนี้ไว้เลยและขอเงินคืนทั้งหมด แต่ทวงแล้วทวงอีกก็ยังไม่ได้เงินคืน เธอเชื่อว่าคงโดนมิจฉาชีพหลอกซะแล้ว จึงโทรศัพท์มาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้เงินคืนมา แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณเชอรี่รีบโทร.แจ้งธนาคารเพื่ออายัดธุรกรรม(อายัดบัญชีปลายทาง)ทันที และเข้าไปลงทะเบียนและแจ้งความออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://thaipoliceonline.com/ ของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.) หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อกลับไปและแนะนำขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องทำต่อไป         ในกรณีนี้ หากคุณเชอรี่เอะใจเร็วกว่านี้ และแจ้งเรื่องไปยัง ศปอส.ภายในระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงหลังถูกหลอกถูกโกง ก็อาจทำให้มีโอกาสได้เงินคืนค่อนข้างมาก เพราะยิ่งปล่อยระยะเวลาให้นานออกไป การติดตามเส้นทางทางการเงินก็จะยากขึ้น ซึ่งทำให้โอกาสที่จะได้เงินคืนน้อยลง         อย่างไรก็ตาม การสมัครทำงานหารายได้ทางออนไลน์ในรูปแบบใดก็ตาม ควรเลือกบริษัทที่มีประวัติน่าเชื่อถือ ศึกษาข้อมูล วิธีการทำงาน และเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนอย่างรอบคอบทุกครั้ง หลีกเลี่ยงงานที่ต้องให้โอนเงินไปก่อน จะได้ไม่เสี่ยงเจอมิจาฉาชีพมาหลอกแล้วเชิดเงินหนีเข้ากลีบเมฆไป     

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 270 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2566

10 แอปพลิเคชันอันตรายบนแอนดรอยด์         สิงหาคม 66  ตำรวจสอบสวนกลางโพสต์เฟซบุ๊กเตือนประชาชน พบแอปพลิเคชันที่มีมัลแวร์ดักข้อมูลแฝงอยู่และมียอดการดาวน์โหลดทะลุล้านครั้ง โดยบางแอปได้มีการนำออกจาก Play Store แล้ว แต่ยังสามารถติดตั้งผ่านช่องทางอื่นได้อยู่ เช่น รูปแบบ  Mini-Game ที่มีการให้ผู้ใช้เข้ามาเล่นเพื่อรับรางวัล ซึ่งมี 10 แอปพลิเคชัน ดังนี้ 1.Noizz (แอปตัดต่อวิดีโอพร้อมเพลง) 2.Zapya (แอปแชร์ไฟล์ ย้ายไฟล์) 3.VFly (แอปสร้างวีดีโอ) 4.MVBit (แอปตัดต่อวีดีโอ) 5.Biugo (แอปตัดต่อวีดีโอ) 6.Crazy Drop (แอปเล่นเกม รับรางวัล) 7.Cashzine (แอปเล่นเกม รับรางวัล) 8.Fizzo Novel (แอปอ่านหนังสือออฟไลน์) 9.CashEM (แอปรับรางวัล) 10.Tick (แอปดูวีดีโอเพื่อรับรางวัล) ทั้งนี้ การป้องกัน คือ อัปเดตซอฟต์แวร์สม่ำเสมอ ติดตั้งโปรแกรมป้องกันมัลแวร์ และระมัดระวังอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อทั้งหลาย พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงไม่คลิกโฆษณาบนเว็บไซต์ต่างๆ  บังคับใช้แล้ว เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งคาร์ซีท         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกกฎหมายความปลอดภัยสำหรับเด็กด้วยการกำหนดที่นั่งนิรภัยพิเศษและการป้องกันอันตราย หากเกิดอุบัติเหตุ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 66 เป็นต้นไป โดยมีการกำหนดให้เด็กที่มีอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งที่นั่งนิรภัย(คาร์ซีท)  และคาร์ซีทต้องมีระบบยึดเหนี่ยวตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่มีคาร์ซีทแต่มีเด็กอายุต่ำกว่าที่กำหนด ให้ปฏิบัติตาม ดังนี้ 1.ขับช้าๆ คำนึงถึงความปลอดภัย และขับชิดซ้าย 2.ให้เด็กนั่งที่นั่งโดยสารตอนหลัง ถ้าเป็นรถกระบะหรือกึ่งกระบะให้นั่งตอนหน้า แต่ห้ามนั่งท้ายกระบะ 3. ให้มีผู้ดูแลเด็กตลอดระยะทางหรือให้เด็กรัดเข็มขัดเฉพาะหน้าตัก ทั้งนี้ ในกรณีรถรับจ้างและรถสาธารณะยกเว้นไม่ต้องมีคาร์ซีทได้ ส่วนโทษปรับกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ศาล ปค.กลาง พิพากษายกฟ้อง สธ. กรณีประกาศแบนพาราควอต         29 สิงหาคม 66 ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่ ทางเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองและเกษตรกรรวม 56 ราย ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีร่วมกันประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ.2563 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง(ฉบับที่ 3) การกำหนดปริมาณสารพิษคลอร์ไพริฟอส คลอร์ไพริฟอส-เมทิล พาราควอต พาราควอตไดคลอไรด์  พาราควอตบิส(เมทิลซัลเฟต) หรือพาราควอตเมโทซัลเฟต ตกค้างสูงสุด (MRLs) ในสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหารสัตว์ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการผลิต-การค้า ควบคุมตรวจสอบสินค้าเกษตรที่ นำเข้า-ส่งออก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย         อย่างไรก็ตาม ทางศาลได้ให้เหตุผล ดังนี้  ประกาศดังกล่าวคือการกำหนดคุณภาพอาหารที่มีสารพิษตกค้างซึ่งจะต้องมีมาตรฐาน ไม่ตรวจพบวัตถุอันตรายการเกษตรตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2534 เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเป็นการกระทำโดยมีอำนาจตามกฎหมาย ไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของเกษตรกรเกินสมควร พิพากษายกฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้ ภาครัฐ-เอกชน ดูแลลงโทษ ผู้ขายข้อมูลส่วนบุคคลให้แก๊งมิจฉาชีพ         จากกรณีที่มีข่าวตำรวจไซเบอร์จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สุดท้ายได้มีการซักทอดไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนขายข้อมูลคนไทยให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีนนั้น                 นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้เรียกร้องไปยังหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งหลายที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของประชาชน หากบุคคลในองค์กรได้กระทำตัวเป็นขโมย ลักลอบข้อมูลจากแก๊งมิจฉาชีพ จะต้องจัดการขั้นเด็ดขาดด้วยการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดซึ่งเป็นความผิดในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอม และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้กับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 27 และมีบทลงโทษ ตามมาตรา 79 วรรค 2 ของ พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 ที่กำหนดไว้ว่า ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรา 28 อันเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 26 เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ ด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมทรัพย์สินทางปัญญาแจงปม 'ปังชา' ยันขายได้แต่อย่าเลียนแบบภาชนะ          จากกรณีร้านดังได้ทำการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า 'ปังชา' สงวนสิทธิ์ห้ามเลียนแบบจนเป็นประเด็นดรามานั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ชี้แจง พร้อมยืนยันว่า เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ใครก็ขายได้ แต่อย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะของร้านที่เป็นข่าวซึ่งจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต ดังนั้นการใช้คำว่า ปังชากับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยยังทำต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ที่ชวนให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ         อนึ่ง “คำ” ที่เป็นลักษณะทั่วไปของสินค้าหรือบริการไม่สามารถนำมาจดลิขสิทธิ์ได้ เช่น ถ้าจะจดคำว่า “ขาว” กับ “ผงซักฟอก” หรือ “ใส” กับ “น้ำดื่ม” อย่างนี้ ขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้ “เพราะเป็นลักษณะทั่วไปของสินค้า” (ที่มา ดร. พีรภัทร ฝอยทอง)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 อย่าเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ลงทุนน้อย ผลตอบแทนสูง ใช้เวลาสั้น ไม่มีในโลก

        เขียนมาตั้งหลายสิบตอนเพิ่งจะนึกได้ว่าไม่เคยพูดถึงวิธีสังเกตและป้องกันตัวเองจากพวกมิจฉาชีพที่หลอกให้ลงทุนนั่นนี่เลย ตอนนี้เลยต้องขอพูดถึงซะหน่อยเพราะมีเยอะจริงๆ แถมมีสักพักใหญ่แล้วด้วย        จำได้ไหม? เคยบอกว่าเมื่อไหร่ที่ผู้เสนอให้ลงทุนบอกว่าจะได้ผลตอบแทนเยอะๆ ต่อเดือน เช่น ร้อยละ 5 บางที่ให้ตัวเลขสูงถึงร้อยละ 30 ต่อเดือน เจอตัวเลขแบบนี้ให้เอะใจก่อนเลยว่ามิจฉาชีพแน่ๆ เพราะนักลงทุนเก่งๆ ก็ยังทำผลตอบแทนไม่ได้ขนาดนี้เลย         ตามหน้าเฟสบุ๊คเรามักจะเห็นมิจฉาชีพนำรูปวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งอมตะ คอร์ปเปอเรชั่นมาใช้บ่อยๆ (ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ประเทศไทยมีนักธุรกิจใหญ่ๆ ตั้งมากมาย) แล้วหลอกล่อว่าคุณกำลังจะมีโอกาสลงทุนกับบริษัทมหาชนอย่างอมตะ แถมได้ผลตอบแทนต่อเดือนสูง ใช้สามัญสำนึกพื้นฐาน มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนอย่างวิกรมจะมาถ่ายรูปแปะบนป้ายเชิญชวนคนมาลงทุน อยากลงทุนกับอมตะก็ไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สิ         สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เคยบอกข้อควรระวังไว้ 5 ข้อ ถ้าเจอแบบนี้ให้ถอยห่าง อย่าไปยุ่ง        1.เพจที่บอกว่าจะให้ผลตอบแทนสูงๆ ในเวลาสั้นๆ แต่ใช้เงินไม่มาก (เป็นไปไม่ได้)        2.การันตีผลตอบแทนว่าได้แน่ๆ (กองทุนรวมระดับโลกยังไม่กล้าการันตีเลย)        3.อ้างชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง (ทำไมไม่อ้างวอร์เรน บัฟเฟตต์ไปเลย)        4.ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้ (ก็มันไม่มีอยู่จริง จะตรวจสอบได้ยังไง)5.รีบให้ตัดสินใจลงทุน (มุขเดิมๆ ยิ่งช้า ยิ่งเสียโอกาส)นอกจากนี้ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร) ยังเคยเตือนด้วย ซึ่งบางส่วนคาบเกี่ยวกับการหลอกให้ลงทุน เพราะฉะนั้นอย่าทำ        1. คิดว่าไม่เป็นอะไร มักจะมีคนคิดว่า “ลองดูสักหน่อย เงินแค่สามสี่พัน ไม่น่าจะมีอะไร เจ็บตัวไม่มาก เผื่อฟลุ้ค” คนที่คิดแบบนี้มักเป็นคนแรกๆ ที่ถูกหลอก         2. ชอบคุยกับเพื่อนใหม่ เป็นคนอัธยาศัยดีก็ดีอยู่ แต่ก็ต้องระมัดระวังและเอะใจเสมอเมื่อไหร่ที่เพื่อนใหม่เริ่มพูดเรื่องเงิน        3. ชอบสินค้าราคาถูก อันนี้ก็คล้ายๆ กับชอบการลงทุนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนเยอะๆ นั่นแหละ        4. ชอบเสี่ยงโชค เพราะเห็นตอบแทนสูงๆ ก็อยากเสี่ยง สุดท้ายก็ตกไปในวังวนแชร์ลูกโซ่                 5. ชอบช่วยเหลือ คนประเภทนี้น่าสงสารที่สุด ทั้งที่มีจิตใจชอบช่วยเหลือ เห็นคนลำบากก็อยากช่วย แต่ก่อนจะช่วยฉุกใจคิดสักหน่อย เพราะบางทีอาจเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมาหรือแม้กระทั่งสร้างเฟสปลอมของเพื่อนเรา ดังนั้น ข้อมูลส่วนตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญจำไว้ว่าการลงทุนน้อยๆ ได้ผลตอบแทนสูงๆ ในเวลาสั้นๆ ไม่มีในโลก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 เบอร์ที่ “มิจ” ใช้ ใครเป็นคนเปิด?

        เมื่อไม่กี่วันก่อน คนใกล้ชิดได้รับสายจาก “มิจ” รายหนึ่ง อ้างว่าโทรมาจาก กสทช. ข่าวสารที่นำพามาให้ก็คือ “เบอร์ของท่านกำลังจะถูกปิด” โดยมีเรื่องราวประกอบประมาณว่า ทาง กสทช. ได้ตรวจพบว่าท่านมีการเปิดเลขหมายไว้มากกว่า 1 เลขหมาย ซึ่ง กสทช. ไม่อนุญาต         เราฟังแบบจับความจากทางฝ่ายรับโทรศัพท์ เพียงรับรู้ว่าโทรมาจาก กสทช. ก็ตะโกนออกมาแล้วว่า “หลอกลวงๆ” ตอนนั้นยังไม่ทันรู้ว่ามีการผูกประเด็นอะไร อย่างไร         สิ่งที่ตลกมากคือ มิจรายนี้ท่าทางจะเป็นคนที่แสนอ่อนไหว พอเขาได้ยินข้อความที่เราตะโกนก็ผละจากการ “เล่าความเท็จ” มาเล่นบทหาเรื่องทันที ขึ้นเสียงดังจนลอดออกมาให้เราได้ยินว่า “ใครหลอกลวง หลอกยังไง บลาๆๆ”เสียดายที่มิจเล่นบทโมโหเสร็จก็วางสายไป ไม่เปิดให้เราได้มีโอกาสบอกว่า มิจจ๋า การบ้านที่ทำมาจนรู้ว่าเหยื่อรายนี้ถือครองสองเบอร์นั้นยังไม่พอ ต้องไปศึกษาบริบทที่เกี่ยวข้องมาใหม่นะ เปิดเกิน 1 เบอร์ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใดทั้งนี้ ตลอดยุคสมัยนับแต่มีบริการโทรคมนาคมจนถึงปัจจุบัน รัฐและ กสทช. ไม่เคยมีกติกาจำกัดจำนวนการถือครองเบอร์ของผู้บริโภคเลยอย่าว่าแต่แค่ 2 เบอร์ ในความเป็นจริงมีคนมากมายที่เปิดเบอร์นับสิบนับร้อยเบอร์กันเลยทีเดียว         ดังนั้นอยากบอกว่า มิจจะมาใช้จิตวิทยาเล่นกับความหวงเบอร์และความกลัวการสูญเสียโดยที่มีความรู้ไม่แน่น มันไม่ work และไม่มืออาชีพเลยนะ ดังนั้นถ้าเผอิญมาเจอคนที่มีความรู้และข้อมูลเยอะกว่าก็ต้องอดทน-อดกลั้นหน่อย ไม่ใช่มาโกรธใส่         จบเรื่องมิจ มาเข้าเรื่องกติกา กสทช. เกี่ยวกับกติกาการจำกัดจำนวนเบอร์         เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ค่ายมือถือเริ่มจริงจังที่จะสื่อสารว่า ถ้าจะเปิดเบอร์ให้ทำได้คนละ 5 เบอร์เท่านั้น โดยมีการอ้างว่าเป็นประกาศของ กสทช.        แต่แท้จริงแล้ว แนวทางการกำกับของ กสทช. ในเรื่องนี้เป็นไปในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือมีการกำหนดว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือค่ายมือถือทุกรายมีหน้าที่ต้องควบคุมจำนวนการลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน สำหรับบุคคลธรรมดา จำนวนไม่เกิน 5 เลขหมายต่อคน         กติกานี้เกิดขึ้นในฐานะมติ กสทช. จากการประชุมครั้งที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม เหตุเนื่องจากในขณะนั้นเริ่มเกิดปัญหาการระบาดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (พวกพี่มิจนั่นแหละ) และจากการตรวจจับพบกรณีมีคนที่ลงทะเบียนครอบครองเบอร์มือถือคนเดียว 300,000 หมายเลข! ซึ่งจำนวนมากขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอน         ที่เด็ดกว่านั้นคือ พบกรณีมีผู้ถือครองเบอร์มือถือในชื่อของนายกรัฐมนตรีของประเทศด้วย ...ใช่แล้ว คนที่กำลังรักษาการอยู่ในปัจจุบันนั่นแหละ         ในมุมมองของ กสทช. เหตุการณ์เหล่านี้บ่งบอกให้รู้ว่า กระบวนการลงทะเบียนซิม (เปิดเบอร์) มีความไร้ระบบ หละหลวม จนก่อให้เกิดช่องโหว่ที่ใหญ่มากซึ่งสามารถเป็นต้นตอก่อปัญหาร้ายแรงอื่นๆ ตามมา ดังนั้นจึงต้องวางมาตรการเพื่อยกระดับคุณภาพของการลงทะเบียนเปิดเบอร์ ตลอดจนมีการควบคุมในเรื่องนี้         มาตรการเรื่องการจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์ดังกล่าวจึงเกิดขึ้น แต่แทนที่จะใช้วิธีจำกัดการถือครองเบอร์ของปัจเจกแต่ละราย ซึ่งจะเป็นการจำกัดสิทธิผู้บริโภค และยากที่จะหาจำนวนเหมาะสมที่กำหนดแล้วไม่ส่งผลรบกวนการใช้งานตามปกติและการใช้งานโดยสุจริต เพราะบางคนอาจมีความจำเป็นต้องใช้เลขหมายเป็นจำนวนมากในการประกอบกิจการหรือดำเนินชีวิตก็เป็นได้         จำนวน 5 เลขหมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นการจำกัดไว้ที่การให้บริการเปิดเบอร์แบบทั่วไปที่อาจมีการติดต่อกันผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะทางออนไลน์หรือผ่านตัวแทน แต่หากบุคคลทั่วไปคนใดมีความต้องการหรือจำเป็นต้องใช้งานเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่านั้นก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องไปที่ศูนย์ให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกกันว่าช็อปมือถือนั่นเอง และมติ กสทช. ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องรายงานกรณีดังกล่าวต่อสำนักงาน กสทช. ด้วย         แท้จริงมาตรการนี้จึงไม่ใช่การจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์หรือถือครองเบอร์ แต่เป็นการวางมาตรการควบคุมวิธีการพิจารณาเปิดเบอร์และการดำเนินการของผู้ให้บริการ         หน้าที่ในการรับลงทะเบียนหรือรับเปิดเบอร์ของผู้ให้บริการยังมีรายละเอียดอื่นมากกว่านั้น ซึ่งกำหนดโดยกฎหมายระดับประกาศของ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่*         ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 สาระคือเป็นการวางหลักเกณฑ์ตั้งแต่เรื่องของเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน การมีมาตรการตรวจพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคล รวมถึงข้อกำหนดว่าจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการอะไรได้บ้าง        แต่กติกาของ กสทช. ดังกล่าวไม่เพียงไม่ขลัง การกำกับดูแลของ กสทช. ก็อ่อนด้วย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการหรือค่ายมือถือทั้งหลายไม่ได้เพิ่มความรัดกุมในการดำเนินการเรื่องนี้เลย         ปัญหาการถูกลักลอบ/แอบอ้างใช้ชื่อและบัตรประชาชนเปิดเบอร์จึงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะ เห็นได้จากที่มีการโพสกรณีต่างๆ ทางสื่อออนไลน์ รวมถึงการมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังสำนักงาน กสทช. เอง กระทั่งในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็เกิดเป็นกระแสฮือฮาอีกครั้ง เนื่องจากมีผู้ออกมาเผยว่าตนเองถูกแอบอ้างเปิดเบอร์มือถือถึง 32 เบอร์**         ปัญหาการถูกแอบเปิดเบอร์มือถือ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ยังมีเรื่องของภาระค่าบริการที่อาจติดตามมา และร้ายที่สุด เนื่องจากเราอยู่ในยุคที่มี “มิจ” จำนวนมากแฝงฝังอยู่ร่วมสังคม ปัญหานี้จึงอาจพัวพันกับการก่ออาชญากรรมด้วยครั้งหน้าจึงจะขอพูดถึงเรื่องนี้ต่อ โดยจะเน้นไปในด้านของมาตรการเพื่อการป้องกันและเท่าทันกับปัญหา ทั้งในส่วนที่เป็นเกราะป้องกันที่ภาครัฐดำเนินการ และส่วนที่ผู้บริโภคเราจะช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องตกอยู่ในฐานะเหยื่อในลักษณะผู้สมรู้ร่วมคิดของ “มิจ”* อ่านรายละเอียดประกาศดังกล่าวได้ที่ https://numbering.nbtc.go.th/getattachment/Announcement/Announce-manual/447/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%-E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%8A%- E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%-E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%-E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%-E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%-E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%-E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%-E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%8A%-E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%-E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B1%-E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%-E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%-E0%B9%88.PDF.aspx** อ่านข่าวดังกล่าวได้ที่ เตือนภัย! สาวเช็กเลขบัตร ปชช. เจอ ถูกนำไปเปิดเบอร์โทรกว่า 30 เบอร์ ทั้งที่ใช้จริงแค่ 2 (matichon.co.th)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2566

ทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวงบทลงโทษถึงติดคุก         เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 66 ที่ผ่านมา กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ได้เตือนประชาชนถึงกรณี ห้ามทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนต่อคนที่ต้องสัญจร ไป-มา เช่น การทิ้งขยะออกจากรถที่แล่นอยู่ เทน้ำเสียบนถนน ทิ้งเศษวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ การบรรทุก หิน ดิน  ทราย  หรืออื่นๆ โดยไม่ใช้อุปกรณ์ผูกมัดให้ดีทำให้มีสิ่งของร่วงหล่นบนทางจราจร ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้เส้นทางจราจรได้นั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 45 “ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งขยะมูลฝอย  สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย น้ำโสโครก เศษหิน ดิน ทราย หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล เศษหิน ดิน ทราย ตกหล่นบนทางจราจรหรือไหล่ทาง” หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 72 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมโรงงานจับมือสคบ. ห้ามโฆษณาขาย “ไซยาไนด์” ทางออนไลน์         หลังมีข่าวเกี่ยวกับการใช้ “ไซยาไนด์” ในทางที่ผิดเพื่อก่ออาชญากรรมนั้น 1 มิ.ย.66 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เผยว่า โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ขณะนี้ทางกรมฯ ออกมาตรฐานเร่งด่วนเพื่อยกระดับการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยเชิญผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ มารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลและรับทราบมาตรการพิเศษที่ออกแนบท้ายใบอนุญาตแล้ว และจะใช้ไปจนกว่าคดี "แอม สรารัตน์" จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด         ในเรื่องการโฆษณา ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือจากทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศเพื่อห้ามมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายโพแทสเซียมไซยาไนด์ทางช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ซื้อ-ขาย สินค้าทุกประเภท พร้อมกับเร่งยกร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการโฆษณาและนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เนื่องจากตามกฎหมายกรมโรงงานกำกับดูแลเฉพาะเรื่องการนำไปใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ อนึ่งสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ คือ วัตถุตรายชนิดที่ 3 หากผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ระวังมิจฉาชีพมาในรูปแบบ “งานเสริม”         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลของศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ของเดือนมีนาคม 66 ที่ผ่านมาว่า มีประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานเสริมเป็นจำนวนมากกว่า 37,900 ราย เสียหายกว่า 4,590 ล้านบาท โดยใช้วิธีการส่งข้อความทาง SMS หรือโทรหาเหยื่อโดยตรง และโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ในออนไลน์  ซึ่งลักษณะงานช่วงแรกจะเป็นงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และเหยื่อได้รับเงินจริง หลังจากนั้นจะมีการดึงเข้ากลุ่มไลน์และอ้างว่าให้ทำภารกิจพิเศษพร้อมได้ค่าคอมมิชชัน แต่ต้องโอนเงินเข้าระบบเป็นการวางมัดจำก่อนนั้น         ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามี 10 งานเสริมที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวง ดังนี้ 1.พนักงานกดรับออเดอร์สินค้า แอบอ้างแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ เช่น Shopee Lazada Amazon 2.กดไลก์ ถูกใจ ตาม Facebook TikTok Instagram หรือกดแชร์ กดโหวตภาพยนตร์  3.รับชมคลิปวิดีโอเพิ่มยอดวิวใน YouTube TikTok 4.งานรีวิว ทดลองใช้สินค้าหรือบริการ เช่น รีวิวสถานที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร 5.รับจ้างนอนโรงแรม อ้างแค่นอนหลับก็มีรายได้ 6.งานแพ็กของต่างๆ เช่น สบู่ ยางมัดผม พวงกุญแจ 7.งานฝีมือทำได้ที่บ้าน เช่น ร้อยลูกปัด ทำริบบิ้น ฉีกเชือกฟาง พับนกกระดาษ พับดาว พับเหรียญโปรยทาน 8.ลงทุนส่งเสริมการโปรโมทสื่อสังคมออนไลน์ในสังกัด ตามเรทราคาต่างๆ 9.ถ่ายรูปเซลฟี่ไม่ต้องเห็นใบหน้า หลังจากส่งเสื้อผ้าให้ ไม่จำกัดส่วนสูงน้ำหนัก 10.ตัดต่อวิดีโอสั้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ สอนให้ฟรี มพบ. ชี้ ร้านค้าตั้งเงื่อนไขไม่รับเคลมสินค้า เข้าข่ายสัญญาไม่เป็นธรรม         จากกรณีที่มีร้านค้าบางรายที่จำหน่ายสินค้าในช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการตั้งเงื่อนไข กำหนดการรีวิวสินค้า เช่น การรีวิวต่ำกว่า 5 ดาว สินค้าที่ซื้อจะหมดประกันทันที ในกรณีเกิดปัญหาจะไม่รับเคลม และไม่รับคืนสินค้า พร้อมทั้งอีกกรณีคือการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยต้องรีวิว 5 ดาว ร้านค้าถึงจะขยายเวลารับประกันให้ หรือการระบุข้อความว่า #กรุณาถ่ายวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุ #ไม่มีหลักฐานงดเคลมทุกกรณีไว้ที่หน้ากล่องนั้น        นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า วิธีการกำหนดเงื่อนไขไม่รับเคลมข้างต้น เข้าข่าย “ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม” เพราะเป็นสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินสมควร ประกอบกับคู่สัญญาไม่ได้รับความยินยอมในสัญญาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม โดยระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้นการที่ผู้ขายใช้เงื่อนไขบีบบังคับผู้ซื้อด้วยข้อความ “ไม่ถ่ายคลิปตอนเปิดพัสดุเคลมไม่ได้” จึงถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม         ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 กำหนดเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยส่งหนังสือแสดงเจตนาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (มาตรา 33) เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 หลอกให้ซื้อโทรศัพท์ ค่าจ้างเป็นเงิน 500 บาท

        ปัจจุบันมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ค่อนข้างเยอะ มีทั้งหลอกให้เติมเงินในเกม หลอกให้รักและโอนเงิน หลอกให้ทำงานแล้วไม่จ่ายเงินบ้าง พอๆ กับทางโทรศัพท์ที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แม้จะพยายามหาวิธีเตือนผู้บริโภคด้วยกันเองมากมายแต่ยังคงมีผู้ถูกหลอกอยู่เรื่อยไป ซึ่งเรื่องราวเสียงผู้บริโภคที่จะนำมาเตือนนี้ เป็นเรื่องราวที่อยากให้ผู้บริโภคหลายๆ คน ต้องตั้งสติ! อย่าโลภและเห็นแก่เงินเพียงเล็กน้อยจนตกเป็นเหยื่อให้มิจฉาชีพหลอก        คุณเสือ ซึ่งเป็นนักศึกษาที่กำลังสนใจหางานทำจากทางเฟซบุ๊ก ในขณะเลื่อนหน้าจอมือถือเพื่อหางานเขาเจอโพสต์หางานที่น่าสนใจเข้าโพสต์หนึ่ง จึงได้ทักไปสอบถามว่าลักษณะงานต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง ซึ่งผู้จ้างก็ได้บอกรายละเอียดว่า งานคือ “ซื้อโทรศัพท์ เจ๊ผมจะให้เงินไปซื้อตามศูนย์ หากซื้อเสร็จเอาโทรศัพท์ให้ผม ก็จะได้ค่าจ้างทันที 500 – 1,200 บาท เป็นอันถือว่าจบงาน”         เมื่อคุยกันได้สักพักทางผู้จ้างให้คุณเสือถ่ายรูปบัตรประชาชนของตัวคุณเสือส่งไปให้ ซึ่งเขาก็ได้ทำตามที่บอก แล้วทางผู้จ้างถามต่อว่าได้ติดโปรค่ายโทรศัพท์ค่ายหนึ่งไหม คุณเสือก็ตอบว่าไม่   จากนั้นผู้จ้างให้คุณเสือแอดไปคุยกับทางแอดมินทางค่ายผู้ให้บริการสัญญาณมือถือ  แต่เมื่อถามตอบกันไปได้สักพักเหมือนจะไม่ได้หรือไม่สะดวกสักที ผู้จ้างจึงได้นัดคุณเสือไปที่ห้างแห่งหนึ่ง เพื่อซื้อโทรศัพท์โดยใช้บัตรประชาชนของคุณเสือเป็นผู้ซื้อ         ตอนแรกทางผู้จ้างได้บอกว่าจะซื้อแบบสดไม่ใช่แบบผ่อน แต่เมื่อซื้อจริงๆ ดันเป็นซื้อแบบผ่อนคุณเสือก็รู้สึกเอะใจ แต่ยังไม่ทันได้คิดอะไรมาก วันนั้นคุณเสือได้ซื้อไปถึง 2 เครื่อง ในแบบผ่อนและลงทะเบียนเปิดเบอร์ใหม่อีกด้วย หลังจากนั้นเมื่อเขากลับมาเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็บอกว่าโดนหลอกแล้วแน่นอน  คุณเสือเองรู้สึกกังวลมากจึงได้ทักไปถามคนจ้างว่าที่ซื้อแบบผ่อนส่วนที่เหลือผู้จ้างจะเป็นคนชำระต่อใช่ไหม และไม่ได้หลอกเขาใช่ไหม ซึ่งก็ได้คำตอบกลับมาว่า “ใช่ไม่ได้หลอกแน่นอน” แต่...หลังจากนั้นผู้จ้างได้ทำการบล็อกเฟซบุ๊กไป สุดท้ายคุณเสือจึงได้รู้ว่าโดนหลอกแล้ว จึงได้มาปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรจะทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำว่าเรื่องราวดังกล่าวไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดแต่เมื่อปี 2562 เคยมีเคสลักษณะเดียวกันมาร้องเรียนโดยส่วนมากมิจฉาชีพจะหลอกให้เปิดเบอร์ซื้อโทรศัพท์แบบผูกรายเดือนและจะให้ค่าจ้าง 500-1,200 บาท หลังจากนั้นทางมิจฉาชีพได้โทรศัพท์ไป ก็จะไม่ชำระค่าโทรศัพท์ ใบแจ้งหนี้ก็ส่งไปตามที่อยู่ผู้ร้องเพราะเป็นคนลงทะเบียนและเจ้าของเบอร์         ดังนั้นเบื้องต้นแนะนำให้แก้ไขปัญหาดังนี้         1.ควรรีบแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที เพื่อยืนยันว่าถูกหลอกให้ไปซื้อโทรศัพท์และเปิดซิมใช้บริการ         2.ใช้เอกสารที่ได้ไปดำเนินการแจ้งความ ไปทำคำร้องขอยกเลิกสัญญากับทางผู้ให้บริการและแจ้งกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้ให้บริการสัญญาโทรศัพท์มือถือทุกค่าย ทั้งนี้ควรสำเนาเรื่องส่งให้ทาง กสทช.ให้แก้ไขปัญหาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้ระมัดระวังกันอีกด้วย         ในส่วนของบุคคลที่ต้องการหางานแล้วเจอลักษณะงานดังกล่าวแล้วเห็นว่าทำแค่เพียงนิดหน่อยก็ได้เงินมาใช้ง่ายๆ แล้วหลงเข้าไปทำ ก็อยากจะเตือนว่าการใช้บัตรประชาชนของตนเองไปเปิดเบอร์ให้ผู้อื่นหากเกิดมีปัญหาใดๆ ตามมาสุดท้ายคนที่เดือดร้อนก็คือตัวเราเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 รู้ทันมิจฉาชีพระดับอินเตอร์ หลอกให้สมัครงานกับบริษัทข้ามชาติ

        หลังจากที่สังคมรับรู้ข่าวสารการอาละวาดของแก๊งค์คอลเซนเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคหลายคนก็น่าจะพอมีวิธีรับมือรูปแบบการหลอกลวงที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ของนักต้มตุ๋นกลุ่มนี้ได้บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอย่ารับสาย อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว อย่าคลิกลิงก์ และอย่าโอน แต่ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะในโลกยุคปัจจุบันนี้มีมิจฉาชีพเข้าไปแฝงตัวอยู่ในทุกแพลตฟอร์มจริง ๆ         ล่าสุด แม้แต่เครือข่ายมืออาชีพบนอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อย่าง LinkedIn ที่เสมือนเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ประกอบการและคนทำงานในกลุ่มธุรกิจบริษัทข้ามชาติ ก็ยังมีผู้ไม่หวังดีแอบใช้กลยุทธ์การฉ้อโกงแบบเนียน ๆ มาหลอกคนทำงานด้วย คุณวันวิสาข์ นามวิเศษ เธอเองก็เกือบตกเป็นเหยื่อโจรต่างชาติพวกนี้ด้วย จึงมาเล่าประสบการณ์เพื่อเตือนภัยกัน         “กลโกงมันเยอะ แต่เคสของเรานี่โคตรอินเตอร์เลย อาจจะมีคนอื่นที่โดนหลอก แต่เขาไม่ออกข่าวหรือเปล่า เขาอาจจะเป็นคนที่มีโพรไฟล์ค่อนข้างสูง เพราะอยู่ๆ มันจะมาหลอกเราคนเดียวได้ยังไง”  เหตุการณ์เริ่มต้นอย่างไร         มีคนใน LinkedIn ส่งข้อความมาว่าสนใจทำงานไหม เป็นบริษัทที่ผลิตและขายเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อังกฤษและอเมริกา ถ้าสนใจก็ให้ติดต่อไปที่ฝ่ายบุคคลของเขา เขาก็ให้อีเมลมาแล้วก็รายละเอียดงานคร่าวๆ ว่าเป็นงาน Sales Executive บริษัทไม่มีสาขาที่ประเทศไทยแต่ว่าจะมีตัวแทนแบบนี้อยู่ทั่วโลก เพื่อไปติดต่อลูกค้า รับออเดอร์ แล้วก็สั่งไปที่โรงงานเพื่อให้เขาส่งมา         เราเข้าไปดูเว็บไซต์บริษัทแล้วมีข้อมูลน่าเชื่อถือ ก็เลยส่งเรซูเม่ไปที่อีเมลฝ่ายบุคคลที่เขาให้มา แล้วฝ่ายบุคคลก็ส่งอีเมลกลับมาว่าจะส่งคำถามมาให้เราตอบ คือไม่ได้มีการโทรศัพท์สัมภาษณ์เหมือนบริษัทต่างประเทศทั่วๆ ไป ตรงนี้เราก็เริ่มเอ๊ะ เพราะโดยมากแล้วเขาจะต้องโทรมาขอสัมภาษณ์ เพื่อจะได้ดูว่าเราคุยภาษาอังกฤษรู้เรื่องหรือเปล่า เริ่มสงสัยแล้ว เจอพิรุธอะไรอีก         เรายังมาเอ๊ะอีกตรงที่เขายิงคำถามมาค่อนข้างเบสิกมาก มีบางคำถามที่ไม่ทันสมัยสักเท่าไหร่ แต่ก็อาจจะเป็นสไตล์ของเขา เราก็ตอบไป แล้วสัก 2-3 วัน เขาก็ตอบกลับมาว่าโอเค จากที่ดูเรซูเม่แล้วก็คำถามที่เราตอบ คือเรามีคุณสมบัติในตำแหน่งนี้ เขาก็เลยส่งจดหมายเสนอตำแหน่งมา คือดูโพรเฟสชันนอลมากเลย มีสวัสดิการ มีจดหมายเป็นทางการ มีหัวจดหมายของบริษัท มีเว็บไซต์ อะไรอย่างนี้ เราก็ตอบตกลง แต่ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ พอเขาให้ส่งบัตรประชาชนกลับไป เราก็เซ็นลายเซ็นปลอมให้ ซึ่งเขาไม่รู้อยู่แล้ว ทีนี้เขาก็ตอบกลับมาว่าจะส่งสัญญาจ้างพร้อมกับอุปกรณ์ในการทำงานมาให้ มีคอมพิวเตอร์ บัตรประจำตัวพนักงาน แล้วก็สินค้าตัวอย่างเพื่อที่จะให้เราศึกษา         ผ่านไปสักพัก เขาก็ส่งอีเมล์มาบอกว่าได้ส่งพัสดุข้ามประเทศผ่านบริษัทชื่อนี้ คือมีใบขนส่งสินค้าทางอากาศ มีเรฟเฟอเรนซ์นัมเบอร์ที่เราสามารถติดตามได้ว่าสินค้าส่งออกจากที่ไหน ไปถึงไหน แล้วจะมาถึงเราวันไหน แล้วก็มีลิงก์ไปอีกเว็บไซต์หนึ่งซึ่งไม่ใช่เว็บไซต์ของบริษัทขนส่งนี้ เราเองก็ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่มีจริง ถ้ามีจริงก็อาจจะเหมือนแบบคล้ายๆ DHL ที่เขาไปก็อปปี้มาหรืออะไรสักอย่างตามวิธีของเขา ทำให้เราสามารถเอาเลขพัสดุไปเข้าเว็บไซต์นั้นแล้วก็คีย์ได้เลยว่าพัสดุเราอยู่ไหน ก็จะขึ้นสเตตัสว่าถึงไหนแล้ว ของมีอะไร มีใบเสร็จ เหมือนกับที่เขาส่งมาให้เราเลย ซึ่งก็น่าเชื่อถือมาก         แต่พอติดตามดูเส้นทางของพัสดุ ก็สังเกตว่าสายการบินที่ขึ้นโชว์มาดูแปลกๆ เพราะว่าเราทำงานด้านการท่องเที่ยวก็พอรู้ว่ามีสนามบินอะไรบ้าง แล้วเส้นทางขนส่งก็ไม่น่าจะผ่านประเทศนี้ เช่น ผ่านไปพม่าทำไม ไปอินเดียทำไม ซึ่งแปลก ถ้าสายการบินพาณิชย์ไม่น่าจะบินผ่านไปประเทศเหล่านี้ แต่เราก็คิดว่าอาจจะเป็นสายการบินที่ขนส่งสินค้าเป็นหลัก แล้วมีเส้นทางการบินไม่เหมือนกันก็ได้         ทีนี้พอถึงวันที่ในระบบแจ้งว่าของมาถึงไทยแล้ว ก็มีอีเมลของบริษัทขนส่งนี้ส่งมาบอกเราว่าพัสดุของเราจะต้องเสียภาษี ให้เราแจ้งมาว่าจะเสียภาษีแบบไหน เราก็เลยถามว่าเสียภาษีเท่าไหร่ เขาก็บอกว่าประมาณ 30,000 กว่าบาท ก็คือประมาณ 1,000 ยูเอสดอลลาร์ เราก็เลยบอกว่า         “ฉันไม่มีหน้าที่จะต้องจ่าย เพราะว่าฉันยังไม่ได้ถูกจ้างงาน ยังไม่ได้รับค่าจ้างอะไรเลย ต้องให้บริษัทที่เป็นผู้จ้างจ่ายสิ”  แล้วมารู้ตอนไหนว่าโดนหลอก         เราก็ติดต่อไปที่บริษัทผู้จ้าง เขาบอกว่าเราต้องรีบเคลียร์ของออกมาให้เร็วที่สุดเพราะว่าของสำคัญกับเรามาก ให้เราจ่ายไปก่อนแล้วเดี๋ยวเขาจะโอนให้ในบัญชีเงินเดือนของเรา เราก็ตอบไปว่า         “อย่างไรฉันก็ไม่ยอมจ่ายง่ายๆ”         แล้วเราก็ยังอีเมลโต้ตอบกับทั้งฝ่ายบริษัทจ้างงานและบริษัทขนส่งกันไปมาอยู่ 2-3 วัน ซึ่งอีเมลของพวกเขาจะดูเป็นมืออาชีพและตอบเร็วด้วย คือเรารู้เลยว่าเป็นวิธีการเขียนจากฝรั่ง         ช่วงที่เขาส่งอีเมลมาตื๊อให้จ่ายเงิน เราก็ลองถามดูว่าถ้าจ่ายนี่คือโอนเข้าบริษัทชิปปิ้งเหรอ คือถ้าเกิดว่าเป็นอินวอยซ์จากบริษัทชิปปิ้งที่มีตัวตน ก็จะน่าเชื่อถือ เพราะเราโทรถามจากบริษัทที่มีออฟฟิศในเมืองไทยเพื่อตรวจสอบได้ แต่เขากลับบอกให้โอนเข้าบัญชีกสิกรไทยเป็นชื่อบุคคล เราก็ไปค้นเจอว่าชื่อนี้มีเฟซบุ๊ก เข้าไปดูแล้วเป็นชาวบ้านอยู่ต่างจังหวัด ไม่เหมือนเป็นคนทำงานบริษัทเลย แต่ไม่รู้ว่าเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า ถ้าใช่ก็คงเป็นบัญชีม้า         เราก็โทรถามศุลกากร เขาบอกว่าไม่มีให้โอนเข้าบัญชีบุคคลแน่นอน อย่าจ่าย คือโดยมากจะมีเคสเหมือนที่เป็นข่าวทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ได้ซับซ้อนเหมือนเคสของเรา ที่ใช้เวลาตั้งหลายอาทิตย์กว่าที่จะรอหลอกเรา แล้วมีการรับต่อไม้หนึ่ง ไม้สอง ไม้สาม ไม่รู้เป็นคนหรือเปล่า เราไม่เห็นตัวตน เราัสื่อสารกันทางอีเมลตลอดจากนั้นเราก็ตอบกลับไปว่า         “บุคคลที่เป็นเจ้าของเลขบัญชีที่คุณให้มาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของทางศุลกากร ฉันคุยกับศุลกากรแล้ว เขาแนะนำว่าไม่ให้โอน เพราะว่ามีพวกหลอกลวงเยอะ”         ในที่สุดเขาก็คงคิดว่าน่าจะหลอกเอาเงินเราไม่ได้แล้ว ก็เงียบไปเลย อย่างนี้ก็เหมือนกับหลอกคนที่กำลังหางาน        คือโพรไฟล์เราในนั้นไม่ได้ขึ้นว่าหางานด้วยนะ เขาอาจจะสุ่มจาก LinkedIn ซึ่งช่องทางนี้เป็นธุรกิจล้วนๆ เลย แล้วเห็นว่าเราเคยทำงานอะไรที่ไหนมาบ้าง โพรไฟล์เราแบบนี้น่าจะหลอกประมาณนี้ได้หรือเปล่า อาจจะหลอกไปทั่วโลกเลยไม่ใช่แค่คนไทย ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาใช้วิธีการหาเหยื่ออย่างไร ไม่เคยได้ยินจริงๆ นะเสียเงินแบบนี้ ที่บอกเป็นสเต็ป 1, 2, 3 เป็นเรื่องเป็นราวเลย         คือถ้าเกิดมีคนยอมโอนไปจริงๆ เขาก็ได้เงินง่ายๆ เลยนะ 30,000 – 40,000 บาท จากทั่วโลกเป็นเท่าไหร่ แต่เขาก็ลงทุนในการทำเว็บไซต์ มีเอกสาร มีโพร์ไฟล์ ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งพอเราไปเซิร์ชหาเคสอย่างนี้ในกูเกิล ก็ไม่เจอว่ามีใครโดนอย่างเรา ในประเทศอื่นก็ไม่เคยมีเหมือนกัน มันดูน่าเชื่อถือมาก เราก็เลยคิดว่าบริษัทนี้อาจจะมีตัวตน แต่พวกนี้แอบเนียนๆ ใช้ชื่อใช้อะไรของบริษัทนี้ เป็นไปได้หลายอย่าง เพราะว่าเดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ทำได้ง่ายกว่าเดิม การปลอมแปลงอย่างนี้มันง่าย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราให้ข้อมูลตัวเองกับโซเชียลก็เป็นอันตรายกับเราเหมือนกัน         ก็ไม่เชิงนะ คือเป็นปกติเลยช่องทางนี้ที่คนเขาจะทำแบบนี้ แต่ละบริษัทที่เป็นอินเตอร์เขาก็จะมีโพรไฟล์ใน LinkedIn ด้วย เพราะลูกค้าก็จะไปดูจากตรงนั้น ในนั้นจะมีโพรไฟล์ล้วนๆ แล้วก็จะมีคนมาแนะนำให้ด้วยว่าเรามีทักษะด้านนั้นด้านนี้จริงๆ อยากเตือนคนอื่นที่อาจจะเจอแบบเราอย่างไรบ้าง ให้สังเกตอะไรบ้าง         ถ้าเป็นบริษัทที่มีตัวตนจริง ส่วนใหญ่จะมีวิธีการติดต่อทางอีเมลที่ยืนยันได้ ก็ต้องตรวจสอบดีๆ อย่างเคสนี้เราค้นชื่อบริษัทนี้แล้วไม่เจอโพรไฟล์อยู่ใน LinkedIn พอเซิร์ชหาบุคคลที่ทำงานบริษัทนี้ก็เหมือนจะไม่มีอีก ส่วนโพรไฟล์ของคนที่ติดต่อเรามาก็ดูไม่โพรเฟสชันนอลเท่าไหร่ ยังมีเว็บไซต์บริษัทที่ดูน่าเชื่อถือหน่อย พอลองเข้าไปเซิร์ชหาบริษัทที่จดทะเบียนในอเมริกาก็ไม่มีชื่อนี้ที่ทำเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ว่ามีที่อยู่ เราก็หาใน Google Earth, Google Map ก็มีชื่อขึ้นมา แต่พอไปดูในตึกแล้วกลับไม่มีบริษัทนี้         เราดูถึงขนาดนั้นเลย ก็ยังสงสัยอยู่ว่าตกลงยังไง เพราะในกูเกิลมีชื่อบริษัทนี้แต่พอไปดูในที่อยู่กลับไม่ตรงกัน เราอาจจะเซิร์ชหาไม่อัปเดตหรือยังไงก็ไม่รู้ คือวิธีการของเขาค่อนข้างเนียนมาก ถ้าสมมุติว่าเป็นคนที่ไม่คล่องภาษาอังกฤษ เขาก็อาจไม่รู้ว่าต้องไปเช็กอะไร อย่างไร ต้องจับจุดตรงไหน เพราะขนาดเรารู้ภาษาอังกฤษในระดับโพรเฟชชันนอล เรายังโดนหลอกอยู่ประมาณสองอาทิตย์ ซึ่งเป็นเคสที่เรียลไทม์มาก         จริงๆ ก่อนหน้านี้ เราก็เคยโดนแก๊งค์คอลเซนเตอร์โทรมานะ แต่เรารู้ทันก่อนไง พอบอกให้โอนทันที เราก็วางเลย แต่นี่เป็นเคสแรกที่ไม่ได้ให้โอนทันทีทันใด คือไม่ใช่จะเอาอย่างเดียวตั้งแต่แรกอะไรอย่างนี้ คือเขาใช้เวลากับเราขนาดนี้เพื่อที่จะให้เนียนที่สุด ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าตกลงหลอกไม่หลอก แต่ก็คิดว่าหลอกเพราะเงียบไปเลย         “ข้อสังเกตง่าย ๆ คือถ้าเกิดให้โอนเงินนั่นแหละ โดนหลอกแน่ๆ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม

10 อันดับรูปแบบการหลอกลวงทางออนไลน์ ปี 2564 เฟซบุ๊กถูกร้องสูงสุด        10 ตุลาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการสืบสวนเอาผิดมิจฉาชีพออนไลน์ ในคดีฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน พบว่า ในรอบ 10 เดือนมีร้องเรียนผ่านสายด่วนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เดือน มกราคม – ตุลาคม 2564 โดยส่วนมากเจอกลลวงหลอก ดังนี้ 1.หลอกโอนเงิน ไม่มีสินค้าส่งจริง 2. สินค้าไม่ตรงตามโฆษณา  3.จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม 4.รับหิ้วของ 5.หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย 6.ได้รับของชำรุดเสียหาย 7.หลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ 8.หลอกเช่าพระบูชา 9.ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระ 10.หลอกขายไม่ตรงรูป โดยสัดส่วนจากการถูกหลอกขายออนไลน์จากทางเฟซบุ๊ก มีสูงสุดคิดเป็น 82.4% ตามด้วยเว็บไซต์ 4.6% อินสตาแกรม 4.3% และพบว่าข้อมูลการถูกหลอกขายออนไลน์เพิ่มจากปีที่แล้วเป็นเฉลี่ย 2,221 ครั้ง ต่อเดือน         การกระทำดังกล่าวข้างต้นเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงต่อประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทั้งเป็นความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 อีกด้วย กรมปศุสัตว์แจ้งนมโรงเรียนห้ามซื้อขาย        จากกรณีที่มีกระแสดราม่าในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการโพสต์ขายนมโรงเรียน น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้เปิดเผยว่า ห้ามจำหน่ายนมโรงเรียนนอกโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทุกกรณี ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 หมวด 2 ข้อ 9 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ โดยระบุว่า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ ต้องผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และต้องจำหน่ายเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น หากนำมาจำหน่ายนอกเหนือถือว่าเป็นการกระผิด มีโทษถูกตัดสิทธิการจำหน่ายในส่วนที่เหลือในปีการศึกษานั้น หากพบเป็นการทุจริตของหน่วยงานราชการเอง จะต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยจะมีโทษทั้งทางวินัยและอาญาขั้นร้ายแรงเด็ดขาด สั่งปิด “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950”        15  ตุลาคม 2564  คปภ.ได้มีคำสั่งนายทะเบียนเพิกถอนประกอบกิจการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า มีคำสั่งนายทะเบียนปิดบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) จากการตรวจสอบของทาง คปภ.ได้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทและได้มีคำสั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราว เนื่องจากพบว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน โดยระบุ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีหนี้สินติดลบ 1,543 ล้านบาท จากปัญหามีผู้ติดเชื้อสูงโควิด-19 ขึ้นต่อเนื่อง จนกระทบต่อสภาพคล่องและมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมาก ทำให้บริษัทไม่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจวินาศภัยและยังฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ จึงเพิกถอนใบอนุญาต ให้มีผลวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยผู้เอาประกันจะได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครอง จากกองทุนประกันวินาศภัยทันที โดยมีสมาชิก 13 บริษัทประกัน จะรับโอนกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดอายุทุกกรมธรรม์ และหากผู้เอาประกันภัยต้องการยกเลิกกรมธรรม์ ทางกองทุนประกันวินาศภัย จะเข้ามาช่วยเหลือและคุ้มครองในการรับค่าสินไหมและค่าเบี้ยคืน แพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยค้านดีอีเอสดึงบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย        จากกรณีภาคเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทยและกลุ่ม ECST ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มนุษย์ควัน”  เข้าพบนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือแนวทางผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้จำหน่ายได้ตามกฎหมายนั้น ทางนายชัยวุฒิ บอกว่า ได้กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีประเด็นติดขัดเรื่องอะไรบ้าง ต่อมาทางแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง ขอชี้แจงข้อมูลดังกล่าวพร้อมขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องที่ รมว.ดีอีเอส เสนอ และกรณีที่อ้างว่ามี 67 ประเทศ อนุญาตนั้น ขอให้กลับไปทบทวนคำอนุญาตของแต่ละประเทศ ว่ามีข้อแม้และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ขายได้อย่างอิสระ ด้วยคำนึงเหตุผลที่ว่าประเทศเหล่านั้นต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนของเขาด้วยกระบวนการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้” มพบ. เร่งกระทรวงดิจิทัลออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศ         จากกรณีที่มีผู้บริโภคกว่า 10,700 ราย ได้รับความเสียหายจากการที่เงินหายจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเร่งรัดให้กระทรวงดิจิทัล ออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ ซึ่งมีสาเหตุจากที่แบงก์ชาติได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลข้อมูลของระบบธนาคาร แต่เกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตร และนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) และออกมาตรการแก้ไข 4 ข้อในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 นั้น         ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า เครื่องรูดบัตร EDC หรือเครื่องแสกนจ่ายโดยแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร จะมีการยืนยันตัวตนด้วยการเซ็นสลิป หรือใส่รหัสผ่าน แต่การทำระบบธุรกรรมออนไลน์ที่ใช้การผูกบัญชี ใช้แค่เลขบัตรและเลขหลังบัตรเท่านั้น ซึ่งธนาคารอาจจะต้องไปตรวจสอบว่าข้อมูลรั่วไหลได้อย่างไร  เนื่องจากผู้เสียหายบางรายไม่ได้ผูกบัญชีกับร้านค้าออนไลน์ และรัฐต้องตอบคำถามว่าจะออกมาตรการจัดการปัญหาเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร หากปัญหาเกิดจากแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศตามที่หน่วยงานรัฐชี้แจง แสดงว่ารัฐยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและควบคุมแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ทำธุรกิจออนไลน์ในพื้นที่ประเทศไทย อาจทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมในอนาคต หากไม่มีกฎหมายมาควบคุมธุรกิจและคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องระบบข้อมูลของผู้บริโภคที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศและสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 Whoscall ตัวช่วยป้องกันมิจฉาชีพ

        เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีข่าวเรื่องมิจฉาชีพเลือกใช้ช่องทางการโทรศัพท์มายังสมาร์ทโฟนเพื่อหลอกขอข้อมูลส่วนตัว บางครั้งอ้างเป็นตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่ศาล เป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร และอ้างอีกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีหลายคนที่หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่ออย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะตกใจกับความน่ากลัวและความสมจริงของมิจฉาชีพเหล่านี้ จนให้ข้อมูลส่วนตัวและทำให้เสียทรัพย์สินไปโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าข่าวจะเป็นกระแสมากแค่ไหน แต่ก็ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ยังตกเป็นเหยื่อ         ถึงแม้บางคนอาจจะรู้ข่าวที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถเลี่ยงที่จะไม่รับสายหรือโทรกลับเบอร์แปลกได้ เนื่องจากปลายสายอาจจะคนรู้จัก อาจจะเป็นเรื่องงาน หรืออาจจะเป็นขนส่งที่สั่งสินค้าออนไลน์ไว้ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรพลาดก็ได้ ในบางครั้งพอตัดสินใจรับสายกลับกลายเป็นสายที่สร้างความน่ารำคาญใจ จึงต้องเสี่ยงเพื่อที่จะรับสายจากเบอร์ที่ไม่รู้จักตลอด ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด เสียเวลาเดินออกมาจากห้องประชุมเพื่อมารับสาย เสียเวลาคุยเรื่องสำคัญ และสร้างความอึดอัดได้มากทีเดียว         ดังนั้นการมีแอปพลิเคชั่นที่คอยช่วยเตือนและโชว์เบอร์แปลกก่อนรับสายเป็นตัวช่วยที่ดีมากที่สุดในช่วงสถานการณ์แบบนี้ ช่วยทำให้การดำเนินชีวิตในประจำวันราบรื่นยิ่งขึ้น ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า Whoscall มีทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ ‎iOS สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี         คุณสมบัติของแอปพลิเคชั่น Whoscall สามารถบอกผู้ใช้แอปพลิเคชั่นถึงรายละเอียดข้อมูลโดยจะปรากฎขึ้นบนหน้าจอโทรศัพท์ในขณะที่มีสายเรียกเข้าทาง ซึ่งสามารถทำให้ตัดสินใจเลือกรับสายที่ต้องการรับและไม่ต้องการรับได้ เช่น แจ้งว่าเป็นเบอร์ของขนส่งสินค้า เบอร์จากธนาคาร เบอร์ขายประกัน เบอร์หลอกลวง เบอร์ก่อกวน หรือทุกเบอร์ที่มีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูล รวมไปถึงการค้นหาเบอร์แบบออฟไลน์ที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตว่าเป็นเบอร์จากที่ไหน มีข้อมูลรายงานไว้หรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกบล็อกเบอร์โทรเข้าที่เป็นที่สายรบกวน หรือเบอร์มิจฉาชีพที่ไม่พึงพอใจได้อีกด้วย         เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นมาไว้ที่เครื่องสมาร์ทโฟนแล้ว กดอนุญาตให้แอปพลิเคชั่นเข้าถึงรายชื่อและข้อความได้ หลังจากนั้นจะให้ log in เพื่อเข้าสู่ระบบผ่านทาง Facebook หรือ Google ซึ่งในขั้นตอนนี้สามารถเลือกได้ว่าจะ log in หรือไม่ก็ได้ และอย่าลืมกดเปิดการอัพเดตฐานข้อมูลไว้ เพื่อให้แอปพลิเคชั่นอัพเดตข้อมูลให้อัตโนมัติ โดยเบื้องต้นแอปพลิเคชั่นนี้มีฐานข้อมูลมากกว่า 1.6 พันล้านหมายเลขจากทั่วโลก ที่สำคัญสามารถรายงานเบอร์ใหม่ๆ เข้าไปในระบบได้ว่าเบอร์ที่ต้องการใส่ไปในระบบเป็นเบอร์ของบริษัทอะไร เกี่ยวกับเรื่องอะไร หรือเป็นเบอร์มิจฉาชีพโทรมาหลอกลวงแบบไหน เพื่อให้เบอร์เหล่านั้นเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ต่อไป         แอปพลิเคชั่นนี้ยิ่งมีผู้ใช้งานมากก็จะช่วยให้มีฐานข้อมูลมากขึ้นเช่นกัน แถมยังช่วยคัดกรองเบอร์โทรให้ทราบล่วงหน้าว่าต้องรับมืออย่างไรกับเบอร์ในกลุ่มมิจฉาชีพ และการใช้งานของแอปพลิเคชั่นนี้ไม่ยุ่งยากเลย ดังนั้นขอแนะนำให้ดาวน์โหลดให้กับผู้สูงอายุ เด็ก หรือผู้ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสาร เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 กระแสข่าวในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2561ประกาศ “ควบคุมสัญญาห้องเช่า” ยังมีผล เมื่อศาลปกครองกลางไม่รับคุ้มครองชั่วคราว 14 มิ.ย.61 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนเพื่อมีคำสั่งระงับการบังคับใช้ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2561 เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ในคดีที่เครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจให้เช่าอาคารเพื่อที่อยู่อาศัยยื่นฟ้องคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา และ สคบ. ต่อศาลปกครองกลาง ว่าร่วมกันออกประกาศดังกล่าว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา กำหนดให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา เพื่อให้ สคบ. ใช้เป็นมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคจากการทำสัญญาเช่าให้บรรลุผล และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากศาลมีคำสั่งทุเลาตามคำร้องก็จะทำให้ สคบ.ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้ สคบ. ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบได้ทันท่วงที ส่วนการออกประกาศดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาต่อไปกฟภ. เตือนชาวบ้าน ระวังมิจฉาชีพลวงติดชุดประหยัดไฟ นายพิชัย ตติยสุขพร พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.คง จ.นครราชสีมา ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีกลุ่มบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าไปตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า และพูดจาหว่านล้อมให้เหยื่อติดตั้งชุดประหยัดไฟ และเครื่องป้องกันไฟช๊อตในราคา 7,500 บาท จึงได้ไปตรวจสอบและพบกลุ่มบุคคลดังกล่าว พร้อมได้บันทึกภาพถ่ายเก็บไว้ แต่ปรากฏว่ามีการเรียกพรรคพวกหลายสิบคนเข้ามาห้อมล้อมคุกคามให้ลบภาพถ่ายดังกล่าวออก แล้วรีบขึ้นรถขับออกไปอย่างรวดเร็วจึงอยากขอฝากเตือนพี่น้องประชาชนอย่าได้หลงเชื่อบุคคลที่มาแอบอ้างว่าเป็นพนักงานการไฟฟ้า ถ้ามีกลุ่มคนมาแอบอ้างในลักษณะนี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ ให้ร้องเรียนที่สายด่วนศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า 1129  หรือ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เข้าตรวจสอบทันทีกสทช.ประกาศยุติการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เหตุค่ายมือถือเมินนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ประกาศยุติประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ (MHz) หลังจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งเป็นรายสุดท้ายได้ประกาศไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จากก่อนหน้านี้ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ทำหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เรื่องการไม่ยื่นขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น 1800 MHz ไปแล้ว ต่อจาก กลุ่มทรู ที่เป็นรายแรก ในการไม่ขอเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800ทั้ง 3 ราย ให้เหตุผลว่า การประมูลครั้งนี้ ไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาวนั้น เลขาธิการ กสทช. ยอมรับว่า คาดการณ์ผิด เนื่องจากการประมูลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามแนวทางของผู้ประกอบการที่ต้องการให้ กสทช. จัดการประมูล ก่อนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 นี้ พร้อมระบุว่า ราคาตั้งต้นการประมูลไม่สามารถปรับลดเหลือ 16,000 ล้านบาท ตามที่ดีแทคเสนอ เนื่องจากจะเกิดความเสียหายกับผู้ประกอบการ 2 ราย คือ เอไอเอส และ ทรู ที่ชนะการประมูลรอบที่แล้วในราคา ประมาณ 40,000 ล้านบาท และได้จ่ายค่าใบอนุญาตมาแล้วร้อยละ 70 ส่วนมาตรการเยียวยาคลื่น 1800 MHz จะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มีการเปิดประมูลไม่ทันก่อนหมดอายุสัมปทาน อย่างไรก็ตาม กสทช. จะเสนอเรื่องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป ส่วนการเปลี่ยนแปลงราคา กสทช. คงปรับลดราคาลงไม่ได้ เพราะจะเกิดข้อครหากับสังคม เนื่องจากผู้ที่ประมูลได้ก่อนหน้านี้กำลังจะจ่ายค่าประมูลครบถ้วนแล้ว  สรรพากรชี้แจง ข่าวขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 9% ไม่เป็นจริงสำนักข่าวไทย รายงานว่ากรมสรรพากรได้ออกประกาศชี้แจงกรณีข่าวในโซเชียลระบุรัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มเป็น 9% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 นั้นไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมาได้มีกระแสความเข้าใจคลาดเคลื่อนลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งกรมสรรพากรก็ได้ชี้แจงทำความเข้าใจมาโดยตลอด ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกหลงเชื่อข่าวดังกล่าวและขอให้ช่วยแชร์ข้อมูลนี้ เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกันต่อๆ ไปด้วย ทั้งนี้หากผู้ประกอบการหรือผู้เสียภาษีมีข้อสงสัยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร.1161คอบช. ยื่นข้อเสนอ ก.พลังงาน ปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบเมื่อ 13 มิ.ย.61 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ด้านบริการสาธารณะ ได้เดินทางไปยังกระทรวงพลังงานเพื่อยื่นข้อเสนอการแก้ปัญหาราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค 8 ข้อ ได้แก่ 1) ขอให้ยกเลิกการคำนวณราคา ณ โรงกลั่น สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล เบนซิน และแก๊สโซฮอล์) ซึ่งใช้กลไกราคาเสมือนการนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ที่มีการบวกค่าขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทย รวมเข้ากับราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์ และเปลี่ยนมาใช้กลไกราคาเทียบเท่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปประเทศสิงคโปร์และไม่เกินราคาของประเทศสิงคโปร์ที่มีราคาต่ำกว่า 2) ให้ปรับปรุงราคาเอทานอลที่ผลิตได้ในประเทศ ให้มีราคาใกล้เคียงกับราคาจากประเทศผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของโลก เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเพิ่มประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการผลิตเอทานอลทั้งภาคเกษตรและภาคการผลิต3) กำหนดราคาก๊าซแอลพีจี (LPG) หรือ ก๊าซหุงต้ม ไว้เท่าเดิมที่ 333 เหรียญต่อตัน โดยไม่ต้องนำเงินกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชย และให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก่อนเป็นอันดับแรก4) หยุดการเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานชั่วคราว 5) แก้ไขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 โดยเก็บจากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นก่อน6) ขอให้ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 7) ให้รัฐบาลใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นกลไกควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยไม่ใช้กองทุน8) ขอให้รัฐบาลจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ให้เสร็จก่อนการเปิดประมูลให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ

อ่านเพิ่มเติม >